#echo banner="" เบื้องต้นแห่งการปฏิบัติธรรม สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช

เบื้องต้นแห่งการปฏิบัติธรรม

›››››

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ

]

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย ว่าเบื้องต้นแห่งโพชฌงค์นั้น ก็ได้แก่สติปัฏฐาน คือปฏิบัติสติปัฏฐานก่อน แล้วจึงปฏิบัติโพชฌงค์หรือสัมโพชฌงค์ สติปัฏฐานทั้ง ๔ นั้น ก็ได้แก่ตั้งสติตามดู กาย เวทนา จิต ธรรม และเมื่อได้ตั้งสติกำหนดดูดังกล่าว ก็ปฏิบัติโพชฌงค์ต่อ

ขั้นปฏิบัติที่เป็นสติปัฏฐาน

ในข้อนี้พิจารณาก็ย่อมจะเห็นว่า สติปัฏฐานที่ปฏิบัติก่อนโพชฌงค์ ไม่ใช่สติปัฏฐานที่ตรัสแสดงจำแนกวิธีปฏิบัติ ในแต่ละปัพพะหรือแต่ละข้อ เพราะว่าวิธีปฏิบัติที่ตรัสไว้นั้น เมื่อพิจารณาดูตามพระพุทธภาษิตที่ตรัสไว้ ว่าโพชฌงค์เป็นทางปฏิบัติแห่งกรรมฐานทั้งปวง ทั้งสมถกรรมฐาน ทั้งวิปัสสนากรรมฐาน

ก็ควรจะเข้าใจว่า ข้อที่ตรัสจำแนกไว้ในแต่ละข้อ เช่นข้ออานาปานปัพพะ ข้อที่ว่าด้วยลมหายใจเข้าออก อิริยาปถปัพพะ ข้อที่ว่าด้วยอิริยาบถเป็นต้น เป็นการทรงแสดงสัมโพชฌงค์รวมอยู่ด้วยแล้ว คือเป็นวิธีปฏิบัติแต่ละข้อนั้น ในเมื่อแสดงคู่กัน คือสติปัฏฐาน และสัมโพชฌงค์ ก็พึงเห็นว่า จำกัดความหมายของสติปัฏฐานเพียงตั้งสติกำหนดกาย ว่ากายอย่างนี้ กำหนดเวทนาว่าเวทนาอย่างนี้ กำหนดจิตว่าจิตอย่างนี้ กำหนดธรรมะคือเรื่องในจิตว่าธรรมะอย่างนี้ เพียงเท่านี้เป็นสติปัฏฐาน

ขั้นปฏิบัติที่เป็นโพชฌงค์

ขั้นตอนของการปฏิบัติต่อไป คือขั้นตอนที่กำหนด เช่นในอานาปานสติปัพพะที่ให้รู้ว่า หายใจเข้ายาว หายใจออกยาว หายใจเข้าสั้น หายใจออกสั้น ศึกษาว่าเราจะรู้กายทั้งหมดหายใจเข้า ศึกษาว่าเราจะรู้กายทั้งหมดหายใจออก ศึกษาว่าเราจะสงบระงับกายสังขารเครื่องปรุงกายคือลมหายใจ หายใจเข้าหายใจออก ให้รู้ภายใน ให้รู้ภายนอก ให้รู้ทั้งภายในทั้งภายนอก ให้รู้ว่ามีเกิดขึ้นเป็นธรรมดา มีดับไปเป็นธรรมดา ให้รู้ว่ามีทั้งเกิดทั้งดับเป็นธรรมดา ให้รู้สักแต่ว่ากายเวทนาจิตธรรมมีอยู่เพื่อเป็นที่ตั้งแห่งสติ ไม่ยึดมั่นอะไรๆ ในโลก อันเป็นทางพิจารณาปฏิบัติในสติปัฏฐานทุกข้อ เหล่านี้เป็นโพชฌงค์ อันนับได้ว่าตั้งแต่ข้อสติสัมโพชฌงค์ คือเป็นสติที่เพื่อ เพื่อรู้ เป็นธัมมวิจยสัมโพชฌงค์เลือกเฟ้นธรรม เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ เป็นวิริยะสัมโพชฌงค์ คือเป็นการเพียรละความยึดมั่นอะไรๆ ในโลกทั้งหมด ละความยึดมั่นกายเวทนาจิตธรรม ก็ส่งไปปีติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ เป็นไปดั่งนี้ทุกข้อ

เพราะฉะนั้น เมื่อยกสติปัฏฐานขึ้นเป็นที่ตั้ง สัมโพชฌงค์จึงรวมอยู่ในสติปัฏฐาน

และหากว่าจะคิดแบ่งว่าอะไรเป็นสติปัฏฐานโดยจำเพาะ อะไรเป็นโพชฌงค์ ก็แบ่งได้ เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานจึงมาก่อน จะเป็นโพชฌงค์จะต้องมีสติปัฏฐานขึ้นก่อน

สุจริต ๓ เบื้องต้นของสติปัฏฐาน

พระพุทธเจ้ายังได้ตรัสอีกว่า เบื้องต้นของสติปัฏฐานก็คือสุจริตทั้ง ๓ กายสุจริต สุจริตทางกาย วจีสุจริต สุจริตทางวาจา มโนสุจริต สุจริตทางใจ พึงปฏิบัติให้มีสุจริตทั้ง ๓ นี้ก่อน จึงปฏิบัติสติปัฏฐาน สุจริตทั้ง ๓ นี้ก็มีอธิบายว่า กายสุจริตทางกาย ๓ คือเว้นจากการฆ่า เว้นจากการลัก เว้นจากประพฤติผิดในกาม หรืออย่างยิ่งก็เว้นจากอพรหมจริยกิจ วจีสุจริต ๔ ก็คือ เว้นจากพูดเท็จ เว้นจากพูดส่อเสียด เว้นจากพูดคำหยาบ เว้นจากพูดเพ้อเจ้อเหลวไหล

มโนสุจริต ๓ ก็คือ ไม่โลภเพ่งเล็งทรัพย์สมบัติของผู้อื่น น้อมมาเป็นของตน คือน้อมคิดมาเป็นของตน ไม่พยาบาทปองร้าย และเป็นสัมมาทิฏฐิคือเห็นชอบตามทำนองคลองธรรม พึงปฏิบัติให้มีสุจริตทั้ง ๓ นี้ก่อน จึงปฏิบัติสติปัฏฐาน และจึงปฏิบัติโพชฌงค์

อินทรียสังวร

อนึ่ง พระพุทธเจ้ายังได้ตรัสอีกว่าก่อนสุจริต ๓ ก็พึงปฏิบัติในอินทรียสังวรความสำรวมอินทรีย์ คือมีสติสำรวมอินทรีย์ทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และมนะคือใจ โดยได้ตรัสอธิบายไว้มีใจความว่า เห็นรูปด้วยจักษุคือดวงตา ก็ไม่เพ่งเล็งรูปที่น่าพอใจ ไม่ทำราคะให้บังเกิดขึ้น ไม่เก้อเขินกระทบกระทั่งรูปที่ไม่น่าพอใจ มีใจปล่อยวาง ไม่ยึดถือ มีกายตั้งสงบ มีจิตใจตั้งสงบไม่ติด วิมุติคือพ้นด้วยดี

ฟังเสียงด้วยหูก็เช่นเดียวกัน ไม่เพ่งเล็งเสียงที่น่าพอใจ ไม่ยังราคะให้บังเกิดขึ้น ไม่เก้อกระทบกระทั่งเสียงที่ไม่น่าพอใจ ปล่อยวาง มีกายตั้งสงบ มีจิตใจตั้งสงบ วิมุติหลุดพ้นด้วยดี

ทราบกลิ่นด้วยจมูกก็เช่นเดียวกัน ไม่เพ่งเล็งกลิ่นที่น่าพอใจ ไม่ยังราคะให้บังเกิดขึ้น ไม่เก้อเขินกระทบกระทั่งกลิ่นที่ไม่น่าพอใจ ปล่อยวาง (เริ่ม ๑๗๖/๑) มีกายตั้งสงบ มีจิตใจตั้งสงบ วิมุติหลุดพ้นด้วยดี

ทราบรสด้วยลิ้นก็เช่นเดียวกัน ไม่เพ่งเล็งรสที่น่าพอใจ ไม่ยังราคะให้บังเกิดขึ้น ไม่เก้อเขินกระทบกระทั่งรสที่ไม่น่าพอใจ ปล่อยวาง มีกายตั้งสงบ มีจิตใจตั้งสงบ วิมุติหลุดพ้นด้วยดี

ทราบคือถูกต้องสิ่งถูกต้องด้วยกายก็เช่นเดียวกัน ไม่เพ่งเล็งสิ่งถูกต้องที่น่าพอใจ ไม่ยังราคะให้บังเกิดขึ้น ไม่เก้อเขินกระทบกระทั่งสิ่งถูกต้องที่ไม่น่าพอใจ ปล่อยวาง มีกายตั้งสงบ มีจิตใจตั้งสงบ วิมุติหลุดพ้นด้วยดี

รู้คิดธรรมะคือเรื่องราวด้วยใจก็เช่นเดียวกัน ไม่เพ่งเล็งเรื่องที่น่าพอใจ ไม่ยังราคะให้บังเกิดขึ้น ไม่เก้อเขินกระทบกระทั่งเรื่องที่ไม่น่าพอใจ ปล่อยวาง มีกายตั้งสงบ มีจิตใจตั้งสงบ วิมุติหลุดพ้นด้วยดี

ดั่งนี้ เป็นอินทรียสังวร ความสำรวมอินทรีย์ ผู้ปฏิบัติธรรมะพึงปฏิบัติในอินทรียสังวร สำรวมอินทรีย์ดั่งนี้ก่อน จึงปฏิบัติสุจริต ๓ ครั้นปฏิบัติสุจริต ๓ แล้วจึงปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ แล้วจึงปฏิบัติในโพชฌงค์หรือสัมโพชฌงค์ทั้ง ๗ ติดต่อกันไป

อนึ่ง ได้ตรัสไว้โดยปริยายคือทางอันอื่นอีกว่า

เบื้องต้นของโพชฌงค์หรือสัมโพชฌงค์ก็คือศีล ตรัสศีลเพียงข้อเดียว ไม่ได้แจกเป็นสุจริต ๓ เป็นอินทรียสังวร แต่เมื่อพิจารณาแล้วก็พึงเข้าใจว่า ศีลนั้นก็คือสุจริต ๓ และอินทรียสังวรนั้นเองเป็นศีล ฉะนั้น แม้จะมีถ้อยคำต่างกัน แต่อรรถคือเนื้อความก็เป็นอันเดียวกัน กล่าวคือปฏิบัติในศีลนั้นเอง ก็เป็นการปฏิบัติในสุจริต ๓ และในอินทรียสังวร ทั้งยังมีแสดงไว้ในที่อื่นอีกว่า อินทรียสังวรก็จัดเข้าในหมวดศีล เพราะฉะนั้น จึงมีอรรถคือเนื้อความเป็นอันเดียวกันดังกล่าว

ศีลเป็นภาคพื้นของการปฏิบัติ

ตรัสไว้ว่าอาศัยศีลจึงปฏิบัติในสติปัฏฐาน อาศัยสติปัฏฐานจึงปฏิบัติในสัมโพชฌงค์ ซึ่งเปรียบเหมือนอย่างว่า คนเราที่เดินยืนนั่งนอนอยู่ ก็อาศัยปฐวีคือแผ่นดินเดินยืนนั่งนอน การปฏิบัติธรรมก็เช่นเดียวกัน ศีลเป็นที่อาศัยเหมือนอย่างเป็นแผ่นดิน ต้องมีศีลเป็นแผ่นดินเป็นภาคพื้น หรือจะกล่าวว่าต้องมีสุจริต ๓ มีอินทรียสังวรเป็นภาคพื้นก็ได้ จึงเป็นข้อที่ผู้ปฏิบัติธรรมพึงทราบไว้ และก็พึงปฏิบัติในศีลให้มีขึ้นก่อน หรือปฏิบัติในสุจริต ๓ และอินทรียสังวรให้มีขึ้นก่อน จึงปฏิบัติในสติปัฏฐาน หรือในทางจิตตสิกขา หรือในทางสมาธิ หรือสมถกรรมฐาน และทางปัญญาสิกขา หรือทางวิปัสสนากรรมฐานต่อขึ้นไป ศีลจึงเป็นข้อสำคัญที่จะขาดมิได้สำหรับผู้ปฏิบัติธรรมะ จะต้องมีศีลเป็นภาคพื้นขึ้นก่อน

ข้อปฏิบัติทั้งปวงเหล่านี้ ย่อมเป็นข้อปฏิบัติเป็นไปเพื่อละตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยาก มีพระพุทธภาษิตตรัสเอาไว้ว่า เพราะสิ้นตัณหาจึงสิ้นกรรม เพราะสิ้นกรรมจึงสิ้นทุกข์ หรือว่าดับทุกข์ ดั่งนี้ ต่อจากนี้ขอให้ตั้งใจฟังสวด และตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป