#echo banner="" ประวัติ หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร วัดถ้ำผาปล่อง 001

พระญาณสิทธาจารย์

(หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร)

วัดถ้ำผาปล่อง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

โครงการหนังสือบูรพาจารย์ เล่ม ๑๒

จัดพิมพ์เป็นธรรมบรรณาการ

สำหรับผู้ร่วมบริจาค

กองทุนพระมหาธาตุมณฑปอนุสรณ์บูรพาจารย์

และโครงการหนังสือบูรพาจารย์

วัดป่าอาจารย์มั่น (ภูริทตฺโต)

บ้านแม่กอย ต.เวียง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่

เรียบเรียงโดย รศ.ดร.ปฐม -รศ.ภัทรา นิคมานนท์

เดือนมกราคม ๒๕๕๐

โดยได้รับอนุญาตจากผู้เรียบเรียง

๑. หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร

ท่านเจ้าคุณพระญาณสิทธาจารย์ หรือ หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโรแห่งสำนักสงฆ์ถ้ำผาปล่อง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพระมหาเถราจารย์ที่มีศีลาจารวัตรงดงามอย่างเสมอต้นเสมอปลายตลอดสายในชีวิตการเป็นนักบวชของท่าน

หลวงปู่เป็นศิษย์รุ่นอาวุโสของ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐาน

หลวงปู่มั่นได้เคยพูดถึงหลวงปู่สิม สมัยยังเป็นพระน้อยพระหนุ่ม ต่อหน้าพระเถระบางรูป ในเชิงพยากรณ์และด้วยความชื่นชมว่า “...ท่านสิม เป็นดอกบัวที่ยังตูมอยู่ เบ่งบานเมื่อใดจะหอมกว่าหมู่...”

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ทรงยกย่องหลวงปู่สิม ว่า “เป็นผู้มีศีลงดงาม” โดยมีพระลิขิตดังนี้ : -

“ท่านเจ้าคุณพระญาณสิทธาจารย์ (สิม พุทฺธาจาโร) เป็นผู้มีศีลงดงาม บรรดาผู้รู้จักท่านย่อมเห็นชัด ว่าชีวิตของท่านรับรองพุทธศาสนสุภาษิตที่อัญเชิญไว้เบื้องต้น อย่างชัดเจน “

สำหรับพุทธภาษิตที่ท่านเจ้าประคุณ สมเด็จฯ ทรงอัญเชิญมาอ้างอิงนี้ ความว่า : -

“สีลํ เสตุ มเหสกฺโข    สีลํ คนฺโธ อนุตฺตโร

สีลํ วิเลปนํ เสฏฐํ       เยน วาติ ทิโส ทิสํ

ศีลเป็นสะพานอันมีศักดิ์ใหญ่ ศีลเป็นกลิ่นที่ไม่มีกลิ่นอื่นยิ่งกว่า

ศีลเป็นเครื่องลูบไล้อันประเสริฐ ซึ่งขจรไปทั่วทุกทิศ”

ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ทรงอธิบายขยายความพุทธภาษิตข้างต้นต่อไปว่า : -

“ศีลเป็นสะพานทอดนำไปสู่ฐานะที่สูง คนทั้งหลายไม่ว่าตนเองจะมีศีลหรือไม่ ใจก็ย่อมยกย่องนับถือผู้มีศีล

ท่านเจ้าคุณพระญาณสิทธาจารย์เป็นผู้มีศีล ศีลที่นำท่านสู่ฐานะที่สูงขึ้นเป็นลำดับ ไม่เพียงสูงขึ้นด้วยสมณศักดิ์ที่ได้รับพระราชทานเลื่อน แต่สูงขึ้นด้วยฐานะในความรู้สึกนึกคิดจิตใจของผู้ที่รู้จักท่าน แม้เพียงโดยกิตติศัพท์โดยชื่อ

ศีลมีกลิ่นหอมไกลยิ่งกว่ากลิ่นใดอื่น กลิ่นเครื่องร่ำน้ำหอมหรือกลิ่นบุปผามาลัยใดๆ ก็ตาม ก็มีอยู่ในขอบเขตและกาลสมัยใกล้เคียง แต่กลิ่นศีลหามีเวลามีขอบเขตไม่ ข้ามน้ำข้ามทวีปข้ามกาลเวลา ข้ามยุคสมัย ไกลเท่าไกลได้ทั้งสิ้น

ท่านเจ้าคุณพระญาณสิทธาจารย์ เป็นผู้มีศีล ชื่อเสียงของท่านเป็นที่รู้จักอย่างดียิ่ง ในนามหลวงปู่สิม ผู้งดงามด้วยความปฏิบัติเคร่งครับในศีล ขจรไกลไปทั้งในหมู่ผู้ที่ไม่เคยพบเคยเห็นท่านเลย

ศีล เป็นเครื่องลูบไล้อันดีเลิศ เครื่องประทิ่นทั้งหลายไม่ทำให้เกิดคุณค่าเสมอศีล เพราะเครื่องประทิ่นทั้งหลายย่อมคลายคุณสมบัติได้ในเวลาไม่นาน

แต่ตลอดกาล ศีลที่มีประจำใจจะส่งประกายใสสว่างอย่างงดงามครอบคลุมอยู่

ความเป็นผู้สงบงดงามเป็นปกติด้วยกิริยาวาจานั้น เกิดจากความมีศีลที่ใจ

ท่านเจ้าคุณพระญาณสิทธาจารย์ นั้นเป็นที่รู้ไกล ว่ามีศีลเครื่องลูบไล้อันประเสริฐ กิริยาท่านสงบเป็นปกติ วาจาท่านสงบเป็นปกติผู้ได้พบได้เห็นได้สนทนาวิสาสะ ย่อมประจักษ์แจ้งใจในคุณอันควรอนุโมทนาสาธุการของท่าน”

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช

และพระพุทธพจนวราภรณ์ ในงานพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่สิม

หลวงพ่อ พระพุทธพจนวราภรณ์ แห่งวัดเจดีย์หลวงวรวิหารเชียงใหม่ สมัยดำรงสมณศักดิ์ที่พระธรรมดิลก ได้เขียนถึงคุณธรรมของ หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร ไว้อย่างครอบคลุม ด้วยข้อเขียนเพียงสั้นๆ สองหน้ากระดาษ ภายใต้ชื่อเรื่องว่า “หลวงปู่ผู้ทรงคุณ”

ผมขออัญเชิญข้อเขียนของหลวงพ่อ มาเสนอ ณ ที่นี้อย่างเต็มๆ โดยไม่มีการตัดทอนเลย ดังต่อไปนี้ : -

“บรรดาพระเถระกัมมัฏฐานที่มีปฏิปทาตามสาย หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต มีอยู่หลายรูป อาทิ หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ วัดดอยแม่ปั๋ง อำเภอพร้าว เชียงใหม่ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร อำเภอพรรณานิคม สกลนคร หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล อำเภอหนองบัวลำภู อุดรธานี (ปัจจุบันอยู่ในจังหวัดหนองบัวลำภู) พระโพธิญาณเถร (หลวงปู่ชา สุภทฺโท) วัดหนองป่าพง อำเภอวารินชำราบ อุบลราชธานี พระราชนิโรธรังสี (หลวงปู่เทสก์ เทสรํสี) อำเภอศรีเชียงใหม่ หนองคาย พระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน วัดป่าบ้านตาด อำเภอเมือง อุดรธานี หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต วัดภูจ้อก้อ อำเภอคำชะอี (ปัจจุบัน อำเภอหนองสูง) มุกดาหาร พระญาณสิทธาจารย์ (หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร) สำนักสงฆ์ถ้ำผาปล่อง อำเภอเชียงดาว เชียงใหม่

พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระญาณสิทธาจารย์ (หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร) เป็นพระมหาเถระผู้ใหญ่มีอายุพรรษามาก ปฏิปทาหลักของหลวงปู่สิม คือ พระกัมมัฏฐาน หรือ พระธุดงค์

ท่านจะจาริกแสวงหาความสงบวิเวกไปในถิ่นต่างๆ ตามชนบทป่าเขา ณ ที่ใดให้ความสงบสงัด ก็จะพักอยู่เพื่อปฏิบัติธรรม และโปรดญาติโยมด้วยการจาริกออกบิณฑบาต พร้อมกับเทศนาสั่งสอนเผยแผ่หลักธรรมวินัย เป็นการให้แสงสว่างทางใจ ให้ชาวชนบทรู้จักบุญ รู้จักบาป รู้จักคุณ รู้จักโทษ

หลวงปู่ มีความขยันในการเทศนาสั่งสอน ทุ่มเทเสียสละในการเผยแผ่พระธรรม โดยสม่ำเสมอตลอดมา

คำสอนของหลวงปู่ จะตักเตือนให้เกิดความสำนึกในเรื่องความไม่ประมาท เช่นสอนว่า ชีวิตของคนเราแค่ลมหายใจเข้า-ออก สูดเข้าไปแล้วออกมาไม่ได้ก็ตาย ออกมาแล้วสูดเข้าไปไม่ได้ก็ตาย ผู้ใดไม่นึกถึงความตายที่จะมาถึงตน ผู้นั้นชื่อว่าเป็นคนประมาท

คำสอนของหลวงปู่บางประโยค ก็เป็นปรัชญา ที่ชวนให้คิด เช่น สอนว่า ใจเราไปติดกิเลส ไม่ใช่กิเลสมาติดอยู่ในใจของเรา

และ สอนว่า ...จึงหลงศีล หลงธรรม หลงคำสอนของพระพุทธเจ้า ว่าอยู่ที่อื่น ความจริงอยู่ที่กาย วาจา จิต ของคนเราทุกคน

หลวงปู่สิม นอกจากจะมีปฏิปทาหนักไปในทาง ธุดงควัตร แสวงหาความสงบสงัดตามป่าเขาแล้ว ท่านยังมีผลงานในทางสร้างสรรค์ศาสนาวัตถุ ศาสนสถานด้วย ผลงานในด้านนี้ คือ วัดสันติธรรม ณ หมู่บ้านสันติธรรม อำเภอเมือง เชียงใหม่

หลวงปู่ ได้เป็นประธานสร้างวัดขึ้นในบริเวณนั้นก่อน ขณะที่เริ่มสร้างวัด ที่ดินบริเวณนั้นยังเป็นไร่เป็นนา มีบ้านอยู่ไม่กี่หลัง

เมื่อหลวงปู่สร้างวัดแล้ว ได้ตั้งชื่อว่า วัดสันติธรรม หมู่บ้านจึงได้ตั้งชื่อตามวัดว่า หมู่บ้านสันติธรรม

เมื่อมีวัดมีพระสงฆ์สามเณรอยู่เป็นหลักฐาน หลวงปู่ก็จัดให้มีการศึกษาพระปริยัติธรรม มีการเปิดสอนนักธรรมตรี โท เอก และสอนแผนกบาลีไวยากรณ์ ขึ้นโดยลำดับ

วัดสันติธรรม นอกจากจะเป็นวัดที่เน้นหนักในการให้การศึกษาอบรมธรรมปฏิบัติ แก่พระสงฆ์สามเณรและพุทธบริษัทที่ใฝ่ปฏิบัติธรรมกัมมัฏฐานแล้ว ยังเป็นสำนักเรียนที่มีผลงานในด้านการศึกษาปริยัติธรรมอีกสำนักหนึ่งในปัจจุบัน

แสดงว่า หลวงปู่สิม ท่านส่งเสริมการศึกษาธรรมวินัยคู่กันไปกับการปฏิบัติธรรม บำเพ็ญเพียรทางจิตใจ

เมื่อวัดสันติธรรม ได้ทำการพัฒนาเจริญขึ้นโดยลำดับ หลวงปู่จึงมอบการบริหารวัดให้แก่ พระครูสันตยาธิคุณ (สมณศักดิ์สุดท้าย คือ พระนพีสีพิศาลคุณ - หลวงพ่อพระมหาทองอินทร์ กุสลจิตฺโต) ซึ่งเป็นศิษย์ผู้ใหญ่ รับผิดชอบบริหารสืบต่อมา

ส่วนหลวงปู่ได้ออกจาริกเดินธุดงค์ไปตามสถานวิเวกในป่าเขา จนกระทั่งปี พ ศ ๒๕๑๐ หลวงปู่ได้ไปปฏิบัติเจริญสมณธรรมที่ถ้ำผาปล่อง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

ถ้ำผาปล่อง ดอยหลวงเชียงดาว สมัยนั้น เป็นป่าพงรกทึบเป็นที่อาศัยอยู่ของสิงสาราสัตว์ ผู้มีจิตหวั่นไหว ไม่รักสงบ ไม่ทุ่มเทเพื่อคุณธรรมเบื้องสูงแล้ว ก็ยากที่จะอยู่ในที่สงบสงัดและเสี่ยงต่ออันตรายเช่นนั้นได้

ด้วยปฏิปทาที่สงบแนวแน่ มุ่งสู่กระแสธรรม ด้วยพลังใจที่ยิ่งใหญ่ด้วยการเสียสละที่สูงส่งของหลวงปู่

กาลเวลาผ่านไปไม่กี่ทศวรรษ ผู้ทำให้ถ้ำผาปล่อง กลายเป็นสำนักปฏิบัติธรรมที่สำคัญยิ่ง เป็นศาสนสถานที่สวยงาม ก่อให้เกิดศรัทธาปสาทะแก่ผู้ที่ได้เห็นได้สัมผัส นับเป็นบุญสถาน บุญเขต ที่อำนวยประโยชน์แก่สาธุชนทุกถ้วนหน้า

ทั้งนี้ เนื่องด้วยบุญญาบารมีของหลวงปู่ ที่ได้ทุ่มเทเสียสละร่างกายและชีวิต อุทิศแด่พระศาสนาอย่างแท้จริง นั่นเอง

สมกับที่หลวงปู่สอนไว้ว่า “มรรคผลนิพพาน ก็ไม่ต้องไปหาที่อื่น มันอยู่ที่ความเพียร ความขยัน ความอดทน ความหมั่น ในการภาวนาไม่ขาด”

สำหรับท่านเจ้าคุณพระสุธรรมคณาจารย์ หรือหลวงปู่เหรียญ วรลาโภ แห่งวัดอรัญบรรพต อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย สหธรรมิกผู้เคยร่วมธุดงค์กับหลวงปู่ ได้เขียนคำไว้อาลัย ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่ มีใจความดังนี้ :-

“เมื่อปี พ ศ ๒๔๘๒ ข้าพเจ้าได้พบกับหลวงปู่สิม ที่วัดโรงธรรม (วัดโรงธรรมสามัคคี) อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่

ท่านมีพรรษาแก่กว่าข้าพเจ้าสามพรรษา ท่านมีนิสัยใจคอเยือกเย็นดี ถูกนิสัยกันกับข้าพเจ้า

เคยได้เที่ยวธุดงค์ด้วยกันตามถ้ำ ภูเขา ในจังหวัดเชียงใหม่ ได้จำพรรษาร่วมกับท่านสามพรรษา

นับว่าท่านเป็นบัณฑิตผู้หนึ่งในพุทธศาสนานี้ และก็นับว่าท่านมีอายุยืนรูปหนึ่ง ท่านมรณภาพอายุได้ ๘๓ ปี

หลวงปู่บุดดา ถาวโร

หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ

ควรที่กุลบุตรผู้บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนาจะถือเอาเป็นเยี่ยงอย่างในทางประพฤติพรหมจรรย์

การจากไปของท่านหลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร ในครั้งนี้ (วันศุกร์ที่ ๑๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๕) ย่อมเป็นที่อาลัยของสานุศิษย์ทั้งหลายโดยแท้ แม้ข้าพเจ้าก็อาลัยถึงท่านเหมือนกัน

แต่เมื่อมาพิจารณาถึงสังขารธรรมทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แล้วก็ปลงลงได้ว่า ทุกคนต้องตายด้วยกันทั้งหมด ต่างแต่ก่อนและหลังกันเท่านั้น

แต่ข้อสำคัญก็คือ การละชั่วแล้วทำดีให้สูงขึ้นไปโดยลำดับนั้นแหละ เราจะได้ความอุ่นใจในเวลาจวนจะสิ้นชีพทำลายขันธ์ฉะนี้แลฯ”

พระมหาเถระอีกองค์ที่เขียนคำไว้อาลัย ไว้ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพของหลวงปู่ ก็คือ หลวงปู่บุดดา ถาวโร แห่งวัดกลางชูศรีเจริญสุข อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี

หลวงปู่บุดดา ได้กล่าวถึงความตายโดยกลางๆ ทั่วไปว่า : -

“เป็นคนเป็นสัตว์ มันก็มีเกิดมีตาย

ธรรมะ ไม่เกิด ไม่ตาย มีแต่เกิด-ดับ

กิเลส ตายไปแล้ว ไม่มาอีก

เหลือแต่ นิโรโธ นิพพานัง”

เป็นอันว่าในตอนเริ่มเรื่อง คือหัวข้อที่ ๑ นี้ ผมได้คัดลอกข้อเขียนของพระมหาเถระ ครูบาอาจารย์ ๔ องค์ มานำเสนอไว้อย่างครบถ้วน เพราะผมเองไม่มีวิธีเขียนเริ่มเรื่องอย่างใดที่จะครอบคลุม และสมบูรณ์มากยิ่งไปกว่านี้ได้แล้วครับ

๒. คำพยากรณ์ของหลวงปู่มั่น

หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร จัดเป็นเพชรน้ำเอกองค์หนึ่งในวงพระกรรมฐาน ศิษย์พระอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทตฺโต

องค์หลวงปู่มั่น เคยได้ปรารภกับศิษย์รุ่นใหญ่ของท่านในเชิงเป็นการพยากรณ์ หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร เมื่อครั้งยังเป็นพระหนุ่มร่วมอยู่ในกองทัพธรรม ว่า

“...ท่านสิมเป็นดอกบัวที่ยังตูมอยู่ เบ่งบานเมื่อใดจะหอมกว่าหมู่”

หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ก็เคยกล่าวถึงคำพยากรณ์ของพระอาจารย์ใหญ่เหมือนกัน ก่อนที่จะเดินทางจากเชียงใหม่กลับไปพำนักประจำที่จังหวัดนครพนม บ้านเกิดของท่าน ในปี พ ศ. ๒๕๑๖ ก่อนท่านมรณภาพเพียง ๑ ปี

หลวงปู่ตื้อ ได้ไปเยี่ยม หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร ช่วงที่ท่านยังพำนักที่ วัดโรงธรรมสามัคคี อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ในปี๒๕๑๖ ดังกล่าว

ในการปราศรัยสนทนากันช่วงหนึ่ง หลวงปู่ตื้อได้บอกกับหลวงปู่สิม ว่า

“...ผมมีความลับจะบอกท่านอยู่เรื่องหนึ่ง ผมรักษาเอาไว้ ๓๔ ปีนี่แล้ว เมื่อครั้งที่หลวงปู่มั่นยังอยู่ที่เชียงใหม่ ก่อนท่านจะกลับไปอุดร ท่านได้พยากรณ์ไว้ว่า ศิษย์รุ่นต่อไปที่จะมีชื่อเสียงโด่งดัง คือท่านสิม กับท่านมหาบัว...”

ท่านสิม ก็คือ พระญาณสิทธาจารย์ หรือ หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร แห่งสำนักสงฆ์ถ้ำผาปล่อง อำเภอเชียงดาว เจ้าของประวัติในหนังสือเล่มนี้

ส่วน ท่านมหาบัว ก็คือ พระธรรมวิสุทธิญาณ หรือ หลวงตาพระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน วัดป่าบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ซึ่งพวกเราต่างก็ตระหนักถึงกิตติศัพท์กิตติคุณของท่านเป็นอย่างดีแล้ว

สำหรับองค์หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร จัดเป็นศิษย์รุ่นแรกๆของหลวงปู่มั่น ท่านมีบทบาทสำคัญยิ่งในการเผยแผ่ธรรมะปฏิบัติสู่พุทธศาสนิกชนจนเป็นที่เคารพศรัทธาอย่างกว้างขวาง

เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของหลวงปู่สิม คือ การพานั่งขัดสมาธิเพชรและการยกมรณานุสติกรรมฐานไว้เป็นกรรมฐานชั้นเอก

หลวงปู่เน้นย้ำเสมอว่า “การนั่งสมาธิภาวนา ใจต้องเด็ด นั่งขัดสมาธิเพชรนี่แหละ จะช่วยให้จิตใจอาจหาญขึ้นมาได้ โดยน้อมระลึกถึงพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งก่อนตรัสรู้ พระพุทธองค์ทรงนั่งขัดสมาธิเพชรใต้ต้นโพธิ์ เอาชีวิตเป็นเดิมพัน แลกกับการตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ”

หลวงปู่สอนว่า “การปฏิบัติจะให้ได้ผลต้องปล่อยวางร่างกายลงไป ปล่อยวางความมั่นหมายในรูปร่างกาย อันเป็นก้อนเกิด ก้อนแก่ ก้อนเจ็บ ก่อนตาย อันนี้

ทั้งต้องระลึกถึงความตายให้ได้ทุกลมหายใจเข้าออกจึงจะชื่อว่าเป็นผู้ไม่ประมาท”

ด้วยปฏิปทาที่เด็ดเดี่ยวอาจหาญของหลวงปู่ ด้วยลีลาการเทศนาธรรมที่ยังดวงจิตดวงใจของผู้ฟังธรรมให้เข้าสู่ความสงบระงับได้อย่างรวดเร็ว และด้วยรอยยิ้มที่เปี่ยมด้วยเมตตาธรรมอันบริสุทธิ์ สานุศิษย์ของท่านจึงเพิ่มมากขึ้น มากขึ้นเรื่อยๆ จนนามของท่านเป็นที่รู้จักและกล่าวขานกันทั่วไปในหมู่ผู้สนใจในธรรมปฏิบัติทั่วทั้งประเทศ

หลวงปู่จึงเป็นเสมือนเพชรน้ำเอก ในหมู่พระกรรมฐาน สมดัง

คำพยากรณ์ของ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ดังกล่าวมาแต่ต้นแล้วว่า : -

“...ท่านสิมเป็นดอกบัวที่ยังตูมอยู่ เบ่งบานเมื่อใด จะหอมกว่าหมู่...”

หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต พระอาจารย์ใหญ่

หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร

หลวงตาพระมหาบัว
ญาณสมฺปนฺโน

๓. ศิษย์ลูกศิษย์หลานของหลวงปู่

ท่านผู้อ่านครับ เรื่องนี้เป็นเรื่องราวของผมเอง ที่บังอาจแต่งตั้งหรืออุปโลกน์ตัวเองว่าเป็น “ศิษย์” ของหลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร ทั้งๆ ที่มีโอกาสได้กราบองค์ท่านแค่ ๓ ครั้งเท่านั้นเอง

ท่านผู้อ่านที่ไม่แน่ใจว่า เมื่ออ่านเรื่องนี้แล้ว “ต่อมหมั่นไส้” อาจเกิดการกำเริบได้ ก็ขอให้ข้ามไปอ่านตอนอื่นได้นะครับ

ผมได้กราบ องค์หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร ที่ถ้ำผาปล่องครั้งแรกในปี ๒๕๒๔ ต้องเดินทางไปจากกรุงเทพฯ ถึงสองครั้งจึงได้กราบองค์ท่านดังประสงค์

ไปครั้งแรกต้องชวดการกราบหลวงปู่ด้วยอาการ “ปรามาส” องค์ท่านเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์จริงๆ

ต้องขออนุญาตเล่าเรื่องส่วนตัวเพื่อย้อนเรื่องสักนิดนะครับ คือผมไปทำปริญญาโท (ใบที่สอง) ที่ประเทศอังกฤษอยู่ปีครึ่ง กลับมาเมืองไทยระยะหนึ่ง แล้วก็ไปทำปริญญาเอกที่ประเทศแคนาดาอีกสามปีครึ่ง

ระหว่างอยู่ต่างประเทศก็เริ่มสนใจธรรมะ และฝึกทำสมาธิได้ผลดีพอสมควรแล้ว แต่ไม่ค่อยรู้จักพระสงฆ์ที่เป็นครูบาอาจารย์ในเมืองไทย

ปีแรกที่ผมกลับจากประเทศแคนาดา คือปี พ.ศ. ๒๕๒๔ ผมมีโอกาสเดินทางไปเชียงใหม่ ไปเก็บข้อมูลที่ อำเภอพร้าว มีลูกศิษย์ที่ทำงานที่ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดเชียงใหม่เป็นมัคคุเทศก์ผู้นำทาง

ผมเป็นหัวหน้าทีม มีลูกศิษย์ปริญญาโทจากกรุงเทพฯไปด้วย ๔-๕ คน ในเชียงใหม่ได้อาศัยรถยนต์ของศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดเชียงใหม่ เป็นพาหนะเดินทางตลอดรายการ

นอกจากเก็บข้อมูลเพื่องานวิจัยแล้ว ผมบอกลูกศิษย์ผู้นำทางว่า ต้องการไปกราบพระด้วย ซึ่งตอนนั้นผมรู้จัก (เคยได้ยิน) พระเชียงใหม่เพียงองค์เดียว คือ หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ แห่งวัดดอยแม่ปั๋ง ซึ่งท่านมรณภาพแล้ว

ส่วนพระดังอีกองค์ก็คือ พระอาจารย์นิกร แห่งดอยนางแล ตอนนั้นท่านกำลังดังมาก หากโชคดีผมคงได้ถวายตัวเป็นลูกศิษย์ก็ได้ ความตั้งใจเป็นอย่างนั้นจริงๆ

ลูกศิษย์ก็ยินดีพาไปตามความประสงค์ของผม แต่เธอได้แนะนำผมว่า “อาจารย์ไม่ไปกราบหลวงปู่สิม ที่ถ้ำผาปล่องด้วยหรือ ท่านกำลังดังในขณะนี้” พร้อมทั้งเสนอแนะเส้นทางว่าเราควรไปทางอำเภอเชียงดาว กราบหลวงปู่สิมก่อน แล้วจึงไปทางอำเภอพร้าวก็สามารถไปได้ภายในวันเดียว

ผมขอสารภาพว่าตอนนั้น ผมไม่เคยได้ยินชื่อหลวงปู่สิมจริงๆ จึงเป็นการพูดในลักษณะปรามาสท่านว่า “ไม่เป็นไรหรอก ไปทางอำเภอพร้าวก่อน แล้วจึงมาทางเชียงดาว จะได้กราบหลวงปู่สิมหรือไม่ก็ไม่ว่าอะไรหรอก”

ดูซีครับ ผมเลือกไปกราบ พระอาจารย์นิกร แทนการไปกราบ หลวงปู่สิม

เอาเป็นว่าผมและคณะได้แวะไปกราบบารมีหลวงปู่แหวน ที่ดอยแม่ปัง แล้วไปทำธุระทางราชการจนเสร็จในเวลาที่รวดเร็ว แล้วก็ไปดอยนางแล ด้วยความหวังเต็มเปี่ยมว่าจะได้กราบพระอาจารย์นิกร

แต่ผมต้องผิดหวัง เพราะพระอาจารย์นิกรท่านไม่อยู่ จึงไม่มีโอกาสถวายตัวเป็นศิษย์ และก็มีอันแคล้วคลาดไม่เคยได้พบหน้าท่านเลยแม้แต่ครั้งเดียว เราคงไม่มีบุญพอที่จะได้เป็นลูกศิษย์ของพระดังแห่งยุค !

ออกจากอำเภอพร้าว ขับรถลัดเลาะไปตามเขาเพื่อไปอำเภอเชียงดาว ตอนนั้นถนนเส้นนั้นเพิ่งตัดใหม่ๆ ยังเป็นถนนลูกรังอยู่ เราเดินทางด้วยฝุ่นคลุ้งไปจนถึงบ้านสันปิงโค้ง แล้วเลี้ยวลงใต้เพื่อไปเชียงดาว

พวกเราไปถึงเชียงดาว ประมาณ ๔ โมงเย็น มีเวลามากพอที่จะไปถ้ำผาปล่อง สถานที่ที่องค์หลวงปู่สิม พำนักอยู่

ท่านผู้อ่านเชื่อไหมครับ ราว ๔ โมงเย็น รถยนต์ของพวกเราไปจอดเสียอยู่ที่ ทางแยกไปถ้ำผาปล่อง พยายามหาทางแก้ไขจนกระทั่งเกือบสองทุ่ม จึงซ่อมรถเสร็จ

เป็นอันว่าเที่ยวนั้นผมอดไปกราบหลวงปู่สิม แต่ก็ไม่ได้นึกเสียใจหรือผิดหวังอะไรเลย เพราะเรายังไม่รู้จักท่าน !

เมื่อกลับถึงกรุงเทพฯ แล้ว จึงได้มารู้มาได้ยินกิตติศัพท์และทราบเรื่องราวของหลวงปู่ จึงรู้สึกว่าคราวที่แล้วเราพลาดด้วยความไม่รู้จริงๆ

เมื่อมีโอกาสผมจึงเดินทางขึ้นเชียงใหม่อีกครั้ง คราวนี้ไปรถตู้ เป้าหมายหลักคือเจาะจงไปกราบหลวงปู่สิมที่ถ้ำผาปล่องจริงๆ ส่วนไปที่อื่นๆ เป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้น

ท่านผู้อ่านครับ ผมเดินขึ้นถ้ำผาปล่อง ด้วยใจมุ่งมั่น ต้องการกราบองค์หลวงปู่ให้ได้

แต่...เมื่อไปถึงถ้ำ ได้พบป้ายประกาศเขียนไว้ชัดเจนว่า

“หลวงปู่อาพาธ หมอแนะนำให้พักผ่อน ห้ามรบกวน”

เอาซีครับ หลวงปู่ท่านอยู่ แต่งดรับแขก !

แต่ไหนๆ ก็มาถึงถ้ำผาปล่องแล้ว หลังจากกราบพระแล้วผมก็ลงมือนั่งหลับตาทำสมาธิทันที ในใจไม่รู้สึกว่าผิดหวังอะไร โอกาสหน้าค่อยมาใหม่ยังได้ แต่ต้องมาอีกอย่างแน่นอน

ผมนั่งอยู่นานราวครึ่งชั่วโมง ได้ยินเสียงเหมือนมีคนจัดของหยิบสิ่งนั้น วางสิ่งนี้ ก๊อกแก๊กๆ แล้วได้ยินเสียงกระแอมน้อยๆ พร้อมกับได้ยินเสียง ซึ่งไม่แน่ใจว่าหูแว่วไปหรือไม่ว่า “เออ! มันเอาจริง”

ผมลืมตาขึ้นน้อยๆ เพื่อจะดูว่าเสียงอะไรอยู่ข้างหน้าเรา

ปลื้มสุดปลื้มครับ ! หลวงปู่ท่านนั่งอยู่บนเก้าอี้นวม อยู่ข้างหน้าเรานี่เอง

มีหลวงปู่อยู่องค์เดียวจริงๆ !

ผมลุกขึ้นนั่งคุกเข่าทั้งๆ ที่ขายังชา ก้มกราบท่านด้วยความเคารพอย่างสูงสุด

ดูองค์หลวงปู่ท่านหนักแน่น สงบเย็น ยิ้มด้วยเมตตา ท่านเอ่ยถามพอได้ยินว่า “มาจากกรุงเทพฯ หรือ? “

ท่านพูดสอนสั้นๆ ว่า “ธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นของจริง ต้องทำต้องปฏิบัติเอาด้วยตัวของเราเอง จึงจะพบของจริง”

ผมคลานเข้าไปใกล้ ขอให้หลวงปู่ เป่ากระหม่อมให้ (ตามแบบที่ใครๆ เขาก็นิยมทำกัน)

หลวงปู่ได้เมตตาลูบหัวผมเบาๆ พร้อมทั้งเป่ากระหม่อมให้ด้วย !

พอดีคณะที่ไปด้วยกันได้เข้ามาสมทบ ต่างก้มกราบหลวงปู่ด้วยความชื่นอกชื่นใจ แล้วก็รีบพากันทราบลา เพราะไม่อยากจะรบกวนท่านมากไปกว่านั้น

ผมได้กราบองค์หลวงปู่อีก ๒ ครั้ง คือได้ฟังธรรม และฝึกนั่งสมาธิเพชรกับท่านครั้งหนึ่ง คราวที่ท่านมาโปรดที่ซอยนภาศัพท์ พระโขนง กรุงเทพฯ

อีกครั้งก็ได้พาคณะไปทอดผ้าป่าที่ถ้ำผาปล่อง ในปีถัดมา

ต่อจากนั้นก็ได้มางานพระราชทานเพลิงศพของหลวงปู่

หลังจากหลวงปู่มรณภาพแล้ว ก็ได้พาคณะมาทอดผ้าป่าที่ถ้ำผาปล่องอีกราว ๒ ครั้ง

และมาคราวนี้ เมื่อคณะของเราได้มีโอกาสช่วย หลวงพ่อจำรัส จิรวํโส สร้าง พระมหาธาตุมณฑปบูรพาจารย์ ที่วัดป่าอาจารย์มั่น ทำให้เกิดโครงการหนังสือบูรพาจารย์ ครั้งนี้ขึ้น

ท่านผู้อ่านก็ทราบกันดีแล้วว่า วัดป่าอาจารย์มั่นแห่งนี้ สามารถเรียกได้อย่างเต็มปากว่า เป็นวัดของหลวงปู่สิม เพราะองค์ท่านให้ความอุปถัมภ์วัดนี้มาตั้งแต่ต้น

เริ่มจากการส่งพระลูกศิษย์ คือ หลวงพ่อทองสุก อุตฺตรปญฺโญ มาเป็นผู้ริเริ่มตั้งวัด ตามคำขอของญาติโยมชาวเมืองพร้าว

หลวงปู่ได้ให้ความช่วยเหลือเรื่องการซื้อที่ดินที่ก่อสร้างวัดในปัจจุบัน ช่วยเหลือด้านการสร้างศาลาการเปรียญ รวมทั้งได้มาพำนักอยู่ที่วัดป่าอาจารย์มั่น บางครั้งบางคราวในช่วงเริ่มต้นการก่อสร้าง จนกระทั่งกลายเป็นวัดโดยสมบูรณ์มาตราบเท่าปัจจุบัน

เรื่องราวของวัดป่าอาจารย์มั่น ผมได้นำเสนอโดยละเอียดในหนังสือบูรพาจารย์ เล่ม ๗ : พระกรรมฐานสู่ล้านนา ตอน ๒ ไปแล้วนะครับ

ที่เขียนมายืดยาวก็เพียงเพื่อจะอวดอ้างเอาว่า “เราก็เป็นศิษย์ของหลวงปู่ด้วยเหมือนกัน” ดูจะเขียนเข้าข้างตัวเองอย่างมากทีเดียว

ก็ต้องกราบขออภัยด้วยครับ !

๑. มณฑปและทางเดินจงกรมหลวงปู่มั่น

 ๒. ศาลาใหญ่

วัดป่าอาจารย์มั่น บ้านแม่กอย อ พร้าว จ เชียงใหม่

๓. หลวงพ่อทองสุก อุตฺตรปญฺโญ

๔. ประตูทางเข้าวัด

๔. ชาติกำเนิด

พระญาณสิทธาจารย์ หรือ หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร เกิดที่บ้านบัว ตำบลสว่าง อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ ศ. ๒๔๕๒ ตรงกับวันศุกร์ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีระกา เวลาประมาณ ๒๑.๐๐ น.

บิดาของท่านชื่อ นายสาน วงศ์เข็มมา มารดาชื่อ นางสิงห์คำ วงศ์เข็มมา

หลวงปู่ เป็นบุตรคนที่ห้า ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด ๑๐ คน เป็นชาย ๕ คน หญิง ๕ คน เรียงตามลำดับดังนี้

๑. เด็กชาย (ถึงแก่กรรมตั้งแต่ยังเล็ก)

๒. นางสาวบง วงศ์เข็มมา

๓. นางสาวบาง วงศ์เข็มมา

๔. นางแก้ว สมรสกับ นายถา ทุมกิจจะ

๕. หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร

๖. นายกลม วงศ์เข็มมา

๗. พระอาจารย์คำดี (มรณภาพที่จังหวัดเลย)

๘. นางมาลี สมรสกับ นายสอน ภานาดา

๙. นางจำปี สมรสกับ นายอินตา ทุมกิจจะ

๑๐. นายจำไป วงศ์เข็มมา

หมู่บ้านบัว ที่หลวงปู่ถือกำเนิดนี้ เป็นหมู่บ้านภูไท หมายถึงว่า หลวงปู่ มีเชื้อสายเป็นชาวภูไท

บรรพบุรุษรุ่นคุณปู่ ของหลวงปู่ อพยพมาจากเมืองบก เมืองวัง ประเทศลาว เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ ยังดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ได้รับพระบรมราชโองการจาก สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ให้ยกทัพไปตีเวียงจันทน์ และรวบรวมหัวเมืองลาวไว้ในพระราชอาณาจักรสยามได้ทั้งหมด

ชาวภูไทที่เป็นบรรพบุรุษของหลวงปู่ได้อพยพเข้ามาทางฝั่งไทย ได้ย้ายแหล่งที่ทำมาหากินหลายครั้ง และมีกลุ่มของ “พรานเครือ” ได้พาชาวภูไท ๘ ครอบครัว มาตั้งรกรากที่บ้านบัว ในปัจจุบัน

เหตุที่ชื่อ บ้านบัว เพราะบริเวณนั้นแต่เดิมมีสระบัวอยู่ ๒ สระ จึงได้ถือเอา ดอกบัว เป็นมงคลนามสำหรับชื่อของหมู่บ้าน

สำหรับสกุล “วงศ์เข็มมา” ของหลวงปู่นั้น เป็นสกุลเก่าแก่สกุลหนึ่งของบ้านบัว ผู้เป็นต้นสกุลคือ ขุนแก้ว กับน้องชายชื่อ อินทปัญญา และขุนแก้วท่านนี้ก็คือ คุณปู่ของหลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร นั่นเอง

๕. นิมิตดีในวันเกิด

ในปีที่หลวงปู่ ถือกำเนิดขึ้นมา คือปี พ.ศ. ๒๔๕๒ นั้น เป็นปีที่ฟ้าฝนตกต้องตามฤดูกาล ฝนไม่มากไปไม่น้อยไป มีน้ำอุดมสมบูรณ์ เป็นปีที่ทำนาได้ผลดี

ปกติในฤดูทำนา ชาวบ้านที่มีที่นาห่างไกลหมู่บ้าน มักจะไปพักที่กระต๊อบที่อยู่ในที่ใกล้ๆ กับที่นานั้น เพื่อจะได้ไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยกับการเดินทางไป-กลับทุกวัน

กระต๊อบของ นายสาน-นางสิงห์คำ วงศ์เข็มมา อยู่ห่างไกลจากหมู่บ้านบัว ออกไปประมาณ ๔ กิโลเมตร

ฤดูทำนาในปีนั้น นางสิงห์คำ ได้ตั้งครรภ์บุตรคนที่ ๕ นางจึงพักที่กระต๊อบนั้นตลอดฤดูการทำนา

ในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นเดือนเกิดของหลวงปู่นั้น ฟ้าฝนหยุดตกแล้ว เป็นช่วงต่อระหว่างปลายฝนกับต้นหนาว น้ำยังเจิ่งนองทุ่งนา ต้นข้าวเริ่มตั้งท้องพร้อมที่จะเกิดเป็นรวงข้าว อากาศเริ่มหนาวเย็นขึ้นมาบ้างแล้ว

ในคืนที่หลวงปู่ถือกำเนิดลืมตาขึ้นมาดูโลก คือคืนวันศุกร์ที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๒ นั้น นางสิงห์คำ ได้เริ่มเจ็บครรภ์ตั้งแต่ตอน เย็น

พอถึงเวลาประมาณ ๑ ทุ่ม อาการเจ็บครรภ์ทุเลาลง นางจึงได้เคลิ้มหลับไป และก็ได้ฝันเห็นพระสงฆ์รูปหนึ่งมีรัศมีกายสุกสว่างเปล่งปลั่ง แลดูเย็นตาเห็นใจยิ่งนัก

พระสงฆ์รูปนั้นได้ลอยเลื่อนลงมาจากท้องฟ้า ลงมาสู่กระต๊อบกลางทุ่งนาที่นางพักอยู่

ต่อมา เวลาประมาณ ๓ ทุ่ม นางสิงห์คำ ให้กำเนิดทารกเพศชายผิวขาวสะอาด

และจากนิสิตที่ นางสิงห์คำ ได้เล่าให้นายสาน ผู้สามีฟังโดยละเอียด ตามความทรงจำที่ชัดเจนเหมือนกับได้เห็นด้วยตาจริงๆ

นายสาน ผู้สามีเป็นคนมีจิตใจใฝ่บุญใฝ่กุศลอยู่แล้ว ได้เกิดความยินดีกับความฝันของภรรยาเป็นอย่างยิ่ง ถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีสำหรับทารกผู้เกิดใหม่อย่างแน่แท้

จึงได้ตั้งชื่อทารกน้อยตามศุภนิมิตนั้นว่า “สิม”  ซึ่งภาษาอิสานแปลว่า โบสถ์ อันมีใบเสมาแสดงขอบเขตหรือปริมณฑลที่คณะสงฆ์ใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา

ชื่อ สิม จึงบ่งบอกถึงความใกล้ชิดกับพระพุทธศาสนา และในกาลต่อมา เด็กชายสิม วงศ์เข็มมา ก็ได้ครองผ้ากาสาวพัสตร์ตั้งแต่ยังอยู่ในวัยรุ่นสืบต่อมา ได้บำเพ็ญสมณธรรมอย่างต่อเนื่อง ใช้ชีวิตที่ขาวสะอาดบริสุทธิ์ผุดผ่อง จนตลอดชั่วอายุขัยของท่าน คือ เป็น หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร ที่พวกเราให้ความเคารพและศรัทธาที่สูงยิ่งองค์หนึ่งนั่นเอง

๖. ฉายแววแต่เยาว์วัย

ในหนังสือ พุทฺธาจารปูชา ซึ่งเป็นหนังสือที่ระลึกในการพระราชทานเพลิงศพของหลวงปู่ ได้เขียนถึงเรื่องราวในวัยเด็กของหลวงปู่ภายใต้หัวข้อว่า ฉายแววแต่เยาว์วัย ดังนี้ : -

ประกายแห่งสติปัญญาและลักษณะแห่งความเป็นผู้นำในตัวเด็กชายสิม วงศ์เข็มมา ได้ฉายแววให้เป็นที่ประจักษ์แก่เพื่อนพ้องมาตั้งแต่ในวัยเด็กแล้ว

โดยเมื่อเรียนจบชั้นประถมปีที่ ๒ ก็ได้ทำหน้าที่ช่วยครูใหญ่สอนหนังสือ

ซึ่ง หลวงปู่แว่น ธนปาโล พระเถระซึ่งเป็นญาติผู้น้องและมีวัยอ่อนกว่าหลวงปู่เพียงปีเดียว ก็เคยเป็นลูกศิษย์ท่านในครั้งนั้นด้วย

ครั้งหนึ่ง น้องชายของเด็กชายสิม เล่นซนปีนขึ้นต้นไม้ตามประสาเด็ก ผู้ใหญ่ก็กลัวจะพลาดพลั้งตกลงมาเป็นอันตราย แต่เรียกให้ลงอย่างไรก็ไม่ยอมลง จนผู้ใหญ่หมดปัญญา

เด็กชายสิมจึงออกอุบายให้หลอกว่า บนต้นไม้มีผี น้องชายซึ่งกลัวผีขนาดหนัก ก็รีบลงมาจากต้นไม้ทันที

หน้าที่ของเด็กในครอบครัวชาวนาในชนบทไทย เห็นจะหนีไม่พ้นการช่วยเลี้ยงควาย

หลวงปู่เคยเล่าว่า : -

“เรามีควายตู้อยู่ตัวหนึ่ง มันอยากจะชนกับเขาอยู่เรื่อย แต่ชนทีไรแพ้ทุกที เพราะมันไม่มีชั้นเชิงเอาเสียเลย ได้แต่ก้มหน้าก้มตาเอาหัวงัดลูกเดียว ไม่กี่ทีก็หันหลังวิ่งหนีแล้ว”

(ควายตู้ หรือ ควายเขาตู้ เทียบภาษาภาคกลางว่า เขาทู่ คือควายที่มีเขาสั้นหงิกเข้ามาหาหู ไม่สามารถจะขวิดตัวอื่นให้เป็นอันตรายได้)

ด้วยเหตุนี้เอง หลวงปู่จึงเปรียบเทียบคนไม่มีปัญญา ว่าเหมือนกับควายเขาตู้ ซึ่งท่านได้นำไปเปรียบเทียบกับการภาวนา ว่า : -

“ต้องรู้จักเลือกอุบายภาวนา พิจารณาอุบายที่ถูกจริต อาศัยความเพียรอย่างเดียว บ่ได้

เหมือนคนกินอาหาร ต้องรู้จักเลือกกินปลา กินไก่บ้าง ไม่ใช่กินเนื้ออยู่นั่นแล้ว

กิเลสมันพลิกแพลงเก่ง ต้องตามให้ทัน

คนรู้จักพิจารณาก็ได้บรรลุธรรมเร็ว อย่างสาวกในครั้งพุทธกาล ตั้งใจจะบวชเพื่อปลงผม ผมตกลงมาเท่านั้นแหละ ท่านก็ปลงกรรมฐานได้เลยว่า ผมไม่ใช่ของใคร ปล่อยวางทุกอย่างก็ได้บรรลุธรรมเลย

แล้วแต่สติปัญญาของคนจะพิจารณา บางองค์นั่งฟังเทศน์ก็ได้บรรลุเลย อย่างนั้นปัญญาท่านมาก”

คนที่ปฏิบัติธรรมไปอย่างทื่อๆ ตรงๆ ไม่รู้จักพลิกแพลงให้เหมาะสม หลวงปู่จึงเรียกคนประเภทนี้ว่า ควายเขาตู้ ด้วยประการฉะนี้แล

เด็กชายสิม วงศ์เข็มมา หรือ หลวงปู่สิม ของพวกเรานับได้ว่าเป็นผู้มีบุญกุศลหนุนนำมาดี จึงทำให้เป็นผู้รู้จักเตือนตนเองให้อยู่ในทางที่ชอบที่ควร

เป็นผู้ที่มีใจฝักใฝ่ในทางธรรมตั้งแต่ยังเด็ก เป็นผู้มีความกตัญญูสูง มีความขยัน มานะอดทน มีน้ำใจเสียสละ มีวาจาไพเราะ สุภาพอ่อนโยน จึงเป็นที่รักของบิดามารดา และหมู่เพื่อน

ตลอดจนได้รับความไว้วางใจจากบิดามารดาของเด็กในละแวกบ้านนั้นว่า ถ้าลูกของตนมาคลุกคลีกับเด็กชายสิมละก็ เป็นอันหมดกังวลในข้อที่จะชวนกันไปในทางเสียหาย

นอกจากนี้ บิดาของท่านก็เป็นไวยาวัจกรของวัดศรีรัตนาราม จึงทำให้เด็กชายสิม พร้อมด้วยเพื่อนๆ วัยเดียวกัน ได้มีโอกาสติดตามผู้ใหญ่ไปช่วยงานที่วัดอย่างขยันขันแข็ง และมักไปคลุกคลีอยู่ที่วัดเป็นประจำ

หลวงปู่จึงมีความใกล้ชิดกับวัด ใกล้ชิดกับพระศาสนามาตั้งแต่เด็ก

๗. ผู้เห็นภัยในความตาย

ทั้งชื่อเรื่องและเนื้อเรื่องเขียนไว้ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพของหลวงปู่ ดังต่อไปนี้: -

เมื่อเด็กชายสิมเริ่มเข้ารุ่นหนุ่ม อายุ ๑๕ - ๑๖ ปี ก็มีความสนใจในดนตรีพื้นบ้านอยู่ไม่น้อย

หลวงปู่แว่น ธนปาโล

หลวงปู่แว่น ธนปาโล (ญาติผู้น้องของหลวงปู่) แห่งวัดถ้ำพระสบาย อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง เล่าว่า ตัวหลวงปู่แว่นเองเป็นหมอลำ ส่วนหลวงปู่สิมนั้นเป็นหมอแคน เป่าแคนจนแคนหักไปหลายอัน

หลวงปู่แว่นได้กรุณาเล่าต่อไปว่า ในเรื่องสตรีเพศนั้นหลวงปู่สิมไม่ใคร่ให้ความใส่ใจเหมือนเด็กหนุ่มทั่วๆไป แต่หากมีหนุ่มต่างบ้านมาเกี้ยวสาวบ้านบัวแล้วละก็ อาจเจอ “ไม้บิน” ของหลวงปู่สิมเข้าบ้างก็ได้

หลวงปู่สิมท่านเคยเล่าถึงตอนสมัยเป็นหนุ่มว่า ท่านเคยเที่ยวไปล่ากระต่ายกระแตบ้างเหมือนกัน รู้สึกการครองชีพตามวิสัยชาวโลกนั้นหลีกเลี่ยงต่อการทำบาปได้ยาก

หลวงปู่พูดถึงสิ่งที่บันดาลใจให้ท่านอยากจะบวชได้แก่ ความสะดุ้งกลัวต่อความตาย

หลวงปู่ได้เล่าเรื่องนี้ว่า “ตั้งแต่ยังเด็กแล้ว เมื่อได้เห็น หรือได้ข่าวคนตาย มันให้สะดุ้งใจทุกครั้ง แล้วว่าเราจะตายเสียก่อนได้ออกบวช”

ความหมายข้อความข้างต้นหมายถึงว่า มรณานุสติ ได้เกิดขึ้นในใจของหลวงปู่อยู่ตลอดเวลา เฝ้าย้ำเตือนให้ท่านไม่ประมาทในชีวิต ไม่ประมาทในวัย ไม่ประมาทในความตาย

เป็นเพราะหลวงปู่ได้กำหนด “มรณํ เม ภวิสฺสติ” ของท่านมาแต่ไหนแต่ไรแล้วนั่นเอง ตั้งแต่ท่านยังไม่ได้ออกบวช มาในระยะหลังหลวงปู่ก็ยังคงใช้อุบายธรรมข้อเดียวกันนี้ อบรมลูกศิษย์ลูกหาเป็นประจำ

อาจกล่าวได้ว่า หลวงปู่เทศน์ครั้งใด มักจะมี “มรณํ เม ภวิสฺสติ” เป็นสัญญาณเตือนภัยจากพญามัจจุราชให้ลูกศิษย์ลูกหาตื่นตัวอยู่เสมอทุกครั้งไป

 

หลวงปู่สิมถ่ายรูปกับหลวงปู่แว่น

และหลวงปู่หลวง ณ วัดปทุมวนาราม กรุงเทพฯ (พ.ศ. ๒๕๐๘)

๘. บรรพขาเป็นสามเณร

ผมลืมเรียนท่านผู้อ่านว่า ข้อมูลเกี่ยวกับหลวงปู่สิม พุทฺธาจาโรที่เขียนมาแต่ต้น ผมนำมาจากหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพของหลวงปู่ ที่มีชื่อหนังสือว่า “พุทฺธาจารปูชา”

สำหรับผู้เขียนหนังสือเล่มที่ว่านี้ ไม่มีการบอกกล่าวเอาไว้ว่าเป็นท่านผู้ใด แต่แน่นอนต้องเป็นลูกศิษย์ผู้ใกล้ชิดหลวงปู่อย่างแท้จริง

แม้ไม่ทราบชื่อผู้เขียน ผมก็ต้องกราบขอบพระคุณและขออนุญาตอ้างอิงพร้อมทั้งคัดลอกมาโดยตรงจนตลอดทั้งเล่มเลย และรับรองว่าผมจะทำด้วยความตั้งใจ รอบคอบ และทำด้วยความเคารพอย่างแท้จริง

อ้อ ! ขอคุยหน่อยว่า หนังสือ “พุทฺธาจารปูชา” และหนังสือเล่มอื่นๆ อีกหลายเล่ม ผมได้รับจากการไปร่วมงานพระราชทานเพลิงศพของหลวงปู่ด้วยตนเอง และได้อยู่ร่วมปฏิบัติธรรมตลอดทั้งคืนโดยไม่ได้หลับนอนเลย เป็นการถือ “เนสัชชิก” ครั้งแรกในชีวิตครับผม !

ขออนุญาตกลับมาที่ประวัติของหลวงปู่กันต่อไปนะครับ ในหนังสือ “พุทฺธาจารปูชา” ได้ใช้หัวข้อเรื่องว่า “สามเณรสิม” แล้วดำเนินเรื่องดังต่อไปนี้ : -

“เมื่อท่านอายุได้ ๑๗ ปี จึงได้ขอบิดาบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดศรีรัตนาราม ซึ่งเป็นวัดมหานิกาย ณ บ้านบัว นั้นเอง ในวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๔๖๙ ตรงกับวันอาทิตย์ แรม ๗ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะโรง โดยมีพระอาจารย์สีทอง เป็นพระอุปัชฌาย์”

หลังจากบรรพชาแล้ว สามเณรสิม วงศ์เข็มมา ได้พักจำพรรษาที่ วัดศรีรัตนาราม บ้านบัว บ้านเกิดของท่าน

ในระหว่างที่จำพรรษานั้น มีเหตุการณ์ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความอุตสาหะของสามเณรสิม โดยที่พระอาจารย์สีทอง พระอุปัชฌาย์ได้เล่าว่า

... ครั้งหนึ่งที่วัดมีการขุดสระ สามเณรสิม ก็ไปช่วยขุด และขุดจนกระทั่งใครต่อใครเขาทิ้งงานกันไปหมด เนื่องจากขุดลงไปลึกถึงสิบเอ็ดสิบสองวาแล้วก็ยังไม่มีน้ำ

เมื่อพระอุปัชฌาย์ของท่านถามว่า “จะขุดไปถึงไหนกัน” สามเณรสิมตอบว่า “ขุดไปจนสุดแผ่นดินนั่นแหละ”

นอกจากนี้ สามเณรสิมยังได้แสดงออกให้เห็นถึงปรีชาญาณด้วยการขึ้นแสดงธรรมแต่ครั้งเป็นสามเณร

สามเณรสิม วงศ์เข็มมา จึงเป็นที่ชื่นชมรักใคร่ของครูบาอาจารย์ของท่านเป็นอย่างมาก

 หลวงปู่แว่น ธนปาโล

หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร

หลวงปู่หลวง กตปุญโญ

สามพระอริยสงฆ์ ผู้ถือกำเนิดที่บ้านบัว อ พรรณานิคม จ สกลนคร

๙. เข้าญัตติกรรมเป็นธรรมยุต

ในปีเดียวกันกับที่หลวงปู่บรรพชาเป็นสามเณร คือปี พ.ศ. ๒๔๖๙ นั้น ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญที่พลิกผันชีวิตของหลวงปู่ให้หันเข้าสู่วงการพระกรรมฐาน หรือพระป่า อย่างที่พวกเราเรียกขานกัน

ในหนังสือเขียนไว้ดังนี้ :-

ต่อมา คณะกองทัพธรรม ของ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ได้เดินธุดงค์มาจากจังหวัดหนองคาย เพื่อมาเผยแพร่ธรรมปฏิบัติแก่ประชาชน โดยเดินทางมาถึงวัดศรีสงคราม (วัดป่าบ้านสามผง) ตำบลสามผง อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม

สามเณรสิม วงศ์เข็มมา จึงได้มีโอกาสเดินทางไปฟังธรรมทั้งจากท่านพระอาจารย์ใหญ่ คือ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ท่านพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม และท่านพระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล

สามเณรสิม โดยปกติเป็นผู้ที่มีความละเอียด จดจำสิ่งต่างๆ ได้แม่นยำ ช่างคิดช่างพิจารณาอยู่แล้ว เมื่อได้เฝ้าสังเกตข้อวัตรปฏิบัติของท่านพระอาจารย์มั่น ท่านพระอาจารย์สิงห์ และท่านพระอาจารย์มหาปิ่น ก็ยิ่งบังเกิดความเลื่อมใสอย่างมาก

จึงตัดสินใจขอถวายตัวเป็นศิษย์พระอาจารย์มั่น และได้ขอญัตติใหม่มาเป็นธรรมยุติกนิกาย

จากหนังสือในโครงการหนังสือบูรพาจารย์ เล่มก่อนๆ ท่านผู้อ่านคงจะจำได้ว่า ในปีนั้นได้มีการทำญัตติกรรมครั้งใหญ่ มีพระเณรเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก โดยมีการทำพิธีที่โบสถ์น้ำ หรืออุทกกุกเขปสีมา หรือ อุทกสีมา อยู่กลางหนองน้ำบ้านสามผง

และสามเณรสิม วงศ์เข็มมา ได้เข้าพิธีญัตติกรรมเปลี่ยนมาสังกัดคณะธรรมยุติกนิกายในครั้งนั้นด้วย

ในหนังสือเล่มที่ผมคัดลอกมา บันทึกเหตุการณ์ไว้ ดังนี้ :-

...แต่โดยที่ขณะนั้น ยังไม่มีโบสถ์ของวัดทางฝ่ายธรรมยุตในละแวกนั้น การประกอบพิธีกรรมจึงต้องจัดทำที่โบสถ์น้ำ ซึ่งแบบแผนนี้ท่านพ่อลี ธมฺมธโร อดีตเจ้าอาวาสวัดอโศการาม ก็เคยใช้มาแล้วเมื่อตอนอุปสมบทหมู่ ๒๕ พุทธศตวรรษ เนื่องจากช่วงนั้นยังมิได้สร้างพระอุโบสถขึ้นเป็นการถาวร

การญัตติเป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุตของสามเณรสิม ได้กระทำพิธีที่โบสถ์น้ำ ซึ่งทำจากเรือ ๒ ลำ ทำเป็นโป๊ะลอยคู่กัน เอาไม้พื้นปูตรึงเป็นแพแต่ไม่มีหลังคา โดยสมมุติเอาเป็นโบสถ์

หลวงปู่มั่น เป็นประธาน และมีท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์

พิธีนี้จัดขึ้นที่ วัดป่าบ้านสามผง อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม

หลังจากทำพิธีญัตติกรรมใหม่แล้ว สามเณรสิม ก็ได้ไปจำพรรษาที่วัดป่าบ้านข่า อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม

๑๐. หลวงปู่พระมหาปิ่น ปญฺญาพโล

พวกเราคุ้นเคยกับชื่อของหลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม และหลวงปู่พระมหาปิ่น ปญฺญาพโล พระเถระสองที่น้อง แม่ทัพใหญ่แห่งกองทัพธรรม

แต่ข้อมูลและเรื่องราวของหลวงปู่ทั้งสององค์นี้มีน้อยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์น้อง คือ หลวงปู่พระมหาปิ่น แทบจะหาอ่านไม่ได้เลย

ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่าน รวมทั้งผมเอง ก็คงอยากทราบประวัติและเรื่องราวของท่านใช่ไหมครับ?

ในหนังสือ “พุทฺธาจารปูชา” เล่มที่ผมกำลังคัดลอกอยู่นี้ได้เขียนถึง “เกร็ดประวัติ” ของหลวงปู่พระมหาปิ่น แทรกไปกับเรื่องราวการทำญัตติกรรมของสามเณรสิม วงศ์เข็มมา

อย่ากระนั้นเลย ผมก็ขอคัดลอกเกร็ดประวัติ ของหลวงปู่พระมหาปิ่น มาไว้ตรงนี้ด้วยก็น่าจะให้ประโยชน์น้อยสำหรับท่านที่สนใจ

ในหนังสือเขียนไว้ดังนี้ : -

สำหรับตัวท่านพระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล นั้น มีเกร็ดประวัติที่น่าสนใจ กล่าวคือ ตัวท่านเป็นน้องชายของท่านพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ซึ่งจัดว่าเป็นศิษย์องค์สำคัญ เปรียบได้กับมือขวาของท่านพระอาจารย์ใหญ่ คือ หลวงปู่มั่น ทีเดียว

แต่ด้วยความที่ตัวท่านพระอาจารย์มหาปิ่น เป็นพระนักปริยัติและเป็นพระนักเทศน์ด้วย

ท่านพระอาจารย์สิงห์ เห็นว่า พระน้องชายมุ่งแต่ปริยัติ มรรคผลมิได้เกิดมิได้มีขึ้นที่ใจเจ้าของ จะเสียทีกลายเป็น “เถนใบลานเปล่า “

ท่านจึงคิดหาหนทางทรมาน ปลูกฝังสัมมาทิฏฐิให้เกิดขึ้นแก่พระน้องชาย ทั้งด้วยการปรารภธรรมเป็นครั้งคราว และทั้งการสอนด้วยการปฏิบัติให้ดู จนเห็นว่าพระน้องชายคลายทิฏฐิมานะลง จึงได้ชวนไปภาวนาอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่น

ท่านอาจารย์พระมหาปิ่น นี้ เมื่อแรกมาก็ให้รู้สึกขัดเคืองใจด้วยถูกท่านพระอาจารย์มั่นตำหนิติติงไปเสียทุกเรื่อง จนรู้สึกอึดอัดและเสียหน้ามาก

ซึ่งเรื่องนี้ สำหรับผู้ที่คุ้นเคยกับปฏิปทาของพระป่าหรือพระกรรมฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายท่านพระอาจารย์มั่นด้วยแล้วย่อมทราบดีถึงความละเอียดลออ ทั้งทำข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ ด้วยความรวดเร็ว เรียบร้อย แต่ไร้เสียง

ทำให้พระอาจารย์พระมหาปิ่น แม้กลับมาที่กุฏิที่พักแล้วก็ตามก็ยังครุ่นคิดนินทาหลวงปู่มั่นอยู่ไม่แล้ว

ทันใดนั้น หลวงปู่มั่นก็เดินมาหยุดที่ด้านนอกกุฏิ แล้วเอาไม้เคาะฝากุฏิ พร้อมกับกล่าวว่า “เอ๊า ! ท่าน มัวแต่คิดตำหนิ ปรามาสครูอาจารย์อยู่นั่นแหละ “

ทำเอาท่านพระอาจารย์มหาปิ่นตกใจกลัวจนตัวสั่น

นับแต่นั้น จึงได้ยอมรับนับถือในตัวท่านพระอาจารย์มั่น และตัวพระพี่ชาย คือ ท่านพระอาจารย์สิงห์ เป็นอันมาก สามารถปรับทิฏฐิให้ตรง เพียรเจริญในอริยมรรค จนได้มาเป็นครูอาจารย์ที่พร้อมด้วยภูมิปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ ที่สำคัญองค์หนึ่ง

รวมทั้งได้ทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตรให้แก่หลวงปู่สิมในกาลต่อมาอีกด้วย

หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต

เจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล)

พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม

หลวงปู่พระมหาปิ่น ปญฺญาพโล

๑๑. ติดตามคณะหลวงปู่มั่นไปเมืองอุบลฯ

ผมขอเขียนย้อนหลังไปนิดหนึ่ง เพื่อให้เรื่องเชื่อมโยงกัน กล่าวคือ ในปี พ.ศ. ๒๔๖๙ หลังจากที่สามเณรสิม วงศ์เข็มมา เข้าญัตติเป็นธรรมยุตแล้ว ก็ได้ไปพักจำพรรษาที่วัดป่าบ้านข่า อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม (ในหนังสือไม่ได้บอกว่าท่านไปอยู่ปฏิบัติกับพระอาจารย์องค์ใด แต่ผมเข้าใจว่าท่านไปอยู่กับ หลวงปู่สิงห์ ขนตยาคโม ครับผม )

ส่วนท่านพระอาจารย์ใหญ่ คือ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ยังพักจำพรรษาอยู่ที่ วัดป่าบ้านสามผง อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม และบรรดาศิษย์ท่านอื่นๆ ก็แยกย้ายจำพรรษาในที่ต่างๆ กัน แถวจังหวัดสกลนคร นครพนม อุดรธานี และหนองคาย

ศิษย์สำคัญอีกองค์หนึ่ง คือ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ได้จำพรรษาที่ บ้านดอนแดงคอกช้าง อำเภอท่าอุเทน (ปัจจุบันอยู่ในอำเภอนาหว้า) จังหวัดนครพนม

พอออกพรรษาปี ๒๔๖๙ นั้นแล้ว หลวงปู่มั่นได้นัดพระลูกศิษย์ของท่านที่จำพรรษาในท้องที่แถบนั้นประมาณ ๗๐ รูปให้ไปประชุมพร้อมกันที่บ้านดอนแดงคอกช้าง สถานที่หลวงปู่ฝั้น อาจาโร หลวงปู่กู่ ธมฺมทินฺโน และหลวงปู่เกิ่ง อธิมุตฺตโก จำพรรษาอยู่

เมื่อพระภิกษุสามเณรศิษย์ของหลวงปู่มั่น มาพร้อมเพรียงกันแล้วก็ได้จัดประชุมที่ศาลาโรงฉัน

เรื่องที่หลวงปู่มั่นยกขึ้นมาพูดในที่ประชุมครั้งนั้น เบื้องแรกท่านได้ให้โอวาทตักเตือนสั่งสอนเพื่อให้ศิษย์มีกำลังใจ ท่านแสดงธรรมปลุกใจให้ลูกศิษย์ลุกขึ้นต่อสู้กับกิเลสที่ครอบงำจิตใจให้อ่อนแอ ให้ง่วงเหงาหาวนอน ขี้เกียจขี้คร้าน ฟุ้งซ่านเถลไถลไม่มีความอดทน พยายามบำเพ็ญเพียรภาวนา

ต่อจากนั้น หลวงปู่มั่นได้ปรารภในที่ประชุมว่า.

“...ในท้องที่ ๔-๕ จังหวัด คือ จังหวัดเลย สกลนคร อุดรธานี นครพนม หนองคาย พวกเราได้ออกเดินธุดงค์ทำความเพียรบำเพ็ญภาวนา วกไปเวียนมาอยู่ในภูเขาแถบนี้ก็เป็นเวลาหลายปีแล้ว ปีนี้พวกเราควรไปทางไหนกันดี

สำหรับผม จำต้องพาคุณโยมแม่ให้ไปอยู่กับพวกน้องสาวที่เมืองอุบลฯ เพราะท่านชราภาพมาก อายุ ๗๘ ปีแล้ว จะพาทุลักทุเลอยู่ดงอยู่ป่าคงจะไปไม่ไหว...”

หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม กับพระน้องชายคือ หลวงปู่พระมหาปิ่น ปญฺญาพโล ได้รับรองจะพาคุณโยมแม่ของหลวงปู่มั่น ไปส่งให้ถึงเมืองอุบลฯ แต่ต้องไปด้วยเกวียน จะให้ท่านเดินเท้าไปคงไม่ไหว เพราะท่านชราภาพมาก ไม่มีกำลังพอ

ที่ประชุมตกลงขอตามหลวงปู่มั่นลงไปเที่ยวธุดงคกรรมฐานแถบท้องที่จังหวัดอุบลราชธานีหมดด้วยกันทุกองค์ คือมีมติเป็นเอกฉันท์

หลังจากการประชุมสิ้นสุดลงแล้ว พระเณรก็แยกย้ายกันออกธุดงค์ไปเป็นหมู่ๆ ถ้าใครองค์ใดไปพบสถานที่เหมาะสมดีสบาย มีความสงัด จะพักอยู่ปฏิบัติฝึกหัดเพื่อให้ได้กำลังใจเพิ่มยิ่งๆ ขึ้นอีกก็อยู่ได้ แต่ให้มีจุดหมายไปพบกันที่เมืองอุบลฯ

ด้วยเหตุนี้ สามเณรสิม วงศ์เข็มมา จึงได้ออกธุดงค์ร่วมไปกับคณะกองทัพธรรมไปยังจังหวัดอุบลราชธานี

ในหนังสือ พุทฺธาจารปูชา บันทึกเหตุการณ์เพียงสั้นๆ ภายใต้หัวข้อ “ออกธุดงค์แต่ครั้งเป็นสามเณร” ว่า :-

ในปี พ ศ. ๒๔๗๐ สามเณรสิม ได้ร่วมขบวนธุดงค์ติดตามท่านพระอาจารย์มั่น จากจังหวัดนครพนม ไปยังจังหวัดอุบลราชธานี โดยเริ่มจากอำเภอท่าอุเทน ไปยังบ้านดอนแดงคอกช้าง กิ่งอำเภอนาหว้า ต่อไปยังบ้านเดียว บ้านหัววัว อำเภอกุดชุม ตามลำดับ จนกระทั่งถึงบ้านหนองขอน อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

และในปี พ.ศ. ๒๔๗๑ ท่านจึงย้ายมาจำพรรษาที่วัดป่าท่าวังหิน อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

เมื่อศึกษาข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ แล้ว ผมมั่นใจว่าสามเณรสิม ยังคงติดตามปฏิบัติอยู่กับ หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม และ หลวงปู่พระมหาปิ่น ปญฺญาพโล ครับผม

(จากซ้าย) หลวงปู่ฝั้น อาจาโร

หลวงปู่พระมหาปิ่น ปญฺญาพโล

และหลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม

สามแม่ทัพใหญ่แห่งกองทัพธรรม

๑๒. ติดตามพระอาจารย์ไปขอนแก่น

ในช่วงปี พ ศ. ๒๔๗๐-๒๔๗๑ สามเณรสิม วงศ์เข็มมา ได้ออกธุดงค์จากจังหวัดนครพนม ไปจังหวัดอุบลราชธานี และพักจำพรรษาที่วัดป่าท่าวังหิน อำเภอเมืองอุบลฯ กับพระอาจารย์ของท่าน คือ หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม และหลวงปู่พระมหาปิ่น ปญฺญาพโล ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

ในช่วงที่สามเณรสิมพำนักที่จังหวัดอุบลราชธานี ได้เกิดมีเหตุการณ์สำคัญในวงการพระป่าสายกรรมฐาน ๒ เหตุการณ์ที่ควรนำมากล่าว ณ ที่นี้

ความจริง ผมได้กล่าวถึงหลายครั้งแล้วในหนังสือบูรพาจารย์เล่มก่อนๆ โดยเฉพาะในเล่ม ๕ : หลวงปู่ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล และ เล่ม ๑๑ : หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ท่านที่ต้องการทบทวนเหตุการณ์เชิญย้อนกลับไปอ่านได้ครับ

เหตุการณ์สำคัญที่ว่านั้น เหตุการณ์แรก ได้แก่ความกระทบระทั่งกันของพระเถระผู้ใหญ่ คือ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสฺโส อ้วน) แม้จะเป็นพระในฝ่ายธรรมยุตด้วยกัน แต่สมเด็จฯ ท่านมาทางด้านปริยัติ คือการเรียนหนังสือ ท่านจึงไม่เห็นด้วยกับพระสายกรรมฐานที่หลีกเร้น ไปหลับหูหลับตาอยู่ตามป่าเขาห่างไกลจากผู้คน และทำตัวเป็นพระจรจัด ทำตัวห่างไกลจากความเจริญ

สมเด็จฯ ท่านมีคำสั่งให้ขับไล่พระกรรมฐานศิษย์ของหลวงปู่ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล และ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ให้ออกไปจากจังหวัดอุบลฯ ต่อมาภายหลังสมเด็จฯ ท่านคลายทิฏฐิ และเปลี่ยนมายอมรับพระป่า เห็นว่าการทำกรรมฐานภาวนาเป็นการเข้าถึงธรรมะตามวิธีการของพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง

สมเด็จฯ ท่านเปลี่ยนมาให้การสนับสนุนพระป่า อาศัยพระป่าเป็นกำลังสำคัญในการเผยแพร่ธรรมไปสู่ประชาชน และองค์ท่านเองก็มาฝึกนั่งสมาธิภาวนาอย่างจริงจังอีกด้วย

เป็นอันว่าเหตุการณ์กระทบกระทั่งกันก็จบลงเอยด้วยดี นี้ผมเล่าเฉพาะใจความเนื้อๆ เพียงย่อๆ เท่านั้นนะครับ

เหตุการณ์ที่สอง เป็นเรื่องของ ท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทตฺโต โดยตรง

เรื่องย่อมีว่า องค์หลวงปู่มั่น ท่านบรรลุพระอนาคามีตั้งแต่คราวบำเพ็ญเพียรที่ถ้ำสาริกา น้ำตกสาริกา จังหวัดนครนายก ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๕๖

ต่อจากนั้นท่านก็เดินทางกลับอิสาน ให้การฝึกฝนอบรมแก่ลูกศิษย์ลูกหาเป็นเวลาติดต่อกันนานถึง ๑๔ ปี จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๗๐ องค์ท่านก็ตระหนักว่าการบำเพ็ญเพียรของท่านยังไม่บรรลุถึงเป้าหมายสูงสุดที่ชาวพุทธตั้งไว้เป็นหลักชัย คือการบรรลุถึงพระอรหันต์ ผู้พิชิตกิเลสได้อย่างราบคาบ

หลวงปู่มั่น จึงได้สลัดภาระหนักที่ท่านรับมาตลอด ๑๔ ปี ปลีกองค์ออกจากบรรดาศิษย์ ออกเที่ยววิเวกแสวงหาโมกขธรรมตามลำพังองค์เดียว

ในปี ๒๔๗๐ หลวงปู่มั่นจึงได้มอบภาระในการบริหารและอบรมศิษย์ให้แก่ หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม ศิษย์อาวุโสสูงสุด แล้วองค์ท่านเดินทางเข้ากรุงเทพฯ พักจำพรรษาที่วัดปทุมวนาราม เขตปทุมวัน ๑ พรรษา

ต่อจากนั้นก็ได้ติดตาม พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) ไปบูรณะวัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่

หลวงปู่มั่นได้ปลีกวิเวกออกบำเพ็ญเพียรตามป่าเขาที่ห่างไกลผู้คนในเขตจังหวัดเชียงใหม่ ส่วนใหญ่อยู่ในเขตอำเภอเชียงดาว และอำเภอพร้าว และท่านบรรลุธรรมถึงเป้าหมายสูงสุดคือบรรลุพระอรหันต์ที่ถ้ำดอกคำ ตำบลน้ำแพร่ อำเภอพร้าว ตามความประสงค์ของท่าน

หลวงปู่มั่นเที่ยววิเวกอยู่ในเขตจังหวัดเชียงใหม่นานถึง ๑๒ ปี จนถึงกลางปี พ.ศ. ๒๔๘๒ คณะศิษย์ นำโดยท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) ได้เดินทางไปนิมนต์ให้หลวงปู่มั่น กลับไปโปรดลูกศิษย์ลูกหาทางภาคอิสาน

หลวงปู่มั่นอยู่โปรดลูกศิษย์ลูกหาทางภาคอีสานรวม ๑๐ ปี จนกระทั่งถึงมรณภาพในปี พ.ศ. ๒๔๙๒ ตามที่ท่านผู้อ่านคงทราบกันดีแล้ว

ที่ผมเขียนเหตุการณ์อย่างย่อชนิดยืดยาวนี้ เพื่อชี้ให้เห็นว่าช่วงปี พ.ศ. ๒๔๗๐-๒๔๗๑ ที่สามเณรสิม วงศ์เข็มมา พำนักอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งท่านก็ยังคงปฏิบัติติดตามพระอาจารย์ของท่าน คือ หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม และหลวงปู่พระมหาปิ่น ปญฺญาพโล

หลังออกพรรษาปี พ.ศ. ๒๔๗๑ หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม ได้เรียกประชุมพระเณรคณะกองทัพธรรม ศิษย์หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโตที่พำนักในจังหวัดอุบลฯ ประมาณ ๗๐ รูปมาประชุมกันที่ที่พักสงฆ์บ้านหัววัว (อำเภออำนาจเจริญ ในขณะนั้น)

สาระของการประชุมเป็นการร่วมปรึกษาหารือเกี่ยวกับการไปช่วยอบรมธรรมให้กับประชาชนในจังหวัดขอนแก่น

ที่ประชุมตกลงทันว่า “พวกเราควรออกเดินธุดงค์ไปเผยแพร่การประพฤติปฏิบัติธรรมแก่ประชาชนชาวจังหวัดขอนแก่น เพื่อช่วยท่านเจ้าคุณพระพิศาลอรัญเขต (จันทร์ เขมิโย) ซึ่งท่านได้ไปรับตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดขอนแก่น ฝ่ายธรรมยุต”

เมื่อตกลงถูกต้องพ้องกันแล้ว จึงได้แยกย้ายกันออกเดินธุดงค์ไปคนละทิศคนละทาง แต่ก็ได้นัดหมายให้ไปรวมกันที่จังหวัดขอนแก่น ก่อนเข้าพรรษาปี พ.ศ. ๒๔๗๒

จากการประชุมข้างต้น หลังออกพรรษาปี พ ศ ๒๔๗๑ แล้ว สามเณรสิมจึงได้ติดตาม หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม และคณะกองทัพธรรม ออกเดินธุดงค์โดยมีจุดหมายปลายทางที่จังหวัดขอนแก่น

เมื่อคณะพระกรรมฐาน กองทัพธรรม ได้เดินทางมาถึงจังหวัดขอนแก่นครบหมดทุกชุดแล้ว ก็มอบหมายให้แยกย้ายกันออกไปตั้งวัดป่าสายธรรมยุตตามหมู่บ้านที่มีสถานที่เป็นป่า มีความร่มเย็นสงบสงัด เพื่อมุ่งปฏิบัติธรรมบำเพ็ญภาวนาแสวงความวิเวก พร้อมกับเผยแพร่ธรรมสู่ประชาชน ให้เลิกนับถือภูตมีต่างๆ แล้วหันมาเข้าถึงพระไตรสรณาคมน์เป็นสรณะต่อไป

บรรดาพระกรรมฐานที่อาวุโสรองๆ ลงมา ได้แยกย้ายกันไปตั้งวัดในท้องที่ต่างๆ ของจังหวัดขอนแก่น ส่วน หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม กับ หลวงปู่พระมหาปิ่น ปญฺญาพโล ได้ก่อตั้งสำนักสงฆ์ที่ป่าช้าบ้านเหล่างา ในเมืองขอนแก่น ซึ่งต่อมากลายเป็น วัดป่าวิเวกธรรมวิทยาราม จนปัจจุบันนี้

สำนักสงฆ์ป่าช้าบ้านเหล่างา จึงเป็นเสมือนศูนย์บัญชาการของกองทัพธรรมในครั้งนั้น

และ...สามเณรสิม วงศ์เข็มมา ก็ติดตาม หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม มาพำนักที่สำนักสงฆ์ป่าช้าบ้านเหล่างา ตำบลพระลับ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ด้วยประการฉะนี้ครับ

พระญาณวิศิษฏสมิทธิวีราจารย์จารย์ (สิงห์ ขนฺตยาคโม)

เจ้าอาวาสองค์แรก วัดป่าสาลวัน

หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต

พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล