#echo banner="" ทศบารมีวิภาค - ขันติบารมี พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจันโท จันทร์)/

ทศบารมีวิภาค - ขันติบารมี

พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท)

วัดบรมนิวาส กทม.

สำเนาเทศน์เช้า วันสิ้นเดือน ๑๒

๒๒ สิงหาคม ๒๔๗๐

อิทานิ ปณฺณรสี ทิวเส สนฺนิปติตาย พุทฺธปริสาย กาจิ ธมฺมิกถา กถิยเต,
อิโต ปรํ ขนฺติปารมึ อนุสนฺธึ ฆเฏตฺวา ภาสิสฺสามีติ
อิมสฺส ธมฺมปริยายสฺส อตฺโถ สาธายสฺมนฺเตหิ สกฺกจฺจํ โสตพฺโพติ

ณ วันนี้เป็นวันปัณรสีดิถีที่ ๑๕ ค่ำ แห่งกาฬปักษ์ เป็นวันอันพุทธบริษัทมาสันนิบาต เพื่อจะสดับพระธรรมเทศนาตามวินัยนิยม และได้พร้อมใจกันกระทำบุรพกิจ คือการบูชาพระรัตนตรัยด้วยดอกไม้ธูปเทียน และไหว้พระสวดมนต์ และสมาทานศีล ๕ ศีล ๘ เสร็จแล้ว บัดนี้เป็นโอกาสที่จักฟังพระธรรมเทศนาพึงตั้งใจฟังให้สำเร็จประโยชน์ที่ตนต้องประสงค์ ด้วยว่าการฟังธรรมเป็นของได้ด้วยยาก ถึงแม้พุทธโอวาทก็มีอยู่ว่า กิจฺฉํ สทฺธมฺมสฺสวนํ ความว่า การฟังธรรมเป็นของได้ด้วยยากฝืดเคืองดังนี้

อธิบายว่า ธรรมเป็นของลึกซึ้งยากที่จักถือเอาเนื้อความได้ แต่เพียงจะมีศรัทธาความเชื่อว่าฟังธรรมเป็นบุญเป็นกุศล เป็นเหตุให้ได้รับความรู้ความฉลาด เท่านี้ก็เป็นของหายากเสียแล้ว ผู้มีศรัทธาความเชื่อพอ แต่ฟังไม่เข้าใจอย่างนี้ก็มีมาก อุปสรรคเครื่องขัดข้องต่อการฟังธรรมเล่าก็มีมาก คือเหตุภายนอกก็มีหลาย เหตุภายในก็มีมาก ที่จักปลอดโปร่งได้มายังที่ประชุมตามกาลนิยมดังนี้ก็แสนยาก ไม่ใช่เป็นของยากแต่ผู้ฟัง ผู้แสดงธรรมก็หายากอีกเหมือนกัน ถ้าผู้แสดงธรรมเข้าใจแต่ทางปริยัติ ไม่เข้าใจทางปฏิบัติ ถึงแสดงอย่างไร ฟังก็ไม่เข้าใจอีกเหมือนกัน เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกำหนดลักษณะแห่งพระธรรมกถึกไว้ ๔ ประการ

สนฺทสฺสโก แสดงให้ผู้ฟังเห็นด้วยดี ๑

สมาทปโก เสดงให้ผู้ฟังเต็มใจจะปฏิบัติตามด้วยดี ๑

สมุตฺเตชโก แสดงให้ผู้ฟังมีใจองอาจกล้าหาญที่จักทำตามด้วยดี ๑

สมฺปหํสโก แสดงให้ผู้ฟังเกิดความร่าเริง ตั้งใจปฏิบัติโดยความชื่นอกชื่นใจ ๑ ดังนี้

ท่านกำหนดองคคุณของผู้แสดงธรรมไว้ ๔ ประการดังนี้ เราจะไปได้ที่ไหน ท่านผู้ใดจะแสดงธรรมให้ได้ลักษณะพร้อมทั้ง ๔ ประการนี้ก็แสนจะหายาก เอาแต่เพียงว่า ท่านแสดงให้ฟังได้ความเข้ใจอยู่กับเราผู้ฟังเท่านี้ก็พอ คือว่า ให้ตั้งใจฟังแล้วกำหนดตาม ไม่ต้องจำเอาสำนวนโวหารที่ท่านเทศน์ กำหนดเอาแต่เนื้อความตามที่ท่านอธิบายขยายความให้เข้าใจเท่านั้นเป็นพอ แล้วนำไปตรวจตรองอีกชั้นหนึ่ง ถ้าเห็นว่าคำสอนนั้นสมเหตุสมผลควรจะปฏิบัติตาม ก็ตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติตามอย่านอนใจ วันคืนปีเดือนไม่คอยเรา อกุศลส่วนใดควรละได้ละไปก่อน ส่วนใดยังละไม่ได้ก็ให้ตั้งใจว่าจะต้องละให้ได้ ฝ่ายบุญกุศลส่วนใดที่ยังไม่เคยมีก็รีบทำให้มีขึ้น บุญกุศลส่วนใดที่เคยมีอยู่แล้ว ก็อย่าให้เสื่อม ให้มีแต่เพิ่มพูนทวีขึ้น ประพฤติอย่างนี้เป็นความชอบยิ่ง ควรพุทธบริษัทจะพากันสนใจให้มาก

ต่อนี้ จักแสดง ขันติบารมี ต่ออนุสนธิกถาไป

ขนฺติ นาม ชื่ออันว่า ขันติ คือ ความอดทนอันนี้ พหุปกาโร มีอุปการะมากแก่กิจการทั้งปวง ไม่เลือกว่าคดีโลก หรือคดีธรรม ต้องพึ่งขันติ ผู้จะประกอบการทำมาหากินเลี้ยงชีพ ก็ต้องอาศัยขันติความอดทน ไม่เห็นแก่หนาวและร้อนจนเกินไป กิจการงานนั้น ๆ ก็สำเร็จตามประสงค์ แม้ผู้จะปฏิบัติทางฝ่ายคดีธรรม ถ้ามีขันติตั้งหน้าแล้ว ก็อาจจะให้ความประสงค์นั้น ๆ สำเร็จได้ทุกประการ ถึงองค์สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์สัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อสมัยที่ยังก่อสร้างพระบารมีอยู่ ก็ได้ทรงบำเพ็ญขันติบารมีทุกภพทุกชาติจนเต็มรอบ ครั้นมาถึงปัจฉิมชาติ พระองค์เสด็จออกบำเพ็ญพรต ทรงประกอบความเพียร ก็ทรงมั่นในขันติความอดทน ไม่เห็นแก่หนาวและร้อน ไม่เห็นแก่ความอยาก ความหิว อดทนต่อทุกข์ อดทนต่อเหตุแห่งทุกข์ จนได้สำเร็จสยัมภูภาพพุทธวิสัย ก็ต้องอาศัยขันติความอดทนเป็นผู้อุปการะ ครั้นพระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว เที่ยวประกาศพระพุทธศาสนา ไม่เห็นแก่ความลำบากยากแค้น ก็สำเร็จด้วยขันติ ความอดทนทั้งสิ้น เพราะขันติบารมีพระองค์ได้ทรงสร้างสมมานับด้วยโกฏิแห่งกัลป์เป็นอันมาก ครั้นพระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว ก็ทรงนำเอาขันติที่มีบริบูรณ์ในพระองค์นั้นแหละมาแจกแก่พุทธบริษัท ผู้รับแจกก็คือผู้ปฏิบัติตาม และพากันได้สำเร็จมรรคผลนิพพาน นับด้วยโกฏิด้วยล้านนับไม่ถ้วน ท่านพรรณนาคุณแห่งขันติ คือบอกอานิสงส์แห่งขันติไว้ในขันติกถาถึง ๑๔ ประการ จะสาธกมาไว้ในที่นี้ เพื่อผู้ต้องการจะได้ค้นหาง่าย

ข้อที่ ๑ ว่า สีลสมาธิคุณานํ ขนฺตี ปธานการณํ ขันติความอดทนเป็นเหตุ เป็นประธานแห่งคุณ คือ ศีลแลสมาธิทั้งหลาย

ข้อที่ ๒ สพฺเพปิ กุสลา ธมฺมา ขนฺตยาเยว วฑฺฒนฺติ เต แม้กุศลธรรมทั้งหลายทั้งปวงนั้น ย่อมเจริญด้วยขันติความอดทนโดยแท้

ข้อที่ ๓ ว่า เกวลานํปิ ปาปานํ ขนฺติมูลํ นิกนฺตติ ขันติความอดทนย่อมตัดเสียได้ ซึ่งรากเหง้าแห่งกรรมอันเป็นบาปทั้งหลายแม้ทั้งสิ้น

ข้อ ๔ ว่า ครหกลหาทีนํ มูลํ ขนติ ขนฺติโก คนผู้มีขันติความอดทนชื่อว่าย่อมขุดเสียได้ ซึ่งรากเหง้าแห่งความเดือดร้อนทั้งหลาย มีการติเตียนกันแลทะเลาะวิวาทกันเป็นต้น

ข้อ ๕ ว่า ขนฺตี ธีรสฺส ลงฺกาโร ขันติความอดทน เป็นอาภรณ์เครื่องประดับของนักปราชญ์

ข้อที่ ๖ ว่า ขนฺตี ตโป ตปสฺสิโน ขันติ ความอดทนเป็นตบะ คือเป็นฤทธิ์เป็นเดชของผู้มีความเพียร

ข้อที่ ๗ ว่า ขนฺตี พลํ ว ยตึนํ ขันติ ความอดทน เป็นกำลังของผู้บำเพ็ญพรตพรหมจรรย์ทั้งหลาย

ข้อที่ ๘ ว่า ขนฺตี หิตสุขาวหา ขันติความอดทน นำประโยชน์และความสุขมาให้เป็นผล

ข้อที่ ๙ ว่า ขนฺติโก เมตฺตวา ลาภี ยสสี สุขสีลวา ผู้มีขันติความอดทน ชื่อว่า ผู้มีมิตร เป็นผู้มีลาภ เป็นผู้มียศ เป็นผู้มีความสุขอยู่เสมอเป็นเนืองนิตย์

ข้อที่ ๑๐ ว่า ปีโย เทวมนุสฺสานํ มนาโป โหติ ขนฺติโก ผู้มีขันติความอดทนชื่อว่า เป็นที่รัก ที่เจริญใจ ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

ข้อที่ ๑๑ ว่า อตฺตโนปิ ปเรสญฺจ อตฺถาวโห ว ขนติโก ผู้มีขันติความอดทนชื่อว่าเป็นผู้นำประโยชน์มาให้แก่ตน และคนทั้งหลายเหล่าอื่นด้วย

ข้อที่ ๑๒ ว่า สคฺคโมกฺขคมํ มคฺคํ อารุฬฺโห โหติ ขนิติโก ผู้มีขันติความอดทน ชื่อว่าย่อมเป็นผู้ดำเนินตามมรรคาเป็นที่ไปสวรรค์และพระนิพพาน

ข้อที่ ๑๓ ว่า สตฺถุโน วจโนวาทํ กโรติเยว ขนฺติโก ผู้มีขันติความอดทน ชื่อว่า ย่อมทำตามพจนโอวาทแห่งพระศาสดาแท้

ข้อที่ ๑๔ ว่า ปรมาย จ ปูชาย ชินํ ปูเชติ ขนฺติโก ผู้มีขันติความอดทน ชื่อว่าย่อมบูชาสมเด็จพระบรมชินเจ้าด้วยการบูชาอย่างยิ่ง

ในโอวาทปาฏิโมกข์ ก็ทรงยกขันติความอดทนขึ้นเป็นประธานว่า ขนฺตึ ปรมํ ตโป ตีติกฺขา ขันติความอดทน ตีติกฺขา คือความอดกลั้นทนทาน เป็นตบะธรรมเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่งดังนี้ สรุปความทั้งสิ้น คงได้ใจความว่า ขันติความอดทนเป็นบารมีธรรมอย่างเอก ถ้าผู้ใดตั้งใจรักษา ย่อมกันความชั่วร้ายความเสียหาย ความเสื่อมทราม ที่นับว่าลามกธรรมเสียทั้งสิ้นได้ สิ่งที่ต้องการปรารถนาอาจสำเร็จได้ทุกประการ ข้อสำคัญที่ว่า ขันติเป็นธรรมให้สำเร็จทางสวรรค์ ทางพระนิพพาน คือว่าผู้ปรารถนาสวรรค์ เมื่อมีขันติความอดทน หมั่นเข้าใกล้ไต่ถามข้ออรรถข้อธรรมในสำนักของนักปราชญ์บ่อย ๆ ก็จักเกดความเชื่อความเลื่อมใส เป็นไปมั่นในคุณพระรัตนตรัย เกิดปัญญาเชื่อกรรม เชื่อผลของกรม บำเพ็ญทานและศีลให้ไพบูลย์ขึ้น ก็อาจสำเร็จภูมิสวรรค์ได้โดยไม่ต้องสงสัย ถ้าปรารถนาพระนิพพาน ซึ่งเป็นธรรมอันประเสริฐ ก็ให้มีขันติความอดทน บำเพ็ญไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ให้เต็มรอบ ก็อาจจักสำเร็จได้ตามปรารถนา ศีลที่ควรจะบำเพ็ญให้บริบูรณ์ก็มีหลายประเภท ต้องรักษาตามภูมิของตน ถ้าเป็นคฤหัสถ์ ก็ควรรักษาศีล ๕ ศีล ๘ ถ้าเป็นสามเณรก็ควรรักษาศีล ๑๐ ถ้าเป็นภิกษุ ก็ควรรักษาพระปาฏิโมกขสังวรศีลให้เป็นภาคพื้น แล้วบำรุงยอดคือ อาชีวมัฏฐกศีล

อาชีวมัฏฐกศีล ในองค์อริยมรรค คือ สมฺมาวาจา สมฺมากมฺมนฺโต สมฺมาอาชีโว ให้สำเร็จเป็นสมุจเฉท คือให้ตั้งวิรัติให้ขาดด้วยเจตนา ว่า

เราจักเว้น วจีทุจริตทั้ง ๔ ให้ขาด ให้ตั้งใจสมาทาน สมฺมาวาจา ว่า ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เราจักกล่าวแต่วาจาที่จริง วาจาที่อ่อนโยน วาจาสมัครสมานประสานสามัคคี วาจาที่เป็นไปกับด้วยประโยชน์

เราจักเว้นจากกายทุจริตทั้ง ๓ มี ปาณาติบาต เป็นต้นให้ขาด ให้ตั้งใจสมาทาน สมฺมากมฺมนฺโต ว่าตั้งแต่บัดนี้ไป เราจักกระทำการงานด้วยกาย จะให้สัมปยุตด้วยเมตตากรุณาทุกประเภทไป เราจักเว้นมิจฉาอาชีวะเลี้ยงชีวิตผิดธรรมเสีย ให้ตั้งใจสมาทาน สมฺมาอาชีโว ว่า ตั้งแต่บัดนี้ไป เราจักยังชีวิตให้เป็นอยู่ด้วยอาหารอันได้มาโดยชอบธรรม

ศีล คือ สัมมาวาจา มีองค์ ๔ สัมมากัมมันโตมีองค์ ๓ สัมมาอาชีโว มีองค์ ๑ รวมเป็น ๘ ชื่อว่า อาชีวมัฏฐกศีล แปลว่า ศีลมีอาชีวะเป็นองค์ที่ ๘ ดังนี้

ศีล ๘ ประการนี้ เป็นยอดศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีลพระปาฏิโมกข์ คือว่าผู้รักษาศีลเหล่านั้นตามภูมิของตนให้บริบูรณ์แล้ว ต้องสมาทาน อาชีวมัฏฐกศีล ยี้ให้มีในตน จะได้เป็นบาทแห่งสมาธิ เมื่อพระโยคาวจรกุลบุตร บำเพ็ญตนให้เป็นอาชีวมัฏฐกศีลแล้ว ประสงค์จะบำเพ็ญสมาธิตามในองค์พระอัฏฐังคิกมรรค พึงตั้งสติลงที่กาย คือสกลกายนี้ และสัมปยุตตธรรม คือ เวทนา จิต ธรรม ที่เรียกว่า สติปัฏฐาน ๔ สติมีอันเดียวอารมณ์ที่ตั้งเป็น ๔ ถึงอารมณ์ทั้ง ๔ นั้น ก็ ๔ ใน หนึ่ง คือ ๔ ในสกลกายอันเดียวนี้เท่านั้น ต่างแต่อาการ เมื่อเข้าใจแล้วให้เพ่งอารมณ์นั้นด้วยวิริยะความเพียร และขันติความอดทนจนให้จิตเป็นเอกัคคตา จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว ชื่อว่าจิตเป็นสมาธิ เมื่อทำจนชำนาญสมาธิจิตมั่นคงดีแล้ว น้อมจิตอันบริสุทธิ์นั้นขึ้นสู่ปัญญา ปัญญาในที่นี้ประสงค์วิปัสสนาปัญญา แปลว่า ปัญญาเห็นแจ้งเห็นจริงในสกลกายนี้เท่านั้น ไม่ประสงค์รู้ในที่อื่น

ให้แยกอาการแห่งทุกข์ในสกลกายนี้ออกเป็น ๔ สถาน ให้รู้ว่า ส่วนนี้เป็น ทุกขสัจ ดังโรคภัยไข้เจ็บ ร้อน หนาวเป็นตัวอย่าง ให้รู้ ทุกขสมุทัยสัจ ดังพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่เจริญใจ มีลูกตายเสียเมียตายจากเป็นตัวอย่าง ให้รู้ ทุกขนิโรธสัจ ดังรู้เท่าต่อเหตุ เหตุดับ คือเหตุภายในมีความป่วยไข้ความตายมาถึง เหตุภายนอกมีความพิบัติแห่งวัตถุภายนอกมาถึง ก็ไม่มีทุกข์เป็นตัวอย่าง ให้รู้ มรรคสัจ ดังรู้ว่าตนเป็นทุกขสัจด้วยอาการนี้ ตนเป็นทุกขสมุทัยสัจด้วยอาการนี้ ตนเป็นทุกขนิโรธสัจด้วยอาการนี้ ตนเป็นมรรคสัจด้วยอาการนี้ อย่าให้เสียหลักในพุทธโอวาท

ในธรรมจักกัปปวัตตนสูตร ทุกขสัจเป็นของพึงกำหนด ทุกขสมุทัยสัจเป้นของพึงละเสีย ทุกขนิโรธสัจเป็นของพึงทำให้แจ้ง ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจเป็นของพึงทำให้เกิดให้มี เมื่อโยคาวจรกุลบุตรน้อมจิตตรวจตรองอยู่ในสกลกายนี้จนรู้ชัดในลักษณะทั้ง ๔ นั้นโดยชัดใจ ชื่อว่า ภาเวตัพพธรรม ทำมรรคภาวนาให้เกิดให้มี ผู้เห็นอริยสัจเพียงชั้นนี้เป็นแต่มรรคปฏิปทาเท่านั้น เป็นแต่ผู้เห็นตรงจึงชื่อว่า สัมมาทิฏฐิ เมื่อทิฏฐิตรงเป็นมัชฌิมาปฏิปทาแล้ว ก็ให้ตรวจตรองให้เป็นอนุโลมปฏิโลม ถอยหน้าถอยหลัง ท่านเรียกว่า อนุโลมิกญาณ พิจารณาสังขารด้วยอุเบกขาจิต จนให้รู้เท่าสังขารและวิสังขาร สังขารนั้นเป็นของไม่มีอยู่แต่เดิม ถ้ารู้เท่าเมื่อใดก็ดับเมื่อนั้น แต่วิสังขารเป็นของมีอยู่แต่เดิม ต้องให้เห็นตามความเป็นจริงได้อย่างไร ตามสภาพของเขา ชื่อว่า ยถาภูตญาณทัสสนะเป็นที่สุดของมรรค ให้โยคาพจรทำมรรคนี้แลให้เกิดให้มีขึ้นให้จงได้ ส่วนผลไม่ต้องพูดถึงก็ได้ ขอให้บำรุงแต่มรรคให้เต็มรอบเท่านั้นเป็นพอ มรรคจะบริบูรณ์ขึ้นได้ ก็ต้องอาศัยวิริยบารมี ขันติบารมี เป็นผู้อุปถัมภ์ ถ้าขาดขันติความอดทนเสียแล้ว ก็จักเสื่อมจากมรรคผลที่ตนต้องประสงค์

เพราะเหตุนั้น ขันติบารมีนี้ ถ้าผู้ใดได้รับแจกจากพระบรมศาสดาแล้ว และตั้งอกตั้งใจรักษาของท่านให้เกิดให้มีในตนอย่างจริงจังแล้ว ย่อมไม่แคล้วจากมรรคผลนิพพาน จึงเป็นบารมีธรรมอันวิเศษ เป็นเหตุให้ผู้ดำเนินตามได้ประสบสุขทั้งโลกนี้โลกหน้า ตลอดถึงพระนิพพาน โดยนัยดังวิสัชนามา ด้วยประการฉะนี้ฯ