#echo banner="" ปิยรูป สาตรูป สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช

ปิยรูป สาตรูป

›››››

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ

]

 บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ได้แสดงทุกขสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงยกตัณหาขึ้นเป็นทุกขสมุทัย จำแนกเป็น กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ซึ่งได้แสดงอธิบายมาแล้ว ต่อจากนั้นพระพุทธองค์ก็ได้ตรัสจำแนกแจกแจงแสดงต่อไปอีกว่า ตัณหานั้นเกิดขึ้นในที่ไหน ตั้งอยู่ในที่ไหน ก็ได้ตรัสตอบเองว่า ตัณหานั้นเกิดขึ้นใน ปิยรูป รูปเป็นที่รัก สาตรูป รูปเป็นที่ชอบใจสำราญใจ แล้วจึงได้ตรัสชี้ว่าปิยรูปรูปเป็นที่รัก สาตรูปรูปเป็นที่ชอบใจสำราญใจ นั้นคืออะไร ก็ได้ตรัสจำแนกออกไปอีก ๑๐ หมวดสำหรับให้ผู้ปฏิบัติพิจารณา ดังที่จะได้นำมาแสดงต่อไป

หมวดที่ ๑ นั้นก็คือตาหูจมูกลิ้นกายและมโนคือใจเป็น ปิยรูป สาตรูป หมวดที่ ๒ ก็คือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะสิ่งถูกต้องและธรรมะคือเรื่องราว หมวดที่ ๑ ก็มี ๖ มีตาเป็นต้น ก็ได้แก่อายตนะภายใน ๖

หมวดที่ ๒ ก็มี ๖ ได้แก่อายตนะภายนอก ๖ เป็น ปิยรูป สาตรูป อายตนะภายในและอายตนะภายนอกก็มีอยู่ที่กายใจนี้เอง (เริ่ม ๑๘๔/๒) ไม่ใช่ในที่อื่น แม้ในหมวดต่อไปก็มีอยู่ที่กายใจนี้เช่นเดียวกัน

หมวดที่ ๓ ก็ได้แก่ จักขุวิญญาณ ความรู้ทางจักษุคือดวงตา อันได้แก่เห็นรูปทางตา โสตะวิญญาณ ความรู้ทางหู ก็ได้แก่ได้ยินเสียงทางหู ฆานวิญญาณ ความรู้ทางฆานะคือจมูก ก็ได้แก่ทราบกลิ่นทางจมูก ชิวหาวิญญาณ ความรู้ทางลิ้น ก็ได้แก่ทราบรสทางลิ้น กายวิญญาณ ความรู้ทางกาย ก็ได้แก่ทราบโผฏฐัพพะสิ่งถูกต้องทางกาย มโนวิญญาณ ความรู้ทางมโนคือใจ ก็ได้แก่รู้หรือคิดธรรมะคือเรื่องราวทางใจ

หมวดที่ ๔ ก็ได้แก่ สัมผัส ความถูกต้อง อันเป็นความรู้ที่สูงขึ้นจากวิญญาณ คือจิตกระทบถูกต้องกับอารมณ์คือเรื่องราวมีเรื่องรูปเป็นต้นนั้น ตั้งต้นแต่ จักขุสัมผัส สัมผัสคือใจกับอารมณ์ จิตกับอารมณ์กระทบกันทางตา โสตสัมผัส จิตกับอารมณ์กระทบกันทางหู ฆานสัมผัส จิตกับอารมณ์กระทบกันทางจมูก ชิวหาสัมผัส จิตกับอารมณ์กระทบกันทางลิ้น กายสัมผัส จิตกับอารมณ์กระทบกันทางกาย มโนสัมผัส จิตกับอารมณ์กระทบกันทางมโนคือใจ

หมวดที่ ๕ เวทนา คือความรู้ที่สูงขึ้นจากสัมผัส มีสัมผัสเป็นเหตุให้เป็นเวทนา คือรู้เป็นสุข รู้เป็นทุกข์ หรือรู้เป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข อันได้แก่ จักขุสัมผัสชาเวทนา เวทนาที่เกิดจากสัมผัสทางตา โสตสัมผัสชาเวทนา เวทนาที่เกิดจากสัมผัสทางหู ฆานสัมผัสชาเวทนา เวทนาที่เกิดจากสัมผัสทางจมูก ชิวหาสัมผัสชาเวทนา เวทนาที่เกิดจากสัมผัสทางลิ้น กายสัมผัสชาเวทนา เวทนาที่เกิดจากสัมผัสทางกาย มโนสัมผัสชาเวทนา เวทนาที่เกิดจากสัมผัสทางมโนคือใจ

หมวดที่ ๖ ก็เป็นความรู้ที่สูงขึ้นจากเวทนา คือ สัญญา ความจำได้หมายรู้ อันได้แก่ รูปสัญญา สัญญาในรูป สัทธสัญญา สัญญาในเสียง คันธสัญญา สัญญาในกลิ่น รสสัญญา สัญญาในรส โผฏฐัพพสัญญา สัญญาในสิ่งถูกต้อง ธรรมสัญญาสัญญา ในธรรมะคือเรื่องราวทางใจ

หมวดที่ ๗ ความรู้ที่สูงขึ้นจากสัญญา คือ สัญเจตนา ความจงใจ อันได้แก่ รูปสัญเจตนา ความจงใจในรูป อันหมายถึงความคิดปรุงหรือปรุงคิดรูป สัทธสัญเจตนา ความจงใจในเสียง คือคิดปรุงหรือปรุงคิดเสียง คันธสัญเจตนา ความจงใจในกลิ่น คือคิดปรุงหรือปรุงคิดกลิ่น รสสัญเจตนา ความจงใจในรส คือคิดปรุงหรือปรุงคิดรส โผฏฐัพพสัญเจตนา ความจงใจในโผฏฐัพพะ คือสิ่งถูกต้อง คือความคิดปรุงหรือปรุงคิดในโผฏฐัพพะสิ่งถูกต้อง ธรรมสัญเจตนา สัญเจตนาความจงใจในธรรมะคือเรื่องราว อันได้แก่ความคิดปรุงหรือปรุงคิดเรื่องราวต่างๆ

หมวดที่ ๘ ก็ได้แก่ตัวตัณหาเอง ที่เกิดขึ้นในลำดับแห่งสัญเจตนาความจงใจ ด้วยความคิดปรุงหรือความปรุงคิดนั้น อันได้แก่ รูปตัณหา ตัณหาในรูป สัทธตัณหา ตัณหาในเสียง คันธตัณหา ตัณหาในกลิ่น รสตัณหา ตัณหาในรส โผฏฐัพพตัณหา ตัณหาในโผฏฐัพพะสิ่งถูกต้อง และ ธรรมตัณหา ตัณหาในธรรมะคือเรื่องราว

หมวดที่ ๙ เป็นความรู้ที่สืบจากตัณหา อันได้แก่ วิตก คือความตรึกนึกคิดมีลักษณะเป็นความยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ อันได้แก่ รูปวิตก ตรึกนึกคิดในรูป สัทธวิตก ตรึกนึกคิดในเสียง คันธวิตก ตรึกนึกคิดในกลิ่น รสวิตก ตรึกนึกคิดในรส โผฏฐัพพวิตก ตรึกนึกคิดในโผฏฐัพพะสิ่งถูกต้อง ธรรมวิตก หรือวิตักกะตรึกนึกคิดในธรรมะคือเรื่องราว

จึงมาถึงหมวดที่ ๑๐ อันได้แก่ วิจาร คือความตรอง ซึ่งบังเกิดสืบเนื่องขึ้นจากวิตกคือความตรึกนึกคิด ก็เป็นความรู้อีกอย่างหนึ่ง อันได้แก่ รูปวิจาร ความตรองในรูป สัททวิจาร ความตรองในเสียง คันธวิจาร ความตรองในกลิ่น รสวิจาร ความตรองในรส โผฏฐัพพวิจาร ความตรองในโผฏฐัพพะสิ่งถูกต้อง และ ธรรมวิจาร ความตรองในเรื่องราว

ทั้งหมดนี้แต่ละหมวดเป็นปิยรูปรูปเป็นที่รัก สาตรูปรูปเป็นที่ชอบใจสำราญใจ และก็หมวดละ ๖ หมวดละ ๖ ทั้งหมดนี้รวมลงในกายและใจนี้เอง ทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการของจิตใจ พร้อมทั้งกายของทุกๆ คน ตัณหาเกิดขึ้นตั้งอยู่ในกระบวนการของกายใจทั้ง ๑๐ หมวดนี้ และทุกคนอาจพิจารณาจำแนกดูได้ที่กายใจของตัวเอง แต่ต้องมีความเข้าใจว่าชื่อของหมวดทั้ง ๑๐ หมวดเป็นสมมติบัญญัติ คือเป็นสมมติธรรมบัญญัติธรรม สำหรับเรียกร้องกระบวนการของจิตใจทั้งหมด

กระบวนการของตัณหา

ทุกคนนั้นเมื่อจิตรับอารมณ์คือเรื่องราว โดยปรกติก็รู้สึกเหมือนว่า หากจะเกิดตัณหา ก็เกิดตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยากขึ้นทันที เป็นกามตัณหาบ้าง ภวตัณหาบ้าง วิภวตัณหาบ้าง บังเกิดขึ้นที่จิตใจนี้ มีอาการให้รู้ได้

และหากพิจารณาจำแนกดูแล้วก็จะจำแนกได้ ตามกระบวนการทั้ง ๑๐ หมวดที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงไว้ ซึ่งบรรดาอารมณ์คือเรื่องของจิตที่จิตคิดนึกยึดถืออยู่ อันเป็นที่ตั้งของตัณหาทั้งหลาย หากพิจารณาจับดูตามที่ตรัสสอนไว้ ก็จะเห็นตามได้ตามเป็นจริง ว่าตั้งต้นมาจากอายตนะภายใน ๖ อายตนะภายนอก ๖ ของตนนี้เองที่มาประจวบกัน เช่น ตามาประจวบกับรูปเป็นต้น ต้องตั้งต้นจากอายตนะภายในอายตนะภายนอกดั่งนี้

แล้วจึงมาถึงวิญญาณคือตัวความรู้ของจิตนี้เอง ที่เริ่มขึ้นปรากฏเป็นเห็นรูปได้ยินเสียงเป็นต้น ซึ่งทุกๆ คนมีอยู่ ซึ่งเป็นความรู้อย่างหนึ่งของจิต เป็นความรู้ที่เป็นขั้นต้น แล้วจึงเป็นความรู้ที่สูงขึ้นเป็นสัมผัส จิตกับอารมณ์ประจวบกัน สัมผัสกันกระทบกัน เป็นความรู้ที่สูงขึ้นกว่าวิญญาณ แล้วก็เป็นความรู้ที่สูงขึ้นเป็นเวทนา รู้เป็นสุขเป็นทุกข์เป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข แล้วก็เป็นความรู้ที่สูงขึ้นเป็นสัญญาจำได้หมายรู้ จำรูปจำเสียงได้เป็นต้น แล้วจึงเป็นความรู้ที่สูงขึ้นเป็นรู้จักปรุง คือคิดปรุงหรือปรุงคิดเป็นสัญเจตนาความจงใจ

เมื่อมีความคิดปรุงหรือปรุงคิดขึ้น คือปรุงรูปปรุงเสียงนั้นเองจึงเกิดเป็นตัณหา ซึ่งเป็นความรู้ที่สูงขึ้นมาอีก และเมื่อเป็นตัณหา ก็เป็นความรู้ที่สูงขึ้นเป็นวิตกคือตรึก แล้วก็เป็นวิจารคือตรอง กระบวนของจิตใจย่อมเป็นไปอยู่ดั่งนี้ในอารมณ์ทั้งหลายทุกอารมณ์

กำหนดดูกระบวนของจิตใจ

เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนจำแนกเอาไว้ สำหรับหัดจับมาพิจารณาดูใจของตัวเอง ดูกระบวนของจิตใจของตัวเองที่เป็นไปโดยลำดับ

เป็น ญาตปริญญา กำหนดรู้สิ่งที่รู้ หรือกำหนดรู้ความรู้ คือความรู้ที่เป็นกระบวนของจิตใจ อันเป็นธรรมชาติธรรมดานี้มีทุกคน จะปฏิบัติธรรมหรือไม่ปฏิบัติธรรมก็มีอยู่ทุกคนตั้งแต่เกิดมา และก็ให้กำหนดรู้ตัวความรู้ของจิตใจที่เป็นธรรมชาติธรรมดานี้แหละ ให้รู้จักว่าอะไรเป็นอะไร แล้วก็จับพิจารณาเป็น ตีรณปริญญา แล้วจึงจะถึงขั้นละซึ่งเป็น ปหานปริญญา ต่อไป เพราะฉะนั้น จึงต้องฟังให้เข้าใจสมมติบัญญัติ ซึ่งเป็นสมมติธรรมบัญญัติธรรมนี้ และดูเข้ามาที่จิตใจของตัวเอง จับพิจารณาดู

ธรรม ๑๐หมวดเป็น ปิยรูป สาตรูป

และก็พึงเข้าใจว่าคำว่าปิยรูปสาตรูปนี้ ยก รูป ขึ้นมาอย่างเดียว แต่ความหมายนั้นมิได้มีความหมายจำเพาะรูปที่เป็นวัตถุ แต่หมายถึงกระบวนของจิตใจทุกข้อทุกบททุกอย่าง ทั้งที่เป็นรูป และทั้งที่มิใช่รูป เพราะฉะนั้น จึงมักจะแปลกันว่า สิ่ง หรือแปลรวมๆ ว่า ที่ เช่น ตัณหาเกิดขึ้นในปิยรูปสาตรูป ก็แปลกันว่าเกิดใน ที่ เป็นที่รักใน ที่ เป็น ที่ ชอบใจสำราญใจ เอาคำว่า ที่ มาใช้ หรืออาจจะแปลว่า สิ่ง ปิยรูปสิ่งเป็นที่รัก สาตรูปสิ่งเป็นที่ชอบใจสำราญใจ

ฉะนั้น จึงต้องทำความเข้าใจถ้อยคำดั่งนี้ คือใช้คำว่า รูป ก็จริง ว่าปิยรูปสาตรูปก็จริง แต่ก็มิใช่หมายความว่าจำเพาะรูปที่เป็นวัตถุซึ่งใช้ในที่ทั้งปวง แต่หมายถึงทั้งรูปทั้งเสียงทั้งกลิ่นทั้งรสทั้งโผฏฐัพพะทั้งธรรมะคือเรื่องราว และทั้งตาหูจมูกลิ้นกายใจทั้งหมด ทั้งวิญญาณ ทั้งสัมผัส ทั้งเวทนา ทั้งสัญญา ทั้งสัญเจตนา ทั้งตัณหาเอง และทั้งวิตก ทั้งวิจารเป็นรูปหมด เป็นปิยรูปสาตรูปหมด คือเป็นที่ตั้งนั้นเอง อันเป็นที่รักเป็นที่ชอบใจสำราญใจ ซึ่งตัณหาเกิดขึ้นตั้งอยู่ในปิยรูปและสาตรูปทั้งปวงนี้ จึงเป็นทุกขสมุทัยขึ้น ต่อไปนี้ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งความสงบสืบต่อไป