#echo banner="" ประวัติพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ โดย พระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน 07

ประวัติ

ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ

ตอนที่ ๗

โดย   ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน

แห่งวัดป่าบ้านตาด  จังหวัดอุดรธานี

หมายเหตุของ webmaster : ข้อความทั้งหมดได้ Download มาจาก www.luangta.com โดยไม่ได้แก้ไขข้อความหรือตัดทอน เว้นแต่มีการแก้ไขการพิมพ์ผิดอยู่บ้าง ๒ - ๓ คำ แต่ได้นำมาจัดวรรคตอนและย่อหน้าใหม่ เพื่อให้อ่านได้ง่าย และสบายตาขึ้น รวมทั้ง คำนำหัวข้อต่าง ๆ ก็ได้จัดทำเพิ่มขึ้น เพื่อให้ในแต่ละหน้าดูโปร่งขึ้น ผู้ดำเนินการขอกราบเท้าขอขมาท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน ไว้ ณ ที่นี้ หากมีข้อผิดพลาดใด ๆ เกิดขึ้น

การบำเพ็ญธรรมและการแสดงธรรมในช่วงเวลาที่อยู่เชียงใหม่

ท่านอยู่ในเขาจังหวัดเชียงใหม่ สถานที่บำเพ็ญสะดวกทั้งกลางวันกลางคืน ท่านมีความ รื่นเริงในทิฏฐธรรมสุขวิหาร คือธรรมเป็นเครื่องอยู่สบายในเวลาขันธ์ยังครองตัวอยู่ การนั่งสมาธิภาวนาเป็นไปตามเวลาที่ต้องการ ไม่มีสิ่งมาเป็นอุปสรรคทำให้ขาดวรรคขาดตอน ท่านมีความสุขกายสบายใจมาก การสงเคราะห์ผู้มาเกี่ยวข้องนั้นในเวลากลางคืนก็เป็นพวกเทวดา ซึ่งมีภูมิละเอียดตามคตินิสัยอยู่แล้ว จึงไม่เป็นภาระกังวลมากในการต้อนรับ และการสงเคราะห์ด้วยธรรมที่เกี่ยวกับประชาชนก็มีบ้างเป็นบางกาล เช่น ตอนบ่าย ๆ หรือเย็น ส่วนพระของท่านเอง ถ้าวันจะมีการประชุมท่านก็นัดให้เองตามที่เห็นควร เช่น หนึ่งทุ่ม เป็นต้น โดยมากก็เป็นผู้มีภูมิจิตสูง นับแต่สมาธิขึ้นไปถึงปัญญาเป็นขั้น ๆ ทั้งเป็นผู้มุ่งมั่นต่อธรรม และฟังกันแบบบำเพ็ญเพียรเพื่อมรรคผลนิพพานในขณะฟังจริง ๆ

การแสดงธรรมแก่ผู้มีภูมิจิตภูมิธรรมต่างกันและสูงขึ้นไปตามลำดับลำดาเช่นนั้น ท่านก็แสดงธรรมไปตามลำดับภูมิ นับแต่ภูมิสมาธิขึ้นไปหาภูมิปัญญาเป็นขั้น ๆ จนถึงขั้นละเอียดสุด คือ วิมุตติหลุดพ้นแทบทุกครั้ง ผู้มีภูมิจิตนั่งฟังท่านอธิบายธรรมภาคต่าง ๆ ทำให้จิตเพลิดเพลินไปตามธรรมขั้นนั้น ๆ จนลืมตัวและลืมเวลา

ปกติท่านเทศน์สอนพระล้วน ๆ ทางภาคปฏิบัติจิตตภาวนา กว่าจะยุติก็กินเวลาไม่ต่ำกว่าสองชั่วโมงเป็นอย่างน้อย แต่ผู้ฟังมิได้สนใจกับเวล่ำเวลายิ่งไปกว่าสนใจไปตามกระแสธรรมที่ท่านกำลังแสดงไปเป็นระยะ ๆ ในเวลานั้น ขณะฟังถ้าจิตของผู้ฟังอยู่ในระดับใดก็ได้กำลังเพิ่มระดับเดิมของตนขึ้นเป็นลำดับในทุกครั้งที่รับการสดับธรรม

ฉะนั้นการฟังธรรมทางภาคปฏิบัติด้วยความสำรวมระวัง และทดสอบจิตไปตามขณะที่ฟัง จึงจัดเป็นความเพียรสำคัญภาคหนึ่ง ไม่ด้อยกว่าการทำความเพียรในอิริยาบถและความเพียรภาคอื่น ๆ

ท่านผู้แสดงก็มีความมุ่งหมายอยากให้ผู้ฟังได้รู้เห็นความจริงตามธรรมที่แสดงออกทุกระยะไปเช่นเดียวกัน และแสดงไปตามความคิดนึกความแสดงออกของจิต ทั้งที่เป็นฝ่ายสมุทัยและฝ่ายมรรคของผู้ฟังจริง ๆ เพื่อให้รู้ทั้งโทษและคุณที่ควรละและควรเจริญให้ยิ่งขึ้นไป ในขณะที่นั่งฟังยิ่งกว่าขณะอื่นใดในเวลานั้น ผู้มีสติจดจ่อต่อจิตซึ่งเป็นที่รวมของธรรมไม่ให้ส่งไปที่อื่น ย่อมได้รับความสงบตามขั้นสมาธิและได้อุบายต่าง ๆ ตามขั้นของปัญญาที่สามารถไตร่ตรองตามธรรมซึ่งท่านกำลังแสดงในขณะนั้น ผู้ที่ควรผ่านไปได้ในขณะฟังก็ผ่านไปเป็นพัก ๆ ฟังคราวนี้ได้อุบายอย่างหนึ่งขึ้นมา ฟังคราวหน้าได้อุบายอีกอย่างหนึ่งขึ้นมา อันเป็นการเพิ่มสติปัญญาด้วยการฟังอยู่เสมอ จิตย่อมเจริญก้าวหน้า ทั้งทางสมาธิทุกขั้น และปัญญาทุกภูมิ เป็นลำดับ จนสามารถผ่านพ้นไปได้ด้วยการปฏิบัติและการฟังที่ผู้แสดงเป็นผู้รู้จริงเห็นจริง และแสดงถูกต้องกับจุดความจริงที่กำลังเป็นไปในผู้ปฏิบัติที่มาอบรมศึกษา

ฉะนั้นการฟังสำหรับพระธุดงคกรรมฐาน จึงถือเป็นกิจจำเป็นทางภาคปฏิบัติเช่นเดียวกับการปฏิบัติภาคอื่น ๆ เสมอมา จะห่างเหินต่อการฟังย่อมไม่ได้ เมื่อครูอาจารย์ผู้สามารถทางจิตใจมีอยู่

ด้วยเหตุนี้พระธุดงค์ผู้มุ่งอรรถธรรมอย่างแท้จริง จึงชอบแสวงหาครูอาจารย์ผู้คอยแนะนำทางจิตตภาวนาเป็นนิสัย และเคารพรักในอาจารย์มาก หวังพึ่งเป็นพึ่งตายด้วยจริง ๆ ท่านให้อุบายแนะนำอย่างไรย่อมเข้าถึงใจจริง ๆ และนำไปใคร่ครวญและปฏิบัติตามเต็มสติกำลังของตน ถ้ายังมีแง่สงสัยหรือมีข้อสงสัยที่เกิดจากการภาวนาในแง่ใดบ้าง ก็มาขอคำแนะนำจากท่านอีก แล้วนำไปปฏิบัติเป็นอาจิณ

ฉะนั้น ครูอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิในทางจิตตภาวนามีอยู่ ณ ที่ใด พระธุดงคกรรมฐานจึงมักไปรุมล้อมอยู่กับท่าน ณ ที่นั้น ดังท่านพระอาจารย์มั่นท่านอาจารย์เสาร์เป็นตัวอย่าง ทั้งสององค์นี้นับว่ามีลูกศิษย์ที่เป็นพระธุดงค์จำนวนมากเป็นพิเศษในภาคอีสาน

แต่เวลาที่พระอาจารย์มั่นพักอยู่ที่เชียงใหม่นั้น ท่านตั้งใจปลีกองค์จากหมู่คณะออกบำเพ็ญเป็นพิเศษ ไม่ต้องการความยุ่งเหยิงวุ่นวายจากภาระต่าง ๆ มีการอบรมสั่งสอนเป็นต้น เพื่อเร่งความเพียรให้ถึงจุดที่หมายและเพื่อความอยู่สบายในทิฎฐธรรม แม้เช่นนั้นก็จำต้องได้รับภาระในการอบรมสั่งสอนประชาชนและพระเณรอยู่โดยดี

ดังที่รู้ ๆ กันอยู่ทั่วไปว่า ท่านมีลูกศิษย์ทั้งบรรพชิตและฆราวาสจำนวนมากมายในประเทศไทย ก่อนหน้าที่ท่านจะปลีกจากหมู่คณะไปบำเพ็ญอย่างเด็ดเดี่ยวแต่ผู้เดียวที่เชียงใหม่ ท่านเคยพูดเสมอว่า เวลานี้กำลังท่านยังไม่เพียงพอ ทั้งเพื่อตนเองและผู้อื่น ท่านจึงได้ปลีกออกไปตามเจตนาเดิมที่พูดไว้และบำเพ็ญเต็มกำลังจนสิ้นความสงสัยทางจิตใจทุกด้าน ดังที่เคยกล่าวผ่านมาบ้างแล้ว จากนั้นมาท่านไม่เคยพูดอีกเลยว่า “กำลังไม่พอ”

ขอผ่านทางกับช้างป่า

ครั้งหนึ่งท่านเดินธุดงค์ไปในเขาด้วยกันสามองค์ มีท่านพระอาจารย์ขาว วัดถ้ำกลองเพล อุดรธานี และท่านพระอาจารย์มหาทองสุก วัดสุทธาวาส สกลนคร ติดตามไปด้วย พอไปถึงช่องแคบจะขึ้นเขาก็เผอิญไปเจอช้างใหญ่เชือกหนึ่ง ที่เจ้าของเขามาปล่อยทิ้งไว้แล้วหนีไปไหนก็ไม่ทราบ เห็นแต่ช้างเที่ยวหากินอยู่ปากช่องขึ้นเขา งาของมันยาวเกือบวา เห็นแล้วน่ากลัวพิลึก ท่านปรึกษากันว่าจะทำอย่างไร ทางก็จำเพาะมีเท่านี้ไม่มีที่พอปลีกแวะไปได้บ้างเลย ท่านพระอาจารย์มั่นบอกให้ท่านพระอาจารย์ขาวพูดกับช้างซึ่งกำลังกินใบไผ่อยู่ติด ๆ กับทางที่ท่านจะผ่านไป ช้างอยู่ห่างกับท่านประมาณสิบวา ยืนหันก้นมาทางพระ มันยังไม่เห็นพระเวลานั้น

ท่านพระอาจารย์ขาวก็เริ่มพูดกับช้างว่า

“พี่ชาย เราขอพูดด้วย”

ประโยคแรกมันยังไม่ได้ยินชัดเป็นแต่หยุดกินใบไผ่ ท่านอาจารย์ขาวพูดขึ้นอีกว่า

“พี่ชาย เราขอพูดด้วย”

พอประโยคนี้จบลง มันรีบหันหน้ามาทางพระยืนอยู่ทันที หูกางเต็มที่ และยืนนิ่งไม่กระดุกกระดิก ท่านก็พูดซ้ำกับมันอีกว่า

“พี่ชาย เราขอพูดด้วยพี่ชายนั้นตัวก็ใหญ่กำลังก็มาก ส่วนพวกเราเป็นพระ ทั้งกำลังมีน้อยและกลัวพี่ชายมาก พวกเราขอเดินผ่านไปที่พี่ชายยืนอยู่นั้น ขอให้พี่ชายหลีกทางให้พวกเราบ้างพอมีทางไปได้ ถ้าพี่ชายยืนอยู่ที่นั้นพวกเรากลัวพี่ชายมาก ไม่กล้าเดินผ่านไปที่นั้นได้”

พอพูดจบลง ช้างตัวนั้นรีบยืนหันหน้าเข้ากอไผ่ข้างทางทันที เอางายาว ๆ สอดเข้าไปในกลางกอไผ่ซึ่งแสดงว่าไม่ทำไมแล้ว ให้มากันได้

พอช้างหันหน้าเข้ากอไผ่เรียบร้อยแล้ว ท่านพระอาจารย์มั่นก็บอกกันว่า ทีนี้เขาไม่ทำไมแล้ว พวกเราไปได้ ท่านอาจารย์ทั้งสองขอนิมนต์ให้ท่านพระอาจารย์มั่นเดินกลาง ท่านอาจารย์ขาวเดินหน้า ท่านอาจารย์มหาทองสุกเดินหลัง พากันเดินผ่านไปที่ก้นช้างห่างกันประมาณหนึ่งวา โดยไม่มีอะไรเกิดขึ้น เผอิญพอเดินผ่านช้างไปได้ประมาณวาเศษ ขอกลดท่านอาจารย์มหาทองสุกก็ไปเกี่ยวเอาแขนงไม้ไผ่เข้าพอดี ปลดอย่างไรก็ไม่ยอมออก ต้องพยายามปลดอยู่นั้นนานจนเหงื่อโชกไปทั้งตัวเพราะกลัวช้างมาก ซึ่งกำลังยืนดูท่านอยู่ ขณะที่กำลังปลดขอกลดอยู่นั้น ได้ชำเลืองดูตาช้างตัวกำลังยืนนิ่งเหมือนตุ๊กตาอยู่นั้น ได้เห็นตาช้างตัวนั้นใสแจ๋ว น่ารักมากกว่าจะน่ากลัว แต่ใจก็ยังกลัวอยู่ในขณะนั้น พอพ้นไปได้แล้ว ใจกลับเห็นช้างตัวนั้นเป็นสัตว์ที่น่ารักมาก เมื่อผ่านกันไปหมดแล้ว ท่านอาจารย์ขาวหันมาพูดกับมันว่า

“พี่ชายเอ๋ย พวกเราผ่านมาแล้ว ขอให้พี่ชายหากินได้ตามสบายเถิด”

พอจบลงเท่านั้น เสียงมันฉุดลากกิ่งไม้ดังฟูดฟาดขึ้นทันที

เมื่อไปถึงที่พักแล้ว จึงได้สนทนากันถึงช้างตัวแสนรู้นั้นว่า เป็นสัตว์ที่น่ารักน่าสงสารมาก เป็นแต่มันพูดไม่เป็นเท่านั้น ขณะสนทนากันท่านอาจารย์มหาทองสุกกราบเรียนถามท่านอาจารย์มั่นว่า

ขณะนั้นท่านอาจารย์ได้กำหนดดูจิตมันบ้างหรือเปล่าว่า ช้างตัวนี้นึกอะไรบ้าง ขณะที่พวกเราเรียกและพูดกับมันตลอดขณะที่เราเดินผ่านมันมา กระผมอยากทราบบ้าง เพราะเป็นสัตว์ที่น่ารักและน่าสงสารมาก ขณะพวกเราเรียกมัน พอได้ยินเสียงเรียก เห็นมันทำท่าตึงตังหันหน้ากลับมาหาพวกเราทันทีทันใด ราวกับจะวิ่งมาขยี้ให้แหลกละเอียดในขณะนั้นจนได้ แต่พอทราบเรื่องแล้วกลับเป็นมนุษย์ขึ้นมาในร่างสัตว์ และรีบหันหน้าเข้ากอไผ่เอางายาว ๆ สอดเข้ากลางกอไผ่ ยืนนิ่งเหมือนสัตว์ไม่มีวิญญาณ ซึ่งเป็นการบอกอย่างชัดเจนว่า

“พวกน้อง ๆ พากันมาเถอะ พี่ไม่ทำไมแล้ว พี่เก็บศาสตราอาวุธซ่อนมันหมดแล้ว เชื่อและมาเถอะ”

ในทำนองนี้ แล้วก็พูดเชิงหยอกเล่นกับท่านอาจารย์ขาวบ้างว่า

“ท่านอาจารย์ขาวก็พิสดารไม่ใช่เล่น พูดกับช้างซึ่งเป็นสัตว์ทั้งตัว ราวกับพูดกับมนุษย์ทั้งคนว่า ‘พี่ ๆ พวกน้องกลัว ไปไม่ได้ ขอให้พี่หลีกทางให้หน่อย พวกน้องจะได้ไปกันได้ ไม่ต้องกลัวพี่’ ไอ้พี่ก็เหมือนเทวบุตรใจมหาเวสสันดร พอได้ลูกยอเข้าไปสักลูกเท่านั้นก็อิ่มท้อง รีบจัดแจงหลีกทางให้ทันทีทันใดไม่รีรอ แต่น้องคนเล็กเซ่อเอาการ พอผ่านพี่ไปได้ขอกลดก็เกิดไปเกี่ยวกับแขนงไม้ไผ่ ปลดเท่าไร ๆ ก็ไม่ยอมออก จะพยายามให้อยู่กับพี่จนได้ ใจหายหมดขณะที่กำลังปลดขอกลดอยู่นั้น กลัวพี่จะเล่นไม่ซื่อ”

ท่านพระอาจารย์มั่นพอฟังคำท่านอาจารย์มหาทองสุกพูดหยอกเล่นท่านอาจารย์ขาว ว่าฉลาดพูดกับช้างแล้ว เลยหัวเราะใหญ่ไปพักหนึ่ง จึงพูดต่อไปว่า

“ทำไมจะไม่กำหนดดูมันเล่า แม้แต่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น นกและลิง เรายังกำหนดดูมันในบางเวลา นี่มันเรื่องถึงตายจะไม่กำหนดได้หรือ”

“เวลาท่านอาจารย์กำหนดดูช้างตัวนั้นมันคิดอย่างไรบ้าง” ผู้ถาม

ท่านตอบ

“ทีแรกได้ยินเสียงพวกเรามันตกใจ จึงรีบหันหน้ามาอย่างรวดเร็ว เป็นท่าและความคิดจะต่อสู้ พอมองเห็นพวกเราซึ่งมีสีผ้ากาสาวพัสตร์ครองอยู่ มันก็รู้ทันทีว่าเป็นเพศที่เย็นและไว้ใจได้ เพราะมันเคยเห็นมาจนชินตาชินใจแล้ว เจ้าของมันก็เคยเสี้ยมสอนมาจนพอแล้วไม่ให้ทำอันตรายแก่เพศนี้ ฉะนั้น พอพวกเราพูดกับมันซึ่งเป็นคำที่มันชอบมากอยู่แล้วว่า พี่ ๆ ดังที่ท่านขาวพูดกับมัน ก็ยิ่งทำให้มันชอบใจใหญ่และหลีกทางให้ทันที”

ผู้ถาม “มันรู้ภาษาที่เราพูดกับมันได้ทุกคำหรือเปล่า”

“ทำไมจะไม่รู้  ไม่เช่นนั้นจะเอามันมาลากไม้เข็นซุงในป่าในเขาได้หรือ เดี๋ยวมันฆ่าตายทิ้งเปล่า ๆ สัตว์พรรค์นี้เขาต้องฝึกสอนจนมันรู้ภาษาคนได้ดีถึงจะนำมาทำงานชนิดต่าง ๆ ได้ ช้างตัวนี้อายุมันเป็นร้อยปีขึ้นไป ดูงามันซิยาวเกือบวา แล้วมันอยู่กับคนมากี่ปี แม้เจ้าของของมันก็น่ากลัวเพิ่งเกิดมาไม่กี่ปียังมาเป็นควาญมันได้ มันจะไม่แสนรู้ภาษามนุษย์อย่างไรเล่า ต้องรู้อย่างไม่มีปัญหา”

“ขณะที่มันหันหน้าและสอดงาเข้ากอไผ่มันคิดอย่างไรบ้าง” ผู้ถาม

ท่านตอบ  “ก็มันรู้เรื่องแล้วนั่นเองมันจึงให้ทาง ไม่คิดจะทำอะไร”

ผู้ถาม “ขณะที่พวกเราเดินผ่านมันมานั้น ท่านอาจารย์ได้กำหนดดูใจมันมาตลอดทางผ่านหรือเปล่า ว่ามันอาจคิดอย่างไรบ้าง ขณะที่พระกำลังเดินผ่านมา”

ท่านตอบ “กำหนดดูก็เห็นแต่มันให้ทางอยู่แล้วโดยไม่คิดอะไรอื่น

กระผมกลัวว่าเวลาพวกเรากำลังเดินผ่านมามันอาจคิดสนุกขึ้นมา อยากทำลายพวกเราเล่นสนุก ๆ ไปตามประสาสัตว์ จึงเรียนถามอย่างนั้น"

ท่านว่า

“หาคิดเรื่องพิสดารที่โลกเขามิได้คิดกันมาถาม ถ้าชอบคิดซอกแซกดังที่คิดถามเรื่องช้างก็คงมีหวังพ้นทุกข์ได้ในวันหนึ่งแน่นอน แต่นี้คงไม่สนใจคิด นิสัยมนุษย์เราชอบเป็นอย่างนี้มาดั้งเดิม ถ้าสิ่งที่เป็นคุณเป็นประโยชน์ไม่ชอบคิด แต่ที่เสียเวลาและเป็นโทษแล้วชอบคิด แบบถึงไหนถึงกัน นี่ก็จะพยายามคิดและถามเรื่องช้างไปตลอดคืน จนไม่ต้องสนใจกับธรรมะธัมโมอะไรละหรือ”

พอถูกขู่เท่านั้นเรื่องช้างเลยจบลงทันที เพราะกลัวท่านจะเข่นใหญ่ (นี่ท่านอาจารย์มหาทองสุกเล่าให้ฟัง)

เรื่องของพระที่พูดคุยกับท่านแบบไร้สติจนถูกดุ

เรื่องการพูดคุยอะไรกับท่านแบบไร้สติ ว่าควรอย่างไรไม่ควรอย่างไรบ้าง นี่เคยโดนท่านดุมามากราย บางรายถึงกับเสียสติในวาระต่อไปก็มี

มีพระรูปหนึ่งซึ่งมีนิสัยไม่ค่อยสุภาพนักไปพำนักอยู่กับท่านชั่วคราว เวลาท่านพูดอะไรขึ้นมาเธอชอบพูดไปตามท่านเสมอ

ตอนไปอยู่ใหม่ ๆ ท่านเคยเตือนบ่อย ให้สนใจในหน้าที่ของตัว โดยมีสติระวังรักษาใจที่จะคิดจะพูดในเรื่องต่าง ๆ ไม่สนใจกับเรื่องของผู้อื่น นักปฏิบัติต้องรู้จักวิธีปฏิบัติตัวโดยถูกทาง ผู้มีสติอยู่กับตัวย่อมเห็นความบกพร่องของใจที่แสดงออก

แต่เธอนั้นคงมิได้สนใจคิดเรื่องท่านให้อุบายสั่งสอนเท่าที่ควร จึงชอบเป็นไปตามนิสัยเสมอ

วันหนึ่งเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน ท่านพระอาจารย์มั่นท่านมีนิสัยที่ใคร ๆ สังเกตได้ยาก เวลาเดินไปไหนมาไหนท่านมองเห็นอะไร เช่นสัตว์ต่าง ๆ หรือผู้คนตลอดเด็ก ๆ ท่านมักจะเอาเรื่องที่ได้เห็นนั้น ๆ มาพิจารณาและพูดของท่านไปคนเดียว ดังที่เคยเขียนไว้บ้างแล้ว

วันนั้นขณะที่กำลังบิณฑบาต ท่านได้เห็นลูกวัวมีรูปร่างน่ารักที่กำลังวิ่งเพลินอยู่กับแม่ของมัน ขณะพระเดินไป มันยังมองไม่เห็นท่าน พอพระเดินไปจวนถึงตัวมันจึงหันหน้ามามองอย่างตกใจ และกระโดดวิ่งอ้าวไปหาแม่แล้วเอาหลังหนุนคอแม่ไว้ หันหน้าออกมาสู่พระ นัยน์ตาบอกว่ากลัวมาก ส่วนแม่พอเห็นลูกวิ่งไปหาก็รีบหันหน้ามองมาทางพระ พอรู้แล้วก็ทำเฉยตามนิสัยของสัตว์ที่เคยกับพระมาจำเจแล้ว แต่ลูกของมันยืนตาจับจ้องอยู่ใต้คางแม่อย่างไม่ไว้ใจ เมื่อท่านอาจารย์เห็นอาการของทั้งแม่ทั้งลูกที่แสดงอาการต่างกันเช่นนั้น จึงพูดขึ้นลอย ๆ ว่า

“แม่ไม่เห็นแสดงอาการกลัว แต่ลูกทำไมกลัวจนจะแบกแม่ทั้งตัววิ่งหนีไปได้ (ท่านเห็นมันอยู่ใต้คอแม่อันเป็นลักษณะแบกแม่ถึงได้พูดอย่างนั้น) พอเหลือบเห็นพระเท่านั้นก็ทั้งเผ่นทั้งร้องหาแม่ให้ช่วย

คนเราก็เหมือนกันต้องวิ่งหาที่พึ่ง ถ้าอยู่ใกล้แม่ก็วิ่งพึ่งแม่ อยู่ใกล้พ่อก็วิ่งพึ่งพ่อ อยู่กับใครก็มักจะพึ่งคนนั้น จะคิดพึ่งตัวเองไม่ค่อยมี ตอนยังเล็กก็คิดหวังพึ่งผู้อื่นแบบหนึ่ง โตขึ้นมาคิดหวังพึ่งผู้อื่นไปอีกแบบหนึ่ง แก่ตัวลงไปคิดหวังพึ่งผู้อื่นอีกแบบหนึ่ง จะย้อนจิตเข้ามาใช้อุบายหาทางพึ่งตัวเองไม่ค่อยจะมีกัน ฉะนั้น คนเราจึงมักทำตัวให้อ่อนแอ อยู่ในวัยใดก็หวังพึ่งแต่ผู้อื่น อยู่ที่ใดไปที่ใดก็หวังพึ่งแต่ผู้อื่น เลยไม่เป็นตัวของตัวเองได้ตลอดกาล

พระเราก็เหมือนกัน บวชมาในศาสนาจะศึกษาก็เกียจคร้าน จะปฏิบัติก็กลัวเป็นทุกข์ลำบาก เพราะความขี้เกียจไม่ยอมให้ทำ คิดอะไรที่จะเป็นประโยชน์บ้าง พอคิดจะลงมือทำความขี้เกียจก็มาคอยกันท่าไว้เสีย เลยไม่มีอะไรสำเร็จได้ เมื่อไม่มีทางช่วยตัวเองได้จำต้องหวังพึ่งผู้อื่น ไม่เช่นนั้นก็ครองตัวไปไม่ได้

คำว่า อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ เลยไม่มีประโยชน์สำหรับคนไม่มีจมูกหายใจ เราผู้บวชเป็นพระและเป็นนักปฏิบัติจึงไม่ควรทำตนเป็นคนไม่มีจมูก คอยหายใจจากผู้อื่นอยู่เรื่อยไป ครูอาจารย์สั่งสอนอะไรควรนำไปคิดและพยายามทำตาม ไม่ให้หลุดมือตกสูญหายไปเปล่า ๆ พยายามคิดและทำตามท่านจนเกิดประโยชน์ขึ้นมาแก่ตนจนได้ จะต้องไม่หวังพึ่งท่านตลอดไป จมูกทางหายใจคือความรู้ความฉลาดทางระบายทุกข์น้อยใหญ่ออกจากใจก็พอมีทางอาศัยตนได้ ชื่อว่าเป็นพระขึ้นมาโดยลำดับ จนกลายเป็นพระสมบูรณ์แบบและพึ่งตนเองได้อย่างเต็มที่”

ท่านพูดเป็นเชิงสอนพระหรือสอนใครก็สุดแต่ผู้จะพิจารณานำมาสอนตน คำพูดท่านยังไม่จบเรื่องซึ่งพอจะแทรกขึ้นในระหว่างท่านหยุดชั่วคราว แต่พระองค์ไม่ค่อยพิจารณานัก ก็พูดพล่ามไปตามท่าน โดยมิได้สำนึกตัวว่าควรหรือไม่ควรเพียงไร ความบ้าของเธออาจจะเข้าไปกระทบธรรมภายในท่านอย่างแรง จึงทำให้ท่านหันหน้ากลับมาชำระเสียบ้าง พอให้พระองค์ที่มีสังวรธรรมพลอยตกตะลึงกลัวไปตาม ๆ กัน ใจความว่า

“ท่านนี้จะบ้าเสียแล้วกระมังนี่ พอตามองเห็นค้อนเห็นไม้ที่ใครโยนมาแต่ทิศใดแดนใดก็คอยแต่จะโดดกัดร่ำไปเหมือนสุนัขบ้า ไม่มองดูใจที่กำลังจะบ้าอยู่ขณะนี้บ้างเลย ผมว่าท่านจะบ้าแล้วนะ ถ้ายังขืนปล่อยให้น้ำลายไหลออกแบบไม่มีสติดังที่เป็นอยู่ขณะนี้”

ว่าเท่านั้นก็หันกลับและเดินเข้าที่พักไม่พูดอะไรต่อไปอีก

มองดูพระองค์นั้นหน้าตาพิกลอย่างพูดไม่ออก ตอนมาถึงที่พักแล้ว ขณะฉันก็เห็นเธอฉันนิดเดียว พอเห็นอาการอย่างนั้น ต่างองค์ก็ต่างนิ่งเฉย ทำเหมือนไม่รู้และไม่เกี่ยวข้องกับเธอ เกรงว่าจะอาย เวลาอื่นก็ทำเหมือนไม่มีอะไร ต่างองค์ต่างอยู่และบำเพ็ญภาวนาไปตามที่เคยปฏิบัติมา

พอตกกลางคืนเงียบ ๆ ได้ยินเสียงร้องโวยวายขึ้นแบบคนไม่มีสติ พูดไม่ได้ศัพท์ได้แสง พอทราบเหตุ ต่างองค์ต่างก็รีบไปดูที่เสียงปรากฏขึ้น ก็ได้เห็นพระองค์นั้นนอนร่ายมนต์บ่นเพ้อ ทิ้งเนื้อทิ้งตัวอยู่บริเวณที่พักนั้น แบบคนไม่มีสติเอาเลย แต่พอจับใจความได้เป็นบางตอนว่า

“เสียใจที่ได้ล่วงเกินท่านอาจารย์โดยไม่รู้กาลเทศะ”

ใครก็ตกตะลึงพรึงเพริดไปตาม ๆ กัน และต้องรีบไปตามชาวบ้านมาช่วยพยาบาลรักษา คือหายาแก้ลมเป็นต้น มาให้เธอฉัน คนนั้นบีบคนนี้นวดตามบริเวณร่างกายอยู่พักหนึ่ง จากนั้นก็สงบและนอนหลับได้จนสว่าง

พอวันรุ่งขึ้นก็มีคนมารับเธอไปหาหมอฉีดหยูกยาให้เธอ อาการก็พอลดลงบ้าง แต่ยังมีการกำเริบเป็นคราว ๆ พอค่อยยังชั่วบ้าง ก็ส่งเธอกลับบ้าน หลังจากนั้นก็ไม่ทราบว่าโรคหายหรือเป็นตายอย่างไร ผู้เขียนก็ทราบจากพระที่อยู่ด้วยกันกับเธอในเวลานั้นเล่าให้ฟัง

ทั้งนี้พูดเรื่องโดนดุ ถ้าโดนพอเบาะ ๆ ก็พอให้ผู้ถูกดุได้สติและระวังตัวต่อไป ถ้าหาเรื่องให้ถูกโดนดุอย่างหนักและผู้ถูกดุ ไม่มีสติปัญญาพอจะถือเอาประโยชน์ได้ มักมีทางเสียได้ดังที่ปรากฏมา

ฉะนั้น ผู้อยู่กับท่านจึงอยู่ด้วยความระวังสำรวมอย่างยิ่ง จะตีสนิทคุ้นเคยในฐานะว่าเคยอยู่กับท่านมานานย่อมไม่ได้ เพราะนิสัยท่านเป็นนิสัยที่ไม่คุ้นกับใครเอาง่าย ๆ แต่ไหนแต่ไรมา ผู้อยู่กับท่านจึงนอนใจไม่ได้ แม้ระวังตัวอยู่เหมือนแม่เนื้อระวังนายพรานก็ยังถูกโดนยิงจนได้ 

เท่าที่ทราบจากครูอาจารย์ที่เคยอยู่กับท่านมาก่อนว่า ถ้ามีเฉพาะท่านที่มีภูมิจิตใจสูงอยู่กับท่าน การวางตัวท่านก็ปล่อยตามนิสัยที่รู้จักท่านดีแล้ว คือแสดงกิริยามรรยาทธรรมดาสบาย ๆ เหมือนผู้ใหญ่อยู่ด้วยกัน ไม่ค่อยเข้มงวดกวดขันนัก แต่การเปลี่ยนแปลงมรรยาท ท่านรู้สึกเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วจนตามแทบไม่ทัน อยู่สถานที่แห่งหนึ่งเป็นอย่างหนึ่ง สถานที่แห่งหนึ่งเป็นอีกอย่างหนึ่ง ตามแต่เหตุการณ์ที่ควรเปลี่ยนแปลงไปตามสถานที่บุคคลนั้น และเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วทั้งไม่ซ้ำรอยกันเลย นับว่าเป็นเรื่องที่แปลกประหลาดสำหรับผู้ไม่สามารถทำอย่างท่านได้

ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ และท่านพระอาจารย์มั่น ฯ สมัยเป็นฆราวาส

เวลาว่างโอกาสดี ๆ ท่านเล่านิทานให้ฟัง ซึ่งโดยมากมักขัน ๆ และน่าหัวเราะทั้งนั้น จึงขอยกเรื่องท่านมาเล่าให้ท่านผู้อ่านฟังเล็กน้อย พอทราบว่าคน ๆ เดียวมีการเปลี่ยนแปลงตัวอย่างน่าอัศจรรย์

คือสมัยท่านเป็นฆราวาสกำลังแตกหนุ่ม ท่านเคยเป็นหมอลำหมอเพลง คราวหนึ่งท่านขึ้นไปขับลำทำเพลงประชันกันกับหญิงสาว ซึ่งเป็นนักประชันที่มีชื่อคนหนึ่งในงานใหญ่ มีคนไปในงานนั้นเป็นพัน ๆ ท่านนึกสนุกขึ้นมาก็ขึ้นไปบนเวทีขอประชันเพลงกับหญิงคนนั้น หรือท่านอาจมีรักเขาบ้างก็ทราบไม่ได้ จึงเกิดความฮึกหาญขึ้นมาอย่างคาดไม่ถึง หญิงนั้นยินดีเป็นคู่แข่งกับท่าน พอเริ่มกลอนประชันยังไม่ถึงไหน ท่านก็เป็นฝ่ายแพ้กลอนเขาเข้าไปสองสามกลอนแล้ว พอดีมีเทวบุตรมาโปรดไว้ทัน คือในงานนั้นท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ ซึ่งเวลานั้นท่านเป็นฆราวาสและอยู่ในวัยหนุ่มเช่นเดียวกัน แต่อายุแก่กว่าท่านอาจารย์มั่นบ้าง ได้ไปในงานนั้นด้วย และเข้าฟังเพลงระหว่างท่านอาจารย์มั่นซึ่งเป็นชายหนุ่ม กับหญิงสาวคนนั้นขับเคี่ยวกันในเชิงกลอนต่าง ๆ

ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ เห็นท่าไม่ได้การ เพราะฝ่ายเรา คือท่านอาจารย์มั่น แพ้เขาไปหลายกลอนแล้ว ถ้าตกดึกไปกว่านี้ คงจะลงเวทีไม่ได้แน่ อาจจะถูกหญิงสาวคนนั้นหามลงแบบไม่มีหน้าติดตัวลงมาเลย เพราะหญิงสาวเป็นนักต่อสู้มาหลายเวทีแล้ว ส่วนคนของเราเพิ่งจะเริ่มขึ้นเวที และก็ใจปํ้าฮึกหาญสำคัญ โดดขึ้นสู้กับเสือโคร่งใหญ่ลายพาดกลอน แม้จะเป็นเสือตัวเมียมันก็มีเขี้ยวเต็มปากอย่างพอตัว แต่เสือเราแม้จะเป็นเสือตัวผู้แต่ฟังน้ำนมมันก็เพิ่งจะออกไม่กี่ซี่ ขืนให้สู้ต่อไปเสือตัวเมียต้องถลกหนังมันเข้าตลาดแน่ ๆ อ้ายมั่นนี่มันไม่รู้จักเสือ มันนึกว่าแต่สาว ๆ เท่านั้น แต่มันไม่รู้จักตาย เราต้องเข้าช่วยเอาหนังมันไว้ก่อนครั้งนี้ ไม่เช่นนั้นหนังมันจะเข้าตลาดแน่นอน

พอคิดแล้วก็โดดขึ้นบนเวทีทำท่าว่า

“อ้ายมั่น อ้ายห่า กูเที่ยวตามหามึงแทบตาย แม่มึงตกเรือนสูง ๆ ลงมากองอยู่กับพื้น จะตายหรือยังก็ไม่แน่ใจเลย พอกูโผล่เข้าไปจะช่วย เขาก็ใช้ให้กูมาเที่ยวตามหามึงตั้งแต่วัน ๆ จนป่านนี้ กูตามหามึงแทบตาย ข้าวก็ยังไม่ตกท้องเลย กูจะเป็นลมตายอยู่เดี๋ยวนี้”

ทางอ้ายมั่นก็ตกตะลึง หญิงสาวก็ตกตะลึงในอุบายไปตาม ๆ กัน ฝ่ายอ้ายมั่นอดไม่ได้รีบถามขึ้นมาทันทีว่า

“แม่กูเป็นยังไงวะ อ้ายจันทร์” (ชื่อท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ว่านายจันทร์ สมัยเป็นฆราวาส ท่านพูดกันตอนเป็นฆราวาส)

ฝ่ายอ้ายจันทร์ทำเป็นอิดโรยจะเป็นลมตายอยู่บนเวทีว่า

“กูคิดว่าแม่มึงตายแล้ว ส่วนกูกำลังจะตายด้วยทั้งหิวข้าวทั้งเป็นลม”

พอจบคำ อ้ายจันทร์ก็ฉุดแขนอ้ายมั่นทำท่าลากกันลงมาจากเวทีท่ามกลางคนเป็นพัน ๆ ตกตะลึงพรึงเพริดไปตาม ๆ กัน แล้วพากันออกวิ่งผ่านฝูงคนไปอย่างรีบด่วน พอพ้นหมู่บ้านนั้นไปแล้ว อ้ายมั่นถามซ้ำอีกอย่างกระหาย อยากทราบเป็นกำลังว่า

“แม่กูไปทำอะไรถึงได้ตกเรือนขนาดกองกับพื้นเล่า”

ฝ่ายอ้ายจันทร์ตอบว่า “กูเองก็ยังไม่ทราบสาเหตุชัด พอมองเห็นและจะวิ่งเข้าไปช่วย เขาใช้ให้วิ่งตามหามึง กูวิ่งมานี่ จะไปรู้เรื่องละเอียดลอออย่างไรเล่า”

“เท่าที่มึงดูบ้างแล้วแม่กูพอจะตายไหม” อ้ายมั่นถามอย่างกระวนกระวาย

อ้ายจันทร์ตอบว่า “ตายหรือยังอยู่เราจะไปดูเองอยู่ขณะนี้ยังไงล่ะ”

พอเลยหมู่บ้านไปไกล กะประมาณว่าอ้ายมั่นไม่กล้ากลับมาคนเดียวได้อีกแล้ว (สมัยก่อนหมู่บ้านอยู่ห่างกันมาก สัตว์เสือผีก็ชุม ใคร ๆ จึงไม่กล้ามาคนเดียวในเวลาค่ำคืน) จึงเปลี่ยนกิริยาอาการทุกอย่างเสียใหม่ แล้วบอกกับอ้ายมั่นโดยตรงว่า

“แม่มึงไม่ได้เป็นอะไรหรอก ที่กูทำท่าอย่างนั้นกูทนดูมึงติดกลอนอียายเมียมึงคนนั้นไม่ไหว กลัวมันจะถลกหนังมึงไปขายตลาด ซึ่งเป็นการขายหน้ากู และขายหน้าบ้านเราว่าอ้ายมั่นสู้ผู้หญิงไม่ได้ ให้เขาเปิดผ้าลบลายเล่นเหมือนเสือตายแล้ว กูจึงได้คิดอุบายหลอกมึงและหลอกอียายเมียมึงให้มันตายใจ และให้ชาวบ้านเชื่อถือได้ว่ามึงยังไม่หมดประตูสู้ แต่ต้องหนีไปเพราะเหตุสุดวิสัย แล้วฉุดมึงหนีเพื่อไม่ให้ใครเขาจับพิรุธได้ แม้อียายเมียคู่แข่งมึงก็เห็นอดตกตะลึงไปตามอุบายอันแยบคายของกูไม่ได้ มันต้องสนใจฟังและมองตามพวกเราด้วยความตกใจแสนสงสารแม่มึงและมึงไปตามเรา เห็นไหมอุบายกูช่วยมึงออกจากนรกผู้หญิง คราวนี้มึงคิดว่าแยบคายดีพอใช้ไหม”

พออ้ายจันทร์พูดจบลง อ้ายมั่นอุทานว่า

“โอ้โฮ น่าเสียดาย อ้ายห่านี่ทำกูถึงขนาดนี้เทียวนะ กูกำลังคันฟันห้ำหั่นกับมันอย่างสนุกสนาน มึงมาฉุดกูออกจากถ้วยลาภ แหม มึงทำกูอย่างถนัด กูมิได้นึกเลยอ้ายจันทร์ กูอยากคืนไปซ้ำมันอีก เอาหนังเข้าตลาดในคืนวันนี้จนได้”

อ้ายจันทร์ตอบ “โธ่ มึงจะตายกูช่วยชุบชีวิตไว้ได้แล้ว มึงยังกลับทำท่าอวดเก่งอยู่อีก เดี๋ยวกูจะผลักหลังกลับคืนไปให้อียายเมียมึงเอาเนื้อขึ้นเขียงเสียในคืนนี้ไม่ดีหรือ”

อ้ายมั่นออกท่าว่า “ที่กูทำท่าติดกลอนมันบ้างพอให้มันได้ใจไปหน่อยนั้น เพราะกูก็เห็นมันเป็นผู้หญิง พอตกดึกกูก็มัดมันเข้ากระสอบเอาไปขายกินอย่างหวาน ๆ ยังไงล่ะ มึงยังไม่รู้อุบายกู เป็นอุบายเสือหลอกลิงเลย”

“ถ้ามึงเก่งจริงดังที่คุยโม้ เพียงกูคิดอุบายนิดหน่อยฉุดมึงขึ้นจากนรกผู้หญิงมึงยังตกตะลึง ทั้งจะร้องห่มร้องไห้ต่อหน้าเมียมึงอย่างไม่คิดอายว่าตัวเป็นผู้ชายเลย แล้วใครจะชมมึงว่าฉลาดพอจะเอาอียายเมียมึงเข้ากระสอบล่ะ กูคิดเห็นแต่มันจะมัดมึงโยนลงเวทีต่อหน้าคนจำนวนพัน ๆ เท่านั้น มึงอย่าคุยโม้ไปมาก รีบสาธุอุบายเมตตากูที่มีต่อมึงดีกว่า อ้ายแพ้ผู้หญิง”

สุดท้ายคืนนั้นทั้งอ้ายจันทร์ทั้งอ้ายมั่นเลยไม่ได้ดูงานตามความคาดหมายไว้ เพราะเรื่องนี้เป็นสาเหตุให้ต้องพรากงาน

ฟังนักปราชญ์ทั้งสองโต้กัน แม้สมัยท่านยังเป็นฆราวาสก็ยังรู้สึกน่าฟังมาก ถึงจะเป็นเรื่องโลก ๆ แต่ก็เป็นเชิงของคนฉลาดพูดกัน จึงเป็นที่ซาบซึ้งจับใจในอุบายที่แสดงออกทุก ๆ ประโยค ฟังแล้วทำให้เพลินใจประหนึ่งท่านสนทนากันอยู่ต่อหน้าเราฉะนั้น

เรื่องของท่านทั้งสองโต้กันยังมีอีกแยะ แต่เห็นว่าเท่าที่กล่าวมาพอเป็นคติแก่พวกเราพอสมควร อุบายของท่านทั้งสองแสดงให้เห็นได้ชัดว่ามีเค้าแห่งความฉลาดมาแต่เป็นฆราวาส ฉะนั้นเวลามาบวชเป็นพระ ท่านจึงเป็นจอมปราชญ์ทั้งสององค์ในสมัยปัจจุบัน ปรากฏชื่อลือนามกระเดื่องเลื่องลือทั่วประเทศไทยว่า ท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์และท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ เป็นจอมปราชญ์สมัยปัจจุบัน ที่เขียนว่าอ้ายจันทร์และอ้ายมั่นนั้นเขียนตามที่ทราบจากท่านเล่าให้พระฟัง

เวลาท่านเปิดโอกาสสบาย ๆ กับบรรดาศิษย์ที่เคร่งเครียดต่อการระวังในท่านมาเป็นประจำ  หากเป็นการไม่บังควรประการใด ก็ขอประทานโทษท่านเจ้าพระคุณทั้งสองและท่านผู้อ่านทั่ว ๆ ไปด้วย ถ้าจะเลี่ยงเขียนตามศัพท์นิยมก็ไม่ถนัดใจ ที่ท่านเรียกกันเช่นนั้น เข้าใจว่าท่านนิยมนับถือกันด้วยคำพูดทำนองนั้น ซึ่งเราเองก็เคยใช้ต่อกันระหว่างบุคคลที่สนิทสนมกันตามฐานะและวัยเสมอมา จึงได้เขียนตามเค้ามาดั้งเดิม จะหยาบคายหรือละเอียดประการใด ก็ประสงค์ให้เป็นไปตามเรื่องเดิมซึ่งเป็นธรรมชาติแท้ที่ท่านใช้กันในเพศและวัยนั้น รู้สึกสะดวกใจ และอาจมองเห็นภาพท่านทั้งคราวเป็นฆราวาสที่กำลังคะนองรื่นเริง และภาพที่เป็นนักบวชซึ่งสละความเป็นโลกออกอย่างสิ้นเชิง มีแต่ความอัศจรรย์ล้วน ๆ อยู่ในองค์แห่งพระเวลาท่านบวชแล้ว

ขณะท่านเล่านิทานให้ฟัง น่าฟังมาก โดยมากก็เป็นเรื่องสมัยปัจจุบันมากกว่าจะเป็นนิทาน ท่านชอบชมเชยความฉลาดของเจ้าคุณอุบาลีฯ ให้ฟังเสมอ

อุบายโต้ตอบของท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ

ครั้งหนึ่งท่านเล่าว่า ท่านสนทนากับท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ถึงพระเวสสันดร พอได้โอกาสท่านเรียนถามถึงแม่ของพระนางมัทรีคือใคร ไม่เห็นกล่าวไว้ในคัมภีร์ หรือค้นหาไม่พบต่างหาก ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ก็ตอบขึ้นทันทีว่า

ท่านยังไม่เคยเห็นไม่เคยได้ยินแม่นางมัทรีบ้างหรือ เขาเห็นกันทั้งบ้านทั้งเมือง ท่านมัวไปหานางมัทรีอยู่ที่ไหนถึงไม่ได้เห็นกับเขา

ท่านพระอาจารย์มั่นกราบเรียนว่ายังไม่เคยเห็นเลย ไม่ทราบว่าอยู่ในคัมภีร์ไหน

ท่านตอบทันทีว่าจะอยู่ในคัมภีร์อะไรที่ไหนกัน ก็สาวอบผู้พูดเสียงดัง ๆ บ้านแกหลังใหญ่ ๆ อยู่สี่แยกทางออกไปวัดยังไงล่ะ

ท่านพระอาจารย์มั่นเกิดงง ต้องเรียนถามท่านอีกว่า สี่แยกที่ไหนและทางออกไปวัดไหน ท่านไม่เห็นกล่าวเรื่องวัดเรื่องวาไว้เลย

ท่านตอบว่า ก็แม่นางมัทรีบ้านแกอยู่เกือบติดกับบ้านท่านอย่างไรล่ะ ทำไมยังไม่รู้กระทั่งนางมัทรีและสาวอบแม่นางมัทรีเข้าอีก ท่านนี้แย่จริงๆ  เพียงนางมัทรีและสาวอบในหมู่บ้านเดียวกันยังไม่รู้อีก ท่านจะไปเที่ยวหาแม่นางมัทรีในคัมภีร์ไหนกันอีก ผมก็แย่แทนท่านถ้าเป็นอย่างนี้

ท่านอาจารย์ก็ระลึกได้ทันทีเมื่อท่านพูดว่า นางมัทรีและสาวอบที่อยู่ในบ้านเดียวกัน แต่ก่อนมัวไปนึกภาพในเรื่องพระเวสสันดรในคัมภีร์โน้นจึงทำให้งงไปนาน

ท่านว่าท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ท่านฉลาดโต้ตอบด้วยอุบายแปลก ๆ อย่างนี้เสมอมา ท่านมักโต้ตอบแบบศอกกลับเสมอ ทำเอาผู้ฟังงงไปตาม ๆ กันและก็ได้สติปัญญาจากอุบายท่านตลอดมา ท่านเล่าทั้งหัวเราะขันตัวท่านเองที่ไม่ทันลูกไม้ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ

ท้าวสักกเทวราชบนสวรรค์มาเยี่ยมท่านเสมอ

ท่านพักจำพรรษาอยู่บ้านน้ำเมา อำเภอแม่ปัง เชียงใหม่ ท่านว่าท่านต้อนรับแขกจำพวกกายทิพย์บนสวรรค์ มีท้าวสักกเทวราชเป็นหัวหน้ามากเป็นพิเศษ แม้หน้าแล้งท่านหลีกออกไปเที่ยววิเวกองค์เดียวอยู่ในถ้ำดอกคำ ก็มีท้าวสักกเทวราชพาพวกเทวดามาเยี่ยมท่าน ซึ่งมาแต่ละครั้งเป็นหมื่นเป็นแสนและมาบ่อยที่สุด ถ้าพวกที่ไม่เคยมา ท้าวสักกเทวราชต้องเตือนให้เขาเข้าใจวิธีฟังธรรมก่อนที่ท่านจะแสดงให้ฟัง โดยมากท่านแสดงเมตตาอัปปมัญญาพรหมวิหารให้เขาฟัง เพราะพวกเทวดาชอบธรรมนี้มากเป็นพิเศษ

ท่านพักอยู่ทั้งสองแห่งนี้ ท้าวสักกเทวราชมาเยี่ยมฟังธรรมเสมอ การต้อนรับพวกเทพทุกชั้นทุกภูมิก็ปรากฏว่ามากเป็นพิเศษกว่าที่อื่น ๆ เพราะที่นี่อยู่ลึกและสงัดมากบรรยากาศก็อำนวย

พวกนี้เคารพท่านและสถานที่ที่ท่านพักอยู่มาก แม้ทางจงกรมที่ญาติโยมเอาทรายมาเกลี่ยไว้สำหรับให้ท่านเดินจงกรมก็ไม่กล้าผ่านเข้ามา ต้องเว้นไปเข้าทางอื่น พวกพญานาคก็เช่นกัน เวลาเขาเข้ามาเยี่ยมฟังธรรมท่านก็ไม่อาจเดินข้ามทางจงกรมเข้ามา ถ้าหัวหน้าจำเป็นต้องเดินผ่านเข้ามาเป็นบางครั้ง ต้องเว้นไปทางหัวจงกรมเดินอ้อมเข้ามา บางครั้งพญานาคใช้ให้บริวารมากราบนิมนต์ท่านในกิจบางอย่าง เช่นเดียวกับมนุษย์เรามานิมนต์พระไปในงาน ก็ไม่กล้าเดินข้ามทางจงกรมเข้ามา ถ้ามีทรายโรยไว้ก็เอามือกวาดทรายออกเสียก่อนแล้วค่อยคลานเข้ามา พอพ้นจากนั้นแล้วค่อยลุกขึ้นเดินเข้ามาหาท่าน กิริยามรรยาททุกอาการอยู่ในความสำรวมดีมาก

ท่านว่า

มนุษย์เราซึ่งเป็นเจ้าของศาสนา ถ้าต่างสนใจในธรรม และมีความเคารพต่อตัวเอง สมกับว่ารักตนจริง ๆ ตามความรู้สึกที่ฝังลึกอยู่ภายใน  ก็ควรมีมรรยาทเคารพศาสนาเช่นเดียวกับพวกเทวดาและพญานาคที่เขาทำกัน แม้ไม่สามารถจะมองเห็นวิธีการที่เขาทำความเคารพต่อศาสนา แต่ศาสนาก็สอนวิธีเคารพไว้อย่างสมบูรณ์แล้ว ไม่มีอะไรบกพร่อง นอกจากพวกมนุษย์เราไม่ค่อยสนใจเท่าที่ควร และตั้งใจสั่งสมความประมาทใส่ตนจนหาที่เก็บไม่ได้เท่านั้น จึงไม่ค่อยประสบความสุขความสมหวังดังที่ปรารถนากัน

ความจริงศาสนาเป็นแหล่งผลิตมรรยาทศีลธรรมอันดีงามเพื่อผล คือความสุขความสมหวังจะมีทางเกิดขึ้นแก่ผู้สนใจตามหลักศาสนาที่สอนไว้

ท่านกล่าวเน้นหนักลงไปว่า

ความสำคัญของทุกสิ่งในโลกก็คือใจ ถ้าใจหยาบ ทุกสิ่งที่มาเกี่ยวข้องก็กลายเป็นของหยาบไปด้วย เช่นเดียวกับร่างกายสกปรก แม้สิ่งที่มาคละเคล้ากับกาย จะเป็นของสะอาดสวยงามเพียงไร ก็กลายเป็นของสกปรกไป ตามร่างกายที่สกปรกอยู่แล้ว ฉะนั้นธรรมจึงอดจะหยาบไปตามใจที่สกปรกไม่ได้ ถึงจะเป็นธรรมที่บริสุทธิ์หมดจด แต่พอคนมีใจโสมมเข้าไปเกี่ยวข้อง ธรรมก็กลายเป็นธรรมอับเฉาไปตาม เหมือนผ้าที่สะอาดตกลงไปคลุกฝุ่น หรือคนชั่วแบกคัมภีร์ธรรมอวดโลกให้เขารับนับถือ ซึ่งทั้งสองนี้ไม่มีผลดีต่างกันเลย

คนที่มีใจหยาบกระด้างต่อศาสนาก็เป็นคนในลักษณะนี้เหมือนกัน จึงไม่มีทางได้รับประโยชน์จากศาสนธรรม แม้เป็นของวิเศษเพียงไรเท่าที่ควร เอาแต่ชื่อออกประกาศกันว่าตนนับถือศาสนา แต่ไม่ทราบว่าศาสนาคืออะไร และมีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้นับถืออย่างไรบ้าง ถ้าประสงค์อยากทราบข้อเท็จจริงจากศาสนาอย่างแท้จริงแล้ว ตนกับศาสนาก็เป็นอันเดียวกัน ความสุขทุกข์ที่เกิดกับตนย่อมกระเทือนถึงศาสนาด้วย ความประพฤติดีชั่วก็กระเทือนถึงศาสนาเช่นกัน คำว่าศาสนา คือแนวทางที่ถูกต้องแห่งการดำเนินชีวิตนั่นแล จะเป็นอื่นมาจากไหน

ถ้าคิดว่าศาสนาอยู่ที่อื่นนอกจากตัว ก็ชื่อว่าเข้าใจศาสนาผิดจากความจริง การปฏิบัติต่อศาสนาก็ปฏิบัติไม่ถูก คำว่าไม่ถูกนี้ ไม่ว่าอะไรไม่ถูก ของนั้นใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ แม้ได้ก็ไม่ถูกตามกฎเกณฑ์ คือได้แบบขวางโลก ขวางธรรม ขวางตน และขวางผู้อื่นไปทั้งนั้น คิดอย่างง่าย ๆ และเห็นประจักษ์ตาคือ การบวกลบคูณหารไม่ถูก ตัดเสื้อกางเกงไม่ถูก เย็บเสื้อผ้าไม่ถูก สามีภริยาปฏิบัติไม่ถูกตามจารีตประเพณี คู่รักปฏิบัติไม่ถูกตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ต่อกัน พ่อแม่กับลูก ๆ ปฏิบัติต่อกันไม่ถูก การแสวงหาทรัพย์ไม่ถูกทาง การจ่ายทรัพย์ไม่ถูกทาง ขับรถไม่ถูกกฎจราจร เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานไม่ถูกต้องตามกฎหมาย อันเป็นเครื่องปกครองโลกให้ร่มเย็นทั่วหน้ากัน ราษฎรกับเจ้านายปฏิบัติต่อกันไม่ถูกตามระบอบประเพณีและกฎหมายบ้านเมือง ขาดความเคารพนับถือกันและกลายเป็นข้าศึกต่อกัน

เหล่านี้จะเห็นเป็นความเสียหายมากน้อยกว้างแคบเพียงไร ผลคือความผิดหวังและความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นจากสิ่งที่ทำผิด จะแสดงขึ้นที่ไหน ถ้าไม่แสดงขึ้นตามจุดแห่งเหตุที่ทำผิดก็ไม่มีที่แสดง ขึ้นชื่อว่าผิดแล้วผลคือความเสียหายต้องแสดงขึ้นตามเหตุนั้น ๆ แม้คนที่ทำผิดต่อผู้อื่นโดยที่เขาจะทราบว่าตัวทำผิดต่อเขาหรือไม่ก็ตาม ผลคือความเสียหายที่จะระบาดออกจากการทำผิดนั้น ปิดไม่อยู่แน่นอน ต้องแสดงสุดขีดแห่งการทำผิด จะเป็นฝ่ายใดได้รับไม่เป็นปัญหา ข้อแก้ตัวว่าทำผิดแล้วผลไม่แสดงตัวให้ปรากฏ อย่างไรต้องแสดงมากน้อยจนถึงขั้นแดงโร่ทั่วดินแดน

ฉะนั้นคำว่าไม่ถูก เช่น คิดไม่ถูก พูดไม่ถูก และคำว่าไม่ถูก หรือคำว่าผิดนี้ จึงเป็นจุดที่ควรสนใจอย่างยิ่ง ไม่ชินชาตามัว ไม่เหลียวแลเรื่องจะแก่กล้าพร่าเอาตัวผู้เลื่อนลอยต่อความผิดให้ล่มจมอย่างเห็นประจักษ์ตาในขณะนี้ชาตินี้ ไม่ต้องมองไกลอันเป็นการตะครุบเงามากกว่าถูกตัวจริง เพราะศาสนามิใช่เงาเครื่องหลอกหลอนคนให้โง่ แต่เป็นศาสนาที่ให้ความจริงทุกประตูที่ประกาศสอนไว้ ไม่ผิดพลาด ถ้าผู้นับถือไม่ปฏิบัติให้ผิดพลาดไปเอง แล้วกล่าวตู่ว่าศาสนาไม่เป็นท่า ซึ่งเป็นการกว้านความผิดพลาดมาทับถมโจมตีตัวเอง ให้เกิดความทุกข์ร้อนจนหาที่ปลงวางไม่ได้เท่านั้น จึงไม่มีปัญหาสำหรับศาสนาซึ่งเป็นของบริสุทธิ์มาดั้งเดิม

ท่านกล่าวย้ำอีกว่า

คนเราถ้ายอมรับความจริงตามหลักศาสนาที่สอนไว้ ตัวย่อมได้รับความเป็นธรรม คือตัวเย็น ผู้เกี่ยวข้องมากน้อยก็เย็น โลกร่มเย็นไม่ค่อยมีการทะเลาะเบาะแว้งแย่งชิง เพื่อแข่งดิบแข่งดีกันให้เดือดร้อนไปทั้งสองฝ่าย ซึ่งสุดท้ายก็เป็นไฟไปตาม ๆ กัน ไม่มีใครได้ครองความสุขดังใจหวัง เพราะเอาใจดวงกำลังเป็นไฟทั้งกอง เข้าไปเป็นหัวหน้าว่าความในกิจการในโรงในศาล ในเรื่องต่าง ๆ ไม่มีประมาณ ด้วยเหตุนี้แลคนเราจึงหาประมาณความทรงตัวได้ยาก อยู่ที่ไหนก็ร้อนเป็นฟืนเป็นไฟไม่เป็นสุข เพราะใจแบกกองไฟไว้กับตัวตลอดเวลา ไม่คิดจะปลงวางลงบ้าง พอได้หายใจไกลทุกข์ประสบสุขเสียบ้าง เพื่อทรงตัว

ท่านว่า

ผมเองนับแต่บวชมาในศาสนา ชาตินี้เกือบทั้งชาติสนุกพิจารณาศาสนธรรมที่พระพุทธเจ้าประทานไว้ ความกว้างลึกของศาสนธรรมยังกว้างลึกกว่ามหาสมุทรทะเลเป็นไหน ๆ เทียบกันไม่ได้เอาเลย ถ้าพูดตามความจริงจริง ๆ แล้ว ความละเอียดสุขุมเหลือประมาณที่จะพิจารณาตามได้ ความอัศจรรย์แห่งผลที่แสดงขึ้นกับการปฏิบัติเป็นระยะ ๆ ไปก็สุดจะกล่าว ถ้าไม่คิดว่าคนจะหาว่าบ้าแล้ว ผมกราบพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ซึ่งเป็นองค์แห่งธรรมอัศจรรย์แท้ได้ตลอดไป เช่นเดียวกับคนงานอื่น ๆ ซึ่งหนักยิ่งกว่าการกราบไหว้เป็นไหน ๆ ไม่มีการเกียจคร้าน ไม่นึกระอา ไม่นึกว่าซ้ำซาก แต่แน่ใจอย่างถอนไม่ขึ้น แม้ชีวิตดับไปว่าพุทธะ ธรรมะ สังฆะอยู่กับเรา เราอยู่กับท่านตลอดเวลาอกาลิโก ไม่มีการแยกย้ายจากกันเหมือนโลก อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ที่คอยทำลายหัวใจสัตว์โลกให้ระทมขมขื่นอยู่เสมอ ไม่พอให้หายใจได้แต่ละเวลาเลย

โปรดวิญญาณสามเณรและหญิงที่เป็นห่วงพระเจดีย์ที่ยังสร้างไม่เสร็จ

ท่านเล่าว่า

หลายคืนที่ทำความเพียรอยู่ตลอดกลางคืนยามดึกสงัด ปรากฏเห็นสามเณรน้อยองค์หนึ่งกับผู้หญิงคนหนึ่ง พากันเดินผ่านไปผ่านมาอยู่แถวบริเวณนั้นแทบทุกคืน ท่านนึกสงสัยว่าคนทั้งสองนี้เดินไปมาเพื่อประสงค์อะไร

วันต่อมาจึงถามถึงเหตุที่ต้องพากันมาเดินวกเวียนอยู่แถวนั้น ก็ได้คำตอบจากคนทั้งสองว่า เป็นห่วงและอาลัยในพระเจดีย์ที่สร้างยังไม่เสร็จ แต่ได้ตายไปเสียก่อน เพราะความห่วงใยนั้นจึงต้องวกเวียนไปมาอยู่ทำนองนี้นานแล้ว ส่วนสามเณรน้อยนั้นเป็นน้องชายของหญิงคนนั้น ทั้งสองคนได้ร่วมกำลังกันสร้างพระเจดีย์ ความที่ต่างคนต่างห่วงและอาลัยพระเจดีย์และเสียดายเวลาไม่รอคอยพอให้สร้างพระเจดีย์เสร็จก่อนแล้วค่อยตายไป จะไม่เป็นภาระผูกพันดังที่เป็นอยู่เวลานี้ แม้จะเป็นอยู่ในภพที่มีความห่วงใย แต่ก็มิได้มีความทุกข์ทรมานซึ่งควรจะเป็น เป็นแต่จะไปผุดไปเกิดที่ไหนก็ไม่อาจปลงใจลงได้เด็ดขาดเท่านั้น

ท่านจึงได้เทศน์ให้คนทั้งสองฟังว่า

“สิ่งที่ล่วงไปแล้วไม่ควรไปทำความผูกพัน เพราะเป็นสิ่งที่ล่วงไปแล้วอย่างแท้จริง แม้จะทำความผูกพันและมั่นใจให้สิ่งนั้นกลับมาเป็นปัจจุบันก็เป็นไปไม่ได้ ผู้ทำความสำคัญมั่นหมายนั้นเป็นทุกข์แต่ผู้เดียวโดยความไม่สมหวังตลอดไป อนาคตที่ยังไม่มาถึงก็เป็นสิ่งไม่ควรไปยึดเหนี่ยวเกี่ยวข้องเช่นกัน อดีตควรปล่อยไว้ตามอดีต อนาคตก็ควรปล่อยไว้ตามกาลของมัน ปัจจุบันเท่านั้นจะสำเร็จประโยชน์ได้ เพราะอยู่ในฐานะที่ควรทำได้ไม่สุดวิสัย”

การสร้างพระเจดีย์ไม่สำเร็จแต่มาด่วนตายไปเสียก่อนนั้น ถ้าเป็นสิ่งที่สามารถทำให้เป็นไปตามใจหวังได้แล้วเราก็ไม่ควรตาย ควรจะสร้างให้สำเร็จไปเสียก่อน แต่ยังฝืนตายไปจนได้ มิหนำเวลาตายแล้วยังมาเป็นห่วงอยากให้เจดีย์สำเร็จทั้งที่ไม่สามารถทำได้ นี่แสดงว่าคิดผิดไปถึงสองชั้น แล้วยังจะเป็นห่วงเพื่อให้สมความปรารถนาอีกต่อไป  ยิ่งคิดผิดไปอีกสามชั้น ความคิดผิดมิได้ผิดเฉพาะความคิดเท่านั้น การไปการมาเกิดในภพ การเสวยสุขเสวยทุกข์ในภพนั้น ๆ ก็พลอยผิดความมุ่งหมายไปด้วย เพราะความคิดผิดเป็นสาเหตุจากใจเพียงดวงเดียว จึงเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะฝืนคิดฝืนเป็นห่วงต่อไป

การสร้างพระเจดีย์เราสร้างหวังบุญหวังกุศลต่างหาก มิได้สร้างเพื่อหวังเอาก้อนอิฐก้อนหินปูนทรายในองค์พระเจดีย์ไปด้วย สิ่งที่เป็นสมบัติของเราในการสร้างพระเจดีย์ก็คือบุญ สร้างได้มากน้อยบุญที่เกิดจากการสร้างนั้นเป็นของเรา จึงไม่ควรเป็นห่วงใยในอิฐในปูนและในพระเจดีย์ ซึ่งเป็นวัตถุที่หยาบยิ่ง และเป็นสิ่งสุดวิสัยที่จะให้เป็นไปได้ดังใจหวัง

ท่านนักสร้างบุญทั้งหลาย ท่านเอาเฉพาะบุญติดตัวไป มิได้เอาสิ่งก่อสร้างวัตถุทานต่าง ๆ ที่สละลงเพื่อทานแล้วติดตัวไปด้วย เช่น การสร้างวัด สร้างกุฎีวิหาร ศาลาโรงธรรมสวนะ สร้างถนนหนทาง สร้างถังน้ำ  สร้างสาธารณสถาน ตลอดการให้ทานด้วยวัตถุต่าง ๆ มากมายหลายวิธี สิ่งเหล่านั้นเป็นเพียงเครื่องสนองกุศลเจตนาของผู้มุ่งทำบุญให้ทานเท่านั้น มิใช่ตัวบุญ ตัวกุศล ตัวสวรรค์นิพพาน และมิใช่ผู้จะไปสู่มรรค สู่ผล สู่สวรรค์นิพพาน สร้างไว้แล้วนานไปก็ชำรุดทรุดโทรม และร่วงโรยไปตามฐานะและกาลของมัน

สิ่งที่สำเร็จจากการก่อสร้างและการให้ทานอันเป็นส่วนนามธรรมอยู่ภายในนั้น คือตัวบุญกุศล เจ้าของผู้คิดเป็นกุศลเจตนาขึ้นมาให้สำเร็จเป็นวัตถุไทยทานต่าง ๆ นั้นคือใจ ใจนี่แลเป็นผู้ทรงบุญทรงกุศล ทรงมรรค ทรงผล ทรงสวรรค์นิพพาน และใจนี่แลเป็นผู้ไปสู่สวรรค์นิพพาน นอกจากใจไม่มีอะไรจะไป

เจดีย์ของคุณทั้งสองที่สร้างยังไม่เสร็จนั้น ก็มิได้มีจิตใจพอจะมีเจตนาในบุญกุศลเพื่อไปสวรรค์นิพพานอะไรเลย ความเป็นห่วงก็คือใจดวงหึงหวง แม้จะเป็นฝ่ายดี แต่ความคิดที่ติดอยู่จัดว่าเป็นความคิดที่ไม่ฉลาดต่อตัวเองอยู่นั่นแหละ จึงทำเจ้าของให้วกไปเวียนมาชักช้าต่อทางไปผุดไปเกิด

ถ้าคุณทั้งสองยินดีเฉพาะกุศลผลบุญที่ทำได้จากการสร้างพระเจดีย์ไปเท่านั้น ไม่มุ่งจะแบกหามพระเจดีย์ไปสวรรค์นิพพานด้วย คุณทั้งสองก็ไปอย่างสุคโตหายห่วงไปนานแล้ว  เพราะบุญเป็นเครื่องสนับสนุนคนให้สุคโตเสมอมา ดังธรรมแสดงไว้ว่าอกาลิโก ฉะนั้นบุญจึงไม่เปลี่ยนแปลงตัวกลายเป็นบาปตลอดกาล ความห่วงในสิ่งไม่ควรห่วงและในกาลไม่ควรห่วง จึงเป็นความผิดของผู้ห่วงใยเอง

อนึ่งความห่วงใยอยากให้เจดีย์สำเร็จนั้น ก็มิได้สำเร็จไปตามความห่วงความหวัง จึงไม่ควรตั้งจิตคิดเป็นห่วงในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ พลังแห่งบุญกุศลของคุณทั้งสองพอดีกับคุณทั้งสองอยู่เฉพาะปัจจุบัน อย่าคิดเรื่องอดีตอนาคตให้เป็นการกดถ่วงกำลังใจที่ควรจะไปทางดีให้เสียเวลาอยู่นาน ดังที่เป็นมาและเป็นอยู่ขณะนี้ ควรแก้ไขเจตสิกธรรม คือความคิดปรุงต่าง ๆ นั้นเสีย คุณทั้งสองจะหายห่วงและไปอย่างสบายหายกังวลในไม่ช้า ขอได้พากันสนใจในปัจจุบันอันเป็นที่บรรจุกุศลธรรมทั้งมวลเพื่อมรรคผลนิพพาน อดีตอนาคตเป็นข้าศึกที่ควรแก้ไขอย่าให้เนิ่นนาน

คุณทั้งสองเป็นบุคคลที่น่าสงสารมาก สร้างบุญญาภิสมภารมาเพื่อยังตนไปสู่สุคติ แต่กลับมาติดกังวลในอิฐในปูนเพียงเท่านั้น จนเป็นอุปสรรคต่อทางเดินของตนซึ่งทำให้เสียเวลาไปนาน ถ้าคุณทั้งสองพยายามตัดความขัดข้องห่วงใยที่กำลังเป็นอยู่ออกจากใจ ชั่วเวลาไม่นานเลยจะเป็นผู้หมดภาระเครื่องผูกพัน คุณมีจิตมุ่งมั่นในภพใดจะสมหวังในภพนั้น เพราะแรงกุศลที่ได้พากันสร้างมาพร้อมอยู่แล้ว

จากนั้นท่านแสดงศีล ๕ ซึ่งเป็นคุณธรรมที่ไม่ขัดต่อภพกำเนิดและเพศวัยให้ฟัง พร้อมอานิสงส์เป็นใจความย่อว่า

“หนึ่ง สิ่งที่มีชีวิตเป็นสิ่งที่มีคุณค่าอยู่ในตัวของมันเอง จึงไม่ควรเบียดเบียนและทำลายคุณค่าแห่งความเป็นอยู่ของเขาให้ตกไป อันเป็นการทำลายคุณค่าของกันและกันเป็นบาปกรรมแก่ผู้ทำ

สอง สิ่งของของใคร ๆ ก็รักและสงวนแม้คนอื่นจะเห็นว่าไม่ดีมีคุณค่า แต่ผู้เป็นเจ้าของย่อมเห็นคุณค่าในสมบัติของตน ไม่ว่าสมบัติหรือสิ่งของใด ๆ ที่มีเจ้าของ แม้มีคุณค่าน้อยก็ไม่ควรทำลาย คือ ฉกลัก ปล้นจี้ เป็นต้น อันเป็นการทำลายสมบัติและทำลายจิตใจกันอย่างหนัก ทั้งเป็นบาปมาก ไม่ควรทำ

สาม ลูกหลานสามีภริยาใคร ๆ ก็รักสงวนอย่างยิ่ง ไม่ปรารถนาให้ใครมาอาจเอื้อมล่วงเกิน จึงควรให้สิทธิเขาโดยสมบูรณ์ ไม่ล่วงล้ำเขตแดนของกันและกัน อันเป็นการทำลายจิตใจของผู้อื่นอย่างหนักและเป็นบาปไม่มีประมาณ

สี่ มุสา การโกหกพกลมเป็นสิ่งทำลายความเชื่อถือของผู้อื่นให้ขาดสะบั้นลง ขาดความนับถืออย่างไม่มีชิ้นดีเลย  แม้แต่สัตว์ดิรัจฉานเขาก็ไม่พอใจในคำหลอกลวง จึงไม่ควรพูดโกหกหลอกลวงให้ผู้อื่นเสียหาย

ห้า สุรา ตามธรรมชาติเป็นของมึนเมาและให้โทษอยู่ในตัวของมันอย่างเต็มที่อยู่แล้ว เมื่อดื่มเข้าไปย่อมสามารถทำคนดี ๆ ให้กลายเป็นคนบ้าได้ในทันทีทันใด และลดคุณค่าลงโดยลำดับ ผู้ต้องการเป็นคนดีมีสติปกครองตัวอย่างมนุษย์ทั้งหลาย จึงไม่ควรดื่มสุราเครื่องทำลายสุขภาพทางกายและทางใจอย่างยิ่ง เพราะเป็นการทำลายตัวเองและผู้อื่นไปด้วยในขณะเดียวกัน

อานิสงส์ของศีล ๕ เมื่อรักษาได้

หนึ่ง ทำให้อายุยืนปราศจากโรคภัยมาเบียดเบียน

สอง ทรัพย์สมบัติที่อยู่ในความครอบครอง มีความปลอดภัยจากโจรผู้ร้ายมาราวีเบียดเบียนทำลาย

สาม ระหว่างลูกหลาน สามีภริยาอยู่ด้วยกันเป็นผาสุก ไม่มีผู้มาคอยล่วงล้ำกล้ำกราย ต่างครองกันด้วยความเป็นสุข

สี่ พูดอะไรมีผู้เคารพเชื่อถือ คำพูดมีเสน่ห์เป็นที่จับใจไพเราะด้วยสัตย์ด้วยศีล เทวดาและมนุษย์เคารพรัก ผู้มีสัตย์มีศีลไม่เป็นภัยแก่ตนและผู้อื่น

ห้า เป็นผู้มีสติปัญญาดีและเฉลียวฉลาด ไม่หลงหน้า หลงหลัง จับโน่นชนนี่เหมือนคนบ้าบอหาสติไม่ได้

ผู้มีศีลเป็นผู้ปลูกและส่งเสริมความสุขบนหัวใจคนและสัตว์ทั่วโลก ให้มีแต่ความอบอุ่นใจ ไม่เป็นที่ระแวงสงสัย ผู้ไม่มีศีลเป็นผู้ทำลายหัวใจคนและสัตว์ให้ได้รับความทุกข์เดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า ฉะนั้นผู้เห็นคุณค่าของตัวจึงควรเห็นคุณค่าของผู้อื่นว่ามีความรู้สึกเช่นเดียวกัน ไม่เบียดเบียนทำลายกัน ผู้มีศีลสัตย์เมื่อทำลายขันธ์ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ไม่ตกต่ำ เพราะอำนาจศีลธรรมคุ้มครองรักษาและสนับสนุน จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะพากันรักษาให้บริบูรณ์ เมื่อจากอัตภาพนี้จะมีสวรรค์เป็นที่ไปโดยไม่ต้องสงสัย ธรรมที่สั่งสอนแล้วควรจดจำให้ดี ปฏิบัติให้มั่นคง จะเป็นผู้ทรงสมบัติทุกอย่างในอัตภาพที่จะมาถึงในไม่ช้านี้แน่นอน”

พอจบธรรมเทศนา สองพี่น้องมีใจร่าเริงในธรรม และขอสมาทานศีล ๕ กับท่าน ท่านได้ประกาศศีล ๕ ให้แก่สองพี่น้องตามเจตนา พอเสร็จการแสดงธรรมและประกาศศีล ๕ แล้ว คนทั้งสองได้นมัสการลาและหายตัวไปในที่และขณะนั้นนั่นเอง

ด้วยอำนาจกุศลศีลทานที่ได้สร้างมาและกุศลที่ฟังธรรมรักษาศีล ๕ กับท่านอาจารย์ สองพี่น้องได้เปลี่ยนภพถ่ายภูมิที่เป็นอยู่ ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์พิภพในลำดับต่อมาโดยไม่ชักช้า และได้พากันมานมัสการเยี่ยมฟังเทศน์ท่านอาจารย์เสมอมิได้ขาด พร้อมด้วยความขอบพระคุณท่านที่เมตตาอนุเคราะห์ให้อุบายสั่งสอนต่าง ๆ จนได้พ้นจากความวกเวียนไปมาในสถานที่นั้น แล้วไปเกิดในสวรรค์เสวยทิพยสมบัติที่ไปรอคอยอยู่เป็นเวลานานแล้วอย่างมีความสุข เวลาที่ลงมาเยี่ยมท่านได้เล่าเรื่องความห่วงใยว่าเป็นภัยแก่จิตใจอย่างยิ่ง ทำให้เนิ่นช้าต่อทางดำเนินและภพชาติที่ควรจะได้จะถึง พอได้รับอุบายแล้วก็สามารถตัดความห่วงใยเหล่านั้นเสียได้ จิตพ้นจากความผูกพันไปเกิดในสวรรค์ได้โดยสะดวก

ลำดับนั้นท่านได้แสดงความห่วงใยของจิตว่า เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดอุปสรรคได้อย่างมากมาย เวลาจะพรากจากขันธ์ นักปราชญ์ท่านจึงสอนให้ระวังจิตไม่ให้เป็นอารมณ์ห่วงใยกับสิ่งใด ๆ ทั้งสิ้น กลัวจิตจะประหวัดกับสิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งเป็นที่รักบ้าง เป็นอารมณ์ขุ่นมัวในใจบ้าง เช่น ความโกรธแค้นในผู้หนึ่งผู้ใด ขณะจิตจะออกจากร่างเป็นขณะที่สำคัญมาก อาจไปเกาะเอาอารมณ์ที่ไม่ดีเข้าแล้วกลับมาเป็นไฟเผาตัว จากนั้นก็ไปเกิดในทุคติภพมีนรก เปรต อสุรกาย สัตว์ดิรัจฉานอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งล้วนเป็นภพกำเนิดที่ไม่พึงปรารถนา และให้ความทุกข์ร้อนตลอดภพนั้น ๆ

ฉะนั้นการฝึกอบรมจิตเมื่ออยู่ในฐานะที่ควรทำได้จึงควรสนใจอย่างยิ่ง ฝึกให้รู้เรื่องของจิตเสียแต่ยังเป็นคนที่รู้ ๆ เห็น ๆ เรื่องของตนอยู่ทุกขณะ นี้เป็นความชอบแท้ เมื่อทราบว่ายังบกพร่องส่วนใดจะได้รีบแก้ไขดัดแปลงเสีย เวลาเข้าตาจนแล้วจะได้มีทางรักษาตัวทันกับเหตุการณ์ ไม่ต้องวิตกวิจารณ์ว่าจะเสียทีให้ความชั่วทั้งหลายเข้ามาเหยียบย่ำทำลายได้ ยิ่งฝึกให้ขาดความสืบต่อกับอารมณ์ดีชั่วทั้งหลายอย่างประจักษ์แล้ว ยิ่งประเสริฐเลิศโลกไม่มีสิ่งใดเสมอเหมือน นักปราชญ์ท่านเห็นความสำคัญของใจว่าประเสริฐยิ่งกว่าสิ่งใด ๆ ในสามภพ ท่านจึงพยายามฝึกใจให้ไปถูกทาง และสั่งสอนผู้อื่นให้ปฏิบัติต่อใจด้วยดี

เพราะการขาดทุนสูญทรัพย์นอกภายใน ขึ้นอยู่กับใจเป็นสำคัญ เวลาเป็นอยู่ก็อยู่ด้วยใจ สุขด้วยใจ ทุกข์ด้วยใจ เวลาตายไปก็ไปด้วยใจ เกิดเป็นกำเนิดต่าง ๆ ดีหรือชั่วก็เกิดด้วยใจ เสวยกรรมทั้งหนักทั้งเบา ทั้งดีทั้งชั่ว ด้วยใจเป็นเหตุทั้งมวล ไม่มีสิ่งใดพาให้เป็น มีใจดวงเดียวเท่านั้นพาให้เป็นไป ใจจึงควรได้รับการอบรมในทางที่ถูกที่ดีเสมอ เพื่อรู้วิธีปฏิบัติต่อตัวเองทั้งปัจจุบันและอนาคต

พอจบการแสดงธรรม เทวดาได้รับความแช่มชื่นเบิกบานใจเป็นอันมาก และกล่าวสรรเสริญธรรมที่ท่านแสดงว่าเป็นยอดแห่งธรรม ซึ่งไม่เคยได้ยินได้ฟังจากที่อื่นใดมาก่อนเลย เสร็จแล้วพากันกระทำประทักษิณสามรอบ และถอยห่างออกไปจนพ้นเขตที่ท่านพักอยู่ แล้วต่างก็เหาะลอยขึ้นบนอากาศ ราวกับสำลีอันละเอียดถูกลมพัดปลิวขึ้นสู่อากาศฉะนั้น

นิมิตเห็นตอนมรณภาพจะมีพระหนุ่มสององค์รู้ธรรมตามท่าน

มีเรื่องแปลกประหลาดอีกเรื่องหนึ่ง ท่านเล่าว่า

แปลกใจมาก คืนหนึ่งที่มีเหตุการณ์โดยทางนิมิตภาวนาเกิดขึ้น เวลานั้นท่านพักอยู่ในภูเขาลึกแห่งหนึ่ง ห่างจากหมู่บ้านมาก ที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเหตุการณ์ที่ทั้งน่าหวาดเสียวและน่ายินดีพอ ๆ กัน คืนนั้นดึกมากราว ๓ นาฬิกา อันเป็นเวลาธาตุขันธ์ละเอียด ท่านตื่นจากจำวัด นั่งพิจารณาไปเล็กน้อย ปรากฏว่าจิตใจมีความประสงค์จะพักสงบมากกว่าจะพิจารณาธรรมทั้งหลายต่อไป ท่านเลยปล่อยให้จิตพักสงบ พอเริ่มปล่อยจิตก็เริ่มหยั่งลงสู่ความสงบอย่างละเอียดเต็มภูมิสมาธิ และพักอยู่นานประมาณ ๒ ชั่วโมง หลังจากนั้นก็ค่อย ๆ ถอยออกมา แต่แทนที่จิตจะถอนออกมาสู่ปกติจิต เพราะมีกำลังจากการพักผ่อนทางสมาธิพอสมควรแล้ว แต่กลับถอยออกมาเพียงขั้นอุปจารสมาธิ แล้วออกรู้เหตุการณ์ต่อเนื่องไปในเวลานั้นเลยทีเดียว

คือขณะนั้นปรากฏว่ามีช้างเชือกหนึ่งใหญ่มากเดินเข้ามาหาท่าน แล้วทรุดตัวหมอบลงแสดงเป็นอาการจะให้ท่านขึ้นบนหลัง ท่านก็ปีนขึ้นบนหลังช้างเชือกนั้นทันที พอท่านขึ้นนั่งบนคอช้างเรียบร้อยแล้ว ขณะนั้นปรากฏว่ามีพระวัยหนุ่มอีกสององค์ ขี่ช้างองค์ละเชือกเดินตามมาข้างหลังท่าน ช้างทั้งสองเชือกนั้นใหญ่พอ ๆ กัน แต่เล็กกว่าช้างตัวที่ท่านกำลังขี่อยู่เล็กน้อย ช้างทั้งสามเชือกนั้นมีความองอาจสง่าผ่าเผยและสวยงามมากพอ ๆ กัน คล้ายกับเป็นช้างทรงของกษัตริย์ มีความฉลาดรอบรู้ความประสงค์และอุบายต่าง ๆ ที่เจ้าของบอกแนะดีเช่นเดียวกับมนุษย์ พอช้างสองเชือกของพระหนุ่มเดินมาถึง ท่านก็พาออกเดินทางมุ่งหน้าไปทางภูเขาที่มองเห็นขวางหน้าอยู่ไม่ห่างจากที่นั้นนัก ประมาณ ๑ กิโลเมตร ช้างท่านเป็นผู้พาเดินหน้าไปอย่างสง่าผ่าเผย

ในความรู้สึกส่วนลึก ท่านว่าราวกับจะพาพระหนุ่มสององค์นั้นออกจากโลกสมมุติทั้งสามภพ ไม่มีวันกลับมาสู่โลกใด ๆ อีกต่อไปเลย

พอไปถึงภูเขาแล้ว ช้างพาท่านและพระหนุ่มสององค์เดินเข้าไปที่หน้าถ้ำแห่งหนึ่งซึ่งไม่สูงนัก เพียงเป็นเนินเชื่อมกันขึ้นไปหาถ้ำเท่านั้น  เมื่อช้างใหญ่ทั้งสามเชือกเข้าไปถึงถ้ำแล้ว ช้างเชือกที่ท่านอาจารย์ขี่อยู่หันก้นเข้าไปในหน้าถ้ำ หันหน้าออกมา แล้วถอยก้นเข้าไปจรดผนังถ้ำ ส่วนช้างสองเชือกของพระหนุ่มสององค์ต่างเดินเข้าไปยืนเคียงข้างช้างท่านข้างละเชือกอย่างใกล้ชิด หันหน้าเข้าไปในถ้ำ ส่วนช้างท่านอาจารย์ยืนหันหน้าออกมาหน้าถ้ำ

ขณะนั้นปรากฏว่า ท่านอาจารย์เองได้พูดสั่งเสียพระว่า

นี้เป็นวาระสุดท้ายแห่งขันธ์และภพชาติของผมจะขาดความสืบต่อกับสมมุติทั้งหลายและจะยุติลงเพียงแค่นี้ จะไม่ได้กลับมาสู่โลกเกิดตายนี้อีกแล้ว นิมนต์ท่านทั้งสองจงกลับไปบำเพ็ญประโยชน์ตนให้สมบูรณ์เต็มภูมิก่อน อีกไม่นานท่านทั้งสองก็จะตามผมมา และไปในลักษณะเดียวกับที่ผมจะเตรียมไปอยู่ขณะนี้

การที่สัตว์โลกจะหนีจากโลกที่แสนอาลัยอ้อยอิ่งแต่เต็มไปด้วยความระบมงมทุกข์นี้ไปได้แต่ละรายนั้น มิใช่เป็นของไปได้อย่างง่ายดายเหมือนเขาไปเที่ยวงานกัน แต่ต้องเป็นสิ่งฝืนใจมากที่ผู้นั้นจะต้องทุ่มเทกำลังทุกด้านลงเพื่อต่อสู้กู้ความดีทั้งหลาย ราวกับจะไม่มีชีวิตยังเหลืออยู่ในร่างต่อไปนั่นแล จึงจะเป็นทางพ้นภัยไร้กังวล ไม่ต้องกลับมาเกิดตายเสียดายป่าช้าอีกต่อไป

การจากไปของผมคราวนี้มิได้เป็นการจากไปเพื่อความล่มจมงมทุกข์ใด ๆ แต่เป็นการจากไปเพื่อหายทุกข์กังวลในขันธ์ จากไปด้วยความหมดเยื่อใยในสิ่งที่เคยอาลัยอาวรณ์ทั้งหลาย และจากไปอย่างหมดห่วง เหมือนนักโทษออกจากเรือนจำฉะนั้น ไม่มีความหึงหวงและน้อยเนื้อต่ำใจ เพราะความพรากไปแห่งขันธ์ที่โลกถือเป็นเรื่องกองทุกข์อันใหญ่หลวง และไม่มีสัตว์ตัวใดปรารถนาตายกันเลย ฉะนั้นจึงไม่ควรเสียใจอาลัยถึงผมอันเป็นเรื่องสั่งสมกิเลสและกองทุกข์ไม่มีชิ้นดีเลย นักปราชญ์ไม่สรรเสริญ

พอท่านแสดงธรรมแก่พระหนุ่มสององค์จบลง ก็บอกให้ถอยช้างสองเชือกออกไป ซึ่งยืนแนบสองข้างท่านด้วยอาการสงบนิ่งราวกับไม่มีลมหายใจ และอาลัยคำสั่งเสียท่านที่ให้โอวาทแก่พระหนุ่มสององค์ ขณะนั้นช้างทั้งสามเชือกแสดงความรู้สึกเหมือนสัตว์มีชีวิตจริง ๆ ราวกับมิใช่นิมิตภาวนา

พอสั่งเสียเสร็จแล้ว ช้างสองเชือกของพระหนุ่มก็ค่อย ๆ ถอยออกมาหน้าถ้ำหันหลังกลับออกไป แล้วหันหน้ากลับคืนมายังท่านอาจารย์ตามเดิมด้วยท่าทางอันสงบอย่างยิ่ง ส่วนช้างท่านก็เริ่มทำหน้าที่หมุนก้นเข้าไปในผนังถ้ำโดยลำดับ เฉพาะองค์ท่านนั่งอยู่บนคอช้างนั่นเอง ทั้งขณะให้โอวาททั้งขณะช้างหมุนตัวเข้าในผนังถ้ำ พอช้างหมุนก้นเข้าไปได้ค่อนตัว จิตท่านเริ่มรู้สึกตัวถอนจากสมาธิขึ้นมา เรื่องเลยยุติลงเพียงนั้น

เรื่องนั้นจึงเป็นสาเหตุให้ท่านพิจารณาความหมายต่อไป เพราะเป็นนิมิตที่แปลกประหลาดมากไม่เคยปรากฏในชีวิต ได้ความขึ้นเป็นสองนัย

นัยหนึ่งตอนท่านมรณภาพจะมีพระหนุ่มสององค์รู้ธรรมตามท่าน แต่ท่านมิได้ระบุว่าเป็นใครบ้าง

อีกนัยหนึ่งสมถะกับวิปัสสนา เป็นธรรมมีอุปการะแก่พระขีณาสพแต่ต้นจนวาระสุดท้ายแห่งขันธ์ ต้องอาศัยสมถวิปัสสนาเป็นวิหารธรรมเครื่องบรรเทาทุกข์ระหว่างขันธ์กับจิตที่อาศัยกันอยู่ จนกว่าระหว่างสมมุติคือขันธ์กับวิมุตติคือวิสุทธิจิตจะเลิกราจากกัน ที่โลกเรียกว่าตายนั่นแล สมถะกับวิปัสสนาจึงจะยุติในการทำหน้าที่ลงได้ และหายไปพร้อม ๆ กับสมมุติทั้งหลาย ไม่มีอะไรจะมาสมมุติกันว่าเป็นอะไรต่อไปอีก

ท่านว่าน่าหวาดเสียวนั้น ท่านคิดตามความรู้สึกทั่ว ๆ ไป คือตอนช้างท่านกำลังหมุนก้นเข้าไปในผนังถ้ำ ทั้งที่ท่านนั่งอยู่บนคอช้าง แต่ท่านว่า ท่านมิได้มีความสะทกสะท้านหวั่นไหวเพราะเหตุการณ์ที่กำลังเป็นไปอยู่นั้นเลย ปล่อยให้ช้างทำหน้าที่ไปจนกว่าจะถึงที่สุดของเหตุการณ์ ที่น่ายินดีเช่นกันคือตอนที่นิมิตแสดงภาพพระหนุ่มและช้างให้ปรากฏขึ้นในขณะนั้น บอกความหมายว่า จะมีพระหนุ่มรู้ธรรมตามท่านสององค์ในระยะที่มรณภาพ ไม่ก่อนหรือหลังท่านนานนัก

ท่านว่า แปลกอยู่อีกตอนหนึ่งก็คือ ตอนท่านสั่งเสียและอบรมสั่งสอนพระหนุ่มไม่ให้ตกใจ และมีความอาลัยถึงท่าน ให้พากันกลับไปบำเพ็ญประโยชน์ส่วนตนให้เต็มภูมิก่อน และพูดถึงการจากไปของท่านเองราวกับจะไปในขณะนั้นจริง ๆ นี้ท่านว่า นิมิตแสดงให้เห็นเป็นความแปลกในรูปเปรียบว่าเมื่อวาระนั้นมาถึงจริง ๆ พระหนุ่มสององค์จะรู้ธรรมในระยะนั้น แต่เป็นที่น่าเสียดายที่พระหนุ่มสององค์นั้นคือใครบ้าง เวลาเรียนถามท่าน ท่านไม่บอก

เวลานั้นผู้เขียนมีอาการบ้ากำลังกำเริบอยากรู้ชื่อพระหนุ่มสององค์นั้น จนลืมอยากรู้ความบกพร่องของตนเสียหมด เลยวาดภาพหลอกตัวเองอยู่ร่ำไปว่าจะเป็นองค์ไหนกันแน่ องค์ไหนกันแน่ อยู่ทำนองนั้น และได้พยายามใช้ความสังเกตเรื่อยมาแต่ท่านมรณภาพทีแรกจนถึงวันเขียนประวัติท่าน ก็ยังไม่มีวี่แววมาจากทางไหนว่า องค์นั้นเป็นผู้มีโชคมหัศจรรย์ตามนิมิตภาวนาที่ท่านเมตตาบอกเล่า คิดไปมากเท่าไรก็ยิ่งเห็นความบ้าของตนหนักเข้าที่ตะครุบเงานอกจากตัวไปว่า ใครจะมาประกาศขายตัวว่าตนเป็นผู้บรรลุธรรมนั้น เพราะมิใช่ปลาเน่าที่จะประกาศขายให้แมลงวันตอมเล่น ไม่มีประโยชน์ เนื่องจากท่านผู้จะบรรลุธรรมขั้นนั้น ต้องเป็นผู้มีความฉลาดอย่างพอตัว และควรแก่ธรรมขั้นนั้นอย่างเต็มภูมิจึงจะบรรลุได้ แล้วใครจะยอมโง่มาประกาศขายตัวให้นักปราชญ์สมเพชเวทนา ให้คนพาลหัวเราะเยาะ ให้คนหูเบาเชื่อง่ายไม่มีเหตุผลรับเชื่อและตื่นข่าวไปตาม ๆ กัน เหมือนกระต่ายตื่นตูมว่าฟ้าถล่มฉะนั้น เรื่องบ้าเลยขอบเขตก็ค่อยสงบลง

จึงได้เขียนเรื่องนี้ลงไว้เพื่อท่านผู้อ่านทั้งหลายได้พิจารณาต่อไป ผิดถูกประการใดกรุณาตำหนิผู้เขียนซึ่งมีนิสัยไม่รอบคอบมาดั้งเดิม เพราะเรื่องทำนองนี้ถือเป็นการภายในระหว่างอาจารย์กับศิษย์ควรพูดต่อกันโดยเฉพาะ ไม่เป็นภัยต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ผู้เขียนประวัติท่านเป็นคนมีนิสัยที่ควรตำหนิอยู่มาก ถ้าไม่สงสารและให้อภัยดังที่เรียนขอแล้วขอเล่าตลอดมา จึงหวังได้รับความเมตตาเป็นอย่างดีตามเคย

การเทศน์โปรดอนุเคราะห์จำพวกกายทิพย์ในภพภูมิต่าง ๆ

การเทศน์โปรดอนุเคราะห์จำพวกกายทิพย์ในภพภูมิต่าง ๆ ท่านพระอาจารย์มั่นได้ทำภาระอย่างหนักหน่วงตลอดมาจนถึงวันมรณภาพ ไม่ว่าท่านจะพักอยู่ที่ใด จำต้องได้ติดต่อสื่อสารกับพวกกายทิพย์ประเภทต่าง ๆ อยู่เสมอ ยิ่งพักอยู่ในป่าในเขาลึกปราศจากผู้คนด้วยแล้ว พวกกายทิพย์จากภพภูมิต่าง ๆ ยิ่งมาเกี่ยวข้องท่านมากเป็นพิเศษแทบไม่เว้นแต่ละคืน โดยพวกนั้นมา พวกนี้มา ภูมินั้นมา ภูมินี้มา ชั้นนั้นมา ชั้นนี้มา แม้พวกเปรตผีที่รอรับไทยทานจากญาติ ๆ ซึ่งทั้งผู้เป็นเปรตเป็นผี และผู้เป็นญาติ เดิมเป็นโคตรแซ่อะไร อยู่เมืองไหน ตายไปแต่เมื่อไร และญาติในโคตรแซ่นั้นยังมีใครเหลืออยู่บ้างพอช่วยติดต่อสื่อสาร ก็ไม่มีใครทราบได้ ยังอุตส่าห์มาติดต่อกับท่านอาจารย์เพื่อเมตตาอนุเคราะห์ช่วยบอกกับญาติ ๆ ของเปรตผีนั้น ๆ ให้พากันทำบุญให้ทานแล้วอุทิศแผ่ส่วนกุศลไปให้เขา พอช่วยพยุงให้ความทุกข์ที่เสวยอยู่ได้มีวันเบาบางลงบ้าง ไม่ทรมานจนเกินไป เท่าที่เสวยทุกข์อยู่ในนรกก็นับว่าเหลือทนมานานแสนนานแล้ว จนไม่มีมนุษย์คนใดจะสามารถนับอ่านเดือนปีของแดนนรกซึ่งต่างกับเมืองมนุษย์ได้ เพราะเลยการนับอ่านของแดนมนุษย์ที่ใช้นับกันจะอาจเอื้อม

พอพ้นแดนนรกขึ้นมาแทนที่จะหมดกรรมหมดเวรพอมีความสุขบ้าง แต่ไม่ปรากฏความทุกข์ได้ลดตัวลงสมกับคำว่าพ้นจากนรกบ้างเลย ความมีกรรมชั่วติดตัวนี้อยู่ในโลกไหนก็สักแต่ชื่อเท่านั้น ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปพอให้เย็นใจหายทุกข์พอควรบ้างเลย ดังพวกข้าพเจ้าเสวยอยู่เวลานี้ ทั้งยังไม่ทราบว่าจะพ้นจากกรรมชั่วไปได้เมื่อไร ถ้าพระคุณเจ้าได้เมตตาบอกข่าวกล่าวเรื่องให้ญาติ ๆ ฟังแล้ว เขาอาจมีจิตเมตตาบำเพ็ญกุศลอุทิศกัลปนาผลส่งมาให้ พวกข้าพเจ้าอาจมีเวลาหลุดพ้นจากความทุกข์ทรมาน ซึ่งสุดจะสังเวชสงสารตนเหลือประมาณนี้เสียได้

เวลาท่านถามถึงญาติของผู้เป็นเปรตผีที่มาขอส่วนบุญ ก็บอกไปคนละโลกจนไม่รู้เรื่องกัน ผู้ที่ตายไปตกนรกตั้งหมื่นตั้งแสนปีทิพย์ กว่าจะพ้นโทษขึ้นมาและมาเสวยกรรมปลีกย่อยอันเป็นเศษนรกอยู่ บางรายห้าร้อยปีทิพย์ บางรายก็พันปีทิพย์ จนไม่สามารถค้นหาต้นตอหน่อแขนงแห่งโคตรแซ่ได้ว่าอยู่ที่ไหน ถ้าเป็นเช่นรายนั้นก็สุดวิสัย ซึ่งนับว่าเป็นกรรมของสัตว์อีกแขนงหนึ่ง ที่พ้นกรรมหนักขึ้นมาสู่กรรมเบาบ้าง ที่พอจะรับความช่วยเหลือจากผู้อื่นได้ แต่กลับค้นหาบัญชีสำมะโนครัวไม่เจอเสีย เป็นอันว่าต้องยอมทนทุกข์เสวยกรรมนั้นต่อไป โดยไม่มีกำหนดกฎหมายว่าจะตัดสินกรรมลงได้เมื่อไรสักที รายที่เป็นทำนองสัตว์ไม่มีเจ้าของคอยอุปการะนี้มีจำนวนไม่น้อย

รายที่พอช่วยเหลือได้บ้างก็มี เช่นรายที่ไม่นานและไม่หนัก ทั้งอยู่ในฐานะที่ควรรับทานจากญาติได้ สำมะโนครัวคือโคตรแซ่ที่เป็นญาติก็ยังมี ชื่อญาติและสถานที่ก็จำได้ ทั้งอยู่ไม่ห่างไกลกับสถานที่มาติดต่อขอความช่วยเหลือจากท่าน ถ้าอย่างนี้ท่านก็อนุเคราะห์ช่วยเหลือได้ โดยหาอุบายแสดงธรรมให้เขาทราบและอุทิศส่วนกุศลในเวลาบำเพ็ญทานในงานต่าง ๆ หรือให้ทานประจำวัน เช่น ใส่บาตรถวายทานอันเป็นการทำบุญทั่ว ๆ ไป เสร็จแล้วอุทิศแผ่ส่วนกุศลไปยังผู้ล่วงลับ ซึ่งรอรับอยู่พร้อมแล้ว บางรายก็รับส่วนกุศลจากการอุทิศของท่านผู้ใจบุญทั้งหลายอุทิศกันอยู่ทั่วไปได้ เฉพาะท่านเองก็อุทิศส่วนกุศลหรือแผ่เมตตาแก่บรรดาสัตว์ทั่ว ๆ ไปมิได้ขาด แต่บางรายก็รับได้เฉพาะที่ญาติอุทิศให้เท่านั้น บางรายก็รับได้ทั่วไปตามความนิยมของกรรมที่มีต่าง ๆ กัน

ท่านว่าพวกเปรตผีนี้พิสดารมาก และมีกี่ร้อยกี่พันจำพวกที่มาเกี่ยวข้องกับท่าน จนไม่สามารถนับอ่านได้ ทั้งรบกวนมากกว่าจำพวกอื่น ๆ ที่มีกายลึกลับเหมือนกัน เพราะพวกนี้หมดที่พึ่งเหมือนคอยลมหายใจจากผู้อื่น พอเขาปิดจมูกไอหรือจามเสียขณะหนึ่ง ตัวก็จะตายเพราะหมดทางหากิน จึงลำบากมากเกี่ยวกับการอาศัยผู้อื่น โดยที่ไม่เป็นตัวของตัวมาแต่ดั้งเดิม ฉะนั้นการทำบุญให้ทานจึงเป็นกิจสำคัญมากเหนือสิ่งอื่นใด สำหรับผู้หวังพึ่งตัวเองทั้งปัจจุบันและอนาคตที่ยังท่องเที่ยวอยู่ในสงสาร เพราะสัตว์ที่มีกรรมทั่วไตรโลกธาตุต้องเป็นผู้รับผิดชอบตัวเองด้วยกัน ไม่มีใครจะคอยรับผิดชอบใคร ทั้งการเกิดในกำเนิดดีชั่วต่าง ๆ ตลอดการเสวยคือสุขหรือทุกข์หนักเบามากน้อย ต้องเป็นผู้เสวยกรรมของตัวทำไว้ทั้งสิ้น ไม่มีใครทำไว้เพื่อใคร ต่างทำไว้เพื่อตัว แม้ไม่มีเจตนาว่าทำไว้เพื่อตัวเองก็ตาม แต่ความจริงก็เป็นกฎตายตัวมาดั้งเดิมอย่างนั้น

ท่านพระอาจารย์มั่นท่านเชี่ยวชาญในทางเปรต ผี เทวบุตร เทวดา อินทร์ พรหม ยม ยักษ์ นาค ครุฑมาก ทั้งภพหยาบภพละเอียดสามารถรู้ซอกแซกไปได้อย่างไม่มีประมาณ ในสิ่งที่สุดวิสัยของตาเนื้อหูหนังจะเห็นและได้ยินได้ นอกจากท่านไม่เล่าหมดตามที่รู้ที่เห็นเท่านั้น

ขณะท่านเล่าเรื่องเปรตผีเป็นต้นให้ฟัง อดขนลุกไม่ได้ ทั้งที่ไม่กลัวผี แต่ก็อดกลัวกรรมซึ่งเป็นของลึกลับและมีอำนาจมากไม่ได้ ท่านว่าคนเราถ้าสามารถรู้เห็นกรรมดีชั่วที่ตนและผู้อื่นทำขึ้นเหมือนเห็นวัตถุต่าง ๆ เช่น เห็นน้ำเห็นไฟ เป็นต้น จะไม่กล้าทำบาปเหมือนคนไม่กล้าเข้าไฟ แต่กระตือรือร้นกันทำแต่ความดี ซึ่งเป็นของเย็นเหมือนน้ำ ความเดือดร้อนของโลกที่เคยได้รับก็นับวันลดน้อยลง เพราะต่างคนต่างก็รักษาตัว กลัวเป็นบาปอันตราย

ลูกศิษย์กับอาจารย์โต้นรกสวรรค์กัน

ขณะที่ท่านอธิบายธรรมเกี่ยวกับเปรตผีนรกสวรรค์ เป็นต้น มีอาจารย์องค์หนึ่งที่เป็นศิษย์ท่าน เรียนถามท่านขึ้นว่า

เมื่อคนทั้งโลกไม่รู้ไม่เห็นบาปเห็นบุญ เห็นนรกสวรรค์ ตลอดเห็นเปรต เทวบุตร เทวดา ครุฑ นาค และวิญญาณที่เป็นภพละเอียดยิ่ง แต่ท่านอาจารย์สามารถรู้เห็นได้เพียงองค์เดียวทั้งที่คนอื่นไม่รู้ไม่เห็นด้วย ท่านอาจารย์จะอธิบายให้คนรู้เห็นด้วยไม่ได้บ้างหรือ ตั้งแต่พระพุทธเจ้าและพระสาวกท่านเวลาเห็นแล้วยังนำมาสั่งสอนโลกได้ เช่น บาป บุญ นรก สวรรค์ เป็นต้น ล้วนเป็นธรรมชาติที่พระองค์รู้เห็นแล้วนำมาสอนโลกทั้งสิ้น ไม่เห็นใครปรับโทษพระพุทธเจ้าและพระสาวกท่าน นี่ก็เข้าใจว่าจะไม่มีท่านผู้ใดจะมาปรับโทษท่านอาจารย์ นอกจากเขาจะอนุโมทนาสาธุกับท่านอาจารย์เท่านั้น เช่นเดียวกับพวกกระผมเชื่อและอัศจรรย์ความรู้ความสามารถของท่านอาจารย์อยู่เวลานี้

ท่านอาจารย์ตอบว่า

ผมยังไม่ได้คิดว่าจะพูดอย่างท่านขอร้อง แต่ผู้ขอร้องคือท่านจะหาเรื่องบ้ามาฆ่าตัวท่านและผมก่อนแล้ว ถ้าผมพูดตามความเห็นท่าน ท่านก็เป็นบ้าคนที่หนึ่ง ผมก็คือบ้าคนที่สอง ผู้ฟังที่นั่งอยู่ด้วยกันนี้ก็จะเป็นบ้าคนที่สามที่สี่ จะเป็นบ้าไปด้วยกันทั้งวัด แล้วจะมีวัดบ้าที่ไหนให้พวกเราซึ่งเป็นบ้ากันหมดทั้งวัดอยู่ล่ะ ศาสนาออกจากท่านผู้รอบคอบ แสดงไว้ด้วยความรอบคอบ เพื่อปฏิบัติด้วยความรอบคอบ รู้ด้วยความรอบคอบ และพูดด้วยความรอบคอบ แต่การพูดพล่ามไปดังท่านนี้ จะจัดว่ารอบคอบหรือจัดว่าพวกบ้าน้ำลาย ท่านลองพิจารณาดูซิ ผมว่าเพียงคิดขึ้นเท่านั้นก็เริ่มคิดเรื่องบ้าอยู่แล้ว มิหนำยังจะขืนพูดออกมา ถ้าโลกทนฟังได้โลกไม่แตก ผู้พูดผู้ฟังเหล่านี้ก็ดีแตกและบ้าแตกหาโลกอยู่ไม่ได้แน่ ๆ

การพูดดังที่ท่านคิดนั้นท่านมีเหตุผลอะไรบ้าง ท่านลองคิดดู แม้แต่สิ่งที่เห็น ๆ รู้ ๆ กันอยู่ทั่วไป เขายังรู้จักวิธีปฏิบัติว่าควรอย่างไรไม่ควรอย่างไร จึงจะเหมาะสมกับเหตุการณ์สถานที่และความนิยมของคนในยุคนั้น ๆ ธรรมแม้จะเป็นความจริงเหนือสิ่งใด แต่ยังอาศัยโลกผู้เกี่ยวข้องกับธรรมอยู่ ซึ่งควรปฏิบัติให้เหมาะสมกับโลกกับธรรมไปตามกรณี แม้พระพุทธเจ้าที่ทรงรู้เห็นสิ่งต่าง ๆ ก่อนใครในโลก ทั้งสามารถจะตรัสอะไรได้ด้วยความรู้ความเห็นที่ประจักษ์พระทัย แต่ก็ทรงรอบคอบในสิ่งทั้งปวงว่าจะควรปฏิบัติอย่างไรเสมอมา หากพระองค์จะตรัสบ้างในบางเรื่อง ก็ทรงเห็นว่าเหมาะกับเหตุการณ์สถานที่และบุคคลผู้รับฟัง มิได้ตรัสโดยปราศจากพระสติปัญญาความรอบคอบอันแหลมคม

ความรู้ความเห็นสิ่งต่าง ๆ ที่ควรแก่ฐานะของตนนั้นเป็นสิทธิของผู้นั้น แต่จะพูดพล่ามออกมาเสียทุกสิ่งทุกอย่างโดยปราศจากสติปัญญาที่ควรนำใช้เป็นประจำนั้น รู้สึกจะเป็นความรู้ความเห็นที่แหวกแนว คำพูดแหวกแนว แต่ผู้รับฟังซึ่งมิใช่คนแหวกแนวก็ทนฟังอยู่มิได้ การที่ใครจะปรับโทษหรือไม่นั้นเป็นเรื่องหยาบและเรื่องนอก ๆ ซึ่งไม่สำคัญยิ่งกว่าตัวผู้รู้ผู้เห็น จะควรปฏิบัติต่อตัวโดยสามีจิกรรมอันเป็นความชอบธรรมแก่ตนและผู้เกี่ยวข้องทั่ว ๆ ไป

ความเชื่อและความอัศจรรย์ก็มิใช่เหตุผลที่จะนำมาสนับสนุนเพื่อเสริมคนให้เป็นบ้า ความเชื่อและความอัศจรรย์ด้วยความอยากให้พูดให้คุย ก็เป็นความเชื่อความอัศจรรย์ของคนที่กำลังจะหาทางเป็นบ้า ผมจึงไม่สรรเสริญความเชื่อความอัศจรรย์แบบนั้น แต่อยากให้มีความเชื่อความอัศจรรย์ที่จะเป็นความแหลมคม สมกับที่พระพุทธเจ้าทรงสอนคนให้ฉลาดบ้าง แม้ไม่ฉลาดมากก็พอน่าชมด้วยความหวังว่าจะยังมีผู้ทรงพระศาสนา และสืบพระศาสนาไปด้วยความฉลาดรอบคอบอยู่บ้าง

ผมขอถามท่านบ้างว่า

“สมมุติว่าท่านมีเงินติดตัวอยู่จำนวนพอที่จะทำประโยชน์หรือทำความเสียหายแก่ตัวท่านได้หากไม่ฉลาด เวลาท่านเข้าในที่ชุมนุมชนท่านจะปฏิบัติต่อสมบัตินั้นอย่างไรบ้าง ถึงจะปลอดภัยทั้งสมบัติและตัวท่านเอง”

พระอาจารย์องค์นั้นเรียนตอบท่านว่า

“กระผมก็จะพยายามรักษาสมบัตินั้นเต็มสติปัญญาที่จะรักษาได้”

ท่านถามว่า

“สติปัญญาที่ท่านจะนำมาใช้ต่อสมบัติและชุมนุมชนในเวลานั้น ท่านจะนำมาใช้ด้วยวิธีใด สมบัติส่วนอื่น ๆ และตัวท่านเองจึงจะปลอดภัย”

อาจารย์นั้นเรียนท่านว่า

“ถ้ากระผมจะสงเคราะห์เขาโดยที่เห็นว่าควรสงเคราะห์ ก็จะพยายามแยกสมบัติจำนวนที่จะสงเคราะห์ออกแผนกหนึ่ง โดยมิให้เขามองเห็นสมบัติส่วนใหญ่ที่มีอยู่ของตน แล้วสงเคราะห์เขาไปเฉพาะจำนวนที่แยกออกไว้จากส่วนใหญ่เท่านั้น นอกนั้นกระผมก็เก็บไว้อย่างมิดชิดไม่ให้ใครรู้ใครเห็น เพราะกลัวจะเป็นภัยแก่สมบัติและตัวกระผมเอง”

ท่านตอบว่า

“เอาละ ทีนี้สมมุติว่าท่านรู้เห็นธรรมหรือสิ่งต่าง ๆ ดังที่ท่านยกขึ้นถามผม มีการเห็นเปรตผี เป็นต้น ท่านจะปฏิบัติต่อความรู้ความเห็นและแก่ผู้เกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง ถึงจะจัดว่าเป็นผู้มีความรอบคอบในสมบัติประเภทนั้นและเป็นประโยชน์แก่หมู่ชนผู้มาเกี่ยวข้องเท่าที่ควร โดยไม่มีการอื้อฉาวราวเรื่อง ซึ่งอาจเป็นความเสียหายแกท่านเองและพระศาสนาได้”

อาจารย์องค์นั้นเรียนท่านว่า

“กระผมก็จำต้องปฏิบัติทำนองเดียวกันกับการปฏิบัติต่อเงินซึ่งเห็นว่าเป็นคุณแก่ตนและผู้อื่นโดยถ่ายเดียว ไม่มีภัยเข้ามาแทรกด้วย”

ท่านถามว่า

“ก็เมื่อสักครู่นี้ท่านพูดเป็นเชิงชักนำให้ผมประกาศโฆษณาความรู้ความเห็น มีเห็นเปรตผี เป็นต้น แก่ประชาชน โดยมิได้คำนึงถึงผลประโยชน์และความเสียหายอันจะตามมานั้น ท่านพูดมีความหมายอย่างไรบ้าง ผมคิดว่าถ้าคนมีสติปัญญาพอประคองตัวอยู่บ้างดังมนุษย์ทั่ว ๆ ไป เขาคงไม่พูดอย่างท่านแน่นอน แต่ท่านเองยังพูดออกมาได้ ถ้าท่านไม่เลยขั้นคนธรรมดาก้าวเข้าขั้นไม่มีสติแล้ว จะควรชมเชยว่าท่านก้าวข้ามไปขั้น……อะไรแล้ว ผมเองยังมองไม่เห็นจุดที่ควรชมเชยท่านบ้างเลย

สมมุติว่ามีผู้มาต่อว่าท่านว่า เวลาท่านก้าวเข้าถึงขั้น……แล้ว ท่านจะตอบเขาว่าอย่างไรจึงจะตรงกับความจริงที่เขาว่าท่านโดยมีเหตุผล ท่านได้คิดบ้างหรือเปล่าว่า คนในโลกมีคนฉลาดมากหรือคนโง่มาก และคนจำพวกไหนที่จะสามารถทรงพระศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองไปด้วยความมีเหตุผล และยั่งยืนไปนานไม่ถูกทำลายด้วยแบบท่านถามผมเมื่อสักครู่นี้”

ท่านนั้นเรียนท่านว่า

“ถ้าพิจารณาตามที่ท่านอาจารย์ว่าแล้ว ก็เป็นความผิดในการกล่าวของกระผมโดยไม่มีเงื่อนไข เพราะเท่าที่กระผมกราบเรียนขอนั้น โดยมุ่งเจตนาในทางอยากให้คนทั้งหลายทราบบ้าง อย่างกระผมทราบแล้วรู้สึกซาบซึ้งและอัศจรรย์อย่างยิ่ง ที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาจากท่านผู้ใดเลย เมื่อเล่าให้เขาทราบบ้าง คงจะรู้สึกซาบซึ้งไปนานและเกิดประโยชน์แก่เขามากมาย ด้วยความรู้สึกอย่างนี้จึงทำให้ความอยากนั้นหลุดปากออกมา โดยมิได้คำนึงว่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้พูดและพระศาสนามากน้อยเพียงไรด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ กระผมจึงขอประทานโทษได้โปรดเมตตาอย่าให้กรรมนี้ต้องติดในสันดานอีกต่อไป กระผมจะพยายามสำรวมมิให้เป็นทำนองนี้อีก

หากมีคนมาต่อว่าว่ากระผมก้าวเข้าถึงขั้น…..ก็จำต้องยอมรับเหตุผล เพราะเราเป็นผู้ควรถูกตำหนิอย่างหาทางหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ก่อนกระผมยังมิได้คิดว่าคนในโลกมีความฉลาดมากหรือคนโง่มาก เพิ่งจะมาสะดุดใจเอาขณะที่ท่านอาจารย์ถามนี่เอง เลยเดาเอาตามความรู้สึกว่า คนโง่มีมากกว่าคนฉลาดอยู่มากมาย คิดดูในหมู่บ้านหนึ่ง ๆ มีคนฉลาดและรักศีลรักธรรมอยู่เพียงไม่กี่คน นอกนั้นแทบจะพูดได้ว่า ไม่ทราบที่ไปที่มาของตัวเอาเลยว่าไปเพื่ออะไร มาเพื่ออะไร ทำเพื่ออะไร ผิดหรือถูก ดีหรือชั่ว ควรทำหรือไม่ควร เขาไม่ค่อยสนใจคิดเลย ขอแต่ให้สะดวกสบายในขณะนั้นก็พอใจแล้ว จะเป็นอะไรต่อไปก็มอบให้ยถากรรมเป็นผู้ตัดสินเอาเอง คราวนี้กระผมพอเข้าใจได้บ้างไม่มืดมิดปิดทวารเหมือนแต่ก่อน

ส่วนผู้จะทรงพระศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองและยืนนานต่อไปด้วยความมีเหตุมีผลนั้น ก็เห็นจะได้แก่คนฉลาดเป็นผู้นำ และทรงไว้ด้วยความราบรื่นสม่ำเสมอมากกว่าจำพวกอื่น ๆ จำพวกนอกนั้นก็พลอยได้ประโยชน์ไปตาม ๆ กัน แต่หลักใหญ่เห็นจะอยู่ในคนจำพวกมีเหตุมีผลเป็นแน่ เพราะทางโลกทางธรรม กิจบ้านการอาชีพตลอดงานทุกแผนก รู้สึกจะหนีจำพวกฉลาดมีเหตุผลเป็นผู้นำไปไม่ได้”

ท่านอาจารย์อธิบายต่อไปว่า

“งานทางโลกทางธรรมท่านยังพอคิดพอพูดได้ว่า คนฉลาดเป็นบุคคลสำคัญในวงการต่าง ๆ แต่งานของท่านเองซึ่งเป็นนักบวชและนักปฏิบัติ ทำไมจึงไม่คิดบ้างว่าควรอย่างไรไม่ควรอย่างไร งานพระศาสนาเป็นงานละเอียดมาก ยากที่จะรู้ทั่วถึง ผู้จะทรงพระศาสนาทรงธรรมทรงวินัยให้ถึงขั้นสมบูรณ์ได้ ต้องเป็นคนฉลาด ความฉลาดในที่นี้มิได้หมายความฉลาดที่ทำลายโลกให้พินาศ ทำลายศาสนาให้ฉิบหายล่มจม แต่เป็นความฉลาดในเหตุผลที่จะยังโลกและธรรมให้เจริญโดยถ่ายเดียว ความฉลาดนี่แลที่แสดงไว้ในมรรคแปดว่า สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป คือความเห็นชอบ ความดำริคิดนึกชอบ และเป็นผู้นำกายวาจาให้ประพฤติแต่ในทางที่ชอบตามปัญญาสัมมาทิฏฐิซึ่งเป็นผู้นำ

แม้แต่สมาธิที่เป็นไปในทางชอบ ก็จำต้องอาศัยสัมมาทิฏฐิองค์ปัญญาคอยตรวจตราสอดส่องอยู่เสมอ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นสมาธิหัวตอไปได้ จิตสงบจิตรวมต้องมีสติปัญญาคอยแฝงอยู่เสมอ จิตเกิดความรู้อะไรขึ้นมา จิตออกรู้อะไรบ้าง สิ่งที่รู้นั้น ๆ จะควรปฏิบัติอย่างไรจึงจะถูกต้องตามหลักของผู้ต้องการความรู้จริงเห็นจริงในสิ่งที่มาเกี่ยวข้อง ถ้าไม่มีปัญญาแฝงอยู่ด้วยแล้ว ต้องทำให้เห็นผิดยึดผิดไปจนได้ เพราะความรู้ต่าง ๆ ทั้งข้างในทั้งข้างนอกที่เกี่ยวกับสมาธิไม่มีประมาณ สุดแต่จะปรากฏขึ้นมาและผ่านเข้ามา ในรายที่นิสัยจะควรรู้ควรเห็นเป็นต้องรู้ต้องเห็น จะห้ามไม่ให้รู้ให้เห็นย่อมไม่ได้ แต่สำคัญอยู่ที่ปัญญาจะคัดเลือกเก็บเอาเท่าที่พิจารณาเห็นว่าควร นอกนั้นก็ปล่อยให้ผ่านไปอย่างนักปัญญา ไม่ยึดถือไว้ให้ก่อกวนตัวเองอยู่ไม่หยุด

ถ้าขาดปัญญาเพียงขั้นสมาธิก็ไปไม่ตลอด คือต้องยินดีกับสิ่งนั้น ยินร้ายกับสิ่งนี้ เพลิดเพลินกับสิ่งนั้น เศร้าโศกกับสิ่งนี้ ซึ่งล้วนเป็นอารมณ์เขย่าใจให้ลุ่มหลงไปตามทั้งสิ้น อารมณ์ที่มาปรากฏถ้าไม่กำจัดด้วยปัญญาจะตกไปได้ยาก นอกจากจะพาให้เป็นอารมณ์ก่อกวนอยู่ไม่หยุดเท่านั้น แต่ถ้าคัดเลือกด้วยปัญญาแล้วจะมีทางผ่านไปได้ ที่ยังเหลืออยู่ก็เฉพาะที่ปัญญาคัดไว้เท่านั้น ปัญญาจึงเป็นธรรมจำเป็นในธรรมทุกขั้น

ผู้ก้าวเข้ามาบวชในศาสนา ก็คือก้าวเข้ามาหาความรู้ความฉลาด เพื่อคุณงามความดีทั้งหลายที่โลกปรารถนากัน  มิได้เข้ามาสั่งสมความโง่เขลาเบาต่อเล่ห์เหลี่ยมของกิเลสตัวหลอกลวง แต่เพื่ออุบายปัญญาพลิกแพลงให้ทันเรื่องของกิเลสต่างหาก เพราะคนเราอยู่และไปโดยไม่มีเครื่องป้องกันตัว ย่อมไม่ปลอดภัยต่ออันตรายทั้งภายนอกภายใน เครื่องป้องกันตัวของนักบวชคือหลักธรรมวินัย มีสติปัญญาเป็นอาวุธสำคัญ ถ้าต้องการความเป็นผู้มั่นคงต่อสิ่งทั้งหลายไม่สะทกสะท้าน จึงควรเป็นผู้มีสติปัญญาแฝงอยู่กับตัวทุกอิริยาบถ จะคิดจะพูดจะทำอะไร ๆ ก็ตามไม่มีการยกเว้นสติปัญญาที่จะไม่เข้ามาสอดแทรกอยู่ด้วยในวงงานที่ทำทั้งภายนอกภายใน จะเป็นที่แน่นอนต่อคติของตนทุก ๆ ระยะไป

ผมปรารถนาอย่างยิ่งที่จะเห็นบรรดาลูกศิษย์ มีความเข้มแข็งต่อแดนพ้นทุกข์ด้วยความเพียรทุกประโยค ที่เต็มไปด้วยสติปัญญาเป็นหัวหน้างาน ไม่งุ่มง่ามเซอะซะต่อตัวเองตลอดธุระหน้าที่ทั้งหลาย สมกับศาสนายอดเยี่ยมด้วยหลักธรรมที่สอนคนให้ฉลาดทุกแง่ทุกมุม แต่ไม่ปรารถนาอย่างยิ่งที่จะเห็นผู้ปฏิบัติที่มาอาศัยอยู่ด้วย เป็นคนอ่อนแอโง่เง่าเต่าตุ่น วุ่นวายอยู่กับอารมณ์เครื่องผูกพันด้วยความนอนใจ และเกียจคร้านในกิจการที่จะยกตัวให้พ้นภัย ไม่ขยันคิดอ่านด้วยความสนใจในงานของตัวทุกประเภท เพราะงานของพระผู้พร้อมแล้วเพื่อข้ามโลกข้ามสงสารเป็นงานชั้นเยี่ยม ไม่มีงานใดในโลกจะหนักหน่วงถ่วงใจยิ่งกว่างานยกจิตให้พ้นจากห้วงแห่งวัฏทุกข์ งานนี้เป็นงานที่ทุ่มเทกำลังทุกด้าน แม้ชีวิตก็ยอมสละไม่อาลัยเสียดาย จะเป็นจะตายก็มอบไว้กับความเพียร เพื่อรื้อถอนตนให้พ้นจากหล่มลึกคือกิเลสทั้งมวล ไม่มีการแบ่งรับแบ่งสู้เหมือนงานอื่น ๆ จะรู้จะเห็นธรรมอัศจรรย์ที่ไม่เคยพบเคยเห็น ก็รู้และเห็นกันกับความเพียรที่สละตายไม่เสียดายชีวิตนี่แล วิธีอื่น ๆ ก็ยากจะคาดถูกได้

การทำความเพียรของผู้ตั้งใจจะข้ามโลก ไม่ขอเกิดมาแบกหามกองทุกข์นานาชนิดอีกต่อไป ต้องเป็นความเพียรชนิดเอาตายเข้าแลกกัน เฉพาะผมเองก่อนที่จะมาเป็นอาจารย์สอนหมู่คณะ มิได้นึกว่าชีวิตจะยังเหลือเดนมาเลย เพราะความมุ่งมั่นต่อธรรมแดนหลุดพ้นมีระดับสูงเหนือชีวิตที่ครองตัวอยู่ การทำความเพียรทุกประโยคและทุกอิริยาบถได้ตั้งเข็มทิศไว้เหนือชีวิตทุกระยะ ไม่ยอมให้ความอาลัยเสียดายในชีวิตเข้ามากีดขวางในวงความเพียรเลย นอกจากความบีบบังคับของจิตที่เต็มไปด้วยความหวังต่อทางหลุดพ้นเท่านั้น เป็นผู้บงการแต่ผู้เดียวว่า ถ้าขันธ์ทนไม่ไหวจะแตกตายไปก็ขอให้แตกไป เราเคยตายมาแล้วจนเบื่อระอา ถ้าไม่ตายขอให้รู้ธรรมที่พระองค์รู้เห็น อย่างอื่นไม่ปรารถนาอยากรู้อยากเห็น เพราะเบื่อต่อการรู้เห็นมาเต็มประดาแล้ว บัดนี้เราอยากรู้เพียงอย่างเดียวคือสิ่งที่เรารู้แล้วไม่ต้องกลับมาลุ่มหลงเกิดตายอีกต่อไป สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ปรารถนาอย่างยิ่งของเราในบัดนี้

ส่วนความเพียรที่หมุนไปตามความอยากรู้อยากเห็นธรรมดวงนั้น จึงเป็นเหมือนโรงจักรที่เปิดทำงานแล้วไม่ยอมปิดเครื่อง ปล่อยให้หมุนตัวเป็นธรรมจักร ฟาดฟันหั่นแหลกกับกิเลสวัฏฏะทั้งหลายไม่มีวันมีคืน ไม่มีอิริยาบถใดว่าได้ย่อหย่อนความเพียร เว้นแต่หลับไปเสียเท่านั้นเป็นเวลาพักงานชั่วคราว พอตื่นขึ้นมามือกับงาน คือสติปัญญาศรัทธาความเพียรกับกิเลสที่ยังเหลือเป็นเชื้อเรื้อรังอยู่ภายในมากน้อย ไม่ว่างต่อการรบพุ่งชิงชัยกันเลย จนถูกทำลายด้วยสติปัญญาศรัทธาความเพียรให้ราบเรียบไปหมดอย่างสบายหายห่วง

นับแต่ขณะนั้นมาส่วนที่ตายไปคือกิเลสทั้งหลายก็ทราบว่าตายไปอย่างสนิท ไม่กลับฟื้นคืนมาก่อกวนวุ่นวายได้อีก ส่วนที่ยังเหลือคือชีวิตธาตุขันธ์ ก็ทราบว่ายังพอทนต่อไปได้ไม่แตกสลายไปตามกิเลส ขณะที่เข้าสู่สงครามทำการหักโหมกันอย่างสุดกำลังทุกฝ่าย สิ่งที่ต่างฝ่ายต่างหมายยึดครองถึงกับต้องทำสงครามยื้อแย่งแข่งชัยชนะกันนั้น คือใจอันเปรียบเหมือนนางงาม ได้ตกมาเป็นสมบัติอันล้ำเลิศประเสริฐสุดของฝ่ายเรา เรียกว่าอมตจิตหรืออมตธรรม ใครค้นพบผู้นั้นประเสริฐโดยไม่มีอะไรมาเสกสรร

แต่ธรรมนั้นอยู่ฟากตาย ถ้าใครกลัวตายเสียดายทุกข์ ชอบถือเอาความสนุกในการเกิดว่าเลิศเลอ ผู้นั้นต้องจัดว่าลืมตัวมัวประมาทและชอบผัดเพี้ยนเลื่อนเวลาว่า เช้า สาย บ่าย เย็น ไม่อยากบำเพ็ญความดีสำหรับตนในเวลาที่เป็นฐานะพอทำได้อยู่ ความประมาททั้งนี้ยังจะพาให้หลั่งน้ำตาด้วยความทุกข์ในสงสาร ไม่อาจประมาณได้ว่ายังอีกนานเท่าไร จึงจะผ่านพ้นแหล่งกันดารอันเป็นที่ทรมานไปได้ จึงขอฝากปัญหาธรรมเหล่านี้ไว้กับท่านทั้งหลายนำไปขบคิดด้วยว่า เราจะเป็นฝ่ายคืบหน้ากล้าตายด้วยความเพียรหมายพึ่งธรรม ไม่เหลียวหลังไปดูทุกข์ที่เคยเป็นภาระให้แบกหาม ด้วยความเจ็บแสบและปวดร้าวในหัวใจมาเป็นเวลานาน หรือยังจะเป็นฝ่ายเสียดายความตายแล้วกลับมาเกิดอีก อันเป็นตัวมหันตทุกข์ที่แสนทรมานอีกต่อไป รีบพากันนำไปพิจารณา อย่ามัวเมาเฝ้าทุกข์และหายใจทิ้งเปล่า ๆ  ดังที่เป็นมาและเป็นอยู่เวลานี้ จะช้าทางและเสียใจไปนาน

เพราะโรงดัดสันดานกิเลส ตัวพาให้ว่ายบกอกแตกแบกกองทุกข์ไม่มีเวลาปลงวางนั้น มิได้มีอยู่ในที่อื่นใดและโลกไหน ๆ แต่มีอยู่กับผู้ตั้งหน้าบำเพ็ญด้วยการใช้หัวคิดปัญญาศรัทธาความเพียร เป็นเครื่องมือบุกเบิกเพื่อพ้นไปนี้เท่านั้น ไม่หยุดหย่อนนอนใจว่ากาลเวลายังอีกนาน สังขารยังไม่ตายร่างกายยังไม่แก่ ซึ่งเป็นความคิดที่ทำให้แย่ลงโดยถ่ายเดียว ผู้เป็นนักบวชและนักปฏิบัติจึงไม่ควรคิดอย่างยิ่ง

อนึ่ง ผู้จะพาให้ผิดพลาดและพาให้ฉลาดแหลมคมก็มีอยู่กับใจดวงเดียวจะเป็นผู้ผลิต ไม่มีอยู่ในที่ใด ๆ จึงไม่ควรตั้งความหวังไว้กับที่ใด ๆ ที่มิได้สนใจดูตัวเอง ตัวจักรเครื่องทำงาน คือกายวาจาใจที่กำลังหมุนตัวกับงานทุกประเภทอยู่ทุกขณะ ว่าผลิตอะไรออกมาบ้าง ผลิตยาถอนพิษคือธรรมเพื่อแก้ความไม่เบื่อหน่ายและอิ่มพอในความเกิดตาย หรือผลิตยาบำรุงส่งเสริมความมัวเมาเหมาทุกข์ ให้มีกำลังขยายวัฏวนให้ยืดยาวกว้างขวางออกไปไม่มีสิ้นสุด หรือผลิตอะไรออกมาบ้าง ควรตรวจตราดูให้ละเอียดถี่ถ้วน ไม่เช่นนั้นจะเจอแต่ความฉิบหายล่มจม ไม่มีวันโผล่ตัวขึ้นจากทุกข์ที่โลกทั้งหลายกลัว ๆ กันได้เลย”

ท่านแสดงธรรมโดยถือเอาพระที่เป็นต้นเหตุอาราธนาท่าน ให้แสดงตามที่รู้ที่เห็นสิ่งต่าง ๆ แก่โลกอย่างไม่มีขอบเขตนั้น ปรากฏว่าท่านแสดงอย่างเผ็ดร้อนมาก ทั้งเนื้อธรรมก็ทรงรสชาติอย่างมหัศจรรย์ยากจะได้ยินได้ฟัง พระผู้เป็นต้นเหตุให้ท่านต้องแสดง ก็ไม่น่าจะผิดตามที่ท่านดุด่าขู่เข็ญ แต่อาจจะเป็นอุบายวิธีอาราธนาให้ท่านแสดงธรรมโดยทางอ้อมก็ได้

เท่าที่เคยสังเกตท่านตลอดมา ถ้าท่านแสดงธรรมตามปกติ ไม่มีอะไรเข้าไปสัมผัสหรือกระเทือนถึงใจหรือถึงธรรมท่าน ท่านชอบแสดงไปเรียบ ๆ แม้จะแสดงธรรมชั้นสูงก็ทำนองเดียวกัน ผู้ฟังรู้สึกจะขาดอะไร ๆ อยู่บ้างไม่จุใจ

แต่ถ้ามีรายใดรายหนึ่งก่อเหตุขึ้น เป็นเชิงเรียนถามปัญหาท่านหรือสนทนาธรรมกันเองต่อหน้าท่านแบบผิด ๆ ถูก ๆ พอให้ท่านรำคาญ หรือธรรมที่กำลังสนทนากันไปสะดุดใจท่านเข้าขณะนั้น นั่นแลเป็นขณะที่ธรรมภายในใจท่านเริ่มไหวตัวออกมาผิดปกติ และแสดงออกทางวาจาอย่างเผ็ดร้อนถึงใจ ทั้งท่านผู้แสดงและผู้ฟังอย่างเพลินใจ  และทุกครั้งที่ท่านแสดงแบบนี้ ต้องเป็นที่ซาบซึ้งดื่มด่ำเหลือที่จะพรรณนาให้ถูกต้องกับความรู้สึกได้

ผู้เขียนซึ่งเป็นผู้มีนิสัยหยาบจึงชอบฟังธรรมที่ท่านแสดงแบบนี้มากกว่าแบบอื่น ๆ เพราะเห็นว่าถูกกับจริตนิสัยที่หยาบของตนมาก ฉะนั้นท่านผู้เป็นต้นเหตุอาราธนาท่านด้วยอุบายวิธีต่าง ๆ ถึงกับท่านได้แสดงธรรมแบบเผ็ดร้อนออกมานั้น จึงเข้าใจว่าเป็นความแยบคายของแต่ละองค์จะหาอุบายแสดงออกตามสติปัญญาของตน ซึ่งไม่ควรจะผิดไปทีเดียว อาจมีเจตนาเพื่อประโยชน์แก่ตนแฝงอยู่กับคำอาราธนานั้นด้วย

ทั้งนี้เมื่อมาถึงวาระของผู้เขียนได้สดับธรรมจากท่านจริง ๆ แล้วโดยมากได้ฟังธรรมเด็ดเดี่ยวที่ให้เกิดความอาจหาญร่าเริง มักจะเกิดจากวิธีเรียนถามปัญหาซอกแซกกับท่านมากกว่าวิธีอื่น ๆ ขณะท่านอธิบายธรรมก็ถูกกับจุดที่ต้องการ ซึ่งผิดกับการแสดงแบบแกงหม้อใหญ่เป็นไหน ๆ ดังนั้นเมื่ออยู่กับท่านนาน ๆ ไป ก็ค่อยทราบวิธีแสวงหาธรรมกับท่านกว้างขวางออกไป ไม่รอคอยให้ท่านหยิบยื่นให้ถ่ายเดียว ยังพอมีอุบายขอร้องต่าง ๆ พอให้ท่านเมตตาบ้าง โดยมิใช่วันประชุมแสดงธรรมตามปกติ