#echo banner="" วัดกับป่า โดย ชยสาโรภิกขุ/

วัดกับป่า

สนทนาธรรมะกับพระอาจารย์ชยสาโร

บันทึกถ้อยคำสนทนาระหว่างพระอาจารย์ชยสาโร

และคณะผู้เดินติดตามในการเดินตามธรรม ครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2544

จากเวบ www.taodum.com/bhuda/ask21.htm

ถาม : ปัจจุบันจะเห็นข่าวพระอนุรักษ์ป่ามาก พระมีบทบาทในการอนุรักษ์ป่า ได้อย่างไรคะ ?

พระอาจารย์ชยสาโร : การที่พระสงฆ์จะมีบทบาทในการอนุรักษ์หรือไม่ขึ้นอยู่กับศรัทธาของ ชาวบ้าน เช่นที่อีสานการอนุรักษ์จะได้ผลมากเพราะคนอีสานเกรงพระ ถ้ามีพระอยู่จะไม่กล้า ตัดไม้ แต่ที่อื่นอาจไม่ค่อยได้ผลนัก

ส่วนการอนุรักษ์ป่าที่นี่เกิดได้จากศรัทธาของผู้คนที่มีต่อ พุทธศาสนา แม้จะมีคนบางกลุ่มเบื่อหน่ายในศาสนา แต่กับพระวัดป่าที่เป็นผู้ทรงศีล ปฏิบัติ ดี ปฏิบัติชอบ คนที่จะมาตัดไม้จะเกรงใจ ไม่เหมือนเจ้าหน้าป่าไม้ที่คนไม่ค่อยเกรงใจ อีกประการที่อาจจะพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ไม่ได้คือ เมื่อพระสงฆ์ ที่ปฏิบัติดีอยู่ที่ใด จะทำให้สถานที่นั้นเกิดบารมีขึ้น

 

ถาม : แต่ก็มีการแอบอ้างชื่อของพระป่าในการลักลอบบุกรุกตัดไม้ ทำลายป่าอยู่มาก เราจะแยกบุคคลที่แอบอ้างกับพระป่าจริง ๆ ออกจากกันได้อย่างไรคะ ?

พระอาจารย์ชยสาโร : ต้องดูที่ข้อมูล แต่ข้อมูลที่ได้มาจากสื่อมวลชนก็ต้องพิจารณาด้วยว่า เป็นสื่อมวลชนจริง หรือเป็นสินค้าของนักธุรกิจ ที่จะสนใจแค่การขาย ข่าวไหนขายดี จะได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนมาก ข่าวพระไม่ดีขายได้จึงมีการนำเสนอมากจริง ๆ แล้ว ในปัจจุบันมีพระไม่ดี แต่ไม่ทราบว่ามีมากหรือไม่ เราไม่สามารถ ดูจากข่าวได้ เพราะสื่อมวลชนมักนำเสนอเฉพาะข่าวพระที่ไม่ดี พระที่ไม่ดีอาจมีอัตราส่วน ไม่มาก แต่สื่อมวลชนจะนำเสนอแต่ข่าวพระไม่ดี พระที่บุกรุกป่า ซึ่งอาจเป็นการทำลาย ภาพพจน์ของสงฆ์ การแยกพระดีออกจากพระไม่ดีแยกได้ยาก เพราะเราขาดข้อมูล พระอาจ ถูกใส่ร้าย เช่นพระประจักษ์ก็เป็นได้ เราต้องเข้าไปติดต่อสัมภาษณ์พระและ ชาวบ้านโดยตรงอีกอย่างที่ทำให้สงฆ์ไม่ดี คือการปกครองของพระ เช่นการรับสงฆ์เข้ามาอยู่ ในวัดป่านานาชาติจะให้อยู่วัดก่อนหนึ่งปี บวชเป็นเณรอีกหนึ่งปี เมื่อบวชแล้วต้องอยู่ใน การดูแลของพระผู้ใหญ่อีก 5 ปีก่อน จึงจะไปไหนต่อไหนได้ ซึ่งการทำเช่นนี้ที่อื่นไม่มี พระติดยาบ้าก็มาจากโยมอุปัชฌาย์มีลูกติดยาบ้า มาขอให้พระช่วยบวช พระก็เมตตาบวชให้ แต่ไม่สามารถทำให้เลิกติดยาบ้าได้ จึงกลายเป็นพระติดยาบ้าไป

 

ถาม : ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่านี่ น่าจะมีทางแก้อย่างไรครับ ?

พระอาจารย์ชยสาโร : ก่อนที่เราจะตัดสินใจทำอย่างไร ตอบสนองอย่างไร ก็ต้องรอฟังข่าวให้มี ข้อมูลที่ชัดเจน อาตมาว่าตราบใดที่ยังมีป่า และยังมีมนุษย์ที่โลภอยู่ ปัญหานี้ก็ไม่หมดไป อย่างเมื่อตอนหัวหน้าเผ่าอินเดียแดงมาคุยกับคุณทิวาพร (ศรีวรกุล) ทางเค้าก็มีปัญหา อย่างเดียวกับเรา คงต้องตัดต้นไม้ให้เตียนจึงจะหมดปัญหา (ยิ้ม) เราอย่าคิดว่าเป็น ปัญหาเฉพาะเมืองไทย หรือเป็นเฉพาะโลกที่กำลังพัฒนา เห็นชัดที่สหรัฐอเมริกา พอประธานาธิบดีที่เป็นคนของบริษัทน้ำมัน ของบริษัทใหญ่ ๆ เข้ามาได้ ทำให้กฎหมาย ที่จะช่วยคุ้มครองสิทธิของกรรมกร กฎหมายที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ถูกระงับหมด จะเอาใจแต่นักธุรกิจ มันก็เป็นปัจจัยที่สลับซับซ้อน ดูไม่ออก อย่างในเมืองไทยก็ยังไม่เห็นภาพชัดเจนว่า นักธุรกิจจะมีอิทธิพลมากแค่ไหน ฝ่ายสะอาด กับฝ่ายสกปรกใครจะมีกำลังมากกว่ากันในรัฐบาลนี้ ก็มีขาวมีดำมีเทา หลายอย่างผสมกัน แต่ตราบใดที่เรายังเห็นว่าเงินเป็นสิ่งสูงสุด การขยายตัวของเศรษฐกิจเป็นเครื่องวัดความเจริญ ตราบใดที่เรายังมีความคิดผิดต่าง ๆ อยู่อย่างนี้ ก็เป็นเรื่องยาก

อาตมาจะพูดเรื่องความงมงาย เปรียบเทียบกับสมัยอาตมาเด็ก ๆ ยังจำได้ว่าจะแข่งกันว่า ใครจะสูงกว่ากัน จะวิ่งไป วัดตัวอยู่ทุกวัน ถ้า โอ้ย! ฉันสูงขึ้นหนึ่งนิ้วแล้ว นี่ก็ชนะเพื่อน ใคร ๆ ก็อยากจะสูงกว่าเพื่อน สูงกว่าเพื่อนเพื่ออะไรก็ไม่รู้ การที่จะถือว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่ดี มันดียังไง มีเหตุผลอย่างไรจึงถือว่าการที่เศรษฐกิจต้องขยายตัว ต้องใหญ่ขึ้น ๆ ทุกปี จึงจะเป็นความเจริญ นี่ก็เป็นความงมงายอย่างหนึ่ง ไม่ค่อยได้พูดถึงเหตุผล ถือว่ายิ่งมากยิ่งดีนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ก็พยายามจะเปลี่ยนการวัดเศรษฐกิจด้านผลกระทบ ต่อสิ่งแวดล้อม ( Environmental Index) ซึ่งก็เป็นการยากที่จะตีค่าของต้นไม้เป็นเงิน เป็นทอง แต่บางทีเราก็ ต้องยอมพูดเป็นเงินเป็นทอง เช่น สมัยที่มิสซิสแทตเชอร์เป็นนายกอังกฤษ เขามีนโยบาย หลายอย่างที่ประชาชนไม่ชอบเลย แต่เขามีอำนาจ จึงห้ามไม่ได้ เช่น ชาวบ้าน ไม่ต้องการพลังงานนิวเคลียร์เลย แต่พูดยังไง ประท้วงยังไง เขาก็ไม่ฟัง จนกระทั่งต้องมี นักเศรษฐศาสตร์คนหนึ่งไปอธิบายให้มิสซิสแทตเชอร์เข้าใจว่า ที่พูดกันว่า พลังงานนิวเคลียร์ สะอาดและถูกนั้น ไม่จริงเลย เรื่องสะอาดไม่ต้องพูดถึง เรื่องถูกนี่สำคัญ ที่จริงพลังงาน นิวเคลียร์นี่แพง ที่ว่าถูกนี่เพราะเขาไม่ได้รวมค่ากำจัดของเสียและโรงงานนิวเคลียร์ โรงงานนิวเคลียร์จะมีอายุสัก 20- 30 ปี หลังจากนั้นแล้วจะมีปัญหาเรื่องกากนิวเคลียร์ และโรงงานนิวเคลียร์ที่จะต้องใช้เงินหลายล้าน หลายสิบล้านดอลลาร์ในการกำจัด ถ้าเพิ่มค่าที่ต้องเสียในอนาคตนี้เข้ามากับค่าสร้าง จะทำให้พลังงานต่อหน่วยแพง ไม่ถูกอย่างที่คิด มิสซิสแทตเชอร์ก็ยอมต่อเหตุผลของนักเศรษฐศาสตร์ ไม่ได้ยอมต่อ คำขอร้องของประชาชน

บางคนนี่ สมองจะรับแต่เรื่องเงินเรื่องทอง บางทีเราก็ต้องพยายาม พูดเรื่องเงินเรื่องทอง มีนักเศรษฐศาสตร์กลุ่มหนึ่งพยายามที่จะตีค่าของต้นไม้ พรรณไม้ ทุกสิ่ง ทุกอย่าง เพื่อบอกว่า ถ้าเราทำลายป่าแล้วเหมือนว่าเราทำลายทรัพย์สินของธรรมชาติ มูลค่าหลายร้อยล้านบาท เราขาดทุน ไม่ใช่ได้กำไร แม้จะได้กำไรเป็นเงินใช้พัฒนา ประเทศชาติ แต่ขาดทุนด้วยการทำลายธรรมชาติเป็นหลายร้อยล้านพันล้าน ก็ไม่คุ้มค่า แต่คนที่กำลังแสวงหาผลประโยชน์โดยการอ้างนโยบายรัฐบาล การเมือง นี่เป็นอีกเรื่อง เพราะเขาเลือกจะเอาแต่เหตุผลที่เข้าข้างตัวเองเราก็ต้องตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ระมัดระวังพร้อมที่จะทำอะไรที่เราทำได้ ที่เราถนัด เพื่อเป็นการรักษาป่า แต่อาตมาต้องเตือนญาติโยมอยู่เสมอคือ ระวังอย่างยิ่งที่จะต้อง ไม่ให้เรามีความรู้สึกมีเรา มีเค้า เราเป็นฝ่ายขาว เค้าเป็นฝ่ายดำ เพราะถ้าเราแบ่งแยกอย่างนี้แล้ว มันก็ไม่เป็นธรรมะ การที่จะแก้ปัญหาก็ยาก กิเลสของคนทั้งหลายก็ไม่ต่างกับกิเลสของพวกเรา ในที่นี่มีไหมคนที่ไม่มีความโลภ คนที่ไม่เคยคิดที่จะอยากได้ในสิ่งที่เขาไม่ไห้ เพียงแต่ เราไม่มีโอกาส เราไม่กล้าเหมือนกับพวกนี้ ไม่มั่นใจเหมือนกันว่า ถ้าเราอยู่ในสถานการณ์นั้น มีโอกาสอย่างนั้น เราจะทนต่อการขอร้อง และยั่วยุของกิเลสของตนได้ไหม จะเห็นว่า เรากับเขามีหลายสิ่งหลายอย่างที่คล้ายกัน จะทำให้ความรู้สึกของเราเป็นธรรมะมากขึ้น ความคิดสร้างสรรค์ที่จะแก้ปัญหาก็จะเกิดขึ้น

 

ถาม : พระอาจารย์เห็นว่าป่าเต่าดำควรเปิดให้นักท่องเที่ยวภายนอกเข้ามาหรือไม่คะ ?

พระอาจารย์ชยสาโร : ในฐานะที่อาตมาเป็นเจ้าอาวาสก็อยากให้สถานที่นี้เป็นเขตสงฆ์ ซึ่งฆราวาสไม่เข้าไปยุ่ง ถ้าหากมีนักท่องเที่ยวเข้ามารบกวน จะมีผลกระทบต่อการประพฤติ ปฏิบัติของพระสงฆ์ อาตมาก็ไม่เห็นด้วย แต่หากต้องมีการประนีประนอมยอมรับ ในระดับใดระดับหนึ่ง อาตมาก็ไม่อยากให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปจนถึงที่อยู่ของสงฆ์ เพราะถ้าเป็นอย่างนั้น พระจะไม่อยากมาอีก เพราะไม่ได้บรรยากาศพึงประสงค์ ของผู้ที่จะธุดงค์ไปในป่า สำนักสงฆ์ก็จะหมดไปโดยปริยาย สิ่งสำคัญที่ต้องรักษาสภาพ ของป่าไว้คือ เพื่อความวิเวก และเขตสงฆ์ที่ฆราวาสเข้าไม่ได้ อาตมาค่อนข้างจะมีอคติ กับนักท่องเที่ยวพอสมควร เพราะไม่เคยเห็นนักท่องเที่ยวไทยที่ไหนที่ไม่ทิ้งถุงพลาสติก สกปรก เรี่ยราด ไม่ค่อยจะรับผิดชอบ

 

ถาม : อยากให้อาจารย์ช่วยย้ำอีกทีครับว่า ป่าเป็นสัปปายะกับพระสงฆ์อย่างไรครับ ?

พระอาจารย์ชยสาโร : อันนี้มันก็หลายอย่าง ตั้งแต่สมัยพระพุทธกาล พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ตราบใดที่พระยินดีในเสนาสนะป่า พระพุทธศาสนาจะไม่เสื่อม” อันนี้ก็เป็นข้อสำคัญ จะเห็นว่าการที่พระอยู่ในป่าเป็นเงื่อนไขของความมั่นคงของพระพุทธศาสนา เพราะป่าเป็นสถานที่วิเวกไม่มีสิ่งมารบกวนโอกาสที่พระจะทำความเพียรทางจิตอย่างต่อเนื่อง จะมีมากกว่าอยู่ในวัด เพราะว่าไม่มีกิจอะไรเลย เมื่ออยู่กับรูปเดียวก็สู้กับอารมณ์ตัวเอง สู้กับความกลัวหมี สมเสร็จ สัตว์ที่เพ่นพ่านตอนกลางคืน มันเป็นป่าทึบมองไม่เห็น แต่ได้ยินเสียง เลยทำให้พระต้องมีจิตใจเข้มแข็ง ต้องฝึกตัวเอง คือป่านี่มันเป็นสิ่งแวดล้อม ที่ช่วยในการฝึกฝนจิตใจของคน อยู่ในป่าก็ไม่มีป้ายโฆษณา ไม่มีอะไรที่จะกระตุ้น ความคิดฟุ้งซ่าน วุ่นวายต่าง ๆ มีแต่สิ่งที่ทำให้รู้สึกเย็น แม้ว่าจะไม่ได้ทำสมาธิ เดินจงกลม อะไรมาก ก็ยังรู้สึกอารมณ์เราจะเย็นอยู่นั่นเอง เมื่อเราอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เราบังคับไม่ได้ อยากเปิดไฟก็ไม่มีสวิตซ์ให้กด สิ่งอำนวยความสะดวกก็ไม่มี เมื่ออยู่แล้ววันสองวัน มันก็ชิน มันก็อยู่ได้ และก็ได้ข้อคิดจากการอยู่กับธรรมชาติ การฝึกจิตสมาธิในระดับสูงนั้น ต้องมีสิ่งแวดล้อมอำนวยพอสมควร เป็นงานที่ละเอียดอ่อนมาก เหมือนกับหมอที่จะต้องผ่าตัด ห้องผ่าตัดต้องสะอาดสะอ้านมาก ต้องมีความพิถีพิถันอย่างมาก เพื่อที่ว่าผ่าตัดแล้วจะได้ ไม่ติดเชื้อโรค ไม่มีปัญหาตามมา เรื่องการทำงานทางด้านใน ก็เหมือนกัน มันต้องมีสิ่งแวดล้อม อำนวย มันถึงจะได้ผล พระที่มาอยู่ที่นี่ก็เหมือนกัน ก็อดข้าว ห้าวัน หกวัน เจ็ดวันถึงลงมาก็มี ฉันวันเว้นวันก็มี อยู่ข้างบนก็สนุกกันการภาวนาก็มี

 

ถาม : พระที่นี่มีอดข้าวถึงห้าวันก็มีหรือครับ ?

พระอาจารย์ชยสาโร : วันนี้ก็มีพระเพิ่งลงมา อดข้าวเจ็ดวัน เพิ่งฉันวันนี้แหละ

 

ถาม : แล้วท่านฉันอะไรละครับ ?

พระอาจารย์ชยสาโร : ดื่มน้ำนี่แหละ อยู่ข้างบนฝึกให้รู้จักตัวเอง สิ่งที่น่ากลัวที่สุด น่ากลัว ยิ่งกว่าผี ก็คือกลัวตัวเองนี่แหละ กลัวว่าจะไม่มีอะไรทำ เคยสังเกตไหม คนขึ้นเครื่องบินนี่ เขาจะมีอะไรให้กิน มีอะไรให้ดู มีอะไรให้อ่าน ไม่มีอะไรให้กิน ให้ดู ให้อ่าน ให้พูดคุย ทำอะไร หลับใช่ไหม(ยิ้ม) อยู่เฉย ๆ ไม่ได้หรอกคนเรา ไม่ค่อยเป็นเพื่อนกับตัวเองเท่าที่ควร

 

ถาม : ถ้าอยู่คนเดียวแล้วชอบฟุ้งซ่านนะคะ มีเรื่องอะไรให้คิดเยอะ เลยนอนดีกว่า

พระอาจารย์ชยสาโร : ใช่คนส่วนมากจะคิดอย่างนั้น แต่ถ้าเราชนะจุดนี้ได้ก็จะสบาย

 

ถาม : แล้วจะทำอย่างไรให้เลิกฟุ้งซ่านได้ละคะ ?

พระอาจารย์ชยสาโร : การทำสมาธิ การฝึกให้จิตอยู่นิ่งกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จิตไปก็ดึงกลับมา ไปก็ดึงกลับมา เหมือนกับการฝึกม้าพยศนะ จิตมันก็ดิ้นรนเพราะไม่อยากจะถูกฝึก ถูกผูกเอาไว้ แต่ถ้าเราไม่ปล่อย ในที่สุดมันก็ต้องยอม คนเราบางทีก็ทุกข์เพราะความคิด วิตกกังวล คิดโน่นคิดนี่ ลองสังเกตชีวิตของเรา วันหนึ่งมียี่ยิบสี่ชั่วโมง ถ้าวันหนึ่งนอนแปดชั่วโมง ก็หนึ่งส่วนสามของชีวิต ถ้าอยู่สามสิบปี ก็นอนไปแล้วสิบปี หกสิบก็หลับไปยี่สิบปี

 

ถาม : บางคนเกินนะคะ

พระอาจารย์ชยสาโร : เกิน เกินแปดชั่วโมงอีก ว้า ที่จริงสิ่งเหล่านี้มันก็ไม่ใช่ ความต้องการของร่างกายเรา แต่บางทีไม่รู้จะลุกทำไม ก็นอนให้กินเวลา เหตุผลเงื่อนไขสำคัญ คือ ความคิด ถ้าจิตสงบไม่คิดมาก ตอนกลางคืนนอนสี่ชั่วโมงก็อิ่มแล้ว ถ้าพระกรรมฐาน บางทีนอนกลางคืนสี่ชั่วโมง กลางวันหลับอีกสามสิบนาที แต่นี่ก็สำหรับ ผู้ที่ต้องทำ ความเพียรทางจิตใจ ไม่มีงานทำ

ธรรมดาต้องมีทั้งสองอย่างพอดีกัน อยู่คนเดียวบ้าง อยู่กับเพื่อนบ้าง ถ้าอยู่ คนเดียวมากก็ไม่ดีเหมือนกัน บางทีก็เกิดความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นมากเกินไป พอเข้าไป ในเมืองแล้วรำคาญ อยากหนีไปอยู่คนเดียว แต่บางคนนี่ ต้องอยู่กับเพื่อนตลอด ไม่พอดี

 

ถาม : โครงการเดินตามธรรม เพื่อการอนุรักษ์ป่า ศึกษาธรรมะ และธรรมชาติครั้งนี้มี จำนวนคนมาน้อย พระอาจารย์มีความคิดเห็นอย่างไร ?

พระอาจารย์ชยสาโร : จำนวนคนมากหรือน้อยไม่สำคัญ จำนวนคนมากอาจไม่เป็นกันเอง ไม่รวดเร็ว ไม่สะดวก มาครั้งนี้ สิ่งที่สำคัญคือบทเรียนจากธรรมชาติ ในปัจจุบัน มนุษย์อยู่ในเมืองมีความสะดวกสบาย มีอำนาจเหนือธรรมชาติมาก ทำให้มนุษย์หลงว่า ตัวเองเหนือกว่าธรรมชาติ ลืมนึกไปว่าสิ่งที่ตนเหนือธรรมชาตินั้นไม่แน่นอน เช่นเมื่อ ไฟฟ้าดับ มนุษย์แทบทำอะไรไม่ได้เลย ไม่เหมือนคนโบราณ เมื่ออยู่ในป่า มนุษย์จะอยู่ อีกโลกที่เราบังคับไม่ได้ ทำให้เราลดความเย่อหยิ่งในการเป็นมนุษย์ลง เมื่ออยู่กับธรรมชาติ เราต้องปรับตัวเองตามธรรมชาติ ต้องยอม เช่นถ้าวันนี้ฝนไม่หยุดตก เราก็มาคุยกันไม่ได้ แต่ธรรมชาติอนุญาต เราจึงคุยกันได้

มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ แต่ปัจจุบันอารยธรรมตะวันตกครอบงำมนุษย์ ทำให้เกิดการวิจารณ์ว่า ความอ่อนแอของคนไทยเกิดจากธรรมชาติอำนวยให้ คนไทยจึง อยู่อย่างสบาย ๆ ไม่เหมือนชาวตะวันตกที่อยู่ในภูมิประเทศยากลำบาก จึงต้องมีการวางแผน ดิ้นรนทำให้เข้มแข็ง แต่คนไทยก็มีสิ่งหนึ่งคือ คนไทยรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมชาติ ขณะที่ชาวตะวันตกจะรู้สึกเป็นปฏิปักษ์กับธรรมชาติ ชาวตะวันตกมีความเชื่อว่า พระเจ้าสร้างโลก สัตว์เดรัจฉานทั้งหลายเพื่อมนุษย์ มนุษย์จึงทำอะไรได้ทุกสิ่งตามต้องการ ในเมื่อเทคโนโลยีอำนวย มนุษย์จึงบังคับให้ธรรมชาติยอมตน แต่มันเป็นสิ่งไม่ยั่งยืน ภายในไม่ถึง 200 ปีของการปฏิวัติอุตสาหกรรม เราสามารถทำลายทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมมาก จนนักวิชาการหลายคนไม่แน่ใจว่ามนุษยชาติจะเอาตัวรอดได้ ทั้งนี้มนุษย์อยู่มาได้หลายหมื่นปีโดยไม่มีการทำลายธรรมชาติ แต่ภายในไม่ถึง 200 ปี มนุษย์ก็ทำลายอนาคตจนแทบมองไม่เห็นทางออก

การได้มาอยู่กับธรรมชาติ จะเกิดความเข้าใจถึงการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ โดยไม่ทำลายธรรมชาติ ไม่ทำลายอนาคตของลูกหลาน ซึ่งทั้งนี้ต้องเกิดจากความเข้าใจ ระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อม ในฐานะที่เราเป็นชาวพุทธ เราควรเข้าใจในเรื่ององค์รวมนี้ เพราะพุทธศาสนามีเรื่ององค์รวมนี้มากว่า 2,000 ปีแล้ว แต่นักวิชาการไทยมักสนใจ วิชาการตะวันตก โดยที่ไม่เข้าใจในพุทธศาสนา

อีกอย่างหนึ่ง การที่มาเดินในป่า ทำให้เราออกจากระบบเดิม ๆ บางทีการที่เรา อยู่ในระบบนานๆ มันก็เคยชินในสิ่งที่ผิดปกติ ก็กลายเป็นความปกติของเรา ถ้าไม่ออกจากที่เดิม คือไม่ออกจากสิ่งแวดล้อมที่เราคุ้นเคย เราก็จะไม่ค่อยได้สังเกตว่า ที่จริงนะ อย่างนี้มันก็มีโทษ มีความกดดันอยู่ในระดับหนึ่งนะ มันเป็นการรบกวน เป็นการรำคาญที่ค่อนข้างเบา เราทนได้ แต่อันที่จริงมันก็ทำลายสุขภาพจิตเรานะ ทำให้เรารู้สึกเหน็ดเหนื่อยได้ง่าย อานิสงส์หรือผลดีของการออกจากเรือน ออกจากบ้าน ออกจากสิ่งแวดล้อมที่คุ้นเคย ทำให้ได้คิดใหม่ ได้มุมมองใหม่ ได้ทบทวนสิ่งที่ทำทุกวัน คือว่า วิถีชีวิตของตัวเองว่าพอดีไหม เหมาะสมไหม มีอะไรที่ควรปรับปรุงแก้ไขไหม อันนี้ก็เป็นประโยชน์ของการเข้าวัด เข้าป่า ออกจากสิ่งแวดล้อมที่คุ้นเคย

 

ถาม : บางคนมองว่าโครงการเดินตามธรรมไม่อาจบรรลุวัตถุประสงค์ด้านการอนุรักษ์ ป่าเต่าดำได้ พระอาจารย์มีความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ ?

พระอาจารย์ชยสาโร : จะอย่างไรก็ตาม อาตมาก็ขออนุโมทนาญาติโยมทุกคนที่มีความสนใจ และมีความตั้งใจในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพราะมีคนจำนวนน้อยที่มีจิตสำนึกในเรื่องนี้ มันก็มีอุปสรรคพอสมควร แต่ยังไงมันก็ได้กำไร ได้สิ่งที่มีคุณค่า คือเรามีความพอใจ มีความสบายใจที่ได้ทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ถ้าได้ทำงานอยู่ในเมืองเป็นนักธุรกิจ เป็นพ่อค้า ถึงแม้ว่ามีรายได้สูง แต่สิ่งที่ผลิตออกมาเป็นโทษต่อสังคม หรือมีโทษมากกว่าคุณ หรือไม่เกี่ยวข้องกับประโยชน์สุขของเพื่อนมนุษย์ ความภูมิใจ ความซาบซึ้งใจก็ไม่เกิด ไม่เหมือนใครก็ตามที่ทำสิ่งที่มีคุณค่าจริง ๆ การที่เราเลือกทางศึกษา เลือกอาชีพที่ช่วยอนุรักษ์ สิ่งแวดล้อม หรือเพื่อประโยชน์สุขของมนุษยชาติ ตราบใดที่เราไม่หวังเรื่องเงิน เรื่องทอง จนเกินไป และก็เห็นคุณค่าของวิถีชีวิตที่สงบสุข ขอให้คิดเรื่องการปล่อยวาง

“การปล่อยวาง” คำนี้มีการอธิบายที่ผิดออกไปมาก กลายเป็นปล่อยปละละเลย ที่จริงพระพุทธเจ้าสอนให้เราแยกระหว่างเหตุกับผล ให้เราขยันขันแข็งในเรื่องการสร้างเหตุ แต่ให้เราปล่อยวางในเรื่องผลที่จะเกิดขึ้น ถ้าเราตั้งใจที่จะสร้างเหตุคือ กำหนดหน้าที่ ของตนเอง สร้างความรัก ความพอใจที่จะทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ดีที่สุดแล้วก็ปล่อยวาง ปล่อยวางในขั้นของผล เพราะเราไม่ได้ทำงานคนเดียว บางทีก็มี กลั่นแกล้งกันบ้าง บางทีก็มีคนเข้าใจเราผิดบ้าง บางทีคนอื่นเอางานของเราไปทำเสียบ้าง คือมันไม่เป็นเหตุเป็นผล ไม่ใช่ว่าทำงานดีแล้ว มันจะมีผลดีเสมอไป เพราะว่าเหตุปัจจัย

ที่เข้ามาเกี่ยวข้องที่เราควบคุมไม่ได้มีมากมาย ถ้าหากว่ามีความตั้งใจที่จะสร้างเหตุ คือทำหน้าที่ของเราให้ดี เราก็มีความสุขกับการทำงาน อันนี้ก็เป็นความสุขที่ไม่มีใคร สามารถแย่งชิงได้ ถ้าเราหมายมั่นปั้นมือว่าผลมันต้องออกมาเป็นอย่างนี้ เป็นอย่างอื่นไม่ได้ เราก็เป็นทุกข์ ดังนั้นตั้งใจในการสร้างเหตุแต่ปล่อยวางในเรื่องของผล เรื่องโลกธรรม หรือว่าสรรเสริญ นินทา เราอย่าไปเอาจริงเอาจังถือว่าเป็นธรรมดาโลก เราทำงาน ด้วยความสบาย เหมือนเราเดินทางไกลหลายพันกิโล เราก็ต้องมีสติมีความสุขกับทุก ๆ ก้าว ที่เดิน ถึงเมื่อไหร่ก็ได้ เรามีความสุขอยู่แล้ว ไม่เหมือนเด็กที่ถาม “แม่ ๆ ถึงหรือยัง ทำไมยังไม่ถึง สักที เหนื่อย” อนาคตของเต่าดำเป็นอย่างไรเราก็ไม่รู้ คิดในแง่ร้ายมันก็กลุ้มใจ คิดในแง่ดี มันก็ปลื้มใจ ตั้งแต่อาตมามาอยู่ที่นี่มันก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด เดี๋ยวก็มีหวัง เดี๋ยวก็ผิดหวัง เดี๋ยวก็หมดหวัง เดี๋ยวก็มีหวังขึ้นมาใหม่ ขึ้น ๆ ลง ๆ อยู่ตลอดเวลา เลยไม่ค่อยเอาจริงเอาจัง เท่าไหร่ ถ้าเรารู้ว่าเรามีหน้าที่ มีนโยบาย มีอุดมการณ์ของเรา พยายามทำดีที่สุดที่เราสามารถ ทำได้ ถ้าเราแพ้ก็แพ้ไป มันก็ตามเหตุตามปัจจัยของมัน ในระหว่างนี้เราก็พยายามทำหน้าที่ ของเราให้ดีที่สุดเราก็พอใจ ถึงแม้ว่าในที่สุดแล้วเราไม่สามารถช่วยได้ เราก็ไม่ต้องทุกข์มาก เราได้ทำดีที่สุดที่เราทำได้แล้ว ก็ไม่มีอะไรมากกว่านี้

 

ถาม 1: ถ้าเรามีการปลูกฝังคุณค่าของป่าไม้ให้เยาวชน เด็กก็จะรู้ว่าควรจะรักษาป่าไม้อย่างไร เขาก็จะไปเผยแพร่กับเพื่อน ๆ คนที่มีจิตสำนึกก็จะมีมากขึ้น สร้างเป็นเครือข่าย อนุรักษ์ป่าได้

ถาม 2 : ทำไมเราในการแก้ปัญหาหายอย่าง เราจึงต้องตั้งใจไปแก้ที่เด็ก ฝากปัญหาไว้ที่เด็ก ?

พระอาจารย์ชยสาโร : เพราะผู้ใหญ่มันสอนยาก (ยิ้ม ) ถ้าเราดูผู้ใหญ่แล้ว ส่วนมากจะ ติดแน่นอยู่ในระบบผลประโยชน์ ผูกพันเสียจนถอนออกไม่ได้แล้ว เมื่อเห็นเด็กที่ยังไม่ได้เข้า ไปในระบบ ยังไม่ได้ทำงาน ยังไม่ได้เริ่มต้น ก็อยากจะฝากข้อคิดให้มีอุดมการณ์เพราะว่า จะได้แก้ไข หรือว่าอย่างน้อยก็ไม่ทำให้สถานการณ์เลวกว่านี้ อาตมาว่ายุคนี้เป็นยุคสร้างกรรม คนที่เกิดอีกรอยปี สองร้อยปี สามร้อยปี นี้จะไม่มีการไหว้บรรพบุรุษ จะมีแต่สาปแช่ง ว่าทำอะไรไม่สงสารคนที่ยังไม่เกิด เห็นแก่ตัวจัด

ถ้ามีการสอน การอบรม มันก็ดี แต่ว่าการที่จะให้ดีทุกคนคงจะเป็นไปไม่ได้ อาตมาว่าไม่ว่าคนในชุมชนไหนก็ตาม จะมีคนอยู่กลุ่มหนึ่งสอนไม่สอนก็จะดีอยู่แล้ว แล้วก็จะมีอีกกลุ่มสอนไม่สอนก็จะชั่วอยู่แล้ว แต่ที่น่าสนใจมากก็พวกคนที่อยู่ตรงกลาง ถ้าสอนก็จะดี ถ้าไม่สอนก็จะชั่ว พวกนี้ก็จะต้องใส่ใจกัน แล้วต้องมีคนที่เป็นตัวอย่างที่ดี แม้แต่ในสถาบัน หรือในหน่วยงานราชการที่มีคนคอรัปชั่นมาก แต่ถ้ามีผู้ใหญ่แค่คนหรือ สองคน ที่เติบโตประสบความสำเร็จด้วยความ ซื่อสัตย์สุจริต คนก็มีกำลังใจว่าเป็นไปได้ ไม่ต้องทั้งหมดแค่คนสองคนที่เป็นตัวอย่าง เขาก็พอใจว่าพออยู่ได้

 

ถาม : แม้ผมจะเป็นอาจารย์แต่ผมเองก็เป็นคนที่หันหลังให้วัด เพราะผมเห็นพระภิกษุสงฆ์ ที่อยู่ในเมืองทำสิ่งที่ไม่เหมาะสมหลายอย่าง เช่นในการไปบิณฑบาตตอนเช้า มีลูกศิษย์ขับรถ บรรทุกของมาเต็มกะละมัง ไปถึงวัดฉันนิดเดียว เหลือจากนั้นก็ทิ้ง ไม่ก็ส่งขายต่อ ซึ่งมันทำลายจิตใจของพุทธบริษัท จะมีอุบายอย่างไรที่จะทำให้ไม่คิดอะไรในลักษณะ ที่ไม่ดีต่อพระสงฆ์ ?

พระอาจารย์ชยสาโร : มันก็ยังเป็นปัญหาอยู่ การกระทำของพระบางรูป อาตมาเอง ก็รู้สึกอายแทน สิ่งสำคัญที่สุดอยู่ที่ตัวเราต้องรักษาจิตใจเอาไว้ให้อยู่ในทางที่ดี ที่เป็นกุศล ไม่ว่าเราจะไปพบสิ่งใด จะเป็นพฤติกรรมของคนอื่น หรือพฤติกรรมของสงฆ์ อันนี้เป็น ความสนุกของธรรมะ ความท้าทายในชีวิตประจำวัน ทำอย่างไรเราจึงจะรักษาความเป็น ปกติของจิตใจ เพราะมักจะมีสิ่งมากระตุ้นจิตของเราอยู่เสมอ พยายามไม่ให้เสียศูนย์ ไม่ให้เกิดอคติ ไม่โลภในสิ่งที่ชวนให้โลภ ไม่โกรธในสิ่งที่ชวนให้โกรธ ไม่หลง ในสิ่งที่ชวนให้หลง ถ้าทำได้อย่างนี้ก็จะได้หลักการในการปฏิบัติ ซึ่งปัญหาแต่ละปัญหานั้น จะมีวิธีปฏิบัติที่ไม่เหมือนกัน เรื่องอาหารบิณฑบาตของพระ อาตมาก็เคยเสนอเหมือนกันว่า มันไม่น่าเกินวิสัยของพระวัดใหญ่ หรือพระในเมือง ที่จะจัดการประสานงานกับเทศบาล ให้มีรถรับอาหารเหลือจากพระ เอาไปแจกที่โรงเรียนเด็กพิการ หรือ บ้านพักคนชรา ก็เป็นการไม่ให้อาหารต้องเสียไป ข้อสองเป็นการสร้างภาพพจน์ที่ดี เป็นการแก้ภาพพจน์ ของพระในเมือง ว่าท่านก็เอาเฉพาะท่านจำเป็น ที่เหลือก็เอาไปสร้างประโยชน์ได้ อาตมาว่าสิ่งนี้ไม่น่าจะเกินวิสัย แต่ก็ยังไม่มีใครคิดที่จะทำ

ปัญหาหนึ่งก็คือระบบ ระบบเดิมของเรามีบริษัททั้งสี่คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ระบบนี้เสื่อมไปนานแล้ว อันที่จริงมันควรจะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตักเตือนซึ่งกันและกัน ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ต่างคนต่างทำหน้าที่ในการสร้างสังคมที่ดีงาม แต่เรานำแนวคิดของตะวันตกเข้ามาโดยเราไม่ค่อยรู้สึกตัว คือศาสนาของตะวันตก ศาสนาคริสต์ นักบวชหรือผู้นำศาสนาเขาเป็นผู้แทนจากข้างบน หรือเป็นสื่อระหว่าง ข้างบนกับข้างล่าง เป็นตัวแทนของพระผู้เป็นเจ้า เรียกได้ว่าเป็นเจ้าของศาสนาในโลกนี้ แต่ระบบของเราไม่ใช่อย่างนั้น ระบบของเราคือ แบ่งหน้าที่กัน เรียกว่าเป็นระบบแยกส่วนคือ หน้าที่ของพระก็อย่างนี้ หน้าที่ของโยมก็อย่างนี้ ประสานกันเพื่อสร้างสังคมที่ดีงาม อย่างเช่น พระสงฆ์ต้องงดจากกิจกรรมทางการเมือง ไม่ควรขึ้นกับพรรคการเมืองใดการเมืองหนึ่ง ไม่ควรจะสอนในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าชาวพุทธทั้งหลาย ทั้งปวงไม่ควรสนใจเรื่องการเมือง ชาวพุทธก็อยู่ในสังคมโลก ควรจะมีผู้แทนที่ได้เสนอ แนวความคิด ความรู้สึกของชาวพุทธให้ผู้หลักผู้ใหญ่ได้รับทราบบ้าง แต่เราไม่มี อาตมามองว่า บางทีเราก็คิดว่าพระเป็นตัวอย่างของชาวพุทธทุกคน ถ้าพระไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการเมือง ชาวพุทธที่ดีก็ไม่ควรยุ่งกับการเมืองเช่นเดียวกับพระ แต่มันไม่ใช่ ที่พระไม่ทำเพราะ เรามีอุบาสก อุบาสิกา เป็นผู้รับผิดชอบในด้านนี้ เพื่อท่านจะได้ทำงานทางด้านจิตใจ ได้ทำการเผยแพร่ได้เต็มที่ ในเรื่องการอนุรักษ์ก็เหมือนกัน พระท่านมีหน้าที่ที่จะให้แนวคิด ที่จะกำลังใจในการทำงาน การอนุรักษ์ จริง ๆ เป็นเรื่องของนักวิชาการ พระทำการอนุรักษ์ได้ ในส่วนที่เหมาะสมกับสมณะเพศ ที่ไม่ขัดกับวิถีชีวิตอันดีงามของพระ และความเป็นอยู่ ของพระ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพระเราจะอนุรักษ์ในทุกส่วน มันเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้นเอง

ในสังคมทั่วไป เราก็ต้องพยายามรักษาความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างวัดกับชาวบ้าน ให้มีความสนิทสนม มีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน คือว่า ถ้าโยมมีความรู้สึกไม่สบายใจ ก็สามารถกราบเรียนพระ หรือครูบาอาจารย์ หรือหลวงพ่อได้ เพราะบางทีพระท่านอยู่ในวัด เมื่อโยมไม่กล้าบอกให้ทราบว่ามันมีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างไร ท่านก็ไม่ทราบ บางครั้ง ท่านอาจจะไม่คิด ท่านทำอย่างนี้มาแต่ไหนแต่ไร ก็ไม่เห็นมีใครว่าอะไร ทั้งที่มี คนว่าอยู่เหมือนกัน แต่ว่าลับหลัง ถ้ามีคนโดยเฉพาะเป็นผู้มีการศึกษา เป็นอาจารย์ เป็นผู้มีฐานะทางสังคม หรือเป็นผู้มีศรัทธาจริง ๆ เข้าไปกราบเรียนว่า ท่านอาจารย์ หลวงพ่อครับ การที่จัดอาหารบิณฑบาตอย่างนี้ เป็นสิ่งที่ทำให้หลายคนไม่สบายใจ หมดศรัทธา ไม่ทราบว่าเราจะสามารถทำอย่างอื่นได้ไหม และถ้ามีข้อเสนอก็ยิ่งดี การกระทำหลาย ๆ อย่างก็ไม่ได้มาจากความโลภ หรือกิเลสของพระเสมอไป แต่เป็นเพราะ ท่านไม่เคยคิดว่าคนจะมองอย่างนั้น เพราะทำอย่างนี้มานานแล้ว บางทีก็ขาดข้อมูล หลายวัดที่เสื่อมก็เพราะญาติโยมนำความเสื่อมเข้าไป เพราะวัดไหนที่อยู่มานาน ก็จะมีความสัมพันธ์ในแง่บุญคุณ บางทีพระก็ขี้เกรงใจ โยมนำอะไรที่ไม่เหมาะไม่ควร เข้าไปในวัด ท่านก็ไม่กล้าบอก กลัวจะเสียใจ ท่านก็รับมา

สรุปว่า เราเห็นอะไรก็แล้วแต่ ถ้าเห็นว่าไม่เหมาะ ไม่ควร ไม่สวย ไม่งาม ข้อแรก เราก็ต้องพยายามศึกษาให้เข้าใจเหตุปัจจัยที่อยู่เบื้องหลัง ที่ทำให้มีให้เป็นอย่างนี้ นี่เป็นหลักอริยะสัจ 4 ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค คือดูที่ตัวปัญหา ดูว่าปัญหานั้นคืออะไร ข้อที่สองก็ต้องสืบสาวหาสาเหตุของปัญหา จะได้หาทางดับปัญหา และก็ต้องหาหนทาง ปฏิบัติที่เหมาะสมที่สุด ที่จะได้ผลในการดับปัญหา อริยสัจ 4 ใช้ได้ทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น ทางโลกหรือทางธรรม เรื่องของสงฆ์ไม่ใช่ว่ามันเพิ่งจะเกิด มันก็มีทุกยุคทุกสมัย ดูได้จากประวัติศาสตร์ของศาสนาในไทย ไม่ว่ายุคไหนก็มีปัญหาหมดเลย กรุงศรีอยุธยา ถูกทำลาย เพราะพระพุทธศาสนาเสื่อม คนไม่ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ไปเน้นไสยศาสตร์ ปล่อยให้ศาสนาพราหมณ์เข้ามาครอบงำ พอถึงตอนต้นรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 พยายามจะปรับปรุงแก้ไขเรื่องทางศาสนาหลายเรื่อง ท่านก็ช่วยได้มากเหมือนกัน ในการออกกฎหมายควบคุมสงฆ์ จัดระเบียบใหม่ และตัดพิธีพราหมณ์ พิธีทางไสยศาสตร์

ออกไป แต่อย่างไรก็ตามพอถึงรัชกาลที่ 3 ก็ยังไม่เรียบร้อย รัชกาลที่ 4 ก็เกิดความท้อแท้ใจ ในที่สุดก็มีการชำระแก้ไข ก็ได้ผลในระดับหนึ่ง ในสมัยรัชกาลที่ 5 พระมหากษัตริย์ดู พฤติกรรม ความผิดของสงฆ์ต่าง ๆ ก็ยังไม่เรียบร้อย ไม่ใช่ว่าพุทธศาสนาเพิ่งจะเสื่อม เพียงแต่ว่าสมัยก่อนไม่มีหนังสือพิมพ์ ไม่มีสื่อที่ให้คนทราบสภาพ

เราต้องพยายามหาวัดที่ดี ครูบาอาจารย์ที่ดี แล้วก็สนับสนุนวัดที่ดี วัดที่มีวัตรปฏิบัติ ที่เรียบร้อย ที่น่าเลื่อมใส อาตมาคงจะไม่มีคำตอบที่จะทำลายปัญหาโลกแตกที่ยิ่งใหญ่นี้

 

ถาม 1 : ตอนที่เศรษฐกิจฟองสบู่แตก ผมเคยถึงขนาดเขียนจดหมายไปลงหนังสือพิมพ์มติชน เรียกร้องให้มีการนำข้าวก้นบาตรไปช่วยเหลือคนตกงาน แล้วก็คิดจะทำจริง ๆ ไปรวบรวม พรรคพวกมาเอารถไปขน เอาไปวางไว้ตามตลาดติดป้ายว่าใครหิวก็หยิบไปกิน แต่พอไป ศึกษาก็พบว่าแต่ละวัดจะมีเจ้าประจำ มีคนมารับของ มีการผูกขาดเรียบร้อย ว่าพระองค์นี้ เขาประมูลกันเท่านั้น เท่านี้ ไม่มีทางทำได้เลย คือสมัยผมเป็นเด็กวัดเองก็ยังพอมีทาง พอเวลาเปลี่ยนไปไม่กี่ปีก็มีการเข้ามาสัมปทานหมด ที่ชลบุรีเห็นชัดเลยคือ พออาหารเต็มบาตรก็จะเอาไปขายให้แม่ค้าที่อยู่ใกล้ ๆ คนที่มาซื้อก็มาซื้อจากตรงนั้นต่อ แล้วเอามาใส่ใหม่

ถาม 2 : แต่โยมว่าถ้าเราช่วยกันสอดส่องดูแลความเป็นอยู่ของพระภิกษุสงฆ์ เราก็มีโอกาส ที่จะเตือนสติพระสงฆ์ได้ อันนั้นเป็นสมมุติสงฆ์ที่ยังไม่สมบูรณ์ อย่างมีกรณีหนึ่งที่โยมเคย กระทำ คือมีพระวัดหนึ่งที่อยู่ไม่ไกลจากบ้านนัก เวลาท่านบิณฑบาตเสร็จแล้ว จะมีวิน มอเตอร์ไซด์มาซื้อเป็นชุด ๆ ละ 20 - 30 บาท มีทุกสิ่งทุกอย่าง เครื่องคาวหวานพร้อม เราได้เห็นพฤติกรรมแบบนี้ เจ้าอาวาสจะไม่ทราบ หรือแกล้งไม่ทราบก็แล้วแต่ ตรงนี้ สามารถที่จะจดหมายไปบอกเล่าพฤติกรรมของลูกวัดให้ท่านฟังว่า ลูกวัดของท่านมี พฤติกรรมอย่างนี้ ทำไมไม่เอาไปแจกเป็นอาหารกลางวันแก่นักเรียนยากจนในโรงเรียนข้างวัด ซึ่งหลังจากนั้นก็พบว่าอาหารที่เคยขายให้วินมอเตอร์ไซด์ ก็ไปตกกับนักเรียนยากจน เด็กก็ได้รับประทานอาหารกลางวัน หรืออย่างกรณีที่มี เจ้าอาวาสวัดหนึ่งท่านมีปฏิปทาดีมาก แต่ท่านรูปหล่อ จึงมีสาวแก่แม่หม้ายไปห้อมล้อมท่านมาก จนมีข่าวออกมา เมื่อเราได้ยินข่าว และพิสูจน์ได้ว่าจริง เราก็สามารถจดหมายไปตักเตือนท่านได้ว่า เราเชื่อในความบริสุทธิ์ ของท่าน แต่ท่านจะสู้กับรูปธรรมตรงนี้ โดยไม่หวั่นไหวในสิ่งที่ได้เห็นได้ยินเสมอหรือ ถ้าเราให้กำลังใจท่านว่า เรามั่นใจว่า ท่านจะสามารถฟันฝ่าอุปสรรคตรงนี้ต่อไปได้ ปรากฏว่าต่อมาปัญหานี้ก็หมดไป ปัญหาที่ทำให้ภาพพจน์ของสงฆ์เสื่อมเสีย ญาติโยมต้อง มีความกล้าที่จะแสดงเจตนาและตัวตนว่าเราเป็นใคร แล้วสิ่งที่เรารับรู้ได้เห็นมันเป็นอย่างนี้ ท่านได้รับฟังมาบ้างหรือเปล่า ท่านได้ระวังตนเองหรือเปล่า มันก็จะได้รับการแก้ไข และทุกสิ่งก็จะอยู่ในสภาพที่ถูกต้อง บางทีญาติโยมก็มีสิทธิ์ที่จะตักเตือนพระสงฆ์เหมือนกัน

พระอาจารย์ชยสาโร : มันต้องดูที่เจตนา แต่การใช้ภาษารุนแรงไปไม่ใช่ว่าจะได้ผลดีเสมอไป ก็ต้องเห็นใจพระเหมือนกัน อาตมาพูดในฐานะที่เป็นเจ้าอาวาสของวัดใหญ่ ที่มีญาติโยม มากมาย บางทีเขาก็มีความคิดเห็นไม่ตรงกัน เราอยู่ตรงกลางบางทีก็ไม่รู้จะเชื่อใครดี แต่ จริง ๆ แล้วมันก็มีวิธีการแก้ ก็ต้องค่อย ๆ แก้ไป บางอย่างต้องกลับไปหาของเดิม โดยเฉพาะสิกขาบทที่ห้ามพระใช้เงินทอง ปัญหาหลาย ๆ อย่างที่มาจากการที่พระใช้เงิน ก็จะไม่เกิด เช่นการแก่งแย่งกัน ขายอาหารให้พ่อค้า อะไรต่าง ๆ นี้ ถ้าหากพระไม่รับเงิน ไม่ใช้เงิน ไม่ถือสิทธิ์ ปัญหาก็จะหมด แต่พระที่ไม่จับเงินทองในปัจจุบันน่าจะมีไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ เงินก็คืออำนาจ พอมีเงินก็ใช้เงินตามสบาย มันก็ต้องมีการเสียสละเงิน หรืออำนาจที่จะได้บังคับสิ่งต่าง ๆ ให้เป็นไปตามใจ อยากซื้ออะไรก็ซื้อ อยากสั่งอะไรก็สั่ง อันนี้เป็นสิ่งที่พระต้องเสียสละ แล้วถ้าท่านกล้าเสียสละอย่างนี้ก็เป็นสิ่งที่น่าเคารพนับถือ แต่ถ้าพระท่านยังต้องการใช้เงิน ต้องการสั่งอะไรที่ท่านสามารถซื้อได้ มันก็ไม่ต่างอะไรกับ คนในโลก