#echo banner="" ประวัติหลวงปู่คำดี ปภาโส จากหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ 2

ประวัติหลวงปู่คำดี ปภาโส  ๒

ตามที่ตีพิมพ์ไว้ในหนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ

พระครูญาณทัสสี (หลวงปู่คำดี ปภาโส)

วัดถ้ำผาปู่ ต.นาอ้อ อ.เมือง จ.เลย

วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๘

    ๒

จวนจะเข้าพรรษา ปี พ.ศ. 2480 ท่านไปจำพรรษา ที่วัดอภัยวัน บ้านทุ่ม กับท่านอาจารย์ สุภี การอยู่ท่านไม่เอาธุระอะไรทั้งนั้น เรื่องสาระในวัดก็มอบให้ท่านอาจารย์สุภีหมด ท่านหลวงปู่คำดี เพียงแค่อยู่อาศัยจำพรรษา และภาวนาเฉย ๆ ตกลงหลวงปู่จำพรรษาวัดอภัยวันบ้านทุ่มหนึ่งพรรษา เมื่อออกพรรษาแล้วท่านก็เดินธุดงค์ เพื่อแสวงหาที่วิเวกไปเรื่อย ๆ ตามอัธยาศัยของท่าน ท่านธุดงค์ไปเรื่อย ๆ ไปเจอที่วิเวกเอาที่ถ้ำกวาง บ้านหินร่อง อำเภอภูเวียง เขตขอนแก่น

ปี พ.ศ. 2481 ท่านจำพรรษาที่วัดถ้ำกวาง บ้านหินร่อง ตำบลเมืองเก่า อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น ครั้งแรกท่านอยู่องค์เดียว อาศัยญาติโยมชาวบ้านหาร้านที่พักให้ชั่วคราว ต่อมามีหมู่คณะไปอยู่ด้วย มีพระ 3 องค์ ตาปะขาว 1 คน ถ้ำกวางนี้เป็นสถานที่ที่มีป่าทึบรกชัฏมาก ห่างไกลจากหมู่บ้านประมาณ 2 กม. ก่อนที่ท่านจะมาถ้ำกวางนี้ ท่านมุ่งมั่นทำความเพียรอย่างเดียว ยอมสละชีพเพื่อพรหมจรรย์ เพื่อมรรคผลนิพพาน ท่านได้ตั้งสัจจะอธิษฐานอยู่จำพรรษาที่ถ้ำกวางนี้ 5 พรรษา ถ้าหากจะมีอุปสรรคอะไรเกิดขึ้น ท่านก็จะไม่ยอมหนีให้เสียสัจจะโดยเด็ดขาด

การจำพรรษาที่นี่ท่านได้ปฏิบัติภาวนาอย่างชนิดที่เรียกว่าแบบเอาเป็นเอาตายเลยทีเดียว จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2483 ท่านได้เป็นไข้มาลาเรียอย่างหนัก แม้แต่หมู่คณะของท่านทุกองค์ก็เป็น ไม่มีใครดูแลกันได้เลย ได้อาศัยชาวบ้านหินร่องมาช่วยอุปัฏฐากดูแล ต่อมาพระ 2 รูป มรณภาพ และตาปะขาว 1 คน ได้ตายจากไป ส่วนพระที่ยังไม่ตายต่างก็หนีไปที่ต่าง ๆ ไม่มีใครกล้าอยู่เพราะกลัวไข้มาลาเรียกัน สำหรับหลวงปู่ได้มีญาติโยมมาอ้อนวอนให้หนี แต่หลวงปู่อธิษฐานไว้แล้ว ท่านอยู่ของท่านองค์เดียวตลอดฤดูแล้ง

พอจวนจะเข้าพรรษามีพระไปร่วมจำพรรษาอีก 4 รูป ตาปะขาว 1 คน คือ พระอ่อน หลวงตาสีดาฯ หลวงตาช่วงฯ ตาปะขาวบัวฯ (หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ วัดป่าหนองแซง จังหวัดอุดรธานี) ได้ร่วมกับเพื่อนพระด้วยกันปฏิบัติภาวนาจนกระทั่งออกพรรษา ปีนั้นญาติโยมนิมนต์ไปงานกฐินที่บ้านกุดดุก ตำบลหว้าทอง อำเภอภูเวียง พอกฐินเสร็จเกิดอาการจับไข้อีก เกือบไม่รอด ชาวบ้านไปหาหมอพื้นบ้านตำบลนั้นหมด ก็ไม่มีหมอคนไหนกล้ารักษา มีแต่เขาเห็นว่าจะไม่ไหวแล้ว กลัวจะกำเริบใหญ่ สมัยนั้นไม่มีหมอรักษา มีแต่หมอเถื่อนเขาไปตามมารักษา หมอให้ยาถ่ายเวลาประมาณ 5 โมงเย็น

พอฉันยาถ่ายลงไปถ่ายมาก ถ่ายตลอดทั้งคืน ถึงเวลารุ่งหมดกำลัง พอสว่างก็ยังถ่าย สังเกตเห็นถ่ายมีเลือดปนเป็นฟองสีจาง ๆ ถ่ายเป็นเลือดออกมาด้วย ชาวบ้านพากันตกใจว่าจะไม่รอด

ได้ตามหาหมอกันอีก ได้ทราบว่ามีหมออพยพต่างถิ่นคนหนึ่ง ไม่รู้ว่าย้ายมาจากไหนมาอยู่บ้านโป่งได้ไม่นาน จึงไปนำหมออพยพต่างถิ่นมาถึงกุฏิที่พักท่าน หมอใช้ยารากไม้ต้องฝนไว้หลาย ๆ ถ้วย ใส่ขันบ้างใส่ถ้วยบ้าง ปกติขณะป่วยหนัก กินน้ำไม่ได้กินไม่แซ่บไม่อร่อย เมื่อได้ฉันยาของเขาเป็นเหมือนกับธรรมชาติเหมือนกับกระหายน้ำมาจากป่าจากดง มีรสดี เย็นดี

ตอนแรกเขาก็ไม่ให้ฉันมาก ท่านได้ขอเขาฉันอีก เขาเอาขันอื่นมาให้ ฉันไม่ได้มีกลิ่นคาว ๆ พอฉันยาขันนั้นดูเหมือนหอม รสดี

หมอบอกว่า ถูกยาแก้แล้ว ได้ขอน้ำอีก พอตื่นเช้าค่อยรู้สึกเบาตัว จิตใจปกติแต่อ่อนเพลียลุกไม่ได้

ญาติโยมผู้เฒ่าผู้แก่จากขอนแก่นพากันไปเยี่ยม ต่างพากันน้ำตาตก เห็นร่างกายท่านซูบผอมมาก แต่ระยะที่ไปเยี่ยมนั้นมีอาการทุเลาลงบ้างแล้ว เรียกว่าถูกยาเขาแล้ว อาการจะหายไปบ้างแล้ว แต่พูดไม่ออก ไม่ได้ยินเสียง การส่งข่าวเล่าเรื่องอาจารย์ ต้องมีคนเอียงหูฟังใกล้ ๆ จึงบอกเล่าแก่พวกผู้หญิงผู้ชายที่ไปเยี่ยมฟังจึงรู้ ญาติโยมชาวบ้านกดดุกได้อุปถัมภ์ค้ำชูดูแลอาหารของท่านตลอดจนอาหารการฉันดีมากจนมีกำลังแข็งแรง เป็นปกติ

พอหายได้ท่านก็กลับคืนถ้ำกวางไปอยู่วัดบ้านหนองบัวน้อย บ้านโยมอุปัฏฐากที่ภูเวียงอีก อาการไข้กลับเป็นซ้ำเรื้อรังอีก บางครั้งก็เป็นไข้เรียงวัน (เรียง = ทุกวัน) บางครั้งก็บาวัน (บา = เว้น) ถึงเวลาไข้มันก็ไข้ แต่ก็ฉันอาหารได้บ้างแล้วมีกำลังพอสมควร

ในขณะอยู่ถ้ำกวาง บ้านหินร่อง กลางฤดูแล้ง ปี พ.ศ. 2484 คิดอยากจะไปวิเวกที่ “ภูเก้า” ขณะนั้นไข้ยังไม่หายดี ก่อนไปคิดเสียสละตัดสินใจไป หากจะเป็นอย่างไรก็ยอมเป็น จะหายก็หาย จะตายก็ตาย ตัดสินใจอย่างนั้นก็เล่าให้ลูกศิษย์ซึ่งเป็นไข้เหมือนกันฟัง

“ผมจะไปภูเก้า ท่านจะไปด้วยไหม ถ้าผมไปผมยอมสละชีพได้นะ จะหายก็หายจะตายก็ตาย หากถึงภูเขาและถ้ำแล้ว ถ้าลงบิณฑบาตไม่ได้ ผมก็ไม่ลง หากชาวบ้านเขาไม่เ่อาอาหารมาส่งผมก็ไม่ฉัน”

โสสุดอย่างนี้ก็ตกลงไปด้วยกัน (โสสุด = ตั้งใจแน่นอน)

การเดินทางจากถ้ำกวางไปภูเก้า ยากลำบากมาก เพราะยัั้งเป็นไข้ด้วยกันทั้ง 2 ถ้าท่านเป็นไข้ก่อน ลูกศิษย์ก็ปูผ้าอาบน้ำให้นอนไข้เสียก่อน (นอนพักขณะเป็นไข้) กลัวจะไม่ถึงนัดหมายเมื่อไข้หานก็เดินทางต่อไป เดินไปได้ระยะไม่ไกลลูกศิษย์ก็จับไข้บ้าง ต้องนอนพักผ่อนอีก ช่วยกันไปตามกำลัง

จะด้วยอำนาจการสละชีพเพื่อศาสนา หรือเป็นด้วยกุศลผลบุญของท่านก็ตามพอย้ายจากบ้านกุดดุกไปพักอยู่หมู่บ้านเชิงภูเขา ชื่อบ้านหนองกุง ก็มีญาติโยมผู้เฒ่าผู้แก่มาเยี่ยม ได้เล่าให้ฟังว่าเป็นไข้ แต่ก็เลยมาหายไข้ที่นี่ ตื่นเช้ามันเคยไข้ไม่ไข้ สามารถขึ้นภูเขาได้ เที่ยวบิณฑบาตทางไกลประมาณร้อยกว่าเส้นได้

ท่านได้มาวิเวกที่ถ้ำพระ ถ้ำหามต่าง ภูเก้า อำเภอโนนสัง จังหวัดอุดรธานี เป็นเวลา 3 เดือน ถ้ำนี้ก็กันดารมากพอสมควร และอยู่ห่างไกลจากหมู่บ้าน การบิณฑบาตต้องอาศัยชาวไร่สามสี่หลังคาเรือนเขาใส่บาตรให้ฉัน พออยู่ไปได้วัน ๆ เท่านั้นอาหารอิ่มบ้างไมอิ่มบ้าง แต่ท่านก็ไม่รู้สึกอาทรร้อนใจ เพราะว่าท่านมุ่งหน้ามาทำความเพียร จิตท่านจึงไม่กังวลเรื่องอาหารของฉันเท่าใดนัก

ที่ถ้ำภูเก้านี้มีสัตว์ต่าง ๆ นานาชนิด เช่น ช้าง เสือ ลิง ค่าง วันหนึ่งประมาณ 3 ทุ่ม มีฝูงช้างมาเที่ยวหากินอาหาร ผ่านที่ท่านอยู่ ขณะฝูงช้างหาอาหารกินใกล้เข้ามา เหล่าช้างใหญ่น้อยเมื่อมันเห็นว่ามีคนอยู่ที่นั้นต่างก็ตกใจพากันวิ่งเตลิดหนีไป แต่มีช้างใหญ่ตัวผู้ตัวหนึ่งเข้าใจน่าจะเป็นหัวหน้าฝูงไม่ยอมหนี รู้สึกว่ามันจะโกรธมาก มันได้เดินตรงมาที่ท่านอาศัยอยู่ ด้วยความกลัวมากและตกใจจนตั้งสติไม่อยู่ ท่านได้วิ่งขึ้นไปบนหิน ใกล้ ๆ หินก้อนนั้นก็สูงพอสมควร ด้วยอาการกลัวตายจึงวิ่งขึ้นไปได้

ท่านยืนบนก้อนหินสักพักพอหายเหนื่อย ท่านจึงได้สติท่านจึงหันหน้ามองไปทางช้างแล้วก็แผ่เมตตาให้กับมัน พร้อมกับบอกว่า

พ่อช้าง..เรามาที่นี่ ไม่ได้มารบกวนท่าน แต่เรามาเพื่อประกอบความเพียรเพื่อความสงบ ขอท่านไปตามทางของท่านเถิด ส่วนเราก็จะอยู่ทางของเรา ต่างคนต่างอยู่โดยไม่เบียดเบียนกัน ขอให้ท่านจงเป็นสุขอยู่ตลอดปลอดภัยเถิด

สักพักหนึ่งช้างเชือกนั้นก็ค่อย ๆ จากไปและตั้งแต่วันนั้นจนกระทั่งออกจากภูเก้า ช้างหัวหน้าฝูงเชือกนั้น ก็ไม่เคยผ่านมารบกวนอีกเลย

เมื่อออกจากถ้ำหามต่าง ภูเก้า ท่านลงจากภูเขาไปพักบ้านท่าเสี้ยว ลูกศิษย์เดินทางล่วงหน้าไปก่อน เพราะท่านเดินไม่ทันเขา เมื่อเดินไปพบหมู่บ้านท่าเสี้ยวได้พักผ่อนมีแรงแล้วจึงเดินทางต่อไปยังบ้านดงกลาง ลูกชายของโยมอุปัฏฐากซึ่งเป็นครู มีครอบครัวอยู่บ้านดงกลาง มีงานทำบุญหาเงินสร้างบ้าน บิดา มารดา ญาติพี่น้องมาร่วมงานด้วย

ท่านและลูกศิษย์ได้รับนิมนต์ไปร่วมงานนี้ด้วยเช่นเดียวกัน เมื่อเสร็จงานแล้วโยมอุปัฏฐากจึงรับท่านและลูกศิษย์กลับจำพรรษาที่ถ้ำกวาง และตั้งแต่ท่านหายไข้ครั้งนั้นแล้วท่านก็ไม่เคยเป็นไข้อีก ตลอดจนลูกศิษย์ของท่านก็ไม่เป็น นับว่าอัศจรรย์ และท่านก็ได้อยู่จำพรรษาทำความเพียรภาวนาด้วยความเจริญก้าวหน้าตลอดมาจนกระทั่งครบ 5 พรรษาตามที่ท่านได้อธิษฐานจิตไว้

ปี พ.ศ. 2486 หลวงปู่ท่านได้ไปจำพรรษาที่วัดป่าชัยวัน อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เนื่องจาก โยมพิม โยมโสดา และท่านนายอำเภอหา บุญมาชัย มานิมนต์ท่านให้ไปจำพรรษาที่วัดนี้ ท่านพิจารณาแล้วเห็นว่าสิ้นสุดเวลาที่ท่านตั้งสัจจะไว้แล้ว ท่านจึงรับนิมนต์ ญาติโยมเหล่านั้นก็เตรียมรถไปรับท่านที่บ้านเมืองเก่า เพราะทางที่เข้าไปถ้ำกวางเป็นทางเกวียน รถยนต์เข้าไปไม่ได้ หลวงปู่ได้มาอยู่ที่วัดป่าชัยวันเพื่อฉลองศรัทธาญาติโยมชาวขอนแก่น 9 พรรษา ในระหว่างที่จำพรรษาท่านได้อบรมสั่งสอนให้ญาติโยมทำสมถวิปัสสนาู รู้สึกว่าญาติโยมเข้าใจและยึดมั่นถือมั่นในธรรมะคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากันดีพอสมควร

ปี พ.ศ. 2494 ท่านได้ลาญาติโยมชาวขอนแก่นไปจำพรรษาที่วัดป่าอรัญวาสี บ้านเหล่านาดี ตำบลบ้านหว้า อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นบ้านเกิดของท่านเพราะตั้งแต่ท่านได้จากไปเป็นเวลานานหลายปี ท่านเพิ่งจะกลับครั้งนี้เพื่อโปรดญาติพี่น้องของท่าน

ปี พ.ศ. 2495 ท่านกลับมาจำพรรษาที่วัดป่าชัยวัน อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่นอีกครั้ง เพราะทายกทายิกาของวัดป่าซัยวันนิมนต์กลับมา เมื่อออกพรรษาปีนั้นท่านก็ออกธุดงค์ไปทาง ภูพานคำ อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น ท่านไปพบสถานที่ชื่อ คำหวายยาง ภูพานคำ ท่านเห็นว่าเป็นที่เงียบสงบร่มรื่นดี เหมาะเป็นที่วิเวก สัปปายะดีมาก เหมาะกับการปฏิบัติธรรม ท่านจึงพักอยู่ที่นั่น

ปี พ.ศ. 2496-2497 หลวงปู่จำพรรษาที่วัดคีรีวันคำหวายยาง บ้านปากช่อง บ้านหนองผือ ตำบลบ้านกง อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น อยู่จำพรรษาได้สองพรรษา มีญาติโยมชาวขอนแก่นที่ศรัทธาท่าน เมื่อทราบว่าท่านไปอยู่ที่คำหวายยาง ภูพานคำต่างก็ตามไปกราบนมัสการท่าน ไปเห็นสถานที่ที่ท่านอยู่อาศัย ปลูกด้วยเพิงอยู่อาศัยชั่วคราว ญาติ โยมเห็นว่าเป็นสถานที่สงบร่มรื่น เหมาะกับการปฏิบัติภาวนาทำความเพียร ประกอบกับหลวงปู่ชอบเพราะเป็นที่สัปปายะดี ญาติโยมจึงมีศรัทธาที่จะก่อสร้างวัดให้ท่าน โดนมีเถ้าแก่เข่ง เป็นประธานด้านการก่อสร้างศาลาการเปรียญ โบสถ์ หอระฆัง กุฏิ ที่อยู่อาศัยของพระเณรที่ไปปฏิบัติธรรมประมาณ 20 หลัง และทำฝายน้ำสำหรับกักเก็บน้ำไว้ใช้ด้วย นับว่าญาติโยมชาวขอนแก่น ด้วยการนำของเถ้าแก่เข่งมีจิตใจเลื่อมใสหลวงปู่ฯ และเลื่อมใสฝักใฝ่ในพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก

ในระหว่างจำพรรษาท่านพิจารณาแล้วเห็นว่า มีสิ่งก่อสร้างมากขึ้นจะเป็นภาระหนัก ประกอบกับท่านเป็่นพระมักน้อย ชอบสันโดษ อีกทั้งต้องการเร่งความเพียรเพื่อมรรคผลนิพพาน ถ้าอยู่ต่อไปจะทำให้ติดวัตถุ จะถอนตัวไม่ขึ้น แต่เรื่องนี้ท่านคิดอยู่ในใจ และเมื่อออกพรรษาปีนั้นแล้ว ท่านจึงมอบวัดให้หลวงพ่อหา บุญมาชัย อยู่ดูแลแทน ในคราวนั้นท่านได้กลับมาพักที่วัดป่าชัยวันชั่วคราว เพื่อท่านจะออกไปหาสถานที่วิเวกต่อไป

ในระหว่างที่ท่านจำพรรษาอยู่ที่คำหวายยางนั้น ในฤดูแล้งท่านออกธุดงค์ไปทางคำเม็ก ถ้ำวัวแดง เขตภูพานคำ อยู่ห่างจากวัดไปประมาณ 10 กม. ไม่ค่อยมีหมู่บ้านอยู่ใกล้ ต้องอาศัยบิณฑบาตกับตาปะขาว 15 วัน จึงมีญาติโยมไปทำบุญครั้งหนึ่ง นับว่าเป็นสถานที่กันดารมาก ที่ป่าแห่งนี้ก็เหมือนกับป่าหลาย ๆ แห่ง คือมีทั้ง ช้าง เสือ หมี หมูป่า ลิง ค่าง และสัตว์เล็กอื่น ๆ อีกมากมาย พระก็อยู่ส่วนพระ ส่วนสัตว์เขาก็อยู่ของเขา ต่างคนต่างไม่เบียดเบียนกัน ไม่เกี่ยวข้องกันและกัน ต่างก็อยู่กันอย่างมีความสุข โดยพระก็จะสุขอยู่ในความเพียรภาวนาไป ส่วนสัตว์เขาก็มีความสุขในการหากินไปวันๆ

ด้วยอำนาจเมตตาของท่าน ไม่เคยถูกสัตว์รบกวนเลย อยู่ป่านี้ ท่านเคยพูดว่ามีเทพมารักษาเสมอ บางครั้งเขาก็ทำหน้าที่ปรนนิบัติอุปัฏูฐาก แต่เรื่องนี้ที่จะรู้ได้เป็นไปได้และเห็นได้เฉพาะท่านที่มีแสงสว่างภายใน หรือรู้ได้เฉพาะผู้ที่มีภูมิจิตภูมิธรรมแก่กล้าเท่านั้น

ธุดงค์ไปจังหวัดเลย

ในระหว่างที่ท่านกลับจากคำหวายยางแล้ว ออกพรรษาปี 2497 ท่านมาพักที่วัดป่าชัยวันนั้น ท่านเจ้าคุณอดิสัยคุณาธาร เจ้าอาวาสวัดเลยหลงวัดศรีสุทธาวาส พระอารามหลวง จังหวัดเลย ท่านได้เดินทางจากจังหวัด เพื่อจะไปตรวจปัญหาธรรมที่จังหวัดนครราชสีมา ท่านได้มาและพักที่วัดป่าชัยวันกับหลวงปู่คืนหนึ่ง ท่านเจ้าคุณอดิสัยคุณาธาร หลวงปู่ศรีจันทร์ วณฺณาโภ วัดศรีสุทธาวาส (พระอารามหลวง) ตำบลกุดป่อง อำเภอเมือง จังหวัดเลย ชื่อเดิม ศรีจันทร์ จันทิหล้า เกิดวันพุธที่ ๑๘ มกราคม ๒๔๔๗ ณ บ้านฟากเลย ต.วังสะพุง อ.วังสะพุง จ.เลย บิดาชื่อ อมาตย์ เพี้ยฤทธิ์ มารดาชื่อ นางตุ จันทิหล้าในปี พ.ศ. ๒๔๖๑ ได้เข้าบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดศรีชมชื่น ต.วังสะพุง อ.วังสะพุง จ.เลย ได้รับความเมตตาจากพระครูหวาด เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านจึงเข้าศึกษาทางด้านปริยัติธรรม การศึกษาพระวินัยนั้น ท่านได้สนใจในด้านการปกครองหมู่คณะ ท่านจึงได้เดินทางมาอยู่จำพรรษาที่กรุงเทพ และได้พำนักที่วัดสัมพันธวงศ์ ภายหลังท่านได้รับเมตตาอันสูงสุด ให้ได้แปรญัตติเป็นสามเณรฝ่ายธรรมยุติ โดยได้รับพระเมตตาจากพระเดชพระคุณสมเด็จพระสังฆราช เจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ วัดศรีสุทธาวาสได้รับคัดเลือกเป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง เมื่อ พ.ศ.2512 และได้รับการสถาปนาเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญเมื่อ พ.ศ.2536 หลวงปู่ศรีจันทร์ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์จากเดิม พระครูอดิสัยคุณาธาร เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่พระอดิสัยคุณาธาร เมื่อ พ.ศ.2491 เลื่อนเป็นชั้นราชที่ พระราชคุณาธาร เมื่อ พ.ศ.2503 เลื่อนเป็นชั้นเทพที่ พระเทพวราลังการ เมื่อ พ.ศ.2517 และท้ายสุดเลื่อนเป็นชั้นธรรมที่ พระธรรมวราลังการ เมื่อ พ.ศ.2534และท่านอยู่ในสมณศักดิ์นี้จนถึงมรณภาพอย่างสงบ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2544  (ปัจจุบันเลื่อนยศเป็นพระเทพวราลังการ รองเจ้าคณะภาค 11)

หลวงปู่จึงเรียนถามว่า สถานที่วิเวกทางจังหวัดเลย ที่ไหนพอจะเป็นที่วิเวกประกอบความเพียรได้สะดวกบ้าง

พระเดชพระคณเจ้าคุณอดิสัยคุณาธารจึงเล่าให้ท่านฟังว่า มีหลายแห่งเป็นถ้ำสำคัญ ๆ ทั้งนั้น แต่ระยะนี้ไม่ค่อยมีพระอยู่ มีบ้างก็ไป ๆ มา ๆ กัน ไม่ค่อยอยู่เป็นประจำ เพราะถ้ำเหล่านี้เป็นที่กันดารมาก น้ำก็ขาดแคลน อาหารก็ลำบาก พระจึงอยู่กันไม่ได้ ถ้ำนี้มี 3 แห่ง คือ

ถ้ำมโหฬาร อำเภอวังสะพุง

ถ้ำผาบิ้ง    ------ ” ------

ถ้ำผาปู่     บ้านนาอ้อ อำเภอเมือง จังหวัดเลย

โดยปกตินิสัยของหลวงปู่ ท่านชอบที่กันดาร เพราะจะได้ทรมานกิเลสได้โดยปริยาย ท่านได้ฟังท่านเจ้าคุณเล่า ท่านมีความสนใจมาก พอรุ่งเช้าท่านเจ้าคุณฉันอาหารเสร็จ ท่านก็เดินทางต่อไปจังหวัดนครราชสีมา ตามความประสงค์ของท่าน

ต่อมาหลวงปู่ก็ปรารภกับสานุศิษย์ของท่านหลายองค์ว่า "เราควรลองไปเที่ยววิเวกทางจังหวัดเลยกันเถอะ ผมได้ฟังท่านเจ้าคุณอดิสัยคุณาธารเล่าถึงสถานที่วิเวกให้ฟังคงจะภาวนาได้ดี" เมื่อท่านปรารภกับลูกศิษย์ท่านก็ถามว่า

"ใครฉะไปเที่ยววิเวกธุดงคกรรมฐาน จังหวัดเลยกับผมบ้าง ถ้าไปกับผมครั้งนี้ต้องเป็นผู้เสียสละขีพกับศาสนาจริง ๆ จึงจะไปกับผมได้ เพราะเมืองเลยเป็นไข้มาลาเรียกันมาก และยังเป็นถิ่นกันดารอีกด้วย"

เมื่อท่านพูดจบลงก็มีพระยอมสละชีพติดตามท่าน 6 รูป สามเณร 2 รูป ตาปะขาว 1 คน มีดังนี้

ท่านอาจารย์ท่อน ญาณธโร  หลวงปู่ท่อน ญาณธโร มีนามเดิมว่า ท่อน ประเสริฐพงศ์ เกิดวันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๑ ณ บ้านหินขาว ต.สาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น บรรพชาอุปสมบทเมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๙๑ ณ วัดศรีจันทร์ อ.เมือง จ.ขอนแก่น โดยมีพระเทพบัณฑิต (อินทร์ ถิรเสวี ป.ธ.๕) วัดศรีจันทร์ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูคัมภีรนิเทศ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระมหาสุพจน์ อุตตโม เป็นพระอนุสาวนาจารย์ สังกัดธรรมยุติกนิกาย

ภายหลังอุปสมบทแล้ว ท่านได้เดินทางไปพำนักจำพรรษาอยู่กับหลวงปู่คำดี ปภาโส ณ วัดป่าชัยวัน โดยหลวงปู่คำดีเป็นอาจารย์สอนให้ทำภาวนา นั่งสมาธิกัมมัฏฐาน ในช่วงออกพรรษา หฃวงปู่คำดีได้เป็นหัวหน้าพาออกเดินธุดงค์เข้าป่าเป็นกิจวัตร ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๙๗ หลวงปู่ท่อนได้อยู่จำพรรษา ณ วัดถ้ำผาปู่นิมิตร อ.เมือง จ.เลยกับหลวงปู่คำดีด้วย

ครั้งหนึ่งท่านได้มีโอกาสพบหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต บูรพาจารย์สายพระป่า และได้รับโอวาทอันทรงคุณค่าอย่างหาที่เปรียบมิได้จากหลวงปู่มั่นว่า “ให้เร่งทำความเพียร มิให้ประมาท ชีวิตนี้อยู่ได้ไม่นานก็ต้องตาย” หลังจากนั้น ท่านมีโอกาสได้ไปกราบเยี่ยมครูบาอาจารย์หลายท่าน อาทิ หลวงปู่ชอบ ฐานสโม, หลวงปู่หลุย จันทสาโร, หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี, หลวงพ่อมหาปิ่น ชลิโต เป็นต้น

เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๐ คณะศรัทธาญาติโยม ได้นิมนต์ให้หลวงปู่ท่อนไปอยู่ที่ป่าช้านาโป่ง อ.เมือง จ.เลย ซึ่งต่อมาได้สร้างเป็น “วัดศรีอภัยวัน” โดยหลวงปู่ท่อนได้จำพรรษาที่วัดศรีอภัยวันเรื่อยมา จนกระทั่งในปี พ.ศ.๒๕๕๘ ท่านได้เมตตามาจำพรรษาที่ วัดป่ามณีกาญจน์ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี ซึ่งนับเป็นโอกาสอันดียิ่ง ที่คณะศรัทธาทางกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีโอกาสได้ร่วมทำบุญกับท่าน รวมถึงได้รับโอวาทธรรมจากท่านอย่างใกล้ชิด

หลวงปู่ท่อน ญาณธโร ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นราช ในราชทินนามที่ “พระราชญาณวิสุทธิโสภณ” ในปี พ.ศ.๒๕๕๐ ปัจจุบัน ท่านสิริอายุ ๘๗ ปี พรรษา ๖๗ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดศรีอภัยวัน และที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดเลย (ธรรมยุต) เป็นพระเถราจารย์ผู้ใหญ่สายวิปัสสนากัมมัฏฐาน ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มีความเชี่ยวชาญด้านจิตตภาวนา การเทศนาธรรม และวิทยาคมอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ

ท่านอาจารย์สีทน สีลธโน  หลวงพ่อสีทน วัดถ้ำผาปู่นิมิตร จ.เลย เกิดในสกุล แข็งแรงดี เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2472 ที่บ้านหนองน้ำเค็ม ต.เชียงยืน อ.เมือง จ.ขอนแก่น

เมื่อ อายุได้ 17 ปี เข้าพิธีบรรพชา ที่วัดโพธิสมภรณ์ ต.เมือง อ.เมือง จ.อุดรธานี ภายหลังบรรพชาแล้ว ได้ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าโพธิ์ชัย บ้านหนองน้ำเค็ม หลังจากออกพรรษา เริ่มออกธุดงค์ไปทางจังหวัดหนองคาย ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดอรัญญวาสี กับหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี จ.หนองคาย เพื่ออบรมสมถกัมมัฏฐานและวิปัสสนากัมมัฏฐานกับหลวงปู่เทสก์ ก่อนย้ายกลับมาจำพรรษาที่บ้านเขว้า อ.เมือง จ.ขอนแก่น

พ.ศ.2492 ได้เข้าพิธีอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดศรีจันทร์ อ.เมือง จ.ขอนแก่น โดยมีพระพิศาลสารคุณ เป็นพระอุปัชฌาย์ หลังอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ได้ย้ายไปจำพรรษาอยู่ตามวัดป่าต่างๆ ในจ.ขอนแก่น

พ.ศ.2498 ได้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดถ้ำมโหฬาร อ.ภูกระดึง ปัจจุบัน คือ กิ่ง อ.หนองหิน จ.เลย และไปจำพรรษาอยู่ตามวัดป่าในจังหวัดเลย ครั้งหลังสุด หลวงพ่อสีทน ได้มาจำพรรษาปรนนิบัติรับใช้หลวงปู่คำดี ปภาโส ที่วัดถ้ำผาปู่ ต.นาอ้อ อ.เมือง จ.เลย

หลวงพ่อสีทน ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูอดิสัยคุณาธาร ต่อมา หลวงพ่อสีทน ได้ล้มป่วยอาพาธลง และมรณภาพที่โรงพยาบาลเลย เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2539 เวลา 07.10 น. สิริรวมอายุ 67 พรรษา 47

ท่านอาจารย์พลวง สิริปญฺโญ

ท่านอาจารย์เสน ฯ

ท่านอาจารย์นู ฯ

ท่านอาจารย์กอง จนฺทวณฺโณ

สามเณรทองอยู่ ฯ

ตาปะขาวแพง ฯ

วันที่ 10 มกราคม 2498 หลวงปู่พร้อมด้วยลูกศิษย์ดังกล่าวได้มุ่งหน้าเดินทางไปสู่จังหวัดเลย เพื่อแสวงหาความวิเวกโดยรถยนต์ของโยมเอื้อม-เฉลิม หมายบุญ ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของท่านครอบครัวหนึ่ง เป็นผู้ที่มีจิตศรัทธาอย่างแรงกล้านำส่งท่าน สมัยนั้นถนนระหว่างจังหวัดขอนแก่นถึงเมืองเลยเป็นถนนดินลูกรัง การคมนาคมลำบาก อีกทั้งถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ รถวิ่งเร็วไม่ได้ และถนนแคบมาก สองฟากข้างทางเป็นป่า ถนนหนทางทำไว้พอรถวิ่งได้เท่านั้น เวลาเดินทางบางครั้งก็พบฝูงช้างต้องบีบแตรรถยนต์ไล่ช้างหนี การเดินทางสมัยนั้นน่ากลัวมาก เพราะเป็นถิ่นทุรกันดาร

วันนั้นออกเดินทางจากขอนแก่นเวลา 10.00 น. ถึงบ้านหนองหิน ตำบลปวนพุ อำเภอภูกระดึง เวลาค่ำมืดพอดี พากันไปพักนอนที่วัดร้างกลางโคก บ้านหนองหิน 1 คืน รุ่งเช้าออกบิณฑบาตในหมู่บ้าน ซึ่งมีบ้านราว ๆ 30 หลังคาเรือน ญาติโยมในหมู่บ้านมีจิตศรัทธากันดี แต่ได้ข้าวเปล่าไม่มีกับข้าว จึงฉันกันตามมีตามเกิด พอช่วยให้ท้องอิ่มได้ ด้วยชีวิตของผู้เสียสละเพื่อเพศพรหมจรรย์แล้ว เรื่องอาหารน้อยหรือไม่มีอาหารขบฉันเลยถือเป็นเรื่องธรรมดา เพราะเรามาเพื่อมุ่งแด่ความเพียร เมื่อฉันจึงหันเสร็จแล้วเตรียมบริขารขึ้นรถออกเดินทางไปดูถ้ำมโหฬาร โดยโยมชาวหนองหินพาไปดู

พอเข้าไปถึงถ้ำเห็นแต่รอยพระอยู่เก่า กฏิรกร้างรุงรังพอสมควร และหลวงปู่พิจารณาดูแล้วยังไม่ปาก (ปาก = พูด) ชั่วครู่หนึ่งจึงกลับมายังบ้านหนองหิน และบ้านพ่อเลียน-แม่เลียน ผู้ใหญ่ดำ เขาขอนิมนต์หลวงปู่ แต่ท่านไม่รับนิมนต์ สักพักหนึ่งจึงลาโยมเหล่านั้นเดินทางต่อไปยังเมืองเลย โดยออกจากบ้านหนองหิน เวลาประมาณบ่ายโมง ถึงเมืองเลย 5 โมงเย็น การเดินทางสมัยนั้นล่าช้าผิดกับสมัยนี้มาก

ถึงวัดเลยหลงแล้วเข้านมัสการท่านเจ้าคุณอดิสัยคุณาธาร ขอพักค้างคืน 1 คืน พระเดชพระคุณท่านเมตตาอุปการะดีมาก รุ่งเช้าบิณฑบาตและฉันจังหันเรียบร้อยแล้ว พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณอดิสัยคุณาธาร จัดให้โยมนำทางไปยังวัดถ้ำผาปู่ มีโยมพ่อศึกษาประจักษ์ และอาจารย์คง บ้านปากภู นำออกจากวัด ก่อนออกจากวัด หลวงปู่อนุญาตให้ไปดูดลาดเมืองเลย โยมเอื้อม ฯ เจ้าของรถยินดีพาไปดูในเมือง ตลาดเขียวหวานไม่ค่อยมีผู้คน มีแต่อีกาเต็มไปหมด เสร็จแล้วออกจากตัวเมือง 12 กิโลเมตร จึงถึงวัดถ้ำผาปู่

ถ้ำผาปู่เป็นสถานที่ที่น่ากลัวมาก มีภูตผีปิศาจรุนแรงพอสมควร พระมาอยู่หลายรุ่นก็อยู่ไม่ได้ ถึงอยู่ได้ก็อยู่ไม่ได้นาน เพราะพวกอมนุษย์รบกวน แสดงตัวให้เห็นเป็นรูปต่าง ๆ นานา การเดินทางไปถึงวัดถ้ำผาปู่ลำบากมาก ถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ บางแห่งรกมากเอารถเข้าไปไม่ได้ ต้องจอดรถลงถางป่าก่อน จึงค่อยเอารถเข้าไป ถึงถ้ำเวลาบ่ายโมง

เมื่อถึงปากถ้ำ มีต้นไม้เถาไม้เลื้อยต่าง ๆ ปกคลุมอยู่รกมาก มองไม่เห็นอะไรหลวงปู่ท่านลงจากรถ ท่านยังไม่ให้เอาของลง หลวงปู่ท่านเดินตรวจดูสถานที่ก่อน เมื่อท่านเดินดูแล้วท่านพบพระพุทธรูปอยู่ในถ้ำ ไม่ทราบว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยใด เป็นพระเก่ามาก ท่านชอบใจ ท่านจึงให้เอาของลงจากรถ ท่านก็ให้ญาติโยมที่ไปส่งทำความสะอาดบริเวณหน้าถ้ำ พอได้เป็นที่พักอาศัยอยู่ได้ชั่วคราว

วันต่อมา ท่านเดินไปดูศาลาเก่าหลังหนึ่งชำรุดทรุดโทรมมาก ท่านขึ้นไปดูเห็นว่าพื้นยังดีอยู่พอพักอาศัยได้ ท่านให้ตาปะขาวทำความสะอาด แล้วหาหญ้ามามุงหลังคาพอกันแดดกันฝน ให้เป็นที่ฉันจังหันได้

หลังจากนั้นไม่กี่วัน ท่านก็เรียกลูกศิษย์ประชุม เพื่อที่จะให้แยกย้ายกันไปอยู่กันคนละแห่ง เพื่อให้มีโอกาสทำความเพียรกันได้เต็มที่ เมื่อลูกศิษย์มาพร้อมเพรียงกันท่านพูดว่า

“ผมจะภาวนาทำความเพียรอยู่ที่นี่ ให้พวกท่านแยกกันไปอยู่คนละแห่ง” พวกลูกศิษย์ได้ฟังดังนั้นรู้สึกพากันวิตกมาก เกรงว่าท่านจะลำบาก เพราะสถานที่กันดารมากน้ำใช้น้ำฉันไม่มี หนทางไปบิณฑบาตก็ไกลจากหมู่บ้านมาก

ต่อมาลูกศิษย์ก็แยกย้ายกันไปปฏิบัติภาวนาตามความประสงค์ของหลวงปู่ที่ตั้งเจตนาไว้คือ

ท่านอาจารย์ท่อน หลวงตาพลวง ท่านอาจารย์นู ไปวิเวกที่ถ้ำผาบิ้ง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย

ท่านอาจารย์สีทน ท่านอาจารย์กอง ท่านไปวิเวกอยู่ที่ถ้ำมโหฬาร อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย

หลวงตาเสน พระเสาร์ สามเณรทองอยู่ สามเณรหนูเทียน ตาปะขาวแพง อยู่ที่วัดถ้ำผาปู่กับหลวงปู่

เมื่อท่านแยกย้ายกันไปถึงที่วิเวก ต่างก็มุ่งความเพียรปฏิบัติภาวนากันอย่างเอาจริงไม่ท้อถอยต่อความยากลำบากทั้งหลายแต่อย่างใด ส่วนหลวงปู่ ด้วยบุญบารมีของท่านเมื่อญาติโยมจังหวัดเลยทราบปฏิปทาของท่าน ต่างก็มีจิตใจศรัทธาเลื่อมใสในตัวท่านจึงได้มากราบนมัสการฝากตัวเป็นศิษย์และขอเป็นโยมอุปัฏฐากท่านหลายคน คือ

พ่อเป่าเกิ้น

พ่อคำ

คุณแม่ม้วน

เมื่อท่านเหล่านี้เข้าวัดมาปรนนิบัติหลวงปู่ จึงทำให้ญาติโยมอื่น ๆ มีความศรัทธาหลวงปู่ตามมาอีกหลายคน เป็นคนของหมู่บ้านนาอ้อก็มี บ้านนาโคกก็มี ต่อมาคุณนายเกื้อกูล อดีตภรรยาคลังจังหวัดเลย คุณนายแจ่มและคุณนายเกตุ ได้มาสมบทเป็นกำลังเพิ่มอีก ท่านเหล่านี้เป็นผู้นำชาวบ้านสร้างกุฏิชั่วคราวหลังเล็ก ๆ สี่ห้าหลังให้พระเณรได้อยู่อาศัย ส่วนหลวงปู่ท่านอยู่ในถ้ำจนตลอดฤดูแล้ง

สำหรับน้ำอาบ น้ำฉันหลวงปู่ท่านอาศัยใช้น้ำจากทุ่งนาบ้านนาอ้อ อยู่ห่างจากถ้ำประมาณ 1 กิโลเมตร เมื่ออาบน้ำเสร็จพระหนุ่มก็หามน้ำมาเพื่อสรงหลวงปู่ เก็บไว้ฉัน และล้างบาตรทุกวัน ในระหว่างนั้น ท่านต้องผจญกับพวกเปรต และพวกอมนุษย์คอยรบกวนอยู่เสมอ ๆ หลวงปู่ท่านก็แผ่เมตตาให้กับพวกเปรตเหล่านั้น จนหายจากความเป็นมิจฉาทิฏฐิ ต่อมาก็เกิดศรัทธาหลวงปู่ฯ ท่านจึงอยู่ที่ถ้ำผาปู่ อยู่ต่อมาด้วยความสบาย สามารถทำความเพียรภาวนาได้สะดวก และเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นเป็นลำดับ ๆ

พอถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2498 เริ่มเข้าฤดูฝน ท่านจึงมีคำสั่งให้ลูกศิษย์ของท่านที่ไปวิเวกที่ต่าง ๆ เข้ามาพบท่านที่วัดถ้ำผาปู่ ลูกศิษย์เหล่านั้นก็ลาจากสถานที่วิเวกที่ต่าง ๆ นั้น มาพร้อมเพรียงกันตามคำสั่ง

ถึงวัดถ้ำผาปู่ ท่านก็นัดประชุมและพากันทำวัตรสวดมนต์แผ่เมตตา เสร็จแล้วท่านปรารภกับลูกศิษย์ว่า "จะพาไปจำพรรษาที่วัดป่าชัยวัน จังหวัดขอนแก่น เหมือนเดิม" ลูกศิษย์ก็เห็นดีทุกคน และท่านก็พูดว่า

“ผมอยู่ที่นี่สบายทั้งกายและใจ การทำความเพียรก็สะดวกสบาย คนที่จะมารบกวนก็น้อย อาหารก็พอดีไม่มาก ไม่น้อย พออยู่ได้ไปวัน ๆ"

แต่ลูกศิษย์พยายามขอให้ท่านกลับวัดป่าชัยวัน จังหวัดขอนแก่นอย่างเดียว หลวงปู่ท่านมีเมตตาต่อลูกศิษย์มาก ท่านก็เลยตามใจ กลับขอนแก่น

วันต่อมาท่านได้นัดให้ญาติโยมอุปัฏูฐากท่านมาประชุมพร้อมกัน มีโยมเกื้อกูล กลางแก้ว โยมซาวบ้านนาอ้อ นาโคก รวมกันมากพอสมควรแล้ว หลวงปู่จึงพูดว่า

“อาตมาอยู่ที่นี่ เป็นเวลาหลายเดือนพอสมควรแล้ว อาตมาพร้อมลูกศิษย์จะลาท่าน ทั้งหลายกลับไปจำพรรษาที่ขอนแก่น ถ้าไม่ตายและมีชีวิตอยู่ก็จะกลับมาเยี่ยมพวกท่านอีก ถ้าตายก็แล้วกันไป เพราะความตายอยู่ข้างหน้าเรามองไม่เห็น”

โยมทั้งหลายได้ฟังหลวงปู่จะอำลาก็รู้สึกตกใจพูดไม่ออกกัน ได้แต่นั่งหน้าเศร้า แต่ชาวคณะจังหวัดเลยมีจิตศรัทธาท่านมาก โดยการนำของคุณนายเกื้อกูล กลางแก้ว ได้อาราธนานิมนต์ท่านให้อยู่จำพรรษาที่วัดถ้ำผาปู่นี้ ท่านไม่ยอมรับ และบอกพวกโยมว่า

"ถ้าจะให้อาตมาจำพรรษาที่วัดถ้ำผาปู่นี้ให้พวกโยมไปขอกับพวกโยมชาวขอนแก่นและท่านเจ้าคุณพิศาลสารคุณ เจ้าคณะจังหวัดขอนแก่นเสียก่อน"

เมื่อท่านอธิบายเหตุผลให้โยมชาวจังหวัดเลยทราบแล้ว ในวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2498 ท่านและลูกศิษย์ได้พากันกลับวัดป่าขัยวันโดยรถยนต์ของโยมเอื้อม หมายบุญ มารับกลับ สำหรับที่ถ้ำผาูปู่ มีหลวงตากับตาปะขาวคนหนึ่งอยู่ เนื่องจากญาติโยมขอร้องเอาไว้ จะกลับตามทีหลัง

เมื่อหลวงปู่กลับถึงขอนแก่นไม่กี่วัน คณนายเกื้อกูลเป็นหัวหน้าหมู่คณะนำชาวจังหวัดเลย ไปขอนิมนต์หลวงปู่ที่วัดป่าชัยวัน ให้มาจำพรรษาที่วัดถ้ำผาปู่ โยมชาวขอนแก่นทราบข่าวกันต่างก็พากันมาที่วัดเป็นจำนวนมาก เพื่อจะมาคัดค้านไม่ให้เอาหลวงปู่ไป ขณะนั้นแต่ละคนต่างก็มีสีหน้าท่าทางแสดงความโกรธไม่พอใจ คณะโยมชาวจังหวัดเลยจึงต้องพยายามข่มสติ อารมณ์ และไม่มีปฏิกิริยาตอบโต้แต่อย่างใด

คุณนายเกื้อกูลได้ไปกราบคารวะ ท่านเจ้าคุณพิศาลสารคุณ อินทร์ ถิรเสวี ป.ธ.5 ที่วัดศรีจันทราวาส เจ้าคณะจังหวัดขอนแก่น (ยศขณะนั้น ปัจจุบันท่านเลื่อนเป็นพระเทพบัณฑิต รองเจ้าคณะภาค 9 ) ท่านอนุญาตให้หลวงปู่มาจำพรรษาที่วัดถ้ำผาปู่ จังหวัดเลย เพราะเห็นว่าญาติโยมที่ไปนิมนต์หลวงปู่นั้นไปด้วยความเคารพศรัทธาหลวงปู่ อีกทั้งอ่อนน้อมถ่อมตนต่อโยมชาวขอนแก่น จึงทำให้ชาวขอนแก่นไม่ขัดข้อง และยอมตามที่ท่านเจ้าคุณอนุญาต และพากันไปกราบเรียนหลวงปู่ให้ทราบว่า ท่านเจ้าคุณอนุญาตให้หลวงปู่ไปจำพรรษาที่วัดถ้ำผาปู่ จังหวัดเลยเพื่อโปรดข้าน้อยแล้ว หลวงปู่พูดว่า

“ถ้าท่านอนุญาต อาตมาก็ยินดีรับนิมนต์ ไปจำพรรษาที่จังหวัดเลย”

คุณนายเกื้อกูล ได้จัดหาเช่ารถมารับหลวงปู่ ออกจากวัดป่าชัยวัน ขอนแก่นวันที่ 18 มิถุนายน 2498 เวลา 10.00 น. ถึงวัดถ้ำผาปู่เวลาประมาณ 18.00 น. โดยมีพระที่ติดตามท่านทั้งหมดติดตามท่านกลับมาด้วย และเมื่อถึงวัดแล้วไม่กี่วัน ลูกศิษย์ต่างก็แยกย้ายกันไปจำพรรษาตามสถานที่ที่เคยวิเวกอยู่เดิม ส่วนหลวงปู่พร้อมหมู่คณะอยู่ที่วัดถ้ำผาปู่ ดังนี้

1. หลวงปู่คำดี ปภาโส

2. อาจารย์ท่อน ญาณธโร

3. หลวงตาพลวง สิริปญโญ

4. หลวงตาเสน

5. หลวงตานู

6. สามเณรหนูเทียน

7. สามเณรทองอยู่

8. ตาปะขาวแพง

เมื่อจวนจะเข้าพรรษา คุณนายเกื้อกูลพร้อมด้วยญาติโยมชาวบ้านนาอ้อ-นาโคกสร้างกุฏิหลังเล็ก ๆ ไว้ในถ้ำหลังหนึ่งเพื่อให้หลวงปู่จำพรรษา และสร้างให้ลูกศิษย์อีกองค์ละหลังจนครบทุกองค์ หลวงปู่ท่านอยู่ในถ้ำมาตลอด และท่านได้ใช้สถานที่ภายในถ้ำ เป็นจุดรวมของหมู่คณะ และใช้เป็นที่อบรมกรรมฐานอีกด้วย

เทวดาทดสอบ

ปี พ.ศ. 2501 หลวงปู่เกิดอาพาธหนัก ญาติโยมนิมนต์ให้ท่านไปรักษาที่โรงพยาบาล ท่านไม่ยอมไปรักษา แต่ท่านกลับบอกว่า

“เวลามันป่วยมันก็ป่วยเอง เวลามันหายมันก็หายเอง ถ้าไม่ถึงคราวตายมันก็ไม่ตาย”

ต่อมาไม่กี่วัน มีแพทย์แผนโบราณนำยามารักษา อาการของท่านทุเลา ดีขึ้นเรื่อยๆ จนหายเป็นปกติ

ในขณะที่ท่านนอนป่วยอยู่ในถ้ำนั้น คืนวันหนึ่ง ฝนตกหนักมาก ถ้ำเกิดพังทลายลงมา ทั้งก้อนหินทั้งน้ำฝนร่วงลงมาใส่ที่ท่านอยู่ มีเสียงดังมากเหมือนกับภูเขาระเบิด หินก้อนใหญ่น้อยเมื่อตกลงมาแล้วบ้างก็กลิ้งตกไปทางอื่น บ้างก็กลิ้งเข้ามาตรงที่ที่ท่านนอนอยู่ แต่ไม่ถูกท่าน ก้อนหินเหล่านั้นกลับมากองรวมรอบ ๆ ตัวท่าน เป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก แม้แต่โยมที่มาเฝ้าปรนนิบัติท่านอีก 2-3 คน ไม่เป็นอันตรายเพราะเหตุนี้แม้แต่นิดเดียว เมื่อหินหยุดถล่มสักพัก ญาติโยมเกรงว่าหินจะตกลงมาเป็นอันตรายกับท่านอีก จึงนิมนต์ให้หนี ท่านจึงหัวเราะแล้วว่า “ไม่เ่ป็นไร เทพท่านมา่ล้อเล่นต่างหาก เดี๋ยวท่านก็หยุดเอง” ต่อจากนั้นสักครู่ ก้อนหินไม่ตกลงมาอีก นับว่าเป็นที่อัศจรรย์กับลูกศิษย์ที่ประสบพบเห็นมากับตาตนเองเป็นอย่างยิ่ง

ถูกปองร้าย

ในครั้งแรก ๆ ที่หลวงปู่มาอยู่ที่วัดถ้ำใหม่ ๆ ชาวบ้านปากภู ที่มีจิตศรัทธาเลื่อมใสท่าน ได้มานิมนต์ท่านให้ไปเทศน์อบรมธรรมะวิปัสสนาที่บ้านปากภู (อยู่ตรงข้ามกับทางไปเมืองเลย) บ้านที่ท่านแสดงธรรมะอบรมอยู่นั้น อยู่ใกล้ชิดกับวัดบ้าน ท่านแสดงธรรมเวลากลางคืนจบเวลาประมาณ 4 ทุ่ม ท่านก็ลาญาติโยมกลับวัดถ้ำผาปู่ ท่านเดินกลับวัดพร้อมด้วยญาติโยม 2-3 คน ด้วยกัน เดินทางห่างจากบ้านมาประมาณครึ่งกิโลเมตร มีคนร้ายดักอยู่ และใช้ก้อนหินขว้างทำร้านท่าน ก้อนหินปลิวมาถูกที่เอวท่าน พระและโยมตกใจกันมาก กลัวว่าท่านจะเป็นอันตราย จึงถามท่านว่า

“ท่านอาจารย์เจ็บมาก ไหมครับ”

ท่านตอบว่าเจ็บนิดหน่อยไม่เป็นไร ไม่ต้องดู และท่านพูดต่อไปว่าถูกพระบ้านล้อเล่นเอา อย่าไปฉายไฟดูเขา ประเดี๋ยวเขาจะตกใจวิ่งหนีเป็นอันตราย ปล่อยไปตามกรรมที่เขาทำเถิด ต่อมาได้ทราบว่า พระที่มาดักคอยทำร้ายท่านมี 2 องค์ ด้วยกัน ต่อมาให้หลังประมาณ 1 เดือน พระทั้ง 2 องค์ ก็ได้รับกรรม คือ

องค์หนึ่งเป็นบ้าเสียสติไปจนกระทั่งถึงวันตาย

อีกองค์หนึ่งเป็นนิดหน่อยและ ต่อมาก็รักษาให้หายได้

นี่แสดงให้เห็นว่าการทำบาปกับหลวงปู่ กับพระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ และทำบาปกับพระอริยะเจ้าแล้ว จะได้รับผลกรรมปัจจุบันทันตาเห็น ส่วนพระอีกองค์หนึ่งนั้นคงจะไม่ได้ตั้งใจมาทำร้ายท่าน คงจะมาเป็นเพื่อนเท่านั้น บาปกรรมที่ร่วมกระทำจึงเบาจึงรักษาให้หายได้ กรรมที่พระได้กระทำไปนี้ ท่านจัดเข้าในจำพวกอนันตริยกรรม 5 ประการ    คือ

1. ปิตุฆาต คือ ฆ่าบิดา

2. มาตุฆาต คือ ฆ่ามารดา

3. อรหันตฆาต คือ ฆ่าพระอรหันต์

4. โลหิตุปบาท คือ ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงห้อพระโลหิต

5. สังฆเภท คือ ทำให้สงฆ์แตกกัน

ในระหว่างที่หลวงปู่จำพรรษานั้นท่านได้จำพรรษาอยู่บนถ้ำมาตลอด 7 พรรษา

ในปี พ.ศ. 2505 ญาติโยมทั้งหลายได้มีจิตศรัทธาสร้างกุฏิให้หนึ่งหลัง ชื่อว่ากุฏิสามัคคีธรรม สร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็นิมนต์ท่านลงจากถ้ำมาจำพรรษาที่กุฏินี้ ท่านก็ยินดีลงมาจำพรรษา เพื่อฉลองศรัทธาให้ญาติโยม ประกอบกับท่านเริ่มชราภาพแล้ว การขึ้นลงลำบาก ท่านได้จำพรรษาที่กุฏินี้รวม 4 พรรษา

จำพรรษากับหลวงปู่บัว

ปี พ.ศ. 2509 ท่านไปจำพรรษาที่วัดป่าหนองแซง ตำบลหมากหญ้า อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี กับ หลวงปู่บัว สิริปุญฺโญ ฉายาที่ถูกคือ สิริปุณฺโณ เป็นบิดาของหลวงปู่เพ็ง พุทฺธธมฺโม แห่งวัดป่าสามัคคีธรรม อำเภอเมือง ร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของท่านองค์หนึ่ง

หลวงปู่บัว สมัยเป็นตาปะขาว เคยไปอยู่จำพรรษากับหลวงปู่ที่ถ้ำกวาง บ้านหินร่อง ตำบลเมืองเก่า อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น ในระหว่างนั้น หลวงปู่ท่านเป็นผู้ฝึกสอนการขานนาคให้หลวงปู่บัว (ตาปะขาวบัว) ท่านสอนอยู่ถึง 1 พรรษา หลวงปู่บัวจึงขานนาคได้คล่อง จึงได้บวชเป็นพระ เมื่อท่านบวชแล้วได้อยู่ศึกษาอบรม สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐานกับหลวงปู่คำดี จนกระทั่งหลวงปู่รับรองว่า เป็นผู้สามารถออกไปปฏิบัติธรรมด้วยตนเองผู้เดียวได้แล้ว ท่านจึงขอลาหลวงปู่คำดีไปศึกษาธรรมกับหลวงปู่มั่นต่อไป

การที่หลวงปู่คำดีไปจำพรรษาที่ วัดป่าหนองแซง นั้น เพราะหลวงปู่บัวท่านนิมนต์ให้ไปอยู่ เพื่อท่านจะได้มีโอกาสอุปัฏฐากหลวงปู่บ้าง เพราะตั้งแต่ผ่านจากไปยังไม่เคยอุปัฏฐากกันเลย ประกอบกับหลวงปู่คำดี เคยเป็นครูบาอาจารย์ท่านมาก่อน และเป็นผู้ชี้ทางเดินไปสู่มรรคผลนิพพานให้ท่านก่อนใครทั้งนั้น ท่านจึงไม่ลืมบุญคุณของหลวงปู่ หลวงปู่จำพรรษาอยู่ที่วัดป่าหนองแซงเป็นเวลา 1 พรรษา

จำพรรษาวัดถ้ำผาปู่

ปี พ.ศ. 2510 ญาติโยมชาวเมืองเลยได้ไปนิมนต์ท่านกลับมาจำพรรษาที่วัดถ้ำผาปู่เช่นเดิม ท่านได้จำพรรษาที่หอประชุมสงฆ์ 2 พรรษา ต่อมาญาติโยมได้สร้างกุฏิวิเวกธรรมขึ้นอีก 1 หลัง จึงนิมนต์หลวงปู่ไปฉลองศรัทธา หลวงปู่ก็รับนิมนต์ไปอยู่ที่กุฏิหลังนี้ตลอดมา ส่วนกุฏิหลังเก่าได้จัดไว้ทำเป็นที่ประชุมสงฆ์ต่อมา

เริ่มอาพาธ

ปี พ.ศ. 2518 หลวงปู่ฯ เริ่มอาพาธด้วยโรคต่อมลูกหมากโต ปัสสาวะออกบ้าง ไม่ออกบ้าง กะปริบกะปรอย ท่านเป็นพระที่มีความเกรงใจต่อลูกศิษย์และญาติโยม ท่านได้ทนทุกข์ทรมานโดยไม่ยอมบอกใครมาตลอด จนกระทั่งวันหนึ่ง คุณปัญญา คุณแต๋ว วงษ์ไทย ซึ่งเป็นลูกศิษย์ที่ใกล้ชิด ไปกราบเยี่ยมท่าน จึงได้ทราบว่าอาการของท่านเริ่มกำเริบมากขึ้น ลูกศิษย์ทั้ง 2 จึงขอนิมนต์ท่านให้มารักษาที่กรุงเทพฯ หากปล่อยไว้จะเกิดอันตรายมาก ท่านจึงรับนิมนต์ และด้วยความอนุเคราะห์ของท่านองคมนตรี ดร. เชาวน์ และคุณหญิงไขศรี ณ ศีลวันต์ ได้จัดการติดต่อโรงพยาบาลสงฆ์ให้ จึงได้รับหลวงปู่ลงมา โดยมีลูกศิษย์ เช่น คุณบันยงค์ ศรลัมภ์ ตลอดจนลูกศิษย์อื่น ๆ เป็นโยมอุปัฏฐูาก การบำบัดรักษา ท่านองคมนตรีท่านได้ติดต่อคุณหมอมาช่วยผ่าตัดรักษาให้คือ

คุณหมออุดม โปษกฤษณะ

คุณหมออวย เกตุสิงห์

คุณหมอจำลอง มุ่งการดี

คุณหมอเกษม ฯ

ในขณะที่หมอทำการผ่าตัด หลวงปู่ท่านบอกว่า ท่านเข้าจิตภาวนา จิตมันรู้อยู่ตลอดไม่ได้สลบอะไรเลย แต่ไม่รู้เรื่องของกาย เมื่อคุณหมอทำผ่าตัดเสร็จเรียบร้อยเขาหามออกจากเตียงผ่าตัด จึงรู้สึกกายว่าเจ็บ

เมื่ออยู่ห้องพักฟื้น 2-3 คืน ท่านก็ลุกมาภาวนา และเดินจงกรมได้ แผลผ่าตัดทำการรักษาได้เพียงอาทิตย์เดียว ก็หายเป็นปกติ ท่านอยู่ทำการรักษาประมาณครึ่งเดือน ก็ออกจากโรงพยาบาลไปพักฟื้นอยู่ที่บ้านท่านองคมนตรีชั่วระยะเวลาหนึ่ง ท่านก็ขอลาองคมนตรีกลับวัดถ้ำผาปู่ เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2518 โดยเครื่องบิน บดท. เที่ยวบินที่ 222 ออกจากสนามบินดอนเมือง กรุงเทพฯ เวลา 8.30 น. โดย คุณหญิงไขศรี ณ ศีลวันต์ ได้จัดภัตตาหารคาว-หวาน เตรียมให้ไปถวายหลวงปู่บนเครื่องบิน เพราะคุณหญิงเป็นห่วงหลวงปู่ เกรงว่าอาหารบนเครื่องหลวงปู่จะฉันไม่ได้ การเดินทางในวันนั้น พอเครื่องขึ้นสักครู่หนึ่งก็ได้นำภัตตาหารถวายหลวงปู่ฯ ซึ่งท่านก็ฉันได้พอประมาณ เครื่องบินก็ถึงสนามบินจังหวัดเลย เวลา 11.05 น. ในคณะที่ติดตามมากับหลวงปู่ มี

1. ท่านอาจารย์เผย วิริโย

2. ท่านองคมนตรี ดร.เชาวน์ ณ ศีลวันต์

3. คุณปัญญา วงษ์ไทย

เมื่อเครื่องบินถึงเมืองเลย ท่านอาจารย์สีทน สีลธโน ได้นำคณะลูกศิษย์ ตลอดจนคณะข้าราชการ และพ่อค้าประชาชนชาวจังหวัด มาคอยรับหลวงปู่กันอย่างคับคั่ง ทุกคนมีสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส และดีใจที่หลวงปู่รักษาอาการไข้จนหายเป็นปกติ กลับมาเป็นมิ่งขวัญให้กับชาวจังหวัดเลย ในคณะที่มาต้อนรับมี คุณหญิงส่งศรี เกตุสิงห์ และคุณจำลอง สวัสติพงษ์ ซึ่งล่วงหน้าเดินทางมาก่อน มาต้อนรับด้วย หลวงปู่เดินทางถึงวัดแล้วจำวัดพักผ่อนตามปกติ

งูใหญ่มาเยี่ยม

เวลาประมาณบ่าย 3 โมง ท่านลุกขึ้นจากจำวัตรปฏิบัติกิจของท่านเสร็จเรียบร้อยแล้ว ด้วยความเป็นห่วงแขก คือท่านองคมนตรีและคุณหญิง ท่านเกรงวาจะต้อนรับได้ไม่เรียบร้อยและกลัวแขกจะลำบาก จึงได้ชวนท่านอาจารย์เผย คุณจำลอง และคุณปัญญาออกจากกุฏิวิเวกธรรม เวลาประมาณ 16.00 น. ไปเยี่ยมคุณหญิง ซึ่งให้พักอาศัยที่กุฏิแม่ชี หลวงปู่เดินถึงศาลาโรงธรรมที่แม่ชีใช้เป็นสถานที่ไหว้พระสวดมนต์ หลวงปู่ท่านนั่งพักผ่อนอยู่ที่ม้ายาวข้างโรงธรรม สักครู่หนึ่งมีเสียงดังผิดปกติ เสียงดังกราวใหญ่คณะที่ร่วมไปกับหลวงปู่หันไปมอง ได้พบเห็นงูใหญ่ตัวหนึ่งกำลังเลื้อยมาอย่างรวดเร็วพอมาใกล้ถึงหลวงปู่ มันก็หยุดแล้วขดตัวเป็นวงกลมอยู่ห่างจากหลวงปู่ประมาณ 1 ศอกลูกศิษย์ต่างก็กลัวว่ามันจะทำอันตรายหลวงปู่ จึงร้องบอกหลวงปู่ว่า

หลวงปู่ งูใหญ่ขดอยู่ใกล้ ๆ ให้ระวังครับ

ท่านถามว่า ไหน ๆ อยู่ตรงไหน พร้อมกับหันหน้าหาูงู ขณะนั้นเป็นเวลาเย็นมาก มีแสงขมุกขมัว พอท่านพบงูท่านจึงหยุดนิ่งพร้อมกับบริกรรมคาถาแผ่เมตตาให้กับงูตัวนั้น เมื่อท่านแผ่เมตตาเสร็จ ท่านก็กลับนั่งห้อยขาอยู่ม้ายาวตามเดิม พร้อมกับพูดกับงูใหญ่ว่า

"อย่าแสดงตัวแบบนี้ มนุษย์ทั้งหลายเขากลัวมาก จงแสดงแบบใหม่เถอะ" งูใหญ่ก็ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงคงร่างอยู่อย่างเดิม ท่านจึงพูดกับงูใหญ่อีกว่า ไปรักษาโรคที่กรุงเทพฯ กลับมาถึงแล้ว หายดีแล้ว พ้นอันตรายแล้ว ไม่ต้องเป็นห่วง ขอบใจ แล้วจงหนีไปเสียเถิดคนเขากลัว"

ขณะที่หลวงปู่ฯ พูดกับงูใหญ่อยู่นั้น มันยังคงขดตัวสงบนิ่งขวางหน้าอยู่ระหว่างลูกศิษย์กับหลวงปู่ สักครู่หนึ่งมันก็เลื้อยออกไปนอนอยู่หลังศาลาโรงธรรม ขณะมันคลายตัวออกเลื้อยไป สังเกตดูยาวประมาณ 2 เมตรกว่า ๆ ลำตัวโตประมาณ 3.5 นิ้ว เมื่องูออกไปแล้ว ลูกศิษย์ถามหลวงปู่ว่า "มันมาทำไม"

หลวงปู่บอกว่า "ไม่ใช่งูจริงหรอก เป็นพวกเทพเขาคิดถึงที่หลวงปู่จากไปรักษาไข้นาน เขามาถามข่าวคราวความทุกข์สุขต่างหาก เพราะเขาเป็นห่วง และตอนที่เราไปทำการรักษาเขายังติดตามไปเพ่งถึงกรุงเทพ จึงค่อยกลับมายังวัดถ้ำผาปู่"

ลูกศิษย์สงสัยว่าขณะหลวงปู่พบงู หลวงปู่ใช้คาถาบทใดแผ่เมตตาให้กับมัน ท่านตอบว่า ใช้บท ขันธปริตร (วิรูปักเขหิ) แผ่เมตตา

หลังจากคุยกันสักครู่หนึ่ง ลูกศิษย์กลับไปดูงูใหญ่ยังเห็นมันนอนอยู่ที่หลังโรงธรรมจึงทดลองเอาไม้กวาดสำหรับกวาดลานวัดอันยาว ๆ ลองเขี่ยเพื่อไล่ให้มันกลับไปอยู่ที่ของมัน เข้าใจว่ามันจะโกรธ มันได้ยกตัวสูงขึ้นประมาณ 1 เมตร พร้อมกับแผ่แม่เบี้ย เมื่อเห็นเช่นนั้นลูกศิษย์จึงเลิกขับไล่และขอโทษเขาอยู่ในใจ จึงไม่รบกวนเขาอีก ขณะนั้นงูใหญ่ยังไม่ไป หลวงปู่ท่านเลยแสดงธรรมให้งูใหญ่ฟัง พอได้เวลาประมาณ 18 นาฬิกา พลบค่ำพอดี เห็นว่างูใหญ่ไม่ยอมกลับ ท่านจึงบอกลางูกลับกุฏิ

เรื่องของกรรม

หน้าแล้งปี พ.ศ. 2524 ท่านได้เดินทางไปวัดบ้านเหล่านาดี (วัดป่าอรัญวาสี) จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นบ้านเกิดของท่านเพื่อเป็นประธานสร้างกุฎิที่ญาติโยมเขามีศรัทธาที่จะสร้าง เป็นอนุสรณ์ในด้านวัตถุถาวรไว้ แต่ท่านไม่รู้สึกยินดี เพราะท่านชอบสันโดษ ไม่มีนิสัยชอบก่อสร้าง ส่วนที่เห็นว่าทางวัดมีการสร้างสิ่งต่าง ๆ ส่วนมากเป็นศรัทธามาสร้างถวาย ท่านก็ไม่ขัดศรัทธา การก่อสร้างกุฏิที่วัดนี้ก็เช่นเดียวกัน มีศรัทธา2 ฝ่าย คือ ฝ่ายหนึ่งต้องการก่อสร้าง อีกฝ่ายหนึ่งไม่ต้องการสร้าง ไม่เป็นที่ตกลงกัน

ฝ่ายที่ต้องการสร้างไม่ฟังเสียงคัดค้าน ได้ดำเนินการก่อสร้างไปเลย เมื่อรีบเตรียมหาวัสดุก่อสร้าง พวกที่คัดค้านก็หาเรื่องคัดค้านฟ้องร้องกัน หาว่าทำผิดกฎหมายบ้านเมือง ให้เจ้าหน้าที่มาจับไม้ที่จะทำก่อสร้าง ยึดไว้เป็นของหลวงหมด พวกที่ขัดขวางได้กล่าววาจาก้าวร้าวต่อท่านนานาประการ ท่านก็ไม่โกรธ มีแต่ขอร้องให้หันหน้าเข้าหาปรองดองกัน พวกคัดค้านก็ไม่ยอมตกลง การก่อสร้างกุฏิหลังนั้นเดิมกะว่าจะใช้เป็นกุฏิไม่แต่ไม้ไม่มีเพราะถูกจับไป แต่ศรัทธาญาติโยมยังมีอยู่ จะสร้างให้ได้ หลวงปู่ท่านเห็นใจในเจตนารมณ์ของญาติโยม ท่านจึงบอกว่าสร้างเป็นกุฎิคอนกรีตเสริมเหล็กก็แล้วกัน

ญาติโยมก็เห็นดีด้วยและสามารถสร้างกฏิได้สำเร็จ เป็นกุฏิ 2 ชั้น ยาว 9 เมตร กวัาง 7 เมตรครึ่ง ขณะนั้นเพิ่งเริ่มก่อสร้าง พอประมาณเดือนมิถุนายนจวนเข้าพรรษาท่านก็กลับไปจำพรรษาที่วัดถ้ำผาปู่

พอออกพรรษาในปี พ.ศ. 2525 ท่านกลับไปวัดบ้านเหล่านาดีอีก พอดีกับการก่อสร้างเสร็จ ทางญาติโยมที่มีจิตศรัทธาก็ได้ทำบุญถวายกุฏิเป็นที่เรียบร้อย

ในปีนั้น พวกโยมที่คัดค้านการก่อสร้างกุฏิและกลั่นแกล้งท่านพร้อมพูดจาก้าวร้าวท่านต่าง ๆ นานับปการนั้น คนที่เป็นหัวหน้าเกิดอาเจียนเป็นเลือดตาย ส่วนอีกคนหนึ่งนอนหลับตายไปเฉย ๆ พวกญาติ ๆ ของฝ่ายคัดค้านเห็นเหตุการณ์เช่นนั้น ก็กลัวกันมากเกรงว่า บาปกรรมที่พวกตนทำไว้กับพระอริยเจ้าจะตกสนองเช่นเดียวกับสองคนแรก จึงพากันไปกราบนมัสการขอขมาโทษจากท่าน ๆ จึงเทศน์ให้ฟังว่า

"เรื่องเป็นเรื่องตายไม่ใช่เรื่องของอาตมาเป็นเรื่องของพวกเขาต่างหาก เป็นเพราะใครทำกรรมอย่างใดก็ได้รับผลของกรรมอย่างนั้น ส่วนพวกเจ้าทำกันเอง พวกเจ้าคงจะรู้ว่าเป็นเพราะอะไร" แล้วท่านก็ให้พากันทำคารวะสงฆ์ หลวงปู่พร้อมด้วยสงฆ์ก็ให้ศีลให้พรและท่านได้เทศน์ให้สติเตือนใจอีกว่า

"นี่แหละ การเบียดเบียนท่านผู้มีศีลย่อมได้รับกรรมทันตาเห็น จะหาว่าไม่มีบาปมีบุญที่ไหนได้ ศาสนามีทั้งคุณและโทษ ถ้าผู้ปฏิบัติดีก็นำพาจิตใจคนเหล่านี้ขึ้นสวรรค์นิพพาน ถ้าคนเหล่านี้ปฏิบัติไม่ดี ก็พาคนเหล่านั้นตกนรกอเวจีก็มีมาก เรื่องบาปกรรมย่อมไม่ยกเว้นให้กับใครทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นพระ เณร หรือเจ้านายชั้นไหน ๆ ก็ตาม ถ้าทำบาปลงไปเป็นบาปทั้งนั้น ไม่มีการยกเว้น ลำเอียง"

เริ่มอาพาธ

ต้นปี พ.ศ. 2526 หลวงปู่คำดีเริ่มป่วยกระเสาะกระแสะ สามวันดีสี่วันไข้ เมื่อท่านเห็นว่าร่างกายของท่านไม่ดี ท่านมักเตือนลูกศิษย์ของท่านเสมอว่า "ร่างกายสังขารของผมแย่พอควรแล้ว ถ้าเป็นรถยนต์ก็ทิ้งได้แล้ว ถ้าหากผมล้มป่วยคราวนี้คงจะไม่ไหวแน่ ถ้าหมู่คณะจะรักษาร่างกายผม ก็รีบจัดการรักษาเสีย"

พวกสานุศิษย์ทั้งหลายเห็นท่านพอเดินได้ พูดได้ ฉันได้ เทศน์ได้ ก็พากันใจเย็นและจัดหาให้ฉันตามปกติ แต่ไม่ได้พาหลวงปู่เข้าตรวจรักษาที่โรงพยาบาล

ต่อมาวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2526 ตอนเช้าหลังจากฉันภัตตาหารเรียบร้อยแล้ว ท่านก็เรียกญาติโยมทั้งหลายมาพร้อมกันแล้ว ท่านก็พูดว่า

"มาฟังเทศน์กัน อาตมาจะเทศน์ครั้งสุดท้ายต่อไปจะไม่ได้เทศน์อีกแล้ว จะไม่ได้ประพรมน้ำพระพุทธมนต์อีกแล้ว และจะไม่ได้พูดกันอีกต่อไป"

พระลูกศิษย์ และโยมทั้งหลายเมื่อได้ฟังคำพูดของหลวงปู่อย่างนั้นก็พากันแปลกใจแต่ไม่มีผู้ใดเฉลียวใจว่า คำพูดของท่านนั้นเป็นการพูดครั้งสุดท้ายจริง ๆ และท่านได้พรมนำพระพุทธมนต์ได้ทุกคนแล้ว ท่านยื่นหญ้าคาให้แยกกันต่างได้รับทั่ว ๆ กันทุกคน ๆ ละเส้นสองเส้น

เทศน์ครั้งสุดท้าย

หลวงปู่เริ่มเทศน์เรื่อง “ ความไม่ประมาท”

ความประมาทเป็นหนทางแห่งความตาย คำว่าตายในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่าร่างกายเราตาย หมายถึงจิตใจคนเราตาย คือตายจากมรรคผลนิพพานต่างหาก

ความไม่ประมาทเป็นหนทางแห่งความไม่ตาย คือไม่ประมาทต่อการทำความดี ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา มีโอกาสจะได้ไปสวรรค์พรหมโลก หรือมรรคผลชั้นใดชั้นหนึ่ง ตลอดถึงพระนิพพานข้างหน้าแน่นอน ช้าหรือเร็วแล้วแต่บุญบารมีหรือความพากเพียรของตนเอง ความไม่ประมาทคือ เป็นผู้มีสติจดจ่ออยู่ที่ กาย และใจ ทุกอิริยาบถทั้งสี่ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน ไม่มีการเผลอสติจากอิริยาบถทั้งสี่ จึงจัดว่าเป็นผู้ไม่ประมาท เข้าใจไหมฯ (ท่านถามลูกศิษย์)

คำว่าประมาทนั้นคือ เป็นคนเลินเล่อเผลอสติ นึกคิดออกไปนอกกายและใจของตนเอง ตามอารมณ์ของโลกเขาคือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ เหล่านี้เป็นต้น ท่านถือว่าเป็นผู้ประมาททั้งนั้น ถึงมีร่างกายอยู่ท่านก็เปรียบเหมือนคนที่ตายแล้วเอวัง

นี่คือเทศน์ครั้งสุดท้ายของท่านก่อนที่ท่านจะล้มป่วยลง เมื่อท่านเทศน์จบลูกศิษย์ลากลับแล้วท่านเข้าพักผ่อนตามอัธยาศัยของท่านจนกระทั่งเวลา 15.00 น. ของวันที่ 28 มิถุนายน 2526 ท่านเดินเข้าห้องน้ำล้างหน้าเรียบร้อยแล้ว ท่านก็พูดขึ้นว่า ผมเป็นลม ขณะนั้นมีพระอุปัฏฐากท่าน 4 รูปได้ประคองท่านนอนลงที่อาสนะ เมื่อนอนลงแล้วท่านไม่พูด ไม่คุยกับใครทั้งนั้น มีแต่นอนเฉย ๆ ไม่มีการขยับตัว ลูกศิษย์ต่างก็พากันตกใจต่างก็หายามาให้ท่านฉันแต่ไม่หาย จนถึงเวลา 18.00 น. ก็ให้โยมไปเชิญหมอจากโรงพยาบาลมาตรวจดูอาการของหลวงปู่ มีการฉีดยาให้น้ำเกลือท่านก็ยังไม่ฟื้น

รุ่งขึ้นวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2526 คุณหมอก็สวนปัสสาวะให้ท่าน สายยางที่สวนเข้าไป ทำให้เกิดเป็นแผลภายใน เลือดไหลไม่หยุด จึงโทรศัพท์ติดต่อเรียนท่านองคมนตรี ดร.เชาวน์ และคุณหมอปัญญา ส่งสัมพันธ์ ทราบอาการป่วย คุณหมอได้ทราบและปรึกษาลูกศิษย์กรุงเทพแล้วเห็นควรรับตัวมารักษาในกรุงเทพฯ คุณหมอจึงได้นำรถพยาบาลไปรับหลวงปู่ ถึงวัดเวลา 17.00 น. ตรวจดูอาการเห็นว่าอาการหลวงปู่หนักมาก จึงทำการผ่าตัดเสียก่อน ผ่าตัดเสร็จเลือดหยุดไหลออกจากช่องปัสสาวะและนำหลวงปู่ขึ้นรถพยาบาล ออกจากโรงพยาบาลเมืองเลยเวลา 22.00 น.

วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2526 คุณหมอนำหลวงปู่ถึงโรงพยาบาลแพทย์ปัญญา ตรวจสอบอาการของหลวงปู่ แล้วให้การบำบัดรักษา ประมาณ 4 - 5 วัน หลวงปู่ก็พูดได้ เริ่มฉันจังหันได้บ้างเล็กน้อย แต่ยังให้น้ำเกลืออยู่ ส่วนเรื่องอาหารคุณชลูด ส่งสัมพันธ์คอยดูแลคอยคุมคุณภาพให้ได้ตามหลักโภชนาการ โดยมิได้บกพร่องไม่มีอะไรขาดแคลน

จนกระทั่งหลวงปู่นั่งได้เดินได้ และฉันจังหันได้พอสมควร เมื่อมีอาการดีขึ้นหลวงปู่อยากจะกลับวัดถ้ำผาปู่ เมืองเลย คุณหมอจึงปรึกษาหารือกับท่านองคมนตรี ดร.เชาว์ ณ ศีลวันต์ คุณธเนศ เอียสกุล คุณเฉลียว อยู่วิทยา พร้อมทั้งลูกศิษย์หลายท่านทางกรุงเทพฯ ต่างเห็นสมควรให้ท่านกลับวัดถ้ำผาปู่ โดยทุกคนเห็นว่าการเดินทางโดยทางรถยนต์จะทำให้หลวงปู่เหนื่อยมาก จึงขอความกรุณาจากท่านองค์มนตรี จัดหาเครื่องบินพิเศษนำหลวงปู่ส่งกลับวัดถ้ำผาปู่ จังหวัดเลย

วันที่ 4 มีนาคม 2527 หลวงปู่และคณะโดยสารเครื่องบินพิเศษออกจากดอนเมืองเวลา 9.00 น. ถึงสนามบินเมืองเลยเวลา 11.00 น. โดยมีท่านอาจารย์เผย วิริโย ท่านองคมนตรี ดร.เชาวน์ คุณไชย ณ ศีลวันต์ ร่วมเดินทางมาส่งด้วย ส่วนที่สนามบินมีข้าราชการ พ่อค้า ประชาชนมาคอยรับการกลับของหลวงปู่ด้วยความดีใจกันอย่างคับคั่ง ขบวนรถรับหลวงปู่ออกจากสนามบิน ถึงวัดด้วยความเรียบร้อยทุกประการ

หลวงปู่คำดีฯ ได้พักผ่อนอยู่ที่วัดประมาณ 9 วัน อาการไข้ได้กำเริบขึ้นอีกถึงวันที่ 14 มีนาคม 2527 อาการไม่ดีขึ้น หมอปัญญาส่งรถพยาบาลมารับท่านไปรักษาที่โรงพยาบาลแพทย์ปัญญาที่กรุงเทพอีก คราวนี้มีแต่ทรงกับทรุดมาตลอด พอถึงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2527 เวลา 13.13 น. หลวงปู่ท่านก็สิ้นลมจากไปด้วยอาการสงบก่อนที่ท่านจะสิ้นใจท่านลืมตาขึ้นมาแล้วกะพริบตาสามครั้งก็หมดลมหายใจ ซึ่งเสมือนหนึ่งว่าท่านได้บอกลาลูกศิษย์ใกล้ชิดที่ปรนนิบัติท่านว่า หลวงปู่ขอลาแล้วนะ แล้วต่อจากนั้นท่านก็ลาจากพวกเราไปจริง ๆ ไม่มีวันที่จะหวนกลับคืนมาให้พวกเราได้เห็น ได้ยินได้ฟังและได้รับศีลพรที่ท่านเคยให้พวกเราอีกต่อไป

หลังจากท่านมรณภาพ ลูกศิษย์ต่างก็ทยอยกันมาที่โรงพยาบาลเพื่อมาเคารพท่านเป็นครั้งสุดท้าย จนเต็มโรงพยาบาล หลังจากที่ทางโรงพยาบาลและลูกศิษย์ได้เตรียมการเรียบร้อยแล้ว เอาหลวงปู่ขึ้นรถพยาบาลแล้วเคลื่อนออกจากโรงพยาบาลเวลา 23.30 น. โดยมีรถยนต์ติดตามส่งทั้งหมด 7 คันโดยคุณธเนศ เอียสกุล ได้จัดการเรื่องหีบใส่ศพของหลวงปู่ไปพร้อมด้วย สำหรับคณะนำส่งศพหลวงปู่มี คุณบันยงค์ ศรลัมพ์ ผู้ว่าการรถไฟ คุณหมอปัญญาฯ และญาติโยมอื่น ๆ ตามไปส่งถึงวัดถ้ำผาปู่ เวลา 7.30 น. ของวันที่ 18 พฤศจิกายน 2527 สรงน้ำศพท่านเวลา 13.00 น. ถึงเวลา 18.00 น. เสร็จแล้วบรรจุหีบ ตั้งศพบำเพ็ญกุศลที่วิหาร ญาณทัสสี วัดถ้ำผาปู่ ตำบลนาอ้อ อำเภอเมือง จังหวัดเลย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดรับเป็นเจ้าภาพบำเพ็ญพระราชกุศลตลอด 7 วัน และบำเพ็ญพระราชกุศล 50 วันและ 100 วัน ตามลำดับ

สำหรับอาพาธของหลวงปู่รวมสองครั้งดังนี้

ครั้งแรก เป็นเวลา 9 เดือน

ครั้งที่สอง เป็นเวลา 9 เดือน

สิริรวมอายุจนถึงวันมรณภาพได้ 83 ปี รวมพรรษาธรรมยุตได้ 57 พรรษา 3 เดือน 23 วัน

สถานที่จำพรรษาของหลวงปู่คำดี ปภาโส

ปี พ.ศ. 2471

จำพรรษาที่ วัดบ้านยาง ตำบลโคกสี อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น

ปี พ.ศ. 2472

จำพรรษาที่ วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

ปี พ.ศ. 2473 - 2474 - 2475

จำพรรษาที่ วัดป่าหนองกุง บ้านหนองคู ตำบลบ้านหว้า อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น

ปี พ.ศ. 2476 - 2477 - 2478 - 2479 - 2480

จำพรรษาที่ วัดป่าช้าดงขวาง ตำบลหัวทะเล บ้านโนนฝรั่ง จังหวัดนครราชสีมา

ปี พ.ศ. 2481

จำพรรษาที่ วัดป่าอภัยวัน บ้านทุ่ม ตำบลบ้านทุ่ม อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น

ปี พ.ศ. 2482 - 2483 - 2484 - 2485 - 2486

จำพรรษาที่ ถ้ำกวาง บ้านหินร่อง ตำบลเมืองเก่า อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น

ปี พ.ศ. 2487 - 2488 - 2489 - 2490 - 2491 - 2492 - 2493

จำพรรษาที่ วัดป่าชัยวัน ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น

ปี พ.ศ. 2494

จำพรรษาที่ วัดป่าอรัญญวาสี บ้านเหล่านาดี ตำบลบ้านหว้า อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น

ปี พ.ศ. 2495

จำพรรษาที่ วัดป่าชัยวัน ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น

ปี พ.ศ. 2496 - 2497

จำพรรษาที่ วัดป่าคิรีวัน คำหวายยาง ภูพานคำ ตำบลบ้านกง อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น

ปี พ.ศ. 2498 - 2499 - 2500 - 2501 - 2502 - 2503 - 2506 - 2507 - 2508

จำพรรษาที่ วัดถ้ำผาปู่ เขานิมิตร ตำบลนาอ้อ อำเภอเมือง จังหวัดเลย

ปี พ.ศ. 2509

จำพรรษาที่ วัดป่าหนองแซง ตำบลหมากหญ้า อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี

ปี พ.ศ. 2510 - 2511 - 2512 - 2513 - 2514 - 2515 - 2516 - 2517 - 2518 -2519 - 2520 - 2521 - 2522 - 2523 - 2524 - 2525

จำพรรษาที่ วัดถ้ำผาปู่ เขานิมิตร ตำบลนาอ้อ อำเภอเมือง จังหวัดเลย

ปี พ.ศ. 2526 - 2527

จำพรรษาที่โรงพยาบาลแพทย์ปัญญา (เพื่อรักษาโรค) คลองตัน หัวหมาก กรุงเทพ ฯ

สมณศักดิ์

ปี พ.ศ. 2499

วันที่ 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2499 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นที่พระครูญาณทัสสี พระครูชั้นโท ฝ่ายวิปัสสนาธุระ

ปี พ.ศ. 2521

วันที่ 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2521 ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นเอก ฝายวิปัสสนาธุระ