#echo banner="" เกร็ดประวัติพระอาจารย์มั่น  ภูริทัตตเถระ โดยพระอาจารย์ทองคำ

เกร็ดประวัติ และ ปกิณกธรรมของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ๑

จากหนังสือ "รำลึกวันวาน"

หลวงตาทองคำ จารุวัณโณ

โพสท์ในลานธรรมเสวนา หมวดบันเทิงธรรม กระทู้ 19153  โดย: ภิเนษกรมณ์ 08 มี.. 49

ตอนที่                            

หลวงตาทองคำ จารุวัณโณ

ผม (คุณภิเนษกรมณ์ ผู้โพสท์) ได้มีโอกาสอ่านหนังสือ "รำลึกวันวาน" อันเป็นบันทึกของ หลวงตาทองคำ จารุวัณโณ เกี่ยวกับเกร็ดประวัติและปกิณกธรรมของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เห็นว่ามีหลายประเด็นน่าสนใจ ชวนให้คิด และอ่านสนุก อาจจะพอเหมาะสมกับกระดานนี้ จึงจะได้ทยอยนำมาพิมพ์ให้อ่านกัน โดยขอเป็นสรุปย่อบางส่วนนะครับ เพราะบางเรื่องท่านอธิบายไว้ยาวมาก

หลวงตาทองคำ จารุวัณโณ (หรือในอดีต คือ พระอาจารย์ทองคำ ญาโณภาโส) เป็นพระอุปัฏฐากผู้ใกล้ชิดหลวงปู่มั่น อยู่หลายปี ได้มีโอกาสอยู่กับท่านทั้งในช่วงที่หลวงปู่มั่นจำพรรษาอยู่ที่บ้านโคกและบ้านนามน อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร ระยะ พ.. 2486 -2487 จนเมื่อหลวงปู่มั่นย้ายมาอยู่ที่วัดป่าบ้านหนองผือ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร พ.. 2488-2492 ท่านก็ได้ติดตามมาอยู่ด้วย ได้เป็นผู้อุปัฏฐากหลวงปู่มั่น ร่วมกับพระอาจารย์วัน อุตตโม และหลวงปู่หล้า เขมปัตโต จนกระทั่งหลวงปู่มั่นมรณภาพ แม้ว่าท่านจะได้ลาสิกขาไปเมื่อครั้งพรรษาประมาณ 20 เศษ แต่เมื่ออายุได้ 70 ปี ได้กลับมาบวชอีกครั้ง เมื่อปี พ..2536 หลวงตาทองคำเป็นผู้ที่มีความจำแม่นยำ ได้เขียนบันทึกนี้ขึ้นเมื่อ พ.. 2541 ขณะอายุ 75 ปี เป็นที่น่าเสียดายว่าท่านมรณภาพไปเมื่อปีที่แล้วนี้เองครับ

ผมขอนำคำปรารภของหลวงตาทองคำ จารุวัณโณ ผู้เขียนมาลงให้อ่านก่อนนะครับ และขออธิบายขยายความนิดหนึ่งครับ คือ หลวงตาทองคำ จารุวัณโณ ได้เขียนบันทึกเรื่องทั้งหมดนี้ขึ้นจากคำอาราธนาของท่านเจ้าคุณพระราชบัณฑิต (พระมหาชัยทวี จิตตฺคุตฺโต) วัดปทุมวนาราม กรุงเทพมหานคร เมื่อปี พ.. 2541 หลวงตาทองคำท่านเขียนด้วยลายมือลงในสมุดจดได้หลายเล่มและเก็บไว้ที่ท่านเจ้าคุณพระราชบัณฑิตอยู่หลายปี ต่อมาท่านเจ้าคุณฯ และคณะผู้จัดพิมพ์เห็นว่าเป็นบันทึกที่มีคุณค่าสมควรนำมาพิมพ์เผยแพร่ จึงได้นำมาตีพิมพ์ เมื่อ ปี พ..2547 ในนามกองทุนแสงตะวัน วัดปทุมวนาราม และได้กราบเรียนขอให้หลวงตาทองคำท่านเขียนคำปรารภสำหรับการพิมพ์หนังสือเล่มนี้ขึ้น ดังต่อไปนี้

 

คำปรารภ

เมื่อ พ.. 2541 ข้าพเจ้าได้จำพรรษาที่วัดปทุมรังสี อำเภอนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นวัดที่ท่านเจ้าคุณพระมหาชัยทวี คุตตจิตโต ซึ่งข้าพเจ้ารักและเคารพไปสร้างไว้ พอออกพรรษาได้มาพักกับท่านที่วัดปทุมวนาราม กรุงเทพมหานคร บางโอกาสได้นั่งสนทนาธรรมกับท่านเจ้าคุณฯ ท่านได้กล่าวถึงท่านพระอาจารย์มั่น ในเรื่องเกี่ยวกับธรรมะบ้าง เกี่ยวกับบุคคล โบราณสถาน โบราณวัตถุบ้าง ท่านเจ้าคุณฯ สนใจเป็นพิเศษ ได้ขอให้ข้าพเจ้าเขียนขึ้นมา

ข้าพเจ้าสนใจเรื่องเกี่ยวกับสถานที่ เกี่ยวกับบุคคล วัตถุโบราณ สถานโบราณ ประวัติศาสตร์เป็นพิเศษ ได้ฟังแล้วจะไม่ลืม หลายปีก็ไม่ลืม พอไปฟังเทศน์ท่านพระอาจารย์มั่น จึงถือเป็นกรณีพิเศษ

บางเรื่องท่านฯ จะเล่าขณะที่ข้าพเจ้าได้ถวายการนวด หลังจากท่านเทศน์เสร็จแล้ว นอกจากข้าพเจ้าที่ได้ฟังแล้ว ก็มีท่านอาจารย์วิริยังค์ สิรินฺธโร ท่านอาจารย์วัน อุตฺตโม ท่านอาจารย์หล้า เขมปตฺโต ท่านก็พูดแต่ไม่มาก แต่สองรูปที่ท่านพูดให้ฟังมาก คือ ข้าพเจ้ากับท่านอาจารย์วิริยังค์ สิรินฺธโร

ส่วน ท่านอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ท่านเป็นเจ้าปัญญา ท่านพระอาจารย์ไม่ได้พูดโดยตรง จะพูดโดยอ้อม สลับมากับพระธรรมเทศนา ด้วยสติปัญญาของท่านสูงส่ง ท่านก็เลยนำมาเขียน แต่บางอย่างก็ผิดกันกับข้าพเจ้า บางอย่างก็ถูกกัน โดยเฉพาะเนื้อหาสาระสำคัญ จะผิดกันบ้างก็คงเป็นส่วนปลีกย่อย

บางเรื่องก็เกิดจากอัตถุปัตติเหตุ เช่น เรื่องพระพุทธเจ้าเป็นบรรพบุรุษของคนไทย จากสาเหตุกระดาษห่อธูปที่บริษัทผู้ผลิตเอารูปพระพุทธเจ้ามาเป็นเครื่องหมายการค้า ข้าพเจ้าได้เก็บนำไปถวายให้ท่านฯ ดู ท่านฯ ก็เลยเทศน์ให้ฟัง ขณะนั้นเพื่อนภิกษุยังไม่ขึ้นไปกุฏิท่าน ซึ่งเป็นการกลับตาลปัตร เพราะเรื่องนี้ไม่ปรากฏในประวัติศาสตร์ และคัมภีร์ในพระพุทธศาสนา ทำให้ผู้ฟังงงงวยสับสนขึ้น เมื่อเรื่องมีอย่างนี้ ขอให้อยู่ในดุลยพินิจ จงสื่อเอาแต่ผลประโยชน์เกื้อกูลเถิด

บางเรื่องก็ได้ฟังจากพระธรรมเทศนาบ้าง ฟังจากศิษย์รุ่นก่อนๆ เช่น ท่านพระอาจารย์เทสก์ เทสรํสี พระอาจารย์มนู พระอาจารย์มหาทองสุก สุจิตฺโต พระอาจารย์พรหม จิรปุญฺโญ บ้าง เป็นต้นจดจำมาปะติดปะต่อกัน จนมาเป็นหนังสือนี้ โดยมิได้คาดคะเน หรือเดาสุ่มเพิ่มเติม มีสิ่งบกพร่อง คือ ไม่ละเอียดถี่ถ้วน บางส่วนขาดหายไป เช่น คำอุปมาอุปไมยอันไพเราะเพราะพริ้ง ที่ท่านยกมาเปรียบเปรย แต่ก็คงจะหาเนื้อหาสาระได้บ้าง สำหรับเป็นแนวทางแห่งการศึกษาและการปฏิบัติ ของผู้ใคร่ในคุณธรรมอันพิเศษในพระพุทธศาสนานี้ ขอความผาสุกจงมีแด่ผู้อ่านทุกท่านเทอญ

 

ก่อนหน้าที่จะตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้ คณะผู้จัดพิมพ์ได้นำต้นฉบับบางเรื่องไปถวายให้หลวงปู่หลอด ปโมทิโต ได้พิจารณา เพราะท่านได้เคยอยู่จำพรรษาร่วมกันกับหลวงตาทองคำ และหลวงปู่มั่น ที่วัดป่าวิสุทธิธรรม บ้านโคก อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร เมื่อ ปี พ..2487 เมื่อหลวงปู่หลอดท่านอ่านแล้ว ได้เมตตาเขียนเถรัมภกถาให้ตีพิมพ์ในหนังสือ ดังต่อไปนี้

 

เถรัมภกถา

หลวงปู่หลอด ปโมทิโต

หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นจากความทรงจำของ พระอาจารย์ทองคำ จารุวณฺโณ (ญาโณภาโส) เกี่ยวกับเกร็ดประวัติ และปกิณกธรรมของท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทตฺโต ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจ น่าอ่าน น่าศึกษาอย่างยิ่ง อาตมาเองได้มีโอกาสอ่านข้อเขียนของพระอาจารย์ทองคำอยู่บ้าง และได้รวบรวมมาไว้ในหนังสือเล่มนี้ โดยเฉพาะเรื่องเทศน์ซ้ำเฒ่า ซึ่งเรียกว่าเป็นเทศน์กัณฑ์สุดท้ายของท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น ก็รู้สึกปลาบปลื้มใจ ที่พระอุปัฏฐากใกล้ชิดของท่านพระอาจารย์ใหญ่ และได้อยู่ในเหตุการณ์ได้นำออกมาเผยแพร่เรียกว่าหาฟังหาอ่านได้ยาก

สำหรับอาตมากับพระอาจารย์ทองคำนั้นรู้จักคุ้นเคยกัน ตั้งแต่สมัยที่อยู่กับท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น ที่เสนาสนะบ้านโคก พระอาจารย์ทองคำท่านไปอยู่ก่อนอาตมา และได้เป็นพระอุปัฏฐากท่านพระอาจารย์ใหญ่ผู้ใกล้ จนกระทั่งถึงวาระสุดท้าย ของท่านพระอาจารย์ใหญ่ที่วัดป่าสุทธาวาสนั้น แต่ภายหลังอาจเป็นด้วยวิบากกรรมของพระอาจารย์ทองคำยังไม่สิ้นกระมัง จึงต้องมีเหตุให้สึกสาลาเพศออกมามีครอบครัว แต่วาสนาในผ้ากาสาวพัสตร์ยังไม่สิ้นไปซะทีเดียว ราวปี พ.. 2536 ท่านจึงได้กลับมาบวชอีกครั้ง ณ พระอุโบสถวัดราชบพิธฯ โดยมีท่านเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุทธปาพจนบดีเป็นพระอุปัชฌาย์ และได้กลับมาทบทวนถึงเรื่องราวที่ผ่านมา สมัยที่อยู่กับท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น และได้รจนาตามความสามารถที่จะนึกจะจำนำมาเขียนได้

ดังนั้นเรื่องราวและข้อมูลอาจจะเป็นไปตามอายุขัยของท่าน ในขณะที่เริ่มเขียน เริ่มรจนา ก็คงจะราวๆ 70 กว่าปีเข้าไปแล้วอายุ เรื่องราวเนื้อหาบางเรื่อง ก็อาจสามารถทำให้ผุ้อ่านได้เก็บตกจากประวัติของท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น ที่ครูบาอาจารย์ผู้ทรงคุณผู้ทรงธรรมได้เคยรจนาไว้แล้วก่อนหน้านี้ไม่มากก็น้อย ด้วยอาตมาหวังว่าหนังสือเล่มนี้คงจักเป็นประโยชน์และช่วยเสริมทัศนะของท่านผู้อ่านทั้งหลาย ขอให้ท่านผู้อ่านหนังสือเล่มนี้ ได้อ่านอย่างมีวิจารณญาณ คือ พิจารณาธรรมอันนี้ให้เกิดประโยชน์ให้ถี่ถ้วน และให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ รวมทั้งทำความเข้าใจให้มากๆ

สุดท้ายนี้ อาตมาขออนุโมทนาในกุศลเจตนาของคณะผู้จัดทำและผู้ที่บริจาคปัจจัยพิมพ์หนังสือเล่มนี้ทุกๆ ท่านเทอญ

หลวงปู่หลอด ปโมทิโต

วัดสิริกมลาวาส กรุงเทพมหานคร

 

อานุภาพการสวดมนต์และเสียงสาธุการ

สมัยที่ท่านพระอาจารย์มั่นพักอยู่บนดอยปะหร่อง (เชียงใหม่) กับพระอาจารย์มนู ตอนเช้าเที่ยวบิณฑบาต พอให้พรเสร็จ ท่านได้สอนให้ชาวบ้านกล่าวสาธุพร้อมกันด้วยเสียงสูง ท่าน (พระอาจารย์มั่น) เล่าเป็นเชิงตลกว่า มือทั้งสองข้างของเขาชูขึ้นข้างบนเหมือนบั้งไฟจะขึ้นสู่ท้องฟ้า ว่างั้น

วันหนึ่ง ท่านนั่งพักในส่วนที่ทำเป็นที่พักกลางวัน มีเทพพวกหนึ่งมาจากเขาจิตรกูฏ มาถามท่านว่า

"เสียงสาธุ สาธุนั้น สาธุอะไร สะเทือนสะท้านทุกวัน พวกเทพทั้งหลายได้ฟัง มีความสุขไปตามๆ กัน"

ท่านมาพิจารณาว่า เสียงอะไร ที่ไหน จึงระลึกได้ว่า เสียงสาธุการของชาวบ้านตอนถวายทานนั่นเอง

พอรับทราบแล้วพวกเทพก็กล่าวว่า "เขาก็สาธุการด้วย" แล้วทำประทักษิณเวียนขวาลากลับไป ส่วนมากพวกเทพเขาจะทำอย่างนั้น

ท่านพระอาจารย์มั่น เลยมาพิจารณาต่อได้ความว่า

พุทธมนต์นั้นใครสวดก็ตาม จะเป็นกิจวัตรของพระสงฆ์เช้า เย็น หรือชาวพุทธทุกคน

สวดมนต์ระลึกในใจ  มีอานุภาพแผ่ไปได้หมื่นจักรวาล

สวดออกเสียงพอฟังได้  มีอานุภาพแผ่ไปได้แสนจักรวาล

สวดมนต์เช้าเย็นธรรมดา มีอานุภาพแผ่ไปได้แสนโกฏิจักรวาล

สวดเต็มเสียงสุดกู่ มีอานุภาพแผ่ไปได้อนันตจักรวาล

แม้สัตว์ที่อาศัยอยู่ในสามภพ และที่สุดอเวจีมหานรก ยังได้รับความสุข เมื่อแว่วเสียงพุทธมนต์ผ่านลงไปถึงชั่วขณะชั่วครู่หนึ่ง ดีกว่า หาความสุขไม่ได้เลยตลอดกาล

นี้คืออานิสงส์ของพระพุทธมนต์ ท่านพระอาจารย์มั่นว่าอย่างนี้

ครูและศิษย์สนทนาธรรม

พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี

เมื่อครั้งที่ท่านพระอาจารย์มั่นอาพาธหนัก แต่ลุกนั่งเดินไปมาในระยะใกล้ได้ และยังสนทนาธรรมตามปกติ เวลาบ่ายวันหนึ่ง มีพระอาจารย์เทสก์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี) ท่านวัน (พระอาจารย์วัน อุตตโม) และผู้เล่า (หลวงตาทองคำ) รวมทั้งท่านพระอาจารย์มั่น เป็น 4 รูป

พระอาจารย์เทสก์ เรียนถามท่านฯ (พระอาจารย์มั่น) ว่า

"เวลาครูบาอาจารย์อาพาธ พิจารณาธรรมอะไร สนทนาในฐานะศิษย์เคารพครูนะ อย่าเข้าใจว่าไล่ภูมิ"

ท่านฯ ตอบว่า "พิจารณาไปเท่าไร ก็เห็นแต่ภพ มีแต่ภพ ไม่มีที่สิ้นสุด"

พระอาจารย์เทสก์ย้อนถามว่า "เมื่อเห็นแต่ภพ ครูบาอาจารย์พิจารณาเพื่ออะไร"

ท่านฯ ตอบว่า

"เพื่อให้รู้ และเราก็รู้มานานแล้วไม่ได้สงสัย เหตุที่พิจารณา ก็เพื่อให้ท่าน (หมายถึงพระอาจารย์เทสก์) และคนอื่นๆ (หมายถึง สานุศิษย์และสัตว์โลกทั่วไป) รู้ว่า คน สัตว์ ที่อยู่ในภพ หรือผู้ปฏิบัติ จะมีทั้งสนุก ตื่นเต้น เศร้าสลดสังเวช และเห็นธรรม อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คนจะรู้ว่าตนอยู่ในภพนั้นมีน้อยมาก เพราะอวิชชาปิดบังไว้ เมื่อไม่รู้ว่าตนอยู่ในภพ ก็ไม่รู้พระนิพพาน เมื่อเรารู้ว่าตนอยู่ในภพแล้ว จะอยู่ในภพทำไม ก็อยู่ในพระนิพพานเท่านั้นเอง"

พระอาจารย์เทสก์ก็บอกท่านฯ ว่า "กระผมก็พิจารณาอย่างพระอาจารย์ว่า"

ต่างก็ชื่นชมกันในระหว่างครูและศิษย์

พระแก้วมรกต

พระอาจารย์อุ่น อุตตโม

เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อครั้งท่านพระอาจารย์มั่นพักที่วัดป่าบ้านหนองผือ พระอุปัชฌาย์อุ่น (พระครูบริบาลสังฆกิจ (อุ่น อุตตโม) วัดอุดมรัตนาราม อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร) ได้ไปกราบนมัสการฟังเทศน์ และได้นำรูปพระแก้วมรกตขนาด 20 นิ้ว เป็นภาพพิมพ์ใส่กรอบไปถวายท่านพระอาจารย์ แต่ดูท่านจะลืมทำความสะอาด เพราะมีฝุ่นจับอยู่ ท่านพระอาจารย์ก็น้อมรับด้วยความเคารพ

หลังจากท่านอุปัชฌาย์อุ่นลาลงกุฏิไปแล้ว ท่านพระอาจารย์ได้ทำความสะอาด โดยนำผ้าสรงน้ำของท่านฯ มาเช็ดถู ผู้เล่า (หลวงตาทองคำ-ภิเนษกรมณ์) เอาผ้าเช็ดพื้นเข้าไปช่วยทำความสะอาดด้วย เพราะเห็นว่าผ้ายังสะอาดอยู่ ท่านหันมาเห็นเข้า พูดว่า

"อะไรกัน นั่นรูปพระพุทธเจ้าแท้ๆ ยังเอาผ้าเช็ดพื้นมาถูได้"

ผู้เล่าสะดุ้งไปทั้งตัว เพราะความโง่เขลาปัญญาอ่อน ท่านฯ ก็เลยทำความสะอาดเอง

เสร็จแล้วก็มีเพื่อนภิกษุทยอยกันขึ้นไป รวมทั้งท่านอาจารย์วิริยังค์ด้วย ท่านเลยเทศน์ถึงความมหัศจรรย์ของพระแก้วมรกต ท่านว่า

"พระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่ในประเทศใด ประเทศนั้นจะไม่ว่างจากพระอริยบุคคล พระอริยบุคคลมีอยู่ในประเทศใด ประเทศนั้นจะไม่ฉิบหายด้วยภัยแห่งสงคราม"

การเสด็จไปสู่สถานที่ต่างๆ ของพระแก้วมรกตนั้นมีปัจจัย 3 อย่าง คือ เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนา เกิดกลียุคในประเทศนั้น และด้วยความรัก

และท่านยังบอกอีกว่า วัดพระแก้วนี้เป็นวัดพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะ พระสงฆ์อยู่ไม่ได้ เพราะพระสงฆ์มาจากตระกูลต่างๆ ทั้งหยาบทั้งละเอียด ไม่รู้พุทธอัธยาศัย พุทธธรรมเนียม เพราะพระพุทธเจ้าเป็นทั้งกษัตริย์ และผู้สุขุมาลชาติ เมื่อพระสงฆ์ไม่รู้พุทธธรรมเนียม ถ้าไปอยู่ก็มีแต่บาปกินหัว

ผู้รู้ทั้งพุทธอัธยาศัยและพุทธธรรมเนียมแล้ว มีพระมหากษัตริย์องค์เดียวเท่านั้น ครั้งพุทธกาลก็มีพระเจ้าพิมพิสารเท่านั้นทรงรู้ แต่จอมไทย คือ พระมหากษัตริย์ทรงรู้มาแล้ว ได้ทรงสร้างวัดถวายจำเพาะพระแก้วเท่านั้น

พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์เป็นหน่อเนื้อพุทธางกูร คือ จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในกาลข้างหน้า ต่างแต่วาสนาบารมีมากน้อยต่างกันเท่านั้น ท่านจึงทรงรู้พุทธอัธยาศัยเป็นตัวแทนพระพุทธเจ้า

ผู้ใดย่างกรายเข้าสู่วัดพระแก้วเป็นบุญทุกขณะที่อยู่ในบริเวณวัด แม้แต่ชาวต่างชาติ มีโอกาสเข้าไปในบริเวณวัดพระแก้ว จะด้วยศรัทธาหรือไม่ก็ตาม ก็ได้เข้ามาสู่วงศ์พระพุทธศาสนาโดยปริยาย หรือจะบังเอิญก็แล้วแต่ สามารถเป็นนิสัยให้เข้ามาได้ ต่อไปจะสามารถมาเกิดเป็นคนไทย สืบต่อบุญบารมีสำเร็จมรรคผลได้

พบนาคราช

พระมหาทองสุก สุจิตฺโต

เมื่อครั้งอยู่ที่เชียงใหม่ ท่านพระอาจารย์จำพรรษาอยู่บนเขากับพวกมูเซอ มีพระมหาทองสุกอยู่เป็นเพื่อน ใกล้ที่พักเป็นลำธาร มีน้ำไหลตลอดปี อาศัยน้ำที่นั้นใช้อุปโภคและบริโภค มีนาคราชตนหนึ่ง ชื่อว่า สุวรรณนาคราช อาศัยอยู่ที่ลำธารนั้น พร้อมด้วยบริวาร นาคราชตนนี้เคยเป็นน้องชายท่านพระอาจารย์มั่นมาหลายภพหลายชาติ ด้วยความสับสนแห่งภพจึงมาเกิดเป็นนาคราช เขารักเคารพและให้การอารักขาเป็นอย่างดี เวลาเดินจงกรมจะมาอารักขาตลอด จนกว่าจะเลิกเดิน

หลายวันต่อมา นาคนั้นหายไป เกิดฝนไม่ตกร้อนอบอ้าว ข้าวไร่เริ่มขาดน้ำไม่งอกงาม เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นประมาณ 15-16 วัน จึงได้เห็นหน้านาคนั้น

ท่านพระอาจารย์ถามว่า "หายไปไหน"

นาคราชตอบ "ไปขัดตาทัพอยู่ปากทาง (ลำธาร) ลงสู่แม่น้ำปิง"

ท่านพระอาจารย์ "ทำไม"

นาคราช "มีนาคอันธพาลตนหนึ่งอาศัยอยู่แถวนั้นจะเข้ามา เลยไม่มีโอกาสแต่งฝน มัวแต่ไปขัดตาทัพอยู่"

ท่านพระอาจารย์ "ให้เขาเข้ามาเป็นไร เพราะเป็นนาคเหมือนกัน"

นาคราช "ไม่ได้ เข้ามาแล้วมารังแกข่มเหงเบียดเบียนบริวาร"

ท่านพระอาจารย์ "เป็นไปได้หรือ"

นาคราช "ก็เหมือนมนุษย์และสัตว์ทั่วๆ ไปนั่นแหละ พวกอันธพาลก็มักจะล้ำแดนของกันและกัน เราต้องต่อสู้ป้องกันตัว"

ท่านฯ จึงรู้ว่า อันนี้เป็นลักษณะของสัตว์ ผู้มีอวิชชาเป็นตัวเหตุ โลกจึงวุ่นวาย

ช่วงเย็นฝนตกอย่างหนักจนถึงสว่าง น้ำในลำธารเต็มไปหมด ข้ามไปบิณฑบาตไม่ได้ พระมหาทองสุกคิดได้ จึงเอาไม้ไผ่มาปักเรียงกัน เอาเถาวัลย์ที่ชาวบ้านนำมาทำกุฏิมาผูกกับต้นไม้ฝั่งนี้ จับปลายข้างหนึ่ง ลอยตัวข้ามน้ำไปผูกไว้กับอีกต้นฝั่งโน้น แล้วกลับมานำบริขารของท่านพระอาจารย์และตนเองข้ามไปฝั่งโน้น แล้วกลับมาพาท่านพระอาจารย์ประคองไปตามราวไม้ไผ่ ข้ามฝั่งทั้งขาไปและขากลับ แปลกแต่จริง ขาไปผูกเถาวัลย์ ท่านมหาจับไปตามราว และขากลับลอยคอไป พอตอนนำท่านพระอาจารย์ไปและกลับ ปรากฏว่าเหมือนเดินเหยียบไปบนแผ่นหิน มีน้ำประมาณแค่เข่าเท่านั้น

ท่านมหาทองสุกเล่าว่า "เราไม่ได้คิดอะไรมาก คิดแต่ความปลอดภัยเท่านั้น"

ตกตอนเย็น เมื่อเห็นนาคราชมาอารักขา ท่านอาจารย์ถามว่า "ทำไมให้ฝนตกมากนัก"

นาคราชว่า "ห้ามเขาไม่ฟัง เพราะละเลยมานาน"

ท่านอาจารย์ว่า "ทำให้เราลำบาก"

นาคราช "ท่านก็เดินบนหลังข้าพเจ้าไปสบายอยู่นี่"

ท่านฯ ก็บอกว่า "เราก็ไม่ว่าพวกท่านดอก บ่นไปเฉยๆ อย่างนั้นล่ะ"

การถ่ายรูปท่านพระอาจารย์มั่น

พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

รูปท่านพระอาจารย์ที่เราเห็นนั้น จะเป็นรูปที่ท่านตั้งใจให้ถ่ายทั้งหมด ถ้าท่านไม่ให้ ก็ไม่มีใครถ่ายติด นี่เป็นเรื่องจริง มีอยู่ครั้งหนึ่ง ขุนศรีปทุมวงศ์ มาอุปัฏฐากท่านพระอาจารย์ เที่ยวไปฟังเทศน์ไปอุปการะด้วยปัจจัย 4 เมื่อท่านฯ อาพาธ ขุนศรีฯ ก็ส่งหมอไป หมอฉีดยาให้ท่าน 2 เข็ม และให้ยาไว้ฉันด้วย หมอของขุนศรีฯ พักอยู่ที่นั่นถึง 3 วัน อาการดีขึ้น

ท่านก็บอกว่า "พอแล้วนะ ไม่ต้องมาฉีดอีก อาการหายแล้ว"

พอขึ้นไปครั้งที่สอง หมอเอาช่างถ่ายภาพไปด้วย กราบนมัสการท่านว่า "พวกกระผมขออนุญาตถ่ายภาพท่านอาจารย์ไว้เป็นที่เคารพบูชา"

ท่านฯ ว่า "ไม่ได้ดอกโยมหมอ อาตมาไม่ให้ เพราะโยมหมอถ่ายภาพของอาตมาไป เพื่อจะทำการซื้อขาย หาอยู่หากิน กลัวโยมจะเป็นบาป อาตมาไม่ให้"

เขาก็กราบอ้อนวอน ท่านฯ บอกว่า "เราเป็นคน รู้จักภาษา ไม่ให้ ไม่ให้ เข้าใจไหมล่ะ"

เขาก็เลยเลิกไม่อ้อนวอนอีก

พอเช้ามา ท่านไปบิณฑบาต เขาก็ไปตั้งกล้องในที่ลับ กล้องขาหยั่งสามขา ถ่ายเสร็จก็เอาม้วนนี้ออกไป หลังจากท่านบิณฑบาต ท่านนั่งให้พร ถ่ายม้วนที่สองไปอีก มาม้วนที่สาม ม้วนที่สี่ จนสี่ม้วนแล้วก็ไปอีก นี่ครั้งที่หนึ่ง ครั้งที่สองเอาอีกสี่ท่า ครั้งที่สามเอาอีกสี่ท่า กลับไปล้างอยู่ที่พังโคน ไม่มีอะไรติดเลย

สิ่งที่จะปรากฏไปแล้วอุจาดตา ท่านเจ็บป่วย ท่านล้มหายตายจากก็ดี มารยาทของความล้มหายตายจากก็ถ่ายไม่ติด (ขณะที่หลวงปู่มั่นกำลังจะมรณภาพและหลังมรณภาพ มีภิกษุบางรูปใช้กล้องถ่ายภาพท่านไว้ แต่ไม่ติดเลยสักรูป -ภิเนษกรมณ์) ทำไมท่านจึงไม่ให้ติด เพราะว่าการเห็นรูปภาพเช่นนั้น จิตของบุคคลผู้ที่เห็นอาจจะเป็นกุศลหรืออกุศล และเพื่อรักษาจิตผู้พบเห็น ไม่ให้เป็นอกุศล ท่านจึงอธิษฐานไว้ไม่ให้ติด

อย่างรูปยืนที่เราเห็นนั้น คงจะเป็นรูปที่ท่านต้องการให้ถ่าย จึงห่มให้เป็นกิจลักษณะ คล้ายกำลังเดินจงกรม ปกติเวลาท่านเดินจงกรม ถ้าเป็นฤดูหนาว ก็จะคลุมผ้ากันหนาว ถ้าเป็นฤดูร้อน ท่านก็จะใส่แต่ผ้าอังสะ ทำแบบสบายๆ จังหวะในการเดินก็ปกติ ไม่เร็ว ไม่ช้า ให้เป็นปกติ ก้าวปกติก้าวขนาดไหน ก็ให้ก้าวขนาดนั้นพอประชิดทางจงกรม จะหมุนกลับจากซ้ายไปขวา ทิศที่จะเดินจงกรม มีอยู่ 2 ทิศ คือ ตะวันตกกับตะวันออก หรืออีสานกับหรดี (คือ ตะวันออกเฉียงเหนือกับตะวันตกเฉียงใต้-ภิเนษกรมณ์) นอกนั้นเดินขวางตะวัน ถ้าใครทำ ท่านฯ จะดุ ท่านว่า มันไม่ถูก เดินไปจนตาย จะให้จิตรวม มันก็ไม่รวมหรอก

พยากรณ์อายุ

เรื่องการต่ออายุจาก 60 ปี มาเป็น 80 ปี ท่าน (พระอาจารย์มั่น-ภิเนษกรมณ์) ได้เล่าไว้หลายสถานที่ หลายโอกาส หลายวาระ ปีนั้นท่านจำพรรษาที่อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ อยู่ที่ราบไม่ใช่ภูเขา กับพระมหาทองสุก สุจิตโต ปีนั้นพอเริ่มเข้าพรรษา ท่านมีอาการเจ็บป่วย พระผู้พยาบาลก็พระมหาทองสุกนั้นล่ะ ท่านมีความรู้ทางยาด้วย ท่านพระอาจารย์กำหนดรู้แล้วว่า ท่านถึงอายุขัย จะสิ้นชีพปีนี้แน่ แต่มีข้อแม้ว่า ถ้าท่านมีอิทธิบาทอันเจริญดีแล้ว สามารถอยู่ต่อไปได้อีก 20 ปี เป็น 80 ปี เท่าพระพุทธเจ้า  ท่านจึงมาพิจารณาดูว่า อยู่กับตายอย่างไหนมีค่ามาก รู้ว่าอยู่มีค่ามาก เพราะสานุศิษย์ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิตหวังเฉพาะให้ท่านอยู่ แต่คำว่าอิทธิบาทอันเจริญดีแล้ว เจริญขึ้นขั้นไหน อย่างไร ธรรมทั้งหลายที่ปรากฏแล้ว ทั้งโลกิยธรรมและโลกุตรธรรม นำมาพิจารณา ก็ไม่ขัดข้อง ไม่สงสัย แต่ก็ยังไม่ได้ความ อาการป่วยจะดีขึ้นก็ไม่ใช่ จะหนักก็ไม่เชิง แต่เที่ยวบิณฑบาตได้ทุกวัน อาการที่สำคัญ คือ คอมองซ้ายมองขวายาก เดือนที่ 2 ผ่านไป อาการดีขึ้น และได้ความรู้เกิดขึ้น ซึ่งไม่เคยได้ยินได้ฟังว่า

นาญฺญตฺตร โพชฺฌาตปสา นาญฺญตตร ปฏินิสฺสคฺคา นาญฺญตฺตร อินฺทริยสํวรา

แปลได้ความว่า อิทธิบาท 4 อันอบรมดีแล้ว ก็คือ การพิจารณาโพชฌงค์ 7 นี้เอง

ท่านฯ อธิบายว่า เจริญให้มาก ทำให้มาก ก็เป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง ความตรัสรู้ พร้อมความดับสนิท (หมายถึงอวัยวะที่ชำรุดในร่างกาย แล้วเปลี่ยนอะไหล่ใหม่ด้วยฌาน)

แล้วท่านยังอุปมาเปรียบเทียบว่า เมื่อพระมหาโมคคัลลาน์และพระมหากัสสปะได้ฟังพระดำรัสนี้ ก็หายจากอาพาธ แม้ในกาลบางคราวพระพุทธองค์ก็ยังให้พระสาวกสวดถวาย แต่คำว่า ผู้มีอิทธิบาท 4 อันเจริญดีแล้ว ขอเล่าเท่าที่จำได้ ท่านฯ ว่า

"เราพิจารณาปุพพภาคปฏิปทา ตั้งแต่จิตเรารวมเป็นสมาธิโดยลำดับ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน แล้วเข้าอรูปฌานต่อเป็นอากาสาฯ ลฯ จนถึง เนวฺสญฺญานาสญฺญายตน หน่อยหนึ่งก็ไม่มีแล้ว ถอยจิตออกมาอยู่ในสญฺญาเวทยิตฺนิโรธ อุปมาเหมือนหนทาง 3 แพร่ง ท่านว่า จิตเราอยู่ในท่ามกลางทาง 3 แพร่ง แพร่งหนึ่งไปอรูปพรหมโลก แพร่งหนึ่งไปรูปพรหมโลก คือ จตุตถฌาน อีกแพร่งหนึ่งเข้าสู่พระนิพพาน จิตอยู่ขั้นนี้ และเราได้อธิษฐานว่า เราจะมีชีวิตอยู่ต่อไป แล้วก็ถอยจิตออกจากทาง 3 แพร่งนั้น มาพักที่จตุตถฌาน จะพักนานเท่าไรก็แล้วแต่ พอมีกำลังแล้วจิตจะถอยออกสู่ ตติยฯ ทุติยฯ พอมาถึงปฐมฌาน ก็อธิษฐานรู้ว่า เราจะอยู่ไปอีกเท่านั้นปี เท่านี้ปี"

กว่าจะมาถึงขั้นนี้ ก็เป็นเวลาเดือนสุดท้ายแห่งการจำพรรษาแล้ว

ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่พระอานนท์ว่า ดูก่อนอานนท์ ผู้ที่มีอิทธิบาทอันเจริญดีแล้ว สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้เป็นกัปป์หรือเกินกว่า เป็นความจริง

ท่านฯ ว่า ท้าวสักกะแก่กลายเป็นท้าวสักกะหนุ่มก็ด้วยอิทธิบาทนี้ แต่ท้าวสักกะยังมีกิเลส ไม่ได้ฌานด้วยตัวเอง แต่ด้วยพระพุทธานุภาพ ทรงนำกระแสพระทัยของท้าวสักกะ ให้ผ่านขั้นตอนจนเป็นอิทธิบาทอันเจริญดีแล้ว ที่ถ้ำอินทสาร ท้าวสักกะแก่จึงเป็นท้าวสักกะหนุ่มได้ ด้วยพระพุทธานุภาพดังนี้

อัฐบริขารในอาคารพิพิธภัณฑ์

อัฐบริขารในอาคารพิพิธภัณฑ์

เราทราบกันมาแล้วว่า ท่านพระอาจารย์มั่นทรงผ้า 3 ผืนเป็นวัตร ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร แต่ 3 ปีสุดท้าย ท่านทรงผ้าคหปติจีวร โดยการนำมาทอดกฐินของ นายวัน นางทองสุก คมนามูล ชาวนครราชสีมา นำสนับสนุนโดยพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม ศิษย์องค์สำคัญรูปหนึ่งของท่าน แต่ท่านพระอาจารย์ได้รับเป็นผ้าป่าทั้งหมด

อัฐบริขารในอาคารพิพิธภัณฑ์ (อยู่ที่วัดป่าสุทธาวาส สกลนคร-ภิเนษกรมณ์) ที่ท่านทั้งหลายเห็นนั้น เป็นผ้าคหปติจีวรปีที่ 2 ที่ท่านทรง ผู้เล่า (หลวงตาทองคำ-ภิเนษกรมณ์) ได้เก็บรักษาไว้ ส่วนผ้าคหปติจีวรปีสุดท้าย ห่มถวายไปพร้อมกับร่างของท่าน

ส่วนบาตรใบแท้ พระอาจารย์มหาทองสุก ขอถวายพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) ส่วนใบที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ เป็นบาตรกฐินปีสุดท้าย ซึ่งท่านพระอาจารย์ไม่ได้ใช้ เพราะท่านอาพาธหนักแล้ว (ข้อนี้ตรงกับความเห็นของหลวงปู่หล้า เขมปัตโต ดังที่ปรากฏอยู่ในหนังสือประวัติหลวงปู่หล้า ซึ่งท่านได้กล่าวว่า บาตรในพิพิธภัณฑ์ไม่ใช่บาตรใบจริง ที่ท่านพระอาจารย์มั่นเคยใช้-ภิเนษกรมณ์)

หลังจากเก็บรวบรวมอัฐบริขารเรียบร้อยแล้ว ผู้เล่าเลยสั่งต่อตู้ เงินไม่พอ ได้คุณวิเศษ ช่วยจนสำเร็จเรียบร้อย แล้วก็นำมาตั้งไว้ใกล้หีบศพท่าน

ท่านพระอาจารย์ เป็นผู้เคร่งในเรื่องบริขาร มักน้อยจริงๆ บริขารแท้จริงให้ 2 คนถือขึ้นไปก็หมด ที่เห็นอยู่ในพิพิธภัณฑ์นั้น คือ อัฐบริขารที่สานุศิษย์และบุคคลผู้เลื่อมใสได้รับไปจากท่าน พอมีอาคารพิพิธภัณฑ์เกิดขึ้น ท่านเหล่านั้นได้นำมามอบให้ เพื่อให้ศาสนิกชนและอนุชนรุ่นหลังได้ศึกษา

ผีเฝ้าหวงกระดูก

เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อประมาณปี พ.. 2490 ขณะที่ผู้เล่าอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่นที่วัดป่าบ้านหนองผือ วันหนึ่งนายฟอง ชินบุตร โยมผู้นี้มาวัดประจำ เธอได้แบกไหกระเทียมชนิดปากบาน มีฝาครอบ ขนาดใหญ่เกือบเท่าขวดโหล ข้างในบรรจุกระดูกนำมาถวายท่านพระอาจารย์

โยมฟองเล่าว่า เจ้าของไหเขาให้นำมาถวาย เป็นไหใส่กระดูกคน ดูเหมือนจะเป็นกระดูกเด็ก แต่กระดูกนั้นนำไปฝังดินแล้ว ปากไหบิ่นเพราะถูกผานไถขูดเอา โยมฟองได้เล่าถึงเหตุที่ได้ไหนี้มาว่า

นายกู่ พิมพบุตร ผู้เป็นเจ้าของนา ตั้งใจจะไปไถนาตอนเช้าตรู่ ตื่นขึ้นมาเห็นยังมืดอยู่ จึงนอนต่อ พอเคลิ้มหลับไปก็ฝันเห็นว่า มีชายคนหนึ่งเดินเข้ามาหา บอกว่า

"ให้ไปเอาไหกระดูก 2 ใบ ไปถวายท่านพระอาจารย์มั่นให้ด้วย"

นายกู่ถามว่า "ไหอยู่ที่ไหน"

ชายคนนั้นตอบว่า "ไถนาไปสัก 3 รอบก็จะเห็น"

ถามว่า "ชื่ออะไร"

ตอบว่า "ชื่อตาเชียงจวง มาเฝ้ากระดูกลูกอยู่ที่นี่ได้ 500 ปีแล้ว วันหนึ่งได้ยินเสียงท่านพระอาจารย์มั่นเทศน์แว่วๆ มาในเวลากลางคืนว่า เป็นหมามานั่งเฝ้าหวงกระดูก แล้วก็กัดกัน ส่วนเนื้อล่ำๆ อร่อยๆ มนุษย์เอาไปกินหมดแล้ว มัวแต่มานั่งเฝ้าห่วงเฝ้าหวงกระดูกตนเอง กระดูกลูกเมีย ตายแล้วไปเป็นผีเปรต ต้องมานั่งเฝ้ากระดูกถึง 500 ปีแล้ว จึงได้สติระลึกได้ ทั้งๆ ที่อดๆ อยากๆ ผอมโซ ก็ยังพอใจเฝ้าหวง เฝ้าห่วงกระดูกลูกเมียอยู่ กว่าจะรู้ตัวก็เสียเวลาไป 500 ปีแล้ว"

นี่แหละ เพราะความรัก ความห่วงหาอาลัย เป็นเหตุพาให้ไปเกิดเป็นผีเป็นเปรต เฝ้าสิ่งที่รักและอาลัย จนลืมวันลืมเวลา

 ตอนที่