#echo banner="" ประวัติ พระอาจารย์วัน อุตฺตโม 04

ชีวประวัติและปฏิปทา (๔)

พระอุดมสังวรวิสุทธิเถร (พระอาจารย์วัน อุตฺโม)

จากหนังสือ อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ

พระอุดมสังวรวิสุทธิเถร (พระอาจารย์วัน อุตฺตโม)

วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม จังหวัดสกลนคร

วันที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๔

ความดำริและการสร้างที่เป็นการอนุเคราะห์แก่ประชาชน

ท่านพระคุณพระอุดมสังวรวิสุทธิเถร (วัน อุตฺตโม) ท่านอยู่ที่วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม เป็นระยะเวลาที่ยาวนานกว่าสถานที่แห่งอื่น ๆ คืออยู่มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 จนถึง พ.ศ. 2523 มีเพียงปี พ.ศ. 2518 เท่านั้นที่ไปจำพรรษาที่อื่น ท่านเห็นความจำเป็นและความลำบากของชาวบ้านจึงได้ริเริ่มโครงการต่าง ๆ คือ

ร.ร.อภัยดำรงธรรมที่พระอาจารย์วันสร้างไว้เพื่อให้เด็ก ๆ บ้านท่าวัดและบ้านถ้ำติ้วได้เข้ารับการศึกษา

ศูนย์เลี้ยงเด็กบ้านเหล่าใหญ่
ซึ่งพระอาจารย์วันเป็นผู้อุปถัมภ์

บรรดาครูและเด็กในศูนย์เลี้ยงเด็กบ้านเหล่าใหญ่

1. สร้างโรงเรียนอภัยดำรงธรรม เพื่อให้เด็กบ้านท่าวัดและบ้านถ้ำติ้วมีที่เล่าเรียน เมื่อดำเนินการสร้างไปแล้ว ทางราชการจึงได้ช่วยเหลือบ้าง และอนุเคราะห์แจกทุนแก่เด็กนักเรียนในโรงเรียนต่าง ๆ หลายโรงเรียน บางโรงเรียนก็ได้อนุเคราะห์สร้างถังเก็บน้ำฝนสำหรับบริโภค โดยให้ปัจจัยค่าอุปกรณ์ แต่ให้ทางโรงเรียนช่วยจัดทำ เพื่อจะได้ช่วยกันรักษา เพราะเป็นสมบัติที่เขาช่วยกันสร้าง

2. รับเป็นผู้อุปถัมภ์ ศูนย์เลี้ยงเด็กบ้านเหล่าใหญ่ เนื่องจากพัฒนากรและกรรมการหมู่บ้านเหล่าใหญ่ขอร้อง การอุปถัมภ์ศูนย์แห่งนี้ ได้มีผู้ร่วมบริจาคจากบุคคลหลายฝ่าย และท่านยังได้อุปถัมภ์ศูนย์เลี้ยงเด็กอีก 2 แห่งคือ ศูนย์เลี้ยงเด็กบ้านส่องดาว และศูนย์เลี้ยงเด็กบ้านท่าศิลา

โครงการคำหลวง

โครงการคำจวง

โครงการห้วยมะไฟ

3. สร้างอ่างเก็บน้ำที่เชิงเขาและทำถังกรองไปให้ชาวบ้านใช้โดยไม่ต้องมีเครื่องสูบ เพราะเป็นการต่อน้ำจากที่สูง โครงการแรกที่ทำคือโครงการห้วยมะไฟ สมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ นอกจากนี้ยังมีอีก 3 โครงการคือ โครงการคำจวง โครงการห้วยหาด และโครงการคำหลวง

สำหรับโครงการคำจวง ได้เริ่มสร้างไปบ้างแล้วสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ส่วนโครงการห้วยหาด และคำหลวงเป็นแต่เพียงดำริไว้ เมื่อท่านมรณภาพแล้ว จึงมีผู้ที่เคารพนับถือและทางราชการ ช่วยกันจัดทำจนแล้วเสร็จทั้ง 3 โครงการ โดยเฉพาะโครงการคำจวง โครงการห้วยหาด สำเร็จลงได้เพราะพระบารมีปกเกล้าฯ สนองความดำริของพระอาจารย์วัน โดยมีผู้มีจิตศรัทธาโดยเสด็จพระราชกุศลที่สำคัญ 2 ท่านคือ คุณเฉลียว อยู่วิทยา และคุณทวี โกวัฒนะ และยังมีคนอื่น ๆ ช่วยกันสมทบ

เมื่อทั้ง 4 โครงการ สำเร็จลงแล้วอำเภอส่องดาวจะมีน้ำประปาใช้ทุกหมู่บ้าน ทั้งยังขยายไปถึงเขตอำเภอที่ใกล้เคียงอีกหลายหมู่บ้าน เช่นเขตอำเภอวาริชภูมิ อำเภอสว่างแดนดิน กิ่งอำเภอไชยวาน นับว่าเป็นความดำริและการสร้างที่มีประโยชน์แก่ประชาชนเป็นอันมาก เมื่อทำสำเร็จแล้วก็มอบให้หมู่บ้านต่าง ๆ ช่วยกันดูแลรักษาซ่อมแซมในโอกาสต่อไป

แต่การสร้างที่สำเร็จได้ดังกล่าว ท่านผู้อ่านพึงทราบว่า มิใช่ว่าพระอาจารย์วัน หรือวัดถ้ำอภัยดำรงธรรมมีปัจจัยมากมาย หรือร่ำรวยแต่ประการใด ทุกท่านก็คงเข้าใจแล้วว่า พระเจ้าพระสงฆ์มิใช่พ่อค้า การเลี้ยงชีพทุกอย่างต้องอาศัยชาวบ้าน แต่เหตุที่มีปัจจัยไปช่วยเหลือในกิจการนั้น ๆ ก็เนื่องจากความเคารพนับถือในพระอาจารย์วัน เมื่อมีผู้ที่เคารพนับถือมาหา การอบรมศีลธรรม นั่งสมาธิภาวนา ผู้นิมนต์พระสงฆ์ไปแสดงธรรม มักจะจัดให้พระอาจารย์วัน ขึ้นแสดงธรรมเป็นองค์สุดท้ายเสมอ เนื่องจากพระธรรมเทศนาของท่านเป็นที่สนใจของประชาชน และสาเหตุที่ประชาชนให้ความเคารพนับถือในท่าน ก็เพราะได้รับการอบรม ได้ฟังธรรมจากท่านเป็นประการสำคัญ ถ้ามองดูผิวเผินคล้ายกับว่า ท่านเห็นแก่ลาภสักการะ แต่โดยข้อเท็จจริงแล้ว ท่านมีความเมตตาอยากจะสงเคราะห์ แนะนำให้ประชุมชนมีความเข้าใจในหลักปฏิบัติ

เวลาไปเทศน์ในวัดต่าง ๆ ลาภสักการะที่ทายกทายิกาบูชาพระธรรมเทศนา ท่านจะมอบให้บำรุงวัดนั้น ๆ เสมอ โดยเฉพาะวัดในชนบท จึงเป็นการไปเพื่อให้มิใช่ไปเพื่อรับ ถ้าหากท่านมุ่งลาภสักการะจริง ๆ เพียงอยู่ประจำที่วัดก็มีประชาชนไปหามาก จนแทบไม่มีเวลาพักผ่อนอยู่แล้ว ลาภสักการะก็มีมากกว่าการไปกิจนิมนต์นอกวัด สุขภาพร่างกายก็ไม่ได้รับความลำบาก

ผลงานทางการคณะ

สมัยที่มีพระธรรมทูต ท่านก็รับภาระออกแสดงธรรมทุกปี เป็นการให้ความร่วมมือด้วยดี งานสอบนักธรรมประจำปีที่วัดคามวาสี บ้านตาลโกน ท่านก็ไปช่วยเหลือ และนำนักเรียนพระเณรที่วัดไปสอบทุกปี โดยมิได้ถือว่า วัดถ้ำอภัยดำรงธรรมเป็นสำนักปฏิบัติ เพราะการเรียนการสอบเป็นการเพิ่มความรู้ เมื่อรู้แล้วการแนะแนวในทางปฏิบัติก็สะดวกขึ้น ท่านจึงสนับสนุน

ปฏิปทาพระอาจารย์วัน

กุฏิพระราชทาน
ที่ถ้ำพวง

พระอาจารย์วัน เป็นผู้ที่โชคดีมาก ในการเข้ามาสู่พระธรรมวินัย ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะก่อนจะออกบรรพชาเป็นสามเณร ก็มียายออกบวชเป็นชีอยู่ก่อนแล้วในสำนักปฏิบัติ เมื่อท่านออกบรรพซา ก็ไปอยู่ในสำนักที่ยายบวชอยู่ และได้รับการอบรมในทางปฏิบัติตั้งแต่เริ่มแรก ก่อนที่จะไปรับการศึกษานักธรรมและบาลี

ในขณะที่เรียนนักธรรมและบาลี ก็อยู่ในสำนักปฏิบัติ แต่เพิ่มการเรียนเข้ามาเท่านั้น เพื่ออนุวัตตามทางการคณะสงฆ์ เพราะฉะนั้น ท่านจึงยึดมั่นในหลักปฏิบัติมาโดยตลอด และได้เข้าศึกษาอบรมจากครูบาอาจารย์ที่สำคัญ ๆ ในสายปฏิบัติเช่น พระอาจารย์วัง ฐิติสาโร พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล พระอาจารย์พรหม จิรปุญฺโญ พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต และอาจารย์องค์สำคัญอื่นอีกเป็นอันมาก พระอาจารย์วัน จึงได้ยึดแนวทางในการปฏิบัติ มาโดยตลอดของชีวิตพรหมจรรย์

พูดถึงอุปนิสัย ท่านเป็นผู้ที่พูดน้อย แต่พูดจริงทำจริง อ่อนน้อมต่อผู้ที่มีอายุพรรษามากกว่า เป็นผู้ที่หนักในคารวะ ชอบความเป็นระเบียบ ให้ความอนุเคราะห์แก่สหธรรมิกที่อ่อนกว่า การวางตัวของท่านเสมอต้นเสมอปลาย จึงได้รับคำยกย่องสรรเสริญจากพระเถระผู้ใหญ่ และเป็นที่เคารพนับถือของผู้น้อย ผู้ที่ได้เคยอยู่ร่วมสำนัก หรือคบหาสมาคมกับท่าน ทุกคนคงทราบดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระอาจารย์วันเป็นผู้ที่ฝึกตนได้ดี เรียบร้อยงดงามในทุกอิริยาบถ ทั้งยืนเดิน นั่ง นอน มีผู้วิจารณ์ว่า ท่านพระอาจารย์วันเป็นผู้ที่พอดี ไม่ช้า ไม่เร็ว พอเหมาะเสมอในทุกโอกาส

ศาลาใส่บาตร

กล่าวถึงทางวาจา ไม่เคยได้ยินท่านใช้คำพูดที่เป็น ผรุสวาจา เมื่อลูกศิษย์ทำผิดหรือล่วงเกินในบางกรณี ก็ไม่ใช้คำด่า แต่เป็นคำเทศน์ให้สติ และผู้ที่ถูกเทศน์ก็มีความกลัว จนบางคนถึงกับตัวสั่น ลักษณะของท่านพระอาจารย์วัน ลูกศิษย์ฝ่ายบรรพชิตก็ดี ญาติโยมที่อยู่ใกล้ชิด ก็ดูจะมีความเคารพนับถือ เกรงกลัวท่านมากกว่าผู้ที่อยู่ห่าง มิใช่กลัวถูกด่า แต่กลัวในลักษณะที่ยำเกรง เพราะความเคารพในตัวท่าน

พระอาจารย์วันเป็นผู้ที่ทำตัวของท่านให้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ศิษย์ หรือจะพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เป็นผู้ที่  “ทำให้ดูมากกว่าบอกให้ทำ” จึงเป็นที่เคารพรักของศิษย์ทั่วไป

กิจวัตรส่วนตัวของท่าน ที่ท่านถือปฏิบัติเมื่อเวลาประจำอยู่ที่วัดคือ

1. พอสว่างเข้าสู่ทางเดินจงกรมเมื่อเวลา 6.00 น.

2. ลงไปศาลาการเปรียญ ทำกิจวัตรและออกบิณฑบาต เวลา 7.00 น.

3. ฉันเสร็จเรียบร้อย ขึ้นกุฏิ ทำความเพียรจนถึง เวลา 12.00 น.

4. พักผ่อนจนถึง เวลา 14.00 น

ศาลาพระราชทานที่ถ้ำพวง
พระเจ้าอยู่หัวสร้างพระราชทาน

5. ทำความเพียร จนถึง เวลา 16.00 น. จากเวลา 16.00 น. เป็นต้นไป เป็นเวลาที่รับแขกและทำกิจอย่างอื่น เช่น กวาดลานวัด และทำการงานด้านอื่น ๆ ภายในวัด

6. อบรมพระภิกษุสามเณร เวลา 19.00 น.

7. พักผ่อนร่างกาย เวลา 22.00 น

8. ตื่นนอน เวลา 2.00 น. แล้วทำความเพียร

กิจวัตรส่วนตัวดังกล่าว ในสมัยที่ท่านขึ้นไปอยู่ถ้ำอภัยดำรงธรรมตอนต้น ๆ รู้สึกว่าสะดวกสบายดี เพราะประชาชนยังไปมาหาสู่ไม่มากนัก ต่อมาเมื่อมีประชาชนไปหามาก จึงทำให้เปลี่ยนแปลงไปบ้างตามเหตุการณ์ แต่เรื่องการนอน ท่านเคยฝึกมาแล้วสมัยที่ท่านปฏิบัติท่านพระอาจารย์มั่น ท่านบันทึกไว้ว่า พักผ่อนคืนหนึ่งอย่างมากที่สุดไม่เกิน 4 ชั่วโมง

ปฏิปทาทางมักน้อยสันโดษ

ขณะเตรียมสร้างจิตกาธาน สำหรับพระราชทานเพลิงศพ
พระอาจารย์วันที่วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม

พระอาจารย์วัน เป็นผู้ที่ มีอัธยาศัยไม่มักใหญ่ใฝ่สูง มาตั้งแต่เป็นสามเณร ตามที่ท่านบันทึกไว้ จะเห็นได้ว่าท่านมีความตั้งใจจะอุปสมบทเป็นพระก็ต่อเมื่อมีอายุ 25-26 ปี คือต้องการเป็นผู้มีอายุพรรษาน้อยกว่าเพื่อนพระภิกษุที่มีอายุรุ่นเดียวกัน แต่เหตุการณ์ก็ไม่เป็นไปดั่งคิด การสะสมลาภสักการะก็ไม่มี มีแต่การเฉลี่ยอนุเคราะห์เพื่อนสหธรรมิก ถ้ามีผู้บริจาคเป็นการส่วนตัวก็ได้อนุเคราะห์ไปยังวัดต่าง ๆ ที่ขาดแคลน แต่ท่านอนุเคราะห์ไปมากก็มีผู้ถวายมาก เข้าในลักษณะที่ว่า มีทางไหลเข้า ก็มีทางไหลออก พระอาจารย์วัน จึงไม่มีสมบัติอะไรนอกจากสมณบริขาร

บางท่านอาจจะเข้าใจว่า พระอาจารย์วันเป็นพระที่ร่ำรวย จะว่ารวยก็ถูกอยู่เหมือนกัน เพียงแต่รวยในทางสงเคราะห์ จนบางทีไม่มีอะไรจะให้ เพราะฉะนั้นอะไรจะมีเหลือ เพราะไม่ได้สะสม

ปฏิปทาอีกอย่างหนึ่งก็คือ ความอดทน ไม่เคยได้ยินท่านบ่นว่าร้อนมาก หนาวมาก ท่านคงคิดว่าพูดออกไปแล้ว ก็ไม่ทำให้อุณหภูมิเปลี่ยนแปลงได้กระมัง จึงเงียบเสีย และคำว่าเหนื่อยมาก หิวมาก กระหายมาก ก็ไม่เคยได้ยิน ท่านคงคิดในลักษณะที่ว่า พูดไปแล้วก็คงไม่หายเหนื่อย พูดไปแล้วคงไม่หายหิว หายกระหาย นอกจากจะพักผ่อนเพื่อบรรเทาความเหนื่อย และรับประทานเสีย หรือ ดื่มเสียเพื่อแก้หิว แก้กระหาย และเวลาพระเณรถวายการนวด หรือจับเส้น ก็ไม่เคยได้ยินท่านบ่นว่า นวดหนักไปหรือเบาไป มีแต่ถึงเวลาสมควรก็บอกให้เลิก นับว่าท่านเป็นผู้ที่อดได้และทนได้จริง ๆ

ขณะเตรียมสร้างจิตกาธาน

สำหรับปฏิปทาที่เป็นส่วนภายใน ท่านก็ไม่เคยนำมาเล่า นอกจากผู้เป็นศิษย์จะเรียนถาม เมื่อมีความขัดข้องทางภาวนา หรือเวลาท่านแสดงธรรม ผู้เขียนไม่สามารถที่จะอาจเอื้อมนำมาเขียนว่า ท่านพระอาจารย์วัน มีคุณธรรมอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะเป็นการเหลือวิสัยของผู้เขียน จึงขอมอบให้สานุศิษย์ทั้งหลายนำไปพิจารณาไตร่ตรองเองเถิด และอีกประการหนึ่งในการเขียนประวัตินี้ ท่านผู้อ่านทั้งหลายคงจะผิดหวัง ที่ไม่ได้เขียนเรื่องปาฏิหาริย์ ลงในหนังสือเล่มนี้ เพราะผู้เขียนได้ยินคำพูดที่ท่านพระอาจารย์วันพูดไว้ว่า การเขียนประวัติ ถ้าให้บุคคลอื่นเขียน มีทางเสียอยู่ 2 ทางคือมากเกินไป หมายความว่ายกย่องเกินไป และน้อยเกินไปคือขาดตกบกพร่อง ผู้เขียนจึงนำมาเล่าสู่กันฟังเฉพาะในเรื่องที่มองเห็นกันง่าย ๆ เท่านั้น

คุณลักษณะอีกอย่างหนึ่งก็คือ การวางตัว ท่านไม่แสดงออกให้เห็นเลยว่า โปรดคนนั้นคนนี้ในบรรดาสานุศิษย์ ไม่ว่าบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ หรือแม้แต่พระเณรที่เป็นผู้อุปัฏฐาก เพื่อความเข้าใจดีของทุกฝ่าย ผู้เขียนจึงขอคัดจากลายมือของพระอุดมสังวรวิสุทธิเถร (พระอาจารย์วัน อุตฺตโม) ที่ท่านเขียนไว้มาให้พิจารณาเอง ดังนี้

“จะเป็นด้วยกรรมอะไรของข้าพเจ้าก็ไม่ทราบ เมื่อมาอยู่ในสถานที่ถ้ำอภัยดำรงธรรมแห่งนี้ ทำให้อยู่ได้นานกว่าสถานที่แห่งอื่นทั้งหมด ทั้งยังคิดวางโครงการอยากจะปรับปรุงให้มีความเจริญเกิดขึ้นในท้องถิ่นนี้ ถึงกับนำญาติโยมทำทางจากบ้านมาหาที่พัก และยังคิดสร้างพระพุทธรูปไว้ที่ถ้ำพวง เพื่อเปลี่ยนพิธีกรรมเซ่นสรวงผีสางในภูเขาประจำปีของชาวบ้าน ให้หันมากราบไหว้บูชาพระพุทธรูปแทน ซึ่งยังจะได้มีส่วนแห่งบุญของตนเท่าที่ควร จึงได้มีการทำทางขึ้นหลังเขาสู่ถ้ำพวง และเลยลงไปถึงหมู่บ้านภูตะคาม ตามที่พวกชาวบ้านนั้นขอร้อง

งานการก่อสร้างยังต้องทำต่อไปเรื่อย ๆ และจัดให้มีงานนมัสการปูชนียวัตถุองค์พระปฏิมากร พระมงคลมุจจลินท์เป็นประจำทุกปีไป แม้ว่าการเงินในการก่อสร้างจะไม่มีตัวเงินงบประมาณก็ตาม คงจัดทำการก่อสร้างไปตามได้ตามมี เท่าที่ท่านสาธุชนทั้งหลายมีศรัทธานำมาบริจาค

ข้าพเจ้าคิดว่า เมื่อคนส่วนมาก ยังยินดีพอใจสนับสนุนการก่อสร้างอยู่แล้ว ต้องพยายามทำตามโครงการที่วางไว้แล้วนั้น จนเป็นผลสำเร็จ เพราะทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม และทำไว้เพื่อเป็นสมบัติของบ้านเมือง ไม่ได้หวังกอบโกยเพื่อผลประโยชน์ส่วนบุคคลใดบุคคลหนึ่ง

ส่วนจำพวกไม่พอใจ ไม่มองเห็นผลประโยชน์ด้วยมีเพียงจำนวนน้อย ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่บางคนอาจจะเพ่งมองข้าพเจ้าในแง่ผิดบ้างก็มี เช่นหวังเพื่ออำนาจ อิทธิพล อยากดัง อยากใหญ่ อยากเด่น อยากรวย อยากปฏิวัติอะไรทำนองนี้ ท่านผู้ปัญญามีจิตเป็นธรรม ปราศจากอคติ จงพิสูจน์หาความจริงได้ทุกโอกาส อย่าหลับตามองดู จงลืมตามองดูแบบคนตาดี อย่าอุดหูฟัง จงเงี่ยหูทั้งสองฟังเหมือนคนมีหูทิพย์ อย่าคิดเหมือนคนวิกลจริต จงใช้ความคิดให้ลึกซึ้งต่อเหตุผลเหมือนนักปราชญ์บัณฑิต”

เมื่อท่านผู้อ่านได้อ่านบันทึกของพระอาจารย์วัน ที่ยกมานี้ คงจะเข้าใจปฏิปทาของท่านได้เป็นอย่างดี ผู้เขียนขอสรุปลงอย่างสั้น ๆ ว่า พระอุดมสังวรวิสุทธิเถร หรือพระอาจารย์วัน อุตฺตโม เป็นพระที่ประกอบด้วยองค์คุณของพระสงฆ์ คือ

สุปฏิปันโน      เป็นผู้ปฏิบัติดี

อุชุปฏิปันโน    เป็นผู้ปฏิบัติตรง

ญายปฏิปันโน  เป็นผู้ปฏิบัติเป็นธรรม

สามีจิปฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติชอบ

ท่านจึงเป็นพระสงฆ์ที่น่าเคารพนับถือ บูชา กราบไหว้ได้อย่างสนิทใจรูปหนึ่งอย่างแน่นอน หากมีความบกพร่องผิดพลาดประการใด ผู้เขียนขอประทานอภัย และขอรับผิดเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หากมีความดีใด ๆ อันจะพึงบังเกิดเพื่อน้อมบูชาพระคุณของพระอาจารย์วัน อุตฺตโม ผู้ล่วงลับไปแล้วด้วยคารวะ

 

พระปริยัติสารสุธี

ในนามคณะศิษยานุศิษย์

หน้าที่