#echo banner="" รู้จำ รู้จัก รู้แจ้ง ๑ ทำความเข้าใจ-ทำความรู้จัก พระครูเกษมธรรมทัต

รู้จำ รู้จัก รู้แจ้ง (1)

พระครูเกษมธรรมทัต (สุรศักดิ์ เขมรังสี)

สำนักปฏิบัติกรรมฐาน วัดมเหยงคณ์ ต.หันตรา อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา

ขอความผาสุก ความเจริญในธรรม จงมีแก่ญาติสัมมาปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ต่อไปนี้ จะได้ปรารภธรรม ตามหลักคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

๑:๓๒

ทำความเข้าใจ-ทำความรู้จัก

ในการประพฤติปฏิบัติธรรม เราต้องทำความเข้าใจ ในวิธีการให้ถูกต้อง

เมื่อเข้าใจถูกต้องแล้ว จึงต้องเพียรพยายามปฏิบัติตาม

ลำพังเพียงความเข้าใจอย่างเดียว แต่ไม่เพียรประพฤติปฏิบัติ ก็ประสบความสำเร็จไม่ได้

และหากเรามีความเพียรมาก แต่ปฏิบัติไม่ถูกต้อง ก็ประสบความสำเร็จไม่ได้เช่นกัน

ฉะนั้นต้องพยายามทำความเข้าใจ ถึงหลักการ-วิธีการประพฤติปฏิบัติให้ดีเสียก่อน

ความรู้ความเข้าใจ จากการฟังนั้น เป็นปัญญาระดับหนึ่ง แต่เป็นเพียง สัญญาความจำ

เป็นความเข้าใจจากการฟัง จากการจดจำเท่านั้น

จำเป็นต้องนำไปลงมือปฏิบัติให้เกิดความเข้าใจ ที่เรียกว่า “รู้จัก”

เมื่อรู้จักมากขึ้น ก็จะรู้แจ้ง

๒:๓๒

รู้จำ รู้จัก

ตอนฟังนี้ เรียกว่า รู้แบบจำ จำได้แล้ว ทำความเข้าใจ ในเรื่องที่ฟัง แล้วก็ไปทำความรู้จริงๆ

เช่น ฟังมาว่า “รูป-นาม” มีลักษณะอย่างไร “จิต-เจตสิก” มีอะไรบ้าง

เรารู้จำจากการฟัง จากการศึกษา เรียนรู้จากตำรับตำรา

เราก็เข้าใจตามที่จำไว้ แต่ว่ายังไม่รู้จัก

ถ้าเรายังไม่ลงมือปฏิบัติ ก็เท่ากับยังไม่รู้จัก

๓:๓๒

เรียนให้รู้จำ-ทำตามให้รู้จัก-ปฏิบัติให้รู้แจ้ง

เช่นเดียวกัน เมื่อเราศึกษาเกี่ยวกับบุคคล หรือ สถานที่ซึ่งไม่เคยไป

เรียนรู้ทำความเข้าใจไว้ก่อน หากไปตรงนั้น ก็จะมีอย่างนั้น มีสถานที่ มีรูปร่าง

มีเหตุการณ์ต่างๆ อย่างไร ก็ศึกษาไป แต่ถ้ายังไม่เดินทางไปจริงๆ ก็ยังไม่รู้จัก

เมื่อครั้น เราเดินทางไป ในที่ซึ่งเราศึกษาเรียนรู้ไว้ก่อน ได้ไปสัมผัส

กับสถานที่นั้นๆ บุคคลนั้นๆ จึงเรียกว่า ได้เริ่ม “รู้จัก”

“รู้จัก” มากขึ้น ก็จะ “รู้แจ้ง” คือ รู้ว่าสถานที่พื้นเพในถิ่นนั้น มีความเป็นอยู่อย่างไร

มีอะไรบ้าง ข้อนี้ฉันใด การปฏิบัติก็ฉันนั้น

เราฟังให้เข้าใจว่า สิ่งที่จะเข้าไปรู้ เข้าไปเห็น เข้าไปดู มีอะไรบ้าง

เราจดจำไว้ว่า รูปมีอะไรบ้าง-นามมีอะไรบ้าง

เราศึกษาให้เข้าใจว่า รูปแต่ละรูป มีลักษณะอย่างไร เราจำได้

นามแต่ละชนิด เช่น นามที่เป็นจิต มีลักษณะประจำตัวอย่างไร

จากนั้น เราก็ไปทำความรู้จัก กับ สิ่งที่มีอยู่จริงๆ

ทำความรู้จักเข้ามาที่ กาย-ใจ

ทำความรู้จักเข้ามาที่ ชีวิตอัตภาพ นี้

เริ่มศึกษา ทำความรู้จัก กับ สิ่งเหล่านี้ไปเรื่อยๆ ก็จะรู้มากขึ้น เห็นมากขึ้น

ในสิ่งที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้

เมื่อรู้จักมากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะรู้แจ้งขึ้นเอง คือ รู้ตามความเป็นจริง

ของสิ่งธรรมชาติเหล่านี้ ว่า มีสภาพอย่างไร แล้วนั่นแหละ

ก็จะเป็นหนทางแห่งปํญญาเข้าถึงจุดมุ่งหมาย

๔:๓๒

ทำลายกิเลส ด้วยการเจริญกุศลให้สมบูรณ์เต็มที่

เป้าหมายของการศึกษา ประพฤติปฏิบัติธรรม ก็เพื่อจะทำลายกิเลส

เข้าถึงซึ่งความหลุดพ้นจากกิเลสทั้งหลาย

การทำลายกิเลส ไม่ใช่ไปเข่นฆ่า เหมือนกับไปทำลาย วัตถุสิ่งมีชีวิตต่างๆ

กิเลสต่างๆ จะลอยออกมา หรือ ถูกประหารได้

ก็ด้วยการเจริญกุศลธรรมต่างๆ ที่มีอยู่ให้สมบูรณ์เต็มที่

เจริญ สติ สมาธิ ปัญญาให้มากขึ้น จนมีกำลังสมบูรณ์ถึงขั้นโลกุตตระ เกิดกุศลขั้นโลกุตตระขึ้น

หรือ เมื่อกุศลธรรมมีความสมบูรณ์พร้อม อกุศลก็จะถูกทำลายไป

การที่กิเลสถูกทำลาย ไม่ใช่เอากุศลไปเข่นฆ่าประหัตประหาร

จากการศึกษา จะพบว่า เมื่อโลกุตตระธรรมเกิดขึ้นก็ไม่มีอารมณ์เป็นกิเลส

ไม่มีอารมณ์เป็นอกุศลธรรม กลับไปมีอารมณ์เป็นพระนิพพาน เพราะเมื่อ

กุศลมีความสมบูรณ์พร้อม อกุศลก็จะถูกทำลายลงไป