#echo banner="" อัตตประวัติ หลวงปู่หล้า เขมปัตโต 5

อัตตโนประวัติหลวงปู่หล้า เขมปัตโต ๐๕

วัดบรรพตคีรี ( ภูจ้อก้อ ) อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร

ชีวิตพระป่า

สมัยนั้นญาติโยมเข้าไปหาพระ ต้องการธรรมธรรมะกุศลผลบุญจริง ๆ ไม่มีมายาสาไถยไปทางอบายมุข ผู้หวังอบายมุขไม่กล้าเข้าหาพระ(ด้วย)ซ้ำ ทุกวันนี้สารพัดแล้ว ผู้เป็นหัวหน้าสำนักก็ตับจะแตกตาย แต่ผู้หวังอุทิศต่อมรรค ผล นิพพาน มีอยู่ทั้งเพศฆราวาสทั้งเพศสมณะปะปนกันอยู่ พอประทัง จึงพอหายใจได้บ้าง ถึงอย่างนั้นก็ยังจะกลายเป็นหลุมถ่านเพลิงไปทั่วทั้งโลก

อุปสรรคเป็นยาวิเศษ เป็นตัวเหตุตัวผลให้ปวงปราชญ์ไม่สงสัยในคำที่ว่า โลก ๆ ทั้งโลกอดีต ทั้งโลกอนาคต ทั้งโลกปัจจุบันด้วย เป็นการช่วยเสริมให้ระอา ให้หน่าย ให้คลาย ให้หลุดพ้นจากความหลงความเข้าใจผิดของตน ๆ ที่เคยหลงเคยเข้าใจผิดมาเป็นเวลาช้านมนาน

เจตนาและสติปัญญาย่อมโอนไป เอนไป น้อมไปในธรรมอันไม่ตาย ศรัทธา เชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ ปัญญารอบรู้สิ่งที่ควรรู้ เช่น รู้ว่าสังขารเป็นทุกข์อย่างยิ่งเป็นต้น

ศรัทธาและปัญญาส่วนนี้ก็รวมพลเป็นมิตรกัน พร้อมทั้ง วิริยะ สติ สมาธิ เชือกที่ผูกมัดรัดรึงไว้ เส้นหลง ๆ ใหล ๆ หลำ ๆ ก็ขาดกระเด็น ผูกไว้ไม่อยู่เลย

ธรรมอันนี้เป็นของจริงเป็นอริยสัจธรรมฝ่ายอริยมรรค อริยนิโรธสัจจะ ไม่ใช่ของปุถุชนอันยังหนาแน่นด้วยกิเลส

ขณะที่พักอยู่บ้านโพนงาม ป่าแกมดงนั้น เขามาทอดบังสุกุลตามประสาของเขา เมื่อรับของเขาโดยเคารพตามมารยาทวิธีของกองบังสุกุล ให้พรเขาย่อ ๆ แล้วได้อธิบายให้รู้จักความหมายว่า

“อาตมารับโดยเคารพ แล้วจะถวายต่อโดยเคารพ ขอให้ญาติโยมพลิกใจอนุโมทนาเป็นบุญต่อสองครั้ง คือให้เอาไปถวายพระอาจารย์มหาผ่านที่วัดของพวกเรานี้เทอญ อาตมาจะเอาไว้เพียงเทียนไขเล็กน้อยและไม้ขีดไฟสามกลักเท่านั้น นัยที่นี้มิได้หวัง ว่าจะอวดมักน้อย อวดสันโดษอะไรดอก เพราะเหตุว่า บริขารผ้าท่อนผ่อนสไบอะไร ๆ ก็บริบูรณ์มาจากหลวงปู่มั่น และอาจารย์มหาบัวแล้ว และจะพะรุงพะรังในการเดินทาง ส่วนมูลค่าก็ไม่จำเป็นต้องตามส่ง เพราะพวกเราเป็นบ้านป่า คมนาคมไม่สะดวก ขึ้นเขาลงห้วย การไป ๆ มา ๆ ก็ด้วยฝีเท้าขลุกขลัก กว่าจะถึงแต่ละบ้าน ก็กินเวลาครึ่งวันหรือตั้งวัน ๆ มูลค่านี้จงเอาไปช่วยรั้ววัดของพระอาจารย์มหาผ่านโดยเคารพเสียเถิดโยมเอ๋ย”

เมื่อปรารภกันอันมีเหตุผลพอแล้ว ก็หมดปัญหากันและกัน ไปโดยสุภาพเรียบร้อยดี แล้วก็พักวิเวกอยู่ที่นั้นต่อไป เวลาของวันและชีวาก็ล่วงไปได้ ๒๘ วัน จะย่างเข้าครบเดือน ก็ลาท่านอาจารย์มหาผ่านและญาติโยมจะไปถ้ำพระเวส

ท่านเหล่านั้นไม่อยากจะให้ไปง่าย เพราะอยากจะให้ผีที่มันหวงดินตอนนั้นหนีเสียก่อน ตอบเขาว่า

“อาตมาอยู่นี้ไม่ได้เห็นมันสักทีดอก กรงนกกระทาของผีก็ไม่เห็นมี และอาตมาก็อยู่พอคุ้มค่าร้านพักกระต๊อบของพวกญาติโยมแล้ว เพราะจะจวนเวลาไปวิเวกในถ้ำ เพราะนึกถึงถ้ำอยู่ กุศลผลบุญอันใดที่พวกญาติโยมได้สร้างไว้แล้วในภพก่อน ๆ ก็ดี ปัจจุบันนี้ก็ดี จะสร้างต่อไปก็ดี ขอจงภิญโญยิ่งจนถึงที่สุดทุกข์โดยชอบ ตามความประสงค์อยู่ทุกเมื่อเทอญ”

แท้จริงเขาปฏิบัติดีพอควร บิณฑบาตหมกห่อใส่บาตรเรียบ ไม่ต้องตามมาส่งที่วัดเป็นปัจฉาภัต ห่าง ๆ จึงตามมาเป็นบางครั้ง การฉันก็ฉันรวมทั้งหวานและคาว อยู่คนเดียวยิ่งประหยัดข้อวัตร เพราะหมดที่อาศัย เกรงจะวิบัติมาก พอใจเองไม่ได้บังคับมัน มันเป็นเองแท้จริง

ธรรมเนียมชาวโลกผู้ใจสูง เมื่อเห็นพระไปวิเวกองค์เดียว เขาย่อมวิจารณ์และสังเกตว่าไปปฏิบัติธรรมแท้ หรือเพื่อแสวงหาอามิสหนอ การไปคนเดียวต้องปฏิบัติรักษาหลาย ๆ ด้าน มิฉะนั้นแล้วทำให้เขาติเตียนวงศ์ฝ่ายปฏิบัติ

เรื่องนินทาเป็นเรื่องโลกก็จริง แต่เป็นเรื่องจะปฏิบัติรักษาในสิ่งที่ไม่เหลือวิสัย มิฉะนั้นแล้วจะเหลิงเจิ้งไปหมดไม่มีขอบเขตได้โดยแท้ กุลบุตรกุลธิดาผู้จะเดินทางตามหลัง ไม่มีอันใดจะได้ถือเอาไว้เป็นแบบฉบับ กลายเป็นศิษย์ไม่มีครูอีก แปลว่าไม่เรียนตามพ่อก่อตามครู ผู้ประมาทพ่อแม่ ประมาทครูบาอาจารย์ เป็นผู้อกตัญญู ผู้นั้นนับวันจะเสื่อมทรามลงทุกที เหมือนพระจันทร์ในวันข้างแรมนั้นเอง จึงเป็นของควรคิดอยู่ทั้งนั้น

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ใช่ศาสดาจารย์กรรมฐานหัวตอ นั่งและสอนให้ครอบคลุมทุกด้าน เป็นศาสนาที่บริบูรณ์พร้อมมูลทุก ๆ ประการกว่าศาสนาใด ๆ ทั้งในโลกนี้ และโลกหน้า และโลกอดีต แลโลกปัจจุบันด้วย ไม่มีศาสนาใด ๆ จะทันเทียมถึงได้ ผูกขาดจองขาดอยู่ทุกเมื่อด้วยและก็ไม่ได้เขียนเข้าข้างตัว เขียนเข้าข้างธรรม แต่ผู้มีธรรมเป็นหลักจึงจะรู้จักยินดีเคารพรัก ปฏิบัตินับถือพระพุทธศาสนาได้ เพราะพระพุทธศาสนา ธรรมศาสนา สังฆศาสนาสอนให้ฝังลงหยั่งลงที่ใจ แต่ละหัวใจอันลึกซึ้งลงไม่มีประมาณเลย

แผ่นดินภายนอกหนาสองแสนสี่หมื่นโยชน์ยังมีประมาณอยู่ คุณของพุทธธรรม สงฆ์ ที่เรียกว่าคุณของพระพุทธศาสนานี้ หาประมาณบ่มิได้ จะย่นลงมาหาผู้รู้รู้สักเพียงใดก็ตาม อันรู้ดีรู้รอบรู้พ้นจากกิเลสทั้งปวงก็ตาม ก็ไม่มีประมาณอีก ไม่เป็นวิสัยที่เอาเครื่องตวงในโลกสมมติ โลกบัญญัติ มาวัดมาตวง ผ่าศูนย์ขอบศูนย์กลางได้

ย้อนกลับคืนมา การลาจากที่พักป่าบ้านโพนงาม มอบหมายสิ่งที่เขาเอามาให้ใช้ทุก ๆ ประการ ฉันเช้าเสร็จแล้วก็เตรียมเดินทางไปทิศตะวันออก ตามชายเขา เขาไปส่งพอเป็นพิธี เพราะทางนี้เคยผ่านตอนแล้งปีกลายที่ไปหาหลวงปู่มั่นแล้ว

พบพระอาจารย์ฝั้น

แท้จริงวันออกเดินทางนี้ก็จับไข้อยู่บ้างแล้ว แต่ไม่เล่าให้เขาฟัง เพราะเกรงว่าเขาจะเป็นอารมณ์ด้วย พอเขากลับ ก็ตั้งหน้าภาวนาเดินตามชายเขา นกโพระดกร้องส่งเสียง ใบไม้ร่วงจนโปร่งข้างบน ไม่ได้กังวล ตั้งใจภาวนาพร้อมขาก้าวเดิน ทั้งจับไข้ทั้งเดินภาวนาไปตามไหล่เขา นกดุเหว่าร้องเสียงดังก้องได้ยินไกล

เดินทางไปได้ถึงห้าโมงเย็นเศษ ๆ จนถึงเขตบ้านนานกเค้า พบพระอาจารย์เจ้าองค์สำคัญ คือพระอาจารย์ฝั้น วัดป่าธาตุนาเวง ท่านกำลังเดินทางมากับพระสามสี่องค์ ท่านประสงค์จะไปถ้ำผาแด่น มีตำรวจสองคนตามส่งท่าน

ท่านถามว่า “อ้าว จะไปไหน ใครบ้างอยู่กับพระอาจารย์ใหญ่ ทำไมจึงหนีออกจากท่านมาคนละทิศละทาง”

นั่งคุกเข่าลงกับพื้นพร้อมทั้งประนมมือกราบเรียนท่านรวบรัดเอาแต่ใจความ

ท่านจึงกล่าวว่า “เออ วันนี้คุณเดินทางตลอดวันทั้งไข้ไม่สร่าง เห็นใจมาก จงไปพักวัดธาตุนาเวงก่อนนะ เดี๋ยวนี้วัดไม่มีพระ ผมจะให้ตำรวจสองคนนี้กลับไปส่งเดี๋ยวนี้แหละ จากนี้ไปถ้ำผาแด่นผมไปกับพระก็ได้ ตำรวจเอ๋ย ต่อพรุ่งนี้เช้า ให้สิบโทอัมพรมาฉีดยาให้พระนะ หายแล้วจึงไปวิเวกต่อไป”

ขณะนั้นเวลาสายัณห์ตะวันเย็นริบหรี่ลงลับขอบฟ้าแล้ว ตำรวจสองคนก็มารับเอาบริขาร คนหนึ่งสะพายบาตร คนหนึ่งแบกกลดพร้อมทั้งถือเอากาน้ำ กราบลาท่านกับพื้นดิน แล้วก็ผินหลังใส่กัน ต่างพวกก็ต่างไป คือ องค์ท่านไปทางทิศใต้กับพระ ข้าพเจ้ากับตำรวจไปทางทิศเหนือ

ข้าพเจ้าก็จับไข้อยู่อย่างนั้น ทางไกลประมาณสิบกิโลเมตรเดินทางลัดตัดตรง หนทางเท่าหนทางหนู ไฟก็ไม่มี มืดไม่เห็นเท้าว่าจะเหยียบอะไร เสี่ยงบุญเสี่ยงกรรม แล้วภาวนาเมตตาเดิน เพราะเกรงจะเหยียบงู พอถึงธาตุนาเวงก็เกือบสามทุ่ม ตำรวจส่งขึ้นกุฏิแล้วเขาก็ไปพักที่พักเขา พอประมาณที่ทุ่มไข้ก็สร่างบ้างแต่หัวยังปวดหมับ ๆ อยู่พอปรากฏบ้างเล็กน้อย

วันนั้นภาวนานอนมิได้นั่ง แต่ก็ไม่หลับง่าย รุ่งเช้าตรวจดูน้ำใช้น้ำฉันยังมีบริบูรณ์อยู่ กวาดลานวัดอ้อมกุฏิก็พอดีถึงเวลาภิกขาจารกลับจากบิณฑบาต โยมใบตามมาเอายาเม็ดมาให้ ๑๑ เม็ด สิบโทอัมพรสั่งมาว่า ให้ฉันครั้งละสองเม็ด วันละสองเวลา ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้

พักอยู่นั้น ๖-๗ วันได้ก็หายขาด เบาตนเบาตัวมากแข็งแรงขึ้นโดยรวดเร็วมาก รับอาหารก็มีรสชาติดี แม้ยา ๑๑ เม็ดก็หมดเพียง ๘-๙ เม็ดเท่านั้น ความตั้งใจของหมอถ้าฉันยานั้นหมดไม่หายเขาจึงจะฉีด ถ้าทั้งฉันทั้งฉีดมันแรงเกินไป

พักอยู่นั้นอีกรวมทั้งหมดเป็น ๑๑ วัน สังเกตธาตุขันธ์ก็แข็งแรงขึ้นมามากแล้วเหมือนไม่ได้ไข้สักที แล้วก็ลาโยมว่า

“อาตมาจะลาไปถ้ำพระเวส”

โยมใบร้องขึ้นว่า “รักษาหายแล้วหนีไปละทีนี้”

ข้าพเจ้าทั้งตอบทั้งหัวเราะเขา ตอบว่า

“อาตมาเป็นผู้ต้องหา(ของ)หลวงปู่มั่นอยู่ คือองค์ท่านเทศน์หนักแน่นว่า ใครไปวิเวกกลับมา ถามภาวนาไม่ได้ความ จะเขกหนี ไม่ให้อยู่จำพรรษาด้วยเพราะไปเที่ยวเล่นเฉย ๆ และพระอาจารย์ฝั้นก็บอกไว้ว่า หายจากไข้แล้วจึงไปเที่ยววิเวกอีกต่อไปดังนี้

โยมเอ๋ย อาตมาไปวิเวกในถ้ำ ในเขา ในป่า ในดง องค์เตียว อาตมาก็ได้บุญ โยมก็ได้ด้วยไม่เสียประโยชน์ทั้งสองทาง (ถ้า)หลวงปู่มั่นได้ทราบข่าวว่า อาตมาพักวิเวกเล่นอยู่ตามวัดเฉย ๆ ก็(จะ)เป็นเหตุให้หลวงปู่พิจารณาว่าอาตมาบิดพลิ้วต่อข้อวัตรครูบาอาจารย์เฉย ๆ มาลอบซ่อนตัวอยู่ ไม่เห็นกล้าเป็นกล้าตายอะไร อาตมาก็ถูกเข่น องค์ท่านก็ไม่รับไว้สอนเลย ตัดหนทางอาตมาอีกด้วย”

โยมตอบว่า “ถ้ากระนั้นก็เป็นอันว่าไปได้แล้ว จงแผ่เมตตาถึงพวกข้าน้อยบ้าง”

ครั้นได้วันใหม่ ฉันเสร็จก็ออกเดินทาง ถึงบ้านโคกค่ำพอดี พักวัดป่า เช้าฉันเสร็จเดินทางต่อ ค่ำถึงอำเภอนาแก แต่ยังเดินต่อไปอยู่ พักเถียงนาเขาเป็นเวลาหนึ่งทุ่มพอดี น้ำมิได้อาบ มิได้ดื่ม มิได้ล้างเท้า ตอนกลางคืนหนาวจัด ห่มผ้าเพียงแข้งไม่ปกเท้า เพราะเท้ามิได้ล้าง ทนหนาวเอา เช้าได้เวลา ไม่มีน้ำล้างหน้าและบ้วนปาก เลยเอามือถูตา แล้วเข้าไปบิณฑบาตบ้านดู่ ฉันเสร็จเดินทางต่อถึงวัดป่าอ้อมแก้วธาตุพนม พักสองคืน แล้วไปวัดป่าเมืองเว พักหนึ่งคืน เดินทางต่อ พักวัดเก่า ๆ โบราณเป็นวัดร้าง (เขาว่ามีผีดุ) หนึ่งคืน รุ่งเช้าบิณฑบาตฉันเสร็จเดินทางต่อ พักวัดป่าบ้านหนองห้างหนึ่งคืน เช้าฉันเสร็จเดินทางต่อ พักบ้านนาโสก

ได้รับข่าวว่าหลวงตามิ่งไปอยู่ถ้ำพระเวสก่อนแล้ว โยมบ้านนาโสกพาไปหาถ้ำ และพระอาจารย์สนก็พาไปหาด้วย ตกลงได้ถ้ำมะเขือจวนค่ำแล้ว จากถ้ำมะเขือไปหาถ้ำพระอาจารย์สนไกลประมาณ ๔๐ เส้น ตกลงจำเป็นก็ต้องพักถ้ำมะเขือ แล้วสัญญากันว่า พรุ่งนี้เข้าไปบิณฑบาต ลัดกันที่ป่าละเมาะอันไกลจากที่พักประมาณกิโลเมตร โยมเขาจะลัดใส่บาตรที่นั่น ว่าแล้วพระอาจารย์สนก็กลับถ้ำท่าน โยมก็กลับบ้านโยม คงราว ๒ ทุ่มจะถึงบ้าน

ยังแต่เราอยู่คนเดียวเปลี่ยวที่สุด ไฟจุดก็ไม่มี เทียนก็ไม่มี อนิจจาสรรพทุกขาในส่วนกายา แต่จิตใจนั้นนา ขณะนั้นอยู่ธรรมดา เฉย ๆ ไม่สุข ไม่ทุกข์เลย ไม่ได้กางกลด แผ่นดินเอียงเหมือนจอมปลวก นั่งไม่ได้ หน้าจะคว่ำลง ตั้งแต่มันเป็นแผ่นหินแผ่นหินมาตั้งแต่กกุสันโธมาจนบัดนี้ คงไม่มีพระเณรองค์ใดไปเป็นผีบ้าภาวนาอยู่ที่นั้น นึกขึ้นมาแล้วก็น่าขำ ๆ หมดหนทางก็เอาผ้าอาบน้ำปู

วันนั้นไม่ได้สรงน้ำอีกซ้ำ ปูกับพื้นดินเอียง ๆ นอนผินหัวไปทางทิศใต้ เอาห่อผ้าสังฆาฏิมาหนุน บาตรตั้งไม่ได้ ต้องผูกมัดติดกับต้นไม้ กลดก็สอดเข้ากับกอไม้ทั้งปลอกเพราะไม่ได้กาง เวลานอนเอาศอกทางขวางัดไว้ กำหนดลมหายใจพร้อม ปรากฏว่านอนไม่หลับเลย ตาใสแจ๋วตลอดรุ่ง อันนี้ก็เป็นภาพพจน์ส่วนตัวอันหนึ่ง นึกเห็นคราวใด น่าหัวเราะตนมาก และก็เป็นเครื่องเพิ่มความเข็ดหลาบในสงสารอยู่แบบไม่เสียธรรม กลายเป็นอตีตังสญาณ ญาณในส่วนอดีตไปในตัว เป็นพยานในส่วนปัจจุบันและอนาคตได้ไม่สงสัย

อดีต อนาคต เป็นเมืองขึ้นของปัจจุบัน

บุคคลไม่เห็นกองทุกข์ชัดด้วยตนเองในปัจจุบัน อดีต อนาคตให้เสมอภาคด้วยคนเองชัดแล้ว ไฉนความเพลินในสงสารจึงจะลดลงได้ เมื่อความเพลินในสงสารไม่ลดลง ตัณหาความทะเยอทะยานก็ไม่ลดลง ทุกข์ทางใจก็ไม่ลดลง การเดินมรรคทางปัญญา มรรคภาวนาวิปัสสนาญาณก็ไม่ดูด นิโรธธรรมอันดับตัณหา ดับทุกข์ทางใจก็ไม่กระจ่าง คล้ายกับคนตาฟางเดินทาง แม้จะไปในรถในเรือก็มองเห็นอะไรไม่ถนัดโดยส่วนตัวได้

อดีต อนาคต ทางพระพุทธศาสนาไม่ใช่ว่าจะเป็นของไม่มีค่าเหลิงเจิ้งไปหมดโดยส่วนเดียว อดีตที่เป็นประโยชน์ ก็จะได้เอามาเป็นเยี่ยงอย่างในทางดี ที่ไม่เป็นประโยชน์ก็จะได้เข็ดหลาบเว้น

แม้อนาคตที่ตั้งสัตย์ไว้ สิ่งที่เป็นประโยชน์ก็จะได้เตรียมรักษาไว้ สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ก็จะได้เว้น เช่น เราเดินทาง แม้ขาเราจะยังไม่ก้าวไปถึงก็ตาม ก็ต้องเห็นที่จะก้าวที่จะเหยียบล่วงหน้าก่อนก้าวไป ผู้ปฏิบัติธรรมเพื่อหลุดเพื่อพ้นจากความหลงและความเข้าใจผิดอันมึนงง ไม่โยงอดีต อนาคตเป็นพยานกันในปัจจุบันพลันด่วนให้ชัดแจ้ง แม้จะมีนิสัยวาสนาเป็นสุกขวิปัสสโกก็ตาม ก็ต้องบริบูรณ์ด้วยญาณสาม

อตีตังสญาณ ญาณในส่วนอดีต อนาคตังสญาณ ญาณในส่วนอนาคต ปัจจุปันนังสญาณ ญาณในส่วนปัจจุบัน

ยกอุทาหรณ์เช่น เห็นไตรลักษณ์ในปัจจุบันชัด ไตรลักษณ์ในอดีต อนาคตก็มาเป็นพยานกันเสมอภาค เมื่อมีพยานสองปาก มิใช่พยานเท็จ ปัจจุบันก็ตัดสินพร้อมทั้งเป็นพยานเพิ่มเข้าอีกอยู่ในตัว ไม่ว่าจะเป็นทางดีหรือทางชั่ว โลกิยะหรือโลกุตร อดีต อนาคตย่อมเป็นเมืองขึ้นของปัจจุบันทั้งนั้น เว้นอรหันต์เสีย เพราะพระอรหันต์ไม่ติดข้องอยู่ในกาลทั้งสาม แม้จะเอากาลทั้งสามมาใช้อยู่แล้ว แต่ก็ใช้แบบไม่ติด น้ำค้างบนใบบัวแต่ไม่ติดใบบัวถึงน้ำจะตกออกจากใบบัว น้ำก็หาได้เป็นกังวลในใบบัวไม่ ใบบัวก็มิได้ยืนยันว่าหนักมากเพราะน้ำมาค้างเรา และก็ไม่ยืนยันว่าเบาแล้วเพราะน้ำตกออกไปจากเรา

ย้อนคืนมาแก้ปัญหาที่ยังค้างแขวนอยู่ มีปัญหาว่า อดีต อนาคต ก็คือปัจจุบันนั้นเองไปร้องเรียกเชื้อเชิญก็จริงอยู่ แต่ขยายตนเองออกให้เป็น ๓ ธรรมาสน์กับปัจจุบัน โยงกันเข้าลงรอยกันเพราะไม่ถือว่าเป็นของยากและหนักใจ และถือว่าเทศน์ให้ตนฟังด้วย ไม่หวังเอาคะแนนใด ๆ ในโลกภายนอกด้วย เมื่อปัจจุบันกาลแตกฉานในนิทานของเจ้าตัวอยู่แล้ว อดีต อนาคต ก็ต้องรู้เท่าทันเทียมถึง เลยกลายเป็นเรื่องเล็กน้อยและขบให้แตกได้ทันท่วงที ง่ายดายโดยด่วน

ถ้ำอัตตกิลมถานุโยค

หวนมาปรารภติดต่อการเดินทางต่อไป เช้าพอได้เวลาก็ออกมาจากถ้ำมะเขือ อันเป็นถ้ำทรมานอัตตกิลมถานุโยค นอนได้เอาศอกขวาสักดินค้ำไว้ตลอดรุ่งนั้น มาลัดที่บิณฑบาตพระอาจารย์สน ฉันเสร็จแล้วล้างบาตรเสร็จเรียบร้อย เรียนท่านว่า

“ถ้ำที่พักคืนนี้เรียกว่าถ้ำจนตรอกได้ เพราะค่ำจวนเวลา กระผมนอนได้เอาศอกงัดไว้ตลอดคืน ตาใสแจ๋ว นอนไม่หลับ นอนกำหนดลม มีสติอยู่กับลมออกเข้า พร้อมกับศอกที่ค้ำดินไว้ ต่างก็พากันหัวเราะกันซ้ำทุกข์ กระผมนึกเห็นถ้ำผาแด่น เพราะแล้งปีกลาย ก่อนเข้าไปหาหลวงปู่มั่น ได้ไปพักอยู่คืนหนึ่ง ได้อ่านสถานที่ออกแล้วเหมาะสมทุกประการ และปีนี้ ระหว่างผมผ่านมา ก็พบพระอาจารย์ฝั้นที่ใกล้บ้านนานกเค้า องค์ท่านว่าจะไปถ้ำผาแด่น แต่เดี๋ยวนี้ท่านคงกลับวัดป่าธาตุนาเวงแล้วก็อาจเป็นได้ เพราะทางสกลนครติดต่อท่านอยู่ หรือมิฉะนั้น ท่านคงจะย้ายที่ไปหาถ้ำอื่นก็อาจเป็นได้ เพราะองค์ท่านมีพระไปด้วย ๒-๓ องค์

ถ้ำผาแด่นนี้เท่าที่กระผมสังเกตตามที่ได้เห็น (เมื่อ) แล้งปีกลายนี้ ถ้าอยู่องค์เดียวก็เหมาะมากนักแท้ ๆ ครับ ทางบิณฑบาตไกล ๑๐๐ เส้น ขึ้นอำเภอเมืองสกลนครนั้นเอง จากตัวเมืองไปถึงถ้ำก็อยู่ในระหว่างอย่างมากก็ ๔๐๐ เส้น ฉะนั้นกระผมจะได้ลาไปวันนี้ขอรับ”

องค์ท่านก็ให้พรอันดีทุกประการ แต่ต้องกลับวัดป่าบ้านนาโสกเสียก่อน เพราะหนทางหลังภูเขาล่องไปตามยาวของภูเขาไม่มี มีแต่ทางชายเขา

พบพระอาจารย์ฝั้นที่ถ้ำบ้านไผ่

กราบลาองค์ท่านแล้วก็ลงภูเขามาพร้อมโยมที่ไปลัดใส่บาตรบนภูเขา พอลงมาถึงใกล้วัดป่าบ้านนาโสก ก็เลยไม่เข้าพักวัด ให้โยมชาลีตามส่งทางล่องชายเขาตรงทิศตะวันตก โยมไปส่งประมาณหนึ่งกิโลเมตร พอจะไม่หลงแล้วก็ให้โยมกลับ

เดินองค์เดียวเปลี่ยวเปล่าตามชายภูเขาไม่เศร้าโศก

บริโภคภาวนาพร้อมกับขาก้าวหน่วงน้าวธรรม

บริกรรมติดต่อจดจ่อเป็นจังหวะ

ไม่ขาดระยะวิเวกวังเวง

จั๊กจั่นร้องเพลงตามต้นไม้เป็นระยะ ๆ

ไปพบปะเด็กจับจั๊กจั่น ถามเขาว่าไปทางนั้นถูกไหมหนู

เขายกมือชูชี้บอก ขอหลวงพ่ออย่าได้ปลีกออกจากทางเดิม

ทางเส้นนี้แหละผ่านบ้านนานางสี

เดินถึงค่ำพอดีก็พักบ้านค้อ

ตื่นเช้าบิณฑบาตฉันเสร็จก็เดินต่อ พักวัดร้างบ้านนาสีนวลสองคืน

สมัยนั้นวัดดอยธรรมเจดีย์กำลังเริ่มสร้างมาในระหว่างสองปี ลาจากบ้านนาสีนวล เดินทางข้ามเขา บ่ายสามโมงเย็นถึงวัดป่าบ้านเต่างอย

ลาจากนั้นเป็นวันใหม่ ฉันเสร็จเดินทางถึงบ้านไผ่ประมาณเที่ยงวัน ได้ทราบว่าพระอาจารย์ฝั้นมาพักอยู่ถ้ำบ้านไผ่หลายวันแล้ว องค์ท่านย้ายจากถ้ำผาแด่น เขากล่าวว่าองค์ท่านลงมาจากถ้ำ บิณฑบาตบ้านไผ่นี้ทุกวันองค์เดียว หมู่ของท่านกลับวัดหมดแล้ว

พอได้ยินเขาเล่าอย่างนั้นก็นึกในใจ ว่าเราจะผ่านไปถ้ำผาแด่นเลยก็ไม่เป็นธรรมอีก เราก็ต้องแวะองค์ท่าน เขาบอกล่วงหน้าว่า

“จากบ้านนี้ขึ้นไปหาถ้ำพระอาจารย์ฝั้น ทางไกล ๗ เส้น”

“เออ อาตมาก็จะขึ้นไปหาองค์ท่าน”

ว่าแล้วเขาก็ไปส่งทางประมาณสองเส้นกว่า ๆ แล้วก็บอกเขากลับ เดินไปอีกนานพอสมควรก็ถึงถ้ำองค์ท่านอยู่

ขณะนั้นองค์ท่านกำลังสานครุไว้ตักน้ำอยู่องค์เดียว วางบาตรไว้ที่ควรแล้วห่มผ้าเฉวียงบ่าเข้าไปกราบองค์ท่าน

องค์ท่านทักทายว่า “มาจากไหน”

เรียนว่า “มาจากถ้ำมะเขือ นึกว่าจะไปถ้ำพระเวส แต่หลวงตามิ่งอยู่แล้ว ก็ไปหาถ้ำ ได้ถ้ำมะเขือค่ำ ๆ จวนเวลา ก็ยอมนอนแผ่นดิน ที่นอนเอียงมากและสถานที่ก็ไม่เหมาะสม นอนอยู่คืนหนึ่งก็เลยจากมาครับ”

องค์ท่านกล่าวว่า “เออ ผมย้ายจากถ้ำผาแด่นมานานแล้ว หมู่ท่านกว่า พากันกลับวัดหมดแล้ว ถ้าหากว่าท่านอยากอยู่กับผม ผมก็ไม่ขัดข้องเลย จงพิจารณาดูตามสะดวกเถิด”

กราบองค์ท่านแล้วก็ไปหาที่พัก เลยได้หินดานกลางแจ้ง ไม่ได้กางกลดและมุ้งเลย ปูผ้านอนหินดานเลย และน้ำก็อดอีก ไม่ได้อาบน้ำเลย วันนั้น เพราะเกรงจะหมดไปจากองค์ท่าน

ฝูงผึ้งต้อนรับที่ผาแด่น

ตื่นเช้าได้เวลาก็ไปบิณฑบาตกับองค์ท่าน มีโยมผู้ชายคนหนึ่งมารับบาตรองค์ท่านและมารับใช้ ฉันเสร็จจึงเอาข้าวเศษกลับบ้าน และอากาศตอนกลางคืนก็ยังมีหนาวเย็นเยือกอยู่พอสมควร ฉันเสร็จแล้วล้างบาตร เช็ดเสร็จแล้วกราบเรียนองค์ท่านว่า

“ที่พระอาจารย์เปิดประตูให้กระผมอยู่ด้วยนั้นเป็นบุญอันล้นเกล้าของกระผมแล้ว แต่นิสัยกระผมเป็นคนขี้กลัวอยู่บ้าง กระผมอยากดัดสันดานมันอยู่ ถ้าหากว่ากระผมไปอยู่ถ้ำผาแด่นองค์เดียว พระอาจารย์จะเห็นสมควรหรือไม่หนอ ประการใดขอรับ และกระผมก็มีปัญหาอยู่อันหนึ่ง คือหลวงปู่มั่นปรารภปีนี้ว่า ผู้ใดไปเที่ยววิเวกกลับมาถามเรื่องภาวนาไม่ได้ความ จะไม่ให้จำพรรษาด้วย ข้อนี้ก็เจ็บปวดมาก เท่ากับว่ากระผมแบกแผ่นดินแผ่นฟ้าอยู่ ยังเป็นผู้ต้องหา แก้ยังไม่ทันตก”

องค์ท่านทอดสายตาลงต่ำอยู่สักครู่ ก็กล่าวว่า “คุณเรียนผมแบบนี้ มันถึงจิตถึงใจผมมาก ผมอนุโมทนาสาธุการ เอาให้ดีนะ ยกธงแดงต่อสู้” แล้วองค์ท่านก็บอกว่า

“เอ้า เตรียมบริขาร ผมจะให้โยมคนนี้แหละ ตามส่งจนถึงถ้ำผาแด่น ไปทางหลังภูเลยไม่ต้องลงไปทางตีนภู”

กราบสามทีแล้วก็ออกเดิน ให้โยมออกก่อนเพราะเป็นทางไม่เตียน โยมจะสะพายเอาบาตร แต่ไม่ให้สะพาย เพราะเกรงเขาหนักเกินไป เลยแบ่งห่อผ้าออกให้เขาถือหรือสะพายเอาบ้าง เดินภาวนาไปเงียบ ๆ ประมาณบ่ายสี่โมงเย็นก็ถึงถ้ำผาแด่น แล้วก็รีบบอกโยมกลับบ้านเขา แต่เขาก็คงค่ำบ้านนากับแก้ หรือมิฉะนั้น ก็คงค่ำบ้านเหล่านกยูง เพราะต้องไปตามไหล่เขาตรงทิศตะวันออก

ขณะที่โยมกลับบ้านก็เตรียมตัวจะขึ้นถ้ำ บันดาลมีผึ้งฝูงหนึ่งบินกรูเข้ามาตอมรอบหัวเป็นกลุ่ม ๆ ตั้งพัน ๆ ตัวบินวนเวียนอยู่รอบตัว แต่ไม่ถูกกาย บินรอบทั้งส่วนบน ส่วนกลาง ส่วนล่างของกาย บินช้า ๆ ขณะนั้นจิตใจจะว่ากลัวผึ้งก็ไม่ใช่ จะว่ากล้าหาญก็ไม่เชิง ยืนคำนึงอยู่ว่า

“เอ๊ะ เราก็มิได้นึกได้ฝันว่าจะมาก่อกรรมทำเวรกับท่านผู้ใด ทำไมจึงเป็นอย่างนี้หนอ”

พอนึกอย่างนี้จบลง ผึ้งทั้งฝูง ๆ ก็บินขึ้นหน้าผาหมด เข้ารังเดิมของมันแล้ว สังเกตก็ได้ความว่า

“เมื่อเรามา ไม่ได้มองสูง ไม่เห็นรังมัน คือเมื่อมันเข้ารัง เราจึงได้รู้ว่ามันบินออกจากรัง รังของมันมีรอยเหยี่ยวเฉี่ยวมาตี ขาดวิ่นไปบ้างแล้ว เหตุที่มันบินกลับทุกตัวไม่กัดเลยนั้น ชะรอยจะเป็นด้วยเราคำนึงธรรมว่า ไม่มาเอาเวรเอาภัยกับท่านผู้ใดก็อาจเป็นได้”

กระแสจิตของมันจึงเบาทางโกรธลง ก็อาจเป็นได้ เราก็ไม่รู้จักขณะจิตของมัน เป็นเพียงเหตุผลเดาด้นเท่านั้น แต่ก็ไม่เป็นเรื่องแปลกและสำคัญอะไร เขียนไว้พอให้เป็นอตีตารมณ์ที่ได้ผ่านทุกข์มาในการท่องเที่ยวของสังขารลงทุนบารมีพลีปฏิบัติ

ครั้นแล้วก็เอากาไปตักน้ำ รีบปัดกวาดเล็ก ๆ น้อย ๆ พอได้ข้อวัตร เวลาก็ค่ำมืดพอดี มีกระต๊อบเล็ก ๆ อยู่ในถ้ำ เงื้อมหน้าผา ปูด้วยไม่กลมเล็ก ๆ เอาใบข่าปูรองและกั้นด้วยใบข่าป่าพอหลวมตัว ด้านบนมุงด้วยหินธรรมชาติ หันหัวไปทางเหวคือทางทิศเหนือ ทางจงกรมยาวประมาณ ๔ วาตรงทิศตะวันออก

ผ้าปูนอนก็คือผ้าอาบน้ำผืนเดียว เช็ดบาตรก็อยู่(ตรง)นั้น ปกหมอนก็อยู่(ตรง)นั้น เช็ดตัวเช็ดหน้าก็อยู่(ตรง)นั้น ไฟก็แล้วแต่เดือนดาวและพระอาทิตย์จะอำนวย เห็นหรือไม่เห็น เป็นหน้าที่ลูกตาจะสัมผัสให้

มุ้งและกลดไม่ต้องกาง หมอนก็คือห่อผ้าสังฆาฏิ ครุตักน้ำอย่าถามหา ใช้กาตักมา ทั้งล้างเท้าทั้งฉัน

การล้างเท้านั่งหย่อนเท้าลงที่นั่งพักร้าน มือหนึ่งกำฝ่าเท้าทางใต้ ยั้งตัวยกฝ่าเท้าให้พ้นพื้น มือขวาจับแก้วน้ำเหลง มือซ้ายกำเท้าล้าง น้ำครึ่งแก้วก็พอแล้วแต่ละครั้ง ล้างแล้วพยุงตัวไว้ให้น้ำหนักตัวอยู่ที่ก้น ยกขาทั้งสองขึ้น ฝ่าเท้าพ้นพื้นแล้วเอาผ้าเช็ด แล้วจึงเอี้ยวตัวเอาขาขึ้นที่ร้าน มิฉะนั้นแล้วเท้าจะหยั่งลงเหยียบที่ดินที่หินอีก ถึงแม้จะใส่รองเท้าอยู่ก็ต้องล้าง เพราะการใส่รองเท้าก็กันได้เพียงหนามบางอย่าง และทางขลุกขลักหินคมดินคมบ้างเท่านั้น จะกันฝ่าเท้าทางพื้นไม่ให้ดำนั้นไม่ได้ การรักษาเท้าไม่ให้สกปรกก็มีพระวินัยกวดขันอยู่

ขณะที่อยู่นั้นไปบิณฑบาตทางไกล ๑๐๐ เส้น ไต่ไปตามหลังเขาประมาณ ๑ กิโลเมตร แล้วเอียงลงชายเขาเป็นดงบ้างแล้วจึงตกทุ่งนาใกล้บ้าน กลับออกมาแล้วฉันที่ทุ่งนาเล็ก ๆ มีน้ำบ่ออยู่ตรงนั้น มีโยมชื่ออาจารย์เสน เขาตามปฏิบัติ ฉันเสร็จล้างบาตรเรียบร้อยแล้วก็สะพายบาตรเปล่าขึ้นภู เว้นวันฉันบ้าง และบอกโยมเขาให้รู้ เพื่อให้เขาไม่ต้องคอยในวันที่ตนไม่ไปบิณฑบาต

ขณะนั้นมีควายดุร้ายอยู่ตัวหนึ่ง เขายาวโต้ง มันขวิดคนมาหลายรายแล้ว แม้เจ้าของมันก็ไล่ขวิด เช้าวันหนึ่งบันดาลไปพบที่กลางทางใกล้เข้าบ้าน มันขวางทางอยู่ไม่หนีเลย แกว่งเขาใส่ ใกล้ประมาณ ๖-๗ วา เป็นตัวผู้ ถ้าเป็นมนุษย์ก็อายุราวสัก ๓๐ ปี โตด้วย อ้วนด้วย สูงด้วย ต่างก็ยืนเฝ้ากันอยู่ประมาณ ๑๐ นาที ขู่ยังไงก็ไม่หนี พูดดี ๆ ก็ไม่ฟัง แกว่งเขาออกลูกไม้อยู่อย่างนั้น ก็เลยกลับเข้ารั้วเขา มันก็ตามโชกโชน เล็ดลอดแอบที่นั้นที่นี้ ก็เลยผ่านพ้นไป

ชาวบ้านเขาทราบเรื่องราวเข้า เขาไปบอกเจ้าของมัน ให้ปล่อย (ตอน) สาย ๆ และเขาบ่นพิไรรำพันต่าง ๆ นานาว่า

“จะขายให้เขาฆ่าเสีย ก็ไม่ขาย ควายตัวนี้เดือดร้อนบ้านเมืองมานานแล้ว คุมพวกบ้านตากแดดที่ไปทอดแหอยู่กลางทุ่งก็เกือบตาย แต่เดชะบุญขึ้นต้นไม้ทัน ทิ้งแหไว้แล้ว มันชนแหอยู่ใต้ต้นไม้ขาดเป็นชิ้นเป็นอัน แหลกลาญไม่มีชิ้นดี ไล่ชนเจ้าของที่ไร่อ้อย วนไปเวียนมาอยู่แต่เช้าจนเที่ยง บันดาลนึกเห็นลำอ้อยโต ๆ ขนาดวา ก็เข้าต่อสู้ จึงพอมีเวลาหลบหนีทัน อันนี้พระท่านยังโชคดีอยู่บ้าง ไม่เป็นอันตราย”

เขาพากันบ่นอึกทึก แต่ต่อมาเขาก็ปล่อย (ควายตอน) สาย ให้ผ่านพ้นในยามพระบิณฑบาต

เมื่อมาพิจารณาดูแล้วเรื่องโทโส โมโห โลโภนี้มีอยู่ในขันธสันดานของสัตว์ทุกตัวสัตว์ ต่างกันเพียงหนักเบาเท่านั้น เมื่อกิเลสมีอยู่ทุกตัวสัตว์ เทวดา มาร พรหม มนุษย์ ทางบรรเทาถ่ายถอน ตลอดหลุดพ้นจึงมีอยู่ทุกตัวสัตว์ เทวดา มาร พรหม มนุษย์ พระองค์ผู้รู้ธรรมจึงสามารถยืนยันได้ว่า อริยธัมเม ฐิโต นโร อริยธรรมอันประเสริฐ ย่อมมีย่อมตั้งอยู่ที่นรชน ถ้านรชนรู้และรับรองว่ากิเลสมีอยู่ในตนจริง ๆ การเห็นโทษในกิเลสก็ไม่อาจปฏิเสธด้วยตนเอง การละ การพยายามละ ออกจากขันธสันดานก็ไม่อาจปฏิเสธได้อีก ย่อมเป็นการเคารพและจำนนต่อพุทธศาสนาอยู่ในตัวแล้ว ถ้ากิเลสไม่มีอยู่ในสรรพไตรโลกธาตุแล้ว พระนิพพานก็ไม่มีในพระนิพพานอยู่นั้นเอง

ความอัตคัดคือสมบัติของพระธุดงค์

การพักอยู่องค์เดียวไม่เกี่ยวกับหมู่เกิดเป็นอู่ของการพิจารณาธรรมะ รสจิตใจใคร่ธรรมสูงขึ้น จะเจริญกรรมฐานอันใดก็ดูว่าโล่งหัวใจไม่ได้ขู่ไม่ได้เข็ญให้ทำ ดูดดื่มเองเป็นเอง สติปัญญาจิตใจอยู่ติดสนิทกับตัว ถ้าเทียบใส่โคและกระบือ ก็ไม่ต้องต้อนเข้าคอกยาก เวลาเข้ามันเข้าเอง เวลาออกก็รู้จักขอบเขต กายใจเบาโปร่งไม่มึนงง สิ่งที่เคยรู้ เคยเห็น เคยปฏิบัติมาก่อน ก็ยิ่งเด่นชัดอร่อยขึ้นในใจ ผู้ใดไม่ยินดีในวิเวก ก็คือผู้นั้นไม่ได้เคยดื่มรสวิเวก เคยดื่มแต่รสวิวุ่น

กายวิเวกก็ดี จิตตวิเวกก็ดี อุปธิวิเวกก็ดีก็รวมลงมาเป็นเอกวิเวกอันเดียวกัน จะบัญญัติหรือไม่ ก็ไม่เป็นปัญหาอะไรนักเลย ที่บัญญัติไว้ก็เพราะเป็นแผนที่ แต่ตัวเนื้อที่จริง ๆ แล้วหดตัวเข้ามาเอง หาเอกปัจจุบันวิเวกลงมารวมกันเอง ไม่ได้ต้อนมาฮือ ๆ ฮา ๆ เหมือนโคและกระบือเลย ผู้หวังพ้นทุกข์ในสงสารโดยด่วนโดยแท้จริงจึงจะพูดกันออก บอกกันถูก ปลุกกันได้ ให้กันเป็น มิฉะนั้นแล้วก็จะตรงกันข้ามไปละ

พระธรรมเป็นของลุ่มลึก แต่จะลึกสักเพียงใด ก็ลึกลงที่ใจ จะตื้นก็ตื้นขึ้นมาที่ใจ ไม่ใช่ลึกตื้นอยู่ที่ดินฟ้าอากาศ ลม ไฟ น้ำภายนอก ผู้มีสติปัญญาอยู่กับใจย่อมขุดถึงใจถึงธรรม ไม่หนีจากธรรมจากใจ ไม่หนีจากใจจากกรรมไปได้ ถ้าหาก็หาอยู่ทั่วที่ธรรม ที่ธรรมที่ใจ ถ้าเห็น ก็เห็นอยู่ที่ใจที่ธรรม ที่ธรรมที่ใจ ทวนไปมาอยู่นี้

พักทำความเพียรอยู่ที่ถ้ำผาแด่นนั้น การซักผ้าและย้อมผ้าก็ซักน้ำเย็นและย้อมน้ำเย็น หินดานแห่งใดเป็นอ่างเล็กขนาดกะละมังก็ซักที่นั้น ย้อมที่นั้น ฝนหินแดงลงที่นั้น ไม่ยากไม่แค้นอะไร น้ำร้อนก็ดี ขามป้อม สมอ ไม่ต้องเกี่ยว และไม่ต้องเอ่ยปากถามหาอีกด้วย ยาแก้ไข้แก้หนาวและแก้พิษสัตว์กัดต่อย ไม่มีในย่ามในถุง และก็ไม่สนใจหาอีกด้วย แม้ไม้ขีดไฟเทียนไขก็ขาดอยู่นานแล้ว

เมื่อถูกงูกัด เกี่ยวกับพิษสด ๆ ก็นึกเห็นแต่มูตร (ปัสสาวะ) คูถ (อุจจาระ) ดินเท่านั้น ส่วนเถ้าก็ไม่นึกหวังจะได้ มูตรคูถดินฉันปนกันแล้ว หายก็หาย ไม่หายก็ยอมภาวนาตายองค์เดียว ไว้ให้เทวดาผู้ใจสูงมาพบเข้า จะได้ปลงธรรมสังเวช เป็นเหตุให้เขาได้กามาพจรกุศลเพิ่มขึ้น ไม่ได้กินแหนงแคลงใจในเรื่องศพ ๆ สับ ๆ ด้วย ขั้นต่ำที่สุดก็ฝากไว้กับโยมอุปัฏฐาก นับแต่แมลงวันและหมู่หนอน อีกา อีแร้ง หมาจิ้งจอก หมาไน ขึ้นไป

ความพอใจในการปฏิบัติธรรมเพื่อพ้นจากธรรมฝ่ายกิเลสที่เรียกว่าอ้ายหลง ๆ ใหล ๆ หลำ ๆ นี้ ย่อมชนะความพอใจในการปฏิบัติธรรมเพื่ออามิสใด ๆ ในโลกทั้งสิ้น จิตใจและเจตนาของเจ้าตัว ย่อมมีอิทธิพลเฉพาะเจ้าตัว ขับมิจฉาทิฏฐิเฉพาะเจ้าตัวให้ขาดกระเด็นออกจากเจ้าตัวได้ แบบไม่ขบถคืนได้ เรียกว่าชนะแล้วไม่กลับคืนมาแพ้ในตอนนี้อีก มีแต่ตั้งใจเดินทางรุดหน้าในมรรคภาวนาเท่านั้นเองละ

และในยุคที่พักอยู่นั้น วันขึ้นก็ดี แรมก็ดี ๗-๘, ๑๔-๑๕ ค่ำ เขาขึ้นไปนอนรักษาศีลถ้ำหนึ่งอีกต่างหาก ไกลจากที่พักของตนประมาณ ๖ เส้น มีคนจำนวนประมาณ ๖-๗ คน เขาไปทำข้าวหลามไม้เปาะใส่บาตร วันเช่นนั้น บิณฑบาตลานหิน ไกลจากที่พักของตนประมาณ ๔ เส้น ไม่ได้ไปบิณฑบาตถึงบ้าน ฉันที่ลานหินนั้นมันถึงจิตถึงใจตนเองจริง ๆ

ข้าวหลามเฉย ๆ ไม่มีกับ ก็กลืนสบาย เคี้ยวสบาย มันรู้จักทั้งกำลังส่งเข้าปาก รู้จักทั้งกำลังเคี้ยว รู้จักทั้งกำลังกลืน รู้จักทั้งที่ตกลงในกระเพาะ มันเบากายเบาใจโปร่ง คล้ายกับฉันอยู่กลางอากาศ คล้ายกับอาหารเทวบุตรเทวดาอินทร์

ความอิ่มกายอิ่มใจในธรรม ชนะความอิ่มกายอิ่มใจในอามิส ไกลกันราวฟ้ากับแผ่นดิน ฟ้าก็ยังเห็นเมฆ หมอก พระอาทิตย์ เดือน ดาวเป็นเครื่องหมายสมมุติ มันไกลกว่านั้นอีก เทวธรรมเอ๋ย พูดน้อยไม่พอตาย พูดหลายถูกกล่าวตู่ว่าอุตริ ความอิ่มกายอิ่มใจในชั้นนี้เป็นชั้นต่ำ ๆ ดอก ความอิ่มกายอิ่มใจของท่านผู้พ้นแล้วนั้น ไม่มีเครื่องหมายเปรียบเทียบเสียแล้ว

ผู้เขียนผู้ฟังผู้อ่านอยากรู้เท็จจริงเพียงไร ผู้เขียนผู้อ่านผู้ฟังก็จงประพฤติตนให้พ้นจากกิเลสจนสิ้นเชิงก่อน หากจะรู้เองดอก ไม่ต้องทุ่มเถียงเกี่ยงงอนกันให้เป็นปัญหาโลกแตกก็ได้ ปัญหาของสัตว์ทั้งหลายจะจบลงได้ก็ต่อเมื่อสำเร็จพระอรหันต์ ต่ำกว่านั้นลงมายังเป็นทาสปัญหาของตนอยู่ แต่ปัญหาแบ่งออกเป็นสอง ปัญหาทางโลกิยวิสัย ปัญหาทางโลกุตตรวิสัย (เว้นพระอรหันต์เสียเพราะไม่หนักใจในปัญหา)

กล่าวต่อในเรื่องโยมที่ขึ้นมาใส่บาตรข้าวหลามบนภู โยมพวกนั้นเขาเล่าให้ฟังว่า

“ถ้ำน้ำคำบงที่เป็นถ้ำมืด ที่พระคุณเจ้าเที่ยวเข้าไปสรงและตักมาไว้ใช้ไว้ฉันนั้น กลางวันแสก ๆ บางวันก็มีเสือโคร่งบ้าง เสือดาวบ้าง เสือดำบ้าง หมีบ้าง หมูป่าบ้าง เข้าไปกินน้ำที่นั้น ส่วนกลางคืนนั้น ก็บอกไม่ถูกละ และก็มีงูใหญ่ รอยกว้างสองคืบไป ๆ มา ๆ อาศัยอยู่ที่นี่นั้น และมิหนำซ้ำ ถ้ำที่พระคุณเจ้าเดินจงกรมและพักนอนอยู่นั้น มันมีงูเหลือมอีกตัว โต (ขนาด) รอยทางกว้างหนึ่งคืบ”

ตอบเขาว่า “เออ ถ้าอาตมาจะกลัวหรือไม่เพียงไรก็ดี ก็เป็นหน้าที่จะมอบเป็นมอบตายต่อ พุทธ ธรรม สงฆ์ อยู่แต่ไร ๆ แล้ว จิตใจก็จะมอบให้กรรมและผลของกรรมในชาติปางก่อน ก็ถ้าสิ่งเหล่านั้นจะมาก่อกันใหม่ เริ่มต้น ก็คงจะเป็นไปได้ยาก เพราะอาตมาแบ่งเวลาแผ่เมตตาอยู่แต่ละวันแต่ละคืน”

ศรัทธาความเชื่อในพระพุทธศาสนา อันมีปัญญาเป็นนายหน้าอยู่เป็นส่วนมากแล้ว ถึงแม้ว่าความกลัวจะมาชิงออกหน้าบ้างเป็นบางขณะจิต พระศรัทธา พระสติ พระปัญญาก็คงไล่ความกลัวได้ ให้ตามหลัง คงไม่แซงออกหน้าได้ตามอำเภอใจนัก

แม้ความขี้เกียจและความลังเลก็เหมือนกัน เมื่อภัยโลภ ภัยโกรธ ภัยหลง หลงปลูกไว้ ฝังไว้ในขันธสันดานมาในอดีต จนบัดนี้ยังไม่ลดละและหายขาด ก็ย่อมเป็นผู้เกิดมาคูณเวรคูณภัยไม่มีวันจบสิ้นได้

ภัยแก่ ภัยเจ็บ ภัยตาย จิปาถะสารพัดย่อมเป็นบริวาร เป็นเมืองขึ้นของภัยโลภโกรธ หลง แต่เมื่อพ้นจากภัยกิเลสไปหมดแล้ว ภัยแก่ ภัยเจ็บ ภัยตายตามมาถึง ก็ไม่มีพิษสงอันใด เพราะมิได้เหลียวหลังว่าจะขอดอีก คล้ายเรือนร้างว่างเปล่า ไม่มีเจ้าของหวงอยู่ในเรือนนั้น

สิ่งเหล่านี้ได้พิจารณาเตรียมไว้ล่วงหน้า ไม่ค่อยจะเลือนลาง เพราะเป็นหน้าที่จะต้องเดินทางใจให้ไปถึงอยู่ มิฉะนั้นแล้วการปฏิบัติธรรมเพื่อธรรมเพื่อใจ เพื่อหลุดเพื่อพ้นก็ไม่กระจ่างจิต ไม่เป็นธรรมาธิปไตยไปได้ กลายเป็นอัตตาธิปไตย บัญญัติขึ้นตามอัตโนมติของกิเลสตน เป็นโลกาธิปไตยแล่นไปตามโลกหน้าเดียว

พบหมูป่าลูกอ่อน

หันมาปรารภเรื่องเขาบอกว่า มีเสือ ๆ งู ๆ หรืออะไรต่ออะไรอีก อยู่ไปก็ไม่เจอไม่เห็น เขาเล่าให้ฟังแล้วก็ไม่หนักใจอะไร เห็นหมูป่าตัวเดียวเท่านั้น เวลาเช้าเดินไปบิณฑบาตตามหลังเขา ระหว่างที่พบนั้นหนทางคดเหมือนแขนศอกงอ เดินภาวนาไปทุกก้าว ขาก็ไปเจอหมูยืนผินหน้าตรงห่างกัน ๒ เมตร หมูนั้นสูงประมาณ ๑ เมตร พอขาซ้ายก้าวเหยียบพื้น ขาขวายังไม่ทันยกขึ้น ก็เห็นหมูยืนผินหน้า ทำตาพริบ ๆ อยู่ ทั้งหมูก็ไม่สะดุ้ง คนก็ไม่สะดุ้งต่างก็ยืนดูกันอยู่ประมาณ ๕ วินาที

ได้บันดาลพิจารณารวดเร็วว่าเดี๋ยวมันจะไปดอก เพราะมันกำลังพะวง พอนึกอย่างนี้จบลง มันก็วกขึ้น แล้วก็วิ่งเบา ๆ ไปทางขวามือใกล้ ๆ ลูกเล็ก ๆ ของมัน ๓-๔ ตัวก็วิ่งตามแม่มันไป แต่ก่อนมิได้เห็นลูกมัน เห็นแต่แม่มัน และนึกในใจขึ้นได้ว่า ผู้ภาวนามีสติอยู่กับกายกับใจติดต่ออยู่ พร้อมกับขาก้าวเดินนี้ เมื่อไปเจอสิ่งอันน่าสะดุ้งที่ใกล้ชิดก็ไม่สะดุ้ง เพราะสติสัมปชัญญะอยู่กับกายใจโดยเฉพาะ มิได้ส่งออกนอก สมาธิภาวนาแบบนี้สมดุลด้วยสติสัมปชัญญะและปัญญา (ไม่ใช่หัวตอ)

ฌานัง แปลว่า เพ่งอยู่

สมาธิแปลว่า ตั้งมั่นในการเพ่งอยู่

สติ แปลว่า ระลึกได้ในการเพ่งอยู่

สัมปชัญญะ แปลว่า รู้สึกตัวในการเพ่งอยู่

ปัญญา แปลว่า รอบรู้ในการเพ่งอยู่ สมดุลเป็นขณะเดียวกันไม่ใช่คนละขณะดอก ผู้ที่ชอบตื่นสะดุ้งผวา ขณะนั้นสติสัมปชัญญะไม่อยู่กับตัว เพราะส่งออกนอกมาก สติสัมปชัญญะหวนเข้ามาหาตนภายในช้า ไม่ทันกับเวลาสะดุ้งผวา มันเอาไปกินก่อน อย่างหมัดหนักได้ใส่ยาทายาหม่อง

ยาหม่องคืออะไร คือกำหนดลมหายใจให้ดี หรือสมถะใด ๆ ก็ได้ หรือวิปัสสนาใด ๆ ก็ได้ แต่ชาวโลกชอบพูดว่าโรคประสาทและโรคหัวใจ โรคประสาทและโรคหัวใจมีในขันธวิบากของพระอรหันต์หรือไม่ หรือหากว่าขันธวิบากเป็นฝ่ายสังขารขันธ์ขาดตัวอยู่แล้ว ก็ต้องอาจเป็นได้ และอยากทราบว่าการสะดุ้งเป็นสังขารล้วน ๆ หรือว่ามี โมหสัมปยุต

โมหะนั้นคือตัณหาเราดี ๆ นี่เอง ถูกหรือไม่ ผู้พ้นจากตัณหาแล้วเป็นผู้สะดุ้งหรือไม่ ธชัคคสูตรที่กล่าวเรื่องพระอรหันต์ว่า อภีรุ อัจฉัมภี อนุตตราสี อปลายีติ หาย  หายสะดุ้งหายขนพองสยองเกล้านั้นจริงหรือไม่ ถ้าหากว่าเป็นคำจริงแล้ว ผู้ที่เขามิได้เป็นพระอรหันต์ เขาก็มีเครื่องทดสอบพระอรหันต์ได้ ผู้ที่เขาไม่รู้จักทองแท้ แต่เขาก็มีเครื่องทดสอบทอง เขาก็รู้ทองในเครื่องทดสอบของเขา

พูดเรื่องอื่นต่อไปเถิด พักอยู่นั้น วันหนึ่งประมาณเที่ยงคืน ลมหายใจเข้าออกละเอียดเข้า รู้ชัดขึ้นว่า

ผู้ที่ท่านพ้นไปแล้วก็พ้นไป ไม่มีข้างหน้าข้างหลัง เหมือนลมออกเข้านี้หนอ

ผู้ตะเกียกตะกายอยากจะพ้นไป ก็ไม่มีข้างหน้าข้างหลังเหมือนลมออกเข้านี้หนอ

ผู้อยู่พอแล้ววันแล้วคืนไป ไม่มีข้างหน้าข้างหลัง เหมือนลมออกเข้านี้หนอ

ผู้ถือว่าไม่มีบุญไม่มีบาป ก็ไม่มีข้างหน้าข้างหลัง เหมือนลมออกเข้านี้หนอ

ขณะที่พิจารณาอยู่นั้น รู้พร้อมกันกับลมออกเข้าอยู่ ไม่มีอันใดก่อนไม่มีอันใดหลัง แล้วปีติเกิดขึ้นอย่างโลดโผนมาก ร้องขึ้นว่า

”จริงเผงทีเดียว ความเห็นชอบตอนนี้”

ขู่ตนว่า “มันจะเป็นบ้านะ”

ตอบตนว่า “ถ้ารู้ตนจะเป็นบ้า ก็อย่าเป็นบ้าซินะ”

แต่ก็ไม่สำคัญว่าประเสริฐอันใดในขณะนั้น เป็นเพียงปีติที่ประกอบด้วยธรรมอันเห็นชอบเฉย ๆ กายใจเบาโปร่งอยู่ ปรากฏว่าจะชนภูเขาให้ทะลุได้ แต่มิได้หลงชน ถ้าชนก็คอหักตาย หรือหัวแตกตาย

ปีติความอิ่มกายอิ่มใจนี้ เป็นไปต่าง ๆ นานา แต่จะอย่างไรก็ตาม ก็เกิดเป็น ดับเป็น ไม่พ้นอนิจจาได้ดอก ท่านผู้ใดภาวนาห่างเหินจากไตรลักษณ์แล้ว มักจะชวนให้หลงไม่ใช่น้อย เพราะ การทะนงสำคัญตัว เป็นกิเลสที่ถอนได้ยาก เพราะนอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานอันละเอียดเป็นตะกอนอันลึกละเอียด เมื่อน้ำแห้งงวดลงจึงสามารถจะเห็นตะกอนได้มาก น้ำแห้งโดยสุภาพไม่ใช่แห้งแบบเขย่าขวดแล้วเท

เช้าวันหนึ่ง ลงไปบิณฑบาต จึงเล่ากับญาติโยมว่า

“พรุ่งนี้ถ้าไม่มีสิ่งขัดข้อง อาตมาจะกลับคืนไปหาหลวงปู่มั่น เพราะคิดถึงองค์ท่านมาก จะลงมาบิณฑบาตฉันที่วัดร้างที่บ้านพวกท่านนี้”

เขาว่า “ทำไมไปง่ายเหลือเกิน”

“เออ ก็มาอยู่นี้ เดือนหนึ่งแล้ว นานไปก็เวลาจวนแจ แล้วจะได้รีบไปช่วยงาน เอาฟืนและอะไร ๆ ก๊อก ๆ แก๊ก ๆ เพราะปีหนึ่งต้องเอาฟืนหลายครั้ง”

พอฉันเสร็จแล้วก็กลับขึ้นภู ดูที่อยู่ที่พักจะได้วิโยคพลัดพรากไป รู้สึกว้าเหว่ในสถานที่ เพราะสถานที่นั้นอารมณ์บางคราวเกิดปีติสังเวชขึ้นในพุทธ ธรรม สงฆ์ ได้ทำให้ตาเปียกหลายครั้ง ดูดดื่มเสมอกันกับถ้ำพระเวส

ครั้นถึงเวลาเช้าก็ลงไป เพราะบริขารไม่มากและไม่ได้ส่งของอะไรเขา เสื่อ หมอนก็ใช้ผ้าอาบน้ำและห่อผ้าสังฆาฏิ ครุก็ไม่ได้ยืมเขา กา ก็คือ ครุ ครุ ก็คือกาน้ำ

พอไปถึงวัดร้างเขา ก็เอากลดและมุ้งและกาน้ำไว้วัดร้าง เข้าไปบิณฑบาต กลับมาฉัน เขาตามมาส่งอาหารในวัดร้างประมาณ ๕-๖ คน ฉันเสร็จให้ศีลให้พรเขา จัดแจงแต่งของใส่หน้าเขา เขาก็สงวนดู อธิบายให้เขาฟังว่า

“นี้ใบสุทธิ นี้เชือกตากผ้า นี้มีดโกน นี้หินลับคม นี้ของกรองน้ำ นี้หนังสือปาฏิโมกข์ นี้มุ้ง นี้กลด นี้มีดตัดเล็บ นี้มีดเหลาไม้สีฟัน แล้วก็หมดเท่านี้”

ทำไมจึงอธิบายให้เขาฟัง เพราะเหตุว่า เขาจ้องดู เพราะเขาจะสงสัยว่า หาเอาพระเล็กพระน้อยในถ้ำ และทรัพย์ในดินสินในน้ำ เกรงจะเสียวงศ์ตระกูลของครูบาอาจารย์ ให้เขาหายสงสัยเสีย ถ้าเขากล่าวตู่เรื่องไม่เป็นจริง เขาจะเป็นบาป แล้วลาเขา

เขาไปส่งประมาณ ๗-๘ เส้นก็ให้เขากลับ เพราะตั้งใจจะไปพักวัดป่าสุทธาวาส ก่อนเพื่อซักผ้า สมัยนั้นมหาไพบูลย์อยู่(ที่)นั้นองค์เดียว พอจะเข้าวัดก็ห่มผ้าเฉวียงบ่า รองเท้านั้นขาดแต่นานไม่ได้ถอดยาก วางบริขารไว้ศาลา แล้วขึ้นไปกราบท่าน ท่านถามไถ่ได้ความ แล้วกล่าวว่า

“เออ ดีนะ เฝ้าวัดให้ผมบ้าง ผมจะไปหล่อพระบ้านค้อ ผมมาแล้ว จึงไปเที่ยวอีก หรือไม่อยากไป ก็อยู่ด้วยกัน”

ตอบท่านว่า “ไม่ได้อยู่ดอก ท่านอาจารย์มหาเอ๋ย เพราะส่วนมาก จะขอพักด้วยเพียง ๓ คืนเพื่อขอซักผ้า แล้วจะได้รีบไปหาพระอาจารย์ใหญ่มั่น เพื่ออยู่จำพรรษาต่อไปอีก ถ้ากระผมเฝ้าวัดอยู่นี้ ถ้าอาจารย์มหา นานกลับ ผมก็แย่ เพราะการไปหล่อพระ จะกี่วันก็บอกไม่ถูก เพราะมีผู้เฝ้าวัดแล้ว ท่านอาจารย์มหาก็เบาใจ บางทีก็มีจดหมายถึงกระผมว่าติดอันนั้นติดอันนี้ตะพึดตะพืออยู่ กระผมก็หมดหนทาง ขอรับ”

ว่าแล้วท่านก็หัวเราะว่า “เออ ปัญญาดีมาก ซักผ้าแล้วก็ไปซะ”

อุบายทรมานสัตว์โลก

ในเวลาพักอยู่วัดป่าสุทธาวาสนั้น ซักผ้าเสร็จในวันที่สอง พักอยู่ศาลามีห้องกั้นห้องหนึ่ง ตอนเช้าฉันเสร็จ วันหนึ่งได้ไปกราบพระพุทธรูปปางพระปาลิไลยก์ ที่ท่านทำเป็นรูปคอนกรีต มีรูปช้างถวายฝักบัว มีรูปลิงถวายรวงผึ้ง แล้วนั่งพิจารณาตามกระแสอตีตารมณ์ ว่าช้างนั้นเป็นสัตว์เดรัจฉาน ยังมีข้อวัตรปฏิบัติพระองค์ ถวายฝักบัว หมอบลงเรียบร้อย คุดคู้ ยกงวงนอบน้อมอ่อนโยน ไม่ได้แข็งกระด้าง และก็จะได้เป็นพระปัจเจกในอนาคตด้วย ส่วนลิงก็ถวายรวงผึ้งสองมือโดยเคารพ พอถวายแล้วพระองค์ทรงฉัน ลิงดีใจ กระโดดขึ้นต้นไม้ เต้นไปมา พลัดตกตายคาที่ ได้ไปเกิดเป็นเทวบุตร

เห็นไหม พระองค์ก็ดี หนีจากพระเมืองโกสัมพี ที่บอกอยาก สอนยาก แตกกันเป็นสองฝ่าย ทางละ ๕๐๐ สอนให้สามัคคีกันก็ไม่ฟังเลย พระองค์มิได้วินิจฉัยให้ทางนั้นทางนี้แพ้และชนะ เพราะเห็นว่าเป็นอาบัติเล็กน้อย และแต่ละฝ่ายก็มีบริวารทางละ ๕๐๐ เท่ากัน จึงไม่ทรงตัดสิน ถ้าตัดสินให้ทางใดทางหนึ่งแพ้และชนะแล้ว อธิกรณ์จะกำเริบ

เห็นอยู่ทางเดียวว่า ถ้าเราหนีจากพวกนี้ไปด้วยฝีเท้า เข้าป่ารักขิตวัน จำพรรษาอยู่ผู้เดียว ญาติโยมเขาจะดูถูกพระพวกนี้เอง ว่าเป็นด้วยพระพวกหัวดื้อ นี้พระองค์จึงได้หนีไป แล้วเขาจะไม่ให้บิณฑบาต แล้วพระพวกนี้จะเห็นโทษเอง ต่างฝ่ายต่างก็จะมายอมกันเอง ไกล่เกลี่ยกันเอง ระงับกันด้วยติณวัตถารกวินัยโดยแน่แท้

เมื่อทรงอนาคตังสญาณ ญาณในส่วนอนาคต อย่างนี้แล้ว จึงได้หนีไป มิได้หนีไปด้วยความหมดประตูจะระงับอธิกรณ์เลย

โอ้ พระองค์ อุบายทรมานสัตว์โลกนี้มีมากมายสมภูมิแท้ ๆ อุบายแบบบรรจง อุบายแบบขี่ข่ม อุบายแบบวางเฉย อุบายแบบยกย่อง อุบายต่อล้อต่อเถียง อุบายแสดงยมก อุบายดักใจทายใจ อุบายไล่หนี อุบายปลอบโยน อุบายหนีด้วยฝีเท้าพระองค์เอง คือเรื่องปาลิไลยก์ ที่เรานั่งพิจารณาอยู่เดี๋ยวนี้

เมื่อนั่งพิจารณาอยู่ต่อหน้าพระปฏิมากรอย่างนี้ น้ำตาข้าพเจ้าก็ไหลอยู่ไม่ขาดสาย อยู่ผู้เดียว เป็นเวลานานประมาณ ๑๕ นาที แต่ระวังเกรงท่านอาจารย์มหาไพบูลย์จะเห็น นี้มันเป็นอย่างนี้ นิสัยของข้าพเจ้า ออกปฏิบัติทีแรกเป็นบ้าอย่างนี้ บ้าอย่างนี้ยาปรมัตถ์ทางพระพุทธศาสนาคงรักษาได้ไม่ยากเท่าไรนักกระมัง คงไม่เหมือนบ้าประสาท

เมื่อหลวงปู่รับกิจนิมนต์

ครั้นพักอยู่วัดป่าสุทธาวาส ๓ คืนแล้ว ฉันเช้าเสร็จก็กราบลาไป ลัดผ่านสนามบินไปวัดป่าธาตุนาเวง แต่ไม่พัก ข้ามบ้านนาหัวบ่อ แล้วแวะทางซ้ายข้ามบ้านพอก พักนอนบ้านคำข่า พักวัดป่าร้างที่ท่านพระอาจารย์ดีสร้างไว้ พักหนึ่งคืน ตื่นเช้าได้เวลา เข้าไปบิณฑบาตบ้านคำข่าพอไปได้ ๒ เรือน เขามาแย่งบาตรไปที่เรือน เขาทำบุญบ้านเขา

“ขออภัยที่มาหิ้วเอากลางทาง เพราะไม่รู้จักว่าพระคุณเจ้ามา เห็นจะมาค่ำนะขอรับ”

“เออ อาตมามาค่ำจริง พบเด็กคนหนึ่ง เขาชี้ที่พักวัดร้างให้ อาตมาไม่ได้ดื่มน้ำ ไม่ได้ล้างหน้า ไม่ได้สรงน้ำด้วย ถ้าจะให้อาตมาไปจริง ๆ ก็เอาน้ำมาที่ชายป่านี้ ให้อาตมาล้างขาล้างหน้าบ้าง”

เขาเอาน้ำมาโดยด่วน เขาบอกว่า “น้ำสะอาดไม่มีตัวสัตว์ดอก”

บ้านเขาอยู่กลางป่าละเมาะ กำบังที่ไหนก็ได้ ล้างเช็ดแล้วก็ไปเรือนเขา แต่เขาก็ล้างเท้าให้อยู่ มีพระอยู่เรือนทำบุญเขาประมาณ๘ องค์ ไม่ได้สวดพาหุง เขาเอาบาตรตั้งไว้แล้ว ใส่บาตรเสร็จ รับศีลห้าแล้วถวายเป็นสังฆัสสะ ข้าพเจ้าขอโอกาสพระท่านอุปโลกน์

ท่านบอกว่า “เคยข้ามถ้ำขามลูกนั้นไปกราบหลวงปู่มั่นอยู่บ่อย ๆ ทั้งโยมด้วย ทั้งพระด้วย”

พอเสร็จการฉันแล้วเขาเอาผ้ามาถวายไตรหนึ่งและเทียนผึ้ง ผ้าในกองบุญนั้นมีอยู่ประมาณ ๕ ไตร มูลค่าประมาณ ๓๐๐ บาท สมัยเงินแพง

ข้าพเจ้ารับกับเขาเป็นพิธีแล้วกล่าวว่า “อาตมารับโดยเคารพแล้ว จะพลิกใจถวายพระเณรเราต่อโดยเคารพเดี๋ยวนี้ เพราะสบงจีวรก็ตัดเย็บย้อมไปจากหลวงปู่มั่น ปีนี้มิได้พอขาดเขินดอก อาตมาเดินทางมาพบเหตุก็ว่าได้”

เขาตอบว่า “เป็นบุญของพวกกระผมบันดาลเอง พวกกระผมมิได้วิจารณ์พระคุณเจ้าในทางแง่ร้ายเลยครับ จะอย่างไรก็สนองให้พวกกระผมบ้าง”

“อาตมาก็ไม่ได้อวดมักน้อยเลย และก็มิได้อวดร่ำรวยเลย พระเณรของเรานี้ก็มีมาก เอาไว้วัดเรานี้แหละ ถ้าอาตมาฝืนเอาไป หลวงปู่มั่นและครูบาจารย์ในวัดป่าบ้านหนองผือ ก็จะวิจารณ์อาตมาอีก คล้ายกับว่า ไปเที่ยววิเวกหารายได้ปัจจัยสี่ และก็จะกลับวัดเดิมอยู่แล้วซ้ำ”

“ถ้าอย่างนั้น พวกกระผมจะฝากมูลค่าไปทีหลัง”

“เออ ก็ยิ่งไปใหญ่อีกละ หนีเสือก็ไปพบราชสีห์”

“ถ้าอย่างนั้นก็เอาผึ้งก้อนนี้และเทียนเล่มบาทคู่นี้ซะ”

“เออ จะเอาแต่เทียนเล่มบาทคู่นี้แหละ จะเอาไปทำวัตรหลวงปู่ ให้พวกท่านได้บุญด้วย”

ก็เลยเหมาะกันในเรื่องนี้พอดีพองาม

แล้วก็ลาจากกัน เขาบอกว่า จากนี้ไปหาหลวงปู่มั่นก็ภายในเที่ยงวันก็ถึงดอก เขาให้คนไปส่งคนหนึ่ง ออกจากบ้านเขาตรงทิศตะวันตก ล่องชายเขาเป็นป่าบ้าง ป่าไม้ไร่เลยป่าไป เขาไปส่งประมาณ ๖ เส้นพอจะไม่หลงแล้ว ก็บอกเขากลับคืน

เขาบอกว่า “อย่าหลงปลีกเส้นนี้เลยขอรับ” แล้วเขาก็กลับ

ตั้งหน้าเดินภาวนา พอไปอีกประมาณ ๑๕ นาที มีหนองน้ำใหญ่อยู่ข้างซ้ายมือ ไกลจากทางประมาณ ๕ วา ควายนอนน้ำเต็มอยู่ประมาณสิบตัว มีแต่ตัวอ้วน ๆ ล่ำ ๆ ทั้งนั้น พอเห็น มันก็ลุกพรึบ ขึ้นผินหน้าสู้ แกว่งเขาใส่

ทั้งเดินทั้งพูดกับควายว่า “กูก็ไปตามกู สูก็อยู่ตามสู อย่าได้มีเวรมีภัยแก่กัน”

แล้วก็ผ่านพ้นไป ไม่มีอันตรายใด ๆ แล้วเดินทางไปอีกประมาณ ๑๕ นาทีก็เข้าป่าไผ่ อนิจจาทุกขา บันดาลหลงทาง ไม่รู้ว่าเส้นใดต่อเส้นใด สับสนกัน หลงไปหลงมา วนเวียนอยู่ในป่าไผ่ หลงอยู่นั้นประมาณ ๑๕ นาทีอีก และก็เป็นฤดูร้อนแล้ว เหงื่อแตกโชกโชน ป่าไผ่นั้นไม่มีลมโกรกเลย ร้อนอบอ้าว ได้ยินเขาฟันขวานเปิง ๆ อยู่ไกลประมาณ ๘ เส้น รีบตรงไปหาเขา เกรงเขาจะเงียบก่อน แต่ไปยังไม่ถึงเขา เขาหยุดฟันก่อน แล้วก็ยืนดักฟัง ได้ยินเสียงพูดกัน รีบเข้าไปอีก จึงเห็นตัวเขา ผัวกับเมีย มีลูกผู้ชายคนหนึ่งประมาณ ๖-๗ ปี

พอเขาเห็น เขาก็ถามเลย “มาจากไหนขอรับ”

“มาจากบ้านคำข่า”

“เออ พวกกระผมก็อยู่บ้านคำข่านั้นเอง มาล้อมรั้วไร่ ท่านจะไปไหน”

“จะไปหาหลวงปู่มั่น บ้านหนองผือ ออกไปเที่ยววิเวกจากองค์ท่านนั้นเองแต่เดือน ๑๒ แต่ออกไปทางบ้านพระคำภู เดี๋ยวนี้หลงทางแล้ว ขอให้โยมช่วยบอกจะเป็นกุศลมิใช่น้อยเลย เพราะโชกโชนวนเวียนอยู่ในป่าไผ่นี้นานแล้ว”

ว่าแล้วโยมก็สั่งภรรยาว่า “จงอยู่กับลูกนี้สักประเดี๋ยว เราจะไปส่งพระ”

แล้วเขาจะสะพายเอาบาตร เลยพูดกับเขาว่า “บาตรเบา ๆ ดอกไม่หนัก จงถือเอามีดเดินออกก่อนอาตมา เล็ดลอดไปตรงไปใส่ทางก็พอเหมาะแล้ว เพราะโยมทำงานฟันขวานเปิง ๆ อยู่ก็คงเหนื่อยมากแล้ว”

เขาไปส่งประมาณ ๑๐ เส้นก็ถึงหลังเขา ก็พบหนทางสว่างใจมาก พูดกับเขาว่า

“โยมเอ๋ยอาตมารู้แล้ว สว่างจ้าในสัญญาความจำเพราะหมู่พระอาจารย์มหาได้พามาเอาตราด (ไม้กวาด) ทีนี้ อาตมาได้นั่งมัดเอาตราดอยู่ที่ก้อนหินก้อนนี้”

โยมยกมือใส่หัวแล้วกลับไป ให้พรโยมย่อ ๆ พอเหมาะเวลา