#echo banner="" อายตนะหก หลวงปู่เทสก์

อายตนะหก (ดับไฟนรก)

พระราชนิโรธรังสี คัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี)

วัดหินหมากเป้ง อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย

วันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๕

คัดจากหนังสือ ธรรมเทศนา ๒๕๒๕

คัดลอกจากจาก เวบ ธรรมเทศนาแนวปฏิบัติ ของหลวงปู่เทสก์

www.geocities.com/luangpu_thate/data/lesson09.htm

“จิต คือ ผู้นึกปรุงแต่งสัญญาอารมณ์ต่าง ๆ

กิเลส เครื่องเศร้าหมอง คือจิตที่ไปยึดเอา อารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากจิตมาเป็นของตัว

สติ คือ ผู้ควบคุมจิตไม่ให้หลงไปยึดเอา อารมณ์ต่าง ๆ มาเป็นของตัว”

วันพระที่แล้วได้พูดถึงเรื่องธาตุ ๔ ซึ่งเป็นตัวตั้งตัวตีของธาตุทั้งหลาย คราวนี้จะพูดถึงเรื่อง อายตนะหก อายตนะหก คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันก็ออกมาจากธาตุ ๔ นั่นแหละ ถ้าไม่มีธาตุ ๔ เป็นที่ตั้งอายตนะหก อายตนะหกก็ไม่มีเหมือนกัน ไม่ทราบว่าจะไปตั้งไว้ตรงไหน ธาตุ ๔ เป็นตัวตั้ง ของสรรพวัตถุทั้งปวง ไม่สามารถที่จะทําอะไรได้ คราวนี้อายตนะหก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันแยก ออกไปจากธาตุ ๔ ที่จะเกิดกิเลสเพราะอายตนะหก ธาตุ ๔ ไม่เกิดดอก อายตนะเป็นบ่อเกิดของกิเลส ทั้งปวง กิเลสเกิดขึ้นมาแล้วความร้อนก็เกิดขึ้น ความร้อนของกิเลสนั้นได้ชื่อว่า ไฟนรก ความเย็น ไม่มีกิเลสได้ชื่อว่าสวรรค์ นรกและสวรรค์เกิดขึ้นที่จิตนี้ทั้งนั้น ฉะนั้น พระพุทธเจ้าท่านเทศนาเรื่อง อายตนะหกนี้ ให้ชฎิลทั้งสามพี่น้องผู้บูชาไฟว่าเป็นของประเสริฐยิ่ง ตายแล้วอาจสามารถไปเกิดใน สวรรค์ได้

ชฎิล ๓ พี่น้อง คือ ปูรนะกัสสปะ นทีกัสสปะ คยากัสสปะ ตั้งอาศรมอยู่ริมแม่น้ำเนรัญชราโดย ลําดับ พี่ชายใหญ่มีบริวาร ๕๐๐ คน น้องคนที่สองและที่สามมีบริวาร ๓๐๐ และ ๒๐๐ พากันบูชาไฟ เป็นกิจวัตร เห็นว่าไฟเป็นของประเสริฐเลิศยิ่ง มีสิ่งของอันใดที่นิยมว่าเป็นของดิบดี เป็นต้นว่า ขนม นมเนย เอาไปบูชาไฟหมด ถือว่าเป็นบุญกุศลอันยิ่งใหญ่ พระพุทธเจ้าเมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว มอง เห็นอุปนิสัยว่า ชฎิล ๓ พี่น้อง นี้มีนิสัยวาสนาจะสามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้ พระองค์จึงได้เสด็จ ไปโปรดทรมานด้วยประการต่าง ๆ ผลที่สุดก็อ่อนน้อมยอมฟังพระธรรมเทศนา

พระองค์จึงเทศนาเรื่อง ไฟ ที่ชฎิลบูชาให้เข้ากับอายตนะหกในตัวของเรานี้แหละให้ฟัง ไม่ได้ไปเอาไฟที่อื่น เอาความร้อนที่มันเกิดขึ้นภายในใจ คือ ตาก็เป็นของร้อน รูปก็เป็นของร้อน วิญญาณ อาศัยสัมผัสตาก็เป็นของร้อน ความรู้สึกอารมณ์เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย แม้อันใดเป็นสุข เป็นทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์ก็ดี อันนั้นก็เป็นของร้อน ๆ เพราะอะไร ร้อนเพราะไฟ คือ ราคะ โทสะ โมหะ เพราะความเกิด ความเจ็บและความตาย เพราะความโศก ร่ำไร รําพัน เพราะความทุกข์และ ความเสียใจ เรากล่าวว่าเป็นของร้อน

พระพุทธองค์ท่านทรงเทศนาถึง หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ในทํานองเดียวกันนี้ แต่ละอย่างเป็น ของร้อน พระอริยสาวกผู้ได้สดับแล้วย่อมเบื่อหน่ายในอายตนะทั้งหลายเหล่านั้น เมื่อเบื่อหน่ายก็พ้น แล้ว และคลายจากความคิดในอายตนะเหล่านั้น เกิดความรู้ขึ้นในใจว่า เราพ้นแล้วจากความคิดใน อายตนะเหล่านั้น แล้วก็รู้ว่าเราพ้นแล้ว เป็นอันจบพรหมจรรย์ ที่จะประพฤติเพื่อความพ้นจากทุกข์ ไม่มีอีกแล้ว

ผู้เขียนได้กล่าวไว้ในเบื้องต้นว่า สิ่งใดเป็นของร้อน สิ่งนั้นเป็นนรก สิ่งใดเป็นของเย็น สิ่งนั้น เป็นสวรรค์ เมื่อพระพุทธเจ้าท่านทรงแสดงว่า อายตนะภายในทั้งหกซึ่งมีอยู่ในตัวของเรานี้ทั้งนั้นเป็น ของร้อน อายตนะภายนอกมีรูปเป็นต้นก็เป็นของร้อน อายตนะภายในกับอายตนะภายนอกกระทบ กันเกิดความรู้สึกขึ้น แม้อันนั้นก็เป็นของร้อนแล้ว เมื่อทั้ง ๓ อย่าง เป็นของร้อน มันก็เป็นนรกไปหมด ทั้งตัวละซี่ คนมีอายตนะทุก ๆ คนมันเดือดร้อนด้วยไฟ ซึ่งเกิดจาก ราคะ โทสะ โมหะ สุขทุกข์ และ ไม่สุขไม่ทุกข์ ความเศร้าโศกเสียใจ หรือ ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ จิปาถะ ล้วนแล้วแต่เป็น ไฟนรก เมื่อสิ่งแวดล้อมในตัวของเรานี้ล้วนแต่เป็นของร้อน คนเราก็ได้ชื่อว่า เป็นนรกไปหมดทั้งตัว มันจะมีดีที่ไหน เกิดมาเป็นคน สู้สัตว์เดรัจฉานบางพวกไม่ได้ ซึ่งมีอายตนะไม่ครบเหมือนมนุษย์ เช่น งู เป็นต้น ที่พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาว่า เกิดมาเป็นมนุษย์นี้ดีหนักหนา มันก็เป็นของไม่จริงละซี่

เป็นของจริง ถ้าไม่จริงพระพุทธเจ้าไม่ตรัสเทศนาไว้ แต่คนไม่เข้าใจลึกซึ้งถึงความเป็นจริงที่ พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาไว้ต่างหาก เกิดมาเป็นมนุษย์ไม่ดีอย่างไร เป็นมนุษย์แล้วจะทําอะไรก็ได้ ทุกอย่าง เป็นเจ้าเป็นนาย เป็นพระเจ้าแผ่นดิน เป็นพระเจ้าจักรพรรดิราช แม้เป็นพระพุทธเจ้าก็ต้อง เกิดมาเป็นมนุษย์นี้ก่อนจึงจะเป็นได้ นอกจากเป็นมนุษย์แล้วเป็นสิ่งอื่นไม่ได้เด็ดขาด จะไม่ดีอย่างไร แล้วเป็นมนุษย์นี้ธรรมชาติสร้างสรรค์เครื่องใช้มาให้ครบมูลบริบูรณ์ทุกอย่าง แถมยังสร้างอาหลั่ยมา ไว้ให้อีกด้วยเพื่อกันสึกหรอ เช่นตาและหู เพราะเป็นของจําเป็นที่เกี่ยวเนื่องถึงของภายนอก สร้างมาไว้ ๒ อัน เมื่ออันหนึ่งชํารุดแล้วก็จะได้ใช้อีกอันหนึ่งแทนทันที ถ้าไม่ชํารุดก็ใช้ควบคู่กันไปก็ไม่ขัดข้อง ยิ่ง สะดวกใหญ่

ที่พระพุทธเจ้าท่านเทศนาว่า อายตนะทั้งหกเป็นไฟนั้น ท่านเทศนาให้ชฎิลทั้งพันผู้มีนิสัย วาสนาแก่กล้าฟังต่างหาก แล้วก็ให้เข้ากับความนิยมของท่านเหล่านั้น ที่นิยมว่า การบูชาไฟเป็นของดี สามารถไปเกิดในสวรรค์ได้ แล้วก็เทศนาเอาไฟในตัวขึ้นมาอธิบาย สามารถทําลายจิตใจของบุคคลให้ ตกนรกได้ เทียบกับไฟภายนอก ซึ่งสามารถไหม้สรรพสิ่งทั้งปวงให้ย่อยยับไปได้ แม้แต่ตัวของเรา ก็ไม่เว้น ถ้ารักษาไม่ดี ไฟภายนอกไม่รู้จักคุณและโทษอะไรทั้งสิ้น ไฟภายในก็เช่นเดียวกัน ผู้ที่ทําให้ ไฟภายในเกิดขึ้น (คือ จิตใจ) ย่อมทําให้ตกนรกได้เหมือนกัน แต่ผู้ที่มีความสามารถหรือเห็นโทษกลัว ตกนรกแล้ว จะนํามาพิจารณาอย่างชฎิลทั้งพันก็ได้ไม่ห้าม เพราะธรรมะนี้พระพุทธเจ้าท่านทรงแสดง ไว้เป็นของสาธารณะแก่ชนทั่วไป ใครจะนํามาพิจารณาอย่างไรก็ได้ แล้วแต่บุญบารมีของใครจะ สามารถพิจารณาได้มากน้อยเท่าไรก็ตามใจ

พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาว่า อายตนะภายในมี ตา เป็นต้น ก็เป็นไฟ อายตนะภายนอกมี รูป เป็นต้น ก็เป็นไฟ อายตนะภายในและภายนอกกระทบกัน เช่น ตากระทบกับรูป เกิดความรู้สึกขึ้น ก็เป็นไฟทั้งนั้น ตกลงเรากระดิกตัวไม่ได้ล้วนแต่ไฟทั้งสิ้น ตัวอย่างนั้น ผู้เขียนก็บอกว่า คนเราตกนรก อยู่ตลอดเวลาน่ะซี แต่เหตุใดคนเราจึงไม่เดือดร้อน อยู่มาแต่ไหนแต่ไรมาไม่เห็นใครบ่นว่า ตนตกนรก สักคนเดียว

ข้อนั้นอุปมาเหมือนปลาเกิดอยู่ในบ่อน้ำร้อน ว่ายน้ำดำผุดหากิน สนุกสนานอยู่ตามเรื่องของ มัน ไม่เห็นมีความเดือดร้อนอะไร ต่อเมื่อมีคนเอาไปปล่อยในน้ำจืด ปลานั้นจึงจะเดือดร้อน บางทีถึง แก่ความตายก็เป็นได้ นี่ก็ฉันเดียวกัน คนไม่รู้จักของร้อน เมื่อความร้อนยังไม่รุนแรงก็ สำคัญว่าอุ่นดี อยู่ฉันใด บุคคลยังหลงมัวเมาอยู่ในกามคุณห้า หนุ่มสาวเห็นรูปสวย ๆ ก็ชอบใจอยากได้มาเป็นของ ตัว เข้าใจว่า รูปนั้นเป็นเครื่องอบอุ่นชื่นใจ เมื่อรูปนั้นแปรปรวนหรือรูปนั้นห่างเหิน รูปนั้นไม่มีอยู่ใน ที่นั้นก็เป็นทุกข์กลุ้มใจ เศร้าโศกเสียใจ อาลัยอาวรณ์ดิ้นรนแสนสาหัส เพราะราคะ ความกำหนัด รักใคร่ย้อมใจเป็นต้นเหตุ ท่านจึงว่า ราคะเป็นไฟ คนแก่ได้จูบลูก จูบหลาน จิตใจก็เบิกบานชื่นใจ ไม่อยากให้ห่างไกลจากตัว เมื่อลูกหลานห่างไกลไป ก็หาว่าลูกหลานไม่รักตัวพาลโกรธเอา ความโกรธ เกิดจากความรักละ ถ้าถึงคราววิบัติเขาตายลงยิ่งเกิดทุกข์ใหญ่ ความทุกข์ เกิดจากความรักเข้าอีกแล้ว ไฟคือราคะ ย่อมรุมล้อมแต่ต้นมาโดยลำดับ แต่บุคคลไม่เห็น เห็นแต่ความอบอุ่นเพราะความหลง มัวเมา ต่อเมื่อความร้อนคือไฟนั้นมันแรงขึ้นถึงขนาดจนดับไม่ไหวแล้ว จึงจะรู้ว่าไฟนี่ไหม้ได้ มันโหม เอาเต็มที่แล้วดับไม่ไหว ส่วนอายตนะอื่น ๆ ก็ทำนองเดียวกันนี้

กามคุณ ๕ ได้แก่อายตนะภายในและภายนอกทั้ง ๑๒ และที่ อายตนะทั้งสองนั้นสัมผัสกัน นี้เรียกว่า วิญญาณ นี้เป็นต้น เป็นเหตุให้ติด ให้พอใจ ยินดี เพลิดเพลิน หลงมัวเมาจมอยู่ในนั้น จึง เรียกว่า กามภพ พวกที่อยู่ในกามภพนี้แหละ เห็นความร้อนน้อยนั้นว่าเป็นของอบอุ่น ฉะนั้น กามภพ จึงกลายมาเป็น กามภูมิ ติดพันกันเหนียวแน่นเป็นก้อนใหญ่ จนเป็น กามกิเลส จึงเป็นเหตุให้เป็นโลก อันกว้างใหญ่ไพศาลหาประมาณมิได้

ความร้อนที่เรียกว่า ไฟ อันพระพุทธเจ้าทรงตรัสเทศนาแก่ชฎิลทั้งพันนั้น เกิดจากอายตนะ ภายในมีตาเป็นต้น และเกิดจากอายตนะภายนอกมีรูปเป็นต้น แล้วก็เกิดจากอายตนะภายในและ ภายนอกสัมผัสกัน แล้วเกิดความรู้สึกขึ้นที่เรียกว่า วิญญาณ นี้ทั้งนั้น นอกเหนือจากสิ่งเหล่านี้แล้ว ไม่มี ความร้อนที่เรียกว่า ไฟ นั้น ก็เกิดจากกิเลส คือ ราคะ โทสะ โมหะ นี้เป็นมูลฐาน ราคะ โทสะ โมหะ ที่จะเกิดขึ้น ก็เพราะจิตไปปรุงไปแต่งให้มันเกิด ถ้าจิตไม่ไปปรุงแต่งแล้ว กิเลสเหล่านั้นมี ราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้น ไม่ทราบว่าไปอยู่ไหน เป็นตัวตนอย่างไรก็ไม่รู้ อย่างเราอยู่เฉย ๆ กิเลสเหล่านั้นก็ไม่มี

เมื่อเรารู้อย่างนี้แล้ว ไฟราคะ ไฟโทสะ ไฟโมหะ เป็นต้นเหล่านี้มันเกิดจากจิตเป็นต้นเหตุ เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว จงตั้งสติค้นหาตัวกิเลสอันเป็นเหตุให้เดือดร้อนว่า มันเกิดจากอะไรมันจึงทำให้ เดือดร้อน เหมือนกับแพทย์ค้นสมุฏฐานของโรค เมื่อรู้ว่าเกิดสมุฏฐานอย่างนี้แล้วก็จะวางยาถูกให้กับ โรคนั้น ๆ ได้ฉันใด กิเลสอันมีราคะเป็นต้น มันเกิดจากจิต เข้าไปค้นดูจิตอีกที จิต คือ ผู้คิด ผู้นึก สัญญาอารมณ์ต่าง ๆ นั่นคือ จิต แต่ไม่ใช่กิเลส กิเลส คือ เครื่องเศร้าหมองแห่งจิต เครื่องเศร้าหมอง ซึ่งจะเกิดขึ้นมาได้ ต้องไปยึดเอาอารมณ์อันเกิดขึ้นมาจากจิต นั่นแหละกิเลสแท้

พึงเข้าใจว่า จิต คือ ผู้นึกปรุงแต่งสัญญาอารมณ์ต่าง ๆ กิเลส เครื่องเศร้าหมองคือจิตที่ไปยึด เอาอารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากจิตมาเป็นของตัว สติ คือผู้ควบคุมจิตไม่ให้หลงไปยึดเอาอารมณ์ต่าง ๆ มาเป็นของตัว เมื่อเข้าใจลักษณะอาการของสิ่งทั้ง ๓ อย่างนี้แล้ว เราเอาสติมาจับ ควบคุมจิต จิตก็จะ หยุดนิ่งเฉย กิเลสก็ไม่มีในที่นั้น จิตก็กลายเป็นใจ คือ มีแต่ความรู้สึก แต่ไม่คิดนึกปรุงแต่งอะไรทั้ง หมด การฝึกหัดอบรมกัมมัฏฐานทั้งหลาย จะอบรมด้วยวิธีใด ๆ ก็ตาม จะต้องมาลงตรงนี้ด้วยกัน ทั้งสิ้น เว้นแต่การอบรมนั้นจะอบรมไปในแนวปริยัติ ซึ่งจะต้องคิดนึกไปตามปริยัติ ไม่มีที่สิ้นสุด

เมื่อพระพุทธเจ้าทรงตรัสพระธรรมเทศนา อทิตตปริยายสูตร ให้ชฎิลทั้งพัน มีปูรนะกัสสปะ เป็นประธานฟัง โดยยกเอาอายตนะขึ้นมาแสดงว่าเป็นของร้อน เพราะกิเลสมีราคะเป็นต้น ชฎิลเหล่า นั้นมีจิตศรัทธาเลื่อมใสน้อมใจลงเชื่อมั่นในพระธรรมเทศนาของพระองค์ ปลงใจลงเป็นเอกัคคตา- สมาธิแน่วแน่เป็นอารมณ์อันเดียว พิจารณาไปตามก็รู้ชัดเจนขึ้นมาว่า ที่เราถือบูชาไฟว่าเป็นของ ดีแล้ว ตายแล้วสามารถไปเกิดในสวรรค์นั้นผิด ก็เกิดความสลดสังเวชในใจ เบื่อหน่าย คลายจาก ความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ตนเห็นผิดนั้น เมื่อเบื่อหน่ายก็พ้นจากกิเลสเหล่านั้นทั้งหมด เมื่อพ้นแล้ว จิตใจก็ผ่องใส สะอาดเต็มที่ ไม่มัวหมอง แล้วก็เข้าใจว่า เราพ้นแล้ว (ถึงพระอรหัตผล) กิจอื่นที่เรา จะต้องทำเพื่อละกิเลสอีกไม่มีแล้ว

นั่งสมาธิ

(ท่านอาจารย์อบรมนำก่อน)

เอ้า ใช้คาถาดับไฟนรก เสกคาถาดับเลย เอาพุทโธ ๆ นี่แหละดับ เราเสกคาถาพุทโธ บริกรรมเท่านั้นแหละ ความวุ่นวายเดือดร้อนด้วยประการต่าง ๆ หายหมด

ตั้งสติคุมจิตให้แน่วแน่ เอาเฉพาะพุทโธอันเดียว ส่งออกไปข้างหน้าข้างหลังก็ไม่มี ทั้งคิดนึก โน่นนี่ก็ไม่มี ให้ใจอยู่เป็นกลาง ไม่กระทบกระเทือนอะไรทั้งหมด เราเกิดขึ้นมาในโลกมันต้องทำตัว เป็นกลาง ถ้าไม่เป็นกลางไม่เหนือโลก ไม่พ้นจากโลกไปได้ ต้องมีทุกข์อยู่อย่างนั้นร่ำไป

ใจที่เป็นกลาง ๆ แล้วจะมีอะไรกระทบกระเทือนอีก ขอให้รักษาความเป็นกลางนั้นไว้ให้มั่นคง เถอะ ไฟนรกต้องดับลง ณ ที่นั่นแหละ

ลองคิดดู โกรธ มันต้องเพ่งคนโน้น คนนี้ สิ่งโน้น สิ่งนี้ มันไม่เป็นกลาง เพ่งอดีต เพ่งอนาคต มันไม่เป็นกลาง ความเป็นกลาง ไม่มีอะไร ถูกต้อง อยู่คงที่

พุทโธ ตั้งมั่นในคำบริกรรมแล้ว กิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งหลายดับไปหมด ถึงหากไม่ดับสนิท ตลอดเวลา ก็ดับขณะนั้นก็เอาล่ะ ให้ดับได้เสียก่อนขณะนั้น ถ้าหากดับนาน ๆ หลายครั้งหลายหนเข้า หรือดับบ่อย ๆ เข้าก็อาจสามารถจะดับสนิทได้เลย

อย่าเพิ่งดับมันทีเดียวก่อนเลย ไฟนั้นมีทั้งคุณทั้งโทษ ถ้าใข้เป็นประโยชน์ก็ดี ก็เหมือนกับไฟ ภายนอกนั่นแหละ ใช้หุงต้มก็ยังดี ใช้ผิงไฟก็อุ่นในเวลามันหนาว ถ้าใช้ไม่เป็นมันไหม้ตัวของเรา เสียด้วยซ้ำไป ไหม้บ้าน ไหม้เรือน ไฟนี้เราใช้ระงับดับที่ตัวของเราเท่านั้นแหละ คนอื่นอย่าไปดับของ เขาเลย เพราะมันเกิดที่เรา ไม่ใช่เกิดจากคนอื่น เราดับตัวของเราแล้วก็เย็นสบาย

อย่างพระพุทธเจ้า พระอริยสงฆ์สาวก ท่านดับไฟของท่าน ๆ สบายแล้ว ท่านก็อยู่เย็นเป็นสุข ในขณะที่ท่านมีชีวิตอยู่ท่านก็อยู่ในโลกนี้แหละ ท่านไม่ได้หนีจากโลกนี้ดอก เราดับไฟในตัวของเรา แล้ว เราก็สบาย

เราดับ ราคะ ความยินดีพอใจในสิ่งนั้น ๆ โทสะ ความโกรธในสิ่ง ต่าง ๆ ในบุคคลหรือใน วัตุต่าง ๆ แม้แต่ตัวของเราก็โกรธไม่พอใจตัวเองด้วยซ้ำ ไฟมันเกิดขึ้นอย่างนี้ เราดับไฟในตัวของเรา เสียแล้ว คนหมดทั้งโลกนี้จงอยู่ไปตามสบายใจเถิด

เอาละ ทำสมาธิภาวนาดีกว่า