#echo banner="" ชีวประวัติ พระวิสุทธิญาณเถร (หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย) 06

พระวิสุทธิญาณเถร (หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย)

วัดเขาสุกิม ตำบลเขาบายศรี อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี

คัดลอกจาก : http://watkhaosukim01.blogspot.com/2012/06/blog-post_5874.html

หน้าที่                  

ปฐมฤกษ์บนเขาสุกิม

ปรากฏการณ์ตามคำพยากรณ์ของท่านพ่อลี

ข้อที่ ๑. พ.ศ. ๒๕๐๗ หัวเขาอีกิมจะสว่างไสวไปด้วยแสงเทียน แสงธรรม

เมื่อวันที่ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๗ คุณโยมห่อ สูญญาจารย์ และคุณโยมขวัญ ใจงาม ได้ไปกราบนิมนต์หลวงปู่สมชาย พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณร จากวัดเนินดินแดง จำนวน ๙ รูป เพื่อมาเจริญพระพุทธมนต์ในพิธีทำบุญบ้าน ที่หมู่บ้านคลองพลูกระต่อย (ปัจจุบันเป็นบ้านเขาสุกิม) ตำบลเขาบายศรี อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ภายหลังจากเสร็จพิธีทำบุญแล้วคุณโยมห่อ และคุณโยมขวัญ จึงได้กราบนิมนต์หลวงปู่พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณรให้ขึ้นไปพักบำเพ็ญทำความเพียรบนเขาสุกิม เพราะเห็นว่าบนภูเขาเป็นสถานที่ ที่เงียบ สงบสงัด วิเวก ปราศจากผู้คนรบกวนเหมาะแก่การบำเพ็ญสมณธรรม

หลวงปู่ได้ยืนมองดูทัศนียภาพของภูเขาอยู่ครู่หนึ่งจึงบอกโยมห่อว่า "ไปวันนี้ได้ไหม?"

โยมห่อก็ถือมีดขอถางทางนำหน้าหลวงปู่ขึ้นไปเรื่อยๆ จนมาถึงหลืบหิน หรือเพิงผาแห่งหนึ่ง หลวงปู่จึงบอกโยมห่อว่า..เอาละ!.นั่งตรงนี้กันก่อน...

หลวงปู่นั่งหลับตาพิจารณาโดยอภิญญาสมาธิ แล้วเห็นว่าบนภูเขาแห่งนี้ "ในอดีตชาติเคยเป็นสถานที่ทิ้งขันธ์มาแล้วชาติหนึ่ง..."

หลวงปู่จึงปรารภกับญาติโยมว่า อาตมาคงจะได้กลับมาอยู่ที่บ้านเก่าอีกครั้ง...

หลวงปู่มองเห็นว่าบนภูเขาสุกิมแห่งนี้เหมาะแก่การบำเพ็ญสมณธรรมเป็นอย่างยิ่ง คือมีลักษณะเป็นสภาพป่าดงดิบหนาทึบ เต็มไปด้วยต้นไม้ขนาดใหญ่ปกคลุมอย่างหนาแน่น เสียงชะนีกู่ร้องอย่างโหยหวนบนยอดเขาที่อยู่สูงขึ้นไป เสียงนกเสียงกาส่งเสียงกันให้ลั่นป่า เหมือนดีอกดีใจที่ได้มีผู้ทรงศีลขึ้นมาอยู่บนเขาลูกนี้ด้วยในวันนี้ เสร็จแล้วหลวงปู่ก็บอกให้ญาติโยมเดินทางไปเอาอัฐบริขารส่วนตัวที่วัดเนินดินแดง เป็นต้นว่า ผ้าไตรจีวร กลด ส่วนบาตรนั้นนำมาแล้ว หลวงปู่ย้ำอีกว่า ห้ามเอาวัตถุสิ่งของใดๆ ของวัดมาเด็ดขาด อยู่ที่นี้เดี๋ยวก็มีมาเอง ซึ่งในครั้งนั้นแม้แต่เสื่อจะปูรองนอนสักผืนหลวงปู่ก็ยังไม่ให้เอามา ต้องใช้ปีกไม้และเปลือกไม้สำรองที่ชาวบ้านเลื่อยทิ้งไว้เอามาวางเรียงต่อๆ กัน แล้วปูทับด้วยผ้าสรงน้ำ หมอนก็ใช้ห่อผ้าครองนั่นเองรองนอน ซึ่งเป็นปฐมฤกษ์อย่างแท้จริง

ปฐมฤกษ์ในการขึ้นมาบำเพ็ญสมณธรรมบนเขาสุกิมในครั้งแรกนี้ มีด้วยกัน ๕ รูป พระภิกษุ ๓ รูป สามเณร ๒ รูป คือ

๑. หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ๒. พระคำพันธ์ คมฺภีรญาโณ ๓. พระคำปุ่น วณฺณวโร (คุณคำปุ่น กุดกุง) ๔. สามเณรบุญช่วย วงษ์สวาสดิ์ ๕. สามเณรเจียม นาคะโซ และมีอุบาสกอุบาสิกาติดตามขึ้นมาบำเพ็ญด้วยประมาณ ๑๐ คน

อุบาสกอุบาสิกาได้ช่วยกันจัดหาสถานที่พักแบบชั่วคราว พออาศัยหลบแดดหลบฝน เพื่อบำเพ็ญเพียร มีที่นั่งสมาธิ มีทางเดินจงกรม และมีที่กางกลด ตามโขดหินบ้าง ตามโคนต้นไม้บ้าง รุ่งขึ้นวันต่อๆ มา ก็มีชาวบ้านขึ้นมาช่วยถากถางสถานที่สำหรับบำเพ็ญภาวนาเพิ่มเติมขึ้นอีกบางส่วน หลวงปู่ได้นำพาหมู่คณะปฏิบัติอยู่แบบกึ่งชั่วคราวตามโขดหินตามโคนไม้ โดยไม่ยึดติดในสถานที่อยู่อาศัย โดยมุ่งการชำระจิตเป็นเรื่องสำคัญกว่าเรื่องอื่น ดังนั้นทุกคนจึงมีความสุขอยู่กับการปฏิบัติธรรม ดื่มด่ำในรสชาติของพระธรรมตลอดมา

สถานที่ประกอบความเพียรอันเป็นปฐมของหลวงปู่สมชาย คือใต้หลืบหิน (ปัจจุบันนี้ได้อนุรักษ์ไว้เป็นอนุสรณ์สถาน) ในระหว่างนี้ฝนฟ้าเริ่มตกลงมาบ้างแล้ว เนื่องจากสมัยก่อนนั้นเมืองจันทบุรีฝนจะตกตั้งแต่เดือนอ้ายเดือนยี่กันทีเดียว เมื่อฤดูฝนเริ่มตั้งเค้าชาวบ้านก็ขึ้นมาช่วยกันปลูกสร้างกุฏิแบบชั่วคราวขึ้นจำนวน ๑๕ หลัง ศาลาโรงฉัน ๑ หลัง สำหรับเป็นที่ฉันภัตตาหาร และเป็นที่สวดมนต์ทำวัตร อบรมธรรมแก่ญาติโยม ในเบื้องต้นนี้ทั้งกุฏิและศาลาก็ปลูกสร้างแบบชั่วคราวด้วยไม้บนภูเขานั่นเอง หลังคาก็ใช้ใบระกำมุงซึ่งใช้ได้ดีมาก ฝากุฏิกั้นด้วยต้นระกำบ้าง เปลือกไม้สำรองบ้าง พื้นกุฏินั้นได้ใช้เปลือกไม้สำรอง ซึ่งหาได้ง่ายและใช้ได้ดี แต่ไม่ถาวรเท่านั้นเอง น้ำดื่มน้ำใช้อุดมสมบูรณ์ดีมาก อากาศดี แต่ฤดูฝนออกจะชุ่มชื้นมากไปบ้างเท่านั้นเอง เนื่องจากสภาพป่ายังเป็นดงดิบ สัตว์ป่า เสือและหมียังชุกชุมมาก สัตว์ประเภทอื่น ๆ มีทุกประเภทหมูป่า เก้ง กวาง งูเหลือมก็ค่อนข้างชุม เพราะบนภูเขามีถ้ำจำนวนมากซึ่งงูเหลือมนั้นจะชอบอยู่ตามถ้ำตามโพรงอยู่แล้ว แต่ละตัวยาวเป็น ๓ วา ๕ วา ออกมาให้เห็นบ่อยๆ แต่ไม่เคยทำร้ายใคร ยามรุ่งอรุณเมื่อ แสงพระอาทิตย์อ่อน ๆ ก็จะมีเสียงชะนีร้องโหยหวนกู่เรียกกันอย่างมีชีวิตชีวาไปทั้งภูเขา แต่น่าเสียดายที่ทุกวันนี้ไม่ทราบว่าหายไปทางไหนกันหมด ซึ่งป่าไหนก็แล้วแต่ถ้ายังมีเสียงชะนีกู่ร้องกันแล้วป่านั้นก็ยังไม่ตายยังมีชีวิตชีวา หรือเรียกว่า ป่าดงพงไพรนั่นเอง บนภูเขาสุกิมในสมัยก่อนนั้นก็เช่นกัน จะได้ฟังเสียงชะนีกู่ร้องรับกันไปมาอย่างมีชีวิตชีวาทุกวัน ค่ำลงก็จะมีเสียงหริ่งเรไรขับเคี่ยวเคี้ยวฟันกันให้ระงม ตกดึกเสียงนกแสกนกฮูกที่ออกหากินก็ร้องรับกันคนละมุมป่า ท่ามกลางแสงเดือนแสงดาว

ตกยามค่ำคืนหลวงปู่ก็นำพาปฏิบัติรวมกันท่ามกลางแสงเดือนในข้างขึ้น ส่วนข้างแรมก็จะจุดตะเกียงเจ้าพายุบ้าง จุดเทียนไขบ้าง โดยใช้บริเวณลานที่สร้างอุโบสถทุกวันนี้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม และฟังธรรมจากหลวงปู่รวมกันเป็นประจำทุกคืน การปฏิบัติธรรมในปีแรกของการอยู่บนเขาสุกิมนี้จึงดูดดื่มต่อการชำระขัดเกลากิเลสกันจริงๆ ทั้งพระภิกษุสามเณร อุบาสกอุบาสิกา ที่เพิ่มจำนวนขึ้นมาอีก ทุกคนอยู่กันด้วยธรรม อิ่มธรรม ไม่มีภาระหน้าที่ที่จะต้องรับผิดชอบใดๆ ใครขยันมากก็ปฏิบัติได้มาก การฟังเทศน์จากหลวงปู่ก็มีประจำทุกวัน เพราะภารกิจภายนอกยังมีไม่มากเช่นในระยะหลังๆ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๗ นี้จึงเป็นปีแห่งแสงเทียนแสงธรรมจริงๆ "สมดังที่ท่านพ่อลีได้ปรารภทำนายไว้ในข้อที่หนึ่ง นั่นเอง"

พ.ศ. ๒๕๐๗-๒๕๔๗

จำพรรษาแรก บนภูเขา "เขาสุกิม" (ครั้งแรกที่ยังไม่เป็นวัด)

ตำบลเขาบายศรี อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี

ภายหลังจากที่ได้บำเพ็ญเป็นการชิมลางรสชาติบนเขาสุกิมมาตั้งแต่เดือนมกราคม จนมาถึงเดือนกรกฎาคม เป็นระยะเวลาถึง ๗ เดือนเต็ม บัดนี้ฤดูกาลพรรษา ของปี ๒๕๐๗ ก็ได้เข้ามาถึง หลวงปู่จึงไม่ได้กลับลงไปที่วัดเนินดินแดงอีก แต่ก็มอบหมายให้หลวงปู่มุล ธมฺมวีโร หลวงปู่พรหมา และหมู่คณะดูแลรักษาฉลองศรัทธาญาติโยมต่อไป

ส่วนหลวงปู่สมชายก็ได้อธิษฐานจำพรรษา ณ เขาสุกิม ซึ่งในพรรษาแรกนี้มีพระภิกษุสามเณรจำพรรษาด้วยกัน ๑๑ รูป คือ

๑. หลวงปู่ป่อง จนฺทสาโร ๒. หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ๓. หลวงพ่อคำพันธ์ สิริปญฺโญ และหลวงปู่ได้มอบให้หลวงพ่อคำพันธ์ สิริปญฺโญ เป็นเจ้าอาวาสตั้งแต่ปีแรกนี้ติดต่อไปจนถึง ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ๔. พระอาจารย์คำพันธ์ คมฺภีรญาโณ ๕. พระคำปุ่น วณฺณวโร (คุณคำปุ่น กุดกุง ผู้ให้ข้อมูล) ๖. พระแก้ว จตฺตสลฺโล ๗. พระบุญส่ง อตฺถจารี ๘. สามเณรบุญช่วย วงศ์สวาท ๙. สามเณรสุเพียร เมืองไทย ๑๐. สามเณรประจวบ ๑๑. สามเณรโจทย์ และในปีนี้ได้มีแม่ชีขึ้นมาจำพรรษาด้วย จำนวน ๔ ท่าน คือ

๑. แม่ชีบุญเกิน คงวัฒน์ ๒. แม่ชีละแม่ม คงขวัญ ๓. แม่ชีหวน ๔. แม่ชีเฟือง

พร้อมทั้งได้มี อุบาสก อุบาสิกา เข้ามาร่วมปฏิบัติธรรมกันมากขึ้น ซึ่งเดินทางมาแบบชั่วคราว ๗ วัน ๑๕ วันก็มี ที่มาอธิษฐานจำพรรษาตลอดฤดูพรรษาก็มี ล้วนแต่ผู้ที่มีความสนใจในการปฏิบัติธรรม มุ่งหวังความหลุดพ้นกันจริง ๆ ทั้งที่สมัยนั้นถนนหนทางจะเข้าจะออกแต่ละครั้งค่อนข้างจะลำบากมากเนื่องจากเป็นถนนของรถลากซุง ประชาชนที่อยู่ในตัวจังหวัดจันทบุรีก็เริ่มรู้จักกิตติศัพท์กิตติคุณของหลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย เพิ่มมากขึ้น จึงได้มีศรัทธาเดินทางเข้ามาให้การอุปถัมภ์บำรุงด้านปัจจัยสี่มิได้ขาด

หลวงปู่ต้องรับภาระหน้าที่ในการอบรมพระภิกษุสามเณรอย่างเข้มข้นไม่ว่าจะด้านระเบียบ วินัย ศาสนพิธี ตลอดทั้งการบำเพ็ญภาวนา หลวงปู่จะนำพาปฏิบัติด้วยตัวของท่านเองตลอดวันตลอดคืน ส่วนใหญ่หลังจากทำวัตรสวดมนต์แล้วก็จะจุดตะเกียงเจ้าพายุไว้ตรงบริเวณกลางลาน พระภิกษุสามเณรปฏิบัติอยู่ด้านหนึ่ง แม่ชีอุบาสิกาก็ปฏิบัติอยู่ด้านหนึ่ง บ้างก็เดินจงกรม บ้างก็นั่งสมาธิ เป็นหมู่เป็นคณะกันตลอดคืนแทบไม่ได้เอนหลังลงนอนกันเลย ทุกรูปทุกคนก็ไม่มีใครย่อหย่อนอ่อนข้อต่อการปฏิบัติกันทั้งสิ้น เพราะต่างก็ได้รับปีติความสงบจากการปฏิบัติ เอิบอิ่มอยู่ในธรรมตลอดวันตลอดคืน สัปปายะสี่ก็นับว่าเหมาะสำหรับนักปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง ถึงแม้ว่าฝนค่อนข้างจะตกชุกไปบ้าง ก็ไม่ปัญหาอะไรสำหรับนักปฏิบัติ เพราะได้จัดเตรียมกุฏิชั่วคราวไว้ก่อนเข้าพรรษาอย่างเพียงพอแล้ว

พ.ศ. ๒๕๐๘

จำพรรษาที่สอง บนเขาสุกิม

พ.ศ. ๒๕๐๘ หลวงปู่ได้นำพาพระภิกษุสามเณรอยู่จำพรรษาบนเขาสุกิม เป็นปีที่ ๒ ในพรรษาปีนี้มีพระภิกษุสามเณรจำพรรษาด้วยกัน ๑๔ รูป คือ

๑. หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ๒. หลวงพ่อคำพันธ์ สิริปญฺโญ (เจ้าอาวาส) ๓. พระอาจารย์คำพันธ์ คมฺภีรญาโณ ๔. พระบุญรอด สุขิโต ๕. พระคำปุ่น วณฺณวโร ๖. พระแก้ว จตฺตสลฺโล ๗. พระบุญเตือน ขนฺติโก ๘. พระธนิต อุปาคโม ๙. สามเณรบุญช่วย วงศ์สวาท ๑๐. สามเณรสุภาพ คำเรืองโคตร ๑๑. สามเณรโยธิน บุตรนารี ๑๒. สามเณรบุญสอง คำเรืองโคตร ๑๓. สามเณรสวาสดิ์ โอภาสี ๑๔. สามเณรบำรุง สว่างวงศ์

ในระหว่างพรรษา หลวงปู่ก็นำปฏิปทาแบบอย่างของหลวงปู่มั่นและครูบาอาจารย์สายปฏิบัติมาอบรมสั่งสอน และนำปฏิบัติทางด้านสมาธิจิตเป็นหลัก เรื่องฝึกหัดมารยาท ระเบียบ ศาสนพิธีอื่นๆ เป็นรอง แต่ให้ทุกรูปทุกคนได้รับรู้เรื่องพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาอย่างถูกต้องไว้ด้วย หลังจากออกพรรษาก็มีพิธีทอดกฐินตามขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวพุทธ ได้รับปัจจัยในกองกฐินจำนวน ๔๐๐ บาท

การปักหลักบำเพ็ญภาวนาบนเขาสุกิม ตลอดระยะเวลา ๒ ปี ที่ผ่านมา หลวงปู่บอกว่าเหมือนมีความผูกพันกับเขาสุกิมดั่งสถานที่ เคยเกิด เคยตาย มาแล้วหลายภพหลายชาติ วันหนึ่งหลวงปู่นั่งสมาธิภาวนาจิตสงบดิ่งลึกสู่วิปัสสนาญาณขั้นสูง จึงหยั่งรู้ว่า

"เขาสุกิมแห่งนี้ ในอดีตชาติท่านเคยเกิดเป็นฤๅษีบำเพ็ญพรตพรหมจรรย์ สิ้นอายุขัยลงบนเขาสุกิมแห่งนี้มาเมื่อชาติก่อนนั่นเอง ชาติปัจจุบันจึงมีความผูกพันมีความรู้สึกว่านี่ คือ บ้านของเรา ! คือที่เก่าของเรา ! เราเคยตาย ณ สถานที่แห่งนี้มาก่อน !.."

ด้วยเหตุที่ผูกพันกันมาแต่ครั้งอดีตชาติ จึงเป็นปัจจัยกระตุ้นเตือน จนทำให้ต้องได้มาอยู่ และมาตาย ณ สถานที่เก่าในชาติที่แล้วอีกครั้งหนึ่ง

การทำความเพียรบนเขาสุกิมนี้ ถึงแม้ว่าระยะแรกๆ จะไม่สะดวกสับปายะบางประการไปบ้าง พระบางรูปก็ยังไม่คุ้นเคยกับอากาศที่ค่อนข้างชื้นมาก เพราะฝนตกชุก จึงทำให้พระภิกษุสามเณรบางรูป ต้องล้มป่วยด้วยไข้ป่ากันมิได้ขาดระยะ หลวงปู่ก็เป็นทั้งไข้ป่าและโรคกระเพาะลำไส้ แต่การปฏิบัติของทุกคนก็เป็นไปได้ดี ได้รับความสงบทางด้านจิตใจ มุ่งมั่นที่จะรู้แจ้งเห็นจริง ดื่มด่ำในคุณธรรมความดีกันเต็มที่ทุกคน ด้วยเหตุนี้ประชาชนชาวบ้านจึงเห็นว่าสมควรที่จะช่วยกันปลูกสร้างกุฏิแบบถาวรขึ้นได้แล้ว เพราะใกล้จะถึงฤดูพรรษาในไม่ช้านี้ และเพื่อให้หลวงปู่เห็นว่าประชาชนชาวบ้านมีความเลื่อมใสศรัทธาประสงค์ที่จะให้หลวงปู่อยู่โปรดชาวบ้านที่นี่สืบต่อไป

ในปีนี้จึงมีการปลูกสร้างกุฏิถาวรที่เป็นไม้แก่น โดยเปลี่ยนจากกุฏิชั่วคราวที่มุงด้วยใบระกำมาเป็นมุงสังกะสี ยกพื้นสูง ปูพื้นด้วยไม้เนื้อแข็ง กุฏิบางหลังก็สร้างแบบมีหลังคาครอบทางเดินจงกรม ขนาดความยาว ๒๕ ก้าว เพื่อให้พระภิกษุสามเณรอาศัยจำพรรษาและทำความเพียรกันได้สะดวกสบายไม่เป็นกังวลใดๆ ในระหว่างพรรษา

ปักธงธรรมแบบถาวรบนยอดเขาสุกิม

การที่หลวงปู่พักภาวนาอยู่บนเขาสุกิมถึง ๒ ปี ผ่านไปแล้วนั้น โดยที่ยังไม่ได้ลงมือปลูกสร้างถาวรวัตถุใด ๆ ไว้เลยเป็นเพียงพักภาวนาทำความเพียร แต่เป็นการพักอย่างได้ผลสูงเกินกว่าที่ตั้งใจไว้เพราะได้รับรสชาติที่เกิดจากการประพฤติปฏิบัติของทุกๆ คน ที่ปฏิบัติกันอย่างเอาจริงเอาจังมุ่งหวังความหลุดพ้นกันเป็นที่ตั้ง แต่บัดนี้เวลาก็ล่วงเลยมาเป็นปีที่สามแล้ว ความผูกพันกับเขาสุกิม เสมือนว่าเป็นสถานที่เคยเกิดเคยตายมาแล้วในอดีตชาติ และมีความรู้สึกว่าชาตินี้ก็จะต้องมาตาย ณ ที่เดิมนี้อีก ประกอบกับเหตุปัจจัยอีกหลายประการจึงทำให้หลวงปู่ตัดสินใจว่าจะอยู่บนเขาสุกิมต่อไป จึงจำเป็นต้องปลูกสร้างเสนาสนะและขออนุญาตทางราชการให้ถูกต้องตามกฎหมาย ด้วยเหตุนี้ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๙ จึงเป็นปีแห่งการปักธงธรรมจักรอย่างมั่นคงถาวรลงบนเขาสุกิม หลวงปู่จึงปูพื้นฐานวางกฎระเบียบ วินัย ของพระสงฆ์อย่างแข็งแกร่ง พระภิกษุสามเณรในยุคแรกๆ นี้จึงถูกอบรมเข้มข้นกันทุกรูป เพื่อต้องการให้เป็นกำลังช่วยประกาศพระศาสนาแถบชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกแบบยั่งยืนสืบไป

ฤดูกาลพรรษาปี พ.ศ. ๒๕๐๙ เข้ามาถึง หลวงปู่ก็ได้นำพาอธิษฐานจำพรรษาที่เขาสุกิมเป็นพรรษาที่ ๓ ซึ่งมีพระภิกษุสามเณรจำพรรษาทั้งสิ้น ๑๗ รูป คือ

๑. หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ๒. หลวงพ่อคำพันธ์ สิริปญฺโญ (เจ้าอาวาส) ๓. พระอาจารย์คำพันธ์ คมฺภีรญาโณ ๔. พระบุญรอด สุขิโต ๕. พระคำปุ่น วณฺณวโร ๖. พระแก้ว จตฺตสลฺโล ๗. พระบุญเตือน ขนฺติโก ๘. พระบุญช่วย อภิปุญฺโญ ๙. พระบุญสอง ปุญฺเญสโก ๑๐. พระวิโรจน์ กวิสฺสโร ๑๑. พระทรงชัย กวิวํโส ๑๒. พระสนิท ขนฺติธโร ๑๓. สามเณรสุภาพ คำเรืองโคตร ๑๔. สามเณรสวาสดิ์ โอภาสี ๑๕. สามเณรบำรุง สว่างวงศ์ ๑๖. สามเณรวิรัช ผ่องสวัสดิ์ ๑๗. สามเณรคำมั่น มะลิรัตน์

ในปี พ.ศ. ๒๕๐๙ นี้ ก็ได้รับบริจาคที่ดินจาก พันโทสนิท คุณนายประนอม บูรณะคุณ และ คุณรัตนา เอครพานิช รวมเป็นเนื้อที่จำนวน ๖ ไร่ ๕๐ ตารางวา เพื่อดำเนินการขออนุญาตสร้างวัดต่อทางราชการตามขั้นตอน และก็ได้รับอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการให้สร้างวัดได้ เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๑๒ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๑๖ เป็นลำดับมา

 

วันที่ ๑-๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๑

ตำหนักสันตจิตตาศรม เป็นตำหนักรับรองที่ทายกทายิกาได้ร่วมกันจัดสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ประทับแรมของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก (จวน อุฏฐายีเถร) เมื่อครั้งเสด็จมายังวัดเขาสุกิมเพื่อเป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์พระอุโบสถวัดเขาสุกิม เมื่อวันที่ ๑-๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๑ และหลังจากนั้นก็ใช้เป็นเรือนรับรองของพระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่มาพักแรมยังวัดเขาสุกิมตลอดมาจนปัจจุบัน

 

ในยุคเริ่มแรกของเขาสุกิมนี้ คณะศิษย์รุ่นแรกๆ คงทราบกันเป็นอย่างดีว่า หลวงปู่ได้วางรากฐานและตั้งกฎระเบียบต่างๆ ไว้อย่างแข็งแกร่ง ระหว่างพระ-เณร และแม่ชี หรือญาติโยมฝ่ายหญิง ฝ่ายชาย เพราะต้องป้องกันการครหานินทา เนื่องจากทุกคนต้องอยู่ในป่า ต้องปฏิบัติในป่า เมื่อมืดค่ำลงก็อาศัยเพียงแสงสว่างจากแสงเดือน แสงดาว แสงตะเกียง และเทียนไขที่ต่างคนต่างจุดเพื่อเดินจงกรมบ้าง นั่งสมาธิบ้าง ระหว่างพระและแม่ชีหรือโยมหญิงโยมชาย ห้ามเด็ดขาดที่จะมาพูดคุยกันโดยที่ไม่มีครูบาอาจารย์รับรู้รับทราบ

สมัยนั้นเรื่องการสำรวมนับว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก ไม่มีใครมองหน้าใครทั้งสิ้น พระก็จะทราบเพียงแต่ว่ามีแม่ชีจำนวนเท่านั้นเท่านี้ ส่วนแม่ชีก็จะทราบเพียงว่ามีพระจำนวนเท่านั้นรูป แต่หน้าตาเป็นอย่างไร จะไม่ทราบกันเลย เพราะต่างฝ่ายต่างก็สำรวมตา หู ของตนเอง ดูใจ ควบคุมใจของตน ดังที่หลวงปู่จะปรารภตักเตือนศิษย์ของท่านทุกฝ่ายและทุกครั้งอยู่เสมอว่า "อย่าหายใจทิ้ง" การหายใจทิ้ง คือ การหายใจเข้า-ออกที่ปราศจาก สติ สมาธิ ปัญญา การหายใจเข้าหรือหายใจออก ต้องอยู่กับการภาวนา อยู่กับสติ อยู่กับสมาธิ จึงจะเรียกว่าทุกลมหายใจแต่ละครั้งนั้นไม่ได้ทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์...จะเห็นได้ว่าต่างคนต่างสำรวมกิริยาอาการของตน ไม่ค่อยสนใจเรื่องของคนอื่นเท่าไรนัก

บนเขาสุกิมในระยะแรกเริ่มนั้น หลวงปู่ได้ปูพื้นฐานการปฏิบัติให้กับพระภิกษุสามเณร ตลอดทั้งญาติโยมผู้สนใจในการปฏิบัติธรรมอย่างเอาจริงเอาจัง แต่ถ้าผู้ใดฝ่าฝืนระเบียบแล้ว หลวงปู่จะให้ลงจากเขาทันที คำว่าให้ลงจากเขา หมายถึง การถูกลงโทษขั้นสูงสำหรับที่นี่นั่นเอง หลวงปู่ได้ทำหน้าที่ของครูบาอาจารย์อย่างหนักตลอดเวลาผ่านมา ทุกวันทุกคืนทั้งเทศนาอบรม ทั้งนำปฏิบัติด้วยตัวของท่านเอง ท่านผู้ใดขัดข้องสงสัยในธรรมข้อไหนก็กราบเรียนถามท่านได้ตลอดเวลา หลวงปู่ก็จะชี้แจงให้เข้าใจทุกคนไป ดังปรากฏหลักฐานการบันทึกเทปที่มีตกทอดมาถึงปัจจุบันนี้ ซึ่งสมัยก่อนนั้นเทปบันทึกเสียงก็หาได้ค่อนข้างยาก แต่คุณรัตนา เอครพานิช คุณเกษิณี สว่างเนตร ซึ่งเป็นนักปฏิบัติธรรมในยุคแรกของเขาสุกิม ก็ยังขวนขวายหามาบันทึกเอาไว้เป็นแบบฉบับ และได้อาศัยถ่ายทอดเป็นแนวทางรุ่นต่อรุ่นมาถึงทุกวันนี้ ซึ่งสมัยก่อนนั้นหลวงปู่จะมีเวลามาก ต่อการเทศนาอบรมชี้แนะแนวทางของการชำระจิต ให้กับนักปฏิบัติธรรมอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดแก่เหนื่อย เพื่อต้องการให้ผู้ปฏิบัติได้รู้จักอุบายวิธีที่จะทำลายฐานกิเลสกันอย่างเดียว

กิตติศัพท์ชื่อเสียงทางด้านปฏิบัติธรรม การขูดเกลากิเลสของหลวงปู่ จึงเริ่มรู้จักกันอย่างกว้างขวางไปถึงอำเภอท่าใหม่ และในตัวจังหวัดจันทบุรี แต่ละวันก็จะมีผู้คนที่สนใจในการปฏิบัติธรรมเดินทางมาจากในตัวเมืองจันทบุรี และที่อื่นๆ เพื่อเข้ามาฟังธรรม มาปฏิบัติธรรมจำนวนมาก เพิ่มขึ้นทุกวัน การเดินทางในยุคสมัยนั้นก็ยากลำบากแต่อาศัยที่ทุกท่านมีความศรัทธาต่อครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ และก็คงเป็นด้วยอำนาจบารมีเก่าในอดีตชาติอันยาวนานที่เคยเป็นศิษย์เป็นอาจารย์กันมาก่อน จึงทำให้ได้มาเป็นศิษย์เป็นอาจารย์ คอยช่วยเหลือค้ำชูกันในชาตินี้อีก

ด้วยอำนาจบารมีธรรมของหลวงปู่สมชาย จึงทำให้เขาสุกิมซึ่งเป็นป่าดงพงไพร ถูกพัฒนาขึ้นมา เรื่อย ๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป เช่น มีการสร้างและตัดทางสำหรับเดินขึ้นเขา ด้วยการนำขอนแก่นไม้แดงมาวางเป็นขั้นลูกบันได สำหรับ พระภิกษุ สามเณร แม่ชี และญาติโยม ใช้เดินขึ้นลงได้สะดวกขึ้น และต่อมาก็มีการปรับทางเพื่อวางรางรถสลิงไฟฟ้าเพื่อใช้ขนถ่ายลำเลียงวัสดุการก่อสร้างขึ้นไปบนภูเขา ต่อมาได้พัฒนาเป็นรถสลิงไฟฟ้ารับส่งผู้โดยสารแบบรางเดี่ยว และแบบรางคู่ในเวลาต่อมา โดยได้รับแรงศรัทธาจากคุณโยมลออ พูลสวัสดิ์ คหบดีเจ้าของโรงเลื่อยในอำเภอท่าใหม่ ได้นำรถแทร็กเตอร์ D-8 มาช่วยทำการปรับทางขึ้นเขาเพื่อวางรางรถสลิงไฟฟ้าเพิ่มเติม และปรับพื้นที่เพื่อที่จะดำเนินการก่อสร้างอุโบสถในลำดับต่อไป

พ.ศ. ๒๕๑๑

ข้อที่ ๒ หัวเขาอีกิม จะสว่างรุ่งเรือง

คนเมืองจันท์จะต้องรู้จักเขาอีกิมกันทุกคน

 

วันที่ ๑-๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๑

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อุฏฺฐายีมหาเถร) ได้เสด็จมายังวัดเขาสุกิม และได้ทรงประกอบพิธีต่าง ๆ มีรายการลำดับได้ดังนี้

๑. ทรงเปิดป้ายวัด

๒. ทรงเจิมรถสลิงไฟฟ้า

๓. ทรงรับถวายตำหนักสันตจิตตาศรม ที่คณะศิษยานุศิษย์วัดเขาสุกิมจัดสร้าง น้อมถวายเพื่อเป็นที่พักผ่อนอิริยาบถเป็นการส่วนพระองค์

๔. ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์อุโบสถ

ในระหว่างที่เสด็จมาประกอบพิธีดังกล่าวในครั้งนี้ ได้ทรงประทับแรม ณ ตำหนักสันตจิตตาศรม เป็นเวลา ๒ คืน

 

จากคำปรารภทำนายไว้ล่วงหน้าของท่านพ่อลีว่า ในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ หัวเขาอีกิมจะสว่างรุ่งเรือง คนเมืองจันทบุรี จะต้องรู้จักเขาอีกิมนั้นคืออะไร? ทำไมจึงจะต้องรู้จัก? บัดนี้กาลเวลาเฉลยให้ทราบอีกข้อหนึ่ง

เมื่อวันที่ ๑-๓ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๑ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (จวน อุฏฺฐายี มหาเถร) ในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นพระประมุขสูงสุดของคณะสงฆ์ ได้เสด็จมาประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์อุโบสถ และประทับแรมบนเขาสุกิม ยังความปลาบปลื้มปีติยินดีแก่ชาวจันทบุรีอย่างสูง ที่องค์พระประมุขสูงสุดฝ่ายสงฆ์ได้เสด็จมาประทับแรมในป่าในดง บนภูเขาที่กันดาร และการเดินทางก็ลำบากยากเข็ญ แต่พระองค์ก็ได้เสด็จและได้ประทับที่เขาสุกิม อย่างไม่มีผู้ใดคาดฝันมาก่อน จึงเป็นที่กล่าวขานลือไปทั่วเมืองจันทบุรีว่า "พระสังฆราชเสด็จวัดเขาสุกิม" ชาวพุทธทั่วเมืองจันทบุรี ต่างก็ไต่ถามต่อๆ กัน เพื่อต้องการเข้าเฝ้าหรืออยากเห็นสมเด็จพระสังฆราชนั่นเองว่า "เขาสุกิม อยู่ที่ไหน" ปากต่อปาก ถามกันไปตอบกันมา จนชื่อวัดเขาสุกิมเป็นที่รู้จักของคนเมืองจันทบุรีแทบทุกคน

นับว่าเป็นปริศนาธรรมหนึ่งในสี่ข้อที่ถูกเฉลยให้ได้รับทราบกัน ตามที่ท่านพ่อลีปรารภเอาไว้

ในปี พ.ศ.๒๕๑๑ นี้เอง เป็นปีที่มีความหมายและมีความสำคัญต่ออดีตความเป็นมาว่าเขาสุกิมแห่งนี้ ว่าเคยเป็นเกาะกลางทะเลหรือท้องมหาสมุทร ที่อดีตนั้นเป็นสถานที่ที่ฤๅษีตนหนึ่งเคยใช้เป็นสถานที่บำเพ็ญพรต เจริญเวทย์ หรือ เจริญฌานสมาบัติ

วันหนึ่งในปี พ.ศ.๒๕๑๑ นี้ ขณะที่หลวงปู่ได้เดินขึ้นไปบนภูเขาเพื่อทำความเพียรตามปกติ ซึ่งเป็นกิจวัตรประจำวัน หลวงปู่หยุดยืนที่ข้างโขดหินก้อนหนึ่ง แล้วปรารภกับอุบาสกที่ติดตามไปในขณะนั้น คือ คุณโยมฉลวย หัตถแพทย์ (ยังมีชีวิตอยู่) " หินก้อนนี้ เมื่อชาติก่อนเป็นที่นั่งบำเพ็ญพรตของฤๅษีตนหนึ่ง ฤๅษีเดินออกจากอาศรมก้าวขาเพียงก้าวเดียวก็ถึงที่นั่งบำเพ็ญฌาน แต่บัดนี้ เราต้องแหงนคอตั้งบ่าก็ยังมองไม่เห็นด้านบนของหิน นี่แสดงว่าหินก้อนนี้ถ้าไม่งอกสูงขึ้น แผ่นดินก็ต้องยุบลง หินจึงสูงขนาดนี้ "

..คุณหลวย ! อาตมามีความรู้สึกว่าบริเวณนี้เคยเป็นอาศรมของอาตมาในชาติก่อน อาตมาเคยฝังวัตถุมงคลเอาไว้ใต้อาศรม คุณหลวยลองพิจารณาดูซิว่าจะเป็นอย่างที่อาตมาเข้าใจไหม ?"

ขณะที่หลวงปู่ยืนมองดูก้อนหินใหญ่ก้อนนั้น เท้าของหลวงปู่ก็เหยียบอยู่บนหินก้อนหนึ่ง ที่โยกเยกคลอนแคลนกระดกไปมา หลวงปู่จึงเขี่ยให้ก้อนหินพลิกด้านเพื่อจะได้ไม่โยกเยก แต่ทันใดที่หินพลิกก็พบวัตถุแปลกประหลาดจำนวนมากฝังอยู่ใต้ก้อนหิน คุณโยมฉลวย ถึงกับตกตะลึงกับสิ่งที่พบเห็น ซึ่งประกอบด้วย "ถ้วยดินโบราณบรรจุขวานหินหรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ขวานฟ้า จำนวนมากกว่า ๑๐ อัน ลูกปัดหินลูกปัดดินอีกจำนวนหนึ่ง วางปะปนกันอยู่ในถ้วยดังกล่าว..." ซึ่งบริเวณนี้ทั้งหมดต้นไม้แต่ละต้นสูงใหญ่สองสามคนโอบจึงจะรอบ ไม่มีอะไรเป็นร่องรอยที่จะบอกว่า ตรงบริเวณนี้เคยเป็นอาศรมฤๅษีมาก่อน

คุณโยมฉลวยนำวัตถุที่เรียกกันว่าขวานฟ้าหรือขวานหินพร้อมลูกปัดขึ้นมาถวายหลวงปู่ พร้อมกล่าวว่า "ท่านพ่อครับ เป็นสิ่งที่เหลือเชื่อว่า บนเขาสูงขนาดนี้ จะมีใครนำขวานฟ้ามาฝังไว้ ฝังตั้งแต่เมื่อไร ? ฝังไว้เพื่ออะไร ? "

เหตุการณ์ตอนนี้จึงไปพ้องกับความฝันเมื่อสมัยที่หลวงปู่ยังเป็นเด็กอยู่กับคุณตาหลวงเสนาก่อนเข้ามาบวช หลวงปู่จะฝันเกี่ยวกับเรื่องที่ท่านได้เคยเป็นฤๅษีนักพรตบำเพ็ญตบะมาแล้วถึง ๓ ชาติ ดังที่ได้กล่าวไว้ในเบื้องต้น

"ภูเขาสุกิมแห่งนี้ก็เป็นเกาะกลางท้องมหาสมุทร และเป็นสถานที่บำเพ็ญพรตของหลวงปู่ในอดีตชาตินั่นเอง..."

พ.ศ. ๒๕๑๒

ข้อที่ ๓ หัวเขาอีกิมจะสว่างไสว คนทั่วประเทศจะต้องรู้จัก

หลังจากการรับเสด็จสมเด็จพระสังฆราช ผ่านไปได้เกือบปี ข่าวอันเป็นมงคลครั้งใหญ่สำหรับชาวจันทบุรีก็เกิดขึ้นอีกครั้ง คือ การเตรียมพร้อมในการรับเสด็จสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาสิริโสภาพัณณวดี และสมเด็จพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ ๖ ที่จะเสด็จมายังวัดเขาสุกิมในเร็วๆ นี้

กล่าวได้ว่า ป่าดงพงไพรในสมัยนั้นเป็นดงดิบจริงๆ แต่เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินท่านทรงพระกรุณาโปรดที่จะเสด็จมาเพื่อการบำเพ็ญพระราชกุศล พสกนิกรก็พร้อมใจกันรับเสด็จอย่างล้นหลาม วัดเขาสุกิมมีสิ่งใดที่พิเศษหรือ? เจ้าฝ่ายศาสนจักรเพิ่งจะเสด็จเมื่อเร็ว ๆ นี้เอง เจ้าฝ่ายราชอาณาจักรก็กำลังจะเสด็จอีก บัดนี้ข่าวการเสด็จวัดเขาสุกิมของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาสิริโสภาพัณณวดี และสมเด็จพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ ๖ โดยมีพระราชกำหนดเสด็จวัดเขาสุกิม เพื่อทรงถวายกุฏีแก่พระสงฆ์เพื่ออุทิศพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ในวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๑๒

ข่าวการเสด็จวัดเขาสุกิม ของทั้งสองพระองค์แพร่สะพัดออกไปทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว ทำให้ประชาชนทั่วไปอยากทราบว่า วัดเขาสุกิมนั้นมีสิ่งใดพิเศษหรือ ? เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินจึงได้เสด็จบำเพ็ญพระราชกุศลถึงในดงในป่าเช่นนี้ ปากต่อปากก็ล่ำลือกันไป คนทั่วประเทศจึงรู้จักวัดเขาสุกิมมากขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งก็ตรงกับคำปรารภหนึ่งในสี่ข้อของท่านพ่อลีอีกเช่นกันที่ว่า "..พ.ศ. ๒๕๑๒ หัวเขาอีกิมจะสว่างไสว คนทั่วประเทศจะรู้จัก.." เมื่องานรับเสด็จผ่านไปด้วยความเรียบร้อย วัดเขาสุกิมก็เหมือนอัญมณีของเมืองจันท์ ที่ทุกคนอยากรู้จัก ประชาชนทั้งใกล้และไกลเริ่มหลั่งไหลเดินทางเข้ามาสัมผัสกับสถานที่ปฏิบัติธรรมแห่งนี้มากขึ้น

ส่วนในด้านการประพฤติปฏิบัติของพระภิกษุสามเณรและผู้ปฏิบัติธรรมบนวัดเขาสุกิม ก็เป็นไปอย่างเข้มแข็งกันทุกท่าน ต่างคนต่างเคารพรักนับถือในโอวาทคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์กันอย่างเข้มงวด ไม่มีย่อท้อย่อหย่อนต่อการปฏิบัติที่ครูบาอาจารย์อบรมสั่งสอน เช่น เวลาเช้าเริ่มกันตั้งแต่ตีสาม ก็ตื่นขึ้นทำวัตรเช้า นั่งสมาธิ เดินจงกรมกันจนถึงสว่าง เสร็จแล้วพระสงฆ์สามเณรออกบิณฑบาตโปรดชาวบ้านชาวสวน ภายหลังจากฉันภัตตาหารเสร็จก็ปฏิบัติทำความเพียรต่อจนถึงบ่ายสามโมง ก็ปัดกวาดบริเวณวัดเหมือนกิจวัตรของพระสายป่าทั่วๆ ไป จนถึงเวลาบ่ายห้าโมงก็สรงน้ำครูบาอาจารย์และฟังเทศน์ ตอนค่ำครูบาอาจารย์ก็ลงศาลาสวดมนต์ทำวัตรเย็น นั่งสมาธิ และเทศนาอบรม

ในช่วงเวลานี้จะมีทั้งพระอาคันตุกะจากที่อื่นๆ เดินทางมาฟังเทศน์ ตลอดทั้งญาติโยม แม่ขาว แม่ชี จะมารวมตัวฟังเทศน์กันบนศาลาการเปรียญ คือ ศาลาไม้หลังเก่าๆ

ในปีนี้พระภิกษุสามเณรก็เพิ่มมากขึ้น อุบาสกอุบาสิกาผู้ที่สนใจในการปฏิบัติทั้งในจังหวัดจันทบุรี และต่างจังหวัด ก็หลั่งไหลเดินทางมาฟังธรรมและอยู่ปฏิบัติที่วัดเขาสุกิมเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ การก่อสร้างเสนาสนะจึงต้องแบ่งแยกกันเป็นส่วนๆ เพื่อความสงบวิเวกของผู้ปฏิบัติดังที่เห็นได้ในปัจจุบัน

กุฏิของหลวงปู่คณะศิษย์ก็ได้จัดสร้างถวายเป็นกุฏิถาวรหลังแรกบนโขดหินต้องเดินสูงขึ้นไปบนยอดเขา อากาศปลอดโปร่ง เบา สบาย มองเห็นความเป็นอยู่ของชาวสวนได้ไกลสุดลูกหูลูกตา มองไปข้างหน้าเห็นเทือกเขาสอยดาว และยอดเขาพระบาทคิชฌกูฏที่รู้จักกันทั่วเมืองไทย

พ.ศ. ๒๕๑๕

ข้อที่ ๔ หัวเขาอีกิม จะเป็นศูนย์รวมของตัวแทนศาสนาต่างๆ

คำพยากรณ์ของท่านพ่อลี ได้เป็นจริงขึ้นมาอีกหนึ่งข้อ ซึ่งนับว่าเป็นข้อที่สำคัญ และไม่ได้มีง่ายเลยสำหรับวัดที่อยู่ในป่าในดงลึกขนาดนั้น จะมีตัวแทนของแต่ละศาสนาเข้าไปพบปะพูดคุยสนทนาแลกเปลี่ยนธรรมซึ่งกันและกันโดยไม่ได้นัดหมายกันมาก่อน เช่นครั้งนี้มีตัวแทนของศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลามและซิกข์

ท่านพ่อลีพระผู้ทรงอภิญญาสมาบัติสามารถบอกเหตุการณ์ล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำ ตามจดหมายเหตุของคุณครูจวด สวิงคูณ ที่บันทึกเอาไว้ล่วงมาแล้วเป็นระยะเวลานาน บัดนี้ก็ได้เป็นจริงดังปรากฏต่อสายตาของชาวโลก

เหตุการณ์สำคัญในช่วงปี ๒๕๑๕ - ๒๕๑๙

วันที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๖ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (วาสน์ วาสโน มหาเถร) สมัยดำรงสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ได้เสด็จเยี่ยมวัดเขาสุกิม

วันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์ ธมฺมธโร) ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ได้เสด็จมาประกอบพิธีเทฐานรากอุโบสถ และวางศิลาฤกษ์หอระฆัง ได้ทรงพักแรม ณ ตำหนักสันตจิตตาศรม เป็นเวลา ๑ คืน

วันที่ ๒๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๖ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา โดย ฯพณฯ จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

วันที่ ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ สมาคมพุทธศาสนาทั่วราชอาณาจักร ได้มาประชุมกัน ณ วัดเขาสุกิม (รายละเอียดมีแจ้งอยู่ในวารสารพุทธสมาคมจันทบุรี)

วันที่ ๑-๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๙ สมเด็จพระญาณสังวร (สมณศักดิ์ในขณะนั้น) ได้ทรงอนุมัติจัดส่งพระนักศึกษา จากสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย พระนักเรียนครูพระปริยัติธรรม และพระนักเรียนพระสังฆาธิการชั้นสูง จากโรงเรียนพระสังฆาธิการธรรมยุต มาอบรมภาคปฏิบัติเป็นครั้งแรก และได้ทรงอนุมัติจัดส่งมาอบรมเป็นประจำทุกปี จนถึงปีปัจจุบัน (พ.ศ.๒๕๕๐)

วันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๙ สมเด็จพระญาณสังวร (สมณศักดิ์ในสมัยนั้น) ได้เป็นองค์ประธานนำพระภิกษุนักศึกษาจากสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มาด้วยพระองค์เอง และทรงประทับแรม ณ ตำหนักสันตจิตตาศรม เป็นเวลา ๑ คืน

พ.ศ. ๒๕๒๐

หัวเขาอีกิม จะสว่างไสวถึงที่สุด คนทั่วโลกจะรู้จัก

จากวัน เดือน ปี และกาลเวลาที่ผ่านพ้นไป นับจากหลวงปู่ขึ้นมาอยู่บำเพ็ญภาวนาบนเขาสุกิม เป็นระยะเวลาถึง ๑๓ ปี ได้ผ่านเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งสิ่งที่ดีๆ ก็มาก สิ่งที่เป็นอุปสรรค์ต่อการสร้างบารมีของหลวงปู่ก็มีไม่ใช่น้อย แต่หลวงปู่ก็ใช้ความวิริยะอุตสาหะอดทนฝ่าฟันอุปสรรคมาด้วยคุณธรรมความดี จึงชนะมาทุกครั้ง ผ่านพ้นมาด้วยดี ทำให้ชีวิตมีรสชาติมากขึ้นมิใช่น้อย หลวงปู่เคยปรารภว่า

"ที่ไหนมีบัณฑิต ที่นั่นก็มีคนพาล ที่ไหนมีคนดี ที่นั่นก็มีคนชั่ว ความดีและความชั่วนั้นก็มักจะตามมาพร้อมๆ กัน ถึงแม้ว่าเราไม่ได้สร้างไม่ได้ทำขึ้นเอง คนอื่นก็สร้างให้ หามาให้ หรือที่เรียกกันว่ามีมารผจญซึ่งหนักกว่าทุกแห่งเท่าที่หลวงปู่เคยผ่านมา พระพุทธองค์ผู้วิเศษของโลก ยังมีพญามารตามทำลายชื่อเสียงของพระองค์ นับตั้งแต่วันแรกที่ทรงตรัสรู้ แต่พระองค์มิได้หวั่นไหว จนที่สุดพระพุทธองค์ไปนิพพาน พญามารทั้งหลายก็ไปอเวจีมหานรก..."

หลวงปู่ปรารภต่อไปว่า "ผมพบเห็นที่เมืองลาวมาแล้ว จึงไม่ค่อยหวั่นวิตกอะไรเลยสำหรับศัตรูหรือภัยคอมมิวนิสต์ ทั้งคอมมิวนิสต์จริง และคอมมิวนิสต์ผสมโรง ซึ่งหมายถึงคนเรากันเองที่อิจฉาในเมื่อเห็นผู้อื่นได้ดีทำนองนั้น..."

ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ถึง พ.ศ. ๒๕๒๐ การประพฤติปฏิบัติของหลวงปู่บนเขาสุกิม ตลอดทั้งหมู่คณะพระภิกษุสามเณรก็เพิ่มขึ้นมาก ลาภสักการะหลั่งไหลมาจากญาติโยมทั้งในจังหวัดจันทบุรี กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด วันหนึ่งๆ จำนวนมาก ผู้คนภายนอกก็หลั่งไหลมาปฏิบัติมากขึ้น หลวงปู่ต้องรับภาระหนัก ทั้งจะต้องเทศนาอบรมผู้ปฏิบัติ ทั้งนำปฏิบัติ และรับผิดชอบในการพัฒนาก่อสร้างถาวรวัตถุภายในวัดอีกหลายอย่าง ชื่อเสียงของหลวงปู่ก็เป็นที่รู้จักกันเพิ่มขึ้น แต่ละวันหลวงปู่จะต้องเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจหลายๆ อย่างนอกวัด ทั้งกิจสงฆ์และฉลองศรัทธาของชาวพุทธตามบ้านเรือนด้วย

ในระหว่าง ๔-๕ ปีนี้หลวงปู่ต้องต่อสู้กับเหตุการณ์ต่างๆ อันหนักหนาสาหัสพอสมควร ตั้งแต่พระต่อพระในพื้นที่ใส่ร้ายกลั่นแกล้งด้วยเรื่องอสัทธรรม หวังทำลายชื่อเสียงก็มีไม่เว้นแต่ละวัน อีกทั้งเหตุการณ์การเมืองก็เข้ามาปะปนทั้งๆ ที่หลวงปู่มุ่งหวังขัดเกลากิเลสอยู่กับป่าอยู่กับเขาก็ยังมีเรื่องตามมาหาถึงในป่าในเขา ข่าวการเมืองก็กล่าวโจมตีว่า "พระอาจารย์สมชาย วัดเขาสุกิม เป็นพระนวพล" คือพระที่ฝักใฝ่กับการเมืองนั่นเอง "พระอาจารย์สมชาย วัดเขาสุกิม ซ่องสุมกำลังพลและอาวุธ เพื่อเตรียมยึดครองประเทศ" " อาจารย์สมชาย วัดเขาสุกิม คือหัวหน้าใหญ่คอมมิวนิสต์สายรัสเซีย" และข่าวเสื่อมเสียอื่นๆ ตามมาเป็นระลอกๆ ไม่ได้ขาดระยะ พวกผสมโรงก็มาก

ส่วนคอมมิวนิสต์ตัวจริงนั้นก็มีการติดตามมาตั้งแต่สมัยที่ท่านอยู่ประเทศลาว ในช่วงนี้พระที่มีชื่อเสียงของเมืองไทย เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของประชาชน ซึ่งมีชื่ออยู่ในบัญชีที่คอมมิวนิสต์จะต้องเก็บ มีอยู่ด้วยกัน ๓ รูป คือ ๑. พระอาจารย์วัน อุตฺตโม วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม จ.สกลนคร ๒. พระอาจารย์จวน กุลฺเชฏฺโฐ วัดภูทอก จ.หนองคาย ๓. พระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย วัดเขาสุกิม จ.จันทบุรี ทั้งสามรูปจะถูกประกบตามใบสั่งและมีค่าหัวให้อย่างงาม หลวงปู่จะพูดอยู่เสมอว่า "ไม่ต้องมาฆ่าอาตมาหรอก ถึงเวลาอาตมาก็ตายเอง..ถ้ายังไม่ถึงเวลาทำอย่างไรก็ไม่ตาย" เหตุการณ์ต่างๆในช่วงนี้ ค่อนข้างรุนแรง แต่ด้วยบุญบารมีจึงทำให้หลวงปู่รอดพ้นเหตุการณ์ต่างๆ มาครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างปาฏิหาริย์ เมื่อครูบาอาจารย์ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือได้ถูกปองร้ายถึงชีวิต ชาวสมาชิกนิคมฯ ซึ่งหลวงปู่ได้เมตตาโปรดอนุเคราะห์ตั้งแต่สมัยอยู่ที่วัดเนินดินแดง ก็ได้เสียสละเวลามาเข้าเวรยามสอดส่องดูแลเหตุการณ์ทั้งกลางวันและกลางคืนเป็นการตอบแทนพระคุณครูบาอาจารย์

คืนวันหนึ่งขณะที่คณะสมาชิกนิคมลาดตระเวนดูแลความเรียบร้อย ก็ได้จับบุคคลต้องสงสัยกลุ่มหนึ่งพร้อมปืนเอ็ม ๑๖ ห้ากระบอก จึงได้นำมาให้เจ้าหน้าที่ทำการสอบสวน คนร้ายรับสารภาพว่า

" รับค่าจ้างให้มาเก็บหลวงปู่ในราคา ห้าหมื่นบาท ทำมาแล้วหลายครั้งหลายวิธี แต่ไม่สำเร็จ ก่อนที่จะใช้อาวุธก็เคยใช้วิธีใส่ยาพิษไปกับอาหารและน้ำปานะมาแล้วหลายครั้งก็ไม่สำเร็จ เห็นท่านฉันก็ไม่เห็นท่านเป็นอะไร เคยเอารถสิบล้อวิ่งตัดหน้าให้รถท่านอาจารย์พุ่งชนท่านก็ไม่เป็นอะไร และครั้งนี้ก็ได้ปรึกษากันมาก่อนแล้วว่า...เขาล่ำลือกันว่าอาจารย์สมชายท่านยิงไม่ออก ออกก็ไม่ถูก ถูกก็ไม่เข้า... จึงเตรียมขวานที่ใช้ผ่าฟืนมาด้วย (ขวานยังเก็บไว้อยู่ในพิพิธภัณฑ์) วางแผนกันว่า ถ้ายิงไม่ได้อย่างที่เขาล่ำลือกัน ก็จะเอาขวานฟันคอให้ขาด หรือช่วยกันทุบให้ตาย แต่เมื่อปืนทั้ง ๕ กระบอกยิงไม่ออกเลยแม้แต่กระบอกเดียว พวกเราทั้ง ๕ คนก็ไม่มีใครกล้าเสี่ยงที่จะเข้าไปฟัน มือตีนสั่นไปหมดไม่มีแรงที่จะยกขวานอย่างที่คุยกันเอาไว้เลย จึงทิ้งขวานรีบวิ่งหลบหนีจนมาถูกจับได้นี่แหละ" (คำสารภาพของคนร้ายที่ถูกจับได้ เพื่อความเหมาะสมจึงไม่ขอนำมากล่าวให้มากไปกว่านี้)

"ดั่งสายธารทิพย์จากสรวงสวรรค์"

ในขณะที่เหตุการณ์ต่างๆ ทวีความรุนแรงมากขึ้นอยู่นั้น ก็เหมือนดั่งมีกระแสน้ำทิพย์จากสรวงสวรรค์หลั่งลงมาให้ชุ่มเย็นดับความร้อนแรงลงไปฉับพลัน กล่าวคือ เจ้าหน้าที่บ้านเมืองทุกหน่วยเข้าเคลียร์พื้นที่วัดเขาสุกิมชุดแล้วชุดเล่า เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ และ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ ซึ่งมีหมายกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเททองหล่อพระประธาน พระอัครสาวกทั้งสอง และพระอานนท์ ณ อุโบสถวัดเขาสุกิม ในวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๒๐ ทรงเสด็จเยี่ยมพสกนิกรชาวจังหวัดจันทบุรี และพระราชทานธงแก่ลูกเสือชาวบ้าน

ด้วยบุญญาบารมีของหลวงปู่สมชายนั่นเอง จึงทำให้ชาวจังหวัดจันทบุรี ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทล้นเกล้าล้นกระหม่อมทั้งสามพระองค์อย่างใกล้ชิด พสกนิกรทั่วทั้งจังหวัดจันทบุรี และจังหวัดใกล้เคียงต่างมาเฝ้าชมพระบารมีของล้นเกล้าทั้งสามพระองค์อย่างมืดฟ้ามัวดิน ตั้งแต่เช้าจรดเย็นไม่มีใครย่อท้อต่อการรอคอยการเสด็จในครั้งประวัติศาสตร์นี้เลย และนับเป็นครั้งที่สองที่พระองค์ทรงเสด็จจังหวัดจันทบุรี เมื่อเสร็จพระราชภารกิจแล้วได้ทรงสนทนาธรรมกับหลวงปู่สมชาย คลิกเพื่ออ่านพระราชปุจฉาและวิสัชนาของหลวงปู่

ภายหลังจากล้นเกล้าฯทั้งสามพระองค์เสด็จพระราชดำเนินวัดเขาสุกิมได้ ๕ เดือน หมายกำหนดการจากสำนักพระราชวังก็ตามมาอีก ๑ ฉบับ ความว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฏราชกุมาร ทรงพระกรุณาโปรดจะเสด็จวัดเขาสุกิม พร้อมด้วยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรชายา ในวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๒๐ เพื่อทรงทอดผ้าป่า

จึงทำให้เหตุการณ์การเมืองต่างๆ เพลาลงไปได้มาก แต่ยังไม่หมดไปเสียทีเดียว ยังมีข่าวโคมลอยสร้างกระแสทำลายชื่อเสียงเกิดขึ้นอีกเป็นครั้งคราว

ในสมัยนั้นสถานการณ์ด้านชายแดนที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านด้านจังหวัดจันทบุรี ตราด และปราจีนบุรี จะมีภัยสงครามล้างเผ่าพันธุ์เกิดขึ้น ทำให้ข้าราชการทหารตำรวจตามชายแดนต้องทำหน้าที่ปกป้องผืนปฐพีของไทยเอาไว้สุดกำลังทั้งสามจังหวัด ต้องอาศัยกำลังใจจากแนวหลัง

ทุกวันธรรมสวนะหลวงปู่ก็จะนำประชาชนชาวบ้านจัดหาข้าวสารอาหารแห้ง และวัตถุมงคล ออกเยี่ยมบำรุงขวัญเป็นประจำมิได้ขาด ผู้ไม่ประสงค์ดีก็ออกข่าวโจมตีว่าเป็น "...ไส้ศึก ชักนำภัยสงครามเข้าประเทศไทยบ้าง... ว่านำอาวุธสงครามไปส่งให้กับฝ่ายตรงข้ามบ้าง..." สารพัดที่จะกล่าวโจมตี แต่หลวงปู่ไม่เคยที่จะหยุดเฉยแต่อย่างใด ยังคงทำความดีเรื่อยไป ไม่ย่อท้อต่อเสียงกล่าวร้ายโจมตีที่มีเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่ขาดระยะ หลวงปู่นิ่งเฉยไม่สนใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้น มุ่งหน้าบำเพ็ญสาธารณประโยชน์สงเคราะห์เพื่อนร่วมโลกต่อไป

ศาสนูปการและเหตุการณ์สำคัญในช่วงปี ๒๕๒๐ - ๒๕๓๒

ในปี ๒๕๒๐ คณะศิษย์จากปากน้ำประแสร์ จังหวัดระยอง ประสงค์จะจัดหาทุนในการสร้างโรงเรียนเพื่อการศึกษาที่ดีขึ้นแก่เด็กๆในละแวกนั้น เมื่อพระอาจารย์สมชายพิจารณาแล้วเห็นว่าเกิดประโยชน์ จึงได้อนุญาตให้จัดสร้างรูปเหมือนและเหรียญสมนาคุณ (เหรียญรุ่นนี้ได้ชื่อว่า "เสือหมอบ") แก่ผู้บริจาคเงินสบทบทุนค่าก่อสร้าง โรงเรียนชำนาญสามัคคีวิทยา ที่ตำบลคลองปูน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง และท่านได้ทำพิธีอธิษฐานจิตในบริเวณที่สร้างโรงเรียนนั้น สิ้นค่าก่อสร้างรวมประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ บาท และมีพิธีเปิดอาคารเรียน ในวันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๒๐

ในปี พ.ศ. ๒๕๒๒ พระอาจารย์สมชายได้เล็งเห็นความจำเป็นทางด้านการศึกษาระดับมัธยมศึกษา เพื่อช่วยเหลือชุมชนอื่นๆ จึงได้จัดซื้อที่ดินบริเวณหน้าวัด ก่อสร้างอาคารชั่วคราวกึ่งถาวรขนาด ๖ ห้องเรียน และจัดซื้อวัสดุครุภัณฑ์ประกอบห้อง ทั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากสโมสรโรตารี่จันทบุรีและชุมชนชาวบ้านเขาสุกิมด้วย จึงตั้งชื่อโรงเรียนมัธยมแห่งนี้ว่า “โรงเรียนเขาสุกิมโรตารี่อุปถัมภ์”

ในปีนี้เองด้านชายแดนจังหวัดตราดได้มีประชากรชาวเขมรทะลักหนีตายจากแผ่นดินเกิดของเขาเองเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทางด้านเขาล้าน จังหวัดตราด จำนวนนับแสนคน หลวงปู่ได้ชักชวนศิษยานุศิษย์ร่วมกันจัดหาอาหารแห้งจำนวนมากแล้วรีบเดินทางไปจังหวัดตราดทันที โดยไม่ได้คำนึงว่าเป็นคนไทยหรือเขมรแต่อย่างไร หลวงปู่บอกว่าเขาเป็นเพื่อนมนุษย์เหมือนกัน หลวงปู่ได้เดินทางไปพบเห็นภาพอันน่าเวทนาของเพื่อนร่วมโลกเดียวกัน ที่อดยากหิวโหยผอมโซ บางคนบาดเจ็บเพราะถูกอาวุธระหว่างทาง บ้างก็ติดไข้ป่าต้องหามกันลงมาจากภูเขาอย่างทุลักทุเล สมัยนั้นหลวงปู่จะนำสิ่งของไปช่วยเหลือชาวเขมรวันเว้นวัน สวดมนต์ได้เท่าไร ใครถวายจตุปัจจัยมาเท่าไร หลวงปู่ให้ซื้อข้าวสารอาหารแห้งทั้งหมด เพื่อนำไปช่วยเพื่อนมนุษย์ร่วมโลก

ต่อมาสภากาชาดไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เข้ามาทำหน้าที่เปิดศูนย์สงเคราะห์ผู้อพยพ ขึ้นที่บ้านเขาล้าน จังหวัดตราด ในครั้งนั้นสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมศูนย์ผู้อพยพพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระนางเจ้า ฯ ทรงมีพระราชดำริ ว่า "ชาวเขมรอพยพเหล่านี้ล้วนแต่นับถือศาสนาพุทธ น่าจะมีพระพุทธรูปไว้เป็นที่สักการบูชาเพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวและเป็นที่พึ่งทางจิตใจ"

เมื่อหลวงปู่ทราบดังนั้นจึงรับสนองพระราชดำริ จัดสร้างพระพุทธรูปสุโขทัย ปางมารวิชัย น้อมเกล้าฯ ถวาย พระองค์ทรงพระราชทานให้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้ที่ศูนย์ฯ เขมร โปรดให้หันหน้าไปด้านชายแดนไทย-กัมพูชา และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้อพยพทุกคนทำพิธีสวดมนต์บูชาพระรัตนตรัย โดยมีแม่ชีซึ่งช่วยดูแลเด็กกำพร้าในศูนย์ เป็นผู้นำสวดมนต์ประจำทุกวัน พระพุทธรูปดังกล่าวได้รับการขนานนามว่า "หลวงพ่อแดง"

วันเวลาผ่านไปศาลาประดิษฐานหลวงพ่อแดงก็ชำรุดไปตามกาลเวลา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๗ สภากาชาดไทยได้จัดการบูรณะเนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาสภากาชาดไทย ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๔๐ พรรษา หลวงปู่พร้อมด้วยศิษยานุศิษย์จึงร่วมกันเป็นเจ้าภาพสร้างศาลาประดิษฐานหลวงพ่อแดงหลังใหม่ เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายแด่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๓๘

เห็นได้ว่าหลวงปู่มีเมตตาโดยไม่เลือกชนชาติใดๆ ทั้งสิ้น ผู้ใดตกทุกข์ได้ยากหลวงปู่จะช่วยเหลือทันทีโดยมองว่าเป็นเพื่อนมนุษยชาติคนหนึ่ง โดยไม่เกรงกลัวภัยหรือข้อครหาใดๆ จึงนับว่าเป็นพระสงฆ์รูปเดียวในยุคสมัยนั้น ที่กล้าออกเยี่ยมเยียนและให้กำลังใจแก่เหล่าทหารๆ แนวหน้า ในสมัยนั้นพระสงฆ์ส่วนใหญ่ต่างก็เกรงกลัวคำกล่าวหาต่างๆ นานา หรือกลัวผิดวินัย อะไรทำนองนั้น จึงไม่ปรากฏว่ามีพระสงฆ์รูปใดออกสงเคราะห์ในลักษณะนี้เลย ต่อมาในระยะหลังๆ เมื่อบ้านเมืองสงบลงแล้วจึงได้พบเห็นสังคมของพระสงฆ์ออกสงเคราะห์ชาวบ้าน ในด้านสาธารณะ หรือสังคมสงเคราะห์กันบ้าง หลวงปู่ปรารภอยู่เสมอว่า "พระสงฆ์เรานี้ควรที่จะเสียสละให้เป็นตัวอย่างแก่ชาวบ้านบ้าง ไม่ใช่เทศน์สอนให้ชาวบ้านเสียสละ สอนให้ชาวบ้านทำบุญ แต่ตัวของพระเองกับสะสมเต็มไปด้วยกองกิเลสที่ยึดติด เมื่อชาวบ้านเขาให้มาแล้วก็รู้จักทำบุญต่อ ไม่ใช่มีแต่รับของชาวบ้านอย่างเดียว..."

ในห้วงเวลานี้หลวงปู่จะบำเพ็ญศาสนูปการอย่างมาก ทั้งภายในวัดนอกวัด หลวงปู่ ปรารภอยู่เสมอๆ ว่า "ธรรม และวัตถุ" ต้องควบคู่กันไป จึงจะเจริญ ในระหว่างเหตุการณ์ในวัดก็ยุ่งๆ แต่หลวงปู่ก็ไม่สนใจใยดี อะไรมันจะเกิดก็ต้องเกิด หลวงปู่ก็ดำเนินภารกิจหน้าที่ที่ดีของสงฆ์ไม่ได้หยุดยั้งแต่อย่างใด เหตุการณ์บ้านเมืองก็วุ่น ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือตอนล่างก็มี ผ.ก.ค. ทางชายแดนปราจีนบุรี-จันทบุรี และตราดก็มีภัยจากเพื่อนบ้านสู้รบกัน ระหว่างเขมรแดง และเขมรเสรี ทหารตำรวจ และชาวบ้านตามชายแดนเดือดร้อนกันไปทั่ว หลวงปู่ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ชักชวนประชาชนนำสิ่งของออกเยี่ยมบำรุงขวัญทุกวันธรรมสวนะ ศิษย์รุ่นเก่าๆ คงทราบกันเป็นอย่างดี

วันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๒ สมเด็จพระธีรญาณมุนี (ธีร์ ปุณฺณโกมหาเถร) วัดจักรวรรดิราชาวาส เดินทางมาเยี่ยมวัดเขาสุกิม

วันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๒ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วิน ธมฺมสาโรมหาเถร) วัดราชผาติการาม เดินทางมาเยี่ยมวัดเขาสุกิม และ ในปีถัดมา ท่านก็ได้มีเมตตาเดินทางมาแสดงพระธรรมเทศนา ณ วัดเขาสุกิม และพักแรม ณ ตำหนักสันตจิตตาศรม เป็นเวลา ๑ คืน ในวันที่ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๓

ต่อมาในปีพ.ศ. ๒๕๒๓ นั้นเองทางวัดเขาสุกิมได้เห็นความยากลำบากของชาวสวนและชาวบ้านในบริเวณรอบๆ วัด ที่มักจะประสบภัยแล้งเป็นประจำในช่วงฤดูแล้ง จึงได้ดำริที่จะหาทางบรรเทาความเดือดร้อนดังกล่าว จึงตัดสินใจที่จะขุดสระน้ำในบริเวณหน้าวัด ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวส่วนหนึ่งเป็นที่ดินที่ท่านได้ใช้สร้างโรงเรียน ท่านจึงได้จัดซื้อที่ดินจำนวน ๕๐ ไร่ ๒ งาน ๒๖ ตารางวาที่อยู่ฝั่งตรงข้ามวัดให้เป็นสถานที่ตั้งโรงเรียน โดยย้ายโรงเรียนมาอยู่สถานที่นี้จนถึงปัจจุบัน  และได้เปลี่ยนชื่อเป็น "โรงเรียนมัธยมวัดเขาสุกิม" ในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ รวมทั้งได้มีการซื้อที่ดินเพิ่มอีก ๒๐๐ กว่าไร่เพื่อขุดสระน้ำตามที่ท่านได้ตั้งเจตนาไว้ สระที่ขุดนี้เมื่อเสร็จแล้ว ได้ให้ชื่อว่า "สระพุทธโคดม"

ในช่วงดำเนินการขุดสระน้ำนั้น หลวงปู่จะลงมานั่งควบคุมงานด้วยตัวเองตั้งแต่วินาทีแรก จนถึงวินาทีสุดท้าย หลวงปู่ลงมานั่งให้กำลังใจแก่ เจ้าหน้าที่ที่มาช่วยงานทุกวันทุกคืน เมื่อเวลาว่างจากกิจสงฆ์แล้ว การนั่งคุมงานของหลวงปู่ก็หาได้นั่งเฉยๆ ไม่ หลวงปู่จะภาวนาไปด้วยตลอด เมื่อมีโอกาสหรือมีเหตุอะไร หลวงปู่ก็จะนำเหตุนั้นๆ มาเทศนาอบรมพระภิกษุสามเณรที่นั่งอยู่ใกล้ๆ นั้นทันที พระเณรที่นั่งใกล้หลวงปู่จึงได้กำไร จากการได้ยินได้ฟังมากกว่าคนอื่น ทุกวันจะมีเรื่องใหม่ๆ แปลกๆ แล้วแต่ใครจะมีปัญญารับเอา คลิกเพื่ออ่าน "ธรรมะใต้แสงดาว เรื่องหมื่นธาตุและแสนโกฎิจักรวาล"

จึงนับได้ว่าในระหว่างนี้ พระเณรที่ลงไปนั่งเป็นเพื่อนหลวงปู่ก็จะได้ยินได้ฟังสิ่งแปลกๆ ไม่ซ้ำเรื่องในแต่ละวัน จนกว่าการขุดสระน้ำจะแล้วเสร็จ พระภิกษุสามเณรที่ลงไปนั่งเป็นเพื่อนหลวงปู่ให้กำลังใจแก่ผู้มีจิตศรัทธามาช่วยงานในการขุดสระน้ำในคราวครั้งนั้นก็ได้ยินได้ฟัง ทั้งธรรมะและสาระน่ารู้อื่นๆ จากที่หลวงปู่เทศน์ให้ฟังท่ามกลางเมฆหมอกและน้ำค้าง เพราะแต่ละคืนกว่าหลวงปู่จะขึ้นพักผ่อนเวลาก็ล่วงเลยไปถึงสองยามเป็นอย่างต่ำเกือบทุกคืน

จึงเป็นเหตุทำให้ธาตุขันธ์ของหลวงปู่ร่วงโรยลงพอสมควร "..โดยเฉพาะกล่องเสียงได้เกิดการอักเสบ และหลวงปู่ก็เริ่มสวดมนต์ได้น้อยลงตั้งแต่นั้นมา..."

วันใดที่มีกิจเจริญพระพุทธมนต์ตามบ้านโยม หลวงปู่ก็จะนำได้แค่บทนอบน้อม คือ "..นโม ตัสสะ ฯ.." ต่อจากนั้นก็จะให้พระอุปัฏฐากนำสวดไปจนจบ และกาลเวลาต่อมาหลวงปู่ก็ไม่สามารถเทศน์ยาวๆ ได้ ไม่สามารถสวดมนต์ได้ แต่พูดคุยรับแขกธรรมดาได้ตามปกติ การขุดสระน้ำหน้าวัดก็สำเร็จเสร็จสิ้นลงในเวลาต่อมา ทั้งได้รับความร่วมมือจากผู้มีจิตศรัทธา ทั้งได้รับเสียงกล่าวให้ร้ายโจมตีในคราวเดียวพร้อมๆ กัน

ในส่วนของแรงศรัทธานั้นหลวงปู่ได้รับความร่วมมือจากคณะศิษย์หลายๆ ฝ่ายทั้งภาคส่วนราชการและเอกชน เป็นต้นว่า กรมทางหลวงแผ่นดินได้อนุมัติรถขุด รถดั๊ม จำนวนนับสิบคันพร้อมทั้งนายช่างผู้เชี่ยวชาญมาช่วยควบคุมได้แก่ นายช่างเกษมสันต์ วิศวไพศาล นายช่างสมใจ จันทร์หอม

ส่วนด้านเอกชนที่นำรถแบคโฮ มาช่วยขุดก็ได้แก่ นายสัญญา นางเปรมฤดี ศิริเจริญธรรม และ นายเพิ่มพูน นางบุญช่วย ลักษณะโกวิทย์ เป็นต้น พร้อมทั้งพันเอกพิเศษ อาจารย์ณรงค์ แสงมณี ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ และที่ขาดเสียไม่ได้นั่นก็คือ ชาวบ้านจากสมาชิกนิคมพักฟื้นแพร่งขาหยั่ง และนิคมพักฟื้นบ้านป่าตะแบกได้สละเวลามาช่วยงานปลูกหญ้าเป็นประจำทุกคืนจนแล้วเสร็จ สามารถเก็บกักน้ำเอาไว้ช่วยเหลือชาวบ้านชาวสวนในเขตใกล้เคียงได้อย่างมากมายมหาศาลดังที่เห็นได้ในปัจจุบัน

มารไม่มี บารมีไม่เกิด

ในขณะเดียวกันที่หลวงปู่ได้สร้างสาธารณประโยชน์ไว้มากเพียงไร หมู่มารผู้ไม่หวังดีก็กล่าวโจมตีมากเท่านั้น...อาจารย์สมชายซุกซ่อนอาวุธสงครามไว้ใต้สระน้ำ ?...ขุดสระน้ำเพื่อเบนความสนใจ ที่จริงริมขอบสระกลบระเบิดและปืนเอ็ม ๑๖ ไว้เป็นเที่ยวรถสิบล้อ ?.. นั่นเป็นเพียงบางคำเท่านั้นที่วิพากษ์วิจารณ์โค่นล้มโจมตีซึ่งออกมาจากแหล่งข่าวของผู้ไม่ประสงค์ดี เสียงล่ำลือหนาหูขึ้น จนทำให้ส่วนราชการเกิดความสงสัยหวาดระแวงในตัวหลวงปู่ เพราะเกรงว่าอาจเป็นความจริง จึงต้องส่งเจ้าหน้าที่นักประดาน้ำมาตรวจค้นกันไม่เว้นแต่ละวัน สายสืบก็ปะปนมากับประชาชนที่เข้าวัดฟังธรรมเพื่อสืบค้นเอาความจริง ประกบหลวงปู่จนไม่รู้ว่าใครเป็นใครวุ่นวายกันไปหมด ทางฝ่ายคณะศิษย์ที่เคารพนับถือหลวงปู่ก็อยู่นิ่งเฉยไม่ได้ โดยเฉพาะทางคณะศิษย์จากสมาชิกนิคมพักฟื้นแพร่งขาหยั่งก็อดรนทนไม่ได้ ต้องสละเวลามาเข้าเวรยามรักษาความปลอดภัยถวายชีวิตกับครูบาอาจารย์กันทั้งวันทั้งคืนเพราะเกรงว่าจะมีผู้ประสงค์ร้ายลักลอบนำปืนหรือวัตถุระเบิดมาแอบโยนลงในสระเพื่อสร้างสถานการณ์ให้สมจริง

แต่แล้วธรรมย่อมชนะอธรรม เสียงล่ำลือดังกล่าวก็ค่อยๆ เงียบหายไป โดยปราศจากมูลความจริง หลวงปู่ผู้บริสุทธิ์ ดุจอัญมณีเมืองจันทบุรีย่อมไม่ระคายเคืองต่อไฟที่แผดเผาเพียงใด โลกธรรมแปดที่ถาโถมเข้ามาเพื่อจะทำลายชื่อเสียง ย่อมไม่สามารถกระทบทำลายชื่อเสียงหลวงปู่ฉันใดก็ฉันนั้น หลวงปู่ยังคงยืนหยัดอยู่คู่กับวัดเขาสุกิมเป็นอมตะเรื่อยมา

ในระหว่างที่มีการขุดสระอยู่นั้น ในบริเวณหนึ่งของสระก็ได้สร้างเป็นสวนเรียกชื่อว่า "สวนพุทธาวาส" และได้สร้างมณฑปที่ประดิษฐานองค์พระพุทธโคดม สระน้ำจึงได้ชื่อตามพระนามพระพุทธรูปว่า "สระพุทธโคดม"

ท่านพระอาจารย์สมชายได้แบ่งที่ดินส่วนหนึ่งของวัดเป็นจำนวน ๑๔ ไร่ สร้างโรงพยาบาลไว้หนึ่งแห่งคือ โรงพยาบาลเขาสุกิม จังหวัดจันทบุรี โดยโครงการสร้างโรงพยาบาลนี้ได้เริ่มมาตั้งแต่ปี ๒๕๒๑ โดยท่านพระอาจารย์สมชายได้อนุญาตให้มีการสร้างเหรียญสมณาคุณผู้บริจาคเงินสร้างโรงพยาบาล และได้ทำพิธีเปิดใน วันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๔ โดย ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว เป็นประธานเปิดโรงพยาบาลวัดเขาสุกิม

พร้อมกันนั้นก็ได้มีการสร้าง "หอสมุดฟูตระกูลอนุสรณ์" ซึ่งเป็นอาคารขนาดสองชั้น ชั้นบนเป็นห้องพักรับรองมี ๔ ห้อง ชั้นล่างเป็นห้องสมุดเป็นสถานที่รวบรวมตำรับตำรา และเป็นสถานที่สำหรับศึกษาค้นคว้าตำรับตำราต่างๆ ส่วนใหญ่จะเป็นตำราที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา

วันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ ฯพณฯ ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ประธานองคมนตรี และ ม.ล.ทวีสันต์ ลดาวัลย์ ราชเลขาธิการ เป็นผู้อัญเชิญไฟพระราชทาน พร้อมด้วยผ้าไตรมาในงานพระราชทานเพลิงศพ คุณพ่อสอน มติยาภักดิ์ โยมบิดาของหลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย

ในวันเดียวกันนั้น ทางวัดก็ได้ประกอบพิธีดังนี้

๑. สมเด็จพระญาณสังวร (สมณศักดิ์ในขณะนั้น) ประกอบพิธีเปิดป้าย "สวนพุทธาวาส"

๒. ฯพณฯ ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ประธานองคมนตรี เป็นประธานเปิดสระน้ำ "สระพุทธโคดม"

๓. ม.ล.ทวีสันต์ ลดาวัลย์ ราชเลขาธิการ เป็นประธานเปิด "หอสมุดฟูตระกูลอนุสรณ์"

๔. ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว เป็นประธานเปิดโรงพยาบาลวัดเขาสุกิม

ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ท่านพระอาจารย์สมชายได้ให้ขุดสระเก็บน้ำเพิ่มขึ้นอีก ๑ แห่ง เรียกชื่อว่า "สระพระสังกัจจายน์"

วันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๖ สมเด็จพระญาณสังวร (สมณศักดิ์ในขณะนั้น) ได้เสด็จวัดเขาสุกิมและได้ประกอบพิธีดังนี้

ลำดับที่ ๑ ประกอบพิธีเปิดป้าย "ศูนย์อบรมธรรมะ แผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง" ของสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์

ลำดับที่ ๒ ประกอบพิธีเปิด "ตึกธรรมวิจัย" เพื่อใช้เป็นสถานที่ฝึกอบรมพระนักศึกษาฯ

วันที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๘ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ ฯพณฯ ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ประธานองค์มนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ เดินทางมาเป็นประธานเปิดการประชุม สมาคมพุทธศาสนาทั่วราชอาณาจักร ครั้งที่ ๓๓ / ๒๕๒๘ ระหว่างวันที่ ๗-๑๐ มิถุนายน ๒๕๒๘ ณ วัดเขาสุกิม

ปี พ.ศ. ๒๕๒๙ ได้บริจาคเงินเพื่อสร้าง โรงเรียนจังหารฐิตวิริยาประชาสรรค์ อำเภอจังหาร จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นจังหวัดบ้านเกิดของหลวงปู่ฯ

วันที่ ๒๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๐ กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศเปลี่ยนแปลงชื่อ วัดราษฎร์บูรณคุณาราม เป็น "วัดเขาสุกิม"

วันที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ฯพณฯ ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ประธานองคมนตรี และ ม.ล.ทวีสันต์ ลดาวัลย์ ราชเลขาธิการ เป็นผู้แทนพระองค์อัญเชิญไฟพระราชทานพร้อมด้วยผ้าไตรพระราชทานมาในงานพระราชทานเพลิงศพ หลวงปู่มุล ธมฺมวีโร และท่านพระครูโอภาสปัญญาภรณ์ ณ วัดเขาสุกิม

วันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ มาทรงประกอบพิธีเปิดอาคาร "ตึก ๖๐ ปี เฉลิมพระเกียรติ" และทรงเปิด "วิหารบูรพาจารย์อุทิศ" ทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุภายในเจดีย์หยก โดยในพิธีดังกล่าว สมเด็จพระญาณสังวร (สมณศักดิ์ในขณะนั้น) ได้ทรงเดินทางมาเป็นประธานฝ่ายสงฆ์

วันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๑ ฯพณฯ เอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย พร้อมด้วยภริยา ได้เดินทางมาเยี่ยมวัดเขาสุกิม

วันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๑ คณะทูตวัฒนธรรมจากสาธารณรัฐประชาชนจีน นำโดย ฯพณฯ หยู เหวิน เถา เดินทางมาเยี่ยมวัดเขาสุกิม

วันที่ ๘-๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๒ กรมการศาสนา วัดเขาสุกิม และกรมป่าไม้ เปิดการสัมมนา "โครงการส่งเสริมให้วัดเป็นแหล่งช่วยงานด้านป่าไม้" มีพระสงฆ์จากทั่วประเทศเข้าร่วมสัมมนา จำนวน ๑,๐๐๐ รูป และข้าราชการกรมป่าไม้ พ่อค้า ประชาชน ผู้สนใจเข้าร่วมสัมมนาอีกกว่า ๕,๐๐๐ คน ณ ห้องประชุมวัดเขาสุกิม ตึก ๖๐ ปี เฉลิมพระเกียรติ ชั้น ๒

หน้าที่