#echo banner="" ใครเคยปฏิบัติธรรมในแนวของ อ.แนบ บ้างครับ…! (1)

 ใครเคยปฏิบัติธรรมในแนวของ อาจารย์ แนบ มหานีรานนท์ บ้างครับ…! (1)

โพสท์ในห้องสนทนาสบายๆ สไตล์ธรรมปฏิบัติ

เนื้อความ

- ปฏิบัติแบบรูปนาม โดยใช้สติตามดูอาการความเป็นไปต่างๆ ของรูปนามหรือร่างกายกับจิตใจ เพื่อให้เห็นว่าในโลกนี้นอกจากรูปกับนามแล้วไม่มีอะไรอีก และให้เห็นว่ารูปกับนามนี้เต็มไปด้วยทุกข์ และการกระทำต่างๆ ก็เป็นไปเพื่อแก้ทุกข์ทั้งนั้น ข้อกำหนดพิเศษคือ ห้ามทำสมาธิ เพื่อป้องกันการติดสุขจากสมาธิแล้วจะทำให้ไม่เห็นทุกข์ และห้ามผู้ปฏิบัติพูดคุยกันเอง

- ในการเจริญสติปัฏฐานสี่ ดูจะมีหลายวิธีการ วิธีการนี้จะแตกต่าง กับแบบยุบหนอ – พองหนออย่างไรครับ…..?

ขอให้ท่านผู้รู้ให้ความกระจ่างด้วยครับ…..

โดยคุณ : pug - 10/07/2001 12:54

 

ความเห็นที่ 3 :

กำหนดนามรูปตามอิริยาบถ เน้นอารมณ์ต้องเป็นปัจจุบัน และต้องมีโยนิโสมนสิการ กับ การพอง-ยุบต่างกันอย่างไร ?

- เท่าที่ทราบมานะครับว่า การปฏิบัติแนว พิจารณารูปนาม แบบ อ.แนบ มหานีรานนท์ นั้นจะไม่ให้สวดมนต์ นั่งสมาธิ แต่จะให้ทำความรู้สึกตัวถึงอาการที่เป็นอยู่ว่าอยู่ในรูปอะไร รูปนั่ง ยืน เดิน นอน หรืออื่นๆ โดยไม่ต้องกำหนดบัญญัติอะไร แต่ต้องเรียนรู้หลักอภิธรรมในระดับหนึ่งก่อน จึงรับเข้าปฏิบัติ โดยจะให้อยู่ในเรือนหลังเดียวคนเดียว ห้ามพูด ให้รู้อารมณ์ปัจจุบัน รู้ว่ารูปปัจจุบันเป็นอย่างไร นามปัจจุบันเป็นอย่างไร อาจเว้นวันถึงสองวัน จะมีพระอาจารย์เชิญไปสอบอารมณ์……..

- แต่ในแนวพอง – ยุบ หรือในสายของท่านสีสยาดอ ( ต้นสายพองยุบ ) จะแตกต่างกันไป คือ จะมีความรู้ด้านอภิธรรมหรือไม่ก็ไม่เป็นไร ปฏิบัติได้หมด แต่ควรมีครูบาอาจารย์ดูแลใกล้ชิดบ้าง เพื่อจะได้มีการสอบอารมณ์ ว่าควรปรับอะไรให้ถูกต้อง การปฏิบัติก็จะเริ่มจากการมีบัญญัติเป็นองค์ภาวนาก่อน คือ พองหนอ ยุบหนอ กำหนดอะไรก็ได้ ให้มีหนอ เพื่อประคับประคองจิต เก็บรายละเอียดของอาการ ความรู้สึกต่างๆ และมีการกำหนดต้นจิต จนสติมั่นคง ดีขึ้น พิจารณา กาย เวทนา จิต ธรรม โดยการกำหนด แต่พอปฏิบัติในระดับสูงขึ้นจะค่อยๆ คลายบัญญัติไป โดยจะทำความรู้สึก รู้ความรู้สึก หรืออาการพอง อาการยุบ อาการ เดิน ยืน นั่ง นอน และอื่นๆ เช่นกัน ตอนกลาง และตอนปลาย จะดูเหมือน ไม่เน้นที่การภาวนาพอง หนอ ยุบหนอแล้ว แต่จะทำความรู้สึกรู้ถึงอาการ ทางกายต่างๆ ทางจิตต่างๆ เวทนาต่างๆ ธรรมต่างๆ ตามความเป็นจริง จนมีความรู้สึกว่า เป็นปลายทางเดียวกันนั่นเอง เพียงแต่ต่างกันในการเริ่มต้นไม่ทราบเข้าใจถูกต้องไหมครับ….?

แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดอีกอันหนึ่งคือ ในสายพองยุบ นั้น ยังมีการสวดมนต์ นั่งสมาธิ เดินจงกรม กันอย่างชัดเจน และต้องเดิน นั่งในเวลาที่เท่ากัน คือจะมีวินัย มีการกำหนด ตารางเวลาชัดเจน ว่าเวลาไหน ปฏิบัติอะไร ทำอะไร ( ในช่วงปฏิบัติ )

แต่ในการปฏิบัติของอ.แนบ มหานีรานนท์ ( ช่วงที่เข้าปฏิบัติ ) กลับเน้นที่ตัวธรรมชาติ ไม่ให้อยากทำ อยากปฏิบัติ ให้การเดิน ยืน นั่ง นอน หรือรู้สึกอะไรให้เป็นธรรมชาติ ตามปกติที่เป็น เพียงแต่ พิจารณาด้วยโยนิโสมนสิการ รู้อาการของรูป นาม ว่าเป็นอย่างไร อะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม ขณะปัจจุบัน อยู่ในรูปอะไร มีเวทนาอะไร พิจารณาให้รู้เห็นทุกข์ แล้วค่อยเปลี่ยนอิริยาบถ เน้นอารมณ์ปัจจุบัน อันนี้พูดถึงในช่วงปฏิบัตินะครับ ซึ่งตามระเบียบของท่าน คือ ต้องเรียนอภิธรรมให้เข้าใจ ว่ารูปนามคืออะไร จิต เจตสิก คืออะไรก่อนนะครับ

เมื่อพูดถึงจริต เราก็ไม่อาจรู้ได้ ว่าเราถูกกับแนวไหน ในความเป็นจริงหากต้องการรู้ก็ต้อง ไปลองทำการศึกษา ไปสัมผัสดู โดยส่วนตัวผมปฏิบัติมาบ้างในหลายสายและแนว ก็คิดว่าเป็นบุญเป็นกุศลทั้งนั้น ( ในขณะที่ปฏิบัติสำนักนั้นๆ เพราะเข้าใจว่าเป็นเพียงรูปแบบในการปฏิบัติอย่างหนึ่งซึ่งก็มีแตกต่างกันไป ) แต่ทุกครั้งในแต่ละช่วงเวลาที่ผ่านมาเหมือนมีเหตุปัจจัยพาไปอยู่เสมอ ( โดยส่วนตัวนะครับ ขอเล่าให้ฟังพอสังเขป )

ช่วงเป็นเด็กชอบใส่บาตรทำบุญ ( พ่อนำให้ใส่บาตรแต่เล็ก ) จนปัจจุบัน

- ช่วงม.ศ.1 ขึ้นมาเริ่มอ่านหนังสือแนวธรรมะต่างๆ ไปทางมหายาน พระจี้กง พระป่าต่างๆ หนังสือแปล กฤษณะมูรติ ( ซึ่งท่านจะเน้นความเป็นอิสระ การศึกษา การเรียนรู้ อย่างเปิดกว้าง และสมาธิในความหมาย ที่ไม่ให้คนหลงในสมาธิ คือท่านสอนให้พิจารณาว่าสมาธิจริงๆคืออะไร อันนี้ดูเป็นสากลนะครับ แต่ในพุทธศาสนาเรามีอะไรมากว่าตรงสมาธิ คือวิปัสสนากรรมฐาน ทางหลุดพ้นจากวัฏฏะสงสาร และผมเข้าใจว่า ศีล สมาธิ ปัญญา ของศาสนาพุทธเราไม่น่าจะเป็นอย่างเดียวกับ ลัทธิอื่น ศาสนาอื่น เพราะของเรามุ่งตรงไปนิพพานเป็นหลัก อันนี้ผมอาจเข้าใจไปเอง หากผิดพลาดขออภัยด้วยนะครับ )

- ช่วงม.ศ 3ขึ้นไปก็เริ่มศึกษาอะไรที่นอกเหนือที่กล่าวไปแล้วอีกคืองาน ของท่านพุทธทาส ท่านประยุต ธรรมกาย หลวงพ่อฤษีลิงดำ และประวัติพระสายปฏิบัติต่างๆ สุดท้ายมารู้จักแนวพอง ยุบ จากหนังสือของหลวงพ่อจรัล แล้วก็เข้าไปปฏิบัติเพราะเพื่อนชวนไป ด้วยเหตุที่เคยอ่านหนังสือของท่านมาบ้างก็เลยไป ซึ่งก็เป็นครั้งแรกที่ได้เริ่มไปปฏิบัติธรรมครับ ( 2538 )

- ที่ไปปฏิบัติ นอกเหนือจากการอ่านก็คือ ที่วัดอัมพวันนี่เอง ( ตั้งแต่ปี 2538 ) โดยจะหาโอกาสไป ตอนช่วงสงกรานต์ และปีใหม่ ( วันหยุด ของบริษัท ) ซึ่งก็จะมีคนมาก และเข้าไม่ถึงครูอาจารย์ และเห็นท่านมีภาระมากก็ไม่กล้าไปกวนท่านด้วย ก็อาศัยอ่านหนังสือ และปฏิบัติ พิจารณา สังเกต ความเป็นไปในการปฏิบัติของตัวเอง และค่อยศึกษาจากหนังสือ เพื่อเทียบเคียงบ้าง แต่ก็ไม่มั่นใจ เพราะหนังสือหลายตำราในแนวนี้ ก็ยังมีรายละเอียดในการปฏิบัติที่ต่างกันอยู่บ้าง เช่น การเดินจงกรม บางตำราบางสำนัก ให้มองที่เท้า ก้าวช้าเหมือนคนป่วย บางสำนัก ไม่ต้องมองที่เท้า แต่ให้กำหนดรู้ว่าอะไรย่าง ซ้ายหรือขวา อะไรกระทบ บางทีให้เอาไขว่ข้างหลัง บางทีให้เอาไขว่ข้างหน้า บางที่บางตำราบอกให้หายใจยาว บางที่บอกไม่ต้องคำนึงถึงการหายใจ ทำความรู้สึกตัวกำหนดพองหนอ ยุบหนอ ตามธรรมชาติ และหลายอย่าง

- แม้แต่วิทยากร ผู้สอน บางครั้งก็บอกไม่ตรงกัน เช่นคนที่มาหลายครั้งให้นั่ง เดิน นาน เช่นเดิน สอง นั่งสอง ช.ม. แต่บางท่านบอกว่าให้เอาแต่พอดี….. บางครั้งสับสน เพราะเข้าใจว่าความอยากน่าจะเป็นกิเลสอย่างหนึ่ง ที่อาจปิดบังความจริง การเดินนาน นั่งนาน ทำด้วยมานะหรือเปล่า ทำแล้วภูมิใจที่ทำได้ดีกว่าคนอื่นหรือเปล่า ( เพราะทำยาก ) เดิน 3 ช.ม. นั่ง 3.. ทำได้เก่งหรือเปล่า น่าจะอยู่ที่เราวางใจอย่างไรมากกว่า อันนี้ผมจะปรารภกับตัวเอง ที่ผ่านมาสับสน อยู่บ้าง กลัวว่าจะทำผิด ไม่ถูกต้อง ทุกครั้งจึงอธิษฐานจิตของบารมีสิ่งศักดิ์สิทธ์ครูอาจารย์ และหลวงพ่อ ช่วยดลใจให้ทำถูกทางด้วย ( ก็ทำได้เพียงเท่านี้ ) เนื่องจากเป็นการไปเอง แบบว่าไม่ได้เข้าเป็นคอร์ส และเห็นผู้โชคดีที่เข้าเป็นคอร์สอบรม จะได้รับการเอาใจใส่อย่างดี จากครูบาอาจารย์ เมื่อก่อนก็รู้สึกน้อยใจ อยู่เหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้คิดอะไรมาก คิดว่าหากเราตั้งใจดี มีศรัทธา ครูบาอาจารย์เบื้องบนก็คงชี้ทาง หรือดลใจให้เราเข้าถึงสภาวะต่างๆ โดยเราเป็นครูตัวเราเอง ( อันนี้เป็นความเชื่อของตัวเองนะครับ ) แต่ก็ดูเหมือนได้ผล เพราะสิ่งที่เกิด ไม่ว่าจะเป็นสภาวธรรมหรืออะไรก็ตาม ดูเหมือนจิตจะรู้ด้วยตัวเขาเอง

- โดยระยะหลัง ได้อ่านตำราหลายหลาย และล่าสุดได้ไปพบหนังสือของอาจารย์แนบ มหานีรานนท์เข้าโดยบังเอิญมาก เหมือนเบื้องบนดลใจ หรือ เหตุปัจจัยพาไปก็ไม่ทราบ ( คือไม่รู้จักท่านเลย ) เช้านั้นก็ไปปล่อยปลาตามปกติ ( ทุกอาทิตย์ ) เดินเข้าไปที่สมาคมพุทธศาสนา ของ ร.พ.ศิริราช เขาจะมีหนังสือมาวางอยู่ข้างนอกตามชั้นต่างๆ ก็ไปหยิบหนังสือดูเก่าๆมาอ่านเล่นหนึ่ง ในนั้นเป็น การสนทนาโต้ตอบของท่านอาจารย์แนบ มหานีรานนท์ กับพระประสาท ( อาจจำชื่อพระท่านผิดนะครับ ) ก็รู้สึกคลี่คลาย และเขัาใจอะไรบางอย่างเพิ่มขึ้น และได้นำไปปรับใช้กับการปฏิบัติในสายยุบ พอง ก็รู้สึกมั่นใจขึ้น ( เข้าใจไปเองหรือเปล่าไม่ทราบครับ )

ตอนหลังก็มารู้จักมูลนิธิอาจารย์แนบ มหานีรานนท์ ที่พุทธมณฑลสาย 5 และได้ตั้งกระทู้ในลานธรรมจึงทราบข้อมูลมากขึ้น แต่ด้วยที่เขาให้ไปเรียนอภิธรรมก่อน จึงได้แต่ไปดูสถานที่ ซึ่งก็เงียบสงบดีมาก อยู่คนละหลัง

ที่กล่าวไว้ทั้งหมดอาจมีข้อผิดพลาดด้วยเหตุที่เข้าใจผิด ขอให้ท่านผู้รู้ทั้งสองแนวทางให้ความกระจ่างด้วยนะครับ…

ขอบคุณครับ

โดยคุณ : pug - 13/07/2001 09:42

 

ความเห็นที่ 4 :

นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ

+ + + + + + + + + + + + + + +

สาธุ :) สวัสดีค่ะ ดิฉันไม่มีความรู้เกี่ยวกับรายละเอียดวิธีการปฏิบัติ ที่อาจารย์แนบฯ สอน เพราะว่าปฏิบัติมาในแนวพองยุบ

ก็เลยจะมานำเสนอส่วนที่เป็นแนวพองยุบ (ตามความเข้าใจของดิฉัน) นะคะ เพื่อจะเป็นอีกแนวคิดหนึ่งให้ได้พิจารณากันค่ะ

การปฏิบัติแบบพองยุบ

พองยุบ นั้น ไม่ทราบเหมือนกันว่าใครเป็นคนบัญญัติศัพท์นี้ แต่โดยแนวทางแล้ว ‘พองยุบ’ จะมีหลักๆ ที่ครูบาอาจารย์สอนว่า มี ๓ อัน ดังนี้ค่ะ

(๑) กำหนดปัจจุบันในทุกๆ ขณะในชีวิตประจำวัน

อันนี้ คร่าวๆ ก็คือ ฝึกมีสติรู้ตัวทั่วพร้อมในอาการของกาย-เวทนา-จิต-ธรรม ในชีวิตประจำวัน ลักษณะก็คือ มีอาการหรือสภาวะใดๆ ของกายหรือใจ ก็ตาม ที่เด่นที่สุดในวินาทีปัจจุบันนั้นๆ ก็มีสติกำหนดรู้ กำหนดดูอาการนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นอาการทางกายหรืออาการทางใจ ก็คือ รวมหมดกาย-เวทนา- จิต-ธรรม) เมื่อไหร่มีอาการใดปรากฏชัดกว่า ก็วางอันเก่าที่กำหนดรู้ ไปมีสติกำหนดรู้อาการหรือสภาวะทางกายหรือใจอันใหม่ที่ชัดกว่า เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ตลอดวันคือนับแต่ตื่นจนหลับ เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ คือ อยู่อย่างมีสติ ซึ่งครูบาอาจารย์บอกว่า ถ้าทำอย่างนี้ ‘ตัวเรา’ อยู่ที่ไหนก็ตาม ที่ตรงนั้นก็เป็นวัดอยู่เสมอ เพราะเรากำลังเจริญสติรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ตลอด

โดยที่การไปปฏิบัติกับครูบาอาจารย์อย่างเข้มข้นพอควร (อย่างต่ำ ๗ วันในครั้งแรก) ก็เพื่อไปเอาหลักให้แน่นพอควร ให้สามารถนำมาปฏิบัติเองได้ -- ไปหาหลักวิธีที่ถูกต้อง เพื่อจะได้กลับมาปฏิบัติเองได้จริงในทุกๆ ขณะในชีวิตประจำวัน หากตั้งใจฝึกฝนจนอยู่ตัว (ใช้เวลาเป็นปีๆ) ก็จะสามารถมีชีวิตที่ ‘มีสติ’ รู้ตัวทั่วพร้อม ไปเรื่อยๆ ในชีวิตประจำวัน ได้จริง

ครูบาอาจารย์ให้ความสำคัญกับการเจริญสตินี้ ว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุดใน ๓ อย่าง ให้คะแนนความสำคัญราวๆ ๘๐ เปอร์เซ็นต์

โดยที่ ขณะที่ไปปฏิบัติครูบาอาจารย์จะเน้นว่าเราควรมีสติที่จรดจ่อต่อเนื่อง

(แต่ไม่ต้องเครียด เพียงแต่จรดจ่อคือตั้งใจ เอาจริงเอาจังจริงๆ) (๑) และ ให้มีสติแบบทันปัจจุบัน (๒) และต้องช้าๆ - คือเวลาไปปฏิบัติ ทุกอย่างจะช้าหมด คือค่อยๆ เดิน ค่อยๆ นั่ง ค่อยๆ หยิบ ค่อยๆ เคี้ยว [อันนี้ เหตุผลคือ ช้าเพื่อจะ ดูรายละเอียดต่างๆ ในอาการหรือสภาวะต่างๆ ที่เกิดขึ้นของกายและใจ ในขณะนั้นๆ ได้ละเอียดกว่า ท่านเปรียบเสมือนพัดลม ที่ปกติเวลากำลังหมุน จะเร็วจนเราไม่อาจรู้รายละเอียดของใบพัดได้ ต่อเมื่อพัดลมนั้นช้าลงพอควร เราจึงจะสามารถ ‘เห็น’ ความจริงได้ว่า พัดลมมี ๓ ใบพัดนะ ไม่ใช่ใบเดียว] (๓) และถูกฐาน คือ ตรงที่ ตรงจุด ตรงอาการ ที่เกิดขึ้นจริงๆ ในขณะนั้นๆ (๔) เล่าคร่าวๆ แค่นี้ก่อนนะคะ

(๒) การเดินจงกรม

อันนี้ ท่านให้คะแนนความสำคัญราวๆ ๑๕ เปอร์เซ็นต์ วิธีการคือเดินช้าๆ ค่อยๆ เดิน โดยมีอยู่ ๖ ระยะ ตามพระไตรปิฎก โดยระยะก็จะค่อยๆ ละเอียดขึ้นตามความสมควรของพัฒนาการ ของผู้ไปปฏิบัติ (แต่เมื่อปฏิบัติไปมากๆ ปฏิบัติไปนานพอควร จนอยู่ตัวแล้ว ผู้ปฏิบัติแต่ละคนรู้ตัวว่าชอบหรือถูกใจ หรือรู้สึกพอดีกับระยะใดระยะหนึ่ง เวลากลับมาบ้าน ปฏิบัติเอง ก็จะใช้ระยะที่ถนัดนั้นได้)

(๓) การนั่งสมาธิ

อันนี้ ครูบาอาจารย์ให้ความสำคัญเพียง ๕ เปอร์เซ็นต์ วิธีการก็คือ การเดินจงกรมกับการนั่งสมาธิ จะมาคู่กันเสมอ ท่านไม่แนะให้นั่งสมาธิเพียงอย่างเดียวโดยไม่ได้เดินจงกรมก่อน และการเดินจงกรมและการนั่งสมาธินี้ จะต้องต่อเนื่องเป็นอันหนึ่ง อันเดียวกัน คือเจริญสติต่อเนื่องตลอดนับแต่การเดินจงกรม- เดินเสร็จ-เปลี่ยนเป็นการนั่งสมาธิ-จนกระทั่งเริ่มนั่งสมาธิ ก็ช้าๆ อย่างรู้ตัว จรดจ่อ ต่อเนื่อง นุ่มนวล ไปตลอดไม่ขาดสาย ไม่ขาดตอน (คือ สติไม่ขาดตอน การปฏิบัติคือการมีสติก็ไม่ ขาดตอน)

การเดินจงกรมกับการนั่งสมาธิ

อันนี้ ครูบาอาจารย์บอกว่า การเดินจงกรมและการนั่งสมาธินี้ ถ้าทำต้องทำคู่กัน โดยเปรียบว่าการกำหนดสติรู้ตัวทั่วพร้อม (ข้อ ๑) ที่สำคัญที่สุดนั้น เป็นเสมือนการเตรียมตัว ฝึกสติ ให้ฉับไว เฉียบคม อยู่เนืองๆ ใช้ให้บ่อยๆ (คือเท่าที่ไม่เผลอ) เมื่อฝึกจนเชี่ยวชาญแล้ว มีพลังแข็งแกร่งแล้ว ใช้อาวุธ (คือ พระสติ) ได้ดีแล้ว คล่องแล้ว ก็สามารถเข้าสนามรบได้ คือ มารบกับกิเลสอย่างจริงจัง

การเดินจงกรมและการนั่งสมาธิ เปรียบเสมือนการเข้าสนามรบ (กับกิเลส) ซึ่งการรบกับข้าศึกคือกิเลสให้สามารถปราบข้าศึกได้นั้น ต้องอาศัย อินทรีย์ห้าและพละห้า คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา

อินทรีย์ห้า พละห้า

อินทรีย์ห้าและพละห้านี้ ครูบาอาจารย์สอนว่า นอกจากตัว ‘สติ’ ที่พึง มีให้มาก ยิ่งมากยิ่งดี แล้วนั้น อีก ๔ อย่าง เค้ามากันเป็นคู่ๆ ต้องมีเป็น คู่ๆ และเค้าจะต้องเสมอกัน พอดีกัน balance กันพอดี ไม่ขาดไม่เกิน คู่แรกคือ ศรัทธา กับ ปัญญา อันนี้ ก็ต้องมาเสมอกัน ศรัทธากับปัญญานี้ ต้องพอดีกัน ไม่มีอะไรมากเกินอีกอัน คู่ที่สองคือ วิริยะกับสมาธิ คู่นี้ ก็ต้องมาเสมอกัน ไม่มากไม่น้อยล้ำหน้ากัน

กลับมาที่การเข้าสนามรบกับกิเลส (การเดินจงกรมกับการนั่งสมาธิ) การเดินจงกรมนั้น ก็คือวิริยะ สร้างวิริยะ ทำความเพียรก่อน และโดย แง่มุมการปฏิบัติ เป็นการเตรียมสติให้ทำงาน เหมือนการวอร์มอัพ ก่อนการแข่งกีฬา เพื่อให้ร่างกายพร้อม อันนี้จากคำอธิบายของ ครูบาอาจารย์และจากประสบการณ์ที่เจอกับตัวเอง จะพบว่า เมื่อแรกเริ่มเดินจงกรม จิตจะยังฟุ้งซ่าน ไปโน่นไปนี่ คิดโน่นนี่ พอเดินไปนานพอควร จิตจะยิ่งสงบ สติจะยิ่งทำงานดี แรง(ของสติ)มา ใจและกายก็จะสงบขึ้น พร้อมกับการเข้าต่อกร กับข้าศึก (คือ กิเลสยิ่งขึ้น)

เมื่อเดินจงกรมได้ที่แล้ว (เดี๋ยวจะพูดเรื่องระยะเวลาในการเดินจงกรม และนั่งสมาธิต่อค่ะ) ก็ค่อยๆ ประคองสติ ประคองกายเปลี่ยนจาก การเดินจงกรม ค่อยๆ ลงนั่งสมาธิ แล้วก็นั่งสมาธิไปตามเวลาที่ กำหนด ตอนนี้ สติมีกำลังบริบูรณ์ เมื่อเริ่มลงนั่งก็จะสงบทันที (สงบแบบมีสติรู้ตัวตลอด) ก็จะนั่งสมาธิ ดูอาการที่เกิดขึ้นกับกายและใจ ไปเรื่อยๆ เช่นเมื่อย(กาย) หงุดหงิด(ใจ) ขี้เกียจ(ที่ใจ) ฟุ้งซ่าน(ใจ) ฯลฯ

การเดินจงกรมกับการนั่งสมาธินี้ ในระยะแรกเริ่มฝึกฝนนั้น ควรมีครูบาอาจารย์อยู่ใกล้ชิด เพราะตอนแรกๆ เราจะยังไม่เข้าใจ ไม่ทราบว่าอะไรเป็นอะไร ที่ท่านให้เดินจงกรมกับนั่งสมาธิเท่ากัน หรือให้เดินจงกรมมากกว่า หรือให้นั่งสมาธิมากกว่า นั้น นานมากน้อยแค่ไหนนั้น ก็คือท่านจะทราบ (เพราะเคยผ่าน ประสบการณ์เหล่านี้มาหมดแล้ว) ว่าอินทรีย์ของผู้ปฏิบัติแต่ละคน (แต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน เป็นรายๆ ไป) เป็นอย่างไร อะไรยังอ่อน อะไรยิ่งเกิน อาทิ บางคนขาดวิริยะ และสมาธิมากไป ท่านก็จะ ให้เดินจงกรมเยอะๆ และนั่งนิดเดียวหรือยังไม่ให้นั่ง(สมาธิ) เลยก็มี บางคนวิริยะเกิน (คนไทยส่วนมากจะสมาธิเกิน และวิริยะอ่อน ท่านจึงมักให้เดินจงกรมมากกว่านั่งสมาธิ อาทิ เดินจงกรม ๔๕ นาที นั่งสมาธิแค่ ๒๐ นาทีก็ให้พอ ฯลฯ แต่ชาวต่างชาติโดยเฉพาะ ชาวตะวันตก มักวิริยะเกิน สมาธิขาด - อันนี้เป็นเกร็ด เล่าแถมมาเฉยๆ ค่ะ) สรุปคือ การเดินจงกรมและการนั่งสมาธินี้ ในทางวิปัสสนากรรมฐานอันมุ่งให้เกิดปัญญา ได้ดวงตาเห็นธรรมแล้ว ครูบาอาจารย์ท่านจะคอยประคับประคองเราก่อนในเบื้องแรก ทั้งนี้ก็เพื่อให้อินทรีย์และพละทั้งห้านี้เสมอกัน ไม่ขาดไม่เกิน ไม่ยิ่งไม่หย่อน ต่อเมื่อผู้ปฏิบัติฝึกฝน (ทั้ง ๓ อย่างข้างบน) มานานพอ พร้อมพอ มีประสบการณ์ในการปฏิบัติ รู้และเข้าใจว่าอะไรเป็น อะไรพอควรแล้ว ก็จะพอทราบได้เองว่าตนเองมีอะไรมาก อะไรน้อย อย่างไร

+ + + + + + + + + + + + + + +

การสวดมนต์

อันนี้ดิฉันเองก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าทำไมต้องมีการสวดมนต์และ นั่งสมาธิ เท่าที่ลองคิดๆ หาเหตุผลดูจากการปฏิบัติกับครูบาอาจารย์ หลายๆ ครู ปฏิบัติแบบเริ่มต้นและแบบเข้มข้นขึ้น ฯลฯ ก็สันนิษฐาน ได้ว่า หนึ่งคือเป็นเวลาสวดมนต์ ระลึกถึงพระคุณของพระพุทธองค์ พระคุณของพระธรรมและพระสงฆ์สุปฏิปันโนรวมทั้งอาราธนาศีล และฟังพระธรรมเทศนาในหัวข้อที่สมควรจะฟัง ซึ่งมักเป็นเรื่อง ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติธรรมเพื่อให้เกิดปัญญาเข้าใจโลกเข้าใจธรรม อันเป็นการให้ผู้ปฏิบัติโดยเฉพาะผู้ยังเริ่มต้นใหม่ๆ ได้มีเวลา พักจากการเดินจงกรมนั่งสมาธิบ้าง ได้ความรู้ได้ความเข้าใจ ในสิ่งที่ควรรู้ควรเข้าใจในการปฏิบัติบ้าง (เวลาสวดมนต์นี้ ก็สวดมนต์อย่างมีสติ ไหว้พระก็ไหว้อย่างมีสติ นั่งฟังธรรมก็ฟัง อย่างสงบและมีสติ เวลานั่งเมื่อยก็มีสติรู้ตัวว่าเมื่อย เวลาจะขยับเปลี่ยนท่าก็มีสติรู้ตัวอีกเช่นกัน)

ในการปฏิบัติแรกๆ (คือ เมื่อเริ่มปฏิบัติใหม่ๆ เช่น คอร์สพื้นฐาน) มักจะมีสวดมนต์ไหว้พระฟังพระธรรมกันเช้าเย็น ถือศีลห้าหรือ อาชีวัฏฐมกะศีลแต่ถ้าเป็นคอร์สเข้มข้น ก็อาจจะสวดมนต์ฟังธรรม แค่วันละครั้งเดียว เวลานอกจากนั้นก็ปฏิบัติไป และมีสอบอารมณ์ (คือ เสมือนไปเล่าให้ครูบาอาจารย์ฟังว่าการปฏิบัติเป็นอย่างไร มีอะไรเกิดขึ้นบ้างอย่างไร ครูบาอาจารย์เมื่อได้ฟังแล้วก็จะทราบ ว่าคนนั้นๆ ปฏิบัติไปถึงไหนแล้ว ยังติดตรงไหน ควรแนะนำอย่างไร เพื่อให้ก้าวหน้าต่อๆ ไป หรือควรแนะนำอย่างไรเพื่อให้ปรับอินทรีย์ ให้เสมอกัน เพื่อจะก้าวหน้าในการปฏิบัติต่อๆ ไป) เป็นช่วงๆ คือ อาจสอบอารมณ์ทุกวัน หรือวันเว้นวัน ฯลฯ แล้วแต่โอกาส แล้วแต่จำนวนผู้เข้าปฏิบัติ แล้วแต่ความเหมาะสมในครั้งนั้นๆ

และเมื่อผู้ปฏิบัติปฏิบัติไปพอสมควรแล้ว พอจะพึ่งตัวเองได้แล้ว รู้ว่าอะไรเป็นอะไรพอสมควรแล้ว ก็มักอยากปฏิบัติแบบอุกฤษฏ์ ประเภท ปลีกวิเวกไปเลย ไปหาสถานปฏิบัติหรือวัดสงบๆ อยู่ ปฏิบัติเอง นานเป็นสัปดาห์ หลายสัปดาห์ เป็นเดือน หรือไม่มีกำหนดก็มี อันนี้ ก็อาจไม่ได้มีการสวดมนต์ไหว้พระเลยก็มีค่ะ เพราะมุ่ง ปฏิบัติให้จรดจ่อ ต่อเนื่อง ทันปัจจุบัน ทุกขณะในชีวิต เป็นสำคัญ มุ่งปลีกไป เพื่อต่อสู้กับกิเลส เพื่อได้รู้จักกิเลสอย่างเอาจริง เอาจัง เอาเป็นเอาตาย (แต่ไม่เครียด - ให้อยู่ใน ทางสายกลางของตน) ก็มี

+ + + + + + + + + + + + + + +

งดพูด - การสำรวมอินทรีย์ทั้งหมด

การปฏิบัตินี้ ครูบาอาจารย์ให้งดพูด คือ ไม่พูดกับใครเลย นอกจากเวลาสอบอารมณ์กับครูบาอาจารย์ แม้เวลาสอบอารมณ์ ก็พูดให้น้อยที่สุด พูดเฉพาะที่จำเป็น

อันที่จริงแล้ว ไม่ได้งดพูดเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการสำรวมทวาร สำรวมอินทรีย์ทุกทวารทุกอินทรีย์ สำรวมกาย สำรวมวาจา กล่าวโดยละเอียดคือ สำรวมตา สำรวมหู สำรวมจมูก สำรวมลิ้น สำรวมกาย สำรวมใจ ด้วยการปฏิบัติ คือ การเพียรมีสติตามดูตามรู้ในทุกๆ ขณะ ในชีวิต ทั้งนับแต่ตื่นจนหลับ (ข้อ ๑) และในเวลาเข้าสนามรบ คือ เดินจงกรมและนั่งสมาธิ (ข้อ ๒ และ ๓) นั่นเอง

คำว่า ‘หนอ’

โดยหลักๆ แล้ว จะมีคำว่าหนอ ต่อท้าย เช่น เดินหนอ นั่งหนอ อยากรับประทานหนอ หิวหนอ ปวดหนอ ทุกข์หนอ สบายหนอ คิดหนอ ฟุ้งซ่านหนอ ฯลฯ ถ้าเป็นผู้ปฏิบัติที่ถูกอุปนิสัยกับวิธีนี้ ก็จะพบว่าหนอนี้มีคุณค่ามหาศาล ครูบาอาจารย์อธิบายไว้ มากมาย แต่แรกเลยคือ ถ้าจำไม่ผิดท่านอธิบายไว้ว่า ‘หนอ’ นี้ คือ ตัวสัมปชัญญะ เป็นตัวกำหนดให้รู้ว่าสภาวะนั้นๆ ที่กำหนด อยู่ ได้จบลงไปแล้ว หมดลงไปแล้ว ได้เกิดขึ้น-หรือกำลังตั้งอยู่ หรือว่าได้ดับไปแล้ว ฯลฯ ตามแต่ว่าจะเป็นสภาวะไหน อย่างไร หนอนี้ ถ้าตามวิธีการปฏิบัติแนวพองยุบนี้ จะมีประโยชน์มากมาย มหาศาล หนอครั้งหนึ่งก็ได้ความรู้อะไรดีๆ เกิดขึ้นกับตน รู้ได้ด้วยตนเอง

การอ่านหนังสือ การเรียนธรรมะ

ขณะเข้าปฏิบัติ (เช่นคอร์ส ๗ วัน) ครูบาอาจารย์จะไม่ให้อ่านหนังสือ ใดๆ เลย ไม่ให้ติดต่อกับใคร งดการติดต่อกับภายนอก งดการกระทำ ใดๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวกับหรือไม่ได้จำเป็นกับการเจริญสติรู้ตัวทั่วพร้อม อาทิ อ่านหนังสือ ไม่ว่าหนังสือธรรมะหรือหนังสืออะไรก็ไม่ให้อ่าน ทั้งสิ้น

วิธีการสอนการปฏิบัติ

การปฏิบัติแนวนี้ โดยมากวันแรกจะมีสวดมนต์ไหว้พระสมาทานศีล (ศีลห้าหรือศีลแปด ฯลฯ) สมาทานพระกรรมฐาน แล้วลงมือปฏิบัติเลย

จะไม่มีการอธิบายอะไรมาก แทบไม่มีคำอธิบายใดๆ เลยก็ว่าได้ มีแต่สอนวิธีการเดินจงกรม วิธีการนั่งสมาธิ โดยเอาการปฏิบัติจริง เป็นสำคัญ มีครูบาอาจารย์อยู่ด้วย เอาของจริงมาดูกันเดี๋ยวนั้น อาทิ เวลาเดินจงกรม ก็เดินกันจริงๆ ครูบาอาจารย์ท่านเคยปฏิบัติ มาก่อน ผ่านประสบการณ์ทั้งหมดมาแล้ว ท่านก็จะทราบว่า ผู้ปฏิบัติโดยทั่วไปมักมีอาการอย่างไร จะเจอะเจอหรือประสบ เข้ากับประสบการณ์ใดๆ บ้าง อาทิ วันแรกๆ ที่ปฏิบัติ โดยเฉพาะ ผู้ปฏิบัติครั้งแรก สองสามวันแรก มักจะมีแต่ความทุกข์ทั้งทุกข์กาย และทุกข์ใจ เกิดความขี้เกียจ ความคิดถึงบ้าน ความสงสัย ความหงุดหงิด ไม่พอใจ ฯลฯ ครูบาอาจารย์ท่านจะคอยแนะ ไปเรื่อยๆ ระหว่างเดินจงกรมด้วยกัน ว่าวิธีการกำหนดรู้อารมณ์ ความรู้สึกทั้งทางกายและทางใจเหล่านั้น ทำอย่างไรจะให้ เป็นไปแบบมีสติ แบบกำหนดสติ ก็คือ ท่านสอนสติปัฏฐานสี่ ตลอดเวลา นั่นเอง

หรือเวลานั่งสมาธิ ก็จะให้นั่งเลย ครูบาอาจารย์จะแนะนำ เฉพาะตอนเริ่มนั่งสมาธิ ว่าเมื่อนั่ง ให้เอาอาการพองยุบที่ท้อง เป็นฐาน คือ เป็นหลักของสติ ให้สติกลับมาเกาะตรงนี้เสมอ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น อาทิ ไม่ว่าจะฟุ้งซ่าน ไม่ว่าจะเห็นภาพ อะไรขึ้นมา (ทั้งๆ ที่หลับตา) ไม่ว่าจะเมื่อย ไม่ว่าจะเป็นตะคริว ไม่ว่าจะรู้สึกเหมือนมีอะไรมากัด ไม่ว่ารู้สึกเป็นทุกข์ ไม่ว่า รู้สึกเป็นสุข ไม่ว่าอยู่ดีๆ จะตัวโยก ตัวโคลง ตัวร้อนวูบ รู้สึกเหมือนตัวลอย หรืออะไรต่างๆ ท่านจะแนะๆ วิธีปฏิบัติ เมื่อสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น ไว้ค่อนข้างหมดแล้ว และจะกล่าวซ้ำๆ อยู่ตลอด ๗ วันที่ปฏิบัติ เพื่อให้สิ่งเหล่านี้ซึมและผนึกอยู่ใน ใจผู้ปฏิบัติ เมื่อออกมาจาก ๗ วัน จึงสามารถมาทำต่อที่บ้าน ได้เองในระดับนึง พึ่งตัวเองพอได้ในระดับนึงค่ะ