#echo banner="" สัมมาทิฏฐิ ๑๐ ความรู้จักสักกายทิฏฐิ พระนิพนธ์สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช

สัมมาทิฏฐิ ๑๐

ความรู้จักสักกายทิฏฐิ

›››››

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ

]

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุก ๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ได้แสดงอัตตวาทุปาทาน และได้กล่าวถึงศัพท์ธรรมะ ที่หมายถึงอุปาทานบางคำ เช่น สักกายทิฏฐิ ความเห็นยึดถือกายของตน แต่ว่าตามศัพท์ว่าสักกายทิฏฐิ ไม่มีคำว่ายึดถืออยู่ มีแต่คำว่าความเห็น ความเห็นว่ากายของตน แต่เมื่อแปลโดยความก็มักจะเติมคำว่ายึดถือเข้าด้วย กับคำว่า อัตตานุทิฏฐิ ความตามเห็นว่าอัตตาตัวตน กับอีกคำหนึ่ง มานะ ความสำคัญหมาย อย่างละเอียดก็คือ อัสมิมานะ ความสำคัญหมายว่าเรามีเราเป็น บางแห่งก็เรียกด้วยถ้อยคำที่ยาวว่า อัสมิมานะทิฏฐิ มานะและทิฏฐิว่าเรามีเราเป็น

สักกายทิฏฐิ ๒๐

จะได้แสดงคำว่าสักกายทิฏฐิ ความเห็นว่ากายของตน คำนี้แสดงเป็นสังโยชน์ข้อที่ ๑ ในสังโยชน์ ๑๐ ได้มีคำอธิบายที่เป็นพระพุทธาธิบายในที่ทั้งปวงว่า สักกายทิฏฐิ ๒๐ ก็คือทิฏฐิความเห็นว่ากายของตนในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ นั้นก็ได้แก่ รูปขันธ์ กองรูป เวทนาขันธ์ กองเวทนา สัญญาขันธ์ กองสัญญา สังขารขันธ์ กองสังขาร วิญญาณขันธ์ กองวิญญาณ

เป็น ๒๐ อย่างไร ก็คือ เห็นว่าขันธ์ ๕ เป็นตน คือเห็นว่า รูปเป็นตน เวทนาเป็นตน สัญญาเป็นตน สังขารเป็นตน วิญญาณเป็นตน ก็ได้ ๕ ข้อ เห็นว่าตนมีขันธ์ ๕ คือเห็นว่า ตนมีรูป ตนมีเวทนา ตนมีสัญญา ตนมีสังขาร ตนมีวิญญาณ ก็ได้อีก ๕ เห็นขันธ์ ๕ ในตน คือเห็นรูปในตน เห็นเวทนาในตน เห็นสัญญาในตน เห็นสังขารในตน เห็นวิญญาณในตน ก็เป็นอีก ๕ เห็นตนในขันธ์ ๕ คือเห็นตนในรูป เห็นตนในเวทนา เห็นตนในสัญญา เห็นตนในสังขาร เห็นตนในวิญญาณ ก็เป็นอีก ๕ ห้าสี่หนก็เป็น ๒๐ จึงเรียกว่าสักกายทิฏฐิ ๒๐ ความเห็นว่ากายของตน ๒๐

พระโสดาบัน

สักกายทิฏฐินี้ที่แสดงเป็นสังโยชน์ก็แสดงว่า พระโสดาบัน ละสังโยชน์ ๓ ข้างต้นได้ ก็คือละ สักกายทิฏฐิ ความเห็นว่ากายของตน วิจิกิจฉา ความเคลือบแคลงสงสัยในพระรัตนตรัยเป็นต้น สีลัพพตปรามาส ความลูบคลำยึดถือศีลและวัตร พระโสดาบันนั้นเป็นอริยะบุคคลขั้นที่ ๑ ซึ่งแสดงว่าเป็นผู้ที่ไม่ตกต่ำ ไม่ไปเกิดในอบาย คือไม่ไปเกิดเป็นสัตว์นรก เป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นเปรต เป็นอสุรกายต่าง ๆ  และจะท่องเที่ยวเวียนเกิดเวียนตายอยู่ในมนุษย์ในเทพซึ่งเป็นสุคติ ๗ ชาติเป็นอย่างยิ่ง ก็จะบรรลุถึงมรรคผลขั้นสูงสุด เป็นพระอรหันต์ขีณาสพสิ้นชาติสิ้นภพ คือจะท่องเที่ยวเวียนเกิดเวียนตายอยู่ต่อไปอีก ก็ท่องเที่ยวเวียนเกิดเวียนตายอยู่ในสุคติภพทั้งหลาย และจะสำเร็จเป็นพระอรหันต์ขีณาสพภายใน ๗ ชาติเป็นอย่างมาก ไม่เกิน ๗ ชาติไป

โสดาบันบุคคลในครั้งพุทธกาล

และโสดาบันบุคคลนี้ ในครั้งพุทธกาลที่แสดงไว้ ก็มีคฤหัสถ์บรรลุเป็นอันมาก และก็ยังเป็นผู้ครองเรือน มีภรรยา มีสามี เหมือนอย่างชาวบ้านทั้งหลาย เพราะยังมีกามราคะ มีปฏิฆะ ยังละไม่ได้ เพราะฉะนั้น สักกายทิฏฐิที่ละได้นั้น จึงไม่หมายถึงว่าละอุปาทานได้ทั้งหมด และสักกายทิฏฐินั้นหากหมายถึงอุปาทาน ก็หมายถึงอุปาทานที่เป็นขั้นแรก หรือเป็นขั้นต่ำ ซึ่งเมื่อละได้ก็ทำให้ไม่ละเมิดศีล ๕ ไม่มีอกุศลมูล คือ โลภ โกรธ หลง อย่างแรง อันเป็นเหตุให้ละเมิดศีล ๕ อันจะนำให้ไปอบาย แต่ก็ยังมีอุปาทานที่เป็นขั้นละเอียด ซึ่งจะต้องละต่อไป

ฉะนั้น จึงน่าคิดว่า ท่านจึงใช้คำว่าสักกายทิฏฐิ ความเห็นว่ากายของตน และแม้ว่าจะอธิบายเป็น สักกายทิฏฐิ ๒๐ คือความเห็นขันธ์ ๕ ว่าเป็นตน เห็นตนว่ามีขันธ์ ๕ เห็นขันธ์ ๕ ในตน เห็นตนในขันธ์ ๕ และเมื่อละได้ ก็แสดงว่าละความเห็นดังกล่าวนั้นได้ มองเห็นขันธ์ ๕ ว่าเป็นอนัตตามิใช่อัตตาตัวตน หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่ง ก็มองเห็นอัตตาตัวตน ว่ามิใช่ขันธ์ ๕ ไม่มีขันธ์ ๕ เมื่อเป็นดั่งนี้ จึงส่องความว่ายังมีอัตตาตัวตนอยู่ แต่ว่าอัตตาตัวตนนั้นไม่ใช่ขันธ์ ๕ และขันธ์ ๕ ก็ไม่ใช่อัตตาตัวตน แต่ว่าอัตตาตัวตนนั้นยังมีอยู่ เมื่อยังมีอัตตาตัวตนอยู่ แม้จะมิใช่ขันธ์ ๕ หรือขันธ์ ๕ มิใช่อัตตาตัวตน เมื่อยังมีอัตตาตัวตนอยู่ที่ละเอียดยิ่งขึ้นไปกว่านั้น คือที่ละเอียดยิ่งขึ้นไปกว่าขันธ์ ๕ จึงยังมีกามราคะปฏิฆะเป็นต้น ซึ่งอริยมรรคอริยผลขั้นสูงขึ้นไปจึงจะละได้ขึ้นไปโดยลำดับ

 แต่แม้เช่นนั้น เมื่อเห็นว่าขันธ์ ๕ มิใช่อัตตาตัวตน หรืออัตตาตัวตนมิใช่ขันธ์ ๕ ดังกล่าว ก็ทำให้ละวิจิกิจฉา ละสีลัพพตปรามาสได้ และไม่บังเกิดอกุศลมูล โลภ โกรธ หลง อย่างแรง ที่เป็นเหตุแห่ง กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริตต่าง ๆ  ก็คือมีศีล ๕ โดยธรรมดา เพราะฉะนั้น พิจารณาดูตามถ้อยคำดังกล่าวมานี้ พระโสดาบันท่านละสักกายทิฏฐิ ก็คือละอุปาทานในขั้นที่ว่า ขันธ์ ๕ มิใช่อัตตาตัวตน อัตตาตัวตนมิใช่ขันธ์ ๕ แต่ว่าอัตตาตัวตนยังมีอยู่ และอัตตาตัวตนที่ท่านละได้ที่เป็นสักกายทิฏฐิดั่งนี้ ก็เป็นข้อที่ให้บังเกิดผลดังกล่าวแล้ว เมื่อทำความเข้าใจดั่งนี้ ก็ย่อมจะเห็นว่า ท่านจึงยังครองเรือนได้ และก็ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ได้ ถ้ายังไม่บรรลุมรรคผลที่สูงขึ้นไปในภพชาติที่เป็นโสดาบันบุคคลนั้น แต่ก็ไม่เกิน ๗ ชาติตามที่ท่านแสดงไว้

สังโยชน์ ๑๐

และในสังโยชน์ ๑๐ นั้นเอง ที่เป็นสังโยชน์เบื้องบน ที่จะพึงละได้ด้วยอรหัตตมรรคอรหัตผล มีคำว่ามานะ ก็คือสังโยชน์ ๑๐ นั้น สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ละได้ด้วยโสดาปฏิมรรค โสดาปฏิผล ละได้ก็เป็นโสดาบัน ละสังโยชน์ทั้ง ๓ เบื้องต่ำนั้นได้

ทำราคะ โทสะ โมหะ ให้เบาบางลงมากขึ้นไปอีกได้ ก็ด้วยสกทาคามิมรรค สกทาคามิผล ก็เป็นสกทาคามีบุคคล และเมื่อละเพิ่มกามราคะ ปฏิฆะได้อีก ๒ รวมเป็น ๕ ก็ด้วยอนาคามิมรรค อนาคามิผล ก็เป็นอนาคามีบุคคล ทั้ง ๕ นี้ก็เป็นสังโยชน์เบื้องต่ำ ยังมีสังโยชน์เบื้องสูงอีก ๕ คือ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา ละได้ด้วยอรหัตตมรรค อรหัตตผล เป็นพระอรหันต์ขีณาสพ

และมานะนี้เองดังที่กล่าวแล้วว่า อย่างละเอียดก็คืออัสมิมานะ ความสำคัญหมายว่าเรามีเราเป็น ก็คือยึดถือว่าเรามีเราเป็น เป็นอุปาทานอย่างละเอียด เมื่อละมานะนี้ได้ซึ่งรวมอยู่ในสังโยชน์เบื้องสูง ๕ ข้อ ก็เป็นอันว่าละความยึดถือว่าอัตตาตัวตนได้หมด จึงสำเร็จเป็นพระอรหันต์ขีณาสพ

ส่วนคำว่า อัตตานุทิฏฐิ ความตามเห็นว่าอัตตาตัวตน และคำว่า อัตวาทุปาทาน ความยึดถือวาทะว่าตัวตน เป็นคำกลาง ๆ  ครอบคลุมได้ถึงอุปาทานความยึดถือทุกชั้น ทั้งชั้นหยาบ ชั้นกลาง ชั้นละเอียด เพราะฉะนั้น ศัพท์ธรรมะดังกล่าวนี้ จึงเป็นข้อที่ควรเพ่งพิจารณาให้เข้าใจ ถ้าไม่เช่นนั้นแล้วก็ย่อมจะมีความสงสัย เช่นสงสัยว่าละสักกายทิฏฐิได้ ก็น่าจะไม่ต้องครองบ้านครองเรือน ไม่ต้องแต่งงานแต่งการอย่างชาวบ้าน แต่ทำไมละได้แล้วจึงยังครองเรือนเป็นชาวบ้านอยู่ได้ แต่เมื่อมีความเข้าใจในความหมายถึงขั้นตอนของอุปาทานดังกล่าว ว่ามีอย่างหยาบ อย่างละเอียด ก็ย่อมจะเข้าใจ

อัตตวาทุปาทาน

และในอุปาทาน ๔ นี้ ข้อที่ ๔ อัตตวาทุปาทาน ความถือมั่นหรือยึดถือวาทะว่าตน ย่อมเป็นข้อสำคัญ เมื่อมีข้อนี้อยู่จึงมีกามอันทำให้ยึดถือเป็น กามุปาทาน จึงมีทิฏฐิคือความเห็นที่ผิดต่าง ๆ  อันทำให้ยึดถือเป็น ทิฏฐุปาทาน จึงมีศีลและวัตรต่าง ๆ ที่ปฏิบัติ อันทำให้ยึดเป็น สีลัพพตุปาทาน เพราะเมื่อมีความยึดถือวาทะว่าตน ยึดถือสมมติบัญญัติว่าตน ก็คือยึดถือที่ตั้งของสมมติบัญญัตินั้น ๆ  ว่าตัวเราของเราที่ยึดถือนั้น จึงยังมีทิฏฐิคือความเห็นที่ผิด ตั้งแต่อย่างหยาบ จนถึงอย่างละเอียด เพราะยังมีอวิชชาคือความไม่รู้ในสัจจะที่เป็นตัวความจริง อันเป็นปรมัตถสัจจะ ดังที่กล่าวแล้ว จึงมีความยึดถืออยู่ในความเห็นนั้น ก็คือยึดถืออยู่ในความเห็นว่าตัวเราของเรา ยึดถืออยู่ในวาทะว่าตัวเราของเรา ยึดถืออยู่ในที่ตั้งของสมมติบัญญัติของวาทะว่าตัวเราของเรานั้น คือยังเห็นว่าตัวเราของเรามี เรามีเราเป็น

เหตุให้เกิดความยึดถือในศีลวัตร

และเมื่อเป็นดั่งนี้ ศีลที่ปฏิบัติวัตรที่ปฏิบัติ จะเป็นภายในภายนอกพุทธศาสนาก็ตาม จะเป็นอย่างหยาบอย่างละเอียดก็ตาม จึงอดไม่ได้ที่จะเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่งเสริมสนับสนุนอัตตาตัวตน คือตัวเราของเราที่ยึดถือไว้นั้น เพื่อตัวเราของเราที่ยึดถือไว้นั้น และศีลและวัตรที่ปฏิบัตินั้น ในเบื้องต้นก็ย่อมอาจยึดถือศีลและวัตรภายนอกพุทธศาสนาต่าง ๆ  แต่เมื่อได้สดับฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ปฏิบัติศีลสมาธิปัญญาของพระพุทธเจ้า ได้ความรู้มากขึ้น ก็มาปฏิบัติในศีลและวัตรในพุทธศาสนา แม้เช่นนั้นก็ยังทิ้งตนไม่ได้ เพราะยังมีอัตตาตัวตนที่ยึดถืออยู่ ยังอาจจะไขว้เขวไปได้น้อยหรือมาก แต่แม้ว่าไม่ไขว้เขวไปเลย ปฏิบัติในศีลและวัตรที่เป็นมรรคมีองค์ ๘ เป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญาอันถูกต้องจริง ๆ  และแม้ว่าไม่มุ่งมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ แต่ก็ยังมุ่งนิพพานสมบัติ ก็คือเพื่อให้ตนที่ยึดถือไว้นี้บรรลุถึงนิพพาน บรรลุถึงมรรคผล เพราะฉะนั้น ก็นับว่ายังเป็นสีลัพพตุปาทานอยู่ แต่เป็นอย่างละเอียด

เพราะฉะนั้น ท่านพระอานนท์ท่านจึงอธิบายในข้อว่า ที่ตรัสสอนว่าให้อาศัยตัณหาละตัณหา ก็คือผู้ที่ปฏิบัติธรรมะด้วยปรารถนาว่า ไฉนหนอเราจักบรรลุมรรคผลนิพพาน ดั่งนี้ จนกว่าที่จะได้ละอัตตวาทุปาทานนี้ได้ ถอนอัตตานุทิฏฐิความเห็นว่าอัตตาตัวตนได้ ละมานะที่เป็นอย่างละเอียดคืออัสมิมานะ หรือว่าอัสมิมานะทิฏฐิความสำคัญหมายเห็นว่าเรามีเราเป็น ละได้หมด ละอุปาทานได้หมด ดั่งนี้ จึงจะละกามได้หมด ละทิฏฐิที่เป็นมิจฉาทิฏฐิได้หมด เพราะละอวิชชาได้ และละสีลัพพตุปาทานความยึดมั่นถือมั่นในศีลและวัตรได้ทุกอย่าง เพราะว่าเสร็จกิจที่จะต้องปฏิบัติแล้ว เพราะฉะนั้น อุปาทานทั้ง ๔ นี้จึงควรพิจารณาให้มีความเข้าใจ แม้จะยังละไม่ได้ ก็ให้มีความเข้าใจ และตั้งใจปฏิบัติตามที่ท่านพระสารีบุตรท่านแสดงไว้ต่อไปว่า เหตุเกิดของอุปาทานก็คือตัณหา ดับอุปาทานอุปาทานก็คือดับตัณหา ทางปฏิบัติให้ถึงความดับอุปาทานก็คือมรรคมีองค์ ๘

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวด และตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป