#echo banner="" อุปสิงฆบุปผชาดก/

คลิกเมาส์ที่ใดก็ได้ในเฟรมนี้เพื่อเรียกเมนูด่วน

อุปสิงฆบุปผชาดก

ว่าด้วยคนดีไม่ควรทำชั่วแม้นิดหน่อย

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภ ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง จึงตรัสเรื่องนี้ ดังนี้.

ได้ยินว่า ภิกษุรูปนั้น เมื่อออกจากพระวิหารเชตวันไปอาศัย อยู่ป่าแห่งใดแห่งหนึ่ง ในโกศลรัฐวันหนึ่ง ลงไปสู่สระบัวเห็นดอกบัวบานงามจึงไปยืนดมดอกไม้อยู่ใต้ลม ลำดับนั้นเทวดาผู้สิงอยู่ที่ไพรสณฑ์นั้น จึงให้ท่านสลดใจว่า ข้าแต่ท่านผู้เช่นกับด้วยเรา ท่านชื่อว่าเป็น ผู้ขโมยกลิ่น ความคิดว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งประเสริฐ เป็นองค์ ๑ ของการขโมย เธอเป็นผู้ที่เทวดานั้นให้สลดใจแล้ว จึงมาที่พระเชตวันอีก ถวายบังคมพระศาสดาแล้วนั่งอยู่ ถูกพระศาสดาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุเธออยู่ที่ไหน ?

ทูลว่า อยู่ที่ไพรสณฑ์ชื่อโน้น เทวดาที่ไพรสณฑ์นั้นนั่นเอง ให้ข้าพระองค์สลดใจอย่างนี้

ครั้งนั้นพระศาสดาตรัสกะภิกษุนั้นว่า ดูก่อนภิกษุ ไม่ใช่แต่เธอเท่านั้นที่ดมดอกไม้อยู่ ถูกเทวดาให้สลดใจ แม้บัณฑิตในกาลก่อนทั้งหลาย เทวดาก็เคยให้สลดใจมาแล้วเหมือนกัน ครั้นเมื่อภิกษุนั้นทูลอ้อนวอนแล้ว จึงทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้:

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลพราหมณ์ ที่หมู่บ้านในแคว้นกาสี ตำบลหนึ่ง เติบโตแล้วได้เรียนศิลปะในเมืองตักกศิลา ต่อมาได้บวชเป็นฤๅษี เข้าไปอาศัยสระบัวแห่งหนึ่งอยู่ วันหนึ่งลงไปสระนั้น ได้ยืนดมดอกบัวที่บานงดงาม ครั้งนั้นเทพธิดาตนหนึ่งสถิตอยู่ที่ลำต้นต้นไม้เมื่อจะให้ท่านสลดใจ จึงกล่าวคาถาที่ ๑ ว่า:

[๙๔๔] การที่ท่านเข้าไปสูดดมกลิ่นดอกบัวที่เขายังมิได้ให้ นี้เป็นส่วนแห่งการ

ขโมยอย่างหนึ่ง ดูกรท่านผู้นิรทุกข์ ท่านชื่อว่า เป็นผู้ขโมยกลิ่น.

ลำดับนั้นพระโพธิสัตว์ จึงกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า:

[๙๔๕] เราไม่ได้นำเอาไป ไม่ได้บริโภค เรายืนดมดอกบัวอยู่ในที่ไกล เมื่อเป็น

เช่นนั้น เหตุไฉน ท่านจึงกล่าวว่า เราเป็นผู้ขโมยกลิ่นดอกบัวเล่า?

ขณะนั้นชายคนหนึ่งขุดเหง้าบัวและเด็ดดอกบุณฑริกในสระนั้น พระโพธิสัตว์เห็นเขาแล้ว เมื่อจะเจรจากับเทพธิดานั้นว่า ท่านกล่าวหาเราผู้ยืนดมอยู่แต่ไกลว่าเป็นโจร แต่เหตุไร จึงไม่ว่าชายคนนั้น ? จึง กล่าวคาถาที่ ๓ ว่า:

[๙๔๖] บุรุษใด มาขุดเหง้าบัวทั้งหลาย เด็ดเอาดอกบัวไป เพราะเหตุไร ท่านจึง

ไม่ว่ากล่าวบุรุษนั้น ผู้ทำกรรมหยาบช้าอย่างนี้เล่า?

ลำดับนั้นเทวดา เมื่อจะบอกเหตุแห่งการพูด แก่พระโพธิสัตว์ นั้น จึงกล่าวคาถาที่ ๔ ที่ ๕ ว่า:

[๙๔๗] บุรุษผู้หยาบช้า โหดร้าย แปดเปื้อนไปด้วยบาป เหมือนผ้านุ่งของ

แม่นม ฉะนั้น เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่ว่ากล่าวบุรุษนั้น แต่ข้าพเจ้า

ปรารถนาจะว่ากล่าวท่าน ผู้ทำกรรมไม่สมควร *

[๙๔๘] บาปเพียงเท่าปลายขนทราย ย่อมปรากฏแก่บุรุษผู้ไม่มีโทษเหมือนท่าน

แสวงหาความสะอาดอยู่เป็นนิตย์ เหมือนเท่ามหาเมฆ ฉะนั้น.**

* คนนี้เป็นผู้เปื้อนไปด้วยบาปทีเดียว เหมือนกับผ้านุ่งของพี่เลี้ยงที่เปื้อนน้ำลาย น้ำมูก มูตรและคูถ เพราะเหตุนั้นข้าพเจ้าจึงไม่มีการว่าอะไรในเรื่องนั้น แต่สมณะทั้งหลายผู้มีศีลเป็นที่รัก เป็นผู้ใคร่ต่อโอวาท ข้าแต่สมณะ เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงควรเพื่อจะว่ากล่าวเขาผู้ทำสิ่งที่ไม่สมควรแม้เป็นเรื่องเล็กน้อย

** เช่นกับท่านผู้หาโทษมิได้ บาปอันน้อยนิด จะปรากฏเป็นสิ่งมีประมาณเท่าเมฆก้อนใหญ่ บัดนี้ เหตุไฉนท่าน จึงจะทำโทษแบบนี้ให้เป็นเหมือนไม่มีโทษไป.

ส่วนพระโพธิสัตว์ผู้ถูกเทวดาให้สลดใจ ได้ถึงความสังเวชแล้ว จึงกล่าวคาถาที่ ๖ ว่า:

[๙๔๙] ดูกรเทวดา ท่านรู้จักเรา และอนุเคราะห์เราโดยแท้ ท่านเห็นโทษเช่นนี้

ของเรา เมื่อใด ขอท่านจงตักเตือนเราแม้อีก เมื่อนั้น.

ลำดับนั้นเทพธิดา จึงกล่าวคาถาที่ ๗ แก่พระโพธิสัตว์ว่า:

[๙๕๐] ข้าพเจ้าไม่ได้อาศัยท่านเลี้ยงชีพ และไม่เป็นลูกจ้างของท่าน ดูกรภิกษุ

ท่านนั้นแล พึงรู้การกระทำอันเป็นเหตุให้ไปสู่สุคติ

เทวดาครั้นให้โอวาทแก่พระโพธิสัตว์อย่างนี้แล้วก็กลับเข้าสู่วิมานของตน ฝ่ายพระโพธิสัตว์ยังฌานให้เกิด แล้วได้เป็นผู้มีพรหม โลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า.

พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประกาศสัจธรรมทั้งหลาย ในที่สุดแห่งสัจธรรม ภิกษุ นั้นดำรงอยู่แล้วในโสดาปัตติผล แล้วทรงประชุมชาดกไว้ เทพธิดาในครั้งนั้น ได้แก่พระอุบลวรรณาเถรีในบัดนี้ ส่วนดาบสได้แก่เราตถาคต ฉะนี้แล.

จบ อุปสิงฆบุปผชาดก