#echo banner="" สัมมาทิฏฐิ ๒๗ ความรู้จักอาสวะ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช

สัมมาทิฏฐิ ๒๗

ความรู้จักอาสวะ

›››››

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต

อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ

]

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ได้แสดงข้อสัมมาทิฏฐิตามพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรมาโดยลำดับ ถึงหมวดสุดท้ายที่ภิกษุทั้งหลายได้กราบเรียนถามท่าน ว่ายังมีปริยายคือทางแสดงอย่างอื่นแห่งข้อสัมมาทิฏฐิต่อไปอีกหรือ ท่านพระสารีบุตรก็กล่าวตอบว่า ยังมีปริยายคือทางแสดงอย่างอื่นต่อไปอีก และท่านก็ได้แสดงอธิบายต่อไป อันนับว่าเป็นหมวดสุดท้าย ว่าสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบก็คือ รู้จักอาสวะ รู้จักเหตุเกิดอาสวะ รู้จักความดับอาสวะ รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับอาสวะ

เมื่อท่านให้หัวข้อไว้เป็น ๔ ดั่งนี้แล้ว ก็ได้ให้อรรถาธิบายต่อไปว่า รู้จักอาสวะ อาสวะมี ๓ คือ กามาสวะ อาสวะคือกาม ภวาสวะ อาสวะคือภพ อวิชชาสวะ อาสวะคืออวิชชา

รู้จักเหตุเกิดอาสวะ คือเพราะอวิชชาเกิด อาสวะทั้งหลายจึงเกิด รู้จักความดับอาสวะ คือรู้จักว่าเพราะอวิชชาดับ อาสวะจึงดับ รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับอาสวะ ก็คือรู้จักมรรคคือทางที่มีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิเป็นต้น

อนุสัย ๓

จะได้แสดงอธิบายในข้ออาสวะ กิเลสที่ดองจิตสันดาน ที่หมักหมมอยู่ในจิตสันดาน ได้ชื่อว่าอาสวะ จัดเป็นกิเลสอย่างละเอียด และกิเลสอย่างละเอียดนี้มีเรียกชื่ออีกคำหนึ่งว่า อนุสัย คือกิเลสที่นอนจมติดตามไปอยู่เสมอ อนุสัยนี้ก็แจกเป็น ๓ อีกเหมือนกัน คือ ราคานุสัย อนุสัยคือราคะ ปฏิฆานุสัย อนุสัยคือปฏิฆะ อวิชชานุสัย อนุสัยคืออวิชชา เป็นกิเลสอย่างละเอียดอีกเช่นเดียวกัน

คำว่าอาสวะกับอนุสัยนี้ แม้ว่าจะมีชื่อเพี้ยนกันอยู่ก็มีความหมายเป็นอย่างเดียวกัน เมื่อแสดงถึงอาสวะก็หมายถึงอนุสัยรวมอยู่ด้วย เมื่อแสดงถึงอนุสัยคือเมื่อยกอนุสัยขึ้นแสดง ก็หมายถึงอาสวะรวมอยู่ด้วย เพราะฉะนั้นแม้จะแสดงชื่อใดชื่อหนึ่ง ก็เป็นอันว่าหมายถึงทั้งสองนี้รวมอยู่ด้วยกัน

วีติกกมกิเลส

และเมื่อกล่าวว่าอาสวะอนุสัยเป็นกิเลสอย่างละเอียด ก็ย่อมจะมีกิเลสอย่างหยาบ และกิเลสอย่างกลางอีกด้วย ซึ่งก็ได้มีแสดงไว้ กิเลสอย่างหยาบนั้นเรียกว่า วีติกกมกิเลส คือกิเลสที่เป็นเหตุให้ล่วงละเมิดออกไปทางไตรทวาร สำเร็จเป็นกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ หรือว่า ราคะ โทสะ โมหะ อย่างแรง ที่เป็นตัวอกุศลมูล คือเป็นรากเหง้าของอกุศลทั้งหลาย

ก็ได้แก่รากเหง้าของอกุศลกรรม ดังที่เรียกว่า อกุศลกรรมบถ ทางของกรรมที่เป็นอกุศล

อกุศลกรรมบถ ๑๐

อกุศลกรรมบถ ทางของกรรมที่เป็นอกุศลนั้น ก็แจกเป็น ๓ คือเป็น กายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ และมโนกรรม ๓

กายกรรม ๓ นั้น ก็ได้แก่ ปาณาติบาต ทำสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไป คือฆ่าสัตว์ตัดชีวิต อทินนาทาน ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขามิได้ให้ ด้วยจิตใจเป็นขโมย คือจิตใจคิดจะลัก กาเมสุมิจฉาจาร ประพฤติผิดในกามทั้งหลาย

วจีกรรม ๔ ก็คือ มุสาวาท พูดเท็จ ปิสุณาวาท พูดส่อเสียด ผรุสวาท พูดคำหยาบ สัมผัปปลาวาท พูดโปรยประโยชน์ คือพูดเพ้อเจ้อเหลวไหล

มโนกรรม ๓ ก็คือ อภิชฌา โลภ เพ่งเล็งทรัพย์สิ่งของๆ ผู้อื่นมาเป็นของตน พยาบาท มุ่งร้ายปองร้ายหมายล้างผลาญ มิจฉาทิฏฐิ เห็นผิดจากทำนองคลองธรรม คือเห็นว่ากรรมที่กระทำไม่มีบุญไม่มีบาป เห็นว่าไม่มีเหตุ คือผลที่ได้รับเป็นสุขเป็นทุกข์ หรือเป็นความเสื่อมเป็นความเจริญต่างๆ ไม่มีกรรมที่ทำดีหรือกรรมชั่วเป็นเหตุ แต่ว่าผลทั้งปวงเหล่านี้บังเกิดขึ้นตามคราว ตามความบังเอิญเป็นต้น ไม่มีกรรมดีกรรมชั่วที่ทำไว้มาเป็นเหตุ เห็นว่าทุกๆ อย่างไม่มี คือข้อที่นับถือว่ามารดาบิดามีคุณนั้นก็ไม่มี ข้อที่ถือว่าทำทานหรือบูชาต่างๆ มีผลนั้นก็ไม่มี ไม่มีสมณะพรหมณ์ผู้ประพฤติดีประพฤติชอบ เพราะว่าไม่มีสิ่งที่เรียกว่าดี สิ่งที่เรียกว่าชอบ ไม่มีโลกนี้ ไม่มีโลกหน้า เป็นต้น

อกุศลกรรมบถทางของกรรมที่เป็นอกุศล ย่อมประกอบด้วยกายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ มโนกรรม ๓ ดังกล่าว บังเกิดขึ้นก็เพราะมีเจตนาอันประกอบด้วย กิเลสกองโลภ กองโกรธ กองหลง ดังกล่าว

ซึ่งเป็นกิเลสอย่างหยาบ คือบังเกิดขึ้นรุนแรง จนถึงให้ละเมิดออกไปทางกายทวาร เป็นกายกรรม ทางวจีทวาร เป็นวจีกรรม ทางมโนทวารเป็นมโนกรรม ดังกล่าว จึงเรียกว่า วีติกกมกิเลส กิเลสที่เป็นเหตุให้ล่วงละเมิด

กรรมกิเลส ๔

พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสเรียกไว้อีกชื่อหนึ่งว่า กรรมกิเลส ที่ตรัสแสดงเอาไว้ ๔ คือ ปาณาติบาต อทินนาทาน กามะมิจฉาจาร และมุสาวาท จะแปลว่า กรรมที่เศร้าหมองก็ได้ แปลว่ากิเลสที่เป็นเหตุให้กระทำกรรมทั้ง ๔ ข้อนี้ก็ได้ คือปรากฏออกมาเป็นปาณาติบาตเป็นต้น ซึ่งก็ปรากฏออกมาจากจิตใจนี้เอง อันประกอบด้วย โลภ โกรธ หลง อย่างรุนแรง และเมื่อจับแสดงถึงกิเลสอย่างรุนแรงที่บังเกิดขึ้นในจิตใจในขณะที่ประกอบกรรม อันเป็นอกุศลกรรมบท หรือที่เป็นกรรมกิเลสดังกล่าวนั้น ก็เรียกว่าเป็นกิเลสอย่างหยาบ หรือวีติกกมกิเลส กิเลสที่เป็นเหตุให้ล่วงละเมิดออกทางไตรทวาร เป็นกรรมทั้ง ๓ ดังกล่าวนั้น

นิวรณ์ ปริยุฏฐานะ

กิเลสอย่างกลาง คือกิเลสที่บังเกิดขึ้นเป็นนิวรณ์อยู่ในจิตใจ คือทำจิตใจไม่ให้พบกับความสงบ และทำปัญญาให้เสียให้ทราม คือไม่ให้เกิดปัญญา ที่เรียกว่า นิวรณ์ หรือที่เรียกว่า ปริยุฏฐานะ คือกิเลสที่บังเกิดขึ้นทำจิตใจให้กลัดกลุ้มวุ่นวายกระสับกระส่าย จึงใช้คำว่าปริยุฏฐานะ ที่มาจากคำว่า ปล้นสะดม

โจรที่เข้าปล้นสะดมในบ้านเรือนของผู้ใด ก็ทำให้เกิดความกาหลอลหม่าน เดือดร้อนวุ่นวาย ทรัพย์สินเสียหาย หรือตลอดถึงเสียชีวิตเลือดเนื้อ กิเลสที่บังเกิดขึ้นในจิตใจ ก็ปล้นจิตใจ ทำจิตใจให้วุ่นวายกระสับกระส่ายเดือดร้อน

ทำลายธรรมะในจิตที่เป็นส่วนดีส่วนชอบต่างๆ เหมือนอย่างโจรเข้าปล้นทำลายทรัพย์สินต่างๆ ที่เรียกว่าเป็นกิเลสอย่างกลางนั้น ก็เพราะบังเกิดขึ้นในจิตใจ ไม่ถึงให้ละเมิดล่วงออกไป ทางไตรทวารเป็นกรรมดังกล่าว

นิวรณ์ ๕

พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงนิวรณ์เอาไว้ ก็คือ

กามฉันท์ ความพอใจรักใคร่ในกาม คือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย หรือว่าความพอใจรักใคร่ด้วยอำนาจของกาม คือความใคร่ความปรารถนาทั้งหลาย

พยาบาท ความโกรธแค้นขัดเคือง

ถีนมิทธะ ความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม

อุทธัจจะกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ และ

วิจิกิจฉา ความเคลือบแคลงสงสัย

ก็ย่อลงในกิเลสกองโลภ โกรธ หลง หรือราคะโทสะโมหะนั่นแหละ

ที่นับว่าเป็นอย่างกลางก็คือบังเกิดขึ้นในจิตใจ เป็นนิวรณ์อยู่ในจิตใจ ทำจิตใจให้กลัดกลุ้ม ทำให้ไม่ได้สมาธิ ทำให้ไม่ได้ปัญญา การปฏิบัติทางกรรมฐาน แต่ว่าไม่ค่อยได้สมาธิไม่ค่อยได้ปัญญา ก็เพราะนิวรณ์นี้เอง หรือปริยุฏฐานะกิเลสเหล่านี้เอง ไม่สงบไปจากจิตใจ ยังบังเกิดขึ้นอยู่ในจิตใจ เป็นนิวรณ์อยู่ในจิตใจ เป็นปริยุฏฐานะคือปล้นจิตใจอยู่ เพราะฉะนั้น จิตใจจึงไม่ได้สมาธิไม่ได้ปัญญา ต่อเมื่อสงบนิวรณ์เสียได้ หรือสงบปริยุฏฐานะคือกิเลสที่ปล้นจิต ทำจิตใจให้กลัดกลุ้มวุ่นวายนี้เสียได้ นั่นแหละจึงจะได้สมาธิจึงจะได้ปัญญา การปฏิบัติกรรมฐานจึงจะสำเร็จเป็นขั้นตอนขึ้นไปได้

อาสวะ ๓

กิเลสอย่างละเอียดก็ได้แก่อาสวะ ๓ คือ กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ หรืออนุสัย ๓ คือ ราคานุสัย ปฏิฆานุสัย และ อวิชชานุสัย ดังที่กล่าวแล้ว สำหรับอาสวะและอนุสัย อันเป็นกิเลสอย่างละเอียดที่แสดงไว้เป็น ๒ ชื่อนี้

กามาสวะ ราคานุสัย

ข้อที่ ๑ ในส่วนอาสวะ ก็ได้แก่ กามาสวะ อาสวะคือกาม ในส่วนอนุสัยก็ได้แก่ ราคานุสัย อนุสัยคือราคะ กามแปลว่าใคร่ ราคะแปลว่าติด คือติดใจ กามกับราคะนั้นก็หมายถึงกิเลสกองความยินดีด้วยกัน ราคะ(กาม)ความใคร่ก็เป็นกิเลสกองยินดี ราคะความติดใจก็เป็นกิเลสกองยินดีพอใจด้วยกัน เพราะฉะนั้นแม้ว่าชื่อจะต่างกัน ก็มีความหมายเป็นอันเดียวกัน

อัสมิมานะทิฏฐิ

ข้อ ๒ ในส่วนอาสวะ ได้แก่ ภวาสวะ อาสวะคือภพที่แปลว่าความเป็น ความเป็นนั่น ความเป็นนี่ ตั้งต้นแต่ความเป็นเราเป็นของเรา อันเรียกว่า อัสมิมานะ หรืออัสมิทิฏฐิ หรือว่าเรียกรวมกันว่า อัสมิมานะทิฏฐิ ความเห็นนับถือว่าเรามีเราเป็น คือเป็นเราเป็นของเรา นี่เป็นตัว ภวะ หรือตัวภพ ซึ่งเป็นต้นเดิมในทุกๆ คน เมื่อมีเรามีของเรา เป็นเราเป็นของเราขึ้น เรานี้เองก็เป็นนั่นเป็นนี่ต่อไปอีก เพราะฉะนั้น จึงต้องมีเราคือเป็นเราขึ้นก่อนซึ่งเป็นตัวภพ ซึ่งเป็นต้นเดิม นี้คือภพ

ภพ ปฏิฆะ

ในส่วนอนุสัยข้อ ๒ ได้แก่ ปฏิฆานุสัย อนุสัยคือปฏิฆะที่แปลว่าการกระทบกระทั่ง ดูถ้อยคำแล้วต่างกัน แต่ว่าเมื่อดูความสัมพันธ์ย่อมจะเห็นว่า สัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด คือว่าจะต้องมีภพความเป็น เป็นนั่นเป็นนี่ ตั้งต้นแต่เป็นเราขึ้นมา จึงมีปฏิฆะขึ้นมาได้ คือมีที่กระทบกระทั่ง ตัวเราที่เป็นตัวภพนี่แหละเป็นที่กระทบกระทั่ง ความกระทบกระทั่งจึงมีได้ ถ้าไม่มีตัวเราซึ่งเป็นที่กระทบกระทั่ง ปฏิฆะคือความกระทบกระทั่งก็มีขึ้นไม่ได้ เพราะฉะนั้น ภพกับปฏิฆะนั้นจึงสัมพันธ์กันดั่งนี้

และเมื่อยกขึ้นว่าปฏิฆะความกระทบกระทั่ง ก็ต้องหมายว่า ต้องมีสิ่งที่เป็นที่กระทบกระทั่ง คือมีตัวเราอันเป็นภพ อันเป็นที่กระทบกระทั่ง หรือเมื่อกล่าวว่าภพความเป็นนั่นเป็นนี่ ตั้งต้นแต่เป็นเรา ก็ต้องหมายถึงว่าจะต้องมีความกระทบกระทั่งขึ้นได้แล้ว เพราะมีที่กระทบกระทั่ง ฉะนั้น จะยกขึ้นว่าภพหรือยกขึ้นว่าปฏิฆะ ก็ย่อมเป็นอันเดียวกัน มีความเนื่องถึงกัน

ดังจะพึงเห็นได้ว่าบุคคลทั่วไป เมื่อมีใครมาสรรเสริญว่า นาย ก.นาง ข. ดีอย่างนั้นดีอย่างนี้ ตัวนาย ก.นาง ข.นั้นย่อมมีตัวภพความเป็นนั่นเป็นนี่ตั้งต้นแต่เป็นเรา คือมีตัวเราอยู่ใน นาย ก.นาง ข. อันเป็นตัวภพซึ่งเป็นต้นเดิมดังกล่าวนั้น ตัวเราซึ่งเป็นนาย ก.นาง ข. นั้นก็ออกรับคำสรรเสริญ คำสรรเสริญนั้นก็แปลว่ามีที่กระทบ เพราะว่ามีตัวเราของนาย ก. นาง ข. ออกรับ ก็มีปฏิฆะคือการกระทบขึ้น แต่ว่าเป็นกระทบในด้านทำให้ยินดี เพราะเป็นคำสรรเสริญ

แต่ถ้าเป็นคำนินทาว่าร้าย ตัวเราของนาย ก.นาง ข. ก็ออกรับ คำนินทานั้นก็มากระทบตัวเราของนาย ก.นาง ข.เข้า ก็เกิดความขัดใจ ยินร้าย แต่ถ้าหากว่านาย ก.นาง ข.นั้นไม่มีตัวเราออกรับคำสรรเสริญหรือนินทา คำสรรเสริญหรือนินทาของใครๆ นั้นก็ไม่มากระทบ เพราะว่านาย ก.นาง ข.นั้นไม่เอาตัวเราออกรับ เมื่อไม่เอาตัวเราออกรับ คำนินทาหรือสรรเสริญทั้งปวงนั้นก็ผ่านไปๆ ไม่ทำให้บังเกิดความยินดี ไม่ทำให้บังเกิดความยินร้าย เพราะว่าไม่มีตัวเราของนาย ก.นาง ข.ออกรับการกระทบแห่งคำสรรเสริญหรือคำนินทาดังกล่าว

เพราะฉะนั้น เมื่อพิจารณาดูที่จิตใจของตนเองของทุกๆ คนแล้ว ก็จะรู้สึกได้ว่าเป็นเช่นนี้ เวลาใครเขามายกย่องก็พอใจ ก็เพราะมีตัวเราออกรับ มีใครเขามานินทาว่าร้าย ก็ขัดแค้นโกรธเคือง ก็เพราะมีตัวเราออกรับ คือออกรับการกระทบ การกระทบก็บังเกิดขึ้น อันเรียกว่าปฏิฆะนั้น

เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมะจึงต้องทำสติให้มีความรู้ดั่งนี้ และไม่เอาตัวเราออกรับ แต่ว่า รู้ ได้ยิน เห็น แต่ไม่เอาตัวเราออกรับ เมื่อไม่เอาตัวเราออกรับ การกระทบก็ไม่มี การกระทบที่เรียกว่าปฏิฆะนั้นก็ไม่มี ก็ไม่ทำให้จิตใจบังเกิดความขึ้นลง จิตใจคงสงบเป็นปรกติ ในเมื่อไม่มีปฏิฆะคือการกระทบ ความยินดีความยินร้ายต่างๆ ตลอดจนถึงกรรมต่างๆ ที่สืบเนื่องไป ก็บังเกิดขึ้นเพราะมีตัวเรานี่แหละออกรับ ปฏิฆะคือการกระทบก็บังเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นภพกับปฏิฆะนี้จึงเนื่องกันดั่งนี้ ในส่วนข้อ ๓ นั้น ก็ได้แก่อวิชชาสวะ อาสวะคืออวิชชา และอวิชชานุสัย อนุสัยคืออวิชาซึ่งเป็นอันเดียวกัน

ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป