#echo banner="" พุทธศาสนาในฐานะรากฐานของวิทยาศาสตร์ 26 พระธรรมปิฎก/

พุทธศาสนาในฐานะรากฐานของวิทยาศาสตร์ 26

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

วัดญาณเวศกวัน ต.บางกระทึก อ.สามพราน จ.นครปฐม

ปาฐกถาพิเศษ วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ

ณ ห้องประชุมใหญ่ สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

จัดโดย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2534

จากหนังสือ ปฏิบัติธรรมให้ถูกทาง

คัดลอกจาก http://www.rit.ac.th/homepage-sc/charud/scibook/budddhist/index/index6.htm

สุดแดนวิทย์เข้ามาจ่อแดนจิต ก้าวยิ่งใหญ่สู่ความตระหนักรู้
ในขีดวิสัยของวิทยาศาสตร์

ทีนี้หัวข้อต่อไป จะพูดเรื่องขอบเขตหรือขีดจำกัดของความรู้ หรือขอบเขตของการเข้าถึงความจริงทางวิทยาศาสตร์

ขอโยงกลับไปที่พูดเมื่อกี้ ได้บอกแล้วว่า เมื่อธรรมชาติที่เป็นจุดเป้าของความรู้ต่างกัน กว้างแคบหรือครอบคลุมกว่ากัน ก็มีข้อพิจารณาตามมาหลายอย่าง เมื่อกี้นี้ได้พูดว่าทางพุทธศาสนานั้นศึกษาที่ตัวมนุษย์ เอาตัวมนุษย์เป็นแดนของการพิสูจน์ความรู้และบอกว่า ถ้ารู้ความจริงของมนุษย์หมดก็ได้ความรู้หมดจักรวาล แต่วิทยาศาสตร์เอาโลกภายนอกมาสุดแค่ชีวิตด้านวัตถุ หมายความว่าศึกษาโลกภายนอกจนจบแค่ตัวชีวิตด้านวัตถุ อย่างมากก็มาจ่อที่จุดเชื่อมกับจิต ในลักษณะที่เป็นอิทธิพลต่อกัน ซึ่งอยู่ในขอบเขตที่จำกัด

ทีนี้เมื่อกี้ก็ได้พูดว่า วิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะฟิสิกส์ ได้เจริญก้าวหน้ามามากจนเรียกได้ว่าจะสุดพรมแดนของความรู้ที่วางขอบเขตไว้แล้ว เดิมวิทยาศาสตร์ก็คิดว่าจะเข้าถึงความจริงทั้งหมดสมบูรณ์ จบสิ้นจักรวาล ด้วยการรู้โลกภายนอกนั้น ด้วยวิธีการวิทยาศาสตร์ทางอินทรีย์ทั้ง ๕ เพราะมีความเข้าใจตั้งแต่เดิมติดมาว่า โลกที่เป็นแดนของจิตทั้งหมดก็เกิดจากวัตถุด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าจิตเกิดจากวัตถุ เมื่อเข้าใจวัตถุถึงที่สุด ก็ย่อมรู้แจ้งแดนของจิตด้วย และก็ได้บอกแล้วว่าปัจจุบันนี้นักวิทยาศาสตร์น้อยคนจะเชื่ออย่างนั้น เพราะความรู้ความจริงทางวัตถุที่เข้าถึงอย่างแทบจบสิ้นนี้ ไม่ทำให้เข้าใจหยั่งรู้แจ้งถึงแดนแห่งจิตได้

เวลานี้ความเข้าใจเกี่ยวกับสัจจภาวะแห่งโลกวัตถุกับแดนของจิตนั้น โดยมากจะมองกันอยู่ระหว่างสองแบบว่าจะเป็นอย่างไหนโดยมี models เกี่ยวกับความจริง ๒ แดนว่า ความจริงทางด้านโลกวัตถุภายนอกกับแดนของจิตทั้งหมดนั้น

๑. เป็นสองด้านของเหรียญกลมอันเดียวกัน หมายความว่า แต่ละด้านก็เป็นอิสระจากกัน แต่มาเสริมกัน รู้ทั้งสองด้านจึงจะรู้ครบ พวกที่หนึ่งนี้ถือว่าความจริงแต่ละด้านเป็นส่วนต่างหากจากกัน เป็นสองด้านของเหรียญเดียวกัน ต้องรู้ทางโน้นกับรู้ทางนี้มาเสริมกัน พวกนี้จะแยกว่าแดนของจิตกับแดนของวัตถุนั้นคนละแดน ต้องรู้ทั้งสองและเอาความรู้นั้นมาเสริมเติมกัน แล้วก็ประกอบกันให้สมบูรณ์

๒. เป็นวงเล็กและวงใหญ่ของวงกลมอันเดียวกัน แบบที่สองนี้เป็นการพิจารณาแดนของความรู้ในลักษณะที่มีวงกลมใหญ่อันเดียว แต่มีวงในและวงนอกซ้อนกันอยู่ วงในเป็นวงเล็กมีขีดจำกัดอยู่แค่ตัววงของมัน ส่วนวงนอกคือวงใหญ่ คลุมทั้งตัวมันเองด้วยและคลุมวงในด้วย หมายความว่าแดนหนึ่งคลุมอีกแดนหนึ่ง ถ้ารู้แดนใหญ่นั้นหมดก็รู้ทั่วทั้งหมด แต่ถ้ารู้แดนในที่เป็นวงเล็ก ก็รู้แค่ขอบเขตจำกัดของตัวเอง ไม่สามารถรู้แดนนอก

ทีนี้ถ้าหากว่าความรู้ทางด้านโลกวัตถุนั้นเหมือนวงใน ถึงจะรู้จบโลกวัตถุ ก็จะรู้แค่วงใน และไม่สามารถรู้วงนอกที่ครอบคลุมถึงเรื่องจิตด้วย แต่ถ้าวงนอกเป็นวงวัตถุ เมื่อรู้วัตถุหมดก็รู้จิตที่เป็นวงในหมดด้วย แล้วอันนี้จะเป็นแบบไหน ในที่นี้จะไม่ตอบเพราะยังเป็นเรื่องความเห็นของคนที่จะต้องมาถกเถียงกันไป

อย่างไรก็ตาม นักฟิสิกส์ใหญ่ ๆ หลายท่านได้พูดทำนองว่า ความรู้วิทยาศาสตร์ถึงอย่างไรก็เป็น partial คือเป็นบางส่วนอยู่ในระดับต้น ถ้าเทียบอย่างเมื่อกี้ก็คล้ายรอบในของวงกลม เพราะขึ้นกับ senses คืออินทรีย์ทั้ง ๕ ไม่ครบอินทรีย์ ๖ โดยเฉพาะจะอยู่แค่การเห็น การสัมผัสด้วยกาย และการได้ยินหรือฟัง คือ ตา หู และกายสัมผัส เมื่อพ้น senses เหล่านี้แล้วก็ไปสู่เรื่องของ symbol คือสัญลักษณ์ ได้แก่การพิสูจน์ด้วยกฎเกณฑ์ทางคณิตศาสตร์ ซึ่งเมื่อกี้นี้ได้พูดทีหนึ่งแล้วว่า Sir Arthur Eddington ก็ได้ยกเอาความจริงข้อนี้มาพูดว่า ถึงอย่างไรก็ตาม วิธีการทางวิทยาศาสตร์ก็จะไม่อาจให้เข้าถึงความจริงแท้โดยตรงได้ อาตมาขออ่านข้อความตอนนี้ของแกให้ฟัง แกบอกว่า

“We have learnt that the exploration of the external

world by the methods of physical science leads not to a

concrete reality but to a shadow world of symbols , …” ๒๑

นี่เป็นคำของ Sir Arthur Eddington เขาบอกว่า เราได้เรียนรู้แล้วว่า การสำรวจโลกภายนอกด้วยวิธีการของวิทยาศาสตร์ทางฟิสิกส์ จะไม่นำเราให้เข้าถึงสัจจภาวะหรือความจริงที่เป็นตัวแท้ได้ แต่นำให้เข้าถึงได้เพียงแค่โลกเงา ๆ แห่งสัญลักษณ์เท่านั้น อันนี้เป็นความเห็นของ Eddington ที่ว่าเป็นผู้เข้าใจทฤษฎีสัมพัทธภาพสมบูรณ์และพิสูจน์ได้เป็นคนแรก

นักฟิสิกส์ใหญ่อีกท่านหนึ่ง คือ แมกซ์ แพลงค์ (Max Planck) ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ประจำปี ๑๙๑๘ (พ.ศ. ๒๔๖๑) และถือกันว่าเป็นบิดาแห่งทฤษฎีควอนตัมยุคใหม่ (the father of modern quantum theory) ก็ได้ยอมรับความจริงนี้ไว้ในทำนองเดียวกันด้วยถ้อยคำที่ชัดเจนยิ่งกว่านี้อีกว่า

“ความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ ก็คือ พอเราคิดว่า ได้ไขปัญหาพื้นฐานเสร็จแล้วเรื่องหนึ่ง ก็เจอกับความลึกลับ ใหม่เข้าอีกเรื่องหนึ่ง..”

”…. วิทยาศาสตร์ไม่สามารถไขความลี้ลับขั้นสุดท้าย ของธรรมชาติได้ (Science cannot solve the ultimate mystery of nature. ) และที่เป็นอย่างนั้น ก็เพราะว่า เมื่อวิเคราะห์ลงไปจนถึงที่สุดแล้ว ตัวเราเองก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และเพราะฉะนั้น จึงเป็นส่วนหนึ่งแห่งความลี้ลับที่เรากำลัง พยายามจะไข” ๒๒

แล้วก็มีนักวิทยาศาสตร์อีกคนหนึ่งเขียนถึงอย่างนี้ว่า

“ความก้าวหน้าที่สำคัญที่สุดของฟิสิกส์ในศตวรรษที่ ๒๐ ซึ่งเป็นความสำเร็จที่ดีเด่น มิใช่ทฤษฎีสัมพัทธภาพ มิใช่ ทฤษฎีควอนตัม หรือการตัดผ่าอะตอมได้ แต่ได้แก่การตระหนักรู้ถึงความจริงที่ว่า วิทยาศาสตร์จะไม่สามารถนำมนุษย์เข้าถึงความจริงขั้นสุดท้ายได้” ๒๓

อ้าวกลายเป็นอย่างนั้นไป นี่คือความก้าวหน้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือการมารู้ความจริงว่า ตัวเองจะไม่สามารถเข้าถึงความจริงได้ จะเข้าถึงได้แต่โลกแห่งเงาที่ว่าเมื่อกี้ อันนี้ก็เป็นเรื่องของนักวิทยาศาสตร์เอง ที่อาตมาเอามาพูดให้ฟัง

ถ้าวิทยาศาสตร์ยอมรับท่าทีที่ว่านี้ ก็ถึงเวลาที่จะต้องตัดสินใจเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ มีทางออก ๒ ประการ ได้แก่ จะจำกัดขอบเขตของตน หรือจะขยายวงความรู้ของตนออกไปให้เข้าถึงความจริงทั้งหมดของธรรมชาติ

ถ้าพอใจจำกัดตัวอยู่ในขอบเขตเดิม วิทยาศาสตร์ก็จะเป็นวิชาชำนาญพิเศษเฉพาะอย่าง ที่ไม่สามารถให้ทราบภาพรวม ความจริงที่ครอบคลุมของธรรมชาติ หรือสัจจธรรมทั้งหมดได้ แต่ถ้าต้องการเข้าถึงความจริงทีสมบูรณ์ นำมนุษย์เข้าถึงตัวสัจจภาวะทั้งหมดของธรรมชาติ วิทยาศาสตร์ก็จะต้องขยายกรอบความคิดของตน โดยเปลี่ยนความหมายพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ และก้าวออกนอกขอบเขตจำกัดของตนออกไป อันนี้ก็เหมือนกับเป็นทางเลือก ๒ อย่าง ที่ว่าจะเอาอย่างไหน