#echo banner="" เอกราชชาดก/

เอกราชชาดก

คุณธรรมคือขันติและตบะ

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภ เสวกข้าราชสำนักของพระเจ้าโกศลคนหนึ่ง จึงตรัสพระธรรมเทศนา นี้ ดังนี้

เรื่องปัจจุบันได้กล่าวไว้แล้วใน เสยยชาดก ในหนหลังนั้นแล ในชาดกนี้ พระศาสดาตรัสว่า มิใช่ท่านเท่านั้น ที่นำเอาประโยชน์มาโดยสิ่งอันมิใช่ประโยชน์ แม้บัณฑิตในสมัยก่อนทั้งหลาย ก็ได้นำเอาประโยชน์มาโดยสิ่งอันไม่เป็นประโยชน์แก่ตน แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :

ในอดีตกาล อำมาตย์ผู้หนึ่งของพระเจ้าพาราณสี ก่อเหตุอันไม่บังควรขึ้นในราชสำนัก พระราชาจึงทรงให้ขับไล่เสวกนั้นออกจากแว่นแคว้น เสวกนั้นจึงไปพึ่งพระเจ้าโกศลพระนามว่า ทุพภิเสน เหตุการณ์ทั้งปวงนั้นได้กล่าวไว้ แล้วในมหาสีลวชาดกทั้งนั้น ส่วนในชาดกนี้ พระเจ้าทุพภิเสนให้จับพระเจ้าพาราณสีผู้ประทับนั่งในท่ามกลางอำมาตย์ ณ ท้องพระโรง แล้วใส่สาแหรกแขวนห้อยพระเศียร ณ เบื้องบนธรณีประตู พระเจ้าพาราณสีทรงเจริญเมตตาไปยังพระราชาโจร กระทำกสิณบริกรรม ยังฌานให้บังเกิดแล้ว เครื่องพันธนาการเหล่านั้นก็ขาดออก จากนั้น พระเจ้าพาราณสีประทับนั่งขัดสมาธิในอากาศ บัดนั้นความเร่าร้อนก็เกิดขึ้นในร่างกายของราชาโจร พระองค์ทรงบ่นว่าร้อนๆ แล้วกลิ้งไปกลิ้งมาอยู่บนพื้น เมื่อพระราชาโจรตรัสถามว่า เกิดเหตุนี้ได้อย่างไร

อำมาตย์ทั้งหลายจึงทูลว่า ข้าแต่มหาราช พระองค์ทรงทำพระราชาผู้ตั้งอยู่ในธรรม ผู้หาความผิดมิได้ให้ห้อยพระเศียรลง ณ เบื้องธรณีประตู พระเจ้าข้า

พระราชาโจรตรัสว่า ถ้าอย่างนั้น พวกท่านจงรีบไปปล่อยพระราชาพระองค์นั้น

ราชบุรุษทั้งหลายไปแล้ว ได้เห็นพระราชาทรงนั่งขัดสมาธิในอากาศ จึงกลับมากราบทูลแก่พระเจ้าทุพภิเสน พระเจ้าทุพภิเสนนั้นจึงรีบเสด็จไปไหว้พระเจ้าพาราณสีนั้นขอให้ทรงยกโทษ แล้วตรัสคาถาที่ ๑ ว่า :

[๕๑๐] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นเอกราช พระองค์เสวยกามคุณอันบริบูรณ์อย่างยิ่งอยู่ในกาลก่อน

มาบัดนี้ พระองค์ถูกโยนลงในบ่ออันขรุขระ

เหตุไรจึงมิได้ละพระฉวีวรรณ และพระกำลังกายที่มีอยู่แต่เก่าก่อนเสียเลย?

พระโพธิสัตว์ได้ทรงสดับดังนั้นจึงตรัสคาถาที่เหลือว่า

[๕๑๑] ข้าแต่พระเจ้าทุพภิเสน ขันติ และตบะ เป็นคุณธรรมที่หม่อมฉัน

ปรารถนามาแต่เดิมแล้ว บัดนี้ หม่อมฉันได้สิ่งปรารถนานั้นแล้ว เหตุไร

จะพึงละฉวีวรรณ และกำลังกายที่มีอยู่แต่เก่าก่อนเสียเล่า

[๕๑๒] ได้ทราบมาว่า กิจที่ควรทำทุกอย่างสำเร็จมาแต่ก่อนแล้ว เพราะข่มขี่

ครอบงำบุคคลผู้เปรื่องยศ มีปัญญา หม่อมฉันได้ยศอันยิ่งใหญ่แล้ว

เหตุไร จักละฉวีวรรณ และกำลังกายที่มีอยู่แต่เก่าก่อนเล่า

[๕๑๓] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งปวงชน สัตบุรุษทั้งหลาย บรรเทาความสุข

ด้วยความทุกข์ หรือบรรเทาความทุกข์ด้วยความสุข เป็นผู้มีจิตเยือกเย็น

ยิ่งนัก ในความสุข และความทุกข์ทั้งสองอย่าง ย่อมเป็นผู้มีจิตเป็นกลาง

ทั้งในความสุข และความทุกข์ ดังตราชู  ฉะนั้น

หมายความว่า กิจที่หม่อมฉันจะพึงทำทุกอย่าง คือการให้ทาน การ รักษาศีล และการรักษาอุโบสถ หม่อมฉันทำทำให้สำเร็จแล้ว

หมายความว่า  ได้ยศที่ไม่เคยได้มาก่อน คือในกาลก่อน พระเจ้าพาราณสีตรัสหมายเอาการเกิดฌาน ด้วยเมตตาภาวนาอันเป็น เครื่องข่มกิเลส

หมายความว่า บรรเทาสุข (ในราชสมบัติ) ด้วยความทุกข์ เพราะถูกลงทัณฑ์ที่พระองค์ทำให้เกิดขึ้น

หมายความว่า บรรเทาทุกข์นั้นด้วยสุขอัน เกิดแต่ฌาน

หมายความว่า สัตบุรุษทั้งหลาย ผู้เป็นเช่นกับเรานั้น (คือ)มีสภาวะดับเย็นยิ่งแล้ว คือมีตนเป็นกลางในส่วน แม้ทั้งสองนี้ ย่อมเป็นผู้เที่ยงตรง คือย่อมเป็นเช่นเดียว ไม่มีความแตกต่างเลยในสุขและทุกข์

พระเจ้าทุพภิเสนได้ทรงสดับดังนี้แล้ว จึงขอให้พระโพธิสัตว์ยกโทษให้แล้วตรัสว่า พระองค์เท่านั้น จงครองราชสมบัติของพระองค์ หม่อมฉันจักคอยป้องกันพวกโจรแก่พระองค์ แล้วลงอาญาแก่อำมาตย์ผู้นั้นแล้วเสด็จหลีกไป ฝ่ายพระโพธิสัตว์ทรงมอบราชสมบัติแก่อำมาตย์ทั้งหลายแล้วบวชเป็นฤๅษี ได้มีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า

พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่า พระเจ้าทุพภิเสนในกาลนั้น ได้เป็นพระอานนท์ ส่วนพระเจ้าพาราณสี คือเราตถาคต ฉะนี้แล

จบ เอกราชชาดก