#echo banner="" กำเนิดวัด พระโพธิญาณเถร

กำเนิดวัด

จากหนังสือ บุญญฤทธิ์ พระโพธิญาณเถร

หลวงพ่อชา สุภทฺโท วัดหนองป่าพง

อำพล เจน บรรณาธิการ

เป็นเวลา 36 ปีมาแล้วที่วัดหนองป่าพงถือกำเนิดมาและสามารถดำรงสภาพความเป็นงาไม้ทีสมบูรณ์มาได้โดยตลอดนั่นเพราะเหตุว่าพระสงฆ์เป็นผู้ซื่อตรงต่อพระวินัยบัญญัติ

ภูตคามข้อที่ 1 ภิกษุพรากของเขียวซึ่งเกิดอยู่กับที่ ให้หลุดจากที่ ต้องปาจิตตีย์ พระสงฆ์จึงเป็นเสมือนพนักงานรักษาป่าไม้ผู้เคร่งครัด ที่กรมป่าไม้ไม่ต้องจ่ายเงินเดือน

อาจมีคำถามว่า ก่อนหน้านั้นป่าแห่งนี้ได้ถูกล้อมกรอบด้วยหมู่บ้านใหญ่น้อยมาเนิ่นนานหลายสิบปีแล้ว แต่ทำไม หรือด้วยอะไร จึงสามารถรอดพ้นการทำลายมาได้อย่างปลอดภัย

คำตอบดูจะเป็นเรื่องเหลวไหล แต่มันเป็นความจริงสำหรับการอนุรักษ์ป่าแห่งนี้เอาไว้ตลอดมา

ไม่อาจบอกได้ว่า ความหวาดกลัวที่มีต่อป่าแห่งนี้ ได้ครองหัวใจชาวบ้านทั้งหลายมานานเท่าใด ความกลัวในสิ่งที่พิสูจน์ได้ยาก ทำให้พวกเขาไม่นึกอยากกล้ำกรายใกล้ป่าแห่งนี้โดยไม่จำเป็น มันเป็นที่ซ่อนความลี้ลับ ซึ่งหลายคนได้เสียชีวิตไป ภายหลังจากพยายามจะเปิดเผยอะไรบางอย่าง ที่ซ่อนเร้นอยู่ในนั้นออกมา ทั้งโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม

แต่ความหวาดกลัวที่คล้ายจะเป็นสีลลัพพตปรามาส หรือไม่เป็นก็ได้ ทั้งสองอย่างนี้ ได้กลายเป็นเครื่องมือวิเศษสุดในการป้องกันและรักษาป่าไม้แห่งนี้เอาไว้จนวันพระอาจารย์ชามาถึง

“ที่นี่เป็นป่าที่ไม่มีประชาชนเข้ามา เพราะกลัวกันมาก” พระอาจารย์ชากล่าว

“ป่านี้เป็นป่าที่เรียกว่าร้ายที่สุด ทำอะไรได้ยาก เคยมีชาวบ้านผึ้งและบ้านบกเข้ามาทำไร่ แล้วตายกันไป ยังมีร่องรอยของพวกมันแกว มันสำปะหลังหลงเหลืออยู่เยอะแยะ แต่ไม่มีใครกล้าเข้ามาเอา เพราะฉะนั้นป่านี้จึงยังเหลืออยู่ สมัยที่อาตมาเพิ่งเข้ามาถึง ป่านี้รกมาก ไม่มีแม้ที่ว่างพอจะวางบาตร”

ประวัติศาสตร์ของวัดหนองป่าพง เปิดหน้าแรกขึ้นในตอนบ่ายของวันที่ 8 มีนาคม พุทธศักราช 2497 พระอาจารย์ชา สุภัทโท ได้เดินทางมาถึงป่าพงแห่งนี้ และนั่นคือนิมิตสำคัญในการเปลี่ยนแปลงป่าที่ร้ายกาจน่ากลัว ให้กลายเป็นป่าที่แสนอบอุ่นปลอดภัย

พระอาจารย์ชาเข้าสู่ใจกลางป่าอย่างยากลำบาก เนื่องจากหาทางเดินเท้าของชาวบ้านป่าไม่พบ เพราะเหตุว่าไม่มีผู้คนเข้ามาแสวงหาของป่าหรือใช้ประโยชน์จากป่าแห่งนี้เนิ่นนานแล้ว ที่นี่ได้ชื่อว่าเป็นสถานที่ต้องห้าม สำหรับชาวบ้านทุกหมู่บ้านใกล้เคียง พวกเขาเชื่อว่ามีภูตผีปิศาจวิญญาณอันชั่วร้ายสิงสถิตอยู่ และคอยจ้องทำร้ายทุกคนที่ละเมิดอาณาเขต ไม่ว่าด้วยเหตุใดก็ตาม การเดินทางเข้าสู่ภายใน จำเป็นต้องฝ่าพงหนามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ช่องทางใดที่พอจะวางเท้าลงได้ พระอาจารย์ชาจะมุดเข้าไป เพื่อให้พบสถานที่ปลอดเปลี่ยวผู้คนอย่างแท้จริงสำหรับปักกลดบำเพ็ญเพียร

หลายวันต่อมา พวกชาวบ้านทราบข่าวว่า ป่าที่พวกเขาหวาดกลัวได้มีพระสงฆ์เข้าไปอาศัยอยู่ พวกเขาสงสัยว่าพระสงฆ์รูปนี้กล้าดีอย่างไร และมีดีอะไร จึงสามารถอยู่ได้โดยไม่เกิดอันตราย พวกเขาประชุมผู้กล้าหาญได้หมู่หนึ่ง แล้วชวนกันเข้าไปสืบสวนดู และพบว่าพระสงฆ์รูปนี้มีเพียงจีวรสีแก่นขนุนเป็นเกราะกันภัย และมีพระธรรมเป็นอาวุธ สู้กับอาถรรพณ์ของป่าที่พวกเขาแพ้ราบคาบมาโดยตลอดเท่านั้น

พระธรรมที่พระอาจารย์ชาได้มอบให้ชาวบ้านกลุ่มแรกไว้ เป็นอาวุธสู้ความกลัว ได้แพร่หลายออกไปถึงคนอื่นๆ อย่างรวดเร็วและในไม่ช้าพระธรรมได้บันดาลให้ป่าพงแห่งนี้สิ้นความน่ากลัว

เกิดกุฏิที่พักสงฆ์ เกิดศาลาโรงธรรมหลังเล็ก ๆ ขึ้นเกิดพระสงฆ์และสามเณรทางไกลและที่เป็นลูกหลานชาวบ้านแถบนั้นขึ้น เกิดความตื่นตัวในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้าและแพร่ขยายเป็นวงกว้างออกไปอย่างไร้ขอบเขต

ถึงปัจจุบันนี้ ป่าที่เคยน่ากลัวได้กลายเป็นวัดยิ่งใหญ่ มีสำนักสาขาอยู่ทั่วไปทั้งในและนอกประเทศไม่น้อยกว่า 82 สาขา ทุกสาขาขึ้นตรงต่อวัดหนองป่าพง ซึ่งมีพระอาจารย์ชาเป็นประธานสงฆ์แต่ผู้เดียว

พระอาจารย์ชาเป็นใคร อะไรคือสาเหตุในการเดินทางมาที่นี่ ?

แท้จริงแล้วพระอาจารย์ชาไม่ได้เป็นคนแปลกหน้าสำหรับที่นี่ ครอบครัวของท่านคือชาวบ้านจิกก่อ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากป่าแห่งนี้ เป็นหนึ่งในหมู่บ้านทั้งหมดที่รับรสแห่งความกลัวเอาไว้ด้วยอย่างเต็มเปี่ยม หลายปีที่พระอาจารย์ชาครองผ้าเหลืองออกไปจากบ้านเกิด เพื่อแสวงโมกขธรรม ก็อาจเป็นสิ่งที่ใครต่อใครคาดไม่ถึงว่าท่านจะกลับมาที่นี่เพื่อทำลายความหวาดกลัวจนสิ้นไป

พระอาจารย์ชาเกิดในตระกูลช่วงโชติ เป็นบุตรคนที่ 5 ของ นายมาและนางพิมพ์ ช่วงโชติ เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2461 ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 7 ปีมะเมีย ที่บ้านจิกก่อ หมู่ 9 ตำบลธาตุ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ออกบรรพชา เป็นสามเณรในปี 2474 ขณะอายุได้ 13 ปี อีกแปดปีต่อมาได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2482 เวลา 13.55 น. ญัตติมหานิกาย

ระหว่างปี 2486 ก่อนโยมพ่อจะกาลมรณกรรมได้กล่าวกับภิกษุผู้เป็นบุตรว่า

“อย่าสึกนะ อยู่เป็นพระอย่างนี้ดีแล้ว สึกออกมาจะหาความสบายไม่ได้ มันยุ่งยาก”

 “ไม่สึกหรอก จะสึกทำไม” พระอาจารย์ขาตอบรับ

หลังจากนั้นพระอาจารย์ชาได้อยู่ในเพศบรรพชิตมาโดยตลอดจนทุกวันนี้ 13 ปีเท่านั้นที่อยู่ในเพศฆราวาส ที่เหลือคือเวลาทั้งหมดที่ท่านอุทิศให้พระพุทธศาสนา ถึงบัดนี้ได้ 59 ปีเต็มในผ้าเหลือง

ออกจะเป็นเรื่องเหลือเชื่อ เมื่อได้ทราบความจริงว่า พระอาจารย์ใหญ่แห่งวัดหนองป่าพงท่านนี้ เป็นผู้มีความรู้ในทางโลกเพียงแค่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และเป็นนักศึกษาพระปริยัติธรรมระดับนักธรรมเอก แต่กลับมีลูกศิษย์ที่ทรงภูมิความรู้แห่งบัณฑิตและมหาบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั้งในและนอกประเทศอย่างมากมาย

ลูกศิษย์รูปหนึ่งชื่อ พระอาจารย์โรเบิร์ต สุเมโธ ภิกษุชาวอเมริกัน สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท สาขาประวัติศาสตร์เอเซียตะวันออกไกล ปัจจุบันคือเจ้าอาวาสวัดอมราวดี เกรทแกดเดสเดน, เฮเมล เฮมพสเตด หนึ่งในสาขาทั้งสี่ของวัดหนองป่าพงประจำประเทศอังกฤษ

“ท่านอยากมาอยู่กับผมก็ได้ แต่ผมไม่มีอะไรเป็นพิเศษให้ จะต้องอยู่ปฏิบัติทำกิจวัตรเหมือนกันหมด แม้แต่เรื่องอาหาร ก็ต้องเป็นไปตามสภาพที่มีอยู่ ถ้าหากว่าผมจะพยายามจัดหาให้ก็พอหาได้อยู่หรอก แต่ท่านจะโง่...จะไม่รู้จักเข้าใจในในกิจวัตร ระเบียบประเพณีแห่งข้อวัตรปฏิบัติที่พวกผมพากันทำอยู่”

พระอาจารย์ชากล่าวต้อนรับภิกษุอเมริกันอย่างง่าย ๆ ในวันแรกที่ได้พบกันระหว่างฤดูแล้งปีพ.ศ. 2510

“อาตมาเคยเป็นคนดื้อรั้น” พระอาจารย์โรเบิร์ต สุเมโธ อธิบาย

“อาตมานึกจะทำอะไรก็ได้ตามชอบ เมื่อมาอยู่วัดหนองป่าพงต้องมีเหตุตรงกันข้ามหมดเลย อาตมาต้องทำตามระเบียบวินัยไม่มีสิทธิ ไม่มีอำนาจ ต้องปฏิบัติเหมือนกันหมด เป็นความเสมอภาคตรงกับใจอาตมา ป่าพงดัดนิสัยของคนมีทิฏฐิมานะให้อ่อนโยนลงได้อย่างน่าอัศจรรย์จริง ๆ อาตมาไม่รังเกียจที่จะเชื่อฟังพระอาจารย์ชา เพราะว่าอาตมามีความเคารพรักท่านมาก ท่านเป็นเหมือนพ่อ ที่ได้ฉุดลากอาตมาให้ได้พบกับแสงสว่างในชีวิต คือความสงบและความสุขอย่างถาวร”

ความรู้ทั้งหลายของพระอาจารย์ชาที่ได้อบรมสั่งสอนและถ่ายทอดให้แก่ทุกคนนั้น ท่านได้มาอย่างไร จากที่ไหน

“ครั้งแรกนั้นอาตมาเดินออกไปสองคน” พระอาจารย์ชาเล่า

พระถวัลย์

ญาณจารี

“ไปกับพระมหาถวัลย์ (ญาณจารี) ที่เรียกกันว่ามหาสา แต่เดิมท่านยังไม่เป็นเปรียญ พอเรียนหนังสือไป ก็เปลี่ยนมาเป็นมหาถวัลย์ ท่านปฏิบัติครึ่ง ๆ กลาง ๆ ค่อนข้าจะหนักไปทางการศึกษาเล่าเรียนมาก เราแยกกันไปคนละทาง ท่านแยกออกไปทางปริยัติ อาตมาออกป่า ท่านตั้งใจเล่าเรียนจนถึงเปรียญ 8 ประโยค สอบประโยค 9 ไม่ได้ ก็วกมาเรียนอภิธรรม จนได้อภิธรรมบัณฑิต ทุกวันนี้อยู่วัดระฆังฯ ในกรุงเทพฯ เป็นอาจารย์อภิธรรม แต่ท่านยังสอบอยู่เรื่อยมา ปี 2521 ก็สอบประโยค 9 ได้ การศึกษาของท่านนั้นมีใบประกาศนียบัตร มียี่ห้อ แต่อาตมาไม่มีอะไร ไม่มียี่ห้อ มันเรียนนอกแบบเขา คิดไปทำไปอยู่เรื่อยมา โดยไม่มียี่ห้อกับเขา”

จุดเปลี่ยนที่สำคัญในทางการศึกษาหาความรู้ของพระอาจารย์ชามีขึ้นในระหว่างปี พ.ศ. 2487 ขณะพำนักที่วัดหนองหลัก ต.เหล่าบก อ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลฯ ซึ่งเป็นสำนักศึกษาทางพระปริยัติธรรมของท่าน

ในปีนั้นพระอาจารย์ชาเกิดความเบื่อหน่ายการเรียนการสอนอย่างระงับไม่ได้ ภิกษุสามเณรร่วมสถานศึกษาไม่เอาใจใส่ ไม่เคารพในการเรียนอย่างแท้จริง เรียนพอเป็นพิธีไปอย่างนั้น หนังสือธรรมบทก็แปลจบได้หลายเล่ม ไม่เห็นว่าจะเป็นทางพ้นทุกข์ไปได้ พระพุทธองค์คงไม่มีพระพุทธประสงค์ให้บวชมาเพื่อเรียนอย่างเดียว และท่านก็ได้เรียนมามากพอแล้ว จึงคิดอยากศึกษาทางปฏิบัติดูบ้าง แต่ยังต้องหาครูบาอาจารย์ผู้พอจะเป็นที่พึ่งไม่พบ

อย่างไรก็ตาม เมื่อพระอาจารย์ชาตัดสินใจเลือกทางเดินสายใหม่ สายปฏิบัติ ท่านก็ได้เริ่มหว่านเมล็ดพืชแห่งการปฏิบัติเมล็ดแรก ด้วยการออกเดินธุดงค์ไปอย่างไม่มีจุดหมายแน่ชัด

หลวงปู่เภา พุทธสโร

วัดเขาวงกฏ ลพบุรี

ปีพ.ศ. 2489 พรรษาที่ 8 พระอาจารย์ชากับพระมหาถวัลย์ธุดงค์สู่เขาวงกฏ จ.ลพบุรี ซึ่งเป็นสำนักของหลวงพ่อเภา แต่หลวงพ่อเภาได้ถึงแก่มรณะก่อนหน้าไปแล้ว ครูบาอาจารย์ที่มุ่งหวังเอาไว้หายตัวไปไม่กลับ คงได้เพียงศึกษาข้อวัตรปฏิบัติเดิมของหลวงพ่อเภาจากพระอาจารย์วรรณผู้เป็นศิษย์อยู่ดูแลเขาวงกฏแทน

ภิกษุชาวเขมรรูปหนึ่งซึ่งพำนักอยู่บนเขาวงกฏ เป็นผู้เชี่ยวชาญทางพระไตรปิฎกและพระวินัยท่านเดินทางมาจากประเทศกัมพูชาเพื่อจะสอบทานพระไตรปิฎกของไทย และท่านได้เล่าให้พระอาจารย์ชาฟังว่า คำแปลของไทยในหนังสือนวโกวาทยังมีที่ผิดพลาดอยู่บ้าง คงหมายจะย้ำพระพุทธพจน์ที่ว่า แม้ตำราก็ยังไม่อาจเชื่อได้ นั่นคือ

“อย่าเชื่อเพราะว่ามีอยู่ในตำรา”

ภิกษุเขมรได้บอกพระวินัยแก่พระอาจารย์ชาเพื่อให้นำกลับไปรักษาปฏิบัติให้ถึงความบริสุทธิ์แห่งสมณะ โดยความเพียรอันน่าสรรเสริญตลอดเวลาที่พระอาจารย์ชาพำนักอยู่ด้วยกันที่นั่น

คืนหนึ่งประมาณ 22.00 น. พระอาจารย์ชาบำเพ็ญเพียรตามลำพังอยู่หลังเขา ขณะนั้นท่านได้ยินเสียงฝีเท้าของอะไรบางอย่างที่ยังไม่ทราบชัด ย่ำใบไม้แห้งดังกรอบแกรบใกล้เข้ามา

เจ้าของเสียงย่ำเท้าคือพระภิกษุเขมรรูปนั้นนั่นเอง

ท่านอาจารย์มาดึกดื่นอย่างนี้ มีธุระอะไรหรือครับ” พระอาจารย์ชา ถาม

“ผมบอกวินัยแก่ท่านผิดไปข้อหนึ่ง” ภิกษุชาวเขมรตอบ

“ไม่ควรลำบากถึงเพียงนี้เลย ไฟส่องทางก็ไม่มี เอาไว้พรุ่งนี้ค่อยบอกผมก็ได้” พระอาจารย์ชากล่าวอย่างจริงใจ

“ไม่ได้หรอก” ภิกษุชาวเขมรปฏิเสธ “ถ้าผมตายในคืนนี้ ท่านจะต้องจำพระวินัยข้อที่ผิดไปสอนคนอื่น ๆ ผิดไปด้วย จะเป็นบาปกรรมแก่ตัวผมเปล่า ๆ”

ไม่เพียงจะเป็นครูสอนพระวินัยเท่านั้น ภิกษุเขมรรูปนี้ยังสอนวิชาแห่งความเป็นครู สอนวิญญาณครู ความรับผิดชอบของผู้เป็นครูให้แก่พระอาจารย์อีกด้วย

ความรู้เช่นนี้ไม่มีสอนในโรงเรียน มันเป็นวิชาเฉพาะตน เฉพาะกิจ เฉพาะกาล บนเขามืดกลางฟ้าสกาวและแสงดาว

พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตะ

ในที่สุด จุดแปรที่สำคัญก็มาถึง นั่นคือชื่อของพระอาจารย์ใหญ่สายวิปัสสนาธุระ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตะ ก็ปรากฏขึ้นในระหว่างที่พระอาจารย์ชายังคงพำนักบนเขาวงกฏ ขจรไกลแห่งความเป็นอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านปฏิบัติ ฉุดใจพระอาจารย์ชาไปจรดจ่อที่พระอาจารย์มั่นอย่างมั่นคง

ไม่มีอะไรจะเปลี่ยนใจพระอาจารย์ชาได้อีกแล้ว

พระอาจารย์ชากับพระมหาถวัลย์ตกลงใจแยกทางเดินกันตรงนี้ พระมหาถวัลย์เข้ากรุงเทพฯ ศึกษาพระปริยัติธรรม พระอาจารย์ชาไปสกลนคร

เมื่อพระอาจารย์ชาเดินทางถึงวัดหนองผือนาใน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ระหว่างปี 2490 เพื่อกราบนมัสการพระอาจารย์มั่น ที่นั่น ชีวิตของพระนักปฏิบัติก็เริ่มต้นขึ้นอย่างจริงจัง

การศึกษาในเส้นทางสายปฏิบัติของพระอาจารย์มั่น มุ่งตรงเข้าสู่ภายในจิตของตน ปฏิบัติที่จิตตัวเดียว เพื่อให้หลุดพ้นจากกิเลสอย่างสิ้นเชิง โดยมีพระนิพพานเป็นรางวัลอันยิ่งใหญ่

จิตดวงเดียวเท่านั้น จึงทำให้ธรรมยุติและมหานิกายไร้ความ สำคัญ

“ไม่ต้องสงสัยในนิกายทั้งสอง” พระอาจารย์มั่นบอก

ไม่มีอะไรเป็นอุปสรรคสำหรับพระอาจารย์มั่น ญัตติธรรมยุติและพระอาจารย์ชาผู้เป็นศิษย์ญัตติมหานิกาย เพราะว่าพระนิพพานไม่มีนิกาย

พระอาจารย์ชาเล่าว่า เมื่อได้ฟังเทศน์จากพระอาจารย์มั่นแล้ว ความเมื่อยล้าดูเหมือนหายไปเป็นปลิดทิ้ง จิตรวมลงสู่สมาธิธรรมด้วยความสงบ ประหนึ่งร่างกายลอยพ้นอาสนะอย่างไร้น้ำหนัก พระอาจารย์มั่นแสดงปกิณกะธรรมต่าง ๆ จนจิตคลายความสงสัย เกิดความรู้สึกที่ยากจะบอกใคร ๆ ให้เข้าใจได้

วินาทีนั้น ทางสายปฏิบัติเปิดทางโล่ง พระอาจารย์ชาไม่เคยเดินออกนอกทางสายนี้ จนบัดนี้

3 วันที่รับการอบรมสั่งสอนจากพระอาจารย์มั่น ภูริมัตตะ ในวัดหนองผือ นาใน อาจดูน้อยเกินไปหรือมากเกินพอก็เป็นได้ทั้งสองอย่าง แต่สามวันนั้นได้แตกแขนงออกมาได้อีกหลายสิบปี และดำรงอยู่ชั่วชีวิตของพระอาจารย์ชา

มีป่าเป็นที่อยู่อาศัย มีป่าช้าเป็นที่บำเพ็ญเพียร มีภูเขาโตรกธารและถ้ำลึกเป็นที่ฝึกความอดทน ทิ้งบ้าน ทิ้งยศศักดิ์และทรัพย์สมบัติ ไม่อาวรณ์ ไม่เหลือเยือใยให้เครื่องพันธนาการทั้งหลายเหล่านี้ ที่ถะถั่งเข้ามาเต็มจิตเต็มใจคือความแข็งขันในการปฏิบัติและความบริสุทธิ์แห่งศีล นี่คือทรัพย์สมบัติอันชอบธรรมของนักปฏิบัติอย่างแท้จริง

“พูดถึงการสังวรระวังเรื่องศีลแล้ว” พระอาจารย์ชาเล่า

“เมื่อคราวออกปฏิบัติไปลำพังคนเดียวมีความหวาดกลัวต่ออาบัติมาก ออกปฏิบัติครั้งแรกมีเข็มเล่มเดียวคด ๆ งอ ๆ ต้องคอยระวังกลัวมันจะหัก ถ้าหักแล้วจะไปขอใครที่ไหน ไม่มีญาติพี่น้องอยู่ใกล้ ๆ ด้ายก็ไม่มีต้องเอาเส้นไหมสำหรับจูงผีขวั้นเป็นเส้นแล้วห่อรวมไว้กับเข็ม ผ้าเก่า ขาดไปก็ไม่ยอมขอใคร ชักบังสุกุลเอาผ้าเช็ดเท้าตามศาลาวัดชนบทที่ธุดงค์ผ่าน เอามาปะสบงจีวรที่ขาด เตือนตนเอง อยู่เสมอว่า ถ้าไม่มีใครถวายด้วยศรัทธา อย่าขอเขา ให้มันเปลือยกายไปเถิด เราเกิดมาทีแรกก็ไม่มีผ้าพันกาย จึงเป็นเหตุให้พอใจในบริขารที่มี เป็นการห้ามความทะยานอยากในบริขารใหม่ได้เป็นอย่างดี”

หลวงพ่อชาและหลวงปู่กินรี จนฺทิโย

พรรษาที่ 9 ระหว่างปลายปี 2490 ปีเดียวกับที่พระอาจารย์ชารับการอบรมพระธรรมจากพระอาจารย์มั่น พระอาจารย์ชาได้เดินทางถึงวัดหนองฮี อ.ปลาปาก จ. นครพนม ที่นี่คือสำนักของ หลวงปู่กินรี จนฺทิโย ซึ่งได้กลายเป็นครูบาอาจารย์องค์สำคัญอีกองค์หนึ่งของพระอาจารย์ชา

พระอาจารย์มั่นให้ความรู้ในทางปฏิบัติที่ตรง  หลวงปู่กินรีเป็นผู้ตอกเข้าไปอีกจนแน่น

ตลอดพรรษาที่พระอาจารย์ชาพำนักอยู่ที่นี่ ได้รับการสงเคราะห์จากหลวงปู่กินรีอย่างยิ่ง หลวงปูกินรีซุ่มเย็บผ้าจีวรทอจากฝ้ายพื้นเมืองอยู่หลายวันจนเสร็จ และจีวรผืนนั้นคือของกำนัลที่หลวงปู่กินรีมอบให้พระอาจารย์ชาผู้ครองจีวรขาดวิ่น

เมึ่อถึงกาลที่จะต้องกราบลาหลวงปู่กินรีหลังผ่านพรรษาไปแล้วตามพระวินัย หลวงปู่กินรีเตือนพระอาจารย์ว่า

“ระวังให้ดี ถ้าท่านคิดถึงใคร ผู้นั้นจะให้โทษแก่ท่าน”

คำเตือนนี้เป็นอมตะวาจาที่พระอาจารย์ชาไม่เคยลืม

“คำเตือนของท่านสั้น ๆและห้วน” พระอาจารย์เล่า

“แม้นาน ๆ จะเตือนเสียทีหนึ่ง แต่มันเป็นสิ่งที่อาตมาไม่เคยคิดมาก่อนเลย อุปมาเหมือนแสงเทียนกับแสงจันทร์ที่ไม่มีวันจะส่องสว่างได้ทัดเทียมกัน ปัญญาความคิดของครูบาอาจารย์ผู้เฒ่าโบราณนั้น สอดส่องได้ลึกกว่า ไกลเกินปัญญาความคิดของคนชั้นลูกหลานเป็นไหน ๆ"

หลวงปู่กินรีเป็นครูบาอาจารย์ท่านหนึ่งที่พระอาจารย์ชาเคารพรักเป็นพิเศษ ตอนปลายชีวิตของหลวงปู่กินรีนั้น พระอาจารย์ชาได้ส่งลูกศิษย์จากสำนักวัดหนองป่าพง หมุนเวียนมาปรนนิบัติรับใช้หลวงปู่กินรีไม่ได้ขาด จนกระทั่งถึงวันที่ท่านสิ้นอายุขัย นี่คือกตัญญูกตเวทิตาของศิษย์ผู้ไม่มีวันลืมพระคุณของครูบาอาจารย์

วันเวลาทั้งมวลที่ผ่านไปหลายปี ได้ทุ่มเทความยากลำบากแสนสาหัสให้กับพระอาจารย์ชาทั้งกายและใจ แต่ในขณะเดียวกัน มันได้ให้รางวัลตอบแทนอย่างคุ้มค่า นั่นคือความอดทนเข้มแข็งทั้งกายใจและให้สัจธรรมที่แน่นแฟ้นไม่คลายแก่คนไกลบ้าน ผู้ไร้ทุกสิ่ง

นานแสนนานกับความเงียบหาย ประดุจนกนางนวลที่บินลับไปสุดปลายฟ้า แล้วไม่เคยบินย้อนกลับมา เป็นความทรมานใจของผู้เป็นแม่ประการหนึ่ง

ลูกเป็นสุขหรือทุกข์อย่างไร ลูกได้สิ่งที่มุ่งหวังแค่ไหน หรือยังโมกขธรรมอยู่ในมือแล้ว หรือว่ายังอยู่ไกลจนสุดเอื้อมมือถึง

ต้นมะม่วงป่า ๓ ต้นนี้ เป็นต้นกำเนิดตำนานธรรมหนองป่าพง ซึ่ง ๔๐ ปีต่อมา วัดหนองป่าพงจึงแตกสาขาออกมาเกือบ ๑๔๐ แห่งแล้ว

แม่พิมพ์ ช่วงโชติ ฟังข่าวสุดท้ายว่าพระอาจารย์ชาพำนักอยู่ที่ไหนได้แน่ชัดแล้ว จึงออกเดินทางพร้อมกับนายลา ช่วงโชติกับญาติสนิทอีก 5 คน ติดตามไปกราบพระอาจารย์ชาอย่างทันที

“ที่ท่านได้มาถึงวัดหนองป่าพงนี้ เพราะโยมแม่นิมนต์มา ท่านเป็นผู้อุปการะมาตั้งแต่เกิด ยังไม่มีอะไรจะตอบแทนท่านได้” พระอาจารย์กล่าว

“วัดหนองป่าพงนี้ ในสมัยโน้นอาตมายังเด็ก ได้ยินโยมพ่อเล่าให้ฟังว่า ท่านอาจารย์เสาร์ (กนฺตสีโล) ได้มาพักอยู่ที่นี่ โยมพ่อเคยมาฟังธรรมกับท่าน อาตมาเป็นเด็กยังจำได้ ความจำนี้มันติดอยู่ในใจตลอดมา นึกอยู่เสมอว่า ที่นี่มันเป็นบ้านร้าง ดูต้นมะม่วงใหญ่ ๆ เหล่านั้นสิ ของเก่าแก่ทั้งนั้น”

ต้นมะม่วงป่าสูงใหญ่ขนาดสองคนโอบสามต้น ปัจจุบันอยู่ข้างพระอุโบสถ ในอดีตเคยเป็นที่ผูกช้างป่าของควาญล่าช้าง และเป็นสถานที่แห่งแรกที่พระอาจารย์ชาวางบาตรลงแล้วปักกลดก่อนที่ป่าอันร้ายกาจจะสิ้นความน่ากลัว เป็นจุดกำเนิดวัดหนองป่าพงอย่างแท้จริง

พระอาจารย์ชากล่าว “โยมพ่อของอาตมาไม่ค่อยได้ศึกษาเท่าไหร่ มากราบพระอาจารย์เสาร์ พระกรรมฐาน มาดูท่านฉันจังหัน ใส่อาหารอะไร ๆ ลงในบาตรทั้งนั้น ทั้งข้าว ทั้งแกง ทั้งหวาน ทั้งคาว ใส่ลงในบาตรหมด โยมพ่อไม่เคยเห็น...นี่พระอะไรกัน”

“นี่แหละโยมพ่อเล่าให้ฟัง เขาเรียกว่าพระกรรมฐาน จะฟังเทศน์ก็ไม่ได้ฟัง มีแต่พูดโต้ง ๆ ออกมาเลย ไม่ได้ฟังเทศน์ ฟังแต่ท่านพูดนั้น...อันนั้นพระปฏิบัติเคยมาอาศัยอยู่ที่ป่าแห่งนี้”

พระอาจารย์ชาได้อธิบายต่อไปว่า เมื่อได้ออกปฏิบัติแล้วความรู้สึกอันนี้มีอยู่ในใจตลอดเวลา เมื่อหันหน้ากลับมาทางบ้านก็นึกถึงป่าแห่งนี้ จึงเข้ามาพักอยู่ใน

ป่าในทันทีที่เดินทางมาถึง

“ระยะหนึ่งท่านอาจารย์ดีกับเจ้าคุณชินฯ (ปัจจุบันคือพระภาวนาพิศาลเถระ หรือหลวงพ่อพุธ ฐานิโย วัดป่าแสนสำราญ) มหาพุธน่ะ ทั้งสองท่านมาที่นี่และชาวบ้านเขาพากันนิมนต์ให้ท่านอยู่ แต่อยู่ท่านอยู่ไม่ได้ ท่านอาจารย์ดีบอกว่าที่นี่ไม่ใช่ที่ของเรา เจ้าคุณชินฯ ก็บอกว่าเจ้าของที่อยู่นี้ ไม่นานท่านจะมาของท่านเอง เราอยู่ที่นี่ไม่ได้หรอก ประมาณ 3 ปี อาตมาก็มาอยู่ที่นี่”

พระอาจารย์ชาอธิบายต่อไปว่า

“เฉพาะวัดหนองป่าพงนี้ นับย้อนไปข้างหลังก็เป็นเวลาหลายสิบปี ที่พระสงฆ์กับญาติโยมทั้งหลาย มาร่วมมือร่วมใจกันประพฤติปฏิบัติ สมัยนั้นยังไม่มีพระสงฆ์มากมายอย่างทุกวันนี้ ทีแรกมีพระประมาณ 4-5 องค์ได้ เข้ามาตั้งการประพฤติปฏิบัติขึ้น ได้รับความลำบากสารพัดอย่าง ที่จะมองเห็นเป็นพยานได้ก็คือ ท่านอาจารย์เที่ยง (โชติธมฺโม) ท่านอาจารย์จันทร์ (อินฺทวีโร) ท่านอาจารย์ศรีนวล นี้เป็นผู้ติดตามมา

เมื่อมาพร้อมใจกันประพฤติปฏิบัติ จับมือกันปฏิบัติแล้วก็เห็นว่า พวกเราที่เป็นพุทธบริษัทนี้ มองดูมันย่อหย่อนในการประพฤติปฏิบัติ มองเข้าไปในวัดจะเห็นแต่กุฏิ เห็นแต่โบสถ์ เห็นแต่พระ แต่เรื่องที่เป็นหัวใจพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริงนั้นไม่มี

อาตมาเคยเล่าให้ฟังอยู่บ่อย ๆ ว่าเรื่องนี้เป็นเหตุให้สลดใจมาก ไม่รู้จะไปบอกกับใคร

ตั้งแต่เข้ามาถึงที่นี่ก็อยู่มาเรื่อย ๆ มาทำยังงี้ ไม่มีใครรู้เรื่อง ในการประพฤติปฏิบัติที่นี่ไม่มีใครรู้เรื่อง อาตมาก็อยู่ไปตามเรื่องเรื่อยไป อยู่ได้ปีเดียวก็มีพระตามมาอยู่ด้วย ท่านเที่ยงมา ศรีนวลมา จันทร์มา มาอยู่กันในป่าแห่งนี้ อยู่อย่างสงบยิ่ง

สมัยนั้นเป็นไข้แทบตาย ไม่เคยไปโรงพยาบาล ไม่มีที่พึ่งอื่นนอกจากบารมีธรรมของพระพุทธเจ้าของเรานั่นแหละ กลางคืนเงียบไม่มีใคร ถ้าเป็นไข้ก็เตรียมตัวเอาไว้ ไม่มีอะไรมาก ไม่มียา มีต้นบอระเพ็ดฉันเป็นพื้น ไม่ต้องคิดมาก คนทั้งวัดต้มต้นบอระเพ็ดฉันอยู่อย่างนั้น ไม่ไปขอใคร

ถ้าพระเป็นไข้มากก็บอกว่าอย่าไปกลัวมัน ถ้าตายจะเผาให้ เผาในป่านี่แหละ ไม่เอาไปที่ไหน พูดให้มีใจเข้มแข็งขึ้นมา

อด ๆ อยาก ๆ ญาติโยมไม่รู้จัก มีผู้เอาปลาร้าดิบมาถวาย ฉันไม่ได้ก็ปล่อยทิ้งไว้อย่างนั้น

สารพัดอย่างที่ยังมีพยานอยู่ ลำบากมาก แต่ว่าผลของการปฏิบัติยังเหลืออยู่มาจนทุกวันนี้ ก็เริ่มมาจากพระรุ่นนั้นสมัยนั้น ซึ่งก็มีท่านเที่ยง ท่านจันทร์ ท่านศรีนวล ปฏิบัติกันอยู่อย่างนี้เรื่อยมาตลอดทุกพรรษา

นั่งสมาธิกันในร่มไม้ นั่งแล้วก็ออกมาเทศน์ เทศน์แล้วกลับไปนั่งต่อ แล้วก็ออกมาเทศน์ และเดินจงกรม สลับไป หมุนเวียนไปอย่างนี้ตลอดฤดูแล้ง ไม่ต้องธุดงค์ไปไหน เพราะที่นี้มันเป็นป่าอยู่แล้ว

พระรุ่นนั้นยังเหลืออยู่ เป็นรุ่นที่อดทนมากที่สุด ได้เห็นต้นเห็นปลายมาด้วยกัน จะมองไปข้างหน้าข้างหลัง ก็รู้เรื่องกันพอสมควร

ระยะนั้นเราคาดไม่ถึง คาดไม่ได้ในความเป็นมาของเรา ไม่รู้จะพูดให้ใครฟัง ในเรื่องการปฏิบัติเข้มแข็งมาก อดทนกันได้โดยไม่บ่น ฉันข้าวเปล่า ๆ ก็ไม่มีใครบ่น อร่อยหรือไม่อร่อย...เงียบ...ไม่มีใครพูด

ท่านเที่ยงมาจากอยุธยา รับถวายกาแฟมาต้มฉันกันที่นี่ ฉันกาแฟเปล่า ๆ ไม่มีน้ำตาล ฉันกาแฟแท้ ๆ ไม่รู้จะไปขอน้ำตาลที่ไหน

เราเป็นผู้ที่คนอื่นเขาเลี้ยง ต้องเป็นคนเลี้ยงง่าย ไม่เป็นคนเลี้ยงยาก

อาตมายังนึกขันเลย ตอนแรก ๆ นั้นมีโยมพ่วงมาบวชที่นี่ ท่านเจ้าคุณวัดก่อน้อยให้มาอยู่ด้วย พอมาก็เตรียมน้ำตาล นม มามาก ๆ เพราะว่าจะต้องมาอยู่ในป่า เป็นพระกรรมฐาน ตอนเช้าจะได้ลุกขึ้นมาชงกาแฟฉันกันเสียก่อนแล้วค่อยไป พอมาถึงไม่เป็นอย่างนั้นเสียแล้ว ตอนเช้าต้องออกไปบิณฑบาตแต่มืด จะชงกาแฟอย่างไร ไม่มีใครทำถวาย เพราะว่าพระทำเองไม่ได้ ก็ทิ้งไว้อย่างนั้นแหละ ในที่สุดก็เทเข้าไปในโรงครัว

มาเห็นสภาพของวัด มาเห็นสภาพการประพฤติปฏิบัติของพระกรรมฐานแล้วสลดใจมาก

แต่คนแก่คนนี้ก็เป็นหลักสำคัญอันหนึ่ง ปีนั้นโยมพ่วงก็สึกออกไป เพราะภาระยังไม่เสร็จ

คนไม่เคยเห็นพระปฏิบัติไม่รู้เรื่อง ฉันมื้อเดียว ไม่รู้ว่าเจริญหรือเสื่อม มันเป็นของใหม่ บิณฑบาตได้ก็มาแบ่งกัน ฉันในบาตรนั่นแหละ ง่ายที่สุด ตอนเย็นมาก็เข้ากุฏิของใครของมัน

แม้แต่สุนัขก็ยังอยู่ด้วยไม่ได้ มันเห็นพระอยู่ที่นี่ ก็มาอยู่ด้วย แต่มันก็อยู่ไม่ไหว ตอนเช้ายังดีที่เจอพระบ้าง พอเห็นท่านก็เข้ากุฏิ สุนัขวิ่งตามองค์นี้ องค์นี้ก็ขึ้นกุฏิ วิ่งตามองค์โน้น องค์โน้นก็ขึ้นกุฏิ แต่ละกุฏิอยู่ในป่าห่างไกลกัน สุนัขมันกลัว ไม่ใคร ไม่มีคนให้มันเห็นเป็นเพื่อน ก็อยู่ไม่ได้และหนีไปในที่สุด

มาคิดดู เรานี่ก็เหลือเกินนะ แม้แต่สุนัขยังอยู่ด้วยไม่ได้

มาถึงสภาพปัจจุบันนี้ ย้อนมองไปข้างหลังแล้วมันไกลกันจริง ๆ ไกลมาก

อาตมาได้ฟังพระที่ไปเที่ยวธุดงค์มา เขาบอกว่าที่นั้นที่นี่มีอาหารอุดมสมบูรณ์ ไปทางทะเลปักษ์ใต้ ได้ฉันกุ้ง ฉันปลาทะเล

มันติดง่ายของพวกนี้

ใจมันล้มละลายไปทางส่วนนั้นโดยไม่รู้ใน รูป รส กลิ่น เสียงโผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์

ทิ้งการประพฤติปฏิบัติไปมันก็ยาก เมื่อครูบาอาจารย์จะสอนเข้ารูปเข้าแนวก็ยาก มันติดรสเสียแล้ว

เหมือนกับสุนัข เอาข้าวเปล่า ๆ ให้มันกินทุกวัน มันก็อ้วน แต่มาอีกวัน เอาแกงราดข้าวให้มันกินดูสิ สัก 2 จานเท่านั้นแหละ วันหลังเอาข้าวเปล่า ๆ ให้มันกิน มันไม่กินนะ แน่ะ...มันติดรสเสียแล้ว ติดง่ายเหลือเกิน

ในระยะ 20 กว่าปีมานี้ รู้สึกว่ามันหย่อนลง ไม่กล้าทำ ไม่กล้าปฏิบัติ กลัวมันจะเป็นอัตตกิลมถานุโยค

สมัยนั้นยังเอากันอยู่ อดอาหารคนละ 5 วัน 7 วัน ทรมานมันเรื่อยไป ดูจิตของเจ้าของ ถ้ามันดื้อก็เฆี่ยนมัน เพราะว่ากายกับจิตเป็นของคู่กัน สมัยนั้นเทศน์ให้กินน้อยนอนน้อย จะเข้าใจ เดี๋ยวนี้ชักไม่ถูกใจผู้ปฏิบัติเสียแล้ว

เราหามาเองด้วยความบริสุทธิ์ จะไปอดมันทำไม มันเป็นอัตตกิลมถานุโยคนะ ไม่ใช่ทางของพระพุทธเจ้าหรอก พูดคำเดียวคนทั้งวัดเชื่ออื้อ ๆ มันหิวนี่

เรื่องมันเป็นอยู่ในทำนองนี้ก็แก้ไขมาเรื่อย ๆ ตั้งแต่เริ่มต้นเป็นวัดหนองป่าพงมาจนทุกวันนี้

ฉะนั้นพวกเราทั้งหลายจึงเป็นผู้มีจิตใจเข้มแข็งขึ้น”

ก่อนจะมาเป็นวัดนั้นแสนยาก เมื่อเป็นวัดแล้วยากยิ่งกว่า และเมื่อจะให้เป็นวัดตัวอย่างแก่สำนักสาขาทั้งหลาย ยิ่งยากที่สุด

แต่ผลของการปฏิบัติแสดงตัวออกมาอย่างยิ่งใหญ่ เป็นผลที่ปรากฏอยู่ทั่วไปอย่างเงียบเชียบ ดูเหมือนว่าในวันนี้ วัดหนองป่าพงได้เป็นสำนักงานใหญ่ ที่มีสาขาใหญ่น้อยขึ้นตรงอย่างแน่ชัดแล้ว 89 แห่ง อยู่ในประเทศไทย 82 แห่ง ประเทศอังกฤษ 4 แห่งออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสวิสเซอร์แลนด์ ประเทศละ 1 แห่ง

...ยักษ์เงียบแห่งพระพุทธศาสนา