#echo banner="" สัมมัปปธาน ๔ (๑) สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช

สัมมัปปธาน ๔ (๑)

›››››

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ

]

 บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นพึงตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

จะแสดงสัมมัปปธาน ๔ อันเป็นหมวดที่ ๒ แห่งโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ ธรรมะที่เป็นฝักฝ่ายแห่งความตรัสรู้ ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงไว้ อันประกอบด้วยธรรมะหลายหมวด

ข้อปฏิบัติในสติปัฏฐาน

เริ่มต้นด้วยหมวดสติปัฏฐานทั้ง ๔ ที่ได้แสดงมาโดยลำดับโดยสังเขป สติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้เป็นหมวดหลักแห่งการปฏิบัติอบรมจิตใจ ซึ่งเป็นไปได้ทั้งทางสมาธิ และทางปัญญา

อันประกอบด้วย กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ตั้งสติตามดูกาย พิจารณากาย

ซึ่งตรัสจำแนกไว้ในมหาสติปัฏฐาน เริ่มตั้งแต่หมวดกำหนดลมหายใจเข้าออก อันเรียกว่าอานาปานสติ กำหนดดูอิริยาบถทั้ง ๔ อันเรียกว่าหมวดอิริยาบถ ตั้งสติกำหนดดูอิริยาบถที่จำแนกออกให้ละเอียดออกไปอีก อันเรียกว่าสัมปชัญญะปัพพะ หมวดสัมปชัญญะความรู้ตัว ตั้งสติกำหนดดูกายว่าเป็นของไม่สะอาด ตั้งสติกำหนดดูธาตุ จำแนกออกไปเป็นธาตุ ๔ ตามกำหนดดูป่าช้าทั้ง ๙

ต่อจากนั้นก็ตรัสสอนให้ตั้งสติกำหนดดูเวทนา สุขทุกข์เป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข ทั้งที่มีอามิส คืออิงกิเลสอิงวัตถุเป็นเครื่องนำให้เกิด ทั้งที่เป็นนิรามิส คือไม่มีทั้งกิเลสและทั้งวัตถุเป็นเครื่องนำให้เกิด ต่อจากนั้นก็ตรัสสอนให้ตั้งสติกำหนดูจิตที่มีราคะ หรือปราศจากราคะ มีโทสะ หรือปราศจากโทสะ มีโมหะ หรือปราศจากโมหะ ที่หดหู่หรือฟุ้งซ่าน ที่จิตเป็นสมาธิคือกว้างขวาง หรือที่ไม่กว้างขวาง จิตที่ยังมีจิตอื่นยิ่งขึ้นไปกว่า หรือที่ไม่มีจิตอื่นยิ่งขึ้นไปกว่า จิตที่มีสมาธิหรือไม่มีสมาธิ จิตที่วิมุติหลุดพ้นหรือไม่วิมุติหลุดพ้น

ต่อจากนั้นก็ตรัสสอนให้ตั้งสติกำหนดดูธรรมะคือเรื่องในจิต ตั้งต้นแต่หมวดนิวรณ์ทั้ง ๕ ให้กำหนดดูให้รู้ว่ามีอยู่ก็รู้มีอยู่ ไม่มีก็รู้ไม่มี เกิดขึ้นด้วยประการใดก็ให้รู้ประการนั้น ดับไปด้วยประการใดก็ให้รู้ประการนั้น ดับคือละไปได้ไม่เกิดขึ้นอีกด้วยประการใดก็รู้ประการนั้น

ตรัสสอนให้กำหนดดูขันธ์ ๕ ว่าแต่ละข้อเกิดขึ้นอย่างนี้ ดับไปอย่างนี้ ตรัสสอนให้กำหนดดูอายตนะภายในภายนอกทั้ง ๖ ที่คู่กัน ตรัสสอนให้กำหนดดูสังโญชน์คือความที่ใจผูกยินดียินร้ายอยู่ในอารมณ์

คือเรื่องรูปเรื่องเสียงเรื่องกลิ่นเรื่องรสเรื่องโผฏฐัพพะ เรื่องที่ใจคิดใจรู้ ในเมื่ออายตนะภายในภายนอกนี้ประจวบกัน และให้รู้ว่าสังโญชน์มีก็ให้รู้ว่ามี ไม่มีก็ให้รู้ว่าไม่มี สังโญชน์จะเกิดขึ้นด้วยประการใดก็ให้รู้ประการนั้น ละได้ดับไปด้วยประการใดก็ให้รู้ประการนั้น ละหรือดับไปได้แล้วไม่เกิดขึ้นอีกด้วยประการใดก็ให้รู้ประการนั้น

โพธิปักขิยธรรม

ได้แสดงสติปัฏฐานทั้ง ๔ มาถึงหมวดหลังนี้ ซึ่งในมหาสติปัฏฐานยังมีอีก ๒ หมวด คือหมวดโพชฌงค์ และหมวดมรรคมีองค์ ๘ แต่ว่า ๒ หมวดนี้ได้รวมอยู่ในโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการนี้แล้ว เป็นหมวดสุดท้าย และรองสุดท้าย

เพราะว่าในโพธิปักขิยธรรมทั้ง ๓๗ ประการนี้ พระพุทธเจ้าได้ตรัสรวมเอาหมวดธรรมต่างๆ ที่ได้ตรัสแสดงไว้มารวมเข้าเป็นหมวดใหญ่ ตรัสว่าเป็นโพธิปักขิยธรรม ธรรมะที่เป็นฝักฝ่ายแห่งความตรัสรู้ ก็คือสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ เป็น ๗ หมวด โพชฌงค์ไปเป็นหมวดที่ ๖ มรรคมีองค์ ๘ อันเป็นหมวดที่ ๗ อันเป็นหมวดสุดท้าย เพราะฉะนั้น เมื่อได้อธิบายสติปัฏฐาน ๔ ตามหลักมหาสติปัฏฐาน มาถึงหมวดอายตนะแล้ว จึงเว้นโพชฌงค์และมรรคไว้ ต่อเป็นหมวดที่ ๖ ที่ ๗ ของโพธิปักขิยธรรม จึงแสดงหมวดที่ ๒ ของโพธิปักขิยธรรมคือสัมมัปปธานทั้ง ๔

สัมมัปปธาน ความเพียรที่พึงกระทำก่อน

สัมมัปปธาน แปลกันเพื่อเข้าใจง่ายว่าความเพียรชอบ ซึ่งมีอยู่ ๔ ประการ คือ

สังวรปธาน เพียรระวังบาปอกุศลมิให้เกิดขึ้น

ปหานปธาน เพียรละบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว

ภาวนาปธาน เพียรทำกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น

อนุรักขณาปธาน เพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ให้เสื่อมแต่ให้เจริญบริบูรณ์

อันคำว่า ปธานะ แปลกันง่ายๆ เข้าใจง่ายๆ ว่าเพียร สัมมัป คือสัมมา ก็แปลว่าชอบ คำว่าปธานะนี้ก็แปลตามศัพท์ว่า ทรงไว้ข้างหน้า คือตั้งไว้ข้างหน้า อันหมายความว่าเป็นความเพียรที่พึงกระทำก่อน ไม่ใช่กระทำในภายหลัง และคำว่าปธานะนี้ก็มาใช้หมายถึงสิ่งที่เป็นประธาน เช่นพระพุทธรูปซึ่งตั้งอยู่เป็นหลักสำคัญในอุโบสถ หรือในโบสถ์ ก็เรียกว่าพระประธาน พระพุทธเจ้าเมื่อประทับอยู่ในหมู่สงฆ์ ก็เรียกว่าประทับอยู่เป็นประธานแห่งสงฆ์ บุคคลที่นั่งอยู่ข้างหน้าเป็นประธานของการประชุม ก็เรียกว่าประธานที่ประชุม ก็ตรงตามศัพท์ว่าดำรงอยู่ข้างหน้า หรือตั้งไว้ข้างหน้า

และความเพียรที่มาเรียกว่าปธานนี้ จึงมีความหมายว่า เป็นความเพียรที่พึงตั้งขึ้นไว้เบื้องหน้า พึงกระทำก่อน เพราะว่าทุกคนนั้นย่อมมีสิ่งที่พึงทำหลายอย่าง ผู้ที่มีธุระมาก ก็ต้องมีความเพียรที่จะต้องกระทำมาก แต่ในบรรดาธุระที่กระทำนั้น จะทำเรื่องใดเป็นที่ ๑ เรื่องใดเป็นที่ ๒ เรื่องใดเป็นที่ ๓ หรือว่าในเวลาใดในเวลาหนึ่ง จะพึงทำเรื่องใดในเวลานั้น และเมื่อได้กำหนดไว้ดั่งนี้ ถ้ากำหนดไว้ว่าเป็นเรื่องที่พึงทำที่ ๑ ที่ ๒ เรื่องที่พึงทำเป็นที่ ๑ ก็เรียกว่าเป็นเรื่องที่เป็นประธาน ความเพียรที่พึงกระทำในเรื่องนั้นก็เรียกว่า ปธาน หรือว่าถ้ากำหนดเวลา ว่าในเวลาใดจะทำเรื่องใด ถึงเวลานั้นก็ทำเรื่องนั้น เรื่องนั้นก็เป็นประธานของเรื่องทั้งหลายในเวลานั้น คือจะต้องทำในเวลานั้น และความเพียรที่กระทำก็เรียกว่า ปธาน

ดั่งเช่นในเวลานี้เป็นเวลาที่ท่านผู้มุ่งปฏิบัติธรรม กำหนดไว้ว่าจะมาฟังธรรมมาปฏิบัติธรรม ในเวลานี้เรื่องการปฏิบัติธรรม เรื่องการฟังธรรมปฏิบัติธรรมจึงเป็นประธาน เรื่องอื่นก็งดไว้ก่อน และความเพียรที่พึงทำก็เรียกว่าเป็นประธาน

อุปการธรรมในการปฏิบัติสติปัฏฐาน

และในการปฏิบัติในสติปัฏฐานนี้ ก็ต้องอาศัยความเพียรปฏิบัติ เป็นประธานในการปฏิบัติสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสเอาไว้ว่า อาตาปี มีความเพียร สัมปชาโน มีความรู้พร้อม คือมีสัมปชัญญะความรู้ตัว สติมา มีสติ วิเนยฺย โลเก อภิชฺฌาโทมนสฺสํ กำจัดอภิชฌาความยินดี โทมนัสความยินร้ายในโลกเสีย อันเป็นอุปการธรรมในการปฏิบัติสติปัฏฐาน นี้ก็คือมี สัมมัปปธานะ ความเพียรชอบนั้นเอง ซึ่งจำแนกไว้เป็น ๔ อย่างที่ได้จำแนกไว้ข้างต้น

กาย จิต

และการตั้งสติกำหนดกาย เวทนา จิต ธรรม ดั่งที่ได้กล่าวมาแล้ว สำหรับในข้อที่เป็นกายเอง และเป็นเวทนาเอง ก็รวมอยู่ในขันธ์ ๕ กายก็เท่ากับรูป เวทนาก็เป็นเวทนา อันบุคคลผู้เกิดมาก็มีขันธ์ ๕ อันตั้งต้นด้วยรูปเวทนานี้เป็นภพเป็นชาติ เป็นที่ยึดถือว่าเป็นตัวเราของเรา

ตัวรูปตัวเวทนาเองนั้นเป็นอัพยากตธรรม ธรรมะที่เป็นกลางๆ ไม่พยากรณ์คือไม่กล่าวว่าเป็นดีหรือเป็นชั่ว เป็นธรรมะที่เป็นกลางๆ ที่ทุกคนก็ได้มาตั้งแต่กำเนิด เป็นวิบากขันธ์ คือเป็นขันธ์ที่เป็นวิบาก

คือผลของอวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม ฉะนั้น ตัวกายตัวเวทนาเองจึงไม่เป็นบาปไม่เป็นบุญ ไม่เป็นกุศล ไม่เป็นอกุศล แต่เป็นสิ่งกลางๆ

บารมี อาสวะ

และมาถึงจิต จิตนี้เองที่เป็นตัววิญาณธาตุ ธาตุรู้ ก็เป็นธาตุอันหนึ่งซึ่งมีอยู่ เป็นธรรมชาติธรรมดา เป็นสิ่งที่อาศัยกับกายนี้ ดั่งที่เรียกว่ากายจิต และจิตนี้เองที่เป็นที่บังเกิดขึ้น เป็นที่เก็บไว้แห่งกุศลธรรม และอกุศลธรรมทั้งหลาย แห่งบุญและบาปทั้งหลาย แห่งบารมีและอาสวะทั้งหลาย ถ้าเก็บดีก็เป็นบารมี เก็บชั่วก็เป็นอาสวะ

และสิ่งที่เก็บไว้นี้ที่เป็นส่วนละเอียด ก็เก็บไว้ในจิตส่วนลึก เหมือนอย่างตะกอนที่นอนอยู่ก้นตุ่ม ดูที่ปากตุ่ม น้ำข้างบนก็ใสสะอาด แต่ที่ก้นตุ่มนั้นยังมีตะกอน (เริ่ม ๑๕๐/๑) ถ้าเป็นส่วนดีก็เรียกว่าบารมี คือทำดีๆ ไว้ ก็เก็บไว้ๆ ทำชั่วก็เก็บไว้ๆ เป็นอาสวะ อาสวะแปลว่านอนจมหรือหมักหมม อันนับว่าเป็นความดีความชั่วอย่างละเอียด ดังที่เรียกว่าเป็นนิสัยเป็นอุปนิสัย มีนิสัยดีก็แสดงออกมาดี มีนิสัยไม่ดีก็แสดงออกมาไม่ดี นิสัยนี้เป็นสิ่งที่ละเอียด เป็นที่อาศัยของทั้งฝ่ายดีทั้งฝ่ายชั่ว ที่แสดงออก

และเมื่อมีอารมณ์คือเรื่องเข้ามา ก็มากวนตะกอนที่นอนอยู่ก้นตุ่มนี้ให้ฟุ้งขึ้นมาปรากฏอยู่ในจิต เช่นว่ามีราคะก็รู้ว่ามีราคะ ไม่มีราคะก็รู้ว่าไม่มีราคะเป็นต้น และเมื่อสิ่งที่ฟุ้งขึ้นมาจนจิตรู้ได้ดังกล่าวแล้ว เมื่อแรงออกมาอีกก็เป็นอย่างหยาบ ก่อเจตนาคือความจงใจประกอบกรรม

ถ้าเป็นส่วนดีที่เป็นบารมีปรากฏขึ้นมา ก็นำให้เกิดเจตนากรรมคือความจงใจ ทำทานบ้าง สมาทานศีลบ้าง เจริญภาวนาบ้าง ถ้าเป็นส่วนชั่วที่เป็นอาสวะปรากฏหยาบขึ้นมา ก็ก่อเจตนาคือความจงใจให้กระทำ กรรมที่เป็นอกุศลเป็นบาปทุจริตต่างๆ เช่นให้ฆ่าเขาบ้าง ให้ลักของเขาบ้าง เป็นต้น

ธรรมปฏิบัติเสริมสร้างบารมี

จิตนี้จึงเป็นธรรมชาติอันสำคัญซึ่งทุกคนมีอยู่ด้วยกัน และก็ประกอบด้วยส่วนดีและส่วนชั่วเป็นพื้นสันดาน ส่วนดีก็เป็นบารมี ส่วนก็เป็นอาสวะ และก็อาสวะนั้นก็เปรียบด้วยตะกอนนอนก้นตุ่ม ที่ฟุ้งขึ้นมาก็ทำให้จิตที่เคยใส ก็เป็นกลับกลายเป็นจิตขุ่น จนถึงกลับกลายเป็นจิตร้าย ในเมื่ออาสวะที่ฟุ้งขึ้นมาอันเป็นส่วนกิเลสนั้นแรงขึ้น จนถึงก่อกรรมที่ไม่ดีต่างๆ

อาสวะท่านเปรียบดั่งนั้น ส่วนบารมีนั้นไม่ได้เปรียบไว้ตะกอนนอนก้นตุ่ม เพราะเป็นฝ่ายดี แต่ก็มีนอนจมสั่งสมอยู่เป็นฝ่ายดี และก็เมื่อมีอารมณ์มากระทบ ก็กระตุ้นเตือนให้บารมีนี้ปรากฏขึ้นมาได้ และเมื่อแรงขึ้นก็ให้ทำดี เพิ่มเติมความดีเข้าในจิต อาสวะที่เป็นส่วนชั่วเมื่อฟุ้งขึ้นมา ทำชั่วก็เพิ่มเติมอาสวะให้มากขึ้นในจิต แต่ว่าบารมีนั้นเป็นฝ่ายที่กำจัดอาสวะ เป็นฝ่ายที่ชำระล้างอาสวะในจิต เมื่อทำดีเป็นบารมีตั้งอยู่ใจจิต จิตเก็บดีเอาไว้ ก็ชำระอาสวะที่เป็นส่วนชั่ว คือที่เป็นตะกอนนี้ให้ลดน้อยลงไป บารมีก็มากขึ้นทุกที จนถึงเมื่อบำเพ็ญบารมีได้เต็มที่ คือทำดีได้เต็มที่แล้ว กำจัดตะกอนก้นตุ่มคืออาสวะให้หมดสิ้นไปได้ ก็เหลือแต่น้ำที่สะอาดบริสุทธิ์ ตั้งแต่หน้าตุ่มลงไปจนถึงก้นตุ่มตลอดหมด

ดั่งนี้ก็เสร็จกิจอันเรียกว่าเป็นพระอรหันต์ เป็นผู้ที่บริสุทธิ์ กาย วาจา ใจ ตลอดถึงกันหมด ทั้งส่วนตื้น ทั้งส่วนลึก

แต่ในขณะที่ยังมีอาสวะเป็นตะกอนก้นตุ่มอยู่ ก็ต้องทำความดี เพื่อชำระอาสวะ ที่เป็นตะกอนก้นตุ่มนี้ให้สิ้นไปโดยลำดับ ต้องเพิ่มเติมความดีอยู่เรื่อยๆ ไป การปฏิบัติธรรมก็คือการปฏิบัติความดีดังกล่าว

ธรรมะในจิต

และการปฏิบัติในสติปัฏฐานนั้นตรัสสอนให้ตั้งสติ กำหนดดูกาย กำหนดดูเวทนา และกำหนดดูจิต และกำหนดดูธรรมะในจิตซึ่งเนื่องเป็นอันเดียวกัน และธรรมะในจิตนั้นก็มีทั้งส่วนที่เป็นกุศล ทั้งส่วนที่เป็นอกุศล ทั้งส่วนที่เป็นอัพยากฤตคือเป็นกลางๆ

และธรรมะที่มีอยู่ในจิตนี้เองเป็นข้อสำคัญ ที่จะทำให้เกิดการปฏิบัติธรรม หรือไม่ปฏิบัติธรรม ถ้าหากว่าเป็นนิวรณ์ เป็นสัญโญชน์ ที่พระพุทธเจ้าตรัสนิวรณ์ ไว้ในหมวดธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นอันดับแรก ก็เป็นอกุศลธรรมที่เป็นข้อสำคัญ ที่จะทำให้ไม่ตั้งสติกำหนดดูกายเวทนาจิตและธรรมเอง เพื่อทำจิตให้บริสุทธิ์ แต่ว่าจะชักนำให้ปฏิบัติเป็นบาปเป็นอกุศลต่างๆ ให้ข้องติดอยู่ในกามคุณารมณ์ทั้งหลาย เพราะฉะนั้น จึงได้ตรัสเอานิวรณ์ไว้ นี่เป็นข้อแรก

และนิวรณ์นี้ก็เป็นสิ่งที่บังเกิดขึ้นในจิตนั้นเอง ไม่ใช่ที่ไหน แต่ว่าความบังเกิดขึ้นของนิวรณ์นั้น ก็เกิดขึ้นโดยอาศัยทางเกิด คือทางอายตนะภายในทั้ง ๖ อายตนะภายนอกทั้ง ๖ ที่มาประจวบกัน เมื่อเป็นสัญโญชน์คือความผูกพันยินดียินร้ายขึ้น ก็นำให้ติดพันอยู่ในกามคุณารมณ์ทั้งหลาย ในกามในภพทั้งหลาย ถ้าหากว่าไม่เป็นสัญโญชน์คือผูกใจให้ยินดียินร้าย ก็นำให้ปฏิบัติเสาะแสวงหาพรหมจรรย์ คือความประพฤติอันประเสริฐ อันเรียกว่าปฏิบัติธรรม

ขันธ์ อายตนะ สัญโญชน์

เพราะฉะนั้น จึงได้ตรัสขันธ์ ๕ และตรัสหมวดอายตนะภายในภายนอกสืบต่อกันไป เพราะเหตุที่อันความบังเกิดขึ้นของนิวรณ์ หรือความดับไปของนิวรณ์นั้น ก็เกิดขึ้นที่ขันธ์ ๕ ดับไปที่ขันธ์ ๕ อันเริ่มด้วยกายเวทนา หรือรูปเวทนา และเมื่อมีรูปมีเวทนาแล้ว ก็มีสัญญา มีสังขาร มีวิญญาณ โดยที่ความประจวบกันของอายตนะดังกล่าวนั้น นำให้เกิดอารมณ์แก่จิตใจ อันเป็นธาตุรู้ที่สำคัญ และจิตใจนี้เองเป็นตัวที่ข้องติดอันเรียกว่าสัญโญชน์ ไม่ใช่อื่นคือจิตใจนี้เอง

ความสำคัญจึงอยู่ที่จิตใจ และสัญโญชน์ อันอาศัยอายตนะ และก็เกิดทางขันธ์ ๕ นั้นเอง ตัวขันธ์ ๕ นั้นเองนั้นเป็นวิบากขันธ์ซึ่งไม่ดีไม่ชั่วอะไร แต่เป็นกลางๆ แต่ว่าความบังเกิดขึ้นของทั้งดีทั้งชั่วนั้นก็ต้องอาศัยขันธ์ ๕ เหมือนอย่างเช่นว่ามือของเราทุกคนนี้ก็เป็นรูปขันธ์ เมื่อจิตประกอบด้วยกุศลธรรม ก็ใช้มือนี้เองทำบุญต่างๆ เช่นว่าใช้มือนี้ตักข้าวใส่บาตร ใช้มือนี้ทำกิจการที่เป็นประโยชน์ช่วยเหลือต่างๆ ตัวมือเองนั้นไม่เป็นบุญไม่เป็นบาป แต่บุคคลผู้ทำก็ใช้มือทำบุญ บุคคลผู้ทำก็เป็นบุญ และบุคคลผู้ทำนั้นเมื่อพูดให้ลึกซึ้งเข้าไปก็คือจิตนี้เอง จิตเป็นบุญเมื่อใช้มือทำบุญ

แต่เมื่อจิตประกอบด้วยสัญโญชน์ อันเป็นเหตุทำให้จิตใจนี้ร้าย ก็ใช้มือนี้อีก ก็ใช้มือนี้เองทำร้าย เช่นว่าถือมีดถือไม้ประหัตประหารทำร้ายผู้อื่น ตัวมือเองที่ถือมีดถือไม้ทำร้ายนี้ก็ไม่เป็นบุญเป็นบาป แต่บุคคลผู้ที่ใช้มีดใช้มือนี้ประหัตประหารผู้อื่น ทำร้ายผู้อื่น นั่นเองเป็นบาป โดยตรงก็คือจิตนี่เองเป็นบาป

นิวรณ์เมื่อเกิดขึ้นรู้ได้ที่จิต

เมื่อเกิดขึ้นทุกคนก็รู้ ว่านิวรณ์ข้อนี้บังเกิดขึ้น กามฉันท์เกิดขึ้นก็รู้ พยาบาทเกิดขึ้นก็รู้ อีก ๓ ข้อเป็นตัวโมหะบังเกิดขึ้นก็รู้ บุคคลย่อมรู้ได้ที่จิตนี้เอง และอาการที่รู้นั้นก็อาศัยขันธ์ ๕ นี้เองเป็นทางรู้ และขันธ์ ๕ นั้นก็ต้องอาศัยอายตนะภายในภายนอกนี้เองเป็นทาง เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่าทวารทั้ง ๖ ประตูทั้ง ๖ ประตูตา ประตูหู ประตูจมูก ประตูลิ้น ประตูกาย ประตูใจ เปิดรับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ และธรรมะคือเรื่องราวทั้งหลาย จิตก็รับเป็นอารมณ์คือเป็นเรื่องที่จิตคิด จิตดำริ จิตหมกมุ่นถึง แล้วก็เกิดผูกพันขึ้นมาก็เป็นสัญโญชน์ ผูกพันยินดี ผูกพันยินร้าย ก็เป็นสัญโญชน์ เมื่อผูกขึ้นดั่งนี้แล้วจึงเป็นตัวนิวรณ์ คือเป็นกามฉันท์บ้าง เป็นพยาบาทบ้าง เป็นโมหะคือความหลง คืออีก ๓ ข้อข้างหลังนั้นบ้าง

เพราะฉะนั้นตัวผูกนี้จึงเป็นตัวสำคัญอันเรียกว่าสัญโญชน์ แต่จิตไม่ผูก จิตปล่อย เช่นเมื่อตากับรูปประจวบกัน ก็เป็นอารมณ์ เมื่อเกิดขึ้นจิตรู้ว่านี่รูป แล้วจิตก็ปล่อย ไม่ยินดียินร้ายในรูปนั้น ก็ไม่เป็นสัญโญชน์ เมื่อไม่เป็นสัญโญชน์ นิวรณ์ก็ไม่เกิด

เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้า จึงได้ตรัสแสดงหมวดนิวรณ์ หมวดขันธ์ ๕ แล้วก็หมวดอายตนะ เพื่อให้กำหนดรู้จัก เป็นตัวสติที่รู้จัก รู้จักแล้วก็ปฏิบัติในการที่จะดับสัญโญชน์ดับนิวรณ์ โดยอาศัยใช้สติกำหนดดูกายเวทนาจิตธรรม ให้เห็นเกิดให้เห็นดับ ซึ่งจะต้องใช้สัมมัปปธานทั้ง ๔ นี้ในการปฏิบัติ ต่อไปนี้ก็ให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป..ไม่มีสวดหรือ?