#echo banner="" พลิกนิดเดียว โอปนยิโก โดย พระอาจารย์มิตซูโอะ/

พลิกนิดเดียว

พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก

เจ้าอาวาสวัดป่าสุนันทวนาราม

บ้านท่าเตียน ต.ไทรโยค อ.ไทรโยค (กม. ๙๐) จ.กาญจนบุรี

โพสท์ในลานธรรมจักร โดย TU 2004-09-03

www.dhammajak.net/webboard/show.php?Category=d_book&No=555

โอปนยิโก

คนเราถ้ามีโอปนยิกธรรม จิตใจก็เป็นธรรมคุณ

เป็นจิตใจที่มีสัมมาทิฏฐิ

เมื่อใจเป็นธรรม เห็นอะไรๆ ก็โอปนยิโก น้อมเข้ามาสู่ใจ

เช่น ธรรมดาเมื่อเห็นรูปด้วยตา บางทีเห็นว่ารูปนั้นสวย

จิตก็ปรุงไป

เกิดราคะ เกิดความยินดีพอใจ อยากได้เป็นของเรา

ทีนี้ถ้าใจของเราเป็นธรรมแล้ว พอเห็นรูปสวยก็โอปนยิโก

น้อมเข้ามาดูกาย พิจารณากาย

เห็นกายตามความเป็นจริงว่าเป็นอย่างไร

พิจารณาตั้งแต่เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง

ของตนเอง

หรือพิจารณาข้างในกายว่า มีกระดูกบ้าง เลือดบ้าง น้ำเหลือง

น้ำหนองบ้าง

ตามความเป็นจริงแล้ว

จะเห็นว่าร่างกายของมนุษย์นี้ล้วนเป็นปฏิกูล

ของเน่าเปื่อยสกปรกเหมือนกันทั้งหมด

เห็นเป็นอสุภะบ้าง เป็นธาตุ 4 ดิน น้ำ ลม ไฟ บ้าง

ทำให้สามารถระงับราคะ ระงับตัณหา

คือความยินดีรักใคร่ในรูปลงเสียได้

หรือถ้าเห็นรูปไม่สวย เห็นใครทำอะไรน่าเกลียด ก็โอปนยิโก

พิจารณาว่าลักษณะอย่างนี้น่าเกลียดจริงๆ ไม่น่าศรัทธาเลย

เราก็ดูว่าเรามีลักษณะอย่างนี้บ้างหรือไม่

ธรรมดาก็มีกันทุกคนมากบ้างน้อยบ้าง

เราต้องรีบตั้งสติเตือนตัวเองว่า ลักษณะอย่างนี้ไม่น่าทำ

ไม่ควรทำ

เราอย่าทำอย่างนั้นอย่างนี้ น้อมเข้ามาดูตัวเองพัฒนาตัวเอง

ไม่คิดฟุ้งซ่าน

ไม่คิดอัตตาตัวตน ว่าเขาว่าเรา เขาไม่น่าเป็นคนอย่างนั้น

เขาไม่น่าทำอย่างนั้น

คิดอะไรๆ ไปสารพัดอย่าง ยิ่งคิดก็ยิ่งเกิดกิเลส

ความจริงคนอื่นๆ ไม่สำคัญ สำคัญที่เรานี่แหละ

ให้เราพัฒนาตัวเอง ระวังกิเลสตัณหาของตัวเอง

ชำระจิตใจตัวเองไปเรื่อยๆ

เสียงที่ได้ยินทางหูก็เหมือนกัน ใครพูดน่าเกลียด

คำนินทาหรือดูหมิ่นดูถูก ใครด่าเรา พูดไม่ถูกใจเรา

เราเกิดความไม่พอใจ

เกิดความไม่สบายใจ เมื่อใจเป็นธรรมแล้วจะยกขึ้นพิจารณาทันทีว่า

ความไม่พอใจเกิดขึ้นเพราะอะไร สาวหาสาเหตุ

เหตุก็อยู่ที่ใจ เราจะเห็นกิเลสตัณหาที่ใจของเราเอง

จะพบว่าทุกข์อยู่ที่ใจของเราเอง เหตุก็อยู่ที่ใจของเรานี่แหละ

คำพูดของเขา การกระทำของเขาเป็นเพียงปัจจัย

เราควรพิจารณาเหตุผลและปัจจัย

พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า เมื่อทุกข์เกิดขึ้นให้ระงับเหตุ

ตัณหาเป็นเหตุ ทุกข์เป็นผล คำนินทาเป็นปัจจัย

ไม่ใช่ไปเปลี่ยนปัจจัย ไม่ให้เขาพูด ไม่ให้เขาทำ

พระพุทธองค์ไม่ให้สนใจปัจจัย ไม่ให้สนใจที่คนอื่นมากนัก

เพราะเราจะไปแก้คนอื่นทั้งโลกเพื่อให้เขาทุกคน

ทำทุกอย่างให้เราพอใจ ให้เราสบายใจไม่ได้ดอก

ต้องแก้ที่ใจเรา แก้ที่ตัวเรา

แก้ที่ความคิดของเราเอง "อัตตนา โจทยัตตานัง"

ให้กล่าวโทษโจทย์ความผิด ตรวจความผิดของตัวเอง

และหมั่นแก้ไขเสมอๆ

อย่าไปเสียเวลากล่าวโทษและพยายามแก้ไขที่คนอื่นเลย

นี่เป็นการเข้าใจตามอริยสัจสี่ เป็นโอปนยิโก

ฉะนั้นเมื่อเกิดทุกข์เกิดความไม่พอใจขึ้น ให้รีบสำรวมกายวาจา

สำรวมกายให้เรียบร้อย วาจาให้ระงับ รีบอบรมจิตใจให้คิดถูกคิดดี

เพื่อระงับกิเลสตัณหาของตัวเอง คนอื่นช่างเขา

ให้น้อมเข้ามาพิจารณาว่า คำนินทาสรรเสริญเป็นโลกธรรม 8

เป็นของธรรมดาประจำโลก

แม้แต่พระพุทธเจ้าผู้ทรงพระบริสุทธิคุณ พระปัญญาธิคุณ

ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อสัตว์โลกถึงปานนั้น ก็ยังไม่พ้นคนนินทา

และพระองค์อาจจะเป็นผู้หนึ่งที่ถูกนินทามากที่สุดในโลกก็ได้

ฉะนั้นการที่เราถูกนินทาจึงเป็นเรื่องธรรมดา

สำหรับผู้ที่ทำงานรับผิดชอบมาก มีหน้าที่การงานสูง

ยิ่งจะต้องถูกนินทามากขึ้นเป็นธรรมดา

เมื่อเขานินทาว่าเราทำผิด ทำไม่ดี เราก็รับฟังด้วยใจเป็นกลางๆ

และพิจารณาดูว่า เราไม่ดีหรือทำผิดตามที่เขาพูดหรือเปล่า

ถ้าเห็นว่าเขาพูดถูก เราก็ขอบคุณเขา และนำมาแก้ไขตัวเอง

ถ้าเราพิจารณาแล้วเห็นว่าเราไม่ได้ผิดตามที่เขาพูด

ก็เมตตาสงสารเขา เพราะเขาไม่รู้จริง เราไม่ต้องโกรธเขา

"สิขีภูโต" เอาตนเป็นพยานของตน

แม้แต่รอบด้านจะนินทาเรา ถ้าเราไม่ผิด ปกติเราก็จะทุกข์มาก

ทำใจไม่ได้คือไม่เชื่อธรรมะ เชื่อคำพูดของคนอื่น

แต่ถ้าใจเป็นธรรมะจริงๆ เราก็ไม่หวั่นไหวไม่เสียใจ

ให้น้อมเข้ามาดูใจเราว่า เรายังทุกข์ยังโกรธเขาอยู่หรือเปล่า

ถ้ายังทุกข์อยู่ก็พยายามระงับเหตุ

คือตัณหาอุปาทานที่ใจเรานี่แหละ

ทุกข์เกิดเพราะเหตุปัจจัยพอดีกัน ถ้าเราระงับเหตุได้

ถึงแม้จะยังมีปัจจัย คือยังมีคำนินทาอยู่ เราก็ไม่เป็นทุกข์

ราคะ โลภะ โทสะ โมหะ เป็นอกุศลมูลนอนนิ่งอยู่ในสันดาน

อยู่ในจิตใจของคนเรา นี่คือมูลเหตุของทุกข์

เมื่อมีปัจจัยมาจากภายนอก เช่น รูปไม่สวย คำพูดไม่ไพเราะ

มากระตุ้นก็ปรุงขึ้นมา ถ้าเราได้สติปุ๊บ

พอเกิดทุกข์หรือยินร้าย หรือเกิดอุปาทาน ยึดมั่นถือมั่น

หรือเกิดอารมณ์แล้ว ต้องรีบโอปนยิโก น้อมเข้ามาหาเหตุที่ใจเรา

ไม่ต้องนึกถึงเขา เพราะนึกถึงเขาก็เกิดเรา เกิดเป็นอัตตาตัวตน

เขาไม่ดีขนาดไหนไม่สำคัญ อย่าปล่อยจิตใจเราให้ฟุ้งซ่านออกไป

จิตคิดมากก็เกิดปฏิกิริยาออกทาง หน้าตา วาจา กาย

จนรักษาศีล 5 ศีล 8 ศีล 10 ไม่ได้

ธรรมดาเราน่าจะรักษากายวาจาให้เรียบร้อยได้

ยิ่งรักษาใจได้ ศีลจะยิ่งสมบูรณ์ขึ้น

ทำใจเฉยได้ เรียกว่าศีลเป็นปกติ กาย วาจา จิต เรียบร้อย

ศีลหนักแน่นเหมือนศิลา ถูกนินทาด่าว่าก็ทำใจเฉยได้ ใจเป็นศีล

ฉะนั้นไม่ว่าจะเห็นรูปที่สวย ไม่สวย เห็นคนทำดี ทำชั่ว

ได้ยินเสียงสรรเสริญ เสียงนินทา เสียงที่ไพเราะ

เสียงที่ไม่ไพเราะ

กลิ่นที่เหม็น หอม ชิมรสที่อร่อย ไม่อร่อย

สัมผัสที่กาย เกิดสุขเวทนา ทุกขเวทนา อะไรๆ ก็แล้วแต่

ก็มีแต่โอปนยิโกน้อมเข้ามาดูตัวเองพัฒนาตัวเอง

ละความชั่ว บำเพ็ญความดี

ยังประโยชน์ให้เกิดแก่ตัวเองฝ่ายเดียว เอากำไรไปเรื่อยๆ

.......... โอปนิยิโก คือ การน้อมเข้ามาสู่ใจ

เป็นกระบวนการของจิตที่พิจารณาตามกระแสของอริยสัจ 4

หรือปฏิจจสมุปบาท

ปฏิจจสมุปบาทนี่ให้ทบทวนบ่อยๆ ตั้งแต่ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน

ภพ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข โทมนัส อุปายาส

คอยตั้งสติทวนกระแสของปฏิจจสมุปบาท ไม่ให้ไหลไปตามวัฏฏสงสาร

ตั้งสติได้ตรงไหน เมื่อไร ก็ทวนกระแสเมื่อนั้นตรงนั้น

ถ้าสติปัญญาว่องไว เมื่อผัสสะเกิดขึ้นทางตาหูจมูกลิ้นกายใจ

ก็รู้ทันทีว่า สักแต่ว่ารูป สักแต่ว่าเห็น สักแต่ว่าได้ยิน

สักแต่ว่ากลิ่น

สักแต่ว่ารส สักแต่ว่ารู้สัมผัสทางกาย สักแต่ความคิด

คิดอะไรก็รู้ สักแต่ว่ารู้ เวทนา ตัณหาก็ไม่เกิด

"สักแต่ว่า" เป็นเรื่องของปัญญา เป็นวิปัสสนา

ถ้าจับผัสสะไม่ทัน เมื่อเกิดความรู้สึกชอบไม่ชอบ เป็นเวทนา

ถ้าปรุงแต่งต่อไปก็จะเกิดตัณหาอุปาทาน อันเป็นตัวทุกข์

ตามกระแสของปฏิจจสมุปบาท

และถ้าคิดๆ ต่อไปก็จะเกิดเป็นภวะ เป็นภพ

ถ้าปรุงๆ ต่อไปมากขึ้นๆ จนเกิดเป็นเรื่องราวก็จะเป็นชาติ

โสกะ ปริเทวะ ทุกข โทมนัส อุปายาสก็จะตามมามากมาย

ฉะนั้นเมื่อความรู้สึก คือเวทนาเกิดขึ้น

พยามยามให้เห็นว่าเป็นอนิจจัง

ปล่อยวางเสีย อย่ายึดมั่นถือมั่น ทุกข์ก็ไม่เกิด

สอนใจตัวเองด้วยคำที่หลวงพ่อสอนง่ายๆ ว่า

“ชอบหรือไม่ชอบ อย่ายึดมั่นถือมั่น”

พยายามจับความรู้สึกแล้วก็ปล่อย

หรือเมื่อทุกข์เกิดแล้ว ก็น้อมเข้ามาดูใจตัวเอง

สาวหาเหตุของทุกข์ตามปฏิจจสมุปบาท หรืออริยสัจ 4

ก็จะพบตัณหาอุปาทาน

ให้พยายามทวนกระแสปฏิจจสมุปบาท

เพื่อระงับเหตุ คือตัณหาอุปาทาน

ทุกข์ทั้งหลายก็จะดับไป

การทวนกระแสนี้คือ การดำเนินตามมรรค

จึงควรที่เราจะพยายามตั้งมรรคตลอดเวลา