#echo banner="" ประวัติ หลวงปู่กงมา จิรปุญฺโญ วัดดอยธรรมเจดีย์ 5

หลวงปู่กงมา จิรปุญฺโญ

วัดดอยธรรมเจดีย์ อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร

สร้างวัดป่าวิสุทธิธรรม

กุฏิพระอาจารย์มั่น ที่เสนาสนะป่าบ้านโคก
ปัจจุบันคือ วัดป่าวิสุทธิธรรม อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร

ในปีนี้ (พ.ศ. ๒๔๘๕) ท่านพระอาจารย์มั่นได้จำพรรษาอยู่ที่เสนาสนะป่าบ้านโคกกับพระอาจารย์กงมา ๑ พรรษา พร้อมกับพระเณรรูปอื่นๆ ได้แก่ พระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน (หลวงตาได้มอบตัวเป็นศิษย์และอยู่ฝึกหัดกัมมัฎฐานกับหลวงปู่มั่นเป็นครั้งแรกในปีนี้ ), พระอาจารย์เจี๊ยะ จุนฺโท, พระพระอาจารย์สิงห์ จากบ้านหนองหลวง, พระอาจารย์พา, พระอาจารย์ทองปาน, พระอาจารย์สวัสดิ์, สามเณรอุ่น ( ได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดร้างแห่งนี้ โดยมีหลวงปู่มั่นเป็นพระอุปัชฌาย์ โดยเป็นสามเณรรูปสุดท้ายที่หลวงปู่มั่นบรรพชาให้ ปัจจุบันคือหลวงปู่อุ่น กลฺยาณธมฺโม มรณภาพแล้ว), สามเณรอี๊ด

ในพรรษาถัดมา คือในปี ๒๔๘๖ ท่านพระอาจารย์มั่นได้ไปจำพรรษาที่เสนาสนะป่าบ้านนามน ในปัจจุบันคือ วัดป่านาคนิมิตต์ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของพระอาจารย์เนียมสหธรรมมิกของพระอาจารย์กงมา อยู่ห่างจากบ้านโคกประมาณ ๔ กิโลเมตร ในปีนั้นหลวงปู่บัวพาได้มาอยู่จำพรรษากับหลวงปู่กงมา และหลวงปู่อ่อน ที่วัดป่าบ้านโคกนี้ และในระหว่างพรรษา หลวงปู่กงมากับหลวงปู่อ่อน และหลวงปู่บัวพา ได้พร้อมใจกันไปรับการอบรมฟังธรรมองค์หลวงปู่มั่นสามวันต่อครั้งตลอดพรรษาอยู่มิได้ขาด เพราะสองวัดนี้ไม่ห่างไกลกันนัก

ภาพถ่ายพระอาจารย์มั่นที่วัดวิสุทธิธรรม

ต้นค้อที่อยู่ด้านหลังพระอาจารย์มั่น

ในระหว่างนี้พระอาจารย์กงมาได้พยายามวางรากฐานให้มีวัดป่าในแถบบ้านโคกนี้ ได้สร้างวัดใหม่อยู่ห่างจากที่เก่าประมาณ ๑ กิโลเมตร เนื่องจากที่เก่าอยู่ใกล้ทางสัญจรไปมาของผู้คน จึงไม่ค่อยสงบ เมื่อมาอยู่ที่ใหม่นี้ชาวบ้านจึงถวายที่ตั้งวัด ได้สร้างศาลาและกุฏิถวายพระอาจารย์มั่น ตั้งชื่อสำนักสงฆ์นี้ว่า "วัดป่าวิสุทธิธรรม" เมื่อปลายปี พ.ศ.๒๔๘๕ เพื่อเป็นอนุสรณ์ที่พระอาจารย์มั่นได้มาจำพรรษา ณ บ้านโคก อันเป็นบ้านเกิดของพระอาจารย์กงมา และต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๘๗ ท่านพระอาจารย์มั่นจึงได้มาจำพรรษาที่วัดป่าวิสุทธิธรรมตามที่พระอาจารย์กงมาได้อาราธนานิมนต์ ในพรรษานี้มีพระเณรจำพรรษาร่วมกับท่าน ได้แก่ พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ, พระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน, พระอาจารย์วิริยังค์ สิรินฺธโร, พระอาจารย์หลอด ปโมทิโต, พระอาจารย์อุ่น กลฺยาณธมฺโม, พระอาจารย์คำดี, พระอาจารย์มนู, พระอาจารย์บุญ, เณรดี, เณรได

ณ วัดป่าวิสุทธิธรรมแห่งนี้ พระอาจารย์มั่นท่านได้ใช้ศาลาโรงธรรมที่พระอาจารย์กงมาสร้างขึ้นเป็นที่แสดงธรรมเทศนาอบรมศิษยานุศิษย์และพุทธบริษัท รวมทั้งเป็นที่ประชุมสงฆ์เพื่อวางระเบียบแบบแผนของคณะกัมมัฎฐานให้ถูกต้อง บริเวณด้านขวาของศาลามีต้นค้อต้นใหญ่ยืนต้นอยู่ ต้นค้อนี้เป็นที่ที่พระอาจารย์มั่นถ่ายรูปยืนด้วย

aìaìaìa ù aìaìaìaìa

หลังออกพรรษาปี ๒๔๘๘ เสร็จฤดูกาลรับกฐิน พระอาจารย์ฝั้น ซึ่งได้ออกเที่ยวธุดงค์ไปในเขตเทือกเขาภูพาน ไปพักวิเวกตามสถานที่อันสงบตามเชิงเขาบ้าง ไปป่าทึบอันเต็มไปด้วยสัตว์ร้ายต่าง ๆ บ้าง แล้วเลยขึ้นไปพักบนภูเขาใกล้ ๆ กับบ้านนาสีนวล (บริเวณที่เป็นวัดดอยธรรมเจดีย์ในปัจจุบัน) ซึ่งขณะนั้นยังเป็นป่า เต็มไปด้วยเสือร้ายและสัตว์ป่านานาชนิด พักวิเวกอยู่ที่นั่นได้ประมาณเดือนเศษ ก็ลงมาแวะที่วัดป่าบ้านโคก (วัดป่าวิสุทธิธรรม) ได้ชวน พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ ให้ร่วมธุดงค์ไปด้วยกัน จากนั้นเดินทางไปพักที่วัดป่าร้างใกล้กับบ้านหนองมะเกลือ ตำบลดงชนอีกประมาณเดือนเศษ จึงย้ายไปพักที่ป่าไผ่ บ้านธาตุดุม ห่างตัวเมืองสกลนครในราว ๔ – ๕ กิโลเมตร

ครึ่งเดือนกว่า ๆ ต่อมา เมื่อทราบข่าวว่าพระอาจารย์มั่นอาพาธอยู่ที่วัดป่าบ้านหนองผือ พระอาจารย์กงมากับ พระอาจารย์ฝั้นจึงรีบเดินทางไปเยี่ยม ปรนนิบัติท่านอยู่ในราว ๒ สัปดาห์ พระอาจารย์มั่นก็ทุเลาลง จึงเดินทางกลับไปพักที่ป่าไผ่บ้านธาตุดุมอีก และต่อมาได้ย้ายไปพักที่วัดร้างแห่งหนึ่งในเขตเทศบาลเมืองสกลนคร คือวัดสระแก้ว วัดนี้ร้างพระเณรอยู่หลายปีมาแล้ว บริเวณวัดจึงเต็มไปด้วยป่ารกรุงรัง (ปัจจุบันปลูกสร้างเป็นโรงพยาบาลจังหวัดสกลนคร) ระยะแรกที่พระอาจารย์กงมา กับพระอาจารย์ฝั้น พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณรอีกบางรูป ได้เข้าไปพักในวัดร้างแห่งนี้ ภายในวัดมีกุฏิร้างจะพังมิพังแหล่หันหน้าเข้าหากันอยู่ ๒ หลัง ระหว่างกลางเป็นชานโล่ง ปูพื้นติดต่อถึงกัน พระอาจารย์ทั้งสองท่านต่างก็พักอยู่รูปละหลัง พระภิกษุสามเณรไปพักรวมกันอยู่อีกหลังหนึ่ง คนละด้านกับพระอาจารย์ ส่วนอีกหลังหนึ่งนั้น จัดไว้สำหรับเป็นที่ฉันจังหันรวม พระอาจารย์กงมาพักอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่งก็เดินทางกลับไปวัดป่าวิสุทธิธรรม

สร้างวัดดอยธรรมเจดีย์

ทางเข้าวัดดอยธรรมเจดีย์

พระอาจารย์กงมาพักอยู่ที่วัดป่าวิสุทธิธรรมได้ระยะหนึ่ง เมื่อท่านเห็นว่าการอยู่ใกล้บ้านเกินไป การบำเพ็ญเพียรก็ไม่สู้จะได้ผลนัก จึงได้เที่ยวขึ้นไปดูสถานที่บนภูเขา ท่านก็ได้พบสถานที่ๆ เหมาะสมแห่งหนึ่งในเทือกเขาภูพาน สถานที่นั้นอยู่ใกล้ๆ กับบ้านนาสีนวลประมาณ ๔ กม. ท่านก็ได้พบถ้ำ และมีน้ำผุดพอได้อาศัย

ในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ ท่านจึงเริ่มพาคณะสานุศิษย์ขึ้นไปจำพรรษา และพาประพฤติปฏิบัติในทางด้านจิตใจเป็นใหญ่ และท่านได้ปฏิบัติแม้จะเป็นพระธรรมวินัยภายนอก ท่านได้ถืออย่างเคร่งครัด เช่นการฉันหนเดียว ฉันในบาตรเป็นต้น ท่านได้รักษาเป็นกิจวัตรทีเดียว ไม่เคยอนุโลม ณ ที่ใด สถานใด ส่วนการปฏิบัติภายในด้านจิต ท่านได้ทำให้เป็นแบบอย่างแก่ศิษย์โดยการบำเพ็ญของท่าน เมื่อศิษย์ใดอยู่กับท่านๆ ต้องแนะนำ พยายามมิให้เกิดความเหนื่อยหน่ายต่อข้อปฏิบัติ

ตลอดเวลาที่ท่านมีชีวิตอยู่นั้น ท่านอยู่ด้วยการปฏิบัติอย่างจริงจังและปรารภความเพียรอยู่เนืองๆ

ถ้ำที่พระอาจารย์กงมาไปพบนั้น ชื่อว่า ถ้ำเสือ แต่เดิมเป็นที่อาศัยของเสือ ซึ่งสมัยนั้นมีอยู่ชุกชุม ท่านเล่าไว้ว่า...

“ภายในถ้ำเสือ พวกมันอยู่กันเป็นครอบครัวเลยทีเดียว ท่านเคยเห็นมันออกมาจากถ้ำ บางครั้งก็ ๔ ตัว บางคราว ๕-๖ ตัว ก็มี”

เวลามันออกไปจากถ้ำ ก็หมายความว่า “มันต้องลงไปจับวัวของชาวบ้านมากินเสมอๆ มันสามารถล้มวัวแล้วลากเอามาได้เพราะมันช่วยกัน”

เมื่อท่านไปถึงก็ได้ปักกลดลง ณ ปากถ้ำ แล้วท่านก็เอ่ยกับพวกเสือโคร่งให้รับรู้ว่า...

“พวกเจ้าจงไปอยู่ที่อื่นเถิด เราจะมาขอใช้สถานที่แห่งนี้ บำเพ็ญภาวนาธรรม และเราก็ได้ปักกลดอยู่ที่นี่แล้ว”

ท่านพูดจบก็เข้าที่เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานต่อไป...

พวกเสือที่อยู่ในถ้ำ ได้ยินท่านพูดประกาศให้รู้อย่างนั้นแล้ว มันก็มาร้องอยู่ต่อหน้าท่าน พระอาจารย์กงมา ท่านก็นั่งหลับตาทำสมาธิเฉยอยู่ ท่านเล่าว่า...

มันร้องครวญครางอยู่เช่นนั้นตลอด ๗ วัน เพราะมันหวงถ้ำของมัน

บริเวณวัดดอยธรรมเจดีย์

แต่เสือก็ยืนร้องอยู่ใกล้กับตัวท่านอย่างนั้นเอง ไม่สามารถเข้ามาถึงตัวท่านได้ ในที่สุดพวกเสือโคร่งเหล่านั้นก็ลงไปอาศัยอยู่เชิงเขาต่อไป ส่วนพระอาจารย์กงมา ได้พาคณะลูกศิษย์ของท่านปฏิบัติธรรมจนได้รับความสงบเยือกเย็นเป็นอย่างยิ่ง

ต่อมาพระอาจารย์วิริยังค์ได้นำสามเณรสนธิ์ ไปฝากไว้เพื่อปฏิบัติธรรมกับท่านพระอาจารย์กงมา บนถ้ำเสือเทือกเขาภูพาน จังหวัดสกลนคร

อยู่มาคืนหนึ่ง เวลาดึกสงัดแล้ว ผู้ใหญ่อ้อม เป็นคนอยู่ที่บ้านนาสีนวล มีความโกรธเสือโคร่งที่ไปลักกินวัวของตนไปตัวหนึ่งแต่มันกินไม่หมด ผู้ใหญ่อ้อมรู้ว่า มันจะต้องมากินซากอีก ด้วยความโกรธ แกจึงนำหน้าไม้ติดยางน่อง มาคอยดักยิงเสือ โดยตัวของผู้ใหญ่อ้อมขึ้นไปรออยู่บนยอดไม้

ยามดึกสงัดนั้น เป็นเวลาเดียวกันกับท่านพระอาจารย์กงมา กำลังนั่งสมาธิภาวนาอยู่ในถ้ำ ผู้ใหญ่อ้อมคาดคิดไว้ถูกต้อง ยามดึกสงัดเสือตัวดังกล่าวก็ออกมากินซากวัวตัวนั้นจริงๆ พอผู้ใหญ่อ้อมเห็นเสือ ก็ตกใจสุดขีด ! มือไม้สั่นจนหน้าไม้ที่จับไว้นั้น หลุดมือตกลงมายังพื้นดิน ผู้ใหญ่อ้อมกลัวมาก นั่งกอดคบไม้เนื้อตัวสั่นเทาไปหมด ยิ่งดึกก็ยิ่งกลัว !

ฉะนั้นอะไรๆ ก็ไม่ดีเท่าเอาเสียงเข้ามาเป็นเพื่อน แล้วก็ส่งเสียงร้องโหวกเหวกขึ้น เพื่อขอความช่วยเหลือ

ส่วนเสือโคร่งตัวนั้น มันก็ไม่สนใจเสียงของผู้ใหญ่อ้อม นอกจากก้มหน้าก้มตากินซากวัวอย่างสบายใจ...ท่ามกลางแสงเดือนและสายลม

เสียงที่ผู้ใหญ่อ้อมร้องขึ้นสุดเสียงในชีวิตที่เกิดมาได้ผลมาก เพราะได้ยินไปถึงพระอาจารย์กงมา ที่กำลังเจริญสมาธิภาวนาอยู่ ท่านเข้าใจว่า คนชาวป่าดงจะหลงทางร้องเรียกขอความช่วยเหลือ

ท่านพร้อมด้วยสามเณรสนธิ์ สุสนฺธิโก รีบออกจากถ้ำตามเสียงนั้นไป สามเณรสนธิ์คว้าตะเกียงรั้วติดมือไปด้วย เมื่อเดินใกล้ต้นเสียงที่ร้องเรียก จนถึงที่เสือกำลังนอนกินซากวัวอย่างเพลิดเพลินอยู่

แต่ท่านพระอาจารย์กงมา และสามเณรสนธิ์ก็ยังไม่เห็นเสือที่กำลังนอนอยู่ใกล้ๆ เท้าของท่าน

ผู้ใหญ่อ้อมอยู่บนต้นไม้มองเห็นดังนั้น ก็รีบร้องขึ้นด้วยเสียงอันดังว่า...

“พระอาจารย์ นั่นเสืออยู่ข้างหน้าท่าน”

ขาดคำของผู้ใหญ่อ้อม สามเณรสนธิ์ก็เหลือบไปเห็นเสือนอนอยู่ตรงนั้นจริงๆ ทันทีสามเณรสนธิ์มีความรู้ดีกว่า ท่านสามารถวิ่งได้เร็วที่สุดในโลกก็คงเป็นครั้งนี้เท่านั้น สามเณรสนธิ์วิ่งตรงไปยังกุฏิที่สร้างไว้ชั่วคราวตรงปากถ้ำเสือนั้น

ทางที่สามเณรสนธิ์วิ่งไปนั้น ปกติแล้วก็รกไปด้วยก้อนหินมองดูระเกะระกะไปหมด แต่ละก้อนก็สูงพอประมาณ ระหว่างทางก็ยังมีหมู่ไม้ที่ขึ้นอยู่ทั่วไปบนภูเขา อีกทั้งยังมีเหวลึกลงไปอีก แต่สามเณรสนธิ์ก็สามารถทำสถิติ วิ่งจนตะเกียงหลุดหายไป แต่มือของท่านก็ยังกำหูตะเกียงไว้แน่นเป็นชิ้นส่วนสุดท้ายของตะเกียงที่เหลืออยู่เท่านั้นแล้วเข้ากุฏิปิดประตูลงกลอนนอนตัวสั่นไปทั้งคืน ส่วนท่านพระอาจารย์กงมา มองเห็นเสือ ท่านก็เอาไม้เท้าแตะสะกิดเสือให้รู้สึกตัวแล้วๆ กระโดดหนีไป

สมัยที่พระอาจารย์กงมา อยู่จำพรรษาบนเทือกเขาภูพานสมัยนั้นเสือชุกชุมมาก แต่ละตัวก็น่าเกรงขามเพราะตัวโตมาก พระอาจารย์กงมาและลูกศิษย์ อยู่จำพรรษาไปนานๆ เข้า สามารถอยู่คลุกคลีกับเสือโคร่งทุกตัว เสือบางตัวจะรู้เวลาการประพฤติปฏิบัติของท่านด้วยซ้ำไป

เวลาท่านบำเพ็ญสมณธรรม เสือบางพวกจะลงไปอยู่เชิงเขาบางพวกก็ขึ้นไปอยู่บนยอดเขาสูงและไม่เคยที่จะมาส่งเสียงรบกวนขณะท่านอยู่ในสมาธิ ลักษณะคล้ายเป็นยามรักษาความปลอดภัยให้ท่าน จนเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์แก่ผู้เดินทางไปพบเห็น หรือลูกศิษย์ลูกหาของท่านเป็นอย่างยิ่ง

เวลาเช้าของทุกๆ วัน ท่านพระอาจารย์กงมา ลงจากเขาเพื่อเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้านใหญ่ ซึ่งอยู่ห่างไปประมาณ ๖ - ๗ กิโลเมตร บรรดาเสือลายพาดกลอนทั้งหลาย มันจะพากันเดินตามหลัง ติดสอยห้อยตามไป ส่งท่านถึงชายป่า ก่อนจะถึงทางเข้าหมู่บ้าน แล้วมันก็จะหมอบนอนรอท่านอยู่ตรงนั้น

เมื่อท่านพระอาจารย์กงมา กลับจากบิณฑบาต พอมาถึงชายป่ามันก็จะพากันเดินตามหลังท่านมา บางตัวก็หยอกล้อกันตามประสาสัตว์ตลอดทางจนถึงถ้ำ

“มันจะทำอยู่อย่างนั้นทุกวัน บางวันก็ ๔ ตัว บางวันก็ ๕ ตัว

มีเรื่องเล่าจากผู้ใกล้ชิดว่า...

“เสือลายพาดกลอนนี้ ดูกิริยามันแล้วเหมือนรู้ภาษาคน เพราะเมื่อพระอาจารย์กงมา ได้อาหารจากบิณฑบาตแล้ว ท่านก็จะนั่งฉันอยู่ต่อหน้ามัน พวกเสือเหล่านั้นมันจะนอนหมอบเฝ้าเลย พอท่านฉันเสร็จแล้ว ท่านจะปั้นข้าวเหนียวเป็นก้อนเล็กๆ โยนให้มันกิน มันจะหมอบกินอย่างเรียบร้อย ดูแล้วเหมือนท่านเลี้ยงสุนัขไว้ฉะนั้น พอมันกินเสร็จ เห็นว่าท่านพระอาจารย์ล้างบาตร มันก็จะพากันเดินหายไปในราวป่า”

นี่ถ้าไม่ใช่อำนาจกระแสจิตและพรหมวิหารธรรม ที่พระอาจารย์เจริญอยู่เป็นนิจแล้ว เห็นทีเสือพวกนั้นจะไม่มานั่งหมอบ นอนหมอบอยู่เช่นนั้นเป็นแน่ เพราะสัญชาตญาณสัตว์ย่อมเกรงกลัวภัยเหมือนมนุษย์เช่นกัน มันรู้ว่า สิ่งไหนเย็น สิ่งไหนร้อน ความร่มเย็นสันติสุขนั้นไม่ว่ามนุษย์หรือสัตว์ ย่อมมีความต้องการเหมือนกันหมด

ขณะที่ท่านได้อยู่วัดดอยธรรมเจดีย์นั้น ก็มีทั้งอุบาสก อุบาสิกา ภิกษุสามเณร ณ ที่ใกล้และที่ไกลได้เข้าไปศึกษาธรรมะกับท่าน นับวันมีแต่มากขึ้นทุกๆ ปีเป็นลำดับ พระเถระผู้ที่ได้รับอบรมกับท่านที่วัดดอยธรรมเจดีย์ ก็มี...

พระอาจารย์อว้าน เขมโก

๑. พระอาจารย์อุ่น กลฺยาณธมฺโม (เจ้าอาวาสวัดวิสุทธิธรรม ปัจจุบัน)

๒. พระอาจารย์ถวิล จิณฺณธมฺโม

๓. พระอาจารย์แบน ธนากโร (เจ้าอาวาลวัดดอยธรรมเจดีย์ ปัจจุบัน)

๔. พระอาจารย์สนธิ์ สุสนฺธิโก (พระครูสังฆรักษ์อนุสนธิ์)

๕. พระอาจารย์อว้าน เขมโก (เจ้าอาวาสวัดป่านาคนิมิตต์ บ้านนามน ปัจจุบัน)

พระภิกษุสามเณรผู้อาวุโสยังน้อยก็มีอีกมากท่าน ที่พากันมาศึกษาและปฏิบัติ ต่างก็ได้รับผลสมความมุ่งหมายไปแทบทุกท่านทีเดียว

ส่วนอุบาสกอุบาสิกา ตั้งแต่จังหวัดสกลนครจรดจังหวัดนครพนม ทั้งบ้านใหญ่น้อยรอบภูเขานั้น หาทางเดินตั้ง ๑๐ กว่า ๒๐ กิโลเมตร ก็พากันมาทำบุญและศึกษาธรรม มิใช่ขึ้นรถไป แต่เขาเหล่านั้นเดินไปโดยเท้าพากันไปทำบุญกัน ณ ที่วัดดอยธรรมเจดีย์อย่างเนืองแน่น บริเวณภูเขานั้นกว้างขวางมาก ไม่ต้องลาดปูนซีเมนต์ แต่ว่าหินลาดสวยงามยิ่งกว่าปูนซีเมนต์ เวลาประชาชนไปทำบุญบริเวณแคบไปหมด ยิ่งมาปีสุดท้ายยิ่งมากนับเป็นประวัติการณ์ทีเดียว

นอกจากนั้น คนทางไกล เช่นกรุงเทพฯ ระยอง นครราชสีมา อุบลฯ เป็นต้น ก็หลั่งไหลกันมาไม่ขาด เขาเหล่านั้นล้วนแต่มาบำเพ็ญบุญและศึกษาธรรมปฏิบัติกันทั้งนั้น

เกี่ยวกับการก่อสร้าง นับเป็นสิ่งอัศจรรย์มาก เพราะสถานที่ที่ท่านได้เลือกเอา เป็นวัดดอยธรรมเจดีย์นี้ เป็นสถานที่มีวิวทิวทัศนียภาพที่น่าชมกลมกลืนกับการก่อสร้าง ท่านช่างจัดระเบียบกุฏิ ศาลา ทำนบน้ำ ทำสระเขียวขจี วิวต่างๆ นั้น เมื่อเข้ากันกับปูชนียสถานก็ดูราวกับว่าเทพยดาสร้าง มีทั้งพระพุทธรูปอยู่ในถ้ำองค์หนึ่ง พระไสยาสน์องค์ใหญ่ พระปางเลไรยะกะ มีต้นจันไดได้เกิดขึ้นตามที่ต่างๆ เหมือนกับคนประดับประดาตกแต่งฉะนั้น

อันบุคคลใดได้ไปพบเห็นหรือได้อยู่ จะรู้สึกเหมือนอยู่ในที่ประหลาดมหัศจรรย์ ไม่คิดถึงบ้านอยากจะอยู่นานๆ ทั้งยังเป็นที่สงบสงัดจริงจัง ยากนักที่จะพบเห็นเช่นนี้ คงจะมีเพียงแห่งเดียวเท่านั้นในประเทศไทย การก่อสร้างที่ท่านได้พาทำมาเป็นเวลานาน ๑๗ ปีนั้น นับว่าพอเพียงแก่ภิกษุสามเณรทั้งหลายที่อยู่ จะอยู่ต่อไปภายหลังโดยไม่ต้องลำบาก ในการก่อสร้างอีกต่อไป

นับว่าท่านอาจารย์ได้มาสร้างศักดิ์ศรี ให้แก่บ้านเกิดของท่านได้อย่างสมบูรณ์ทุกประการ คือท่านได้แนะนำข้อปฏิบัติให้แก่ญาติโยมของท่าน จนบังเกิดผลเป็นหลักฐานไว้ภายในอย่างมั่นคง ได้สร้างวัดในภูเขาไม่ไกลบ้านท่านนัก เพื่อให้เป็นสำนักปฏิบัติแก่สมณะผู้ต้องการพ้นทุกข์อย่างจริงจัง

ได้สร้างวัดใกล้บ้าน เพื่อผู้มีอายุมากจะได้มาปฏิบัติได้สะดวกไม่ต้องไปไกล ได้สร้างปูชนียวัตถุอันศักดิ์สิทธิ์ไว้ ณ ที่สำคัญ คือ วัดดอยธรรมเจดีย์ อันจักเป็นปูชนียวัตถุชิ้นสำคัญต่อไปในอนาคต ทั้งเป็นที่อยู่ ณ ไม่สู้ไกลจากบ้านท่านนัก

ได้สร้างถนนรถยนต์ยาว ๖ กิโลเมตร ขึ้นภูเขาไปยังวัดดอยธรรมเจดีย์ได้สำเร็จ เพื่อจะได้เป็นทางคมนาคมไปสู่ปูชนียวัตถุชิ้นสำคัญนั้น

ขอกล่าวย้ำถึงพระพุทธรูปไสยาสน์นั้นงามเป็นที่หนึ่ง ข้าพเจ้าไม่เห็นพระพักตร์องค์ใดที่จะงามเท่าเลย นัยว่าเป็นยอดทีเดียว นี้ขอชมด้วยความจริงใจ

การบำเพ็ญประโยชน์ของท่านอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ ดังที่ได้กล่าวมานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งใน ๑๐ ส่วน นับว่าท่านได้บำเพ็ญประโยชน์ทั้งแก่ผู้อื่นทั้งทางไกลทางใกล้ บำเพ็ญประโยชน์เฉพาะตัวของท่านเอง และบำเพ็ญประโยชน์แก่ญาติของท่านในวาระสุดท้าย

พระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย

กิจกรรมที่ท่านได้บำเพ็ญมานี้ นับว่าท่านได้บำเพ็ญทั้ง ๓ ประการ คือ โลกตฺถจริยา อตฺตตฺถจริยา ญาตตฺถจริยา โดยสมบูรณ์ ซึ่งในบรรดาพระอาจารย์ด้วยกันแล้ว จะหาทำได้เช่นท่านนั้นหาได้ยากทีเดียว

aìaìaìa ù aìaìaìaìa

เมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ ท่านได้ทำการอุปสมบท พระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย ณ พัทธสีมาวัดศรีโพนเมือง จ.สกลนคร โดยมีท่านเจ้าคุณ พระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโลเถร) เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร เป็นกรรมวาจาจารย์ หลวงปู่กงมา จิรปุญโญ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

aìaìaìa ù aìaìaìaìa

พ.ศ. ๒๔๙๒ ในพรรษาสุดท้ายของหลวงปู่มั่น ท่านมีอาการไข้ไอเรื้อรังมาตลอด ท่านได้บอกให้ศิษย์ทั้งหลายให้ทราบว่า การเจ็บป่วยของท่านครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายไม่มีทางรักษาให้หายขาดได้ มีเพียงแต่ลมหายใจที่จะรอวันตายไปเท่านั้น เช่นเดียวกับไม้ที่ตายยืนต้น แม้จะรดน้ำพรวนดินเพื่อให้ผลิดอกออกใบ ก็ไม่มีทางเป็นไปได้ รออยู่พอถึงวันโค่นล้มลงจมดินเท่านั้น

ข่าวการอาพาธของท่านได้แพร่กระจายออกไป ใครทราบข่าว ไม่ว่าพระภิกษุสามเณรหรือฆราวาส ก็หลั่งไหลพากันมาเยี่ยมมิได้ขาดสาย

อาการอาพาธของหลวงปู่มั่นเริ่มหนักขึ้นเป็นลำดับ พระภิกษุสามเณรในวัด ตลอดจนอุบาสกอุบาสิกาไม่ได้พากันนิ่งนอนใจ จึงได้จัดเวรคอยดูแลหลวงปู่มั่นบนกุฏิของท่าน ๒ รูป และใต้ถุนกุฏิ ๒ รูปมิได้ขาด ในช่วงนี้เองพระพวงก็ได้สลับผลัดเปลี่ยนกับพระภิกษุรูปอื่นๆ คอยปรนนิบัติหลวงปู่มั่นโดยตลอด

พอออกพรรษา ครูบาอาจารย์พระภิกษุสงฆ์ที่จำพรรษาอยู่ในที่ต่าง ๆ ก็ทยอยมาเยี่ยมท่านมากขึ้นเป็นลำดับ  พระอาจารย์กงมาเอง เมื่อได้ทราบข่าวก็รีบเดินทางมาเฝ้าดูอาการ เช่นเดียวกับพระเถระชั้นผู้ใหญ่องค์อื่น ๆ เช่น พระอาจารย์เทสก์ เทสรํสี พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ เป็นต้น อาการของท่านก็หนักเข้าไปทุกวัน ศิษยานุศิษย์รุ่นอาวุโสได้เรียกประชุมบรรดาศิษย์ทั้งหลาย เพื่อเตือนให้ทราบถึงอาการของท่าน และแจ้งให้ทราบว่าหลวงปู่มั่น ท่านได้ดำริที่จะให้นำตัวท่านไปที่สกลนคร ไม่อยากมรณภาพที่นี่ เพราะจะทำให้บรรดาสัตว์น้อยใหญ่ทั้งหลายที่นี่ต้องตายไปด้วย เนื่องจากจะต้องมีคนจำนวนมากมาร่วมงาน จะต้องฆ่าสัตว์เป็นอาหาร

บรรดาญาติโยมก็ได้ช่วยกันเตรียมแคร่เพื่อหามท่านจากวัดป่าบ้านหนองผือไปสกลนคร โดยได้แวะพักระหว่างทางที่วัดป่าดงภู่ เป็นเวลา ๙ วัน บรรดาญาติโยมในจังหวัดสกลนคร อาราธนานิมนต์ท่านเดินทางต่อ ก่อนเดินทางได้นำแพทย์ไปฉีดยาให้หลวงปู่มั่นเพื่อระงับเวทนา เมื่อฉีดยาเสร็จก็นำท่านขึ้นรถไปต่อยังวัดป่าสุทธาวาส อ.เมืองสกลนคร ระหว่างการเดินทางท่านไม่รู้สึกตัวเลย จนกระทั่งเวลาประมาณ เที่ยงคืนถึงตีหนึ่ง (ตรงกับวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๙๒) ในคืนนั้นท่านก็มรณภาพอย่างสงบ ยังความโศกเศร้าเสียใจของบรรดาศิษยานุศิษย์ทั้งหลายทั้งพระและฆราวาส นับเป็นการสูญเสียครั้งสำคัญครั้งหนึ่งของพุทธศาสนิกชนไทย

หลังจากในงานประชุมเพลิงศพท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ณ วัดป่าสุทธาวาส เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2493 แล้วท่านอาจารย์กงมาก็กลับไปจำพรรษาที่วัดดอยธรรมเจดีย์

aìaìaìa ù aìaìaìaìa

เมื่อออกพรรษาปี พ.ศ. ๒๔๙๓ พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ พร้อมด้วยพระอาจารย์ฝั้นได้พาพระภิกษุสามเณรอีกบางรูป เดินธุดงค์ไปจังหวัดจันทบุรี ตามคำนิมนต์ของพระอาจารย์วิริยังค์ไปในงานที่วัดดำรงธรรม ในเขตอำเภอขลุง การเดินทางครั้งนี้ ท่านกับคณะได้นั่งรถยนต์โดยสารจากสกลนครไปขึ้นรถไฟที่อุดรฯ เข้ากรุงเทพฯ แล้วนั่งรถโดยสารจากกรุงเทพฯ ไปจันทบุรีอีกทอดหนึ่ง

ระหว่างพักที่วัดดำรงธรรม อำเภอขลุง ได้มีประชาชนสนใจเข้าฟังธรรมและรับการอบรมเป็นจำนวนมาก ต่อมา พระอาจารย์วิริยังค์ได้นิมนต์ไปพักที่สำนักสงฆ์บ้านกงษีไร่ ซึ่งสร้างขึ้นใหม่ ลึกเข้าไปในป่า ท่านได้พักอยู่ที่นั้นหลายวัน แล้วจึงกลับไปพักที่วัดดำรงธรรม

ต่อมาอีกหลายวัน ก็มีโยมนิมนต์ท่านและคณะไปพักวิเวกบนเขาหนองชึม อำเภอแหลมสิงห์ พักอยู่ที่นั่นได้ประมาณครึ่งเดือนก็มีโยมนิมนต์ท่านกับคณะไปพักที่ป่าเงาะ ข้างน้ำตกพริ้วอีกหลายวัน ซึ่งที่นั่นมีญาติโยมเข้ารับการอบรมในข้อปฏิบัติกันเป็นจำนวนมากตามเคย หลังจากนั้น จึงรับนิมนต์ไปพักตามป่าตามสวนของญาติโยมอีกหลายแห่ง

การเดินทางกลับ พระอาจารย์กงมา พร้อมด้วยพระอาจารย์ฝั้น และคณะได้แวะตามสถานที่ต่าง ๆ อีกหลายแห่ง ครั้งสุดท้ายได้ไปพักที่วัดเขาน้อย ท่าแฉลบ เพื่อรอเรือกลับกรุงเทพฯ พักที่วัดนั้นประมาณ ๙ – ๑๐ วัน จึงได้ลงเรือมาถึงกรุงเทพฯ ในตอนเช้าของวันใหม่ รวมเวลาที่พักอยู่ในจันทบุรีเกือบ ๓ เดือน

aìaìaìa ù aìaìaìaìa

ในปี ๒๔๙๔ พอออกพรรษาแล้ว พระอาจารย์วิริยังค์ได้นิมนต์พระอาจารย์กงมา และพระอาจารย์ฝั้นไปร่วมงานที่วัดดำรงธรรม อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี อีกครั้งหนึ่ง เสร็จงานวัดนั้นแล้ว ท่านได้ไปพักวิเวกอยู่ในป่าข้าง ๆ น้ำตกพริ้ว และได้มีญาติโยมนิมนต์ไปพักตามที่ต่าง ๆ อีกหลายแห่งตลอดระยะเวลาร่วม ๒ เดือน

aìaìaìa ù aìaìaìaìa

หลังออกพรรษาปี พ.ศ. ๒๔๙๕ พระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ พร้อมด้วยพระอาจารย์ฝั้น มีกิจนิมนต์ลงไปกรุงเทพฯ เสร็จกิจแล้วได้เลยไปจันทบุรีอีกครั้งหนึ่ง กลับจากจันทบุรีได้แวะเข้าพักที่วัดอโศการาม

พระธาตุ พระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ ณ วัดอโศการาม สมุทรปราการ

aìaìaìa ù aìaìaìaìa

ก่อนจะมรณภาพ หลวงปู่กงมาได้พยากรณ์เรื่องการมรณภาพของตัวท่านเองให้ศิษย์ฟังล่วงหน้านานแล้ว ว่าท่านจะมรณภาพด้วยรถ และก็เป็นเช่นนั้นจริง คือ ท่านประสบอุบัติเหตุรถคว่ำ ขณะเดินทางไปงานนิมนต์แห่งหนึ่ง ที่จังหวัดจันทบุรี เมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ หลวงปู่กงมา จิรปุญฺโญ ได้มรณภาพด้วยอาการสงบ ได้นำความเศร้าโศกมาสู่บรรดาศิษยานุศิษย์และชาวพุทธเป็นอันมาก ถวายเพลิงศพท่านในวันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๖ ณ วัดดอยธรรมเจดีย์ เทือกเขาภูพาน จังหวัดสกลนคร สิริรวมอายุได้ ๖๐ ปี ๑๑ เดือน ๑๑ วันในวันถวายเพลิงศพท่านมีพระเณรและพระเถระในสายหลวงปู่มั่นมาร่วมงานจากทุกสารทิศ บรรยากาศเป็นไปด้วยความสงบ เรียบง่าย ต่างจากทุกวันนี้ เมื่อถึงเวลาถวายเพลิงศพ คณะศิษย์ได้เคลื่อนศพของท่านจากศาลาการเปรียญไปตั้งที่เมรุ ก่อนถึงพิธีถวายเพลิงศพ ได้มีครูบาอาจารย์พระภิกษุสามเณรขึ้นรวมกันที่ปะรำพิธีจำนวนประมาณ ๕๐๐ รูป มีท่านหลวงปู่เทสก์ เทสฺรงฺสี เป็นประธานสงฆ์ นายวัน คมนามูล ได้ถวายฉลากสิ่งของที่นำมาถวายพระ ให้พระเณรจับฉลาก องค์ไหนถูกอะไรก็นำของถวาย เสร็จจากการมาติกาบังสุกุลและถวายสิ่งของแก่พระภิกษุสามเณรแล้ว ก็เป็นพิธีถวายเพลิงศพ ภายหลังจากถวายเพลิงศพแล้ว ได้ยินว่าอัฐิธาตุของท่านเป็นพระธาตุมากมาย หลากสี หลากวรรณะ เป็นที่น่าอัศจรรย์

ประวัติชีวิตของคุณแม่ชีแก้ว เสียงล้ำ

ในส่วนที่เกี่ยวกับพระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ

ข้อมูลจาก http://www.dhammasavana.or.th

ตอนที่ ๑๔

“คุณแม่ไปปฏิบัติอยู่วัดดอยธรรมเจดีย์ กับหลวงปู่กงมา จิรปุญโญ ปฏิบัติอย่างไรภาวนาอย่างไร จิตก็ไม่ยอมลง เพราะถือความรู้ในตัวเองมากจนเต็มใจ

“นิพพานก็รู้แล้ว ทางไปก็รู้แล้ว ประตูนิพพานก็รู้แล้ว ครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่คืออัญญาท่านมั่นก็สอนไว้แล้วทุกอย่าง”

ทีนี้พอภาวนา ใจก็ไม่ยอมลงให้หลวงปู่กงมา ทำอย่างไรจิตใจก็ไม่อ่อนไม่ลง จิตไม่รวม แข็งกระด้างอยู่อย่างนั้น ก็ได้แต่นึกด่าตัวเองในใจว่า

“อีทิฐิ  อีมานะ  อีหยาบ อีดื้อ อีหม้อนะฮกเวจี (นรกอเวจี)”

นั่งภาวนาก็ด่า เดินจงกรมก็ด่า ปวดท้องบิดก็ปวด ฝนก็ตกกระหน่ำ เดินจงกรมตากฝนตลอดคืน จนค่อนแจ้งจึงทบทวนตรวจตราดูตนเองว่าเป็นอย่างไรจึงแข็งค้างอยู่ฟ้าแท้หนาจิตดวงนี้ มาคิดได้ว่า กิจของตนก็ประกอบอยู่แล้ว ข้าวปลาอาหารก็อาศัยอยู่กับครูบาอาจารย์ มันดื้อ มันอวดตัว มันประจานตัว มันไม่ยอมลงแก่ใคร ๆ อยู่นี้  เพราะมาถือตนรู้ ถือผู้รู้นี้หรือ

ทีนี้เลยตั้งจิตอธิษฐานขอสมาคารวะพ่อแม่ครูบาอาจารย์ ไหว้พระสวดมนต์ เจริญเมตตา จิตจึงลั่นครึบ ตกวูบลงภายใน สงบนิ่งอยู่สักพัก แสงสว่างภายในจากจุดจ้อยก็สว่างมากขึ้น กว้างขึ้น ขยายกว้างจนแจ้งหมด

แต่ก่อนมันไม่แจ้งไม่ชัดเจน หรุบหรู่อยู่  พอจิตยอมแล้ว สว่างแจ้งใสใจก็ชัดเจน  พิจารณาอะไรมันก็เหมาะก็ควร จิตอ่อน จิตเบา จิตควรแก่การงานมีธรรมะอบรมอยู่ในใจ

พิจารณาธรรมะอันใดก็ชัดเจนหมด

ออกจากทางจงกรม เปลี่ยนเสื้อผ้า ทำกิจก็สบาย รู้ตลอดไป จนหลวงปู่กงมา กลับมาจากบิณฑบาต

ทีนี้กิริยาของหลวงปู่กงมาก็เปลี่ยนไปด้วย  แต่ก่อนหน้านี้กิริยาบูดบึ้ง มึนตึง ไม่ควรว่า ก็ว่าให้ ไม่ควรด่า ก็ด่าให้ ด่าก็ด่าตามคำที่คุณแม่นึกด่าตัวเองอยู่ภายในใจ  และมักจะยกย่องคนนั้นคนนี้  แม่ชีรูปนั้นรูปนี้ว่าดี อันนั้นก็ดี อันนี้ก็ดี ก็ถูก

แต่เช้านี้กิริยาของหลวงปู่กงมา เปลี่ยนมาเป็นยิ้มแย้มแจ่มใสแก้มปริอยู่  จัดแจงแบ่งปันอาหารบิณฑบาตด้วยองค์ท่านเอง แบ่งให้พระเณร แบ่งให้แม่ชี กิริยาใด ๆ ก็นุ่มนวลอ่อนละมุนละไม

พอภายหลังจากฉันจังหันเสร็จแล้ว  หลวงปู่กงมา  ก็ประกาศว่าดัง ๆ คับศาลาว่า

“แม่แก้วเอ๋ย  ถูกทางของเธอแล้ว ตั้งใจไปเถิด”

หลวงปู่กงมา พูดได้แค่นั้นก็ลงศาลาไป

ภายหลังลุถึงเวลาบ่ายหลวงปู่ออกจากที่พักผ่อนแล้ว คุณแม่ก็จัดแต่งขัน ๕ ขัน ๘ ไปขอขมาคารวะองค์หลวงปู่กงมา จิรปุญฺโญ

แต่หลวงปู่กงมา  ก็ให้คารวะพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ก่อนแล้วมาคารวะพ่อแม่ครูบาอาจารย์ แล้วองค์หลวงปู่กงมา จึงรับการขอขมาคารวะจากคุณแม่เป็นลำดับสุดท้าย  แล้วหลวงปู่กงมา จิรปุญโญ  จึงเล่าความฝันอันเป็นอุบายธรรมภาวนาให้คุณแม่ฟังว่า “เมื่อคืน  อาตมาฝันว่า ควายอีตู้ซนหมูของอาตมา”

ปฏิปทาของหลวงปู่กงมา

หลวงปู่กงมา จิรปุญฺโญ เป็นพระที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัย และ มีปฏิปทาอันอุกฤษฏ์ ซึ่งมีลูกศิษย์ที่เจริญรอยตาม และ เป็นที่ยอมรับในวงศ์พระกรรมฐาน ก็ได้แก่ หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท วัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม อ.สามโคก ปทุมธานี , หลวงปู่วิริยังค์ สิรินธโร วัดธรรมมงคล ซอยสุขุมวิท101 เขตพระโขนง กทม., หลวงปู่อุ่น กลฺยาณธมฺโม (หลานพระอาจารย์กงมา) วัดป่าวิสุทธิธรรม อ.โคกศรีสุพรรณ สกลนคร, หลวงปู่แบน ธนากโร วัดดอยธรรมเจดีย์ อ.โคกศรีสุพรรณ สกลนคร , หลวงปู่แสวง อมโร วัดป่าชัยวารินทร์ อ.บ้านไผ่ ขอนแก่น , หลวงปู่อว้าน เขมโก วัดป่านาคนิมิตร อ.โคกศรีสุพรรณ ขอนแก่น , หลวงปู่อ้ม สุขกาโม วัดถ้ำผาผึ้ง อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร และ คุณแม่ชีแก้ว เสียงล้ำ สำนักชีบ้านห้วยทราย อ.คำชะอี มุกดาหาร เป็นต้น

ปฏิปทาของหลวงปู่กงมา ที่ลูกศิษย์เลยเล่าไว้ได้แก่

หลวงปู่แบน เคยเทศน์ว่า

"สมัยอยู่กับหลวงปู่กงมา ที่วัดดอยธรรมเจดีย์เป็นป่าเป็นเขา ของขบของฉัน ไม่ได้มีอุดมสมบูรณ์อย่างนี้ งบน้ำอ้อยก้อนเดียว ปริแบ่งกันฉัน 3 - 4 รูป พวกน้ำตาล กาแฟ น้ำปานะ ไม่มีให้เห็น เพราะฉะนั้นเวลาฉันอะไรให้พิจารณา อย่าติดในรสอาหาร"

หลวงปู่แสวง อมโร เคยเล่าประวัติสมัยอยู่กับหลวงปู่กงมาไว้ว่า

"สมัยไปอยู่กับหลวงปู่กงมา จิรปุญฺโญ กับท่านอาจารย์อุ่น กลฺยาณธมฺโม ท่านให้เราไปอยู่หน้าถ้ำเสือ เราก็ไม่รู้ว่าเป็นเสือแม่ลูกอ่อน จะทำอย่างไร เราไปปักกลดขวางทางเข้าออก มันก็หวงลูกของมัน แผ่ฤทธิ์ใหญ่ กระโดดข้ามกลดของเรา เราเลยนึกถึงคำครูบาอาจารย์เคยสอน แล้วอธิษฐานว่า

'เรามาบำเพ็ญภาวนาไม่ได้มาเบียดเบียนอะไรเธอ แต่ถ้าเราเคยพยาบาทอาฆาต ก็ขอให้เธอจับเราเป็นอาหารเลย เราขออุทิศส่วนกุศลให้เธอ ต่อไปภายหน้าเธอจะได้เกิดมาเป็นมนุษย์ มาบวชบำเพ็ญกุศลอยู่กับเรา'

มันก็ไม่มีอะไร มันเป็นเสือเทวดา เสือภูมินั้นแหละ มาลองใจเรา"

หน้าที่ ๑   หน้าที่ ๒   หน้าที่ ๓   หน้าที่ ๔   หน้าที่ ๕