#echo banner="" สัมมัปปธาน ๔ (๒) สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช

สัมมัปปธาน ๔ (๒)

›››››

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ

]

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

จะแสดงอธิบายสัมมัปปธาน ๔ ซึ่งได้เริ่มปรารภไว้แล้ว สัมมัปปธานนั้นแปลเพื่อเข้าใจง่ายว่าความเพียรชอบ และก็มีความหมายของการใช้คำว่า ปธานะ หรือ ปธาน ว่าตั้งความเพียรเข้าไว้ในเบื้องหน้า คือในอันดับหนึ่ง เหมือนอย่างประธานในที่ประชุม เป็นที่หนึ่งในที่ประชุม

ความเพียรที่จะเป็นปธานนั้น จึงเป็นความเพียรที่พึงเริ่มทำในทันที ไม่ผัดเพี้ยน และก็มีความหมายถึงด้วยว่า ตามกำหนดที่ได้ตั้งใจไว้ เช่นในขณะนี้ก็ได้ตั้งใจไว้ว่า จะมาทำความเพียรฟังและปฏิบัติธรรม เมื่อถึงเวลาที่กำหนดก็ต้องถือว่าเวลานี้ เป็นเวลาที่จะต้องมาฟังธรรม และปฏิบัติธรรมเป็นที่หนึ่ง จึงได้มากันได้

ถ้าหากว่าไม่ได้ถือว่าเป็นที่หนึ่งที่จะต้องทำในเวลานี้ ก็จะมีเรื่องอื่นที่จะทำเข้ามาแทรกแซง ดึงไปให้ทำในเรื่องนั้นๆ เมื่อเป็นดั่งนี้ก็เป็นอันว่ามาฟังธรรมและปฏิบัติธรรมในเวลานี้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงใช้คำว่า ปธานะ หรือ ปธาน ตั้งความเพียรที่จะทำไว้ทันที ซึ่งเมื่อกล่าวโดยย่อแล้วก็มี ๔ สังวรปธาน เพียรระวังบาปที่ยังไม่เกิด ไม่ให้เกิดขึ้น ปหานปธาน เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว ภาวนาปธาน เพียรทำกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ๔ อนุรักขณาปธาน เพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้วไว้ และเพิ่มเติมให้มากยิ่งขึ้นจนบริบูรณ์ และพระพุทธเจ้ายังได้ตรัสไว้ทุกข้อว่าให้ ตั้งฉันทะ คือทำฉันทะความพอใจให้เกิด ทำความเริ่ม คือเริ่มทำความเพียร ยังความเพียรให้ตั้งขึ้น ตั้งจิต คือเอาจิตใจตั้งให้แน่วแน่เพื่อจะทำเพียร ตั้งความเพียรไว้ข้างหน้า คือเริ่มทำ และทำติดต่อกันไปจนบรรลุถึงผลที่ต้องการ

สติปัฏฐาน ๔ อาศัยสัมมัปธาน ๔

สัมมัปปธานทั้ง ๔ นี้ตรัสแสดงไว้ในหมวดโพธิปักขิยธรรม ธรรมะที่เป็นฝ่ายแห่งความตรัสรู้ เป็นหมวดที่ ๒ คือต่อจากสติปัฏฐาน อันได้แก่สติปัฏฐาน ๔ แล้วก็ตรัสสัมมัปปธาน ๔ ต่อกันไป หากจะแสดงให้เนื่องกันก็พึงแสดงได้ว่าตั้งสติปัฏฐานทั้ง ๔ นั้นเป็นหลัก และในการปฏิบัติสติปัฏฐานทั้ง ๔ นั้น ก็จะต้องอาศัยสัมมัปปธานทั้ง ๔ นี้ คือตั้งความเพียรชอบนี้ในการปฏิบัติสติปัฏฐาน

ยกตัวอย่างดังข้อที่ ๑ สังวรปธาน เพียรระวังบาปอกุศลที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิดขึ้น ก็คือในการปฏิบัติสติปัฏฐานทั้ง ๔ นั้น ยกตัวอย่างในปัพพะคือข้อที่ ๑ ในหมวดที่ ๑ คือหมวดกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าออก ก็คือตั้งจิตให้กำหนดอยู่ที่ลมหายใจเข้าออก ให้รู้อยู่ที่ลมหายใจเข้าออก ในการนี้ก็ต้องมีสังวรปธาน คือระวังนิวรณ์ที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิดขึ้น

เพราะถ้านิวรณ์ข้อใดข้อหนึ่งบังเกิดขึ้น ก็จะดึงจิตให้ตกจากสติปัฏฐานน้อมไปตามนิวรณ์ (เริ่ม ๑๕๐/๒) เช่นในขณะที่กำลังตั้งจิตกำหนดลมหายใจเข้าออกนั้น กามฉันท์ความพอใจรักใคร่ในกามผุดขึ้นมา ก็ดึงจิตออกไปสู่อารมณ์คือรูปเสียงเป็นต้น ที่รักใคร่ปรารถนาพอใจ จิตก็วิ่งตามนิวรณ์ไป ทิ้งสติปัฏฐาน

นิวรณ์เครื่องกั้นสมาธิ

เพราะฉะนั้น ก็ต้องมีสติระวังมิให้บาปที่ยังไม่เกิดบังเกิดขึ้น คือไม่ให้นิวรณ์ที่ยังไม่เกิด บังเกิดขึ้น และหากว่านิวรณ์บังเกิดขึ้นดึงจิตให้ไป ก็ต้องมีปหานปธานเพียรละนิวรณ์นั้นเสีย มีสติรู้ว่าเป็นตัวนิวรณ์ ให้รู้จักว่ากามฉันท์นี้เป็นเครื่องกั้นจิตไม่ให้ตั้งอยู่ในอารมณ์ของสมาธิ ไม่ให้กำหนดลมหายใจเข้าออก แต่ให้ไปกำหนดอยู่ที่รูปบ้างเสียงบ้าง ที่รักใคร่ปรารถนาพอใจ ก็ให้รู้จักว่านี่เป็นตัวนิวรณ์ เป็นเครื่องกั้นจิตไว้ทำให้ไม่ได้สมาธิ ละเสียด้วยปัญญาคือความรู้ ว่าเป็นตัวนิวรณ์ ไม่ใช่เป็นตัวที่น่ายินดีพอใจอะไร ก็นำกลับ นำจิตกลับมาตั้งไว้ที่ลมหายใจเข้าออกกำหนดไปใหม่

และเมื่อกำหนดนั้น การกำหนดทีแรก และการกำหนดต่อไป ก็ต้องอาศัยตัวสติ และอาศัยตัวปัญญาคู่กันไป ถ้าสติยังอ่อน ปัญญายังอ่อน ก็จะต้องถูกนิวรณ์ดึงไปบ่อยๆ เพราะฉะนั้นจึงต้องเพียรทำกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น คือเพียรทำตัวสตินี้ให้มั่นคงขึ้น เพียรทำปัญญาคือตัวความรู้ให้บังเกิดขึ้นและมั่นคงขึ้น และเมื่อทำสติทำปัญญาให้บังเกิดขึ้นได้แล้ว ก็ต้องเพียรรักษาสติ และปัญญาที่บังเกิดขึ้นนี้ ให้ตั้งอยู่ ไม่ให้เสื่อมไป

ถ้าสติตกไป ปัญญาตกไป นิวรณ์ก็เข้ามาดึงเอาจิตไป หากว่าสติยังตั้งอยู่ ปัญญายังตั้งอยู่ การกำหนดลมหายใจเข้าออก

ซึ่งเป็นตัวกรรมฐานก็ยังตั้งอยู่ เพราะฉะนั้นจึงต้องรักษาเอาไว้ แล้วก็เพิ่มพูนให้สติให้ปัญญาซึ่งเป็นตัวกุศลธรรมนี้มากขึ้น

ในทีแรกนั้นนิวรณ์ยังมีกำลังมากกว่า เพราะว่าจิตนั้นยังมีตัว นันทิ คือความเพลิดเพลิน ราคะ คือความติดอยู่ในตัวนิวรณ์ ในตัวนิวรณ์อันหมายถึงว่า ในอารมณ์อันเป็นที่ๆ ตั้งของนิวรณ์ทั้งหลาย อันเรียกว่า กามคุณารมณ์ อารมณ์คือกามคุณ และในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย จิตจึงน้อมออกไปบ่อยๆ

เหตุที่ต้องตั้งความเพียร

เพราะสติ เพราะและปัญญาที่กำหนดยังมีพลังน้อยกว่า จึงต้องมีปธานะคือความเพียร ที่จะทำกุศลที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น ทำสติที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ทำปัญญาที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ต้องรักษาเอาไว้ อันเป็นข้อที่ ๔ เพียรรักษากุศลที่บังเกิดขึ้นแล้ว และเพิ่มเติมให้มากขึ้นจนบริบูรณ์ และเมื่อสติปัญญามีพลังตั้งอยู่ในจิตมั่นคงขึ้นกว่าพลังของนิวรณ์แล้ว ก็จะไม่ไป ก็จะไม่ตก ก็จะกำหนดอยู่ในลมหายใจเข้าออก จนสำเร็จเป็นอานาปานสติได้

ในข้ออื่นก็เช่นเดียวกัน เมื่ออาศัยสัมมัปปธานทั้ง ๔ นี้ ดั่งกล่าวมานี้แล้ว จะทำกรรมฐานข้อไหนก็สำเร็จได้ จะเป็นหมวดกายคตาสติ จะทำปัพพะไหนก็สำเร็จได้ จะทำจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานก็สำเร็จได้ จะทำเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานก็สำเร็จได้ จะทำจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานก็สำเร็จได้ จะทำธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐานก็สำเร็จได้

เพราะฉะนั้น ในสติปัฏฐานทุกข้อจึงได้แสดงถึง อุปการะธรรม ในการปฏิบัติสติปัฏฐาน

ว่า อาตาปี มีความเพียร ตามศัพท์ก็มีความเพียรแผดเผา ก็คือแผดเผากิเลส สัมปชาโน มีความรู้ตัวพร้อม สติมา มีสติ วิเนยฺย โลเก อภิชฺฌาโทมนสฺสํ กำจัดความยินดีความยินร้ายในโลกเสีย ดั่งนี้ นี้ก็คือมี สัมมัปปธานะ ความเพียรชอบทั้ง ๔ ข้อนี้เอง เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสปธานะคือความเพียรชอบทั้ง ๔ นี้ไว้ สืบต่อจากข้อสติปัฏฐาน

ปัจจุบันธรรม สัญโญชน์

และมิใช่แต่เพียงนิวรณ์เท่านั้น ที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้ในข้อว่าด้วยนิวรณ์ ในธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ยังมีข้อที่เนื่องกันกับนิวรณ์ที่ตรัสแสดงไว้ ในข้อที่ว่าด้วยขันธ์ ๕ และในข้อที่ว่าด้วยอายตนะ ๖ ในข้อที่ว่าด้วยอายตนะ ๖ นี้เอง ก็ได้มีแสดงถึงว่า เมื่ออายตนะภายใน กับอายตนะภายนอกประจวบกัน คืออาศัยอายตนะภายในภายนอกทั้ง ๖ คู่นี้ เกิดสัญโญชน์คือความผูกใจ หรือว่าใจผูก

จึงมาถึงปัจจุบันธรรมที่ทุกคนมีสื่อของความรู้แห่งจิต อันได้แก่อายตนะภายในและภายนอกทั้ง ๖ คู่นี้ คือตากับรูปประจวบกัน หูกับเสียงประจวบกัน จมูกกับกลิ่นประจวบกัน ลิ้นกับรสประจวบกัน กายและสิ่งที่กายถูกต้อง อันเรียกว่าโผฏฐัพพะประจวบกัน มโนคือใจกับธรรมะคือเรื่องราวของรูปเป็นต้น เช่นที่ประสบพบผ่านมาแล้วประจวบกัน ก็เกิดสัญโญชน์คือความผูกใจ หรือว่าใจผูก

อันได้แก่จิตนี้เอง เมื่อมีความรู้ทางอายตนะเหล่านี้ โดยเป็น รูปารมณ์ อารมณ์คือรูปที่อาศัยตา อารมณ์คือเสียงที่อาศัยหู อารมณ์คือกลิ่นที่อาศัยจมูก อารมณ์คือรสที่อาศัยลิ้น อารมณ์คือกายที่อาศัยโผฏฐัพพะคือสิ่งถูกต้อง

อารมณ์คือธรรมะเรื่องราวของรูปเป็นต้นที่อาศัยมโนคือใจ จึงได้มีความผูกอยู่ในรูปในเสียงในกลิ่นในรสในโผฏฐัพพะ และในธรรมะคือเรื่องราวนั้น เมื่อใจผูกอยู่ดั่งนี้ จึงเกิดความยินดีในอารมณ์เหล่านี้อันเป็นที่ตั้งของความยินดี เกิดความยินร้ายในอารมณ์ที่เป็นที่ตั้งของความยินร้าย เกิดความหลงคือไม่รู้ในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความหลง เป็นราคะเป็นโทสะเป็นโมหะขึ้น หรือเป็นอภิชฌาความยินดี โทมนัสความยินร้าย พร้อมทั้งโมหะคือความหลงขึ้น นี้เองคือนิวรณ์

นิวรณ์ทั้ง ๕ นั้น กามฉันท์ ก็เป็นราคะความติดใจยินดี พยาบาท ก็เป็นโทสะความยินร้าย ความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มคือถีนมิทธะ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจคืออุทธัจจะกุกกุจจะ และความสงสัยลังเลไม่แน่นอนใจคือวิจิกิจฉา ทั้ง ๓ นี้ก็เป็นโมหะคือความหลง แต่พระอาจารย์ท่านแยกเอากุกกุจจะคือความรำคาญใจไปเป็นโทสะ แต่ส่วนใหญ่นั้นมักจะพูดรวมกันในกองโมหะคือความหลง

สติรักษาทวาร ๖

เพราะฉะนั้น ในการปฏิบัติทำสัมมัปปธานคือความเพียร ๔ เพื่อไม่ให้นิวรณ์เกิด และเพื่อละนิวรณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อทำสติปัญญาให้บังเกิด เพื่อรักษาสติปัญญาที่บังเกิดขึ้นไว้ และเพิ่มเติมให้มากขึ้น จึงต้องมีสัมมัปปธาน ๔ ในเรื่องของสัญโญชน์ดังกล่าวนี้ด้วย อันเป็นต้นทางของนิวรณ์ คือจะต้องมีสติคือความระลึกได้ เป็นเหมือนอย่างนายทวารบาญ คือผู้รักษาประตู มีสติพร้อมทั้งปัญญารักษาจักขุทวารคือประตูตา โสตะทวารคือประตูหู ฆานะทวารคือประตูจมูก ชิวหาทวารคือประตูลิ้น กายทวารคือประตูกาย และมโนทวารคือประตูใจ มีสติเป็นนายทวารบาญรักษาประตูทั้ง ๖ นี้

แต่เมื่อกล่าวโดยสรุปเข้าแล้ว ก็คือมีสติรักษาจิตนี้เอง

จิตที่น้อมออกรู้อารมณ์ทางทวารทั้ง ๖ นี้ เมื่อมีสติพร้อมทั้งปัญญาคือความรู้รักษาจิต รักษาทวารทั่ง ๖ นี้ ก็จะรักษามิให้สัญโญชน์บังเกิดขึ้น จะเป็นเหตุละสัญโญชน์ที่บังเกิดขึ้นแล้ว จะทำให้สติปัญญานี้บังเกิดขึ้นเป็นนายทวารบาญที่เข้มแข็ง และจะรักษาสติปัญญานี้ไว้ได้ เพิ่มพูนให้มากขึ้น

ดั่งนี้ต้องอาศัยสติและปัญญาที่เป็นปัจจุบันธรรมควบคุมทวารทั้ง ๖ หรือควบคุมจิตอยู่เป็นปัจจุบันธรรม จึงต้องอาศัย สังวรปธาน เพียรระวังมิให้สัญโญชน์บังเกิดขึ้นในขณะที่อายตนะทั้ง ๖ คู่นี้ประจวบกัน เช่นตาเห็นอะไรก็ต้องมีความเพียรระวัง มิให้เกิดสัญโญชน์คือความผูกใจขึ้นในสิ่งที่เห็นนั้น ในข้ออื่นก็เช่นเดียวกันก็คือ ระวังก็คือสตินั่นเอง เพียรทำสติพร้อมทั้งปัญญาเป็นเครื่องระวัง และหากสัญโญชน์ความผูกใจบังเกิดขึ้นแล้ว ก็ต้องเพียรละ ก็ต้อง คือเพียรทำสติทำปัญญาละเสีย

จิตปาละ ทวารปาละ

หากสติและปัญญานั้นยังไม่บังเกิดขึ้น ก็ต้องเพียรทำสติปัญญาให้บังเกิดขึ้น เพื่อระวังรักษา และเพื่อละ และก็รักษาสติปัญญาที่บังเกิดขึ้นไว้ไม่ให้ตกไป ไม่ให้เสื่อมไป และเพิ่มพูนให้มากยิ่งขึ้น ฉะนั้นเมื่อมีสติและปัญญาตั้งอยู่ในจิตเป็น จิตปาละ คือรักษาจิต เป็น ทวารปาละ คือนายทวารบาญรักษาประตูทั้ง ๖ ก็จะเป็นเครื่องระวัง มิให้สัญโญชน์บังเกิดขึ้น จะเป็นเครื่องละสัญโญชน์ที่บังเกิดขึ้นแล้ว จะเป็นเครื่องทำสติปัญญาให้บังเกิดขึ้น จะเป็นเครื่องรักษาสติปัญญาที่บังเกิดขึ้น และให้เจริญมากขึ้นจนสมบูรณ์ ที่กล่าวมาแล้วไม่ได้พูดถึงสมาธิ แต่ก็ต้องหมายถึงว่าจะต้องมีสมาธิประกอบกันไปกับสติและปัญญา รวมความว่าต้องมีทั้ง สติ สมาธิ และปัญญา จึงจะสำเร็จเป็นสติปัฏฐานข้อนั้นๆ

สัญโญชน์ต้นทางของนิวรณ์

เพราะฉะนั้นสัญโญชน์นี้เองเป็นต้นทางของนิวรณ์ จึงต้องมีสติมีปัญญาที่จะคอยรักษาจิตเป็นจิตปาละ จิตบาล หรือ จิตปาละ เป็นทวารบาญหรือ ทวารปาละ รักษาจิตรักษาทวาร ไม่ให้สัญโญชน์บังเกิดขึ้น เกิดขึ้นก็ละเสีย แล้วก็ทำสติปัญญาให้บังเกิดขึ้น รักษาสติปัญญาไว้ให้คงอยู่ไม่ให้ตก และเพิ่มพูนให้มากขึ้น คือพยายามทำสติปัญญาให้มากขึ้น รักษาไว้ไม่ให้ตก และพยายามทำให้มากขึ้น

และเมื่อได้ปฏิบัติอยู่ดั่งนี้ ใช้สัมมัปธานทั้ง ๔ ปฏิบัติอยู่ดั่งนี้ สัญโญชน์ก็จะไม่เกิด คือความผูกใจหรือใจผูกก็ไม่เกิด ที่เกิดขึ้นแล้วก็จะละได้ และจะทำให้สติ พร้อมทั้งสมาธิและปัญญาเจริญขึ้น มากขึ้น และเป็นอันว่าเมื่อตัดสัญโญชน์ได้ อันเป็นต้นทางนี้ได้แล้ว นิวรณ์ก็จะไม่เกิด เพราะฉะนั้นในการแก้นิวรณ์นั้น จึงต้องแก้ที่สัญโญชน์คือความผูกใจหรือใจผูก ตั้งแต่ระมัดระวังไม่ให้ใจผูกกับอะไรที่จะเป็นเหตุให้เกิดนิวรณ์ข้อใดข้อหนึ่ง เกิดขึ้นก็ละเสียให้ได้

และทำสติทำปัญญาที่เป็นเครื่องระวัง เป็นเครื่องละนี้ให้เกิดขึ้น รักษาไว้ และให้มากขึ้น และเมื่อเป็นดั่งนี้แล้วก็เป็นอันว่าได้ปฏิบัติในสัมมัปปธานทั้ง ๔ นี้ อันเป็นหมวดที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้ สืบต่อจากหมวดสติปัฏฐาน

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป