#echo banner="" อัตโนประวัติ พระอาจารย์วัน อุตฺตโม 01

อัตโนประวัติ ๐๑

พระอุดมสังวรวิสุทธิเถร (พระอาจารย์วัน อุตฺโม)

จากหนังสือ อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ

พระอุดมสังวรวิสุทธิเถร (พระอาจารย์วัน อุตฺตโม)

วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม จังหวัดสกลนคร

วันที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๔

ต่อไปนั้น ขอกล่าวแถลงถึงมูลเหตุความเป็นมาแห่งวงศ์ตระกูลเสียก่อน ดังนี้ คือ ตาลโกน ตำบลตาลเนิ้ง อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร อันเป็นมาตุภูมิบ้านเกิดของข้าพเจ้า เมื่อสมัยก่อนประมาณ ๑๐๐ ปีมาแล้ว ภูมิอากาศในถิ่นนี้เป็นป่าช้างดงเสือ มีต้นไม้นานาพันธุ์ เช่น ตะเคียน ประดู่ แดง ยาง เต็ง รัง พะยอม ตะแบก ข่าแต้ เป็นต้น และเครือเขาเถาวัลย์นานาชนิด มีห้วย หนอง บึง บาง อยู่ตามราวป่าทั่ว ๆ ไป มีสัตว์สาลาสิงห์นานาชนิด ปู ปลา อาหาร นก หนู ปูปีก มีเกลื่อนกลาดดาษดื่นดกหนา หาพบได้ตามต้องการ อุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร ฟ้าฝนตกต้องตามฤดูกาล ไม่เคยรู้ความแห้งแล้ง การเพาะปลูกทำน้อย ได้รับผลมาก การคมนาคมไม่มี แม้การประกอบกสิกรรมก็ทำเพียงเพื่อให้พออยู่พอกินเท่านั้น เพราะไม่มีแหล่งขาย ถือการแบ่งปันกันกินและแบ่งกันใช้ ญาติพี่น้องเพื่อนบ้านมิตรสหายและแขกเหรื่อที่สัญจรไปมา ไม่มีการซื้อขายเรื่องอาหารการกิน การพัก การลัก การปล้น ฉก ชิง วิ่งราว ยื้อแย่ง เอาสิ่งของกันไม่มี แม้บางคนไม่มีเงินทอง ก็ไม่ต้องเดือดร้อน อยู่กันอย่างผาสุกสบาย

เพราะฉะนั้น ประชาชนพลเมืองที่อาศัยอยู่ในภูมิประเทศดังกล่าวนั้น จึงติดเป็นนิสัยสันดานในความเป็นอยู่ผาสุกสบาย จนแก้ไม่ตก จนถึงปัจจุบันนี้ เลยเกิดเป็นคนล้าสมัย ทำมาหากินไม่เทียมทันกับความวิวัฒนาการของโลก

เพราะการเพาะปลูกง่าย จึงติดเป็นนิสัยขี้เกียจอ่อนแอ เพราะขอกันกินกันใช้ได้ จึงติดนิสัยเป็นคนประกอบการพาณิชยกรรมไม่เป็น

เพราะทำอะไรง่าย ๆ ไม่ยากลำบาก จึงติดนิสัยเป็นคนโง่ ไม่มีหัวคิดปัญญา

เพราะงานในหน้าที่ ไม่เคยทำด้วยความรีบร้อน จึงติดเป็นนิสัยเป็นคนเซื่องซึมเซ่อซ่า ไม่คล่องแคล่วว่องไว

เพราะไม่เคยมีโจรขโมย จึงติดนิสัยเป็นคนไม่มีระเบียบในการเก็บงำสิ่งของ

เพราะไม่เคยมีผู้คดโกงฉ้อฉลเอารัดเอาเปรียบกัน จึงติดนิสัยเป็นคนซื่อ หาความรอบคอบมิได้

เพราะไม่เคยถูกรังแกข่มเหง จึงติดนิสัยเป็นคนขี้ขลาด ไม่องอาจกล้าหาญชาญชัย

เพราะการคมนาคมไม่สะดวก จึงติดนิสัยเป็นคนอ่อนสังคม ต้อนรับขับสู้ไม่เป็น

เพราะเคยกลัวช้างเสือในเวลาค่ำคืน จึงติดนิสัยเป็นคนนอนตื่นสาย

เพราะเคยถือเป็นกันเอง จึงติดนิสัยเป็นคนไม่รู้จักรักษาเกียรติและการให้เกียรติ

เพราะไม่เคยถือสาหาเรื่องกันในการพูดการจาและการทำการออกความคิดเห็น จึงติดเป็นนิสัยเป็นคนทำอะไรไม่รู้จักรักษากิริยามารยาท พูดไม่ค่อยรู้จักคำพูดและน้ำเสียงที่หยาบ ที่ละเอียด คำที่ควรหรือไม่ และคำต่ำหรือคำสูง และไม่สันทัดต่อการออกความคิดเห็น

เพราะไม่มีแหล่งสถาบันการศึกษาสูงในทางโลก และไม่ค่อยมีโอกาสได้ไปศึกษาตามสถาบันเท่าที่ควร จึงติดนิสัยเป็นคนไม่กระตือรือร้นต่อการศึกษา หรือบางบุคคลที่เผอิญได้ไปรับการศึกษาจนได้รับวุฒิบัตร จึงทำให้ตื่นความรู้ของตน เกิดความทะนงตนขึ้น เย่อหยิ่งจองหอง มองคนอื่นต่ำต้อยน้อยหน้ากว่าตน ถึงกินปลาร้าและไล่หมาไม่เป็น จึงมีคำติดปากอยู่ว่า “ว่าลืมพ่อ เรียกพ่อตนเองว่า ลุง”

เพราะไม่เคยมีแหล่งการค้า ไม่เคยเข้าสังคมที่มีเกียรติ จึงติดนิสัยเป็นคนงงงวย เก้อเขิน ขี้อาย ขี้กลัว หรือบางคนที่เผอิญมีโอกาสได้ไปผ่านความเจริญมาแล้ว ชักจะเห่อเหิมหลงใหลลืมตนที่เรียกว่า “มะพร้าวตื่นดก” ศิลปวิทยาไม่มี หน้าที่การงานไม่มี แต่มักจะเบ่งบู๊ เป็นนักเที่ยวจนกระเป๋ากางเกงขาด  เซ็นชื่อไม่เป็น แต่ปากกาหมึกซึมติดกระเป๋าเสื้อเป็นตับ ๆ หาเงินไม่เป็น แต่เอาบุหรี่ซิกาแรตมาเป็นเกียรติ หรือนาฬิกาข้อมือมาเป็นเกียรติ นี่คือ ได้กินอิ่มแล้วลืมคุณของข้าว ผาสุกสบายจนลืมพ่อแม่ สนุกสนานจนลืมตัว

เพราะความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยดินฟ้าอากาศและพืชพันธุ์ธัญญาหาร และความเยือกเย็นสงบสุข ดังกล่าวมาแล้วนั้น จึงเป็นเหตุให้คณะญาติผู้ใหญ่ของข้าพเจ้า ที่ได้ประสบกับความแห้งแล้ง เกิดขึ้นในถิ่นเดิมนั้น ทำให้อลเวงป่วนปั่นเดือดร้อนวุ่นวายระสับระส่ายกันทั่วไปหลายหมู่บ้าน จึงได้ออกเที่ยวตระเวนแสวงหาภูมิประเทศที่อุดมสมบูรณ์ด้วยฟ้าฝนชลขาวและพืชพันธัญญาหาร

เผอิญได้มาพบที่บ้านตาลโกน อันเป็นภูมิประเทศที่เหมาะสมกับความเจตนารมณ์ของตน แล้วเดินทางกลับไปบ้านเดิมของตน ปรึกษาหารือกันเป็นที่ตกลงเรียบร้อยแล้ว เตรียมสิ่งของเสบียงอาหารสำหรับเดินทางและล้อเกวียนเสร็จแล้ว ออกเดินทางอพยพครอบครัวมาตั้งหลักแหล่งอยู่ที่บ้านตาลโกนตั้งแต่ครั้งนั้นต่อมา บ้านเดิมคือ บ้านหนองหลัก ตำบลโพนบก อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี ที่อพยพกันครั้งนั้นจะมากน้อยเท่าไรนั้น ข้าพเจ้าไม่ทราบ ทราบแต่ว่าเป็น ปู่ ย่า ตา ยาย และญาติ ๆ รุ่นนั้นหลายคน กับลูก ๆ คือ รุ่นบิดามารดาของข้าพเจ้าเท่านั้น และได้มีพวกที่อยู่บ้านใกล้เคียงกันมาอีก เช่น บ้านเศรษฐี บ้านหนองฮาง บ้านหนองแฮ้ง บ้านไผ่ใหญ่เป็นต้น และปีต่อ ๆ ไปก็ยังมีผู้ติดขึ้นมาอยู่ด้วยอีกเรื่อย ๆ

เดิมทีที่บ้านตาลโกนนั้น เป็นบ้านเล็ก ๆ ไม่กี่หลังคาเรือน เคยเป็นภูมิประเทศที่บ้านผู้เมืองคนมาก่อนแล้วแต่นาน คงเหลือเป็นถิ่นที่รกร้างเท่านั้น จึงปรากฏว่ามีต้นตาลใหญ่อยู่ที่ตั้งบ้านนั้น แต่เพราะเป็นต้นตาลแก่มาก จึงเกิดเป็นโพรงที่ลำต้น ชาวบ้านเรียกว่า ตาลโกน อาศัยมูลเหตุจากต้นตาลแก่ ไม่ปรากฏผู้ใดปลูกนั้นเองเป็นนิมิต ชาวบ้านจึงตั้งชื่อว่า “บ้านตาลโกน” เดิมจริงตั้งบ้านกันอยู่ที่บริเวณต้นตาลนั้น เมื่อชาวบ้านอพยพจากเมืองอุบลมากันมาก จึงขยับขยายออกมาตั้งบ้านเรือนกันออกมาทางทิศต้นตาลโดยลำดับ เพราะบริเวณพื้นที่กว้างขวางกว่าที่เดิม ภายหลังมาที่บริเวณต้นตาลนั้นเลยเป็นที่สวนที่นาของเอกชน ตกลงว่า ต้นตาลโกนอยู่ทางทิศเหนือของบ้าน

เมื่อได้ว่าถึงเรื่องบ้านแล้ว ก็เลยจะถือโอกาสเล่าเรื่องราวของบ้านตาลโกนต่อไปเท่าที่จำได้ เพื่อกันลืมของอนุชน

สำหรับบ้านนี้มีบริเวณเป็นพื้นราบเสมอไปทางทิศตะวันออกและทางทิศใต้ ทางทิศตะวันตกของบ้าน จากริมหมู่บ้านจะค่อย ๆ ลาดต่ำลงไปโดยลำดับ จนถึงแม่น้ำยาม ประมาณ ๑ กม. เศษ เลยจากแม่น้ำไปประมาณ ๑ ก.ม. จะเป็นดงหรือป่าชัฏ มี ๒ แห่งติดต่อกัน คือ ดงพระเจ้า กับ ดงพันนา ในดงมีเสือมีหมี ผีร้าย กวาง ฟาน ละมั่ง หมูป่า เป็นต้น นอกจากนายพรานแล้ว ถ้าคนเดียวจะไม่กล้าเข้าไป

ถัดจากดงออกมาหาแม่น้ำยาม จะเป็นป่าไม้เต็ง รัง ประดู่ แดง เป็นต้น และเป็นทำเลปล่อยสัตว์พาหนะและสัตว์ของเลี้ยง มีวัวควาย เป็นต้น เพราะสมัยนั้น แต่ละครอบครัวจะมีควายฝูง วัวฝูง ครอบครัวละมาก ๆ ไม่ต่ำกว่าอย่างละ ๒๐ ตัว ขึ้นไป ฤดูทำนา นอกจากควายหรือวัวตัวที่จะใช้งานแล้ว ต้องไล่ต้อนเป็นฝูง ๆ ไปปล่อยไว้ในบริเวณที่ดังกล่าวนั้นทั้งหมด ไม่มีการเลี้ยงดู ๗ วัน หรือ ๑๕ วัน จึงจะไปเยี่ยมคอยสำรวจดูครั้งหนึ่ง นอกจากเสือป่า หรือหมาไนจะกัดกินแล้วไม่มีการเสียหาย เพราะสมัยนั้น เสือมนุษย์ยังไม่มี คนยังเป็นคน สัตว์ยังเป็นสัตว์ แม้ควายวัวก็ไม่นิยมการฆ่ากิน จะได้กินเนื้อควายเนื้อวัว ก็ต่อเมื่อมันตายตามยถากรรมของมันจึงจะได้กิน เพราะท่านถือว่า ควายก็ดี วัวก็ดี เป็นสัตว์ที่มีคุณต่อมนุษย์ ถ้าผู้ใดไปฆ่าควาย ฆ่าวัว ถือกันว่าเป็นคนชั่วช้าลามกมาก ถึงกับเหยียดหยามประณามชื่อคนเช่นนั้น เป็นคนนอกสังคม

ถัดจากแม่น้ำยามมาหาบ้าน เป็นพื้นที่ทำนา แต่บางปีที่น้ำมาก ข้าวกล้าจะถูกน้ำท่วมตายเป็นส่วนมาก บริเวณดังกล่าวนั้นเรียกกันว่า ทุ่งตาลโกน และ ทุ่งหนองจาน ระหว่างแม่น้ำยามกับบ้าน มีแหล่งน้ำอีกแห่งหนึ่งคล้ายแม่น้ำ แต่ต้นน้ำและปลายน้ำขาดไป เรียกกันว่า กุดปลาค่าว ริมฝั่งสองข้างรกชัฏไปด้วยป่าและกอไผ่ มีเต่ามีปลามาก ผีก็ดุร้าย มีคนที่ถูกผีแห่งนี้ทำร้าย ตายไปแล้วหลายคน บางปีผีแห่งนี้จะเข้าไปอาละวาดผู้คนในบ้าน ถึงเจ็บป่วยล้มตายกันอย่างน่ากลัว เวลาค่ำมืด มักปรากฏตัวเป็นหมาใหญ่ตัวดำที่อกขาวให้คนพบ หรือเป็นห่านร้อง เป็นไก่กกลูก

สมัยเมื่อท่านอาจารย์เสาร์และท่านอาจารย์มั่น ไปพักวิเวกอยู่ที่ราวป่าใกล้กับหนองแสงใหญ่นั้น ท่านได้ให้พวกชาวบ้านปฏิญาณตนนับถือพระไตรสรณาคมน์ ผีแห่งนี้จึงค่อยจืดจางมาโดยลำดับ ไม่ดุร้ายเหมือนแต่เดิม

สำหรับ แม่น้ำยาม นั้น เกิดจากภูผาเหล็กผ่านมาทางทิศตะวันออกของบ้าน แล้วอ้อมไปทางทิศเหนือ ผ่านไปตกแม่น้ำสงคราม ในเขตอำเภออากาศอำนวย กว้างประมาณ ๓๐ - ๔๐ เมตร มีไม้ไผ่ป่าอยู่ตามบนฝั่งทั้งสองข้าง มีน้ำไม่ขาดแห้งตลอดปี มีเต่า ปลา กุ้ง หอย นานาชนิด น้ำใสสะอาด แต่มีรสกร่อยบ้างเล็กน้อย

บ้านตาลโกนมีหมู่บ้านใกล้เคียงอยู่ล้อมรอบดังนี้ ทางทิศตะวันออกประมาณ ๓ ก.ม. มีหมู่บ้านหนองหวาย, ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ ๔ ก.ม. มีหมู่บ้านตาลเนิ้ง ใกล้เข้ามาอีก มีหมู่บ้านหนองหลักช้าง สมัยก่อนที่ตั้งของบ้านนี้เป็นที่คนเลี้ยงช้างนำช้างมาผูกไว้ เพราะมีเสาไม้เนื้อแข็งอยู่กลางหนองปรากฏอยู่ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ ๓ ก.ม. มีหมู่บ้านนาเตียง ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับแม่น้ำปลาหาง

ทางทิศใต้มีหมู่บ้านโคกพุทรา บ้านนี้ตั้งอยู่ใกล้กับหนองเลี้ยงช้าง สมัยก่อนพวกช้างนำเอาช้างมาเลี้ยงตามริมฝั่งของหนองนี้ ปรากฏว่า มีบ่อน้ำอยู่ทางทิศตะวันตกของบ้าน เรียกว่า “สร้างคำ” ซึ่งอยู่ในเขตนาปู่ของข้าพเจ้า พวกช้างคงมาพักอยู่ที่เป็นบริเวณของบ้านนั้นเอง จึงทำให้มีหมู่ไม้กะทันเกิดขึ้น คือเป็น โคกกะทัน เมื่อเป็นหมู่บ้านแล้วจึงตั้งชื่อตามต้นกะทันว่า บ้านโคกพุทรา

ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ ๒ ก.ม. เศษ มีหมู่บ้านดงแสนตอ บ้านนี้ต้องเจาะดงพันนาตั้งบ้าน อุดมด้วยของป่าและต้นไม้ผล เช่น มะไฟ ขนุน เป็นต้น ทั้งกินเองทั้งแบ่งปันพี่น้องบ้านอื่นก็ไม่หมด เน่าทิ้งเกลื่อนกลาดตามสวน มีหนองใหญ่อยู่ข้างบ้าน ชื่อว่า หนองขุมดิน ปลามาก เต่าก็ตัวโต ๆ ทั้งนั้น หอยมากกว่าแห่งอื่น และมีหมู่นกนานาพันธุ์มาอาศัยอยู่จำนวนมาก ฝูงปลาจะอ้วนพีกว่าที่แห่งอื่น ทางทิศเหนือประมาณ ๗ ก.ม.เศษ มีหมู่บ้านสร้างดู่ บ้านสร้างแป้น ซึ่งตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำยามเหมือนกัน

ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ประมาณ ๖ ก.ม. มีบึงใหญ่ที่อุดมด้วยสัตว์น้ำนานาชนิด มีแหล่งน้ำไหลออกมาชั่วฟ้านาปีตลอดกาล แต่ผีดุร้ายหน่อย ใครไปทำอะไรที่ไม่ประสบอารมณ์มัน มีหวังต้องตายแน่ สมัยปัจจุบันนี้เหมาะสมในการปรับปรุงเป็นอ่างเก็บน้ำ ดีที่สุด เพราะหมู่บ้านใกล้เคียงมีอยู่ทุกทิศทุกทาง แต่รอบ ๆ บ้านยังเป็นป่าอยู่โดยรอบ

ภายในบ้านแต่ละครอบครัว จะเป็นสวนครัวประจำทุกครอบครัว มีต้นพร้าว ต้นหมาก มะม่วง มะขาม พลู น้อยหน่า ทับทิม ข่า ขิง เป็นต้น มีการถ่ายหนักถ่ายเบา ถ้ากลางคืนชอบขุดถ่ายในบริเวณสวนครัว ถ้าเป็นกลางวันต้องวิ่งเข้าป่า ไม่นิยมทำส้วมถ่าย

ทางทิศตะวันออกของบ้าน จะเป็นป่าที่รกทึบมาก เรียกกันว่า “ดอนยาครู” ที่บริเวณนั้น สันนิษฐานแล้วคงเป็นวัดมาแต่สมัยก่อน และปรากฏว่ามีหลุมเพาะก็มี ผีชักจะดุอยู่บ้าง ใคร ๆ ไม่กล้าจะเข้าไปคนเดียวได้ ทั้งเป็นทางผ่านไปป่าช้าด้วย ทางทิศใต้บ้าน เป็นที่ลุ่มบ้าง เป็นที่ดอนบ้าง และเป็นป่าเต็งรังส่วนมาก พื้นที่เป็นหินลูกรังทั่ว ๆ ไป แต่สำหรับเรื่องน้ำดื่มนั้น ขุดน้ำบ่อได้ในที่ทั่วไปไม่ลำบากทั้งภายในหมู่บ้านและตามไร่นา เป็นน้ำที่ใช้ดื่มได้ทั่วไป

เท่าที่เล่ามาแล้วนั้นเป็นสภาพเดิมของบ้านตาลโกนในยุคนั้น ยุคปัจจุบันนี้ให้ดูด้วยตนเอง จักไม่นำมากล่าวแต่ประการใด

อัตโนประวัติ

ข้าพเจ้าเป็นคนสองตระกูล คือ ตระกูล สีลารักษ์ เป็นตระกูลบิดา ตระกูล มาริชิน เป็นตระกูลมารดา ท่านทั้งสองได้ประกอบมงคลสมรสกันที่บ้านตาลโกน ตำบลตาลเนิ้ง อำเภอบ้านหัน (สว่างแดนดิน) จังหวัดสกลนคร เมื่อแต่งงานเสร็จแล้ว คงอยู่กับพ่อตาแม่ยายมาเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงมีสถานะเดิมดังนี้คือ นายแหลม สีลารักษ์ เป็นบิดา นางจันทร์ สีลารักษ์ เป็นมารดา เกิดเมื่อ ๑ ฯ๖ ๙ ปีจอ วันที่ ๑๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๕ ณ บ้านตาลโกน ตำบลตาลเนิ้ง อำเภอบ้านหัน จังหวัดสกลนคร ญาติ ๆ ตั้งชื่อให้ว่า วัน เพื่อให้เสียงกินสัมผัสกับชื่อของมารดา มีน้องชายร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๑ คน ชื่อ ผัน

เมื่อมารดาคลอดบุตรคนที่ ๒ แล้ว อีกไม่นานวันเท่าไร ก็ได้ถึงแก่อนิจกรรมไปตามยถากรรม อายุข้าพเจ้าพึ่งย่างเข้าปีที่ ๓ เท่านั้น มารดาก็จากไป ไม่มีวันที่จะกลับมาให้ลูก ๆ อยู่ในอ้อมอกอีก

จากนั้นต่อไป บิดาก็กลับคืนไปอยู่บ้านของปู่ตามเดิม ข้าพเจ้าต้องติดตามบิดาไปอยู่อาศัยกับปู่ไปเรื่อย ๆ ฝ่ายน้องชายต้องเป็นภาระของยายเลี้ยงดูปูเสื่อจนตลอด

ครั้นภายหลัง บิดาได้ประกอบพิธีแต่งงานใหม่อีก กับนางพิมพ์ สารทอง ได้ไปสร้างบ้านหลังหนึ่งอยู่เฉพาะ มีบุตรด้วยกัน ๓ คน เป็นชายด้วยกันทั้งสิ้น คือ นายบุญโฮม ๑ นายนิยม ๑ นายดำ ๑ แต่ข้าพเจ้าคงยังอยู่กับปู่ตามเดิม

แต่การทำนานั้นก็ บิดาของข้าพเจ้านั้นเอง เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในครอบครัวของปู่ เพราะบิดาของข้าพเจ้าเป็นบุตรคนโต และน้อง ๆ ที่โตหน่อยก็เป็นผู้หญิง จึงแยกการประกอบการงานยังไม่ได้ ทั้ง พี่ ๆ น้อง ๆ ด้วยกันก็ไม่เคยมีปากเสียงกัน อีกประการหนึ่ง ปู่เป็นคนนิสัยใจคอกว้างขวางกับพี่น้องลูกหลานมาก เช่น พวกญาติ ๆ ที่อพยพติดตามมาภายหลัง ยังไม่ได้ที่อยู่ หรือที่ทำมาหากิน ต้องมาอาศัยอยู่และทำนาทำสวนอยู่กับท่าน จนกว่าจะมีบ้านอยู่และมีที่นาที่สวนทำมาหากินเรียบร้อยแล้วจึงจะแยกไปอยู่เป็นส่วนตัว ถ้าประเภทครอบครัวหญิงหม้ายที่ลูก ๆ ยังเด็กอยู่ ปู่จะต้องเป็นที่พึ่งให้แก่พวกนั้นเป็นพิเศษ คืออาศัยทำนาด้วย ทำสวนด้วย ตลอดทั้งอาหารการบริโภค เครื่องนุ่งห่ม และการเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่มีค่าเช่า ค่าบริการ หรือดอกผลแต่ประการใด ตระกูลของปู่ ย่า ก็ดี ตระกูลของ ตา ยาย ก็ดี ไม่เคยอดอยากทุกข์จน และไม่เคยลุ่มรวย เรียกว่า ไม่ถึงกับอด และไม่ถึงกับมั่งมีอย่างประเภทคนรวยทั้งหลาย

สมัยนั้นมีการทำนาเป็นพื้นและมีสวนกล้วย สวนอ้อยพออาศัยเป็นไปให้อยู่กันผาสุกสบายเท่านั้น ควายฝูง วัวฝูง ถึงจะมีกันไว้มาก ๆ ก็จริง แต่เลี้ยงกันไว้เพื่อให้มีมาก นาน ๆ จึงจะได้ขายทีหนึ่ง วัวแม่สาวตัวละ ๖ สลึงอย่างแพง วัวเกวียนคู่ละ ๑๒ บาท ๑๕ บาท ๒๐ บาทเป็นอย่างแพง ควายหนุ่มตัวละ ๑๕ บาท หรือ ๒๐ บาท ข้าวสารเหนียวเอาใส่เกวียนไปขายบ้านท่าบ่อ ศรีสงคราม แสนละ ๖ สลึง หรือ ๓ บาท (๑๒๐ ก.ก.) ถ้าไปขายอำเภอกุมภวาปีต้องแสนละ ๓ บาท เป็นมาตรฐาน ถ้าไปขายได้ถึงเมืองโคราชจะขายได้อย่างมากก็ แสนละ ๖ บาทเป็นอย่างแพง

คนขยันและแข็งแรงจะเอาข้าวสารเหนียวไปขายได้ปีละ ๑ - ๓ เที่ยวเป็นอย่างมาก นอกนั้นก็เอาควายผู้ขนาดล่ำสันไล่กันลงไปขายสระบุรีบ้าง อยุธยาบ้าง ปราจีนบุรีบ้าง นครนายกบ้าง ไปกันเป็นแรม ๆ ปี จึงจะได้กลับ บางคนที่เป็นคนหนุ่มเกิดแต่งงานอยู่ทางโน้นเลยก็มี การขายนั้น ถ้าเป็นควายดี ร่างกายแข็งแรง จะขายได้อย่างมากไม่เกินตัวละ ๓๐ บาท คิดแล้วคงตกเป็นกำไรอย่างมากตัวละ ๕ - ๑๐ บาท เท่านั้น บางพวกก็เอาวัวผู้ไล่ต้อนไปขายถึงเมืองอังวะ ย่างกุ้ง ประเทศพม่า อย่างดีขายกันได้ตัว ๑๐ - ๒๐ บาท กำไรตกตัวละ ๕ - ๑๐ บาทเช่นเดียวกัน แต่การไปขายวัวประเทศพม่านั้น ต้อง ๒ - ๓ ปีจึงจะกลับถึงบ้าน บางคนเกิดตกค้างอยู่ถึงเมืองพม่าก็มี

ตามธรรมเนียมของพวกพ่อค้าควาย พ่อค้าวัว ต้องมีวัวต่างสำหรับบรรทุกสัมภาระบางอย่างไปด้วย ๒ - ๓ ตัว พ่อค้าแต่ละพวก จะต้องมีหัวหน้านำหมู่คณะหนึ่งคน เรียกกันว่า “นายฮ้อย” สำหรับนายฮ้อยนั้น ต้องเป็นผู้รับผิดชอบของหมู่คณะทุกประการ ประกอบด้วยลักษณะดังนี้ คือ

) เป็นผู้ชำนาญทาง

) เป็นผู้พูดจาคล่องแคล่ว

) เป็นผู้รู้กฎหมายระเบียบและประเพณีของท้องถิ่นนั้น ๆ  เป็นผู้มีปัญญา ความฉลาดในการติดต่อสังคม ในการซื้อขาย ในการรักษาทรัพย์ ในการรักษาชีวิตเป็นต้น

) เป็นคนซื่อสัตย์สุจริต โอบอ้อมอารี มีเมตตาจิต ไม่เห็นแก่ประโยชน์ตน ไม่คดโกง ฉ้อฉล เบียดบังเอาเปรียบในลูกน้องของตน

) เป็นผู้มีความแกล้วกล้าสามารถอาจหาญ มีการยอมเสียสละ ต่อสู้เหตุการณ์โดยไม่หวั่นไหว

) เป็นผู้เก่งทางอยู่ยงคงกระพัน ยิงไม่ออก ฟันแทงไม่เข้า ตีไม่แตก จับไม่อยู่ เป็นต้น

) เป็นผู้ฉลาดในการวางแผน เช่น จะออกเดินทางในเวลาใด ควรจะให้ใครออกก่อน อยู่ท่าม และอยู่ตามหลัง พักกลางวันและพักค้างคืนที่ใด จะให้น้ำให้หญ้าแก่สัตว์อย่างไร ไปช้าไปเร็วขนาดใด เป็นต้น

) เป็นผู้รู้จักสอดส่องมองรู้ทันท่วงทีต่อเหตุการณ์ที่จักเกิดขึ้น

นี่คือ ลักษณะผู้เป็นนายฮ้อย ผู้ที่จะเป็นนายฮ้อยนั้น ไม่มีการหาเสียงอย่างผู้แทนราษฎร หรือนักการเมืองทั้งหลาย เป็นความเห็นดีเห็นชอบของเพื่อนฝูง หรือเฒ่าแก่บ้านเมือง โดยเพื่อนฝูงหากขอร้องให้เป็น และพร้อมกันยกยอกันขึ้น ครั้นแล้วก็ต้องเคารพนับถือเชื่อฟังกัน ร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน ร่วมเป็นร่วมตายกัน

สมัยนั้นพวกพ่อค้าวัว พ่อค้าควาย ต้องไล่ต้อนสัตว์ลงไป จะต้องผ่านเขตเขาใหญ่ ซึ่งมีมหาโจรเขาใหญ่คอยสกัดทำร้ายเป็นประจำ ด่านผู้ร้ายที่สำคัญขนาดเขตอันตรายสีแดง ก็คือ “ปากช่อง” “ช่องตะโก” พวกพ่อค้าทั้งหลายจะขี้ขลาดตาขาวลาวพุงดำไม่ได้ ต้องกล้าเก่ง ฮึกหาญ เตรียมต่อสู้ทุกคน ไม่เขาก็เรา ขึ้นชื่อว่าลูกผู้ชาย ต้องบุกให้ผ่านพ้นอันตรายให้จนได้ นายฮ้อยต้องมีปืนมีดาบติดตัวเสมอ เมื่อมีเวลาเหตุการณ์ ต้องออกหน้าออกตาในการต่อสู้ ถ้านายฮ้อยดีก็ปลอดภัยทั้งขาไปขากลับ

เมื่อเวลาขากลับนั้น จวนจะถึงบ้านแล้ว ต้องพักแรมในสถานที่ใดที่หนึ่งก่อน แล้วส่งข่าวไปหาทางบ้าน ว่าพรุ่งนี้จะได้เดินทางกลับมาถึงบ้านเวลาประมาณเท่านั้น ก่อนจะถึงบ้านประมาณ ๒ - ๓ ก.ม. จะต้องจุดประทัดหรือยิงปืนเป็นเครื่องสัญญาณ ฝ่ายพี่น้องลูกเมียได้ยินสัญญาณแล้วก็เตรียมตัวออกไปต้อนรับห่างจากบ้านประมาณ ๑ ก.ม. ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็มีบรรณาการฝากต้อนกันโดยความร่าเริงบันเทิงใจ ฝ่ายภรรยาบางคนถึงกับน้ำตาคลอเลย เพราะความปลื้มปีติที่ได้พบหน้าสามีของตน พวกพ่อค้าทั้งหลายมักจะเตรียมเสื้อผ้า ขนม ประทัด มาแจกลูกหลานของตนในเวลานั้น พวกเด็ก ๆ เวลาได้รับของแจกก็ดีใจใหญ่ เดินจุดประทัดกลับบ้านสนั่นหวั่นไหว ข้าพเจ้าเองก็เคยไปต้อนรับลุงกับเพื่อน ๆ เหมือนกัน

สำหรับการเอาวัวควายไปขายในสมัยนั้น ได้ยินผู้ที่เคยไป เล่าให้ฟังว่า การเดินไปกว่าจะถึงแหล่งขาย ลำบากมาก บางครั้งเกิดวัวควายเจ็บป่วยล้มตายจนขาดทุนป่นปี้ก็มี หรือวัวควายเกิดเจ็บป่วยแล้วรักษานานหาย ต้องขายขาดทุนก็มี บางครั้งเกิดโจรผู้ร้ายวางแผนแย่งชิงเอาไปก็มี บางครั้งเกิดการต่อสู้กับพวกผู้ร้าย ถูกบาดเจ็บไปก็มี เกิดต่อสู้กันถึงตายก็มี บางครั้งเกิดไปผ่านอหิวาตกโรค หรือ ฝีดาษ ซึ่งกำลังเกิดระบาดระหว่างทาง โดยมากมักเป็นบ่อยที่โคราช เกิดป่วยหรือตายด้วยโรคระบาดนั้นก็มี

ฝ่ายพ่อแม่พี่น้องเพื่อนฝูงและลูกเมียที่อยู่ทางบ้าน เป็นห่วงในผู้ที่จากไปมากที่สุด คอยฟังข่าวคราวสุขทุกข์ของผู้จากไปอยู่ทุกวิถีทาง และคอยการกลับว่าวันไหนหนอจะโผล่หน้ามาถึงบ้าน คอยแล้วคอยเล่าจนเป็นจินตนาคติพังเพยว่า “เหมือนนกยางคอยปลา เหมือนนกกะทาคอยปลวก เหมือนลูกรวกอยู่น้ำคอยท่าหมู่ฝน”

เพราะฉะนั้น เมื่อคณะพ่อค้าเหล่านั้นเดินทางกลับบ้านจวนจะถึง จึงต้องส่งข่าวให้ทางบ้านทราบ และนัดวันเวลา ตลอดถึงเส้นทางให้ทราบเรียบร้อย คืนวันนั้น มักจะไม่ได้นอนกันเพราะความดีใจที่บอกไม่ถูก พอถึงเวลานัดแล้ว ขบวนออกไปต้อนรับที่นอกบ้านนั้นมีเป็นขบวนใหญ่น่าดู คล้ายกับขบวนต้อนรับเสด็จก็ว่าได้ ขณะที่ทั้งสองฝ่ายได้พบหน้ากันแล้ว จึงแสนที่จะปลื้มใจดีใจทั้งสองฝ่าย ผู้ที่บ่อน้ำตาอยู่ลึกก็เพียงเต็มตื้นในจิต แต่ผู้ที่บ่อน้ำตาอยู่ตื้น ก็จะไหลออกอย่างกลั้นไม่อยู่

ฝ่ายผู้เป็นภรรยามักจะแสดงความบริสุทธิ์ของตนเพื่อให้สามีทราบถึงความบริสุทธิ์ใจ ด้วยการนุ่งห่มให้สุภาพเรียบร้อยตามปกติของแม่บ้านที่ดี หาได้ประเจิดประเจ้อเหมือนแฟน ๆ สมัยปัจจุบันนี้ไม่ เพราะประเพณีของผู้หญิงในสมัยนั้น เมื่อแต่งงานไปแล้ว จะต้องงดความเป็นสาวออกทันที ไม่สนใจต่อการแต่งเนื้อประเทืองกายให้หรูหรา รักษาความสวยงามของตนด้วยความสะอาดและความสุภาพเรียบร้อยเท่านั้น จะมีบ้างก็สมัยที่งานเทศกาลของบ้านเมือง หรือหลังจากการคลอดบุตรไปแล้วเท่านั้น

สมัยนั้นแม่บ้านทั้งหลายจึงไม่เสียความประพฤติ และไม่ทำลายประเพณีอันดีงามภายในตระกูลของตัวเอง เป็นเทพธิดาแม่บ้านของบุตรธิดาทั้งหลาย จึงสมกับคำว่า แม่เป็นพรหมของบุตร แม่เป็นเทพธิดาของบุตร แม่เป็นอาจารย์ของบุตร แม่เป็นแบบพิมพ์ของบุตร แม่เป็นเจดีย์ของบุตร เมื่อเป็นแม่แล้วจึงไม่สมควรจะไปแย่งตำแหน่งสาวจากธิดาของตน ซึ่งทำให้บุตรธิดาของตนคลายความเคารพนับถือยำเกรงในตน เพราะการนุ่งชั่ว ห่มชั่ว นั่นเอง ทำลายศักดิ์ศรีของผู้เป็นแม่ทั้งหลาย ก็แลการนุ่งห่มที่ดีที่ชั่วนั่นแล ย่อมบ่งบอกถึงคุณธรรมอันน่านับถือ และความเลวร้ายอันไม่น่านับถือ ของแม่เจ้าประคุณทั้งหลายในโลกนี้ทุกกาลทุกสมัย

ครั้นเมื่อพบปะสังสรรค์กันพอสมควรแล้ว ก็เคลื่อนย้ายขบวนกลับเข้าไปสู่บ้านเรือนของตน ๆ แต่วันนั้นต้องรีบรับประทานอาหารเย็นแต่หัวค่ำหน่อย เสร็จจากรับประทานอาหารแล้ว บรรดาพวกพ่อค้าทั้งหลายที่ร่วมพาณิชยกรรมด้วยกันทุกคน ต้องไปรวมกันที่บ้านนายฮ้อย ตามธรรมดาต้องเอาเสื่อที่ทำด้วยคร้า (ลายมือท่านอาจารย์คือ  ปัจจุบันเรียก ต้นคล้า) ลงไปปูกับดินบริเวณหน้าบ้านนายฮ้อย เพราะพวกญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านทั้งหลายจะต้องแห่กันมารวมที่สถานที่นั้นเป็นจำนวนมาก จากนั้นพวกพ่อค้าทุกคนจะต้องเอาไถ้เงินเหรียญบาทและเหรียญสตางค์มาเทลงที่เสื่อผืนหนึ่ง เสร็จแล้วนายฮ้อยก็จัดการแบ่งเงินนั้นให้แก่พวกลูกน้องของตน ตามสิทธิ์ส่วนน้อยมากของแต่ละบุคคล

นายฮ้อยเป็นผู้รับผิดชอบการซื้อการขายให้แก่ลูกน้องทุกคน ส่วนของนายฮ้อยก็เป็นส่วนของตน ไม่ได้คิดหักเอาเปอร์เซนต์จากลูกน้องแต่ประการใด และไม่เคยเอารัดเอาเปรียบกัน ไม่เคยฉ้อฉลเบียดบังเอาของกัน โดยมากเวลาขายของเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะรวมเงินทั้งหมดที่ไปด้วยกันทุกคนเข้าเป็นก้อนเดียว แล้วผลัดเปลี่ยนกันถือในเวลาเดินทาง เพราะเงินสมัยนั้นหนักมาก เมื่อเดินทางกลับถึงบ้านแล้ว จึงต้องประชุมกันสะสางบัญชีแยกส่วนออกให้เป็นของแต่ละบุคคล น้อยมากตามทุนและกำไรของบุคคลนั้น ๆ พวกญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านรับทราบด้วยกันทุกคน และต่างก็แสดงมุทิตาจิตในกันและกัน พูดหยอกเย้าสนุกสนานร่าเริงกันเป็นการใหญ่ พวกอยู่ทางบ้านก็ซักถามความสุขทุกข์และโน้นนี้จากผู้ไป ฝ่ายผู้ไป กลับมาก็เล่าถึงความสุขทุกข์และเรื่องราวต่าง ๆ ให้ผู้อยู่ทางบ้านฟัง คืนวันนั้นสังสรรค์กันด้วยความร่าเริงบันเทิงใจ ผู้เดินทางกลับมาก็หายเหนื่อย ผู้อยู่ทางบ้านก็หายห่วงหายโศก เสร็จจากนั้นก็เลิกรากันกลับบ้านของตน ๆ

วันต่อ ๆ ไปยังมีการประกอบพิธีสิริมงคลผูกข้อผูกแขนสู่ข้าวสู่ขวัญให้แก่บรรดาพวกพ่อค้าที่เดินทางกลับมาถึงบ้านด้วยความสวัสดีด้วย ซึ่งเป็นประเพณีส่งเสริมพาณิชยกรรมของคนสมัยนั้น ต่างจากสมัยปัจจุบันนี้มาก ซึ่งมีแต่ความอิจฉาตาร้อน กดขี่ข่มเหงกัน เอารัดเอาเปรียบกัน ลักกัน ปล้นกัน ล้างผลาญกัน สังหารกัน ใส่ร้ายป้ายสีกัน โลภเอาของกัน ยึดเอาของกัน คิดแต่จะเป็นเจ้า เฝ้าแต่จะจับผิด หาความเป็นมิตรต่อกันมิได้ ความเจริญมีหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ ความเสื่อมเสียสองร้อยเปอร์เซ็นต์ ความสงบสุขห้าสิบเปอร์เซ็นต์ ความทุกข์ความเดือดร้อนวุ่นวายร้อยห้าสิบเปอร์เซ็นต์

นี่คือยุคมิคคสัญญี ยุคมหาวินาศ หรือยุคอธรรมปฏิรูป หาของแท้ของจริงได้ยาก คนที่ซื่อสัตย์สุจริตขาดความนิยมนับถือ คนที่ทำจริงพูดจริงหาผู้เชื่อถือมิได้ คนที่ประพฤติดี กลับถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม คนที่สุภาพเรียบร้อยถือกันว่าเป็นคนคร่ำครึ คนที่ประพฤติปฏิบัติอยู่ในศีลธรรมหาว่าถ่วงความเจริญของโลก สมัยใดจิตของคนแข็งกระด้างมืดมนอนธกาล ประกอบด้วยอธรรม พระยามาราธิราชย่อมเข้าครอบงำจิตใจของคนทั้งหลาย คนที่ทำชั่ว พูดชั่ว คิดชั่วนั้นแล จักปรากฏเด่นในสังคมมนุษย์ คนไหนที่มีเล่ห์กลประจบสอพลอรู้ยอนาย คนนั้นจักก้าวหน้าในหน้าที่การงาน โดยไม่ต้องทำงานให้ลำบาก คนที่ก้มหน้าทำแต่การงาน ด้วยเจตนาอันบริสุทธิ์ มุ่งแต่จะให้การงานนั้น ๆ สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี คนเช่นนั้นจะเป็นคนนั่งเบ้า ไม่ก้าวหน้าในหน้าที่การงาน หรือบางครั้งคนที่ซื่อสัตย์สุจริตนั่นแล จะเป็นแพะรับบาป

เมื่อมนุษย์ทั้งโลกนี้หันเหเปลี่ยนแปลงสภาพไปเป็นยุคอธรรมปฏิรูปเมื่อใด ความอยุติธรรม ฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ ภยาคติ และวิหิงสา พยาบาท ก็เกิดขึ้นเมื่อนั้น เหล่าพลพรรคของยักษ์ร้ายที่ถูกสาปไว้แล้วแต่นาน ก็กลับฟื้นฮึกเหิมกำเริบขึ้นมา ทำการอาละวาดแก่หมู่มนุษย์ทั้งหลาย

เหล่าพลพรรคของยักษ์ร้ายมี ๓ กองพล คือ กองพลอยาก ๑ กองพลยุ่ง ๑ กองพลอยาก ๑

และมีหน่วยวินาศกรรมอีก ๓ หน่วย คือ หน่วยยุบยับ ๑ หน่วยยับเยิน ๑ หน่วยย่อยยับ ๑

มีบ่อนทำลายเศรษฐกิจอีก ๒๕ บ่อน คือ บ่อนหยิบยืม ๑ บ่อนยักยอก ๑ บ่อนโยกย้าย ๑ บ่อนโยงใย ๑ บ่อนแยบยล ๑ บ่อนเยินยอ ๑ บ่อนยับยั้ง ๑ บ่อนโยนเย็น ๑ บ่อนเหยียบย่ำ ๑ บ่อนย่ำแย่ ๑ บ่อนยืดเยื้อ ๑ บ่อนแย่งยึด ๑ บ่อนหยิบหยอด ๑ บ่อนยัดเยียด ๑ บ่อนยุแหย่ ๑ บ่อนยุยง ๑ บ่อนยิ่งใหญ่ ๑ บ่อนยั่วยุ ๑ บ่อนยั่วยวน ๑ บ่อนยียวน ๑ บ่อนเยาะเย้ย ๑ บ่อนเย่อหยิ่ง ๑ บ่อนเหยียดหยาม ๑ บ่อนหยิบยืม ๑ บ่อนยับเยิน ๑

สมัยนั้น วัฒนธรรมการนุ่งห่มยังใช้ผ้านุ่งและผ้าถือ คือ ฝ่ายชายใช้ด้วยโสร่งหรือโจงกระเบน นอกจากคนจนแล้วจะต้องใช้ผ้าทอด้วยไหมเป็นผ้านุ่ง เวลาทำงานมักจะนุ่งกางเกงขาสั้นเพียงเข่า แต่ช่องขาทั้งสองกว้าง หรือใช้ผ้าเป็นผืนเหน็บรั้ง เวลาอาบน้ำไม่ค่อยนุ่งผ้า ภายหลังต่อมาอีก พวกคนหนุ่มนิยมนุ่งผ้าโสร่งแขก และกางเกงขายาวชนิดลายดอกขากว้าง ส่วนท่อนบนใช้ผ้าถือปกสองไหล่ แต่เวลาไหว้พระหรือเข้าหาผู้ใหญ่ จะต้องห่มเฉลียงบ่าข้างหนึ่ง ต่อมาอีก มีการตัดเสื้อใส่เสื้อกัน แต่ผ้าถือยังไม่ทิ้ง

ฝ่ายหญิงใช้นุ่งด้วยผ้าซิ่นที่ทอเอง แต่มีลวดลายต่าง ๆ ที่เรียกว่า “ซิ่นหมี่” ผู้ขยันก็ทอด้วยไหมซึ่งถือว่าสวยงาม ที่ทอด้วยด้ายก็มี เอาสีดำหรือสีครั่งเป็นพื้นสี ผ้าซิ่นด้านบนต่อผ้าอีกเป็นเป็นผ้ากว้างขนาด ๑๕ เซนติเมตร สีแดงเป็นพื้น ประกอบด้วยลวดลายเรียกว่า “หัวซิ่น” ด้านล่างต่อด้วยผ้าอีก กว้างขนาด ๑๐ เซนติเมตร สีดำ หรือ ขาวเป็นพื้น ประกอบด้วยลวดลายต่าง ๆ เรียกว่า “ตีนซิ่น” การนุ่งก็นุ่งเอาหัวซิ่นขึ้นข้างบน เอาตีนซิ่นลงข้างล่าง ถือการนุ่งให้เรียบร้อยหรือนุ่งดีมีศิริ ข้างบนปิดสะดือ ข้างล่างค่อนแข้งลงไป ถ้าผู้หญิงใดอะปะโลก (ลายมือท่านอาจารย์คือ  ) เกิดไปนุ่งผ้าซิ่นสั้นขนาดใกล้เข่า สังคมจะรังเกียจ ดูถูกกันว่า “หญิงเคียว” ซึ่งหมายถึงหญิงแพศยา หญิงราคะจัด เป็นหญิงชาติชั่ว ไม่มีใครเขาปรารถนา เป็นคนทำลายวัฒนธรรมของผู้หญิง บรรดาพวกผู้หญิงด้วยกันรังเกียจมาก ถึงกับไม่คบหาคนเช่นนั้น เพราะกลัวจะเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์อันดีงามของตน

สำหรับกายท่อนบนของหญิง ใช้ผ้าสองผืน คือผ้ารัดอกและผ้าถือ ซึ่งทอให้มีลวดลายต่าง ๆ ที่นิยมกันว่าสวยงาม ผ้าถือนั้นใช้คลุมสองไหล่บ้าง เปิดบ้างในบางกรณีเช่นเดียวกับฝ่ายชาย ภายหลังต่อมา มีการตัดเสื้อแทนผ้ารัดอกแต่ผ้าถือยังคงใช้อยู่ตามเดิม เป็นเสื้อไม่มีแขนและเป็นเสื้อแขนยาว เสื้อแขนยาวนั้นใช้สีดำเป็นส่วนมาก

สำหรับทรงผมนั้น ฝ่ายชายนิยมตัดกันเป็นพื้น ฝ่ายหญิงนิยมไว้ผมยาว ทำขมวดเกล้าเป็นจุกไว้ด้านหลังบ้างก็มี ไม่ได้ทำเป็นจุกก็มี ทัดทรงด้วยดอกไม้หอมต่าง ๆ แต่พวกผู้หญิงมักนิยมกันใส่ตุ้มหู พอโตขึ้นเป็นรุ่นสาว จะต้องเตรียมเจาะหูกันเป็นแถว ๆ ทีเดียว เพื่อจะใส่ตุ้มหูนั้นเอง ที่ใส่สร้อยคอกันก็มีบ้างแต่ไม่มาก และนิยมใส่กำไลแขน กำไลขา ที่นิ้วมือก็มีใส่กำไลมือหรือแหวน ทาขมิ้นเป็นการประเทืองผิว ย้อมเล็บมือด้วยเอาใบไม้ชนิดหนึ่งมาห่อให้เกิดเป็นเล็บแดงขึ้น ใช้กินหมากเพื่อให้ริมฝีปากแดง นี่คือวัฒนธรรมพื้นบ้าน

ประเพณีการร่าเริงซึ่งทำให้ความเป็นอยู่มีชีวิตชีวาชุ่มชื่นเบิกบานไม่หงอยเหงา มีปี่ แคน พิณ ซอ ขลุ่ย เวลากลางคืนพวกคนหนุ่มจะเล่นกันสนุกสนานประจำทุกคืน พวกหญิงสาวก็จะปั่นด้ายคอยต้อนรับตามบ้านของตน แต่หาได้เที่ยวพร่ำพลอดกันตามตรอกตามมุมมืดไม่ เพียงเพื่อสนุกเฮฮาร่าเริงกันตามประเพณีเท่านั้น กลางวันต้องทำงานช่วยพ่อแม่ของตน หนุ่มสาวไม่เคยทิ้งงาน พวกคนหนุ่มต้องฝึกงานในหน้าที่ของตน เพื่อความเป็นพ่อบ้านที่ดีมีศิลปวิทยา เช่น การทำไร่ทำนาและฝีไม้ลายมือต่าง ๆ มีจักสานเป็นต้น

คนหนุ่มที่ไม่มีศิลปวิทยาทำอะไรไม่เป็น เพียงแต่อวดโก้ พวกเฒ่าแก่ฝ่ายหญิงจะไม่ยินยอมรับเป็นเขยเด็ดขาด ฝ่ายหญิงเมื่อโตพอแตกสาวแล้ว จะต้องฝึกงานในหน้าที่ของตน เพื่อความเป็นแม่บ้านที่ดี มีจรรยามารยาทและการฝีมือต่าง ๆ เช่น การทำด้าย ทอผ้า เย็บผ้า ทำอาหาร ทำความสะอาด เป็นต้น ถ้าเป็นสาวที่ไม่มีจรรยามารยาท ทำอะไรไม่เป็น ทั้งขี้เกียจด้วย มีแต่การแต่งเนื้อประเทืองกายเท่านั้น จะไม่มีใครยินดีจะแต่งงานด้วย เพราะคนในสมัยนั้น ยังมีความเคารพนับถือยำเกรงบิดามารดา ครูบาอาจารย์ และขนบธรรมเนียมประเพณีกันอยู่มาก จะมีดื้อดึงฝ่าฝืนล่วงเกินต่อผู้ปกครอง และขนบธรรมเนียมประเพณีมีน้อยที่สุด ความรักใคร่มีขอบเขต ความโลภมีรั้วกั้น ความโกรธยังมีกลัวบาป คนไม่รู้ถือผู้รู้เป็นผู้แนะนำ ผู้รู้จะไม่ล่วงเกินในความผิดทั้งหลายทั้งที่รู้อยู่ โดยถือภาษิตว่า “ลูกไม่ดีพ่อแม่ปากเปียก ลูกตาเปียกพ่อแม่ละอาย” พ่อแม่พยายามที่จะปลูกฝังให้ลูกชายลูกหญิงของตนให้เป็นคนดี มีความรู้เท่าที่มีความสามารถ และหวังพึ่งลูกของตนในยามแก่ จึงถือภาษิตว่า “เลี้ยงลูก ปลูกโพธิ์” จึงพยายามสอนให้ลูก ๆ เชื่อถ้อยฟังคำของพ่อแม่เสมอ คนแก่มักจะใช้ภาษิตสอนไว้ว่า “ลูกไม่ฟังคำของพ่อแม่ ผีแก่ (กระซาก) ลงหม้อนรก” หมายความว่า ถ้าลูก ๆ ไม่เชื่อฟังคำสั่งสอนของพ่อแม่แล้ว หาความเจริญมิได้ เป็นอวชาตบุตร คือลูกที่ชั่วช้าลามก ย่อมทำลายวงศ์ตระกูลของตนให้หมดศักดิ์ศรีลงไป

คติธรรมของคนในสมัยนั้น รวมแล้วก็ได้แก่การสอนคนให้เป็นคน เมื่อเป็นอะไรก็ให้เป็นอันนั้นจริง ๆ คือให้เป็นเด็กจริง ๆ เป็นนักเรียนจริง ๆ เป็นหนุ่มเป็นสาวจริง ๆ เป็นสามีเป็นภรรยาจริง ๆ เป็นพ่อแม่จริง ๆ เป็นลูกจริง ๆ ชายก็ให้เป็นชายจริง ๆ หญิงก็ให้เป็นหญิงจริง ๆ ถึงแม้การเล่นก็ถือเป็นการเล่นจริง ๆ จะเล่นรัวหัวเราะแบบเด็ก ๆ ก็เป็นแบบของเด็กจริง ๆ หนุ่มสาวก็เล่นแบบหนุ่มสาว คนแก่ก็เล่นแบบคนแก่ เล่นตีต่อยกันถึงเลือดออกยางตกก็ตามแต่ ถือกันเป็นเล่น ไม่ได้ถือสาหาโทษแก่กันและกัน ไม่พยาบาทอาฆาตจองเวรกัน ถึงคราวเล่นจึงตีต่อยกันอีก เพราะถือเป็นประเพณีการเล่น ให้สนุกสนานร่าเริงเดือนละทีปีละครั้ง เรียกว่า “เล่นไม่เลว” ถ้าเล่นเลว เป็นลักษณะของนักฉวยโอกาสส่วนมาก เช่นหนุ่มสาวตบตาพ่อแม่ สามีตบตาภรรยา ภรรยาตบตาสามีเป็นต้น

คนสมัยก่อนนั้นยังยึดประเพณีเข้มงวดกวดขันกันมาก ประเพณีเล่นสงกรานต์ มีการสาดน้ำใส่น้ำกันอย่างสนุกสนาน เมื่อผู้ใดต้องการจะสนุกกับหมู่เพื่อนแล้ว ก็จับกลุ่มกันเป็นพวก ๆ แต่โดยมากเป็นกลุ่มฝ่ายชายและฝ่ายหญิง ต่างก็มุ่งหน้าจะสาดน้ำกันตามวิธีการแห่งความสนุกสนาน จุดของความสนุกเฮฮาก็คือ การได้เปรียบ เสียเปรียบ หรือแพ้และชนะ เฉพาะวันเทศกาลนั้น คู่สามีภรรยาและคนแก่ที่ชอบความสนุก ต้องลาตำแหน่งไปสนุกกับเพื่อน ๆ ตามระเบียบ การสาดน้ำบางจังหวะต้องถึงกับตะลุมบอนกันก็มี ถือว่าสนุกกันใหญ่ สามีภรรยาก็ไม่ถือสาหาเรื่องกัน เพราะเพื่อความสนุกกันตามประเพณี ไม่ได้จงใจหรือแกล้งกันโดยความเสียหายทางประเวณี เพราะไม่มีการเล็ดลอดออกหนีจากหมู่พวก

ประเพณีใหญ่อีกคือ งานบุญบั้งไฟเดือน ๖ ประเพณีนี้เล่นกันคืนหนึ่งวันหนึ่งเท่านั้น การเล่นสนุกนั้นโดยมากเป็นเพียงฝ่ายชายเท่านั้น นิยมใส่เหล้ากันไว้เทียบทุกครอบครัว ถึงจะไม่ดื่มก็ตาม ต้องมีไว้เพื่อให้คนเขาดื่ม วันนั้นพวกนักเล่นเขาจะต้องขึ้นไปหาดื่มเหล้ากันทุกหลังคาเรือน ดื่มเหล้าอาบน้ำกันแล้วก็ลงไป ขบวนนักเล่นจะมีกลองหนึ่งลูกสำหรับหามตีกันไป สองคนที่หามก็ตีกลองไป คนนอกนั้นก็ฟ้อนกันไป ร้องรำทำเพลงกันไป พบน้ำพบโคลนที่ไหนมีก็เอากันลงเล่นที่นั่น ใครเดินผ่านมาใกล้เขาไม่ได้ ต้องถูกควบคุมตัวลงเล่นโคลนด้วยกันหมด วันนั้นจะแต่งตัวสวย ๆ ไม่ได้ เพราะประเพณีนี้เล่นกันอย่างขะมุกขะมอม เอาโคลนเป็นจุดสนุกสนานร่าเริง รสชาติของความสนุกอยู่ที่น้ำและโคลน เมื่อตอนเย็นจุดบั้งไฟหมดแล้วเป็นอันหมดพิธีเพียงเท่านั้น

และยังมีประเพณีอีกอย่างหนึ่ง คืองานบุญฟังเทศน์มหาชาติ ที่เรียกว่า “บุญพระเวส” เท่าที่จำได้เป็นระหว่างเดือน ๓ เดือน ๔ ของแต่ละปี จัดงานกันขึ้นภายในวัดแต่ละวัด ยกโรงยาวเป็นที่พักพระไว้โดยรอบวัด ยกร้านเป็นที่พักพระเณรปูฟากหรือกระดาน ด้านหน้าออกมาปูฟางและเสื่อสำหรับให้พวกสาว ๆ ที่ติดตามมาได้พักด้วย มีการนิมนต์พระมาเทศน์ประมาณ ๓๐ - ๔๐ วัด

เมื่อถึงวันงาน พวกคนเฒ่าคนแก่แต่ละครอบครัวต้องแต่งกินแต่งทาน มีการจัดแบ่งกันรับรองพระ ๔ - ๕ ครอบครัวต่อพระ ๑ วัด ตลอดญาติโยมผู้ติดตามพระด้วย และถวายจตุปัจจัยไทยทานด้วย

งานนี้มีกันเป็น ๒ ประเภท คือประเภทเข้าวัดรักษาศีลกินทานและฟังเทศน์ ๑ ประเภทเล่นสนุกสนานร่าเริง ๑

ประเภทแรกนั้น แต่ละครอบครัวต้องต้อนรับเลี้ยงดูญาติพี่น้อง และแขกเหรื่อที่มาร่วมงานบุญ ให้เพียงพอตามฐานะของตน แต่ไม่ค่อยมีการจ่ายค่าอาหารเท่าไหร่ ไม่ได้นิยมฆ่าวัวควายเลี้ยงกัน จะมีบ้างก็พวกหมู เป็ด ไก่ ปลา เท่านั้น คนแก่ ๆ มักจะไปประจำอยู่วัด ประดับประดาตกแต่งศาลาและจีบหมากพลูถวายพระ หรือเป็นคนรับใช้พระ วันฟังเทศน์ ก็พร้อมกันฟังเทศน์จนจบชาดก ถือว่าได้บุญมาก แต่ปรากฏว่า การฟังมหาชาตินั้นไม่ค่อยรู้ในอรรถรสเท่าไหร่ ได้เพียงถือว่าเป็นบุญแก่ตนของตนเท่านั้น แต่มักจะจำเรื่องได้ดีแทบทุกคน สำหรับข้อปฏิบัติอันยิ่งขึ้นไปไม่ค่อยรู้เรื่อง

ส่วนประเภทที่สองนั้น ก่อนจะถึงวันงานบุญ ต้องเตรียมพร้อมทางสนุกสนานกัน พรุ่งนี้เป็นวันรวมงาน พอค่อนคืนเท่านั้น ขบวนฟ้อนรำก็นำกลองลงตีนำขบวนตามถนนกลางบ้านตลอดรุ่งและตลอดวัน แต่จะเล่นกันเฉพาะภายในหมู่บ้าน ไม่ได้เข้าในวัด เวลานักบุญจากบ้านอื่นมาพักรวมกันภายในวัดแล้ว จะมีอีกพวกหนึ่งเล่นสนุกกันภายในวัด โดยมากจะเป็นคนชายประเภทมีครอบครัวไปแล้ว ความร่าเริงที่แสดงออกนั้นเป็นลักษณะของการแสดงกามสาธิต หรือเพศศึกษาสาธิต ถ้าว่าตามธรรมก็คือ เรื่องอนาจารลามกนั้น แต่ปรากฏว่า พวกหนุ่มสาวสนใจดูและร่าเริงด้วยเป็นพิเศษ ยิ่งพวกเด็ก ๆ ถึงกับแห่กันไปดูเกือบทั้งหมด แต่จะต้องแสดงเวลากลางคืนอาศัยความสว่างจากแสงเดือนดาว เรื่องที่แสดงความร่าเริงที่เป็นเรื่องใหญ่ ๆ ก็คือ ขบวนต่อนกกระทา ๑ ขบวนแข่งเสียงกลอง ๑ ขบวนหมอดู ๑ ขบวนทอดแห ๑ และขบวนแห่ข้าวพันก้อน ๑ ที่นำมาแสดงกันนั้นล้วนแต่การออกท่าทางให้สนุกกันทั้งนั้น แต่วิธีการที่เขาเล่นกันอย่างไรนั้น จะไม่นำมากล่าวในที่นี้ ถ้าสนใจอยากรู้ พึงศึกษาด้วยตนเอง

ทีนี้จะกล่าวถึงประเพณีพวกสีกาที่ติดตามมากับพระแต่ละหมู่บ้านนั้น โดยส่วนมากนิยมพักนอนอยู่ที่โรงพักพระ ที่เขาทำไว้ต้อนรับแต่ละวัดนั้นเอง คือเป็นระเบียงด้านหน้าติดต่อกับที่พักพระออกไป แต่เป็นพื้นติดกับพื้นดิน สำหรับพวกสีกาสาว ๆ ทั้งหลายเหล่านั้น แต่ละหมู่บ้านจะต้องมีคนแก่เป็นหัวหน้านำมา เขาเรียกว่า “แม่โป่” บางคนก็มีมารดาติดตามมาด้วย ครั้นพอตกค่ำเข้ามาแล้ว การรับประทานอาหารเลี้ยงดูกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว บรรดาพวกเจ้าหนุ่มทั้งหลาย ก็เป่าแคนหรือดีดพิณกันเป็นหมู่ ๆ ออกมาจากบ้าน เข้าไปพูดคุยกันกับเจ้าสาวเหล่านั้นตามระเบียบ แต่ละหมู่มักจะไปให้ทั่วถึงทุกกลุ่ม แต่ละหมู่บ้าน การพูดคุยกันนั้น โดยมากมักจะเป็นปัญหาตอบโต้กันไปกันมา ที่เขาเรียกกันว่า “จ่ายผยา” คนที่ไม่เก่งทางผยาก็เป็นผู้ฟัง ถ้าเกิดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแพ้หรือชนะผยากัน ก็เฮฮากันไปพักหนึ่ง บางครั้งเกิดประชันผยากันเป็นการใหญ่ ฝ่ายชายก็ต้องเอาพ่อโป่ออกต่อสู้ ฝ่ายหญิงก็เอาแม่โป่ออกต่อสู้ เกิดต่อสู้กันจนผยาหมดในพุง เมื่อรู้ว่าใครแพ้ใครชนะแล้วก็เลิกรากันไป ฝ่ายพระที่ไม่มีหน้าที่ชิงตำแหน่งกับเขาก็นอนฟังตามระเบียบ ประเพณีที่พวกสีกาติดตามพระไปในทำบุญมหาชาตินั้น เมื่อคิดเฉลี่ยแล้ว มีพวกผู้หญิงนิยมไปและไม่นิยมไปประมาณฝ่ายละครึ่ง คือบางพวกนิสัยชอบแสวงหาลาภผลในทางนั้น บางพวกมีนิสัยไม่ชอบแสวงหาลาภผลในทางนั้น

ก็แลในสมัยนั้นนิยมหาความสนุกสนานร่าเริงเป็นส่วนรวมกันภายในวัดเป็นพื้น เมื่อพวกชาวบ้านถือเอาวัดเป็นสถานที่ร่าเริงบันเทิงดังนั้นแล้ว แน่นอนทีเดียว พระที่เป็นเจ้าของสถานที่ ก็ต้องหาวิธีการที่ร่าเริงบันเทิงเช่นเดียวกัน (เฉพาะผู้ชอบ) นั้น ทางวัดจึงต้องจัดหากลองสั้น กลองยาวมาไว้ และมีฆ้อง ฉิ่ง ฉาบ เป็นต้น เวลาเย็นพระเณรก็จะเล่นกลอง ฉิ่ง ฉาบ กันอย่างสนุกสนาน พวกหนุ่ม ๆ มักจะสมัครเข้าเป็นทีมด้วย ถ้ามีการก่อสร้างถาวรวัตถุภายในวัดยิ่งสนุกสนานกันใหญ่ เวลาพระเณรไปพักนอนเลื่อยไม้หรือถากไม้ในป่า ก็ต้องเอาจำพวกกลองเหล่านั้นไปด้วย เอาความสนุกสนานร่าเริงนั้นเองแก้เหนื่อย

ด้านอาหารการฉันไม่เพียงพอ สมภารก็ให้สามเณรสึกไปหา ปูปลาอาหารมาไว้เป็นเสบียง เสร็จแล้วก็บวชกันใหม่อีก เวลาลากไม้เข้าไปวัด จะมีล้อใหญ่สำหรับลาก มีพวกคนแก่และหนุ่มสาวชาวบ้านไปช่วยลาก อาศัยฆ้อง กลอง ฉิ่ง ฉาบ นั้นแล บรรเลงไปด้วย พระเณรกับสีกามักฉวยโอกาสสนุกสนานด้วยกันคราวนี้ รักษาอาบัติเฉพาะตัวใหญ่ที่สุดก็พอ เพราะฉะนั้น จึงมีพิธีพระเข้ากรรมกันเป็นประจำทุกปีไป ถือกันเป็นพิธีใหญ่และถือกันว่าได้บุญมากอีกด้วย พิธีทำนั้นจะมีพิธีอย่างไรบ้างก็ไม่ทราบด้วย ข้าพเจ้าได้พบเห็นแต่กระท่อมเล็ก ๆ ที่ท่านอยู่เฉพาะองค์เท่านั้น ถามคนแก่ ท่านบอกว่า “ตูบกรรม” และไม่ได้สนใจถามต่อไป จึงไม่ค่อยรู้เรื่องดี

เรื่องสีกากับพระเณรที่เกี่ยวข้องกันประเภทสนุกสนานร่าเริงนั้น ส่วนประเพณีใหญ่ยังมีอีก คืองานใส่น้ำกันในเทศกาลตรุษสงกรานต์ดังกล่าวมาแล้วในเบื้องต้นนั้น ที่เกี่ยวกับพระและสามเณรที่โตหน่อยก็เป็นขบวนการของพวกสีกานั้นเอง บางครั้งก็ฝ่ายพระลงมือก่อนหรือฝ่ายสีกาลงมือก่อน เมื่อเชื่อมต่อสะพานทั้งสองฝั่งถึงกันแล้ว ก็ลงมือตะลุมบอนเอากันใหญ่ กุฎีเปียก ผ้าสบงจีวรเปียก พระเป็นฝ่ายล่าถอย สีกาเป็นฝ่ายคืบหน้าบุกรุก แย่งผ้าแย่งผ่อนเอาจนหลุดลุ่ยไปก็มี ผูกติดเสากุฎีไว้ก็มี บางครั้งทางฝ่ายสีกาก็ผ้าหลุดไปก็มี ทางฝ่ายพระจะต้องยอมแพ้แทบทุกสมัย เพราะทางฝ่ายสีกามีมากและเอาจริง ๆ ด้วย เสร็จแล้วเฒ่าแก่ที่เป็นมรรคนายกวัดจะต้องนำพวกสีกาเหล่านั้น เอาดอกไม่ธูปเทียนมาทำพิธีขอคารวะขมาโทษต่อพระสงฆ์ตามระเบียบ

สำหรับการเทศน์มหาชาตินั้นนิยมเทศน์เป็นทำนองเล่นเสียงกัน ที่เรียกว่า “แหล่” เช่น แหล่มัทรี แหล่ชูชก แหล่กุมาร เป็นต้น ขณะที่พระกำลังเทศน์อยู่นั้น พวกศรัทธานักสนุกจะรวมกันเป็นกลุ่ม ๆ บริจาคทำเป็นกัณฑ์สมโภช เรียกกันว่า “กัณฑ์หลอน” แห่เข้าไปถึงวัดแล้ว พอดีทันกันกับพระเณรองค์ใดที่กำลังเทศน์อยู่ จะต้องถวายองค์นั้น แม้กลุ่มอื่น ๆ อีกก็เช่นเดียวกัน ที่นักวิชชาอาคมอยู่ยงคงกระพัน ก็มักจะต่อยตีกันเพื่อความสนุกให้คนดู ในเวลาแห่กัณฑ์นั้นเอง พิธีการของพวกนี้คือ จะต้องนัดกันไว้ แล้วต่างฝ่ายต่างจัดกัณฑ์ทั้งสองฝ่าย แต่มักจะเป็นฝ่ายละหมู่บ้าน พอขบวนแห่ทั้งสองฝ่ายสวมหน้าเข้าถึงกันเมื่อใด เมื่อนั้นจะต้องชุลมุนวุ่นวายต่อยตีกันขึ้น ใครไม่ดีก็เจ็บกันไป แต่ไม่ได้ถือสาหาโทษกัน ปีหน้ามีงานอีกจึงแล่นงานกันอีก เท่าที่เล่ามาแล้วทั้งหมดนั้น คือประเพณีเดิมของบ้าน ไม่ใช่ประเพณีเมือง จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้

ชีวิตตอนไร้เดียงสา

เท่าที่กล่าวมาแล้วนั้น เป็นเรื่องของปิตุภูมิและมาตุภูมิ เพื่อเป็นการเกี่ยวโยงกันกับเรื่องชีวิตของข้าพเจ้าที่ซุกซนมาก่อเกิดเป็นมนุษย์ตามยถากรรม เมื่อข้าพเจ้ายังมีชีวิตอยู่ในวัยเด็กที่ยังไม่รู้เดียงสานั้น ญาติ ๆ ชั้นผู้ใหญ่เคยเล่าให้ฟังว่าเป็นเด็กที่เลี้ยงยากที่สุด ซึ่งไม่เคยพบในเทือกเถาเหล่ากอแห่งวงศ์ตระกูลนี้ ถ้าไม่มีมารดาผู้ให้กำเนิดเกิดเกล้าเป็นผู้เลี้ยงแล้ว ชีวิตของข้าพเจ้าจะเป็นไปอย่างไรก็ไม่ทราบ

ญาติผู้ใหญ่ที่เล่าให้ฟังนั้นท่านบอกว่า ถ้าไม่ใช่มารดาของข้าพเจ้าเป็นคนเลี้ยงแล้ว พวกเราเลี้ยง(ไม่)ไหว คำเช่นนี้ต้องหมายความว่า เมื่อเลี้ยงไปไม่ไหว มีทางเดียวเท่นั้น คือโยนทิ้งเสียให้สิ้นเรื่องไป หรือให้รู้แล้วรู้รอดกันเสียที เรื่องที่เลี้ยงยากนั้นมีอะไรบ้าง ท่านไม่ได้เล่าให้ฟังทั้งหมด ท่านบอกว่า กลัวข้าพเจ้าจะละอายตัวเอง เพียงแต่บอกว่า ขี้ร้องไห้เก่ง ถึงกับมารดาบิดาไม่ได้หลับไม่นอนแทบทุกคืน ยังมีผู้หญิงอีกคนที่เกิดรุ่นเดียวกัน อยู่บ้านไม่ห่างกันเท่าไหร่นัก ซึ่งร้องไห้เก่งเป็นคู่แข่งขันกัน จนทำให้พวกบ้านที่อยู่ใกล้เคียวกันลำบากรำคาญไปตาม ๆ กัน ถ้าร้องไห้เวลากลางวัน มารดาก็ต้องอุ้มไปเที่ยวทางโน้นทางนี้จึงค่อยหยุดร้อง หยุดไปพักหนึ่งแล้วก็ร้องอีก มารดาก็ต้องอุ้มไปเที่ยวอีก เป็นอยู่อย่างนี้ตลอดวัน ครั้นโตขึ้น พอพูดได้ก็อีกแหละ เดี๋ยวก็รบเร้าให้มารดากั้นร่มพาเดินเที่ยวไปตามบ้านต่าง ๆ เดี๋ยวก็รบเร้ามารดาอยากไปเที่ยวป่าโน้นป่านี้ มารดาต้องตามใจทุกอย่างจึงจะยินยอม ถ้ามารดาของข้าพเจ้ามีนิสัยสันดานอย่างหญิงโสเภณีทั้งหลายแล้ว ชีวิตของข้าพเจ้าคงจะกลายเป็นผีไปแต่สมัยนั้นแน่นอน

เมื่อข้าพเจ้าเจริญวัยขึ้นมา พอรู้เดียงสาได้บ้าง พร้อมทั้งได้รับคำบอกกล่าวจากญาติชั้นผู้ใหญ่ดังกล่าวมาแล้วนั้น ทำให้จิตใจของข้าพเจ้าว้าเหว่อย่างบอกไม่ถูก เมื่อใดที่คิดถึงบุญคุณของมารดาผู้จากไปแล้ว แต่เรายังไม่รู้เดียงสาอะไร ก็แสนที่จะโศกเศร้าเสียใจถึงกับน้ำตาร่วงอยู่คนเดียว โลกที่กว้างใหญ่เมื่อมองไปแล้วดูคับแคบและมืดตื้อไปอย่างชอบกล

เรื่องภายในใจอย่างนี้ข้าพเจ้ายังไม่เคยเล่าให้ผู้ใดฟังแม้แต่ครั้งเดียว พึ่งจะเขียนจารึกไว้ในครั้งนี้เท่านั้น คนอื่นจึงไม่สามารถจะรู้เรื่องได้

ตั้งแต่มารดาได้สิ้นชีวิตจากไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงต้องติดตามบิดากลับไปอยู่ที่บ้านปู่ ส่วนย่าได้ตายไปก่อนแล้ว คงมีแต่อาหญิงอาชายเท่านั้น แม้ปู่และอาจะให้ความอบอุ่นดีอยู่ก็ตาม เวลาอยากรับประทานอาหาร ข้าพเจ้าต้องวิ่งไปหาผู้ที่ข้าพเจ้านับถือว่าเป็นพี่สาวอีกคนหนึ่งเป็นประจำ ซึ่งเป็นญาติมีบ้านอยู่ใกล้กัน พี่คนนั้นเองเป็นคนป้อนอาหารแทนมารดา เพราะข้าพเจ้าไม่ยอมให้คนอื่นป้อนอาหาร บิดาและปู่ก็ต้องตามใจ

สมัยเข้าโรงเรียน ครูให้ไปหัดอ่านหนังสือกับนักเรียนชั้นสูงกว่า ข้าพเจ้าก็ต้องไปหาพี่คนนี้เป็นประจำอีก

ว่าถึงนิสัยใจคอแล้ว ข้าพเจ้ามีนิสัยชอบเอาแต่ใจตัวเองมาแต่วันเกิด พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย น้า อา ป้า ลุง ทั้งหลายต้องตามใจข้าพเจ้าตลอดไป แต่ข้าพเจ้าก็ไม่เคยฝ่าฝืนดื้อด้าน ซุกซนเกเรไปในทางเสียหายแต่ประการใด จึงไม่เคยถูกใครดุด่าข่มเหง หรือขับหนีตีส่ง ตลอดถึงการเฆี่ยนตีไม่เคยมี บรรดาญาติผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายมีความจงรักภักดีในข้าพเจ้าทุก ๆ คน

ครั้งหนึ่งสมัยที่ยังไม่รู้เดียงสาเท่าที่ควร ปรากฏว่า น้าหญิงกับข้าพเจ้าไล่หยอกกันเล่นในสวนข้างบ้าน ข้าพเจ้าเป็นคนวิ่ง น้าเป็นผู้ไล่ติดตาม เผอิญข้าพเจ้าได้ล้มลงถูกหนามยอกเข้าที่หัวเข่าข้างซ้าย ถึงกับต้องได้ทำการรักษากันเป็นการใหญ่ กินเวลาเป็นเดือนสองเดือนจึงค่อยหาย พอเดินได้ แต่ที่หัวเข่ายังโตผิดปกติธรรมดา เขาเลยเรียกข้าพเจ้าว่า “โป้” คนนั้นก็โป้ คนนี้ก็โป้ เลยมีชื่อพิเศษเกิดขึ้นอีกชื่อหนึ่งตั้งแต่นั้นต่อมา

ครั้นต่อมาเมื่อพ.ศ. ๒๔๗๕ อายุข้าพเจ้า ๑๐ ขวบเต็ม ที่บ้านได้เกิดมีโรงเรียนเปิดสอนขึ้นที่ศาลาโรงธรรมของวัดโพธิชัยเจริญ มาแล้วหลายปี แต่ยังไม่มั่นคง บิดาได้นำตัวไปมอบให้เข้าโรงเรียน พอเรียน ก.ไก่ ข.ไข่ ไปไม่นาน ครูสอนถูกย้ายหนีไปหมด ได้หยุดเข้าโรงเรียนไปพักหนึ่ง ภายหลังมีครูมาทำการสอนต่ออีก ๓ คน จึงได้เรียนต่อมาเรื่อย ๆ จนจบ ป. ๔ บริบูรณ์ สอน  ป. ๕ ป. ๖ ได้ถูกยุบไปอีก จึงไม่มีโอกาสจะเรียนต่อ

เมื่ออายุ ๑๓ ปี กำลังเรียนอยู่ประถมปีที่ ๓ นั้น บิดาได้ถึงแก่กรรมลงไปอีก อายุของท่าน ๓๗ ปี ซึ่งเป็นการทำให้ข้าพเจ้าขาดที่ (พึ่ง) อย่างใหญ่หลวงทีเดียว ความโศกอันอุปมาเหมือนลูกคลื่น ได้เป็นก้อน วิ่งขึ้นอุดคอของข้าพเจ้าจนพูดไม่ได้ ได้แต่น้ำตาร่วงลง ๆ ทั้งคับแค้นเต็มไปในอกเท่านั้น แม้บิดาจะเคยตั้งใจไว้ว่า ลูกเอ๋ย เจ้าเป็นบุตรคนโต เกิดก่อนน้อง ๆ ทั้งหลาย เมื่อเข้าโรงเรียนแล้วจงเรียนต่อ ๆ ไป พ่อจะให้ศึกษาทางด้านกฎหมายต่อ เพื่อจะไม่ให้คนอื่นเขากดขี่โดยไร้มนุษยธรรมของโลก และให้สมกับเป็นลูกผู้ชายของพ่อ คนที่ไร้การศึกษา ไม่รู้ผิดและถูก โง่เขลาเบาปัญญา หาเกียรติความ (ที่) เกิดมาเป็นลูกผู้ชายมิได้ อันความมุ่งหวังอย่างนั้นของบิดาก็ต้องแตกสลายไปตามชีวิตของท่าน แม้ท่านเคยเริ่มต้นให้ข้าพเจ้าไปนอนเขียนคัดลอกกฎหมายลักษณะอาญาจากผู้ใหญ่บ้านมาไว้แล้วก็ตาม ความพยายามของพ่ออย่างนั้นก็ต้องสิ้นสลายตัวไปอีก

เมื่อมารดาและบิดาผู้ให้กำเนิดเกิดเกล้าได้ตายไปทั้งหมดอย่างนี้แล้ว ความฉุกคิดอำมหิตภายในใจของข้าพเจ้าย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา มองดูรอบ ๆ ตัวแล้วเป็นอ้างว้างว้าเหว่จิตใจไปเสียทุกอย่าง ไม่ปรารถนาจะอยู่ในหมู่บ้านของตนต่อไปได้อีก ถ้าไม่ไปบวชก็ต้องหนีจากบ้านไปหาตั้งตัวอยู่ทางอื่นอย่างแน่นอน เพราะน้อง ๆ ทุกคน แม้ยังเด็ก ๆ อยู่ก็ตาม ยังมีผู้ดูแลเลี้ยงดูอุปการะพอจะเป็นไปได้อยู่ ตระกูลของเราก็ไม่เคยทุกข์จนอดอยากแต่ไหนแต่ไรมา แม้จะเป็นชาวนา แต่ที่นาก็ยังกว้างขวางมากอยู่ แต่ทั้งนี้ย่อมเป็นเรื่องที่เก็บไว้ภายในใจของตนเท่านั้น

ปีนั้นข้าพเจ้าต้องทำงานหนักเกี่ยวกับการทำนา เพราะที่บ้านปู่ อาชายที่โตหน่อยก็ไม่อยู่บ้านเสีย คงเหลือแต่พวกผู้หญิงที่จะต้องทำนา ข้าพเจ้าเป็นคนชาย จึงต้องรับภาระหนักเอาเบาสู้ นอกจากเวลาไปเข้าโรงเรียน ต้องทำงาน ไถนา ดำนา แต่คราดไม่ได้ เพราะยกไม่ไหว การคราดจึงเป็นหน้าที่ของปู่เท่านั้น เวลากลางคืน ไปนอนเป็นเพื่อนกับพวกน้องและแม่ใหม่ กลางวันมาทำงานตามระเบียบ ถือเป็นความจำเป็นของชีวิต ต้องทำงานเพื่อจะไม่ต้องยอมง้อขอเขากินข้าว ไม่อดแล้วเป็นพอ สำหรับชีวิตของพวกชาวนา เงินทองหาทางอื่นยังได้ อาหารอย่างอื่นไม่ต้องจน เข้าป่าไปหายังได้ผักได้เห็น ลงน้ำยังได้กุ้งได้หอยและปูปลา เข้าไปสวนยังได้มะม่วง ขนุน กล้วย อ้อยและข่าขิง เข้าไปไร่ยังได้ฟักแฟงแตงโมและถั่วงา ไม่ต้องซื้อไม่ต้องขอ เพราะเราทำให้มันมี ไม่ใช่เราทำให้มันอด

เมื่อความจวนเจียนแห่งชีวิตของพ่อใกล้จะสิ้นลมปราณไปนั้น ได้สั่งข้าพเจ้าไว้ว่า เมื่อพ่อสิ้นไปแล้ว และลูกออกโรงเรียนแล้ว ขอลูกจงบวชให้พ่อเสียก่อนจึงค่อยคิดอ่านเรื่องอื่นต่อไป เพราะฉะนั้น คำสั่งของพ่อยังมีเสียงแว่ว ๆ อยู่ในหูตลอดกาล จึงทำให้จิตใจเอนเอียงไปทางบวชมากกว่าอย่างอื่น แต่ยังไม่พูดให้ใครฟังก่อน คิดว่าเมื่อออกมาพูด ก็ต้องเตรียมไปบวชทีเดียว คนอื่นจึงไม่ค่อยรู้เรื่อง

พวกญาติ ๆ ที่เขากำลังเป็นสาว เคยพูดล้อเลียนเล่นว่า มึงนี้ไปบวชก็คงไม่ได้กี่วัน ต้องสึกแน่ ๆ เพราะข้าพเจ้ามีนิสัยเล่นสนุกกับพวกผู้หญิงทั้งรุ่นเดียวกันและรุ่นพี่รุ่นแก่ ตามประสาของเด็กคะนอง แต่ไม่ใช่เรื่องชู้สาวอะไร มันเป็นเรื่องสนุกร่าเริงของเด็ก ๆ เพราะพวกผู้หญิงชอบเล่นกับข้าพเจ้า โดยไม่เคยรังแกข่มเหงเขานั่นเอง คนอื่นมักจะรังแกข่มเหงเขา เขาจึงไม่ค่อยเล่นด้วย แม้ในเรียนก็เช่นเดียวกัน ถ้าเขาถูกรังแกข่มเหงจากพวกคนชายอื่น เขาก็มักจะมาปรับทุกข์ให้ฟังและขอพึ่งเราเสมอ คนอื่นเขาก็ไม่กล้าติดตามมาทำอะไรได้ เรื่องเช่นนี้เอง พวกรุ่นพี่จึงเยาะเย้ยว่า เราจะบวชอยู่นานไม่ได้ แต่ข้าพเจ้าก็ไม่เคยเอารัดเอาเปรียบกดขี่ข่มเหงรังแกกับใคร ๆ ทั้งนั้น คนอื่นเขาก็ไม่เคยมาราวีสีส้มกับข้าพเจ้าเหมือนกัน แต่ข้าพเจ้าก็ไม่เคยขี้ขลาดกลัวเกรงเรื่องเช่นนั้นเลยแม้แต่นิดเดียว ถ้าเราอยู่ดีกินดีอยู่แล้ว เขาจะมาพาลหาเรื่องต่อยตีก็คิดว่าจะไม่หนีคนทั้งนั้น เพราะเขาก็คน เราก็คน มีมือเท้าเท่า ๆ กันอยู่แล้ว แม้เขาจะดื้อด้านซุกซนขนาดไหน ข้าพเจ้าก็เอามาเป็นเพื่อนได้เสมอไปทั้งสิ้น ข้าพเจ้าจึงไม่เคยมีคู่กรรมคู่เวรมาตั้งแต่เด็ก มีแต่เพื่อดีทั้งหญิงทั้งชาย

สำหรับการเรียนนั้น ข้าพเจ้าไม่เก่งทุกวิชา มีเก่งก็แต่เลขคณิตเท่านั้น การสอบวัดผลจึงต้องอยู่ในระดับที่ ๒ และที่ ๓ ส่วนมาก ระดับสมองยังปรากฏว่าความจำพอใช้การได้ดี บางครั้งที่ครูให้ท่องวิชาการบ้าน เราจะท่องให้จำไว้พอลาง ๆ เท่านั้น รุ่งเช้าพอตื่นนอนขึ้นมา มันจะคล่องเอง ไม่หลงลืมเหมือนอื่น ฉะนั้น ครูจึงไม่เคยได้ดุและเฆี่ยนตีเหมือนเพื่อน ๆ ทั้งเราดื้อด้านเหมือนคนอื่นเขาไม่เป็น แต่การเล่นทางสนุกสนานร่าเริงนั้นกว่าเขาอยู่บ้าง นี่คือเรื่องวัยเด็ก

บรรพชา

เมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๔๗๘ สอบประถมปีที่ ๔ เรียบร้อยแล้ว ข้าพเจ้าคงตัดสินใจออกบวชเป็นที่แน่นอน และยายของข้าพเจ้าซึ่งไปบวชเป็นชีอยู่ที่วัดอรัญญิกาวาส บ้านม่วงไข่ (ที่)มีพระอาจารย์วัง ฐิติสาโร เป็นอาจารย์อยู่ที่นั้น จะเป็นผู้นำตัวไปฝากให้อยู่กับท่านพระอาจารย์วัง เราจึงเข้าไปกราบลาปู่ไปขอบวช เบื้องต้นพูด (ไม่) ออก อาจจะเป็นด้วยท่านรักเรามากนั้นเอง เพราะเราเคยนอนแนบข้างปู่ทุก ๆ คืน และก็ไม่เคยทำให้ท่านได้มีความทุกข์ร้อนด้วยแม้แต่ครั้งเดียว วันหลังปู่จึงค่อยอนุญาตให้ไปบวชได้ วันที่ออกเดินทางไปนั้น จำได้ว่า ปู่ให้เงินเหรียญไปด้วยหนึ่งบาท เสร็จแล้วลุงเป็นผู้นำไปมอบให้กับยาย ยายจึงนำตัวไปมอบฝากกับพระอาจารย์วัง ฐิติสาโรต่อไป

วันที่ออกจากบ้านไปอยู่วัดนั้น จะเป็นวันใดแน่จำไม่ได้ เพราะโรงเรียนปิดเทอมร้อน คงจะเป็นระหว่างปลายเดือนมีนาคม

เบื้องต้นที่ไปอยู่แล้ว ๒ - ๓ วันแรก พอตกตอนเย็นมา เกิดความว้าเหว่ในใจมาก มันช่างเงียบเหงาเสียเสียเกิน จะว่าคิดถึงบ้านหรือคิดถึงใครนั้นบอกไม่ถูก แต่ใจหนึ่งคิดว่า ๓ ปี เราจึงจะกลับไปเยี่ยมบ้าน หลวงพ่ออ่อนซึ่งเป็นญาติผู้ใหญ่ก็บวชมาอยู่ที่นั้นเหมือนกัน แต่ความสนิทสนมมาก่อนไม่ค่อยมี เพราะบ้านอยู่คนละข้างหมู่บ้าน จึงไม่ทำให้อบอุ่นใจเพียงพอ เพราะฉะนั้น บางคนที่เข้าไปเป็นนาคจะบวช จึงต้องเลิกหนีไปเสียก็มี เพราะใจไม่หนักแน่น ไม่มีความอดทน และไม่คิดให้ถี่ถ้วน ทั้งไม่รู้จักรักษาเกียรติยศของตน ต้องคิดมั่นใจไว้ว่า เรื่องไม่ถึงที่ตาย เราต้องอดทนต่อสู้ไปจนกว่าจะได้ชัยชนะ

ครั้นอยู่นาน ๆ ไป เรื่องเช่นนั้นมันก็หายไปเอง ความยึดถือว่าบ้านเรา บ้านเขาก็ไม่มี เพียงแค่ถือว่าบ้านนั้น บ้านนี้ตามชื่อของแต่ละหมู่บ้านเท่านั้น ความยึดถือในถิ่นฐานบ้านช่องก็เลือนหายไปเอง จะไปอยู่ในสถานที่ใด ๆ ก็สบายใจเสมอกัน คือไม่มีแปลกต่างอะไรกัน คนก็มีผู้หญิงผู้ชายเหมือนกันทั้งโลก มีคนโง่คนฉลาด คนดี คนชั่ว คนสะอาดคนสกปรก เหมือนกันทุกบ้านทุกเมืองทุกประเทศ อาการหารกินหรือเขากินอะไร เรากินกับเขาได้ เพราะเราก็คน เขาก็คน ตกลงแล้วเราเป็นคน เขาก็เป็นคนอยู่ด้วยกัน อาศัยกันไปได้ตามประเพณีคน จึงเป็นคนที่ไม่ต้องเดือดร้อน

ชีวิตระหว่างศึกษา

เมื่อพ.ศ. ๒๔๘๓ อายุของข้าพเจ้าย่างเข้า ๑๙ ปี ยังเป็นสามเณรอยู่ ปีนี้ข้าพเจ้าได้จำพรรษาที่ วัดสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร ได้เริ่มเรียนนักธรรมตรี โดยอาจารย์คำพอง เป็นผู้สอน เป็นสมัยที่เจ้าคุณอริยคุณาธาร (พระมหาเสง ปุสฺโส) เป็นเจ้าอาวาส ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นผู้รั้งเจ้าคณะจังหวัดสกลนคร การเรียนของข้าพเจ้ามีอ่อนวิชาเรียงความแก้กระทู้ธรรม ฉะนั้นในเวลาสอบเอาจริง จึงได้เพียงคะแนนโท อยู่ในอันดับสอง ครั้นสอบเสร็จก็ได้เดินทางไปจังหวัดอุบลราชธานี กับพระสิงห์ ธมฺมปาโล (ลาสิกขาแล้ว) เพื่อนมัสการท่านอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโลเถระ เวลานั้นท่านพักอยู่ป่าบ้านท่าฆ้องเหล็ก

ครั้นเวลาเข้าไปศึกษาจากท่าน ๆ ก็ได้แนะนำโดยเล่าถึงความปฏิบัติที่ท่านได้เคยทำมาก่อนแล้วนั้นโดยลำดับ แต่ก็ไม่ค่อยจะจำได้เท่าไร

เมื่อมาฆะบูชาแล้ว ท่านได้ย้ายสถานที่ไปวัดดอนธาตุ อำเภอพิบูลมังสาหาร โดยไปแวะพักที่วัดบูรพาราม อุบล ท่านกับพระผู้อุปัฏฐากไปทางรถยนต์ ส่วนพวกเราพากันลงเรือกลไฟจากท่าเรืออุบล ขึ้นที่ท่าเรือพิบูล แวะพักที่วัดเขาแก้ว อำเภอพิบูลมังสาหาร ราว ๔ - ๕ คืน ส่วนท่านได้ไปทางเรือ พวกเราเดินเท้าไป ถึงวัดดอนธาตุ บ้านทรายมูลในวันนั้น

วัดนี้เป็นเกาะมีน้ำรอบ ไปบิณฑบาตต้องข้ามด้วยเรือทุกวัน ไปบิณฑบาตได้สอง ทาง คือ บ้านทรายมูล กับ บ้านหัวดอน บ้านดอนไร่

ในระหว่างที่พักอยู่กับท่าน การทำข้อวัตรอุปัฏฐากท่าน ข้าพเจ้าในฐานะเป็นอาคันตุกะก็ทำอยู่ในขั้นนอก ไม่ได้ประจำหน้าที่โดยเฉพาะ เพียงแต่ทำช่วยเพื่อนเท่านั้น ท่านให้ทำพิเศษก็คือ กดเอ็นท้องให้ท่านทุกวันในเวลานวดเส้นตอนกลางคืน การกดเอ็นท้องท่านนั้น ต้องใช้หัวแม่มือกดให้แรงเท่าที่จะแรงได้ เพราะหนังท้องท่านหนามาก และเอ็นท่านก็ด้านต่อการนวดเสียแล้ว ฉะนั้นการนวดเส้นถวายท่าน จึงต้องใช้ความแข็งแรงของเรามาก เมื่อเป็นเช่นนี้ เราต้องฉลาดบ้าง คือต้องใช้หัวแม่มือวันละทาง เพื่อผลัดเปลี่ยนกันในวันต่อ ๆ ไป เพราะเราจะต้องทำเป็นประจำทุกวันไม่ให้ขาด เมื่อเราไม่ไปทำทุกวัน ท่านก็ไม่ว่าอะไร แต่มันเป็นความขี้เกียจของเรา ไม่สนกับเราต้องการความดีจากท่าน ทั้งไม่สมควรแก่หน้าที่ของเราผู้เป็นศิษย์ ซึ่งพระวินัยบ่งชี้ไว้แล้วทุกประการ ที่สัทธิวิหาริก หรือ อันเตวาสิก จะต้องปฏิบัติต่อพระอุปัชฌายะหรือพระอาจารย์ ฉะนั้นข้าพเจ้าจึงได้พยายามทำข้อวัตรปฏิบัติมิได้ท้อถอย

ครั้นต่อมาระหว่างเดือน ๖ ข้าพเจ้าต้องการจะลาท่านไปเรียนนักธรรมต่อที่เป็นสำนักเรียน ท่านบอกว่า ถ้าท่องปาฏิโมกข์ยังไม่จบ ไม่อนุญาตให้ไป เพราะท่านได้สั่งให้ท่องแล้วแต่เดือน ๓ ว่า พวกเณรที่อายุ ๑๙ ปีแล้วให้ท่องปาฏิโมกข์ให้ได้ทุกคน เราก็คิดว่าท่องไปค่อยได้หมดเวลาใดก็ได้ เมื่อไม่เป็นไปตามที่เราคิดไว้ ก็ต้องเร่งรีบในการท่องบ่นต่อไป ในไม่กี่วันก็ได้จบทีเดียว ข้าพเจ้าก็ได้ไปเล่าให้ครูบาสิงห์ ธมฺมปาโลฟังจนจบ ปาฏิโมกข์ของข้าพเจ้าจึงท่องจำได้มาแต่ครั้งนั้น นับว่าได้ปาฏิโมกข์เพราะพระเดชพระคุณท่านอาจารย์นั้นเอง

เมื่อไม่มีความขัดข้องแล้ว ข้าพเจ้าก็ได้กราบลาท่านไปสู่สำนักเรียนที่วัดสระแก้วรังษี ในอำเภอพิบูลมังสาหาร ครูบาสิงห์เป็นผู้นำฝากให้อยู่กับท่านพระครูบุณฑริกบรรหาร (ทองคำ จนฺทูโม ป.๕) ท่านพระครูองค์นี้เป็นเจ้าคณะกิ่งอำเภอบุณฑริก ท่านมาอาศัยวัดนั้นอยู่เฉย ๆ ไม่ใช่เจ้าวัด ที่วัดนี้มีท่านพระครูพิบูลสมณกิจ (เก้า) เป็นเจ้าอาวาส ทั้งเป็นเจ้าคณะอำเภอพิบูลมังสาหารด้วย

เมื่อพ.ศ. ๒๔๘๔ ข้าพเจ้าได้พักจำพรรษาที่วัดสระแก้วรังษี อำเภอพิบูลมังสาหาร ได้เรียนนักธรรมโท ณ ที่นั้น การเรียนของข้าพเจ้าโดยหาผู้เก่งกว่ามิได้ จึงต้องได้เป็นที่ ๑ เพื่อนในสำนักนี้ สอนโดยอาจารย์โสภา โสภโณ และปีนี้ทางวัดบรมนิวาสได้ส่งพระมหาคล้าย ธานี ฉายา กวิวงฺโส (ลาสิกขาแล้ว) มาเป็นครูสอนบาลีไวยากรณ์ แต่ไปสอนที่วัดกลาง ข้าพเจ้าก็ได้เรียนด้วยผู้หนึ่ง การเรียนอยู่ในอันดับสอง แต่เผอิญครูสอนไม่จบ สอนได้เพียง นามนาม - อัพยยศัพท์ และ สมาส - ตัทธิต กับหัดแปล อุภัยพากยปริวัตน์ ไปบ้าง ว่าถึงการสอบธรรมสนามหลวง ข้าพเจ้าได้คะแนนเอกในชั้นโทนั้น การสอบธรรมได้เข้าไปสอบที่กิ่งอำเภอบุณฑริก (เป็นอำเภอแล้ว)

เสร็จจากการสอบ ครูบาสิงห์ได้พาไปเยี่ยมญาติท่านที่บ้านโนนยาง ต.ไผ่ อ.ยโสธร ท่านได้พาญาติของท่านจัดบริขารให้ข้าพเจ้าบวชเป็นพระ ข้าพเจ้าก็จำใจต้องไปอุปสมบทให้ท่านตามความประสงค์ ความจริงข้าพเจ้าตั้งใจว่า ราวอายุ ๒๕ หรือ ๒๖ ปี จึงจะบวชพระ เพราะด่วนบวช เราต้องแก่พรรษาง่าย ขี้เกียจเป็นหัวหน้าเพื่อน ทั้งภาระของเราในฐานะเป็นผู้แก่นั้นก็ต้องมาก จะไม่มีเวลาทำธุระของตนเพียงพอ ฉะนั้นการอุปสมบทของข้าพเจ้าในครั้งนี้จึงเป็นเรื่องที่ต้องจำใจในเพราะความนับถือกัน

การบวชได้เดินทางไปบวชที่วัดสว่างโศก อำเภอยโสธร โดยท่านพระครูจิตตวิโสธนาจารย์ โสภณเถระ (ฮวด) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์มหากล้า (ลาสิกขาแล้ว) เป็นกรรมวาจาจารย์ ในวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๓ พุทธศักราช ๒๔๘๕ บวชแล้วก็กลับบ้านโนนยางอีก เสร็จธุระแล้วได้พากันออกไปเรื่อย ๆ จนถึงบ้านข่าโคม ไปบ้านท่าวารีแล้วเดินทางกลับเข้าอุบลไปอำเภอวาริน ครั้นต่อมาก็ได้พากันเดินทางกลับมาทางสกลนครในแล้งนั้น

ไข้เกิดขึ้น

ระหว่างพักอยู่บ้านข่าโคมนั้น เริ่มจับไข้ขึ้น แล้วก็เป็นไข้ต่อ ๆ มา ที่หยุด ที่ไข้ เป็นอย่างนั้นมาโดยลำดับ และผลัดเปลี่ยนกันไข้กับครูบาสิงห์ ครั้งเมื่อเดินทางจากบ้านท่าวารีไปอุบล ได้เกิดจับไข้ไปตามทาง การไข้ก็หาได้พักนอนไม่ ต้องเดินไปเรื่อย ๆ บางครั้งถึงกับเดินไปจะยกขาไม่ขึ้น เวลาพักเหนื่อย เมื่อวางของออกจากบ่า ต้องล้มนอนไปเลย ลุกขึ้นตะพายของเดินทางต่อไปอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อเดินทางออกจากอุบล เพื่อกลับสกลนครครั้งนี้ ข้าพเจ้าไปเยี่ยมญาติที่บ้านหนองหลัก ครั้นเยี่ยมญาติแล้วก็เดินทางไปพักที่ป่าสำราญนิเวศน์ อำเภออำนาจเจริญ เพราะได้นัดกับครูบาสิงห์ว่า ท่านจะขึ้นรถจากอุบลมาเบารับที่นั้น แต่แล้วก็ผิดหวังทีเดียว เมื่อถึงวันนัด ข้าพเจ้าก็มารอรถอยู่ที่ใกล้ทางรถ นอนรอไข้  รออยู่จนค่ำไม่ได้ไป วันที่ ๒ ก็เช่นเดียวกัน ครั้นวันที่ ๓ ข้าพเจ้าได้ตัดสินใจขึ้นรถไปทีเดียว แต่ก็เป็นด้วยเคราะห์กรรมข้าพเจ้าอีก ครั้นรถยนต์ที่โดยสารไปนั้น ได้ผ่านอำเภอมุกดาหารไปหน่อยได้(เกิด)เครื่องเสีย ไปไม่ได้ ทำให้หมดหวังในการไปกับรถ เพราะรถคันอื่นอีกก็ไม่มี ทั้งตะวันก็เกือบค่ำอยู่แล้ว

ได้ออกเดินทางไปกับพระฝ่ายคณะมหานิกาย ๒ องค์ วันนั้นได้แวะพักที่บ้านหนองแอก รุ่งเช้า ฉันเสร็จได้พากันเดินทางต่อไป ระหว่างเดินทางจวนจะเที่ยง จึงแวะพักชั่วคราวที่วัดบ้านชะโนดเพื่อให้หมู่พระนั้นได้ฉันเพล ส่วนข้าพเจ้าเกิดจับไข้ขึ้นขนาดหนัก ได้ตั้งใจว่า ถ้าไข้ไม่สร่าง จะให้หมู่พระที่มาด้วยกันนั้นเดินทางไปก่อน ส่วนตน สร่างไข้เวลา (ใด) ก็จะค่อยเดินไปผู้เดียว

ครั้งนั้นยาจะฉันก็ไม่มี เผอิญเพื่อนพระนั้นท่านเอา ยาทันใจ (เป็นยาแก้ไข้แก้ปวดในสมัยก่อน ปัจจุบันนี้ชื่อ "ยาทัมใจ") ให้ ๑ ซองก่อนท่านไปฉันเพล พอเพื่อนพระฉันเพลเสร็จไข้ก็ได้สร่าง จึงตกลงต้องเดินทางกับคณะต่อไปอีก ครั้นจวนจะถึงแม่น้ำก่ำ มีรถฝรั่งวิ่งผ่านมา จึงเบาให้เขาหยุด แล้วขึ้นรถไปลงที่อำเภอธาตุพนม เผอิญค่ำมากจึงต้องแวะพักที่ธาตุพนมพร้อมด้วยคณะ พอจวนจะสว่างเกิดจับไข้ขึ้นมาอีก รุ่งเช้าได้บอกคณะว่า ไม่ฉันจังหันเพราะฉันไม่ได้ ระหว่างจังหันเสร็จนั้น ครูบาสิงห์ที่พักอยู่วัดอ้อมแก้วได้ข่าวก็พาเด็กวัดเข้าไปหา นำขนมไปให้ฉันด้วย ข้าพเจ้าจึงได้อำลาคณะเดินทางนั้นออกไปพักที่วัดอ้อมแก้ว พักรักษาไข้อยู่ที่นั้นเป็นหลายวัน จึงค่อยฟื้นตัวขึ้นได้ ต่อมามีญาติโยมบ้านนาโศก อำเภอนาแกได้มารับเอาไป จึงได้เดินทางไปพักที่วัดป่าบ้านนาโศกต่อไป พักอยู่ที่นั้นจนได้แรงดี จึงได้เดินทางไปจังหวัดสกลนคร แล้วเดินทางไปบ้านเดิม เพื่อรักษาตัวต่อไป และได้แยกทางกับครูบาสิงห์ ณ ที่นั้น

พ.ศ. ๒๔๘๕ ครั้นใกล้จะเข้าพรรษา กับคณะหลายองค์ มีพระสา (ลาสิกขาแล้ว) เป็นต้นได้เดินทางกลับสกลนครอีก พักจำพรรษาที่วัดสุทธาวาส มี ท่านอาจารย์พรหม จิรปุญฺโญ เป็นเจ้าอาวาสชั่วคราว อยู่ ณ ที่นั้น การไปวัดสุทธาวาสครั้งนี้ ให้มีเหตุข้างหลังเกิดขึ้น โดยอาจารย์อุ่ย สุขกาโม (ลาสิกขาแล้ว) หาว่าพระสา โลภเอาปัจจัยของสงฆ์ ถึงกับไปโจษกันที่วัดสุทธาวาส เรื่องมันก็ต่อเนื่องไปถึงข้าพเจ้าเหมือนกัน แต่ผู้โจษจันไม่บ่งถึงเท่านั้น ฉะนั้นข้าพเจ้าจึงได้เขียนรายการรับและจ่าย สมัยที่พักอยู่วัดคามวารี ทุกประการ แล้วให้พระสาเอาไปเสนออาจารย์อุ่ยให้ทรายรายละเอียด และข้าพเจ้าได้สั่งกับพระสาไปอีกว่า ถ้าไม่สิ้นสงสัยก็ให้เจ้าโจษจันนั้นเอาเรื่องผิดถูกกันทีเดียว ไม่ต้องพูดเล่นกันเฉย ๆ ที่ข้าพเจ้าไม่พูดเองก็เพราะผู้โจษนั้นยังไม่เกี่ยวข้องถึงตัว แต่แล้วเรื่องก็ได้สงบไป

ปีนี้ข้าพเจ้าได้เรียนนักธรรมชั้นเอกด้วย ดูหนังสือด้วยตนเอง ไม่มีครูสอน และได้เรียนบาลีไวยากรณ์ด้วย โดยพระมหาพิมพ์ (ลาสิกขาแล้ว) เป็นครูสอน แต่ครูก็สอนไม่จบอีก สอนได้เพียง นามนาม - อาขยาต เท่านั้น

เมื่อออกพรรษาแล้ว ข้าพเจ้ากับพระสา ได้เดินไปสอบธรรมที่กิ่งอำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี เพราะไม่ได้ย้ายสำมะโนครัวนักธรรม ครั้นสอบเสร็จได้ไปพักรอฟังข่าวสอบอยู่ที่วัดภูเขาแก้ว อำเภอพิบูลมังสาหาร เป็นด้วยเคราะห์อีก เราทั้งสองได้จับไข้กัน ไม่มีใครจะพยาบาลกันเลย บางครั้งเป็นหนักถึงกับฉันจะไม่ได้เสียเลย ที่ตัวร้ายก็คือ ไข้จับสั่น การจับสั่น ก็สั่นจนกุฏิสั่นสะเทือนไปด้วย หายใจทั้งทางจมูกและทางปากก็ยังไม่พอ ผ้าห่มจะกี่ผืนก็ไม่อุ่น จนอาการไข้อ่อนลง จึงจะรู้สึกอบอุ่นขึ้นมาได้ กำลังก็ถูกลดลงไปวันละมาก ๆ ถ้าเป็นอย่างนี้ ถึง ๑๐ วัน คงจะนอนติดเสื่อทีเดียว แต่ก็ด้วยเดชะบุญ ชนิดจับสั่นมันก็เป็นราว ๔ - ๕ วันเท่านั้น แล้วก็เปลี่ยน(เป็น) ไข้ธรรมดาต่อไป

ระหว่างจำพรรษาที่วัดสุทธาวาส ข้าพเจ้าได้ถูกเป็นไข้จับสั่นมาบ้างเหมือนกัน จับสั่นถึงขนาดนอนไม่ได้ ต้องลุกนั่งชันเข่า เอาศีรษะก้มลงหายใจให้ถูกกับหน้าอก จึงค่อยทุเลาที่เป็นได้ ครั้นคราวพักอยู่วัดภูเขาแก้วนี้ก็ถูกอีก แต่ครั้งนี้ต้องประสบเคราะห์ร้ายหน่อย ยาจะฉันก็หาได้อย่างขัด ๆ ข้อง ๆ เต็มที เพราะตามโรงร้านก็ไม่ค่อยมีเสียด้วย มูลค่าจะจับจ่าย ก็ถึงคราวจนเสียด้วยซ้ำ ทั้งพระเณรในวัดนั้น ก็ไม่มีผู้ดูแลให้ความอุปการะเสียเลย มีบ้างแต่หลวงพ่อเพ็ชร์องค์เดียวเท่านั้นที่ไปถามข่าวบ้างในตอนค่ำทุก ๆ วัน แต่ก็จะช่วยเหลืออย่างใดนั้นไม่มี ทางญาติโยมประจำวัดนั้น เขาก็ไม่เหลียวแลอีก ดีหน่อยที่ได้แม่ขาวจันแดง ที่เป็นน้องสะใภ้ท่านอาจารย์พรหม บ้านดงเย็น ได้ไปพักอยู่ในสำนักชีแห่งวัดนั้น ได้จัดอาหารไปถวายในเวลาป่วยทุกวัน แม้ขณะนี้ข้าพเจ้าก็หาได้ลืมอุปการคุณของแกไม่

ถึงจะตกทุกข์ประการใด ภายใจของข้าพเจ้าเองก็มิได้หวั่นไหวแต่ประการใด จะให้คิดถึงพ่อแม่ญาติพี่น้องและหมู่เพื่อนเดิมก็ไม่มี ใจได้สบายไปเรื่อย ๆ ไม่เห็นว่ามันห่วงอาลัยอะไร เมื่อกำลังกายได้ทุพลภาพลง ได้แต่คอยดูลมหายใจจะหมดไปเท่านั้น ฉะนั้น ในเวลาสร่างไข้แล้ว เป็นระหว่างกลางวันแห่งวันหนึ่ง เผอิญจิตได้ดำเนินจะลงรวมเป็นสมาธิ ได้ปรากฏอาการแปลกคล้าย ๆ กับว่าใจจะขาด จะเป็นการหายใจไม่สะดวกก็ไม่ใช่ มันหากเป็นเพียงอาการแห่งความสำคัญของจิตเท่านั้น จึงเกิดความสงสัยขึ้นมาว่า ถ้าเป็นโมกขธรรมจริง ทำไมจึงจะให้คนตาย คงจะไม่ใช่กระมัง คิดวิพากษ์วิจารณ์ตามเรื่องของตนอยู่ในทำนองนี้ไป ๆ มา ๆ ถ้าจะไปถามผู้อื่นหรือ ภายในวัดนั้นก็ไม่มีใครที่จะแนะนำได้ จึงจำเป็นต้องตัดสินด้วยตนเอง

คราวนี้ได้กำหนดจิตให้ถอนออกมาจนเป็นจิตตามธรรมดา พักอยู่ครู่หนึ่งแล้วกำหนดให้ลงไปอีก ได้กำหนดเข้า กำหนดออกเป็นหลายหน ใช้นอนกำหนดบ้าง ลุกนั่งกำหนดบ้าง ทำอย่างไรจิตก็ยังสำคัญมั่นอยู่อย่างเดิม ในที่สุดต้องตัดสินด้วยตนเองว่า ไม่ใช่โมกขธรรม แล้วกำหนดจิตให้ออกจากอาการเป็นอย่างนั้น ไม่ให้มันเป็นอีกต่อไป

เราก็พึ่งสอบนักธรรมเอกมาใหม่เสียด้วย เรื่องสมถะและวิปัสสนาคิดว่าใครถามก็ไม่ยอมติด แต่เมื่อมาปรากฏแก่ใจของตนเองแล้ว ไม่รู้เสียเลยว่าอย่างนี้เป็นอะไรต่ออะไร คิดขบขันในตัวเองเหมือนกัน ที่เรียนมาแล้วไม่รู้ น่าแปลกจริง ๆ คนอื่นจะเป็นอย่างเราหรือก็ไม่ทราบ เพราะเป็นของใครแต่ละคน

เรื่องนี้จะได้กล่าวตามที่ได้ศึกษาจากครูบาอาจารย์ผู้ท่านรู้จริงในภายหลัง ท่านแสดงว่าอาการในเบื้องต้นของอานาปานสติสมาธิ ถ้าหากปล่อยจิตให้เลยลงไปจากที่ว่านั้นแล้ว จิตก็จะเข้าถึงอัปนาสมาธิทีเดียว จึงเป็นที่น่าเสียดายมากทีเดียว เพราะกว่าจะบำเพ็ญให้จิตเป็นไปในขั้นอัปนาจิตมิใช่ง่ายเสียเมื่อไหร่ ถ้าจะว่ากันอย่างภาษาหยาบ ๆ ก็ต้องว่า น่าฆ่าทิ้งเสียจริง ๆ ที่เรียนแล้วไม่รู้ ฉะนั้นจึงน่าเสียดายคุณธรรมส่วนนี้มาก

อาการไข้ในระยะหลังมา ได้เป็นไข้ที่เว้นวันจับวัน เป็นอยู่ราว ๑ เดือน ท่านพระครูบุณฑริกบรรหารที่กลับจากกรุงเทพ เวลาที่ท่านพักอยู่อุบลได้ทราบข่าวอาการเป็นไข้ของข้าพเจ้าแล้ว ท่านได้เข้าไปขอเอายาควินินน้ำจากโรงพยาบาลมาให้ ๑ ขวด เมื่อได้ฉันยาควินินน้ำสัก ๒ – ๓ วัน ไข้ก็ได้หยุดขาดไปทีเดียว

ครั้นต่อมาข่าวสอบก็ได้รู้แน่นอนว่าสอบได้และได้คะแนนเอกอีก การเรียนชั้นเอกนี้ตามความจริงแล้วข้าพเจ้าเป็นอันดับหนึ่งในสำนักสอบแห่งนั้น เพราะหมู่เพื่อนในชั้นสอบครั้งนี้ ๕ องค์ด้วยกัน บางองค์ก็ตกมาแล้ว ๕ ปีบ้าง ๔ ปีบ้าง ๓ ปีบ้าง ๑ ปีบ้าง ข้าพเจ้าเป็นนักเรียนแต่ผู้เดียว แต่เมื่อก่อนเข้าห้องสอบหมู่ในชั้นนี้ ทุกองค์ต้องอาศัยชั้นเชิงแห่งการตอบปัญหาจากข้าพเจ้าทั้งสิ้น ในที่สุดก็สอบได้ทั้งหมดด้วยกัน

เพราะเหตุนั้น ท่านพระครูเห็นว่า ข้าพเจ้าจะพอช่วยธุระของท่านให้เจริญไปได้ ท่านจึงหาวิธีผูกข้าพเจ้าไว้กับท่าน โดยท่านได้ตั้งข้าพเจ้าเป็นพระสมุห์ในฐานาของท่าน แล้วยังปรารภจะตั้ง (ให้เป็น) เจ้าคณะตำบลหรือกรรมการสงฆ์ในกิ่งอำเภอของท่านด้วย แต่ข้าพเจ้าไม่ปรารถนาที่จะมามัวยุ่งด้วยงานประเภทนี้ เพราะได้พิจารณาแล้วว่า ผลที่จะพึงได้แก่ตนมีน้อย ซ้ำยังทำให้ตนเองมัวเมาลุ่มหลงไปกับยศศักดิ์และตำแหน่งหน้าที่ของตน ทั้งหาโอกาสทำความบริสุทธิ์แก่ตนได้ยาก

ถ้าจะว่าทำไมจึงกล้าพูดตำหนิไปเช่นนี้ ก็เพราะข้าพเจ้าได้เป็นนักเรียนปริยัติธรรมมาแล้ว หมู่เพื่อนเรียนของข้าพเจ้าก็มีมาก เพื่อนที่อยู่ในกรุงเทพก็มี ที่อยู่ตามชนบทก็มีหลายจังหวัด ข้าพเจ้าจึงรู้จิตใจของผู้เรียนปริยัติดีทุกประการ และงานเจ้าคณะ ข้าพเจ้าก็เป็นผู้ช่วยงานท่านเจ้าคณะมาหลายปี และได้พยายามสังคมกับเจ้าคณะอื่น ๆ อีก จึงทำให้รู้จิตใจของ (เจ้า) คณะดีทุกประการ เรื่องนี้ข้าพเจ้าไม่ให้ใครโกหกได้ทีเดียว เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่ปรารถนาที่จะเป็นครูสอนปริยัติธรรม และไม่ปรารถนาที่ (จะ) เป็นเจ้าคณะ ข้าพเจ้าจึงได้หาทางปลดเปลื้องภาระประเภทนี้เสมอมา

ระหว่างเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๖ ข้าพเจ้ากับพระสาก็ได้เดินทางกลับบ้านเดิมที่เรียกว่า ปิตุภูมิ เนื่องด้วยการคัดเลือกทหารของข้าพเจ้า จึงได้นมัสการลาท่านพระครูซึ่งเป็นที่รักของข้าพเจ้า ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ได้โดยสารรถไฟจากอุบล พักที่วัดสาลวัน นครราชสีมา ๑ คืน แล้วขึ้นรถไฟจากนครราชสีมา พักที่วัดหนองบัว อุดรธานี ๑ คืน ขึ้นรถยนต์จากอุดร ลงรถที่ดอนเขือง แล้วก็เดินทางเข้าวัดคามวารี ตาลโกน รอเวลาคัดเลือกทหารอยู่ที่นั้น ในการคัดเลือกทหาร ข้าพเจ้าได้ตั้งใจอธิษฐานว่า ถ้าบุญกุศลของข้าพเจ้ายังมี จะได้ปฏิบัติพระธรรมวินัยของพระพุทธศาสนาต่อไป ขออย่าได้ถูกเป็นทหารเป็นเด็ดขาด ดังนี้

เผอิญปีนั้นเป็นที่หน่วยทหารย้ายมาตั้งที่ธาตุนางเวงใหม่ ๆ ทั้งสงครามญี่ปุ่นกำลังป่วนปั่นอีกด้วย ทางหน่วยราชการทหารก็ต้องการทหารมากเฉพาะจังหวัดสกลนคร ข้าพเจ้ารับคัดเลือกได้ดี ๑ ประเภท ๒ จึงถูกปล่อยตัวมาชั่วคราว ระหว่างเดือนตุลาได้ถูกเรียกพวกดี ๑ ประเภท ๒ เข้าไปรับราชการทหาร ข้าพเจ้ายังมีช่องทางอยู่ จึงนำใบประกาศฉายาบัตรนักธรรมโทไปยกเว้นการเป็นทหาร ก็ได้หลุดพ้นไป และงานเจ้าคณะทางกิ่งอำเภอบุณฑริกนั้น ข้าพเจ้าอาศัยเหตุความเจ็บป่วยเป็นข้ออ้าง โดยได้มี จ.ม.ไปเรียนท่านพระครูบุณฑริกบรรหารทุกประการ ท่านก็ได้เห็นใจข้าพเจ้าเพราะความจำเป็นมีจริง ท่านจึงมีจ.ม.อนุญาตมาให้อภัยข้าพเจ้าตามประสงค์ งานเจ้าคณะก็ได้หลุดพ้นไปอีกเหมือนกัน

แต่ในแล้งนั้นก็เป็นที่น่าเสีย (ใจ) อยู่บ้าง คืองานฌาปนกิจศพของพระคุณท่านอาจารย์เสาร์ กันตสีลเถร ซึ่งเป็นครูบาอาจารย์ที่สักการะยิ่ง ได้มีงานฌาปนกิจศพระหว่างเดือนเมษายน ซึ่งเป็นระหว่างการคัดเลือกทหารของข้าพเจ้า ด้วยเหตุขัดข้องมี ข้าพเจ้าจึงไม่ได้ไปร่วมในงานนั้น แต่ก็ยังดีหน่อย ได้ไปนมัสการศพท่านแล้วแต่สมัยท่านมรณภาพใหม่ ๆ ที่วัดบูรพาราม อุบล เมื่อปีก่อนโน้น

ปี พ.ศ. ๒๔๘๖ ข้าพเจ้ายังเป็นไข้อยู่เสมอ ทีหายทีเป็นอยู่อย่างนั้น ทั้งยาแก้ไข้ก็หายาก ไปต้องการมาจากอนามัยอำเภอหรือ ก็ได้ทีละนิดหน่อยเท่านั้น จะฉันยาจนให้อาการไข้หายขาด ก็ไม่มียา ถ้าจะไปจำพรรษาที่อื่นหรือ คณะญาติก็จะลำบากใจในการไปเยี่ยมสุขเยี่ยมทุกข์ เพราะญาติพี่น้องทิ้งกันไม่ลงเป็นธรรมดา ฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงต้องพักจำพรรษาที่วัดคามวารี บ้านตาลโกน ซึ่งเป็นบ้านมาตุภูมิของตน โดยมีอาจารย์อุ่ย สุขกาโม เป็นหัวหน้า ปีนี้ท่าน พระครูพุฒิวราคม (พุฒ ยโส) ก็ได้จำพรรษาอยู่ด้วยกัน ท่านก็เป็นไข้ขนาดหนักเหมือนกัน ปรากฏว่าเวลาท่านอาพาธหนัก ได้ธรรมเกิดขึ้นเป็นกำลังใจที่น่าอัศจรรย์แก่ตนของท่านเหมือนกัน

สำหรับการพยาบาลไข้ของข้าพเจ้านั้น ได้อาศัยยาสมุนไพรจากพ่อออกเฒ่าจารย์มา หนองดินดำ เป็นสำคัญ ได้หามาฉันเอาจนหมดทุกขนานในตำรายาของผู้เฒ่า ขนานยาแก้ไข้ป่า มาเลเรีย ซำเฮี๊ย ผิดฤดู ผิดอากาศ อะไรต่ออะไรจนหมดตำรายา ก็ยังไม่หายขาด

และปีพ.ศ. ๒๔๘๗ ก็ได้พักจำพรรษาที่เดิมอีก เพราะไข้ยังไม่หาย ต้องรักษาตัวไปอีก ระหว่างนี้เป็นโอกาสที่ข้าพเจ้าต้องคิดหาทางปรับปรุงตัวเองว่า จะเอารูปไหน จะเป็นฆราวาสหรือจะเป็นนักบวช จะเป็นนักปริยัติ หรือจะเป็นนักปฏิบัติ หรือจะเป็นแบบงู ๆ ปลา ๆ หรือจะเป็นนกมีหู หนูมีปีก และอีกประการหนึ่ง แม้ว่าข้าพเจ้าจะไม่ปรารถนาอยากเป็นนั่นเป็นนี่กับเพื่อนก็ดี ส่วนทางวัดสุทธาวาส พระมหาพิมพ์ก็สั่งให้ไปเป็นครูสอนนักธรรมให้ และทางพระอุปัชฌาย์ฮวด สุมโนก็ต้องการเช่นเดียวกัน แต่ข้าพเจ้าก็ได้ปลดเปลื้องเสียทุกทาง แม้อย่างนั้นก็ยังไม่พ้นเสียทีเดียว ระหว่างออกพรรษาแล้ว ปีพ.ศ. ๒๔๘๖ นั้น ยังได้ไปอบรมนักเรียนให้พระอุปัชฌาย์ฮวด ที่วัดไชยมงคล ราวเดือนเศษ การเป็นครูสอนนั้น มิใช่ข้าพเจ้าไม่สามารถแต่ประการใด แต่ข้าพเจ้าไม่ชอบจะเป็นเท่านั้น ด้วยเหตุผลดังกล่าวมาแล้วข้างต้นนั้นเอง

เรื่องการปรับปรุงตนเองนั้น เบื้องต้นคิดอยากจะไปเรียนบาลีต่อ แต่ก็สุขภาพไม่อำนวยเนื่องจากการเป็นไข้ ซึ่งไข้ตัวนี้ทำให้ความทรงจำเสื่อมโทรมลงมาก จำได้ง่ายเหมือนแต่เดิม แต่มักจะลืมง่าย เมื่อสมัยก่อน ความจำยังดี ถ้าท่องได้แล้วก็ไม่ค่อยจะลืมง่าย และการดูหนังสือ ถ้าได้ตั้งใจดูไปตลอดเล่มก็ยังจำเนื้อถ้อยกระทงความได้ตลอด มาบัดนี้ความจำได้ลบเลือนไปเสียแล้ว ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงต้องงดการไปเรียนต่ออีก

ทางด้านฆราวาส เมื่อมาพิจารณาดูให้ถี่ถ้วนแล้ว ก็เป็นบ่อนแห่งการทำความชั่วนานาประการ ผู้จะตั้งตัวมีฆราวาสธรรมอย่างสมบูรณ์ได้ก็มีน้อยที่สุด คิดดูแล้ว ชีวิตนี้ไม่อยู่คงทนไปได้นานสักเท่าไรก็ถึงวันตาย ความดีที่จะสร้างขึ้นแก่ตนมีโอกาสทำน้อยที่สุด เหตุนั้นจึงควรหาทางแก้ไขตนเองเสียจากฆราวาสวิสัย แล้วจึงหันมาพิจารณาทางเพศนักบวช การบวชนั้น ถ้าจะครองตัวอยู่อย่างงู ๆ ปลา ๆ ซึ่งไม่ถูกกิจจะลักษณะของสมณเพศแล้ว เป็นฆราวาสเสียดีกว่า แล้วจึงคิดถึงประวัติของพระอริยเจ้าทั้งหลายในปางก่อน ผู้บวชในพระพุทธศาสนาสมัยครั้งพุทธกาลโน้น ซึ่งล้วนแล้วแต่บวชมาเพื่อปฏิบัติตนให้พ้นไปจากวัฏฏทุกข์ทั้งสิ้น ต่างจากนักบวชในสมัยนี้มากทีเดียว ในที่สุดข้าพเจ้าก็ได้ตัดสินใจศึกษาหาทางปฏิบัติต่อไป

สมัยที่ได้ศึกษาทางปฏิบัติ

ระหว่างก่อนเดือน ๓ ข้าพเจ้าได้ไปม่วงไข่ ชักชวนพระครูญาณวิจิตร (มานิต สุรปัญโญ) เพื่อนสพรหมจารีเพื่อออกไปเที่ยวแสวงหาเจริญสมณธรรม ตามี่ข้าพเจ้าได้คิดพิจารณาไว้แล้วนั้น เพื่อนก็มีความยินดีด้วยทุกประการ ในไม่กี่วัน เพื่อนก็มาหาข้าพเจ้าที่วัดคามวารี แล้วออกเดินทางไปด้วยกันสององค์ เพราะไม่ยอมให้ใคร ๆ ติดตามไปด้วย เกรงว่าผู้ใจไม่เด็ดเดี่ยวจะทำให้ยุ่งยากในภายหลัง เพราะการไปในครั้งนี้นั้น ไม่มีกำหนดวันกลับ และไม่กำหนดสถานที่ไป เบื้องต้นก็ออกไปพักที่วัดโชติการาม บ้านปทุมวาปี ๑ คืน ท่านครูบาสีลา เทวมิตฺโต ผู้เคยร่วมกันมาก่อน แม้ท่านถามถึงการไปการมา ก็ยังบอกไม่ถูก

รุ่งเช้า ฉันเสร็จออกเดินทางไปพักวัดธาตุฝุ่น บ้านคำเจริญ พักอยู่ราว ๓ - ๔ คืน จึงปรึกษาทางจะไปข้างหน้ากับเพื่อนอีก ถ้าจะไปทางอุดร หนองคายก็ไม่สะดวก เพราะเป็นระหว่างสงครามอินโดจีน ยังไม่สงบดี ตามเขตชายแดนยังยุ่ง ๆ กันอยู่มาก จึงได้ตกลง วกการเดินทางไปทางทิศตะวันออก จะจากกไหนถึงไหน ไม่มีกำหนด

แน่นอนในการตกลงแล้ว ก็ออกเดินทาง แวะพักที่วัดโชติการามอีก ๑ คืน รุ่งเช้าฉันเสร็จออกเดินทางไปพักวัดสุขุมวารีราม อำเภอวาริชภูมิ ๑ คืน เพื่อเยี่ยมคุณพ่อหลวงสุขุมด้วย แล้วออกเดินทางไปแวะพักที่ภูลอมข้าว บ้านนาเชือก ในวันต่อไปก็ลุถึงวัดป่าบ้านหนองผือ ต. นาใน อำเภอพรรณานิคม ที่วัดนั้นมีท่านอาจารย์หลุยเป็นประธานอยู่ในที่นั้น และมีหลวงพ่อใบ กับพระแสง (มรณภาพแล้ว) ส.ณ.บุญจันทร์

เวลานั้นท่านอาจารย์หลุยพร้อมด้วยชาวบ้านกำลังจัดสถานที่คอยรับท่านอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทตฺโต ที่ชาวบ้านกำลังไปรับท่านมา จะถึงในไม่กี่วันนี้ ซึ่งก็เป็นโชคลาภอันใหญ่ยิ่งเฉพาะตัวของข้าพเจ้า เพราะเคยตั้งปณิธานไว้ว่า จะพยายามถวายตัวเป็นผู้อุปัฏฐากท่านเพื่อเป็นบุญนิธิแก่ตนต่อไป ความปณิธานนี้ข้าพเจ้าได้มีมาแล้วแต่หลายปีและได้เคยปรารภกับเพื่อน ๆ มาบ้างเหมือนกัน

แต่ก็เผอิญเมื่อข้าพเจ้าพักอยู่ในสถานที่นั้นไปได้ ๒ - ๓ คืน ท่านอาจารย์หลุยได้ปรารภกับข้าพเจ้าว่า สำหรับท่านอาจารย์ใหญ่นั้น เมื่อท่านไปพักในสถานที่ใดมีพระมาก ท่านไม่พักอยู่นาน ฉะนั้น ขอให้พวกท่านที่มาใหม่ ออกไปพักในสถานที่อื่นจะเป็นการดีมาก เรื่องนี้ก็เป็นความผิดหวังของข้าพเจ้าทีเดียว แต่จะทำประการใด เพราะข้าพเจ้ายังไม่คุ้นเคยกับท่านเสียเลย มีแต่ความเกรงกลัวในท่านเป็นอย่างมากเท่านั้น รุ่งเช้าฉันจังหันเสร็จแล้ว ข้าพเจ้ากับเพื่อนจึงได้ออกเดินทางไปพักที่วัดบ้านนาใน ในวันต่อไป เมื่อฉันจังหัน เสร็จแล้วก็ไปช่วยงานท่านอาจารย์หลุยทุกวัน จนถึงวันท่านอาจารย์ใหญ่มาถึง ครั้นท่านมาถึงแล้ว ก็ได้มาฟังคำอบรมจากท่านเสมอ

ครั้นต่อมาไม่นาน ท่านได้ฟังเสียงจากคณะอุบาสกอุบาสิกา ปรารภให้ท่านฟังว่า ทางเจ้าคณะอำเภอพรรณานิคม เคยแสดงอาการหวงห้าม ไม่ให้พระทางวัดป่า ไปพักในวัดนั้นมาแล้ว เรื่องนี้ก็เป็นด้วยบุญช่วยข้าพเจ้าอีก ท่านจึงได้จัดให้พระแสงกับพ่อออกจารย์เสน ไปรับเอาพวกข้าพเจ้า เข้าไปพักอยู่ด้วยท่าน ตั้งแต่วันนั้นต่อมา ข้าพเจ้าก็ได้ถือนิสสัยอาศัยอยู่กับท่านมาเรื่อย ๆ ครั้นต่อมาท่านพระครูญาณวิจิตร ยังเป็นห่วงการสอบนักธรรมของตน จึงได้กลับไปม่วงไข่เสีย ข้าพเจ้ากับเพื่อนองค์นี้ก็ได้จากกันตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นไป

พ.ศ. ๒๔๘๔ ข้าพเจ้าพักจำพรรษาอยู่ด้วยท่านอาจารย์ใหญ่ที่วัดป่าภูริทัตถิราวาส บ้านหนองผือ ในการอยู่ของข้าพเจ้านั้น ก็อยู่ด้วยความหวั่นวิตกในตนอยู่เสมอ จนแทบจะหายใจไม่อิ่มเหมือนกันเพราะความกลัวในท่านมากเหลือที่สุด ไม่ทราบว่าท่านจะขับให้ออกหนีไปวันไหน

เบื้องต้น ข้าพเจ้าได้อาศัย พระคำไพ หรือ อวด สุสิกฺขิโต ซึ่งเป็นผู้ติดตามอุปัฏฐากท่านมาแต่บ้านห้วยเคน และท่านอาจารย์มนู ครั้นต่อมาท่านครูบาอ่อนสา ก็เข้ามาเป็นเพื่อนร่วมหวั่นวิตกอีก ในการทำข้อวัตรอุปัฏฐากท่านนั้น ข้าพเจ้าก็ได้เคยฝึกมาบ้างแล้วแต่สมัยอยู่กับท่านอาจารย์วัง ฐิติสาโรผู้เป็นอาจารย์เดิมของข้าพเจ้า แต่ถึงกระนั้นก็ยังงงอยู่มาก เพราะขั้นอาจารย์ผู้ใหญ่กับอาจารย์ผู้น้อยย่อมต่างกัน

สำหรับพระอาจารย์ผู้ใหญ่มีสิ่งที่จะต้องทำต่อท่านมีมาก เราต้องอาศัยความสังเกตศึกษาไปในตัว และต้องฉลาดทันต่อเหตุการณ์ด้วย อย่างไรก็ดี ข้าพเจ้าได้มองเห็นความโง่ของตนอย่างเต็มที่ทีเดียว แม้จะทำอะไรก็ต้องได้แอบเพื่อนอยู่เสมอ ทั้งอยากทำ ทั้งเกรงกลัวในท่านเหลือที่สุด

ระหว่างก่อนเข้าพรรษานั้น มีพระเณรเข้ามาหาท่านไม่ค่อยขาดแทบทุกวัน เมื่อมาร่วมกันมาก ๆ หน่อย เดี๋ยวก็ถูกท่านให้ขยายออกไป เหตุการณ์ย่อมเป็นอยู่อย่างนี้เสมอ ข้าพเจ้าคิดแต่ว่า ถ้าเราไม่มีความผิดและไม่มีทิฏฐิมานะเข้าไปรบกวนวาระจิตของท่าน ก็คงจะไม่ถูกส่งตัวออกไปเป็นแน่ แต่ความร้อน ๆ หนาว ๆ ก็มีอยู่อย่างนั้นเสมอ พอได้เข้าไปปรับทุกข์กันกับครูบาอ่อนสาเท่านั้น เพราะท่านก็เป็นเช่นเดียวกันกับข้าพเจ้า

ครั้งหนึ่งเหตุการณ์ที่หวั่นวิตกนั้นได้เกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้าเสียแล้ว เรื่องนั้นคือ ในคืนวันนั้น มีหมู่พระเณรไปร่วมอบรมกันมาก เมื่อท่านให้การอบรมแล้ว ท่านได้สั่งให้ขยายกันออกไป ไม่ควรจะมาอยู่รวมกันมาก ๆ เช่นนี้ เพราะไม่ได้ความวิเวก การบำเพ็ญเพียรก็ไม่สะดวก จะมาอยู่กันมาก ๆ เพื่ออะไร มันเหมอนกันกับหมู่แร้งหมู่กา หากินซากความเน่านั้นเอง พอรุ่งเช้า ฉันจังหันเสร็จ ท่านได้ถามท่านอาจารย์หลุยว่า ใครบ้างจะออกไปวันนี้ กระหน่ำเข้าทุกที ท่านอาจารย์หลุยจึงได้รายงานให้ท่านทราบว่า องค์นั้น ๆ ไป มีรายชื่อข้าพเจ้าเข้าด้วยองค์ (หนึ่ง) เหมือนกัน

ครั้งนั้นทำให้ข้าพเจ้าเกือบจะสิ้นท่าเหมือนกัน แต่ข้าพเจ้าก็ยังไม่ได้พูดอะไรเลยกับท่านอาจารย์หลุย แต่ท่านหากรายงานเหมาเอาทีเดียว ระหว่างนั้นครูบาคำไพได้ถูกออกไปแล้ว ได้ครูบาเนตร์ กนฺตสีโล มาเป็นผู้อุปัฏฐากแทนอยู่

เมื่อข้าพเจ้าเอาบริขารไปไว้ที่กุฎีแล้ว กลับมาทำข้อวัตรที่ทำการอุปัฏฐาก ขณะนั้นท่านอาจารย์ใหญ่กำลังไปฐานอยู่ ข้าพเจ้าจึงปรึกษากับครูบาเนตร์ว่า เรื่องที่ท่านอาจารย์หลุย รายงานเรียนท่านอาจารย์ใหญ่ว่า ผมองค์หนึ่งที่จะต้องออกไปวันนี้นั้น ผมไม่เคยพูดกับท่านอาจารย์หลุยเลย ว่าผมจะออกไป ความตั้งใจของผม ก็หวังว่าจะศึกษาอบรมกับท่านอาจารย์ใหญ่นี้ตลอด ไม่ปรารถนาจะไปทางอื่นเสียเลย ควรที่ผมจะทำประการใดจึงจะดี

ครูบาเนตร์ให้ความเห็นว่า ควรกราบเรียนท่านอาจารย์ ตามความประสงค์ของเรานั้นแหละดี แม้ข้าพเจ้าจะสะทกสะท้านเกรงกลัวในท่านสักปานใดก็ตาม เมื่อถึงคราวในที่จะต้องกล้า ข้าพเจ้าก็ต้องได้กล้าเพราะความจำเป็น

โอกาสเหมาะจังหวะมี เมื่อท่านอาจารย์ใหญ่กลับจากไปฐาน มานั่งบนอาสนะเรียบร้อยแล้ว ข้าพเจ้าได้เข้าไปกราบแล้วก็กราบเรียนไปตามความจริงใจ ให้ท่านทราบทุกประการ

ท่านได้นิ่งอยู่ครู่หนึ่ง แล้วพูดว่า “ตามใจของคุณ”

เมื่อข้าพเจ้าได้รับมธุรสอย่างนี้แล้วก็สร่างใจขึ้นทันที มีความปลื้มใจอย่างสุดซึ้ง เท่ากับถอนดาบที่เสียบแทงอยู่ที่อกออกได้นั้นแล

ต่อมาวันหนึ่ง ข้าพเจ้าได้แอบเข้าไปจับเส้นให้ท่านกับครูบาเนตร์ในกลางคืนวันนั้น ท่านจะทดลองน้ำใจข้าพเจ้าก็ไม่ทราบ การจับเส้นได้ล่วงเลยเวลาไปจนถึงไก่ขันกก ราวบ่าย ๓ ทุ่มกลางคืนท่านจึงเข้าห้อง แต่ใจข้าพเจ้าก็ยินดีต่อการกระทำนั้นอยู่ตลอดเวลา หาเกิดความรำคาญขึ้นมาไม่ ในวันต่อไปก็เป็นธรรมดา แปลกแต่วันเดียวเท่านั้น

ปีนั้นที่อยู่จำพรรษาด้วยท่าน คือ ท่านอาจารย์หลุย ๑ ท่านอาจารย์มนู ๑ มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ๑ ครูบาอ่อนสา ๑ ครูบาเนตร์ กนฺตสีโล ๑ กับข้าพเจ้าและเณรดวง ผ้าขาวเถิง เมื่อถึงเข้าพรรษา พอได้อธิษฐานพรรษาแล้วเท่านั้น ก็เกิดความอุ่นใจขึ้นมาเป็นอันมาก โดยคิดว่า ถ้าเราไม่มีความผิดพลาดอย่างร้ายแรง ท่านก็คงจะไม่ขับออกจากสำนักเป็นแน่ แม้ครูบาอ่อนสาก็เช่นเดียวกับข้าพเจ้า

การจำพรรษาอยู่ด้วยท่านอาจารย์ใหญ่ปีนี้ข้าพเจ้าเป็นผู้มีอายุพรรษาอ่อนกว่าหมู่คณะทั้งสิ้น ฉะนั้น ข้าพเจ้าจะต้องถูกทำภาระอย่างหนักทุกประการ คือ

. ทำข้อวัตรอุปัฏฐากพระอาจารย์ ช่วยครูบาเนตร์

. รักษาความสะอาดและจัดแจงศาลาโรงฉัน

. ตักน้ำ

. ดูแลน้ำร้อน

. ควบคุมดูแลสิ่งของที่จะจัดถวายครูบาอาจารย์

. ต้อนรับแขกที่มาหาครูบาอาจารย์

ภาระทั้งหลายเหล่านี้ ก็ไม่ใช่เป็นภาระของข้าพเจ้าทำแต่ผู้เดียว แต่หากข้าพเจ้าเป็นผู้รับทำหนักกว่าเพื่อนเท่านั้น เรื่องการอยู่การปฏิบัติท่านอาจารย์ใหญ่นั้น ข้าพเจ้าได้อาศัยท่านอาจารย์มนู - มหาบัว และ ครูบาเนตร์เป็นผู้แนะนำ จึงไม่ค่อยผิดพลาด และในกาลต่อมาต่างก็ได้อาศัยซึ่งกันและกันเป็นลำดับมาจนถึงทุกวันนี้