#echo banner="" อนาลโยวาท กัณฑ์ที่ ๑๔ เทศน์โปรดนายแพทย์ อวย เกตุสิงห์ และคณะ หลวงปู่ขาว อนาลโย

อนาลโยวาท กัณฑ์ที่ ๑๔

หลวงปู่ขาว อนาลโย

วัดถ้ำกลองเพล อุดรธานี

คัดลอกจากหนังสือ อนาลโยวาท

พระธรรมเทศนาของพระอาจารย์ขาว อนาลโย และ ประวัติความอาพาธ

คณะศิษยานุศิษย์จัดพิมพ์ถวายโดยเสด็จพระราชกุศล ในการพระราชทานเพลิงศพ

วันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๗

ณ วัดถ้ำกลองเพล ตำบลโนนทัน อำเภอหนองบัวลำพู อุดรธานี

เทศน์โปรดนายแพทย์ อวย เกตุสิงห์ และคณะ

พ.ศ. ๒๕๑๓

ความทุกข์กายเป็นสัตวทุกข์ มีอยู่เป็นสิ่งธรรมดา ให้เราตั้งสติอบรมจิตใจของเรา อย่าให้มันไปยึดถือร่างกาย ถ้าแม้นมันไม่ยึดถือแล้ว ก็จะอบรมจิตใจของเราให้มันสบาย หากใจไม่สบายนี่มันทุกข์หลาย มันทุกข์ก็เพราะยึดเอาอารมณ์นั่นแหละเข้ามายึดถือ อารมณ์ทั้งหลาย อารมณ์ที่ไม่พอใจมันก็ยึดเข้ามา ยึดเข้ามาแล้วก็เข้ามาเผาใจ ไม่พอใจก็เป็นเหตุให้คับแคบตันใจ อารมณ์ที่พอใจนั้น เมื่อมันพลัดพราก เป็นวัตถุภายนอกก็ตาม หรือแม้ญาติมิตรก็ตาม พลัดพรากจากไป มันเป็นทุกข์ ก็เพราะไม่รู้เท่าอารมณ์

พระพุทธเจ้าว่า ของเก่า ของพวกนี้เคยมีมาตั้งแต่เก่า ไม่ใช่จะมีมาเดี๋ยวนี้ เราเกิดมาชาตินี้จึงมาพบปะกันในชาตินี้ สิ่งที่พอใจก็ดี ไม่พอใจก็ดี พบปะอยู่ทุกภพทุกชาติ พวกเราเพราะหลงอันนี้แหละ จึงพากันไม่เห็นความจริง เพราะหลงเรื่องอันนี้แหละ จึงพากันวน พากันเอาภพเอาชาติอีก เปลี่ยนภพเปลี่ยนชาติ เทียวเกิดเทียวตายอยู่ร่ำไป เพราะไม่รู้เท่าสิ่งเหล่านี้

พระพุทธเจ้าว่า ให้พิจารณาให้มันรู้เท่าสิ่งทั้งปวง น้อมมาอยู่อย่างนี้สำหรับโลก ครอบงำโลกอยู่อย่างนี้ ผู้ไม่รู้เท่าก็พอหัด มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ มีสรรเสริญ มีนินทา มีสุข มีทุกข์ เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ แปดอย่างนี้ครอบงำสัตว์โลก เรียกว่า โลกธรรมแปด ครอบงำโลกอยู่เพราะไม่รู้เท่ามัน มันมีอยู่สำหรับโลก เคยมีมาอย่างนี้ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา แต่เราไม่รู้เท่า เราก็หวั่นไหวไปกับมัน มีแต่พระอริยเจ้า พระพุทธเจ้าและพระสาวกของพระพุทธองค์ ได้ยินได้ฟัง พิจารณาแล้วรู้เท่าจึงไม่หวั่นไหว พระพุทธเจ้าเป็นเลิศในโลก ไม่มีใครจะเทียบถึงหมดทั้งสามโลก ถึงปานนั้น โลกธรรมนี่ก็ยังครอบงำพระองค์อยู่ แต่พระองค์ไม่หวั่นไหวในโลกธรรมนั้น มีลาภ จิตของพระองค์ก็ไม่ฟูขึ้น เสื่อมลาภ จิตของพระองค์และสาวกทั้งหลายไม่ยุบลง ไม่มีความหวั่นไหว มีสรรเสริญก็ไม่ฟูขึ้น มีนินทา มีทุกข์ มีสุข ก็ไม่มีฟูขึ้น โลกธรรมมีอยู่อย่างนั้น ใครจะหนีไปไหนไม่พ้น ต้องได้พบอยู่ทุกภพทุกชาติ ครอบงำสัตว์โลกอยู่ทุกภพทุกชาติ ส่องแสงเป็น ฉฬังคุเบกขา ต่ออารมณ์ทั้งหลาย ก็สบายเท่านั้นแหละ ไม่มีความหวั่นไหว ไม่มีความสะดุ้งหวาดเสียวต่ออารมณ์ใด ๆ เป็นลมแท้ ๆ ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ของใคร แล้วแต่จะพิจารณาให้มันเห็นธรรมเหล่านี้เป็นของกลาง ไม่ใช่ของใคร

อัตภาพร่างกายที่เราอาศัยก็ดี สมบัติอันนี้เป็นของกลาง ไม่ใช่ของใคร ถ้าเรามายึดมันก็จะทุกข์ เรามายึดว่าเรา ว่าตัว ว่าตน ว่าผู้หญิง ว่าผู้ชาย เพราะเห็นว่าตัวว่าตนนี่แหละ เมื่อเขาดูถูกดูหมิ่นก็โกรธแค้น เมื่อเขาสรรเสริญก็ฟูขึ้น ชอบ แน่ะว่าตนว่าตัว พระพุทธเจ้าจึงให้พิจารณาให้มันเห็น แยกออกเป็นส่วน ๆ ว่าไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ผู้หญิง ไม่ใช่ผู้ชายหมดทั้งนั้น เป็นของกลางสำหรับใช้ จึงว่าให้พิจารณาให้มันเห็นว่าเป็นธาตุ

ธาตุ ๔ ปฐวีธาตุ ธาตุดิน, อาโปธาตุ ธาตุน้ำ, เตโชธาตุ ธาตุไฟ, วาโยธาตุ ธาตุลม ประชุมกันเข้าเป็นสกนธ์ขึ้น เมื่อมีก้อน มีขันธ์ขึ้นแล้วเรียกว่าขันธ์ แล้วก็มีเวทนาขึ้น ความเสวยอารมณ์เป็นสุข เป็นทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ มีความจำหมายว่ารูป ว่าเสียง ว่ากลิ่น ว่ารส ว่าโผฏฐัพพะ ว่าธรรมารมณ์ มีความปรุงที่ใจ คือจิต เจตสิกปรุง ปรุงดี ปรุงชั่วแล้วแต่มันจะปรุงไป แล้วก็มีความรู้ขึ้น รู้ไปตามอายตนะ เรียกว่าวิญญาณความรู้ รู้วิญญาณทางตา วิญญาณทางหู วิญญาณทางจมูก วิญญาณทางลิ้น ทางกาย วิญญาณทางใจ พระพุทธเจ้าจึงว่าคน ว่าธาตุประชุมกัน

ธาตุทั้ง ๔ รวมเรียกเป็นขันธ์ ๕ มี รูปขันธ์

เวทนา ความเสวยอารมณ์เป็นสุข เป็นทุกข์ เฉย ไม่สุขไม่ทุกข์ เป็น เวทนาขันธ์

สัญญา ความจำได้หมายรู้ เป็น สัญญาขันธ์ ๑ 

สังขาร ความปรุงความแต่ง ปรุงเป็นบุญ เป็นบาป หรืออะไรก็ตาม เรียกว่า สังขารขันธ์ ๑ 

วิญญาณ ความรู้ทางอายตนะทั้ง ๖ เรียก วิญญาณขันธ์

รวมกันเป็นขันธ์ ๕ ขันธ์อันนี้เป็นเครื่องรับรอง รับรองสิ่งทั้งปวงทุกสิ่งทุกอย่าง อารมณ์ดีก็รับ อารมณ์ไม่ดีก็รับ อะไร ๆ ก็รับ รับเอาหมดทั้งนั้น

ท่านจึงว่าเป็นของหนัก ไหนคน อยู่ที่ไหนล่ะ นี่เป็นรูปขันธ์ ไม่ใช่คนนะ นี่เป็นเวทนาขันธ์ ไม่ใช่คน ไหน คนอยู่ไหน ต้องค้นคว้าไป พิจารณาอยู่อย่างนั้น ให้มันเห็นเป็นความจริงของขันธ์อันนี้

หรือให้พิจารณาปัญจกกรรมฐาน กรรมฐาน ๕ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง นี่พระองค์ก็แยกไว้ว่า ไม่ใช่คนสักอย่าง

แจกออกไปถึงอาการ ๓๒  คนอยู่ที่ไหน ธาตุดิน ก็มีลักษณะข้นแข็ง หลายธาตุรวมกัน ไล่ออกไป ธาตุดิน มี ๒๐ ธาตุน้ำมี ๑๒ ไหน คนมีที่ไหน ธาตุไฟอบอุ่น เผาอาหารให้ย่อย ไฟเผาร่างกายให้กระวนกระวาย ธาตุไฟมี ๔ อัน นี่ก็ไม่ใช่คน ธาตุลม ๖ ลมพัดขึ้นเบื้องบน ลมพัดลงเบื้องล่าง ลมพัดในท้องในไส้ ลมพัดทั่วไปในร่างกาย ลมหายใจเข้าออก ธาตุลม ๖ ไหน คนอยู่ที่ไหน

ให้พิจารณาให้มันรู้เท่าว่าเป็นธาตุ ไม่ใช่คน เรามาหลงอันนี้แหละ หลงว่าตัว ว่าตน ว่าหญิง ว่าชาย เมื่อเป็นรูปเป็นกายมาแล้ว พระองค์สั่งสอนให้พิจารณาเห็นรูปอันนี้ เกิดเป็นก้อนขึ้นมา แล้วประกอบไปด้วยทุกข์โรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ นานา เกิดเป็นรูปมาแล้วก็ต้องแตกต้องดับ ไม่ยั่งยืนคงทนอยู่ได้ ให้พิจารณาให้มันเห็น ให้มันรู้จักชาติ ความเกิด เกิดขึ้นมาแล้วก็เป็นทุกข์ ชรา ความแก่คร่ำคร่าทรุดโทรมก็เป็นทุกข์ มรณะ ความตายก็เป็นทุกข์ แล้วก็โศกะ ปริเทว ทุกข์โทมนัส ปายาส ความคับแค้น อัดอั้นตันใจ เกิดขึ้นก็เป็นทุกข์ ท่านให้พิจารณา เห็นเกิดขึ้นเป็นทุกข์ทั้งนั้น อยู่ในกองทุกข์

กองทุกข์นี่มันเกิดมาจากไหน เพราะเกิดเป็นรูปเป็นกายขึ้นมา อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มันเกิด ก็คือความอยาก ความหลง นี่แหละเรียกว่าความกำหนัด ความชอบใจ กำหนัดเรียกว่ากาม ความกำหนัดในกิเลสกาม วัตถุกามก็ตาม เรียกว่ากามตัณหา เรียกว่าตัณหา ความทะเยอทะยาน ความเพลิดเพลินในอารมณ์ทั้งหลาย ความอยากเป็นอยากมี ความอยากเป็นโน่นเป็นนี่ เรียกว่าภวตัณหา ความไม่อยากเป็นมาอยากมีเรียกว่า วิภวตัณหา ความเกลียดความชัง เหมือนอย่างผมหงอก ฟันหัก หนังหดย่นเป็นเกลียว ไม่ชอบ ไม่อยากให้มันเป็น ความแก่ความเจ็บ ไม่อยากให้มันเป็น แล้วก็ไม่พิจารณาให้มันเห็น ตัณหาทั้ง ๓ นี้ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เที่ยวเกิดเอาทุกภพทุกชาติ เพราะความหลงอันนี้ พระพุทธเจ้าจึงสอนให้ละตัณหาทั้ง ๓ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา มันเกิดที่ไหน ตั้งอยู่ที่ไหน ต้องค้นหาที่ตั้งที่เกิดของมัน

จกฺขํ โลเก ปิยรูปํ สาตรูปํ เอตฺเถสา ตณฺหา อุปฺปชฺชมานา อุปฺปชฺชติ เอตฺถ นิวิสมานา นิวิสติ ฯ ตัณหาจะเกิดขึ้น ก็เกิดขึ้นที่ตา จะตั้งก็ตั้งอยู่ที่ตา จะเกิดขึ้นที่หู ก็ตั้งอยู่ที่หู เกิดขึ้นที่จมูก ก็ตั้งอยู่ที่จมูก เกิดขึ้นที่ลิ้น ก็ตั้งอยู่ที่ลิ้น เกิดขึ้นที่กาย ก็ตั้งอยู่ที่กาย เกิดขึ้นที่ใจ ก็ตั้งอยู่ที่ใจ เกิดขึ้นที่รูป ก็ตั้งอยู่ที่รูป เกิดขึ้นจากเสียง ตั้งอยู่ที่เสียง เกิดขึ้นจากกลิ่น ตั้งอยู่ที่กลิ่น เกิดขึ้นจากรส ตั้งอยู่ที่รส เกิดขึ้นจากสัมผัส ตั้งอยู่ที่สัมผัสนี่บ่อนมัน ทางมันเกิดขึ้น เกิดขึ้นทางจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ เกิดขึ้นจากความกระทบกันทั้งทางกาย ทางวาจา ทางใจ นี่ทางมันเกิดขึ้น ตั้งอยู่อันนี้ เกิดขึ้นแล้วตั้งอยู่อันนี้ เกิดขึ้นจากเวทนา ความสัมผัสทั้งกาย ทั้งวาจา ทั้งใจ สัมผัสทั้งรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เมื่อจำได้รูปตัณหา ความกำหนัด ความชอบในรูป สัททตัณหา ความชอบในเสียง คันธตัณหา ความชอบในกลิ่น รสตัณหา ความชอบในรส โผฏฐัพพตัณหา ความอยากถูกต้อง เย็นร้อนอ่อนแข็ง ฟูกนอนหมอนอันนี้ ธัมมาตัณหา คือ อารมณ์อดีต อนาคต มันสุมอยู่ในใจ เกิดเป็นตัณหาขึ้น ความคิดถึงรูป กลิ่น เสียง รส โผฏฐัพพธรรมารมณ์ ตรึกตรองถึงรูป กลิ่น เสียง รส โผฏฐัพพธรรมารมณ์ นี่แหละตัณหาจะเกิดขึ้น

ธมฺมวิจาโร โลเก ปิยรูปํ สาตรูปํ เอตฺเถสา ตณฺหา อุปฺปชฺชมานา อุปฺปชฺชติ เอตฺถ นิวิสมานา นิวิสติ ตัณหามันเกิดขึ้นอยู่ที่ไหน ตั้งอยู่ที่ไหน เมื่อจะดับตัณหา ดับที่ไหน ก็จะต้องดับตามอายตนะ สิ่งใดเป็นที่รักสนิทใจในโลก ตัณหาจะเกิดขึ้น อะไรเป็นที่รักสนิทใจในโลก ตาเป็นที่รักสนิทใจในโลก ตัณหาจะเกิดขึ้น ก็เกิดขึ้นที่ตา ตัณหาจะตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่ตา หูเป็นที่รักสนิทใจในโลก เมื่อจะดับก็ต้องดับตานี้ คือสำรวมไม่ให้มันเห็น มีสติประจำ ไม่ให้มันดู เหตุนั้น พระพุทธเจ้าจึงให้สำรวมอินทรีย์ สำรวมตา ให้สำรวมหู สำรวมจมูก สำรวมลิ้น สำรวมกาย สำรวมใจ อย่าไปให้ยินดียินร้าย อย่าดูมัน อย่าฟังมัน ทำเป็นหูหนวก กินอีเก้งเสีย นั่นแหละมันจึงสบาย ให้ชื่อว่าดับอายตนะ นี่แหละหมดทุกสิ่งทุกอย่างที่จะไปสู่ทางทวารทั้งหก 

จกฺขํ โลเก ปิยรูปํ สาตรูปํ เอตฺเถสา ตณฺหา ปหียมานา ปหียติ เอตฺถ นิรุชฺฌมานา นิรุชฺฌติฯ บุคคลจะดับก็ต้องดับที่จักขุนี่ บุคคลจะปล่อยวาง ก็ต้องปล่อยวางที่จักขุ ดับที่จักขุ ดับไปตลอด จักขุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กายใจนี้ดับไป ปล่อยวางหมด สิ่งเหล่านี้ เห็นว่าตนเป็นของกลางไม่ใช่ของใคร เป็นของกลาง แล้วสมบัติอันนี้เป็นสมบัติดี บริบูรณ์ดี จะใช้ให้มันทำความเพียร ใช้ให้มันเดินจงกรม ให้ให้มันนั่งสมาธิ ใช้ให้มันค้นคว้าพิจารณาร่างกาย อาศัยมัน มันเป็นสมบัติดี ใช้แล้วเหมือนกับเครื่องทัพสัมภาระที่เขาเก็บมา หามาพอทุกสิ่งทุกอย่าง จะปรุงบ้านปรุงเรือนปรุงอะไรก็ตาม ปรุงรถ เครื่องยนต์ เครื่องอะไรก็ตาม เขาหามาแล้วเขาต้องใช้ หามาแล้ว ปรุงขึ้นแล้ว เป็นรถแล้ว เขาต้องใช้บรรทุกจนเต็มกำลัง เมื่อมันทำขึ้นใหม่ ๆ นี้ ครั้นมันชำรุดทรุดโทรม มันก็บรรทุกไม่ได้อีกละ เหมือนกับร่างกายของเรา มันเฒ่ามันแก่แล้ว ชำรุดทรุดโทรมแล้ว ไม่มีความสามารถจะทำความเพียรได้ เมื่อยังน้อยยังหนุ่ม รีบใช้มันเสีย มันชำรุดทรุดโทรมใช้ไม่ได้ จะนั่งหลายก็เจ็บเอว เดินหลายก็เจ็บแข้งเจ็บขา มันแก่มาแล้ว นอนมันก็เมื่อย ไม่มีความผาสุก ไม่มีความสบาย เอ้าเป็นอย่างไร นอนตะแคงก็เจ็บ นอนหงายก็เจ็บ ข้างซ้ายอีก ก็เจ็บอยู่อย่างนั้นแหละ ของมันเก่ามันแก่มาแล้ว กายมันถูกต้องโผฏฐัพพะ มีแต่เจ็บแต่แข็งหมด เมื่อยังหนุ่มยังน้อยอย่างนี้ ถูกต้องนั่งนอนอย่างไรก็พอนอนพอนั่ง มันเฒ่าแก่มาแล้วมีแต่กระดูก นอนไปข้างไหนมันก็เจ็บ นอนไปไม่ได้นาน ยี่สิบนาทีละพลิกข้างโน้น พลิกข้างนี้มันแสนลำบาก เมื่อมันยังดี แข็งแรงอยู่อย่างนี้ละ รีบใช้มันเสีย มันเป็นคนดีทางโลก

โลกัตถประโยชน์ ญาตัตถประโยชน์ อัตถประโยชน์ ประโยชน์ตนยังไม่ทันได้ ประโยชน์ตนคือทำความเพียร คือทำจิตให้สงบเป็นสมาธิ จิตมันดีแล้วให้มันสงบเป็นสมาธิ ครั้นมันเป็นสมาธิแล้ว ทำให้มันแน่วแน่ มีอารมณ์อันเดียวแล้ว ก็จิตนั่นแหละ มันจะเป็นดวงปัญญาขึ้น มันจะส่องแสง มันมีกระแสจิตพุ่งออก พิจารณากายอีก ซ้ำอีกทีก็จะเห็นชัด ครั้นมันสงบแล้ว พระพุทธเจ้าก็ให้พิจารณาสัจจะของจริงทั้งสี่ สัจธรรมของจริง ของจริงของดีของพระพุทธเจ้า ของพระสาวกผู้ได้ยินได้ฟังแล้วเห็นจริงอย่างนั้น จริงอย่างไร ดีอย่างไร ดีเพราะว่าเหมือนดังพระสาวก ท่านทั้งหลายเบื้องต้นก็เป็นปุถุชนนี่แหละ เมื่อได้ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า พิจารณาเห็นตาม เห็นแล้วเกิดนิพพิทาในเบญจขันธ์ ว่ามันไม่ใช่ของเรา เป็นเพียงของใช้ ไม่ใช่ของเรา นี่แหละเห็นจริงชัดแล้ว ก็ละถอนปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นถือมั่น ทำให้ปุถุชนเป็นพระอริยเจ้าได้ จึงว่าของจริง สมุทัย สาเหตุให้เกิดทุกข์ ก็เป็นของจริงอันประเสริฐ นิโรธ ความดับ ก็เป็นของจริงอันประเสริฐ

มรรคปฏิปทา คือเรารักษาศีล เราภาวนา เดินจงกรม ก็นี้แหละ มรรคปฏิปทา เพื่อจะให้ก้าวไปถึงนิโรธ อันนี้การปฏิบัติ การเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา อิริยาบถทั้ง ๔ อันนี้เป็นมรรคปฏิปทา เรียกว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา อริยสจฺจํ ผู้ใดปฏิบัติให้มีให้เกิดขึ้น ให้สมบูรณ์แล้วด้วยธรรมเหล่านี้ เพื่ออบรมจิต มรรคปฏิปทาให้จิตตั้งเป็นสมาธิ มันเกิดสมาธิ แล้วก็เกิดญาณ เพราะบำรุงมรรคนี่เสียก่อน ให้เกิดให้มีขึ้น มรรคว่าทางอันประเสริฐ เป็นทางเดินไปสู่ความวิมุติ ความหลุดพ้นจากอาสวะ ให้ถึงวิโมกข์ ความพ้น ทำเอาเอง พระพุทธเจ้าเป็นแต่ผู้บอก ทำเอาเอง ผู้อื่นทำให้ไม่ได้ ใครทำใครเอา เหมือนกับรับประทานอาหาร ต้องทานใครทานเรา ใครตั้งใจทานก็อิ่มท้องเอง ธรรมมีอยู่ที่ไหน ไม่อยู่ที่อื่น ไม่ได้ไปหาเอาที่ป่าที่ดง แม่นหมดทั้งสกนธ์กายนี้ แม่นหมดทั้งก้อนนี่แหละเป็นธรรม พระองค์ชี้เข้ามาที่นี่ ไม่ได้ชี้ไปที่อื่น ชี้เข้ามาที่สกนธ์กายนี้ ใช้อันนี้ทำ ยืน เดิน นั่ง นอน มีอยู่นี่พอแล้ว ไม่ต้องไปหาเอาที่อื่น ทุกขสัจจ์ก็มีพออยู่นี่แล้ว สมุทัยสัจจ์ ความโลภ ความโกรธ ความหลงก็มีอยู่นี่แล้ว นิโรธสัจจ์ ความรู้แจ้ง ความเห็นจริง ตามความเป็นจริงก็มีอยู่ที่นี่แล้ว มรรคปฏิปทาก็มีอยู่ที่นี่แล้ว แม้เราจะเป็นผู้เดิน ผู้ยืน เป็นผู้นั่ง ใคร่ครวญพิจารณาหาเหตุผล เราจะไปหาเอาที่ไหน สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ทั้งก้อนนี้ไม่ใช่ของใครทั้งหมด ไม่ใช่ของใครทั้งหมดทั้งนั้น แต่มันเป็นอนัตตาไม่ใช่เรา

พระพุทธเจ้าบอกแล้ว รูปํ อนิจฺจํ เวทนา อนิจฺจา สญฺญา อนิจฺจา สงฺขารา อนิจฺจา วิญฺญาณํ อนิจฺจํ รูปํ อนตฺตา บอกซื่อ ๆ นี่แหละ ไม่มีลี้ลับสักหน่อย แล้วเราไม่เห็น มันดูไม่ถูก เรานี่ ที่เรานี่แหละ พุทธทาสบอกว่า ตัวกู ตัวของกู เหมือนนกเขานั่นแหละ ครั้นปล่อยวางเป็นของกลางแล้ว เป็นของใช้แล้ว ต้องปฏิบัติ มันอยู่นี่แหละ ไม่ได้ทิ้งดอก ไม่แม่นของเรา แต่เราอาศัยแล้ว เราก็ต้องปฏิบัติมัน อาบน้ำชำระกายให้มัน นุ่งผ้าห่มผ้าให้มัน มันนอนก็ห่ม ฝนตกก็ห่ม แดดออกก็ห่ม ต้องรักษาเหมือนกันกับของใช้นั่นแหละ เราจะไปทิ้งเลเพลาดพาดอย่างนั้น มันก็ใช้การไม่ได้ มีอยู่นี่แล้ว เราไม่ได้ไปเอาที่อื่น พระพุทธเจ้าบอกให้แล้ว ธรรมแม่นหมด ก้อนใครก้อนเรานี่เน้อ สมมุติว่าผู้หญิงผู้ชายต่างหาก นี่แหละมันหลงสมมุติ จะว่าก้อนสมุทัยก็แม่นหมดทั้งก้อนนี่แหละ เราหลงสมมุตินี่แล้วว่า หนังของเราดี ว่าเล็บของเราดี ว่าฟันของเราดี ผมของเราดี สวยงาม งามก็เอาไปมาเผาให้มันงอ พอมันหงอกมาก็เอาน้ำย้อมมา มันจะขายหน้าเขา ย้อมดำ บทมันป่ง (งอก) ขึ้นมา มันก็น่าเกลียดขึ้น ขายหน้าขึ้น หนังหน้ามันเหี่ยวก็เอาอีหยังมาทา แล้วก็เอาครุถังน้ำอีหยังตั้งบนหัวนี่ มันร้อนนี่ มันไม่ชอบ มันเบื่อหน่าย มันร้อน ให้หนังหน้ามันแห้ง มันลอกออกเหมือนกันกับไข่ อันนี้ มันลอกออก มันก็อยู่ไปซัก ๒-๓ วัน มันก็เหี่ยวอย่างเก่าอีก ครือเก่า โอ๊ย อันนี้ไม่ชอบละ ความไม่ชอบมันก็วิภวตัณหาน่ะ แล้ว ๒-๓ วันมันก็ลอกออก มันก็เหี่ยวครือเก่า ของเก่า นี่แหละมันหลงอันนี้ละ แม่นตัวสมุทัยหมดทั้งก้อน ผมมันก็ตัวสมุทัย เล็บ ฟัน หนัง แม่นหมด แม่นตัวมรรคหมดทั้งก้อน ครั้นชำระ ครั้นพิจารณาดู แม่นตัวนิโรธ แม่นตัวทุกข์หมดทั้งก้อน ผมไม่สระสางมันก็เหม็นสาบ ต้องสระต้องสาง เล็บเอาไว้ยาวมันก็น่าเกลียดน่าชัง ดำก็ปานหยัง น่าเกลียด เขี้ยว (ฟัน) ถ้าไม่ขัดไม่นั่นมันก็มีขี้เต็ม มันไหลออกทั้งกลางวันกลางคืน ทั้ง ๙ ทวารนี่แหละไหลออก ฟันนั่นไม่มีรู้ตัว ว่าตัวดีอยู่ ว่าดี ว่าหอม พระพุทธเจ้าว่า ให้ดู ให้พิจารณา ให้ดูไม่งาม อสุภะอสุภัง ปฏิกูลํ น่าเกลียด อัตภาพร่างกายนี้ไม่ให้เห็นว่าเป็นสุภะ คือความสวยความงาม มันหลงอะไรล่ะ มันหลงหนัง