คลิกเมาส์ที่ใดก็ได้ในเฟรมนี้เพื่อเรียกเมนูด่วน
หลวงปู่ดู่
พรหมปัญโญ
พระอรหันต์ที่ผมเกิดทัน
โพสท์ในเวบ uamulet.com กระทู้ในหัวข้อ บทความสาระน่ารู้ โดยคุณ สุโขทัย [ 3/10/2547 ]
พระ |
ทรงคุณสุดอ้าง |
พรรณนา สิ้นเฮย |
พรหม |
ประทานเมตตา |
พร่ำชี้ |
ปัญ |
ปราบกิเลสคณา |
ดังง่าย ฤาพ่อ |
โญ |
จักสถิตย์นามนี้ |
คู่ฟ้านิรันดร์ |
ชาติภูมิ
พระคุณเจ้าหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ มีชาติกำเนิดในสกุล หนูศรี เดิมชื่อดู่ เกิดในวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2447 ตรงกับวันศุกร์ขึ้น 15 ค่ำ เดิน 6 ปีมะโรง ซึ่งเป็นวันเพ็ญวิสาขปุรณมี ณ บ้านข้าวเม่า ตำบลข้าวเม่า อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
โยมบิดาชื่อ พุด โยมมารดาชื่อ พ่วง ท่านมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 3 คน ท่านเป็นบุตรคนสุดท้อง มีโยมพี่สาวอีก 2 คน มีชื่อตามลำดับดังนี้
1. นางทองคำ สุนิมิตร
2. นางสุ่ม พึ่งกุศล
3. ตัวท่านหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ
ปฐมวัยและการศึกษาเบื้องต้น
ชีวิตในวัยเด็กท่านจะขาดความอบอุ่นเนื่องจากกำพร้าบิดามารดาตั้งแต่เยาว์ขณะที่ท่านอายุเพียง 4 ขวบเท่านั้น จึงได้อาศัยอยู่กับยาย โดยมีโยมพี่สาวชื่อ สุ่ม เป็นผู้ดูแลเอาใจใส่และท่านก็ได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนที่วัดกลางคลองสระบัว วัดประดู่ทรงธรรม และวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ
สู่เพศพรหมจรรย์
เมื่อท่านอายุได้ 21 ปีก็ได้เข้าพิธีบรรพชาอุปสมบท เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2468 ตรงกับวันอาทิตย์ แรม 4 ค่ำ เดือน 6 ณ วัดสะแก ตำบลธนู อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีหลวงพ่อกลั่น เจ้าอาวาสวัดพระญาติการาม เป็นพระอุปัชฌาย์ มีหลวงพ่อแด่ เจ้าอาวาสวัดสะแก ขณะนั้นเป็นพระกรรมวาจาจารย์และมีหลวงพ่อฉาย วัดกลางคลองสระบัว เป็นพระอนุศาสนาจารย์ ได้รับฉายาว่า "พรหมปัญโญ"
ในพรรษาแรก ๆ นั้น ท่านได้ศึกษาพระปริยัติธรรม ที่วัดประดู่ทรงธรรม ซึ่งในสมัยนั้นเรียกว่าวัดประดู่โรงธรรม โดยมีพระอาจารย์ผู้สอนคือ ท่านเจ้าคุณเนื่อง,พระครูขม และหลวงพ่อรอด(เสือ) เป็นต้น
ในด้านการปฏิบัติพระกรรมฐานนั้น ท่านก็ได้ศึกษากับหลวงพ่อกลั่น ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ และหลวงพ่อเภา ศิษย์องค์สำคัญของหลวงพ่อกลั่น ซึ่งมีศักดิ์เป็นอาของท่าน เมื่อท่านบวชได้พรรษาที่ 2 ประมาณปลายปี 2469 หลวงพ่อกลั่นก็ได้มรณภาพ ท่านจึงได้ศึกษาหาความรู้จากหลวงพ่อเภาเป็นสำคัญ
หลวงพ่อดู่ท่านได้ถือข้อวัตร คือฉันอาหารมื้อเดียวมาตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ. 2500 จนถึง พ.ศ.2525 เหล่าสานุศิษย์ได้กราบนิมนต์ให้ท่านฉัน 2 มื้อเนื่องจากความชราภาพ ประกอบกับต้องรับแขกมากขึ้น ท่านจึงได้ผ่อนปรนตามความเหมาะควรแห่งอัตภาพ
เน้นหนักที่การปฎิบัติ
หลวงพ่อดู่ท่านให้ความสำคัญอย่างมากในเรื่องของการปฏิบัติสมาธิภาวนา ท่านว่า " ถ้าไม่เอา (ปฏิบัติ) เป็นเถ้าเสียดีกว่า " ในสมัยก่อนเมื่อตอนที่ศาลาปฏิบัติธรรมหน้ากุฏิท่านยังสร้างไม่เสร็จนั้น ท่านก็เมตตาให้ใช้ห้องส่วนตัวที่ท่านใช้จำวัดเป็นที่รับรองสานุศิษย์ และผู้สนใจได้ใช้เป็นที่ปฏิบัติธรรม ซึ่งนับว่าเป็นความเมตตาอย่างสูง
ปัจฉิมวาร
นับตั้งแต่ พ.ศ. 2525 เป็นต้นมา หลวงพ่อดู่ต้องรับภาระหนักในการรับแขกตลอดจนสุขภาพของท่านทรุดโทรมลง ด้วยปณิธานที่ท่านตั้งไว้ว่า "สู้แค่ตาย" ท่านใช้ความอดทนอดกลั่นอย่างสูง แม้บางครั้งจะมีโรคภัยเบียดเบียนอย่างหนัก ท่านก็สู้อุตส่าห์ออกโปรดญาติโยมเป็นปรกติ.....
จนเมื่อเวลา 5 นาฬิกา ของวันอังคารที่ 17 มกราคม 2533 ท่านก็ได้ละสังขารไปด้วยความสงบด้วยโรคหัวใจในกุฏิท่าน อายุได้ 85 ปี 8 เดือน อายุพรรษา 65 พรรษา
" ตราบใดก็ตามที่แกยังไม่เห็นความดีในตัว ก็ไม่นับว่าแกรู้จักข้า
แต่ถ้าเมื่อใดที่เริ่มเห็นความดีในตัวเองแล้ว
เมื่อนั้น ข้าว่าแกรู้จักข้าดีขึ้นแล้ว...."
คัดลอกมาจาก "พระผู้จุดประทีบในดวงใจ" สำนักสงฆ์พุทธพรหมปัญโญ ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่....