#echo banner="" พระสูตรที่ว่าด้วยสุญญตา ๖ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช

พระสูตรที่ว่าด้วยสุญญตา ๖

›››››

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความขาดนิดหน่อยระหว่างหน้าเทป

อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ

]

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ปัญญาในธรรมนั้นต้องอาศัยจิตที่บริสุทธิ์ โดยมีศีลเป็นที่รองรับหรือเป็นพื้น ท่านจึงเปรียบศีลเหมือนอย่างแผ่นดิน อันเป็นที่ดำรงอยู่ของสรรพสัตว์ในโลก และของสิ่งทั้งปวง ศีลเป็นเหมือนแผ่นดินก็เพราะเป็นที่รองรับกุศลธรรมทั้งหลาย จะต้องมีศีลเป็นแผ่นดินที่รองรับ กุศลธรรมทั้งหลายจึงจะตั้งขึ้นได้ และก็ต้องมีสมาธิอันทำจิตให้บริสุทธิ์จากนิวรณ์ทั้งหลาย เป็นบาทของปัญญาคือเป็นเท้าของปัญญา

หากจะเปรียบเหมือนอย่างร่างกาย สมาธิก็เป็นส่วนเท้าอันเป็นที่ตั้งของลำตัวและศีรษะ ฉะนั้นจึงต้องมีสมาธิเป็นเท้าเป็นที่รองรับลำตัว คือสมาธิ คือปัญญาต้องมีสมาธิเป็นเท้าเป็นที่รองรับลำตัวคือปัญญา

เพื่อวิมุติคือความหลุดพ้น อันเป็นเหมือนอย่างศีรษะ ฉะนั้นศีลสมาธิปัญญาทั้ง ๓ นี้ กับทั้งวิมุติอันเป็นส่วนผลจึงต้องอาศัยกัน เหมือนอย่างเป็นแผ่นดิน เป็นเท้า เป็นลำตัว เป็นศีรษะ การปฏิบัติจึงต้องปฏิบัติให้มีศีลด้วย มีสมาธิด้วย มีปัญญาด้วย ประกอบกันไป และปัญญาในธรรมนั้นดั่งที่ได้กล่าวแล้ว ต้องอาศัยจิตที่บริสุทธิ์ คือจิตที่เป็นสมาธิที่บริสุทธิ์จากนิวรณ์ทั้งหลาย จึงจะได้ปัญญามองเห็นสัจจะธรรม ธรรมะที่เป็นตัวความจริง

สัจจะธรรม

อันสัจจะธรรม ธรรมะที่เป็นตัวความจริงนี้ก็มีหลายชั้น ที่เป็นความจริงทั่วๆ ไปก็เป็นชั้นสามัญ ขึ้นมาเป็นความจริงเกี่ยวแก่กรรมและผลของกรรม หรือเรียกเป็นคำสามัญว่าเกี่ยวแก่บาปบุญ คุณโทษประโยชน์มิใช่ประโยชน์ต่างๆ ก็เป็นสัจจะคือความจริงที่ละเอียดเข้า สูงขึ้นเป็นความจริงที่เป็นอริยสัจจะคือ ทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ก็เป็นความจริงที่ต้องใช้จิตอันเป็นสมาธิ สงบสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย เพ่งพินิจพิจารณาจึงจะมองเห็นได้ถนัดฉะนั้น การทำสมาธิเพื่อทำจิตให้บริสุทธิ์จากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย จึงเป็นข้อที่ผู้ต้องการปัญญาในธรรมพึงปฏิบัติ ...(จบ ๔/๑) (ข้อความขาดนิดหน่อย น่าจะในทำนองว่า ศีลก็เป็นสุญญาตาคือความว่าง ...) (เริ่ม ๔/๒) อันเป็นผลของอกุศลกรรมที่ก่อภัยเวรนั้นๆ

สมาธิก็เป็นสุญญตาคือความว่าง ว่างจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายในจิตใจ จิตบริสุทธิ์ด้วยอุเบกขา คือความที่วางกามวางอกุศลธรรมทั้งหลายที่เป็นนิวรณ์ เฉยคือไม่วุ่นวายเพราะกาม และอกุศลธรรมทั้งหลาย จึงเข้าไปเพ่งพินิจอยู่ ดูอยู่ รู้อยู่ในภายใน สงบอยู่ในภายใน ปัญญานั้นก็เป็นสุญญตาคือความว่าง ว่างจากอวิชชาโมหะ ความไม่รู้ความหลง ยึดถือ

วิมุติก็เป็นความว่างจากกิเลสทั้งหลาย เป็นต้น อวิชชา ตัณหาอุปาทาน ทั้งปวงฉะนั้น สุญญตา คือความว่างในพุทธศาสนานั้น จึงว่างจากอกุศลกรรม จากกิเลส ทั้งที่เป็นอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด ไปโดยลำดับ จนถึงว่างกิเลสทั้งหมด ท่านจึงว่างกิเลสทั้งหมด คือพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลาย มีแสดงว่าท่านอยู่ด้วยสุญญตาคือความว่าง หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าอยู่ด้วยวิชชาความรู้ และวิมุติคือความหลุดพ้น ในอิริยาบถทั้ง ๔

และเมื่อท่านจะพูด ท่านก็พูดด้วยสุญญตาคือความว่าง หรือพูดด้วยวิชชาวิมุติดังกล่าว ดังจะพึงเห็นได้ว่าวาจาของพระพุทธเจ้า และของพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ที่ท่านได้ทรงจำกันมา จนถึงได้จารึกลงเป็นตัวอักษร เป็นคัมภีร์ ทุกคำทุกข้อทุกบทล้วนเป็นคำสั่งสอน ให้ปฏิบัติเพื่อว่างกิเลสว่างอกุศลดังกล่าวแล้วทั้งนั้น และให้ปฏิบัติเพื่อวิชชาวิมุติทั้งนั้น ไม่มีที่จะสั่งสอนให้หมกมุ่น คลุกคลี ให้ทำอกุศล ให้ก่อกิเลสทั้งหลาย เพราะฉะนั้น จึงเป็นคำสั่งสอนประกอบด้วยสุญญตาคือความว่าง หรือด้วยวิชชาวิมุติทั้งนั้น และเมื่อท่านจะมีความตรึกนึกคิด ก็มีความตรึกนึกคิดอันประกอบด้วยสุญญตา ด้วยวิชชาวิมุติเช่นเดียวกันทั้งหมด

เพราะฉะนั้นสุญญตา จึงเป็นวิหารธรรมของท่านวิชชาวิมุติ เป็นวิหารธรรมของท่าน ท่านอยู่ในสุญญตาวิหาร วิชชาวิมุติวิหาร หรือวัดสุญญตา วัดวิชชาวิมุติ ตลอดเวลาทั้งหมด และก็อยู่ด้วยความสุข เป็นสุญญตาสุข วิชชาวิมุติสุข หรืออีกอย่างหนึ่งดั่งที่เรียกว่า เนกขัมมะสุข สุขจากการออก ปวิเวกสุข สุขจากความสงัด อุปสมะสุข สุขจากความสงบรำงับ สัมโพธิสุข สุขจากความรู้พร้อม คือรู้ไม่บกพร่อง รู้บริบูรณ์ ท่านผู้ที่จะบรรลุถึงสุขดังกล่าวนี้ จะต้องปฏิบัติในศีล ในสมาธิในปัญญา เพื่อวิมุติคือความหลุดพ้นทางเดียว คือปฏิบัติเพื่อสุญญตาคือความว่าง จะต้องเข้าวัดสุญญตา จึงจะพบสุขดังกล่าวนี้

และก็พึงเข้าใจว่าอันความสุขดังกล่าวนี้นั้น ไม่ใช่หมายความว่าจะได้จะถึงในเมื่อเป็นพระอรหันต์ หรือเมื่อเป็นพระอริยบุคคล ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไปแล้ว ผู้ปฏิบัติแม้ตั้งแต่เบื้องต้นเบื้องต่ำ คือสามัญชนทั่วไปผู้ปฏิบัติในศีลในสมาธิในปัญญา ก็ย่อมจะได้ความสุขดังกล่าวนี้ทั้งนั้น ปฏิบัติเมื่อใดก็ได้เมื่อนั้น

แต่ว่าจำที่จะต้องหัดกำหนดดูให้รู้จัก เพราะเหตุว่า ในขณะที่ปฏิบัติตั้งแต่เบื้องต้นเบื้องต่ำนั้น ยังมีกิเลสและกองทุกข์พอกพูนอยู่ในจิตใจมาก จึงมักมองไม่เห็นความสุขที่เป็นของละเอียด อันเกิดจากศีลสมาธิปัญญาที่ปฏิบัติ เพราะว่ามีกิเลสและกองทุกข์ทั้งหลายปกคลุมอยู่ ผลของกิเลสและกองทุกข์นั้นปรากฏชัดเจนกว่า คนจึงมองไม่เห็นผลของความดีในปัจจุบัน และก็ไปเข้าใจว่าจะต้องได้รับผลของความดีในอนาคต บางทีในชาตินี้ก็ไม่ได้ ต้องไปได้ในชาติหน้า เมื่อเห็นผลของความดีห่างไกลออกไปดั่งนี้ จึงพอใจที่จะฉวยผลของความชั่วทั้งหลาย ผลของกิเลสและกองทุกข์ทั้งหลาย ซึ่งได้ในปัจจุบัน ปรากฏในปัจจุบัน กันมากกว่า และมักจะไปเข้าใจในปัจจัยเครื่องแวดล้อมทั้งหลาย ว่าเป็นตัวความดี มองไม่เห็นตัวความดีที่แท้จริง มองไม่เห็นตัวความชั่วที่แท้จริง เพราะฉะนั้นจึงได้กล่าวข้างต้นว่า จะต้องทำจิตให้บริสุทธิ์ด้วยสมาธิ น้อยหรือมาก จึงจะได้ปัญญาในธรรมที่เป็นตัวความจริง เป็นต้นว่าดีจริงชั่วจริงอย่างไร ทุกข์จริงสุขจริงอย่างไร

บุถุชน

ฉะนั้นสามัญชนในโลกนี้ที่ยังมีกิเลสและกองทุกข์ปกคลุมจิตใจอยู่เป็นอันมาก จึงได้เรียกกันว่าบุถุชน คนที่หนาแน่น

อันหมายความว่ามีกิเลสหนา มีทุกข์หนา มีความชั่วหนา หนาแน่น และเมื่อหนาอยู่ดั่งนี้ ปัญญาจึงยังไม่ปรากฏที่จะมองเห็นสัจจะที่เป็นตัวความจริง ฉะนั้นจึงต้องทำใจให้สงบก่อน แม้ว่าจะยังมีกิเลสและกองทุกข์ เมื่อกิเลสและกองทุกข์นั้นไม่กำเริบขึ้นมาครอบงำจิตใจ ทำจิตใจให้กลัดกลุ้ม วุ่นวายกระสับกระส่ายมาก เป็นกิเลสและกองทุกข์ที่สงบอยู่ภายในจิต

กิเลส ปัญญา

เหมือนอย่างผู้ที่ปฏิบัติธรรมะ ที่เป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญา กิเลสก็หลบหน้าซ่อนหาย เหมือนไม่มีกิเลส แต่อันที่จริงยังมีอยู่ เมื่อยังละไม่ได้ก็มีอยู่ ตกเป็นตะกอนลงไป เพราะฉะนั้น แม้ได้จิตสงบดั่งนี้ ก็ย่อมได้ปัญญามองเห็นสัจจะคือความจริงทั้งหลายขึ้น รู้จักความดีรู้จักความชั่ว รู้จักทุกข์ รู้จักสมุทัย รู้จักนิโรธ รู้จักมรรค ถนัดชัดเจนขึ้น แต่เมื่อกิเลสที่ยังละไม่ได้นั้นฟุ้งขึ้นมาใหม่ ความรู้แจ่มแจ้งที่เคยได้นั้นก็เสื่อมไป จิตจะถูกกิเลสครอบงำ นำไปได้ ให้ประกอบกรรมชั่วต่างๆ ได้ ตามอำนาจของกิเลส และบางทีก็ทั้งรู้อยู่ว่าไม่ดีแต่ว่าก็ทำ เพราะเหตุว่ากำลังของจิตในด้านดีนั้นมีไม่พอที่จะห้าม ไม่เป็นตัวสติตัวปัญญาที่จะห้ามได้ แต่ว่าราคะโทสะโมหะนั้นแรงกว่าก็นำจิตใจไปได้ สติปัญญาไม่ได้จิตใจไว้ กิเลสดึงเอาไป กิเลสก็นำเอาไปให้ทำโน่นทำนี่ แต่เมื่อกิเลสสงบ สติปัญญาแจ่มขึ้นมา สติปัญญาก็นำไปให้ทำโน่นทำนี่

เพราะฉะนั้น จิตของบุคคลนี้เมื่อพิจารณาดูแล้ว ก็จะเห็นชัด ว่าบางคราวก็ถูกกิเลสดึงเอาไปใช้ต่างๆ บางคราวก็ได้ธรรมะเช่นสติปัญญานำไปใช้ต่างๆ ก็กลับไปกลับมากันอยู่ดั่งนี้ ผู้ที่ได้กระทำกรรมอันใดไว้บ่อยๆ เสมอๆ ถ้าเป็นฝ่ายชั่ว จิตก็จะน้อมไปในฝ่ายชั่วมาก ถ้าหากว่ากรรมที่ทำเสมอๆ บ่อยๆ นั้นเป็นความดี ความดีก็จะดึงจิตให้น้อมไปได้มาก จิตจะน้อมไปได้มากในทางดี ดั่งนี้เป็นธรรมดา

เนกขัมมสุข กามสุข

เพราะฉะนั้น การละความชั่วกระทำความดีอยู่เสมอๆ จึงเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้อง จะนำให้จิตน้อมไปในทางดีได้เสมอ จะทำให้ได้สุญญตาคือความว่างอยู่เสมอ และเมื่อเป็นดั่งนี้เมื่อจิตดีขึ้น มีสมาธิดีขึ้น สงบดีขึ้น ปัญญามองเห็นธรรมะที่เป็นความจริงชัดเจนขึ้น เรียกว่าได้สุญญตามากขึ้น ก็ย่อมจะนำจิตให้น้อมไปในทางดีมากขึ้นไปโดยลำดับ และจะพบตัวความสุขดังที่ได้กล่าวมา ดั่งที่เรียกว่าเนกขัมมะสุขเป็นต้น บ่อยๆ ขึ้น มากขึ้น ชัดเจนขึ้น ทำให้เปรียบเทียบกันได้กับความสุขที่ได้มาในขณะที่ยังมีกิเลสหนา ดังที่เรียกว่ากามสุข สุขอันเกิดจากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจต่างๆ สุขที่เกิดจากลาภยศสรรเสริญสุขต่างๆ อันเป็นที่ต้องใจพอใจ เป็นที่เพลิดเพลินของสัตว์โลกทั่วไป ของสามัญชนทั่วไป

และเมื่อปฏิบัติมาจนถึงได้สุขเกิดจากสุญญตาดังกล่าวมากขึ้นๆ ก็จะได้ข้อเปรียบเทียบเอง จะมองเห็นได้ถนัดขึ้นว่า อันสุขชนิดที่เป็นสุญญตาสุข กับความสุขที่เป็นกามสุขนั้นต่างกันอย่างไร อันไหนเป็นความสุขที่แท้จริง ที่เป็นความสุขจริงๆ จะมองเห็นได้เอง เทียบกันได้มากขึ้น และเมื่อหมั่นที่จะตรวจสอบดูลักษณะของความสุขดังกล่าวนี้อยู่เสมอๆ สุญญตาสุข หรือเนกขัมมะสุขเป็นต้นนั้นก็จะชัดขึ้น จิตจะน้อมไปเพื่อความสุขที่ละเอียดนี้มากขึ้น

หัดพิจารณาให้รู้จักสุญญตาสุข

เพราะฉะนั้น ในขั้นนี้ก็ควรที่จะหัดพินิจดูให้รู้จักสุญญตาสุข หลังจากที่ได้ปฏิบัติกรรมฐานทุกคราว เพราะว่าเมื่อปฏิบัติกรรมฐานทุกคราวนั้น จิตจะต้องได้สุข น้อยหรือมาก จากศีลจากสมาธิจากปัญญาที่ปฏิบัติต้องได้

แม้ว่าจะมีทุกข์กลบอยู่มาก มีกิเลสกลบอยู่มากก็ตาม หากว่าสอดส่องพิจารณาดูแล้วก็จะพบ จะพบลักษณะก่อน อันลักษณะนั้น จะต้องมีลักษณะที่ออก จะต้องมีลักษณะที่สงัด จะต้องมีลักษณะที่สงบ จะต้องมีลักษณะที่รู้

ลักษณะที่ออกนั้นก็คือว่าจะต้องออกได้จากเครื่องผูกพันทั้งหลาย จากพันธนาการทั้งหลาย จากรูป จากเสียง จากกลิ่น จากรส จากโผฏฐัพพะ อันเป็นที่ตั้งของกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย เป็นที่ตั้งของทุกข์ทั้งหลาย ซึ่งโดยปรกตินั้นจะเป็นอาลัยที่ผูกพันจิตใจอยู่ จิตออกไม่ได้ แต่เมื่อทำให้จิตเป็นสมาธิได้จะออกได้ แม้ในขณะที่จิตเป็นสมาธินั้น และเมื่อออกได้ จิตก็จะได้สุญญตาคือว่าง ว่างจากเครื่องพันธนาการ ว่างจากที่ตั้งของทุกข์ทั้งหลาย

ในขณะดังกล่าวนี้เรียกว่าออกได้ และเมื่อออกได้แล้วก็เป็นสุขขึ้นทันที เป็นความปลอดโปร่ง ฉะนั้นจึงเรียกว่าเนกขัมมะสุข สุขที่เกิดจากการออก ดูที่การออก จิตออกได้มั้ย เทียบเคียงกับที่ยังเป็นทุกข์กลุ้มกลัดอยู่ เพราะอะไร ก็เพราะว่าออกไม่ได้ สิ่งนั้นๆ ยังผูกพันจิตใจ ดึงจิตใจให้วุ่นวาย ให้อยู่ไม่ได้ ต้องไปโน่นไปนี่ ทำนั่นทำนี่อะไรต่างๆ ซึ่งเป็นที่ตั้งของทุกข์ ถ้าเป็นที่ตั้งของสุขก็แล้วไป นี่เป็นที่ตั้งของทุกข์ จิตออกไม่ได้จึงเป็นทุกข์ จิตออกได้ก็เป็นสุข เป็นความปลอดโปร่ง และนั่นแหละคือเป็นความสงัด

ที่ไม่สงัดนั้นก็คือว่า มีสิ่งต่างๆ เหล่านั้นคลุกคลี คลุกเคล้า วุ่นวายยั้วเยี้ยอยู่ในจิตใจ ดั่งนี้เรียกว่าไม่สงัด แต่เมื่อออกได้ก็สงัด คือสิ่งที่คลุกเคล้าวุ่นวายยั้วเยี้ยอยู่นั้นหายไปหมด เป็นความสงัด และเมื่อสงัดก็เป็นความสงบ จิตสงบไม่วุ่นวายไม่กระสับกระส่าย

ไม่มีอารมณ์และกิเลสที่จะดึงออกไปให้กระสับกระส่ายให้วุ่นวาย จึงสงบอารมณ์ สงบกิเลสด้วย สงบความวุ่นวายต่างๆ ซึ่งเป็นผลด้วย ดั่งนี้เป็นสงบ และก็ต้องประกอบกันเป็นตัวรู้ รู้พร้อม รู้ที่ไม่บกพร่อง รู้ที่ละได้ หรือว่ารู้พ้น เพราะว่าเป็นเรื่องของรู้ทั้งนั้น

ความรู้หลง

ในขณะที่เป็นทุกข์ มีพันธนาการเครื่องผูกพัน ผูกใจอยู่ ดึงใจอยู่ กักขังจิตใจอยู่ ก็ไม่ใช่ว่าไม่รู้ รู้ ..แต่ว่าก็เป็นรู้ที่มีความชอบใจที่จะอยู่กับเครื่องผูกพันนั้น กับทุกข์นั้นก็รู้ ..คลุกคลีวุ่นวายยั้วเยี้ยไปในจิตหมด เรื่องนั้นเรื่องนี้อะไรต่างๆ ก็รู้ ไม่ใช่ไม่รู้ วุ่นว่ายก็รู้ ไม่ใช่ไม่รู้ แต่ว่ายังเป็นความรู้ที่บกพร่อง ไม่ใช่เป็นความรู้ที่พร้อม เพราะยังมีตัวหลง ซึ่งเมื่อหลงก็เรียกว่าไม่รู้นั่นเอง คือไม่รู้สัจจะที่เป็นตัวความจริงประกอบอยู่ ไม่รู้พร้อม เป็นความรู้หลง เป็นความรู้ผิด เพราะฉะนั้นเมื่อมาปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ตามหลักของศีลสมาธิปัญญาวิมุติ ก็เป็นการปฏิบัติที่จะได้ทำตัวรู้นี้เอง ให้เป็นรู้ที่สมบูรณ์ ให้เป็นรู้ที่ถูกต้องขึ้น เท่านั้นเอง

สมุทัยเหตุแห่งทุกข์

เมื่อเป็นดั่งนี้ก็จะเริ่มรู้จักว่าที่ผูกพันจิตใจ กักขังจิตใจ ดึงจิตใจ อยู่นั้น เป็นตัวสมุทัยที่เป็นเหตุแห่งทุกข์ ไม่ใช่เป็นของที่ทำให้เกิดสุขที่แท้จริงอะไร และก็รู้ว่าที่คลุกเคล้ายั้วเยี้ยอยู่ในจิตใจ วุ่นวายไปหมดนั้น ก็เป็นตัวสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ ไม่ใช่ให้เกิดสุขอะไร ก็รู้ว่าที่วุ่นวายไม่สงบ ก็เป็นตัวสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ คือเรียกว่ารู้จัก ...(จบ ๔/๒) (ข้อความน่าจะต่อกันได้) (เริ่ม ๕/๑) คลายความติดใจยินดีในสิ่งที่ยึดถือไว้นั้นๆ เมื่อยึดถือไว้ก็เป็นอุปาทาน และสิ่งที่ยึดถือนั้นก็มาเป็นอุปาทิทรงใจ ครอบงำใจ

แต่ว่าเมื่อหน่ายเพราะมองเห็นว่าเป็นสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ ก็ทำให้วางความยึดถือ วางลงเสีย และเมื่อวางลงได้ ก็ออกได้ ก็สงัดได้ ก็สงบได้ และความรู้ก็เป็นความรู้ที่ถูกต้องสมบูรณ์ ไม่ใช่เป็นความรู้หลงดังกล่าวนั้น

เพราะฉะนั้นอันนี้เองจึงเป็นตัววิมุติความหลุดพ้น ไม่ใช่อะไรอื่น ปฏิบัติเมื่อใดก็ได้เมื่อนั้น แต่ดูให้รู้จัก เอารู้นี่แหละแก้รู้ คือเอารู้ถูกแก้รู้ผิด เมื่อเป็นดั่งนี้ก็จะพบตัวความสุขที่เรียกว่าเนกขัมมะสุขเป็นต้น อันต้องอาศัยสุญญตาคือความว่างตามหลักของพระพุทธศาสนา การปฏิบัติในสติปัฏฐานทุกข้อทุกบทก็รวมเข้าในสุญญตาคือความว่างนี้เหมือนกัน

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป