#echo banner="" สัลเลขปฏิบัติ พระนิพนธ์สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช

สัลเลขปฏิบัติ

›››››

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ

]

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

จะแสดงพระพุทธเจ้าทรงสอนสัลเลขปฏิบัติ ตามนัยยะสัลเลขสูตรนำสติปัฏฐาน อันเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่าการปฏิบัติพุทธศาสนาทั้งปวงนั้น จะเป็นปฏิบัติในสติปัฏฐาน หรือในข้ออื่นใด ก็มุ่งสัลเลขะปฏิบัติ คือปฏิบัติขัดเกลา สัลเลขะแปลว่าขัดเกลา ก็คือขัดเกลาจิตใจ พร้อมทั้งกายวาจา หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า ขัดเกลากิเลส ขัดเกลาบาปอกุศลธรรมทั้งหลายให้พ้นไป ให้สิ้นไป ให้หมดไป ดั่งนี้ เรียกว่า สัลเลขะ ที่แปลว่าขัดเกลา สัลเลขปฏิบัติ ก็คือปฏิบัติขัดเกลา

สมาธิไม่เป็นเครื่องขัดเกลากิเลส

ในพระสูตรนี้เบื้องต้นได้ทรงแสดงถึงสมาธิก่อน สมาธิที่เป็นอัปปนาสมาธิ สมาธิแน่วแน่ จนถึงรูปฌาน อรูปฌาน ได้ทรงปฏิเสธว่าลำพังสมาธิแม้ถึง รูปฌาน อรูปฌาน ก็ไม่ชื่อว่าสัลเลขะธรรม ธรรมะเป็นเครื่องขัดเกลา

รูปฌานนั้นเป็นไปเพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบัน อรูปฌานนั้นเป็นไปเพื่อสมาธิที่สงบและละเอียดยิ่งขึ้นไปกว่า แต่มิใช่สัลเลขธรรม ธรรมะเป็นเครื่องขัดเกลา

ธรรมะเป็นเครื่องขัดเกลากิเลส

ต่อจากนี้ได้ทรงแสดงถึงธรรมะเป็นเครื่องขัดเกลา ด้วยตรัสสั่งสอนให้ปฏิบัติ ขัดเกลาหลายข้อหลายประการ แต่จะยกมาแสดงในที่นี้เพียงส่วนหนึ่ง คือได้ตรัสสอนว่าให้ตั้งใจว่าเราจะปฏิบัติขัดเกลา คือ

เว้นจากปาณาติบาตทำสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไป

เว้นจากอทินนาทานถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขามิได้ให้

เว้นจากอพรหมจริยกิจ หรือเว้นจากกามมิจฉาจารประพฤติผิดในกาม

เว้นจากพูดเท็จ เว้นจากพูดส่อเสียด เว้นจากพูดคำหยาบ

เว้นจากพูดเพ้อเจ้อเหลวไหล

เว้นจากคิดโลภเพ่งเล็งทรัพย์สมบัติของผู้อื่นมาเป็นของตน

เว้นจากพยาบาทปองร้ายมุ่งร้าย

เว้นจากมิจฉาทิฏฐิความเห็นผิด

และได้ตรัสสอนให้ตั้งใจว่าเราจะปฏิบัติขัดเกลา

เว้นจากมิจฉาทิฏฐิความเห็นผิด ประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบถูกต้อง

เว้นจากมิจฉาสังกัปปะความดำริผิด ประกอบด้วยสัมมาสังกัปปะความดำริชอบ

เว้นจากมิจฉาวาจาเจรจาผิด ประกอบด้วยสัมมาวาจาเจรจาชอบ

เว้นจากมิจฉากัมมันตะการงานผิด ประกอบด้วยสัมมากัมมันตะการงานชอบ

เว้นจากมิจฉาอาชีวะเลี้ยงชีวิตผิด ประกอบด้วยสัมมาอาชีวะเลี้ยงชีวิตชอบ

เว้นจากมิจฉาวายามะเพียรพยายามผิด ประกอบด้วยสัมมาวายามะเพียรพยายามชอบ

เว้นจากมิจฉาสติระลึกผิด ประกอบด้วยสัมมาสติระลึกชอบ

เว้นจากมิจฉาสมาธิสมาธิผิด ประกอบด้วยสัมมาสมาธิสมาธิชอบ

เว้นจากมิจฉาญาณะรู้ผิด ประกอบด้วยสัมมาญาณะรู้ชอบ

เว้นจากมิจฉาวิมุติพ้นผิด ประกอบด้วยสัมมาวิมุติพ้นชอบ

จิตตุบาท ความบังเกิดขึ้นแห่งจิต

และได้ตรัสสอนวิธีปฏิบัติโดยให้ทำ

จิตตุบาท คือความบังเกิดขึ้นแห่งจิต

ตรัสสอนให้รู้ทางปฏิบัติเลี่ยงหรือบ่ายเบี่ยง

รู้จักทางปฏิบัติที่จะอยู่เบื้องบน ไม่อยู่เบื้องล่าง

ชี้ทางปฏิบัติที่จะดับ มิใช่ก่อให้บังเกิดขึ้น

ข้อแรกที่ตรัสสอนให้ปฏิบัติเริ่มตั้งแต่ทำ จิตตุบาท คือความบังเกิดขึ้นแห่งจิตใจนั้น ก็คือให้ปฏิบัติทำความตั้งใจให้บังเกิดขึ้น ว่าเราจะปฏิบัติขัดเกลาดังกล่าวมาข้างต้น เมื่อทำความตั้งใจว่าจะปฏิบัติขัดเกลาขึ้นดั่งนี้ การปฏิบัติทางกายทางวาจาก็เป็นไปตามเอง เพราะฉะนั้นจิตตุบาทความบังเกิดขึ้นแห่งจิต คือทำความตั้งใจให้บังเกิดขึ้นว่าเราจะปฏิบัติขัดเกลาเป็นข้อแรก และเมื่อจิตตุบาทเกิดขึ้นดั่งนี้ การปฏิบัติขัดเกลาทางกายทางวาจาก็จะเป็นไป คือจะปฏิบัติเว้นจากปาณาติบาต อทินนาทาน เป็นต้น เว้นจาก มิจฉัตตะ คือความเป็นผิดต่างๆ มีมิจฉาทิฏฐิความเห็นผิดเป็นต้น

แต่ว่าแม้จะตั้งใจว่าเราจะปฏิบัติขัดเกลาดั่งนั้น ก็จำเป็นที่จะต้องรู้ทาง ที่เรียกว่าทางเบี่ยงทางเลี่ยง อันหมายความว่าเบี่ยงหรือเลี่ยงทางที่ผิดมาปฏิบัติในทางที่ถูก เพราะว่ามีทางทั้ง ๒ อยู่คู่กัน เช่นทางที่ผิดนั้นก็ได้แก่ปาณาติบาตทำสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วง ทางที่ถูกนั้นก็ได้แก่ปาณาติปาตาเวรมณีเว้นจากปาณาติบาต คือความงดเว้น ทางที่ผิดนั้นก็คือมิจฉัตตะความเป็นผิดต่างๆ เช่นมิจฉาทิฏฐิ ทางที่ถูกนั้นก็คือความเป็นถูกต่างๆ เช่นสัมมาทิฏฐิ ทางทั้ง ๒ นี้มีอยู่คู่กัน ดั่งนี้

เพราะฉะนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องรู้ทางเลี่ยงหรือทางเบี่ยง อันหมายความว่าที่จะออกจากทางผิด มาสู่ทางที่ถูก เบี่ยงหรือเลี่ยงจากทางที่ผิดมาสู่ทางที่ถูก ก็เหมือนอย่างการวิ่งของรถ เมื่อวิ่งไปตามทางปรกติ บางแห่งก็มีทางเบี่ยง เช่นต้องเบี่ยงจากทางที่กำลังซ่อม ทางที่ไม่ดี ไปสู่ทางที่ดีที่ไปได้ เพราะฉะนั้นในการปฏิบัติขัดเกลานั้น จึงต้องรู้จักทางเบี่ยงหรือทางเลี่ยงดังกล่าวมานี้ เบี่ยงจากทางที่ผิดสู่ทางที่ถูก

ทางผิด ทางถูก

แต่ว่าในการที่จะเลี่ยงหรือเบี่ยงได้นี้ ก็จะต้องรู้วิธีต่อไปประกอบอีกด้วย คือวิธีที่จะอยู่เบื้องบนไม่อยู่เบื้องล่าง ทางที่ผิดนั้นเรียกว่าอยู่เบื้องล่าง ทางที่ถูกนั้นเรียกว่าอยู่เบื้องบน เพราะฉะนั้นจึงต้องรู้จักที่จะปฏิบัติตนให้ขึ้นอยู่เบื้องบนของทางเบื้องล่าง คือให้ขึ้นสู่ทางที่ถูกเหนือทางที่ผิด ฉะนั้น จึงต้องมีการปฏิบัติที่จะยกตนให้สูงขึ้นจากทางที่ผิด ให้ขึ้นไปสู่ทางที่ถูก เมื่อยกตนให้ขึ้นไปสู่ทางที่ถูกได้ จึงจะอยู่เหนือทางที่ผิดได้

แต่ว่าในการที่จะปฏิบัติยกตนให้อยู่เหนือทางที่ผิด คือขึ้นไปอยู่เหนือ ขึ้นไปสู่ทางที่ถูกเหนือทางที่ผิด ดั่งนี้ได้ ก็จะต้องอาศัยปฏิบัติอีกขั้นหนึ่ง คือให้รู้จักปฏิบัติดับ ไม่ใช่ก่อ คือดับทางที่ผิด ไม่ก่อทางที่ผิด หรืออีกอย่างหนึ่งจะเรียกว่าก่อทางที่ถูกก็ได้ ดับทางที่ผิด

เพราะฉะนั้น จึงต้องอาศัยการปฏิบัติดังกล่าวมา ในการปฏิบัติขัดเกลา ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนเอาไว้ ตั้งต้นแต่ต้องมีจิตตุบาทความบังเกิดขึ้นแห่งจิต คือมีความตั้งใจว่าเราจะปฏิบัติขัดเกลา และจะต้องรู้และปฏิบัติเบี่ยงหลีกเลี่ยงจากทางที่ผิดสู่ทางที่ถูก จะต้องรู้และปฏิบัติขึ้นสู่ทางที่ถูก ไม่ตกลงสู่ทางที่ผิด เพราะทางที่ผิดนั้นเป็นทางต่ำ ทางที่ถูกนั้นเป็นทางสูง จะต้องรู้และปฏิบัติดับทางที่ผิด ก่อทางที่ถูกให้บังเกิดขึ้น

ธรรมะที่เป็นอุปการะ

การที่จะปฏิบัติได้ดั่งนี้ก็ต้องอาศัยธรรมะที่เป็นอุปการะต่างๆ ทั้งสติ ทั้งปัญญา ทั้งขันติความอดทน เป็นต้น สติคือความระลึกได้ ที่จะรักษาจิตใจรักษาตน คือให้นึกได้อยู่เสมอว่า เราจะทำจะพูดจะคิดอะไร เรากำลังทำกำลังพูดกำลังคิดอะไร ปัญญาคือความรู้ว่าสิ่งที่จะทำจะพูดจะคิด สิ่งที่กำลังทำกำลังพูดกำลังคิดนี้เป็นอย่างไร ดีหรือชั่วอย่างไร มีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์อย่างไร และก็จะต้องมีความอดทน อดทนต่อความยินดี อดทนต่อความยินร้าย เพราะว่า แม้ว่าจะมีสติและมีปัญญาดังกล่าว แต่ว่าถ้าหากว่ายังมีความยินดีอยู่ พอใจอยู่ในทางที่ผิด ในความเป็นผิดต่างๆ ก็จะทำให้ไม่บ่ายเบี่ยง ทำให้ไม่ขึ้นไปอยู่ข้างบน ยังยินดีที่จะตกมาอยู่ข้างล่าง ไม่ต้องการจะดับ แต่ต้องการจะก่อทางที่ผิดนั้น

อีกอย่างหนึ่ง ความยินร้ายก็คือความที่กระทบกระทั่งไม่ชอบใจขัดเคือง ก็อีกเหมือนกัน คือเมื่อโกรธขึ้นมาแล้วก็ไม่อยากจะบ่ายเบี่ยง ไม่อยากที่จะอยู่ข้างบนของความโกรธ แต่ว่าอยู่กับความโกรธ เต้นไปอยู่กับความโกรธ ไม่ต้องการจะดับความโกรธ ทั้งนี้ก็เพราะว่า สติปัญญาที่พอรู้กันอยู่นั้น จะเรียกว่ายังอ่อนก็ได้ โมหะคือความหลง หลงในตัวเราของเราเป็นต้น ยังแรงกว่า เพราะฉะนั้นยังมีความหลงอีกอันหนึ่ง ซึ่งตรงกันข้ามกับสติปัญญา เป็นศัตรูของสติปัญญา และในขณะเดียวกันสติปัญญาก็เป็นศัตรูของโมหะคือความหลง เมื่อยังหลงมากอยู่ ก็แปลว่าปัญญาก็อ่อนสติก็อ่อน ไม่พอที่จะรักษาตน ที่จะพยุงตน

ให้ปฏิบัติขัดเกลา

ให้ปฏิบัติบ่ายเบี่ยงความชั่วความผิดต่างๆ ให้ปฏิบัติยกตนขึ้นเหนือความชั่วความผิดต่างๆ ให้ปฏิบัติดับความชั่วความผิดต่างๆ

อำนาจของกิเลส

เพราะฉะนั้น บุคคลเป็นอันมาก ซึ่งก็รู้อยู่ว่าอะไรดีอะไรชั่ว อะไรผิดอะไรถูก แต่ว่าก็ยังทำชั่วทำผิดกันอยู่เป็นอันมาก เดินไปในทางที่ผิดกันอยู่เป็นอันมาก แปลว่าไม่ยอมที่จะมี จิตตุบาท ความบังเกิดขึ้นแห่งจิต คือคิดเข้ามาว่าเราจะขัดเกลาจิตใจของเรา เราจะขัดเกลาตัวเราเอง จึงไม่มีความคิดที่จะบ่ายเบี่ยง ไม่มีความคิดที่จะยกตนให้สูง ไม่มีความคิดที่จะดับ แต่ว่ากลับมี จิตตุบาท คือความคิดที่จะเป็นไปตามอำนาจของกิเลส ที่จะปฏิบัติตามอำนาจของกิเลส ความยินดีความยินร้าย รวมทั้งความหลงต่างๆ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่าโลภโกรธหลง โลภะโทสะโมหะ หรือว่าราคะโทสะโมหะเหล่านี้นั่นเอง

หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่าตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยากต่างๆ ก็รวมกันอยู่ในกิเลสที่บังเกิดขึ้นยั้วเยี้ยอยู่ในจิตใจนี้เอง และก็เพลินอยู่ในกิเลสเหล่านี้ด้วย ติดใจอยู่ในกิเลสเหล่านี้ด้วย ไม่มีความคิดที่จะขัดเกลา เมื่อมีความโลภเกิดขึ้น แทนที่จะมาคิดว่าความโลภนี้เป็นกิเลสที่จะต้องขัดเกลา กลับไปปฏิบัติตามอำนาจของความโลภ ซึ่งนำให้จิตนี้เกิดเจตนาที่จะขวนขวาย แสวงหาสิ่งที่ความโลภอยากได้ กายวาจาก็ปฏิบัติไปตามความโลภอยากได้ และเมื่อโทสะบังเกิดขึ้น แทนที่จะปฏิบัติขัดเกลาโทสะในจิตใจ ก็กลับปฏิบัติไปตามอำนาจของโทสะ ฉุนเฉียวขัดเคือง แสดงกิริยาอาการต่างๆ ตลอดจนถึงทำร้ายออกไป คือมุ่งไปทำลายข้างนอก ไม่มุ่งกลับเข้ามาทำลายตัวโทสะเอง ที่บังเกิดขึ้นในจิตใจ และไม่ขวนขวายที่จะอบรมสติปัญญาให้มากขึ้น เพลินมัวเมาอยู่ในอารมณ์ อันเป็นที่ตั้งของกิเลสทั้งปวงเหล่านี้ ดังที่เรียกว่ากามคุณารมณ์ต่างๆเป็นต้น เพราะฉะนั้นความหลงจึงมีโอกาสที่จะครอบงำจิตใจอยู่เป็นอันมาก และความหลงนี้เองก็ไม่ยอมบอกตัวเองว่าเป็นความหลง แต่ว่าแสดงตนว่าเป็นผู้ฉลาดต่างๆ เพราะว่าต้องได้จึงจะเรียกว่าเป็นผู้ฉลาด ถ้าไม่ได้ก็เป็นอันว่าไม่ฉลาด ดั่งนี้เป็นต้น สติปัญญาจึงไม่พอ

การปฏิบัติเพื่อเพิ่มกิเลส

และแม้ว่าจะปฏิบัติในศีลในสมาธิในปัญญาตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ก็ไม่ปฏิบัติเพื่อขัดเกลาดังกล่าว บางทีก็ปฏิบัติเพื่อเพิ่มกิเลส ดังเช่นปฏิบัติในศีล ก็ปฏิบัติที่เรียกว่าเป็น สีลัพพตปรามาส ลูบคลำศีลและพรต ถือเป็นของขลังต่างๆ เพื่อที่จะให้ได้ลาภต่างๆ ที่ต้องการมาตามปรารถนา ปฏิบัติในสมาธิก็ไม่ใช่เพื่อขัดเกลา เพื่อที่จะได้มีจิตที่มีพลัง เรียกว่ามีอำนาจจิตที่แรงขึ้น และด้วยอาศัยสมาธิรู้นั่นรู้นี่อะไรบ้าง ก็กลายเป็นรู้เพื่อลาภผลต่างๆ และก็มีผู้ที่ต้องการลาภผลต่าง ๆ ใฝ่หาผู้ที่มีสมาธิแรง ๆ รู้นั่นรู้นี่ มาขอหวยขอเบอร์อะไรกันต่าง ๆ เป็นต้นว่าท่านที่ได้สมาธิพอรู้อะไรบ้าง ก็บอกหวยบอกเบอร์เป็นต้น หรือแม้ว่าเพื่อที่จะอาศัยอำนาจจิตที่เป็นสมาธิ อาจจะแสดงฤทธิ์ได้บางอย่าง และก็แสดงฤทธิ์ให้คนใดคนหนึ่งนับถือ เพื่อลาภผล หรือเพื่ออำนาจต่าง ๆ ดังเช่นที่มีแสดงถึงพระเทวทัตทำสมาธิได้จนถึงฌาน ก็ได้พลังของสมาธิ แสดงฤทธิ์บางอย่างได้ ก็ไปแสดงให้พระเจ้าอชาตศัตรูเลื่อมใส ชักนำให้พระเจ้าอชาตศัตรูทำปิตุฆาต พระเทวทัตเองก็ต้องการที่จะเป็นผู้ปกครองสงฆ์ ทำให้โลหิตุบาทพระพุทธเจ้า ในที่สุดก็เสื่อมหมด เหล่านี้เรียกว่าต้องการอาศัยสมาธินี่เองมาเป็นกำลัง ในอันที่จะปฏิบัติไปตามอำนาจของกิเลสกองโลภกองโกรธกองหลงต่าง ๆ

เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมะแม้ในพุทธศาสนา ซึ่งพระพุทธเจ้าท่านตรัสสอนไว้ดีแล้วเป็นสวากขาตธรรม แต่ถ้าหากว่าไม่มุ่งที่จะปฏิบัติให้เป็นสัลเลขะคือขัดเกลากิเลสแล้ว ข้อปฏิบัติบางอย่างบางประการก็กลับเป็นอันตราย แทนที่จะเป็นทุกขนิโรธ ความดับทุกข์ กลับเป็นทุกขสมุทัย เหตุก่อทุกข์ เป็นไปตามอำนาจของตัณหา ไม่เป็นไทจากอำนาจตัณหา

สีลวิสุทธิ

เพราะฉะนั้นท่านจึงมีแสดงศีลที่จะเป็น สีลวิสุทธิ ศีลที่บริสุทธิ์นั้น จะต้องเป็นศีลที่เป็นไทไม่เป็นทาสของตัณหา ศีลที่เป็นทาสของตัณหานี่แหละที่เป็น สีลัพพตปรามาส แต่ศีลที่เป็นไทไม่เป็นทาสของตัณหานี่แหละ จึงจะเป็นศีลที่เป็นอริยมรรค หรือเป็นไปเพื่ออริยมรรคเป็นทางที่ถูก เพราะฉะนั้นการปฏิบัติทุกอย่างจึงต้องประกอบด้วยสัลเลขธรรม ธรรมะเป็นเครื่องขัดเกลา มุ่งขัดเกลากิเลส ขัดเกลาบาปอกุศลทุจริตทั้งหลายในภายในนี้เอง จึงจะเป็นพุทธศาสนา ถ้าไม่มุ่งขัดเกลา คือขาดสัลเลขธรรมแล้ว ธรรมะนั้น ๆ ก็ไม่ใช่พุทธศาสนา เหมือนอย่างมิจฉาสมาธิที่เอาไปใช้ในทางที่ผิดนั้น

จะปฏิบัติธรรมะต้องมุ่งสัลเลขะ

เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนเอาไว้ ซึ่งผู้นับถือพุทธศาสนาควรจะต้องทราบ จะปฏิบัติในธรรมะข้อใดก็ตาม ตั้งต้นแต่ศีลขึ้นไปจะต้องมุ่ง สัลเลขะ คือขัดเกลากิเลส ขัดเกลากิเลสกองโลภกองโกรธกองหลงต่าง ๆ ตั้งต้นแต่ต้องมี จิตตุบาท ความบังเกิดขึ้นแห่งจิตใจ ตั้งใจว่าเราจะขัดเกลากิเลส จะต้องเว้นทางที่ผิด ปฏิบัติในทางที่ถูก จะต้องเว้นความเป็นผิด ปฏิบัติความเป็นถูกต่าง ๆ และจะต้องปฏิบัติเบี่ยงเลี่ยงหลีกจากทางที่ผิดสู่ทางที่ถูก เป็นต้นว่าต้องไม่เดินไปตามทางปาณาติบาต แต่ต้องเดินไปตามทางเวรมณี เว้นจากปาณาติบาต จะต้องปฏิบัติให้อยู่ข้างบน ไม่ใช่อยู่ข้างล่าง คือไม่ใช่ให้อยู่กับปาณาติบาต อทินนาทานเป็นต้น แต่ต้องให้อยู่กับเวรมณี เว้นจากปาณาติบาต จากอทินนาทานเป็นต้น

จะต้องปฏิบัติดับ คือดับตัณหา ดับโลภโกรธหลง หรือราคะโทสะโมหะ อาศัยสติปัญญา อาศัยขันติเป็นต้น โดยจะต้องปฏิบัติอบรมธรรมะเหล่านี้ให้มีขึ้น ให้มากให้เพียงพอ ให้เป็นพละคือกำลังที่จะทำให้จิตใจของตนเองนั้น ไม่พ่ายแพ้ต่ออำนาจของกิเลส แต่เอาชนะให้ได้

ผู้มียศในพุทธศาสนา

และความที่เป็นใหญ่เหนือกิเลสดังกล่าวมานี้แหละเป็นตัวยศในพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าก็มีคำสรรเสริญว่าผู้มียศ ก็คือหมายความว่าเป็นผู้มีอิสริยยศ ยศคือความเป็นใหญ่ ใหญ่เหนือกิเลสนี้เองเป็นตัวยศอันแท้จริง ไม่อยู่ใต้อำนาจของกิเลส และเมื่อเป็นดั่งนี้จึงปฏิบัติขัดเกลาได้ และเมื่อปฏิบัติขัดเกลาได้ จะปฏิบัติในธรรมะข้อไหนก็เป็นพุทธศาสนาทั้งนั้น ปฏิบัติในสติปัฏฐานข้อใดก็ตาม ก็จะเป็นสติปัฏฐานที่แท้จริง ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป