#echo banner="" กุสชาดก

คลิกเมาส์ที่ใดก็ได้ในเฟรมนี้เพื่อเรียกเมนูด่วน

กุสชาดก

คัดลอกจาก http://www.geocities.com/i4058980/milin

พระเจ้ากุสราชบรมโพธิสัตว์

กุสราชชาดกนี้มีใจความว่า เมื่อครั้งพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็น พระเจ้ากุสราช พระองค์เป็นผู้ฉลาด รู้จบศิลปศาสตร์ทั้งปวง แต่มีพระรูปขี้เหร่ จนพระอัครมเหสีต้องเสด็จหนี ไม่อภิรมย์ด้วย พระองค์ได้เสด็จตาม และได้ทรงพยายามด้วยประการต่าง ๆ ที่จะได้พระมเหสีกลับคืนมา ภายหลังก็ได้รับความอนุเคราะห์ของท้าวสักกะ จึงได้ปรองดองกัน ต่อไปนี้เป็นเนื้อความพิสดารใน พระสุตตันปิฎกขุททกนิกาย สัตตกนิบาต เริ่มต้นว่า

เมื่อครั้งสมเด็จพระบรมศาสดาประทับอยู่ในพระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภภิกษุผู้มีความกระสันอยากจะสึกรูปหนึ่งให้เป็นเหตุจึงตรัสเทศนาชาดกนี้ ให้เป็นผลแก่ประชุมชนทั้ง มีเนื้อเรื่องเบื้องต้นว่า ยังมีกุลบุตรชาวเมืองสาวัตถีผู้หนึ่งได้ ถวายชีวิตออกบวชในพระพุทธศาสนา วันหนึ่งเธอเที่ยวไปบิณฑบาตในกรุงสาวัตถี เห็นสตรีนางหนึ่งซึ่งแต่งกายงดงาม เกิดความรักใคร่พอใจ จนถึงกับเบื่อหน่ายในพระธรรมวินัย ทิ้งกิจวัตรต่าง ๆ เสีย โดยที่สุดแม้แต่ผมก็ไม่โกน เล็บก็ไม่ตัด มีจีวรเศร้าหมอง ทั้งข้าวปลาอาหารก็กินไม่ได้ จึงมีร่างกายซูบผอมลงทุกวัน มีเส้นเอ็นขึ้นสะพรั่งไปทั้งตัว

มีอุปมาเหมือนกับเทพบุตรทั้งหลายผู้ที่จะจุติจากเทวโลก ย่อมมีบุพนิมิต ๕ ประการเกิดขึ้นคือ พวกดอกไม้ทิพย์เหี่ยวแห้ง ๑ ผ้าทิพย์เศร้าหมอง ๑ ผิวพรรณไม่ผ่องใส ๑ มีเหงื่อออกตามรักแร้ ๑ ไม่รู้สึกยินดีในทิพยอาสน์ ๑

ส่วนภิกษุผู้จะสึกจากพระพุทธศาสนาก็มีบุพนิมิต ๕ ประการเกิดขึ้นก่อนเหมือนกัน ได้แก่ ดอกไม้คือศรัทธา ย่อมเหี่ยวแห้งไป ๑ ผ้าคือศีลย่อมเศร้าหมอง ๑ ผิวพรรณไม่ผ่องใส ๑ มีเหงื่อคือกิเลสเกิดขึ้นครอบงำ ๑ ไม่ยินดีที่จะอยู่ในป่า หรือโคนต้นไม้ หรือเรือนว่าง ๑ ดังนี้ บุพนิมิตทั้งหลายปรากฏแล้วแก่ภิกษุนั้น ลำดับนั้นภิกษุทั้งหลาย จึงได้นำเธอเข้าไปในสำนักของพระศาสดา แล้วกราบทูลเล่าเรื่องถวายให้ทรงทราบ สมเด็จพระบรมโลกนาถจึงทรงซักถามเมื่อภิกษุนั้นรับตามความเป็นจริงแล้ว จึงทรงตรัสว่า

"ดูก่อนภิกษุ เธออย่าตกอยู่ในอำนาจแห่งกิเลสเลย ธรรมดาว่ามาตุคามนี้เป็นข้าศึก ( ต่อการประพฤติพรหมจรรย์ ) เธอจงหักห้ามจิตใจจากมาตุคามนั้นเสีย แล้วยินดีในศาสนาของเราเถิด บัณฑิตทั้งหลายในปางก่อน ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจวาสนายังเสื่อมเสียจากอำนาจ ตกทุกข์ได้ยากเพราะรักใคร่ในมาตุคามเลย"

ครั้นตรัสดังนี้แล้วก็ทรงนิ่งอยู่ ได้รับการอาราธนาจากภิกษุเหล่านั้น จึงทรงยกชาดกนี้แสดงต่อไปว่า

กุสาวดีราชธานี ในอดีตกาล พระเจ้าโอกกากราช ครองราชสมบัติโดยธรรม ในกุสาวดีราชธานี แว่นแคว้นมัลละ พระบาทท้าวเธอมีพระอัครมเหสี ทรงพระนามว่า สีลวดี แต่ทว่าพระนางหามีพระโอรสและพระธิดาไม่ ต่อมาชาวเมืองไม่พอใจ ต่างพากันกราบทูลให้พระราชาปล่อยนางนักสนมออกไป แต่ก็ไม่มีผู้ใดจะได้บุตรกลับมา จึงให้พระอัครมเหสีไปเป็นนางบำเรอของบุรุษทั้งหลายบ้าง ครั้งนั้น ด้วยอำนาจศีลของพระนางจึงทำให้ทิพย์อาสน์ของสมเด็จอมรินทราธิราชเร่าร้อนผิดสังเกต เมื่อทรงทราบเหตุดังนั้นแล้ว จึงเสด็จไปอ้อนวอนพระโพธิสัตว์ และเทพบุตรอีกองค์หนึ่ง ให้ลงมาถือกำเนิดในพระครรภ์ของพระนางสีลวดี ครั้งแล้วสมเด็จอมรินทราธิราชได้ทรงจำแลงเพศเป็นพราหมณ์ชรา พาพระนางสีลวดีออกไปเนรมิตเรือนแก้วขึ้นที่ข้างประตูพระนคร เมื่อพระนางเอนพระกายลง พระองค์จึงทรงลูบพระกายของนางด้วยพระหัตถ์ พอพระนางถูกต้องทิพยสัมผัสแล้ว ก็ทรงเคลิบเคลิ้มหลับไปในทันใด ท้าวสหัสนัยน์จึงทรงอุ้มพระนางไปสู่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พอถึงกำหนด ๗ วันก็ทรงตื่นจากบรรทม ครั้งได้ทรงเห็นทิพย์สมบัติทั้งปวงแล้วจึงทรงทราบว่า พราหมณ์ชราที่พามานั้นเป็นพระอินทร์ ซึ่งกำลังประทับทอดพระเนตรนางอัปสรฟ้อนระบำรำถวายอยู่ พระนางจึงลุกขึ้นไปถวายบังคม สมเด็จอมรินทราธิราชจึงตรัสว่า

"ดูก่อนพระนาง เราจะให้พรแก่เจ้าสักอย่างหนึ่ง ขอเจ้าจงเลือกเอาตามประสงค์เถิด"

พระนางจึงกราบทูลว่า

"เมื่อพระองค์จะทรงพระกรุณาแล้ว หม่อมฉันขอพระราชทานพระโอรสสักพระองค์หนึ่งเถิดเพคะ"

ท้าวสักกเทวราชาจึงตรัสว่า

"เราจักให้สัก ๒ คน คนหนึ่งมีปัญญาแต่รูปร่างไม่สวย อีกคนหนึ่งรูปร่างสวยงามแต่ไม่เฉลียวฉลาด ทั้งสองคนนี้ เจ้าต้องการใครก่อน ?"

พระนางทูลสนองว่า

"หม่อมฉันต้องการคนฉลาดก่อนเพคะ" สมเด็จอมรินทราจึงตรัสว่า

"ได้...เราจะให้สมประสงค์"

แล้วจึงทรงประทานของ ๕ อย่างแก่พระนางคือ หญ้าคา ๑ ผ้าทิพย์ ๑ จันทน์ทิพย์ ๑ ดอกปาริฉัตตก์ทิพย์ ๑ พิณชื่อโกกนท ๑ ครั้งพระนางทรงรับของทั้ง ๕ อย่างนั้นแล้ว พระองค์จึงพาพระนางลงมาส่งวางลงไว้บนพระแท่นบรรทมของบรมกษัตริย์ผู้เป็นพระราชสวามีของพระนาง แล้วทรงลูบพระนาภีของพระนาง ด้วยปลายนิ้วพระหัตถ์เบื้องซ้าย

พระโพธิสัตว์จุติจากเทวโลก

ในขณะนั้น พระโพธิสัตว์ทรงถือกำเนิดในพระครรภ์ของพระนางแล้ว ท้าวสักกะก็เสด็จกลับสู่เทวสถาน พระเทวีทรงทราบว่าพระองค์ทรงตั้งพระครรภ์ เมื่อพระราชาทรงตื่นบรรทมขึ้น ได้ทอดพระเนตรเห็นพระนาง จึงทรงซักถามเรื่องราวที่ผ่านมา พระนางก็ทูลเล่าให้ฟังตามความเป็นจริง เมื่อพระราชายังทรงกริ่งอยู่ในพระทัยพระนางจึงนำของสำคัญ ๕ ประการ ออกถวายให้เห็นเป็นประจักษ์พยาน ท้าวเธอจึงทรงเชื่อว่า พระอินทร์ได้เป็นผู้นำพระนางไปสมกับคำให้การของพระนางจริงทุกประการ พระองค์จึงตรัสถามต่อไปว่า

"ก็แต่ว่าเธอได้บุตรหรือไม่ ?"

พระเทวีทูลว่า

"ได้แล้วเพคะ บัดนี้หม่อมฉันกำลังตั้งครรภ์"

พระบาทท้าวเธอก็ทรงดีพระทัย จึงทรงพระราชทานเครื่องบริหารรักษาพระครรภ์แก่พระนาง พอได้กำหนดครบถ้วนทศมาสนั้น พระนางเจ้าก็ประสูติพระราชโอรส อันมีนามปรากฏว่า กุสติณะ ซึ่งแปลว่า หญ้าคา

ในกาลที่กุสติณราชกุมารเจริญวัยทรงพระดำเนินได้ พระนางก็ได้ประสูติพระราชโอรสอีกพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า ชยัมบดี พระราชกุมารที่เป็นพระเจ้าพี่ คือพระบรมโพธิสัตว์เจ้ามีพระปรีชาเฉลียวฉลาดในศิลปศาสตร์ทุกประการ พอพระองค์มีพระชนม์ได้ ๑๖ พระชันษาพระราชบิดาทรงปรารถนาจะมอบพระราชสมบัติให้ จึงทรงปรึกษากับพระอัครมเหสีเพื่อหาพระราชธิดามาอภิเษกให้เป็นเอกอัครมเหสีของลูก ฝ่ายพระมหาสัตว์เจ้าทรงทราบข่าว จึงทรงพระดำริว่า เรามีรูปร่างไม่สะสวยงดงาม พระราชธิดาผู้สมบูรณ์ด้วยรูป แม้ถูกนำตัวมาพอเห็นเรา ก็จักหนีไปด้วยความรังเกียจ ความอับอายก็จะพึงมีแก่เรา เพราะฉะนั้น เราไม่ควรจะต้องการราชสมบัติ จะตั้งหน้าปฏิบัติพระชนกชนนีไปจนกว่าจะสิ้นบุญของท่าน แล้วเราก็จะออกบวช

ครั้นทรงดำริอย่างนี้แล้ว จึงแจ้งข่าวให้ทรงทราบ พระราชาก็ทรงเสียพระทัย พอล่วงไป ๒ - ๓ วันก็ทรงส่งข่าวสาส์นไปอีก พระราชกุมารนั้นก็คัดค้านอีกเหมือนเดิม เมื่อเป็นอย่างนี้ถึง ๓ ครั้ง ในครั้งที่ ๔ จึงทรงดำริว่า ธรรมดาลูกจะขัดขืนมารดาบิดาอยู่ร่ำไปนั้น ย่อมไม่เป็นการสมควร เราจักกระทำอุบายสักอย่างหนึ่ง

หล่อพระรูปทองคำ

ครั้นทรงดำริแล้ว จึงให้หาหัวหน้าช่างทองคนหนึ่งมาเฝ้า ได้ประทานทองคำให้เป็นอันมากแล้วตรัสว่า

"เจ้าจงเอาทองคำเหล่านี้ไปหล่อเป็นรูปผู้หญิง แล้วนำมาให้เรา"

แต่ว่าพอช่างทองรับเอาทองไปแล้ว พระองค์ก็ทรงหล่อรูปผู้หญิงด้วยทองคำขึ้นไว้รูปหนึ่งด้วยพระองค์เอง แล้วเอาตั้งไว้ในห้องแห่งหนึ่ง พอช่างทองนำรูปผู้หญิงที่ตนทำนั้นมาถวาย ก็ทรงติว่ายังไม่สวยพอ จึงทรงรับสั่งให้นายช่างไปยกเอารูปซึ่งอยู่ในห้องนั้นมาดู พอช่างทองโผล่เข้าไปในห้องนั้นก็ตกใจว่า รูปนั้นเป็นนางเทพธิดาที่จะมาเป็นพระชายาของพระราชกุมาร ไม่อาจจะเอื้อมมือไปแตะต้องได้ จึงกลับออกมาทูลว่า รูปที่สั่งให้ไปยกมานั้น ข้าพระองค์ไม่เห็น เห็นแต่พระแม่เจ้าผู้เป็นพระชายาประทับอยู่ในห้องนั้นพระองค์เดียว จึงตรัสสั่งอีกว่า เธอจงไปยกมาเถิดนั่นแหละคือรูปหล่อที่เราหล่อขึ้นเอง ช่างทองจึงกลับไปยกรูปนั้นออกมาถวาย แล้วให้เก็บเอารูปหล่อที่นายช่างหล่อ ไปไว้เสียในห้องเก็บทอง แล้วจึงให้ประดับตกแต่งรูปหล่อ ที่พระองค์ทรงหล่อเองนั้นอย่างวิจิตรงดงามแล้วให้นำไปถวายพระราชมารดา ทรงสั่งให้กราบทูลว่า

"ถ้าพระแม่เจ้าทรงหาหญิงที่มีรูปร่างงามเหมือนกับรูปทองคำนี้ได้แล้ว หม่อมฉันจึงจะยอมมีอัครมเหสี"

เมื่อพระชนนีได้ทรงเห็นรูปหล่อ และทรงทราบความประสงค์ของพระราชโอรสแล้ว จึงโปรดให้ประชุมเหล่าเสวกามาตย์ราชมนตรีทั้งหลายแล้วตรัสเล่าให้ฟังว่า

"ดูก่อนอำมาตย์ทั้งหลาย ลูกชายของเราซึ่งเป็นผู้มีบุญญาธิการมาก ที่พระอินทร์ทรงประทานให้นั้น เขาอยากได้อัครมเหสีที่มีรูปสวยเหมือนกันรูปหล่อนี้ โดยเหตุนี้ ท่านทั้งหลายจงยกซึ่งรูปหล่อนี้ ขึ้นตั้งไว้บนยานอันปกปิดแล้วพาไปสืบเสาะหากุมารีในที่ต่าง ๆ ด้วยวิธีเอารูปไปตั้งไว้ในที่ใดที่หนึ่งแล้วคอยฟังดูว่า จะมีใครพูกันว่ามีผู้หญิงที่งดงามเหมือนรูปหล่อนี้บ้าง ถ้าได้พบแล้วจงไต่สวน ให้รู้ว่าเป็นลูกเต้าเหล่ากอของใคร ถ้าเป็นลูกกษัตริย์จงเข้าไปทูลขอทีเดียวว่า บัดนี้ พระเจ้าโอกกากราชมีพระราชประสงค์จะทรงอภิเษกพระราชโอรส ให้เสวยราชสมบัติแทนพระองค์ จึงโปรดให้ข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวง มาทูลขอพระราชธิดาของพระองค์ ไปอภิเษกเป็นเอกอัครมเหสีของพระราชโอรสนั้น เมื่อกษัตริย์พระองค์นั้นทรงยินยอมยกให้แล้ว จงทูลนัดฤกษ์วันเวลาที่จะทำพิธีอาวาหมงคล เมื่อตกลงอย่างไรแล้ว จงกลับมาแจ้งแก่เราโดยเร็วอย่าได้ช้า"

พวกอำมาตย์รับพระราชเสาวนีย์แล้วก็นำรูปหล่อนั้นขึ้นยานอันปกปิด นำออกจากพระนครไป เมื่อไปถึงราชธานีใด ก็ประดับประดารูปหล่อนั้นให้ดี แล้วก็ยกไปตั้งไว้ข้างมรรคาที่คนทั้งหลายไปมาเป็นอันมาก เป็นต้นว่าทางที่จะไปอาบน้ำอันมีในบ้านเมืองนั้น ๆ แล้วพากันไปแอบฟังเสียงคนทั้งหลายพูดกัน เมื่อคนทั้งหลายได้เห็นรูปหล่อนั้นแล้ว ก็เข้าใจว่าเป็นหญิงจริง ๆ ได้พากันชมเชยด้วยถ้อยคำต่าง ๆ แล้วก็พากันกลับไป อำมาตย์เหล่านั้นก็ทราบได้ว่า ในเมืองนี้ไม่มีหญิงคนใดที่จะสวยเหมือนรูปนี้ จึงตกลงกันว่า พวกเราควรจะออกจากเมืองนี้ แล้วก็พากันออกจากเมืองนี้ไปเมืองอื่นต่อไปอีก และได้กระทำพิธีทดลองตามที่ทำมาแล้ว

พระนางประภาวดี

จนกระทั่งถึง สาคลบุรี ในประเทศมัทราชโดยลำดับ ในเวลานั้นพระเจ้าแผ่นดินในเมืองสาคละซึ่งทรงพระนามว่า พระเจ้ามัทราช ทรงมีพระราชธิดาอยู่ ๘ พระองค์ ทรงพระรูปพระโฉมงดงามปานดังนางฟ้า พระราชธิดาองค์ใหญ่มีพระนามว่า ประภาวดี พระนางมีพระรัศมีซ่านออกจากพระกายข้างละ ๑ วา พระรัศมีนั้นมีสีดังสีพระอาทิตย์แรกอุทัย แต่พระรัศมีนี้ หมายถึงพระรัศมีแผ่ออกไปในเวลากลางวัน ส่วนในเวลากลางคืนนั้น พระรัศมีส่องสว่างมากกว่านี้ จนไม่ต้องจุดไฟในเวลาราตรี ในห้องที่พระนางประทับอยู่ พระนางประภาวดีนี้มีพระพี่เลี้ยงคนหนึ่งชื่อว่า นางขุชชา เป็นหญิงค่อมพิการ ในเวลาเย็น มีพวกอำมาตย์ของพระเจ้าโอกกากราชนำรูปทองคำไปตั้งไว้ข้างทางที่ลงท่าน้ำ นางขุชชาให้พระนางประภาวดีเสวยเสร็จแล้ว ส่วนตนได้ออกจากพระราชวัง ลงไปสู่ท่าน้ำกับพวกทาสี ประมาณ ๗ - ๘ คน พอได้เห็นรูปหล่อนั้น พลันก็เข้าใจว่าเป็นพระนางประภาวดี จึงร้องออกไปด้วยความโกรธว่า

"พระนางนี้ช่างว่ายากเสียจริง ๆ เขาจักตักน้ำไปถวายไม่ได้หรือ จึงต้องเสด็จมาเอง ถ้าพระราชบิดามารดาทรงทราบเข้า พวกหม่อมฉันมิต้องย่อยยับไปหรือ..."

ว่าแล้วก็ตรงเข้าไปจับรูปหล่อนั้น จึงรู้ว่าไม่ใช่พระนางประภาวดี พวกอำมาตย์ได้เห็นดังนี้ จึงออกจากที่ซ่อนพากันไปซักถามว่า

"เหตุไรจึงมาจับรูปหล่อของเรา ?"

นางขุชชาจึงตอบว่า

"เพราะเข้าใจว่าเป็นรูปพระนางประภาวดีซึ่งเป็นพระราชธิดาแห่งพระเจ้าอยู่หัวของเรา"

"พระราชธิดาของพระเจ้าอยู่หัวเมืองนี้สวยเหมือนกับรูปหล่อนี้หรือ ?"

"สวยยิ่งกว่านี้อีกเจ้าข้า"

พวกอำมาตย์นั้นจึงพากันเข้าไปกราบทูลพระเจ้ามัทราช ตามที่ได้รับมอบหมายมาแล้วนั้น เมื่อพระเจ้ามัทราชทรงรับเครื่องราชบรรณาการเหล่านั้นไว้ พวกอำมาตย์จึงพากันกลับไปกราบทูลพระเจ้าโอกกากราชและพระราชเทวีให้ทรงทราบ กษัตริย์ทั้งสองจึงเสด็จมาสู่สาคลนครโดยเร็วพลัน

อุบายของพระนางสีลวดี

ฝ่ายพระนางสีลวดีได้ทอดพระเนตรเห็นพระนางประภาวดี จึงทรงดำริว่า ราชธิดาองค์นี้ เป็นหญิงมีรูปร่างงดงามมากนัก ส่วนโอรสของเรามีรูปร่างไม่งดงาม ถ้านางได้เห็นโอรสของเราแล้ว คงจะรีบหนีไปเป็นแน่แท้ แม้เพียงราตรีเดียวก็ไม่อาจจะอยู่ร่วมได้ เห็นเราจักต้องทำกลอุบาย ครั้งทรงดำริอย่างนี้แล้ว จึงทูลพระเจ้ามัทราชว่า

"นางประภาวดีนี้สมควรกับพระโอรสของหม่อนฉันแท้ แต่ทางบ้างเมืองของหม่อมฉันมีราชประเพณีอยู่อย่างหนึ่ง ซึ่งถือกันมานานแล้วคือ ถ้าพระภัสดากับพระชายาคู่ใดอยู่ด้วยกันยังไม่ทันมีครรภ์แล้ว ห้ามไม่ให้ทั้งสองเห็นกันในเวลากลางวันหรือในที่สว่างเป็นอันขาด ให้เห็นกันแต่ในเวลากลางคืน ในที่มืด ๆ เท่านั้น ต่อเมื่อมีครรภ์แล้วจึงให้เห็นกันได้ทุกเวลา ถ้าพระนางประภาวดีประพฤติตามพระราชประเพณีนี้ได้ หม่อมฉันก็ยินดีจะรับเขาไปเป็นศรีสะใภ้ของหม่อมฉัน"

ครั้งพระเจ้ามัทราชหันไปตรัสถามพระราชธิดา พระนางกราบทูลว่าได้แล้ว พระเจ้าโอกกากราชจึงได้ถวายพระราชทรัพย์เป็นอันมากแก่พระเจ้ามัทราช แล้วทรงรับพระนางประภาวดีเสด็จกลับไปสู่พระนครของพระองค์ เมื่อกลับถึงราชธานีแล้วจึงทรงจัดการราชาภิเษกพระราชโอรส ให้ขึ้นครองราชสมบัติทรงพระนามบัญญัติว่า พระเจ้ากุสราช กับพระราชเทวีอันทรงพระนามว่า ประภาวดี พระราชาทั้งหลายในชมพูทวีปทั้งหมดพระองค์ใดมีพระราชธิดา ก็ส่งพระราชธิดาไปถวาย พระองค์ใดมีพระราชโอรส ก็ทรงส่องพระราชโอรสไปถวาย พระราชาเหล่านั้นทรงหวังความเป็นมิตรไมตรีกับพระเจ้ากุสราชนั้น พระโพธิสัตว์เจ้าทรงมีพระนางสนมเป็นบริวารมากมาย ทรงปกครองพระราชสมบัติด้วยพระอิสริยยศอันยิ่งใหญ่เกรียงไกร ดังนี้

พระราชาทรงปลอมพระองค์

นับแต่นั้นมาพระเจ้ากุสราชกับพระอัครมเหสี ได้ทรงพบกันแต่ในเวลาราตรีเท่านั้น พระรัศมีของพระนาง ไม่อาจส่องให้เห็นพระพักตร์ของพระราชสวามีได้ถนัด ด้วยอำนาจบุญญาภินิหารของพระโพธิสัตว์แรงกล้า แต่พอ ๒ - ๓ วันผ่านพ้นไปพระราชามีความปรารถนาจะได้เห็นพระอัครมเหสีในเวลากลางวัน จึงทูลถามพระราชมารดาให้ทรงทราบ พระราชมารดาก็ทรงห้ามว่ารอให้ได้พระโอรสองค์หนึ่งก่อนเถิด เมื่อพระราชาอ้อนวอนบ่อย ๆ เข้า พระมารดาไม่อาจขัดขืนได้ จึงตรัสว่า ถ้าอย่างนั้นเจ้าจงปลอมเป็นคนเลี้ยงช้างไปอยู่ในโรงช้างเถิด แม่จะพานางไปในที่ตรงนั้น แต่ระวังอย่าให้นางเกิดสงสัยได้ พระราชาก็ได้กระทำตามนั้นลำดับนั้น พระมารดาจึงรับสั่งให้คนตกแต่งโรงช้าง แล้วตรัสชักชวนพระนางประภาวดีให้เข้าไปชมช้างต้นของพระราชาภายในโรงช้างพระราชาทรงปลอมพระองค์เป็นคนเลี้ยงช้าง ทอดพระเนตรเห็นพระมเหสีเสด็จตามหลังพระราชมารดา จึงทรงหยิบเอาขี้ช้างก้อนหนึ่งขว้างไปที่หลังของพระนางประภาวดีพระนางทรงกริ้วกราดตวาดออกไปว่า

"เจ้าบังอาจมาก เราจักให้พระราชาทรงตัดมือของเจ้าเสีย"

ฝ่ายพระราชมารดาจึงได้ทรงปลอบประโลมเอาพระทัยว่า อย่าถือสากับคนเลี้ยงช้างเลย แล้วทรงช่วยปัดข้างหลังให้ ต่างพากันเสด็จกลับพระราชนิเวศน์

ต่อมาพระราชาใคร่จะได้เห็นนางอีก จึงใช้วิธีปลอมพระองค์เป็นคนเลี้ยงม้า แล้วทรงเอาก้อนขี้ม้านั้น ขว้างไปเหมือนเดิมอีกพระนางก็ทรงกริ้วใหญ่ พระสัสสุ (แม่ผัว) ก็ได้ทรงปลอบเหมือนคราวที่แล้วอีกเช่นกัน

พระมเหสีใคร่จะได้เห็นพระราชาบ้าง

ในเวลาต่อมา พระนางประภาวดีทรงใคร่จะได้เห็นพระราชสวามี จึงทูลแก่พระสัสสุเป็นหลายครั้ง พระสัสสุจึงรับสั่งว่า

"ถ้าอย่างนั้น ในวันพรุ่งนี้พระราชสวามีของเจ้าจะเสด็จเลียบพระนคร เจ้าจงคอยดูที่ช่องพระแกลเถิด"

ครั้งตรัสสั่งดังนี้แล้วจึงโปรดให้ตกแต่งพระนครในวันรุ่งขึ้น แต่ให้ พระชยัมบดี ผู้เป็นพระเจ้าน้องของพระโพธิสัตว์เจ้า ทรงเครื่องกษัตริย์ ประทับนั่งบนหลังช้างพระที่นั่งแทน ส่วนพระโพธิสัตว์เจ้า แต่งองค์เป็นควาญช้างประทับนั่งบนอาสนะข้างหลัง แล้วให้เสด็จเลียบพระนครเวลานั้น พระราชมารดาทรงพาพระนางประภาวดีไปประทับยืนที่สีหบัญชรแล้วตรัสว่า

"เจ้าจงดูเถิด พระราชสวามีของเจ้าจะมีรูปทรงสวยสง่างามสักเพียงไร"

ฝ่ายพระนางประภาวดีทรงเจ้าพระทัยว่า เราได้พระสวามีที่มีความเหมาะสมกันดังนี้แล้ว ทรงปลาบปลื้มดีพระทัยเป็นอย่างยิ่ง ฝ่ายพระราชาได้ทอดพระเนตรพระนางประภาวดีเหมือนกัน ทรงพอพระราชหฤทัยเป็นอันมาก จึงได้แสดงอาการยั่วเย้าด้วยการยกพระหัตถ์ เมื่อช้างพระที่นั่งคล้อยหลังไปแล้ว พระสัสสุจึงตรัสถามว่า

"เจ้าเห็นพระภัสดาของเจ้าแล้วหรือ ?"

พระนางกราบทูลว่า

"เห็นแล้วเพคะ แต่นายควาญช้างคนนั้น ช่างไม่รู้จักขนบธรรมเนียมเสียบ้างเลยมันทำกิริยาเคาะแคะหม่อมฉัน ทั้งท่าทางก็ดูไม่มีผู้ดีเลย เหตุไรจึงให้เป็นคราญช้างพระที่นั่งเล่าเพคะ"

พระสัสสุจึงตรัสตอบว่า

"เขาต้องการเพียงแค่การระมัดระวังช้างพระที่นั่งเท่านั้น เขาหาได้ต้องการขนบธรรมเนียมแต่ประการใดไม่"

พระนางประภาวดีได้ทรงดำริว่า ควาญช้างคนนี้ได้รับอภัยเสียเหลือเกิน หรือควาญช้างคนนี้เป็นพระเจ้ากุสราช พระองค์คงจะมีรูปร่างน่าเกลียด พระราชมารดาจึงทรงหาอุบายไม่ให้เราได้พบเห็นกัน พระนางประภาวดีจึงทรงกระซิบนางขุชชา ผู้เป็นที่เลี้ยงว่า

"พี่จงตามไปดูทีหรือว่า พระเจ้ากุสราชประทับช้างข้างหน้าพระที่นั่งหรือข้างหลัง แล้วจงมาบอกแก่เรา"

นางขุชชาผู้เป็นหญิงค่อมกราบทูลว่า

"หม่อมฉันจะรู้ได้อย่างไร ว่าคนไหนเป็นพระเจ้ากุสราช?"

พระนางตรัสตอบว่า

"ถ้าคนไหนลงก่อน ก็คนนั้นแหละ คือพระเจ้ากุสราช"

นางขุชชาจึงสะกดรอยไปดู ก็เห็นพระโพธิสัตว์เจ้าเสด็จลงจากช้างพระที่นั่งก่อน พอพระโพธิสัตว์เจ้าทอดพระเนตรเห็นนางขุชชาก็ทรงแน่พระทัยว่า นางมาพิสูจน์พระองค์ จึงตรัสเรียกมากำชับว่า เจ้าอย่าไปบอกพระนางประภาวดีเป็นอันขาด นางค่อมนั้นจึงกลับไปทูลพระนางว่า พระเจ้ากุสราชผู้เสด็จประทับอยู่ข้างหน้าช้างพระที่นั่ง เสด็จลงก่อน พระนางประภาวดีก็ทรงเชื่อถ้อยคำของนางค่อมนั้น

พระมเหสีเสด็จหนีกลับพระนคร

ครั้งต่อมาพระราชาทรงใคร่จะเห็นพระนางอีก จึงทูลอ้อนวอนพระราชมารดา แล้วพระราชามารดาไม่อาจจะทรงห้ามได้ จึงตรัสว่า ถ้าอย่างนั้นเจ้าจงปลอมตัวไปแอบอยู่ที่ประตูพระราชอุทยานอย่าให้ผู้ใดผู้หนึ่งรู้เห็น ฝ่ายพระราชาเสด็จไปยังอุทยานแล้วทรงยืนแช่น้ำอยู่ในสระโบกขรณีประมาณแค่คอ ปกพระเศียรด้วยใบบัว บังพระพักตร์ด้วยดอกบัวบาน พระราชามารดาก็ทรงพาพระนางประภาวดีไปยังพระราชอุทยาน แล้วทรงพานักสนมกำนัลในลงเล่นน้ำในสระโบกขรณี ส่วนพระนางประภาวดีได้ทอดพระเนตรเห็นดอกบัวที่พระโพธิสัตว์เจ้าซ่อนอยู่นั้น จึงเสด็จว่ายน้ำเข้าไปเก็บ พระบรมโพธิสัตว์จึงทรงเปิดใบบัวออกเสีย แล้วคว้าข้อพระหัตถ์ของพระนางไว้ รับสั่งขึ้นดัง ๆ ว่า

"ตัวเรานี้แหละ คือพระเจ้ากุสราช...!"

พระนางพอได้ทอดพระเนตรเห็นก็ทรงร้องขึ้นด้วยสำคัญว่ายักษ์จับเรา แล้วสิ้นพระสติสมฤดีอยู่ที่ตรงนั้นเอง พระราชาจึงทรงปล่อยพระหัตถ์ละจากพระนาง

ครั้นพระนางรู้สึกพระองค์ได้แล้วทรงดำริว่า พระเจ้ากุสราชนี้เองได้ปลอมเป็นคนเลี้ยงช้างและเป็นคนเลี้ยงม้า เรานี้ได้ผัวมีหน้าตาน่าเกลียดขนาดนี้ เราจำเป็นต้องทิ้งกลับไปหาผัวใหม่ให้จงได้ ครั้นทรงดำริอย่างนี้แล้ว จึงให้พวกอำมาตย์ทั้งหลาย นำความไปกราบทูลพระเจ้าโอกการาช พระองค์จึงทรงดำริว่า ถ้าไม่ให้นางไปนางก็คงจักตรอมใจตาย เราควรจักอนุญาตให้ไปเสียก่อน แล้วจึงค่อยคิดผันผ่อนนำมาต่อภายหลัง พอทรงดำริดังนี้แล้วจึงทรงอนุญาตให้พระนางเสด็จกลับไปได้ ฝ่ายพระบรมโพธิสัตว์เจ้า ก็เสด็จกลับเข้าสู่พระนคร กำลังทรงสะท้อนถอนพระทัยด้วยทรงอาลัยในพระนางเจ้าเป็นหนักหนา

บุพพกรรมในอดีตกาล

ต่อนี้ไปจะกลับกล่าวถึงเหตุแห่งบุคคลทั้งสองไว้ดังนี้

มีหมู่บ้านอันตั้งอยู่ใกล้ประตูเมืองพาราณสี มีตระกูล ๒ ตระกูลที่ถนนหมู่บ้านนั้น ตระกูลหนึ่งมีลูกชายอยู่ ๒ คน อีกตระกูลหนึ่งมีลูกหญิง ๑ คน อยู่มาตระกูลที่มีลูกชาย ๒ คนนั้นเติบโต มารดาจึงไปขอภรรยาให้แก่ลูกชายคนใหญ่ อยู่มาวันหนึ่งน้องชายได้ไปป่าเสีย ส่วนพี่สะใภ้อยู่ทางบ้านจึงทำขนมเบื้อง โดยแบ่งไว้ให้น้องของสามีส่วนหนึ่ง ที่เหลือนั้นแจกแบ่งกันบริโภคจนหมด พอกินขนมหมดแล้วก็มีพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่งเสด็จไปบิณฑบาต พี่สะใภ้จึงคิดว่า เราจะทำขนมไว้ให้น้องผัวของเราใหม่ ส่วนนี้จะเอาใส่บาตรเสีย

ครั้นคิดแล้ว จึงเอาขนมส่วนนั้นไปใส่บาตรพระปัจเจกพุทธเจ้า พอน้องผัวกลับมาถึงก็เล่าเรื่องให้ฟัง น้องผัวก็โกรธว่า ส่วนของพี่ ๆ ได้กินเสียหมด ยกเอาส่วนของเราไปทำบุญเสียแล้วเราจะกินอะไร ว่าแล้วก็ตามไปแย่งเอาขนมมาจากบาตรพระปัจเจกพุทธเจ้า ฝ่ายพี่สะใภ้จึงไปหาเนยใสใหม่ ซึ่งมีสีเหมือนดอกจำปามาทอดขนมถวายพระปัจเจกพุทธเจ้าอีกจนเต็มบาตร ขนมนั้นมีสีเหลืองปรากฏขึ้นในบาตรนางนั้นจึงตั้งความปรารถนาว่า

"ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ดิฉันเกิดในภพใด ๆ ขอให้ร่างกายของดิฉัน จงเกิดมีรัศมีเปล่งปลั่ง และมีรูปร่างสดสวยงดงามเป็นอย่างยิ่ง และขออย่าให้ได้พบคนเลวเหมือนกับน้องผัวของดิฉันคนนี้เลย"

พอน้องผัวได้ฟังดังนั้น จึงเอาขนมของตนนั้น กลับไปใส่บาตรพระปัจเจกพุทธเจ้าอีก วางขนมของตนทับของพี่สะใภ้ลงไปแล้ว ตั้งความปรารถนาว่า

"ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าจะไปเกิดในชาติใดภพใดก็ตาม ขอให้พบกับพี่สะใภ้คนนี้อีก ถึงจะอยู่ไกลกันตั้งร้อยโยชน์ก็ตามขอให้ข้าพเจ้านำมาเป็นภรรยาให้จงได้"

เมื่อคนทั้งสองตายแล้ว ก็ได้ไปเกิดในสวรรค์ ส่วนพี่สะใภ้จุติจากสวรรค์แล้ว ลงมาเกิดเป็น พระนางประภาวดี ส่วนน้องผัวลงมาเป็น พระเจ้ากุสราช คือพระโพธิสัตว์เจ้านี้เอง แต่ด้วยอำนาจแห่งบุพพกรรม ที่โกรธแล้วเอาขนมกลับคืนมานั้น พระโพธิสัตว์เจ้าจึงได้เป็นผู้มีรูปร่างไม่งดงามน่าเกลียด ดังนี้

พระราชาเสด็จตามพระมเหสี

ฝ่ายพระเจ้ากุสราชแม้จะได้รับบำรุงบำเรอจากนางสนมทั้งหลาย ก็ไม่อาจคลายความเศร้าโศกอาลัยได้ พระองค์จึงกราบทูลพระราชมารดาไปสาคลนคร เพื่อติดตามหาพระนางประภาวดีเอกอัครมเหสีต่อไป เมื่อพระราชาจะเสด็จออกจากพระนครพระองค์ทรงเหน็บพระแสงอาวุธ ๕ อย่างและทรงบรรจุกหาปณะพันหนึ่งลงในย่ามพร้อมด้วยภาชนะพระกระยาหาร มือถือพิณทิพย์ไปแต่ลำพังพระองค์ พระโพธิสัตว์ทรงมีพระกำลังเรี่ยวแรงมาก ทรงดำเนินไปสิ้นระยะทาง ๑๐๐ โยชน์ ก็ถึงเมืองสาคละในเวลาเย็น เมื่อพระองค์เสด็จเข้าไปแล้วเท่านั้น ด้วยเดชานุภาพแห่งพระโพธิสัตว์ พระนางประภาวดีจะทรงบรรทมอยู่บนพระที่มิได้ต้องเสด็จลงมาบรรทมเหนือภาคพื้น

ในขณะที่พระองค์ทรงดำเนินมาตามถนน มีหญิงคนหนึ่งเชื้อเชิญให้ประทับในบ้านของตน พร้อมได้จัดที่บรรทมและพระกระยาหารเสวย ครั้งเสวยเสร็จแล้วได้พระราชทานทรัพย์พันหนึ่ง กับภาชนะทองคำแก่หญิงคนนั้น แล้วฝากพระแสงเบญจาวุธไว้ที่บ้านนั้น พระองค์ทรงถือเอาพิณเสด็จไปยังโรงช้าง ขออนุญาตจากคนเลี้ยงช้างแล้วบรรทมระงับความเหน็ดเหนื่อยแล้ว จึงทรงลุกขึ้นดีดพิณขับร้องประสานเสียง ด้วยทรงมุ่งหวังจะให้ชาวเมืองสาคละได้ยิน พอพระนางประภาวดีได้ทรงสดับเสียงขับร้อง ก็ทรงทราบว่าพระเจ้ากุสราชคงจะเสด็จตามเรามาอย่างแน่นอน

พระโพธิสัตว์ทรงปลอมเป็นนายช่าง

เมื่อพระเจ้ากุสราชทรงเห็นว่า อยู่ที่โรงช้างไม่อาจจะได้เห็นพระนางประภาวดี พระองค์จึงเสด็จกลับไปที่เรือนหญิงนั้นอีก ทรงฝากพิณไว้แล้ว ได้เสด็จไปขอเป็นลูกมือช่างปั้นภาชนะต่าง ๆ ถวายหลวง พระองค์ได้ทรงปั้นภาชนะที่เขาจะทำไปถวายพระนางประภาวดีนั้น ทำให้มีลวดลายต่าง ๆเมื่อทรงปั้นและเผาเสร็จแล้ว ให้พวกช่างนำไปถวายพระเจ้ามัทราช พระบาทท้าวเธอทรงแปลกพระหฤทัย จึงตรัสถามจนได้ทราบความจริงแล้ว ได้พระราชทานทรัพย์พันหนึ่งเป็นรางวัล พร้อมกับรับสั่งอีกว่า

"คน ๆ นี้ไม่ควรเป็นศิษย์ของเจ้า ที่ถูกต้องเป็นอาจารย์ของเจ้า เจ้าจงศึกษากับเขาเถิด นับตั้งแต่นี้ไปจงให้เขาเป็นคนทำเครื่องปั้น ให้เป็นเครื่องเล่นสำหรับธิดาของเราทุก ๆ คน"

ช่างปั้นนั้นก็รับเอาพระราชทรัพย์กลับมาถวายพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ก็ปั้นเครื่องเล่นต่าง ๆ ส่งเข้าไปถวายพระราชธิดาทั้ง ๗ พระองค์ของพระเจ้ามัทราช เฉพาะที่จะถวายพระนางประภาวดีนั้น พระองค์ได้ทรงปั้นให้วิจิตรบรรจงยิ่งกว่าองค์อื่น ๆพอพระนางได้ทอดพระเนตรเห็นพระรูปของพระราชสวามี และรูปนางขุชชาอยู่ในเครื่องปั้นก็ทรงทราบว่า เป็นของพระเจ้ากุสราช กระทำ จึงทรงโยนของนั้นทิ้ง ตรัสว่าใครอยากได้ก็จงเอาไป

ฝ่ายพระเจ้าน้องทั้งหลายทรงยิ้มแล้วกราบทูลว่า ขอพระพี่นางจงทรงรับไว้เถิด เพราะของพวกนี้พวกนายช่างได้ทำขึ้นเฉพาะพระพี่นางเท่านั้น พระนางประภาวดีก็ทรงนิ่งเสียไม่ตรัสบอกว่าเป็นของพระเจ้ากุสราชทรงกระทำ เพราะไม่ต้องการที่จะให้ใครทราบว่า พระเจ้ากุสราชเสด็จตามมา

ฝ่ายพระโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า เราอยู่ในที่นี้ไม่อาจได้เห็นพระนาง จึงไปขอเป็นลูกมือของนายช่างจักสาน ออกจากนายช่างจักสานไปเป็นลูกมือนของนายช่างดอกไม้ ในเวลาที่พระองค์อยู่ในสำนักทั้งสองนี้ได้ทำเครื่องจักสานและดอกไม้ต่าง ๆ เข้าไปถวาย เหตุการณ์ก็เป็นเช่นเดิม โดยเฉพาะพระนางประภาวดี ได้โยนทิ้งเสียทุกคราว

พระเจ้ากุสราชจึงเสด็จไปขอเป็นลูกมืออยู่กับเจ้าหน้าที่ห้องเครื่องต้น ซึ่งเป็นผู้ทำเครื่องเสวยถวายพระเจ้ามัทราช วันหนึ่งพระโพธิสัตว์ได้ปิ้งเนื้อถวายพระเจ้ามัทราช พระองค์เสวยก็ทรงรู้สึกว่ามีโอชารสแปลกกว่าเนื้อปิ้งที่เคยเสวยแล้ว จึงตรัสสั่งให้เป็นพนักงานทำพระกระยาหารถวายพระราชธิดาของพระองค์

นับแต่วันนั้นไปพระโพธิสัตว์ได้ทรงทำเครื่องเสวยเสร็จแล้ว ทรงหาบไปถวายพระราชธิดาเอง พระนางประภาวดีได้ทอดพระเนตรเห็นก็ทรงดำริว่า พระเจ้ากุสราชมาทำงานอย่างทาสกรรมกร ไม่สมควรแก่พระองค์เลย ถ้าเราจะปล่อยให้เสด็จมาอย่างนี้ เขาก็จะเข้าใจว่าเรารักเขา จำเราจะด่าเสียให้เจ็บใจ เพื่อไม่ให้มาอีกต่อไปพระนางจึงไปแอบอยู่ที่บานประตูข้างหนึ่งแล้วตรัสว่า

"ท่านต้องมาแบกหามให้ได้รับความลำบาก ทั้งกลางวันและกลางคืนเช่นนี้ ด้วยมีความประสงค์ตัวเรา แต่เราขอบอกว่าเชิญท่านกลับไปบ้านเมืองเสียจะดีกว่า จงไปหานางยักษิณีซึ่งมีหน้าคล้ายขนมเบื้องไปเป็นมเหสีเถิด เราไม่ต้องการที่จะอยู่กับท่านอีกแล้ว"

พระโพธิสัตว์ได้ทรงสดับอย่างนี้แล้วทรงดีพระทัยจึงตรัสตอบว่า

"เราติดใจในรูปโฉมของเจ้ามาก การที่เราต้องทิ้งบ้านเมืองเพราะอยากเห็นหน้าเจ้า น้องประภาวดี... นอกจากตัวเจ้าแล้วเราไม่ต้องการสิ่งใดอีก"

พระโพธิสัตว์ตรัสอย่างนี้แล้ว พระนางประภาวดีจึงทรงปิดประตูเสีย พระองค์จึงทรงหามเครื่องเสวยไปถวายพระราชธิดาองค์อื่น ๆ ตามลำดับ สำหรับเครื่องเสวยของพระนาง ทรงโปรดให้นางขุชชาบริโภค และได้เสวยส่วนของนางขุชชาแทน แล้วได้ทรงซ่อนพระองค์อยู่ภายในห้องบรรทม ไม่ให้พระบรมโพธิสัตว์ได้เห็นพระองค์อีก

ฝ่ายพระเจ้ากุสราชปรารถนาจะทดลองดูว่า พระนางจะมีความรักต่อพระองค์บ้างหรือไม่ จึงทรงหาบเครื่องเสวยเปล่าผ่านประตูพระตำหนักของพระนางแล้ว ทรงแกล้งล้มสลบอยู่ตรงนั้น พระนางได้ยินเสียงดังโครมคราม จึงเปิดประตูทรงเห็นพระโพธิสัตว์ล้มลงสลบ ก็ทรงสังเวชพระทัยว่า พระกุสราชนี้ช่างมาลำบากเพราะตัวเราแท้ ๆ พระนางจึงรีบเสด็จออกไปก้มลงดูพระพักตร์เพื่อตรวจลมหายใจที่พระนาสิก (จมูก) ของพระเจ้ากุสราช พอได้ทีพระโพธิสัตว์ก็ถ่มพระเขฬะ (น้ำลาย) รดพระพักตร์พระนางเจ้า พระนางทรงพิโรธด่าว่าด้วยถ้อยคำหยาบคาย แล้วเสด็จเข้าสู่พระตำหนักประทับยืนตรัสอยู่ข้างประตูว่า

"ดูก่อนพระเจ้ากุสราช คนใดที่อยากได้คนที่ไม่อยากได้ตัว คนนั้นย่อมไม่มีความเจริญ ก็ฉันไม่รักท่าน ท่านจะให้ฉันรักท่านมาอยากได้คนที่เขาไม่รักตัวเช่นนี้ ท่านก็ไม่มีความเจริญ"

พระโพธิสัตว์เจ้าตรัสตอบว่า

"นี่แน่ะประภาวดี คนใดได้คนซึ่งเขาจะรักตัวก็ตาม ไม่รักตัวก็ตาม มาเป็นที่รักสมประสงค์แล้ว ฉันเรียกการได้นั้นว่าเป็นการดี ผิไม่ได้เป็นการไม่ดี"

ทั้งสองได้ตรัสโต้ตอบกันอีกหลายคำ แต่รวบรัดตัดตอนว่าไม่สามารถตกลงกันได้ พระนางจึงปิดประตูเข้าตำหนักไป พระโพธิสัตว์จึงทรงยกหาบเครื่องเสวยกลับจากพระตำหนักทันที ตั้งแต่นั้นมาก็ไม่ได้ทรงพบเห็นพระนางอีก

เมื่อพระบรมกษัตริย์เจ้าทรงทำหน้าที่พนักงานเครื่องต้นอยู่นั้นทรงลำบากยิ่งนัก พอเสวยเช้าแล้วก็ต้องทรงผ่าฟืน ทรงล้างภาชนะน้อยใหญ่เสด็จแล้วเสด็จไปตักน้ำ ถึงยามบรรทมก็บรรทมอยู่ข้างรางน้ำ พอตื่นบรรทมขึ้นก็ทรงทำเครื่องเสวยแล้วหาบไปถวายพระราชธิดาทั้งหลาย การที่พระองค์ต้องทรงลำบากอย่างยิ่งนี้ ก็เพราะอาศัยรักใคร่ยินดีในกามารมณ์เป็นต้นเหตุ

นางขุชชารับเป็นแม่สื่อ

อยู่มาวันหนึ่งพระองค์ทอดพระเนตรเห็นนางขุชชามาที่ข้างห้องเครื่อง จึงตรัสขอร้องให้นางค่อมช่วยทำให้พระนางประภาวดีมีความกรุณา อย่างน้อยแค่ให้แลดู หรือยิ้มแย้มแจ่มใสต่อพระองค์บ้าง เมื่อกลับไปกรุงกุสาวดีแล้วจะมอบรางวัลให้อย่างเต็มที่นางขุชชาก็ทูลรับคำว่า อีกสองสามวันหม่อนฉันจะทำพระนางประภาวดีให้อยู่ในอำนาจของพระองค์ กราบทูลดังนี้แล้วก็กลับเข้าไปในตำหนักพระนาง ทำทีเข้าไปปัดกวาดจัดตั่งเป็นที่ประทับ แล้วกราบทูลว่าจะสางพระเกศาถวายเมื่อมีโอกาสจึงทูลขึ้นว่า

"พระราชบุตรีนี้ช่างไม่ทรงระลึกถึงครั้งยังอยู่กับพระเจ้ากุสราช บัดนี้พระราชสวามีได้เสด็จมาเป็นคนรับใช้ การที่พระองค์ต้องทรงทนลำบากเช่นนี้ เป็นเพราะทรงอาลัยในพระแม่เจ้าผู้เดียวเท่านั้น แต่พระแม่เจ้าช่างไม่มีเยื่อใย ทำเหมือนอย่างเป็นคนอื่นคนไกล หม่อมฉันเห็นว่าไม่เป็นการสมควรยิ่งนัก"

ครั้นกราบทูลอย่างนี้แล้วก็หยุดวาจานิ่งฟัง ว่าพระนางเจ้าจะตรัสประการใด พระนางประภาวดีได้ทรงสดับถ้อยคำของพี่เลี้ยงดังนี้แล้วก็ทรงกริ้วว่า พระพี่เลี้ยงแนะนำให้พระนางทรงโน้มพระทัยต่อพระราชสวามี ผู้มีพระรูปพระโฉมอันน่าเกลียด พระพี่เลี้ยงก็ทำเป็นโกรธ ผลักพระนางเข้าไปในห้องแล้วปิดประตูเสีย พระนางขัดพระทัยขึ้นมาจึงด่าออกไป แต่นางขุชชาก็ไม่เปิดประตูถวาย แต่กลับทูลสรรเสริญพระเจ้ากุสราชว่า

"อันความสวยงามของพระแม่เจ้าจะเอาไปทำสิ่งใดได้ อย่าเทียบพระเจ้ากุสราชด้วยพระรูปพระโฉม พระองค์นั้นสมบูรณ์ด้วยพระราชอิสริยยศ พระแม่เจ้าจงทรงรักพระองค์ด้วยพระคุณสมบัติของพระองค์จึงจะเป็นการดี พระเจ้ากุสราชนั้นเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยพระราชทรัพย์ ทรงพระกำลังกายกำลังใจเข้มแข็ง มีพระราชอาณาจักรอันกว้างใหญ่ ประเสริฐกว่ากษัตริย์ทั้งหลาย มีพระสุรเสียงก้องกังวานเหมือนกับเสียงราชสีห์ มีพระสุรเสียงไพเราะ เป็นผู้ทรงชำนาญในศิลปศาสตร์ตั้ง ๑๐๐ อย่าง โดยไม่ได้ศึกษามาจากผู้ใด ขอพระแม่ทรงเทียบพระรูปสมบัติของพระแม่เจ้า กับคุณสมบัติของพระเจ้ากุสราชจึงจะถูกต้อง แล้วทรงรักใคร่ในพระเจ้ากุสราชด้วยพระคุณสมบัติจึงจะเป็นการดี"

เมื่อพระนางประภาวดีได้ทรงสดับถ้อยดังนี้แล้ว จึงทรงขู่ตวาดออกมาบ้าง ฝ่ายนางขุชชาก็แกล้งเอ็ดขึ้นว่า จะไปกราบทูลพระราชบิดาให้ทรงทราบเรื่องนี้ให้จงได้ พระนางเกรงว่าจะมีผู้รู้เรื่องเข้าจึงยอมแพ้นางขุชชา

ตั้งแต่นั้นมาพระบรมโพธิสัตว์ก็ไม่ได้ทรงเห็นพระนางประภาวดีเลย พระองค์ทรงลำบากยากแค้นอยู่ถึง ๗ เดือน ด้วยการเสวยและการบรรทม จนพระบรมโพธิสัตว์หมดอาลัยในพระอัครมเหสี จึงทรงพระดำริที่จะกลับพระนครของพระองค์ ดังนี้

อานุภาพท้าวสักกเทวราช

ในขณะนั้นท้าวสักกเทวราชก็ทรงทราบว่า พระโพธิสัตว์ทรงตกทุกข์ได้ยาก ไม่ได้ทรงพบเห็นอัครมเหสีถึง ๗ เดือนแล้ว เราควรจะช่วยพระองค์ได้สำเร็จพระราชประสงค์ ครั้นแล้วจึงทรงเนรมิตบุรุษขึ้น ๗ คนต่างอ้างว่าเป็นราชทูตของพระเจ้ามัทราช นำพระราชสาส์นไปถวายกษัตริย์ทั้ง ๗ พระนครว่า

"บัดนี้พระนางประภาวดีทรงละทิ้งพระเจ้ากุสราชกลับมาแล้ว ถ้าพระองค์มีพระราชประสงค์ ก็จงเสด็จออกมารับเอาพระนางไปเถิด"

พระราชาทั้ง ๗ พระนครจึงพากันมาพร้อมด้วยบริวารใหญ่ เมื่อเสด็จถึงสาคลนครแล้ว ต่างองค์ก็ทรงไต่ถามซึ่งกันและกัน จนได้ทราบเหตุ ถึงกับทรงพิโรธ จึงพร้อมใจกันยกพลเข้าประชิดติดพระนครไว้ และได้ส่งราชทูตเข้ากราบทูลพระเจ้ามัทราช พระบาทท้าวเธอทรงตระหนกตกพระทัย จึงรีบประชุมเสนาอำมาตย์ มีพระราชดำรัสปรึกษา ฝ่ายเสนาอำมาตย์พากันกราบทูล ขอให้พระองค์โปรดส่งพระนางประภาวดีออกไปถวายกษัตริย์นั้นเสีย

พระเจ้ามัทราชจึงตรัสว่า ถ้าเราส่งลูกสาวให้แก่กษัตริย์องค์หนึ่ง กษัตริย์ที่เหลืออีกจักกระทำการรบ เราไม่อาจจะยกลูกสาวของเราให้แก่กษัตริย์องค์ใดองค์หนึ่งได้ อีกประการหนึ่ง เราก็ได้ยกให้แก่พระเจ้ากุสราชแล้ว แต่นางได้หนีออกมาจากพระองค์เสีย เพราะฉะนั้นเราต้องทำให้หนำใจ คือเราจะต้องตัดนางให้ออกเป็น ๗ ท่อน แล้วส่งไปให้พระราชาทั้ง ๗ พระองค์ เมื่อตรัสดังนี้แล้วก็มีผู้นำความไปกราบทูลพระนางประภาวดี พอพระนางได้ทรงสดับเรื่องนี้ก็ทรงหวาดกลัวต่อความตายเป็นอย่างยิ่งจึงพร้อมด้วยพระกนิษฐา (น้องสาว) ทั้งหลายไปเฝ้าพระราชมารดา ทูลรำพึงรำพันต่าง ๆ นานา ทรงรำพันถึงพระเจ้ากุสราช ฝ่ายพระเจ้ามัทราชจึงตรัสสั่งให้เรียกนายเพชฌฆาตเข้ามา พระราชมารดาของพระนางประภาวดีจึงทรงเศร้าโศกเป็นอันมาก เมื่อได้ทรงทราบข่าวนี้จึงได้เสด็จไปยังพระตำหนักของพระราชา แล้วกราบทูลถามว่า

"พระองค์จะทรงฆ่าพระธิดาของหม่อมฉัน บั่นให้เป็นท่อน ๆ แล้วจะประทานแก่กษัตริย์ทั้งหลายหรือเพคะ ?"

พระราชาตรัสว่าจริงเพราะเรื่องยุ่งยากคราวนี้ได้เกิดเพราะลูกคนเดียว ถ้านางไม่ทิ้งพระเจ้ากุสราชมาก็จะไม่มีเรื่องยุ่งยากอย่างนี้ พระราชเทวีได้ทรงสดับดังนี้ จึงเสด็จกลับไปหาพระราชธิดาทรงรำพันว่า

"พระลูกน้อยเอ๋ย พระราชบิดาไม่ทรงกระทำตามคำขอร้องของแม่ ลูกจะต้องตายในวันนี้แล้ว ผู้ใดถ้าไม่ทำตามคำของบิดามารดา ผู้มีเมตตาหาประโยชน์ในภายหน้าให้ ผู้นั้นจะได้รับโทษเหมือนตัวเจ้านี้ ถ้าเจ้ายังอยู่กับพระเจ้ากุสราชจนวันนี้ ก็จะมีพระราชโอรสสักหนึ่งองค์แล้ว ตัวเจ้ากับหมู่ญาติก็จะมีความสุขไม่ต้องได้รับทุกข์อย่างนี้ อันกรุงกุสาวดีนั้น สนุกสนานด้วยเสียงร้องรำทำเพลง ช้างม้าที่เป็นสัตว์พาหนะพากันคำรณกึกก้องอยู่เป็นนิตย์ นกต่าง ๆ ก็ส่งเสียงไพเราะจับใจอยู่ในพระราชวังของพระเจ้ากุสราช ลูกคิดอย่างไรจึงได้กลับมาเสีย ถ้าพระเจ้ากุสราชประทับอยู่ในที่นี้ ก็จักเสด็จออกต่อตีกับกษัตริย์ทั้ง ๗ พระนครนั้นให้แตกไปโดยเร็ว บัดนี้ พระเจ้ากุสราชผู้สามารถปราบอริราชศัตรูให้พ่ายแพ้นั้น เสด็จอยู่ที่ไหนหนอ..."

ฝ่ายพระนางประภาวดีจึงทรงดำริว่า ถ้าจะปล่อยให้พระมารดารำพันถึงพระเจ้ากุสราชอยู่อย่างนี้ เห็นทีจะไม่รู้จบ ควรที่เราจะกราบทูลให้ทรงทราบ ครั้งทรงดำริอย่างนี้แล้ว จึงกราบทูลขึ้นว่า

"พระเจ้ากุสราชซึ่งทรงสามารถปราบอริราชศัตรูให้พ่ายแพ้ และแก้ไขให้พวกเราได้พ้นทุกข์ ได้เสด็จอยู่ที่นี่แล้วเพคะ" พระมารดาจึงทรงดำริว่า ลูกของเราเห็นจะกลัวตายเกินไปจึงพูดเพ้อไปได้เช่นนี้ดังนี้แล้วจึงตรัสว่า

"เจ้าเป็นบ้าไปแล้วหรือไร จึงได้พูดอย่างนี้ ถ้าพระเจ้ากุสราชเสด็จอยู่ในที่นี้จริงทำไมมารดาจึงไม่ทราบเล่า"

พระโพธิสัตว์ทรงแสดงพระองค์

เมื่อพระนางประภาวดีทรงเห็นว่า พระราชชนนีไม่ทรงเชื่อถือถ้อยคำนี้ พระนางจึงจับพระหัตถ์ของพระราชชนนี เสด็จไปที่ช่องพระแกลแล้วชี้ให้พระมารดาดูว่า

"นั่นแน่ะ... พระเจ้ากุสราชซึ่งทรงปลอมพระองค์เป็นพ่อครัว นุ่งผ้าหยักรั้งกำลังล้างภาชนะอยู่ในตำหนักของพวกน้อง ๆ นั้น"

กล่าวคือ เวลานั้นพระโพธิสัตว์ทรงดำริว่า ความประสงค์ของเราจะสำเร็จในวันนี้แล้ว เพราะเมื่อพระนางประภาวดีมีความกลัวตาย ก็จะทราบทูลพระราชบิดาให้ทรงทราบว่าเราได้มาอยู่ที่นี้แล้ว เมื่อทรงดำริอย่างนี้แล้วจึงทรงจัดแจงล้างถ้วยล้างชามวุ่นอยู่ในเวลานั้น ฝ่ายพระราชชนนีจึงตรัสขึ้นว่า

"เจ้าเป็นหญิงชั่วช้าเลวทรามหรือ จึงมีผัวเป็นทาสเช่นนี้ ไม่สมกับที่เจ้าเกิดในตระกูลกษัตริย์มัทราชเลย"

พระนางประภาวดีจึงสนองพระวาทีว่า

"หม่อมฉันหาได้เป็นภรรยาทาสไม่ นั่นคือพระเจ้ากุสราช ผู้เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าโอกกากราชโดยแท้ แต่พระมารดาเข้าพระทัยว่าเป็นทาสไปเอง พระเจ้ากุสราชนั้น เมื่อพระองค์ยังทรงประทับอยู่ในพระนครของพระองค์ ได้พระราชทานอาหารเลี้ยงพราหมณ์วันละ ๒ หมื่นอยู่เป็นนิตย์ พวกพนักงานกรมช้าง กรมม้า กรมรถ ได้พากันจัดช้าง ม้า และรถไว้อย่างละหมื่น ๆ เพื่อใช้ในราชกิจได้ทันท่วงทีอยู่เป็นนิตย์ พวกพนักงานรีดนมโค ก็ได้รีดนมจากแม่โควันละ ๒ หมื่นตัว ไปถวายทุกวันมิได้ขาด ผู้นี้แหละ คือพระเจ้ากุสราชที่สมบูรณ์ด้วยพระราชพาหนะพลโยธาหาญ ทรัพย์ศฤงคาร ดังที่หม่อมฉันกราบทูลถวายแล้วนี้"

เมื่อพระราชชนนีได้ทรงฟังพระนางกราบทูล โดยท่าทางมิได้สะทกสะท้านก็เชื่อว่าเป็นจริง จึงเสด็จไปเฝ้าพระเจ้ามัทราชกราบทูลให้ทรงทราบตามคำบอกเล่านั้น พระเจ้ามัทราชจึงรีบเสด็จไปยังตำหนักพระนางประภาวดี ทรงตรัสถามจนทราบความนี้แล้ว แต่พระองค์ยังไม่ทรงเชื่อถือ จึงได้ตรัสถามนางขุชชา ได้ความว่าจริงตามถ้อยคำของพระราชธิดาแล้วตวาดพระนางว่า

"ดูก่อนเจ้าผู้เป็นพาล เหตุไรจึงไม่บอกพ่อให้ทราบเสียแต่ต้น ปล่อยให้พระองค์ผู้เป็นกษัตริย์อันประเสริฐปลอมเป็นคนครัวเช่นนี้เล่า..."

ครั้งตวาดพระราชธิดาอย่างนี้แล้ว จึงรีบเสด็จไปขอโทษพระบรมโพธิสัตว์ว่า

"ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นกษัตริย์อันประเสริฐในพื้นปฐพี ขอพระองค์จงทรงกรุณาอดโทษแก่หม่อมฉันด้วยเถิด ที่ไม่ทราบว่าพระองค์เสด็จมาในที่นี้ เพราะเหตุที่พระองค์ทรงปกปิดเสีย"

ฝ่ายพระโพธิสัตว์จึงทรงดำริว่า ถ้าเราจะตัดพ้อต่อว่าขึ้น พระเจ้ามัทราชก็จะสะดุ้งกลัวจนถึงกับความตาย ควรเจ้าจะโลมเล้าเอาพระทัยท้าวเธอไว้ เมื่อทรงดำริดังนี้แล้วจึงตรัสว่า

"หม่อมฉันไม่ได้ปกปิดตัวเลย หม่อมฉันได้เข้ารับเป็นพนักงานเครื่องต้น ขอพระองค์อย่าทรงเสียพระทัยเลย ความผิดจะได้มีแก่พระองค์ก็หามิได้"

พระนางประภาวดีทรงขอขมาโทษ

ครั้นพระเจ้ามัทราชได้ทรงสดับดังนี้แล้วจึงเสด็จกลับมาสู่ปราสาท ตรัสสั่งพระนางประภาวดีให้ไปขอขมาโทษต่อพระเจ้ากุสราช พระนางได้ทรงสดับพระราชโองการก็ไม่รู้จะทำประการใด จึงพร้อมด้วยพระราชกุมารผู้เป็นน้อง ๆ กับเหล่าสนมนาง ไปเฝ้าพระโพธิสัตว์โดยความจำเป็น

ในเวลานั้น พระโพธิสัตว์กำลังทำงานหน้าที่พ่อครัวอยู่ เมื่อพระองค์ทรงเห็นพระนางประภาวดีเสด็จมา จึงทรงพระดำริว่าวันนี้เราจักทำลายทิฏฐิมานะของพระนางให้หมอบลงติดกับโคลนข้างเท้าของเรานี้ให้ได้ ทรงดำริอย่างนี้แล้ว จึงทรงเทน้ำมันที่พระองค์ตักมาทั้งสิ้นลงไปในดิน แล้วเหยียบให้เป็นโคลนกว้างเท่าลานนวดข้าว พอพระนางเสด็จมาถึง จึงหมอบลงแทบพระบาทของพระโพธิสัตว์ แล้วทูลขอโทษว่า

"ข้าแต่ใต้ฝ่าพระบาท หม่อมฉันขอน้อมเกล้าลงถวายบังคมพระบาทของพระองค์ทั้งคู่ โทษที่หม่อมฉันได้เกลียดชังพระองค์ตลอดกาลนานแล้วนี้ ขอพระองค์ได้ทรงอดโทษแก่หม่อมฉันด้วยเถิด นับแต่วันนี้ไปหม่อมฉันจะไม่เกลียดชังพระองค์อีกแล้ว ถ้าพระองค์ไม่ทรงพระกรุณาแก่หม่อมฉันในเวลานี้แล้ว หม่อมฉันก็จักไม่แคล้วจากความตาย ขอพระองค์จงทรงโปรดแก่หม่อมฉัน ให้พ้นจากอันตรายครั้งนี้ด้วยเถิดเพคะ"

หน่อพระบรมพงษ์โพธิสัตว์จึงทรงดำริว่า ถ้าเราจักไม่โต้ตอบ หรือจักตวาดให้แก่พระนางในเวลานี้ เธอก็จักต้องขาดใจตายเป็นแน่นอน ครั้งทรงดำริดังนี้แล้ว จึงตรัสปลอบพระทัยว่า

"เมื่อน้องอ้อนวอนอยู่อย่างนี้ ไฉนพี่จักไม่ทำตามคำของน้องเล่า พี่ไม่โกรธไม่เกลียดชังน้องอีกต่อไป ความจริงพี่สามารถทำลายตระกูลกษัตริย์มัทราช แล้วนำน้องไปได้ แต่เพราะความรักต่อน้อง พี่จึงสู้ยอมทนทุกข์มากมายเช่นนี้...."

พระบาทท้าวเธอทรงตรัสอย่างนี้แล้วทรงรับอาสาออกต่อสู้กับกษัตริย์ทั้ง ๗ พระนครนั้น แล้วเสด็จเป็นจอมทัพออกไปต่อสู้กับข้าศึก จึงตรัสประกาศขึ้น ๓ ครั้งว่า ตัวเรานี้แหละ คือพระเจ้ากุสราช ใครยังรักชีวิตก็จงอ่อนน้อมยอมสวามิภักดิ์โดยเร็วพลัน ครั้งกษัตริย์ ๗ พระนครพร้อมทั้งพลโยธาหาญได้สดับพระราชโองการดังนี้ต่างก็มีความสยดสยองทิ้งกองทัพหนีไปด้วยอำนาจพระบารมีของพระบรมโพธิสัตว์

พระโพธิสัตว์ทรงงดงามทั้งกายและใจ

ฝ่ายท้าวสักกเทวราชได้ทรงเห็นว่าพระโพธิสัตว์มีชัยชนะแก่ข้าศึกแล้ว จึงพระราชทานแก้วมณีดวงหนึ่งให้แก่พระโพธิสัตว์พระองค์จึงยกทัพกลับเข้าสู่พระนคร แล้วกราบทูลพระเจ้ามัทราชว่า ควรยกพระราชธิดาอีก ๗ พระองค์ ให้แก่กษัตริย์ทั้ง ๗ พระนครนั้น จึงจะเป็นการสมควร เมื่อพระเจ้ามัทราชทรงอนุญาตแล้ว พระเจ้ากุสราชจึงจัดการอภิเษกพระราชธิดาทั้ง ๗ พระองค์ กับกษัตริย์ทั้ง ๗ พระนครแล้วก็ส่งกลับพระนคร ส่วนพระเจ้ากุสราชได้ทรงรับแก้วมณีจากท้าวโกสีย์แล้ว ก็ทรงส่องแก้วมณีนั้นตามเทวบัญชา พอทรงส่องแล้วมณีต้องพระพักตร์และพระกายทั้งสิ้น ก็มีพระพักตร์และพระกายทั้งสิ้น สุกใสเปล่งปลั่งขึ้นดังประหนึ่งแท่งทองชมพูนุทฉะนั้น

นับแต่วันนั้นไป พระองค์ก็มีพระรูปพระโฉมอันงดงามล้ำเลิศ ด้วยอานุภาพของแก้วมณีดวงนั้น ทำให้พระนางประภาวดีทรงมีพระเสน่หาอาลัยอย่างสุดซึ้ง พระโพธิสัตว์จึงพาพระอัครมเหสีถวายบังคมลาพระราชบิดามารดา แล้วเสด็จกลับสู่กรุงกุสาวดี พร้อมด้วยพลโยธาแห่แหนแน่นขนัด ทั้งสองพระองค์นั้นประทับอยู่ในพระราชรถคันเดียวกัน เสด็จเข้ากรุงกุสาวดี มีพระฉวีวรรณและพระรูปพระโฉมทัดเทียมกัน พระราชมารดาของพระโพธิสัตว์ และพระชยัมบดีราชกุมารผู้เป็นพระอนุชา ได้เสด็จไปต้อนรับถึงนอกพระนคร ในกาลนั้นพระเจ้ากุสราชและพระนางประภาวดีก็ทรงสมัครสมานกัน ได้ทรงปกครองราชอาณาจักรกุสาวดีให้รุ่งเรืองตลาดกาลสวรรคต

ครั้นสมเด็จพระทศพลโปรดประทานเทศนาชาดกนี้จบลงแล้ว จึงทรงประกาศอริยสัจ ๔ สืบต่อไปนี้ โปรดให้ภิกษุผู้เป็นต้นเหตุแห่งพระธรรมเทศนานี้ได้สำเร็จพระโสดาปัตติผล แล้วทรงประชุมชาดกว่า พระชนกชนนีของพระเจ้ากุสราชนั้นได้มาเกิดเป็นพระชนกชนนีของเราตถาคตนี้ ชยัมบดีราชกุมาร ได้มาเกิดเป็นพระอานนท์ นางขุชชา ได้มาเกิดเป็นนางขุชชุตตรา พระนางประภาวดี ได้มาเกิดเป็นมารดาพระราหุล บริวารเหล่านั้นได้มาเกิดเป็นบริวารของเราตถาคต ส่วน พระเจ้ากุสราช คือเราตถาคตในบัดนี้แล

จบ กุสชาดก แต่เพียงนี้