#echo banner="" การทำความรู้สึกตัว หลวงพ่อเทียน

การทำความรู้สึกตัว

หลวงพ่อเทียน จิตตฺสุโภ

จากหนังสือคู่มือการทำความรู้สึกตัว

โดย..มูลนิธิหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ (พันธ์ อินทผิว) และ วัดสนามใน

คำนำ

ตลอดเวลากว่า ๓๐ ปี ที่อุบาสกพันธ์ อินทผิว ซึ่งต่อมาคือ หลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ ได้เที่ยวสั่งสอนคนทั้ง หลายนั้น ท่านได้พยายามชี้แนะแก่เขาเหล่านั้น ให้ได้เข้าใจสัมผัสกับแก่นแท้ของพุทธศาสนา ที่มีอยู่แล้วใน คนทุกคนไม่ยกเว้น ไม่ว่าจะเป็นคนชาติไหน นับถือศาสนาอะไร ชายหรือหญิง เด็กหรือผู้ใหญ่ ซึ่งถ้าหาก ปฏิบัติอย่างถูกต้องแล้ว สามารถเห็น-รู้-เข้าใจได้เหมือนกันทุกคน

วิธีปฏิบัติก็คือ การทำความรู้สึกตัว หรือ "ให้รู้สึกตัว...ตื่นตัว รู้สึกใจ...ตื่นใจ" จนกระทั่งเกิดฌาน ปัญญาเป็นลำดับไปจนถึงที่สุด

มูลนิธิฯ และวัดสนามใน เห็นว่าควรนำคำสอนของหลวงพ่อ เฉพาะที่เกี่ยวกับวิธีปฏิบัติ ที่หลวงพ่อได้พูดไว้ในโอกาสต่างๆ มาเรียบเรียงรวมไว้ในที่เดียวกัน เพื่อเป็นคู่มือแก่ผู้ที่สนใจ

ในการเรียบเรียงนั้น ได้รวบรวมคำพูดของหลวงพ่อที่เกี่ยวกับหลักการ ความหมาย วิธีการปฏิบัติ ตลอดจน การแก้ไขอุปสรรคต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น มาจัดเรียงไว้เป็นหมวดหมู่ เพื่อให้สะดวกแก่การเข้าใจ สำหรับผลของ การปฏิบัตินั้น ได้กล่าวถึงเฉพาะหัวข้อ และแยกไว้ต่างหากในภาคผนวก

มูลนิธิหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ (พันธ์ อินทผิว)

และวัดสนามใน

ข้อสังเกตสำหรับผู้อ่าน

* คำในวงเล็บ เป็นคำที่คณะผู้จัดทำเติมเข้าไป เพื่อแปลภาษาอีสาน หรือเสริมข้อความ เพื่อให้สามารถทำความเข้าใจได้ง่าย ขึ้น

* หมายเลขใต้ข้อความแต่ละตอน คือที่มาของข้อความนั้นๆ ซึ่งระบุไว้ในบรรณานุกรมท้ายเล่ม

บทนำ

๑.

ธรรมะที่ผมว่าอยู่นี้ ไม่ใช่ของใครทั้งหมด เป็นสากล เป็นของทุกคน ไม่ใช่เป็นของศาสนาพุทธ ไม่ใช่เป็นของ ศาสนาพราหมณ์ ไม่ใช่เป็นของศาสนาคริสต์ ไม่ใช่ของคนไทย ไม่ใช่ของคนจีน ไม่ใช่ของคนฝรั่ง ไม่ใช่ของคน ญี่ปุ่น ใต้หวันทั้งนั้น เป็นของผู้รู้

ใครรู้ก็เป็นของคนนั้น ใครไม่รู้ไม่เป็นของคนนั้น ไม่ว่าศาสนาพุทธ ศาสนาพราหมณ์ ศาสนาอะไรก็ตาม มันมีในคนทุกคน

ไม่ใช่ว่ารู้แล้ว จะสงวนลิขสิทธิ์ไม่ให้คนอื่นทำได้ ไม่ใช่อย่างนั้น

รู้แล้วทำลายก็ไม่ได้ เพราะมันทำลายไม่ได้ มันไม่มีอะไรจะไปทำลายมันได้

แล้วจะไม่ให้คนอื่นรู้ มันก็ไม่ได้ เพราะเป็นหน้าที่ของคนที่ทำรู้เอง

เรารู้แล้ว จะทำลายมัน ทำลายไม่ได้ เพราะมันเป็นอย่างนั้นอยู่ตลอดเวลา

๒.

คนโบราณบ้านหลวงพ่อเคยสอนเอาไว้ว่า "สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ พระนิพพานก็อยู่ที่ใจ" ใจมันอยู่ที่ ไหน? เราเคยเห็นใจเราบ้างไหม? ไม่เคยเห็น เมื่อไม่เคยเห็น เราก็ต้องศึกษาต้องปฏิบัติให้รู้ว่า ใจเราคือ อะไร

นรก คือ ความร้อนอกร้อนใจ มีทุกข์ แล้วในขณะไหนเวลาใด ความทุกข์อันนั้นมันจางคลายไป เราก็ขึ้นสวรรค์ โกรธมาเที่ยวหน้า ตกนรกอีกแล้ว แน่ะ...

บัดนี้เราอยู่แต่เพียงสวรรค์ ไม่ไปตกนรก แต่ว่าไม่รู้จักทิศทางออก ทำอยู่กับโลกียธรรม...เมื่อเราหาทางออกจาก โลกียธรรมไม่ได้ เราก็ต้องหมุนเวียนอยู่ในโลกียธรรม ทำดีกับโลกเป็นวิสัยของคน เป็นวิสัยของสัตว์โลก เป็นวิสัยของสัตว์ ยังไม่เป็นวิสัยของมนุษย์ ยังไม่เป็นวิสัยของพระอริยบุคคล ให้เข้าใจอย่างนั้น

เมื่อเราพ้นทุกข์ได้แล้ว นั่นแหละเป็นวิสัยของโลกุตตรธรรม

๓.

อัน (ที่) เป็นพระพุทธเจ้า คือ จิตใจสะอาด จิตใจสว่าง จิตใจสงบ จิตใจบริสุทธิ์ จิตใจผ่องใส จิตใจ ว่องไว นั่นแหละคือจิตใจของพระพุทธเจ้า ก็มีในคนทุกคน ไม่มียกเว้นเลย

น้ำกับตมเลนนั้น มันไม่ใช่อันเดียวกัน ตมเลนต่างหาก (ที่) ทำให้น้ำขุ่น (แต่) น้ำมันไม่ได้ขุ่น จิตใจ เราก็เช่นเดียวกัน ถ้าเรารู้จักอย่างนั้นแล้ว เราจะค่อยๆตามไป พระพุทธเจ้าท่านจึงว่า อันจิตใจสะอาด จิตใจ สว่าง จิตใจสงบ จิตใจบริสุทธิ์ ถ้าจิตใจบริสุทธิ์แล้ว ขี้ตม ฝุ่นไม่สามารถทำให้น้ำขุ่นได้อีก จิตใจเราก็ผ่องใส ขี้ตมก็จะเป็นตะกอนทะลุออกก้นโน้น จิตใจว่องไว มันก็เบา สามารถมองเห็นอะไรได้ทุกอย่าง

โลกียธรรมกับโลกุตตรธรรมจึงอยู่ด้วยกัน ถ้าหากเรารู้โลกุตตรธรรมจริงๆ แล้ว ก็แยกกันได้หรือออกจากกันได้ (แต่) ถ้าเรายังไม่รู้จริงๆ จะแยกกันไม่ได้

๔.

ธรรมที่ทำให้พระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์นั่นน่ะ ทำให้พระพุทธเจ้าเป็นพระพุทธเจ้า มันมีมาก่อนพระพุทธเจ้า คือ ตัวที่มันจิตใจเป็นปกติอยู่เดี๋ยวนี้นี่แหละ

ในขณะนี้ ที่นั่งฟังหลวงพ่อพูดอยู่ในขณะนี้นี่ ลักษณะชีวิตจิตใจของท่านเป็นอย่างไร?

มันก็เฉยๆ

เฉยๆ เรามีสติรู้ไหม? ถ้าเรามีสติรู้ ลักษณะเฉยๆ นี่ อันนี้แหละที่ท่านว่า ความสงบ ทำงาน พูด คิดอะไรก็ได้ แต่ไม่ต้องไปยุ่งอะไรให้มันมาก

ลักษณะ (นี้) สอนกันนิดเดียวเท่านั้น แต่คนไม่เข้าใจ...ไปทำของง่ายๆ ให้มันยาก ทำของสะดวกสบาย ให้มันยุ่งขึ้นมา

ลักษณะเฉยๆ นี่ ไม่ต้องไปทำอะไรมันเลย

ลักษณะเฉยๆ นี่ มันมีในคนทุกคนเลย แต่เราไม่เคยมาดูที่ตรงนี้...ลักษณะเฉยๆ นี้ท่าน (เรียก) ว่า อุเบกขา วางเฉย

๕.

ความทุกข์เกิดขึ้น เพราะเราไม่เห็นความคิดนั่นแหล่ะ ตัวความคิดจริงๆนั้น มันก็ไม่ได้มีความทุกข์ ที่มันมีทุกข์เกิดขึ้น คือเราคิดขึ้นมา เราไม่ทันรู้ ไม่ทันเห็น ไม่ทันเข้าใจความคิดอันนั้น มันก็เลยเป็นโลภ เป็นโกรธ เป็นหลงไป เมื่อมันเป็นโลภ เป็นโกรธ เป็นหลงไป มันก็นำทุกข์มาให้เรา

ความจริงความโกรธ-ความโลภ-ความหลงนั้น มันไม่มี ตอนมันมีนั้นคือเราไม่ได้ดู "ต้นตอของชีวิต จิตใจ" นี้เอง มันก็เลยโผล่ออกมา

บัดนี้มาทำความรู้สึกตัว มันคิด...เห็น-รู้-เข้าใจ ตัวนี้เป็นตัวสติ เป็นตัวสมาธิ เป็นตัวปัญญา เราเรียกว่า "ความรู้สึกตัว" (เมื่อ) เรารู้สึกตัวแล้ว ความคิดจะไม่ถูกปรุงแต่งไป ถ้าหากเราไม่เห็นความคิดแล้ว มันจะปรุงแต่งเรื่อยไปเลย

อันนี้เป็นวิธีปฏิบัติอย่างลัดๆ อึดใจเดียวก็ได้