#echo banner="" ประวัติ หลวงปู่บัวพา ปญฺญาภาโส วัดป่าพระสถิตย์

ชีวประวัติ

หลวงปู่บัวพา ปัญญาภาโส ๑

วัดป่าพระสถิตย์ อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย

โดย กองทุนพลังชีวิต อาคมธรรมทาน

จัดพิมพ์เผยแผ่เป็นธรรมบรรณาการ ไม่มีจำหน่าย

ตามเจตนารมณ์ของ เรืออากาศตรี อาคม ทันนิเทศ

คำปรารภ

ก่อนอื่นที่ท่านผู้อ่าน จะได้รู้จะได้อ่านหนังสือชีวประวัติองค์หลวงปู่บัวพานี้ ข้าพเจ้าได้มีโอกาสเข้าไปมอบตัวเป็นลูกศิษย์ อยู่ศึกษากับองค์หลวงปู่อยู่ชั่วระยะหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้อยู่เป็นประจำเหมือนกับองค์อื่นๆ เคยได้อยู่ใกล้ชิดได้ฟังองค์ท่านเล่าความเป็นมาขององค์ท่านเมื่ออยู่กับองค์หลวงปู่เสาร์ ให้ได้ฟังอยู่บ่อยๆ แต่ก็ไม่ได้คิดว่าจะทำเป็นหนังสือขึ้นมา ได้แต่ทบทวนความจำเอาไว้เท่านั้น เพราะตัวข้าพเจ้ามีการศึกษาน้อย รู้ตัวเองว่าไม่มีสติปัญญาความสามารถที่จะทำเป็นหนังสือขึ้นมาได้

แต่พอเมื่อองค์หลวงปู่ได้ล่วงลับจากเราไปอย่างไม่มีโอกาสที่จะได้พบเห็นองค์ท่านอีก คงเหลือไว้แต่คุณงามความดี บุญคุณที่องค์ท่านมีต่อเรา เคียงคู่อยู่กับความทรงจำของหัวใจ ข้าพเจ้าจึงเฝ้าคอยฟัง คอยดู คอยอ่านประวัติท่านพระอาจารย์ผู้มีพระคุณอันสูงสุดในหัวใจ จนล่วงเลยมาเป็นสิบปี ก็ไม่ปรากฏว่ามีท่านผู้ใดจัดทำขึ้น ทั้งที่คณะลูกศิษย์ลูกหาที่เคยอยู่และไปศึกษากับองค์ท่านก็มีมากพอสมควร ก็ไม่มีวี่แววให้ได้พบได้อ่าน

ข้าพเจ้าจึงได้แต่ปรารภอยู่ในใจเพียงคนเดียว โดยไม่มีใครรู้ ว่าพระครูบาอาจารย์ที่เราเคารพสูงสุดในหัวใจ และปฏิปทาอันงดงาม เป็นพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ และเราถือว่าองค์ท่านเป็นพระที่สำคัญองค์หนึ่งทางฝ่ายพระป่า แต่องค์ท่านเป็นพระที่เก็บตัว ไม่ค่อยแสดงออก ไม่ค่อยบอกให้ใครรู้เรื่องขององค์ท่านเลย ก็มีแต่พวกลูกศิษย์ลูกหาที่อยู่ใกล้ๆ พอจะได้ชม ได้ดู ได้รู้ความสำคัญขององค์ท่านบ้าง

ข้าพเจ้าจึงมาคิดว่า พระดีๆ อย่างองค์หลวงปู่จะเลือนลางจางหาย และดับสิ้นไปกับองค์ท่าน โดยไม่มีใครได้มีโอกาสได้รู้ความสำคัญขององค์ท่านเลย มันไมน่าจะเป็นไปได้

ข้าพเจ้าคิดแล้วคิดอีก คอยแล้วคอยเล่า ถ้าเราจะเป็นคนทำหนังสือขึ้นมา ตัวเราเองก็เป็นผู้ด้อยทุกๆ อย่าง ไม่ว่าการศึกษา สติปัญญา และความสามารถ จึงเป็นเหตุให้จนสติปัญญา จนใจในทุกๆ ด้าน แต่ข้าพเจ้าเป็นผู้ไม่จนศรัทธาในองค์ท่าน ข้าพเจ้าจึงพยายามทำหนังสือชีวประวัติท่านพระอาจารย์ขึ้นมา ด้วยความมีศรัทธาอันหาประมาณมิได้

แต่ต้องขออภัยท่านผู้รู้ผู้อ่านมา ณ โอกาสนี้ด้วย เพราะข้าพเจ้าเป็นผู้ด้อยทุกอย่างจริงๆ แต่ยึดเหนี่ยวอาศัยเอาแรงศรัทธาเป็นเครื่องผลักดันความด้อยทุกๆ อย่างไป เพื่อเป็นการเทิดทูนบูชาพระคุณพ่อแม่ครูบาอาจารย์ ผู้มีพระคุณอันสูงสุดในหัวใจ ผิดพลาดประการใด โปรดให้อภัยแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด

สี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้ผิด บัณฑิตยังรู้หลง หงส์ทองยังต้องถลา เหยี่ยวกาย่อมรู้หลงผิดจนติดนิสัย ฝากไว้ให้ท่านผู้รู้ผู้อ่านในการติชม ไม่เหมาะไม่สมขอรับติชมแต่เพียงผู้เดียว

พระพล ยโสธโร

 

สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงกราบพระอาจารย์หลุย จันทรสาโรในการเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานรูปปั้นเหมือนพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ ณ วัดเจติยาครีวิหาร (ภูทอก) เมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๒๖ ซึ่งหลวงปู่บัวพา ได้ไปร่วมงานด้วย

วัดป่าพระสถิตย์ อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคายความเป็นมาขององค์หลวงปู่บัวพาโดยลำดับแล้ว นับว่ายากที่จะได้รับรู้ประวัติของท่านให้ได้โดยละเอียด เพราะโดยนิสัยขององค์ท่านแล้วเป็นคนที่มีนิสัยพูดน้อยและไม่ค่อยพูดเรื่องของตัวเอง ถ้าจะพูด ก็พูดเกี่ยวเนื่องกับพระอาจารย์ขององค์ท่าน คือองค์หลวงปู่ใหญ่เสาร์นั่นเอง แต่องค์หลวงปู่บัวพาเป็นผู้พูดน้อย ปฏิบัติมากและทำแบบสม่ำเสมออย่างมั่นคง ไม่จับๆ วางๆ ฉะนั้นการเขียนประวัติขององค์หลวงปู่ จึงเป็นการยากที่จะรวบรวมให้ได้อย่างละเอียดถี่ถ้วน ถ้าขาดตกบกพร่องด้วยประการใด จึงขอความกรุณาให้อภัยผู้เรียบเรียงด้วยเทอญ เพราะเป็นผู้มีปัญญาน้อย แต่ศรัทธาหาประมาณมิได้

องค์หลวงปู่บัวพา หรือท่านพระครูปัญญาวิสุทธิ์ สถานะเดิมขององค์ท่าน เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๓๑ ตุลาคม ปีพุทธศักราช ๒๔๕๔ ณ ที่บ้านบึงแก อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบันเป็นจังหวัดยโสธร) โยมบิดาชื่อ นายหยาด โยมมารดาชื่อ นางทองสา แสงศรี มีพี่น้องด้วยกัน ๗ คนคือ

องค์หลวงปู่บัวพา ปัญญาภาโส (แสงศรี)

นางมี (ถึงแก่กรรมแล้ว)

นายจันทร์ แสงศรี (ถึงแก่กรรมแล้ว)

นายคำพัน แสงศรี (ถึงแก่กรรมแล้ว)

นางนาง แสงศรี

นางกาสี แสงศรี

นายหนู แสงศรี

เมื่อกาลต่อมา โยมบิดามารดาของท่านได้อพยพไปตั้งหลักแหล่งใหม่ที่บ้านกุดกุง ตำบลสงเปลือย อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธรปัจจุบัน อาชีพบิดามารดาของท่านทำนา

ตามอุปนิสัยขององค์หลวงปู่แล้ว เมื่อเป็นฆราวาสนั้นเป็นคนพูดน้อย มีความเคารพนอบน้อมเชื่อฟังผู้ใหญ่ คือเป็นคนว่าง่ายสอนง่าย แต่โดยส่วนมาก นิสัยขององค์หลวงปู่เป็นคนไม่ชอบทำบาป มีจิตใจใฝ่บุญกุศลตั้งแต่เป็นเด็กตลอดมา

พออายุครบบวช บิดามารดามีความปรารถนาอยากจะให้ท่านบวชก่อนจะมีครอบครัว บังเอิญในปีนั้นนายเทพ ลูกชายของน้องสาวโยมพ่อหลวงปู่ (โยมแตงอ่อน) ได้ถึงแก่กรรม ลุงท่านได้ขอร้ององค์หลวงปู่ซึ่งสมัยนั้นท่านยังเป็นหนุ่ม อายุครบบวชพอดี ให้ช่วยบวชอุทิศส่วนกุศลให้แก่นายเทพ ซึ่งเป็นลูกชายของโยมแตงอ่อน

พ่อคำมี แสงศรี จึงเป็นเจ้าภาพจัดกองบวชให้ และองค์หลวงปู่ก็ได้เข้าบวชเป็นพระเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ณ สีมาน้ำวัดบ้านกุดกุง อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดอุบลราชธานี ปัจจุบันเป็นจังหวัดยโสธร มีพระอาจารย์มอนเป็นพระอุปัชฌาย์ บวชฝ่ายมหานิกาย

ในพรรษาแรกอยู่จำพรรษาที่วัดบ้านกุดกุง วัดบ้านกุดกุงนั้นเป็นวัดอยู่นอกบ้าน ห่างบ้านพอประมาณ ตั้งอยู่ฝั่งอุดกุง น้ำในกุดกุงใสสะอาด เป็นกุดที่กว้างใหญ่มากทีเดียว

ภายในพรรษาแรก องค์หลวงปู่ท่านฉันมื้อเดียว และฝึกหัดภาวนาอยู่ตามลำพังแต่องค์เดียวมิได้ขาดเพราะเป็นวัดบ้าน การทำสมาธิภาวนาไม่ค่อยมีใครเขาทำกัน ท่านก็คิดทำของท่านเอง คงเป็นอุปนิสัยเก่าขององค์หลวงปู่ที่เคยสั่งสมมา

มีอยู่วันหนึ่ง องค์หลวงปู่ท่านระลึกถึงเมื่อสมัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้อยู่ที่ใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ ซึ่งเป็นที่มาที่มีความสุขเป็นที่ประทับใจขององค์หลวงปู่มาก ก็พอดีภายในวัดบ้านกุดกุงนั้น มีต้นโพธิ์อยู่ต้นหนึ่ง องค์หลวงปู่ก็น้อมจิตระลึกถึงพระพุทธเจ้า ว่าท่านได้ตรัสรู้แจ้งชอบด้วยพระองค์เอง ในคืนวันเพ็ญเดือนหก ณ ที่โคนต้นพระศรีมหาโพธิ์ เราน่าจะเอาเป็นตัวอย่าง

ในคืนวันนั้นองค์หลวงปู่ท่านรอให้เสียงผู้เสียงคนเขาเงียบสงัดเสียก่อน องค์ท่านจึงค่อยไปนั่งสมาธิอยู่ใต้ต้นโพธิ์โดยไม่มีใครรู้ พอไปถึงท่านกราบลง ๓ ครั้ง แล้วนั่งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก บริกรรม “พุทโธ” อยู่องค์เดียว ใช้เวลาภาวนาอยู่ไม่นานนัก จิตก็รวมสงบลงอย่างแน่วแน่ ท่านได้พบความสุขอยู่อย่างสุดซึ้งที่ใต้ต้นโพธิ์นั้นเอง นั่งสมาธิอยู่เกือบสว่าง พอได้ยินเสียงผู้คนเขาออกไปตักน้ำที่กุดกุงตอนใกล้รุ่ง องค์ท่านจึงเข้ามาทำข้อวัตรต่อที่กุฏิของท่าน

หลวงปู่บัวพา เมื่อครั้งไปกราบหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

ตัดต้นโพธิ์เป็นบาปจริงๆ องค์หลวงปู่เล่า

อยู่มาวันหนึ่ง ท่านอาจารย์เจ้าอาวาสได้สั่งให้องค์หลวงปู่ขึ้นตัดกิ่งก้านต้นโพธิ์ที่รุงรังปกคลุมหลังคาวิหาร องค์หลวงปู่ก็ต้องจำใจทำเพราะความเคารพในท่านอาจารย์

พอองค์ท่านขึ้นไปตัดกิ่งก้านต้นโพธิ์เสร็จ เตรียมตัวจะลง พอก้าวขาหาที่เหยียบว่าจะลงเท่านั้น เหมือนมีอะไรมาผลักขาลื่นหลุด เหลือแต่แขนกอดโอบต้นโพธิ์ รูดตกถึงพื้นดินล้มลง แล้วก็รีบลุกขึ้นสำรวจตัวเองว่าเจ็บตรงไหน เห็นมีรอยขูดขีดตามแขนตามหน้าอกเล็กน้อย ก็รีบไปหายาทา แผลนั้นก็หาย แต่ยังมีแผลหนึ่งอยู่ที่หน้าอกนิดเดียว ใช้ยาอะไรทาก็ไม่หาย ไม่ยอมตกเกล็ดเหมือนแผลอื่น ทำอย่างไรก็ไม่หายสักที

องค์หลวงปู่ก็มานึกขึ้นได้ด้วยตนเองว่า เรานี้เป็นบาปเสียแล้ว ต้นโพธิ์เป็นต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าได้อาศัยตรัสรู้ และเป็นต้นไม้ที่มีพระคุณต่อพระพุทธเจ้า แล้วก็มีพระคุณแก่เราในวันนั้นด้วย ที่เราไปนั่งสมาธิได้พบความสุขที่ต้นโพธิ์นี่เอง

เมื่อองค์ท่านระลึกได้ดังนี้ พอตกตอนกลางคืนพระเณรองค์อื่นเงียบหมดแล้วท่านได้ไปเอาดอกไม้ที่ญาติโยมเขาเอามาบูชาที่โต๊ะบูชา ใส่ขันแล้วเดินไปนั่งคุกเข่ากราบลง ๓ ครั้ง แล้วกล่าวคำขอขมาโทษที่ตนได้ล่วงเกินต้นโพธิ์อันมีพระคุณแก่พระพุทธเจ้า ขอจงงดเสียซึ่งโทษบาปกรรมล่วงเกินอันนั้น เพื่อการสำรวมระวังต่อไปด้วยเทอญ ขอให้คุณ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์และต้นมหาโพธิ์อันมีพระคุณแก่ข้าพเจ้า จงช่วยงดเสียซึ่งโทษล่วงเกินอันนั้น เพื่อการสำรวมระวังต่อไป

ภายในวันสองวันเท่านั้นแผลนั้นก็หายเป็นปลิดทิ้งไม่มีรอยแผลเป็นปรากฏอยู่เลย

บริเวณนี้ เคยเป็นที่ตั้งบ้านเดิมที่หลวงปู่เคยอยู่

นอนหันเท้าไปทางพระพุทธรูปก็บาปเหมือนกัน

แล้วท่านก็เล่าไปถึง การนอนหันเท้าไปทางพระพุทธรูปอยู่ ก็บาปเหมือนกัน องค์ท่านเล่าให้ฟังว่า

สมัยเราเป็นเด็กหนุ่มอายุ ๑๔-๑๕ ปี เห็นจะได้ เคยไปขายน้ำย้อมกับพวกผู้ใหญ่เขา สมัยก่อนพวกพ่อค้าต้องเดินด้วยเท้าหาขายสิ่งของต่างๆ ไปต่างบ้านต่างเมือง ไปถึงบ้านไหน เมื่อตกตอนเย็น ก็จะไปขอพักนอนตามวัดไปเรื่อยๆ องค์หลวงปู่ไปขายน้ำย้อมกับหมู่ผู้ใหญ่ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน จะต้องนอนพักตามวัดตามศาลาตามเคย

มาวันหนึ่ง พอตกตอนเย็น ก็พากันไปขอพักนอนตามวัด มีศาลาแห่งหนึ่ง พระท่านอนุญาตให้พักได้ ภายในศาลาหลังนั้น มีพระพุทธรูปตั้งประดิษฐานอยู่ในศาลา พวกพ่อค้านอน เขาไม่นอนเหมือนคนธรรมดานอน คือเขาจะเอาสิ่งของวางรวมกันไว้ระหว่างกลาง แล้วก็นอนหันหัวเข้าหากัน หันขาออก เรียกว่านอนให้เป็นวงกลม ให้รอบสิ่งของเอาไว้ วันนั้นก็เช่นเดียวกัน นอนหันหัวเข้าหากันหันเข้าออก เพื่อรักษาสิ่งของช่วยกัน แต่พวกผู้ใหญ่เขาฉลาด เขาก็เลือกที่นอนก่อน และเขาก็นอนประจำที่ก่อนทุกๆ คน เขาเว้นที่ให้เราตรงพระพุทธรูปแต่หันเท้าไปตรงพระพุทธรูป เราเป็นเด็กไม่มีทางเลือกก็ต้องนอน เพราะเขาบังคับทางอ้อม แต่พอนอนไปได้สักพักหนึ่ง พวกผู้ใหญ่เขาก็โวยวายขึ้นว่า

“นี่ตีนใคร นี่ขาใคร มันมายันหัวกูนี่หือ”

เขาก็ลุกขึ้นดู

“นี่ตีนบักบัวพานี่หว่า มึงเอาตีนมายันหัวหมู่ทำไม”

พวกผู้ใหญ่เขาก็ปลุกขึ้นให้นอนใหม่ แต่นอนไปไม่นาน พวกผู้ใหญ่เขาก็โวยวาย ปลุกขึ้นให้นอนใหม่อีก เป็นอยู่อย่างนี้ทั้งคืน เดี๋ยวก็โวยขึ้นอยู่อย่างนั้นทั้งคืน จนไม่เป็นอันนอนเลยในคืนนั้น นอนที่อื่นไม่เห็นเป็นอย่างนั้น ก็มันเป็นอย่างนี้เพราะหันเท้าไปทางพระพุทธรูปนั่นเอง เรื่องของเรากับพระพุทธรูปนี้ย่อมปรากฏอานุภาพให้เห็นทันตา

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

วัดกุดกุง ที่หลวงปู่บัวพา

อุปสมบท

ทดลองออกวิเวกครั้งแรก

พอออกพรรษาในปีนั้น องค์หลวงปู่ก็ขอลาครูบาอาจารย์ออกเที่ยววิเวก เพื่อเป็นการฝึกกัมมัฏฐานไปในตัว เพื่อจะได้รู้ว่าทางไหนเป็นทางที่ถูกต้องที่แท้จริง แต่พระอาจารย์ของท่านอยากให้ท่านเรียนสนธิ เรียนมูลกัจจายเสียก่อน จึงออกปฏิบัติภายหลัง ในพรรษาปีต่อมา องค์หลวงปู่จึงได้ไปเรียนสนธิ เรียนมูล อยู่ที่วัดบ้านไผ่ใหญ่ อำเภออำนาจเจริญ อยู่หนึ่งพรรษา

ปีต่อมา ผ่านได้ไปเรียนสนธิอยู่บ้านปอแดง ซึ่งในสมัยนั้น สำนักเรียนสนธิมูลกัจจาย ที่บ้านปอแดง มีชื่อเสียงมากที่สุด ทางภาคอีสาน แต่คงเป็นอุปนิสัยเก่าขององค์หลวงปู่ก็ว่าได้ เพราะท่านอยู่วัดบ้าน แต่ฉันมื้อเดียว เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา ไหว้พระสวดมนต์อยู่เป็นนิจไม่เคยขาดเลย ใครเขาจะทำหรือไม่ทำ ท่านก็ทำของท่านอยู่องค์เดียว

พอออกพรรษา ท่านจะถือโอกาสออกวิเวกฝึกหัดปฏิบัติกัมมัฎฐานทุกๆ ปี และท่านเองก็ปรารภกับหมู่อยู่เสมอว่า ท่านจะออกปฏิบัติกัมมัฏฐานตามแบบแนวทางของพระพุทธเจ้า จนหมู่เพื่อนรู้จักกันดีว่า ท่านบัวพาจะออกปฏิบัติอย่างเดียว

หน้าที่                   ๑๐