#echo banner="" วิวาทะ เรื่อง การปฏิบัติในแนวพองยุบ 1/

วิวาทะ เรื่อง การปฏิบัติในแนวพองยุบ

โพสท์ในลานธรรมเสวนา กระทู้ที่ 006300 - โดยคุณ : แววตะวัน [ 7 ก.ย. 2545 ]

เนื้อความ :

เรียน คุณผู้ไม่ประสงค์จะออกนาม ที่นับถือ

ที่กล่าวไว้ว่า

"ถ้าคุณโชติกะ เปิดใจให้กว้าง ก็จะทราบดีว่า การปฏิบัติแบบพองยุบ มีส่วนที่ไม่ถูกต้องกับพระพุทธพจน์ก็มีอยู่ ไม่ใช่ไม่มี และมิใช่การปฏิบัติที่ถูกต้อง 100 % ตามแบบที่พระพุทธองค์ทรงตรัสด้วย แม้แต่การปฏิบัติสายไหนก็ตามที่ไม่ถูกต้องตามพระพุทธดำรัส ก็ต้องไม่สนหน้าอินทร์ หน้าพรหม อย่างที่คุณประกาศมาเช่นเดียวกัน แต่จะทำอย่างไรได้ล่ะ ในเมื่อ คุณเองก็ปฏิบัติแบบที่ไม่ถูกต้องกับหลักของบาลี และอรรถกถา อยู่เช่นกัน และแม้พระที่จบธัมมาจริยะนั้น บางองค์ที่ปฏิบัติพองยุบ ก็ต้องพยายามพูดให้ถูกหลักเข้าว่า ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่แก่ใจว่าไม่ถูกต้อง 100 %"

ผมขอคำอธิบายเพิ่มเติมด้วยครับว่า ใช้หลักเกณฑ์อย่างไร มีเหตุผลอย่างไร ในการกล่าวเช่นนั้น ขอให้แยกตอบเป็น ๒ ข้อนะครับ คือ

๑. ที่ว่าไม่ถูกต้อง 100 % นั้นอย่างไรครับ

๒. ปฏิบัติแบบนี้ถูกหรือผิดตามพุทธพจน์ครับ (คืออยากให้ชัดเจนครับ ไม่ต้องเป็นเปอร์เซนต์)

จากคุณ : แววตะวัน [ 7 ก.ย. 2545 ]

 

ความคิดเห็นที่ 1 : (nnb1 @ thaimail.com)

การถกเถียงกันในทางพระพุทธศาสนาไม่ควรแตกหักกันรุนแรง ถ้าเขาไม่ยึดคำสอนพระศาสดา ก็บอกว่าเราอ้างจากพระสูตรนั้น ๆ ท่านอ้างจากที่ไหน แล้วศึกษาทรงจำของเขาให้ดีแล้วไปค้นหา ถ้าไม่พบก็บอกกันดี ๆ ถึงเขาไม่พึงฟังก็ให้อภัยกันด้วยเมตตา จากผู้ผ่านมา

จากคุณ : nnb1@ thaimail.com [7 ก.ย. 2545 ]

 

ความคิดเห็นที่ 2 : (ผู้ไม่ประสงค์ออกนาม)

ถ้าจะคุยกันคงจะยาวนานมาก แต่คุณแววตะวันโปรดทราบว่า ผู้พิมพ์มิได้มีเจตนาจะดูถูกการปฏิบัติสายนี้แต่อย่างใด เพราะตนเองก็เข้ามาสู่พระพุทธศาสนาก็เพราะการปฏิบัติสายนี้เช่นเดียวกัน แต่ส่วนที่ถูกก็คือถูกแต่สิ่งที่ไม่ตรง ก็ต้องเป็นสิ่งที่ไม่ตรงตามหลักฐาน ไม่ใช่ความเห็นส่วนตัว หวังว่าคุณแววตะวันจะเข้าใจ

และที่แสดงความเห็นดังกล่าวไปก็เพื่อ มุ่งให้คุณโชติกะมุ่งทำกิจที่มีประโยชน์ มากกว่าการเผยแผ่ธรรมะในลานธรรม ซึ่งนำมาซึ่งความช้ำทั้งต่อคุณโชติกะเองและผู้อ่าน (ส่วนใหญ่)

แต่มีหลายประเด็นที่จะชี้แจงสั้น ๆ เช่น

1. วิปัสสนามีอารมณ์เป็นปรมัตถ์ มิใช่บัญญัติ ตราบใดถ้าไม่ทิ้งองค์บริกรรมก็ยังเป็นบัญญัติอยู่ อย่าว่าแต่บัญญัติที่เป็นคำ ๆ เช่น เห็นหนอ ยินหนอ เป็นต้น แค่รู้สึกว่าเป็นเราขึ้นมา เช่นเราเดิน เราเห็น หรือยังรู้ทรวงทรงสัณฐานก็เป็นบัญญัติแล้ว ตราบใดที่ยังไม่ทิ้งบัญญัติ ไม่มีทางขึ้นนามรูปปริจเฉทญาณได้

แต่สายพองยุบ (บางสำนัก) บางคนยังบริกรรมอยู่แท้ ๆ การเดินก็ยังเป็นตัวเป็นตนอยู่ ถึงญาณ 16 แล้วก็มี

2. การบังคับอารมณ์ให้ต้องรู้ตรงนั้นตรงนี้ เช่นการเดิน 6 ระยะ นั้น นำมาจากหลักในวิสุทธิมรรค แต่ไปเอาผลมาทำเป็นเหตุ กล่าวคือ ในวิสุทธิมรรคเมื่อถึงสมสนญาณ ผู้มีปัญญาก็จะสามารถแยกการเดินออกได้เป็น 6 ระยะด้วยกำลังของญาณที่เห็นการเกิดดับ

แต่วิธีของพองยุบ ไปบังคับให้รูปแยกกันเป็นระยะ เช่น ยกส้นหนอ ยกหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ กดหนอ ไปทำผลมาเป็นเหตุแทน นอกจากนี้ การบังคับบัญชานั้น ยังเกิดด้วยอำนาจของตัวตน ที่บังคับบัญชาทั้งรูปและนาม ให้เคลื่อนไปได้ด้วยอำนาจตัวตนอีก

ถ้ายังเดินจงกรมกันอยู่อย่างนี้ แม้จะมีความรู้ปรมัตถ์มาอยู่บ้าง เช่นอาจจะรู้เย็น ร้อน อ่อนแข็ง หย่อน ตึง แต่ก็รู้บัญญัติเสียมากกว่า เพราะต้องบริกรรม ให้ทันสภาวะ ซึ่งก็ไม่มีทางทัน เพราะสภาวธรรมนั้นเกิดดับเร็วมาก

ยิ่งบริกรรมก็ยิ่งไม่ทันปัจจุบันเท่านั้น มิหนำซ้ำยังบังคับบัญชาให้เดินด้วยระยะเท่านั้นเท่านี้ เป็นการใส่อัตตาเข้าไปอีก ยิ่งเดินก็มักจะได้ โลภทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ซะมากกว่า

3. ยิ่งบริกรรมชำนาญเข้า อัตตาที่แทรกเข้าไปในการบริกรรมแบบไม่รู้ตัว กล่าวคือ เมื่อได้ยินเสียงก็กำหนดยินหนอ ตากระทบรูปก็กำหนด เห็นหนอ จนมีความชำนาญจนอัตตานั้นทำหน้าที่บังคับสติอีกทีหนึ่ง ซึ่งกว่าจะละตรงจุดนี้ได้นั้นไม่ง่ายเลย ที่จะไม่บังคับบัญชาผู้รู้

4. การดูลมแบบพองยุบที่ท้องไม่มีหลักฐานใด ๆ เลย ในพระไตรปิฎก อรรถกถา และฎีกา ที่อ้างกันว่าเป็น ผุสสนนัย คือนัยกระทบ ตามนัยของวิสุทธิมรรค ท่านก็มิได้แสดงไว้อย่างชัดเจนว่าเป็นที่ท้องพอง ท้องยุบ

มิหนำซ้ำ การปฏิบัติแบบอานาปานสติ ที่เป็นสติปัฏฐานตามพระไตรปิฎกและอรรถกถา ่หรือแม้แต่วิสุทธิมรรค ให้ดูลมเป็นบาทเพื่อให้ได้ฌาน แล้วจึงออกจากฌานพิจารณาฌานเป็นไตรลักษณ์ จึงเป็นวิปัสสนา

แต่ของพองยุบ ให้ดูกองลมเป็นวิปัสสนาเลย แล้วก็เห็นไตรลักษณ์ตรงท้องพองยุบนี่แหละ เช่น พอง ๆ ยุบ ๆ พอง ๆ ยุบ ผงะวูบไป แล้วก็ว่า เห็นอนิจจัง หรือท้องพองจนแน่น อึดอัด แล้ววูบไป ก็บอกว่า เป็นทุกขัง หรือ เห็นพองยุบ แบบเส้นด้ายบาง ๆ แล้ววูบไป เป็นอนัตตา อันนี้ไม่ถูกต้องตามหลักเลย

การเห็นไตรลักษณ์ ต้องเห็นนามหรือรูป โดยความเป็นไตรลักษณ์ มิใช่เห็นท้องพองท้องยุบ แล้วการเห็นไตรลักษณ์ก็เพื่อถอนความเห็นผิดที่เมื่อโดยสรุปแล้ว ก็คือการถ่ายถอนตัวตนนั้นเอง

ก็น่าแปลกที่ว่า กิเลสมันไปยึดตัวตนที่ท้องตั้งแต่เมื่อไหร่ ว่าฉันพอง ฉันยุบ แล้วก็มุ่งจะไปให้เห็นไตรลักษณ์กันแค่ที่ท้อง

นี่เป็นเพียงบางส่วนที่จะนำมากล่าวแต่คงไม่กล่าวหมด ว่าคุณแววตะวันคงจะไปพิจารณาต่อเองได้บ้าง เช่นการอ้างเรื่อง ปีติ 5 การอ้างเรื่องญาณ 16

ถ้าคุณได้อ่านหนังสือของผู้ปฏิบัติพองยุบ บางท่าน เช่นคุณธนิต อยู่โพธิ์ ตอนที่ท่านประกาศว่าท่านบรรลุธรรม ลองอ่านดูเถอะ ว่าวิญญูชนที่สมบูรณ์ด้วยเหตุผลและหลักฐานจะพิจารณาได้อย่างไร

ถ้าจะให้สรุปแบบฟันธง ก็ต้องแยกว่าการกำหนดวิธีของพองยุบ ถือเป็นพื้นฐานที่ดีมากวิธีหนึ่ง ถ้าทิ้งองค์บริกรรมออกทั้งหมด ไม่บังคับบัญชาการเดิน ยืน นั่ง นอนให้ผิดปกติ การพิจารณาอิริยาบถย่อยก็เป็นหลักที่ดี ถ้าทิ้งบริกรรม หรือการเทียบลำดับญาณกับอาการทางกายเช่น ตัวโยก ตัวไหว สั่น ฯลฯ

การที่พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า คจฺฉนฺโต ว่า คจฺฉามีติ ปชานาติ เมื่อเดินอยู่ก็รู้ชัดว่าเราเดิน อรรถกถาแก้ว่า ให้รู้วาโยธาตุ ในการเดิน เป็นต้น ที่สำคัญคือให้ละเราออก ในวิสุทธิมรรคให้ดูการเกิดดับของการเดินเป็นต้น

ไม่มีในคัมภีร์ไหนเลยที่บอกว่า ต้อง ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ กลับหนอ ฯลฯ อันนี้คงต้องอ้างพระพุทธพจน์ที่ควรเคารพอย่างยิ่งว่า

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย และภิกษุทั้งหลาย ยังจักไม่บัญญัติสิ่งที่ตถาคตมิได้บัญญัติไว้ จักไม่เพิกถอนสิ่งที่ตถาคตบัญญัติไว้แล้ว ยังจักสมาทานประพฤติอยู่ในสิกขาบททั้งหลายตามที่ตถาคตได้บัญญัติไว้แล้ว ตลอดกาลเพียงไร ภิกษุทั้งหลายพึงหวังความเจริญอย่างเดียว หาความเสื่อมมิได้”

การใส่บริกรรมลงไปถือว่า บัญญัติสิ่งที่พระพุทธองค์ไม่ทรงบัญญัติหรือไม่ โปรดพิจารณาด้วยเทอญ

แต่ถ้าถามว่าถูกต้องพระพุทธพจน์หรือไม่ คุณแววตะวันลองอ่าน มหาสติปัฏฐานสูตร พร้อมทั้งอรรถกถา อภิธัมมัตถสังคหะ และวิสุทธิมรรค ก็น่าจะให้คำตอบตนเองได้ด้วยดี

จากคุณ : ผู้ไม่ประสงค์ออกนาม [ 7 ก.ย. 2545 ]

 

ความคิดเห็นที่ 6 : (ศิษย์พระป่า)

เรื่องนี้คุณไม่ประสงค์จะออกนามชี้แจงได้ดีจริง ๆ

ที่จริงผมอยากจะพูดแบบนี้มานานแล้ว แต่กลัวว่าจะอ้างหลักตามอภิธรรมไม่ตรง,

เคยได้ยินหลวงปู่เทสก์ ฯ เปรย ๆ มาสองสามครั้ง และดูเหมือนมีในหนังสือของท่านด้วย ว่า...วิปัสสนานั้นไม่ใช่ง่าย ๆ อย่างที่บางสำนักเข้าใจกัน ที่จริงละเอียดลึกซึ้งมาก และแต่ในแต่ละขั้นตอนของมรรคผลจะเกิดครั้งเดียวเท่านั้น นาน ๆ ปีหรือหลายสิบปีจะเกิดได้สักครั้ง ซึ่งในทางปฏิบัติก็เป็นดังนั้น รูปนามที่กล่าวถึงในวิปัสสนาญาณ ๑๖ นั้น ละเอียดลึกซึ้งถึงจุดเริ่มต้นของมันเลย และไวเท่าการเกิดดับของขณะจิตนั่นแหละ ถ้ายังไม่เห็นถึงตรงนี้จะเหมาว่าเห็นรูปนามตามหลักนั้นได้อย่างไรกัน แค่เป็นสัญญาปรุงแต่งนึก ๆ คิด ๆ ในสัญญานั้นเท่านั้นเอง

จากคุณ : ศิษย์พระป่า [ 8 ก.ย. 2545 ]

 

ความคิดเห็นที่ 7 : (แววตะวัน)

เรียนคุณผู้ไม่ประสงค์จะออกนามที่นับถือ

ขอบคุณมากครับที่ชี้แจงมาอย่างดี ได้ความรู้ขึ้นมาอีกมาก ที่ผมถามเพราะผมสงสัยมานานแล้วครับแต่ไม่รู้จะถามใครหนังสือที่แนะนำมานั้นผมก็อ่านแล้วครับแต่ก็ยังไม่แน่ใจอยู่ดี ว่าเป็นการปฏิบัติตามพุทธพจน์หรือไม่

อีกอย่างหนึ่งนั้นผมไม่ได้คิดจะหักล้างใครเลยต้องการความรู้ที่ถูกต้อง ชัดเจนเท่านั้นครับ อย่าว่าแต่พองยุบเลยครับ แม้แต่การกำหนดลมหายใจ (ที่ผมกำหนดอยู่นั้น) ผมก็ยังไม่แน่ใจเลยว่า กำหนดตามพุทธพจน์หรือไม่

เช่นถ้ามีคนมาถามผมว่าการกำหนดลมหายใจเป็นอานาปนสติหรือไม่ ผมก็บอกว่าไม่ทราบ (แต่ก่อนนี้ก็ฟันธงไปแล้วว่าใช่) คือยิ่งอ่านพระสูตรเกี่ยวกับอานาปนสติภาวนา ก็ยิ่งเห็นความเข้าใจผิดของตนที่ได้เคยอ่าน เคยฟังมาครับ

จากคุณ : แววตะวัน [ 8 ก.ย. 2545 ]

 

ความคิดเห็นที่ 8 : (พีทีคุง)

การปฏิบัตินั้นอาจเริ่มต้นต่างวิธี ต่างอุปกรณ์กันมาแต่ที่จะอบรมจนจิตเข้ามาเจริญรู้เห็นสภาวธรรม หรือ ที่ตำราว่ามีปรมัตถ์เป็นอารมณ์โดยจิตมีลักษณะละวางอุปกรณ์เริ่มต้นเจริญ และความจงใจลง อย่างมีกำลังสติ กำลังสัมปชัญญะพอเหมาะ (สมถะ) ที่รู้ไปอย่างซื่อ ๆ ได้อันเป็นการเริ่มต้นเจริญสติปัฏฐาน (วิปัสสนา) จนให้จิตแจ้งออกมานั้นแต่ละวิธี แต่ละอุปกรณ์เริ่ม ล้วนมีทางหลงย่อยอยู่มาก

หากคุณผู้ไม่ประสงค์ออกนาม จะช่วยแจงวิธีเจริญตามแนวพอง-ยุบ เพื่อยังประโยชน์แก่ผู้มีจริตทางเจริญแนวพอง-ยุบมาก่อน ไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดในการเจริญสติสัมปชัญญะได้ ก็จะเกิดประโยชน์ไม่น้อยครับ

จากคุณ : พีทีคุง [ 8 ก.ย. 2545 ]

 

ความคิดเห็นที่ 9 : (อสาพติ)

เรียน คุณผู้ไม่ประสงค์ออกนาม ค่ะ

แล้วถ้าหากว่าเป็นอย่างที่คุณกล่าวมา ปัจจุบันนี้ ไม่ทราบว่าคุณปฏิบัติ แบบแนวใดค่ะ เพราะว่าปัจจุบันนี้ปฏิบัติ แนวพองยุบอยู่ การที่ได้อ่านข้อความของคุณ ทำให้นำมาคิดว่า ก็มีสาเหตุแห่งการยึดติด ได้เคยได้เรียนถามอาจารย์บางท่าน ว่าควรจะทำอย่างไร ท่านก็กรุณาให้ความรู้ว่า ให้ถึงถึงสภาวะรู้ตัวตนอย่างสด ๆ ๆ อย่างปัจจุบัน รู้ให้ทันท่วงทีทุกขณะจิต ไม่ให้ยึดติดกับการบริกรรม

จากคุณ : อสาพติ [ 8 ก.ย. 2545 ]

 

|ตอนที่ ๑|ตอนที่ ๒|ตอนที่ ๓| ตอนที่ ๔|ตอนที่ ๕| ตอนที่ ๖|ตอนที่ ๗ | ตอนที่ ๘|ตอนที่ ๙ |