#echo banner="" ประมวลเหตุการณ์และภาพงานพระราชทานเพิงศพพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร 3

 ประมวลเหตุการณ์และภาพ

งานพระราชทานเพลิงศพพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ๓

วัดป่าอุดมสมพร อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร

จากหนังสือ ภาพ ชีวประวัติและปฏิปทาของ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร

ครั้นได้เวลาประมาณ ๑๔.๓๕ น.พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาเจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร ได้เสด็จ ฯ ถึงวัดป่าอุดมสมพร ปกติรถยนต์พระที่นั่งจะเข้าเทียบยังพลับพลาที่ประทับซึ่งจัดถวายไว้ข้างเมรุ แต่ทั้งสามพระองค์ได้โปรดเกล้าฯให้หยุดรถลงตรงปากทางเข้าด้านหน้าเมรุ แล้วเสด็จ ฯ โดยปราศจากลาดพระบาทไปตามทางเขา เพื่อให้ประชาชนที่แน่นขนัดอยู่สองข้างทางได้เฝ้ารับเสด็จอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นไปอีก นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้น

เมื่อเสด็จขึ้นประทับบนพลับพลาและได้เวลาอันสมควรแล้ว ทั้งสามพระองค์ได้เสด็จฯขึ้นสู่เมรุทรงทอดผ้าไตร พระสงฆ์ ๑๐ รูป บังสุกุล แล้วพระราชทานเพลิงศพ

ที่น่าประทับใจเป็นอย่างยิ่งก็คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงลดพระองค์ลงกราบศพพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร บนพระสุหนี่ปูลาดที่พื้นสนามหน้าจิตกาธาน ภาพประทับใจเช่นนี้บรรดาประชาชนที่เฝ้าอยู่นับแสนต่างก็สำนึกโดยทั่วกัน ว่ามีโอกาสพบเห็นได้ยากยิ่ง

เมื่อได้เวลาอันสมควร ทั้งสามพระองค์ได้เสด็จกลับตามทางเดิม ทรงปฏิสันถารต่อประชาชนที่เฝ้าอยู่สองข้างทางโดยมิได้ทรงถือพระองค์ จนกระทั่งเสด็จขึ้นประทับบนรถยนต์พระที่นั่งกลับออกไปจากวัด เพื่อประทับเครื่องบินพระที่นั่งกลับพระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ ที่เชียงใหม่

เมื่อเสด็จ ฯ กลับแล้ว บรรดาพระภิกษุสงฆ์และแม่ชีได้ขึ้นเผาตามลำดับสำหรับประชาชนนั้น เจ้าหน้าที่ได้อนุญาตให้ขึ้นเผาได้ โดยให้ขึ้นไปวางดอกไม้จันทน์บนถาดนอกลวดหนามกั้นชั้นในเท่านั้น ปรากฏว่าผู้คนหลั่งไหลขึ้นไปอย่างแน่นขนัด เจ้าหน้าที่เกรงว่าจะเกิดเหยียบกันถึงขนาดบาดเจ็บล้มตาย จึงจำต้องสกัดกั้นและห้ามขึ้นเผาบนเมรุ ทั้งๆ ที่ประชาชนได้ขึ้นไปเผากันไม่ทั่วถึง

๑๘.๐๐ น. เป็นเวลาเผาจริง ท่ามกลางฝูงชนนับหมื่นๆ ที่รายล้อมแสดงความอาลัยอยู่รอบๆ เมรุ จนกระทั่งเวลาประมาณ ๐๑.๐๐ น. ของวันใหม่ไฟจึงได้มอดลง

น่าสังเกตว่า ตลอดคืนนั้นได้มีการเฝ้าอัฐิพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร บนจิตกาธานอย่างเข้มแข็ง กล่าวคือนอกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจจะรายล้อมชั้นในไว้ชั้นหนึ่งแล้ว ยังมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายจังหวัดรายล้อมไว้อีกชั้นหนึ่งส่วนชั้นนอกซึ่งเป็นรอบๆ เมรุชั้นล่าง ประชาชนนับพัน ๆ ยังรายล้อมเฝ้าสังเกตการณ์อยู่ด้วยเป็นชั้นสุดท้าย ทั้งนี้เพราะอัฐิของพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เป็นยอดปรารถนาที่ทุกๆ ฝ่ายต่างก็อยากได้ไปกราบไหว้บูชาบรรยากาศรอบ ๆ เมรุในคืนนั้นจึงมีสภาพไม่ผิดอะไรกับการ “คุมเชิง”  ซึ่งกันและกัน

เช้าตรู่วันรุ่งขึ้น คือวันที่ ๒๒ มกราคม บนจิตกาธานยังมีควันกรุ่นอยู่ ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ อ.ส. ตลอดจนบรรดาประชาชนต่างก็ยังรายล้อมอยู่ในสภาพเดิม

พิธีสามหาบได้กระทำกันแต่เช้าพระภิกษุที่บังสุกุลในตอนนี้ได้แก่พระเทพบัณฑิต เจ้าคณะธรรมยุตภาค ๙ พระนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาจารย์ (เทสก์ เทสรังสี) และพระรัตนากรวิสุทธิ (ดูลย์ อตุโล) เจ้าคณะธรรมยุตจังหวัดสุรินทร์

หลังจากพิธีสามหาบเสร็จสิ้นลงแล้วก็ถึงวาระของการเก็บอัฐิ โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายจังหวัดและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตลอดจนพระสงฆ์บางรูป ได้ช่วยกันเก็บอัฐิบรรจุในเจดีย์หินอ่อน จากนั้นจึงเก็บอังคารบรรจุลงในหีบไม้มะค่าโมงลั่นกุญแจ แล้วอัญเชิญทั้งอัฐิและอังคารขึ้นรถนำไปไว้บนศาลาโรงธรรม ต่อมาทางวัดได้จัดเก็บไว้อย่างแข็งแรงในตู้เซฟที่วัดหามาถึง ๒ ใบ ที่กุฏิพระอาจารย์ฝั้น ในวัดป่าอุดมสมพร

เมื่อเชิญอัฐิและอังคารไปแล้ว ประ-ชาชนที่ขึ้นไปมุงสังเกตการณ์รอบๆ เมรุ ตั้งแต่เริ่มเก็บอัฐิ ได้พยายามขอร้องเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งรายล้อมอยู่ชั้นใน ให้ช่วยหยิบดอกไม้บ้าง หยวกกล้วยบ้าง หรืออะไรอื่นๆ ที่พอจะนำไปกราบไหว้บูชาได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้หยิบหยวกกล้วยส่งออกมาให้ท่อนหนึ่ง พอได้มาต่างก็ฉีกแบ่งกันคนละเล็กละน้อย นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง เกรงว่าจะเป็นการไม่เหมาะสม จึงสั่งระงับเสียโดยทันที แม้กระนั้นก็ยังมีผู้ส่งผ้าเช็ดหน้าบ้าง หมวกบ้างให้เจ้าหน้าที่ตำรวจช่วยนำไปซับน้ำตรงเชิงเมรุให้

๑๘.๐๐ น. เป็นเวลาเผาจริง

สำหรับหยวกกล้วยก็ดี ดอกไม้ที่ประดับเมรุก็ดี ฯลฯ เจ้าหน้าที่ได้จัดการรวบรวมเผาอีกครั้งหนึ่งในลำดับต่อนา เพื่อป้องกันมิให้เกิดการจลาจลในการแย่งชิงกันขึ้น

อัฐิของพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ทางจังหวัดและทางวัดป่าอุดมสมพร ได้ตกลงกันจะบรรจุไว้ในสถูป โดยจะสร้างสถูปขึ้นไว้บนพิพิธภัณฑ์พระอาจารย์ฝั้น ขณะนี้ทางคณะกรรมการฯ ได้ออกแบบพิพิธภัณฑ์และสถูปไว้เรียบร้อยแล้ว

ส่วนสถานที่ที่จะสร้างพิพิธภัณฑ์และสถูป ขณะบันทึกเรื่องนี้ยังมิได้ตกลงกันแน่นอนว่าจะสร้างขึ้นตรงไหน อาจบนเขาย่อม ๆ ซึ่งเป็นที่พระราชทานเพลิงศพ อาจเป็นสถานที่หนึ่งที่ใดในบริเวณวัดป่าอุดมสมพร และก็อาจจะขึ้นไปจัดสร้างบนถ้ำขาม อันเป็นสถานที่ซึ่งพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร พำนักภาวนาอยู่ในวาระสุดท้าย ก่อนละสังขารขันธ์ของท่านไปก็ได้