#echo banner="" ธรรมะสำหรับผู้ไม่เคยปฏิบัติ

ธรรมะสำหรับผู้ไม่เคยปฏิบัติ

หลวงพ่อเทียน จิตตฺสุโภ

วันที่ ๗ มกราคม แรม ๑๒ ค่ำ เดือนเกี๋ยง

คัดลอกจาก www.dhammaforlife.com/Book/index.htm

การพูดธรรมะสำหรับบุคคลผู้ที่ยังไม่เคยเข้าใจในการปฏิบัติธรรม หรือยังไม่เคยเข้าใจเรื่องชีวิตของตัวเอง เรามาพูดกันเรื่องการปฏิบัติธรรม หรือเรื่องชีวิตของตัวเองให้แก่พวกที่ยังไม่เคยได้ยิน ยังไม่เคยได้ฟังได้ยินได้ฟังแล้ว ผู้ที่ฟังนั่นแหละต้องพิจารณาใคร่ครวญด้วยสติปัญญาของตัวเองว่าชีวิตนี้มีอยู่เพื่ออะไร และธรรมะนั้นมีไว้ใช้เพื่อประโยชน์อะไร ธรรมะกับชีวิตจึงมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันโดยวิธีไหน ต้องพิจารณาด้วยตัวเอง อันนี้เป็นลักษณะของบุคคลผู้ที่มีปัญญา

บัดนี้บุคคลผู้ที่ไม่มีปัญญาไม่แหลมคมต้องมีวิธีการและเทคนิค ให้เคลื่อนไหวตัวเอง อันนี้เป็นการปฏิบัติธรรมและเป็นการปฏิบัติชีวิต เป็นการปฏิบัติจิตใจ; เคลื่อนไหวโดยวิธีใดก็ให้รู้

เรื่องนี้ประกาศมา พูดมาให้คนฟังมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๓ พูดมาอยู่อย่างนั้นตลอดมา แม้ตัวเองจะไปอยู่ที่ไหนก็พูดแต่เรื่องนี้ เพราะว่าเรื่องนี้มันเป็นเรื่องสำคัญ เรื่องจิตใจของคนทุกคนเหมือนกันและต้องปฏิบัติได้เหมือนกัน ผู้หญิงก็ปฏิบัติได้ ผู้ชายก็ปฏิบัติได้ พระสงฆ์องค์เณรก็ปฏิบัติได้ คนไทยคนจีนก็ปฏิบัติได้ ธรรมะนั้นจึงเป็นอันเดียวกัน หรือว่าชีวิตจิตใจก็เหมือนกัน ธรรมะก็เหมือนกันเป็นอันเดียวกัน-คือกัน

วิธีการปฏิบัติ

(เทคนิค-ดูการเคลื่อนไหว)

ดังนั้น จึงแนะนำบุคคลผู้ที่ไม่มีปัญญาแหลมคมให้เคลื่อนไหว-เทคนิคของมัน นั่งพับเพียบก็ได้นั่งเหยียดขาก็ได้ ขัดสมาธิก็ได้ นั่งเก้าอี้ห้อยเท้าอยู่ก็ได้ :-

เอามือวางไว้บนขาทั้งสองข้าง คว่ำไว้,

ค่อยๆ พลิกมือขวาขึ้น เคลื่อนขึ้นมา ให้รู้สึกตัวในขณะที่มันเคลื่อนขึ้นมานั้นให้รู้สึกตัวเรียกว่า “ตั้งใจ” หรือว่า “ตั้งสติ” ว่าอย่างนี้ก็ได้ ตะแคงชันไว้ตรงๆ ไม่ให้มันเอนมันเอียง,

ยกขึ้นครึ่งตัว ยกขึ้นตรงๆ ครึ่งตัวแล้วก็หยุดไว้ มันหยุดก็ให้รู้สึกว่ามันหยุด มันนิ่งมันไม่เคลื่อนไม่ไหวก็ให้รู้สึก เรียกว่าให้มันสัมผัสแนบแน่นอยู่กับสิ่งนั้นๆ,

บัดนี้ พลิกมือซ้ายขึ้นชันตะแคงไว้ตรงๆ ให้มีความรู้สึก

เคลื่อนไหวยกขึ้นครึ่งตัว ให้มีความรู้สึกตัว

เอามือซ้ายมาแนบไว้ที่มือขวา ให้มีความรู้สึก

(เลื่อนมือขวาขึ้นหน้าอก...ให้มีความรู้สึก เอามือขวาออกตรงข้าง...ให้รู้สึก ลดมือขวาลงที่ขาขวา ตะแคงไว้...ให้รู้สึก คว่ำมือขวาลงที่ขาขวา...ให้รู้สึก

เลื่อนมือซ้ายขึ้นที่หน้าอก...ให้มีความรู้สึก เอามือซ้ายลงมาตรงข้าง...ให้มีความรู้สึก ลดมือซ้ายลงที่ขาซ้าย ตะแคงไว้...ให้มีความรู้สึก คว่ำมือซ้ายลงที่ขาซ้าย...ให้รู้สึก)

หยุดเป็นพัก-เป็นพัก ให้มีความรู้สึกเป็นพักๆ ๆ

แม้จะเคลื่อนไหวโดยวิธีใดก็ตามให้มีความรู้สึกตัวอยู่อย่างนั้น เรียกว่า มีสติ มีสมาธิ มีปัญญา เป็นการปฏิบัติธรรม เป็นการปฏิบัติชีวิต เป็นการปฏิบัติจิตใจ

ชีวิตที่มีอยู่ก็เพราะลมหายใจ ธรรมะมีอยู่ได้ก็เพราะมีลมหายใจเพราะมีการเคลื่อนไหว จิตใจที่มันนึกมันคิดอยู่ตลอดเวลาเพราะมันมีชีวิต มีจิตมีใจ มีลมหายใจ คนมันต้องเคลื่อนไหวอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา ดังนั้น จึงแนะนำหรือชี้แนววิธีปฏิบัติให้กับบุคคลผู้ที่ไม่มีปัญญาแหลมคม เมื่อปฏิบัติไปให้รู้สึกว่า การเคลื่อนไหว (ที่เกิด) ขึ้นนั้นเป็นรูป สิ่งที่รู้การเคลื่อนไหว (ที่เกิด) ขึ้นนั้นเป็นนาม รูปกับนามมันจึงติดกันแยกออกจากกันไม่ได้ เมื่อแยกออกจากกันได้เมื่อใด เมื่อนั้นก็หมดลมหายใจ หมดชีวิตหมดจิตหมดใจ เรียกว่าตาย มันเป็นอย่างนั้น แล้วก็ปฏิบัติธรรมะไม่ได้ ปฏิบัติชีวิตไม่ได้ ปฏิบัติจิตใจไม่ได้ ปฏิบัติได้-เห็นได้ -รู้ได้-เข้าใจได้ แต่เมื่อมีชีวิตมีจิตมีใจมีลมหายใจอยู่นี่เอง

นี้เป็นการปฏิบัติธรรม ทุกๆ คนปฏิบัติได้

ดังนั้น ธรรมะหรือ คำสอนของพระพุทธเจ้านั้นจึงเป็นสากล คำว่า “เป็นสากล” นี่ (หมายถึง) ทุกคนปฏิบัติได้และปฏิบัติอยู่ที่ไหนก็ได้ เป็นพระสงฆ์องค์เจ้าก็ปฏิบัติได้ เป็นญาติโยมก็ปฏิบัติได้ เป็นคนชาติใดภาษาใดถือศาสนาไหนก็ปฏิบัติได้ถือลัทธิอันใดก็ได้ ไม่ผิดกันเลย เพราะว่ามันมีกายกับใจ-ภาษาที่เราพูด ภาษาธรรมะปัญญาเกิดขึ้น-นั่นเรียกว่า รูปกับนาม; รูปได้แก่ ร่างกาย นามได้แก่ จิตใจ กายก็ที่เรามองเห็น ใจก็ที่เรามองไม่เห็นที่มันนึกมันคิด

(ต้องปฏิบัติติดต่อตลอดสายจนกว่าจะเห็นธรรม)

เราต้องปฏิบัติเรื่อยๆ อย่าเห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย ถ้าเราไปนึกว่าเหน็ดเหนื่อยแล้วหยุด อันนั้นเรียกว่าไม่ติดต่อไม่สัมพันธ์ มันไม่โยงกันตั้งแต่ต้นจนปลาย บัดนี้ปฏิบัติให้ติดต่อให้สัมพันธ์โยงกันตั้งแต่ต้นจนปลายนั้นหมายถึง เราเคลื่อนไหวโดยวิธีใดก็รู้ กะพริบตาก็รู้ เหลือบซ้ายแลขวาก็รู้-ตาเรา หายใจเข้าหายใจออกก็รู้ กลืนน้ำลายก็รู้ จิตใจมันนึกมันคิดก็รู้ อันนี้เรียกว่าเห็นธรรม

(การเห็นธรรมนั้น) ไม่ต้องเห็นที่นอกตัว ถ้าเห็นที่นอกตัวออกไปนั้นมันเป็นมายาของจิตใจ มันหลอกลวงเรา มันโกหกเรา คนโบราณท่านจึงสอนเอาไว้ว่า “จิตคนนี้กลอกกลับได้ไวดุจมีลานไขในตน เราท่านควรบังคับกลให้จิตใจหมุนมาแต่ในทางข้างดี” เพราะถ้าปล่อยให้มันคิดไปตามอารมณ์ เรียกว่า “หมุนไปในทางข้างกี” ข้างกี-ก็หมายถึงความชั่วร้าย-กิเลสนั่นเอง “ธรรมที่มีก็จักหายจักหน่ายหายสูญ” ธรรมที่มีนั่นคือตัวรู้นั่นเอง คือ ตัวสติ-ตัวสมาธิ- ตัวปัญญานั่นเอง ถ้าหากเราไม่รู้ก็เรียกว่าธรรมที่มีก็จักหนีจักหน่ายหายสูญ “อธรรมเข้าครอบงำ ความระยำสัมบูรณ์ มันก็ปลิ้นปลอกหลอกเราฯ” ปลิ้นปลอกหลอกตน อธรรมก็คือเราไม่รู้ไม่เข้าใจธรรมนั่นเอง มันก็ปลิ้นปลอกหลอกเรา จึงเห็นอันนั้นเห็นอันนี้ที่นอกตัวเราไป เพราะเราไม่ได้ศึกษาไม่ได้ปฏิบัติกับธรรมชาติ ธรรมชาติของคนนี้มันมีแขนมีขามีมือมีเท้า มีตามีหูมีจมูกมีลิ้น กินข้าว กินน้ำ อุจจาระ ปัสสาวะได้ นี่คือธรรมชาติมันจริงๆ ศึกษากันลงไปที่ตรงนี้ เมื่อศึกษาเข้ามาที่ตรงนี้ มันก็รู้จริง เห็นจริง เห็นเรานั่ง เห็นเรายืน เห็นเราเดิน เห็นเรานอน อันนี้แหละคือธรรมชาติและก็มีหายใจเข้าหายใจออก และก็มีจิตใจมันนึกมันคิด

เราอย่าเข้าไปในความคิด เมื่อมันนึกมันคิดเราไม่เห็นมันก็คิดออกไปข้างนอก คิดออกไป บางครั้งบางคราวนอนไม่หลับ นักศึกษาเรียนหนังสือ ถ้าเรียนทางธรรม นักธรรมตรี-โท-เอก เป็นมหาเปรียญ๓-๔-๕-๖-๗-๘-๙ ก็ตาม ไม่ได้ดูชีวิตดูจิตดูใจของเราเองแล้วนั้นเรียกว่า “เรียนออกนอกตัวไปๆ” จิตใจมันนึกมันคิดกราย (ผ่านเลย) ออกไปข้างนอก ไม่เห็น-ไม่รู้-ไม่เข้าใจ ทุกข์เกิดขึ้น ผลที่ไม่เห็นนั่นแหละเอามาให้เป็นทุกข์ นอนไม่หลับกินไม่ได้เป็นโรคประสาทไปก็มีกันเป็นจำนวนมาก

แม้คนเรียนทางโลก-บัดนี้ ตั้งแต่ ป.๑ ถึง ป.๖ ป.๗ หรือมัธยม ๑ ถึงมัธยม ๖ มัธยม ๘ เรื่องนี้อาตมาไม่เคยได้เรียน เพียงแต่ได้ยินเพื่อนฝูงหรือเพื่อนมนุษย์ คนทั่วไปเคยพูดให้ฟังอย่างนี้ ก็เลยจำมาพูดให้ฟัง เมื่อเรียนจบมัธยมแปดแล้วก็เรียนสอบเข้าไปในมหาวิทยาลัย เรียนปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก ได้หลายปริญญาเอกก็ตามถ้าหากยังไม่เห็น-ไม่รู้-ไม่เข้าใจความคิด ความคิดมันก็ส่ายส่งออกไปข้างนอก เมื่อมันออกไปข้างนอกมันก็ไปทรงจำเรื่องนั้นเรื่องนี้ คิดดีใจเสียใจผลมันออกมาก็ได้รับทุกข์ กินไม่ได้นอนไม่หลับเป็นโรคประสาทกันก็มีเป็นจำนวนมาก การศึกษาแบบนั้นก็ดีแล้ว บางคนก็ไม่เป็น แต่บางคนก็เป็น การที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะไม่รู้กลไกเทคนิคของจิตของใจนี้เอง

(ปฏิบัติงาน-ปฏิบัติธรรม)

เมื่อเรามามองดูลงไปในสภาพการเคลื่อนไหวทางรูปกายนี้ก็รู้สึกตัว จิตใจมันนึกคิดก็รู้สึกตัว แต่ (ให้) เรามาอยู่กับการเคลื่อนไหวทางรูปกายนี้ เราจะไปอยู่กับการเคลื่อนไหวของจิตใจที่มันนึกมันคิดนั้นไม่ได้ เพราะมันไม่มีตัวไม่มีตน จับไม่ถูกมองไม่เห็น รูปกายนี้มันจับถูกได้ แตะต้องได้ มองเห็นได้ สัมผัสได้ด้วยมือ อันส่วนจิตใจที่มันนึกมันคิดนั้นมองไม่เห็นด้วยตา จับไม่ถูกด้วยมือ แต่สัมผัสได้ด้วยความรู้สึก เรียกว่า “ปัญญารอบรู้” เมื่อเรามีปัญญารอบรู้แล้วมันนึกมันคิดเราก็เห็นเราก็รู้

ความเห็นจิตนึกคิดนั้นเป็นมรรค “มรรค” จึงเป็นข้อปฏิบัติเพื่อให้ถึงความดับทุกข์ เมื่อเรามัก (ชอบ) เราต้องดูลงไปที่ตรงนี้ ผลมันออกมาเรียกว่า นิโรธ พ้นไปจากทุกข์ พ้นไปจากการปรุงแต่ง พ้นไปจากการยึดถือ พ้นไปจากการมีโทสะ-โมหะ-โลภะ พ้นไปจากการยึดมั่นถือมั่น พ้นไปจากสิ่งทั้งปวงนั้นทานเรียกว่า นิโรธ แปลว่าความพ้นไป พ้นไปจากทุกข์-ท่านสอนอย่างนั้น

ดังนั้น ผู้ที่มีปัญญาก็พิจารณาเห็นแจ้งตามความเป็นจริง แล้วก็เอาไปใช้กับการกับงานได้ทุกวิธี การงานก็เป็นธรรมะ ตัวปฏิบัติลงไปก็เป็นธรรมะ ธรรมะนั้นจึงเอาไปใช้กับการกับงานได้ทุกวิธี ดังนั้น คนใดรู้ธรรม-เห็นธรรม-เข้าใจธรรมแล้ว จึงทำการทำงานไปตามหน้าที่ ไม่มีความเกียจคร้าน ไม่มีความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า

(เทคนิคอาจต่างกัน ส่วนมรรคผลย่อมเหมือนกัน)

เราคิดดูถึงพระพุทธเจ้าของเรา แต่เมื่อสมัยพระองค์รู้ธรรมะ-เห็นธรรมะ-เข้าใจธรรมะ-ซาบซึ้งในธรรมะ ที่ตัวรู้ตัวเห็นตัวเป็นตัวมีนั้นแล้ว พระองค์ก็นำไปเทศน์ไปสอน เมื่อพระองค์ได้เทศน์ได้สอนได้ลูกศิษย์จำนวน ๕ คน หรือหลายคนก็ไม่ทราบแหละ ได้ยินแต่ครูบาอาจารย์เล่าให้ฟังว่าพวกปัญจวัคคัย์ทั้ง ๕ นี่ ได้รู้ตามเห็นตามเข้าใจพระองค์แล้ว เป็นอย่างพระองค์ มีอย่างพระองค์แล้ว สัมผัสแนบแน่นอยู่เหมือนอย่างพระองค์รู้นั้น แล้วก็นำไปเทศน์ไปสอน พระองค์จึงแนะนำว่าอย่าไปด้วยกัน ๒ คน ให้ไปคนเดียว เพราะว่าไปด้วยกันทางเดียวกันมันไปได้น้อยเส้นทาง ให้ต่างองค์ต่างไปจึงได้หลายทาง ส่วนการพูดการสอนเรื่องที่ให้ทุกคนประพฤติปฏิบัติตามนั้น ก็ให้ทำไปตามอุดมการณ์ของตัวเองที่ได้รู้-ได้เห็น-ได้เข้าใจนั้น ซึ่งก็แล้วแต่เทคนิคกลไกของครูบาอาจารย์ท่านนั้นๆ จะสอนให้เขาทำโดยวิธีใด พระองค์สอนอย่างนั้น แต่ความพ้นทุกข์นั้นเหมือนกันซึ่งพระพุทธองค์เองก็เคยตรัสเอาไว้ว่า “สัตว์ทั้งหลายคือเราตถาคต สัตว์ทั้งหลายคือเราตถาคต” คำว่า “คือกัน” นั้นก็ (หมายถึง) มีแข้งมีขามีหน้ามีตามีมือมีเท้าเหมือนกัน-คือกัน มีจิตมีใจเหมือนกัน-คือกัน แต่ว่าสูงต่ำดำขาวนั้นไม่เหมือนกันไม่คือกัน สติปัญญานั้นก็คือกันแต่ไม่คือกัน เหมือนกันแต่ไม่เหมือนกัน ที่เหมือนกันนั้น (คือ) ถ้ารู้-เห็น-เข้าใจ-สัมผัสแนบแน่นได้แล้ว จะหมดความสงสัย เมื่อหมดความสงสัย ก็แสดงว่าหมดทุกข์ ถ้าเรายังมีความสงสัยแสดงว่าเรายังมีทุกข์ ความทุกข์นั้นจึงแยกออกมาหลายอย่างหลายประการ

ดังนั้น เราท่านทั้งหลาย!ผู้มีปัญญาก็ดี ผู้ที่ไม่มีปัญญาก็ดี ปฏิบัติรู้ได้-เห็นได้-เข้าใจได้เหมือนกัน แต่คนที่มีปัญญานั้นพิจารณาแล้วลดละมานะลดทิฏฐิ ลดความเห็นแก่ตัว เรียกว่าความโกรธความโลภความหลงให้มันลดน้อยไป คนที่ไม่มีปัญญา-บัดนี้ ต้องประพฤติปฏิบัติให้มีญาณเกิดขึ้น เมื่อมีญาณเกิดขึ้นแล้วปัญญาก็รอบรู้ มันจืดจางไปเอง พวกนี้มันจืดจางไปเอง อันนี้เรียกว่า “รู้-เห็น-เข้าใจ เพราะญาณปัญญาการปฏิบัติธรรม” ส่วนพิจารณานั้นเรียกว่า “ปัญญาพิจารณา” ด้วย “การเห็นแจ้ง” อันนี้มันผิดกันอย่างนี้ ผู้ที่ปฏิบัตินั้นก็มีญาณปัญญาเกิดขึ้นจากจิตสำนึก ผู้ที่พิจารณาเอานั้น เรียกว่าพิจารณาตามธรรมชาติให้เห็นธรรมชาติ เป็นธรรมชาติมันอย่างนั้น คนเราเกิดมาแล้วก็แก่เจ็บตายเหมือนกัน ท่านว่าอย่างนั้น นี่เรียกว่าความเหมือนกัน-ความคือกันมันเป็นอย่างนั้น

นี้...เป็นการปฏิบัติอย่างง่ายๆ

ดังนั้น พระพุทธเจ้าผู้เป็นอรหันต์ที่เราเคารพนับถืออยู่ทุกวันนี้ ท่านว่า “สัตว์ทั้งหลาย! เราผู้เป็นตถาคตไปถึงแล้วแห่งนั้น แล้วจึงนำมาสอนพวกเธอพวกเราทั้งหลาย ให้พวกเธอพวกเราทั้งหลายประพฤติปฏิบัติอย่างเราตถาคตนี้ เมื่อประพฤติปฏิบัติอย่างเราตถาคตนี้แล้วก็จะรู้-จะเห็น-จะเป็น-จะมีอย่างเราตถาคตนี้ฯ” รู้เห็นอะไร ก็รู้เห็นตัวเรา เป็นอย่างไร เป็นอย่างที่เราเป็น เรียกว่า “รู้-เห็น-เป็น-มี” มีอย่างที่เรามี คือมีความไม่มีทุกข์ มีความไม่มีทุกข์เหมือนกันกับพระองค์ อันนี้แหละที่พระพุทธเจ้าท่านสอน

ที่ว่าให้เราเจริญสติ-เจริญสมาธิ-เจริญปัญญานั้น เจริญแปลว่าทำให้มาก-เจริญแปลว่าทำให้มาก เมื่อทำมากขึ้นมันก็เจริญขึ้น-มีขึ้น-มากขึ้น ความรู้สึกมีมากขึ้นๆ ความไม่รู้มันก็ลดน้อยไปๆ มีแต่ความรู้-ความเห็น-ความเข้าใจ-ความสัมผัสได้อยู่ทุกขณะทุกเวลาแล้วก็เรียกว่ามันสมบูรณ์ เรียกว่า “เจริญ” มันเป็นอย่างนั้น

บัดนี้ เมื่อเห็น-จิตใจมันนึกมันคิดก็เห็น จิตใจมันนึกมันคิดก็รู้ จิตใจมันนึกมันคิดก็เข้าไปสัมผัสแนบแน่นอยู่กับสิ่งเหล่านั้น เรียกว่าเป็นมรรค มรรคจึงเป็นข้อปฏิบัติเพื่อให้ถึงความดับทุกข์ เมื่อเห็น-รู้อยู่อย่างนั้นแหละเป็นมรรค ผลมันออกมาก็ไม่มีทุกข์ คือไม่ยึดไม่ถือ รู้เท่า-รู้ทัน-รู้จักกัน-รู้จักแก้

นี้แหละเป็นการปฏิบัติธรรมอย่างง่ายๆ อย่างลัดๆ สั้นๆ ใครเอาไปปฏิบัติก็ได้ จึงเป็นหลักสากล ที่ว่าเป็นหลักสากลก็เพราะทุกคนปฏิบัติได้ นั่ง-นอน-ยืน-เดิน-เข้าห้องน้ำห้องส้วมก็ดูการเคลื่อนไหว-ดูจิตดูใจ เวลาฉันอาหารก็ดูจิตดูใจ-ดูการเคลื่อนไหว จับอาหารเข้ามากินในปากก็รู้ เพราะมันเคลื่อนไหวไปนี่ ที่เราไม่รู้นั้นเพราะไม่เคยกำหนดมัน มันก็เลยไม่เป็นการปฏิบัติธรรมะ มันก็เลยเคลื่อนไหวไปโดยสัญชาตญาณ เป็นไปตามธรรมชาติของมันเหมือนกันกับสัตว์ สัตว์มันไม่มีความจำ มันจำไม่ได้ มันก็เคลื่อนไหวไปมาเหมือนกันกับคน เหมือนกันกับมนุษย์ ดังนั้นจึงว่าคนมันเป็นหน้าที่ฝึกหัดได้ มนุษย์มันเป็นหน้าที่ฝึกหัดได้ สัตว์เดรัจฉานฝึกหัดไม่ได้เพราะมันไม่มีความจำ

ดังนั้นพวกเราทุกๆคนเกิดมาแล้วในโลกนี้ คนโบราณท่านสอนเอาไว้ว่าสวรรค์ก็ตามนิพพานก็ตามเป็นสมบัติของคน เป็นสมบัติของมนุษย์ จึงว่ามนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ นิพพานสมบัติ เป็นสมบัติของคน เป็นสมบัติของมนุษย์ที่จะทำเอาได้ และก็เอามาใช้ได้เหมือนกันทุกคน

ดังนั้น พวกเราต้องประพฤติปฏิบัติตัวเรา จึงว่าเป็นการปฏิบัติธรรม เป็นการปฏิบัติชีวิต เป็นการปฏิบัติจิตปฏิบัติใจ เป็นการปฏิบัติตัวเรา คนเราเมื่อไม่มีการพัฒนาแล้ว จิตใจมันจะไม่รู้ เพราะเราไม่เคยเข้าวัด ไม่เคยฟังธรรม ไม่เคยพบกับสัตบุรุษบุคคลผู้ที่มีความรู้ เมื่อไปทำ มันก็เลยไม่รู้

ไปนั่งภาวนาพุทโธ หายใจเข้าหายใจออก พองยุบดูลมหายใจอันใดก็ตาม เป็นการปฏิบัติธรรมเพื่อจะมาลดโทสะ-โมหะ-โลภะนี้เอง ไม่ให้โทสะ-โมหะ-โลภะ เกิดขึ้นได้ภายในจิตใจ เพราะโทสะ-โมหะ-โลภะ เป็นของเน่า เป็นของเหม็น เป็นของสกปรก

เมื่อเราเห็น-เรารู้-เราเข้าใจ เรียกว่ามรรค มรรคจึงเป็นข้อปฏิบัติไม่ให้สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้น อันนี้เป็นการปฏิบัติอย่างง่ายๆ ไม่ต้องไปอ้างอิงศึกษาเอากับตำรับตำราก็ได้ ปฏิบัติอยู่ที่ไหนก็ได้ เมื่อเราเห็น-เรารู้-เราเข้าใจแล้ว ความยึดมั่นถือมั่นเป็นตนเป็นตัว มันเป็นทุกข์ เราก็เลิกจากสิ่งเหล่านั้น เราต้องไม่เข้าไปยึดไปถือ ให้มาดูที่จิตใจของเราอยู่เสมอ นี้...เป็นการปฏิบัติอย่างง่ายๆ

(ต้องปฏิบัติเมื่อยังมีชีวิตอยู่ จนเห็นของจริง)

คนเราเมื่อตายไปแล้วร่างกายนี้มันไม่รู้อันใดเลย เอาไปฝังดินแล้ว เอาดินกลบหน้าถมหน้ามันก็ร้องว่า หายใจฝืดเน้อ-นอนยากเน้อ-มันพูดไม่ได้ เอาขึ้นไปกองฟอนเอาไปโยนใส่กองไฟ ไฟไหม้มันก็พูดไม่ได้ว่าร้อน-เจ็บ-เพราะมันไม่มีความรู้สึก มันไม่เจ็บ มันไม่ปวด มันไม่มีชีวิต มันไม่มีจิตมีใจ

ดังนั้น กายใจนี้จึงแยกกันได้ แต่เมื่อยังมีลมหายใจอยู่นี้แยกกันไม่ได้ แต่ปฏิบัติได้-เห็นได้-รู้ได้-เข้าใจได้ เมื่อหมดลมหายใจแล้วก็แยกกันได้ทีเดียว จะว่าแยกกันได้ก็ได้ จะพูดว่าแยกกันไม่ได้ก็ได้ เพราะว่าเรามองไม่เห็น จับไม่ถูก เราต้องศึกษาปฏิบัติให้มันเห็น-ให้มันรู้-ให้มันเข้าใจ แต่เมื่อเรายังมีลมหายใจอยู่นี้ ยังมีชีวิตอยู่นี้ เดินดินกินข้าวอยู่ที่นี้ นี่แหละคือเป็นการปฏิบัติธรรม ให้เราเห็น-ให้เรารู้-ให้เราเข้าใจอย่างนี้

ไม่ใช่ไปเห็นสีเห็นแสง เห็นผีเห็นเทวดา เห็นนรกเห็นสวรรค์ เห็นพระพุทธรูปเห็นลูกแก้ว เห็นอันนั้นมันเป็นมายาของจิตใจ ครูบาอาจารย์สอนว่าเป็นนิมิต อันนั้นก็จริง เห็นจริง แต่ว่าสิ่งที่เห็นจริงนั้นไม่เป็นของจริง เห็นจริงแต่ไม่เป็นของจริง ทำไมจึงว่าไม่เป็นของจริง? เพราะจิตมันหลอกเรา เหมือนกับคนเล่นกล คนเล่นกลไม่ใช่เล่นของจริง เขาหลอกลวงบุคคลที่ยังไม่ฉลาด มันหลอกลวงบุคคลที่ยังไม่รู้ ดังนั้นจิตใจเราก็เหมือนกัน มันหลอกลวงเราได้แต่เมื่อเรามองไม่เห็น มันหลอกลวงเราได้แต่เมื่อเรายังไม่ฉลาด แต่เมื่อเรารู้-เราเห็น-เราเข้าใจ เมื่อเราสัมผัสแนบแน่นอยู่กับตัวมันแล้ว มันหลอกเราไม่ได้ มันลวงเราไม่ได้ มันตลบไม่ได้ ท่านจึงสอนว่า “จิตคนนี้กลับกลอกได้ไว ดุจมีลานไขในตน เราท่านควรบังคับกล ให้จิตหมุนมาแต่ในทางข้างดี เพราะปล่อยให้มันหมุนไปในทางข้างดี ธรรมที่มีก็จักหนีจักหน่ายหายสูญ อธรรมเข้าครอบงำความระยำสัมบูรณ์ ก็ปลิ้นปลอกหลอกตน” มันปลิ้นปลอกหลอกตัวเรา

ดังนั้น ที่อาตมาหรือหลวงพ่อได้มาแนะนำว่ากล่าวตักเตือนให้ผู้สนใจนำไปปฏิบัติ นั่งทำ-นอนทำ-เดินทำ-ยืนทำ ไปไหนมาไหนก็ได้นี้ เป็นการปฏิบัติธรรม เป็นการปฏิบัติชีวิตปฏิบัติจิตปฏิบัติใจ มันจะค่อยรู้-ค่อยเห็น-ค่อยเข้าใจ มีความชำนิชำนาญมากขึ้นๆ ที่สุดก็พ้นจากทุกข์ทั้งปวง