#echo banner="" พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ โดย อำพล เจน หนังสือศักดิ์สิทธิ์ฉบับที่ 215

พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ (1)

โดย อำพล เจน

หนังสือศักดิ์สิทธิ์ฉบับที่ 214

วันที่ 16 ธันวาคม 2534

โพสท์ในเวบ http://forum.ampoljane.com โดย prigtai เมื่อ 17 กันยายน 2552

ได้กล่าวถึงพระอาจารย์วัน อุตตโมไปแล้ว ต่อจากนี้จะได้กล่าวถึงพระอาจารย์จวน ซึ่งเป็น 1 ในจำนวนพระ 5 รูปที่มรณภาพพร้อมกัน

คราวเครื่องบินโดยสารตกในท้องที่อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2523

เห็นรูปพระธาตุของพระอาจารย์จวนแล้วนะครับ

นั่นล่ะกระดูกของพระที่สิ้นไปด้วยอุบัติเหตุ

ถ้าจะพูดถึงความตายที่กำลังจะมาถึงตัวเรา ในฐานที่รู้ตัวล่วงหน้า เราจะมีใจ กล้าหาญองอาจผึ่งผายเดินเข้าไปหาความตายอย่างเต็มอกเต็มใจกันไหม (คนวิกลจริตไม่ต้องตอบ)

ผู้ร้ายปากแข็งก็ต้องว่าผมกล้าครับ, ฉันไม่เห็นจะกลัวเลยค่ะ กะอีแค่ความตาย

ผู้ร้ายปากอ่อนอย่างผมต้องบอกว่าข้าน้อยมืออ่อนตีนอ่อน ขนบนหัวชูชันไปหมดใจฝ่อเหลือเท่าเมล็ดงา เหงื่อกาฬทะลักเหมือนน้ำตกแก่งหลี่ผี

โอย....บรรยายไม่ถูก มันร่อยถอยแรงอ่อนไปทั้งตัวขะรับ

ไม่ตายไม่ได้หรือขะรับ

ปุจฉา-วิสัชนาเล็กๆ สำหรับปุถุชนอย่างเรานี้มีเพื่อปูทางไปถึงปุจฉาสำหรับอริยสงฆ์องค์นั้น

พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ วัดเจติยาคีรีวิหาร ภูทอก กิ่งอ.ศรีวิไล หนองคาย

ท่านรู้ล่วงหน้าหรือไม่ว่าเครื่องบินลำนั้นมีความตายรออยู่, ถ้ารู้....ทำไมท่านไม่ถอยหลัง?

ผู้รู้คำตอบอย่างแท้จริงคงมีตัวอยู่ แต่จะรู้ได้อย่างไรว่าผู้รู้ท่านนั้นคือใคร อยู่ที่ไหน บางทีจะเป็นแต่เพียงตัวท่านพระอาจารย์จวนผู้เดียวก็ได้

ในหนังสือกุลเชฏฐาภิวาท พิมพ์แจกเป็นที่ระลึกในวโรกาสเสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานในพิธีพระราชทานและเปิดเจดีย์พิพิธภัณฑ์พระอาจารย์จวนกุลเชฏโฐ

ในภาคมหาการุณิโกนาโถ ซึ่งเรียบเรียงและเขียนโดยคุณหญิงสุรีพันธ์ มณีวัต มีคำตอบนี้ปรากฏอยู่อย่างประณีตบรรจง

ถ้าหากว่าการถ่ายทอดโดยตัดตอนมาบางส่วนนี้เป็นการละเมิดคุณหญิงสุรีพันธ์โดยการถือวิสาสะ โดยความเขลาประการใด ขอความกรุณาอภัยให้ผมด้วย

คุณสุรีพันธ์ เป็นศิษย์ที่นับว่าใกล้ชิดท่านพระอาจารย์จวนมากที่สุดอีกท่านหนึ่ง ได้พากเพียรพยายามดำเนินการ เขียนบันทึกชีวประวัติของท่านพระอาจารย์จวนอย่างแข็งขัน จนปรากฏเป็นหนังสือเล่มโตดังกล่าวมาข้างต้น ถือได้ว่าเป็นประวัติของท่านพระอาจารย์จวนฉบับที่เป็นจริงมากที่สุด

(ขอให้ใจเย็น ๆ อ่านไปเรื่อย ๆ นะครับ)

คุณสุรีพันธ์ได้เล่าว่า

“สิ่งที่ผู้เขียนสนใจในขณะนั้นก็คือการเขียนประวัติของท่าน ท่านเล่าว่าเคยเล่าประวัติบางตอนให้ศิษย์คนหนึ่งคือ คุณขันธ์ เทศประสิทธิ์ จดเอาไว้ โดยห้ามมิให้นำไปแพร่หลายที่ไหน แต่ปรากฏว่าญาติของคุณขันธ์ผู้หนึ่งคือท่านมหาบุญธรรม อาทรธมฺโม ได้พบบันทึกนั้นเห็นเป็นประดุจมณีมีค่าจึงได้นำไปเขียนลงในหนังสือพิมพ์ลานโพธิ์

ประวัติชุดนี้ต่อมาท่านมหาบุญธรรมก็นำมามอบลิขสิทธิ์ให้ผู้เขียน เพื่อว่าอาจจะมีโอกาสนำไปเขียนเพิ่มเติมเผยแพร่ให้ดีขึ้น แต่เมื่อท่านอาจารย์ทราบก็ห้ามผู้เขียนไม่ให้เขียนต่อไป ท่านว่าไม่อยากให้เผยแพร่หลาย ที่ลงพิมพ์ไปแล้วก็แล้วไป แต่ไม่อยากให้ทำใหม่จะดูเป็นการโฆษณาหาชื่อเสียงไป

(ประวัติของท่านมหาบุญธรรมชุดนี้เอง เป็นชุดที่แพร่หลายต่อไป มีคนนำไปพิมพ์และเขียนเพิ่มเติมกันอีกหลายสำนวนด้วยกัน)

แม้ท่านจะห้ามแล้ว แต่ผู้เขียนก็ไม่ละความพยายาม เรียนท่านว่าการเขียนประวัติบุคคลนั้น ทั่วโลกเขานิยมยกย่องกันมากโดยเฉพาะอัตตโนประวัติหรือ Autobiography ซึ่งเจ้าของประวัติเป็นผู้เล่าเอง ถือว่าเป็นการให้บทเรียน แนวทางดำเนินชีวิตแด่อนุชนผู้อยู่หลังอย่างมีค่าที่สุด ประสบการณ์ของผู้เกิดก่อนย่อมเป็นเสมือน “ครู” ให้ผู้อยู่หลังได้ศึกษาสิ่งที่ผิดพลาด ก็จะทำให้ระมัดระวังไม่กระทำผิดซ้ำรอย แต่ถ้าเป็นสิ่งที่ถูกต้องดีงามก็จะเป็นแรงบันดาลใจให้ลูกศิษย์ได้ชื่นชม และพยายามดำเนินตาม “รอยเท้า” ของครูบาอาจารย์ให้ได้

ระยะนั้นผู้เขียนยัง “เฟื่อง” เรื่องโลก ยังแต่อภิปรายแสดงโวหารอยู่ ก็เลยอวดเก่งกระทั่งกล้าบ่นรำพึงว่า คนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยกล้าเขียนประวัติเล่าชีวิตของตัวเอง เพราะคนไทยมีนิสัยถ่อมตัวเกรงจะถูกว่าโอ้อวด, วิชาความรู้ต่าง ๆ จึงสูญหายไปกันหมด แรงบันดาลใจของคนรุ่นหลัง จึงไม่ค่อยเกิดขึ้น นิสัยถ่อมตัวนี้ก็เป็นนิสัยที่ดีอยู่ แต่ในขณะเดียวกัน นิสัยถ่อมตัวจนเกินไปนี้ ก็ทำให้ชาติเราไม่เจริญเท่าเทียมซีกโลกตะวันตก น่าเสียดายแทนอนุชนรุ่นหลัง ถ้าเรามีอัตตโนประวัติดีๆ ชาติเราคงจะเจริญกว่านี้มากมายนัก”

ต่อมาคุณสุรีพันธ์ได้กราบเรียนท่านขอให้ท่านอัดเทปทิ้งไว้ก่อน ซึ่งท่านก็กรุณาอัดไว้ให้ คุณสุรีพันธ์ก็ส่งเทปเปล่าไปถวายท่านเรื่อย ๆ ท่านว่างก็อัดไว้เรื่อย ๆ เช่นเดียวกัน

คุณสุรีพันธ์เล่าต่อไปว่า

“สุดท้าย คิดว่าท่านคงลืม หรือไม่สนใจอย่างใดอย่างหนึ่ง กระทั่งวันหนึ่งก่อนเข้าพรรษาปี 2521 ท่านจึงได้เอ่ยขึ้นโดยไม่มีอารัมภบทใดล่วงหน้าเลย”

“ประวัติเสร็จแล้วจะเอาไหม”

“ประวัติ ผู้เขียนแทบไม่เชื่อหูตัวเอง เป็นเวลา 2 ปีกว่า ท่านไม่เคยเอ่ยถึงแล้วจู่ ๆ ท่านก็มาบอกเช่นนี้

“ประวัติอาตมาน่ะซีก็เราอยากได้ไม่ใช่หรือ”

“เจ้าค่ะ” ผู้เขียนยังงงอยู่

“ถ้าไม่ต้องการแล้วก็ไม่เป็นไร”

“ต้องการซีเจ้าคะ” ผู้เขียนระล่ำระลักตอบ

“รับปากได้ไหมว่าจะเก็บไว้ ไม่ให้เอาไปลอกไม่ให้เอาไปเขียน ไม่ให้เอาพิมพ์จนกว่าอาตมาจะตายแล้วจึงให้เขียนได้พิมพ์ได้ ถ้ารับปากไม่ได้อย่าเอาไป”

แน่นอนผู้เขียนรับปาก

ต่อมาใกล้เวลาเจียนจะครบรอบอายุ 60 ปีของท่านพระอาจารย์จวนในวันที่ 10 กรกฎาคม 2523 คุณสุรีพันธ์ก็คิดอยากจะพิมพ์ประวัติของท่านเพื่อโอกาสนั้น ทีแรกท่านไม่อนุญาต แต่ภายหลังทนรบเร้าไม่ได้จึงอนุญาต

ความจริงต้นเหตุที่จะมีการขออนุญาตพิมพ์ประวัติท่านเพื่อแจกในวันครบ 60 พรรษา ทั้งๆ ที่ท่านเคยสั่งเป็นคำขาดห้ามพิมพ์โฆษณาระหว่างที่ท่านยังมีชีวิตอยู่นั้น เป็นเพราะระยะหลังนี้ท่านอาจารย์เคยปรารภให้ลูกศิษย์ฟังหลายครั้งว่า ท่านและท่านอาจารย์วันต่างองค์ต่างเข้าที่พิจารณากันว่าจะมีอายุไปเท่าไหร่ เห็นว่าจะมีอายุยืนมาก เฉพาะท่านนั้นจะมีอายุถึง 92 ปีทีเดียว ท่านเล่าว่าตอนนั้นคงไม่ได้พบกันแล้วต่างองค์ต่างอยู่ ไปหากันไม่ไหว ต้องสั่งฝากไปหากันเหมือนหลวงปู่ขาวกับหลวงปู่แหวนน่ะแหละ

ผู้เขียนฟังแล้วก็เกิดความคิดว่าถ้าท่านจะมีอายุยืนถึงเก้าสิบกว่าปี เราจะเก็บประวัติของท่านไว้อย่างไร เราคงตายก่อนท่านแน่ และน่าเสียดายที่ประวัติดี ๆ อย่างนี้จะต้องเก็บไว้ไม่ยอมเปิดเผยไปอีกหลายสิบปี จึงได้อ้อนวอนขอพิมพ์ก่อนโดยยกการที่ท่านจะมีอายุครบ 5 รอบขึ้นมาเป็นข้ออ้าง

และกว่าจะพิมพ์ได้ท่านก็ทิ้งพวกเราไปแล้วจริง ๆ

เรื่องที่ว่าท่านและท่านอาจารย์วันพิจารณาแล้วจะอยู่ไปจนอายุเก้าสิบกว่านี้ ท่านพูดอยู่จนแม้เมื่อเราไปธุดงค์ที่ภูวัวกับท่านตอนต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2523 แต่เมื่อเราได้กราบท่านเดือนมีนาคม ท่านเริ่มพูดถึงการพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่ชอบใจเป็นทุกข์บ่อย ๆ เทศน์เรื่องกรรม เทศน์เรื่องปัจฉิมโอวาทหลายครั้งจนเราออกปากกันและเตรียมอัดเทป ท่านก็ตั้งต้นเลยว่า

“นับแต่วันนี้ไปอีกสามเดือน เราตถาคตจะขอลาพวกท่านทั้งหลายเข้าสู่พระนิพพาน เพราะอายุสังขารของเราสุดสิ้นลงเพียงแค่นั้น ให้พระอานนท์ประกาศแก่สงฆ์ทั้งหลายให้ทราบทั่วกัน....”

จริงอยู่! ท่านเพียงได้นำพระพุทธดำรัสปลงพระชนมายุสังขาร ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามากล่าวซ้ำในโอกาสวันมาฆบูชา แต่ปกติก่อนเทศน์ท่านต้องมีอารัมภบทเล็กน้อยก่อนเสมอเช่น ให้หลับตานั่งสงบจิต ตั้งใจฟัง... วันนี้จะเทศน์เรื่องปัจฉิมโอวาท ฯลฯ หรืออะไรเหล่านี้ แต่วันนั้นท่านตั้งต้นเช่นนั้นเลยทีเดียว เราฟังยังสะดุ้งกันอยู่ แต่แล้วก็ว่า อ้อ เรื่องพระพุทธเจ้าน่ะ

การเทศน์เรื่องกรรมเรื่องการเกิดการแก่การเจ็บการตายเป็นธรรมดา การพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่ชอบใจ...เกือบทุกวัน เราคิดกันว่า ท่านเตือนพวกเรามิให้ประมาทต่อความตายเป็นธรรมดาของท่าน

ต้นเดือนมีนาคม ผู้เขียนไปราชการอเมริกาเสีย 4 อาทิตย์ กลับมาถึงบ้านกลางคืนวันที่ 30 มีนาคม ก็ทราบว่าที่บ้านเตรียมเรือนไทยทางด้านหลังไว้เรียบร้อยแล้ว เพราะพรุ่งนี้บ่ายท่านอาจารย์วันและท่านอาจารย์จวนจะลงมากรุงเทพฯ ในกิจนิมนต์สำคัญ ยังดีใจว่ากลับเมืองไทยก็ได้กราบครูบาอาจารย์เลย

เสร็จพิธีวันที่ 3 เมษายนแล้วท่านอาจารย์วันต้องกลับไปสกลนครก่อน เพราะทางวัดถ้ำอภัยดำรงธรรมของท่าน มีงานนมัสการพระมงคลมุจลินทร์ บนถ้ำพวง เริ่มตั้งแต่วันที่ 3 เมษายนทีเดียว ท่านเป็นประธานในงาน และจะมีพิธีขอฝนช่วยชาวเมืองสกลนครด้วย ท่านจึงอยู่ต่อไปไม่ได้ ต้องกลับทันที เดิมท่านอาจารย์จวนจะกลับไปพร้อมกับท่านอาจารย์วัน ท่านว่ามาด้วยกันก็กลับด้วยกัน แต่เมื่อพวกศิษย์กราบอ้อนวอนท่าน ขอให้อยู่ต่อไปก่อน ถ้าหากท่านจะรอกลับคืนวันศุกร์หรือวันที่ 4 เมษายน พวกศิษย์จะขอตามไปด้วย ไม่ต้องลางาน ท่านก็เมตตารอเราอยู่

คราวนั้นมีพวกศิษย์ตามท่านกลับไปสิบกว่าคน เราอ้อนวอนว่าขอให้แวะไปเยี่ยมท่านอาจารย์วันด้วย ท่านก็ตกลง ขบวนรถเราวิ่งไปตลอดคืน พอสว่างก็ถึงวัดถ้ำอภัยดำรงธรรมได้ทันถวายจังหันเช้าพอดี

เป็นวันสุดท้ายที่เราได้กราบท่านอาจารย์วัน

และระหว่างอยู่ถ้ำพวง ผู้เขียนตอนนั้นอ่านต้นร่างประวัติของท่านอาจารย์จวนจนขึ้นใจแล้ว จึงได้กราบเรียนถามถึงสถานที่ต่าง ๆ ตามที่ท่านเล่าไว้ในประวัติระหว่างจำพรรษาอยู่ที่ถ้ำพวง เช่น เรื่องถ้ำพระอรหันต์ชื่อพระนรสีห์มานิพพาน เรื่องกระต่ายมายืนภาวนาเวลาท่านเดินจงกรม ถ้ำที่ท่านพักอยู่ ท่านก็เมตตานำพวกเราไปดูสถานที่ทุกจุด ที่อยู่ในประวัตินั้น ทำให้ภายหลังเราได้กลับไปถ่ายภาพสถานที่เหล่านั้นมาได้ครบ

ระหว่างอยู่ที่ภูทอกต้นเดือนเมษายนนั้นเอง บ่ายวันหนึ่งท่านหันมาหาผู้เขียน

“เส....เส ช่วยทำศพให้อาตมาด้วยได้ไหม”

ระยะหลังตั้งแต่ไปธุดงค์ในเดือนเมษายนปี พ.ศ.2522 แล้ว ท่านก็มักจะไม่เรียกชื่อผู้เขียน แต่เรียก เส-แทน ย่อมาจาก “เสนาธิการ” ต้นเรื่องก็เพราะคุณชายทวีวัฒยา เกษมศรี เรียกนำขึ้นก่อน ว่าผู้เขียนเป็นคนช่างออกความคิด ช่างวางแผน ทั้งเรื่องธุดงค์ เราจะไปเมื่อไหร่ พักที่ไหน กี่วัน ทั้งเรื่องทอดกฐิน ผ้าป่า จะไปกราบท่านอาจารย์หลวงปู่องค์ไหน อย่างไร

“ต้องถามเสเขา รอเสเขาก่อนครับ”

ท่านอาจารย์ได้ยินเข้าก็ชอบใจเลยเรียกผู้เขียนว่า “เส” บ้าง ท่านเรียกจนติดปาก มีครูบาอาจารย์องค์อื่นถาม ท่านก็อธิบายว่า เขาเป็นเสนาธิการทางทำบุญ เป็นเสกฐิน เสผ้าป่า เสธุดงค์

วันนั้นท่านเรียกเส....แต่ผู้เขียนก็ยังจับใจความไม่ถนัด เพราะสมองไม่ทันรับความหมาย ท่านถามซ้ำ

“ว่าไงเส....ทำศพให้อาตมาได้ไหม”

ผู้เขียนยังจำได้ เพียง 2 เดือนก่อนหน้านั้นท่านยังพูดถึง เรื่องที่ท่านและท่านอาจารย์วันจะอยู่เหมือนหลวงปู่ขาวและหลวงปู่แหวนจึงค้านว่า

“จะทำศพอย่างไรเจ้าคะ ท่านอาจารย์จะอยู่ถึงเก้าสิบกว่าไม่ใช่หรือเจ้าคะ”

หมายความว่าผู้เขียนคงจะตายก่อนท่าน หรือถ้าจะมีชีวิตยืนยาวกว่าท่านแต่ก็คงเฉียดเก้าสิบเหมือนกัน อายุปานนั้นแล้วจะมีสติปัญญาทำอะไรได้

ท่านก็ว่ายิ้ม ๆ “ก็ถ้าเผื่อมันต้องเปลี่ยนแปลงล่ะ”

ผู้เขียนจึงตอบว่า “ถ้าอย่างนั้นก็ทำถวายได้ซีเจ้าคะ” กราบเรียนท่านแล้วก็มิได้นึกอะไรอีก จนต่อมาเกิดอุบัติเหตุแล้วเราจึงนึกกันได้

วันที่กราบลาท่านเป็นครั้งสุดท้ายคือเช้าวันที่ 8 เมษายน ดูเหมือนท่านมีเรื่องสั่งกำชับเรากันหลายคน พวกที่ชอบแขวนเหรียญ มีด้ายสายสิญจน์ผูกข้อมือท่านก็บอกให้ถอดทิ้งในวันนั้นเอง

“นักปฏิบัติแล้วไม่ต้องมีหรอก”

“เวลาไม่มีครูบาอาจารย์ ก็ปฏิบัติไปนะอย่าถอยหลัง”

เราก็นึกว่าท่านสอนให้รู้จักพึ่งตัวเอง เวลาไม่มีครูบาอาจารย์ หมายความว่าไม่มีครูบาอาจารย์อยู่ใกล้ อยู่ห่างกัน ก็ให้ภาวนาไป ไม่เช่นนั้นพวกเราก็มักขี้เกียจกัน คอยแต่จะต้องรอให้ท่านคุม ให้ท่านสอนถึงจะปฏิบัติ

“อย่าถอยหลังนะ รับคำอาตมาก่อน”

ท่านสั่งซ้ำผู้เขียนยังยิ้มเฉย นึกในใจว่าวันนี้เราถูกดุมากกว่าเพื่อน เตรียมจะกราบลา ท่านก็ว่าเรานั่นแหละ....

”อย่าเพิ่งไปรับคำอาตมาก่อน เราอย่าถอยหลังนะ....”

ระหว่างที่มาพักอยู่เรือนไทยลาดพร้าวเดือนเมษายนครั้งหลังนี้เอง ที่ท่านอาจารย์วันและท่านคุยกันเรื่องเกษียณไม่รับนิมนต์อีกต่อไป

ท่านปรารภกันว่า ระยะนี้เหนื่อยเต็มที นิมนต์กันไม่มีเวลาหยุดพักเลย บางทีฉันเช้าเสร็จก็จะมีคนนิมนต์ไปเหยียบบ้านเหยียบโรงงาน เทศน์ จากบ้านนี้ไปต่อบ้านโน้น....โรงงานนั้น โรงพยาบาลนี้....ร้านค้านั้นบางวันกว่าจะกลับถึงที่พักก็สี่ทุ่ม และยังมีแขกคอยรอกราบอีก....ผู้เขียนเคยเห็นท่านรับนิมนต์สวดมนต์เย็นจังหวัดหนึ่ง แล้วไปต่อสวดมนต์พิธีฉลองโบสถ์อีกจังหวัดหนึ่ง กว่าจะถึงบริเวณพิธีก็ตีหนึ่ง เมื่อถึงแล้วท่านก็เริ่มสวดต่อไปจนสว่างเลย

ใครเห็นก็อดสงสารท่านไม่ได้ รับนิมนต์ทีหนึ่ง ๆ กลับวัดท่านจะแทบ “ล้มพับ” กันไป บางทีก็ไม่ได้สรงน้ำ

“เมื่อไรเราจะเกษียณกันสักที” ท่านอาจารย์วันปรารภขึ้นในวันนั้นที่ลาดพร้าว

“เกษียณเป็นอย่างไร” ท่านอาจารย์จวนซัก

“เกษียณ ก็แบบข้าราชการไงล่ะ เขาทำงานมามาก พออายุครบ 60 ราชการเขาให้พักไม่ต้องไปทำงานอีก เรียกว่าเกษียณ” ท่านอาจารย์วันอธิบาย

ท่านอาจารย์จวนได้ฟังก็ร้องอ๋อ “งั้นเกษียณกันตอนหกสิบปีนี้แหละ”

หลังจากท่านมรณภาพแล้ว ระหว่างตั้งศพบำเพ็ญกุศลอยู่ ณ วัดพระศรีมหาธาตุ สมเด็จพระญาณสังวรได้ซักผู้เขียนว่า ท่านอาจารย์เคยพูดว่าอย่างไรบ้าง เมื่อเล่าถวายมาถึงเรื่องเกษียณ ท่านก็อุทานว่า ความจริงเกษียณนั้นแปลว่า หมดไป สิ้นไป

คุณสุรีพันธ์ ได้อธิบายต่อไปว่า

"ตลอดเวลาตั้งแต่ข่าววันประสบอุบัติเหตุมาจนเดี๋ยวนี้เป็นเวลาเกือบหนึ่งปีเต็ม ผู้เขียนได้รับคำถามซ้ำซากอยู่แต่ว่า 'คุณว่าท่านรู้ไหม'

ผู้ถามเป็นทั้งบรรพชิตและฆราวาส

ผู้เขียนไม่ทราบจะตอบว่าอย่างไรเพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องของท่าน ผู้เขียนทำได้แต่เพียง พยายามเล่าเหตุการณ์เท่าที่ประสบพบเห็น ประมวลมาเท่านั้น"

ซึ่งคุณสุรีพันธ์ได้เล่าถึง

ครั้งหนึ่งก่อนมรณภาพไม่นานนัก ท่านได้บอกทุกคนว่า ต่อไปใครถามหาเจ้าอาวาสภูทอก ก็ให้บอกว่าท่านแยง ไม่ใช่อาตมา เพราะว่าท่านได้ยกท่านแยงเป็นเจ้าอาวาสแทนแล้ว

แม้กระทั่งเทปประวัติที่ท่านได้อัดเอาไว้ 7 ม้วนสุดท้ายก่อนมรณภาพเพียง 2-3 วัน ท่านก็สั่งให้ทางวัดเก็บไว้ให้คุณสุรีพันธ์ ทั้ง ๆ ที่ท่านกำลังจะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ อยู่แล้ว ท่านได้บอกกับทางวัดว่าคุณสุรีพันธ์จะมารับเทปชุดสุดท้ายนี้เอง

ถ้าท่านนำเทปชุดนี้มาด้วยก็คงเสียหายไปพร้อมกับชีวิตของท่านอย่างไม่ต้องสงสัย

คุณสุรีพันธ์ได้เล่าอีกว่า

“ศิษย์ผู้ใกล้ชิดคนหนึ่งได้มีโอกาสกราบท่านก่อนเดินทางมากรุงเทพฯครั้งนี้ เล่าว่าท่านอาจารย์ได้บอกว่า นับแต่นี้ไปอีก 3 วัน จะมีคนเช็ดน้ำตาให้เราทั้งเมือง เหมือนที่เราเคยเช็ดน้ำตามาแล้วนับชาติไม่ถ้วน แต่นี้ไปเราจะไม่ต้องเช็ดน้ำตาอีกแล้ว”

ถึงตรงนี้ ผู้อ่านคิดอย่างไรครับ

ท่านรู้หรือไม่ว่าเครื่องบินลำนั้นมีความตายรออยู่ ถ้ารู้ทำไมท่านไม่ถอยหลัง?

พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ (2)

โดย อำพล เจน

หนังสือศักดิ์สิทธิ์ฉบับที่ 215

วันที่ 16 ธันวาคม 2534

โพสท์ในเวบ http://forum.ampoljane.com โดย prigtai เมื่อ 17 กันยายน 2552

 

 

     

ผมจะได้เก็บความเรื่องของพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ กรณีเครื่องบินตก จนเป็นเหตุให้พระ 4 รูปถึงแก่มรณภาพต่อไป

“ความ” ที่เก็บมานี้ได้อาศัยข้อเขียนของคุณหญิงสุรีพันธ์ มณีวัต จากหนังสือกุลเชฏฐาภิวาท พิมพ์เป็นที่ระลึกในวโรกาสเสด็จพระราชดำเนินเปิดพิพิธภัณฑ์พระอาจารย์จวน ความดีทั้งหลายถ้ามีแล้ว ขอให้เป็นของคุณหญิงสุรีพันธ์ทั้งหมด ส่วนข้อผิดพลาดทั้งหมดที่อาจเกิดขึ้น เพราะความเขลาไม่เข้าใจว่าควรไม่ควร ขอให้เป็นของผมผู้เดียว

คุณสุรีพันธ์อยู่ในฐานะที่ใกล้ชิดท่านอาจารย์จวนเป็นพิเศษ จึงมักถูกรุกเร้าด้วยคำถามทำนองที่ว่า ท่านรู้ล่วงหน้าหรือไม่ว่าเครื่องบินจะประสบอุบัติเหตุ ถ้ารู้ทำไมท่านไม่ถอยหลัง

คำอธิบายในเรื่องนี้ได้กล่าวไปมากพอสมควรในฉบับที่แล้ว ส่วนที่กล่าวเพิ่มเติมในที่นี้นั้นยังมีอยู่

ครั้งหนึ่งระหว่างที่ท่านอาจารย์วัน ท่านอาจารย์จวน และท่านอาจารย์สิงห์ทองอยู่ด้วยกัน ท่านทั้ง 3 ได้กล่าวถึงเรื่องตายขึ้นมาเฉย ๆ

ท่านอาจารย์จวนได้กล่าวว่าตัวท่านคงจะตายอยู่ใกล้กับท่านอาจารย์วัน, ส่วนท่านอาจารย์สิงห์ทองก็บุ้ยใบ้บ้างว่า ตัวท่านก็จะตายพร้อมกับหลวงตาโน่น (ท่านบุ้ยมาทางท่านอาจารย์จวน) แล้วหัวเราะกัน

หมู่ศิษย์ที่ได้ยินเรื่องนี้ต่างเข้าใจได้เพียงว่าครูบาอาจารย์ทั้ง 3 ท่านมีความสนิทสนมกันเป็นพิเศษ จึงได้แสดงความสนิทสนมกันออกมาเท่านั้นไม่มีใครคิดว่านั่นคือฌานหยั่งรู้ของพวกท่าน

เกี่ยวกับฌานหยั่งรู้ของครูบาอาจารย์เหล่านี้มีบันทึกแสดงเหตุการณ์เอาไว้มากมาย เพื่อยืนยันการหยั่งรู้ว่าเป็นสมบัติของพวกท่านจริง

อย่างเช่นครั้งหนึ่งชาวหัวหินครอบครัวหนึ่งเป็นผู้มีอันจะกิน ได้นิมนต์ท่านอาจารย์วันและท่านอาจารย์จวนไปฉันจังหันที่บ้าน ครอบครัวนี้ปรุงอาหารอย่างดี ทำขึ้นเป็นพิเศษเพื่อถวายพระ เจ้าบ้านเกรงว่าพระจะไม่รู้จักรับประทานก็พยายามอธิบายว่า อันนี้ออเดิร์ฟ อันนี้ซุป อันนี้เครื่องเคียง ควรจะรับประทานอย่างไร

ทั้งสองท่านยังคงตักอาหารทุกอย่างรวมลงในบาตรแล้วฉัน ไม่ได้สนใจว่าจะต้องมีวิธีฉันอย่างไร เจ้าบ้านก็แทบเป็นลมตาย ได้แต่มองท่านฉันอย่างท้อแท้หัวใจ

จู่ ๆ ท่านอาจารย์วันก็แผดกัมปนาทแห่งเสียงขึ้นลั่นบ้าน

“ทำไมไปว่าพระท่านโง่ ท่านไม่รู้ท่านก็ถาม ไปว่าท่านโง่ได้อย่างไร ฉันอย่างนี้เป็นวัตรของท่านที่ท่านต้องปฏิบัติต้องทำ ไปว่าท่านโง่นั้นไม่ถูก ประมาทท่านว่าโง่ บาปนี่”

ผู้คิดประมาทท่านในใจคำประมาทคงไปกระทบจิตท่านเข้า จึงทำให้ท่านอาจารย์วันซึ่งปกติอ่อนโยน พูดจาช้า ๆ นิ่มนวลถึงกับออกปากรุนแรงขนาดนั้น

ผลก็คือเงียบกริบกันไปทั้งหมด

คุณสุรีพันธ์ ได้เล่าเรื่องฌานหยั่งรู้ของท่านอาจารย์วันและท่านอาจารย์จวนไว้หลายเรื่อง จะยกฌานหยั่งรู้ของท่านอาจารย์จวนมาถ่ายทอดต่อบ้างสักเรื่องหนึ่ง

“ขอเล่าอีกเพียงเรื่องหนึ่ง อันเป็นครั้งล่าสุดที่เพื่อน ๆ และผู้เขียนได้ประสบ คือว่าวันนั้นเป็นวันที่ 7 เมษายน 2523 เมื่อเราไปส่งท่านที่ภูทอก และรุ่งขึ้นก็จะลากลับ จึงขอให้ท่านกรุณาพาเราไปดูกุฏิที่เพิ่งสร้างที่ภูทอกใหญ่ หรือ ภูแจ่มจำรัส ท่านก็กรุณาพาไป ภูทอกใหญ่นี้ถ้าเดินตัดไปก็คงราว 1 1/2 กิโลเมตรเท่านั้น แต่ถ้าไปตามถนนก็อ้อมหน่อย เราเลือกไปทางรถ ขาไปเราได้อาศัยรถจิ๊บชาวบ้านไปส่ง เพราะรถของเราไม่อยู่ พอถึงเชิงเขาท่านก็สั่งให้รถจิ๊บกลับวัดและให้ไปตามรถของคณะเรามา

พอลงจากเขาจะกลับเราเห็นรถจิ๊ปจอดอยู่คันเดียวแต่รถของเราไม่อยู่ ได้ความว่ารถมาแล้วแต่เพิ่งไปส่งพระที่ท่านมีธุระขอกลับก่อน ท่านอาจารย์ลงมาถึงเห็นเราขึ้นไปนั่งบนรถจิ๊ปกันหมดก็บ่นเสียงดัง...

เอ...ไปขึ้นรถจิ๊ปทำไม บอกให้รอรถมารับไงล่ะ

ท่านเรียกหารถแล้วสั่งให้พวกเราลงรอรถของเรา ครั้งแรกไม่มีใครยอมลงจากรถจิ๊ป ด้วยนึกเกรงใจผู้ขับ เขาอุตส่าห์กลับมารอรับเรา และกระตือรือร้นเชิญเราขึ้นรถขึ้นไปนั่งแล้วยังลงไปเสียอีก เขาจะนึกว่าเรารังเกียจเขาดูถูกเขา ข้อสำคัญ ขามายังนั่งมาได้ แต่พอมีรถที่ดีกว่าก็จะทิ้งเขาไปทีเดียวเชียวหรือ

เรายืนกรานว่าเราจะกลับโดยรถจิ๊ป เราชอบรถจิ๊ป นิมนต์ท่านอาจารย์รอรถของเราเถิด บัดนี้มองเห็นรถกำลังย้อนกลับมาแล้ว

ท่านก็ไม่ยอม สั่งให้ทุกคนลงจากรถจิ๊ป ทุกคนเริ่มคิดว่าท่านคงจะมีเหตุผลอะไรกระมัง เพราะทุกครั้งถ้าท่านสั่งด้วยเสียงอันเฉียบขาดดังนี้ ถ้าไม่เชื่อก็มักจะเหตุอะไรเกิดขึ้นเสมอ เสียงเช่นนี้ ถ้าใช้ตามสำนวนขององค์ท่านเอง เมื่อท่านเล่าในอัตตโนประวัติของท่านก็ต้องว่า “ขู่เข็ญคำราม” นั่นเอง

ไม่กี่นาทีต่อมา เราก็รู้ว่า “เหตุอะไร” ที่ท่าน “ขู่เข็ญคำราม” ไม่ให้พวกเรากลับโดยรถจิ๊ปที่ตามเรามาก็ไหลลงไปในห้วย ได้ความว่าเบรกแตก แม้คนขับจะไม่เป็นอันตรายมาก ด้วยมือยึดมั่นอยู่กับพวงมาลัย แต่ถ้าพวกเรานั่งอยู่ในรถด้วยก็คงไม่วายเจ็บไปตาม ๆ กัน”

คุณสุรีพันธ์บอกว่า

ท่านคงหมั่นไส้พวก “ดื้อ” จึงออกปากเป็นเชิงสอนว่า

“เห็นไหม คนเราต้องรู้จักเลือกนั่งรถซี คันไหนมีอันตรายก็อย่านั่ง คันไหนไม่มีอันตรายถึงจะนั่ง”

“พวกเราใครจะทราบล่ะเจ้าคะว่ารถคันนั้นเบรกจะแตก ไม่เหมือนท่านอาจารย์นี่นา เราจะได้ทราบเหตุการณ์ล่วงหน้า”

ท่านได้ยินใครคนหนึ่งย้อนก็หัวเราะแล้วแก้ว่า

“เราคุยไปเช่นนั้นเอง....ไม่ได้รู้อะไรหรอก”

ถ้าหากเชื่อว่าครูบาอาจารย์ทุกองค์ที่มรณภาพด้วยอุบัติเหตุครั้งนั้น ต่างหยั่งรู้แล้วว่าจะเกิดอะไรขึ้น เมื่อรู้แล้วทำไมไม่ถอยหลัง และที่หนักหนาสาหัสที่สุดก็คือในเมื่อพวกท่านรู้แล้วว่าเครื่องบินจะประสบอุบัติเหตุ ทำไมท่านไม่เดินทางกันมาแต่เพียงลำพัง ทำไมไม่บอกผู้โดยสารอื่นให้รู้

คุณสุรีพันธ์ได้เล่าถึงเรื่องนี้ว่า

“หลายคนโกรธแค้น มาขอให้ผู้เขียนจดหมายโต้ตอบ”

คุณสุรีพันธ์หมายถึงการโต้ตอบหนังสือบางฉบับที่ลงข้อเขียนทำนองที่ว่า ท่านเหล่านี้รู้ล่วงหน้าแต่ไม่บอกคนอื่น นับว่าโหดเหี้ยมที่สุด

“ผู้เขียนก็ได้แต่เตือนให้ระลึกถึงคำพร่ำสอนที่ท่านมีต่อเรา อย่าให้ความโกรธเข้ามาครอบงำ จิตที่มักโกรธจะเศร้าหมองและมีทุคติเป็นที่ไป ลืมเรื่องพระเจ้าศรีธรรมโศกราชแล้วหรือ ทรงบำเพ็ญทานบารมีเลื่อมใสศรัทธา ทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาสักปานใด สุดท้ายเมื่อจิตเศร้าหมองก็ยังไปเกิดเป็นงูเหลือมได้

สาอะไรกับพวกเรา

เราก็ได้แต่เตือนสติกัน ช่างเขาเถอะ ถ้าเขาสนใจแก่นแท้พุทธศาสนาจริง เขาต้องเคยอ่านพุทธประวัติเมื่อพระเจ้าวิฑูทภะยกทัพมา เตรียมจะจับพวกกษัตริย์ศากยราชฆ่าให้หมด ไม่ให้เหลือแม้แต่ลูกเล็กเด็กแดงด้วยความแค้นพระทัยว่าถูกเหยียดหยาม พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปขวางทัพไว้ถึง 2 ครั้ง ทุกครั้งพระเจ้าวิฑูทภะก็ยกทัพกลับด้วยความเกรงพระทัยพระพุทธเจ้า สุดท้ายเมื่อพระเจ้าวิฑูทภะยกทัพมาอีกเป็นคำรบสาม พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาเห็นเป็นกรรมแต่อดีตของพระประยูรญาติของพระองค์ ที่เคยร่วมกันเอายาเบื่อปลาทั้งสระ กรรมตามทันหลีกเลี่ยงไม่ได้ พระองค์ก็เสด็จหลีกไปปล่อยให้เป็นไปตามกรรม

ที่พระองค์ไม่เสด็จไปเตือนพระประยูรญาตินั้น เพราะพระองค์มีพระทัยเหี้ยมโหดที่สุดกระนั้นหรือ

อาจารย์หญิงท่านหนึ่งชื่อ คุณนภัทร ป้องเทียน เดินทางไปจากสงขลา ขอไปถือศีลอยู่กับท่านอาจารย์จวนที่ภูทอกหลายอาทิตย์ในวันที่ 27 เมษายนนั้น ท่านได้ให้คุณนภัทรเดินทางมากับท่านด้วย โดยท่านช่วยจัดซื้อตั๋วโดยสารให้เสร็จเรียบร้อย เป็นเรื่องแปลกที่ท่านไม่ให้คนอื่นมา ให้มาแต่คุณนภัทรคนเดียว

ระยะหลังได้มีญาติคุณนภัทรฝากเงินมาให้ผู้เขียน 1,000 บาท บอกว่า เป็นเงินทำบุญกับภูทอก ขออุทิศส่วนกุศลให้เธอด้วย

ญาติเล่าว่า หมอดูดูคุณนภัทรว่าจะเคราะห์ร้ายถึงแก่ชีวิต ให้พยายามถือศีลทำบุญในวาระสุดท้ายนี้จะได้เป็นผลติดตัวไป เธอได้ยินชื่อท่านอาจารย์จวนและเลื่อมใสศรัทธาอย่างยิ่งก็เลยคิดจะไปกราบท่าน เธอเดินทางจากสงขลา ดั้นด้นไปคนเดียวจนถึงภูทอก และได้ขอถือศีลอยู่ที่นั่นตลอดเวลาหนึ่งเดือน

“ถึงที่จริง ๆ ค่ะ แต่ที่ได้ตายโดยกลับจากถือศีลทำบุญ และโดยเฉพาะได้ตายพร้อมกับท่านนั้น หนทางข้างหน้าคงสว่างจริง ๆ นะคะ” ญาติของเธอกล่าว

เราถึงคิดกันว่า ท่านคงพิจารณาแล้วเห็นว่า เธอคงเป็นผู้หนึ่งที่จะต้องร่วมชะตากรรมอันนี้อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้”

คุณสุรีพันธ์ได้เล่าต่อไปอีกว่า

“เป็นเวลา 9 ปีกว่า ที่ผู้เขียนได้รับคำถามเกี่ยวกับการเดินทางมาประสบอุบัติเหตุเครื่องบินตกของท่าน เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2523

“ท่านรู้ล่วงหน้าไหม”

“ถ้ารู้ทำไมท่านจึงมา”

“พระระดับนี้ทำไมต้องมาตายอย่างนี้”

แรก ๆ คำถามจะเป็นไปในทำนองก้าวร้าว ดูแคลนแต่เมื่อเวลาผ่านไป เกียรติคุณของท่านเริ่มประจักษ์ พระธาตของท่านเริ่มประจักษ์ พระธาตุของท่านเริ่มปรากฏ น้ำเสียงของคำถามค่อยเปลี่ยนไปนอบน้อมขึ้น คารวะ แต่ก็ยังสงสัยอยู่บ้างตามวิสัยของปุถุชนธรรมดา

“ท่านรู้....ทำไมจึงเดินทางมา” ยังเป็นคำถามที่ผู้เขียนได้รับและไม่กล้าตอบให้ถึงใจ

วันนี้น่าจะถึงเวลาที่ควรบันทึกเหตุการณ์นี้ไว้ ถ้าเป็นสำนวนของท่านอาจารย์เอง ท่านจะว่า “เพื่อให้เรื่องสมบูรณ์”

ผู้เขียนขอเล่าภาพเหตุการณ์ในคืนวันที่ 27 เมษายน 2523 คืนแรกที่ตั้งศพท่านและท่านอาจารย์ทุกองค์ที่วัดพระศรีมหาธาตุฯ เรากำลังเตรียมตัวคอยรดน้ำศพด้วยใจอันโศกสลด

ท่านผู้ใหญ่ในแผ่นดินท่านหนึ่ง เห็นหน้าผู้เขียนก็เรียกไปหาอย่างเมตตา เป็นการปลอบใจมิให้เศร้าโศกจนเกินไป แล้วท่านก็บอกความข้อหนึ่งให้ฟัง

“โหรหลวงเขาทำนายไว้ว่า ปีนี้ชะตาเมืองไทยจะตกต่ำถึงขีดสุด อาจจะมีข้าศึกยกเข้ามาในเมืองไทย หรือมิฉะนั้น ก็จะต้องเสียพระอริยเจ้าหลายองค์ในเวลาเดียวกัน”

ท่านมองเรานิ่งอยู่อย่างเห็นใจในความทุกข์และปลอบประโลมใจ

ผู้เขียนหายใจขัด ๆ โหรหลวงจะให้คำทำนายแม่นยำถูกต้องหรือไม่นั้นอย่างไรก็เป็นขอนไม้ที่ลอยมาให้เราเกาะ

นั่นแหละ กราบเรียนถามท่านว่า โหรหลวงทำนายไว้แต่เมื่อใด

“ท่านบอกว่า โหรบอกไว้แต่เมื่อก่อนปีใหม่”

ผู้เขียนกราบแทบเท้าของท่าน”

ต่อไปนี้จะเป็นสรุปปริศนา

ทำไมจึงเป็นสรุปปริศนานั่น เพราะคำตอบของคำถามทั้งหลายที่จะตอบในบัดท้ายนี้ ยังคงเป็นปริศนาอยู่ดี

ตอบคำถามด้วยคำถามว่าอย่างนั้นเถิด

ก่อนเกิดเหตุเครื่องบินตกนั้น ท่านทำทุกอย่างเท่าที่จะทำได้เสมือนผู้จะตายทำพินัยกรรมก่อนจะตายเพียงไม่กี่วัน ด้วยเหตุผลอะไร

ทำไมท่านจึงยอมเล่านิมิตสำคัญอันหนึ่ง ซึ่งคุณหญิงสุรีพันธ์เคยเซ้าซี้ถาม แต่ท่านไม่ยอมบอก คงให้สัญญาว่าเอาไว้ถึงตอนที่ท่านใกล้จะตายจึงจะเล่าให้ฟัง

ทำไมท่านจึงเล่าในตอนต้นเดือนเมษายน (วันที่ 7) ก่อนมรณภาพสิบกว่าวัน

ทำไมท่านจึงถามคุณหญิงสุรีพันธ์ว่าช่วยทำศพให้ท่านได้ไหม ถามย้ำถึงสองครั้ง

ทำไมในเมื่อท่านเคยเข้าที่พิจารณากับท่านอาจารย์ว่า ท่านทั้งสองจะมีอายุยืนนานถึงเก้าสิบกว่าปี แต่แล้วพอถึงต้นเดือนเมษายนท่านกลับบอกใหม่ว่า “ถ้าเผื่อมันจะต้องเปลี่ยนแปลงล่ะ”

ทำไมท่านจึงแต่งตั้งเจ้าอาวาสไว้ล่วงหน้า ทั้งที่ท่านยังสามารถจะเป็นเจ้าอาวาสไปได้อีกหลายสิบปี

นี่เป็นปริศนาทั้งนั้น

พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ (3)

โดย อำพล เจน

หนังสือศักดิ์สิทธิ์ฉบับที่ 216

วันที่ 1 มกราคม 2535

โพสท์ในเวบ http://forum.ampoljane.com โดย prigtai เมื่อ 17 กันยายน 2552

  

ขอให้พิจารณาภาพถ่าย 2 ภาพถ่าย 2 ภาพ (ที่จริงมีมากกว่า 2 ภาพ) ที่ได้นำลงพิมพ์ไว้ที่นี้ ภาพแรกชื่อว่า ไฟในบาตร ภาพที่สองเป็นแสงประหลาดที่ปรากฏโดยไม่อาจค้นหาแหล่งกำเนิดแสงได้

ในหนังสือกุลเชฏฐาภิวาทได้อธิบายภาพไฟในบาตรว่า

“ปกติบรรดาศิษย์จะแอบถ่ายรูปครูบาอาจารย์ในอิริยาบถตามสบายต่าง ๆ กัน ภาพนี้ผู้ถ่ายแอบถ่ายเมื่อท่านอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ ฉันอาหารเสร็จแล้ว กำลังล้างปาก บาตรที่ตรงหน้าท่านว่างเปล่า ได้เทข้าวก้นบาตรออกหมดแล้ว ผู้ถ่ายก็ดี ผู้นั่งอยู่ตรงหน้าซึ่งมีอยู่ประมาณ 10 กว่าคนก็ดี รวมทั้งท่านพระครู (องค์ทางซ้าย) ไม่เห็นแสงไฟหรือเปลวไฟอะไรเลย แต่เมื่อล้างฟิล์มอัดภาพแล้ว จึงได้เห็นไฟในบาตรปรากฏขึ้น แสงไฟในบาตรจับหน้าท่านและขอบบาตรจนเป็นสีเข้มและสะท้อนมาสู่พื้นศาลาหน้าบาตรด้วย”

ถ้าเราจะค้นหาไฟที่ปรากฏในบาตรก็อาจกล่าวได้ว่า ท่านอาจารย์จวนได้จุดเทียนขึ้นเล่มหนึ่งแล้วปักลงในบาตรก่อนมีการถ่ายภาพ แต่ว่ามีเหตุผลอะไรที่ท่านจะต้องทำเช่นนั้น ในเวลาดูเป็นการประกอบกิจที่ต่อเนื่องเช่นนั้น คือฉันเสร็จ เทข้าวก้นบาตรออก ล้างปากและแคะฟัน และหากเป็นเทียนที่จุดขึ้น ไฟจากเปลวเทียนไม่มีทางจะลุกโชติช่วงสว่างไสวขนาดนี้

สมมติว่าเป็นการจัดฉาก จะต้องทำกันเป็นเรื่องใหญ่โต ลูกศิษย์ลูกหาต้องร่วมมือด้วย ต้องมีช่างเทคนิคเข้ามาลงมือ อาจมีการลากสายของแหล่งกำเนิดไฟผ่านมาทางด้านหลัง และให้ท่านอาจารย์นั่งทับแล้ววางกล้องให้อยู่ในตำแหน่งที่บาตรก็สามารถบังสาย หรือท่อกำเนิดไฟจนเกิดภาพไฟในบาตรขึ้น

นั่นเป็นสิ่งที่อาจเป็นไปได้ แต่ผมก็ไม่เห็นว่าจะมีเหตุผลอะไรที่จะต้องทำเช่นนั้น

ทีนี้มาดูภาพที่สองแสงประหลาดที่ปรากฏในภาพนี้ หรือแสงทำนองนี้เคยเห็นในภาพถ่ายของครูบาอาจารย์องค์อื่นมากอยู่ บางทีในงานพุทธาภิเษกวัตถุมงคล หรือในระหว่างครูบาอาจารย์ต่าง ๆ กำลังประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ

ลักษณะของแสงประหลาดแบบนี้เท่าที่ผมได้พบเห็นมา มีทั้ง แสงโง่ และ แสงที่ประหลาดจริง ๆ

แสงโง่ คือแสงที่มักปรากฏในพิธีพุทธาภิเษกโดยมาก แสงโง่เกิดขึ้นเพราะด้ายสายสิญจน์ที่ผูกระโยงระยางตลอดมณฑลพิธี ช่างภาพเข้าไปถ่ายภาพด้วยไฟแฟลชด้ายสายสิญจน์ หรืออะไรก็ตาม ที่อยู่ใกล้กล้องมากที่สุด จะรับแสงจากไฟแฟลชเต็มที่ จนเกิดเป็นภาพเหมือนลำแสงขาวนวลพาดผ่านในภาพถ่าย พอล้างรูปออกมาดูก็ฮือฮาว่าเป็นแสงปาฏิหาริย์ แล้วเอามาอวดโง่กัน

แสงโง่ก็เป็นลักษณะหนึ่ง

ส่วนแสงประหลาดก็เคยพบอยู่มากจริง ๆ เหมือนกัน เป็นแสงที่มีลักษณะอย่างในภาพที่ลงไว้ทั้งสิ้น

พิเคราะห์ดูลักษณะการเกิดภาพแสงแบบนี้เราจะสามารถเห็นได้ในการถ่ายภาพกลางคืน อย่างเช่น ถ่ายภาพถนนราชดำเนินในคืนวันเฉลิมพระชนม์พรรษา แสงอย่างนี้ปรากฏตลอดแนวยาวของถนน นั่นเป็นเพราะว่าการถ่ายภาพกลางคืนจะต้องเปิดหน้ากล้องค้างไว้นานมาก รถยนต์หรืออะไรก็ตาม ที่สามารถเคลื่อนไหวได้ ก็จะเคลื่อนไหวผ่านหน้ากล้องไปมา ไฟจากหน้ารถก็จะถูกพิมพ์ลงในฟิล์มเป็นสายยาวตลอดจนตกเฟรมไป เมื่อล้างรูปออกมาดูก็จะเห็นแสงอย่างนี้ปรากฏในภาพมากมายไปหมด ซึ่งการถ่ายภาพแบบนี้มีแหล่งกำเนิดแสงอย่างแน่ชัด

แต่ภาพอย่างที่เห็นว่าแปลกนี้ เป็นภาพถ่ายที่เกิดขึ้นในเวลากลางวัน ดูเหมือนจะตั้งความเร็วปกติคือระหว่าง 60-125, ภาพคนทุกคนที่อยู่ในนั้นไม่มีการเคลื่อนไหว ถ้าหากเป็นการเปิดกล้องค้างไว้นานๆ แล้วแม้อาการหายใจของคน ก็จะทำให้รูปคนพร่ามัวไปได้ทันที และเมื่อมองหาแหล่งกำเนิดแสง ก็ไม่พบว่ามีเทียนหรือไฟอะไรอยู่ในนั้น

ไม่ทราบว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร

ถ้าที่นี่เมืองไทยก็มีคนอย่างยอร์ช ลูคัส หรือสตีเว่น สปีลเบิร์กอาศัยอยู่ ภาพนี้คงไม่แปลกประหลาดอะไร

แต่ภาพนี้ก็เป็นของแปลก โดยเฉพาะถ่ายขึ้นมาด้วยกล้องที่ภาษานักเลงกล้องเรียกอย่างดูหมิ่นว่า “กล้องปัญญาอ่อน” ก็ยิ่งยากที่จะทำอะไรประหลาด ๆ ให้เกิดขึ้นอย่างจงใจได้

มีคำบรรยายภาพทั้งหมดนี้ว่า

“เมื่อมีการนำภาพชุดนี้มากราบเรียนถาม ท่านไม่อธิบายว่าอย่างไร ศิษย์ผู้หนึ่งแสดงความเห็นว่า แสงเป็นสายยาวนั้น คงคล้ายกับการถ่ายภาพรถยนต์เมื่อกำลังวิ่งในเวลากลางคืน ความเร็วของรถทำให้แสงโคมไฟหน้ารถจะเป็นเส้นขาวเช่นนั้น การถ่ายภาพนี้คงเป็นการบังเอิญที่กล้องสามารถจับภาพ “รังสี” ของท่านที่อยู่อีกภพหนึ่ง ซึ่งเราไม่อาจเห็นได้ด้วยตาของสามัญชนธรรมดา และการเคลื่อนไหวของ “ท่าน” เหล่านั้นรวดเร็วมาก “รังสี” ของ “ท่าน” จึงเห็นเป็นเพียงลำแสงปรากฏเป็นเส้น และเวลาต่างกันเพียงอึดใจเดียว ก็เป็นภาพที่แตกต่างกันมาก ไม่ทราบว่าคิดเช่นนี้ถูกผิดประการใด

ท่านฟังแล้วก็นิ่งอยู่ หากทว่าภายหลังมีผู้มารบเร้าซักถามท่านมาก ๆ ท่านหันมาทางศิษย์ผู้นั้นบอกว่า

“ไหนช่วยอธิบายให้เขาฟังทีซิ” แล้วท่านก็ลุกหนีไป

ผู้ที่เคยเห็นภาพชุดพิเศษ ถ่ายในคืนวันพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่ขาว อนาลโย ในหนังสืออนาลโยบูชา จะเห็นแสงสีฟ้าลักษณะขาดเป็นช่วง ๆ เช่นนี้มาก รวมทั้งเศียรพญานาคที่กำลังชูคอแผ่พังพานอยู่หลายตัว อาจจะนำมาเทียบเคียงกันได้ อาจเป็นเครื่องยืนยันว่า เมื่อท่านผู้ทรงคุณธรรมเฉกเช่นนี้อยู่ที่ใด ย่อมแวดล้อมด้วย “ท่าน” ผู้ศักดิ์สิทธิ์มีฤทธานุภาพมาพิทักษ์รักษาหรือกราบคารวะ”

ผู้อ่านคิดอย่างไร

ในส่วนตัวของผมแม้จะเห็นว่ามีทางถ่ายภาพโดยให้เกิดแสงอย่างนี้ขึ้นได้เหมือนกัน แต่ผมไม่คิดว่าผู้ถ่ายภาพพระอาจารย์จวนจะเป็นผู้รู้จักวิธีการอย่างนั้น หรือผู้ถ่ายภาพแสงประหลาดทั้งหลาย จะรู้จักวิธีทำภาพแบบนี้ ให้ถามนักเลงกล้องมืออาชีพที่อยู่ใกล้ ๆ ตัวก็จะพออธิบายได้ ว่าจะต้องทำอย่างไร ผมจะไม่ชี้โพรงให้กระรอก ไว้วันดีคืนดีผมอาจจะทำให้ดูเล่น ๆ สักภาพ

ในกรณีของภาพแสงประหลาดที่ลูกศิษย์ถ่ายท่านอาจารย์จวนนี้ ผมเชื่อเต็มหัวใจว่าเกิดขึ้นโดยเหตุบังเอิญหรือด้วยปาฏิหาริย์จริง ๆ ไม่มีเรื่องจัดฉากแต่อย่างใด

ท่านก็ไม่ฮุบเครดิตนี้มาเป็นของท่านเอง คงยกให้เป็นเทพเทวดาไป

ไม่อวดอ้างว่าเกิดเพราะอำนาจจิตมหัศจรรย์ของท่านแต่อย่างใด มิหนำท่านก็ได้เห็นความแปลกประหลาดนี้พร้อม ๆ กับลูกศิษย์เหมือนกัน

เกี่ยวกับอำนาจจิตนี้ อาจกล่าวได้ว่าเป็นของมีได้เป็นได้ในจิตของพระอริยเจ้าระดับนี้ทุกองค์ ซึ่งเรื่องของอำนาจจิตหรือพลังจิตก็เป็นเรื่องยากจะอธิบายหรือพิสูจน์ได้ คงปรากฏเป็นรูปของปริศนาที่ไม่อาจคลี่คลายออกมาเสมอ

อย่างเช่นครั้งหนึ่งซึ่งคุณสุรีพันธ์ มณีวัตได้บันทึกไว้ว่า

“เราแวะเพชรบุรี เจ้าของโรงงานสับปะรดกระป๋องแห่งหนึ่ง ทราบเรื่องขอนิมนต์ให้ท่านอาจารย์ทั้งสอง (ท่านอาจารย์วันและท่านอาจารย์จวน) แวะเยี่ยมโรงงานให้เป็นมงคล เจ้าของนำท่านดูการผลิตในโรงงานทุกขั้นตอน ตั้งแต่การปอกสับปะรดเอาไส้ออก ตัดเป็นแว่น บรรจุลงกระป๋อง ซึ่งทุกอย่างทำด้วยเครื่องจักรโดยตลอด

ทั้งสององค์มองดูภาพกระป๋องสับปะรดที่เรียงตัวเคลื่อนไปตามสายพานอย่างสนใจ ชมว่า เก่งจริง ๆ เครื่องจักรนี่ แต่ท่านอาจารย์จวนเสริมเบา ๆ “ใช้เครื่องจักรหมด อีกหน่อยคนอีสานจะมีงานทำหรือ”

รู้กันว่าคนทางภาคอีสานออกมาหางานทำภาคกลาง ภาคใต้กันอยู่มาก ท่านอดห่วงคนทางอีสานของท่านไม่ได้

ท่านเดินผ่านๆกันไป จุดสุดท้ายเป็นการทำงานของเครื่องจักรที่ทำตัวกระป๋องสำหรับบรรจุสับปะรด ตั้งแต่ตัดเหล็กวิลาสเป็นแผ่นยาวขนาดสำหรับก้นกระป๋องเคลื่อนตัวม้วนเป็นวง บัดกรีส่วนแผ่นกลมติดข้างล่างเครื่องม้วนขอบด้านล่าง....ฯลฯ จุดนี้ท่านอาจารย์จวนสนใจมาก หยุดอยู่นานจนต้องกลับมาเร่งว่า ท่านอาจารย์วันไปรออยู่ข้างหน้า เจ้าของเขาจะขอให้ท่านทั้งสองเจิมเครื่องจักรให้

ท่านเดินออกมารำพึงเบา ๆ “อือม์....มันทำอย่างไรนะ” ผู้เขียนกลับมาเร่งท่านเดินตามท่านอยู่จึงได้ยินคำรำพึงของท่าน

ขาดคำที่ท่านว่า “ทำอย่างไรนะ” ก็ได้ยินเสียงกราวใหญ่ลั่นอยู่ข้างหลังเครื่องจักรหยุดชะงัก แผ่นเหล็กวิลาสกระป๋องเปล่าที่เดินแถวเรียงกันเป็นลำดับนั้น ดีดออกจากสายพานเห็นกระป๋องแผ่นเหล็กวิลาสกลิ้งและกระจัดกระจายเต็มไปหมด เสียงกระป๋องกระทบพื้นยังดังไม่หยุด

ผู้เขียนมองหน้าท่าน ท่านทำท่าเหมือนเด็กถูกจับได้ รีบเดินไปสมทบกับท่านอาจารย์วัน ซึ่งเมื่อได้ยินเสียงก็เหลียวมาดูเหตุการณ์ และมองยิ้มๆ ไปที่ท่านอาจารย์จวน

วันหลังเมื่อท่านอาจารย์สอนเรื่องการทำจิตให้สงบสงบให้ถึงขนาด (ถึงขนาดนี่เป็นสำนวนท่าน) จิตจะกล้ามีพลัง มีอานุภาพ แล้วท่านก็ยกตัวอย่างเรื่องท่านอาจารย์ฝั้นหยุดรถยนต์ เพียงสงสัยว่ารถยนต์มันเดินได้อย่างไร จิตของท่านไปพิจารณาเครื่องจักร รถยนต์หยุดทันที

ผู้เขียนปากอยู่ไม่สุขพูดขึ้นค่อยๆ

“ก็อย่างที่โรงงานสับปะรดกระป๋องที่หัวหินวันนั้นกระป๋องกระจายเลย”

ท่านร้อง จุ๊....ทำตาดุมองหน้าผู้เขียน....สั่นหน้าห้ามไม่ให้พูดต่อ แล้วท่านก็รีบชวนทุกคนคุยเรื่องอื่นต่อไป”

อีกเรื่องหนึ่ง คุณหญิงสุรีพันธ์เล่าว่า

“ระหว่างเดินทางไปปักษ์ใต้ได้พักที่หาดนพรัตน์ธารา ทุกคนเหน็ดเหนื่อยกันมาก ต่างแยกย้ายกันหาร่มไม้พัก คุณสุรีพันธ์เดินอ้อมมาด้านข้างท่านอาจารย์จวน ซึ่งนั่งขัดสมาธิพักอยู่บนโขดหินก็สะดุ้งทั้งตัว เมื่อเห็นภาพท่านอาจารย์จวน

“นั่งสมาธิในท่าสบาย ๆ แตะอยู่เพียงแค่มุมก้อนหินมุมเดียว เฉพาะส่วนที่ตรงกับกระดูกสันหลังเท่านั้นที่บนก้อนหิน ส่วนต้นขา....ขาที่ขัดสมาธินั้นอยู่บนอากาศ”

คือความหมายว่ามีเพียงก้นกบของท่านอาจารย์จวนวางอยู่บนก้อนหินหรือแง่หิน นอกนั้นลอยพ้นพื้นขึ้นมา ทุกอวัยวะลอยอยู่พ้นพื้น เว้นแต่ก้นกบเท่านั้นที่แตะกับแง่หินและยังอยู่ในท่าขัดสมาธิหลับตานิ่งอยู่ด้วย

คุณสุรีพันธ์จึงให้ช่างภาพถ่ายภาพนั้นไว้ บอกว่าเอาไว้เป็นประจักษ์พยาน

ภายหลังนำภาพนี้ไปถวายท่านดู ท่านร้องเอะอะว่าแอบถ่ายตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่ทันรู้ตัว

คุณหญิงสุรีพันธ์อธิบายว่า

“ดูเหมือนท่านเหนื่อยมาก พอนั่งบนก้อนหินยังไม่ทันนั่งเต็มองค์เพียงแปะไว้กับขอบมุมหิน จิตก็ปล่อยวางพักไปแล้ว”

ท่านบอกว่า อย่าให้ใครดู เขาจะว่าอวดเล่นฤทธิ์ ผู้เขียนทำหน้าละห้อยบอกว่า เพื่อน ๆ ดูกันเป็นสิบคนแล้ว

ท่านว่า เก็บ....เก็บ....

ประหลาดที่ว่า ภาพคู่นี้ ที่หลายคนต่างอัดไว้ดูเป็นของอัศจรรย์นั้น สุดท้ายหายไปหมดทุกบ้าน รวมทั้งฟิลม์ต้นฉบับด้วย

บันทึกไว้กันเรื่องสูญหาย

อีกเรื่องหนึ่งที่นับว่าเป็นเหตุอัศจรรย์อย่างแท้จริง ซึ่งคุณสุรีพันธ์ตั้งชื่อว่า “บาตรบุบ” เรื่องเป็นอย่างนี้

คุณสมพร กลิ่นพงษา (ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมขณะนั้น) เป็นผู้หนึ่งที่ร่วมเดินทาง มากับเครื่องบินลำที่ประสบอุบัติเหตุตก เป็นเหตุให้ท่านอาจารย์จวน, ท่านอาจารย์วัน, ท่านอาจารย์สิงห์ทอง และท่านอาจารย์สุพัฒน์ ถึงแก่มรณภาพ แต่ท่านเป็นผู้โชคดีไม่เสียชีวิตเพราะว่าได้นั่งอยู่ตอนท้ายของเครื่องบิน ซึ่งเป็นส่วนที่ถูกกระทบกระแทกน้อยที่สุด

ท่านสมพรได้นำเอกสารสำคัญซึ่งหากตกไปอยู่กับฝ่ายตรงข้ามแล้ว จะเกิดความเสียหายและอันตรายอย่างมากแก่ประเทศชาติ

เมื่อได้รับความช่วยเหลือจากซากเครื่องบิน แล้วท่านสมพรยังมีสติอยู่ จึงบอกแก่ผู้ไว้ใจได้ว่า มีเอกสารลับติดตัวมาด้วย ช่วยหาที

ปรากฏว่าหากันไม่พบไม่ว่าจะในตัวท่านสมพร หรือที่ไหน ๆ ในบริเวณซากเครื่องบิน

หลายฝ่ายไม่สบายใจ

จนกระทั่งได้มีตรวจค้นซากเครื่องบิน เพื่อเก็บอัฐบริขารของครูบาอาจารย์ทุกองค์ เมื่อมาพบบาตรของท่านอาจารย์จวนซึ่งอยู่ในสภาพบุบจนไม่อาจเปิดฝาบาตรได้ด้วยมือเปล่า ต้องใช้เครื่องมือช่วยงัดฝาบาตรให้เปิดออก เมื่อเปิดแล้วก็พบเอกสารซองหนึ่งวางอยู่บนอัฐบริขารทั้งหมด

“ผู้เขียนเห็นตรากระทรวงมหาดไทย เห็นมุมซองแสดงว่าเป็นเอกสารจากผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมก็ร้องด้วยความดีใจ

เราหากันมาแทบจะพลิกแผ่นดิน (ตรงบริเวณเครื่องตก) เอกสารซองนี้อยู่ในบาตรของท่านอาจารย์นี่เอง”

หลังจากนั้นได้มอบเอกสารให้กับกระทรวงมหาดไทยไป

คุณหญิงสุรีพันธ์เล่าต่อไปว่า

“ขณะนั้นนึกเพียงว่าประหลาด ทำไมคุณสมพรนึกยังไง ถึงได้เอาซองเอกสารสำคัญ มาฝากท่านอาจารย์เก็บไว้ ไม่เก็บไว้กับตัว หรือเกิดสังหรณ์อย่างไรจึงฝากไว้ หรือท่านอาจารย์รู้ล่วงหน้า ก็เลยเรียกให้ไปฝาก

ว่าจะถาม แต่คุณสมพรก็เจ็บหนัก ไม่ควรไปกวน ต่อมาเมื่อท่านหายเจ็บแล้วตามวิสัยคนกรุง เรื่องผ่านไปแล้วก็ลืมเลย พบคุณสมพรภายหลังก็พูดคุยเรื่องอื่นไปหมด

จนกระทั่งเมื่อจะจัดตั้งเครื่องบริขารในห้องพิพิธภัณฑ์คิดจะแยกเป็นกลุ่ม แสดงบริขารที่ท่านใช้วันเครื่องบินตกโดยเฉพาะ เห็นบาตรบุบจึงนึกขึ้นได้

โทรศัพท์ติดต่อกับท่านได้เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2532 นี้เอง ท่านอุทานดังลั่นเมื่อทราบเรื่อง

“อะไรนะครับ ซองเอกสารนั่นหรือครับได้มาจากบาตรท่านอาจารย์จวน”

“ค่ะ”

“ผมไม่ทราบเลย เพิ่งทราบจากพี่เดี๋ยวนี้เอง โอ..ผมขนลุกไปหมด”

“ทำไมคะ”

“ผมไม่ได้เอาไปฝากท่าน อยู่กับตัวผมตลอดเวลาจนเครื่องบินตก เอกสารลับเป็นความเป็นความตายอย่างนั้น ใครจะให้คลาดจากตัว แล้วเข้าไปอยู่ในบาตรท่านได้อย่างไร ผมขนลุกจริง ๆ พี่บอกว่าบาตรบุบอัดแน่นเปิดไม่ได้จนพระต้องช่วยกันงัด เท่ากับท่านช่วยไม่ให้ใครไปพบก่อนพวกเราจะพบ”

แปลกดีนะครับ

เรื่องเอกสารลับที่ว่านี้ แม้ท่านสมพรเองก็เพิ่งรู้ว่า อยู่ในบาตรของท่านอาจารย์จวน หลังจากเวลาผ่านไปนับสิบปี ไม่ได้คิดว่า จะมีเหตุอัศจรรย์นี้เป็นควันหลงอยู่

นี่เป็นอจินไตยอย่างแท้จริง

ใครจะเป็นผู้อธิบายได้

นี่ก็เล่าเรื่องอภินิหารของท่านอาจารย์จวนมาหลายเรื่องแล้ว แม้ว่าจะยังมีอีกหลายเรื่องที่ไม่ได้เล่า ก็นับว่าพอสมควรแก่ความวิเศษของท่าน ไม่จำเป็นต้องเล่ากันยืดยาวกว่านี้ก็ได้

ข้อสงสัยคลางแคลงใจของคนทั้งหลายในข้อที่ว่ากระทั่งท่านยังต้องตาย แล้ววัตถุมงคลของท่านจะขลังหรือ ก็ขอให้เป็นข้อสงสัยของคนขี้สงสัยต่อไป

จงสงสัยไปตลอดชั่วกัลป์เถิดบ่เป็นหยังดอก

พระเครื่องของท่านอาจารย์วันและท่านอาจารย์จวนก็ยังคงเป็นพระเครื่องดีที่คนขี้สงสัย

เมินอยู่เสมอ

สำหรับผมนั้นไม่เคยสงสัยเลย ตั้งแต่วินาทีแรกที่ได้ยินข่าวเครื่องบินตก จนกระทั่งเดี๋ยวนี้ก็ไม่สงสัย

นอกจากจะไม่สงสัยแล้ว แล้วยิ่งแน่ใจยิ่งๆ ขึ้นไปอีกมากกว่าเก่า

คำพูดเดิมที่ขอทวน

“ที่ผมแขวนอยู่ในคอนี้ ทุกองค์กระดูกเป็นพระธาตุนะครับ ผมไปดูมาแล้ว”

เซียนแว่น เมืองอุดรฯบอก

ในคอของเขาแขวนไว้ด้วย พระอาจารย์วัน, พระอาจารย์จวน, พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ, หลวงปู่แหวน, หลวงปู่ขาว, หลวงปู่ฝั้น, หลวงปู่ชอบ และอีกสองสามองค์ที่นึกไม่ออก

ครับผม, ไม่แพงเลยสำหรับพระเครื่องดีที่คนเมินนี้ และยังไม่มีของเก๊ด้วยครับ เจอที่ไหนคว้าเอาไว้โลด