#echo banner="" นรกสวรรค์ในพระไตรปิฎก 01 พระธรรมปิฎก

นรกสวรรค์ในพระไตรปิฎก ๑

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

วัดญาณเวศกวัน ต.บางกระทึก อ.สามพราน จ.นครปฐม

บรรยายแก่คณะอาจารย์และนักศึกษาวิทยาลัยครูสวนดุสิต

จากหนังสือ: กรรม นรก-สวรรค์สำหรับคนรุ่นใหม่

โพสท์ในลานธรรมเสวนา หมวดชีวิตกับธรรมะ กระทู้ที่ 13328  โดย : mayrin16 พ.ย. 47

ท่านอาจารย์ได้ตั้งหัวข้อเรื่องไว้ให้อาตมาก่อน กล่าวคือขอให้พูดเรื่อง นรก-สวรรค์ในพระไตรปิฎก นรก-สวรรค์นี้เป็นเรื่องใหญ่ และเป็นเรื่องยากอยู่แล้ว ท่านยังจำกัดขอบเขตด้วยว่าให้พูดในพระไตรปิฎก ก่อนจะเข้าสู่เนื้อหามีเรื่องที่ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับตัวผู้พูด และเรื่องที่จะพูดในแง่ของพระพุทธศาสนา ว่ามีความสำคัญแค่ไหนเพียงไร อันเป็นเรื่องที่ควรทำความเข้าใจกันเบื้องต้น อาตมาต้องออกตัวเสียก่อน คือสำหรับอาตมาถือว่าเรื่องนรก-สวรรค์เป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องใหญ่มาก แต่กระนั้นอาตมาเองขณะนี้ยังไม่ได้ให้ความสนใจเท่าที่ควร ยังไม่ได้เอาจริงจังอะไรนักในเรื่องนี้ ก็กำลังค้นคว้าเรื่องพระพุทธศาสนาอยู่ แต่ตอนนี้ยังไม่ได้มาเน้นเรื่องนี้ คือว่าเป็นเรื่องที่ต้องค่อย ๆ ว่ากันทีละขั้นละตอน

ความสำคัญของนรก-สวรรค์ในแง่พระพุทธศาสนา

ทีนี้หันไปพูดเรื่องนรก-สวรรค์ในแง่พระพุทธศาสนา นรก-สวรรค์มีความสำคัญแค่ไหน ศาสนาทุกศาสนามีเรื่องนรก-สวรรค์  เป็นเรื่องที่คนถามกันมาตลอดว่ามีจริงไหมเป็นอย่างไร ในประเพณีของเราก็มีการพูดเรื่องราวเกี่ยวกับนรก-สวรรค์  ในทางวรรณคดีก็ตาม ศิลปกรรมก็ตาม ก็จะมีเรื่องนรก-สวรรค์ไปเกี่ยวข้องด้วย เช่น ภาพฝาผนังตามปูชนียสถานต่าง ๆ ก็มีเรื่องเหล่านี้มากมาย  แต่ว่าเราควรมาดูในแง่หลักการก่อนว่า เรื่อง นรก-สวรรค์กับพระพุทธศาสนามีความสัมพันธ์กันแค่ไหนเพียงใด

อาตมาได้บอกแล้วว่า นรก-สวรรค์เป็นเรื่องสำคัญเป็นเรื่องใหญ่ ทีนี้มาดูในแง่พระพุทธศาสนา ความสำคัญของนรก-สวรรค์ถ้าเทียบกับศาสนาทั่ว ๆ ไป มันลดลงไปหน่อย

ทำไมจึงว่าอย่างนั้น คือในศาสนาเป็นอันมาก นรก-สวรรค์เป็นจุดสุดท้ายแห่งการเดินทางชีวิตของมนุษย์ บางศาสนาบอกว่ามี นรกนิรันดร สวรรค์นิรันดร  เช่นว่าเราอยู่ในโลกมีชีวิตครั้งนี้ทำความดีความชั่ว เมื่อตายไปวิญญาณจะไปรอจนถึงวันสิ้นโลก แล้วก็มีการตัดสิน  ผู้ที่ควรได้รับรางวัลก็จะได้ไปอยู่สวรรค์นิรันดรตลอดไป หรือผู้ที่ควรได้รับโทษก็จะถูกตัดสินให้ตกนรกนิรันดร ในแง่นี้ นรก-สวรรค์เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเป็นจุดสุดท้าย เป็นจุดหมาย

ทีนี้มามองดูในพระพุทธศาสนา เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว ความสำคัญของนรกสวรรค์มันจะด้อยลงไป เอาสวรรค์ก็แล้วกัน เพราะเป็นสิ่งที่เราต้องการ  สวรรค์ไม่ใช่จุดหมายของพระพุทธศาสนา จุดหมายของพระพุทธศาสนาบอกว่า มีสิ่งที่สูงกว่านั้น สิ่งที่สำคัญกว่าสวรรค์คือนิพพาน   สวรรค์นี้เมื่อไม่ใช่จุดหมาย ความสำคัญของมันก็ด้อยลงไป

เราจะปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา ถ้าจะปฏิบัติให้แท้จริงให้ตรงตามหลักการ เราก็บอกว่าไม่ใช่เพื่อจะไปสวรรค์ แต่เพื่อจะนิพพาน สวรรค์กลายเป็นเรื่องขั้นตอนที่อยู่ในระหว่าง ความสำคัญของสิ่งที่อยู่ในระหว่างย่อมจะลดน้อยลงไป น้อยกว่าสิ่งที่เป็นจุดหมายสุดท้าย นี้เป็นเรื่องธรรมดา

ทีนี้ประการต่อไป นรก-สวรรค์ตามที่รู้กันหรือพูดถึงกันอยู่ เป็นเรื่องที่ได้รับ หรือไปประสบหลังจากตายแล้ว ศาสนาอื่น ๆ ก็ว่าอย่างนี้ เมื่อตายไปแล้วจะไปนรกหรือสวรรค์ เป็นเรื่องชีวิตหน้า ทีนี้จุดหมายในพระพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่บรรลุได้ในชาตินี้ นิพพานสามารถบรรลุได้ในชาตินี้ตั้งแต่ยังเป็น ๆ อยู่ นี่เป็นแง่ที่สองที่ทำให้ความสำคัญของสวรรค์-นรก น้อยลงไป  เราอาจบรรลุจุดหมายสูงสุดได้ในชาตินี้แล้ว เราก็ไม่ต้องพูดเรื่องหลังจากตายแล้ว เรื่องนรก-สวรรค์ไม่ต้องมาเกี่ยวข้อง

ต่อไปในข้อที่สาม  นรก-สวรรค์ในพระพุทธศาสนาเป็นเพียงส่วนหนึ่งในสังสารวัฏ คือการเวียนว่ายตายเกิด สังสารวัฏมีการเปลี่ยนแปลงได้  ชีวิตของเราเดินทางไปในสังสารวัฏ มีหมุนขึ้น หมุนลง ตกนรกแล้วต่อไป ถ้าเรามีกรรมดีก็กลับไปขึ้นสวรรค์ มาเกิดเป็นมนุษย์ คนที่เกิดเป็นพระพรหมด้วยกรรมดีบำเพ็ญญาณสมาบัติ ต่อไปเมื่อสิ้นบุญแล้วกลับไปตกนรกเพราะมีกรรมชั่วในหนหลังก็ได้ มันก็หมุนเวียนไปมา

ฉะนั้น นรก-สวรรค์นี้ก็เป็นเพียงส่วนที่หมุนเวียนอยู่ในระหว่าง แล้วก็เป็นของชั่วคราวเพราะฉะนั้นความสำคัญก็ลดลง เพราะเรามีโอกาสที่จะแก้ตัวได้มาก นี้เป็นเรื่องที่เราควรทำความเข้าใจในเบื้องต้น เพื่อจะได้เห็นฐานะของนรก-สวรรค์ในพระพุทธศาสนา ในแง่นี้ ถ้าเราไปเปรียบเทียบกับศาสนาที่ถือเรื่องนรก-สวรรค์เป็นนิรันดร เป็นสิ่งสุดท้ายที่มนุษย์จะประสบ มันก็จะมีความแตกต่างกันได้มาก เมื่อทำความเข้าใจเบื้องต้นอย่างนี้แล้ว ก็พูดถึงเนื้อหาเรื่องตัวนรก-สวรรค์โดยตรง

ข้อพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องนรก-สวรรค์

เอาละทีนี้มาพูดถึงเรื่องนรก-สวรรค์ เข้าสู่เนื้อหา เรื่องนรก-สวรรค์มีแง่ที่ต้องแยกอีก ๒ อย่าง

แง่ที่หนึ่งคือ ความมีอยู่จริงหรือไม่ นรก-สวรรค์มีจริงไหม แง่ที่สองคือท่าทีของชาวพุทธ หรือท่าทีของพุทธศาสนาต่อเรื่องนรก-สวรรค์

นี่ต้องพูดทั้งสองแง่ จะพูดแง่เดียวไม่พอ เพราะมันสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน สำหรับพุทธศาสนานี้อาตมาขอพูดไว้ก่อนว่า เรื่องท่าทีต่อนรก-สวรรค์ เป็นสิ่งสำคัญมาก เราจะต้องวางท่าทีให้ถูกต้อง พูดเกริ่นไว้หน่อยว่า เรื่องนรก-สวรรค์จัดอยู่ในประเภทสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้สำหรับคนสามัญ ที่ว่าพิสูจน์ไม่ได้นี้หมายถึงทั้งในแง่ลบแง่บวก คือจะพิสูจน์ว่ามีก็ยังเอามาแสดงให้เห็นไม่ได้ จะพิสูจน์ว่าไม่มีก็ยังไม่สามารถแสดงให้เห็นว่ามันไม่มีให้มันเด็ดขาด พูดไม่ได้ทั้งสองอย่าง แต่บางคนอาจบอกว่าเมื่อพิสูจน์ไม่ได้ว่ามี มันก็ไม่มี ไม่ถูก การพิสูจน์ต้องพิสูจน์ด้วยอายตนะ สิ่งที่เห็นได้ สิ่งที่จะรู้ด้วยการเห็น ก็ต้องเอามาให้ดูด้วยตา

สิ่งที่จะรู้ได้ด้วยการได้ยิน ก็ต้องพิสูจน์ด้วย ก็ต้องพิสูจน์ด้วยการเอามาทำให้ได้ยินเสียง เป็นอันว่าต้องพิสูจน์ให้ตรงตามอายตนะ จะพิสูจน์ว่าเสียงมีไม่มี จะพิสูจน์ด้วยตาได้ไหม ไม่ได้ พิสูจน์ว่ารสมีไหม พิสูจน์ด้วยหูก็ไม่ได้ ไม่ได้เรื่อง มันต้องตรงตามอายตนะกัน ทีนี้นรก-สวรรค์พิสูจน์ด้วยอะไร พิสูจน์ด้วยตา ด้วยหู ด้วยจมูก ลิ้น กายไม่ได้ มันต้องพิสูจน์ด้วยชีวิต ที่ใจนั้นเอง

เราดูหลักง่าย ๆ ไม่ต้องพูดลึกซึ้ง เราถือว่าจิตเป็นแกนของชีวิต เป็นตัวทำหน้าที่เกิดจะพิสูจน์เรื่องนรก-สวรรค์ว่าตายแล้วไปเกิดหรือไม่ ก็ต้องพิสูจน์ด้วยจิต คือลองตายดู

ทีนี้พอบอกว่าจะพิสูจน์ด้วยตาย ก็ไม่มีใครยอม เพราะต้องพิสูจน์ด้วยตนเอง จะให้คนอื่นพิสูจน์ไม่ได้

เราบอกว่า คนหนึ่งตายแล้ว เขาไปเกิดที่ไหน เราไม่รู้ ตัวเขาเป็นผู้พิสูจน์ เราเป็นแต่ผู้ไปดู เหมือนเขาลิ้มรสแล้วเราดูเขาลิ้มรส เราจะไปรู้ได้อย่างไรว่าเขารู้รสจริงหรือเปล่า มันไม่ได้ลิ้มรส เป็นแต่ดูเท่านั้นเอง และในเรื่องของชีวิตนี้ก็จะต้องพิสูจน์ด้วยตัวจิต เมื่อจะพิสูจน์ด้วยการที่ต้องตาย เราก็ทำไม่ได้ ไม่มีใครกล้าทำ

เกิดเป็นปัญหาที่ติดอยู่ตรงนี้พิสูจน์ไม่ได้ นี่เป็นเรื่องเกร็ดแทรกเข้ามา เราจะต้องพูดกันต่อไปอีก เป็นอันว่าในตอนนี้พูดว่า เรื่องนรก-สวรรค์เป็นเรื่องพิสูจน์ไม่ได้ ทั้งในแง่บวกแง่ลบว่ามีหรือไม่มี สำหรับสิ่งที่พิสูจน์ออกมาให้เห็นชัดไม่ได้อย่างนี้ ทางพุทธศาสนามีหลักให้ปฏิบัติคือการวางท่าทีเป็นสำคัญ เรื่องบางเรื่องถ้ารอให้พิสูจน์เสร็จ มนุษย์เลยไม่ต้องทำอะไร

รอแบบพวกนักปรัชญา พวกนักปรัชญานี้จะเอาให้รู้ความจริงเสียก่อน เช่น รู้ความจริงเกี่ยวกับโลกว่าโลกนี้เป็นอย่างไรแน่ มันเกิดเมื่อไร มันจะไปอย่างไร พวกนักปรัชญาจะเถียงกัน ใช้สมองใช้สติปัญญาในการโต้เถียง เมื่อแกยังตอบเรื่องโลกและชีวิตไม่ได้ เช่นด้วยวิธีอภิปรัชญา แกก็ต้องเถียงกันต่อไป

นี่แกก็เถียงกันมาห้าพันปีแล้วโดยประมาณ ทีนี้ถ้าแกจะต้องเถียงกันจนกว่าจะรู้คำตอบ แล้วแกจึงจะปฏิบัติได้ เพราะแกบอกว่าเรายังไม่รู้ความจริงว่ามันเป็นอย่างไร เราจะไปปฏิบัติกับมันอย่างไร แกจะต้องรอให้รู้ความจริงอันนั้นแล้วจึงจะวางหลักปฏิบัติ แกตายไปแล้วกี่ครั้งต่อกี่ครั้ง จนกระทั่งลูกหลานเหลนแกเองก็ตายไป โดยยังไม่ได้ทำอะไร

พระพุทธศาสนาบอกว่าสำหรับเรื่องอย่างนี้ สำหรับเรื่องที่ยังพิสูจน์ไม่ได้มันสำคัญที่ปฏิบัติ พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของการปฏิบัติ เรามีวิธีปฏิบัติต่อสิ่งที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ ให้ถือการปฏิบัติอย่างที่บอกเมื่อสักครู่ว่า การวางท่าทีเป็นการสำคัญ นรก-สวรรค์ก็อยู่ในประเภทนี้ การวางท่าทีหรือการที่จะปฏิบัติต่อมันอย่างไรเป็นเรื่องสำคัญกว่า จะเอาอย่างไรกับชีวิตนี้ เอาละเป็นอันว่ามีเรื่องที่ต้องพูดสองแง่ คือแง่ว่ามันมีจริงไหม กับจะวางท่าทีต่อมันอย่างไร และเน้นแง่การวางท่าทีหรือการปฏิบัติ

ทีนี้มาพูดถึงหัวข้อสองอย่างนั้น เอาแง่ที่หนึ่งก่อน 

นรก-สวรรค์ มีจริงหรือไม่

แง่ที่หนึ่ง คือว่ามีจริงไหมในแง่ของพระพุทธศาสนา และก็จะพูดจำกัดตามที่อาจารย์ได้กำหนดไว้ว่าเฉพาะในพระไตรปิฎก ขอแบ่งว่าพระพุทธศาสนาพูดเรื่องนี้ไว้เป็น ๓ ระดับ

๑. นรก-สวรรค์ ภายหลังการตาย

ระดับที่หนึ่ง คือเรื่องนรก-สวรรค์ที่เราพูดกันทั่ว ๆ ไปว่าหลังจากชาตินี้ ตายไปแล้วไปรับโทษหรือรับผลกรรมในทางที่ดีและไม่ดี ถ้ารับผลกรรมดีก็ถือว่าไปสวรรค์ ถ้ารับผลกรรมชั่วก็ไปเกิดในนรก เรื่องนรก-สวรรค์แบบนี้เรียกว่าระดับที่หนึ่ง ในพระพุทธศาสนาว่าอย่างไร

สำหรับระดับนี้ตามพระไตรปิฎก ถ้าเราถือตามอักษร พระไตรปิฎกกล่าวไว้มากมาย เมื่อตีความตามตัวอักษรแล้วก็ต้องบอกว่า มี

มีอย่างไร

นรก-สวรรค์หลังจากตายนี้มักจะมีในรูปเอ่ยถึง เอ่ยถึงแล้วไม่ค่อยมีคำบรรยาย ในพระไตรปิฎกเรื่องนี้หาได้ทั่วไป

เดี๋ยวสรุปท้ายในแง่สวรรค์บอกว่า เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก หมายความว่า เมื่อแตกกายทำลายขันธ์ล่วงลับดับชีพไปแล้ว ก็จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ นี่ฝ่ายดี

แล้วก็ฝ่ายนรกกล่าวว่า เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ก็จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก สำนวนในบาลีมีอย่างนี้มากมายเหลือเกิน

สำนวนอย่างนี้ไม่ได้บรรยายว่าสวรรค์นั้นเป็นอย่างไร นรกเป็นอย่างไร ได้แต่สรุปและโดยมากมาห้อยท้ายกับคำแสดงผลของกรรมดี กรรมชั่ว ซึ่งจะเริ่มต้นด้วยผลที่จะได้รับในชาตินี้ก่อนว่า ผู้มีศีล ประพฤติดีแล้วจะได้ผลอย่างนั้น ๆ หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า สุดท้าย หลังจากแตกกายทำลายขันธ์แล้วจะไปสุคติ เช่นว่าเจริญเมตตามีอานิสงส์อย่างนี้ คือ หลับเป็นสุข ฝันดีอะไรต่ออะไร เป็นต้น บอกผลดีในปัจจุบันแล้วจึงจะไปห้อยท้ายลงว่าตายแล้ว ไปสวรรค์ ไปพรหมโลก เป็นเพียงการเอ่ยถึง-ถึงผลของการทำดี ทำชั่ว

นอกจากนั้น เราต้องสังเกตด้วยว่า พระพุทธเจ้าตรัสถึงเรื่องนรก-สวรรค์นั้น ท่านตรัสในข้อความแวดล้อมอย่างไร มีเรื่องราวเป็นมาอย่างไร จะสังเกตได้ว่าพระพุทธเจ้าตรัสถึงผลในปัจจุบันเสียมากมายก่อน แล้วอันนี้ไปห้อยท้ายไว้ เราจะได้จัดฐานะของนรก-สวรรค์ได้ถูกต้อง นี้บอกไว้เป็นข้อสังเกต

เป็นอันว่าเราจะพบคำบาลีที่พระพุทธเจ้าตรัสอยู่บ่อย ๆ เมื่อตายแล้วจะไปนรกหรือสวรรค์ หลังจากได้รับผลกรรมดี กรรมชั่วในปัจจุบันนี้แล้ว มีอยู่บ่อย ๆ โดยไม่มีคำบรรยาย ส่วนที่มีคำบรรยายว่า นรก-สวรรค์เป็นอย่างไร มีน้อยแห่งเหลือเกิน แห่งที่นับว่ามากหน่อยกล่าวถึงการลงโทษในนรกเริ่มจากว่าตายไปแล้วเจอยมบาล พระยายมราชถามว่า ตอนมีชีวิตอยู่เคยเห็นเทวทูตไหม เทวทูตที่หนึ่งเป็นอย่างไร เขาตอบไม่ได้

ยมบาลต้องชี้แจงว่า เทวทูตที่หนึ่งคือเด็กเกิดใหม่ อันที่สองคือคนแก่ ที่สามคือคนเจ็บ ที่สี่คือคนถูกลงโทษทัณฑ์ ลงอาญา ที่ห้าคือคนตาย

ยมบาลต้องอธิบายว่า ท่านเคยเห็นไหม เคยเห็นแล้วท่านเคยคิดบ้างไหม เคยได้ความคิดไหม มีความสลดใจบ้างไหม ในการที่จะต้องเร่งทำความดี ท่านเคยรู้สึกบ้างไหม ไม่เคยเลย ถ้าอย่างนั้น ก็เป็นเรื่องของตัวเองทำ กรรมตนทำเอง ก็ต้องได้รับโทษมีการลงอาญา เขาเรียกว่า กรรมกรณ์ เป็นวิธีการลงโทษในนรกด้วย ประการต่าง ๆ อันนี้มีมาใน พาลบัณฑิตสูตร และเทวทูตสูตร ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ ถ้าต้องการค้นก็บอกข้อ บอกหน้าไปด้วย บอกว่าเล่ม ๑๔ ข้อ ๔๖๗ หน้า ๓๑๑ และเล่ม ๑๔ ข้อ ๕๐๕ หน้า ๓๓๔

สำหรับพระไตรปิฎกแปลภาษาไทย โดยมากพูดถึงนรก ไม่พูดถึงสวรรค์ นอกจากนี้ก็ยังมีบางแห่งพูดถึงอายุเทวดาในชั้นต่าง ๆ เช่นชั้นจาตุมหาราช หรือชั้นโลกบาล ๔, ชั้นดาวดึงส์, ชั้นยามา ชั้นดุสิต, ชั้นนิมมานรดี และชั้นปรนิมมิตวสวัตดี แต่ละชั้นมีอายุเท่าไรอยู่นานเท่าไร่ อย่างนี้ก็มีในพระไตรปิฎกเล่ม ๒๐ ข้อ ๕๑๐ หน้า ๒๗๓ และไปมีซ้ำในเล่ม ๒๓ ข้อ ๑๓๑-๑๓๕ หน้า ๒๕๓-๒๖๙

ยังมีอายุมนุษย์ถึงรูปพรหม แสดงไว้ในฝ่ายอภิธรรม เล่ม ๓๕ ข้อ ๑๑๐๖-๑๑๐๗ หน้า ๕๖๘-๕๗๒  บางแห่งถึงกับบอกว่าในวัน ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ คือวันพระ ท้าวมหาราช ๔ คือ ท้าวโลกบาล ๔ จะส่งอำมาตย์เที่ยวดูในหมู่มนุษย์ ว่ามนุษย์ประพฤติดีปฏิบัติชอบหรือเปล่า แล้วจะไปแจ้งข่าวต่อที่ประชุมเทวดาชั้นดาวดึงส์ ซึ่งมีพระอินทร์เป็นประธาน ว่าเดี๋ยวนี้มนุษย์โดยมากประพฤติดีหรือประพฤติชั่ว ถ้ามนุษย์ประพฤติดี เทวดาก็ดีใจ ว่าต่อไปสวรรค์จะมีคนมาเกิดเยอะ ถ้าหากมนุษย์ประพฤติชั่วมากเทวดาก็จะเสียใจ ว่าต่อไปฝ่ายเทวโลกจะมีแต่เสื่อมลง อะไรทำนองนี้ อย่างนี้ก็มีในเล่ม ๒๐ เหมือนกัน ข้อ ๔๗๖ หน้า ๑๐๘ อย่างนี้เป็นต้น เป็นการแทรกอยู่บางแห่ง มีไม่สู้มากนัก

นอกจากนี้มีกระเส็นกระสาย เล็ก ๆ น้อย ๆ ชื่อนรก ๑๐ ขุมก็มีในพระไตรปิฎกด้วย ในเล่ม ๒๔ อังคุตตรนิกายทสกนิบาต ข้อ ๘๙ หน้า ๑๘๕ และนรก ๘ มีในคาถาชาดกเล่ม ๒๘ ข้อ ๙๒ หน้า ๓๙

นี่แหละก็เป็นเชื้อให้อรรถกถาได้นำมาชี้แจงอธิบายเรื่องนรกต่าง ๆ สาธยายให้เราเห็นเรื่องราวพิสดารยิ่งขึ้น

แต่ในที่นี้เราจะไม่พูดเรื่องนี้ แม้ในพระไตรปิฎก จะได้พูดเรื่องนรก-สวรรค์แบบนี้ เราก็อย่าเอาไปวุ่นกับการเขียนภาพและวรรณคดีให้มากนัก เพราะวรรณคดีบวกจินตนาการเข้าไป ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของวรรณคดี แม้จะบรรยายอารมณ์ มนุษย์ก็ต้องบรรยายให้เป็นภาพ

ทีนี้จะบรรยายนรก-สวรรค์ก็จะพูดให้เห็นจริงเห็นจัง หรือจะมาเขียนเป็นภาพประกอบ จะให้คนธรรมดาเกิดความสนใจ ก็ต้องนำเข้ามาสู่สิ่งที่ทำให้เกิดความเข้าใจง่าย เพราะฉะนั้นเราจะเอาวรรณคดีรุ่นหลัง ๆ หรือภาพตามฝาผนังไปเป็นมาตรฐานไม่ได้ เพราะนี่เป็นรูปของการทำให้ง่ายแล้ว เราจะว่าตามนั้นทีเดียวไม่ได้

ก็เป็นอันว่าในแง่ที่หนึ่ง นรก-สวรรค์ หลังจากตายในพระไตรปิฎกมีไหม ถ้าถือตามตัวอักษรก็เป็นอันว่ามี ดังที่กล่าวมาแล้ว

ทีนี้อาจมีบางท่านว่าเรื่องนี้สัมพันธ์กับความเชื่อที่มีดั้งเดิม เช่นว่าพระพุทธเจ้าอาจจะตรัสไปตามที่คนเชื่อกันอยู่ นั่นก็เป็นเรื่องที่เราจะต้องศึกษาค้นคว้ากันต่อไป นอกจากนี้ใครจะตีความอย่างไรต่อไป อาตมาไม่เกี่ยว