#echo banner="" คู่มือมนุษย์ ตอนที่ 4 โดยหลวงพ่อพุทธทาส

คู่มือมนุษย์

อำนาจของความยึดติด (อุปาทาน)

เราจะปลีกตัวถอนตัวออกมาเสีย จากสิ่งทั้งหลายที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ได้อย่างไร? คำตอบก็คือจะต้องศึกษาว่า อะไรเป็นเหตุให้เราอยาก จนเข้าไปยึดติดในสิ่งนั้น? เมื่อรู้ต้นเหตุ เราอาจจะตัดความยึดติดเสียได้ กิเลส ซึ่งเป็นความยึดถือในสิ่งทั้งปวงนั้น ในพุทธศาสนาเรียก "อุปาทาน" แปลว่า ความยึดติด จำแนกเป็น 4 ประการด้วยกัน

gg ๑๐๘ gg

1. กามุปาทาน (ยึดมั่นโดยความเป็นกาม หรือของรักใคร่ทั่วไป) เห็นได้จากการที่คนเราตามธรรมดา มีความติดพันในสิ่งที่น่ารักที่น่าพอใจ ไม่ว่าจะเป็น รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส สัญชาตญาณของคนเรา ย่อมรู้สึกสนุกสนานเพลิดเพลิน หรือเอร็ดอร่อยในกามคุณ 5 อย่างนี้ ตามหลักธรรมในพุทธศาสนา ขยายออกไปเป็น 6 คือมี "ธรรมารมณ์" เพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่ง หมายถึงสิ่งที่ผุดขึ้นในใจ จะเป็นอดีตปัจจุบันหรืออนาคตก็ได้ เกี่ยวกับวัตถุภายนอก หรือภายในก็ได้ เป็นเพียงคิดฝันไปก็ได้ แต่ทำให้เกิดความเอร็ดอร่อยเพลิดเพลิน ทางจิตใจในขณะที่รู้สึก

gg ๑๐๙ gg

พอคนเราเกิดมา ได้รู้รสของกามารมณ์ทั้ง 6 นี้ ก็ยึดติดในอารมณ์นั้น และยึดยิ่งขึ้นเป็นลำดับ ๆ อย่างแน่นแฟ้น เหลือวิสัยที่คนธรรมดาจะสอนได้ ฉะนั้น จึงเป็นปัญหาสำคัญที่จะต้องมีความรู้ ความเข้าใจให้ถูกต้อง และประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้อง ต่อสิ่งเหล่านั้น ; มิฉะนั้นความยึดติดนี่แหละจะนำไปสู่ ความวินาศฉิบหาย ขอให้เราพิจารณาดู ความวินาศฉิบหายของคนทั่ว ๆ ไป ตามปกติจะเห็นได้ว่า มีมูลมาจากความยึดมั่นถือมั่น ในสิ่งที่น่ารักอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังกล่าวแล้ว ทุกอย่างที่มนุษย์ปุถุชนทำกันอยู่ไม่ว่าอะไร ล้วนแต่มีมูลค่าจากกามารมณ์ทั้งนั้น : คนเราจะรักกัน โกรธกัน เกลียดกัน อิจฉาริษยาฆ่าฟันกัน หรือฆ่าตัวเองตายก็ตาม ก็จะต้องมีมูลมาจากกามารมณ์

gg ๑๑๐ gg

การที่มนุษย์ต้องทำงาน ขวนขวายหรือทำอะไรก็ตามเราอาจจะสืบสาวราวเรื่องไป แล้วจะพบว่า เขามีความอยากใคร่จะได้สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ที่เขาอุตส่าห์เล่าเรียน ประกอบอาชีพก็เพื่อ ให้ได้ผลมาจากอาชีพ แล้วก็ไปแสวงหาความสบายใจในทางรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสมาบำรุงบำเรอตน แม้แต่เรื่องทำบุญ อธิษฐานได้ให้ไปสวรรค์ ก็มีมูลมาจากความหวังในทาง กามารมณ์ทั้งนั้น รวมความแล้วความยุ่งยากปั่นป่วนของโลกทั้งสิ้น มีมูลมาจากกามารมณ์นั่นเอง

gg ๑๑๑ gg

กามารมณ์มีอำนาจร้ายกาจ ถึงเพียงนี้ก็เพราะอำนาจของกามุปาทาน คือความยึดมั่นถือมั่นอย่างเหนียวแน่น ในกามตัวนี้เอง พระพุทธเจ้าจึงตรัสไว้เป็นอุปาทาน ขั้นต้นเป็นปัญหาเกี่ยวกับโลกโดยตรง โลกจะวินาศฉิบหาย หรือจะเป็นอะไรก็ตาม ย่อมมีมูลมาจากกามุปาทานนี้โดยเฉพาะ เราควรจะพิจารณาตัวเราเองว่า เรามีความติดในกามอย่างไร เหนียวแน่นเพียงไร จะเหลือวิสัยที่เราจะละได้จริง ๆ หรือไม่

gg ๑๑๒ gg

ถ้าว่ากันทางคดีโลกแล้ว การติดกามกลับจะเป็นประโยชน์อย่างใหญ่หลวง เพราะจะทำให้รักครอบครัว ทั้งยังทำให้ขยันขันแข็ง ในการแสวงหาทรัพย์และชื่อเสียง ฯลฯ แต่ถ้ามองกันในแง่ของธรรมะ จะรู้สึกว่า เป็นทางมาแห่งความทุกข์ ทรมานอันเร้นลับ ; เพราะฉะนั้นในทางธรรมะ ความติดกามจึงเป็นสิ่งที่ต้องละกัน ให้หมดสิ้นในที่สุด จึงจะดับความทุกข์ทั้งปวงได้

gg ๑๑๓ gg

2. ทิฏฐปาทาน (ยึดติดในทิฏฐิ หรือความคิดเห็นที่ตนมีอยู่เดิม ๆ) เป็นสิ่งที่พอมองเห็นและเข้าใจได้ไม่ยาก ; พอเราเกิดมาในโลก เราก็ได้รับการศึกษาอบรม ให้เกิดมีความคิดเห็น ชนิดที่มีไว้สำหรับยึดมั่น ไม่ยอมใครง่าย ๆ นี้ เรียกว่าทิฏฐิ ลักษณะที่ยึดติดในความคิด ความเห็นของตนนี้เป็นไปตามธรรมชาติ เขาไม่ติเตียนกันนัก และเป็นสิ่งที่ห้ามไม่ได้ แต่เป็นโทษภัยที่ร้ายกาจ ไม่น้อยไปกว่าความยึดติดในของรักของใคร่ ถ้ายึดติดในความเห็นเดิม ๆ ของตัวอย่างดื้อดึงแล้ว ก็อาจถึงกับจะต้องปรับปรุงทิฏฐิของเราให้ถูก ให้ดีให้สูงยิ่งขึ้น คือจากความเห็นผิด ให้กลายมาเป็นความเห็นที่ถูกต้อง และถูกต้องยิ่งขึ้น ๆ ไปจนถึงที่สุด ชนิดที่รู้อริยสัจจ์ดังที่ได้บรรยายมาแล้ว

gg ๑๑๔ gg

ทิฏฐิที่เป็นความดื้อถือรั้นนั้น มีมูลมาจากหลายทางโดยเฉพาะอย่างยิ่งแล้ว มักจะเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณี หรือลัทธิศาสนาเป็นส่วนใหญ่ ทิฏฐิดื้อรั้นเป็นของส่วนตัวเองล้วน ๆ นั้นยังไม่เท่าไร เพราะไม่มากมายเหมือนที่มาจาก ขนบธรรมเนียมประเพณี ที่คนเคยถือกันมาที่ค่อย ๆ อบรม สะสมกันมากขึ้น ๆ

gg ๑๑๕ gg

ทิฏฐิต่าง ๆ นี้เกิดขึ้นเพราะความไม่รู้ (อวิชชา) เมื่อไม่รู้ก็มีความเข้าใจเอาเองตามความโง่เดิม ๆ ของตน เช่นเห็นว่าสิ่งนี้น่ารักน่ายึดถือ สิ่งนี้เที่ยงแท้ถาวร เป็นความสุขเป็นตัวตน แทนที่จะเห็นว่า สิ่งเหล่านั้นเป็นเพียงภาพมายาที่ลวงตา เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างนี้เป็นต้น อะไร ๆ ที่ตนเข้าใจมาแล้วละก็ต้องไม่ยอมรับว่าผิด ทั้งที่บางทีตัวเอง ก็เหมือนอยู่ว่าผิด แต่ก็ไม่ยอม

gg ๑๑๖ gg

ความเป็นผู้ดื้อดึงซึ่งหน้าอย่างนี้ นับว่าเป็นอุปสรรคหรือศัตรูของคนเราอย่างยิ่ง มันทำให้เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น หรือไม่สามารถเปลี่ยนความเห็นผิด ในลัทธิศาสนา หรือความเชื่ออื่น ๆ ที่เคยหลงเชื่อมาแล้วแต่เดิมได้

gg ๑๑๗ gg

ปัญหานี้ย่อมจะเกิดแก่บุคคล ผู้ถือลัทธิศาสนาที่ยังต่ำ ๆ อยู่ อยู่ทั้ง ๆ ที่ตนเห็นว่าต่ำหรือผิด ก็เปลี่ยนไม่ได้ เพราะเขามักถือเสียว่าบิดามารดา ปู่ย่า ตายาย เคยถือกันมา หรือถ้าไม่มีเหตุผลอะไร สำหรับจะแก้ตัวขึ้นมาจริง ๆ ก็ว่าเป็นสิ่งที่เคยถือกันมานมนานแล้ว เป็นต้น เพราะเหตุนี้เอง พุทธศาสนาจึงถือว่าทิฏฐินั้น เป็นกิเลสตัวร้ายกาจ เป็นสิ่งที่ทำอันตรายที่สุดอย่างหนึ่ง ซึ่งจะต้องพยายามทำให้หมดไปอย่างยิ่ง มิฉะนั้นตนก็จะไม่ได้อะไรที่ดีขึ้นเลย

gg ๑๑๘ gg

3. สีลัพพตุปาทาน (ยึดติดในวัตรปฏิบัติที่มุ่งหมายผิดทาง) หมายถึงความยึดมั่นถือมั่นในการประพฤติ กระทำที่ทำปรัมปราสืบกันมาอย่างงมงาย ไร้เหตุผล หรือที่คนนิยมเรียกกันว่าขลัง ศักดิ์สิทธิ์ คิดกันว่าเป็นสิ่งที่เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ และไม่ยอมเปลี่ยนแปลง

gg ๑๑๙ gg

คนไทยเราทั่วไป ก็มีสิ่งนี้กันไม่น้อยกว่าชนชาติอื่น มีการถือเครื่องรางของขลัง หรือเคล็ดลับต่าง ๆ เช่นตื่นนอนขึ้นมา จะต้องเสกน้ำล้างหน้า จะถ่ายอุจจาระก็ต้องผินหน้าไปทิศนั้นทิศนี้ จะบริโภคอาหารหรือจะนอน ก็ต้องมีเคล็ดมีพิธี เชื่อผีสางเทวดา ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น เป็นการปฏิบัติที่ไร้เหตุผลอย่างยิ่ง ไม่เคยคำนึงถึงเหตุผล คงมีแต่ความยึดมั่นถือมั่นตามตำราบ้าง เคยทำมาแล้วไม่ยอมเปลี่ยนแปลงบ้าง

gg ๑๒๐ gg

แม้ที่อ้างตนว่าเป็นพุทธบริษัท อุบาสกอุบาสิกา ก็ยังยึดมั่นถือมั่นกันไว้คนละอย่างสองอย่าง, หรือ แม้ที่เรียกตัวเองว่าเป็น ภิกษุสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า ก็ยังมีการยึดถือในทำนองนี้ด้วยอุปาทาน ยิ่งเป็นลัทธิศาสนาที่ถือ พระเป็นเจ้าถือเทวดา ถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วยแล้ว จะมีการถือชนิดนั้นมากทีเดียว ซึ่งสำหรับชาวพุทธเรา ไม่น่าจะมีอย่างนั้นเลย

gg ๑๒๑ gg

ข้อนี้เป็นเพราะเมื่อประพฤติข้อใดข้อหนึ่งแล้ว ไม่ทราบความมุ่งหมายเดิม ไม่คำนึงถึงเหตุผล ได้แต่เหมาสันนิษฐานเอาเชื่อว่า เป็นของศักดิ์สิทธิ์ ฉะนั้น คนเหล่านี้จึงสมาทานศีล หรือประพฤติธรรมแต่เพียง ตามแบบฉบับตามประเพณี ตามตัวอย่างที่ทำปรัมปราสืบกันมาเท่านั้น ไม่ทราบเหตุผลของสิ่งนั้น ๆ เพราะประพฤติมาจนชิน เกิดการยึดถือเหนียวแน่น ชนิดที่แก้ไขยากอันนี้เรียกว่า ความยึดติดในการปฏิบัติ ที่เคยกระทำสืบกันมาอย่างผิด ๆ หรืออย่างงมงายไร้เหตุผล

gg ๑๒๒ gg

แม้ว่าวิปัสสนากรรมฐาน หรือสมถกรรมฐาน อย่างที่กำลังประพฤติปฏิบัติกัน อยู่ในเวลานี้ก็ตาม ถ้าทำไปด้วยความไม่รู้เหตุผลต้นปลาย ไม่รู้ความมุ่งหมายอันแท้จริง ก็จะต้องเป็นไปด้วยอำนาจ ของความยึดถือโดยมุ่งหมายผิด เป็นความโง่เขลาชนิดหนึ่ง โดยไม่ต้องสงสัย

gg ๑๒๓ gg

แม้ที่สุดจะรักษาศีลห้า ศีลแปด ศีลสิบ หรือศีลเท่าใดก็ตาม ถ้ารักษาโดยคิดว่าจะเป็นผู้ขลัง เป็นผู้วิเศษศักดิ์สิทธิ์ จะมีอำนาจฤทธิ์เดชอะไรขึ้นมาแล้ว ก็กลายเป็นกิจวัตรที่มุ่งผิดทาง ทำไปโดยอำนาจสีลัพพตุปาทานนี้ ทั้งนั้นไม่ต้องกล่าวถึงการประพฤติแปลก ๆ ของพวกภายนอกพุทธศาสนาก็ได้ ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องระมัดระวังให้มาก ๆ

gg ๑๒๔ gg

การประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรม ในพระพุทธศาสนานั้น จะต้องให้ถูกไปตั้งแต่เริ่มมีความคิด ความเห็นความพอใจ ในผลของการทำลายกิเลสไปตั้งแต่ต้นทีเดียว การประพฤติปฏิบัตินั้น จึงจะไม่เป็นความงมงายที่นอกลู่นอกทาง ไร้เหตุผล และเสียเวลาปฏิบัติ

gg ๑๒๕ gg

4. อัตตวาทุปาทาน (ยึดมั่นโดยความเป็นตัวเป็นตน) ความยึดมั่น ว่าตัว ว่าตนนี้ เป็นสิ่งสำคัญ และเป็นสิ่งเร้นลับอย่างยิ่ง สิ่งที่มีชีวิตทั้งหมดย่อมจะรู้สึกว่า มันเป็นตัวตนของมันอยู่ ดังนี้เสมอไปอย่างช่วยไม่ได้ เพราะมันเป็นสัญชาตญาณขั้นต้นที่สุด ของสิ่งที่มีชีวิต และเป็นมูลฐานของสัญชาตญาณอื่น ๆ เช่น สัญชาตญาณหาอาหารการกิน สัญชาตญาณต่อสู้อันตราย หลบหนีอันตราย สัญชาตญาณสืบพันธุ์และอื่น ๆ อีกมาก ซึ่งล้วนแต่อาศัยสัญชาตญาณ แห่งความรู้สึกยึดถือว่าเป็นตัวตนทั้งนั้น มันต้องยึดมั่นว่า มีตัวเราเสียก่อนมันจึงไม่อยากตาย มันจึงอยากหาอาหารมาเลี้ยงร่างกาย อยากต่อสู้เอาตัวรอด หรืออยากจะสืบพันธุ์ของมันไว้

gg ๑๒๖ gg

ความยึดถือว่ามีตัวตนนี้ มีประจำอยู่ในสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลาย ถ้าไม่อย่างนั้นแล้ว มันจะมีชีวิตรอดมาไม่ได้ : แต่อันนั้น มันก็เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความทุกข์ ในการแสวงหาอาหารในการต่อสู้ ในการสืบพันธุ์ หรือในการทำอะไรทุก ๆ อย่าง ฉะนั้นจึงกล่าวว่า มันเป็นรากฐานแห่งความทุกข์ทั้งปวงด้วย

gg ๑๒๗ gg

ข้อนี้พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้เป็นใจความ โดยสรุปสั้นที่สุดว่า "สิ่งต่าง ๆ ที่คนมีอุปาทานเ ข้าไปยึดถืออยู่นั่นแหละเป็นตัวความทุกข์ หรือเป็นมูลเหตุแห่งความทุกข์" หรือ "ร่างกายและจิตใจที่คนเข้าไปยึดถือด้วยอุปาทานอยู่ นั่นแหละ เป็นความทุกข์"

gg ๑๒๘ gg

อุปาทานข้อนี้เป็นต้นกำเนิดของชีวิต และเป็นต้นกำเนิดของความทุกข์ต่าง ๆ คำที่ว่า "ชีวิตคือความทุกข์-ความทุกข์คือชีวิต" ท่านก็หมายถึงข้อนี้เอง การที่เรารู้จักมูลกำเนิดของชีวิต และของความทุกข์ น่าจะถือว่าเป็น การรู้ในสิ่งที่ลึกซึ้งที่สุดและควรรู้ถึงที่สุด เพราะว่าเป็นทางที่ทำให้เราสามารถ กำจัดความทุกข์ได้อย่างเด็ดขาด ข้อนี้อยากจะอวดด้วยว่า เป็นวิชาความรู้เฉพาะของพุทธศาสนาเท่านั้น ไม่อาจพบได้ในศาสนาอื่นที่มีอยู่ในโลกนี้เลย

gg ๑๒๙ gg

เกี่ยวกับอุปาทาน, วิธีปฏิบัติให้ได้ประโยชน์มากที่สุดเท่าที่จะทำได้นั้น จะต้องอาศัยการรู้จักตัวความยึดติด โดยเฉพาะอัตตวาทุปาทานให้มากเป็นพิเศษ ; เพราะว่ามันเป็นมูลฐานของชีวิต เป็นสิ่งที่มีขึ้นเอง เป็นเอง ประจำอยู่เสร็จแล้วในตัว ไม่ต้องมีใครมาสอนอะไรกันอีก

gg ๑๓๐ gg

เด็ก ๆ หรือลูกสัตว์ตัวเล็ก ๆ พอเกิดมาจากท้องแม่ ก็มีสัญชาตญาณอันนี้มาด้วยเสร็จ เราจะเห็นได้ว่า ลูกสัตว์ตัวเล็ก ๆ เช่น ลูกแมวรู้จักขู่ฟู่ ๆ ในเมื่อเราเข้าไปใกล้มันนั่นก็เพราะ มันมีอะไรที่เป็นตัวเป็นตนประจำอยู่ในใจ ฉะนั้นจึงช่วยไม่ได้ที่จะไม่ให้มีอุปาทานในข้อนี้ ที่มันแสดงอิทธิพลออกมา ทางที่ทำได้อย่างเดียวก็คือ ควบคุมมันไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ จนกว่าจะเจริญด้วยวิชาความรู้ ในทางธรรมะ อย่างที่เรียกได้ว่า ตัดให้ขาดลงไปด้วยวิธีที่พุทธศาสนาสอนไว้ จนเอาชนะสัญชาตญาณข้อนี้ได้

gg ๑๓๑ gg

ถ้ายังเป็นคนธรรมดา คือเป็นปุถุชนอยู่แล้ว ย่อมไม่มีทางที่เอาชนะ สัญชาตญาณข้อนี้ได้เลย มีแต่พระอริยเจ้าอันดับสุดท้าย คือ พระอรหันต์เท่านั้นที่จะเอาชนะ สัญชาตญาณข้อนี้ได้ เราต้องเข้าใจว่าไม่ใช่เป็นเรื่องเล็กน้อยเลย เพราะเป็นปัญหาสำคัญของสิ่งมีชีวิตทั่ว ๆ ไปทั้งสิ้น ; ถ้าเราต้องการจะเป็นพุทธบริษัทเต็มตัว กล่าวคือเพื่อให้ได้รับประโยชน์จากพระพุทธศาสนา โดยครบถ้วน ก็จำต้องศึกษาเรื่องนี้ และเอาชนะความเข้าใจผิดในข้อนี้ ให้ได้มากที่สุด เราจึงจะมีความทุกข์ลดน้อยลงตามลำดับ ๆ

gg ๑๓๒ gg

การที่รู้ความจริง ของสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเราเป็นประจำวัน นับว่าเป็นมหากุศล หรือความฉลาดที่สุดอย่างหนึ่ง จึงใคร่ขอรบเร้าท่านทั้งหลาย ให้สนใจในเรื่องอุปาทานทั้งสี่ อันเป็นเรื่องแสดงให้เห็นว่า ทั้ง ๆ ที่สิ่งทั้งปวงเป็นสิ่งที่ไม่น่ายึดถือ ไม่น่าเอา ไม่น่าเป็นอยู่ตามธรรมชาติ เราทั้งหลายก็ยังตกเป็นบ่าวเป็นทาสของมัน อย่างเหนียวแน่น เพราะอำนาจของอุปาทานทั้งสี่นี้เอง ฉะนั้น เราจะต้องศึกษาให้รู้จักสิ่งที่เป็นอันตราย เป็นพิษร้ายนี้ให้มากที่สุด สิ่งนี้มิได้แสดงตัวเป็นพิษ เป็นอันตรายอย่างการลุกโพลง ๆ ของไฟ หรือรู้จักได้ง่าย ๆ อย่างอาวุธหรือยาพิษ แต่มันเร้นลับแนบเนียบอยู่ในลักษณะ เป็นของหวานเอร็ดอร่อย หอมหวานยวนใจเป็นของสวยงาม เป็นของไพเราะทั้งนั้น

gg ๑๓๓ gg

เมื่อมันมาในลักษณะเช่นนี้ ย่อมเป็นการยากที่เราจะรู้สึกตัวหรือควบคุมมันได้ จึงต้องอาศัยสติปัญญา ความรู้ของพระพุทธเจ้า และจะต้องศึกษาปฏิบัติ ควบคุมความยึดมั่นที่ผิด ๆ เหล่านี้ให้อยู่ในอำนาจของปัญญา เราก็สามารถดำรงชีวิตนี้ ไม่ให้มีความทุกข์ทรมาน หรือทุกข์แต่น้อยที่สุดจนสามารถ ปฏิบัติหน้าที่การงาน หรือมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ในลักษณะ ที่เยือกเย็น มีความสะอาด สว่าง สงบเย็นอยู่ได้

gg ๑๓๔ gg

ขอสรุปความว่า อุปาทานทั้งสี่นี้ เป็นปัญหาอันเดียวที่พุทธบริษัท หรือผู้ประสงค์จะรู้จักตัวพุทธศาสนา จะต้องเข้าใจให้ได้ เพราะว่าวัตถุประสงค์ของการรักษาพรหมจรรย์ ในพุทธศาสนานี้ ก็เพื่อทำจิตใจให้หลุดพ้นจากความยึดมั่นที่ผิด ๆ นี้ ท่านทั้งหลายจะได้พบคำกล่าวเช่นนี้ ในท้ายบาลีทุก ๆ สูตร ที่กล่าวถึงการบรรลุธรรมของพระอรหันต์ ซึ่งในที่นั่นจะมีคำว่า "จิตหลุดพ้นจากอุปาทาน" แล้วก็จบกัน เพราะว่า เมื่อจิตหลุดพ้นจากความยึดมั่นแล้ว ก็ไม่มีอะไรจะผูกพันคล้องจิตนั่น ให้ตกเป็นทาสของโลก หรือเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป เรื่องจึงจบสิ้นกันหรือกลายเป็น โลกุตตระ คือพ้นโลก เพราะเหตุฉะนั้น การหลุดพ้นจากความยึดมั่นที่ผิด ๆ จึงเป็นใจความ สำคัญที่สุดของพุทธศาสนา

gg ๑๓๕ gg