#echo banner="" สัมมาทิฏฐิ ๑๗ ความรู้จักผัสสะ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช

สัมมาทิฏฐิ ๑๗

ความรู้จักผัสสะ

›››››

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ม้วนที่ ๕๘/๑

อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ

]

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ได้แสดงพระเถราธิบายในสัมมาทิฏฐิของท่านพระสารีบุตรเถระ ซึ่งมีที่มาในสัมมาทิฏฐิสูตรโดยลำดับ ภิกษุทั้งหลายได้กราบเรียนถามท่าน ท่านก็ได้ตอบ แล้วพระภิกษุทั้งหลายก็ได้เรียนถามท่านอีก ว่ายังมีปริยายคือทางแสดงอย่างอื่นอีกหรือไม่ ท่านก็ตอบว่ามี ซึ่งได้กล่าวมาโดยลำดับ ในวันนี้ก็จะได้กล่าวตามที่ท่านตอบคำถามของพระภิกษุทั้งหลาย ถึงปริยายคือทางแสดงอย่างอื่นอีก จากที่ได้แสดงอธิบายมาแล้ว

ท่านก็ได้ตอบว่า ยังมีปริยายคือทางที่แสดงอย่างอื่นอีก คือ สัมมาทิฏฐิเห็นชอบ ก็ได้แก่

รู้จักผัสสะ

รู้จักเหตุเกิดผัสสะ

รู้จักความดับผัสสะ

และรู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับผัสสะ

เมื่อท่านตั้งหัวข้อขึ้นมาเป็น ๔ ข้อดั่งนี้ ท่านก็ได้แสดงเถราธิบายแต่ละข้อ ว่า

รู้จักผัสสะ ก็คือรู้จักสัมผัส ๖ อันได้แก่ จักขุสัมผัส สัมผัสทางตา โสตะสัมผัส สัมผัสทางหู ฆานะสัมผัส สัมผัสทางจมูก ชิวหาสัมผัส สัมผัสทางลิ้น กายสัมผัส สัมผัสทางกาย และมโนสัมผัส สัมผัสทางใจ

รู้จักเหตุเกิดแห่งผัสสะ ก็คือรู้จักว่าผัสสะเกิดขึ้นเพราะอายตนะ ๖ เกิดขึ้น

รู้จักความดับผัสสะ ก็คือรู้จักว่าผัสสะดับก็เพราะอายตนะ ๖ ดับ

รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับผัสสะ ก็คือรู้จักมรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิเป็นต้น

สัมผัส ๖

จะอธิบายสัมผัส ๖ คำนี้เรียกว่าผัสสะ หรือเรียกว่าสัมผัส มักจะแปลกันว่าความกระทบ ในภาษาไทยก็นำเอาคำว่าสัมผัสมาใช้ ซึ่งใช้ในความหมายว่ากระทบหรือถูกต้อง แต่ความหมายในทางธรรมะ หมายถึงผัสสะ หรือสัมผัส ที่เป็นความประชุมกัน ของอายตนะภายใน อายตนะภายนอก และวิญญาณ แต่ละทาง ในทางทั้ง ๖

กล่าวคืออายตนะภายในอันได้แก่ตา ภายนอกอันได้แก่รูป มาประจวบกัน ก็เกิดจักขุวิญญาณ ความรู้ทางตา ดังที่เรียกว่าเห็น คือเห็นรูป ทั้ง ๓ นี้ คือตา ๑ รูป ๑ จักขุวิญญาณ ๑ มาประชุมกัน ก็เรียกว่าสัมผัส และเรียกว่าจักขุสัมผัส สัมผัสทางตา

หูกับเสียงมาประจวบกัน ก็เกิดโสตะวิญญาณ ความรู้ทางหู ที่เรียกว่าได้ยิน และทั้ง ๓ นี้ คือหู ๑ เสียง ๑ โสตะวิญญาณ ๑ มาประชุมกัน ก็เรียกว่าโสตะสัมผัส สัมผัสทางหู

จมูกกับกลิ่นมาประจวบกัน ก็เกิดฆานะวิญญาณ ความรู้ทางจมูก คือทราบกลิ่น จมูก ๑ กลิ่น ๑ ฆานะวิญญาณ ๑ ประชุมกัน ก็เรียกว่าฆานะสัมผัส สัมผัสทางจมูก

ลิ้นกับรสมาประจวบกัน ก็เกิดชิวหาวิญญาณ ความรู้ทางลิ้น คือทราบรส ลิ้น ๑ รส ๑ ชิวหาวิญญาณ ๑ มาประชุมกัน ก็เรียกว่าชิวหาสัมผัส สัมผัสทางลิ้น

กายและโผฏฐัพพะสิ่งที่กายถูกต้องมาประจวบกัน ก็เกิดกายวิญญาณ ความรู้ทางกาย คือทราบสิ่งถูกต้องทางกาย กาย ๑ โผฏฐัพพะสิ่งที่กายถูกต้อง ๑ กายวิญญาณ ๑ ประชุมกัน ก็เป็นกายสัมผัส สัมผัสทางกาย

มโนคือใจกับธรรมะคือเรื่องราวมาประจวบกัน ก็เกิดมโนวิญญาณ ความรู้ทางมโนคือใจ คือรู้เรื่องหรือคิดเรื่อง มโนคือใจ ๑ ธรรมะคือเรื่องราว ๑ มโนวิญญาณ ๑ ประชุมกัน ก็เป็นมโนสัมผัส สัมผัสทางมโนคือใจ

นี้คือผัสสะหรือสัมผัสทางคดีธรรม เมื่อพิจารณาดูถึงสัมผัสหรือผัสสะนี้ ก็ย่อมจะทราบว่า เป็นผัสสะหรือสัมผัสทางจิตใจ และเป็นของที่ละเอียด กำหนดได้ยาก มิใช่แต่สัมผัสหรือผัสสะเท่านั้น นามธรรมทั้งหมดที่เป็นเบื้องต้น คือวิญญาณเอง อันได้แก่ความรู้ที่บังเกิดขึ้น เมื่ออายตนะภายใน อายตนะภายนอก ประจวบกัน อันเป็นความรู้ของจิต ก็เป็นสิ่งที่ละเอียดยิ่งไปกว่าผัสสะหรือสัมผัส แต่ว่านามธรรมที่บังเกิดขึ้นสืบไป จากวิญญาณ จากสัมผัส อันได้แก่ เวทนา สัญญา สังขาร ย่อมปรากฏ สังเกตจับพิจารณาได้ง่ายขึ้น ดังเวทนาที่เป็นสุขเป็นทุกข์ หรือเป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข สัญญาที่เป็นความจำหมาย สังขารที่เป็นความคิดปรุงหรือปรุงคิด เป็นนามธรรมที่ชัดขึ้น ปรากฏมากขึ้น เหมือนอย่างสุขหรือทุกข์ ทางกายก็ตาม ทางใจก็ตาม เมื่อเกิดขึ้นทุกคนก็ย่อมจะรู้ หรือไม่ทุกข์ไม่สุขก็ย่อมจะรู้ สัญญาความกำหนดจำหมาย จำได้ จำไม่ได้ ทุกคนก็ย่อมจะรู้ สังขารความปรุงคิดหรือคิดปรุง ทุกคนก็ย่อมจะรู้ใจของตัวเองว่าคิดอย่างไร และแม้วิญญาณที่บังเกิดขึ้น เมื่ออายตนะภายในอายตนะภายนอกประจวบกัน กับเมื่อทั้ง ๓ มาประชุมกันเป็นสัมผัส อันละเอียดไปกว่านามธรรมที่บังเกิดต่อไปคือเวทนา มักจะสังเกตได้ยาก จับได้ยาก ทำความรู้ในวิญญาณในสัมผัสได้ยาก ต่อเมื่อเป็นเวทนาเป็นต้น จึงจะชัดขึ้น และแม้ไม่ตั้งใจที่จะกำหนด แต่ว่าตัวเวทนาเป็นต้นนั้นเองก็โผล่ขึ้นมาให้ทราบได้

วิถีจิต

ความโผล่ขึ้นมานี้ แม้วิญญาณและสัมผัสก็โผล่ขึ้นมา ดังที่เมื่อตากับรูปประจวบกันก็เกิดความรู้รูป คือเห็นรูปอันเรียกว่าจักขุวิญญาณ ทุกคนก็ย่อมจะรู้ว่าได้เห็นรูป และแม้เมื่อไม่เห็น ก็ย่อมจะรู้ว่าไม่เห็น แต่โดยมากนั้น เมื่อไม่เห็นในสิ่งที่ต้องการจะไม่เห็น จึงจะรู้ว่าไม่เห็น เพราะใจจะตั้งกำหนดอยู่ คือตั้งกำหนดอยู่ในเรื่องที่อยากจะเห็น และครั้นไม่เห็นก็รู้ว่าไม่เห็น แต่เมื่อเห็นก็ไม่ได้นึกถึงกิริยาที่เห็น อันเป็นจักขุวิญญาณ แต่ว่าไปนึกถึงสิ่งที่เห็นนั้น คือข้ามเลยไปถึงขั้นที่เป็นสังขารปรุงคิดหรือคิดปรุง และข้ามไปถึงที่เป็นกิเลสขึ้นมา เป็นความยินดีความยินร้ายต่างๆ ในรูปที่เห็นนั้น ส่วนวิถีจิตที่แสดง ที่เป็นไปตามลำดับนั้น ไม่ได้นึกถึง

เช่นเดียวกับการที่จะขึ้นไปสู่ที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งจะต้องก้าวขึ้นบันไดไปทีละขั้น ทุกคนก็ไม่ได้ไปนึกถึงบันใดที่ก้าวขึ้นไป มุ่งจะขึ้น และก้าวบันไดขึ้นไปกี่ขั้นก็ไม่ได้นึกถึง ไม่ได้มุ่งถึง เพราะฉะนั้นจึงมักจะไม่รู้ว่าบันไดที่ก้าวขึ้นไปนั้นมีกี่ขั้น

วิถีจิตก็เช่นเดียวกัน ต้องเป็นไปตามลำดับเหมือนอย่างขั้นบันได คือว่าอายตนะภายในภายนอกที่มาประจวบกัน ที่เหมือนอย่างเป็นบันไดขั้นแรก คือความมาประจวบกัน ก็เป็นวิญญาณ มีจักขุวิญญาณเป็นต้น ก็เป็นบันไดขั้นที่ ๒ แล้วทั้ง ๓ ก็มาประชุมกันก็เป็นสัมผัส เป็นบันไดขั้นที่ ๓ จึงมาถึงเวทนา เป็นบันไดขั้นที่ ๔ สัญญาที่ ๕ สังขารที่ ๖ ซึ่งจิตนี้จะต้องดำเนินไปตามวิถีจิตดังกล่าวนี้ ในอารมณ์ทุกข้อทุกอย่าง ( เริ่ม ๕๘/๒ )

อารมณ์ทุกข้อทุกอย่างที่จิตคิด จะต้องผ่านบันไดขึ้นมาโดยลำดับดั่งนี้

จิตเอง กับบันไดที่จิตดำเนินผ่านขึ้นมาตามลำดับนี้ เป็นธรรมชาติ เป็นธรรมดาของกายและจิตนี้ของทุกๆ คน จัดเป็นอัพยากตธรรม ธรรมะที่เป็นกลางๆ ไม่ใช่กุศลไม่ใช่อกุศล ไม่ใช่บาปไม่ใช่บุญ เป็นวิบากขันธ์ คือเป็นขันธ์ซึ่งได้มาแต่กำเนิด เริ่มต้นเกิดก่อขึ้นในครรภ์ของมารดา ซึ่งทางพระพุทธศาสนาแสดงว่าเป็นวิบากคือผลของกรรม พร้อมทั้งกิเลส ซึ่งได้ประกอบกระทำไว้แล้ว เป็นชนกกรรม กรรมที่นำให้เกิดขึ้นมา และเมื่อธาตุทั้งหลาย คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาศ เริ่มต้นขึ้นได้ที่ คันธัพพะ คนธรรพ์ ท่านใช้ศัพท์เรียกดั่งนี้ อันได้แก่ปฏิสนธิจิตก็มาปฏิสนธิตามกรรม เป็นปฏิสนธิจิต เป็นปฏิสนธิวิญญาณ เป็นอันว่าเริ่มมีธาตุ ๖ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาศ และธาตุวิญญาณ อันเรียกว่าวิญญาณธาตุ เป็นบุรุษสตรีสัตว์บุคคลทุกๆ คนนี้ก่อกำเนิดเกิดขึ้นมา

ปฐมจิต ปฐมวิญญาณ

ในทางพระวินัยได้แสดงนับว่าเริ่มเป็นชาติคือความเกิด ตั้งแต่ปฐมจิตปฐมวิญญาณในครรภ์ของมารดาดังกล่าว และก็อาศัยอาหารเติบโตขึ้นโดยลำดับ จนถึงคลอดออกมา ก็อาศัยอาหารเติบโตขึ้นมาโดยลำดับ เป็นธาตุ ๖ เป็นกาย เป็นจิต เป็น ขันธ์ อายตนะ ธาตุ เป็นขันธ์ ๕ เป็นนามรูป อันเป็นที่ตั้งของสมมติบัญญัติว่าเป็นอัตภาพ เป็นตัวเรา เป็นเรา นี้เป็นวิบากขันธ์ วิบากอายตนะ วิบากธาตุ ของชนกกรรมที่นำให้มาเกิดพร้อมทั้งกิเลส เป็นกลางๆ ไม่ใช่บุญไม่ใช่บาป ไม่ใช่กุศลไม่ใช่อกุศล และสำหรับรูปกายอันเป็นที่อาศัยของจิต พร้อมกับมโนธาตุ มโนวิญญาณธาตุต่างๆ อันเป็นที่ตั้งของนามธรรมต่างๆ ก็มีกระบวนของจิตใจเป็นไปตามธรรมชาติตามธรรมดาดังที่กล่าวมาแล้ว

และสำหรับรูปกายนั้นอันเป็นส่วนรูป คือกองรูปนั้นก็สังเกตกำหนดได้ง่าย เป็นที่ตั้งของวิปัสสนากรรมฐาน คือเป็นภูมิของวิปัสสนากรรมฐาน และก็น่าจะเป็นที่วิญญาณกับสัมผัสนั้นกำหนดได้ยาก ในขันธ์ ๕ จึงได้จัดนามธรรมต่อจากรูปขันธ์ ก็มาเป็น เวทนา สัญญา สังขาร แล้วจึงนำวิญญาณมาเป็นข้อท้าย เพื่อเป็นวิปัสสนาภูมิ เป็นภูมิสำหรับพิจารณาทางวิปัสสนาให้เห็นไตรลักษณ์

เมื่อกำหนดรูปอันเป็นของหยาบ แล้วก็มาเวทนาซึ่งก็เป็นนามธรรมที่หยาบดังกล่าว แล้วก็มาสัญญา มาสังขาร เมื่อมาถึงสังขารก็แปลว่าได้กำหนดนามธรรมถนัดขึ้น จึงมาวิญญาณเป็นข้อ ๕ ซึ่งจะกำหนดได้ง่ายเข้า คือกำหนดตัวรู้ที่เป็นไปกับความคิดปรุงหรือความปรุงคิดต่างๆ

ำหนดตัวรู้ วิญญาณ

เพราะว่าเมื่อปรุงคิดหรือคิดปรุงไปต่างๆ นั้น ก็ย่อมมีตัวรู้ประกอบอยู่ด้วย คือรู้ว่าคิดอะไร ปรุงอะไร แต่ว่าโดยมากนั้นผู้ที่ไม่ปฏิบัติธรรมะ มักจะไม่คิดถึงตัวรู้ ที่ประกอบกันไปอยู่ กับความคิดปรุงหรือความปรุงคิด เพราะไปมุ่งคิดปรุงหรือปรุงคิด และไปติดอยู่ในกิเลส ยินดียินร้าย หลงงมงาย อันบังเกิดขึ้นจากสิ่งที่คิดปรุง หรือปรุงคิดนั้น จึงมิได้มานึกถึงตัวรู้ ว่าอันที่จริงนั้นทุกคนคิดอะไร ก็รู้ไปด้วยว่าคิดอะไร ฉะนั้น หากหัดกำหนดดูตัวรู้ ที่ไปกับตัวคิดปรุงหรือปรุงคิด ก็ย่อมจะจับตัวรู้ได้ และก็ย่อมจะรู้จักว่านั่นแหละเป็นวิญญาณ ที่ในขั้นนี้ก็เป็นมโนวิญญาณ และเมื่อเป็นดั่งนี้ก็มาหัดจับวิญญาณคือตัวรู้ เมื่ออายตนะภายในภายนอกมาประจวบกันดังกล่าวมาข้างต้น ซึ่งเมื่ออายตนะทั้งสองมาประจวบกันแล้ว โดยปรกติก็ย่อมจะเกิดตัวรู้ คือรู้รูปที่เรียกว่าเห็นรูป รู้เสียงที่เรียกว่าได้ยินเสียง แต่ว่าจะต้องมีความเข้าใจอีกอันหนึ่งว่า จิตนี้จะต้องตั้งอยู่เพื่อที่จะรู้ด้วย คือเมื่อตากับรูปประจวบกัน จิตนี้จะต้องตั้งอยู่เพื่อที่จะดูรูป รู้รูป จึงจะเห็นรูป เกิดเป็นจักขุวิญญาณ เมื่อหูกับเสียงประจวบกัน จิตนี้จะต้องตั้งอยู่ที่จะรู้เสียง จึงจะเกิดโสตะวิญญาณคือได้ยินเสียง

ถ้าจิตนี้ไม่ตั้ง แม้ว่าจะมีรูปมาอยู่เฉพาะหน้าเฉพาะตา จะมีเสียงมากระทบหูโสตะประสาท แต่ก็ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ถ้าจิตไม่ตั้ง เหมือนดังที่กำลังบรรยายธรรมอยู่นี้ ท่านทั้งหลายที่ฟังอยู่นี้จะต้องมีจิตตั้งที่จะฟังด้วย จึงจะได้ยินเสียงที่แสดงนี้ แต่หากว่าถ้าจิตไม่ตั้งที่จะฟัง คือส่งจิตไปเสียในที่อื่น แม้เสียงที่แสดงนี้จะไปกระทบโสตะประสาท แต่ก็ไม่ได้ยิน หูดับ ในเมื่อจิตไม่ตั้งที่จะฟัง

อายตนะทุกข้อย่อมเป็นดั่งนี้ ตาดับในเมื่อจิตไม่ตั้งที่จะดู หูดับในเมื่อจิตไม่ตั้งที่จะฟัง จมูกดับ ลิ้นดับ ในเมื่อจิตไม่ตั้งที่จะทราบกลิ่นทราบรส กายดับในเมื่อจิตไม่ตั้งที่จะทราบสิ่งถูกต้อง เพราะฉะนั้น จิตจึงต้องตั้งต้องประกอบอยู่ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือมโนข้อที่ ๖ นั้นเอง ที่เป็นอายตนะข้อที่ ๖ ที่เรียกว่าใจ จะต้องตั้งอยู่ประกอบอยู่ กับตากับหูกับจมูกกับลิ้นกับกายด้วยทุกเรื่องไป ตาหูจมูกลิ้นกายใจจึงจะไม่ดับ ถ้ามโนไม่มาประกอบอยู่ด้วยแล้ว ก็ดับ นี้เป็นธรรมชาติเป็นธรรมดา

เพราะฉะนั้น เมื่ออายตนะภายในภายนอกประจวบกัน ก็เกิดความรู้ขึ้น จึงอาจหัดกำหนดดูได้ ดูตัวเห็น ตัวได้ยิน คือตัวรู้นั้นเองที่บังเกิดขึ้นนั้น แต่ถ้าหากว่าจิตนี้ตั้งกำหนดอยู่เพียงเท่านี้ คือเพียงแค่จักขุวิญญาณโสตะวิญญาณเป็นต้น คือเมื่อตากับรูปประจวบกัน จิตตั้งกำหนดก็เห็นรูป แล้วจิตก็ถอนไปเสีย ถ้าเป็นดั่งนี้แล้วเรื่องนั้นก็ดับอยู่แค่นั้น ไม่เป็นสัมผัส ไม่เกิดเวทนาสัญญาสังขารอะไร

เพราะฉะนั้น หากว่าจิตตั้งอยู่ต่อไป กำหนดต่อไป กล่าวคือเมื่อตากับรูปประจวบกัน จิตตั้งเพื่อที่จะทราบรูปเห็นรูป ก็เกิดจักขุวิญญาณ เมื่อจิตตั้งอยู่ในเรื่องนี้ต่อไป ก็คือจิตได้นำเอา ตา รูป และตัวจักขุวิญญาณ คือตัวรู้ตัวเห็นรูปนั้น มาประชุมกันเองในจิต เป็นสัมผัส แปลว่าเรื่องนั้นก็กระทบถึงจิตแรงขึ้น จิตไม่ปล่อย และถ้าจิตไม่ปล่อย ต่อไปจึงจะเป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร แต่ถ้าจิตปล่อยอยู่แค่นี้ ไปเรื่องอื่นเสีย ก็ดับไปแค่สัมผัสเท่านั้น

สมาธิตามธรรมชาติธรรมดา

 เพราะฉะนั้น จิตที่ตั้งอยู่นี้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก และจิตที่ตั้งอยู่นี้แหละคือตัวสมาธิ ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติธรรมดา การหัดทำสมาธินั้นก็คือเป็นการหัดให้ตั้งอยู่ในทางที่ดีที่ชอบ นั่นเอง และอันที่จริงตามธรรมชาติธรรมดานั้นก็ต้องมีสมาธิ คือจิตจะต้องตั้งอยู่ วิถีจิตจึงจะเป็นไปได้ดังที่กล่าวมาแล้ว เพราะฉะนั้น สัมผัสนั้นก็คือความที่ อายตนะภายในภายนอก กับตัวเห็นรูปเป็นต้นนั้น มารวมกัน กระทบจิตแรงขึ้น จึงจะเป็นเวทนาขึ้นมา เพราะฉะนั้น หากหัดกำหนดจริงๆ แล้วก็กำหนดได้ สัมผัสย่อมมีลักษณะดังที่ได้แสดงมานี้ จึงเป็นสัมผัส ๖ หรือเรียกว่าผัสสะเฉยๆ

ต่อไปนี้ก็ของให้ตั้งใจฟังสวด และตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป