คลิกเมาส์ที่ใดก็ได้ในเฟรมนี้เพื่อเรียกเมนูด่วน
พุทธชยมงคลคาถาบรรยาย (๑)
พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช
จะแสดงตำนาน ถวายพรพระ คือธรรมเนียมบำเพ็ญกุศลในครั้งก่อน ก็ไม่ได้หมายความว่า ก่อนเก่านักหนา ในเวลาไม่กี่สิบปีมานี้ การบำเพ็ญกุศลนิยม ๓ วัน คือสวดมนต์เย็นวันหนึ่ง รุ่งขึ้นเช้าก็ถวายอาหารบิณฑบาตพระสงฆ์ผู้ที่มาสวดมนต์เมื่อวานนี้ ในการสวดมนต์เย็นนั้น ก็นิยมสวดเจ็ดตำนานเป็นพื้น ในการบำเพ็ญกุศลพิเศษจึงจะมีสวดสิบสองตำนานกันบ้าง ส่วนในวันรุ่งขึ้น ตอนเช้าที่ถวายอาหารบิณฑบาตนั้น พระสงฆ์ผู้มาเจริญพระพุทธมนต์เมื่อวานนี้จะสวดถวายพรพระ คือจะสวด นโม พุทฺธํ อิติปิโส สฺวากขาโต สุปฏิปนฺโน พาหุ มหากา ภวตุสพฺ ทั้ง ๕ บทนี้ก็เรียกรวม ๆ กันว่า ถวายพรพระ แต่ว่าบทพิเศษคือ พาหํ ซึ่งเรียกว่าเป็นบทถวายพรพระ
บท พาหุ นี้ เป็นคาถาวสันตดิลก แต่งขึ้นในลังกา เป็นบทที่อ้างพระพุทธเจ้าผู้ทรงชนะในคราวต่าง ๆ มาเป็นสัจวาจาขอให้บังเกิดชัยมงคล และก็สันนิษฐานกันว่า แม้บทสวดถวายพรพระนี้ ก็มุ่งแต่ถวายพระเจ้าแผ่นดิน ผู้ปกครองประเทศ เช่นเดียวกับที่จัดรวบรวมบทสวดเจ็ดตำนานและสิบสองตำนาน จึงเรียกว่า จุลราชปริตร และ มหาราชปริตร คือเป็นพระราชปริตรทั้งเจ็ดตำนานทั้งสิบสองตำนาน
บทสวดถวายพรพระนี้ก็เช่นเดียวกัน จึ่งได้มีคำตอนท้ายที่ขอให้พระองค์ทรงชนะในชัยมงคล และคำว่าชนะ ชนะ นี้มีปรากฏในอรรถกถาธรรมบทบางเรื่อง ว่าเป็นถ้อยคำจำเพาะพระเจ้าแผ่นดินผู้ปกครองประเทศ ซึ่งทรงเป็นผู้ชนะ และเมื่อชนะในที่ใด จึงปกครองในที่นั้น เพราะฉะนั้น คำว่าชนะนี้ จึงใช้เป็นชื่อของท้องถิ่นด้วย คือท้องถิ่นหรือประเทศที่พระเจ้าแผ่นดินองค์ใดทรงปกครองก็เรียกว่าเป็น วิชิตะ คือเป็นแว่นแคว้นที่พระองค์ทรงชนะแล้ว ทรงได้วิชัย คือความชนะแล้ว เพราะฉะนั้น พระเจ้าแผ่นดินแต่ละพระองค์จึงทรงปกครองอยู่ในวิชิตรัฐหรือในวิชิต คือถิ่นที่ทรงชนะแล้ว ฉะนั้นใคร ๆ ในถิ่นนั้นไม่บังควรที่จะกล่าวว่าตนเป็นผู้ชนะหรือเราชนะ ต้องพระเจ้าแผ่นดินองค์เดียวเท่านั้น จึงจะเป็นผู้กล่าวได้ว่า เราชนะแล้ว
เพราะฉะนั้น คำว่าชนะนี้จึงเป็นคำที่ทุก ๆ คนต้องระมัดระวังที่จะไม่พูด ถ้าพูดขึ้นแล้ว ก็จะทำให้เกิดความแสลงใจว่า คนนี้น่าจะมีความคิดไม่สุจริตต่อแผ่นดินแล้ว
ฉะนั้นในบรรดาคาถาทั้งหลาย ที่แต่งถวายพระเจ้าแผ่นดิน จึงมีคำนี้อยู่มาก แต่ว่าต่อมาเมื่อชาวบ้านนิมนต์พระไปสวดก็ไม่ได้แต่งแก้ไขขึ้นใหม่ ก็ใช้สวดไปตามที่ท่านแต่งถวายพระเจ้าแผ่นดินไว้ และเมื่อพระพุทธศาสนาแผ่ไปตามประเทศต่าง ๆ เช่นประเทศไทย คนฟังก็ไม่รู้ความ ไม่รู้ธรรมเนียมก็นำมาสวดกันไป และไม่ได้ถือความหมายหวงคำว่าชนะไว้เฉพาะพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น โดยที่ใช้ความหมายผ่อนลงมา ถึงความหมายว่า ได้รับผลดีต่าง ๆ ก็เป็นความชนะอย่างหนึ่ง ๆ ชนะโรคภัยไข้เจ็บ ชนะศัตรู ชนะความยากจนข้นแค้นอะไรเป็นต้นเหล่านี้ ก็มีความหมายกันไปอย่างนี้ก็เลยใช้กันได้
สำหรับคำว่า ถวายพรพระ นี้ ในชื่อที่เป็นบาลีว่า พุทธชยมงคลคาถา คือ คาถาที่กล่าวถึงความชนะที่เป็นมงคลของพระพุทธเจ้า ซึ่งมีอยู่ ๙ คาถาด้วยกัน
๘ คาถาแรกเป็นคาถาที่แสดงถึงเรื่องต่าง ๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงชนะมา อ้างมาก็ ๘ เรื่อง เรื่องละ ๑ คาถา ก็เป็น ๘ คาถา
ส่วนคาถาที่ ๙ นั้น เป็นคาถาที่แสดงผลของการสวดที่ระลึกถึงพุทธชยมงคลคาถาทั้ง ๘ เหล่านี้ทุก ๆ วัน ว่าจะทำให้ละเสียได้ซึ่งอุปัทวันตรายทั้งหลาย และถึงซึ่งโมกขะคือความพ้นอันเป็นสุข
สำหรับพุทธชยมงคลคาถาเหล่านี้ ได้มีธรรมเนียมสวดดังที่เล่ามา สำหรับการสวดมนต์เย็นที่สวดเจ็ดตำนานเป็นพื้นดังกล่าว มีคำอาราธนาพระปริตร แต่ว่าการสวดถวายพรพระก่อนที่จะถวายอาการบิณฑบาตพระ ไม่มีคำอาราธนา มีธรรมเนียมว่า ผู้บำเพ็ญกุศลขอศีล พระให้ศีลแล้วก็สวดทีเดียวตั้งแต่ นโม อิติปิโส แล้วก็มา พาหุ ซึ่งเป็นบทถวายพรพระ มหากา ภวตุสพฺ และก็น่าจะชี้แจงถึงถ้อยคำแปลในภาษาไทย เพราะได้บอกชื่อในภาษาบาลีมาแล้วว่า พุทธชยมงคลคาถา ส่วนในภาษาไทยมาใช้คำเรียกว่า ถวายพรพระ คำนี้ก็น่าจะติดมาจากที่เล่ากล่าวมาเบื้องต้นว่า เป็นคำสวดถวายพระเจ้าแผ่นดิน ก็คือเป็นคำสวดถวายพรพระเจ้าแผ่นดินและถวายพรของพระเจ้าแผ่นดินนี้ ก็เป็นคำถวายพรที่อ้างพระพุทธเจ้า จึงเท่ากับว่าเป็นพรของพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น จึงเรียกกันสั้น ๆ ว่า พรพระ คือบททั้ง ๙ นี้เป็นพรพระ เป็นพรของพระพุทธเจ้า เป็นพรที่อ้างพระพุทธเจ้า แล้วก็นำเอาพรนี้มาสวดถวายพระเจ้าแผ่นดิน จึงเรียกว่าถวายพรพระ จึงได้ใช้คำนี้กันต่อมา เป็นชื่อธรรมเนียม ในบัดนี้การบำเพ็ญกุศลมักจะย่นเป็นวันเดียว และมักจะทำในเวลาเพล เพราะฉะนั้น การสวดมนต์ก็สวดเจ็ดตำนานและสวดถวายพรพระนี้ต่อท้าย
อนึ่งมีธรรมเนียมตั้งแต่ครั้งโบราณมา คือในวันที่ถวายอาหารบิณฑบาตนั้น ก็มีการใส่บาตรหรือว่าตักบาตรพระสงฆ์ ซึ่งมักจะทำกันในตอนเช้าดังที่เล่ามาข้างต้น ในขณะที่พระสวดถวายพรพระนั้น เมื่อสวด นโม อิติปิโส คฤหัสถ์ผู้บำเพ็ญกุศลก็นั่งฟัง พอถึง พาหุ ก็ลุกออกไปใส่บาตร เมื่อใส่บาตรเสร็จ ยังไม่จบ ก็กลับมานั่งฟังใหม่
ในครั้งก่อนนั้น พระฉันจังหันกันในบาตรเป็นพื้น ก็มีการใส่บาตร แล้วก็นำบาตรมาถวาย แล้วมีสำรับมาตั้ง พระก็ฉันจังหันกันในบาตรเป็นพื้น ต่อมาในตอนหลัง เมื่อย่นวันให้น้อยเข้า มาสวดมนต์วันเดียว ฉันวันเดียว ธรรมเนียมใส่บาตรก็เลยไม่ใคร่มี พระฉันใช้จาน ฉันกันเฉพาะองค์ มีสำรับเฉพาะองค์บ้าง ฉันเป็นหมู่บ้าง จะเลี้ยงพระมาก ๆ เพื่อความสะดวก ก็ใช้ฉันเป็นหมู่เป็นโต๊ะ ไม่ได้ใส่บาตร เพราะฉะนั้นเมื่อนำเอาถวายพรพระมารวมเข้า สวดต่อกันไป ก็นั่งฟังกันไปจนจบ ไม่ต้องลุกมาใส่บาตร เว้นไว้แต่ธรรมเนียมมงคลงานแต่งงานบ่าวสาว ซึ่งแต่โบราณเก่ก่อน มักเรียกกันว่า ทำบุญขึ้นบ้านใหม่ เพราะว่าแต่งงานบ่าวสาวนั้น ก็ถือว่าเป็นการแยกครอบครัวออกไปตั้งบ้านใหม่ ตั้งครอบครัวขึ้นใหม่ ก็เท่ากับเป็นธรรมเนียมขึ้นบ้านใหม่ ธรรมเนียมขึ้นบ้านเข้าบ้าน การนิมนต์พระไปทำบุญก็มักจะอ้างอันนี้ว่า พระไปทำบุญในการเข้าบ้านขึ้นบ้าน ซึ่งปรากกว่ามีใช้ในครั้งพุทธกาลบ้างเหมือนกัน เมื่อพระนันทะราชอนุชาจะอภิเษกแต่งงาน ก็ได้นิมนต์พระพุทธเจ้าและพระสาวกไปในการเข้าบ้านขึ้นบ้าน สำหรับในเมืองไทยเราแต่ก่อนก็มักจะนิมนต์พระสวดมนต์กัน แล้วถวายอาหารบิณฑบาตเช้า แต่ในบัดนี้เมื่อเอามารวมเป็นวันเดียว ก็นิยมทำตอนเช้าแล้วมีตักบาตร เมื่อถึงถวายพรพระคือ พาหุ บ่าวสาวก็ออกไปตักบาตร ญาติพี่น้องก็ใส่บาตรกัน ก็เป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันมาดั่งนี้