#echo banner="" ประวัติ ภิกษุพระยานรรัตนราชมานิต 02/

คนเราเมื่อมีลาภก็มีเสื่อมลาภ เมื่อมียศก็มีเสื่อมยศ เมื่อมีสุขก็มีทุกข์ เมื่อมีสรรเสริญก็มีนินทา เป็นของคู่กันมาเช่นนี้ จะไปถืออะไรกับปากมนุษย์ ถึงจะดีแสนดีมันก็ติ ถึงจะชั่วแสนชั่วมันก็ชม นับประสาอะไร พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐเลิศยิ่งกว่ามนุษย์และเทวดายังมีมารผจญ ยังมีคนนินทาติเตียน ปุถุชนอย่างเราจะรอดพ้นจากโลกะธรรมดังกล่าวแล้วไม่ได้ ต้องคิดเสียว่าเขาจะติก็ช่าง ชมก็ช่าง เราไม่ได้ทำอะไรให้เขาเดือดเนื้อร้อนใจ ก่อนที่เราจะทำอะไรเราคิดแล้วว่า ไม่เดือดร้อนแก่ตัวเราและคนอื่นเราจึงทำ เขาจะนินทาว่าใส่ร้ายอย่างไร ก็ช่างเขา บุญเราทำ กรรมเราไม่สร้าง พยายามสงบกาย สงบวาจา สงบใจ จะต้องไปกังวน กลัวใครติเตียนทำไม ไม่เห็นมีประโยชน์ เปลืองความคิดเปล่า ๆ

ประวัติ ธมฺมวิตกฺโก ภิกฺขุ
[พระยานรรัตนราชมานิต (ตรึก จินตยานนท์)]
คัดลอกจาก
บันทึกประวัติจากความทรงจำ
โดย
ตริ จินตยานนท์

หลังจากท่านธมฺมวิตกฺโก ภิกฺขุ (พระภิกษุพระยานรรัตนราชมานิต) ท่านเจ้าคุณพี่ได้มรณภาพลงเมื่อวันที่ ๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๔ มีท่านส่วนมากที่คุ้นเคยเคารพนับถือเลื่อมใสในเจ้าคุณพี่ ท่านอยากทราบถึงชีวประวัติรายละเอียด ได้ขอให้เขียนประวัติของท่านไว้ในฐานะที่เป็นน้องชายคนเดียวของท่านที่ใกล้ชิดสนิทสนม การเขียนประวัติของท่านเพื่อให้ผู้ที่เคารพเลื่อมใสในตัวเจ้าคุณพี่และอนุชนรุ่นหลังจะได้รู้ เพื่อเป็นเกียรติของชาติศาสนาในเมืองไทย เพราะท่าน “ธมฺมวิตกฺโก ภิกฺขุ” เป็นผู้ที่มีผู้เคารพนับถือของบรรพชิตและฆราวาสและอุบาสก อุบาสิกา และชาวต่างประเทศ และประชาชนทั่วไป ที่รู้เรื่องของท่านตลอดมา ทั้งอยากจะให้ประวัตินี้ได้อยู่ยืนยงอยู่ต่อไปตลอดกาลนาน

ข้าพเจ้ายังลังเลใจอยู่นาน เพราะยังไม่สันทัดในการเขียน ยังไม่แน่ใจว่าความทรงจำจะได้รายละเอียดเพียงพอหรือไม่ แม้ข้าพเจ้าเป็นน้องชายของเจ้าคุณพี่คนเดียวก็จริง แต่เกิดภายหลังท่านเกือบหนึ่งรอบ เพราะท่านเกิดปีระกา พ.ศ. ๒๔๔๐ แต่ข้าพเจ้าเกิดปีวอก พ.ศ. ๒๔๕๑ ห่างกันถึง ๑๑ ปี เมื่อเวลาเป็นเด็ก ความใกล้ชิดกับเจ้าคุณพี่มีน้อย เพราะเวลานั้นข้าพเจ้ายังเล็กมาก คุณแม่จึงต้องคอยเลี้ยงดู ยังช่วยตัวเองไม่ได้ และคุณแม่ก็ต้องติดตามไปอยู่กับคุณพ่อซึ่งรับราชการเป็นนายอำเภออยู่หัวเมือง ส่วนเจ้าคุณพี่นั้นเติบโตมากับคุณยาย จึงอยู่บ้านหลังวัดโสมนัสตลอดมา ฉะนั้นเจ้าคุณพี่จึงอยู่ใกล้ชิดกับคุณยายมาก ส่วนข้าพเจ้าเมื่อยังเด็กอยู่ใกล้ชิดคุณพ่อคุณแม่มากเพราะเป็นลูกคนสุดท้อง

ยังจำได้ว่า เมื่อข้าพเจ้ามาเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ เวลานั้นเจ้าคุณพี่ก็ได้เข้าไปรับราชการอยู่ในวังหลวงแล้ว เวลานั้นข้าพเจ้ามีอายุเพียง ๖ ขวบเท่านั้น เจ้าคุณพี่เมื่อรับราชการ ก็ค้างคืนอยู่แต่ในวังตลอดอายุราชการ จะมีเวลากลับบ้านก็เพียงแต่เวลาออกเวรกลางวัน กลับมากินอาหารเย็นที่บ้านแล้วก็กลับเข้าวัง ถวายอยู่งานล้นเกล้าฯ เมื่อล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ เสด็จสวรรคตแล้ว ต่อมาก็อุปสมบท เพื่อถวายพระราชกุศลต่อล้นเกล้าฯ ตลอดมาจนมรณภาพ

ฉะนั้นความจำที่ได้เขียนขึ้นนี้ อาจมีขาดตกบกพร่อง ไม่สมบูรณ์ตามที่คิดไว้ แต่ก็ได้พยายามเขียนเท่าที่ความสามารถและความจำได้นึกได้ ทั้งที่ได้รู้ได้เห็นด้วยตนเอง และได้รับคำบอกเล่าจากผู้ใหญ่ในวงญาติ และได้เคยซักถามท่านบ้าง ท่านเล่าให้ฟังบ้าง ฉะนั้นหากท่านที่รู้ดีกว่าที่ข้าพเจ้าได้เล่าได้เขียนขึ้นนี้ หากมีข้อบกพร่องตอนใดข้อใด อาจมีอยู่ไม่น้อย ก็โปรดให้อภัยด้วยจะเป็นพระคุณยิ่ง

ข้าพเจ้าจำวันเกิดของเจ้าคุณพี่ได้ดีเพราะท่านผู้ใหญ่เคยพูด และคุณยายก็มีความรักและภูมิใจในตัวหลานชาย เจ้าคุณพี่ตั้งแต่เล็กๆ และพูดยกย่องเจ้าคุณพี่ และพูดถึงวันเกิด ข้าพเจ้าจึงจำวันเกิดของเจ้าคุณพี่ได้ดี ว่าเกิดในวันมาฆะบูชา เป็นวันสำคัญในทางพุทธศาสนา เจ้าคุณพี่เกิดในเวลาเช้า พระสงฆ์กำลังออกบิณฑบาตโปรดสัตว์ คือไม่เช้าไม่สาย จวนเวลากลับวัด วันนั้นเป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ปีระกา จุลศักราช ๑๒๕๙ คือตรงกับวันเสาร์ที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๐ คืนนั้นเป็นวันเพ็ญ พระจันทร์เต็มดวง เจ้าคุณพี่เกิดที่บ้าน ตำบลหลังวัดโสมนัส ท้องที่อำเภอป้อมปราบศัตรูพ่าย จังหวัดพระนคร คุณยายเลี้ยงดูตลอดมาจนเติบโต และชื่นชมยินดีในหลานชายท่านผู้นี้มาก เคยพูดเสมอตามธรรมเนียมของผู้ใหญ่ในสมัยนั้นว่า หลานของยายคนนี้จะต้องได้พึ่งฝากผีฝากไข้ เพราะมีความกตัญญูต่อผู้ใหญ่ไม่มีวันตกต่ำ เมื่อครั้งคุณพ่อรับราชการเป็นนายด่านภาษีอยู่ที่มหาชัย ลูกชายเพื่อนของคุณพ่อได้ไปซ้อมรบเสือป่าด้วย และเขากลับมาแวะส่งข่าวให้คุณยายทราบว่า ในหลวงท่านได้รับเจ้าคุณพี่ไปไว้ใช้ในวัง พอคุณยายทราบข่าวก็ตกใจมาก เข้าใจว่าในหลวงจับเอาตัวหลานชายไป ถึงกับบนบานศาลกล่าวกันยกใหญ่ ต่อมาจึงเข้าใจดี เมื่อเจ้าคุณพี่รับราชการ เวลาจะออกจากบ้านเข้าวัง ก็ไปกราบเท้าคุณยาย ปฏิบัติเช่นนี้ตลอดเวลา แม้จะติดตามเสด็จล้นเกล้าฯ ไปประทับแรมไกลห่างจากพระนคร เจ้าคุณพี่ก็เป็นห่วงคุณยายตลอดเวลาที่อยู่ห่าง ต้องคอยมีจดหมายมาขอร้องให้ข้าพเจ้าและคนทางบ้าน ช่วยกันเอาใจใส่ดูแลปฏิบัติคุณยายเพราะท่านแก่แล้ว ให้ท่านมีความสุขสบาย ดังจดหมายถึงข้าพเจ้าหลายฉบับ เมื่อครั้งยังเป็นจ่ายง สมกับความรักและความเป็นห่วงที่คุณยายมีต่อเจ้าคุณพี่ และเจ้าคุณพี่ก็รักและกตัญญูต่อคุณยายเช่นกัน

ข้าพเจ้าขอลำดับญาติดังต่อไปนี้

คุณพ่อ - สทฺธมฺมวิจาโร ภิกฺขุ พระภิกษุ พระนรราชภักดี (ตรอง จินตยานนท์)

คุณแม่ - อุบาสิกา นางนรราชภักดี (พุก จินตยานนท์)

คุณตา - แห รับราชการกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์

คุณยาย - นิล

คุณปู่ - ขุนบำเรอราชา (อ้น) สังกัดกรมมหาดเล็กพระราชวังบวรฯ

คุณย่า - กลัด

คุณพ่อ-คุณแม่ มีลูก ๕ คน

๑. เจ้าคุณพี่ พระยานรรัตนราชมานิต (ตรึก จินตยานนท์)

๒. พี่สมบุญ (หญิง) ถึงแก่กรรมเมื่ออายุราว ๖-๗ ขวบ

๓. พี่เลื่อน (หญิง) นางสรรพกิจโกศล (เลื่อน ปัทมสุนทร)

๔. เด็กชาย ถึงแก่กรรมแต่ยังเล็ก ยังไม่มีชื่อ

๕. นายตริ จินตยานนท์

เจ้าคุณพี่เริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดโสมนัส ไปต่อจบมัธยมที่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตร ต่อจากนั้นไปเรียนวิชารัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย (ศึกษาภาษาอังกฤษพิเศษกับคุณครูเพลิน ซึ่งต่อมาได้ตั้งโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษกลางคืน ชื่อ โรงเรียน “เศนีเศรษฐดำริ” สำเร็จก่อนเข้าจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย) ในปีนั้นมีผู้สำเร็จพร้อมกัน ๑๒ นาย คือ

๑. นายฮกไถ่ พิศาลบุตร

๒. พระตราษบุรี (จำรัส)

๓. นายตรึก จินตยานนท์

๔. นายปริก

๕. นายสวัสดิ์

๖. นายชิ้น วรคามิน

๗. นายชุบ สุขรูป

๘. นายแฉล้ม สุมิตมาน

๙. นายแจ่ม นารายนมิน

๑๐. นายจำรัส รัตนประทีป

๑๑. นายกิมไล้ ปัทมสุนทร

๑๒. นายสาย นทิคามิน

(คัดจากหนังสือ “รัฐศาสตร์อนุสรณ์” เนื่องในงานประชุมรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ประจำปี ๒๕๐๑)

ในปีที่สอบไล่ได้แล้วนี้ ภายหลังการสอบไล่แล้ว นักเรียนต้องไปซ้อมรบเสือป่าที่จังหวัดนครปฐม ในฐานะนักเรียนเสือป่ารักษาพระองค์ เมื่อกลับจากราชการซ้อมรบแล้ว จึงจะได้รับการบรรจุเข้ารับราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อเป็นนายอำเภอต่อไป จำได้ว่าท่านเจ้าคุณพี่ เป็นนักเรียนเสือป่าหลวงเหล่าสื่อสาร ขี่รถจักรยาน ๒ ล้อ (มีหลักฐานรูปถ่ายหมู่ร่วมกับล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ แต่งนักเรียนเสือป่า ที่บ้านโป่ง ในปีที่ได้รับเลือกเข้าไป) ในระหว่างซ้อมรบอยู่นี้ ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ มีพระราชประสงค์จะได้นักเรียนเสือป่าเข้าไปเป็นมหาดเล็กรับใช้ (นักเรียนปีสุดท้าย) จึงให้ข้าราชบริพารไปคัดเลือกเด็กหน้าตาดีๆ คล่องแคล่วเข้ามาสัก ๔-๕ คน (สำหรับจำนวนนี้จำไม่ได้แน่นัก) ซึ่งในจำนวนนี้ เจ้าคุณพี่ได้รับเลือกเข้าไปด้วย

ในตอนแรก จะเขียนระยะชีวิตแต่เด็ก เริ่มรับราชการ ออกจากราชการ และอุปสมบทกระทั่งมรณภาพ ส่วนต่อไปจะเขียนรายละเอียดอื่นๆ เท่าที่จำได้ สำหรับประวัติรับราชการ ได้คัดมาจากเอกสารของสำนักพระราชวัง ซึ่งได้รับความกรุณาจากท่านเจ้าหน้าที่เป็นอย่างดี ขอขอบคุณเป็นอย่างสูงไว้ ณ โอกาสนี้

ต่อไปนี้เป็นประวัติรับราชการจนถึงกับมรณภาพ

๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๔๕๗

โปรดเกล้าฯ ให้รับราชการในกรมมหาดเล็ก แผนกตั้งเครื่อง ยศ มหาดเล็กวิเศษ

๑ เมษายน ๒๔๕๘

เงินเดือน เดือนละ ๔๐ บาท

๓๐ พฤศจิกายน ๒๔๕๘

ยศ บรรดาศักดิ์ รองหุ้มแพร นายรองเสนองานประภาษ เงินเดือนเพิ่ม ๒๐ บาท รวม ๖๐ บาท

๑ เมษายน ๒๔๕๙

ย้ายไปอยู่กองห้องที่พระบรรทม

๓๐ สิงหาคม ๒๔๕๙

บรรดาศักดิ์ หุ้มแพร นายเสนองานประภาษ

๑ กันยายน ๒๔๕๙

 เงินเดือนเพิ่ม ๔๐ บาท รวม ๑๐๐ บาท

๓๑ ธันวาคม ๒๔๖๐

ยศ บรรดาศักดิ์ จ่า นายจ่ายง

๑ มกราคม ๒๔๖๐

เงินเดือนเพิ่ม ๑๐๐ บาท รวม ๒๐๐ บาท

๓๑ ธันวาคม ๒๔๖๑

ยศ บรรดาศักดิ์ รองหัวหมื่น หลวงศักดิ์นายเวร

๑ มกราคม ๒๔๖๑

 เงินเดือนเพิ่ม ๑๐๐ บาท รวม ๓๐๐ บาท

๑ เมษายน ๒๔๖๓

 เงินเดือนเพิ่ม ๔๐ บาท รวม ๓๔๐ บาท

๑๐ พฤศจิกายน ๒๔๖๔

ยศ บรรดาศักดิ์ เจ้าหมื่นสรรเพธภักดี

๑ เมษายน ๒๔๖๕

 เงินเดือนเพิ่ม ๑๖๐ บาท รวม ๕๐๐ บาท

๑ ธันวาคม ๒๔๖๕

 เจ้ากรมห้องที่พระบรรทม

๓๐ ธันวาคม ๒๔๖๕

บรรดาศักดิ์ พระยานรรัตนราชมานิต

๑ กรกฎาคม ๒๔๖๗

องคมนตรี ร. ๖

๑ มกราคม ๒๔๖๗

ยศ จางวางตรี

๑ เมษายน ๒๔๖๘

เงินเดือนเพิ่ม ๒๐๐ บาท รวม ๗๐๐ บาท

๔ เมษายน ๒๔๖๙

องคมนตรี ร.๗

๑ เมษายน ๒๔๖๘

โปรดเกล้าฯ ให้ยุบเลิกตำแหน่งหน้าที่ราชการกรมมหาดเล็กหลวง ให้รับพระราชทานบำนาญ เดือนละ ๘๔ บาท ๖๖.๒/๓ สตางค์

๒๔ มีนาคม ๒๔๖๘

วันถวายพระเพลิงพระบรมศพ ล้นเกล้าล้นกระหม่อม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้อุปสมบท ณ พระอุโบสถวัดเทพศิรินทราวาส มีสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ญาณวร ครั้งยังเป็นพระศาสนโสภณ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระพุทธวิริยากร เจ้าอาวาสวัดโสมนัสวิหาร และพระอุดมสีลคุณ วัดเทพศิรินทราวาส เป็นพระกรรมวาจาจารย์ บรรพชาอุปสมบทเรียบร้อยแล้ว ไปถวายพระเพลิงล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ณ พระเมรุท้องสนามหลวง พร้อมด้วยพระอุปัชฌาย์

๘ มกราคม ๒๕๑๔

ถึงมรณภาพ ด้วยความชรา (บันทึก ส.น.ว. ที่ ๓๑๔ ล.ว. ๑๑ ม.ค. ๒๕๑๔)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์และสิ่งของที่ได้รับพระราชทาน

๒๑ มกราคม ๒๔๕๗

 เหรียญราชรุจิทอง

๒ มกราคม ๒๔๕๘

เหรียญรัตนาภรณ์ ชั้น ๕

๓๑ ธันวาคม ๒๔๕๙

ตรามงกุฎสยาม ชั้น ๕

๑๘ เมษายน ๒๔๖๐

ตราวชิรมาลา

๓๑ ธันวาคม ๒๔๖๐

เบญจมาภรณ์ช้างเผือก ๕

๓๑ ธันวาคม ๒๔๖๑

ตรามงกุฎสยามชั้น ๔

๑๐ พฤศจิกายน ๒๔๖๔

เหรียญรัตนาภรณ์ ชั้น ๓

๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๖๕

ตราตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ

๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๖๖

ตราทุติยจุลจอมเกล้า

๑๐ พฤศจิกายน ๒๔๖๘

ตรามงกุฎสยาม ชั้น ๑ (ปถมาภรณ์มงกุฎสยาม)

๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๘

เหรียญบรมราชาภิเษกทอง (รัชกาลที่ ๗)

๔ เมษายน ๒๔๗๕

เหรียญเฉลิมพระนคร ๑๕๐ ปี เงินกาไหล่ทอง

ปรากฏตามประวัติรับราชการว่า เริ่มเข้ารับราชการแผนกตั้งเครื่องเมื่อ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๕๗ รับราชการอยู่ ๑ ปี กับ ๑ เดือนเศษ ก็โปรดเกล้าฯ ให้ไปอยู่ห้องที่บรรทม

สกุล “จินตยานนท์” ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ โดยพระราชทานให้แก่เจ้าคุณพี่ ดังนี้

พระปรมาภิไธย วชิราวุธ ปร.

ขอให้นามสกุลของ มหาดเล็กวิเศษ ตรึก (บุตร ขุนชาญสุพรรณเขตร) ประจำกรมมหาดเล็กตั้งเครื่อง ว่า “จินตยานนท์” (เขียนเปนตัวอักษรโรมันว่า “Chintayanonda”) อันเป็นมงคลนาม

ขอให้สกุลจินตยานนท์ มีความเจริญรุ่งเรืองมั่นคงอยู่ในกรุงสยามชั่วกัลปาวสาน

พระที่นั่งพิมานปฐม

วันที่ ๙ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๕๗

ประวัติ ธมฺมวิตกฺโก ภิกฺขุ
[พระยานรรัตนราชมานิต (ตรึก จินตยานนท์)]
เรียบเรียงโดย ท. เลียงพิบูลย์

ท่านผู้ให้แสงสว่างทางปฏิบัติ

วันหนึ่งเพิ่งจะผ่านวันต้นปีใหม่ใน พ.ศ. ๒๕๑๔ ไปได้ไม่กี่วัน อยู่ในเขตของต้นเดือนมกราคม จำได้ว่าเป็นบ่ายวันเสาร์ วันนั้นข้าพเจ้าอยู่บ้าน เวียงโทรศัพท์ดังขึ้น เมื่อยกขึ้นมาแนบหูฟังก็ทราบว่าคุณประยงค์ ดาวมณี เป็นผู้พูดมา และเมื่อรู้ว่าข้าพเจ้าเป็นผู้รับ ก็ได้ยินพูดอย่างร้อนรนละล่ำละลักว่า

“คุณได้ทราบข่าวหรือยังว่า ท่านเจ้าคุณนรรัตนฯ ท่านสิ้นเสียแล้ว” (คำว่าเจ้าคุณนรรัตนฯ ซึ่งเป็นที่เจนหู เพราะเราสนใจท่านมาก่อน เป็นผู้ที่เราเคารพนับถือ ทั้งบูชาในความกตัญญูอันสูงยิ่ง และยกย่องในการปฏิบัติหลักธรรมอย่างบริสุทธิ์สะอาดของท่านอยู่ก่อนแล้ว เป็นที่ขึ้นใจของเราตลอดมา จึงไม่มีข้อสงสัยจะเป็นอื่นไปได้นอกจากภิกษุพระยานรรัตนราชมานิต) เป็นข่าวที่ใหญ่สำหรับข้าพเจ้า ทำให้ตื่นเต้นและขนลุก รีบบอกไปว่า “ผมยังไม่ทราบข่าว ท่านสิ้นเมื่อไหร่” เสียงคุณประยงค์ฯ ตอบอย่างเร่งร้อนมาว่า “ผมเองก็เพิ่งรู้ก่อนหน้านี้ จึงรีบโทรศัพท์มาบอกให้รู้ก่อน ทราบว่าท่านสิ้นเมื่อวันศุกร์ที่ ๘ นี่เอง บ่ายวันพรุ่งนี้จะมีการพระราชทานรดน้ำศพ (วันอาทิตย์ที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๔) ที่ศาลาละมุนนิรมิต เวลาบ่าย ๔ โมง” ข้าพเจ้ารับฟังด้วยความเศร้าสลด ใจคอหดหู่ คิดว่างานรดน้ำศพต้องมีเจ้านายผู้ใหญ่และข้าราชการพ่อค้ามากมายเข้าไม่ถึง เพราะท่านเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนทั่วไป ที่ทราบถึงการสละกิเลสของท่าน ข้าพเจ้าอาลัยท่านมาก ต่อมาข้าพเจ้าได้ทราบว่ามีผู้เสียน้ำตาเพราะยังปลงไม่ตก ว่าตามธรรมชาติของสังขารย่อมแตกดับเป็นธรรมดา ไม่มีผู้อยู่ได้ตลอดไปไม่รู้ดับ แต่เพราะท่านเป็นตัวอย่างปฏิบัติทางหลักธรรมที่ดียิ่ง เท่าที่ข้าพเจ้ารู้ ในยุคปัจจุบันนี้หาได้ยาก ข้าพเจ้าเป็นมนุษย์ปุถุชนธรรมดาย่อมจะมีความรู้สึกเสียดายแทนส่วนรวมทั่วไป ข้าพเจ้าคิดว่าพุทธจักรได้สูญเสียครั้งยิ่งใหญ่เป็นประวัติศาสตร์ของเมืองไทย เพราะความดีของท่านที่ปฏิบัติตนอยู่ในหลักธรรมอย่างบริสุทธิ์ผุดผ่องไม่มีราคี ซึ่งการปฏิบัติเป็นตัวอย่างที่ดียิ่ง สมควรแก่พระภิกษุสงฆ์ชาวพุทธ อุบาสก อุบาสิกาทั้งหลาย และจะเป็นประโยชน์แก่เยาวชนที่กำลังจะศึกษาการปฏิบัติธรรมต่อไป

แม้ว่าตัวข้าพเจ้าจะไม่คุ้นเคยและรู้จักท่านมาก่อนก็ดี แต่ความดีของท่านที่ได้ปฏิบัติมาแล้ว ทำให้ผู้รู้เห็นต่างก็ยกย่องสรรเสริญทั่วไป แม้ท่านจะไม่เคยเทศน์สั่งสอนเผยแพร่ทางธรรมให้แพร่หลาอกไปก็ดี แต่ท่านก็เป็นผู้ปฏิบัติหลักธรรมซึ่งเป็นตัวอย่างที่หาได้ยาก เพราะท่านพูดน้อย แต่ท่านปฏิบัติมาก อันผู้ปฏิบัติตนด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา ปลดเปลื้อง รูป รส กลิ่น เสียง และ ดับความโลภ ความโกรธ ความหลง ดังเช่น ภิกษุพระยานรรัตนฯ นี้ แม้จะไม่เคยรู้จักคุ้นเคยมาก่อน แต่เมื่อรู้ถึงการปฏิบัติหลักธรรม ที่ท่านได้เสียสละหมดทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว ก็มีความศรัทธาเกิดขึ้นทางใจ ทำให้เกิดความเคารพนับถือ ผิดกับบางท่าน แม้จะยังไม่รู้ไม่เห็นไม่เคยรู้จักมาก่อน เมื่อได้ยินข่าวความชั่วร้ายของมนุษย์ใจบาปหยาบช้า มัวเมาหลงอยู่ในกิเลสตัณหา เราก็นึกรังเกียจ ไม่อยากพบเห็นเกิดขึ้นทางใจเช่นกัน

สำหรับข้าพเจ้า เป็นผู้สนใจในกรรมดีของผู้ทำความดี อยากจะเทิดทูนเขียนไว้ เพื่ออนุชนรุ่นหลังจะได้รู้ และมีสิ่งหนึ่งที่ข้าพเจ้าชอบพิจารณาถึงนิสัยแต่ละท่าน แม้ท่านผู้นั้นจะเป็นบรรพชิตหรือจะเป็นฆราวาส อาจารย์ผู้ทรงความรู้ เชี่ยวชาญเป็นปราชญ์ที่มีผู้ยกย่องนับถือทั่วไป เป็นผู้สอนธรรม ข้าพเจ้าก็มักชอบพิจารณ์ทดลองพิสูจน์

หากได้รู้ได้เห็นท่านผู้นั้นยังมีอารมณ์ฉุนเฉียวโกรธง่าย แสดงกิริยาออกท่าทางหรือทางระบายอารมณ์ออกมาทางคำพูดหรือหนังสือก็ดี ข้าพเจ้าหมดความสนใจ เพราะถือว่าท่านผู้นั้นรู้เพียงทฤษฎีเท่านั้น ยังปฏิบัติไม่ได้ เมื่อยังไม่สามารถดับอารมณ์ข่มความโกรธของตนเองลงได้ แม้จะมีความรู้ความสามารถเพียงใด ก็ถือว่าผู้นั้นยังอยู่ในกิเลสหนา เพราะทางพระศาสนาท่านได้ดับความโลภ ความโกรธ ความหลงนี้ แต่ความโกรธเป็นกิเลสหยาบๆ ไม่ละเอียดอ่อนตามอารมณ์รุนแรงนั้น เป็นสิ่งเดียวที่จะแสดงให้เห็นได้ง่าย เมื่อโกรธแล้ว ส่วนมากจะระงับอารมณ์อัดไว้ไม่อยู่ ย่อมจะระเบิดอกมาทางกิริยาและคำพูด ตลอดทั้งตัวอักษร ส่วนความโลภ ความหลงนั้น ละเอียดอ่อน มองเห็นช้า แต่เมื่อด่านแรกสำคัญ คือ ความโกรธระงับไม่อยู่แล้ว สิ่งต่อไปก็ไม่ต้องพูดถึง นี่เป็นความรู้สึกของข้าพเจ้า แต่ผู้อื่นจะเห็นอย่างใดนั้น แต่ละบุคคลไม่เหมือนกัน หากจะกระทบกระเทือนผู้ใดโดยข้าพเจ้าไม่เจตนา ก็ต้องขออภัยด้วย

ขอย้ำความรู้สึกอีกครั้งว่า ภิกษุพระยานรรัตนราชมานิต ท่านมีความบริสุทธิ์ในศีล สมาธิ กำจัดความโลภ โกรธ หลง ห่างไกลจาก รูป รส กลิ่น เสียง สละทรัพย์สิน สมบัติทางโลกตลอด ตัดขาดจากตัณหาราคะกิเลส ทำลายความลุ่มหลงงมงมยออกไปได้ เป็นเหตุจูงใจให้พวกเราและศาสนิกชนทั้งหลาย พากันนิยมยกย่องบูชา นับถือด้วย กาย วาจา ใจ เกิด ศรัทธาขึ้นมาเอง แม้ท่านจะไม่ได้ออกจากวัดไปเที่ยวเผยแพร่เทศนา สั่งสอนอบรมศีลธรรมประชาชนชาวพุทธทั้งหลาย เช่น สงฆ์ที่ท่านออกเผยแพร่พระศาสนาทั่วไปอย่างปัจจุบันนี้ แต่การปฏิบัติของท่านเป็นตัวอย่างที่ประเสริฐยิ่ง ในโลกยุคนี้หายาก ควรแก่การที่บรรพชิตผู้บวช แต่กายจิตใจยังอยู่ทางโลก และฆราวาส อาบาสก อุบาสิกา ที่สนใจในหลักปฏิบัติควรที่จะนำมาพิจารณาศึกษา

ข้าพเจ้ายังรู้สึกเสียดายที่ยังไม่เคยไปพบเห็นและนมัสการท่านมาก่อน ฉะนั้นจึงได้ระลึกถึงคุณความดีของท่านอยู่แต่ภายในความรู้สึก ข้าพเจ้าไม่กล้าพอที่จะอุทิศส่วนกุศลให้แก่ท่านได้ เพระรู้ดีว่าท่านมีทุกสิ่งซึ่งได้บรรลุธรรมอย่างเพียบพร้อม เมื่อเปรียบเทียบแล้ว ตนเองก็คือยาจก ไม่สามารถจะมีสิ่งใดอุทิศ เมื่อท่านอยู่เหนือทุกข์ทั้งปวงทางโลก ข้าพเจ้าก็ได้แต่ขอน้อมกาย วาจา ใจ ขอนนมัสการท่านผู้บริสุทธิ์สะอาด ผู้ซึ่งหลุดพ้นจากความโลภ รัก โกรธ หลง ห่างไกลจากกิเลสตัณหา ไปสู่ความสุขสงบอันสูงยิ่ง ความรู้สึกของข้าพเจ้าเคยคิดไว้ก่อนว่า ทุกยุคทุกสมัยย่อมจะมีผู้บรรลุพระอรหันต์ ฉะนั้นเมื่อพิจารณาถึงหลักปฏิบัติของธมฺมวิตกฺโก ภิกฺขุแล้ว ข้าพเจ้าคิดว่าท่านอาจได้ถึงซึ่งความสุขสงบสุดยอดในทางพระศาสนาแล้ว นี่เป็นความรู้สึกของข้าพเจ้าผู้อ่อนทั้งความรู้ทางพระศาสนาและทั้งปัญญา อาจผิดถูกประการใดที่ในความเห็นไม่ตรงกับผู้อื่น ข้าพเจ้าก็ขออภัยด้วย

เมื่อข่าวการสูญเสียท่านผู้ปฏิบัติหลักธรรมด้วยความบริสุทธิ์สะอาดได้แพร่ออกไป ทำให้พุทธศาสนิกชนพากันเศร้าสลดใจ และต่อมาข้าพเจ้าก็ได้รับโทรศัพท์จากคุณนายน้อม พูดเรื่องของท่าน “ธมฺมวิตกฺโก” ท่านผู้ปฏิบัติหลักธรรมบริสุทธิ์สะอาด กำจัดพ้นจากความโลภ โกรธ ความหลง และหลุดพ้นจาก รูป รส กลิ่น เสียง ในสิ่งที่ก่อให้เกิดตัณหา สละทั้งทรัพย์สิน สมบัติ ถวายวัดเพื่อบำรุงพระศาสนาต่อไป

ที่สุดคุณนายน้อม ก็ขอร้องให้ข้าพเจ้าเขียนประวัติของท่าน ข้าพเจ้าจึงเรียนคุณนายน้อมให้ทราบว่า ข้าพเจ้าคงไม่สามารถที่จะเขียนประวัติของท่านได้ เพราะท่านได้ปฏิบัติธรรมชั้นสูง เกินความรู้ความสามารถของข้าพเจ้าที่จะเข้าถึง อาจจะทำให้ประวัติอันดีงามมัวหมองเป็นมลทินในการเขียนของข้าพเจ้า คุณนายน้อมรับว่า จะนำรายละเอียดมาให้ ข้าพเจ้าก็หนักใจ เพราะรู้ความสามารถของตนเองยังไม่ถึงขนาดที่จะอาจเอื้อมไปเขียนประวัติท่านผู้ปฏิบัติธรรมขาวสะอาด ไม่มีราคี ซึ่งมีพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ผู้ทรงความรู้สูง ยกย่องท่านว่าเป็นเหมือนพระอรหันต์องค์หนึ่ง ฉะนั้นข้าพเจ้าก็ยังแบ่งรับแบ่งสู้ รู้ว่าคุณนายน้อมท่านเป็นผู้ที่เลื่อมใสศรัทธาในท่านภิกษุพระยานรรัตนฯ และทั้งคุณนายน้อมยังเป็นพุทธศาสนิกชนผู้เลื่อมใสในหลักธรรม และสร้างบุญบริจาคทานมีชื่อผู้หนึ่ง

เมื่อข้าพเจ้าพูดโทรศัพท์กับคุณนายน้อมแล้ว ก็ต้องใช้ความคิดว่าควรจะทำอย่างใดในความหวังดีและให้เกียรติอันสูงแก่ข้าพเจ้า แต่แล้วต่อมา จำได้ว่าเป็นปลายเดือนมกราคมปีนั้น ข้าพเจ้าก็ได้รับโทรศัพท์จากคุณณรงค์ สุทธิกุลพาณิชย์ จากธนาคารกรุงเทพ บอกกับข้าพเจ้าว่า “ธนาคารกรุงเทพได้จองสวดศพเจ้าคุณนรรัตนฯ วัดเทพศิรินทราวาส ในนามของธนาคารกรุงเทพ กับคณะ ท. เลียงพิบูลย์ เป็นเจ้าภาพร่วมกัน ผมไม่ได้บอกคุณ ท. ให้ทราบล่วงหน้า เพราะกลัวจะจองไม่ทัน” ข้าพเจ้าได้ฟังก็ตื่นเต้น เพราะมีความศรัทธาเคารพท่านเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และบอกไปกับคุณณรงค์ สุทธิกุลพาณิชย์ ทางโทรศัพท์ว่า “ผมขอขอบคุณที่ได้กรุณาให้เกียรติอันสูงที่ได้พ่วงไปด้วย ผมยินดีมาก เพราะผมและเพื่อนๆ ทุกคนก็เลื่อมใสศรัทธาในตัวท่านเจ้าคุณนรรัตนฯ อยู่แล้ว คืนไหนที่จองเป็นเจ้าภาพ ผมจะได้จดไว้”

เสียงคุณณรงค์ สุทธิกุลพาณิชย์ ตอบมาทางโทรศัพท์ว่า วันที่ ๑๓ มีนาคม” ข้าพเจ้ามาคิดดูยังมีเวลาอีกเกือบสองเดือน จึงถามไปว่า “ทำไมช้านัก กว่าจะถึงเวลาอีกนาน” เสียงคุณณรงค์ฯ ตอบมาว่า “ระยะใกล้ๆ จองไม่ได้ เพราะมีผู้จองไว้หมดแล้ว ถ้าไม่รีบจองก็ต้องช้าไปกว่านี้อีกมาก ต้องรอคิว”

หลังจากวันคืนได้ผ่านไป เมื่อถึงวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๑๔ ข้าพเจ้ากับเพื่อนๆ ก็ไปร่วมเป็นเจ้าภาพกับธนาคารกรุงเทพ เมื่อข้าพเจ้าไปถึง ก็เห็นมีท่านที่มาก่อนหน้าข้าพเจ้ามากท่าน คุณณรงค์ สุทธิกุลพาณิชย์ ได้แนะนำให้รู้จัก คุณชิน โสภณพาณิช และมากท่านที่ยังไม่รู้จักและจำไม่ได้หมด ข้าพเจ้าขึ้นบนศาลาเห็นโกศตั้ง แต่หลังโกศมีโลงบรรจุศพของท่านพระภิกษุเจ้าคุณนรรัตนฯ แทนที่จะอยู่ในโกศ เห็นจะเป็นเพราะท่านสร้างโลงไว้ก่อนแล้วและสั่งไว้ ข้าพเจ้าได้ตรงเข้าไปจุดธูป แล้วก็กราบลงน้อมจิต นมัสการด้วยกาย วาจา ใจ ระลึกถึงท่านผู้พ้นจากความโลภ โกรธ หลง ห่างไกลจาก รูป รส กลิ่น เสียง ซึ่งก่อกวนให้เกิดกิเลสทั้งหลาย ได้สิ้นสุดลงแล้ว เป็นตัวอย่างผู้ปฏิบัติแสวงหาแสงสว่างแห่งดวงธรรม เพื่อหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง ซึ่งมนุษย์อีกมากมายในโลกยังอยู่ในห้วงแห่งความหลง เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่อนุชนผู้ที่จะได้ตัวอย่างปฏิบัติต่อไป

คืนนั้นข้าพเจ้าได้ทราบว่า มีหลายท่านร่วมงานสวด และบางท่านก็อุตส่าห์มาจากต่างจังหวัด มีหลายท่านซึ่งข้าพเจ้าได้มีโอกาสรู้จักในคืนนั้น

ข้าพเจ้าได้รับเกียรติสนทนากับท่านเจ้าคุณใหญ่ พระธรรมธัชมุนี ท่านเจ้าอาวาส และท่านเจ้าคุณอุดมสารโสภณ ท่านได้มอบพระเครื่องแก่ข้าพเจ้า ซึ่งเป็นความกรุณาอย่างสูง และคุณลิ้นจี่ ได้กรุณามอบของหลายสิ่ง พร้อมทั้งพระเครื่อง ข้าพเจ้าต้องกราบขอบพระคุณ และมีมากท่านที่สนใจในกฎแห่งกรรม ท่านเหล่านี้ข้าพเจ้าเพิ่งรู้จักในคืนนั้น ความจริงข้าพเจ้ารู้จักชื่อเสียงของท่านมานาน แต่ยังไม่เคยพบตัวท่าน คืนนั้นหลังจากพระสวดเสร็จแล้ว เพื่อนได้พาข้าพเจ้าไปแนะนำให้รู้จัก ท่านอาจารย์พระครูปัญญาภรณ์โศภน (มหาอำพัน บุญ-หลง) ผู้ซึ่งข้าพเจ้าเคารพนับถือมาก่อนที่จะพบ และท่านผู้หนึ่งที่ข้าพเจ้าได้เคารพนับถือ อาจารย์พระครูปัญญาภรณ์โศภน (มหาอำพัน บุญ-หลง) ซึ่งพวกเราจำนวนไม่น้อยได้เป็นศิษย์ของท่านมาก่อน แต่ข้าพเจ้าก็พึ่งจะรู้จักตัวท่านในคืนนั้น และได้พบทั้งคุณตริ จินตยานนท์ ซึ่งเป็นน้องท่านเจ้าคุณนรรัตน ฯ ซึ่งอยู่ในที่นั้นกับท่านอาจารย์พระครูปัญญาภรณ์โศภน ข้าพเจ้าได้มีโอกาสกราบนมัสการท่านอาจารย์ในคืนนั้น ความจริงท่านอาจารย์มหาอำพัน บุญ-หลง ซึ่งชื่อนี้ข้าพเจ้าได้เรียกจนติดปาก ข้าพเจ้ารู้จักท่านแต่ชื่อ และมีความเคารพนับถือตั้งแต่ยังไม่เคยพบตัวท่านมาก่อน เคยมีแต่จดหมายและเคยพูดโทรศัพท์บางครั้งเท่านั้น ทั้งได้ทราบว่าท่านเกิดในตำบลเดียวกับข้าพเจ้า เมื่อได้ทราบ ได้พบท่านอาจารย์ก็เกิดความปีติยินดีขึ้นทางใจ คืนนั้นข้าพเจ้าได้สนทนากับท่านอาจารย์พระครูปัญญาภรณ์โศภน คุณตริฯ และเพื่อนอีกหลายท่าน หลังจากเสร็จงานสวดแล้ว เราก็ยังอยู่สนทนากันอีกนาน

มีอีกหลายท่าน ทั้งอาจารย์พระครูปัญญาภรณ์โศภน และคุณตริ จินตยานนท์ ได้ปรารภอยากให้ข้าพเจ้าเขียนเรื่องของพระภิกษุพระยานรรัตน ฯ และคุณตริ จินตยานนท์ ซึ่งเป็นน้องชายผู้ใกล้ชิดกับท่านเจ้าคุณผู้พี่ ยินดีร่วมให้ข้อความอย่างละเอียดพอที่จะหยิบยกขึ้นมาเขียน

ข้าพเจ้ากล่าวขอบคุณทุกท่านที่ได้สนับสนุนให้ข้าพเจ้ารับเขียนเรื่องนี้ นับว่าเป็นเกียรติอันสูงยิ่งที่ข้าพเจ้าได้รับ ที่ได้มีโอกาสเขียนในความเป็นอยู่ของพระภิกษุที่ชาวบ้านชาวเมืองตลอดจนเจ้านายและพระสงฆ์ชั้นสูง ทั้งชาวต่างประเทศเคารพนับถือยกย่องว่าท่านได้ปฏิบัติดี พร้อมทั้งสูงด้วยความกตัญญูกตเวที ท่านเป็นผู้มักน้อย หลุดพ้นจากความโลภ รัก โกรธ หลง ตัดสิ้นสุดจาก รูป รส กลิ่น เสียง สละทรัพย์สินสมบัติจนสิ้น ไม่มีสิ่งใดห่วงกังวลต่อไป สละทุกสิ่งไม่ยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นสมบัติของตน

ข้าพเจ้าจึงไม่กล้าที่จะรับปากแน่นอนว่า ข้าพเจ้าจะสามารถเขียน เรียบเรียง เรื่องเหล่านี้ได้เพียงไหน เพราะรู้สึกหนักใจ หากข้าพเจ้าเรียบเรียงเขียนขึ้นได้เพียงครึ่งหนึ่งที่ความดีของท่านได้ทำไว้ ข้าพเจ้าก็พอใจแล้ว ฉะนั้นข้าพเจ้าจึงรับว่าจะพิจารณาดูตัวเองเสียก่อน เหตุการณ์เหล่านี้ที่ผ่านมา ข้าพเจ้าก็มีภาระที่จะต้องทำอีกมาก

จนถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๔ คุณประยงค์ ดาวมณี โทรศัพท์มาถามว่า ว่างหรือยัง ท่านอาจารย์อยากจะพบ บังเอิญเวลานั้น ข้าพเจ้าต้องรีบเขียนเรื่องสำหรับ ส.ค.ส. ปีใหม่ ๒๕๑๕ จะต้องเร่งส่งต้นฉบับไปให้โรงพิมพ์ เร่งให้ทางโรงพิมพ์เข้าเล่มให้เสร็จเรียบร้อยก่อนเดือนธันวาคม ก่อนถึงวันปีใหม่อย่างน้อยหนึ่งเดือน จึงตอบไปว่า เมื่อหนังสือพิมพ์ตรวจแก้เสร็จเรียบร้อยแล้ว จะรีบไปนมัสการท่านอาจารย์

เมื่อข้าพเจ้าได้นัดไปพบท่านอาจารย์ที่วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน เวลา ๑๔.๐๐ น. วันนั้น ท่านอาจารย์พระครูปัญญาภรณ์โศภน (มหาอำพัน บุญ-หลง) และคุณตริ จินตยานนท์ และคุณประยงค์ ดาวมณี ได้คอยอยู่ก่อนแล้ว

เรามีเวลาสนทนากันเพียงได้ทราบงานที่จะจัดพระราชทานเพลิง พระภิกษุ พระยานรรัตนราชมานิต กำลังใกล้เข้ามาแล้ว จะเริ่มตกลงวันงานในเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๑๕ นี้ คุณ ตริ จินตยานนท์ ได้กรุณาให้ความรู้รายละเอียดข้าพเจ้ามากมาย ที่จะเป็นประโยชน์ในการเขียนครั้งนี้ แต่วันนั้นเวลาบ่าย ข้าพเจ้ามีเวลาไม่มากนัก เราก็นัดต่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน เวลาบ่าย ครั้งนี้ได้รายละเอียดพอที่จะนำมาเล่าเขียนเป็นคำให้สัมภาษณ์ของคุณตริ จินตยานนท์ และข้าพเจ้าจะนำเอาคำของเพื่อนๆ และท่านที่เคารพนับถือ ที่เคยสนทนากับท่านพระภิกษุพระยานรรัตน ฯ ที่เกิดประโยชน์ในข้อคิดรวบรวมลงไปด้วย

เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๔ เมื่อถึงวันเวลา ข้าพเจ้าก็ได้มาพบกับ คุณตริ จินตยานนท์ ที่กุฏิท่านอาจารย์ เราก็เริ่มสนทนาถึงเรื่องการงานเพื่อไม่ให้เวลาเสียไป คุณตริ จินตยานนท์ ได้เล่าถึงความจำในเรื่องอดีตของพระภิกษุ พระยานรรัตนราชมานิต ครั้งเมื่อท่านเริ่มเข้ารับราชการครั้งแรกจนใกล้ชิดพระยุคลบาท ล้นเกล้าล้นกระหม่อม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า เจ้าอยู่หัว จนเป็นที่โปรดปราน ไว้วางพระราชหฤทัย เริ่มเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ ถ้าจะนับย้อนหลังจาก พ.ศ. ๒๕๑๔ ก็ประมาณ ๕๗ ปีผ่านมา นับว่าเป็นประวัติในอดีตที่น่ารู้น่าศึกษา

เมื่อพิจารณาดูแล้ว ก็จะรู้ว่า อันดวงชะตาชีวิตของมนุษย์เรานี้ แต่ละบุคคลย่อมจะมีสิ่งที่ผิดแปลกแตกต่างแล้วแต่กรรมดีกรรมชั่วในอดีตหนุนนำ บางครั้งดวงชะตาชีวิตก็เล่นตลกขบขันกลับพาชีวิตให้ไปสู่ความรุ่งโรจน์อย่างนึกไม่ถึง ซึ่งเวลานั้นพระภิกษุพระยานรรัตนราชมานิตยังเป็นนายตรึก จินตยานนท์ อยู่ในวัยหนุ่ม ได้รับตำแหน่งหน้าที่เชิญเครื่องเสวยครั้งแรกรับใช้เมื่อในหลวงร่วมโต๊ะเสวยพร้อมกับข้าราชการผู้ใหญ่หลายท่าน นายตรึกฯ มีหน้าที่เปิดน้ำโซดา รินในแก้วถวายในหลวง และรินให้ข้าราชการผู้ใหญ่ทั่วกันในที่นั้น

จะเป็นเพราะความไม่ชำนาญ หรือประหม่าเมื่ออยู่ต่อหน้าเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน จึงเปิดน้ำโซดาที่บรรจุขวด สมัยนั้นขวดโซดาหรือน้ำมะเน็ดใช้แบบเดียวกัน ใช้ขวดทำพิเศษ คอขวดคอดข้างหนึ่งและโป่งออกมาข้างหนึ่ง สีขวดแก้วไม่ขาวเป็นสีค่อนข้างเขียวอ่อนๆ แต่ความหนาเป็นพิเศษ มีลูกแก้งกลมๆ แทนจุกขวดอัดขึ้นมาดันแหวนยางตอนปากขวดไว้แน่น เวลาเปิดปิดใช้ไม้สำหรับเปิด กดดันลูกแก้วให้ลงไป หรือมือแข็งก็ใช้หัวแม่มือกดดันลูกแก้วให้ลงไป ก็จะเกิดเสียงดังฟู่ ด้วยแรงดันของลมอัดไว้ภายในพุ่งขึ้น จะเป็นฟอง เมื่อเวลาเทน้ำในขวดไหลลงแก้ว แต่ก็ต้องตะแคงขวดให้ลูกแก้วลงไปค้างอยู่ในช่องทำไว้โดยเฉพาะ มิฉะนั้น เวลารินน้ำในขวด ลูกแก้วก็จะตกลงมาปิดปากขวดเทน้ำไม่ออก

นายตรึก จินตยานนท์ ในเวลานั้น จะขาดความชำนาญ หรือความประหม่า เมื่อเปิดออกแล้วยกขวดโซดารินลงแก้วแล้วตะแคงผิดทาง ลูกแก้วก็กลับตกลงมาอุดปากขวด แล้วยกขึ้นตั้งตรงลูกแก้วก็ตกลงแล้วเทใหม่ แต่ก็เข้าแบบเก่า นายตรึกฯ ตกใจกลัวมากทำอะไรไม่ถูก คนเรายิ่งกลัวก็ลนลานก็ยิ่งผิด ไม่รู้จะทำอย่างไรดี ก็เอานิ้วชี้อีกมือหนึ่งแหย่เข้าไปในปากขวด ดันลูกแก้วไว้ไม่ให้ปิด แล้วก็รินน้ำโซดาออกมา แต่ลงแก้วไม่มาก ไหลกระจายไปข้างๆแก้ว ทำให้บริเวณนั้นเปียกแฉะ โซดาหกเลอะผ้าปูโต๊ะ นายตรึก จินตยานนท์ มีความหวาดกลัวในหลวงจะทรงกริ้วยิ่งนัก นึกถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคยเคารพนับถือยึดมั่นเวลานั้นในพระพุทธรูป ๓ องค์ คือ หลวงพ่อพระแก้วมรกต วัดพระแก้ว หลวงพ่อพระพุทธชินสีห์ วัดบวรนิเวศน์ และหลวงพ่อพระพุทธชินราช วัดเบญจมบพิตร เมื่อคับขันไม่มีทางออก ก็นึกถึงพระเป็นที่พึ่ง จึงได้นึกอธิษฐานจิตอยู่ในใจ ขอความช่วยคุ้มครองจากหลวงพ่อทั้งสามองค์ จะเป็นด้วยบารมีของพระพุทธรูปทั้ง ๓ องค์ หรือบารมีของกรรมดีที่เคยสร้างสมไว้แต่อดีต จะเป็นวาสนามีความรุ่งเรืองใกล้ชิดพระยุคลบาท จึงทำให้ในหลวงทรงเอ็นดู

ตามปกติธรรมดาแล้ว ในหลวงท่านจะต้องทรงกริ้วมาก แต่เมื่อเห็นกิริยาท่าทางของนายตรึก จินตยานนท์ ตื่นกลัว พระองค์กลับทรงพระสรวลเห็นเป็นเรื่องขบขัน ทรงหันไปรับสั่งกับเจ้าพระยารามฯ ว่า “เจ้าเด็กคนนี้มาจากไหน” เจ้าพระยารามฯ กราบบังคมทูลว่า “เป็นนักเรียนเสือป่าที่ทรงโปรดเกล้าให้คัดเลือกมาเมื่อคราวซ้อมรบ พระเจ้าข้า” ต่อจากนั้นมา ในวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๙ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าให้นายตรึก ฯ เข้าไปประจำห้องที่พระบรรทม นี่ก็จะเห็นได้ว่าชะตาชีวิตนี้เป็นสิ่งลี้ลับ การทำสิ่งใดลงไปจะเป็นการบกพร่องเพราะไม่สันทัด มิได้มีเจตนาให้บกพร่อง พยายามทำดีที่สุด บางครั้งก็ทำให้ผู้ใหญ่เห็นความซื่อและให้ความเอ็นดู บางครั้งก็ถูกตำหนิโทษ ไม่มีสิ่งใดแน่นอน ชะตาชีวิตได้ผลักดันให้นายตรึก จินตยานนท์ เข้าไปรับใช้ใกล้ชิดพระยุคลบาท จนเป็นที่โปรดปรานเจริญในหน้าที่ราชการ จนเป็นเจ้ากรมห้องที่บรรทม ทรงไว้วางพระราชหฤทัย เป็นตำแหน่งสำคัญและสูงในราชสำนัก จนได้บรรดาศักดิ์ตามลำดับมาถึงเป็นพระยานรรัตนราชมานิต เป็นชั้นพระยาพานทองเมื่ออายุยังน้อย ตลอดเวลาราชการใกล้ชิดพระยุคลบาทไม่เคยถูกในหลวงกริ้วเลย พระยานรรัตนราชมานิตสูงด้วยความกตัญญู มีความจงรักภักดีต่อองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระอุปัชฌาย์อาจารย์ บิดามารดและคุณยายผู้เลี้ยงดูอย่างใกล้ชิด ทะนุถนอมรักใคร่มาแต่เล็กจนเติบใหญ่ เพราะคุณแม่ติดตามคุณพ่อซึ่งไปรับราชการอยู่ตามหัวเมือง ดังที่คุณตริ จินตยานนท์ ได้บันทึกความทรงจำ นับแต่เริ่มแรก เท่าที่รู้จนบวชเพื่ออุทิศส่วนกุศลถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ และศึกษาธรรมจนมองเห็นทุกข์เวทนาของสัตว์โลกที่ยังหลงงมงายติดอยู่ในวัฏฏไม่สิ้นสุด ท่านได้ศึกษาปฏิบัติจนบรรลุธรรมชั้นสูงเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนชาวพุทธทั่วไป ดังข่าวของผู้รู้ธรรมทั้งหลายลือกันว่า ท่านสำเร็จเป็นองค์อรหันต์ตลอดเวลาการปฏิบัติ ท่านรู้ถึงเวลามรณภาพ นี่เป็นความรู้สึกของผู้เขียนและจากคำบอกเล่าของคุณตริ จินตยานนท์ แต่ข้อความที่จะกล่าวต่อไปนี้เป็นบันทึกความทรงจำของคุณตริ จินตยานนท์ โดยตรง ดังต่อไปนี้

หน้าที่   ๑