#echo banner="" จิตตสังเขป บทที่ 8 สุจินต์ บริหารวนเขตต์

จิตตสังเขป
โดย สุจินต์ บริหารวนเขตต์
http://www.dhammastudy.com/thpar9.html

บทที่ ๘

ลักษณะของจิต ๔ ประการ คือ

๑. ที่ชื่อว่า "จิต" เพราะเป็นสภาพธรรมที่รู้แจ้งอารมณ์

๒. ที่ชื่อว่า "จิต" เพราะสั่งสมสันดานของตนด้วยสามารถแห่งชวนวิถี

๓. ที่ชื่อว่า "จิต" เพราะเป็นสภาพธรรมอันกรรมกิเลสสั่งสมวิบาก

๔. อนึ่ง จิตแม้ทุกดวงชื่อว่า "จิต" เพราะเป็นธรรมชาติวิจิตรตามสมควร โดยอำนาจแห่งสัมปยุตตธรรมวิจิตร คือ ต่างๆ ไม่เหมือนกัน และที่วิจิตร คือ ต่างๆ กันนั้นโดยอำนาจแห่งสัมปยุตตธรรม

ต้องมีเหตุที่ทำให้จิตต่างกัน ฉะนั้น อะไรเป็นเหตุให้จิตต่างกัน จิตเป็นสังขารธรรม เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นโดยมีเจตสิกเป็นปัจจัยปรุงแต่ง เจตสิกเป็นปรมัตถธรรมอีกประเภทหนึ่งซึ่งเกิดพร้อมจิต ดับพร้อมจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิต และเกิดที่เดียวกับจิต ฉะนั้น เจตสิกซึ่งเป็นสัมปยุตตธรรมที่เกิดกับจิตนั่นเอง ทำให้จิตต่างๆ กันไป

จิตของแต่ละท่านต่างกันมากตามที่สะสมมาในอดีต จึงเป็นเหตุให้ผล คือ วิบากในปัจจุบันนี้ต่างกัน ไม่ว่าจะมีสัตว์บุคคลมากน้อยสักเท่าไรในโลก ก็ย่อมต่างกันไปตามกรรม ตามความวิจิตรของเหตุ ตั้งแต่รูปร่างหน้าตา จนกระทั่งถึงการได้ลาภ เสื่อมลาภ ได้ยศ เสื่อมยศ สุข ทุกข์ สรรเสริญ นินทา ซึ่งล้วนแต่เป็นผลซึ่งเกิดจากเหตุในอดีตที่ต่างกัน เหตุในอดีตทำให้ผลในปัจจุบันต่างกันตั้งแต่เกิดจนสิ้นชีวิต ไม่มีใครรู้ว่าแต่ละคนจะจากโลกนี้ไปวันไหน เวลาใด โดยอาการอย่างไร นอกบ้านหรือในบ้าน บนบก ในน้ำ หรือกลางอากาศ ด้วยโรคภัยไข้เจ็บหรืออุบัติเหตุอย่างใด ก็ไม่มีใครสามารถจะรู้ได้ ซึ่งก็ย่อมเป็นไปตามกรรมที่ได้กระทำแล้ว และไม่ใช่วิบากในปัจจุบันเท่านั้นที่ต่างกัน แม้เหตุ คือ ความวิจิตรของจิตซึ่งเป็นเหตุในปัจจุบันชาตินี้ก็ยังต่างกันอีก จึงทำให้วิบาก คือ ผลข้างหน้าที่จะเกิดขึ้นนั้นต่างกันออกไปอีกด้วย

ความวิจิตร คือ ความต่างกันของจิตนั้นไม่มีที่สิ้นสุดตามสัมปยุตตธรรม คือ เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ฉะนั้น จึงควรเข้าใจความหมายของสัมปยุตตธรรม ปรมัตถธรรมมี ๔ คือ จิตปรมัตถ์ ๑ เจตสิกปรมัตถ์ ๑ รูปปรมัตถ์ ๑ นิพพานปรมัตถ์ ๑ จิตและเจตสิกเป็นสภาพธรรมซึ่งเกิดร่วมกันพร้อมกัน ปราศจากกันไม่ได้ แยกกันไม่ได้ เมื่อเกิดขึ้นพร้อมกันแล้วก็ดับพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน เกิดที่รูปเดียวกัน (ในภูมิที่มีขันธ์ ๕) นั้นคือลักษณะที่เป็นสัมปยุตตธรรมในอัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ มีข้อความว่า จริงอยู่เมื่อรูปธรรมและอรูปธรรมเกิดร่วมกัน รูปย่อมเกิดร่วมกับอรูปแต่ไม่เกี่ยวข้องไม่สัมปยุตต์กัน อรูปก็เหมือนกันคือเกิดร่วมกับรูป แต่ไม่เกี่ยวข้องไม่สัมปยุตต์กัน และรูปก็เกิดร่วมกับรูปแต่ไม่เกี่ยวข้อง ไม่สัมปยุตต์กัน ส่วนอรูปโดยนิยมทีเดียวเกิดร่วมกับอรูป เกี่ยวข้องและสัมปยุตต์กันทีเดียว

ที่ทรงแสดงลักษณะของสัมปยุตต์ธรรมไว้โดยละเอียด ก็เพื่อให้ประจักษ์ชัดจริง ๆ ว่า นามธรรมไม่ใช่รูปธรรมนั่นเอง ขณะที่ศึกษาและฟังธรรมนั้นเป็นสังขารขันธ์ที่จะค่อยๆ ปรุงแต่งสติปัญญา จนกว่าสติปัฏฐานจะเกิดระลึกพิจารณารู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมแต่ละลักษณะ จนกว่าลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมจะปรากฏโดยสภาพที่แยกขาดจากกัน ไม่สัมปยุตต์กัน แม้ว่าจะเกิดร่วมกัน

ฉะนั้น สัมปยุตตธรรมจึงเป็นลักษณะของนามธรรม คือ จิตและเจตสิกที่เกิดดับร่วมกันและรู้อารมณ์เดียวกัน

นี่เป็นความต่างกันของนามธรรมและรูปธรรม เพราะว่ารูปธรรมเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกันจริง แต่รูปธรรมไม่ใช่สภาพรู้ รูปไม่รู้อารมณ์เลย รูปทุกรูปที่เกิดร่วมกันจึงไม่เป็นสัมปยุตตธรรม เพราะสภาพธรรมที่เป็นสัมปยุตตธรรมนั้น ต้องเป็นสภาพธรรมที่ร่วมกันสนิท โดยเป็นนามธรรมซึ่งเป็นธาตุรู้ที่เกิดพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน ดับพร้อมกัน และเกิดดับที่เดียวกัน

ลักษณะของจิตประการที่ ๔ คือ จิตแม้ทุกดวง ชื่อว่าจิต เพราะเป็นธรรมชาติวิจิตรตามสมควรโดยอำนาจแห่งสัมปยุตตธรรม

เจตสิกทั้งหมดมี ๕๒ ประเภท แต่ว่าจิตดวงหนึ่งๆ ไม่ได้ประกอบด้วยเจตสิกพร้อมกันทั้ง ๕๒ ประเภท จึงทำให้จิตต่างๆ กันไปตามเจตสิกพร้อมกันทั้ง ๕๒ ประเภท จึงทำให้จิตต่างๆ กันไปตามเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยมากน้อยต่างๆ กันตามจำนวนและประเภทของจิตเหล่านั้น จิต ๘๙ ดวงซึ่งต่างกันนั้น จำแนกออกเป็นประเภทของชาติ คือ สภาพของจิตที่เกิดขึ้นนั้นต่างกันเป็น ๔ ชาติ คือ เป็นกุศลจิต ๑ เป็นอกุศลจิต ๑ เป็นวิบากจิต ๑ เป็นกิริยาจิต ๑ ในวันหนึ่งๆ นั้นมีกุศลจิตบ้าง อกุศลจิตบ้าง วิบากจิตบ้าง และกิริยาจิตบ้าง จิตซึ่งจำแนกเป็นชาติต่างๆ นั้นเป็นไปตามสภาพของจิต ไม่ใช่เป็นชาติชั้นวรรณะ เช่น ชาติไทย จีน แขก แต่สภาพจิตที่เป็นกุศลนั้น ไม่ว่าจะเกิดกับใคร ที่ไหน ขณะใด จิตนั้นก็เป็นกุศล และจิตที่เป็นอกุศลนั้นไม่ว่าจะเกิดกับใคร จะเป็นสมณะชีพราหมณ์ ชาติ ชั้น วรรณะ ผิวพรรณใด จิตที่เป็นอกุศลก็ต้องเป็นอกุศล เปลี่ยนสภาพไม่ได้ นี่คือสภาพของปรมัตถธรรม เมื่อจิตประกอบด้วยสัมปยุตตธรรม คือเจตสิกที่เป็นอกุศล จิตจึงเป็นอกุศล เมื่อจิตประกอบด้วยโสภณเจตสิก จิตจึงเป็นกุศล หรืออกุศลวิบาก หรือโสภณกิริยาตามชาติของจิต

ในอัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ มีข้อความว่า ก็แลพระผู้มีพระภาคเมื่อทรงจำแนกธรรมเป็นแผนกๆ แล้ว ทรงยกบัญญัติขึ้นตรัส ทรงทำสิ่งที่ทำได้ยาก น้ำหรือน้ำมันหลายชนิดที่ใส่ลงไปกวนในภาชนะเดียวกันตลอดวัน เมื่อมองดู ดมกลิ่น หรือลิ้มรส ก็อาจรู้ได้ว่าต่างกันเพราะสี กลิ่นและรสต่างกัน แม้จะเป็นได้ถึงอย่างนั้น การเช่นนั้นท่านก็พูดว่าทำได้ยาก แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อทรงจำแนกธรรม คือจิตและเจตสิกในอารมณ์เดียวกัน คือรูปารมณ์เดียวกันเหล่านี้ออกเป็นแผนกๆ แล้วยกบัญญัติขึ้นตรัส ชื่อว่า ทรงทำสิ่งที่ทำได้ยากยิ่งนัก

นามธรรมเป็นสภาพที่ละเอียดยิ่งกว่ารูปที่ละเอียด แต่แม้กระนั้น พระผู้มีพระภาคก็ทรงจำแนกลักษณะของนามธรรมแต่ละชนิดไว้โดยลักษณะที่ปรากฏ โดยกิจ (รโส) โดยอาการที่ปรากฏ (ปัจจุปัฏฐาโน) และโดยเหตุใกล้ (ปทัฏฐาโน) ให้เกิดนามธรรมประเภทนั้นๆจิตเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้ ในอัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ กล่าวว่า จิตเป็นภูมิ คือเป็นที่เกิดของสัมปยุตตธรรม เช่น ความรู้สึกเป็นสุข ถ้าไม่มีจิต ความรู้สึกเป็นสุขก็จะมีไม่ได้ เพราะไม่มีที่ตั้ง ไม่มีที่เกิดของความรู้สึกเป็นสุข แต่ขณะใดที่สุขเวทนาเกิด ขณะนั้นจิตเป็นภูมิ เป็นที่ตั้ง เป็นที่อยู่อาศัยของสุขเวทนาที่เกิดกับจิตนั้น ฉะนั้น จิตจึงเป็นภูมิเป็นที่อยู่อาศัยของสัมปยุตตธรรม คือ สุขเวทนาและเจตสิกอื่นๆ

จิตจำแนกออกโดยชาติ มี ๔ ชาติ คือ อกุศลจิต กุศลจิต วิบากจิต กิริยาจิต ไม่ว่าจะกล่าวถึงจิตอะไร จำเป็นที่จะต้องรู้ว่าจิตนั้นๆ เป็นชาติอะไร คือ เป็นอกุศล หรือกุศล หรือวิบาก หรือกิริยา สำหรับวิบากจิตซึ่งเป็นผลของกรรมนั้น เมื่อกรรมมี ๒ ประเภท คือ กุศลกรรม ๑ อกุศลกรรม ๑ วิบากจิตจึงมี ๒ ประเภท คือ กุศลวิบากจิต ๑ และอกุศลวิบากจิต ๑

เมื่อกล่าวถึงจิตซึ่งเป็นผลของอกุศลกรรมนั้น ต้องใช้คำว่าอกุศลวิบากจิต อย่ากล่าวอย่างสั้นๆ ว่าอกุศล เพราะอกุศลวิบากจิตเป็นผลของอกุศลกรรม และกุศลวิบากจิตเป็นผลของกุศลกรรม กุศลวิบากจิตไม่ใช่กุศลจิต อกุศลวิบากจิตไม่ใช่อกุศลจิต และจิตอีกประเภทหนึ่ง คือ กิริยาจิตนั้นไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล และไม่ใช่วิบาก เป็นจิตที่เกิดขึ้นเพราะปัจจัยอื่นซึ่งไม่ใช่กัมมปัจจัย กิริยาจิตไม่เป็นเหตุที่จะทำให้เกิดวิบากใดๆ เลย กิริยาจิตส่วนมากเป็นกิริยาจิตของพระอรหันต์ พระอรหันต์ดับอกุศลกรรมและกุศลกรรมหมดสิ้น จึงยังคงมีแต่วิบากจิต ซึ่งเป็นผลของอดีตกรรมและกิริยาจิตเท่านั้น

นอกจากทรงแสดงสภาพของจิตและเจตสิกโดย ชาติ ๔ คือ กุศล อกุศล วิบาก กิริยา แล้ว พระผู้มีพระภาคยังทรงจำแนกธรรมโดยนัยอื่น คือ โดยธรรมหมวด ๓ ได้แก่

กุสลา ธมฺมา ธรรมที่เป็นกุศล ๑

อกุสลา ธมฺมา ธรรมที่เป็นอกุศล ๑

อพฺยากตา ธมฺมา ธรรมที่เป็นอัพยากตะ ๑

อัพยากตธรรม คือ ปรมัตถธรรมใดๆ ทั้งหมดที่ไม่ใช่กุศลธรรมและอกุศลธรรม ฉะนั้น เมื่อจำแนกจิตและเจตสิกโดยธรรม ๓ หมวด คือ กุศลธรรม อกุศลธรรมและอัพยากตธรรม จิตและเจตสิกที่เป็นอัพยากตธรรม ก็ได้แก่วิบากจิตและวิบากเจตสิก กิริยาจิตและกิริยาเจตสิก เมื่อจำแนกปรมัตถธรรม ๔ คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน โดยประเภทของกุศลธรรม อกุศลธรรมและอัพยากตธรรมนั้น

กุศลจิตและเจตสิก

เป็น

กุศลธรรม

อกุศลจิตและเจตสิก

เป็น

อกุศลธรรม

วิบากจิตและเจตสิก

เป็น

อัพยากตธรรม

กิริยาจิตและเจตสิก

เป็น

อัพยากตธรรม

รูปทุกรูป

เป็น

อัพยากตธรรม

นิพพาน

เป็น

อัพยากตธรรม

คำถามทบทวน

๑. รูปเป็นสัมปยุตตธรรมกับนามได้ไหม

๒. รูปเป็นสัมปยุตตธรรมกับรูปได้ไหม

๓. สิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นกุศลธรรม หรืออัพยากตธรรม เพราะเหตุใด

๔. จิตเห็น เป็นกุศลธรรม หรืออกุศลธรรม หรืออัพยากตธรรม เพราะเหตุใด

๕. นิพพาน เป็นกุศลธรรม ใช่ไหม

๖. จิตประเภทใดไม่มีชาติ

๗. จิตเป็นสัมปยุตตธรรมกับอะไร ขณะไหน

๘. จิตดวงหนึ่งเป็นสัมปยุตตธรรมกับจิตอีกดวงหนึ่งได้ไหม

๙. อกุศลธรรมเป็นสัมปยุตตธรรมกับกุศลธรรมได้ไหม

๑๐. นิพพานเป็นสัมปยุตตธรรมกับอะไร

๒๔ พฤษภาคม ๒๕๔๓