#echo banner="" ประวัติหลวงปู่เครื่อง ธมฺมจาโร โดยชนะ อภัยวิศว์

ประวัติและอภินิหาร ของหลวงปู่เครื่อง ธมฺมจาโร

โดย ชนะ อภัยวิศว์

ถ้าจะกล่าวถึงประวัติและอภินิหารของหลวงปู่เครื่อง ธมฺมจาโร วัดเทพสิงหารแล้ว มีเรื่องเล่ามากมาย แต่ขอเสนอประวัติและอภินิหารบางอย่างเท่านั้น เพื่อเผยแพร่กิตติคุณในฐานะพระอริยสงฆ์รูปหนึ่งที่มีอายุยืนนานถึง ๖ แผ่นดิน นับแต่รัชกาลที่ ๔ ถึงรัชกาลปัจจุบัน และมีประชาชนทั้งประเทศเลื่อมใสศรัทธามหาศาล

รู้จักวัดเทพสิงหารก่อน

วัดเทพสิงหาร ตำบลนายูง อำเภอน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี อยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ ๘๒ กิโลเมตร ถ้าตั้งต้นจากอุดรฯ จะผ่านอำเภอบ้านผือ พระพุทธบาทบัวบก บ้านสามเหลี่ยม ตรงบ้านสามเหลี่ยมเป็นทางสามแยก ทางขวามือมีป้ายบอกไปวัดเทพสิงหาร ระยะทางประมาณ ๑๒ กิโลเมตร

วัดเทพสิงหารตั้งอยู่บนเนินสูง บริเวณวัดมีเนื้อที่ ๖ ไร่เศษ ภายในวัดปลูกไม้ดอก ไม้ประดับ ไม้ผลเป็นระเบียบและดูร่มครึ้ม เงียบสงบ สบายใจ มีบ้านไม่กี่หลังคาเรือน ตั้งอยู่รอบๆ บริเวณวัด พื้นที่บ้านนายูงสูงบ้างต่ำบ้าง สลับกันเป็นคลื่น บางแห่งเป็นแอ่ง มีเนื้อที่ไม่เกิน ๑๐ ไร่ ซึ่งชาวบ้านใช้เป็นแหล่งปลูกข้าว มองไกลไปอีกหน่อยจะเห็นป่าสูงโปร่งเป็นหย่อมๆ และดอยเล็กๆ ติดภูซาง

ดินแดนโมกขธรรม บ้านนายูง ดินแดนลึกลับอัศจรรย์แห่งนี้มีดีอะไร? พระอริยสงฆ์นับจำนวนไม่ถ้วนต่างใฝ่ฝันมุ่งหน้าธุดงค์ไปเพื่อแสวงหาความวิมุติหลุดพ้น ณ บ้านนายูง ดุจแดนนี้เป็นคลังอรหันต์หรือแดนโมกขธรรม ส่วนวัดเทพสิงหารนั้น เป็นศูนย์รวมของพระอริยเจ้าทั้งหลาย หลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถระ หลวงปู่แหวน สุจิณโณ และพระอาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังหลายรูป ต่างพากันไปปฏิบัติธรรมที่นั่น!!

ถือกำเนิด

หลวงปู่เครื่องเกิดที่บ้านนายูง เมื่อวันเสาร์ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๖ ปีเถาะ ตรงกับวันที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๑๐ ปลายสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ รัชกาลที่ ๔ เสด็จสวรรคต  เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๔๑๑ โยมบิดาเป็นกำนัน มีศักดิ์เป็นหลวงศักดาธรรมเรือง โยมมารดาชื่อนางพันธ์ ธรรมเรือง มีพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน ๘ คน หลวงปู่เป็นบุตรคนที่ ๖

หลวงปู่มีร่างกายสูงใหญ่ บึกบึน กล้าหาญ สัตว์ป่าที่ดุร้าย เช่น เสือ ช้าง หมี ท่านเคยผจญและปราบราบคาบมาแล้ว สมัย ๑๐๐ ปีก่อนโน้น บ้านนายูงเป็นป่าดงดิบ เต็มไปด้วยสัตว์ร้ายนานาชนิด มีช้างป่าเป็นโขลงๆ กวาง เก้ง เข้ามาหากินในหมู่บ้าน แม้เสือยังแอบกินสัตว์เลี้ยงของชาวบ้านบ่อยๆ

การศึกษาขั้นต้น

วัยเด็กหลวงปู่เรียนหนังสือมูลเดิม ซึ่งเป็นวิชาพื้นเมืองของชาวอีสานกับพระอาจารย์มีที่บ้านนายูงนั่นเอง วิชามูลเดิมนี้ ผู้ใดสามารถเรียนจบหลักสูตร ถือว่าผู้นั้นเรียนเก่ง หาตัวจับยากทีเดียว หลวงปู่เรียนจบหลักสูตรอย่างรวดเร็วเกินที่จะคาดคิด

บรรพชา-อุปสมบท

หลวงปู่เครื่องบรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ ๑๒ ปี จนอายุ ๒๐ ปีบริบูรณ์ (พ.ศ. ๒๔๓๐) โยมบิดาโยมมารดาจึงได้จัดการบวชให้ตามประเพณี บวชได้ ๑ พรรษา ก็ลาสิกขา หันมาประกอบอาชีพค้าของป่า เช่น ยาง หนังสัตว์ ไม้ เป็นต้น ช่วงนี้หลวงปู่ได้แต่งงานและมีบุตร ๑ คน รวมใช้ชีวิตฆราวาสระยะหลัง ๘ ปี ระหว่างนี้หลวงปู่หาโอกาสเดินทางท่องเที่ยวหลายแห่งจนข้ามโขง ถึงเวียงจันทน์ ขณะท่องเที่ยวนำของป่าไปขายด้วย

จากการตระเวนท่องเที่ยวจนช่ำชองซ้ำซากนี่เอง ก็เกิดความเบื่อหน่ายในเพศฆราวาส เห็นว่ามีแต่ความทุกข์ สู้รสพระธรรมอันเป็นความสงบสันติไม่ได้ จึงตัดสินใจออกบวชเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อ อายุ ๒๙ ปีพ.ศ. ๒๔๓๙ โดยตั้งสัตยาธิษฐานว่า ไม่ขอลาสิกขา จะยอมตายคาผ้ากาสาวพัสตร์ และขอให้สำเร็จมรรค ผล นิพพาน

การบวชครั้งนี้ บวชที่วัดศรีษะเกษ แขวงเวียงจันทน์ ประเทศลาว มีพระครูแก้วเป็นพระอุปัชฌาย์ (พระครูแก้วสมัยดำรงเพศฆราวาส เป็นพระสหายกับเจ้ามหาชีวิตแห่งราชอาณาจักรลาว) มีพระอาจารย์เถิงเป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์ดำ เป็นอนุสาวนาจารย์

 

ภาพถ่ายในอดีต วัดสีสะเกด แขวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว

 

 หลวงปู่จำพรรษาที่วัดศรีษะเกษ ๓ พรรษา ระหว่างจำพรรษาอยู่นี้ได้ศึกษาธรรมปฏิบัติด้วย จนพระครูแก้วหมดความรู้ที่จะสอน หลวงปู่จึงกราบลาพระครูแก้ว เสาะแสวงหาพระอาจารย์ที่เก่งกล้าสามารถต่อไป โดยเดินธุดงค์ไปตามป่าเขาลำเนาไพร ยึดป่าถ้ำเป็นที่บำเพ็ญความเพียร จนกว่าจะพบพระอาจารย์ที่เก่งกล้าและเชี่ยวชาญไสยเวท รวมทั้งสมถวิปัสสนากรรมฐาน

สมัยนั้นเมืองไทยมีพระอาจารย์รูปหนึ่งซึ่งมีกิตติศัพท์โด่งดังมาก ชื่อเสียงลือกระฉ่อนทั่วทั้งประเทศไทยและลาว สามารถแสดงปาฏิหาริย์เสกคนให้เป็นจระเข้ เสกช้างให้เหลือเท่าแมลงวัน เนรมิตวัตถุในอากาศได้ ฯลฯ แม้แต่กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๕ ยังมอบกายถวายตัวเป็นศิษย์ พระอาจารย์รูปนี้คือ หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า จังหวัดชัยนาท หลวงปู่ทราบข่าวจึงตั้งใจแรงกล้าที่จะขอมอบตัวเป็นศิษย์เพื่อศึกษาวิชาอาคมและฝึกสมถวิปัสสนากรรมฐานกับหลวงปู่ศุขผู้เป็นหนึ่งในยุคนั้น

เป็นศิษย์หลวงปู่ศุขถึง ๙ ปี

 

หลวงปู่ศุข เกสโร

หลวงปู่ศุข นามเดิมท่านชื่อ ศุข นามสกุล เกษเวช ต่อมาลูกหลานได้ใช้นามสกุลว่า เกษเวชสุริยา ท่านเกิดเมื่อวันจันทร์ เดือน ๔ ปีวอก พ.ศ.๒๓๙๐ ที่บ้านมะขามเฒ่า ต.มะขามเฒ่า อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท โดยมีบิดาชื่อนายน่วม มารดาชื่อนาง ทองดี ตั้งบ้านเรือนอยู่ ที่ ตำบลมะขามเฒ่า อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท โดยมีพี่น้องรวม ๙ คนคือ ๑.หลวงปู่ศุข ๒.นางอ่ำ ๓.นายรุ่ง ๔.นายไข่ ๕.นาง สิน ๖.นายมี ๗.นางขำ ๘.นายพลอย ๙.หลวงพ่อปลื้ม

หลวงปู่ศุขท่านไปอยู่กับลุงแฟง ที่ตำบลบางเขน จังหวัดพระนคร มีอาชีพทำสวนเมื่อเจริญเติบโตเป็นหนุ่มได้มีภรรยา ชื่อสมบุญ และมีบุตร ๑ คนชื่อนายสอน เกสเวชสุริยา เมื่ออายุประมาณ ๒๕ ปีหลวงปู่ศุขได้อุปสมบทที่วัดบางเขน(หรือปัจจุบันชื่อว่า วัดโพธิ์ทองล่าง จังหวัดนนทบุรี) โดยมีพระครู เชย จนฺทสิริ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระถมยา เป็นพระคู่สวด

เมื่ออุปสมบทแล้วได้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยและพระกํมมัฏ ฐานอยู่กับพระอุปัชฌายต่อมาท่านได้กราบลาพระอุปัชฌาย์มาจำพรรษาอยู่ที่วัดสามง่าม ปทุมวัน เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมเพิ่มเติม และย้ายมาจำพรรษาอยู่ที่วัดชนะสงครามบางลำพู ณ ที่นี่ท่านได้พบกับหลวงพ่อเงิน วัดบางคลานจังหวัดพิจิตร ได้ศึกษาวิชาต่างๆ ร่วมกันท่านทั้งสองจึงมีความสนิทสนมกันเป็นพิเศษ

หลวงปู่ศุขก็ได้ออกธุดงค์ตามป่าเขาลำเนาไพรทั่วทุกภูมิภาค เพื่อเจริญจิตภาวนาและแสวงหาครูอาจารย์ที่มีวิชาอาคมแก่กล้าตามสถานที่ต่างๆ มากมาย ทำให้หลวงปู่ศุขมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วทุกสารทิศเรื่องวิชาอาคมเข้ม ขลัง

เมื่อท่านเดินธุดงค์ไปภาคเหนือก็แวะเยื่ยมโยมพ่อโยมแม่ที่ ตำบลมะขามเฒ่า อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท ซึ่งเป็นบ้านเกิด โดยไปพักที่วัดร้างแห่งหนึ่งชื่อ “วัดอู่ทอง” โยมแม่ของท่านนิมนต์ให้ท่านจำพรรษาที่วัดร้างแห่งนั้น เมื่อท่านอยู่ที่วัดร้างก็ได้พัฒนาวัดร้างให้เจริญรุ่งเรืองมาโดยลำดับ ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเรียกตามหมู่บ้านว่า “ วัดปากคลองมะขามเฒ่า” จนถึงทุกวันนี้

หลวงปู่ศุข มรณภาพเมื่อ ๒๓ ธันวาคม ๒๔๖๖ ( เดือนอ้าย ปีกุน) อายุ ๗๖ ปี

แหล่งที่มา http://www.wathuataparn.com/prawati-hl-wng-pusukh

 

ตั้งแต่อ่านประวัติหลวงปู่เครื่องมา ยังไม่พบว่าหลวงปู่ศุขเป็นอาจารย์ของหลวงปู่เครื่อง นอกจากสมเด็จลุน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะไม่มีผู้ใดถามถึงครูบาอาจารย์ของท่านนั่นเองว่ามีใครบ้าง

เมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๒๑ เวลา ๒๑.๓๐ น. ผู้เขียนได้เดินทางไปกราบนมัสการหลวงปู่ที่วัดเทพสิงหาร พร้อมเพื่อนอีก ๓ คน โดยพักนอนที่บ้าน คุณสุรชาติ ชำนาญศิลป์ ส.ส. อุดรธานี ซึ่งสมัยนั้นดำรงตำแหน่งกำนันตำบลนายูง ได้สนทนากับหลวงปู่หลายเรื่อง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องธรรมะ ตอนหนึ่ง ผู้เขียนได้ถามถึงเพื่อนสหธรรมิกของท่านเช่น หลวงปู่ตื้อ หลวงปู่แหวน หลวงปู่คำมี หลวงพ่อกบ ว่ารู้จักกันหรือไม่ หลวงปูกล่าวว่า รู้จักและเคยธุดงค์ร่วมกัน จากนั้นก็ถามว่า ท่านเคยธุดงค์พบหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่าบ้างหรือไม่

หลวงปู่ตอบว่า “ไม่เคยพบขณะธุดงค์ แต่ไปเรียนวิชาอาคมกับท่านเป็นเวลาถึง ๙ ปี”

ผู้เขียนจึงย้อนถาม “กี่ปีนะ หลวงปู่”

หลวงปู่ตอบย้ำชัดเจนว่า “๙ ปี”

ผู้เขียนจึงถือโอกาสถามต่อไปว่า “ที่เล่าลือกันว่า หลวงปู่ศุขเสกคนเป็นจระเข้ เสกหัวปลีเป็นกระต่าย เสกใบมะขามเป็นต่อเป็นแตน หลวงปู่เคยเห็นกับตาสักครั้งไหม”

ได้รับคำตอบว่า “เคยเห็น ท่านเก่งจริงๆ “

แล้วหลวงปู่ก็เล่าถึงการเดินทางจากฝั่งโขงแห่งราชอาณาจักลาวสู่ประเทศไทยด้วยการเดินธุดงค์ด้วยเท้า

ระหว่างทาง ท่านพบสถานที่อันสงบบนภูเขาลูกหนึ่ง จึงแวะพักบำเพ็ญภาวนาก่อนเดินทางต่อ เขาลูกนั้นมีถ้ำใหญ่ถ้ำหนึ่ง ซึ่งมีงูเหลือมใหญ่และเสือนอนขวางปากถ้ำอยู่ ภายในถ้ำค้างคาวบินขวักไขว่ บางตัวเกาะผนังถ้ำห้อยหัวลงน่ากลัวเหมือนกัน หลวงปู่จึงพูดกับงูเหลือมและเสือว่า “ขอพักด้วยคนนะ เรามาปฏิบัติธรรม ไม่เบียดเบียนใคร” งูเหลือมและเสือก็หลีกทางหนีไป

เดินทางจนถึงวัดปากคลองมะขามเฒ่าจึงมอบตัวเป็นศิษย์หลวงปู่ศุข

เริ่มเรียนวิชาอาคม

วัดปากคลองมะขามเฒ่า

รุ่งเช้าฉันอาหารแล้ว หลวงปู่ศุขจึงให้หลวงปู่เครื่องเข้าพบในกุฏิ ท่านจ้องหน้าเป็นเวลานาน แล้วบอกว่า "เรียนได้ แต่ต้องทดสอบอีกครั้งก่อน"

หลวงปู่เครื่องสงสัยว่าจะทดสอบวิธีใด รู้สึกวิตกกังวลและตื่นเต้น กลัวจะไม่ผ่านการทดสอบ แล้วหลวงปู่ศุขก็ให้ศิษย์ที่จะเรียนใหม่ประมาณ ๑๐ คนรวมทั้งหลวงปู่เครื่องด้วย ไปคอยที่แพหน้าวัด เมื่อหลวงปู่ศุขมาถึง ได้สั่งให้ทุกคนยืนเรียงแถวเป็นหน้ากระดานเรียงหนึ่ง “ถ้าสั่งให้กระโดด จงกระโดดทันที” หลวงปู่ศุขชี้แจงโดยจะให้สัญญาณนับ ๑ ถึง ๓

“น้ำเจ้าพระยาหน้าวัดปากคลองขณะนั้นไหลเชี่ยวกรากจนน้ำม้วนตัววนลึกลงไปเหมือนกรวยก้นแหลม น่าหวาดเสียวยิ่ง เมื่อหลวงปู่ศุขให้สัญญาณนับ ๑ ถึง ๓ ทุกคนก็กระโดดลงพร้อมกัน พอโผล่หัวขึ้น สิ่งที่ไม่คาดคิดก็ปรากฏ นั่นคือ มีจระเข้ใหญ่ตัวหนึ่งลอยตัวอยู่กับกลุ่มผู้กระโดดน้ำหน้าแพ”

หลวงปู่เครื่องเล่าให้ฟังพร้อมหัวเราะเมื่อระลึกถึงความหลัง ก่อนเล่าต่อ

“บางคนกลัวจระเข้รีบตะลีตะลานว่ายน้ำปีนป่ายขึ้นแพ จระเข้ก็ว่ายตามทำท่าจะงับ บางคนร้องเสียงหลงด้วยความตกใจสุดขีด” สำหรับหลวงปู่เครื่องเองไม่กลัว เพราะเคยอยู่แม่น้ำโขงมาแล้ว อีกอย่างเคยผจญภัยมามากต่อมากจนชิน

ถ้าผู้ใดกลัวจระเข้ หลวงปู่ศุขจะยังไม่สอนวิชาให้ เพราะกำลังใจยังไม่เข้มแข็งพอ ต้องฝึกใหม่จนเข้มแข็ง การทดสอบแต่ละครั้งจะมีผู้เรียนได้ ๑-๒ คน บางครั้งไม่มีเลย และจระเข้ที่เห็นก็คือหลวงปู่ศุขแปลงร่างนั่นเอง วิธีนี้เป็นวิธีทดสอบพลังจิตอีกวิธีหนึ่งในหลายๆ วิธี ซึ่งหลวงปู่ศุขมักใช้อยู่เสมอ

เรียนทั้งกลางวัน-กลางคืน

กลางวันเรียนธรรมวินัย บางครั้งเมื่อหลวงปู่ศุขว่างจะลงสอนเอง ส่วนกลางคืนฝึกสมถวิปัสสนากรรมฐานอย่างเคร่งครัด อาศัยร่มไม้ ป่าช้า ซึ่งเป็นที่สงบเงียบบำเพ็ญความเพียร

ถ้าตั้งอารมณ์ผิด หลวงปู่จะเข้าไปทักทันที ทั้งๆ ที่ท่านอยู่บนกุฏิ พร้อมแนะวิธีที่ถูกให้ แสดงว่าหลวงปู่ศุขมีเจโตปริยาญาณแจ่มใสมาก

การเสกหัวปลีเป็นกระต่าย เสกใบมะขามเป็นตัวต่อตัวแตน บิณฑบาตใต้น้ำ ของหลวงปู่ศุขนั้น หลวงปู่เครื่องได้เคยประสบมากับตาตนเอง และยังได้เรียนอีกด้วย

มีครั้งหนึ่ง หลวงปู่ศุขสอนศิษย์ชื่อนายแดงให้เสกหัวปลีเป็นกระต่าย เสกด้วยคาถา “นะ มะ พะ ทะ” นายแดงเสกเป็นเวลานานหัวปลีก็ไม่กลายเป็นกระต่ายสักที หลวงปู่จึงให้กำลังใจ “เอ้า แดง เอ้า เสกเข้า” แต่หัวปลีก็เป็นหัวปลีตามเดิม หลวงปู่ศุขจึงเสกเสียเอง เอามือลูบกระต่าย ๓ ครั้งเท่านั้น หัวปลีเป็นกระต่ายในฉับพลัน วิ่งพล่านไปเลย

ผู้เขียนถามหลวงปู่เครื่อง เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๒๑ ขณะที่หลวงปู่กำลังจะจำวัดว่า “หลวงปู่เสกหัวปลีเป็นกระต่ายได้ไหม”

หลวงปู่ยิ้มด้วยจิตประภัสสร “ไม่เกิน ๕ นาทีก็เป็น”

หลวงปู่อธิบายว่า “ถ้าเราทำได้ อย่ายึดติด จงปล่อยวางเสีย ถ้าติดในฤทธิ์ ความหลงตัวเองจะเกิดขึ้น ต้องก้าวให้ถึงนิพพาน”

อำลาหลวงปู่ศุข

 

พระอาจารย์สมเด็จลุน วัดโพธิ์ไชยยาราม แขวงจำปาศักดิ์ สปป.ลาว

 

หลังจากหลวงปู่เครื่องศึกษาวิชาการลึกลับจากหลวงปู่ศุขเป็นเวลาถึง ๙ ปีแล้ว ก็กราบลาหลวงปู่ศุข มุ่งหน้าสู่บ้านเกิดแดนอีสานต่อไป โดยการเดินธุดงค์เร่ร่อนสู่ป่าและถ้ำเป็นที่พักพิง จนกระทั่งถึงบ้านนายูง

ครั้งหนึ่งหลวงปู่ได้เดินธุดงค์ไปในป่าลึกห่างไกลหมู่บ้านหลายสิบกิโลเมตร หมู่บ้านเหล่านี้เป็นกระท่อมชาวนาชาวไร่ ตั้งอยู่ห่างๆ กัน ภายในป่าลึก พบกระท่อมร้างหลังหนึ่งสภาพโย้เย้เกือบจะพังแล้วแต่พออาศัยได้ มีฝากั้นมิดชิดพอสมควร หลวงปู่จึงเข้าอาศัยในกระท่อมหลังนี้นานถึง ๗ วัน บิณฑบาตกับต้นไม้ใหญ่ ได้ข้าวพอฉันไปวันๆ หนึ่ง หลวงปู่ไม่ยอมบอกว่าใครใส่บาตรให้ แต่ข้าวมีลักษณะเหลืองหอม บางครั้งหลวงปู่ก็ฉันผักอย่างเดียว ตกกลางคืนมีคนถือคบเพลิงเป็นเครื่องนำทาง มานมัสการหลวงปู่เพื่อขอฟังธรรมจำนวนมาก ภายใต้ร่มไม้ใหญ่ หลวงปู่แสดงธรรมให้พวกเขาฟังทุกครั้ง แล้วพวกนั้นก็จากไป รุ่งขึ้นก็พากันมาอีก “ผู้มาฟังธรรมมิใช่คนธรรมดา แต่เป็นคนประหลาดซึ่งอาศัยซ่อนอยู่ในโลกมนุษย์นี้ จะเรียกชาวลับแลก็ได้” หลวงปู่เมตตาเล่าให้ฟัง

มุ่งสู่ประเทศลาวอยู่กับสมเด็จลุน

หลังจากพำนักที่ถิ่นกำเนิดแล้ว หลวงปู่ก็ธุดงค์มุ่งหน้าสู่ราชอาณาจักรลาว ขณะหลวงปู่เครื่องธุดงค์อยู่นั้น ได้ข่าวเกี่ยวกับสมเด็จลุนซึ่งมีชื่อเสียงทางไสยศาสตร์ เป็นที่เคารพนับถือแก่ชาวฝั่งลาวเป็นอย่างมาก หลวงปู่จึงเข้ามอบตัวเป็นศิษย์กับสมเด็จลุนเป็นเวลา ๓ ปีก็ลาจาก

พบพระอาจารย์มั่น

พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ

หลวงปู่ธุดงค์ในประเทศลาวเป็นเวลาหลายปี พอดีเกิดสงครามอินโดจีน ชาวบ้านนายูงจึงพากันไปนิมนต์หลวงปู่กลับบ้านเดิม

เมื่อครั้งหลวงปู่ธุดงค์อยู่นั้น โยมบิดาก็จำศีลภาวนาที่สำนักสงฆ์บ้านนายูง ต่อมา พระอาจารย์มั่น ภูริทัตเถระ ปรมาจารย์ทางสมถวิปัสสนากรรมฐาน ได้เดินทางมาจากจังหวัดอุบลราชธานีมาพำนักที่สำนักสงฆ์บ้านนายูงเพื่อเจริญภาวนา หลวงปู่เครื่องจึงพบกับพระอาจารย์มั่น มีความสนิทสนมกันเป็นพิเศษ ต่างแลกเปลี่ยนความรู้ทางธรรมซึ่งกันและกัน และได้ชักชวนญาติโยมบูรณปฏิสังขรณ์สำนักสงฆ์บ้านนายูง เพื่อใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม ปรากฏว่าชาวบ้านต่างให้ความร่วมมือเต็มที่ และชักชวนกันมาปฏิบัติธรรมเป็นจำนวนมาก โดยมีหลวงปู่เครื่องและพระอาจารย์มั่นคอยแนะนำ ส่วนสำนักสงฆ์บ้านนายูงมีความเจริญจนกลายมาเป็นวัดเทพสิงหารในปัจจุบันนี้

หลวงปู่เครื่องมีอายุแก่กว่าพระอาจารย์มั่น ๓ ปี และมีอายุยืนนานกว่า ทั้งสองท่านผู้ยิ่งใหญ่ทางธรรมเคยไปจำศีลภาวนาร่วมกันที่ถ้ำแห่งหนึ่ง ใกล้บ้านนายูง จากการที่หลวงปู่และพระอาจารย์มั่นเคยจำศีลภาวนาที่ถ้ำนี้นี่เอง เมื่อพระอาจารย์มั่นละสังขาร หลวงปู่และชาวบ้านจึงเรียกถ้ำแห่งนี้ว่า “ถ้ำพระอาจารย์มั่น” เพื่อเป็นอนุสรณ์

ใกล้ๆ กับถ้ำพระอาจารย์มั่นมีน้ำตกชื่อว่า น้ำตกยูงทอง สูงและสวยงามมาก มีความสูง ๗ ชั้น ชั้นสุดท้ายสูงจากพื้นดินถึง ๘ เมตร มีน้ำตกไหลตลอดปี

หลวงปู่เล่าว่า สมัยที่พระอาจารย์มั่นจำศีลภาวนากับท่านในถ้ำนี้ พระอาจารย์มั่นยังไม่สำเร็จพระอรหันต์ ต่อมาภายหลังได้สำเร็จอรหันต์แล้ว แต่หลวงปู่ไม่บอกว่าสำเร็จเมื่อไร

ผจญผีดิบไทยเขิน

วันหนึ่งหลวงปู่เดินทางไปยังภูพระมอม เขตวังเวียง พบชาวไทยเขิน ตั้งบ้านเรือนอยู่ตามเชิงเขาหลายร้อยหลังคาเรือน อาชีพหลักของชาวไทยเขิน คือทำไร่เลื่อนลอยตามบริเวณเชิงภูพระมอม และอาชีพที่มีชื่อเสียงอีกอย่างหนึ่งคือ จักสาน ทำเป็นรูปพานและขันโตกซึ่งทำชื่อเสียงให้แก่หมู่บ้านเป็นอย่างมาก

ที่บ้านไทยเขินนี้ มีวัดแบบโบราณร้างมาช้านาน สวยงามมาก ศิลปะแบบโบราณ

ชาวไทยเขินเห็นหลวงปู่เดินทางมายังหมู่บ้าน จึงพร้อมใจนิมนต์ให้จำพรรษาที่วัดร้างแห่งนี้ หลวงปู่รับนิมนต์ด้วยความเต็มใจ เพราะวัดนี้กลายเป็นวัดร้างไม่มีพระเณรจำพรรษา เนื่องจากถูกผีดิบคร่าชีวิตพระเณรหลายรูป ที่เหลือก็กลัวหนีไปอยู่ที่อื่น

ชาวบ้านเองก็ยังถูกผีดิบรบกวนไม่เว้นแต่ละวัน ภายในระยะเวลาเพียง ๓ เดือน ชาวไทยเขินตายถึง ๘๐ คน นับเป็นเรื่องเศร้าสลดและประหลาดมาก หลวงปู่สงสารชาวบ้านเป็นล้นพ้น จึงรับอาสาปราบผีดิบให้สิ้นซาก

วิญญาณพวกผีเหล่านี้ร้ายกาจมาก ไม่ยอมเป็นมิตรกับหลวงปู่เลย หาเรื่องหาราวรบกวนตลอดเวลาเหมือนอันธพาล หลวงปู่จึงใช้วิชาอาคมที่ร่ำเรียนมาจากหลวงปู่ศุขปราบจนผีดิบไม่กล้าตอแยซึ่งได้ผลอย่างอัศจรรย์ ด้วยอำนาจบารมีหลวงปู่ศุข

ในระหว่างจำพรรษาอยู่นี้ ถือโอกาสสอนธรรมะแก่ชาวไทยเขินด้วย เมื่อชาวบ้านสงบสุขดีแล้วจึงออกเดินทางต่อไป ท่ามกลางความอาลัยอาวรณ์ของชาวไทยเขิน หลวงปู่ต้องปลอบใจว่า โอกาสหน้าจะมาจำพรรษาใหม่ หลวงปู่เองยังไม่จบกิจทางศาสนา จำเป็นต้องแสวงหาที่สัปปายะเพื่อปฏิบัติสมาธิและโปรดสัตว์ต่อไป

บางคนถึงกับน้ำตาซึม และตามไปส่งถึงกลางทาง จนหลวงปู่ขอร้องให้กลับ

พบพระอาจารย์เสาร์

หลังจากออกจากหมู่บ้านไทยเขิน หลวงปู่ย้อนกลับไปวังเวียงเพื่อเจริญสมาธิที่ภูเขาควาย แขวงเวียงจันทน์ ได้พบพระภิกษุและสามเณรมาจากฝั่งไทยหลายรูป ในจำนวนนี้มีพระภิกษุองค์สำคัญองค์หนึ่งคือพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล ซึ่งเป็นอาจารย์ของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตเถระ ปรากฏว่าหลวงปู่และพระอาจารย์เสาร์ถูกอัธยาศัยกันดี จนกลายมาเป็นสหธรรมิกในเวลาต่อมา ในที่สุดหลวงปู่ชวนพระอาจารย์เสาร์ไปหาสมเด็จลุนและได้อยู่กับสมเด็จอีกครั้งหนึ่ง

หลวงปู่แหวนพบหลวงปู่เครื่อง

หลวงปู่เครื่อง ธัมมจาโรและ หลวงปู่แหวน สุจิณโณ

ในราวปี ๒๔๖๑ มีพระธุดงค์ศิษย์พระอาจารย์มั่นเดินทางไปปฏิบัติธรรมบ้านนายูงเป็นจำนวนมากโดยมีหลวงปู่แหวน สุจิณโณ เป็นหัวหน้าคณะเดินทาง พระธุดงค์เหล่านั้นพำนักที่วัดเทพสิงหารกับหลวงปู่เครื่องเป็นเวลานาน ได้แลกเปลี่ยนสนทนาธรรมะกับหลวงปู่แหวนเป็นประจำถึงผลการปฏิบัติ

กิตติศัพท์หลวงปู่เครื่อง

กิตติศัพท์หลวงปู่เครื่องสมัยโน้นโด่งดังมากในประเทศลาว เพราะชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในประเทศลาว สำหรับเมืองไทยรู้จักกันในหมู่ลูกศิษย์ลูกหาและชาวอีสานบางแห่งเท่านั้น ทั้งนี้ท่านไม่ต้องการให้ใครไปรบกวนนั่นเอง ซึ่งทำให้ท่านไม่มีเวลาทำกิจทางใจ

หลวงปู่สุพรรณ ปิยธโร วัดเวฬุวนาราม ต.นาป่า อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ ในสมัยโน้นเคยเดินธุดงค์ไปหาหลวงปู่เครื่องที่บ้านนายูง เพื่อให้หลวงปู่สอนการปฏิบัติ แต่หลวงปู่บ่ายเบี่ยงอย่างถ่อมตัวว่าท่านเองยังเป็นนักเรียนอยู่ ขอให้ไปเรียนกับอาจารย์อื่นก่อน

ชื่อเสียงที่ได้รับความนิยมอีกอย่างหนึ่งคือ หลวงปู่มีจิตเปี่ยมไปด้วยเมตตาธรรมสูงยิ่ง ใบหน้ายิ้มตลอดเวลา จนได้รับขนานนามว่า “จิตประภัสสร” มีความอ่อนโยนบริสุทธิ์ รับแขกไม่เลือกชั้นวรรณะ ถือความสันโดษ สมถะ พูดน้อย เสียงเบา แต่ได้ยินชัดเจน ความทรงจำดีมาก ถามปุ๊บ ตอบปั๊บ โดยมิต้องนึกทบทวนให้เสียเวลา แม้จะถามเรื่องเก่าๆ ซึ่งผ่านมานานนับสิบๆ ปี ก็ตาม สามารถตอบในทันทีราวกับว่าเรื่องเพิ่งผ่านไปหยกๆ

ผู้ใดได้พบเห็นวิสาสะกับหลวงปู่แล้ว อยากกลับไปหาท่านอีก เพราะทำให้เกิดความปีติอิ่มเอิบใจความทุกข์ทั้งหลายที่สุมในหัวใจจะสลายไปทันที ทั้งนี้คงเป็นด้วยกระแสจิตแห่งความบริสุทธิ์ของท่านแผ่มาให้นั่นเอง

 

หลวงปู่เครื่อง ขณะประพรมน้ำพระพุทธมนต์ลงบนวัตถุมงคลที่ปลุกเสกเรียบร้อย

 

อภินิหารอันเกิดจากหลวงปู่และวัตถุมงคลมีมากมาย ขอนำเสนอท่านผู้อ่านบางเรื่องดังนี้

การลงกระหม่อม

การลงกระหม่อมด้วยดินสอดำนั้น ฉมังนัก กล่าวคือ ผู้ใดให้หลวงปู่ลงแล้ว อักขระจะติดกะโหลกผู้นั้นตลอดไป แม้ลูกคนโตถ้าคลอดจากครรภ์แล้วก็จะมีอักขระติดที่กระหม่อมเช่นกัน นับว่าหลวงปู่มีตบะเดชะแก่กล้ามาก สมเป็นศิษย์หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า

กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ซึ่งเป็นศิษย์เอกหลวงปู่ศุข ยังเคยรับสั่งถึงความศักดิ์สิทธิ์ในพระอาจารย์ของพระองค์ว่า “ในชั่วชีวิตของพระองค์ เพิ่งพบพระอาจารย์ที่ศักดิ์สิทธิ์จริงๆ เพียงองค์เดียวเท่านั้น”

อธิษฐานถึงก็ช่วยได้

ส.ส. สุรชาติ ชำนาญศิลป์สมัยนั้นดำรงตำแหน่ง กำนันตำบลนายูง และเคยเป็นผู้จัดการค้าไม้แห่งหนึ่งในจังหวัดอุดรธานี เคารพเลื่อมใสหลวงปู่เครื่องมาก ได้ปวารณาตัวรับใช้หลวงปู่จนถึงแก่มรณภาพ แม้มรณภาพแล้วก็ยังดูแลวัดวาอารามและศพหลวงปู่ซึ่งยังเก็บอยู่อย่างดียิ่ง

และเหตุที่ส.ส.สุรชาติเคารพเลื่อมใสอย่างจริงจัง เนื่องจากคืนหนึ่ง ได้ขับรถเก๋งส่วนตัวไปทำธุระที่บ้านตาด อำเภอเมือง จ.อุดรธานี ขณะขับรถเก๋งเข้าสู่บ้านตาด ซึ่งสองข้างทางเต็มไปด้วยป่ารกชัฏนั้น ณ กลางทางแห่งหนึ่ง สิ่งไม่คาดฝันก็อุบัติขึ้น มีคนร้ายถืออาวุธทันสมัยห้าคน จี้ส.ส.สุชาติให้เดินเข้าในป่า แล้วใช้เชือกเส้นใหญ่ มัดมือ เท้า ติดกับต้นไม้ในลักษณะอันทรมาน โดยเหยียดขาทั้งสองข้างไปข้างหน้า แขนทั้งสองไพล่ไปข้างหลัง โอบต้นไม้ไว้ เท้าทั้งสอมัดติดกันแน่น คนร้ายค้นทรัพย์สินอะไร จึงปล่อยให้ส.ส.สุรชาติมัดติดต้นไม้อยู่อย่างนั้นโดยไม่แก้มัด

ดึกมากแล้ว ส.ส.สุรชาติหนาวจัดเพราะเป็นฤดูหนาว หิวข้าวก็หิว อ่อนเปลี้ยเพลียแรง พยายามดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด เคยดูหนังกำลังภายในมา จึงลองใช้ดูบ้าง แต่ไม่ได้ผล ในที่สุดจึงอธิษฐานถึงหลวงปู่เครื่องว่า “ถ้าหลวงปู่ศักดิ์สิทธ์จริงขอให้เชือกที่มัดนี้หลุด” พอสิ้นคำอธิษฐาน ลองขยับมือและเท้าปรากฏว่าเชือกหลุดอย่างอัศจรรย์ จึงรีบวิ่งเข้าหมู่บ้านซึ่งเห็นแสงไฟกำลังลุกโพลงอยู่ มีคนนั่งผิงไฟสี่ห้าคน เมื่อเข้าไปพบกลุ่มคนเหล่านั้น ทุกคนยืนขึ้นพร้อมกับคิดว่าเป็นคนร้าย ต้องอธิบายให้ฟังถึงเหตุการณ์ที่ถูกจี้เป็นเวลานาน คนเหล่านั้นจึงเชื่อและพาไปส่งที่รถเก๋ง หลังจากกล่าวขอบคุณแล้วจึงรีบขับรถมาแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองอุดรธานี

ทางด้านหลวงปู่เครื่อง อยู่กลับถึงที่วัด เล่าให้บรรดาศิษย์ที่มารับใช้ปรนนิบัติว่า “กำนันถูกจี้ แต่ไม่เป็นอันตราย ประมาณตี ๓ กำนันจะกลับถึงวัดโดยปลอดภัย” (สมัยนั้น ส.ส.สุรชาติ เป็นกำนัน)

ปาฏิหาริย์เปลี่ยนสีรถ

เมื่อปี ๒๕๑๕ นายสาคร ปลัดบาง สมัยนั้นรักษาการในตำแหน่งศึกษาธิการอำเภอน้ำโสม เล่าให้ฟังว่า มีคนร้ายจะดักปล้นรถของคณะกรรมการรับเงินเดือน ซึ่งรับจากศาลากลางจังหวัดอุดรธานีมายังอำเภอน้ำโสม เพื่อจ่ายเงินเดือนให้แก่ข้าราชการอำเภอน้ำโสม ในการไปรับเงินนี้ มีตำรวจคุ้มกันร่วมกับคณะกรรมการรับเงินเดือนด้วย เมื่อรถแล่นมาถึงจุดที่คนร้ายจะปล้น ซึ่งเรียกว่า ช่องเขาขาด ณ จุดนี้เป็นถนนแคบๆ มีผากั้นทั้งสองข้าง เป็นทำเลอันเหมาะสมสำหรับนักปล้น...

........(ต้นฉบับขาดหายไป ๑ หน้า)......

...ด้วยจิตมั่นคงและเชื่อมั่นเสมือนหนึ่งเป็นเทพเจ้าที่จะช่วยชีวิตพวกเขาได้ มองหาที่พึ่งอื่นใดไม่มีอีกแล้ว นอกจากหลวงปู่ แต่ละคนมีเหรียญหลวงปู่เครื่องสวมใส่คอด้วยความศรัทธา

แล้วนาทีระทึกใจก็มาถึง พวก ผกค. หลายคนมายังจุดที่นัดไว้ กำนัน ส.ส. และลูกบ้านซุ่มอย่างเงียบกริบเหมือนกลั้นลมหายใจไว้ เกรงฝ่าย ผกค. จะรู้ตัวเสียก่อน

กำนัน ส.ส. ตัดสินใจเฉียบขาด สั่งลูกน้องยิงทันที ฝ่าย ผกค. ระดมยิงต่อสู้ด้วยอาวุธที่มีกำลังและคุณภาพเหนือกว่ามาก เสียงปืนดังสนั่นเป็นเวลานาน เสียงผู้หญิง เสียงเด็กร้องไห้อย่างน่าสงสาร กลัวผัว กลัวพ่อ จะถูก ผกค. ยิงตาย

ขณะยิงต่อสู้อยู่นั้น ส.ส.สุรชาติถูกยิงชายโครงด้านขวากระเด็นหวือไป ๕ วา ลูกน้องที่ยืนอยู่ใกล้ๆ ตะโกนบอก กำนันถูกยิงตายแล้ว

คุณสุรชาติจึงตะโกนตอบสวนทันที “ยังไม่ตาย ยิงสู้ต่อไป” ผลปรากฏว่า ผกค.ตาย ๕ ศพ ที่เหลือบาดเจ็บหลบหนีมีเลือดไหลตลอดทาง ฝ่ายกำนัน ส.ส. และลูกน้องทุกคนปลอดภัย

กำนัน ส.ส.ถูกยิงก็จริง แต่ไม่เข้า เพราะมีเหรียญหลวงปู่เครื่องรุ่นแรกเพียงเหรียญเดียว ซึ่งตนเองเป็นผู้สร้างถวาย สำหรับลูกน้องที่ต่อสู้ด้วยกันมีเหรียญหลวงปู่ทุกคนแต่ไม่ทราบเป็นรุ่นไหนบ้าง

กำนัน ส.ส. และลูกน้องเล่านาทีระทึกใจว่า พวกผกค. ยิงกราดดังห่าฝน ด้วยอาวุธสงครามที่เหนือกว่า พวกผมมีแต่ปืนลูกซองยาว แต่ก็สู้อย่างมิคำนึงถึงชีวิต เพราะถึงเวลาแล้วที่พวกผมต้องแสดงวีรกรรมให้ประจักษ์ว่า เลือดของชาวนายูงเป็นเลือดนักสู้ มิได้แพ้ ผกค. และสิ่งที่พวกผมเทิดทูนเหนือหัวก็คือหลวงปู่เครื่อง ถ้าไม่มีเหรียญของท่านติดตัวแล้ว คงตายทุกคน ปืนลูกซองจะไปสู้อาร์ก้าได้อย่างไร ส.ส.สุรชาติ ชำนาญศิลป์ “วีรบุรุษแห่งบ้านนายูง” และ “นักรบแห่งภาคอีสาน” กล่าวออกมาจากส่วนลึกของหัวใจ ด้วยความเลื่อมใสศรัทธาหลวงปู่อย่างหมดจิตหมดใจ

ยิงไม่ออก

คุณจรูญ กล้าการรบ ครูโรงเรียนบ้านนางั่วเหนือ อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ ได้กรุณาเล่าให้ฟังว่า ทางกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมาได้รับพัสดุไปรษณีย์ ๑ ห่อ แต่ไม่มีตำรวจคนใดกล้าแก้ห่อพัสดุ เพราะกลัวเป็นระเบิด ผู้กำกับฯ จึงสั่งให้โยนห่อพัสดุลงกลางสนามหญ้าหน้ากองกำกับ แล้วให้ตำรวจคนหนึ่งยิงห่อพัสดุหลายนัด ผลปรากฏไม่ออกแม้นัดเดียว ตำรวจอีกคนหนึ่งจึงรับอาสาแก้ห่อพัสดุเสียเองด้วยความพิถีพิถัน จึงได้ทราบว่าพัสดุห่อนั้นเป็นเหรียญของหลวงปู่เครื่องรุ่น ๕ คุณจรูญบอกว่า ผมยังได้มาเหรียญหนึ่งซึ่งอยู่ในห่อนั้น หลานชายผมเป็นตำรวจที่นั่นนำมาฝากและเล่าเรื่องนี้ให้ฟัง

ปืนแตก

เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑ ผู้เขียน พร้อมด้วยคุณกลม ไตรมงคลวิวัฒน์ เดินหาพระเครื่องตามแผงที่ตลาดอุดรฯ พบชายคนหนึ่งเป็นทหารประจำหน่วยที่อำเภอน้ำโสม นุ่งกางเกงสีขี้ม้า ใส่เสื้อคอกลมสีขาว กำลังเลี่ยมพลาสติกรูปหล่อขนาดเล็กรุ่น ๕ ของหลวงปู่เครื่องผู้เขียนจึงสัพยอกว่า

“หลวงปู่เครื่องดังหรือครับ”

ทหารคนนั้นตอบว่า

“ผมลองยิงด้วย เอ็ม ๑๖ ลูกคาลำกล้อง กระบอกปืนแตก ต้องซื้อใช้เขา”

“องค์ไหนล่ะครับ” ผมซักต่อ

“องค์ที่ผมกำลังเลี่ยมนี่แหละ”

ดูท่าทางเขาพูดซื่อๆ เรียบร้อย ถ่อมตน

ตกน้ำสองชั่วโมง

คุณประเสริฐ เลิศบำรุงสุข พบกับผู้เขียนที่บ้าน แสนศักดิ์ เมืองสุรินทร์ (ไอ้แสบ) อดีตแชมป์โลกของไทย เมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๒๒ คุณประเสริฐเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า ครั้งแรกก็ไม่นับถือเท่าไหร่ เห็นพระแก่ๆ ก็นึกสงสาร ตอนนั้นหลวงปู่ไปกรุงเทพฯ ผมเห็นลูกศิษย์ท่านพยุงหลวงปู่ขึ้นรถ ผมจึงเข้าไปช่วยบ้าง

ต่อมามีเด็กอายุประมาณ ๔ ขวบคนหนึ่ง อยู่ข้างบ้านผม ได้เหรียญหลวงปู่มาเหรียญหนึ่ง ห้อยคอด้วยด้ายสีขาวเหรียญเดียว เหรียญนี้มีลักษณะกลมเล็ก เนื้อโลหะทองแดงรมน้ำตาล เด็กคนนี้ตกน้ำในคลองลึกขนาดท่วมหัวผู้ใหญ่ พ่อ แม่ พี่น้องช่วยกันงมหาเป็นเวลานานก็ไม่พบ ในที่สุดจึงพูดขึ้นว่า ถ้าเหรียญที่คล้องคอเด็กศักดิ์สิทธิ์จริงขอให้พบ ทันทีนั้นเองเด็กก็โผล่จากน้ำโดยไม่เป็นอะไรเลย “ขนาดตกน้ำสองชั่วโมงยังไม่ตาย” ผมจึงเคารพนับถือหลวงปู่ตั้งแต่นั้นมา เพราะเห็นว่าอัศจรรย์มาก เรื่องนี้หลวงปู่เครื่องเล่าให้นายโกศล โทนแก้วฟังเช่นกันและสั่งว่าให้เก็บเหรียญนี้ไว้ดีๆ

รถชนไม่เป็นอันตราย

 

เหรียญหลวงปู่เครื่อง รุ่นธนาคารกรุงเทพสร้าง

 

คุณสงวนศรี สังข์อมร อยู่บ้านเลขที่ ๖๗ ถนนวัฒนา อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ได้รับเหรียญหลวงปู่เครื่อง รุ่นธนาคารกรุงเทพฯ สาขาอุดรธานีไปเหรียญหนึ่ง สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๒ จึงคล้องคอเป็นประจำ วันหนึ่งคุณสงวนศรีเดินทางไปทำธุรกิจต่างจังหวัดโดยขึ้นรถประจำทาง ขณะรถแล่นด้วยความเร็วมีรถยนต์อีกคันหนึ่ง วิ่งด้วยความเร็วสูงเช่นกัน เกิดประสานงาอย่างจัง เสียงรถชนดังสนั่นหวั่นไหว

ปรากฏคนนั่งเคียงขาขาด แขนขาดและตายไปหลายคน สำหรับคุณสงวนศรีไม่ได้รับอันตรายร้ายแรงเหมือนคนอื่น เพียงหนังถลอกเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น เพราะในคอมีเหรียญหลวงปู่เครื่องเหรียญเดียว

เข้าฝัน ห้ามเดินทาง

เรื่องนี้เกิดขึ้นกับคุณสงวนศรี สังข์อมร เช่นเดียวกัน เพื่อให้ผู้อ่านได้ทราบหลักฐานแน่ชัด ผู้เขียนจึงนำจดหมายมาลงไว้ดังนี้

ตะกั่วป่า

๑๙ พ.ย. ๒๒

คุณชอบ ที่นับถือ

น้ามีเรื่องประหลาดจะเล่าให้คุณฟัง เรื่องมีดังนี้ วันหนึ่งเพื่อนเขาชวนน้าไปธุระที่นครศรีธรรมราช น้าก็รับปากเขาว่าจะไป พอนอนกลางคืน ตอนเช้าหัวรุ่ง น้าก็ฝันว่า มีพระแก่ๆ ห่มผ้าสีเหลืองเหมือนพระธุดงค์ บอกว่าวันนี้อย่าไปนครศรีธรรมราช จะมีอันตราย น้าก็ตกใจตื่น นึกว่าจะไปบอกเพื่อเขาว่าอย่างไรดี น้ากลัวเพื่อนจะไม่เชื่อ นึกว่าลองไปดู หรือว่าน้ากลัวเรื่องรถชนกันอยู่ พอตื่นเช้า น้าอาบน้ำเสร็จแล้วแต่งตัวจะไป ก็เกิดปวดท้อง ท้องร่วงอย่างแรงจนเพื่อนของน้าเขาเอารถมารับที่หน้าบ้านก็ยังไม่หาย เพื่อนว่า ถ้าตัวไม่สบายก็อย่าไปเลย เราชวนคนอื่นไปก็ได้ ขอบใจตัวมาก พอรถออกจากบ้านน้าไป อาการปวดท้องก็หาย ทั้งๆ ที่ยังไม่ทานยาเลย พอตอนเย็นเวลา ๖ โมงเย็น ลูกสาวเขาก็มาถามน้องสาวว่า แม่ไปกับน้าพรหรือเปล่า รถที่น้าพรไป ถูกพวกคอมฯ ยิงตกเหว คนตาย ๓  คน เหลืออยู่ ๑ คนไม่รู้ว่าใคร พอลูกสาวเขาเห็นว่าน้าไม่ได้ไปกับเพื่อนเขาก็ดีใจ น้าก็เล่าให้ลูกฟัง เหมือนกับน้าเล่าให้คุณฟัง เพราะที่คอน้าแขวนพระหลวงปู่เครื่องที่คุณให้มา รูปร่างหน้าตาพระในฝันก็เหมือนหลวงปู่เครื่อง

นับถือ

สงวนศรี สังข์อมร

เหรียญหายเองได้

พระอธิการวิเชียร วลฺลโภ วัดขุนศรีเจริญลาภ อำเภอไทรย้อย จังหวัดนนทบุรี พบกับผู้เขียนเมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๒๓ พระอธิการวิเชียรเล่าให้ฟังว่า ตนเองเคยจำพรรษาเพื่อศึกษาธรรมปฏิบัติกับหลงปู่ เมื่อก่อนนี้หลวงปู่จะให้เหรียญกับผู้ใด ท่านเคร่งครัดมาก ต้องนำดอกไม้ธูปเทียนใส่พานแล้วอธิษฐานตามใจปรารถนา และต้องปฏิบัติตามข้อห้ามที่หลวงปู่กำหนดด้วยคือ ให้ถือศีล ๕ อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อ ๓ คือผิดลูกเมียเขา กับ ข้อ ๕ ห้ามดื่มสุราอย่างเด็ดขาด ถ้ารักษาไม่ได้ หลวงปู่ไม่ให้ (หลวงปู่มีความฉลาดในการสอนธรรมะอย่างแนบเนียนมาก) ถ้จะเสพกามต้องเอาเหรียญออก ถ้าไม่เอาออกเหรียญจะหายไปเอง

บอกเหตุการณ์ล่วงหน้าได้

เหรียญหลวงปู่เครื่อง ธัมมจาโรรุ่นแรก

นายเฮือง ตะวงษา ชาวบ้านนายูงเล่าให้ฟังอีกว่า คืนก่อนจะถูกผู้ก่อการร้ายซุ่มยิง รู้สึกสังหรณ์ใจ “พรุ่งนี้จะถูก ผกค.ยิง” ใจคอหงุดหงิด ไม่เป็นอันทำงาน พยายามระงับความคิดแต่ไม่หายจึงออกจากบ้านมาค้างคืนที่วัด เพื่อให้ใจสงบ แต่ก็เป็นอีก นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย โมโหง่าย ถามหลวงปู่ หลวงปู่ตอบว่า “อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด”

รุ่งขึ้นขณะนายเฮืองกำลังเดินเข้าป่าเพื่อตัดไม้ ถูก ผกค. ซุ่มยิงห่าง ๑ วาเท่านั้น ถูกยิงหลายนัดนับจำนวนไม่ได้ แต่กระสุนไม่ระคายผิวหนังเลย แคล้วคลาดไปหมดทุกนัด

อีกครั้งหนึ่งนายเฮืองถูกซุ่มยิงจาก ผกค. เป็นครั้งที่สอง คราวนี้ยิงถูกอย่างจังที่ชายโครงด้านขวาเสื้อขาดกระจุย แต่ไม่เข้า เป็นรอยช้ำดำๆ เท่านั้น นายเฮืองมีเหรียญหลวงปู่เครื่องรุ่น ๑ และรูปหล่อขนาดเล็กรุ่น ๕ นำมาอวดผู้เขียนด้วย เห็นเลี่ยมพลาสติกมิดชิด ผู้เขียนยังนึกในใจว่า ที่เชื่อกันว่าพระที่เลี่ยมพลาสติกหุ้มองค์พระเต็มองค์ จะทำให้พลังในองค์พระออกมาช่วยไม่ได้นั้น ไม่เป็นความจริงอย่างแน่นอน

กำบังตัว

มีชาวอุดรฯ และบ้านผือ นำผ้าป่าไปทอดที่วัดเทพสิงหาร หลังจากเสร็จพิธีแล้ว มีเถ้าแก่คนหนึ่งบูชาภาพถ่ายหลวงปู่ที่ศาลาการเปรียญแล้วถือภาพไปหาหลวงปู่ที่กุฏิ ซึ่งขณะนั้นนั่งบนโซฟา เพื่อให้ท่านเสกอีกครั้ง ก่อนที่จะนำกลับไปบูชาที่บ้าน

เมื่อมาถึง ไม่เห็นหลวงปู่ เห็นแต่โซฟาว่างเปล่ากับคนอีกหลายคนกำลังนั่งคุยกับโซฟา เถ้าแก่ยืนพิงลูกกรงเป็นเวลานาน ในที่สุดจึงเดินออกไปแล้วกลับมาใหม่หวังจะได้พบแต่ไม่พบอีก ครั้งที่ ๓ จึงขอร้องคุณสนั่น  สวัสดิรักษา ศิษย์คนหนึ่งช่วยพาไปพบหลวงปู่ แต่คุณสนั่นก็ชี้ไปที่โซฟาว่าหลวงปู่นั่งอยู่นั่น เถ้าแก่แปลกใจมาก ถามหลายคนในที่นั้นว่า หลวงปู่ไปไหนหรือเปล่า ทุกคนต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกัน “ท่านไม่เคยลุกจากโซฟาไปไหนเลย”

รายที่สอง เป็นคนจีนสองผัวเมีย นั่งรถเบนซ์มาจากกรุงเทพฯ เพื่อบูชาภาพถ่ายหลวงปู่ ก็พบเหตุการณ์เหมือนกับเถ้าแก่คนนั้น

เผาผ้าเช็ดหน้าไม่ไหม้

นายบัง คัณฑี เล่าให้ฟังว่า เมื่อปี ๒๕๑๕ สามเณรดาววิไลซึ่งเป็นบุตรของนายบังบวชอยู่กับหลวงปู่ วันหนึ่งท่านสั่งให้สามเณรดาววิไล นำผ้าเช็ดหน้าชุบน้ำมันก๊าดจนเปียกชุ่ม แล้วเอาไม้ขีดจุดเผาผ้าเช็ดหน้าต่อหน้าหลวงปู่ จุดเท่าไหร่ก็ไม่ติด จนเหลือไม้ขีดก้านเดียว สามเณรจึงถามหลวงปู่ว่าทำไมจุดไม่ติด หลวงปู่หัวเราะแทนคำตอบ แล้วบอกว่า ลองใหม่ซิคราวนี้ไหม้แน่ เมื่อจุดไม้ขีดไฟปรากฏว่าไหม้จริงๆ

“มีบ้านหลังหนึ่งถูกไฟไหม้ บ้านหลังนั้นมีภาพถ่ายหลวงปู่บูชาอยู่ด้วย ปรากฏว่าไฟไหม้จนถึงกรอบรูป แต่รูปหลวงปู่ไม่ไหม้”

ตะกรุดห้ามรถไฟหยุด

ผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด สหไทยรุ่งเรือง ตลาดอำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี เล่าให้ฟังว่า

ครั้งแรกผมรู้สึกเฉยๆ นับถือหลวงปู่ไม่เท่าไหร่ แต่ตอนปลุกเสกเหรียญรุ่นธนาคารกรุงเทพฯ สาขาอุดรฯ สร้างซึ่งผมออกแบบ เห็นพิธีของท่านรู้สึกแปลก คือนำดอกบัว ๙ ดอก วางบนเหรียญซึ่งไม่มีพิธีกรรมมากกว่านี้ เป็นแบบง่ายๆ ส่วนผมเองนั่งใกล้ๆ หลวงปู่ พอท่านนั่งบริกรรมเท่านั้น ขนลุกซู่ซ่าและชามึนไปทั้งตัว ทั้งที่เคยเข้าในพิธีใหญ่มีพระเกจิอาจารย์ดังๆ ปลุกเสก หลายแห่ง ไม่เคยปรากฏการณ์เช่นนี้สักครั้งเดียว แสดงว่าหลวงปู่พลังจิตสูงมาก เดี๋ยวนี้ผมนับถือเป็นชีวิตจิตใจ

ต่อมาผมซื้อทองแดง ๑๐ แผ่นให้หลวงปู่ทำตะกรุด เพื่อนขอไปใช้ ๑ ดอก ปรากฏว่าเพื่อนคนนี้ขี่มอเตอร์ไซค์ โดยมีเพื่อนซ้อนท้ายอีกคนหนึ่ง เพื่อไปทำธุระในตลาด ทางที่จะไปต้องข้ามรางรถไฟด้วย

ถึงตอนนี้ผู้จัดการถามว่า "พี่เคยเห็นรถไฟหยุดกลางทางบ้างไหม?" ได้ตอบไปว่า “ไม่เคย” วัว, ควาย หรือคนขวาง ถูกชนตายหลายราย แม้หนังสือพิมพ์ก็ลงข่าวบ่อยๆ

“แต่แปลกนะครับ” ผู้จัดการพูดต่อ เพื่อนผมขี่มอเตอร์ไซค์กำลังจะข้ามรางรถไฟ เกิดเครื่องดับกะทันหัน ขณะนั้นรถไฟวิ่งห้อมาอย่างเร็ว พอใกล้จะถึงมอเตอร์ไซค์ที่จอดดับอยู่ รถไฟก็หยุดกึกทันที เมื่อเพื่อนผมเข็นรถออกจากราง รถไฟจึงวิ่งต่อไปได้ เพื่อนมันเล่าให้ฟังเพราะอธิษฐานให้หลวงปู่ช่วย และที่รอดตายมาได้อย่างปาฏิหาริย์เพราะบารมีหลวงปู่ที่ลงพลังจิตในตะกรุด ห้ามรถไฟให้หยุดได้

รู้วันตายและรู้ใจคน

เหรียญหลวงปู่เครื่อง ธัมมจาโร รุ่น "อภัย"

เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๒๑ คุณประสงค์ ทองมาดี กับคุณชาญ ฉลาดธัญกิจ นำเหรียญรุ่น “อภัย” ให้หลวงปู่ปลุกเสก ที่วัดเทพสิงหาร

รุ่งเช้า วันที่ ๒๖ ธันวาคม หลวงปู่กำลังฉันข้าว ได้พูดคุยกับคุณประสงค์ ทองมาดีว่า อายุ ๑๑๓ ปี "ก็จะไป" คุณชาญซึ่งนั่งอยู่ใกล้ๆ นิมนต์หลวงปู่ให้อยู่สัก ๑๓๐ ปีแต่หลวงปู่หันมายิ้ม ไม่พูดอะไร

อาจารย์ทองมา พรหมสุข เล่าให้ฟังว่า เมื่อหลวงปู่มีอายุ ๘๙ ปี มีชีปะขาวสี่ตนนิมนต์ให้หลวงปู่กลับคืนสู่สุคติปีนี้ หลวงปู่ก็รับคำและตอบชีปะขาวไปว่า เรายังไม่ได้ลาญาติพี่น้อง ครูบาอาจารย์ ขอผลัด ๗ วันก่อน จึงจะไปสู่สุคติตามคำนิมนต์

หลังจากนั้นหลวงปู่ก็เริ่มป่วย และสั่งอาจารย์ทองมา มาพบบ่อยๆ ในที่สุดอาจารย์ทองมา ทำพิธีต่ออายุให้ หลวงปู่ก็หายเป็นปกติแต่นั้นมา

เรื่องรู้ใจคนนี้ หลวงปู่รู้จริงๆ ใครไปหาท่าน จะทักทันทีว่ามาเรื่องนั้นเรื่องนี้ และต้องการอะไร เช่น นายสวย ลุนทอง มีเมียแล้ว แต่ไปติดหญิงคนใหม่ ไม่มีใครรู้เรื่องนี้เลย นอกจากนายสวยกับหญิงคนนั้นเพียง ๒ คน วันหนึ่ง หลวงปู่เรียกนายสวยไปพบ พร้อมกับพูดว่า “ถ้ามึงไม่อยู่นำเขา มึงหนีไปเสีย เขาจะได้มีผัวใหม่” เรื่องนี้นายสวยเล่าให้ฟังด้วยตนเอง

ฝนตกไม่เปียก

พระรูปหนึ่งที่วัดเทพสิงหารเล่าให้ฟังว่า เมื่อประมาณปี ๒๕๒๑ ขึ้นมุงหลังคาโบสถ์ เกิดฝนตกอย่างหนัก จนน้ำท่วมลานวัดและลงจากหลังคาโบสถ์มาเก็บผ้าสบงที่ตากไว้ไม่ทัน หลวงปู่จึงถือไม้เท้ายันเดินไปเก็บผ้าสบง ซึ่งตากอยู่หน้ากุฏิท่านพอดี ให้ เมื่อพระรูปนี้ลงจากหลังคา วิ่งหลบฝนเข้ามาในกุฏิหลวงปู่ ซึ่งหลวงปู่ก็เดินเข้ากุฏิเหมือนกัน ปรากฏว่า หลวงปู่ไม่เปียกฝนเลย พระรูปนี้เล่าว่าได้ยินชาวบ้านพูดกัน แต่ไม่เชื่อ เพิ่งเห็นกับตาตนเองครั้งนี้

กล้วยไม่งอก

เคยได้ยินคนเก่าคนแก่พูดเสมอๆ ถ้าพระเครื่องดีจริง ให้ตัดต้นกล้วยที่ยังไมออกปลี เอาพระวางตรงกึ่งกลางต้นกล้วย ต้นกล้วยจะไม่งอก ซึ่งตามธรรมชาติแล้ว กล้วยจะงอกเร็วมาก ภายใน ๑ หรือ ๒ ชั่วโมงก็เห็นผล

ดังนั้น วันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๒๓ เวลา ๑๗.๓๐ น. คุณชาญ กับคุณทวี ตาลสุกเรือง จึงทำการทดลองกัน โดยคุณทวีเป็นผู้ตัดกล้วย ๒ ต้น ขนาดเท่าลำแขน ต้นหนึ่งวางเหรียญรุ่น “อภัย” ต้นหนึ่งปล่อยไว้เฉยๆ วางเหรียญไว้จนถึงวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๒๓ เวลา ๑๗.๓๐ น. จึงเอาออก ซึ่งครบ ๗ วันพอดี ปรากฏว่ากล้วยต้นที่วางเหรียญไม่งอก แต่เหี่ยวลงๆ ส่วนต้นที่ไม่ได้วางเหรียญงอกขึ้นเกือบครึ่งฟุต ต่อมาต้นกล้วยที่ไม่งอกนั้น กลับงอกขึ้นใหม่และเจริญเติบโตจนมีปลี ผู้เห็นเหตุการณ์ครั้งนี้มีคุณสำราญ เอี้ยงอ่อง ผู้จัดการธนาคารออมสิน สาขาเพชรบูรณ์ คุณบัวลี คุณประกอบ ผู้ช่วยเกษตรจังหวัดเพชรบูรณ์ คุณสยาม อิสสระประทีป อาจารย์ใหญ่ โรงเรียนบ้านกงกะยาง อาจารย์โกศล โทนแก้ว คุณประสงค์ ทองมาลี คุณวัฒนชัย บุญทรัพย์ สำหรับคุณทวีย้ำว่า ถ้าเราไม่เคยรู้ไม่เคยเห็นการทดลองจะได้ผล ถ้ารู้แล้วทดลองอีกถือว่าเป็นการประมาท อาจไม่เกิดผลก็ได้ เพราะวิทยาศาสตร์ทางจิตนั้นเป็นเรื่องเร้นลับ พิสูจน์ยาก

ละขันธ์

หลวงปู่เคยพูดกับคุณประสงค์ ทองมาดี ว่า อายุ ๑๑๓ ปี “ก็จะไป” พอถึงปี ๒๕๒๓ หลวงปู่มีอายุ ๑๑๓ ปีพอดี และมรณภาพในปีนี้

ก่อนที่หลวงปู่จะถึงแก่มรณภาพ เคยผ่าตัดที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ หลวงปู่ดี ภทฺธิโย ซึ่งเฝ้าอาการหลวงปู่เครื่อง เล่าถึงอัศจรรย์ขณะแพทย์ทำการผ่าตัดแล้วพบพระนางพญาในถุงน้ำดีจำนวนถึง ๒๗ องค์

 

หลวงปู่ดี ภัทธิโย

หลวงปู่ดี ภัทธิโย สำนักวิปัสสนากัมมัฏฐานภัทธิโย อ.กุดข้าวปุ้น (เมื่อก่อนขึ้นกับ อ.ตระการพืชผล) บูรพาจารย์ศิษย์สายสำเร็จลุนอีกท่านหนึ่ง และท่านยังเป็น ศิษย์เอกญาท่านตู๋ ญาท่านกัมมัฏฐานแพง และ ลป. เครื่อง วัดเทพสิงหา จ.อุดร

ท่านเป็นอาจารย์ญาท่านเกษม วัดเกษมสำราญ ต.เกษม อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี

ว่ากันว่าท่านเป็นศิษย์รุ่นสุดท้ายที่ได้รับสรรพวิชาจากพระอาจารย์ใหญ่สำเร็จลุน โดยการดูแลของญาท่านตู๋ ญาท่านกัมมัฏฐานแพง รุ่นเดียวกับ ญาท่านโทน วัดบูรพา ญาท่านฤทธิ์ วัดสระ ญาท่านภูมาภิบาล วัดบ้านกองโพน ญาท่านทอง วัดหัวเรือและองค์อื่นๆ

หลวงปู่ดี ท่านเป็นคนอุบลโดยกำเนิด เชี่ยวชาญด้านวิชาการฝังเข็มทองและอาคมต่างๆ โดั่งดังมากๆในสมัยอดีต..... ญาท่านตู๋และ..ญาท่านกัมมัฏฐานแพง ได้ฝากศิษย์รักคือหลวงปู่ดี ไปอยู่กับหลวงปู่เครื่อง วัดเทพสิงหาร อุดร ด้วย

ลป. ดี ท่านเป็นที่เคารพรักและศรัทธา ของ คน น้ำโสม อุดร...มากทางลูกศิษย์จึงได้จัดสร้างเหรียญรุ่นแรกท่านขึ้นมาตอนที่ท่านอยู่วัดเทพสิงหาร อุดร และหลังจากลป.เครื่อง ได้มรณภาพท่านจึงกลับมาจำวัดอยู่ที่อุบล และมีเหรียญออกที่อุบลอีกหลายรุ่นครับ ในพื้นที่เรียก ลป. ดี บ้านเหล่าลิง...

แหล่งที่มา http://www.ubonpra.com/board/index.php?topic=131.0

 

หลวงปู่ดีองค์นี้ เคยพบกับหลวงปู่เครื่องที่วัดโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี สมัยนั้นหลวงปู่ดียังเป็นสามเณรอยู่ ส่วนหลวงปู่เครื่องเดินทางไปจำพรรษาจึงพบกันและสนิทสนมเป็นพิเศษ

สำหรับการป่วยครั้งสุดท้ายของหลวงปู่เกิดจากท้องร่วงอย่างแรง จนต้องนำส่งโรงพยาบาลอุดรฯ ขณะรักษาตัวที่โรงพยาบาล หลวงปู่เข้าห้องสรงน้ำ ด้วยความชราภาพ จึงลื่นล้มศีรษะฟาดกับเหลี่ยมซีเมนต์ เป็นผลให้ปวดศีรษะ ส.ส.สุรชาติจึงนำส่งโรงพยาบาลพระมงกุฎฯ โดยเป็นคนไข้ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา

หลวงปู่คงรู้ชะตาชีวิตของท่าน จึงสั่งให้ศิษย์เตรียมจัดแจงเก็บข้าวของกลับวัดเทพสิงหาร พอดี ส.ส. สุรชาติกลับจากธุระข้างนอกได้ห้ามหลวงปู่ไว้ ให้รักษาตัวที่โรพยาบาลตามเดิม หลวงปู่ไม่พูดอะไร ล้มตัวนอนพร้อมกับถอดลูกประคำสีดำให้ ส.ส. สุรชาติ

วันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๒๓ แพทย์ผ่าตัดสมองเอาเลือดที่คั่งในสมองออก ถึงวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๒๓ อาการดีขึ้นจนไม่เป็นที่น่าวิตก แต่พอวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๒๓ ท่านกลับนอนสงบนิ่งเหมือนเข้าฌาน (พระภิกษุผู้มีจิตสูงองค์หนึ่งบอกผู้เขียนขณะนั่งเฝ้าหลวงปู่) พอเวลา ๑๕.๐๐ น. ท่านกระดิกเท้าขวา ๓ ครั้ง เท้าซ้าย ๓ ครั้ง แล้วท่านก็แยกจิตออกจากกายอย่างเด็ดขาด !!!...

บ้านนายูง ดินแดนแห่ง “โมกขธรรม” บัดนี้สิ้นแล้วซึ่งพระอริยสงฆ์ผู้ทรงศีลอันบริสุทธิ์ ยังความโศกสลดแก่ผู้เคารพเลื่อมใสโดยทั่วไป บรรดาศิษย์เชื่อกันว่าท่านนิพพานแล้ว !!!

สวัสดีครับ

ประวัติหลวงปู่เครื่อง ธัมมจาโร ภาคพิเศษ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสกับหลวงปู่เครื่อง ธมฺมจาโร เจ้าอาวาสวัดเทพสิงหาร ตำบลนายูง อำเภอน้ำโสม

วันเสาร์ที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๒๐ เวลา ๑๐.๒๕ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จโดยรถยนต์พระที่นั่ง พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์ จากพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ ไปยังสนามบินกองทัพภาคที่ ๒ ส่วนหน้า อำเภอเมืองสกลนคร เพื่อประทับเครื่องบิน ซี-๑๒๓ พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรและฐานปฏิบัติการกองพันทหารราบเฉพาะกิจที่ ๑๒๓ ในเขตพื้นที่อำเภอน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี

ครั้นเสด็จพระราชดำเนินถึงท่าอากาศยานอุดรธานี ทรงเยี่ยมราษฏรที่เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอยู่ ณ บริเวณนั้น แล้วประทับเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินไปยังสนามหน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอน้ำโสม ในเขตพื้นที่บ้านนางัว ตำบลน้ำโสม ทรงพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรจากอำเภอน้ำโสม และอำเภอใกล้เคียงที่เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอยู่เป็นจำนวนมาก

สมควรแก่เวลาจึงเสด็จพระราชดำเนินโดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งต่อไปยังฐานปฏิบัติการกองพันทหารราบเฉพาะกิจที่ ๑๒๓ บ้านน้ำทรงน้อย ตำบลน้ำโสม ทรงวางพวงมาลา ณ ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

 
 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หลวงปู่เครื่อง ธัมมจาโร หลวงปู่ดี ภัทธิโย และกำนันสุชาติ ชำนาญศิลป์ เข้าเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต

จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานถุงของขวัญและยาชุดแก่ผู้แทนกองพันฯ เสร็จแล้ว ทรงมีพระราชดำรัสกับหลวงปู่เครื่อง ธมฺมจาโร เจ้าอาวาสวัดเทพสิงหาร ตำบลนายูง อำเภอน้ำโสม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงถวายปัจจัยแก่หลวงปู่เครื่อง สำหรับสมทบทุนในการสร้างอุโบสถ และหลวงปู่เครื่องถวายพระเครื่องแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

(ข้อมูลเพิ่มเติมจาก www.suankhung.com/index.php?l...6598&Ntype=777  ดังนี้: หลวงปู่เครื่องได้เข้าเฝ้ารับเสด็จพระเจ้าอยู่หัว และกราบบังคมทูลความประสงค์จะก่อสร้างพระอุโบสถ วัดเทพสิงหาร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงถวายพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 28,000 บาท เป็นทุนเริ่มต้นในการก่อสร้างพระอุโบสถ บรรดาข้าราชบริพารร่วมกันถวายเพิ่มเติมอีก 35,000 บาท ภายหลังพระอุโบสถสร้างสำเร็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำพระปรมาภิไธยย่อ “ภปร.” ประดิษฐานที่หน้าบันพระอุโบสถด้วย)

ต่อมาในปีพ.ศ. ๒๕๒๑ ด้วยพระราชศรัทธาส่วนพระองค์ที่มีต่อหลวงปู่เครื่อง ธัมมจาโร เจ้าอาวาสวัดเทพสิงหาร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้หลวงปู่เครื่อง ธัมมจาโร หลวงปู่ดี ภัทธิโย และกำนันสุชาติ ชำนาญศิลป์เข้าเฝ้า ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิตเป็นการส่วนพระองค์

วันพฤหัสบดีที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๒๗ เวลา ๑๔.๐๐ น. ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปทรงยกช่อฟ้าและตัดลูกนิมิตอุโบสถวัดเทพสิงหาร บ้านนายูง อำเภอน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี

วันจันทร์ที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๓๓ เวลา ๑๕. น. ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายเชาว์ ณ ศีลวันต์ องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ ไปในการพระราชทานเพลิงศพ หลวงปู่เครื่อง ธัมมจาโร ณ เมรุวัดเทพสิงหาร บ้านนายูง อ.น้ำโสม จ.อุดรธานี