#echo banner="" ประวัติวัดถ้ำอภัยดำรงธรรม

ประวัติวัดถ้ำอภัยดำรงธรรม

http://www.watthamphuang.com/html/wat%20history.html

 

ประวัติการก่อสร้างวัดถ้ำอภัยดำรงธรรม

วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม เป็นวัดธรรมยุตินิกายฝ่ายวิปัสสนากรรมฐาน ตั้งอยู่ติดกับภูเขาในเขตท้องที่บ้านท่าวัด หมู่ที่ ๑ ตำบลปทุมวาปี อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร

ซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างพื้นที่ ๓ จังหวัดคือ สกลนคร – อุดรธานี และกาฬสินธุ์ ภูเขาลูกนี้มีชื่อว่า ภูผาเหล็ก อันเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาภูพาน

การสร้างวัดโดยสังเขปมีประวัติ ดังนี้ ในราวปี พ.ศ. ๒๕๐๔ ท่านพระอาจารย์วัน อุตฺตโม ได้นำพระภิกษุสามเณรจำนวน ๑๒ รูป ได้ทำการจำพรรษาอยู่ที่เชิงเขาภูผาเหล็ก ซึ่งมีถ้ำพอหลบหลีกฝนได้นิดหน่อยชาวบ้านท้องถิ่นเรียกว่า “ถ้ำพ่อคำพา” เห็นว่าถ้ำนี้เหมาะสมแก่การเจริญสมณธรรมของผู้รักความสงบ จึงได้ร่วมกับศิษยานุศิษย์สร้างวัดขึ้น พร้อมได้ร่วมกันพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นสถานที่บำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐานของพระภิกษุสามเณรที่แสวงธรรมมาจากที่ต่างๆ โดยหวังจะศึกษาอบรมข้อวัตรปฏิบัติกิจให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย ขณะที่ก่อสร้างแรกๆอยู่ห่างจากหมู่บ้านประมาณ ๔ กิโลเมตร ขณะนั้น บ้านท่าวัด บ้านถ้ำติ้วและบ้านทรายทองยังไม่ได้ตั้งหมู่บ้าน

ในกาลต่อมา มีภิกษุสามเณรเพิ่มขึ้นตามลำดับ จึงได้ก่อสร้างเสนาสนะเพิ่มขึ้น โดยสร้างเป็นกุฏิชั่วคราวเท่านั้น และได้ตั้งชื่อสำนักสงฆ์นี้ว่า “วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พร้อมได้รับการบูรณะบำรุงจากท่านที่มีศรัทธามาโดยตลอด เสนาสนะที่พักสงฆ์จึงมั่นคงถาวรมาตามลำดับพร้อมทั้งเป็นที่อยู่อาศัยของบรรดาสัตว์ป่านานาชนิด เมื่อพระสงฆ์เข้าไปปฏิบัติธรรม ปวงสัตว์ทั้งหลายก็ได้รับการอภัยไม่ต้องถูกรบกวนเหมือนแต่ก่อนมา

ต่อมาประมาณปี พ.ศ.๒๕๒๓ ท่านพระอาจารย์วัน ได้ถึงแก่มรณภาพลงด้วยอุบัติเหตุเครื่องบินตก ที่ตำบลคลองหลวง อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี รวมดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสประมาณ ๒๐ ปี จากนั้นเจ้าคณะจังหวัดสกลนคร (ธ) ได้แต่งตั้งพระอธิการหลอ นาถกโร ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสแทนตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

การขออนุญาตสร้างวัด

เมื่อสิ่งปลูกสร้างถาวรวัตถุมีความมั่นคงแข็งแรงและ พอเพียงต่อพระภิกษุสามเณร พร้อมญาติโยมผู้แสวงบุญเข้าไปพักผ่อนคลายในวัดด้วย จากนั้นทางวัด และคณะกรรมการหมู่บ้านจึงได้พิจารณาทำเรื่อง ขออนุญาตสร้างวัดให้ถูกต้องตามกฎกระทรวงศึกษาธิการ มีนายโฮม แสงลี บ้านปทุมวาปีเป็นผู้ร่วมยื่นเรื่องถึงกรมการศาสนา ด้วยความเห็นชอบของกระทรวงศึกษาธิการ และมหาเถระสมาคมแล้ว จึงได้รับหนังสือ อนุญาตให้สร้างวัด เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๒๖

เมื่อได้รับหนังสืออนุญาตให้สร้างวัดแล้ว นายโฮม แสงลี จึงได้ทำเรื่องยื่นขออนุญาตตั้งชื่อวัดในพระพุทธศาสนา

มีนามว่า วัดอภัยดำรงธรรม ซึ่งแปลตามความหมายว่า เป็นสถานที่ให้อภัย ให้แก่กันและกัน ทั้งสัตว์และที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นซึ่งได้รับการอภัยไม่มีการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน หรือจะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เป็นเขตอภัยทาน  ในที่สุดก็ได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงศึกษาธิการ และได้รับประกาศกระทรวงศึกษาธิการ ประกาศ ณ วันที่ ๒๒ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๘

รับพระราชทานวิสุงคามสีมา

เมื่อได้รับอนุญาตตั้งชื่อวัดแล้ว จึงได้ทำเรื่องขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมา ในที่สุด สำนักนายกรัฐมนตรีเห็นชอบ จึงได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีลง ณ วันที่ ๒๖ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๔

ประวัติวัดถ้ำพวง

ประวัติถ้ำพวงนี้ได้รวบรวมจากหนังสือประวัติของครูบาอาจารย์ และจากคำบอกเล่าของคนในพื้นที่ที่ยังมีชีวิตอยู่ขณะที่รวบรวมประวัติในปีพ.ศ.๒๕๔๔ คงไม่สมบูรณ์ ๑๐๐% แต่ก็ยังดีกว่าที่จะไม่บันทึกเอาไว้เสียเลย ทั้งนี้เพื่อคนรุ่นใหม่จะได้ศึกษาและอ้างอิงต่อไป ดังนี้

จากหนังสือประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระซึ่งได้เรียบเรียงโดยท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน วัดป่าบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี พิมพ์ พ.ศ.๒๕๑๔ หน้า ๕๙-๖๐ ว่า

พระอาจารย์มั่นกลับไปภาคอีสานเที่ยวที่สองนี้ ทำให้ผู้คน พระเณร ตื่นเต้นกระตือรือร้นกันทั้งภาค เพราะท่านเที่ยวจาริกและอบรมสั่งสอนในที่ต่าง ๆ เกือบทุกจังหวัด จังหวัดที่มีป่าเขามากท่านชอบพักอยู่นานเพื่อการบำเพ็ญเป็นแห่ง ๆ ไป เช่นทางทิศใต้และทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัดสกลนครมีป่ามีเขามาก ท่านพักจำพรรษาในแถบนั้นคือ จำพรรษาที่หมู่บ้านโพนสวาง อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร แถบนั้นมีแต่ป่าแต่เขา พระธุดงค์จึงมีประจำมิได้ขาดตลอดมาจนทุกวันนี้ (บ้านโพนสวาง อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร ในปัจจุบัน)

ในช่วงที่ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระมาจำพรรษาที่หมู่บ้านโพนสวาง ตามประวัติไม่ได้บันทึกปี พ.ศ.ไว้แต่ก็ยังมีผู้ที่เคยได้ทำบุญตักบาตรท่านพระอาจารย์มั่นที่ยังมีชีวิตอยู่ในปีที่รวบรวมประวัติถ้ำพวง (พ.ศ. ๒๕๔๔) คือยายคำมา ตาระบัติ อายุประมาณ ๙๓-๙๔ ปี ท่านได้เล่าว่า ปีที่ท่านพระอาจารย์มั่นจำพรรษาที่บ้านโพนสวางนั้น ท่านอายุได้ ๗-๘ ปี ได้ทำบุญตักบาตรและตักน้ำถวายท่านพระอาจารย์มั่นประจำ ท่านเป็นบุตรสาวขุนประจักษ์จิตตราษฎร์ (อ่อนสี แสงลี) ผู้ใหญ่บ้านบ้านโพนสวางขณะนั้น และท่านพระอาจารย์มั่นคงถือโอกาสในปีนั้น ขึ้นปฏิบัติธรรม ณ ถ้ำพวง เพราะระยะทางจากหมู่บ้านโพนสวางถึงถ้ำพวง ห่างกันประมาณ ๑๐ กิโลเมตรเศษ องค์ท่านได้แนะนำลูกศิษย์ให้ขึ้นปฏิบัติธรรมที่ถ้ำพวงสืบต่อกันมาจนทุกวันนี้ ดังนี้ (ผู้รวบรวมประวัติถ้ำพวง)

พ.ศ.๒๔๖๗ พระราชนิโรธรังสีคัมภีร์ปัญญาจารย์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี) ได้บันทึกในหนังสืออัตโนประวัติของท่าน (พิมพ์ครั้งที่ ๕ พ.ศ.๒๕๒๑ หน้า ๓๖-๓๙)

ที่ถ้ำพวงนี้ ตามประวัติที่เล่ากันมา ท่านพระอาจารย์มั่นเล่าให้ฟังว่า ที่ถ้ำเล็ก ๆ แห่งหนึ่งอยู่ทางทิศตะวันออก ห่างจากถ้ำพวงไปไม่เกิน ๑๐ เมตร เคยมีพระอรหันต์องค์หนึ่งชื่อพระนรสีห์มานิพพานที่นั่น ตามประวัติว่าท่านพระอาจารย์มั่นเคยมาวิเวกที่นี่ จะเข้าใกล้ถ้ำนั้น ห่างประมาณ ๑๒ ศอก ท่านจะต้องให้ทุกคนถอดรองเท้า เพื่อแสดงความคารวะสถานที่ และแม้องค์ท่านเองก็ปฏิบัติเช่นนั้นอย่างเคร่งครัดเช่นเดียวกัน ท่านสอนให้ลูกศิษย์ทุกคนให้กราบไหว้ เพราะเป็นถ้ำที่สำคัญ.....

และบริเวณถ้ำพวงนี้ แต่ก่อนมีช่องหนึ่งลึกลงไปใต้เขาเป็นช่องใหญ่และลึกมาก อยู่ไม่ไกลจากถ้ำพวง ท่านพระอาจารย์สิงห์ได้ไปวิเวกและพบว่า ข้างล่างนั้นเป็นถ้ำที่พญานาคอาศัยอยู่ ท่านว่ามันมาพ่นพิษใส่ท่าน ท่านจึงเอาก้อนหินมาปิดทางช่องนั้นไว้แน่น แต่ตอนหลังนี้ ไม่ทราบว่าอยู่ตรงจุดไหนเพราะราบเรียบกันไปหมด

ในขณะที่จำพรรษาอยู่ที่ถ้ำพวงนี้ ชอบมีนิมิตแปลก ๆ เกิดขึ้น ข้าพเจ้าจะเล่าไว้ เพื่อให้ผู้ฟังถือเป็นคติต่อไป คือ ขณะที่ทำความเพียรภาวนา บางครั้งเมื่อจิตมันสงบคือมันจะรวม แต่ก่อนมันจะรวมขาดจากอารมณ์ อยู่ในขณะที่จะรวมแหล่มิรวมแหล่ บางทีได้ยินเสียงเขาลำเขาร้อง ซึ่งพอจะจำเสียงเพลงที่ร้องเอื้อนอย่างไพเราะได้...

"โอ้...ละ...หนอ...หวายสะนอย ก็แม่นหนองดีบุก" อันที่จริงหวายสะนอยเป็นแร่ดีบุกอยู่นั่นเอง

และบางครั้งได้ยินเสียงแตรเสียงสังข์ที่เป็นทิพย์ ในขณะจิตจะรวมแหล่มิรวมแหล่ หรือในขณะกึ่งกลางการรวมหรือการไม่รวม ข้าพเจ้าได้กำหนดจิตฟังตามเสียงนั้น เพราะเสียงนั้นไพเราะเสนาะ จริง ๆ

...เมื่อจิตถอนจากการรวมก็มีสติตามเสียงนั้นอยู่ว่าเป็นเสียงอะไรแน่...ปรากฏว่าเป็นเสียงน้ำที่ตกจากหิน และเสียงลมพัดใบไม้กระทบกันต่างหาก จึงได้อุบายมาพิจารณาว่า เมื่อจิตละเอียดลงไป ถ้าเราไม่มีสติ กระทบเสียงอะไร เสียงนั้นก็กลายเป็นเสียงวิจิตรพิสดารขึ้นไปเป็นเสียงทิพย์ไป....

ระหว่างปี พ.ศ.๒๔๙๔-๒๕๐๒ ได้มีครูบาอาจารย์มาจำพรรษาปฏิบัติธรรม ณ ถ้ำพวงตลอด แต่ไม่มีการบันทึก เช่น พระอาจารย์สีลา เทวมิตฺโต เจ้าอาวาสวัดโชติการาม ท่านได้ขึ้นไปวิเวกและปฏิบัติธรรมบนถ้ำพวงในปีพ.ศ. ๒๕๐๒ จนกระทั่งท่านอาพาธ จึงได้ลงไปพักรักษาตัวที่วัดโชติการาม บ้านปทุมวาปี และได้มรณภาพในวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๐๒ นั่นเอง

พ.ศ.๒๕๐๔ พระอุดมสังวรวิสุทธิเถร (พระอาจารย์วัน อุตฺตโม) ได้มาปฏิบัติธรรมและจำพรรษา ณ บริเวณเหล่าส้างแก้ว เชิงเขาภูเหล็ก และได้พัฒนาเป็น วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม ในปัจจุบัน ซึ่งอยู่ห่างจากถ้ำพวงประมาณ ๑.๕ ก.ม.

พ.ศ.๒๕๑๔ พระอุดมสังวรวิสุทธิเถร (พระอาจารย์วัน อุตฺตโม) ได้เป็นผู้นำประชาชน ที่มีความเลื่อมใสศรัทธาในจริยาวัตรองค์ท่าน พัฒนาถนนขึ้นไปยังบริเวณถ้ำพวงจนสำเร็จและได้สร้างพระพุทธรูป ปางนาคปรกเป็นพระประธานองค์ใหญ่ตั้งตระหง่านบนถ้ำพวง นามว่า “พระมงคลมุจลินท์”

ดังบันทึกตอนหนึ่งในหนังสือประวัติ พระอุดมสังวรวิสุทธิเถร พิมพ์ พ.ศ.๒๕๒๔

วันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ ได้เสด็จพระราชดำเนิน เพื่อทรงเยี่ยมและนมัสการ พระอุดมสังวรวิสุทธิเถร (พระอาจารย์วัน อุตฺตโม) เป็นการส่วนพระองค์ที่ถ้ำพวง และพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างศาลาพระราชทานและกุฎี บนถ้ำพวงด้วย

วันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๓๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถได้เสด็จพระราชดำเนินมาถ้ำพวง เพื่อทรงเปิดเจดีย์พิพิธภัณฑ์อัฐบริขารพระอุดมสังวรวิสุทธิเถร (พระอาจารย์วัน อุตฺตโม)

วัดถ้ำพวง ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่รอยต่อ ๓ จังหวัด คือ จังหวัดสกลนคร – จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดกาฬสินธุ์ บนเทือกเขาภูพาน ซึ่งเชื่อมต่อจากจังหวัดสกลนคร ที่มีนามตามชาวบ้านท้องถิ่นเรียกว่า “ภูผาเหล็ก” คงจะมาจากความหมายที่ว่าบริเวณพื้นที่ถ้ำพวงนั้นมีแร่เหล็กเป็นจำนวนมาก ถ้าหากพวกเราเอาแม่เหล็กวางลงพื้นดิน จะมีหินเล็ก ติดขึ้นมาเป็นพวง จะกล่าวย้อนหลังไปประมาณ ๗๐ - ๘๐ ปี บริเวณพื้นที่วัดถ้ำพวง ที่ชาวบ้านเรียกว่าถ้ำพวงนั้น คงจะอาศัยถ้ำเล็กๆ ซึ่งมีลักษณะเหมือนอย่างพวงเกวียนหรือกระทูลเกวียน ชาวบ้านเลยพากันเรียกถ้ำพวง เลยเรียกติดปากกันมาจนถึงทุกวันนี้

พื้นที่ถ้ำพวง ตั้งอยู่บนยอดเขาสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๒,๐๐๐ ฟุต มีหน้าผาล้อมรอบ สูงชันตระการตา น่าสะพรึงกลัว มีทางขึ้นทางเดียว คือ ทางที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน พื้นที่ค่อนข้างราบเรียบและสูงชันตามสภาพของภูเขา พูดถึงสมัยก่อนแล้วจะอยู่ห่างจากหมู่บ้านประมาณ ๑๐ กิโลเมตร ซึ่งต้องถือว่าอยู่ห่างไกลหมู่บ้านพอสมควร เพราะผู้คนสมัยนั้นไม่ค่อยมีผู้ใดสัญจรไปถึงได้ง่ายๆ เพราะเป็นป่าดงพงไพร เต็มไปด้วยแมกไม้นานาพรรณ เป็นต้นว่า ต้นตะเคียน ไม้ประดู่ ไม้เต็ง ไม้รัง มีต้นไม้ขนาดใหญ่ เป็นป่าทึบ มีเถาวัลย์ขึ้นหนาแน่น มองแทบไม่เห็นท้องฟ้า จึงเป็นที่อยู่อาศัยของบรรดาสัตว์ทั้งหลาย เช่น ช้าง  เสือ หมูป่า  กวางเก้ง   กระต่าย  นกยูง และสัตว์เลื้อยคลาน มีงูเหลือมเป็นต้น

ต่อมามีผู้คนหนาแน่นขึ้น พากันตัดไม้ทำลายป่าความอุดมสมบูรณ์ของป่าก็ลดน้อยถอยลงหมดไป โดยเฉพาะการทำไร่เลื่อนลอย เมื่อเป็นอย่างนี้บรรดาสัตว์ทั้งหลาย ที่เป็นสัตว์ใหญ่ๆ และสัตว์เล็กก็พากันหนีไปหาที่ปลอดภัยของมัน อีกอย่าง ทางด้านศัตราวุธที่จะล่าสัตว์ก็ทันสมัยมาก ก็ยิ่งเป็นการบั่นทอนชีวิตของสัตว์มากขึ้น พอพระภิกษุเข้าไปพักพิงและกลายเป็นวัดที่ถาวรมั่งคง ก็เลยเป็นที่พักพิงของสัตว์ทั้งหลาย ผู้คนไม่กล้าเข้าไปทำร้ายสัตว์เหล่านั้น พอได้มีโอกาสขยายพันธุ์แพร่พันธุ์ได้บ้าง ตลอดถึงการตัดไม้ทำลายป่าหรือทำไร่เลื่อนลอยแทบจะไม่มี เพราะชุมชนถิ่นนั้นเป็นผู้เข้าใจ และเชื่อฟังพระเจ้าพระสงฆ์ นอกจากนั้นยังให้การช่วยเหลือเกี่ยวกับการปลูกป่าและอนุรักษ์ป่า ร่วมกับทางวัดอีกด้วย ปีหนึ่ง ๆ มีการปลูกป่าถาวรเพิ่มเติมปีละหลายหมื่นต้น นอกจากป่าแล้วยังรักษาต้นน้ำลำธารและระบบนิเวศวิทยาต่าง ๆ ให้คงอยู่ในสภาพเดิมเอาไว้ ไม่ให้ทำลายเปลี่ยนแปลง เพราะถือว่าเหล่านั้นเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของมนุษย์

ฉะนั้น จึงขอนำท่านย้อนกลับไปสู่อดีตอีกครั้ง

เบื้องต้น ได้กล่าวถึงป่าและสัตว์ป่าแล้ว

บัดนี้ จึงขอกล่าวถึงเรื่องน้ำบ้าง คำว่า “น้ำ” มีความจำเป็นต่อสิ่งมีชีวิตจิตใจของทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าแต่มนุษย์ แม้กระทั่งสัตว์ป่า หรือสัตว์ตามบ้าน ก็ยังมีความจำเป็นต้องการน้ำไม่แพ้มนุษย์เลย ตลอดจนถึงต้นไม้เถาวัลย์ ดังนั้นบริเวณพื้นที่ถ้ำพวงภูผาเหล็กนี้ รู้สึกว่ามีตาน้ำไหลออกมาตามหน้าผา และถ้ำอยู่มาก จึงเป็นสาเหตุทำให้พื้นที่มีความชุ่มชื่นอุดมสมบูรณ์ และเป็นน้ำที่มีรสจืดสนิทดี ไม่มีฤทธิ์เป็นกรด หรือด่าง ไม่มีหินปูน เป็นน้ำที่ซึมซาบออกจากก้อนหินใหญ่ หรือดานหิน ซึ่งดูดซึมซับเอาไว้ตั้งแต่เมื่อเวลาฝนตก ดังนั้น เมื่อน้ำไหลออกมาก็เท่ากับว่าเป็นน้ำฝน รสของน้ำจืดสนิทดี ไม่มีโทษต่อผู้บริโภคอุปโภค

ตัวอย่าง เช่น น้ำโจก ซึ่งเป็นน้ำไหลตลอดทั้งวันทั้งคืนทั้งเดือนทั้งปี ไหลอยู่อย่างนี้ไม่รู้กี่ภพกี่ชาติแล้ว แต่ก่อนชาวบ้านยังไม่ได้ต่อท่อเอาไปใช้น่าเสียดายจริง ปล่อยให้ไหลทิ้งไปเฉยๆ ปัจจุบันนี้ ชาวบ้านมาต่อท่อเอาไปใช้ เลยได้ประโยชน์มาก ยิ่งเดี๋ยวนี้ได้รับการปรับปรุง ซึ่งเริ่มตั้งแต่หลวงพ่อพระอาจารย์ใหญ่ (วัน) จนถึงปัจจุบัน ความอุดมสมบูรณ์ของน้ำยิ่งอุดมสมบูรณ์ขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อกล่าวถึงเรื่องน้ำแล้ว ยังมีอีกที่จะลืมไม่ได้เลยก็คือ "อากาศ" ความจริงอากาศมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าน้ำเลย ประกอบด้วยพื้นที่ถ้ำพวงอยู่บนหลังเขา สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๒,๐๐๐ ฟุต เรียกได้ว่ามีความสูงพอสมควร ก็ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้อากาศพัดผ่านไปมาได้เป็นอย่างดี คือไม่ร้อนอบอ้าวเหมือนพื้นที่ราบ ยิ่งเดือนมีนาคม-เมษายน ที่ถือว่าอากาศกำลังร้อนอบอ้าว แต่บริเวณพื้นที่ถ้ำพวงอากาศเย็นสบายกายหายกังวล แต่เสียอยู่อย่างเดียว คือ ในฤดูหนาวจะเสียเปรียบอยู่บ้าง เพราะฤดูหนาวลมพัดแรงมาก เวลาลมไม่พัดแรงก็ไม่หนาวเท่าไร

พูดถึงตอนอยู่ถ้ำพวงใหม่ๆ กุฏิวิหารยังไม่ถาวร ตอนนั้นหลังคามุงด้วยหญ้าแฝกอยู่ ถึงฤดูหนาว พระเณรจำต้องไปหลบลมหนาวในห้องน้ำ เพราะห้องน้ำก่ออิฐถือปูนพอที่จะเก็บความอบอุ่นหลบลมหนาวเอาไว้ได้บ้าง เมื่อทุกอย่างเอื้ออำนวยอย่างนี้ก็ถือว่าเทพบันดาล หรือธรรมชาติบันดาลก็คงไม่ผิด ประกอบกับความวิเวกวังเวงเงียบสงัดปราศจากเสียงผู้คนทั้งหลาย จะมีก็แต่เสียงธรรมชาติ เป็นต้นว่า เสียงเรไร เสียงสัตว์ป่า เก้ง กวาง เสียงเสือโคร่งร้องคำราม เสียงนกยูงร้องเวลารำแพน ถึงฤดูฝนตกใหม่ๆ สัตว์ต่างตัวต่างประเภทต่างพากันออกหากินตามธรรมชาติของมัน

แม้กระทั่งช่วงที่ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ยังเป็นพระใหม่พึ่งบวชได้ ๓ พรรษาท่านได้มาปฏิบัติธรรมที่นี่ ท่านว่ามีช้างป่ามาอยู่ หลวงตารูปหนึ่งได้มาปฏิบัติกรรมฐานที่ถ้ำพวงกับเด็ก ตัวเองวิ่งหนีขึ้นไปหลังถ้ำ ปล่อยให้เด็กนอนหลับอยู่ใต้ถ้ำคนเดียว พอหลวงปู่พูดมาถึงตรงนี้ ท่านหัวเราะขำๆ

ก็ด้วยเหตุดังนี้เอง พื้นที่ถ้ำพวงจึงมีครูบาอาจารย์หลายท่านหลายองค์ ผ่านเข้ามาบำเพ็ญภาวนาหลายสมัย ตั้งแต่ดึกดำบรรพ์จนถึงปัจจุบันไม่เคยขาด ดังได้ยินจากปากครูบาอาจารย์เล่าต่อกันมาว่า มีพระอรหันต์มานิพพานอยู่ที่ถ้ำพวงนี้องค์หนึ่ง ซึ่งมีชื่อว่า พระนรสี ดังหลวงปู่มั่นได้บอกลูกศิษย์ลูกหาไว้ว่า ผ่านเข้าไปบริเวณพื้นที่ถ้ำพวงห่างประมาณหนึ่งเส้น ท่านบอกให้ลูกศิษย์ถอดรองเท้า ถอดหมวก เพื่อเป็นการคารวะเคารพสถานที่ แต่ก็ไม่ปรากฏเด่นชัดว่าเป็นยุคใดสมัยใด

สำหรับครูบาอาจารย์ที่มาปฏิบัติธรรมเท่าที่รู้ ได้แก่ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต หลวงปู่พระอาจารย์สิงห์ใหญ่ ท่านพระอาจารย์มหาปิ่น ซึ่งเป็นน้องชายของท่านหลวงปู่สิงห์ใหญ่ ทั้งสององค์ถือว่าเป็นลูกศิษย์รุ่นใหญ่ของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต รองลงมาก็หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี หลวงปู่ฝั้น อาจาโร หลวงปู่ขาว อนาลโย ท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฏฺโฐ แล้วต่อมายังมีพระอาจารย์สีลา เทวมิตฺโต ซึ่งถือว่าเป็นผู้ให้กำเนิดอยู่ในถิ่นนี้ด้วย ท่านได้มรณภาพเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๒ นี้เองทั้งหลายท่านเหล่านี้ ล้วนแต่เป็นครูบาอาจารย์องค์สำคัญๆ ทั้งสิ้น ก็คงเป็นเพราะสาเหตุอันนี้เองท่านหลวงพ่อพระอาจารย์ใหญ่ “วัน อุตฺตโม” ของเราจึงได้คิดริเริ่มให้เป็นวัด เพราะถือว่าเป็นการสืบสานเจตนารมย์ของครูบาอาจารย์ทั้งหลายที่ได้ผ่านมา

หลังจากท่านพระอาจารย์สีลาองค์สุดท้ายได้มรณภาพลงเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๒ ท่านหลวงพ่อพระอาจารย์ใหญ่ “วัน อุตฺตโม” ของเราก็ได้พาลูกศิษย์จัดงานฌาปนกิจศพของท่านพระอาจารย์สีลา เทวมิตโต ที่วัดโชติการาม บ้านปทุมวาปี ตำบลส่องดาว อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร (ในขณะนั้น) พองานศพเสร็จแล้ว หลวงพ่อพระอาจารย์ใหญ่ “วัน อุตตฺโม” ก็ได้มาพักอยู่ที่หวายสะนอย (คือวัดถ้ำอภัยดำรงธรรมในปัจจุบันนี้) ซึ่งเป็นที่พักสมัยหลวงปู่ขาว อนาลโย มาจำพรรษา หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ถ้ำพ่อคำพา คือพ่อคำพาได้มานอนทำไร่อยู่ตรงนั้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ นั้นเอง และริเริ่มก่อตั้งวัดอภัยดำรงธรรม ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ต่อมา ปี พ.ศ. ๒๕๑๔ หลวงพ่อพระอาจารย์ใหญ่ “วัน อุตฺตโม” ได้ดำริอยากจะพัฒนาถ้ำพวงให้เป็นศูนย์รวมทำบุญของประชาชนในพื้นที่ ส่องดาว และพื้นที่ใกล้เคียง จึงได้พาญาติโยมใกล้ ไกล ทำถนนจากวัดถ้ำอภัยดำรงธรรมขึ้นไปบนถ้ำพวงโดยใช้กำลังคนทั้งหมด ทำอยู่ประมาณ ๓ เดือนจึงแล้วเสร็จ

เครื่องมือที่ใช้ก็มีจอบ - อีเตอร์ – อีปิก – ฆ้อนแปดปอนด์ และ ฯลฯ อีกมาก โดยมีผู้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีมาก ในวันหนึ่ง ๆ จะมีคนมาช่วยงาน ๑๐๐ คน ๓๐๐ คน ๕๐๐ - ๑,๐๐๐ - ๓,๐๐๐ - ๕,๐๐๐ คน ก็มี แม้แต่ชาวอำเภอสว่างแดนดิน อำเภอพังโคน อำเภอวาริชภูมิ ต่างก็มุ่งหน้ามาช่วยกันทำงานเป็นอย่างดี ใช้เวลาทำประมาณ ๓ เดือนก็ถึงถ้ำพวงพอดี

ระยะทางในการทำถนน ตั้งแต่วัดถ้ำอภัยดำรงธรรมจนถึงวัดถ้ำพวง คิดเป็นระยะทางประมาณ ๕ กิโลเมตรกว่า ๆ

หลังจากทำถนนเสร็จเรียบร้อย มีผู้ให้การสนับสนุนที่สำคัญอีกท่านหนึ่งคือ นายช่างชัยพร เชนวิรัตนพิธ ผู้ช่วยนายช่างโครงการชลประทานน้ำอูนในสมัยนั้น เป็นผู้นำเครื่องจักรกลมาลงลูกรังเพิ่มเติม จนทำให้ถนนอยู่ในขั้นที่สมบูรณ์ ตลอดถึงปรับปรุงภายในบริเวณถ้ำพวง เช่น สระมุจลินท์ สระอินทจักร สระเทพาพิทักษ์ ตลอดถึงสิ่งก่อสร้างคือ หลังคาวิหารพระมงคลมุจลินท์ และศาลาพระราชทาน ล้วนแต่เป็นผลงานของ ท่านนายช่างชัยพรและลูกน้อง ที่ให้ความร่วมมือช่วยพัฒนามาโดยตลอด