#echo banner="" นายหนูกลับใจ พระโพธิญาณเถร

นายหนูกลับใจ

จากหนังสือ บุญญฤทธิ์ พระโพธิญาณเถร

หลวงพ่อชา สุภทฺโท วัดหนองป่าพง

อำพล เจน บรรณาธิการ

ผมไม่เคยรู้จักหรือมีความสัมพันธ์กับนายหนูเป็นการส่วนตัว แต่ก็รู้เรื่องของนายหนูได้ดีเท่า ๆ กับคนอื่น เนื่องจากว่านายหนูดูเหมือนจะเป็นผู้ เดียวเท่านั้นที่เป็นปฏิปักษ์กับหลวงพ่อชาอย่างชัดเจนที่สุด

คนอื่นที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางปฏิบัติของหลวงพ่อ ก็อาจรู้สึกต่อต้านอยู่ในใจ ไม่ถึงกับแสดงอาการออกมาสู่ภายนอกอย่างเด่นชัดนัก โดยมากก็เฉยอยู่ เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็อยู่ข้างใน ส่วนข้างนอกดูเรียบร้อยดี ไม่มีกิริยา ผิดกับนายหนู นั้นแสดงออกอย่างไม่จำเป็นต้องอำพรางความรู้สึกนึกคิดของตนเอง ว่ามีต่อหลวงพ่อชาอย่างไร จึงนับได้ว่าเป็นบุคคลพิเศษคนหนึ่งที่ใคร ๆ ก็กล่าวขวัญถึง

นายหนูมีชื่อจริง ๆ ว่า หนู ศิริมา เป็นชาวบ้านก่อ บ้านเดียวกันกับหลวงพ่อชา ปัจจุบันอายุ 75 ปี เป็นคนขี้เหร่ ใบหน้ามีรอยปรุพรุนอยู่ทั่วไป จึงมีผู้เรียกว่า “หนูผี” อีกชื่อหนึ่ง เดิมเป็นคนไม่มีศาสนา ไม่เคยเชื่อว่าศาสนาเป็นของมีจริง ศาสนาคือเรื่องเหลวไหลที่มนุษย์สร้างขึ้นมาลวงกันเอง

ก่อนที่นายหนูจะเชื่อว่าศาสนาเป็นเรื่องโกหก นายหนูได้ศึกษาค้นคว้าปรัชญาของศาสนาต่าง ๆ มามากแล้วเกือบทุกศาสนา ไม่ว่าคริสต์, อิสลาม, พราหมณ์ หรือแม้แต่พุทธ ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่า นายหนูเป็นคนไม่เคยเชื่ออะไรง่าย ๆ และออกจะเป็นผู้รู้จักใช้เหตุใช้ผลของตนเองสำหรับตัดสินว่าอะไรจริงไม่จริง อะไรเชื่อได้และเชื่อไม่ได้ ในที่สุดก็สรุปแก่ตนเองว่า ศาสนาเป็นเรื่องมดเท็จ ทั้งนั้น

นายหนูเคยบวชในบวรพุทธศาสนามาครั้งหนึ่ง บวชไปตามประเพณีของผู้ชายไทย บวชแล้วก็ไม่ทำให้รู้หรือเห็นว่าพุทธศาสนาเป็นของดีวิเศษอย่างไร พุทธศาสนาก็เหมือนศาสนาทุกศาสนาในโลก เหลวไหลไม่ได้ความเหมือนกัน

“ถ้าหากพุทธศาสนาดีจริง ทำไมประเทศไทยจึงมีผู้นับถือศาสนาหลายศาสนานัก”

นายหนูคิดเห็นเช่นนี้ตลอดมา เมื่อพบเห็นนักบวชแต่ละศาสนา และมีโอกาสได้สนทนาด้วยเมื่อไหร่ นายหนูมักเข้าไปเบี้ยวนักบวชเหล่านั้นเสมอ และด้วยเหตุที่เป็นคนพูดเก่ง คล่องตัว นักบวชเหล่านั้นมักหงายท้องไปตาม ๆ กัน เนื่องจากว่า จะถกเถียงเอาชนะนายหนูได้ยาก

นายหนูเคยได้พบพระกรรมฐานรูปหนึ่ง ปักกลดอยู่แถวสะพานรถไฟ ระหว่างสถานีวารินชำราบ (อุบลฯ) กับสถานีบุ่งหวาย สองสถานีมีระยะห่างกันประมาณ 9 กิโลเมตร นายหนูเข้าไปกราบสนทนาด้วย และได้โต้กันกลางแดดเปรี้ยงเป็นเวลานาน ผลสุดท้ายพระกรรมฐานรูปนั้นก็หมดทางจะแก้ข้อสงสัย หรือให้ความกระจ่างแก่นายหนูได้ จึงออกปากชวนให้ไปด้วยกัน เพื่อจะได้รู้เองเห็นเอง ด้วยตัวเอง จะดีกว่าจะให้ท่านพูด หรือบอกให้ฟัง แต่นายหนูกลับตอบว่า

“ผมขอให้ท่านพูดมาเพื่อให้เข้าใจเท่านั้นก็พอ แต่ท่านแก้ความสงสัยไม่ได้ ก็ไม่จำเป็นที่ผมจะต้องไปกับท่าน”

เลยต่างคนต่างแยกจากกัน

นายหนูก็ยังคงอยู่อย่างคนไม่เชื่อในศาสนาใดๆ เรื่อยมา

หลายปีต่อมา หลวงพ่อชาได้เดินทางกลับมาเยี่ยมบ้านเกิดครั้งแรก โดยเข้ามาพักในป่าช้าบ้านก่อ ซึ่งเป็นคนละที่กับป่าพงที่ได้กลายมาเป็นวัดหนองป่าพงในปัจจุบัน เมื่อมาพักที่ป่าช้าบ้านก่อแล้ว พวกชาวบ้านที่รู้ ข่าวก็พากันไปกราบและฟังธรรมะจากท่าน ผู้ที่ฟังแล้วก็กลับมาเล่าให้ผู้ที่ไม่ได้ไปฟังอีกทอดหนึ่ง

นายหนูอยู่ในกลุ่มที่ไม่ได้ไปฟัง แต่ก็สรุปใจความจากผู้ไปฟังมาแล้วได้ว่า

“คนทุกคนเกิดมาต่างมีความหลง ถ้ายังอยู่ครองเรือนแล้วไม่ว่าหนุ่มหรือแก่หลงทั้งนั้น”

นายหนูจึงคิดว่า ระหว่างนายทุนกับพระอาจารย์ชาใครหลงกันแน่ และใครจะหลงมากกว่าใคร ในเมื่อคนทุกคนล้วนมีความอยากกันทั้งนั้น ใครบ้างที่ไม่อยาก

“อาจารย์ชานั่นแหละตัวหลง มีความเห็นผิดเอามาก ๆ อีกด้วย” นายหนูคิดอย่างนั้น

สองปีให้หลัง คุณแม่พิมพ์ และผู้ใหญ่ลา โยมแม่และโยมพี่ชายได้ตามไปนิมนต์หลวงพ่อให้กลับมาอยู่ที่บ้านเกิด ตอนนั้นอยู่ในราวเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2497 เข้าใจว่าหลวงพ่อกำลังพำนักอยู่ที่วัดป่าตาว อ. คำชะอี จ.มุกดาหาร

เมื่อหลวงพ่อชารับนิมนต์และเดินทางมาพักที่ป่าพงที่ได้กลายมาเป็นวัดในทุกวันนี้แล้ว พวกชาวบ้านได้พากันไปช่วยปลูกกุฏิที่พักถวาย นายหนูก็ไปช่วยปลูกกับเขาด้วย แม้ว่าจะไม่ได้มีความเลื่อมใสแต่อย่างใด หากแต่เพราะขัดเพื่อนชวนไม่ได้ และตนเองก็เป็นช่างไม้อีกด้วย จึงเป็นอันหมดทางปฏิเสธ

เย็นวันหนึ่งคุณแม่พิมพ์ได้บอกแก่นายหนูว่า หลวงพ่อชากำลังคอยอยู่ ไม่ทราบว่ามีธุระอะไร นายหนูก็ไปกราบนมัสการหลวงพ่อโดยไม่ขัดขืน เมื่อกราบแล้วเงยหน้าขึ้น หลวงพ่อก็พูดโต้ง ๆ ออกมาทันที

“นายหนูมีความเห็น และความเข้าใจในศาสนาอย่างไรให้พูดกันอย่างเปิดอก”

แต่นายหนูดูจะยังมีความเกรงใจหลวงพ่อชาอยู่บ้าง จึงหันไปสนทนาธรรมอื่น ๆ แทน เช่นเรื่องของกุศล อกุศล และข้อธรรมต่าง ๆ เท่าที่จะนึกขึ้นมาคุยได้ หลวงพ่อก็เมตตาอธิบายให้ฟังทั้งหมด

การสนทนาธรรมครั้งแรกระหว่างนายหนูกับหลวงพ่อชาไม่ได้เป็นการสนทนากันอย่างง่าย ๆ พื้น ๆ หรือสั้น ๆ แต่เป็นมหกรรมสนทนากัน เพราะว่าใช้เวลาสนทนากันทั้งคืนยันรุ่งของวันใหม่จึงได้แยกจากกัน

ถึงอย่างนั้นเรื่องคุยกันในคืนวันนั้นก็ยังไม่เข้าหัวของนายหนูสักเท่าไหร่

ปีนั้นทั้งปี นายหนูไม่มาเหยียบวัดหนองป่าพงอีกเลย

ปีต่อมา (พ.ศ. 2498) พวกชาวบ้านกล่าวหาหลวงพ่อชาว่าท่านหวงน้ำ คือไม่ยอมให้ชาวบ้านทั้งหลายเอาครุลงตักน้ำในบ่อน้ำของวัด

ครุก็คือภาชนะสานด้วยไม้ไผ่เป็นรูปอย่างถังน้ำแล้วยาด้วยชันเพื่อให้ขังน้ำได้ โดยน้ำไม่รั่ว

นายหนูได้ยินก็เป็นฟืนเป็นไฟขึ้นมาทันที

“พระอะไรกัน แค่น้ำในบ่อก็หวง ทีข้าวปลาอาหารของชาวบ้านกลับบิณฑบาตได้ทุกวัน” นายหนูว่า

“ยังงี้ไม่เข้าท่าว่ะ จะต้องไปถามดู ไม่ได้เรื่องยังไงจะไล่ให้หนีไปจากที่นี่”

นายหนูเดินบุกโครม ๆ เข้าไปจนถึงกุฏิหลวงพ่อชาอย่างปั้นปึ่ง

“เขาว่าท่านหวงน้ำ”

“หวงยังไง” หลวงพ่อสงสัย

“ท่านไม่ยอมให้ชาวบ้านเข้ามาอาศัยตักน้ำในวัดไปใช้” นายหนูแจ้งข้อหา

“อ้ออย่างนั้นหรือ” หลวงพ่อพยักหน้า “ที่ห้ามน่ะ ห้ามไม่ให้เอาครุมาตักน้ำในบ่อของวัดหรอก เอาครุขังปลาขังเขียดมาตักน้ำดื่มน้ำใช้ของพระ มันเกิดมลทินแก่น้ำ ทำให้ผิดระเบียบของสงฆ์ ถ้าใช้ครุหรือถังที่สะอาดตักใครจะไปห้าม”

นายหนูจึงได้ข้อคิดในทันใดได้ยินอะไรอย่าเพิ่งเชื่อ ต้องรู้เห็นด้วยตาหูของตนเองเสียก่อนจึงค่อยเชื่อ

“มีอะไรก็ให้พูดกันอย่างเปิดอก” หลวงพ่อกล่าวซ้ำเหมือนที่ได้กล่าวเมื่อปีที่แล้ว

“พูดเปิดอกก็ได้ แต่กลัวว่าท่านจะโกรธ” นายหนูแย๊ปนำ

“รับรองไม่โกรธ” หลวงพ่อยืนยัน “พูดมาเถอะ พูดตามสบาย”

“ที่เคยว่าพวกผมหลงผิดนั้น ผมว่าอาจารย์ก็หลงผิดเหมือนกัน จะหลงผิดมากกว่าเสียด้วย เพราะศาสนาไม่มีจริง เป็นเรื่องที่คนสมมุติขึ้น แต่งขึ้น ทุกอย่างมันเป็นสมมุติทั้งนั้น เช่นควาย เราก็สมมุติเรียกมันว่า ควาย จะเรียกว่าหมาก็ได้ ไก่ก็ได้ หมูก็ได้ มันจะมาว่าอะไร คน สัตว์ วัตถุทุกอย่างก็สมมติกันเอาเองทั้งนั้น พระพุทธเจ้ากับศาสนาก็สมมติกันขึ้นมา ไม่มีตัวตนหรอกครับ”

นายหนูได้โอกาสร่ายยาวและหลวงพ่อยังคงนั่งฟังเงียบ ๆ

“อย่างอาจารย์นี่ผมสงสัยว่าทำไมจึงต้องกลัวบาป ถึงกับหนีเข้าป่าเข้าดง ทรมานร่างกายให้ลำบากไปเปล่า ๆ ปลี้ ๆ ผมไม่เชื่อเลยว่าบาปบุญมีจริง เป็นเรื่องหลอกเด็กเท่านั้น อาจารย์อยู่ตามวัดบ้านทำไป อยู่ไปเหมือนพระอื่นก็พอแล้ว จะเข้าป่าทำไม ไม่ก็เลือกทางที่ดีกว่านั้น คือสึกออกมารู้รสกามและรับความสุขอย่างพวกผมดีกว่าอยู่อย่างทรมานแก่ตนเอง”

หลวงพ่อชายังคงนั่งอยู่ นายหนูรู้ สึกว่าตนเป็นต่อแล้วจึงรุกฆาต

“ผมมีความเห็นอย่างนี้แหละ อาจารย์ล่ะ เห็นเป็นไง.

“คนแบบโยมนี่พระพุทธเจ้าท่านทิ้ง” หลวงพ่อกล่าว “พระพุทธเจ้าตรัสว่าโปรดไม่ได้ เหมือนดอกบัวในตม”

“ อ้าว ”

“ถ้านายหนูไม่เชื่อเรื่องบาปและบุญ ทำไมไม่ไปลักทรัพย์เขา ปล้นฆ่าเขาล่ะ”

“ผมกลัวว่ามันบางทีมันอาจจะมีมั่งก็ได้” นายหนูอึกอัก

“อาตมาประพฤติอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ ถ้าบาปไม่มี บุญไม่มี ก็เสมอทุนไม่ได้กำไร แต่ถ้าบาปมี บุญมี อาตมาก็จะได้กำไร” หลวงพ่ออธิบาย “คนหนึ่งขาดทุนกับได้กำไร อีกคนหนึ่งเสมอทุนกับได้กำไร ใครจะดีกว่ากัน”

“ไอ้เรื่องบาปเรื่องบุญนี่ผมปวดหัวมานานแล้ว จะเชื่อว่ามันไม่มีก็ยังไม่แน่ใจเสียทีเดียว แต่ถ้ามันไม่มีจริง อาจารย์จะให้ผมทำยังไง”

“ทำยังไงก็ได้”

“งั้นถ้าผมตาย และรู้ว่าบาปบุญไม่มี ผมจะไล่เตะท่านนะ”

“ได้” หลวงพ่อรับคำ “ข้อสำคัญต้องละบาปบำเพ็ญบุญจริง ๆ ก็แล้วกัน”

“นิมนต์อาจารย์เทศน์โปรดผมด้วย” นายหนูอ่อนข้อลง

“คนเห็นผิดอย่างนี้โปรดไม่ได้” หลวงพ่อเมิน

“คนในโลกนี้ใครล่ะจะมีวิชาความรู้ เป็นเลิศกว่าคนทั้งมวล พระพุทธเจ้าใช่ไหมครับ ถ้าพระพุทธเจ้าเลิศจริง ประเสริฐจริง อาจารย์เป็นศิษย์พระพุทธเจ้าต้องเทศน์โปรดผมได้ ผมเป็นศิษย์พระยามาร แต่ศิษย์พระพุทธเจ้าเทศน์โปรดไม่ได้ พระพุทธเจ้าก็โง่กว่าพระยามารน่ะซี่”

หลวงพ่อนั่งอยู่ครู่หนึ่งจึงกล่าวว่า

“งั้นจงตั้งใจฟังธรรมสักสองข้อ”

“เชิญเลยครับ”

“เรื่องที่ครูบาอาจารย์สอนมาทั้งหมดนั้นไม่เชื่อใช่ไหม”

“ ใช่ ครับ

“โยมเป็นช่างไม้ใช่ไหม”

“ ใช่ ครับ

“เคยตัดไม้ผิดไหม”

“เคยครับ”

“เรื่องทั้งหมดที่ผ่านมาเคยคิดถูกทำถูกหมด หรือว่าเคยคิดผิดทำผิดเหมือนกัน”

“ถูกก็มีผิดก็มี”

“ตนเองยังเชื่อไม่ได้เสียแล้ว เพราะมันยังสามารถพาให้ทำผิดคิดผิด พูดผิดก็ได้ นี่เป็นข้อที่ 1 ” หลวงพ่อกล่าว

“ต่อไปข้อที่ 2 อย่าเป็นคนคิดมาก พูดมากเท่านั้นแหละ”

ปีนั้นทั้งปี นายหนูไม่เคยมากราบหลวงพ่อชาอีกเลย แต่คำพูดของหลวงพ่อกลับเหมือนคำสาป คอยสะกิดใจนายหนูอยู่ตลอดทั้งปี เรื่องความคิดที่ถูกห้ามเอาไว้ ก็ยังคงเผลอคิดไปเรื่อยไม่มีทางจะสิ้นสุดลงได้เลย เป็นเหตุให้ตามเห็นความคิดของตนเองตลอดมา

ปีที่ 3 พ.ศ. 2500 นายหนูกลับมาหาหลวงพ่อชาและถามว่า

“การเข้าถึงพระรัตนตรัยจะต้องทำอย่างไร”

“ไม่ยาก ไปหาดอกไม้ธูปเทียนมาบูชาและกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณจะเข้าถึงพระรัตนตรัย รับศีล 5 ไปปฏิบัติ เลิกมงคลตื่นข่าว จะเชื่ออะไรต้องเชื่ออย่างมีเหตุผล ไม่เชื่องมงาย และให้ละทิฏฐิมานะออกเสียด้วย”

คืนวันนั้น หลวงพ่อได้เทศน์โปรดนายหนูจนเที่ยงคืนตรง

เลิกเทศน์แล้วหลวงพ่อก็ให้นายหนูไปนอนที่ใต้ต้นไม้กลางลานวัด ที่นั่นมีแคร่ไม้ไผ่อยู่อันหนึ่ง

รุ่งเช้าหลวงพ่อถามว่า

“เป็นไงนอนสบายดีไหม”

“ไม่เป็นอันนอนทั้งคืนเลยครับ”

“ทำไมล่ะ”

“ผมฝันคล้าย ๆ กับว่า อาจารย์ทำให้แคร่ผมลอยไปทั่วทั้งบริเวณวัด ลอยไปไม่มีที่จะวางแคร่ลงได้ พอวางลง ก็วางบนตัวสามเณร มองเห็นสามเณรนอนอยู่ใต้แคร่ ต่อมาก็คันคายไปทั้งตัวไม่เป็นอันหลับอันนอน”

“เอาเถอะ จะนอนบนหัวสามเณรก็ตามใจ” หลวงพ่อว่า

นายหนูฟังแล้วก็งง ๆ

ต่อมาอีก 5-6 วัน ในบ้านของนายหนูก็หาความสุขไม่ได้ทั้งลูกทั้งเมีย ดูร้อนรุ่มทุรนทุรายโดยไม่รู้สาเหตุ วัวควายใต้ถุนบ้านก็แตกตื่นตกใจอะไรไม่ทราบ เป็นเรื่องวุ่นวายแปลก ๆ ที่หาเหตุไม่พบ

แต่เนื่องจากว่านายหนูเป็นคนเรียนวิชาอาคม ที่เรียกว่าวิชานอก หรือเดรัจฉานวิชามาโดยตลอด ดังนั้นบรรดาญาติพี่น้องของนายหนู จึงลงความเห็นว่า ที่มีเหตุวุ่นวายยุ่งเหยิงหาความสุขสงบไม่ได้อย่างเมื่อก่อนนั้น เป็นเพราะนายหนูไปเรียนวิชาอาคมมาจากหลวงพ่อชา

“ไม่ได้เรี๊ยน ไม่ได้เรียน” นายหนูเถียง

“อ้าว งั้นทำไมมันร้อนกันทั้งบ้านทั้งเรือนยังงี้เล่า”

“ฉันแค่รับศีลและรับเอาพระรัตนตรัยเท่านั้นเอง”

“นั่นแหละ เพราะอันนี้แน่ ๆ” ญาติของนายหนูสรุป

“เลิกเสียนะที่รับมาน่ะ เอาไปคืนท่านซะ”

แต่นายหนูไม่คืนศีล 5 และพระรัตนตรัย ตั้งใจมั่นคงเด็ดเดี่ยวจะถือต่อไปไม่สิ้นสุด

ไม่ช้าเรื่องร้อนรนวุ่นวายก็ค่อยหายไป ความสุขสงบก็กลับคืนมาสู่บ้านอีกครั้งหนึ่ง

ทำไมจึงมีเรื่องเช่นนี้เกิด

ผมมีทางอธิบายได้ทางเดียวว่า เดิมนายหนูเป็นคนมีวิชาอาคม เรียกอย่างชาวบ้านก็คือ “เล่นของ” เมื่อนายหนูรับเอาของใหม่เข้ามายึดถือ ซึ่งก็คือพระรัตนตรัยและศีล 5 ของเก่าก็เกิดแรงต้าน ไม่ว่าจะเป็นวัตถุสิ่งของอะไรก็ตาม ที่สำเร็จฤทธิ์โดยวิชานอกพระพุทธศาสนา ซึ่งนายหนูนำเข้ามากราบไหว้บูชาในบ้านก็ล้วนแต่ออกแรงออกฤทธิ์ต้านทั้งนั้น เลยเป็นเรื่องร้อนรนวุ่นวายในบ้านไปพักหนึ่ง แต่ในที่สุดของเก่าเหล่านั้นก็เสื่อมไป เรื่องก็กลับมาสงบสุขเหมือนเดิม

ผมเคยถามหลวงปู่อีกองค์หนึ่งที่ผมเคารพยิ่งเท่า ๆ กับหลวงพ่อชาว่า

“วัตถุมงคลของครูบาอาจารย์องค์หนึ่ง เอาไปถวายให้อีกองค์เป่าช้ำเข้าไป พุทธคุณเดิมจะเปลี่ยนไปหรือไม่อย่างไร”

“ไม่เปลี่ยน”

“แล้วอย่างที่ผมมักได้ยินว่าวัตถุมงคลนั้นอ่อนกว่านี้หรือแรงกว่าโน้นล่ะครับ”

“อันนี้ขึ้นอยู่กับพลังจิตของผู้อธิษฐานวัตถุมงคลนั้น ๆ ให้เป็นมงคล” หลวงปู่ว่า

“ดูกระโถนใบนี้สิ ถ้าน้ำยังไม่เต็มก็สามารถเติมน้ำให้เต็มได้ แต่ถ้าน้ำเต็มกระโถนอยู่แล้ว น้ำใหม่ที่เติมเข้าไปจะล้นออกมาเปียกสิ่งของอื่น ๆ ภายนอกกระโถน จิตของพระอรหันต์เท่านั้นที่เต็มเปี่ยมอยู่อย่างนั้น ไม่มีเกินกว่าหรือน้อยกว่า เมตตาที่ล้นออกจากกระโถนก็จะแผ่ไปถึงสรรพสัตว์ทั้งหลายไปเอง ข้อที่ว่าเมื่อเสกช้ำลงไปแล้วจะเปลี่ยนหรือไม่นั้น ถ้าเป็นพุทธคุณแล้วไม่เปลี่ยน แต่ว่าเป็นวิชานอกหรือเดรัจฉานวิชาแล้วจะเปลี่ยนทันทีเมื่อพบพุทธคุณ”

ผมคิดว่าคำอธิบายนี้คงใช้ได้สำหรับกรณียุ่งเหยิงอลหม่านในบ้านนายหนูที่ได้เกิดขึ้นดังกล่าวมา

อย่างไรก็ตาม นายหนูนอกจากจะไม่เลิกเข้าถึงพระรัตนตรัยและถือศีล 5 แล้ว ยังเพียรปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง และประพฤติปฏิบัติเช่นนี้มาตลอดจนทุกวันนี้

แต่เดิมเรียกว่า “หนูผี” พอมาคลุกคลีกับวัดก็เป็น “หนูดี” ต่อมาได้เป็นคนดูแลจัดการเรื่องการก่อสร้างในวัดก็เป็น “หนูสร้าง”

จากปฏิปักษ์มาเป็นผู้พิทักษ์

ไม่อาจบอกได้หรือวัดใจกันได้ ว่านายหนูรักและศรัทธาหลวงพ่อชาน้อยกว่าคนอื่นหรือเปล่า