#echo banner="" คุณวิเศษของคุณหลวงสุวิชานฯ โดยทองทิว สุวรรณทัต

คลิกเมาส์ที่ใดก็ได้ในเฟรมนี้เพื่อเรียกเมนูด่วน

คุณวิเศษของคุณหลวงสุวิชานฯ

โดย ทองทิว สุวรรณทัต

ลงพิมพ์ในนสพ. เดลินิวส์ ฉบับวันอาทิตย์ ที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๓๑

โพสท์ในเวบมนต์นัทธ์ โดย siriphong เมื่อ: ธันวาคม 09, 2011

http://www.monnut.com/board/index.php?topic=2723.15

พลเรือตรีหลวงสุวิชานแพทย์ ผู้อันเชิญท่านท้าวมหาพรหม ประดิษฐาน ณ โรงแรมเอราวัณ

ข้าพเจ้าเชื่อว่า ยังมีท่านผู้อ่านหลายท่านที่ยังไม่เคยทราบว่าศาลท่านท้าวมหาพรหม ณ โรงแรมเอราวัณ สี่แยกราชประสงค์ ซึ่งมีผู้ไปกราบไหว้ขอพรจากท่านจำนวนมากมายเหลือเกินนั้น ท่านผู้ใดเป็นผู้แนะนำให้ตั้งศาล และอัญเชิญท่านท้าวมหาพรหมเสด็จลงมาประทับ เพราะผู้ที่จะกระทำพิธีนั้นได้จะต้องเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญในทางวิปัสสนา ศาสนาธุระมาเป็นอย่างสูง มิฉะนั้นจะไม่เก่งกล้าสามารถติดต่อท่านท้าวมหาพรหมผู้เป็นใหญ่แห่งสรวงสวรรค์มายังโลกได้

ข้าพเจ้าเองก็หลงเข้าใจผิดมาหลายปี ว่าท่านอาจารย์คนนั้น อาจารย์คนนี้ เป็นผู้กระทำ พออยู่มาจึงได้ทราบความจริงนี้ จากผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือและได้เล่าประวัติของโรงแรมเอราวัณ

ท่านผู้มีคุณวุฒิอันสูงส่งทางญานสมาธิและวิปัสสนาธุระผู้กระทำพิธีตั้งศาลท่านท้าวมหาพรหม และอัญเชิญท่านท้าวมหาพรหมลงมาประทับให้เราได้กราบไหว้จนทุกวันนี้ คือ พล ร.ต. หลวงสุวิชานแพทย์ ร.น.

นับจากนี้จะขอนำประวัติของท่านมาลง ณ โอกาสนี้ เพื่อเผยแพร่กิตติคุณอันประเสริฐซึ่งจะหาผู้หนึ่งผู้ใดมาเทียมได้ยาก ทั้งจะได้เป็นกำลังใจแก่ผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมที่จะให้เห็นผลของการประพฤติปฏิบัติอย่างจริงจังนั้นว่ามีคุณประโยชน์จนสามารถมีทิพยจักษุ เป็นความจริงมากน้อยเพียงใดอีกด้วย

ความเป็นมา

พล ร.ต. หลวงสุวิชานแพทย์ (อั๋น สุวรรณภาณุ) เป็นบุตรของนายจ่าง และ นางจีน สุวรรณภาณุ มีพี่ ๑ คน เป็นหญิง ถึงแก่กรรมตั้งแต่ยังเยาว์ เกิดเมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. ๒๔๓๕ ที่ตำบลท่าจีน จังหวัดสมุทรสาคร

เมื่อคุณหลวงยังเล็ก บิดามารดาได้ย้ายภูมิลำเนาจากตำบลท่าจีนไปอยู่ที่สี่แยกหัวตะเข้ แล้วย้ายมาอยู่ที่ห้องแถวตลาดสามเสน กรุงเทพฯ จากนั้นก็เช่าตึกแถวปากคลองตลาด

คุณหลวงสุวิชานฯ จึงได้เข้าเรียนหนังสือชั้นต้นที่โรงเรียนวัดราชบูรณะวรวิหาร (วัดเลียบ) เชิงสะพานพุทธยอดฟ้า แล้วมาเรียนต่อที่โรงเรียนวัดสุทัศน์ฯ จากนั้นเข้าเรียนต่อในโรงเรียนสวนกุหลาบจนจบชั้นประโยคมัธยม

พ.ศ. ๒๔๕๒ เข้าศึกษาที่โรงเรียนราชแพทยาลัย (ศิริราช) รุ่นที่ ๒๐ รุ่นเดียวกับพระบำราศนราดูร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สอบไล่ได้ประโยคแพทย์ ตามหลักสูตรของกรมศึกษาธิการ กระทรวงธรรมการ ในปี พ.ศ. ๒๔๕๕

พ.ศ. ๒๔๕๖ เป็นแพทย์ฝึกหัดโรงศิริราชพยาบาล (โรงพยาบาลศิริราช)

พ.ศ. ๒๔๕๗ ได้รับบรรจุเป็นแพทย์กองกลาง กองแพทย์ทหารเรือ

๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๗ ได้ทำการสมรสกับ นางสาวบัวคำ จารุสาธร มีบุตร ๕ คน

ในช่วงระยะที่ดำรงยศเรือโทอยู่นั้น คุณหลวงสุวิชานฯ ได้ลาอุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดราชบูรณะวรวิหาร (วัดเลียบ) เป็นเวลา ๑ พรรษา มีท่านพระครูโต๊ะเป็นครูสอนวิปัสสนา

และในการเรียนวิปัสสนาจากพระครูโต๊ะครั้งนี้ ปรากฏว่าคุณหลวงสุวิชานฯ ได้เพียรปฏิบัติอย่างจริงจังตลอดพรรษาไม่ว่ากลางวันและกลางคืน จนทำให้ท่านมีคุณธรรมวิเศษ คือมีฌานพิเศษ ที่เรียกว่า พุทธญานบารมี อันได้แก่มีทิพยจักษุ (ตาทิพย์) มีหูทิพย์ และมีอำนาจจิต ติดตัวมาช่วยเหลือผู้ที่มีความทุกข์จนสิ้นอายุขัยของท่าน

เมื่อครบพรรษา พล ร.ต. หลวงสุวิชานแพทย์ ก็ลาสิกขาบท กลับเข้ารับราชการต่อไป ในขณะที่รับราชการอยู่นี้ ท่านได้มีโอกาสไปราชการต่างประเทศ โดยได้ไปรับเรือกวาดทุ่นระเบิดและเรือตอร์ปิโด ที่ประเทศอิตาลี เป็นเวลานานถึง ๑ ปี ๕ เดือน กลับจากราชการต่างประเทศ ได้ย้ายไปประจำอยู่ตามหน่วยต่างๆ ของกองแพทย์พยาบาลทหารเรือ (ภายหลังเปลี่ยนเป็นกรมแพทย์ทหารเรือ) จนถึงโรงพยาบาลทหารเรือสัตหีบ (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นโรงพยาบาลอาภากรเกียรติวงศ์) ในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาล แล้วย้ายกลับมากรมแพทย์ทหารเรือกรุงเทพฯ และก่อตั้งโรงพยาบาลทหารเรือบุคคโล (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า) ตำแหน่งสุดท้ายก่อนเกษียณราชการเมื่ออายุ ๖๕ ปี คือ นายแพทย์ใหญ่ทหารเรือ

ที่โรงแรมเอราวัณนั้น มีศาลท่านท้าวมหาพรหม ที่เป็นที่รู้จักกันดี ลองมาทำความรู้จักกับ พลเรือตรีหลวงสุวิชานแพทย์ ผู้ติดต่อและอัญเชิญ

เมื่อทางรัฐบาลมีความเห็นว่า โรงแรมเอราวัณอันเป็นโรงแรมที่เชิดหน้าชูตาของเมืองไทยสมัย ๒๐ กว่าปีมานี้เล็กเกินไป ไม่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศได้เพียงพอ จึงสั่งการรื้อถอนเพื่อสร้างเป็นโรงแรมใหม่นั้น ประชาชนคนไทยส่วนมากที่เคยไปสักการะท่านท้าวมหาพรหม ที่มุมโรงแรมเอราวัณสี่แยกราชประสงค์ต่างพากันใจหายใจคว่ำ เกรงว่าทางราชการจะรื้อศาลที่ท่านท้าวมหาพรหมสถิตอยู่ แต่ทุกวันนี้ศาลดังกล่าวก็ยังคงอยู่เหมือนเดิมเพราะไม่มีใครกล้าไปแตะต้อง แม้โรงแรมเอราวัณจะถูกทุบทิ้งไปแล้วก็ตาม ทั้งนี้ด้วยผู้ใหญ่ในรัฐบาลท่านทราบดีถึงประวัติความเป็นมาของศาลท่านท้าวมหาพรหม ซึ่งน้อยคนนักที่จะรู้จึงจะขอนำมาเล่าในวันนี้ เพื่อเป็นการยืนยันว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นมีจริง วิญญาณของเทพเบื้องบนนั้นมีจริง ผู้ปฏิบัติธรรมชั้นสูงเท่านั้นจึงจะสามารถติดต่อได้

และท่านผู้นั้นก็คือ ท่านอาจารย์ พล ร.ต. หลวงสุวิชานแพทย์ ร.น. อดีตนายแพทย์ใหญ่กรมแพทย์ทหารเรือ ผู้เพียรปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานจนได้ญาณพิเศษ ที่เรียกว่าพุทธญาณบารมี อันได้แก่มีตาทิพย์ หูทิพย์ และมีอำนาจจิตอันเป็นที่ยอมรับนับถือจากประชาชนคนทั่วไป ตลอดจนนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายมาช้านานตราบท่านถึงแก่อนิจกรรม

เรื่องนั้นมีอยู่ว่า เนื่องจากในสมัยเริ่มก่อสร้างโรงแรมเอราวัณใหม่ ๆ นั้น มีอุปสรรคมากมายอย่างไม่คาดฝัน อาทิ การสั่งซื้อสิ่งของและอุปกรณ์มาแล้วใช้ไม่ได้ เพราะผิดขนาดและผิดความต้องการของฝ่ายช่างเสมอ ทั้งคนงานก็กระทำผิดวัตถุประสงค์ ต้องแก้ไขทำใหม่ เป็นเหตุให้เสียเวลาอยู่เป็นนิจ

ข้อสำคัญที่สุดก็คือ ไม่ว่าช่างปูน ช่างเหล็ก มักจะประสบอุบัติเหตุถึงแก่เลือดตกยางออก อันเป็นสาเหตุให้คนงานเสียขวัญไปตาม ๆ กัน จึงทำให้ผลงานล่าช้ายิ่งขึ้นจนถึงจะทำให้การก่อสร้างโรงแรมเอราวัณหยุดชะงักได้

เมื่อความทราบถึง พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจและประธานกรรมการบริหารโรงแรมเอราวัณในสมัยนั้นว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จไม่ทันตามกำหนด ท่านจึงได้เรียกประชุมคณะกรรมการบริหารเพื่อปรึกษาหารือถึงวิธีแก้ไขความล่าช้าในการก่อสร้างโรงแรม ซึ่งได้มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งได้แนะนำให้ พล ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ ติดต่อขอความช่วยเหลือจากท่านอาจารย์ พล ร.ต. หลวงสุวิชานแพทย์ เป็นการด่วน ด้วยเหตุว่า ท่านอาจารย์คุณหลวงสุวิชานฯ เป็นผู้ที่สามารถหยั่งรู้เหตุการณ์ที่มิชอบด้วยประการทั้งปวง และมีความสามารถในทางมหัศจรรย์ที่คนธรรมดาสามัญไม่สามารถจะรู้เท่าทันท่านได้

พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ ได้ฟังคำแนะนำเช่นนั้น ประกอบกับเคยได้ยินกิตติศัพท์ของท่านอาจารย์คุณหลวงสุวิชานฯ มาแล้วจึงรับคำแนะนำของผู้ใหญ่ท่านนั้นและได้มอบหมายให้ พล.ต.ต. ม.ล. จเร สุทัศน์ ณ อยุธยา ผู้ควบคุมการก่อสร้างโรงแรมเอราวัณไปติดต่อหารือท่านอาจารย์คุณหลวงสุวิชานฯ เพื่อขอให้ท่านกรุณาตรวจดูว่า อุปสรรคทั้งหลายในการก่อสร้างโรงแรมเอราวัณนี้มีมูลเหตุมาจากสิ่งใด และจะมีวิธีแก้ไขให้หมดสิ้นไปได้อย่างไร เพื่อให้การก่อสร้างเสร็จตามกำหนด

เมื่อ พล.ต.ต. ม.ล. จเร สุทัศน์ฯ ได้ไปพบท่านอาจารย์คุณหลวงสุวิชานฯ แล้ว ได้เรียนให้ท่านทราบเรื่องราวโดยละเอียด ท่านอาจารย์คุณหลวงสุวิชานฯ นั่งสมาธิตรวจดูเหตุการณ์ต่าง ๆ จึงได้พบว่า สาเหตุใหญ่ที่ทำให้เกิดอุปสรรคนานาประการในการก่อสร้างโรงแรมเอราวัณครั้งนี้มาจากการตั้งชื่อโรงแรมแห่งนี้ว่า “เอราวัณ” นั่นเอง เพราะคำว่า “เอราวัณ” นี้เป็นนามของ ช้างทรงของพระอินทร์

จากนั้นท่านได้แนะนำให้ พล.ต.ต. ม.ล. จเร สุทัศน์ฯ ฟังว่าการก่อสร้างโรงแรมอันเป็นสถานที่ชุมนุมของบุคคลทุกประเภท ที่เข้ามาเช่าเช่นนี้ จะต้องแก้ไขด้วยการบอกกล่าว ขออำนาจต่อท่านท้าวมหาพรหมผู้เป็นใหญ่แห่งสรวงสวรรค์ ขอบารมีของพระองค์ท่าน จงดลบันดาลให้สิ่งที่ร้ายทั้งหลายกลับกลายเป็นดี การก่อสร้างโรงแรมนี้จึงจะลุล่วงได้ทันตามกำหนด และเมื่อได้ก่อสร้างโรงแรมเรียบร้อยแล้ว จะต้องตั้งศาลท่านท้าวมหาพรหมผู้เป็นใหญ่แห่งสรวงสวรรค์ถวายแด่พระองค์ท่านทันที

หลังจากที่ได้รับคำแนะนำจากท่านอาจารย์คุณหลวงสุวิชานฯดังนั้นแล้ว พล ต.ต. ม.ล. จเร สุทัศน์ฯ รีบนำความมาเรียนแก่ พล ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ ให้ทราบ พล ต.อ. เผ่า จึงมอบหมายให้ พล. ต.ต. ม.ล. จเร ดำเนินการอย่างเร่งด่วน

ครั้นการบนบานศาลกล่าวต่อท่านท้าวมหาพรหมผู้เป็นใหญ่แห่งสรวงสวรรค์ เรียบร้อยแล้ว การก่อสร้างโรงแรมก็เสร็จทันตามกำหนดพล. ต.ต. ม.ล. จเร สุทัศน์ฯ จึงได้เชิญท่านอาจารย์คุณหลวงสุวิชานฯ มาพิจารณาสถานที่ที่จะตั้งศาลถวายท่านท้าวมหาพรหม และปรากฏว่าพระองค์ท่านโปรดตรงมุมของโรงแรมด้านสี่แยกราชประสงค์

สำหรับศาลของท่านท้าวมหาพรหมนี้ คุณเจือระวี ชมเสวี กับ ม.ล. ปุ่น มาลากุล เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรเป็นผู้ออกแบบ ส่วนพระรูปหล่อจำลองนั้น คุณจิตร พิมโกวิท ช่างโทในสมัยนั้นที่ประจำแผนกกองหัตถศิลป กรมศิลปากร เป็นช่างปั้นตามแบบแผนของกรมศิลปากร โดยการค้นคว้าของ พระยาอนุมานราชธน

เมื่อสร้างศาลท่านท้าวมหาพรหมเสร็จแล้ว จึงได้ประกอบพิธีอัญเชิญขึ้นประทับเมื่อ วันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๔๙๙ โดย ท่านอาจารย์ พล ร.ต. หลวงสุวิชานแพทย์ ร.น. ได้มอบหมายให้คุณประยูร วงศ์ผดุง เป็นผู้ทำพิธี ด้วยการติดต่อทางจิตผ่านท่านอาจารย์คุณหลวงสุวิชานฯ ซึ่งเป็นผู้ชี้แนะทั้งสิ้น

เรื่องราวมหัศจรรย์เกี่ยวกับองค์ท่าน “ท้าวมหาพรหม” ที่โรงแรมเอราวัณนี้ เมื่อครั้งที่ พล ร.ต. หลวงสุวิชานแพทย์ ยังมีชีวิตอยู่ท่านเคยเล่าถึงองค์เทพที่สถิตอยู่ในองค์รูปปั้นท่านท้าวมหาพรหมว่า แท้ที่จริงก็คือทิพย์วิญญาณ “พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว” พระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่งในรัชกาลที่ ๔ ของกรุงรัตนโกสินทร์นั่นเอง

จากการตรวจด้วย “ทิพยจักษุ” และการติดต่อทิพย์วิญญาณทางสมาธิ ท่านอาจารย์คุณหลวงสุวิชานฯ ได้เล่าถึงพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากที่พระองค์ท่านเสด็จสวรรคตแล้วได้ไปบังเกิดบนสรวงสวรรค์ชั้นพรหม ทางมีตำแหน่งหน้าที่เป็นรองท่านท้าวมหาพรหมและได้รับพระนามใหม่ว่า “ท่านท้าวเกศโร” ซึ่งเมื่อ พล ร.ต. หลวงสุวิชานแพทย์ ได้ทำพิธีประดิษฐานพระรูปปั้นขององค์ท่านท้าวมหาพรหม จึงได้อัญเชิญพระวิญญาณให้มาสถิตอยู่ที่พระรูปปั้นด้วย เพื่อให้ช่วยปัดเป่าความทุกข์ยากและความเดือดร้อนของประชาชนที่มาสักการะ ตามปกติพระองค์จะเสด็จประทับยังศาลในตอนค่ำของทุกวัน ยกเว้นวันพระ เพราะพระองค์เสด็จไปเฝ้าพระพุทธองค์

อนึ่ง การไปขอความช่วยเหลือจากพระองค์ ณ ศาลท่านท้าวมหาพรหมนั้น ถ้าเป็นการกราบไหว้บูชาธรรมดาก็ใช้ดอกไม้สดหรือพวงมาลัยดอกไม้สด ธูป ๗ ดอก เทียน ๑ เล่ม หากเป็นการแก้บนจึงควรถวายด้วยพวงมาลัยที่ร้อยด้วยดอกไม้สดต่างๆ ๗ สี ยาว ๗ ศอก ธูป ๙ ดอก เทียน ๑ เล่ม สำหรับดอกไม้สดนั้น พระองค์ท่านโปรดดอกกุหลาบสีแดง ทั้งนี้มิใช่ท่านอาจารย์คุณหลวงสุวิชานฯ กำหนดขึ้นเอง แต่ทราบได้โดยการติดต่อทางจิตด้วยญาณพิเศษของท่าน ดังได้กล่าวมาแล้ว

“เดลินิวส์” อาทิตย์ ที่ ๘ มกราคม ๒๕๓๒

ในปัจจุบันนี้ ผู้คนมีความทุกข์กันเหลือเกิน ทั้งนี้จะเห็นได้จากจำนวนผู้โทรศัพท์ไปหาผู้เขียนมากกว่าแต่ก่อนมากมาย ส่วนมากจะเกี่ยวกับการเจ็บไข้ได้ป่วย หรือไม่ก็ประสบปัญหาส่วนตัว ซึ่งจำต้องหาท่านผู้ทรงคุณธรรมอันวิเศษมาแก้ไข และด้วยเหตุนี้จึงมีผู้บ่นถึง ท่าน พล ร.ต. หลวงสุวิชานแพทย์ ร.น.อยู่เสมอ เพราะถ้าจะพูดไปแล้ว หลังจากท่านถึงแก่อนิจกรรมตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๒ ก็ดูจะหาบุคคลที่ประเสริฐเช่นท่านได้ยากยิ่งนัก ยากยิ่งเหมือนงมเข็มในมหาสมุทรนั่นเทียว

แต่อะไรไม่สำคัญเท่ากับที่มีผู้อ่านหลายท่านต่อว่ามาว่า ผู้เขียนยังลงชีวประวัติของท่านอาจารย์หลวงสุวิชานแพทย์ ไม่หมด ทั้งๆ ที่ผู้เขียนเคยลงใน “เดลินิวส์” เมื่อสองปีก่อนมาแล้ว

ผู้เขียนหยิบต้นฉบับเก่าๆ มาอ่านทวนซ้ำ ก็เห็นจริง ยอมสารภาพ ฉะนั้น ในวันนี้เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระคุณของท่านอาจารย์หลวงสุวิชานแพทย์ที่ท่านช่วยเหลือปลดเปลื้องความทุกข์ของเพื่อนมนุษย์มานับไม่ถ้วน ประการหนึ่ง และเพื่อเป็นการสนับสนุนในเรื่องวิญญาณมีจริง อีกประการหนึ่ง ผู้เขียนจึงขอเล่าถึงคุณวิเศษของท่านอาจารย์ให้ฟังเป็นการเพิ่มเติมอีกครั้งหนึ่งดังต่อไปนี้

ผีขว้างบ้านคน

ท่านอาจารย์ ดร.คลุ้ม วัชโรบล เคยเล่าว่า เมื่อสมัยท่านยังชอบไปเล่นเทนนิสที่สมาคมแพทย์ ซึ่งเป็นโรงแรมดุสิตธานีในปัจจุบัน เด็กเก็บลูกเทนนิสเล่าให้ท่านฟังว่า ใกล้ๆ กับที่นั้นมีบ้านอยู่หลังหนึ่ง ถูกผีขว้างบ้านแทบทุกคืน จนอิฐเกลื่อนหลังคา เจ้าของบ้านถึงกับจ้างตำรวจมาล้อมบ้านแต่ก็จับไม่ได้

ท่านอาจารย์ ดร.คลุ้ม ก็มาคิดว่าแปลกอยู่ ต่อมาวันหนึ่งท่านก็ไปพบ คุณเทียน กรรณสูตซึ่งอยู่สมาคมกรีฑาเช่นเดียวกัน ท่านเห็นว่าบ้านของคุณเทียนอยู่ศาลาแดงแถวๆ นั้น อาจจะรู้เรื่องนี้บ้าง ท่านก็เลยถามคุณเทียน “คุณอยู่ศาลาแดง คุณรู้เรื่องผีขว้างบ้านคนหรือเปล่า? บ้านไหนก็ไม่รู้”

คุณเทียนก็หัวร่อร่าบอกว่า “บ้านผมเองครับ!”

แล้วคุณเทียนก็เล่าให้ท่านอาจารย์ ดร.คลุ้มฟังว่า บ้านของคุณเทียนนั้นมีใครก็ไม่ทราบขว้างอิฐเข้ามาในบ้านเกลื่อนเลย บางวันนั่งอยู่ในห้องกว้างๆ อยู่ๆ ก็มีจานข้าวบินจากหน้าต่างด้านนี้ออกไปทางหน้าต่างด้านโน้น บางทีของที่ตั้งอยู่บนตู้ก็ตกลงมากลางบ้าน บางคืนแขกที่เฝ้ายามก็เห็นคนเดินไปเดินมาอยู่ในอู่ พอไขกุญแจเข้าไปดูก็หายไป ไม่เห็นมีใครอยู่ในนั้น แล้ววันหนึ่งก็มีใครไม่ทราบขว้างไม้เต็งท่อนหนึ่งขนาดสี่คนยก ที่เขาวางพาดท้องร่องขึ้นไปค้างอยู่บนหลังคา

คุณเทียนเห็นเหตุการณ์ชักจะไม่ได้เรื่องเข้าทุกวันเช่นนี้ ก็ไปเชิญ ท่านอาจารย์คุณหลวงสุวิชานแพทย์ มานั่งสมาธิตรวจดู ท่านก็บอกว่า

“อ๋อ!นี่ไม่ใช่ผีสางอะไรหรอก นี่เกิดจากศาลพระภูมิเหมือนกัน เพราะแต่เดิมที่ตรงนี้มีสองเจ้าของ ต่างคนต่างก็มีศาลพระภูมิ พอคุณเทียนมาซื้อก็รื้อรั้วออกย้ายศาลพระภูมิมาไว้ข้างๆ กัน ทีนี้ศาลพระภูมิทั้งสองไม่ถูกกันทะเลาะกันใหญ่ เรียกว่าเสือสองตัวอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้ จึงเป็นเหตุให้เกิดเรื่องขว้างปากันขึ้น”

คุณหลวงสุวิชานฯ จึงแนะนำให้แยกศาลพระภูมิออกจากกัน ตั้งแต่นั้นมาเหตุการณ์ก็สงบ

มีคนถามท่านอาจารย์ ดร.คลุ้มว่า “อาจารย์ฟังแล้วเชื่อไหม?”

ท่านตอบว่า “ผมเชื่อ! ผมไม่ใช่คนหัวรั้น ใครบอกอะไรก็เชื่อไว้ก่อน แล้วหาข้อพิสูจน์ทีหลัง ผมมองคนในแง่ดีเสมอ ก็เขาเป็นเจ้าของบ้าน เขาเป็นคนเล่า เราก็น่าจะเชื่อ”

วิญญาณที่ ศ.อ.ศ.อ. (ศูนย์กลางอบรมการศึกษาผู้ใหญ่จังหวัดอุบลราชธานี)

ท่านรัฐมนตรีอภัย จันทวิมล อดีตรัฐมนตรีศึกษาธิการ เคยเล่าให้ฟังว่า เมื่อครั้งท่านติดตาม พล อ. มังกร พรหมโยธี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในสมัยนั้นไปพักผ่อนที่แก่งสะพือ อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานีนั้น รถยนต์ที่โดยสารไปคว่ำกลางทาง อาจารย์ฝรั่งถึงแก่ซี่โครงหัก ส่วนตัวท่านฟกช้ำดำเขียว ท่านเล่าต่อไปว่า

“ในปีต่อมา ข้าพเจ้าได้รับแต่งตั้งจากคุรุสภา ให้เป็นผู้อำนวยการ ศ.อ.ศ.อ. (ศูนย์กลางอบรมการศึกษาผู้ใหญ่จังหวัดอุบลราชธานี) และได้จัดให้มีโครงการ ช.ศ.ร. (การชุมนุมเพื่อการศึกษาระหว่างภาคเรียนฤดูร้อน) ณ จังหวัดอุบลราชธานี และได้มีการจัดให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมไปทัศนาจรเมืองเรณูนคร อ.ธาตุพนม จ.นครพนม กิจกรรมได้ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย แต่รถยนต์ฟอร์ดคันที่ข้าพเจ้าโดยสารไปกับบุตรชายชื่อ อากร และบุตรีหญิงชื่อ อรพินทร์ เกิดคันส่งหลุด รถคว่ำตกถนนไปอยู่ข้างทางที่อำเภอม่วงสามสิบ คนขับรถกับบุตรสองคนไม่ได้รับบาดเจ็บ แต่ข้าพเจ้าเคราะห์ไม่ดี นั่งหน้าคู่กับคนขับรถถูกกระจกหน้ารถชนริมฝีปากบนแตก เลือดไหลต้องกลับมาให้ นายแพทย์ชลวิชช์ ชุติกร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุบลราชธานี เย็บบาดแผลให้ถึง ๑๒ เข็ม

หลังจากนี้ข้าพเจ้าทราบว่า คุณหลวงสุวิชานแพทย์ เป็นผู้ที่มีความสามารถมองเห็นเหตุการณ์ต่างๆ ว่าเกิดขึ้นเพราะเหตุไร ข้าพเจ้าจึงปรารถนาที่จะไปปรึกษาท่านว่าเป็นเพราะเหตุไร ข้าพเจ้าจึงประสบอุบัติเหตุรถคว่ำบ่อยๆ ข้าพเจ้าไม่รู้จักกับคุณหลวงสุวิชานแพทย์ เป็นการส่วนตัว แต่ทราบว่าเพื่อนของข้าพเจ้าคนหนึ่ง คือ นายชุณห์ อรุณโรจน์คุ้นเคยกับคุณหลวงสุวิชานแพทย์ ข้าพเจ้าจึงได้ขอให้พาข้าพเจ้าไปพบคุณหลวงสุวิชานแพทย์และเมื่อพบกันแล้ว ข้าพเจ้าก็ได้เล่าเรื่องต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นให้ท่านฟัง

คุณหลวงสุวิชานแพทย์ นั่งหลับตาเข้าสมาธิอยู่ครู่หนึ่ง แล้วก็บอกกับข้าพเจ้าว่าที่ตั้งของ ศ.อ.ศ.อ. (ศูนย์กลางอบรมการศึกษาผู้ใหญ่จังหวัดอุบลราชธานี) ตั้งอยู่ในรัศมีของหนองน้ำอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งมีดวงวิญญาณของบุคคลที่ตายไปนานแล้วยังสิงสู่อยู่ในบริเวณ ดวงวิญญาณนั้นยังอาละวาดอยู่ จึงทำให้ข้าพเจ้าประสบอุบัติเหตุรถคว่ำอยู่เนืองๆ

ข้าพเจ้าได้ชี้แจงว่า ในระหว่างที่ปฏิบัติงานที่ ศ.อ.ศ.อ. ก็ได้มีการบำเพ็ญกุศลและประกอบพิธีสงฆ์ตามประเพณีอยู่เสมอ แต่คุณหลวงสุวิชานแพทย์บอกว่าการบำเพ็ญกุศลเช่นนั้นยังไม่ถึงดวงวิญญาณที่สิงสู่อยู่ที่ ศ.อ.ศ.อ. ท่านจึงแนะนำให้ข้าพเจ้านิมนต์พระ ๕ รูป มาฉันภัตตาหารเพล ที่ ศ.อ.ศ.อ. แล้วกรวดน้ำโดยกล่าวว่า

“ขออุทิศส่วนกุศลให้แก่วิญญาณที่สิ่งสู่อยู่ ณ ที่นี้ จงเป็นสุข เป็นสุขเถิด”

ครั้นข้าพเจ้าได้ปฏิบัติตามคำของคุณหลวงสุวิชานแพทย์และมีการจัดตั้งศาลพระภูมิที่ ศ.อ.ศ.อ. ด้วย นอกจากนั้น นายประมูล พลโกษฐ์ ผู้อำนวยการ ศ.อ.ศ.อ. คนปัจจุบันก็เคยบอกแก่ข้าพเจ้าว่า ที่ ศ.อ.ศ.อ. มีดวงวิญญาณของพระเจ้าชัยบุรี สถิตอยู่ อย่างไรก็ดีภายหลังที่ทำบุญเลี้ยงพระ ๕ รูป และอุทิศส่วนกุศลให้แก่ดวงวิญญาณที่สิงสู่อยู่ ณ ที่นี้จงเป็นสุข เป็นสุขเถิด ข้าพเจ้าก็มิได้ประสบอุบัติเหตุรถยนต์คว่ำอีกเลย

หมายเหตุ นายอภัย จันทวิมล เป็นผู้อำนวยการ ศ.อ.ศ.อ. ตั้งแต่ วันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๔๙๗ - ๙ ตุลาคม ๒๕๐๔ เป็นเวลา ๗ ปี

โรงละครแห่งชาติ

ท่าน พล ร.ต. หลวงสุวิชานแพทย์ ร.น. ได้กล่าวถึงการคิดทำงานใหญ่ของบุคคลสำคัญที่มักจะมองข้ามการเซ่นบวงสรวงต่อเจ้าที่เจ้าทาง อย่างเช่นการก่อสร้างโรงละครแห่งชาติของกรมศิลปากรนั้น เดิมที คุณหลวงวิจิตรวาทการ อดีตปลัดบัญชาการ สำนักนายกรัฐมนตรี ได้รับมอบหมายให้เป็นประธานกรรมการจัดสร้างแต่ยังไม่ทันที่ผลงานจะเรียบร้อย อดีดปลัดบัญชาการก็ถึงแก่อนิจกรรมเสียก่อน ต่อมาจอมพลถนอม กิตติขจร (ครั้งเมื่อเป็นพลเอก ตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี) ได้รับมอบหมายแทน เพียงเริ่มผลงาน ประธานคนใหม่ก็ล้มเจ็บลง ท่านอาจารย์คุณหลวงสุวิชานแพทย์ทราบเรื่องได้รับเชิญให้ไปตรวจสอบสถานที่ดู ปรากฏว่า สถานที่ก่อสร้างโรงละครแห่งชาติเดิมเป็นพระราชวังของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว (ในรัชกาลที่ ๔) และการก่อสร้างไม่ได้ขออนุญาตก่อน เลยมีเหตุบันดาลให้เป็นไป เมื่อเป็นดังนั้นจึงต้องทำพิธีบวงสรวงขอขมาลาโทษ และจะจัดสร้างพระบรมรูปถวายเมื่อโรงละครแห่งชาติสร้างเสร็จแล้ว นับแต่วาระนั้น ท่านจอมพลถนอมกิตติขจร ก็หายวันหายคืน

“เดลินิวส์” อาทิตย์ ที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๓๒

หลังจากที่ลงเรื่อง “ท่านอาจารย์ พล ร.ต. สุวิชานแพทย์ ร.น. ผู้อัญเชิญท่านท้าวมหาพรหมประทับที่โรงแรมเอราวัณ” ไปเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ได้มีผู้อ่านโทรศัพท์ไปหาผู้เขียนหลายท่าน ขอร้องให้เล่าเกี่ยวกับคุณธรรมอันประเสริฐของท่านอาจารย์คุณหลวงสุวิชานฯ เพิ่มเติม เพราะบางคนเพียงแต่เคยได้ยินกิตติคุณของท่านที่ร่ำลือกันมาจนทุกวันนี้ ส่วนรายละเอียดต่างๆ ไม่ใคร่จะทราบนัก

เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้เขียนขอเล่าต่อดังนี้

ครั้นผู้เขียนเรียนจบมัธยมปีที่ ๖ จากโรงเรียนอำนวยศิลป์ปากคลองตลาดใหม่ๆ เพื่อนของผู้เขียนคนหนึ่งชื่อ พ.อ. เจตน์ จารุตามะ (ถึงแก่กรรมไปแล้ว) ชักชวนลงเรือข้ามฟากจากฝั่งพระนครไปกราบท่านอาจารย์คุณหลวงสุวิชานฯ ณ บ้านของท่านที่อยู่ทางสะพานพระปิ่นเกล้าในปัจจุบัน เพื่อขอความกรุณาให้ท่านช่วยเหลือเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยของญาติผู้ใหญ่ที่กำลังมีอาการค่อนข้างหนัก

ครั้นไปถึงบ้านท่านแล้ว เราก็ต้องรับบัตรที่ทางบ้านของท่านจัดเอาไว้ให้ แล้วนั่งรอจนกว่าจะถึงคิวของตัว ซึ่งก็กินเวลาเป็นชั่วโมง เพราะคนที่มาพึ่งท่านก่อนหน้าเรามีเป็นจำนวนไม่น้อย

เมื่อถึงคิวของเจตน์แล้ว เขาก็ชวนผู้เขียนเข้าไปกราบท่าน หลังจากทำความเคารพ เพื่อนยังไม่ทันจะเอ่ยปากเล่าเรื่องให้ท่านฟังสักคำ ท่านอาจารย์คุณหลวงสุวิชานฯ ก็ทักขึ้นเสียก่อนว่า

“คุณป้าของเรายังไม่ถึงที่ตายดอก กลับไปนี่ให้ท่านทำสังฆทานไปถวายพระแล้วกรวดน้ำอุทิศกุศลไปให้เจ้ากรรมนายเวร และเทวดาที่รักษาอายุ อีกไม่กี่วันก็หาย ยังไม่สิ้นอายุ”

ต่อมาอีกสาม สี่วัน – ญาติผู้ใหญ่ของเพื่อนผู้เขียนก็ลุกเดินเหินได้ และอยู่มาอีกหลายปี จึงถึงแก่กรรม

ช่วยครอบครัวและเพื่อนบ้านให้รอดตาย

เรื่องที่มหัศจรรย์อีกเรื่องหนึ่งก็คือ เมื่อครั้งสงครามมหาเอเชียบูรพา ปี พ.ศ. ๒๔๘๘-๒๔๘๙ นั้น ระยะเวลาดังกล่าว นอกจากท่านอาจารย์คุณหลวงสุวิชานฯ จะได้ช่วยเหลือปัดเป่าความทุกข์ของคนทั้งหลายแล้ว ท่านยังได้ช่วยให้ครอบครัวของท่าน และเพื่อนบ้านใกล้เคียงรอดพ้นจากความตายอย่างหวุดหวิดอีกด้วย แต่ภัยสงครามในครั้งนั้น ทำให้ท่านเกือบหมดตัวเพราะบ้านเรือนถูกลูกระเบิดพังทลายจนหมดสิ้น

กล่าวคือ ในคืนวันหนึ่ง เสียงสัญญาณภัยทางอากาศก็ดังขึ้นท่ามกลางความเงียบสงัด ท่านอาจารย์คุณหลวงสุวิชานฯ ลุกขึ้นจากที่นอนทันทีทันใด แล้วรีบเข้าไปกราบพระพุทธรูปที่ท่านบูชา ครั้นสังเกตเห็นควันธูปที่จุดไม่ลอยขึ้นเบื้องสูง แต่กลับลอยวนเวียนเป็นวงกลม ท่านจึงนั่งสมาธิ ตรวจดูทราบว่า “เป็นครั้งสุดท้าย” ก็รีบลงจากบ้านเร่งบุตรของท่านออกเดินทางเข้าสวน (สวน คือ บริเวณสี่แยกอรุณอัมรินทร์ เชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าในปัจจุบัน) โดยด่วน

ฝ่ายชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงเห็นท่านอาจารย์ลงจากเรือนรุดเข้าสวนดังกล่าว ต่างก็พากันตะโกนบอกต่อๆ กันว่า คืนนี้คุณหลวงออกไปด้วยคืนนี้คุณหลวงออกไปด้วย! แล้วรีบเข้าไปพาคนในบ้านที่ยังหลงเหลือไว้เฝ้าบ้านให้ออกจากเรือนของตนตามๆ กัน

ขณะนั้นเครื่องบิน บี.๒๙ เริ่มลดระดับลงบินต่ำ และวนเวียนถี่เข้าทุกขณะ พอท่านอาจารย์คุณหลวงสุวิชานฯ พาบุตรของท่านเร่งเดินไปถึงทางเลี้ยวเข้าสวนเท่านั้น บี.๒๙ ก็โฉบต่ำลงมาทิ้งลูกระเบิดทันที!

ปรากฏว่ารุ่งเช้าเห็นที่ดินบ้านของท่านถูกระเบิดทำลาย ตัวเรือนหลังใหญ่ยังคงเป็นรูปทรงอยู่ แต่หลังคายุบลงไปโดยมีกอไผ่กอใหญ่ถูกแรงระเบิดยกมาจากหลังบ้าน หล่นลงมาทับ ส่วนบ้านช่องของชาวบ้านแถบนั้นก็พลอยวอดวายไปด้วยฤทธิ์ลูกระเบิดเพลิงจนราบพนาสูญแทบจะไม่เหลือ!

ช่วยต่ออายุคนตาย

พูดถึงเรื่องที่เกี่ยวกับวิญญาณแล้ว ท่านอาจารย์คุณหลวงสุวิชานฯ เคยเล่าให้ฟังในรายการที่ท่านได้รับเชิญไปพูดเรื่องจิตกับวิญญาณในครั้งหนึ่งว่า

มีญาติของคนไข้ผู้หนึ่งเชิญท่านไปรักษาเพราะคนป่วยมีอาการเพียบหนัก เมื่อท่านไปถึงบ้านก็ได้ตรวจอาการตามวิชาแพทย์ ซึ่งท่านมีความเชี่ยวชาญก็พบว่า ชีพจรของคนไข้หยุดเต้นแล้ว! คนไข้ผู้นั้นถึงแก่กรรมก่อนท่านจะไปถึงชั่วเวลาประเดี๋ยวเดียว!

ครั้นวงศาคณาญาติของผู้ตายทราบเช่นนั้นก็พากันร้องไห้ด้วยความอาลัยอาวรณ์ในความดีของผู้ตายเป็นที่น่าเวทนา ทั้งร่ำร้องขอให้ท่านอาจารย์คุณหลวงสุวิชานฯ หาทางช่วยเหลือให้คนตายฟื้นคืนสติอีกสักครั้ง เพราะพวกเขาทราบดีว่า ท่านมีความสามารถพอจะกระทำได้

ท่านอาจารย์คุณหลวงสุวิชานฯ ได้ฟังญาติของคนไข้รุมเร้าของความช่วยเหลือจากท่าน ดังนั้น ครั้งแรกท่านยังไม่กล้าที่จะรับปากพวกเขาเพียงแต่บอกว่าขอให้ท่านได้ตรวจดูตามหลักวิชาสมาธิของท่านดูก่อน

แล้วท่านก็เข้าสมาธิติดตามวิญญาณของชายคนไข้ที่ตายไป จนพบกับเทวดาที่รักษาอายุของเขา ท่านจึงได้ขอร้องกับเทวดาเพื่อขอชีวิตกลับคืนร่างตามเดิม ผลสุดท้ายได้มีการต่อรองกับเทวดารักษาอายุองค์นั้นโดยเทวดาได้ขอสัญญาว่า ถ้าให้วิญญาณของชายผู้นั้นกลับคืนสู่ร่างแล้ว จะต้องให้เขาบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาชั่วระยะหนึ่ง ซึ่งท่านอาจารย์คุณหลวงสุวิชานฯ ก็รับปากจะบอกญาติพี่น้องของเขาให้จัดการตามประสงค์ของเทวดาทุกประการ

ท่านอาจารย์คุณหลวงสุวิชานฯ ออกจากฌานสมาธิ จึงแจ้งให้วงศาคณาญาติของผู้ซึ่งถึงแก่กรรมไปแล้วให้ทราบ อันเป็นการนำความปลื้มปีติแก่พวกเขาเป็นอย่างมาก และต่างก็นั่งรอเวลาที่วิญญาณจะกลับคืนสู่ร่าง

เวลาผ่านไปครู่ใหญ่ ๆ ท่านอาจารย์คุณหลวงสุวิชานฯ ได้ตรวจอาการคนตายอีกครั้งหนึ่ง ปรากฏว่าหัวใจของชายผู้นั้นเริ่มเต้นช้า ๆ จนเข้าระดับปกติในเวลาต่อมาที่ไม่นานเท่าไหร่เลย !

เมื่อชายผู้นั้นแข็งแรงดีแล้ว ญาติพี่น้องได้จัดการให้เขาอุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาตามข้อตกลงที่ท่านอาจารย์ได้ให้ไว้แก่เทวดารักษาอายุของเขา โดยไม่กล้าบิดพลิ้วแต่อย่างใด

ท่านอาจารย์คุณหลวงสุวิชานฯ ได้บรรยายถึงการขอต่ออายุจากเทวดารักษาอายุด้วยการเปรียบเทียบให้ฟังว่า เสมือนเราต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใดในวัด เราจำเป็นต้องไปขออนุญาตตกลงกับเจ้าอาวาสหรือผู้ใหญ่ในวัดฉันใด การขอชีวิตก็จำเป็นที่จะต้องไปขออนุญาตตกลงกับเทวดาองค์ที่รักษาอายุของคนผู้นั้นฉันนั้น!

หลวงพ่อโต

นอกจากเรื่องดังกล่าว เมื่อครั้งวันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๙๕ ได้มีการประกอบพิธีสำคัญขึ้น ณ วัดอินทรวิหาร บางขุนพรหม คือพิธีสร้างพระพิมพ์ สมเด็จพุฒาจารย์ (โต) โดย พล ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ เป็นประธานนั้น นอกจากพระราชาคณะและพระคณาจารย์ผู้ทรงคุณวิเศษเลื่องลือเป็นที่รู้จักกันดีแล้ว พล ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ยังได้เชิญท่านอาจารย์คุณหลวงสุวิชานแพทย์ฯ เข้าร่วมในพิธีกรรมครั้งนั้นด้วย

ขณะที่พระราชาคณะและพระคณาจารย์ทั้งหลายกำลังสวดพระปริตรอยู่นั้น ท่านอาจารย์คุณหลวงสุวิชานฯ ได้นั่งสมาธิในขณะที่จิตสงบก็ได้เห็นวิญญาณของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) กำลังพินิจพิจารณาสิ่งของต่างๆ ภายในวงสายสิญจน์ ซึ่งเป็นสรรพวัตถุที่จะประมวลเข้าพิธีกรรม อันมีผงเกสรดอกไม้ต่างๆ รวมทั้งแม่พิมพ์ว่าจะเป็นของปลอมหรือของแท้ และขาดเหลือสิ่งใดบ้าง เมื่อพระคุณเจ้าสำรวจจนเป็นที่พอใจแล้ว ท่านก็เสด็จกลับขึ้นสู่พรหมโลก

จากนั้น ท่านอาจารย์คุณหลวงสุวิชานฯ ยังได้ทราบโดยทางฌานสมาธิอีกว่า วิญญาณของสมเด็จพุฒาจารย์ (โต) จะเสด็จจากพรหมโลกลอยเข้าสู่มงคลพิธีในเวลา ๑๕.๐๐ น!

พิธีการ ครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งได้จัดขึ้น ณ วัดสัมพันธวงศ์ ซึ่งในครั้งนี้ท่านอาจารย์คุณหลวงสุวิชานฯ เป็นผู้อุปการะ และได้ร่วมกันจัดสร้างพระโดยศิษย์ของท่าน ในพิธีนี้มีพระราชาคณะและพระคณาจารย์ต่าง ๆ ผู้ทรงคุณวิเศษมาร่วมด้วยเป็นอันมาก

เมื่อได้ฤกษ์ก็บังเกิดนิมิตประหลาดบนท้องฟ้าที่กำลังแผดจ้าด้วยแสงแดดกำลังกล้ากลับเปลี่ยนเป็นพยับโพยม เมฆฝนมืดทึบเคลื่อนมาปกคลุมทั่วท้องฟ้านภากาศในบัดดล

ท่านอาจารย์คุณหลวงสุวิชานฯ เห็นนิมิตดังนั้นจึงได้เข้าไปทำการบูชาพระพุทธรูปในโบสถ์โดยฉับพลัน เพราะท่านทราบว่า การที่เกิดนิมิตประหลาดเช่นนี้มิได้เกิดจากธรรมชาติและก็สมจริงทุกประการ

เพราะเมื่อท่านอาจารย์ขอบรมพุทธานุญาตนั่งสมาธิได้ครู่เดียว ท่านก็ทราบว่าดวงวิญญาณของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ได้เสด็จมาถึงแล้วแต่ยังไม่ยอมเข้าที่ประทับด้วยยังไม่มีผู้ใดอัญเชิญ ท่านอาจารย์จึงออกจากสมาธิ สั่งให้เจ้าหน้าที่พิธีการอัญเชิญวิญญาณของสมเด็จฯ เข้าสู่ที่ประทับทันที

เมื่อการณ์ทั้งหลายเป็นที่เรียบร้อย เมฆที่พยับโพยมบดบังแสงอาทิตย์ก็เคลื่อนคล้อยลอยไป จึงบังเกิดแสงสว่างแผดจ้าทั่วท้องฟ้านภาลัยอีกครั้งหนึ่ง

“ท่านอาจารย์คุณหลวงสุวิชานแพทย์ ได้ช่วยเหลือผู้มีทุกข์จนปลายชีวิตของท่าน นั่นก็คือ ในคืนวันพุธที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๒๒ ท่านท้องเสียหลายครั้งมาแล้ว จึงทำให้อ่อนเพลียมาก จนเหมือนไม่รู้สึกตัว ทำให้บรรดาบุตรของท่านตกใจรีบติดต่อโรงพยาบาล ขณะนั้นคุณประยูร วงศ์ผดุง ได้พาแขกมาพบ เมื่อท่านอาจารย์คุณหลวงสุวิชานฯ ซึ่งมีอาการหนักอยู่แล้ว ทราบว่ามีผู้มาขอความช่วยเหลือปัดเป่าทุกข์ของเขา ท่านก็ลืมทุกข์ของท่าน ได้พยายามช่วยเหลือแขกผู้นั้น ทั้ง ๆ ที่ท่านกำลังจะสิ้นแรง !

รุ่งขึ้นท่านเข้าโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า แล้วไม่ได้กลับบ้านอีกเลย !

ผู้เขียนเชื่อเหลือเกินว่า วิญญาณอันบริสุทธิ์ของท่านอาจารย์คุณหลวงสุวิชานแพทย์ คงสถิตบนชั้นพรหม เพราะเมื่อยามมีชีวิตอยู่ท่านสามารถติดต่อกับท่านท้าวมหาพรหมผู้เป็นใหญ่แห่งสรวงสวรรค์ เพื่อปัดเป่าความทุกข์ของคนทั้งหลายเป็นเวลาเกินกว่าครึ่งของอายุท่าน ซึ่งผู้เขียนอยากจะกล่าวว่า เราจะหาผู้มีคุณธรรมสูงเช่นนี้ไม่ได้อีกแล้ว

“เดลินิวส์” อาทิตย์ ที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๓๕

พลเรือตรีหลวงสุวิชานแพทย์

เนื่องจาก ได้มีอาจารย์บางท่านแอบอ้างว่าตนเป็นผู้ตั้งศาลท่านท้าวมหาพรหม ณ โรงแรมเอราวัณ ถึงกับมีผู้สงสัยหลายคนโทรศัพท์ ไปถามผู้เขียนนั้น ผู้ขียนขอยีนยันว่า ท่านอาจารย์ พล ร.ต. หลวงสุวิชานแพทย์ ร.น. เป็นผู้มอบหมายให้ คุณประยูร วงศ์ผดุง เป็นผู้ทำพิธีอัญเชิญท่านท้าวมหาพรหมสถิตในพระรูปปั้น (ที่ออกแบบโดยคุณเจือระวี ชมเสวี และ ม.ล. ปุ่น มาลากุล เป็นผู้ออกแบบศาล) โดยเครื่องพิธีการทั้งหมดกำหนดด้วยการติดต่อทางจิตผ่านท่านอาจารย์คุณหลวงสุวิชานแพทย์ หรือพูดง่ายๆ ก็คือให้คุณประยูร วงศ์ผดุง เป็นผู้กระทำพิธี โดยการควบคุมของท่านอาจารย์คุณหลวงสุวิชานแพทย์ ซึ่งในพิธีนี้มี พล ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อดีตอธิบดีกรมตำรวจเป็นประธาน ทั้งนี้ก่อนหน้าที่จะตั้งศาลนั้น พล ต.ต. ม.ล. จเร สุทัศน์ฯ ได้เชิญท่านอาจารย์คุณหลวงสุวิชานแพทย์ ไปพิจารณาเลือกสถานที่ ที่จะตั้งศาลถวายท่านท้าวมหาพรหม ในวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๔๙๙ และได้ทำพิธีเปิดโรงแรมเอราวัณ พร้อมทั้งทำพิธีบวงสรวงและอัญเชิญท่านท้าวมหาพรหมประดิษฐานบนศาล ในวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๔๙๙

คราวนี้ ก็จะขอเล่าถึงคุณธรรมอันวิเศษของท่านอาจารย์ คุณหลวงสุวิชานแพทย์ต่อจากอาทิตย์ที่แล้ว

ช่วยหาปืนหายให้นาวิกโยธิน

เมื่อครั้ง พล ร.ท. ชื้น สนแจ้ง รับราชการอยู่ที่กรมนาวิกโยธินนั้น เกิดเหตุปืนเล็กยาวจำนวน ๑๐๐ กระบอกของกรมนาวิกโยธินหายไปโดยปราศจากร่องรอย ทำให้ท่าน พล ร.ท. ชื้น ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบวิตกอย่างยิ่ง

หลังจากได้สั่งให้ทหารภายใต้การบังคับบัญชาของท่านค้นหาจนทั่วไม่พบแล้ว ท่านไม่ทราบจะแก้ไขอย่างไรต่อไปจึงลองติดต่อกับท่านอาจารย์หลวงสุวิชานแพทย์ดู ท่านอาจารย์ทราบความแล้วได้นั่งสมาธิประเดี๋ยวหนึ่งก็บอกแก่ พล ร.ท. ชื้น ว่าให้รีบไปค้นดูปืนจำนวน ๑๐๐ กระบอกนี้อีกครั้ง คนร้ายได้แยกไปซ่อนสองที่ ที่ละ ๕๐ กระบอก ที่แรกซุกซ่อนอยู่โดยมีของปกปิดไว้ อีกที่หนึ่งก็ซุกไม่ห่างกันนัก ขอให้ พล ร.ท. ชื้น รีบกลับไปตรวจค้นก่อนที่ของจะเคลื่อนย้าย

พล ร.ท. ชื้น ทราบดังนั้นก็รีบไประดมทหารออกค้นโดยด่วน

ปรากฏว่าได้พบปืนจำนวน ๕๐ กระบอกแรกอยู่ในกระสอบ ซ่อนไว้ในห้องหนึ่ง มีผ้าคลุมปิดเอาไว้ ส่วนอีก ๕๐ กระบอกหลังก็อยู่ในกระสอบเช่นกัน แต่อยู่อีกที่หนึ่งไม่ห่างไกลกันนักเพื่อเตรียมขนย้ายภายหลัง

แม่ย่านางเรือโบราณ

อีกเรื่องหนึ่งซึ่งแสดงให้เห็นถึง “ตาทิพย์” ที่แม่นยำของท่านอาจารย์คุณหลวงสุวิชานแพทย์มีดังนี้

ท่านผู้หนึ่ง ได้เล่าให้ฟังว่าไปซื้อที่ดินบริเวณชานเมืองไว้ผืนหนึ่ง กำหนดจะปลูกบ้าน ครั้นได้ฤกษ์งามยามดีก็ลงมือขุดหลุมเพื่อฝังเสาเรือน พอขุดลงไปได้ไม่ถึงครึ่งเมตรปรากฏว่าพบไม้กลมยาวขนาดใหญ่ท่อนหนึ่งฝังขวางทางอยู่ จึงพยายามขุดเอาไม้ออกจากที่นั่นเพราะมิฉะนั้นจะลงเสาเรือนไม่ได้ แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่สามารถจะขุดเอาไม้ท่อนนั้นออกไปได้ ทั้งๆ ที่ระดมคนงานมานับสิบ จนอ่อนใจก็พอดีมีผู้แนะนำให้ท่านผู้นั้นไปลองเรียนถามท่านอาจารย์คุณหลวงสุวิชานแพทย์ดู เขาจึงรีบอาบน้ำอาบท่าจัดแจงหาดอกไม้ธูปเทียนไปกราบท่านแล้วเล่าถึงอุปสรรคในการปลูกบ้านของเขาให้ท่านฟัง ท่านอาจารย์คุณหลวงสุวิชานแพทย์นั่งสมาธิประเดี๋ยวเดียวก็บอกแก่เขาว่า

ใต้บริเวณพื้นดินที่ท่านผู้นั้นจะปลูกบ้านมีซากเรือโบราณอยู่ลำหนึ่งจมอยู่ การปลูกบ้านในครั้งนี้จึงมิใช่ปลูกบ้านบนพื้นดินอย่างบ้านเรือนของคนทั่วไป แต่เป็นการปลูกบ้านบนเรือโบราณนั้นเทียว!

แล้วท่านอาจารย์ก็ทำการบอกกล่าวแก่เจ้าของเรือโบราณลำนั้นขออย่าได้ขัดขวางการปลูกบ้านในภายหลัง และแนะนำให้เขาเอาเด็กเล็กๆ สัก ๕ คน แล้วหาเชือกเส้นเล็ก ๆ ธรรมดาไปผูกกับเสานั้นให้เด็กช่วยกันจูงขึ้นมา

ท่านผู้นั้นก็กราบลาอาจารย์กลับบ้าน แล้วไปเกณฑ์เด็กๆ ที่มีอายุ ๕ – ๖ ขวบ มาได้ ๕ คน แล้วนำเชือกเส้นเล็ก ๆ ไปผูกกับท่อนไม้ขนาดใหญ่ที่จมอยู่ใต้ดิน

ปรากฏเป็นที่น่าอัศจรรย์อย่างยิ่งที่ไม้จมดินขนาดผู้ใหญ่ชายฉกรรจ์จำนวนมากช่วยกันพยายามเอาเสาไม้ขึ้นเท่าไหร่ก็ไม่สำเร็จ แต่เพียงเด็กตัวเล็กๆ ๕ คน เท่านั้นก็สามารถจูงลากเสาไม้ท่อนนั้นขึ้นมาได้อย่างสบาย แทบจะพูดได้ว่าไม่ต้องใช้กำลังเลย!

เมื่อขุดและลากเสาต้นนั้นขึ้นมาแล้ว ท่านผู้นั้นได้พิจารณาดูก็เห็นมีลักษณะเหมือนเสาเรือในสมัยก่อนตรงตามคำบอกเล่าของท่านอาจารย์คุณหลวงสุวิชานแพทย์ ซึ่งนั่งหลับตาเข้าสมาธิอยู่กับบ้านของท่านแท้ๆ แต่กลับเห็นและทำนายได้ถูกต้องแม่นยำ ทั้งยังช่วยขจัดอุปสรรคในการปลูกบ้านให้หมดสิ้นไปอีกด้วย !

ต่อมาท่านผู้นั้นได้ฝันว่ามีผู้หญิงคนหนึ่งแต่งกายนุ่งห่มด้วยเสื้อผ้าสมัยโบราณสีแดงมาหา แต่มิได้พูดจาอะไร เพียงแต่มาปรากฏกายยืนมองเขาเฉยๆ ท่านผู้นั้นจึงได้ไปกราบเรียนท่านอาจารย์คุณหลวงสุวิชานแพทย์อีกครั้ง ท่านอาจารย์บอกว่าผู้ที่มาปรากฏกายในความฝันของเขานั้นคือ แม่ย่านางของเรือลำนั้น !

ท่านอาจารย์คุณหลวงสุวิชานแพทย์ยังแนะนำให้เขากลับไปตั้งศาล แล้วอัญเชิญวิญญาณให้มาสถิตอยู่ในศาล และหมั่นทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่แม่ย่านางเรือเสมอๆ จะเกิดความเจริญรุ่งเรืองต่อไปในภายหน้าอย่างแน่นอน

เขาจึงรีบกลับไปปฏิบัติตามคำแนะนำของท่านทุกประการ และนับแต่นั้นก็มีแต่ความอยู่เย็นเป็นสุข มีความเจริญในทางราชการสืบมา

ศาลพระเจ้าตาก

ท่านอาจารย์ คุณหลวงสุวิชานแพทย์ เป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องจากวงสังคมทั่วไปว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญทางฌานสมาธิยอดเยี่ยมผู้หนึ่ง ท่านได้รับเชิญเข้าร่วมพิธีสำคัญๆ มาแล้วมากมายแทบจะกล่าวได้ว่าที่ใดมีการประกอบพิธีสำคัญแล้วท่านจะต้องได้รับเชิญให้เข้าร่วมด้วยทุกครั้ง

ครั้งหนึ่งทางราชการตั้งศาลพระเจ้าตากสินที่ท้องพระโรง ณ โรงเรียนนายเรือนั้น ท่านอาจารย์ซึ่งได้รับเชิญเข้าไปร่วมด้วย ได้นั่งสมาธิชั่วครู่ก็ได้เห็นวิญญาณของพระเจ้าตากสินเสด็จมาในพิธีนั้น และทราบว่าทรงโสมนัสเป็นยิ่งนักที่มีผู้เลื่อมใสสร้างศาลและพระบรมรูปไว้สักการะ จึงได้ประสาทความศักดิ์สิทธิ์เพิ่มเติมไว้ที่ศาลของพระองค์นี้อีกด้วย

ผู้เขียนอยากให้บุคคลเช่น ท่านอาจารย์ พล ร.ต. หลวงสุวิชานแพทย์ ร.น. เกิดในยุคนี้เป็นที่สุด เพื่อจะได้ช่วยปัดเป่าความทุกข์ยากแก่คนทั่วไปอีกครั้ง เพราะทุกวันนี้คนไทยมีความทุกข์มากเหลือเกิน เจ้าประคุณเอ๋ย!

“เดลินิวส์” อาทิตย์ ที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๓๕

พลเรือตรีหลวงสุวิชานแพทย์

เพื่อให้ชีวประวัติของ พล ร.ต. หลวงสุวิชานแพทย์ ร.น. ได้จบลงอย่างสมบูรณ์ จึงจะขอนำเรื่องเก่ามาเล่าใหม่เป็นบางเรื่องมาลง ณ โอกาสนี้ ทั้งนี้ ผู้ที่ยังไม่เคยทราบประวัติเรื่องราวของท่านจะได้ทราบโดยทั่วกันในครั้งนี้

เรื่องเกี่ยวกับความมหัศจรรย์ในความสามารถอันพิเศษเหนือมนุษย์ธรรมดาอย่างเราๆ นั้น ดูจะไม่มีอะไรเหนือกว่า เรื่องที่แสดงให้เห็นได้ชัดถึงความสามารถของท่านอาจารย์คุณหลวงสุวิชานแพทย์ได้เท่ากับการอัญเชิญท่านท้าวมหาพรหมเสด็จลงมารักษาคนป่วยหนักยังโลกมนุษย์ โดยองค์ท่านจำแลงกายมาในรูปกายของคนๆ หนึ่ง ดังคำบอกเล่าของคุณตริทิพย์ พุธานานนท์ ภริยา พล ท.พร้อม พุธานานนท์ อดีตเจ้ากรมจเรทหารบก

เรื่องมีอยู่ว่า คุณพึ่งชม ไชยนันท์ พี่สะใภ้ซึ่งเป็นภรรยาของ พ.ท. โชคชัย ไชยนันท์ (ยศในสมัยนั้น) ป่วยหนัก หมอตรวจอาการแล้วไม่ทราบว่าเป็นโรคอะไรกันแน่ตาบวมปิดทั้งสองข้างและบวมหมดทั้งตัว

สามีเห็นอาการภรรยาหนักจึงไปบอกญาติพี่น้องให้ทราบข่าวและต่างพากันมาเยี่ยม ซึ่งเมื่อเห็นอาการของคุณพึ่งชม ยามนั้นแล้วก็เห็นว่าอาการหนักจริงๆ ฝ่ายคุณพึ่งชมเห็นญาติพี่น้องร้องไห้เพราะเวทนาตนก็ร้องไห้แล้วกล่าวลาตายแก่ญาติพี่น้องทุกคน อันเป็นเหตุการณ์ที่น่าสลดใจเป็นอย่างยิ่ง คุณตริทิพย์เองก็พลอยร้องไห้ไปด้วยเพราะสงสารพี่สะใภ้

แต่ในท่ามกลางความโศกเศร้าอยู่นั้น คุณตริทิพย์ก็หาหนทางที่จะช่วยคุณพึ่งชมและเกิดนึกถึงท่านอาจารย์คุณหลวงสุวิชานแพทย์ขึ้นมาได้ จึงรีบปรึกษา พ.ท.โชคชัย ผู้เป็นพี่ชายว่าจะไปหาท่านให้ลองช่วยเหลือ เพราะถ้าขืนปล่อยไว้เช่นนี้ เกรงจะไม่ดีแน่ พี่ชายก็เห็นด้วย

เมื่อตกลงใจดังนั้น คุณตริทิพย์ก็รีบไปหาท่านอาจารย์คุณหลวงสุวิชานแพทย์ที่บ้านเชิงสะพานพระปิ่นเกล้าในเช้าวันรุ่งขึ้น

พอทำความเคารพท่านเรียบร้อยยังไม่ทันจะเอ่ยปาก ท่านอาจารย์คุณหลวงสุวิชานแพทย์ก็บอกไม่ต้องพูด มาเรื่องคนเจ็บใช่ไหม ? คนไข้คนนี้ประตูสวรรค์เปิดแล้ว คนนี้ตายไปก็ไม่ตกนรก เพราะเป็นคนดี

ต่อจากนั้นท่านก็ถามคุณตริทิพย์ว่า ตอนนี้คนป่วยตายหรือยัง? คุณตริทิพย์ เรียนว่า ยัง ท่านถามอีกว่า ทำไมไม่อยากให้ตาย คุณตริทิพย์ก็เรียนว่า เพราะเป็นพี่สะใภ้แล้วเลยเรียนถามว่า พอจะมีทางไหม ?

ท่านบอกว่า จะลองทูลถามท่านท้าวมหาพรหมดู แล้วท่านก็หลับตาเข้าสมาธิอยู่เป็นครู่หนึ่งจึงบอกวิธีแก้ไข ให้บนว่าถ้าหายแล้วจะถวายพระนอนขนาดหนึ่งในสามของคนเจ็บ แล้วกำชับให้มาส่งขาวเมื่อครบสามวัน

เมื่อกลับมาทำพิธีตามที่ท่านอาจารย์คุณหลวงสุวิชานแพทย์สั่งได้วันหนึ่งคุณตริทิพย์ไม่กล้าไปเยี่ยมคนไข้ เพราะเห็นแล้วสงสารจับใจ ต่อเมื่อวันที่สองจึงไปเยี่ยมเพื่อดูอาการ จะได้กลับไปเรียนให้ท่านอาจารย์ทราบ

ฝ่ายคุณพึ่งชม เมื่อเห็นคุณตริทิพย์มาเยี่ยมก็บอกว่าตนสบายดีขึ้น แล้วก็เล่าให้คุณตริทิพย์ฟังว่า เห็นผู้ชายคนหนึ่งแต่งตัวดีเดินเข้ามาในห้องตอนเย็นแล้วคนไข้ก็ถามคุณติทิพย์ ว่า

“นี่เธอเคยเห็นไหม คนเราหน้าสี่เหลี่ยม? คุณตริทิพย์ก็เฉยไม่กล้าตอบและเสชวนไปคุยเรื่องอื่นๆ จนได้เวลาพอสมควรก็อำลากลับ

พอรุ่งขึ้นคุณตริทิพย์ก็ไปเยี่ยมคุณพึ่งชมอีก คราวนี้คุณพึ่งชมเล่าถึงผู้ชายคนนั้นว่ามาหาและบอกว่า

“นี่เธอหน้าสี่เหลี่ยมป๊อกเขียว!"

คุณตริทิพย์ได้ฟังแล้วขนลุกไปทั้งตัว !

พอครบกำหนดสามวันตามที่ท่านอาจารย์คุณหลวงสุวิชานแพทย์สั่งไว้ว่าให้ไปบอกเรื่องอาการของคนไข้ คุณตริทิพย์ก็ไปหาท่าน และยังไม่ทันจะเอ่ยปากเรียนท่าน ท่านอาจารย์ก็ชิงบอกว่า

“ท่านท้าวมหาพรหมท่านเสด็จไปเยี่ยม คนไข้คนนี้ท่านรับแล้วไม่เป็นไร”

ตั้งแต่นั้นมาอาการป่วยของคุณพึ่งชมก็ดีวันดีคืนจนหายเป็นปกติในเวลาต่อมา ระหว่างที่ป่วยอยู่นี้ผิวหนังลอกออกมาเป็นแผ่นๆ คนไข้ลองเก็บเอาไว้ปรากฏได้เป็นกระป๋องทีเดียว

แต่ครั้นคุณพึ่งชมหายดีแล้ว เมื่อทราบเรื่องที่คุณตริทิพย์บนท่านท้าวมหาพรหมเอาไว้ว่าจะสร้างพระนอนมีขนาดหนึ่งในสามของตนถวายก็เกิดเสียดายเงิน เพราะราคาสมัยนั้นตกราวๆ ๗,๐๐๐ บาท

ดังนั้นเมื่อหายเป็นปกติได้สองปีและยังไม่ได้ลงมือสร้างพระนอนดังกล่าว คุณพึ่งชมก็เกิดล้มป่วยมีอาการเช่นเดิมกล่าวคือ นัยน์ตาปิด และบวมไปทั้งตัว เลยต้องแก้บนด้วยการว่าจ้างช่างสร้างพระนอนขนาดหนึ่งสามของตน แล้วนำมาบูชาที่บ้าน หลังจากนั้นมีชีวิตอยู่ต่อมาอีก ๑๐ ปีเศษ จึงถึงแก่กรรม!

ที่เล่าเรื่องคุณธรรมอันวิเศษของ ท่านอาจารย์คุณหลวงสุวิชานแพทย์ มาให้ฟังทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ท่านผู้อ่านทั้งหลายได้พึงตระหนักว่าคนเราตายไปแล้วมิได้สูญ ยังมีวิญญาณที่คอยรับบุญรับบาปอยู่ ฉะนั้นตราบใดที่ยังมีชีวิตอยู่อย่าได้ประมาทเลย จงเร่งสร้างบุญสร้างกุศลกันเถิด จะได้มีความสุขทั้งยามเป็นและยามตายสมดังใจปรารถนาทุกท่านทุกคน

ช่วยคลี่คลายเหตุการณ์ร้าย

เมื่อครั้งโรงงานทอกระสอบบริษัทกระสอบอีสาน ที่ตำบลจอหอ จังหวัดนครราชสีมา เกิดความวุ่นวายเดือดร้อนมิรู้จักจบสิ้น อันสืบเนื่องมาจากเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงทำให้คนงานเสียชีวิตไปหลายต่อหลายราย เช่น รถยนต์คว่ำบ้าง คนงานผูกคอตายบ้าง คนงานทำปืนลั่นโดนเพื่อนตายบ้าง จนเป็นที่กล่าวขานแก่คนทั่วไปในละแวกใกล้เคียงมาช้านาน

ทางการของโรงงานจึงส่งเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ไปพบท่านอาจารย์คุณหลวงสุวิชานแพทย์ ณ บ้านเชิงสะพานปิ่นเกล้า ในวันหนึ่ง

ท่านอาจารย์ฯ ทราบถึงความทุกข์ร้อนของโรงงานทอกระสอบแล้ว ท่านก็เข้าสมาธิพิจารณาสิ่งต่างๆ อย่างกว้างขวาง ปรากฏว่า ประการแรก สถานที่ตั้งโรงงานแห่งนี้มีวิญญาณจำนวนมากสิงสู่อยู่

บรรดาวิญญาณทั้งหลายไม่เคยได้รับส่วนบุญกุศลใดอุทิศไปให้เลยและ ประการที่สอง พระภูมิเจ้าที่ของสถานที่ไปอยู่ในที่อับไม่เหมาะสม คือด้านในของโรงงาน ไม่ควรแก่การคารวะ

แล้วท่านอาจารย์ฯ ก็แนะนำให้ทางโรงงานทอกระสอบจัดการทำบุญเลี้ยงพระเป็นการใหญ่ แล้วอุทิศส่วนกุศลผลบุญให้แก่วิญญาณที่สิงสู่อยู่ในนั้นเสีย และให้เลือกสถานที่ตั้งพระภูมิโดยให้ย้ายจากหลังโรงงานอันเป็นที่อับ ออกไปไว้ด้านหน้า ใครไปใครมาจะได้คารวะบูชาท่านได้สะดวก

เจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ทางโรงงานทอกระสอบจอหอทราบความที่ท่านอาจารย์ฯแนะนำไปเช่นนั้น ก็รีบจัดการทำบุญเลี้ยงพระอุทิศส่วนกุศลไปให้วิญญาณทั้งหลายที่สิงสู่อยู่ในบริเวณโรงงาน และได้ทำการตั้งศาลพระภูมิใหม่เมื่อปี ๒๔๙๘ จากนั้นมาอุบัติเหตุร้ายแรงต่างๆ ก็เงียบสงบไป

จากการสอบถามชาวบ้านเก่าแก่ในท้องที่ ได้ความว่า สถานที่ตั้งโรงงานแห่งนี้เป็นที่ที่ชาวเมืองใช้สำหรับนำศพไปฝัง ทำนองเป็นป่าช้ากระนั้น!

คุณหมออาจินต์ บุณยเกตุต่อสู้กับวิญญาณที่ภูเก็ต

โดย ทองทิว สุวรรณทัต

“โลกทิพย์” ฉบับ ๑๔๑ ปีที่ ๘ เดือนพฤศจิกายน ๒๕๓๑

เมื่อครั้งคุณหลวงสนั่นวรเวช หัวหน้ากองโรงพยาบาลส่วนภูมิภาค ไปตรวจราชการที่โรงพยาบาลภูเก็ต เห็นความเป็นอยู่ของคุณหมออาจินต์และแพทย์ ซึ่งได้เพิ่มมาอีกคนคือ แพทย์หญิงทวีศิริ บำรุงสวัสดิ์ ซึ่งต้องฝากให้อาศัยอยู่กับคหบดีท่านหนึ่งในเมือง คุณหลวงสนั่นฯ เลยรับปากจะหางบประมาณมาสร้างบ้านพักแพทย์ให้ที่โรงพยาบาลนี้

ประจวบกับท่านเจ้าคุณบริรักษ์เวชการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขบินไปตรวจราชการที่ภูเก็ตด้วย เมื่อเห็นสภาพของโรงพยาบาลก็สั่งให้ทางกรมการแพทย์จัดสรรงบประมาณนี้อย่างรีบด่วน

และอีกไม่กี่เดือนต่อมา ทางโรงพยาบาลภูเก็ตก็ได้งบประมาณสร้างบ้านพักแพทย์สำหรับผู้อำนวยการ บ้านพักแพทย์ประจำโรงพยาบาล เรือนคนงาน ซ่อมแซมหอพักผู้ป่วย โรงพยาบาลภูเก็ตก็ดูดีขึ้นตามลำดับ โดยขยายตึกตรวจโรคภายนอก ห้องผ่าตัด ซ่อมหอพักผู้ป่วย

บ้านใหม่ของผู้อำนวยการ

สถานที่จะก่อสร้างบ้านพักผู้อำนวยการนั้น มีที่อยู่แห่งเดียวที่เหมาะสม คือ ด้านหน้าสุดของโรงพยาบาล ชิดกับขอบรั้วทางทิศตะวันออก เจ้าหน้าที่กรมและส่วนจังหวัดเห็นว่าเหมาะสมที่สุด เพราะเป็นที่ว่าง มีเนินเตี้ยๆ ฝนตกมากน้ำก็ไม่ท่วม

การสร้างบ้านพักในความควบคุมของจังหวัดจึงได้เริ่มขึ้น โดยสร้างเป็นบ้านใต้ถุนสูง แบบบ้านพักแพทย์ของกรมการแพทย์ทั่วไป ใต้ถุนบ้านเทปูนซีเมนต์หนาเอาไว้สำหรับจอดรถ

การสร้างใช้เวลาไม่เกินหกเดือนก็เรียบร้อย หน้าบ้านมีสนามแบดมินตันเอาไว้ออกกำลังกาย และสมานสามัคคีระหว่างข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน แต่บ้านนี้ไม่ได้ทาสีเพราะงบประมาณหมดเสียก่อน

พอบ้านเสร็จ คุณหมออาจินต์ก็ย้ายครอบครัวมาอยู่และนิมนต์พระวัดโฆษิตฯ มาทำบุญขึ้นบ้านใหม่

คุณหมอให้ภรรยาและบุตรอยู่ห้องต่างหาก ส่วนคุณหมอนอนอีกห้องหนึ่ง เพราะถูกปลุกในยามดึกเสมอ เกรงภรรยาและบุตรจะพลอยต้องตื่นไปด้วย

อยู่ ๆ เดินไม่ได้ !

และแล้วเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดฝันก็อุบัติขึ้นอีกครั้งหนึ่ง คุณหมออาจินต์เล่าว่า

“หนึ่งปีให้หลัง หรือประมาณนั้น วันร้ายคืนร้ายก็มาเยือนผมอีก

กล่าวคือเช้าวันหนึ่ง ผมตื่นนอนแล้ว ลุกขึ้นจะไปห้องน้ำตามปกติ แล้วจะเดินย่องไปดูลูกสาวคนแรกที่นอนอยู่กับแม่เขาอีกห้องหนึ่ง

พอลุกขึ้นก็เซหกล้ม เอามือยันไว้ นึกว่างัวเงีย เอาใหม่ ขยี้หู ขยี้ตาเสียหน่อยแล้วลุกขึ้นจะเดินไปห้องลูก ก็ล้มอีก ทีนี้ดังโครมใหญ่ !

คุณแม่กับภรรยาผมก็ออกมาดู ถามว่า เป็นอะไร ?หน้ามืดรึ ?

ผมก็บอกว่า ไม่เป็นไร แต่ขาสองข้างทำไมไม่มีแรงจะยืน

ผมลองยันตัวขึ้นจะยืนก็ล้มอีก ทีนี้รู้เลยว่า ขาทั้งสองของผม ตั้งแต่บั้นเอวลงไปเป็นอัมพฤกษ์เสียแล้ว ! โดยไม่รู้สาเหตุ ไม่รู้จริงๆ

เมื่อวานเย็นนี้ก็ยังเล่นแบดมินตันกับเพื่อนข้าราชการในจังหวัดที่โรงพยาบาล ก่อนนอนก็ยังดีๆ พอเช้าขึ้นมาทำไมเป็นอย่างนี้

ผมก็ให้เขาไปเชิญคุณหมอพิทักษ์และคุณหมอทวีศิริมาช่วยตรวจอาการและระบบประสาทว่าเป็นอะไรที่ไหน ผลออกมาว่า ความรู้สึกส่วนล่างตั้งแต่สะโพกลงไปเสีย รวมทั้งประสาทสำหรับการเคลื่อนไหวด้วย เรื่องมันก็ใหญ่ ต่อไปอัมพาตก็จะเล่นงานผม สองหมอก็ช่วยกันวางยาฉีดยูกฉีดยา

จนวันที่สองก็ไม่ทุเลาขึ้น จึงรายงานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งท่านกรุณามาเยี่ยม แล้วออกไปปรึกษากับคุณหมอพิทักษ์อยู่พักใหญ่ ท่านก็กลับ

ผมก็เป็นห่วงงาน ห่วงคนไข้ คุณหมอพิทักษ์ท่านชำนาญทางโรคเด็กคุณหมอทวีศิริก็สำเร็จใหม่ ยังต้องการพี่เลี้ยง ยังต้องการคำแนะนำ ผมก็มานอนแซ่วอยู่เฉย ๆ ยกขาได้ หยิกเจ็บแต่ไม่มีแรงจะยืน แล้วจะไปทำงานได้อย่างไร ?

อีกสองวันต่อมา ก็ได้รับโทรเลขจากคุณหลวงนิตย์เวชวิศิษฐ์ อธิบดีกรมการแพทย์ว่า “ให้ขึ้นไปกรุงเทพฯ ด่วนที่สุด จัดรถพยาบาลไว้รับที่ดอนเมืองแล้ว

อดีตผู้อำนวยการป่วยทุกคน

คุณหมออาจินต์เล่าต่อไปว่า

“ผมเข้าใจว่า ผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านขุนจรรยาวิเศษและคุณหมอพิทักษ์ที่ออกมาหารือกันนั้นก็คือจะส่งตัวผมไปกรุงเทพฯ โดยโทรเลขบอกมาทางกรมการแพทย์ ท่านอธิบดีในขณะนั้นท่านห่วงมาก เพราะที่ภูเก็ตนี่แพทย์ผู้อำนวยการทุกคนมีอาการป่วยแปลกๆ ดังนี้

หมอฝรั่งคนแรกที่มาจากปีนัง ป่วยเป็น.โรคเส้นโลหิตแตกเป็นอัมพฤกษ์ เจ้าคุณรัษฏาฯ ส่งตัวกลับไปปีนัง

คนต่อมา คุณหลวงสนั่นวรเวช หัวหน้ากองโรงพยาบาลส่วนภูมิภาค ตอนหลังเป็นรองอธิบดี ท่านเคยเป็นผู้อำนวยการที่นี่ เกิดอาเจียนเป็นโลหิตช็อคไป ในที่สุดก็ต้องกลับมารักษาตัวที่กรุงเทพฯ

คุณพระเวชฯ ผมจำสร้อยไม่ได้ เป็นบิดาของนายแพทย์จินดา ดิลกแพทย์ เพื่อนผมคนหนึ่งซึ่งเพิ่งตายที่ภูเก็ต ท่านขุนทำนุกฯ สองท่านนี้เป็นอัมพฤกษ์

คุณหมอเก้า ณ ระนอง ชื่อเดิม เบี่ยนเก้า จบแพทย์จากอังกฤษ ก็ป่วยหนักโดยไม่รู้สาเหตุ

ต่อมา ร.ท.ปอง ว่องพยาบาล ก็อัมพฤกษ์ ขาเป๋ เดินกระโผลกกระเผลกป่านนี้อาจจะเสียชีวิตไปแล้ว

ต่อมาก็ผม ทำงานได้ปีเดียวก็เกิดอัมพฤกษ์ไปเฉย ๆ ดังนี้

ผู้อำนวยการถัดไปจากผมก็คือ คุณหมอสนอง กาญจนาลัย รายนี้อยู่เฉยๆ ก็อาเจียนเป็นโลหิตฟุบไป!ต้องส่งตัวกลับกรุงเทพฯ อีก ตอนนี้คงเกษียณแล้ว ก่อนเกษียณท่านเป็นแพทย์ใหญ่ประจำจังหวัด แล้วเลยมีครอบครัวจนบัดนี้

ตกลงผมก็นอนเปลขึ้นเครื่องบินมากรุงเทพฯ ตามคำสั่งของกรมการแพทย์

พอเดินทางถึงดอนเมือง รถพยาบาลที่คุณหลวงนิตย์ฯ ท่านสั่งไว้ ก็รีบไปรับตัวผมเข้าโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ทันที

ตอนนั้นเป็นปี พ.ศ. ๒๔๙๖ ปลายๆ ท่านอธิบดี หัวหน้ากอง พรรคพวก ไปเยี่ยมกันมากต่างสงสัย เพราะตรวจอะไรไม่พบสิ่งผิดปกติสักอย่าง”

ไปหาหลวงสุวิชานฯ

เมื่อคุณหมออาจินต์ บุญยเกตุ มานอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาฯแล้ว วันหนึ่งคุณหลวงสนั่น ฯ ท่านไปเยี่ยมแล้วได้ปรารภเรื่องต่างๆ กับคุณน้าและญาติ ๆ ของคุณหมอว่า

น่าจะลองให้ใครสักคนที่เก่ง ๆ ทางสมาธิ เข้าสมาธินั่งทางในดูซิว่ามันมีอะไรที่นั่น ? ทุกคนถึงได้เป็นอย่างนี้ ?

คุณหมออาจินต์ฟังแล้วก็หัวเราะ เพราะตอนนั้นท่านยังไม่ได้บวชเรียน ยังไม่รู้จักคำว่า สมาธิ คำว่า ทางใน หรือคำว่า พลังจิตท่านไม่เชื่อถือ

แต่เมื่อญาติผู้ใหญ่จะหารือกันอย่างไรท่านก็ตามใจ ไม่ขัดขวางได้แต่นอนหัดกระดิกขาทีละข้างสองข้างไปพลางๆ

คุณน้ากับพี่สาวคนหนึ่งของคุณหมออาจินต์ได้ฟังคุณหลวงสนั่นฯ แนะนำเช่นนั้น ก็ได้ไปหาคุณหลวงสุวิชานแพทย์ที่บ้านท่านทางฝั่งธนบุรี

ส่วนคุณหมออาจินต์นั้นท่านไม่เคยไป ไม่เคยรู้เรื่องของคุณหลวงสุวิชานฯ รู้แต่เพียงว่าท่านเป็นแพทย์ผู้หนึ่ง และเป็นพลเรือตรีเท่านั้น ท่านจึงไม่สู้จะสนใจเท่าใด

(ท่านอาจารย์คุณหลวงสุวิชานแพทย์ ท่านนี้ เป็นผู้อัญเชิญ ท่านท้าวมหาพรหมลงประทับที่ โรงแรมเอราวัณ ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญในทางสมาธิเป็นเอก หาคนเปรียบมิได้ปัจจุบันท่านถึงแก่อนิจกรรมไปแล้ว – ผู้เขียน)

ให้ทำสองอย่าง

คุณหมออาจินต์เล่าในตอนนี้ว่า

“คุณน้าและพี่สาวกลับมาหาผมที่โรงพยาบาล หลังจากได้พบคุณหลวงสุวิชานฯ แล้ว ท่านบอกว่า ไม่มีอะไรมาก ไม่ช้าก็หาย ไม่ต้องตกใจ

เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ สถานที่ที่ก่อสร้างตั้งโรงพยาบาลภูเก็ตนั้น เดิมเป็นป่าช้าเก่าที่ฝังศพของคนจีน ทับถมกันมามากมายจนไม่มีที่จะฝังศพต่อไป ภาษาจีนเรียกว่า “ฮวงซุ้ย”

เมื่อฮวงซุ้ยเต็มแล้ว ต่อมาเจ้าคุณรัษฏานุประดิษฐ์ เจ้าเมืองขณะนั้น เห็นว่าทิ้งไว้เป็นป่าหญ้ารกชัฏอย่างนั้น ไม่มีประโยชน์อะไร ทำเลที่ดินก็สวยเป็นเนินเขาเตี้ยๆ อากาศดี ท่านจึงได้เวนคืนที่ดินนี้มาก่อสร้างเป็นโรงพยาบาล

ราษฏรในตอนนั้นก็ไม่นิยมไปรักษาตัว หมอก็ไม่มีจึงจ้างหมอฝรั่งมาจากปีนังแต่หมอฝรั่งไปสร้างบ้านแบบฝรั่งอยู่บนเขาถัดออกไป ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นในตอนแรก ๆ มากเกิดป่วยเอาตอนหลัง

ผมฟังแล้วงง ในเมื่อคุณหลวงสุวิชานฯ ท่านก็ไม่เคยไปโรงพยาบาลนี้เลย แต่ท่านนั่งทางในแลเห็นหมด เพราะฉะนั้นสิ่งลี้ลับ หรือวิญญาณต่าง ๆ จึงได้ปรากฏให้เห็นกันบ่อย ๆ

ส่วนที่ผมป่วยในครั้งนี้ เป็นเพราะเจ้าที่เจ้าทางเป็นหญิงจีนแก่ คนชั้นสูงในสมัยนั้นทำโทษเอาด้วยหมออาจินต์รับงบประมาณสร้างบ้านพักแล้วก็ไปสร้างทับตรงที่ฝังศพของหญิงชราผู้นั้นพอดี โดยไม่บอกกล่าว ไม่ขออนุญาตเสียก่อน คุณหลวงสุวิชานฯ ท่านสั่งผมว่า เมื่อหายแล้วให้กลับไปทำพิธีดังต่อไปนี้

๑. ขุดซีเมนต์ที่เทใต้ถุนบ้านออก แล้วขุดดินให้กว้างวายาวสองวา ลึกสองวา มาตราส่วนของท่านเป็นวาทั้งนั้น

เมื่อขุดไปจะพบสิ่งของ ของผู้ตาย ไม่ว่าจะพบอะไรให้เอาขึ้นมาทำที่อยู่ให้เขาใหม่ ขอขมาลาโทษเขาเสีย แล้วทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ก็จะหมดเรื่อง

๒. สำหรับตอนนี้ท่านขอให้ทำสังฆทานอุทิศส่วนกุศลให้เขา และบรรดาท่านทั้งหลายที่ตายไปและฝังไว้ในบริเวณที่ก่อสร้างเป็นโรงพยาบาลในทุกวันนี้ พร้อมกันก็ให้สร้าง พระประจำวันองค์หนึ่งบูชา

ญาติพี่น้องของผมในกรุงเทพฯ ก็ได้ช่วยกันทำตามที่ท่านสั่ง นับแต่นั้นมาอาการขาไม่มีแรงทั้งสองข้างก็ดีขึ้น แต่ก็ได้รับการรักษาทางปัจจุบันควบคู่ไปด้วย(เรื่องนี้เป็นเรื่องที่คุณหลวงสุวิชานฯ กำชับเสมอคือ แนะให้แก้ไขอย่างไรก็ทำไป แต่ที่หมอรักษา อยู่ก็อย่าละเลย)

ผมนอนอยู่โรงพยาบาลยี่สิบวัน โดยใช้ไม้เท้ายันเหมือนคนแก่ ครั้นอาการดีขึ้นเกือบเป็นปกติ ผมก็ออกจากโรงพยาบาลจะกลับไปภูเก็ต

คุณหลวงนิตย์ฯ ท่านยับยั้งไว้ให้ลาพักอีกหนึ่งเดือน

คุณหลวงสนั่น ฯ ก็กำชับว่าให้ลองพิสูจน์ดูว่าเป็นอย่างที่ คุณหลวงสุวิขานฯบอกหรือไม่ ?

ผมพักรักษาตัวที่กรุงเทพฯ ร่วมสองเดือนจึงเดินทางกลับภูเก็ตด้วยความยินดีของเพื่อนฝูงที่นั่น

พิสูจน์คำพูด

เมื่อคุณหมออาจินต์กลับไปปฏิบัติราชการที่โรงพยาบาลภูเก็ตแล้ว อยู่มาวันหนึ่งคุณหมอก็ว่าจ้างคนงานภายนอกมาสามสี่คนให้ทำการรื้อปูนซีเมนต์ที่จอดรถออกแล้วสั่งให้ขุดดินกว้างวายาวสองวา ลึกสองวา ตามที่คุณหลวงสุวิชานฯพูด

แต่วันแรกผิดหวัง ไม่พบอะไร ทั้งพนักงานโรงพยาบาลเกิดสงสัยว่า คุณหมอหายป่วยคราวนี้คงสติไม่สมบูรณ์ อยู่ ๆ เทปูนเสร็จเรียบร้อยไม่กี่เดือนกลับมาสั่งรื้อสั่งขุด คุณหมอก็บอกให้ทุกคนเฉยๆ ไว้ก่อน คุณหมอต้องการพิสูจน์อะไรบางอย่าง

รุ่งขึ้นคนงานมาลงมือขุดต่อไปอีก เอาดินออกมากองไว้นอกชายคาบ้านเป็นกองใหญ่ ประเดี๋ยวเดียวก็มีเสียงร้องขึ้นมาว่า

“พบแล้วครับ! พบแล้วครับ!

คุณหมอถามว่า “พบอะไร” ในใจนึกว่ากะโหลกผีหรือกระดูกต่าง ๆ

ปรากฏว่าไม่ใช่ ! แต่เป็น กำไลหยกข้อมือแบบที่คนจีนสวม !

คุณหมออาจินต์บอกว่า

“เมื่อเขาล้างสะอาดแล้ว ผมมองดู เป็นหยกจริงๆ ! สีเขียว ไม่แก่นัก ก็เอาใส่พานไว้ คนงานก็ขุดต่อไป

ทีนี้พวกโรงพยาบาลทราบเรื่องก็มาเป็นไทยมุง มุงกันแน่นก็กลัวๆ กล้าๆ ทั้งนั้น เดี๋ยวเดียวก็ได้มาอีกชิ้นหนึ่ง คือ ฟันทองคำหนึ่งซี่ และสุดท้ายก็คือ หวีเงินโค้ง ๆ ที่ใช้เสียบผมมวย!

เขาพยายามอยู่จนค่ำก็ได้แค่นั้น ก็เป็นอันยุติ ผมขอให้ขนดินกลับมาถมไว้ที่เดิม แล้วต่อไปก็จะหาทรายมาเสริมและเทปูนอย่างเก่าอีก

ตอนนี้พวกที่โรงพยาบาลวิพากษ์วิจารณ์กันใหญ่ ผมก็ต้องเล่าความจริงให้ฟังทั้งหมด

ต่อมาผมสร้างศาลเล็ก ๆ หนึ่งศาล เอา กำไล หวี และฟันทอง รวมกันไว้แล้วเอาไปไว้ในศาลนิมนต์พระมารับสังฆทานอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่เป็นเจ้าของ

ทุกวันนี้ศาลนั้นก็ยังอยู่มุมรั้วด้านขวาสุด และเหนือสุดของโรงพยาบาลใกล้ๆ กับบ้านพักแพทย์ลักษณะเหมือนศาลพระภูมิ

แต่พูดก็พูดเถิดบางอย่างมันพิสูจน์ไม่ได้ มันเป็น “ปัจจัตตังเวทิตัพโพ”

ผมก็ยังข้องใจจนบัดนี้ว่า

คุณหลวงสุวิขานฯ ท่านทราบได้อย่างไร ว่าที่ที่สร้างโรงพยาบาลอยู่นี้คือ ฮวงซุ้ยเก่า ซึ่งฝังศพจนไม่มีที่จะฝังต่อไปอีกแล้ว !

กระดูกบนเสากระโดงเรือ

ถ่ายทอดโดย ทองทิว สุวรรณทัต

เรื่องที่ท่านจะได้อ่านต่อไปนี้ เป็นเรื่องของท่านผู้หนึ่ง ซึ่งได้รับการติดต่อจาก อาจารย์ อุบล สุวรรณภาณุ ธิดาคนโตของท่านอาจารย์ พล ร.ต. หลวงสุวิชานแพทย์ ร.น. ขอนำเรื่องประสบการณ์ของท่านผู้หนึ่งมาพิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพท่านบิดา แต่เนื่องจากต้นฉบับได้รับหลังจากงานผ่านพ้นไปแล้ว จึงมิได้นำไปพิมพ์ในครั้งนั้นตามเจตนาของอาจารย์อุบลฯ จนเมื่อไม่นานมานี้ อาจารย์อารยา สุวรรณภาณุ ซึ่งเป็นน้องของอาจารย์อุบลไปพบต้นฉบับอีกครั้ง จึงขออนุญาตนำมาพิมพ์ในครั้งนี้

ผู้เขียนต้องขอประทานอภัยที่มิได้เอ่ยนามเจ้าของต้นฉบับนี้ ทั้งนี้ เพราะไม่ปรากฏนามในต้นฉบับให้เอ่ยถึงได้เลย

“ผม (ท่านผู้ไม่ปรากฏนาม) ได้ทราบจากอาจารย์อุบล สุวรรณภาณุ ธิดาคนโตของ พล ร.ต. หลวงสุวิชานแพทย์ ร.น. อดีตนายแพทย์ใหญ่กรมแพทย์ทหารเรือ ซึ่งถึงแก่อนิจกรรมไปแล้วนั้น มีความประสงค์จะให้ผมเขียนเรื่องของท่านเจ้ากรมฯ ที่ผมพอจะทราบบ้างไปให้ท่านเพื่อรวมเรื่องไปให้พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ

ผมจึงขอเขียนเรื่องราวที่ได้รับทราบมาจากนายยุ้ย คนไทยเชื้อจีนไหหลำ ซึ่งขณะนี้ (พ.ศ. ๒๕๓๐) จะยังมีชีวิตอยู่หรือเปล่าก็ไม่สามารถจะทราบได้ เพราะไม่ได้พบกันมาประมาณ ๒๐ ปีแล้ว และผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ผมคิดว่าปัจจบัน (พ.ศ. ๒๕๓๐) คงจะมีชีวิตอยู่น้อยราย เพราะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นร่วม ๔๐ ปี มาแล้ว ครั้งสงครามโลกครั้งที่ ๒ เพิ่งจะเลิกใหม่ๆ

แต่ก่อนที่จะเล่าเรื่องต่อไป ก็จำเป็นต้องขออนุญาตเล่าประวัติย่อๆ ของผมสักเล็กน้อย กล่าวคือ อดีตผมเป็นนักเรียนนายเรือชั้นปีที่ ๔ ซึ่งเรียนไม่สำเร็จ และได้ออกมาหาเลี้ยงชีพโดยทำงานในเรือสินค้าที่เดินทางระหว่างกรุงเทพฯ กับต่างประเทศ ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๑๐ เมื่อ ๒๐ ปีมาแล้วผมทำงานอยู่เรือนครไทย ซึ่งเดินประจำกรุงเทพฯ – ญี่ปุ่น มี ร.ต.อมฤทติ วิสุทธิธรรม ร.น. (ถึงแก่กรรมไปแล้ว) เป็นนายเรือหรือที่ภาษาทั่วๆ ไปเรียกว่ากัปตันนั่นเอง ส่วนผมนั้นเป็นต้นหนที่ ๓ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ต่ำที่สุดของนายประจำเรือ (Deck Officer) ดังนั้นผมจึงได้คลุกคลีกับพวกลูกเรือ (Crew) ผมจะมีบ๋อยทำความสะอาดห้องพักของผมเป็นคนไทยเชื้อสายไหหลำ ชื่อ นายยุ้ย นามสกุลจำไม่ได้ ขณะนั้นมีอายุประมาณ ๕๐ ปี ผมเองในตอนนั้นอายุ ได้ ๓๕ ปี เราสนิทสนมกันมาก ผมชอบคุยกับแกเสมอ เพราะแกมีประสบการณ์ในการทำงานบนเรือสินค้ามากกว่าผม และพอจะเข้าใจภาษาไทยได้ ถึงแม้จะพูดไทยไม่สู้จะชัดเจนนักก็ตาม

เรื่องที่แกเล่าให้ฟังเรื่องหนึ่งมีดังนี้ : -

เมื่อตอนสงครามโลกครั้งที่สองเลิกใหม่ ๆ รัฐบาลไทยได้รับเรือสินค้าเก่าจากสหรัฐอเมริกามาหลายลำ ในจำนวนนั้นมีอยู่ลำหนึ่งทางราชการเปลี่ยนชื่อเรือเป็น เรือนางเสือง มีคุณหลวงดำรงฯ เป็นนายเรือหรือกัปตัน วิ่งรับส่งสินค้าระหว่างกรุงเทพฯ กับสิงคโปร์ เป็นประจำ ตัวนายยุ้ยเป็นบ๋อยคอยรับใช้กัปตัน มีหน้าที่ทำความสะอาดห้องนอนและยกอาหารให้กัปตันรับประทาน

ต่อมาในเรือเที่ยวหนึ่ง ที่เดินทางจากสิงคโปร์มากรุงเทพฯ กัปตันเรือซึ่งปกติเป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง ถึงแก่กรรมบนเตียงนอนโดยไม่ทราบสาเหตุ แต่ส่วนมากเข้าใจกันว่าหัวใจวาย ขณะที่เรือเพิ่งเริ่มออกมาจากทางสิงคโปร์ได้เพียงวันเดียว ยังเหลืออีกสองวันจะถึงกรุงเทพฯ

เมื่อถึงกรุงเทพฯ แล้ว ทางบริษัทไทยเดินเรือได้เชิญคุณหลวงสุวิชานแพทย์ มาที่เรือและขอความกรุณาให้ท่านนั่งทางในตรวจดูเหตุการณ์ในเรือนางเสือง

คุณหลวงสุวิชานแพทย์ ผู้ไม่เคยขึ้นมาบนเรือนางเสืองสักครั้ง ได้นั่งทำสมาธิตรวจดูชั่วครู่ก็บอกว่า มีกระดูกคนตายเป็นฝรั่งสองคนผัวเมียถูกฆ่าตายอยู่บนเรือลำนี้นานมาแล้วก่อนที่จะมาเป็นของไทย และกระดูกนี้อยู่บนยอดเสากระโดงเรือ ขอให้ลูกเรือปีนขึ้นไปเอามาให้ท่าน

ลูกเรือคนหนึ่งปีนเสากระโดงเรือไปจนสุดเสา ก็พบห่อผ้าเก่าห่อหนึ่งอยู่บนยอดเสา จึงนำมาให้ท่าน

คุณหลวงสุวิชานแพทย์ ได้แกะห่อผ้าให้ทุกคนที่ชุมนุมกันอยู่ดู ปรากฎว่า มีกระดูกเก่า ๆ อยู่ในห่อผ้านั้นหลายชิ้น !

คุณหลวงฯ ได้แนะนำให้ทางบริษัทไทยเดินเรือทำบุญแผ่กุศลให้เจ้าของกระดูกนับแต่นั้นมาเรือนางเสืองก็สงบเรียบร้อย ไม่มีเหตุการณ์ร้ายใด ๆ เกิดขึ้นอีกเลย

คุณธรรมอันวิเศษของ ท่านอาจารย์ พล ร.ต.หลวงสุวิชานแพทย์ ร.น. เมื่อครั้งท่านมีชีวิตอยู่นั้น จนบัดนี้ยังหาท่านผู้ใดเทียบมิได้

สารคดีชุดล่องไพร บุกป่าฝ่าดงดิบ

“ล่ากระทิง”

โดย ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์

เรื่องของไสยศาสตร์ เรื่องความลี้ลับในป่า โดยเฉพาะทางสามแพร่งกลางดงดิบ พรานช่วยได้เล่าถึงความเป็นมาให้พวกเราฟัง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ารู้สำหรับพวกเราที่ชอบใช้ชีวิตออกป่าดงพงไพรอยู่เสมอมา และการปรับชีวิตให้เข้ากับชีวิตพรานนั้นเป็นสิ่งจำเป็นอย่างชนิดอย่าได้ฝ่าฝืนกันเป็นอันขาด

พรานช่วยเล่าว่า

บนเส้นทางสามแพร่งนี้แต่เดิมมาก็มิได้มีศาลเพียงตา แต่มันมีเหตุผลให้รถชนกันตรงทางสามแพร่งนี้บ่อยที่สุด ทั้งๆ ที่ไม่ควรจะชนเพราะว่าใช่ว่ารถมันจะวิ่งผ่านกันบ่อยนัก แต่ละครั้งที่ชนกัน จะต้องมีคนตายเสมอหรือไม่ก็บาดเจ็บสาหัสถึงพิการไปเลย ผู้เป็นเจ้าของเหมืองเห็นว่า ตรงทางสามแพร่งนี้น่าจะมีอาถรรพ์ เชื่อกันว่าอาจมีวิญญาณหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เป็นเจ้าที่เจ้าทางเจ้าป่าเจ้าเขาอารักขาอยู่ เมื่อไม่ได้รับการเซ่นไหว้ตาที่ควร จึงบันดาลให้เกิดเหตุร้ายถึงตายตรงทางสามแพร่งนี้เสมอมา เจ้าของเหมืองแร่มิได้นิ่งนอนใจ ได้นำเรื่องร้ายนี้ไปปรึกษาท่านผู้ใหญ่ที่มีความรู้ในเรื่องนี้ว่าควรจะแก้ไขหรือทำอย่างไรดี ได้รับคำแนะนำให้ไปพบพลเรือตรีหลวงสุวิชานแพทย์ ซึ่งเป็นที่เลื่อมใสกันมากว่าเป็นผู้ที่ทรงคุณวุฒิในเรื่องการนั่งทางใน สามารถที่จะถอดกระแสจิตออกไปหยั่งรู้ถึงต้นเหตุที่ทำให้เกิดอาเพศต่าง ๆ

เมื่อทราบถึงเหตุร้ายจากทางสามแพร่งนี้เจ้าของเหมืองจึงได้รับคำแนะนำจากหลวงสุวิชานฯ หลังจากท่านได้นั่งทางใน เพื่อปล่อยกระแสจิตออกไปยังทางสามแพร่งแห่งนี้แล้ว

ตรงทางสามแยกแห่งนี้ เดิมนั่นมีวิญญาณของเจ้าแม่กะเหรี่ยงสิงสถิตอยู่บนไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง ต่อมาเมื่อมีการทำเหมืองทำทางลำเลียงขนส่งแร่ ต้นไม้น้อยใหญ่ต้องถูกโค่นบุกเบิกให้เป็นช่องเป็นทาง และบังเอิญต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่งอันเป็นที่สิงสู่ของวิญญาณเจ้าแม่กระเหรี่ยงก็ต้องถูกโค่นลงด้วย แน่ละวิญญาณของเจ้าแม่กะเหรี่ยงนั้นก็กริ้วโกรธ บันดาลให้เกิดอาเพศเหตุร้ายตรงทางสามแพร่งนี้เรื่อยมา วิธีแก้ไขมีทางเดียวให้เจ้าของเหมืองทำการปลูกศาลเพียงตา เพื่อให้วิญญาณของเจ้าแม่นี้ได้สิงสถิตแทนไม้ใหญ่ที่เคยอยู่ แล้วเหตุร้ายที่เกิดขึ้นจากรถชนกันก็จะสิ้นสุดลง ดังนั้น การเซ่นไหว้ทำพิธีสร้างศาลเพียงตาก็ได้ทำขึ้นและอัญเชิญวิญญาณของเจ้าแม่กะเหรี่ยงขึ้นศาล เจ้าแม่กะเหรี่ยงนี้มีชื่อว่า “เจ้าแม่กาลิโท่”

นับว่าเป็นเรื่องของป่าๆ ดงๆ เรื่องของมนต์ดำซึ่งหลายท่านอาจจะเห็นเป็นเรื่องเหลวไหล ขณะเดียวกันด้วยความเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้เหลวไหลนั่นเอง เพื่อนของเราหลายคนก็เกือบจะต้องเอาชีวิตไปทิ้งเสียในป่าด้วยการกระทำอันเย้ยหยันต่ออำนาจมืดในป่าดิบและดงดำ ข้าพเจ้าเชื่อว่าความประหลาดล้ำในป่าเป็นความจริง!

เรื่องของวิญญาณ เรื่องไสยศาสตร์ในป่าสูงนั้น แม้ว่าท่านจะไม่ศรัทธากับเขาพรานป่า ก็อย่าไปลบหลู่จะดีกว่า นอกจากจะไปทำให้ขุ่นเคืองในการเดินป่าที่จะต้องร่วมทางกันไปนานวันแล้ว เหตุยุ่งยากย่อมจะติดตามมาอีกหลายเรื่อง

หลังจากพิธีตั้งศาลเพียงตาอันเชิญวิญญาณของเจ้าแม่กาลิโท่ มาสิงสถิตอยู่ที่ไม่ใหญ่ทีโค่นไปแล้ว ปรากฏว่ามิได้มีอุบัติเหตุจากรถชนกันตรงทางสามแพร่งนี้อีกเลย

ทำนองเดียวกันนี้ ท่านผู้อ่านที่ติดตามอ่านเรื่องป่าสูงยูงยางมานี้ก็คงจะเข้าใจดีว่า ทำไมสายตาของคนเราจึงมองปาไม้เห็นไม่เหมือนกัน เมื่อข้าพเจ้ามองเห็นเสือสมิงกลางหนองบัวตัวนั้นเป็นสุ่มปลา ขณะที่เพื่อนและพรานมองเห็นเป็นเสือลายพาดกลอน

เรื่องใครจะตาฝาดหรือภาพนั้นหลอนไม่มีใครอธิบายได้ในเมื่อเราเห็นกันอย่างชัดแจ้งท่ามกลางแสงไฟสว่างจ้า และไม่มีใครเมาหรือตาลาย แต่มันก็เห็นผิดกันไปได้เช่นนี้ เขายิงคนหรือยิงเสือ แต่การยิงในระยะฉกรรจ์นั้นก็พลาด ข้าพเจ้าโล่งอกไปเพราะตะโกนเสียงหลงไปว่า “อย่ายิง - นั่นคน” แต่เสียงปืนลั่นแล้ว ที่ตรงขอบหนองนั้นไม่มีทั้งคนและเสือเค้เก้อยู่ นอกจากรอยเลือดเสือลายพาดกลอนขนาดเขื่องทิ้งไว้เห็นเด่นชัด เรื่องของป่ามักจะเป็นเช่นนี้

เรื่องมหัศจรรย์นี้มิได้เกิดเพียงกับพวกเราที่ตระเวนไพรมานับสิบ ๆ ปี แต่ได้เกิดขึ้นกับพรานอเมริกันเพียงชั่วที่เขาได้มาตระเวนกับเราเป็นครั้งแรก เพราะพรานอเมริกันอาจจะเข้าใจดีถึงขนบประเพณีพรานทางเอเซียว่าควรจะปฏิบัติตนอย่างไรจึงจะเข้ากับความเป็นไปกับป่านั้นได้ ผลของการกระทำตนเป็นไปตามแบบฉบับของพรานป่าจึงเป็นผลให้เขาประสบความสำเร็จในการออกป่าล่าสัตว์ได้อย่างงดงามที่สุดอย่างที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน

พรานคนหนึ่งเตือนเราว่า

“อีกไม่ช้าเรากำลังจะเดินทางเข้าไปในป่า กวาง”

“ใครว่า” เสียงอำนวย เหล่าบุญมีถาม “เมืองกวางกระนั้นหรือ”

“กวางและกวางเต็มไปหมด” เสียงพรานตอบ “นายจะพบแต่กวางทั้งป่า”

เราผ่านศาลเจ้าแม่กะเหรี่ยงกาลิโท่ สามแยกมฤตยูที่ปัจจุบันไม่มีอันตรายอันใดเกิดขึ้นอีกแล้ว หลังจากที่เจ้าของเหมืองได้สร้างศาลให้เจ้าแม่ได้พักพิงเป็นสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ของชาวป่าชาวเหมือง พร้อมด้วยเรื่องราวในอดีตอันน่าพิศวง เรื่องของวิญญาณ เรื่องของความเร้นลับที่ไม่อาจพิสูจน์กันได้อย่างชัดแจ้งตามที่สายตาของเรามองทางสามแพร่งแหงนี้แล้วก็ไม่น่าเลยทีเดียวที่จะเกิดเหตุร้ายแรงถึงกับรถชนกันตายได้บ่อย ๆ รวมทั้งรถมาพลิกคว่ำจำหงายตรงทางสามแพร่งนี้ เนื่องจากความเงียบเชียบของป่าย่อมจะทำให้เสียงเครื่องยนต์ดังกระหึ่มก้องไปกับราวป่า ล้อที่บดไปบนดินนั้นจะต้องสะเทือนอย่างแรงและได้ยินไกลมากประกอบกับหูที่คุ้นกับเสียงของสารถีผู้ชำนาญทางจะได้ยินและจะต้องรั้งรอความเร็วเมื่อถึงทางสามแพร่ง และแน่ละ และนานหนักหนากว่ารถจะแล่นมาสวนกันสักครั้งหนึ่ง แต่รถก็ประสานงากันจนได้อำนาจมืดอันใดกระนั้นหรือแน่ละ ชาวป่าและชาวเหมืองยกมือขึ้นวันทากันอย่างเคารพด้วยใจจริง นับแต่ศาลนี้ได้ประดิษฐานขึ้นแล้ว เหตุร้ายจากรถคว่ำหรือชนกันก็ไม่เกิดขึ้นบนทางสามแพร่งอีกเลย

ประวัติรุกขเทวดาศาลกรมสวัสดิการทหารเรือ

โดย ว่าที่เรือเอกสวัสดิ์ พัฒนเกิดผล รวบรวมและเรียบเรียง

รุกขเทวดาหรือพฤกษเทพทั้ง ๒ องค์ ซึ่งประดิษฐานอยู่ในศาลของกรมสวัสดิการทหารเรือมีความเป็นมาดังนี้ คือ เมื่ออาคารกรมสวัสดิการทหารเรืออันได้สร้างตั้งอยู่ ณ บริเวณท่าช้างวังหลวง และสนามด้านเหนือของพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัยหรือท่าราชวรดิษฐ์จำต้องขยายตัวอาคารมาทางด้านทิศใต้ และในส่วนของทิศนี้มีต้นไทรใหญ่อายุหลายชั่วคนกีดขวางอยู่ ถ้าไม่ตัดแล้วก็จะปลูกสร้างขยายตัวอาคารไม่ได้ ท่านเจ้ากรมสวัสดิการทหารเรือสมัยนั้น คือ พลเรือตรี หลวงเจียรกลการ จึงได้นำความประสงค์นี้ไป ปรึกษาและขอทราบผลจากท่านนายแพทย์ใหญ่ทหารเรือ คือ พลเรือจัตวา หลวงสุวิชานแพทย์ ผู้ทรงคุณวุฒิทางจิตศาสตร์ ท่านผู้นี้ได้ใช้จิตศาสตร์ตรวจดูก็ทราบได้ว่า ต้นไทรนี้มีรุกขเทวดาสิงสถิตอยู่ถึง ๒ องค์ เป็นพี่น้องกัน และทราบถึงเทวเจตนาของรุกขเทพว่าไม่ขัดข้องในการตัดต้นไทร แต่มีเทวจำนงให้สร้างศาลขึ้นประทับแทน ตามเทพประสงค์นี้ ท่านเจ้ากรมสวัสดิการทหารเรือได้ถวายความสอดคล้องตามเทพโองการ แต่พฤติการณ์เรื่องสร้างศาลกวาจะสำเร็จต้องกินเวลานาน ส่วนการตัดต้นไม้ต้องการีบด่วน ท่านเจ้ากรมสวัสดิการทหารเรือจึงได้นำเจตน์จำนงนี้ไปหารือนายแพทย์ใหญ่ทหารเรืออีกครั้งหนึ่ง ก็ทราบเทวบัญชาจากจิตศาสตร์ของนายแพทย์ใหญ่ทหารเรือว่าให้สร้างเทวรูปขึ้น แล้วเชิญสิงสถิตและเชิญขึ้นประทับชั่วคราวบนกรมสวัสดิการทหารเรือเสียก่อน จึงตัดต้นไทรได้ พิธีกรรมตามเทวประสงค์จึงได้ประกอบขึ้นเมื่อวันที่ ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๗เวลา ๐๗.๐๐ น. และการตัดต้นไทรได้กระทำลงเมื่อวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๗ เมื่อศาลได้สร้างสำเร็จเรียบร้อยแล้วจึงได้เชิญเทวรูปทั้งสององค์จากห้องชั้นสามของกรมสวัสดิการทหารเรือมาประทับประดิษฐาน ณ ศาลนี้ เมื่อวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๙๗ เวลา ๐๙.๓๐ น. และประกอบพิธีบวงสรวงด้วยเครื่องสังเวยอย่างละคู่ครบกระบวนการแบบพิธีทุกประการพรั่งพร้อมด้วยข้าราชการทหารเรือทั้งชั้นสัญญาบัตร และต่ำกว่าชั้นสัญญาบัตรในกรมสวัสดิการทหารเรือ มีพลเรือตรี หลวงเจียรกลการ อดีตเจ้ากรมสวัสดิการทหารเรือและพลเรือจัตวาสวัสดิ์ คงสิริ เจ้ากรมสวัสดิการทหารเรือ แห่ห้อมล้อมเชิญเทวรูปมาสู่ศาลและต่างถวายเครื่องสักการะบวงสรวงพร้อมกัน ในพิธีบวงสรวงสังเวยเชิญขึ้นประทับศาลนี้ ว่าที่เรือเอก สวัสดิ์ พัฒนเกิดผล เป็นผู้ประกอบพิธี

อนึ่ง ความอัศจรรย์ในเทพฤทธิ์ดังปรากฏมีหลายคราว เช่น ครั้งหนึ่ง เมื่อกำลังสร้างศาลยังไม่เสร็จและอยู่ในลักษณะล่าช้า ทั้งในที่ประทับชั่วคราวบนกรมสวัสดิการทหารเรือได้มีผู้มาฝึกหัดละครอึกทึกครึกโครม เทพฤทธิ์ทั้งสององค์ได้ไปปรากฏเป็นนิมิตฝันแก่พระครูศิวาจารย์ (พราหมณ์) ณ สถานที่โบสถ์พราหมณ์ ตำบลเสาชิงช้า ซึ่งได้เป็นผู้บวงสรวงสังเวยและประกอบพิธีกรรมเชิญสิงสถิตเทวรูปและเชิญประทับชั่วคราว บนกรมสวัสดิการทหารเรือตลอดจนทำพิธีตัดต้นไทร ในนิมิตนั้นได้ปรากฏองค์และมีเทวดำรัสว่า “จะให้อยู่กันอย่างนี้หรือหนวกหูออก เขาหัดละครกันที่นั้น” ทั้ง ๆ ที่พระครูศิวาจารย์ก็ไม่ทราบความจริงเช่นนี้มาเลย ต่อมาพระครูศิวาจารย์ได้มาเล่าถึงเทพนิมิตและเทวดำรัสความจึงปรากฏว่าเป็นความจริงดังนั้น อึกครั้งหนึ่งใน ระยะเวลากาลต่อมา ศาลซึ่งกำลังสร้างอยู่ในขณะนั้นค่อนข้างล่าช้ามาก รุกขเทพทั้งสองก็ได้แสดงให้ปรากฏแก่ พลเรือตรีหลวงเจียรกลการ โดยให้มีอาการปวดยอกในส่วนหัวไหล่ข้างซ้ายและปวดศีรษะแม้จะรักษาอย่างใด ๆ ก็ไม่หาย จึงได้มาขอความเห็นจาก พลเรือจัตวาหลวงสุวิชานแพทย์ นายแพทย์ใหญ่ทหารเรือ ผู้มีญานทางจิตศาสตร์ ท่านนายแพทย์ใหญ่ทหารเรือจึงใช้วิชาจิตศาสตร์ตรวจดูก็ทราบได้ว่า อาการนี้เป็นเพราะฤทธิ์ทั้งสององค์ ต้องเร่งก่อสร้างศาลให้ลุล่วงแต่โดยเร็วอาการป่วยก็จะหายพลเรือตรีหลวงเจียรกลการ ได้ทราบแล้วจึงได้ปฏิบัติการตามนัยนั้น อาการป่วยก็เริ่มบรรเทาและหายลงสนิท เมื่อได้เชิญเทวรูปขึ้นสูศาลเรียบร้อย อีกประการหนึ่งคือ ทรวดทรงเทวรูปเครื่องทรงเทวลังการและศาลก็ได้จัดทำขึ้นตามเทวประสงค์ ดังปรากฏในจิตศาสตร์ของพลเรือจัตวาหลวงสุวิชานแพทย์ทุกประการ ในการสร้างศาลรุกขเทพนี้ ท่านผู้บัญชาการทหารเรือ พลเรือเอกหลวงยุทธศาสตร์โกศล เมื่อได้ทราบเทพเจตนาจาก พลเรือตรีหลวงเจียรกลการ เรียนปฏิบัติแล้ว ก็ได้เห็นชอบและมีความกรุณาสนับสนุนอนุมัติให้ดำเนินการได้ กรมโยธาเทศบาลเป็นผู้รับไปจัดสร้าง เป็นราคา ๗๕,๐๐๐.๐๐ บาท จากวงเงินงบประมาณของกองทัพเรือ

รุกขเทวดาทั้งสององค์นี้ เมื่อบวงสรวงสังเวยเชิญขึ้นสู่ศาลได้ใช้นามประกอบบทสังเวยองค์พี่ใช้นามว่า “เชษฐชัยมงคลพฤกษเทวบุตร” องค์น้องใช้นามว่า “กนิษฐชัยมงคลพฤกษเทวบุตร”

เก็บตกมาเล่าค่ะ

ถาม ท่านท้าวมหาพรหมอันศักดิ์สิทธิ์ที่โรงแรมเอราวัณมีความเป็นมาอย่างไร

นักศึกษาผู้นับถือ

ตอบ โรงแรมเอราวัณ เริ่มสร้างในปี ๒๔๙๖ โดยบริษัทสหโรงแรมไทยและการท่องเที่ยว ซึ่งมีพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ เป็นประธาน ได้มอบให้กรมศิลปากรออกแบบ และหล่อพระรูปท่านท้าวมหาพรหมด้วยปูนปลาสเตอร์ และให้ พล ร.ต. หลวงสุวิชานแพทย์ ร.น. เป็นผู้ควบคุมการทำพิธี กล่าวกันว่าที่ได้รับการเคารพบูชาอย่างกว้าวขวาง เพราะเหตุ ๓ ประการ คือ ผู้ควบคุมการทำพิธี พิธีฤกษ์ และตั้งถูกต้องตามทิศทาง

จากหนังสือสกุลไทย ฉบับประจำวันอังคารที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๒๒

คอลัมภ์ “ความสังคม” โดย “ลัดดา”

“จุดเด่นของหลวงสุวิชานแพทย์” ตามทัศนะของอาจารย์กิตติ วัฒนะมหาตม์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านมายาศาสตร์และเทววิทยากล่าวกับ METRO LIFE

• ประสบความสำเร็จในการตั้งศาลท่านท้าวมหาพรหม เอราวัณ ในคติพุทธจนทำให้เกิดนิยมตั้งศาลท่านท้าวมหาพรหมในเวลาต่อมา

• นำประโยชน์จากสถานที่มาสร้างดุลยภาพให้ศาลท่านท้าวมหาพรหมเข้มแข็งขึ้น ซึ่งเป็นเทคนิคและกาลวิธีเฉพาะบุคคลเท่านั้น “ในวิชาฮวงจุ้ย คือ การปรับพลังสร้างสมดุล เพราะฉะนั้นในอนาคตหรือที่อื่น ๆ ต่อให้เอาคนอื่นที่มิใช่หลวงสุวิชานแพทย์ก็จะทำไม่ได้อย่างนี้เพราะคนละสไตล์กัน คนที่จะตั้งศาลได้ไม่ใช่แค่ตั้งศาล แต่ต้องรู้ด้วยว่าสถานที่ตรงนั้นมีพลังอะไร อยู่ตรงไหน ตรงไหนขั้วบวก ตรงไหนขั้วลบ เวลาเปลี่ยนสิ่งหมุนเวียนเปลี่ยน ต้องรู้จักการปรับพลังเหล่านี้ให้เข้ากัน ถ้าไม่ทำจุดนี้จะให้เชิญใครที่เก่งกาจในการตั้งศาลมาก็เปล่าประโยชน์ ป่วยการที่จะไปคาดหวังถึงความศักดิ์สิทธิ์”

จากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน METRO LIFE ปีที่ ๓

ฉบับที่ ๑๑๓ วันที่ ๑ – ๗ เมษายน ๒๕๔๙

เรื่องควรรู้เกี่ยวกับท่านท้าวมหาพรหมเอราวัณ

• ท่านท้าวมหาพรหมเอราวัณ มีชื่อเสียงที่สุด และเป็นต้นแบบให้กับสถานที่อื่นๆ นิยมตั้งศาลท้าวมหาพรหมขึ้นบูชา

• ท่านท้าวมหาพรหมเอราวัณ คือพรหมตามคติพุทธศาสนา มิใช่พระพรหมผู้สร้างโลกอย่างศาสนาฮินดู

• พล ต.ต. ม.ล. จเร สุทัศน์ ณ อยุธยา ผู้ควบคุมการก่อสร้างโรงแรมเอราวัณ เป็นผู้หารือกับ พล ร.ต. หลวงสุวิชานแพทย์ ร.น. ให้ช่วยแก้อาถรรพ์ เกี่ยวกับการก่อสร้างโรงแรมเอราวัณ, ผู้ออกแบบและปั้นเทวรูปท่านท้าวมหาพรหม คือ นายจิตร พิมโกวิท ช่างกองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร โดยใช้ข้อมูลค้นคว้าของพระยาอนุมานราชธน, ผู้ออกแบบศาล คือ นายเจือระวี ชมเสวี และ ม.ล. ปุ่น มาลากุล แห่งกรมศิลปากร

• พลเรือตรีหลวงสุวิชานแพทย์ ผู้แนะนำให้ตั้งเทวาลัยท่านท้าวมหาพรหมเป็นผู้มีญานพิเศษ สามารถสื่อกับดวงพระวิญญาณของสมเด็จพระเจ้าตากสิน พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯและ เทพเบื้องบนได้

• วันบวงสรวง ๙ พฤศจิกายน ทุกปี

จากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน METRO LIFE ปีที่ ๓

ฉบับที่ ๑๑๓ วันที่ ๑ – ๗ เมษายน ๒๕๔๙

• ศาลพระพรหม โรงแรมเอราวัณ สี่แยกราชประสงค์ มิใช่สร้างขึ้นมาเพราะลัทธิความเชื่อหรือเป็นความนับถือเฉพาะตัวของผู้หนึ่งผู้ใด หากมีความจำเป็นต้องสร้างอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นที ลานโพธิ์ รวบรวมเรียบเรียง

จากหนังสือ เรื่อง เหลือเชื่อเหนือโลก

สวัสดี

ศิริพงศ์ ครุพันธ์กิจ

๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๔